Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Journal of Education Studies

Journal

2021

Keyword

Articles 31 - 60 of 79

Full-Text Articles in Education

การพัฒนาต้นแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกระบบสำหรับครูในมูลนิธิที่ดูแลเด็กด้อยโอกาส, ศิริพร จินะณรงค์, สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล, รังสิพันธุ์ แข็งขัน Jul 2021

การพัฒนาต้นแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกระบบสำหรับครูในมูลนิธิที่ดูแลเด็กด้อยโอกาส, ศิริพร จินะณรงค์, สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล, รังสิพันธุ์ แข็งขัน

Journal of Education Studies

ปัญหาจำนวนเด็กด้อยโอกาสที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปัญหาระดับประเทศ เด็กเหล่านี้ต้องการการดูแลที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป โดยได้มีการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือดูแลเด็ก ครูผู้ดูแลเด็กที่ทำงานอยู่ในมูลนิธิมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์สภาพปัญหา ความต้องการ และคุณลักษณะของครูผู้สอน และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกระบบสำหรับครูในมูลนิธิที่ 2) พัฒนาต้นแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ นอกระบบสำหรับครู และ 3) นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของการพัฒนาต้นแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกระบบสำหรับครู โดยดำเนินการวิจัยทำตามวัตถุประสงค์ ผลการวิจัย พบว่า ครูได้จัดการเรียนการสอนเด็กด้อยโอกาสเป็นอย่างดี แต่ยังขาดความรู้ในด้านการจัดกิจกรรมเฉพาะทางโดย 1) ครูมีความต้องการพัฒนาทักษะในการจัดกิจกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาของเด็ก 2) ต้นแบบการจัดกิจกรรมควรเน้นด้านการปฏิบัติที่ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับประสบการณ์สุนทรียะที่มีนัยเชิงบวก และกิจกรรมที่ต่อเนื่องมีการทำซ้ำแบบแตกต่าง มีผลทำให้เกิดวงจรของการเรียนรู้เชิงประสบการณ์และทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และ 3) กิจกรรมควรมุ่งเน้นแก้ปัญหาของเด็ก การพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ และมีการจัดแหล่งเรียนรู้สำหรับครู


การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เจตคติต่อวิทยาศาสตร์และพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค Tgt (Team Games Tournament), สุรัตนา พุทธพงษ์, ภัทรภร ชัยประเสริฐ, สมศิริ สิงห์ลพ Jul 2021

การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เจตคติต่อวิทยาศาสตร์และพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค Tgt (Team Games Tournament), สุรัตนา พุทธพงษ์, ภัทรภร ชัยประเสริฐ, สมศิริ สิงห์ลพ

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เจตคติต่อวิทยาศาสตร์ และพฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค TGT (Team Games Tournament) เรื่อง การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ตัวอย่างวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 41 คน ที่ได้มาจากวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม ซึ่งได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค TGT 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นนำ 2) ขั้นจัดทีม 3) ขั้นจัดการแข่งขัน 4) ขั้นการวัดประเมินผล 5) ขั้นสรุป วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบทีกรณีตัวอย่างไม่เป็นอิสระต่อกันและกรณีตัวอย่างกลุ่มเดียว ผลการวิจัย พบว่า 1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค TGT หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนและสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70 2) เจตคติต่อวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค TGT หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน 3) พฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค TGT หลังเรียนอยู่ในระดับดี


การพัฒนาชุดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนแบบตกผลึกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการวิจารณ์วรรณกรรมของนักศึกษาระดับปริญญาตรี, ขวัญชนก นัยจรัญ Jul 2021

การพัฒนาชุดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนแบบตกผลึกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการวิจารณ์วรรณกรรมของนักศึกษาระดับปริญญาตรี, ขวัญชนก นัยจรัญ

