Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Journal of Education Studies

Journal

2021

Keyword

Articles 61 - 79 of 79

Full-Text Articles in Education

การเรียนรู้ของชุมชนภายใต้โครงสร้างและปฏิสัมพันธ์ในการสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหาร, พรทิพย์ ติลากานันท์, อุบลวรรณ หงส์วิทยากร, สันติ ศรีสวนแตง Jan 2021

การเรียนรู้ของชุมชนภายใต้โครงสร้างและปฏิสัมพันธ์ในการสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหาร, พรทิพย์ ติลากานันท์, อุบลวรรณ หงส์วิทยากร, สันติ ศรีสวนแตง

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้าง-ปฏิสัมพันธ์ในการสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหารของชุมชน และวิเคราะห์การเรียนรู้ของชุมชนภายใต้โครงสร้างและปฏิสัมพันธ์ในการสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ใช้วิธีการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และการสำรวจข้อมูลจากผู้ผลิตและผู้บริโภคในชุมชนที่มีการปฏิบัติดี (best practice) จำนวน 6 ชุมชน จาก 6 ภูมิภาค วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า โครงสร้างและปฏิสัมพันธ์ในการสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหารของชุมชน แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ 1) แบบกลุ่มการสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหารในชุมชน 2) แบบชุมชนพึ่งตนเอง 3) แบบเครือข่ายชุมชน ซึ่งในแต่ละแบบมีช่วงของการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ภายใต้โครงสร้างและปฏิสัมพันธ์ฯ แบ่งการเรียนรู้ของชุมชนได้เป็น 3 แบบ คือ 1) แบบกลุ่มการสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหารในชุมชน 2) แบบชุมชนเป็นฐาน 3) แบบเครือข่ายชุมชน ซึ่งแบ่งการเรียนรู้ได้เป็น 3 ระยะ คือ (1) การเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต วิถีชุมชนและการพึ่งตนเองฯ (2) การเรียนรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนชุมชนสู่การสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหาร และ (3) การเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหาร


สู่ความสำเร็จของการนิเทศด้วยพฤติกรรมการนิเทศที่เหมาะสม, ศุภวิชญ์ ศิริผลวุฒิชัย, จุไรรัตน์ สุดรุ่ง Jan 2021

สู่ความสำเร็จของการนิเทศด้วยพฤติกรรมการนิเทศที่เหมาะสม, ศุภวิชญ์ ศิริผลวุฒิชัย, จุไรรัตน์ สุดรุ่ง

Journal of Education Studies

การนิเทศเป็นการพัฒนาครูให้สามารถปฏิบัติงานของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลไปถึงผู้เรียนได้อย่างชัดเจน ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ผู้นิเทศควรมีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการนิเทศ โดยเฉพาะการใช้พฤติกรรมการนิเทศให้เหมาะสมสอดคล้องกับความแตกต่างของครูผู้รับการนิเทศ พฤติกรรมการนิเทศ ประกอบด้วย 1) พฤติกรรมการนิเทศแบบชี้นำควบคุม 2) พฤติกรรมการนิเทศแบบชี้นำให้ข้อมูล 3) พฤติกรรมการนิเทศแบบร่วมมือ และ 4) พฤติกรรมการนิเทศแบบไม่ชี้นำ การที่ผู้นิเทศตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พฤติกรรมการนิเทศให้สอดคล้องกับความแตกต่างและความคาดหวังของครูผู้รับการนิเทศจะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้การนิเทศประสบความสำเร็จได้


รูปแบบการจัดการห้องสมุดดิจิทัลที่มีประสิทธิผลสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ, อุไรวรรณ เสียงล้ำ, วีระวัฒน์ อุทัยรัตน์ Jan 2021

รูปแบบการจัดการห้องสมุดดิจิทัลที่มีประสิทธิผลสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ, อุไรวรรณ เสียงล้ำ, วีระวัฒน์ อุทัยรัตน์