Journal of Education Studies

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาชุดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนแบบตกผลึก 2) เปรียบเทียบความสามารถในการวิจารณ์วรรณกรรมของนักศึกษาก่อนและหลังการทดลอง และ 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อชุดการเรียนรู้ การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหาในการเรียนการสอนรายวิชาวรรณกรรมวิจารณ์ ระยะที่ 2 พัฒนาชุดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนแบบตกผลึก ระยะที่ 3 ทดลองใช้ และระยะที่ 4 ประเมินผลความสามารถในการวิจารณ์วรรณกรรมและความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อชุดการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 55 คน ระยะเวลาในการทดลอง 6 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองเป็นชุดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนแบบตกผลึก และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบวัดความสามารถในการวิจารณ์วรรณกรรม และแบบวัดความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อชุดการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า 1) ชุดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) ความสามารถในการวิจารณ์วรรณกรรมของนักศึกษาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 3) นักศึกษามีความพึงพอใจต่อชุดการเรียนรู้ระดับมากที่สุด


การศึกษาสภาพ ปัญหา และความต้องการในการปรับตัว การอยู่ร่วมกัน และการเรียนรู้เพื่อการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแรงงานภาคอุตสาหกรรม, ณัฐวีณ์ ยิ้มเศรษฐี, อาชัญญา รัตนอุบล, ปาน กิมปี Jul 2021

การศึกษาสภาพ ปัญหา และความต้องการในการปรับตัว การอยู่ร่วมกัน และการเรียนรู้เพื่อการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแรงงานภาคอุตสาหกรรม, ณัฐวีณ์ ยิ้มเศรษฐี, อาชัญญา รัตนอุบล, ปาน กิมปี

Journal of Education Studies

วัตถุประสงค์ของการวิจัยในครั้งนี้ คือ เพื่อศึกษาสภาพพื้นฐาน ลักษณะการดำรงชีวิต ปัญหาและความต้องการใน การปรับตัวเพื่อให้เข้ากับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแรงงานภาคอุตสาหกรรม เก็บข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทย 30 คน และแรงงานต่างด้าวพม่า ลาว กัมพูชา 400 คน ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของไทย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม ผลการวิจัย พบว่า แรงงานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีรายได้แบบรายวันตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ สาเหตุการย้ายงานคือ ไม่ชอบงาน กิจกรรมยามว่าง ชอบเล่นกีฬา ดูหนัง ท่องเที่ยว สิ่งที่ทำให้อึดอัดใจในครั้งแรกที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยคือ ภาษา อาหาร และเพื่อนต่างถิ่น สิ่งที่ทำให้ปรับตัวได้ คือ การเปิดใจยอมรับ การสร้างสัมพันธภาพ ความต้องการด้านการปรับตัว คือ 1) การปรับตัวเข้ากับเพื่อนต่างชาติ 2) การสื่อสารกับผู้ร่วมงาน 3) การแต่งกายให้ถูกต้องเหมาะสม 4) ความมั่นใจในการแสดงความเป็นเพื่อนกับต่างชาติ 5) การเป็นมิตรกับเพื่อนต่างชาติโดยไม่รู้สึกแตกต่าง ปัญหาด้านการอยู่ร่วมกัน คือ 1) การพึ่งพาอาศัยกัน 2) การทำงานร่วมกับเพื่อนชาติ 3) การช่วยเหลือเพื่อนต่างชาติ 4) ระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกัน 5) การแต่งกายให้ถูกต้องเหมาะสม ส่วนปัญหาด้านการเรียนรู้ คือ 1) ความเข้าใจนิสัยเพื่อนต่างชาติ 2) ความรู้ด้านอาหารของเพื่อนต่างชาติ


บทบรรณาธิการ, ศูนย์นวัตกรรมตำรา Jul 2021

บทบรรณาธิการ, ศูนย์นวัตกรรมตำรา

Journal of Education Studies

No abstract provided.


การพัฒนาทักษะการคิดเชิงมโนทัศน์ในวิชาสังคมศึกษาเพื่อผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21, อิทธิเดช น้อยไม้ Jul 2021

การพัฒนาทักษะการคิดเชิงมโนทัศน์ในวิชาสังคมศึกษาเพื่อผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21, อิทธิเดช น้อยไม้