Journal of Education Studies

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพ กำหนดรูปแบบการจัดการห้องสมุดดิจิทัลที่มีประสิทธิผลสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ตัวอย่าง คือ ห้องสมุดดิจิทัล จำนวน 290 แห่ง ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหาร หัวหน้าครูบรรณารักษ์ รวมทั้งสิ้น 580 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์องค์ประกอบด้วยวิธี principal-component analysis (PC) และวิธีหมุนแกนออโธกอนอลแบบวาริแมกซ์ (varimax orthogonal) ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า สภาพการจัดการห้องสมุดดิจิทัลฯ ในภาพรวมมีประสิทธิผลในระดับมาก รูปแบบการจัดการห้องสมุดดิจิทัลฯ เป็นชุดของเนื้อหา วัตถุประสงค์ กระบวนการ วิธีการ และการประเมินผล โดยมีองค์ประกอบด้านการจัดการ ได้แก่ ด้านการวางแผน ด้านการปฏิบัติ ด้านการกำกับ และตรวจประเมิน รูปแบบการจัดการห้องสมุดดิจิทัลฯ ที่สร้างขึ้น ในภาพรวมมีความถูกต้อง ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด ขณะที่ข้อมูลมีการกระจายตัวน้อย


ผลของการสอนแบบอุปนัยในรายวิชาการสอนแบบมอนเตสซอรี่ที่มีต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย, สุทธิพรรณ ธีรพงศ์, จุฬินฑิพา นพคุณ, ขวัญใจ จริยาทัศน์กร Jan 2021

ผลของการสอนแบบอุปนัยในรายวิชาการสอนแบบมอนเตสซอรี่ที่มีต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย, สุทธิพรรณ ธีรพงศ์, จุฬินฑิพา นพคุณ, ขวัญใจ จริยาทัศน์กร

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาที่เรียนรายวิชาการสอนแบบมอนเตสซอรี่ด้วยวิธีการสอนแบบอุปนัย และความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการเรียนในรายวิชาตัวอย่าง คือ นักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 48 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ 5 ด้าน และแบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัย พบว่า หลังเรียนรายวิชาการสอนแบบมอนเตสซอรี่ด้วยวิธีการสอนแบบอุปนัย ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาอยู่ในระดับมาก โดยค่าเฉลี่ยคะแนนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักศึกษามีความพึงพอใจต่อรายวิชาอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงที่สุด คือ ด้านประโยชน์ที่ได้รับ รองลงมาคือ ด้านการเรียนรู้ของผู้เรียน ด้านบรรยากาศในการเรียน และด้านการจัดการความรู้ ตามลำดับ


การพัฒนากระบวนการสอบ E-Testing ของโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย, สุภมาส อังศุโชติ, รัชนีกูล ภิญโญภานุวัฒน์, รัชกฤช ธนพัฒนดล, ศิริรัตน์ จำแนกสาร Jan 2021

การพัฒนากระบวนการสอบ E-Testing ของโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย, สุภมาส อังศุโชติ, รัชนีกูล ภิญโญภานุวัฒน์, รัชกฤช ธนพัฒนดล, ศิริรัตน์ จำแนกสาร

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจความต้องการระบบ E-testing ของมหาวิทยาลัยที่ร่วมจัดการเรียนการสอนในโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย 2) ออกแบบระบบ E-testing ของโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย 3) จำลองการสอบโดยใช้โมเดลต้นแบบ (prototype model) ระบบ E-testing ของโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย ตัวอย่าง คือ อาจารย์ที่รับผิดชอบชุดวิชาที่เปิดสอนออนไลน์ และเจ้าหน้าที่ที่ทำการผลิตบทเรียนออนไลน์ จำนวน 80 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์เชิงโครงสร้างและแบบบันทึกการระดมความคิดเห็น การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) ความต้องการของระบบ E-testing ได้ผลสรุปภาพรวมเกี่ยวกับ (1) วัตถุประสงค์ของการสอบ (2) คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนสอบ (3) ค่าธรรมเนียมการสอบ (4) ช่วงเวลาการสอบ (5) การเป็นศูนย์สอบ (6) ข้อสอบที่ใช้สอบ 2) ระบบ E-testing ของโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 7 ระบบ ได้แก่ (1) ระบบสมัครสมาชิกและลงทะเบียนสอบ (2) ระบบจัดการสอบ (3) ระบบจัดการข้อสอบและแบบทดสอบ (4) ระบบควบคุมการสอบ (5) ระบบทดสอบ (6) ระบบตรวจข้อสอบอัตนัย (7) ระบบรายงานผลและข้อมูลสถิติ 3) ผลการใช้งานระบบ E-testing เพื่อจำลองการทดสอบ พบว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถแสดงผลลัพธ์ของหน้าจอได้ถูกต้องตามที่ได้ออกแบบไว้ทุกประการ