Journal of Education Studies

การพัฒนาผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จและปรับตัวเข้ากับสังคมแห่งศตวรรษที่ 21 โดยใช้การเรียนรู้วิชาสังคมศึกษานั้น ครูสังคมศึกษาจำเป็นต้องวางแผนและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้มีทักษะการคิดเชิงมโนทัศน์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหา แสวงหาคำตอบ และวินิจฉัยเรื่องราวที่ต้องเผชิญในสังคมโลกยุคปัจจุบันได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป บทความนี้นำเสนอความรู้เกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของมโนทัศน์ มโนทัศน์กับการทำงานของสมอง ความสำคัญของการคิดเชิงมโนทัศน์ มโนทัศน์ของวิชาสังคมศึกษาการพัฒนาทักษะการคิดเชิงมโนทัศน์ในวิชาสังคมศึกษา และคุณค่าของการคิดเชิงมโนทัศน์ ในวิชาสังคมศึกษาเพื่อผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21


รูปแบบการบริหารโรงเรียนเพื่อเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพด้านการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน, ฐาปณัฐ อุดมศรี, ชญาพิมพ์ อุสาโห, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ Jul 2021

รูปแบบการบริหารโรงเรียนเพื่อเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพด้านการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน, ฐาปณัฐ อุดมศรี, ชญาพิมพ์ อุสาโห, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์

Journal of Education Studies

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนเพื่อเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพด้านการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ด้วยระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสม ตัวอย่าง ได้แก่ โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 480 โรงเรียน เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบประเมินกรอบแนวคิดในการวิจัย แบบสอบถามสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ และแบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบการบริหาร วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา การวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน คือค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความต้องการจำเป็น โดยใช้การวิเคราะห์ Modified Priority Needs Index (PNIModified) ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการบริหารโรงเรียนแบบยืดหยุ่นที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพด้านการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเป็นการบูรณาการรูปแบบการบริหารแบบกำกวมและแบบวัฒนธรรมซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ 7 ส่วน ได้แก่ 1) ชื่อรูปแบบ 2) หลักการและความสำคัญ 3) วัตถุประสงค์ของรูปแบบการบริหารโรงเรียนแบบยืดหยุ่นที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพด้านการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน 4) องค์ประกอบของรูปแบบ 8 องค์ประกอบ ได้แก่ การกำหนดเป้าประสงค์ การแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการปฏิบัติ การสนับสนุนปัจจัยแวดล้อม โครงสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ การเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม แบบของผู้นำ และแบบของภาวะผู้นำที่เกี่ยวข้อง 5) แผนภาพของรูปแบบและการนำไปใช้ 6) ปัจจัยความสำเร็จ และ 7) ประโยชน์ที่ได้รับ


กรอบแนวคิดการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ, ครรชิต พิมใจ, ดาวรุวรรณ ถวิลการ Jul 2021

กรอบแนวคิดการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ, ครรชิต พิมใจ, ดาวรุวรรณ ถวิลการ

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและประเมินกรอบแนวคิดของการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ เป็นการวิจัยผสานวิธี ดำเนินการ 2 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาเอกสารเกี่ยวกับการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรม จำนวน 15 แหล่ง เพื่อสังเคราะห์กรอบแนวคิดของการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยองค์ประกอบและตัวบ่งชี้จากแนวคิดและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และ 2) ประเมินกรอบแนวคิดการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมตามกรอบที่ได้สังเคราะห์จากเอกสารโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินเป็นแบบตรวจสอบรายการและแบบปลายเปิดเพื่อเสนอแนะ โดยวิเคราะห์หาค่าดัชนีความสอดคล้อง (Index of Item Objective Congruence: IOC) ผลการวิจัยพบว่า 1) กรอบแนวคิดของการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มี 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ (1) การฝึกอบรมทางวัฒนธรรม มี 3 ตัวบ่งชี้ (2) การจัดระบบพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษา มี 3 ตัวบ่งชี้ (3) ภาวะผู้นำเชิงวัฒนธรรม มี 3 ตัวบ่งชี้ (4) การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม มี 4 ตัวบ่งชี้ และ (5) การจัดวางบุคลากรที่หลากหลาย มี 3 ตัวบ่งชี้ และ 2) ผลการประเมินกรอบแนวคิดของการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษมีค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) อยู่ระหว่าง 0.80 – 1.00 ซึ่งผ่านเกณฑ์ทุกองค์ประกอบและตัวบ่งชี้


การบริหารการศึกษาบิ๊กดาต้า : กรณีศึกษาสาธารณรัฐประชาชนจีนและการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย, วราลี จิเนราวัต, หมิงซาน หลัว, ณนนท์ ราชเสน, หยาง (ริชาร์ด) ฟง Jul 2021