รูปแบบการเรียนรู้บนฐานทุนทางสังคมเพื่อตั้งรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ, นิสรา ใจซื่อ, จรูญศรี มาดิลกโกวิท Jan 2021

รูปแบบการเรียนรู้บนฐานทุนทางสังคมเพื่อตั้งรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ, นิสรา ใจซื่อ, จรูญศรี มาดิลกโกวิท

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาทุนทางสังคมของชุมชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2) วิเคราะห์การเรียนรู้การใช้ทุนทางสังคมของชุมชนเพื่อตั้งรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 3) นำเสนอรูปแบบการเรียนรู้บนฐานทุนทางสังคมของชุมชนเพื่อตั้งรับ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาภาคสนาม 2 ชุมชน โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ผลการวิจัย พบว่า 1) ทุนทางสังคม ประกอบด้วย ทุนมนุษย์ ทุนประเพณี วัฒนธรรม และทุนสถาบัน 2) การเรียนรู้การใช้ ทุนทางสังคมเพื่อตั้งรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย วิธีการเรียนรู้ จำนวน 11 วิธี เนื้อหา/ องค์ความรู้ จำนวน 15 เรื่อง แหล่งเรียนรู้ จำนวน 10 แหล่ง และกลไกการขับเคลื่อนการเรียนรู้ จำนวน 9 กลไก 3) รูปแบบการเรียนรู้บนฐานทุนทางสังคมของชุมชนเพื่อตั้งรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย 1) รูปแบบผู้นำขับเคลื่อนชุมชน 2) รูปแบบสมาชิกในชุมชนขับเคลื่อนชุมชน และ 3) รูปแบบหน่วยงานภายนอกขับเคลื่อนชุมชน


กลยุทธ์การกำหนดนโยบายและการนำนโยบายสู่การปฏิบัติสำหรับนโยบายการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน, ศรีดา ตันทะอธิพานิช, ชญาพิมพ์ อุสาโห, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ Jan 2021

กลยุทธ์การกำหนดนโยบายและการนำนโยบายสู่การปฏิบัติสำหรับนโยบายการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน, ศรีดา ตันทะอธิพานิช, ชญาพิมพ์ อุสาโห, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์

Journal of Education Studies

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภาวะคุกคาม และพัฒนากลยุทธ์การกำหนดนโยบายและการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ สำหรับนโยบายการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน โดยใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน ตัวอย่าง คือ คณะกรรมการบริหารนโยบาย จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 145 แห่ง โรงเรียน 345 โรง เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง และแบบสอบถาม วิเคราะห์ด้วยสถิติพื้นฐาน PNImodified และวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1) ผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบาย คือ นักการเมือง สภาพปัจจุบันโดยรวมอยู่ระดับมาก สภาพที่พึงประสงค์ ได้แก่ การประชุมหารือ สำรวจความพร้อม และวางแผนปฏิบัติงานร่วมกัน 2) จุดแข็ง ได้แก่ นโยบายเป็นประโยชน์ต่อสังคม กำหนดเป้าหมาย แบบแผนการควบคุม กลไกการกำกับติดตาม และค่านิยมการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ จุดอ่อน ได้แก่ การขาดการมีส่วนร่วม การกำหนดเกณฑ์ของความสำเร็จและขั้นตอนการปฏิบัติ นโยบายด้านการศึกษาและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นโอกาส สภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นภาวะคุกคาม 3) กลยุทธ์การกำหนดนโยบาย (1) ยกระดับการยอมรับ (2) กำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ กลยุทธ์การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ได้แก่ (1) กำหนดความรับผิดชอบในแต่ละระดับ (2) ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล และ (3) กำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน


ภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้ของผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งผลต่อความมุ่งมั่นในการทำงานของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2, มารุต ศักดิ์แสงวิจิตร, ทิวัตถ์ มณีโชติ Jan 2021

ภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้ของผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งผลต่อความมุ่งมั่นในการทำงานของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2, มารุต ศักดิ์แสงวิจิตร, ทิวัตถ์ มณีโชติ

Journal of Education Studies

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาระดับภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้ของผู้บริหารสถานศึกษาตามความคิดเห็นของครู 2) ศึกษาระดับความมุ่งมั่นในการทำงานของครู และ 3) เพื่อวิเคราะห์ผลของภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้ของผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งผลต่อความมุ่งมั่นในการทำงานของครู กลุ่มตัวอย่าง คือ ครูที่สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 จำนวน 357 คน ใช้วิธีสุ่มแบบแบ่งชั้นตามขนาดของโรงเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .987 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัย พบว่า 1) ภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้ของผู้บริหารสถานศึกษาตามความคิดเห็นของครู อยู่ในระดับมาก 2) ความมุ่งมั่นในการทำงานของครู อยู่ในระดับมาก 3) ภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้ของผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งผลต่อความุ่งมั่นในการทำงานของครู พบว่ามี 2 ด้านที่ส่งผล คือ ด้านการสอนงาน และด้านความสามารถในการรับฟัง มีค่าสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์ เท่ากับ .801 อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 64.20


การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร หมวดวิชาศึกษาทั่วไปของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน, พิชญาวี ทองกลาง, วรกุล เชวงกูล Jan 2021

การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร หมวดวิชาศึกษาทั่วไปของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน, พิชญาวี ทองกลาง, วรกุล เชวงกูล

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร หมวดวิชาศึกษาทั่วไปของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน เก็บรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่าง จำนวน 76 คน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีค่าเฉลี่ย (M = 7.09) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD = 1.31) การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ย (M = 16.58) หลังเรียนมีค่าเฉลี่ย (M = 19.20) และมีค่าเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนการแสดงความพึงพอใจมากที่สุดในแต่ละด้าน พบว่า นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน จัดสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนแบบผสมผสานได้อย่างเหมาะสม มีกิจกรรมการเรียนการสอนทำให้เข้าใจเนื้อหา มีความสนใจศึกษา จดจำเนื้อหาได้นาน สร้างความรู้และความเข้าใจด้วยตนเองได้ โดยมีค่าเฉลี่ย (M = 3.85) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD = 0.69) ภาพรวมอยู่ในระดับมาก พบว่า อาจารย์สร้างบรรยากาศให้เป็นกันเองกับนักศึกษา กิจกรรมส่งเสริมให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้และแสดงความคิดเห็น การจัดการเรียนการสอนทำให้ได้รู้จักเพื่อนมากขึ้นและร่วมงานกับผู้อื่นได้


การบริหารงานวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาตามแนวคิดการพัฒนาพลเมืองคุณภาพ, เสาวภา นิสภโกมล, วลัยพร ศิริภิรมย์, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ Jan 2021

การบริหารงานวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาตามแนวคิดการพัฒนาพลเมืองคุณภาพ, เสาวภา นิสภโกมล, วลัยพร ศิริภิรมย์, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากรอบแนวคิด สภาพปัจจุบัน และสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารงานวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาตามแนวคิดการพัฒนาพลเมืองคุณภาพ ตัวอย่าง คือ โรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 385 โรง ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และครู รวม 973 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่า 1) กรอบแนวคิดการบริหารงานวิชาการ ประกอบด้วย การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การนิเทศการสอน การพัฒนาและการใช้สื่อเทคโนโลยี การวัดและประเมินผล ส่วนกรอบแนวคิดการพัฒนาพลเมืองคุณภาพ ประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ ได้แก่ มีความคิดสร้างสรรค์และมีความคิดเชิงวิพากษ์ มีความสามารถในด้านเศรษฐกิจ มีคุณธรรมและมีความรับผิดชอบ 2) สภาพปัจจุบันของการบริหารงานวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาฯ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การจัดการเรียนการสอน (M = 3.84) ส่วนสภาพพึงประสงค์ของการบริหารงานวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาฯ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การจัดการเรียนการสอน (M = 4.67) ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การพัฒนาสื่อและเทคโนโลยี (M = 3.74)


การพัฒนาชุดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนโดยใช้การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Steam ร่วมกับโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความเป็นนวัตกรและผลงานสร้างสรรค์หุ่นกระบอก สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น, ปรัชญา ซื่อสัตย์, วิสูตร โพธิ์เงิน Jan 2021

การพัฒนาชุดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนโดยใช้การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Steam ร่วมกับโครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความเป็นนวัตกรและผลงานสร้างสรรค์หุ่นกระบอก สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น, ปรัชญา ซื่อสัตย์, วิสูตร โพธิ์เงิน

Journal of Education Studies

การวิจัยมีวัตถุประสงค์ คือ สร้างและทดลองใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนโดยใช้การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด STEAM ร่วมกับโครงงานเป็นฐาน กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ชุมนุม หุ่นกระบอก ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 37 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ ประเด็นสนทนากลุ่ม แบบสัมภาษณ์ ชุดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบบสังเกตความเป็นนวัตกร แบบประเมินผลงานหุ่นกระบอก และแบบสอบถามความพึงพอใจ ค่าสถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า ชุดกิจกรรมที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย คู่มือการใช้ชุดกิจกรรมและแผนการจัดการเรียนรู้ คำชี้แจง เนื้อหาและสื่อการสอน และการวัดและประเมินผล หลังการทดลองใช้ชุดกิจกรรม พบว่า (1) ความเป็นนวัตกรของนักเรียน อยู่ในระดับมาก (2) ผลงานสร้างสรรค์หุ่นกระบอกของนักเรียน อยู่ในระดับดีมาก และ (3) ความพึงพอใจของนักเรียน อยู่ในระดับมาก ในการนำชุดกิจกรรมไปใช้ ควรเพิ่มระยะเวลาในการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ทำการทดลองและลองผิดลองถูกในการสร้างสรรค์ผลงาน และควรมีการให้ความรู้เบื้องต้นแก่นักเรียนเกี่ยวกับการทำโครงงาน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้วางแผนการทำงานของตนเอง


การพัฒนากระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่สูง, อภิสิทธิ์ พึ่งพร, กรรณิการ์ สัจกุล Jan 2021

การพัฒนากระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่สูง, อภิสิทธิ์ พึ่งพร, กรรณิการ์ สัจกุล

Journal of Education Studies

วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อ 1) พัฒนาตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่สูง 2) วิเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่สูง และ 3) เสนอแนะแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่สูง ผลการศึกษา พบว่า ตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่สูงมี 4 ตัว ได้แก่ การรักษาความเชื่อและค่านิยมของคนกะเหรี่ยงที่มีต่อธรรมชาติ การรักษาวิถีการปลูกข้าวเชิงประเพณี การรักษาภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาจริยธรรมของชุมชน การพัฒนาให้ชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่สูงมีความยั่งยืนได้ จำเป็นต้องฟื้นฟูภูมิปัญญาของชุมชน ประกอบด้วยคุณธรรม 7 ประการ คือ การไม่ครอบครอง การสำนึกในบุญคุณ ความพอเพียง ความเป็นธรรม การช่วยเหลือกัน การเคารพผู้อาวุโสและคนดี และการมีส่วนร่วมของชุมชน และความรู้ 12 เรื่องที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในพื้นที่สูง รวมทั้งการประยุกต์ความรู้ใหม่ด้านการดูแลสุขภาพอนามัยและการบริหารจัดการชุมชน ส่วนวิธีจัดการเรียนรู้นั้นต้องผสมผสานการเรียนรู้เชิงประเพณีของชุมชน 4 รูปแบบไว้ควบคู่ไปกับการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง มีการประสานบทบาทของผู้นำทางการและผู้นำตามธรรมชาติให้สอดคล้องกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชน


หลักสูตรโรงเรียนมาตรฐานสากล : หลักสูตรในศตวรรษที่ 21, อธิป หัตถกี, จุไรรัตน์ สุดรุ่ง Jan 2021

หลักสูตรโรงเรียนมาตรฐานสากล : หลักสูตรในศตวรรษที่ 21, อธิป หัตถกี, จุไรรัตน์ สุดรุ่ง

Journal of Education Studies

ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ คือ การศึกษา ซึ่งการเพิ่มศักยภาพการจัดการศึกษาไทยให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในเวทีโลกในยุคศตวรรษที่ 21 นั้น โรงเรียนต้องเป็นหน่วยบริการทางการศึกษาในมิติที่กว้างขึ้น และหลักสูตรการเรียนการสอนต้องมีความเป็นสากล โรงเรียนมาตรฐานสากลมีจุดเด่น คือ เป็นหลักสูตรที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เน้นการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศภาษาที่สอง การยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากลต้องดำเนินการพัฒนาใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาหลักสูตรให้เทียบเคียงมาตรฐานสากล 2) ด้านการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยใช้ภาษาอังกฤษ 3) ด้านการพัฒนาครูผู้สอนในสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศที่สอง 4) ด้านการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน และ 5) ด้านการพัฒนาระบบการบริหารโรงเรียน


บทเรียนฝึกทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนระดับประถมศึกษา, วิชัย พาณิชย์สวย, สุมน ไวยบุญญา Jan 2021

บทเรียนฝึกทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนระดับประถมศึกษา, วิชัย พาณิชย์สวย, สุมน ไวยบุญญา

Journal of Education Studies

โลกปัจจุบันเป็นโลกของข้อมูลและข่าวสาร ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาและข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและรวดเร็วผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ มากมาย แต่ผู้เรียนยังขาดทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นในการจัดการกับความรู้ให้สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ขาดกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่สำคัญ แนวคิดที่สนับสนุนความสำคัญของสมรรถนะ คือ ความฉลาดทางปัญญา (IQ) ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีของผลงานและความสำเร็จโดยรวม แต่สมรรถนะกลับเป็นสิ่งที่สามารถคาดหมายความสำเร็จในงานได้ดีกว่า ทั้งนี้เพราะผู้ประสบความสำเร็จในงานจะสามารถประยุกต์ใช้หลักการหรือความรู้ที่ตนมีอยู่ก่อให้เกิดประโยชน์ในงานที่ตนทำได้ ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาการจัดการศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนจุดเน้นของกระบวนการเรียนรู้จากฐานเนื้อหา (content-based) ไปเป็นฐานสมรรถนะ (competency-based) ครูในฐานะผู้ปฏิบัติจึงมีบทบาทโดยตรงต่อการนำการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้สู่ชั้นเรียน บทความนี้จะเสนอบทเรียนที่เน้นฝึกทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่สอดรับกับแนวข้อสอบ PISA ที่เน้นประเมินสมรรถนะผู้เรียน โดยไม่เน้นการประเมินด้านเนื้อหา (content) เพียงด้านเดียว แต่ให้ความสำคัญกับด้านกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (process) และด้านสถานการณ์หรือบริบท (contexts) ควบคู่กันไป ซึ่งหลังจากนำบทเรียนนี้ไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 850 คน พบว่า ตัวอย่างมีคะแนนความสามารถด้านทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นสมรรถนะหลักสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 จึงหวังได้ว่า บทเรียนนี้จะช่วยให้ครูใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาสมรรถนะให้เกิดกับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี


แนวทางการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับเด็กปฐมวัย : เหตุการณ์การกราดยิง, ตวงพร เพ็งสกุล, สุพัตรา ตรีวิเศษ, อภิสรา ราชนาวงศ์, อังคณา ห้วยระหาญ, อัญชนา ห้อยมาลา, มานิตา ลีโทชวลิต อรรถนุพรรณ, ธิดาพร คมสัน Jan 2021

แนวทางการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับเด็กปฐมวัย : เหตุการณ์การกราดยิง, ตวงพร เพ็งสกุล, สุพัตรา ตรีวิเศษ, อภิสรา ราชนาวงศ์, อังคณา ห้วยระหาญ, อัญชนา ห้อยมาลา, มานิตา ลีโทชวลิต อรรถนุพรรณ, ธิดาพร คมสัน

Journal of Education Studies

สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน เหตุการณ์การกราดยิงถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งยังไม่มีแนวทางการรับมือที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย บทความนี้นำเสนอแนวทางสำหรับครูปฐมวัยในการรับมือกับเหตุการณ์การกราดยิง ในขณะเกิดเหตุ ครูต้องตั้งสติ พยายามดูแลเด็กให้อยู่ในความสงบ นำเด็กไปหลบในสถานที่ปลอดภัย และเคลื่อนย้ายเด็กให้เร็วและเงียบที่สุด หลังจากสิ้นสุดเหตุการณ์ ครูควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก โดยประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองในการสังเกต หากพบพฤติกรรมที่เป็นปัญหาควรหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไข รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้กับเด็กปฐมวัยเพื่อให้มีความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีในการปฏิบัติตนหากต้องประสบกับเหตุการณ์การกราดยิงโดยการบูรณาการในกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม


การพัฒนาหลักสูตรพหุวัฒนธรรมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายขอบ, พิสิษฏ์ นาสี Jan 2021

การพัฒนาหลักสูตรพหุวัฒนธรรมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายขอบ, พิสิษฏ์ นาสี

Journal of Education Studies

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาจากโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาหลักสูตรพหุวัฒนธรรมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายขอบ โดยบทความนี้นำเสนอผลของโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โครงการวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหา สถานภาพของหลักสูตรและการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้านพหุวัฒนธรรมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายขอบ 2) พัฒนาหลักสูตรพหุวัฒนธรรมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายขอบ และ 3) จัดทำคู่มือและสื่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้านพหุวัฒนธรรมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายขอบ โครงการวิจัยประยุกต์ใช้วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม และใช้เทคนิคแบบเจาะจงเพื่อเลือกพื้นที่เป้าหมาย คือ โรงเรียนอนุบาลในสังกัดเทศบาลจำนวน 3 แห่งในพื้นที่ชายขอบ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์ การสังเกต และการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า หลักสูตรของโรงเรียนก่อนหน้านี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับความแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมในพื้นที่ จึงได้พัฒนาหลักสูตรพหุวัฒนธรรมศึกษาจำนวนสองหน่วย พร้อมคู่มือที่เป็นกรอบแนวคิดหลักสูตร และแผนการสอนและสื่อหนึ่งชุด ที่มุ่งเน้นความแตกต่างทางวัฒนธรรมและพหุวัฒนธรรมศึกษามากขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงกับนโยบายของโรงเรียน ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับระดับที่ 3 (การเปลี่ยนหลักสูตร) ตามแนวคิดการบูรณาการเนื้อหาพหุวัฒนธรรมศึกษา 4 ระดับ ของ James Banks


การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์กรอบแนวคิดทฤษฎีทางสังคมในศาสตร์พื้นฐานการศึกษาร่วมสมัย, ออมสิน จตุพร Jan 2021

การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์กรอบแนวคิดทฤษฎีทางสังคมในศาสตร์พื้นฐานการศึกษาร่วมสมัย, ออมสิน จตุพร

Journal of Education Studies

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำเสนอกรอบแนวคิดทฤษฎีทางสังคมในศาสตร์พื้นฐานการศึกษาร่วมสมัย โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการวิจัยเอกสาร ผลการวิจัย พบว่า กรอบแนวคิดทฤษฎีทางสังคมสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กรอบแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ และกรอบแนวคิดทฤษฎีขัดแย้ง ซึ่งรวมถึงแนวคิดที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทฤษฎีแนวการตีความ ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์สัญลักษณ์ และทฤษฎีแนวปรากฏการณ์นิยม ข้อถกเถียงสำคัญจากการวิจัย คือ นักวิชาการพื้นฐานการศึกษาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาอิทธิพลของกรอบแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ที่มีต่อศาสตร์พื้นฐานการศึกษา และการเปลี่ยนผ่านของกรอบแนวคิดทฤษฎีทางสังคมในศาสตร์พื้นฐานการศึกษาร่วมสมัยที่ให้ความสำคัญกับทฤษฎีมาร์กซิสต์ใหม่ทางการศึกษา หรือทฤษฎีเชิงวิพากษ์ทางการศึกษาอันมีฐานคิดมาจากทฤษฎีขัดแย้ง การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้ส่งผลให้วิธีวิทยาในศาสตร์พื้นฐานการศึกษาร่วมสมัยเกิดการเปลี่ยนแปลงบนฐานทฤษฎีและปฏิบัติการซึ่งดำรงอยู่ภายใต้วาทกรรมโลกยุคศตวรรษที่ 21 ศาสตร์พื้นฐานการศึกษาจึงเป็นฐานคิดในการตั้งประเด็นปัญหาใหม่ ๆ ทางการศึกษาให้แก่นักวิชาการ ครูอาจารย์ และนักปฏิบัติการทางการศึกษาให้ก้าวพ้นไปจากการยอมรับโดยปริยายได้ในที่สุด


การวิเคราะห์การบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในโครงการพัฒนาการบริหารรูปแบบนิติบุคคล, พีรภัทร ฝอยทอง, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์, เพ็ญวรา ชูประวัติ Jan 2021

การวิเคราะห์การบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในโครงการพัฒนาการบริหารรูปแบบนิติบุคคล, พีรภัทร ฝอยทอง, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์, เพ็ญวรา ชูประวัติ

Journal of Education Studies

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีของการบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในโครงการพัฒนาการบริหารรูปแบบนิติบุคคล และ 2) วิเคราะห์สภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในโครงการพัฒนาการบริหารรูปแบบนิติบุคคล ใช้การวิจัยแบบผสมผสาน ตัวอย่าง คือ โรงเรียนในโครงการพัฒนาการบริหารรูปแบบนิติบุคคล จำนวน 89 โรง ผู้ให้ข้อมูลทั้งสิ้น 177 คน เครื่องมือวิจัย คือ แบบสอบถาม แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นได้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย และ PNImodified ผลการวิจัย พบว่า 1) กรอบแนวคิดของการบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในโครงการพัฒนาการบริหารรูปแบบนิติบุคคล ประกอบด้วย กรอบแนวคิดเรื่องกระบวนบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร (ERM) และคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานคุณภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) สภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในโครงการพัฒนาการบริหารรูปแบบนิติบุคคลมีค่าเฉลี่ยของสภาพที่พึงประสงค์สูงกว่าสภาพปัจจุบันทุกด้าน ความต้องการจำเป็นสูงสุดของการบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในโครงการพัฒนาการบริหารรูปแบบนิติบุคคล ได้แก่ การจัดการความเสี่ยง (PNImodified = 0.162) การรายงานและติดตามผล (PNImodified = 0.131) การประเมินความเสี่ยง (PNImodified = 0.130) การกำหนดวัตถุประสงค์ (PNImodified = 0.126) และการระบุความเสี่ยง (PNImodified = 0.114)


ผลการใช้โปรแกรมสุขภาพในโรงเรียนที่มีต่อการป้องกันการเป็นเหา การรักษาความสะอาดของฟันและมือ ของนักเรียนชาวเขาประถมศึกษาตอนปลาย, สุชัญญา สุขสอาด, จินตนา สรายุทธพิทักษ์ Jan 2021

ผลการใช้โปรแกรมสุขภาพในโรงเรียนที่มีต่อการป้องกันการเป็นเหา การรักษาความสะอาดของฟันและมือ ของนักเรียนชาวเขาประถมศึกษาตอนปลาย, สุชัญญา สุขสอาด, จินตนา สรายุทธพิทักษ์

Journal of Education Studies

วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนด้านความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติการป้องกันการเป็นเหา การรักษาความสะอาดของฟันและมือ ก่อนและหลังการทดลอง และ 2) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนด้านความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติ การป้องกันการเป็นเหา การรักษาความสะอาดของฟันและมือ หลังการทดลองระหว่างนักเรียน 2 กลุ่ม ตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จำนวน 40 คน โรงเรียนธารทิพย์ จังหวัดเชียงราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมสุขภาพในโรงเรียนที่มีต่อการป้องกันการเป็นเหา การรักษาความสะอาดของฟันและมือ จำนวน 20 และกลุ่มควบคุม จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้วิจัย ได้แก่ แบบวัดความรู้ แบบวัดเจตคติ และแบบวัดการปฏิบัติการป้องกันการเป็นเหา การรักษาความสะอาดของฟัน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนด้วยค่าที ผลการวิจัย พบว่า 1) ค่าเฉลี่ยคะแนนด้านความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติ เรื่องการป้องกันการเป็นเหา การรักษาความสะอาดของฟันและมือ หลังทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ค่าเฉลี่ยของคะแนนด้านความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติ เรื่องการป้องกันการเป็นเหา การรักษาความสะอาดของฟันและมือ หลังทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05