การบริหารการศึกษาบิ๊กดาต้า : กรณีศึกษาสาธารณรัฐประชาชนจีนและการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย, วราลี จิเนราวัต, หมิงซาน หลัว, ณนนท์ ราชเสน, หยาง (ริชาร์ด) ฟง

Journal of Education Studies

บทความนี้ได้นำเสนอความรู้เกี่ยวกับนโยบายการบริหารด้านการศึกษาบิ๊กดาต้า โดยสังเคราะห์จากข้อมูลและเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับมโนทัศน์ของบิ๊กดาต้า สภาพการณ์ของประเทศไทย บิ๊กดาต้ากับการเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าของภาครัฐและเอกชนของสาธารณรัฐประชาชนจีน การนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในปัจจุบัน ความเป็นมาของการศึกษาบิ๊กดาต้าเพื่ออุตสาหกรรมของสาธารณรัฐประชาชนจีน การนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในภาคการศึกษาของประเทศไทย การเชื่อมโยงภาคการศึกษากับทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ภายใต้ความร่วมมือกับจีน พบว่า การบริหารด้านการศึกษาบิ๊กดาต้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวนทั้งสิ้น 6 แนวทางสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้และแนวทางดังกล่าวยังช่วยย่นย่อระยะเวลาดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 20 ปีแห่งชาติของประเทศไทย ผ่านความร่วมมือโอนถ่ายเทคโนโลยีราคาย่อมเยาว์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเส้นทางสายไหมของสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย ตามแนวทางการบริหารการศึกษาเพื่อส่งเสริมผู้มีศักยภาพสูงผ่านกลไกภาครัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีน


การวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นของการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิทยฐานะเพื่อเสริมสร้างคุณภาพนักเรียน, ปิยนุช เปี่ยมวิริยวงศ์, ปิยพงษ์ สุเมตติกุล Jul 2021

การวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นของการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิทยฐานะเพื่อเสริมสร้างคุณภาพนักเรียน, ปิยนุช เปี่ยมวิริยวงศ์, ปิยพงษ์ สุเมตติกุล

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิทยฐานะเพื่อเสริมสร้างคุณภาพนักเรียน ตัวอย่างวิจัย ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 380 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้ PNIModifiedในการจัดลำดับความต้องการจำเป็น ผลการวิจัย พบว่า สภาพปัจจุบันของระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานมีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง (M = 3.09) สภาพที่พึงประสงค์อยู่ในระดับมาก (M = 4.38) สำหรับค่าดัชนี PNIModifiedความต้องการจำเป็นของการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิทยฐานะเพื่อเสริมสร้างคุณภาพนักเรียน โดยภาพรวม (PNIModified = 0.420) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการประเมินความประพฤติในการรักษาวินัย มีความต้องการจำเป็นสูงที่สุด รองลงมาคือ ด้านงานวิชาการ งานบริหารงานบุคคล งานบริหารแผนงานและงบประมาณการบริหารงานทั่วไป และผลการปฏิบัติงานตามภาระงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย ด้านการประเมินคุณธรรมจริยธรรม ด้านการประเมินความรู้ความสามารถ และด้านการประเมินจรรยาบรรณวิชาชีพ ตามลำดับ


การพัฒนาแบบทดสอบสมรรถภาพทางกลไกสำหรับเด็กออทิสติก, สุรัติ จีระพงษ์, สุธนะ ติงศภัทิย, สมบูรณ์ อินทร์ถมยา Apr 2021

การพัฒนาแบบทดสอบสมรรถภาพทางกลไกสำหรับเด็กออทิสติก, สุรัติ จีระพงษ์, สุธนะ ติงศภัทิย, สมบูรณ์ อินทร์ถมยา

Journal of Education Studies

การวิจัยในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาแบบทดสอบสมรรถภาพทางกลไกสำหรับเด็กออทิสติก เครื่องมือที่ใช้ใน การวิจัย คือ แบบทดสอบสมรรถภาพทางกลไกที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นจากแนวคิด และ ทฤษฎีการสร้างแบบทดสอบสมรรถภาพทางกลไกสำหรับเด็กก่อนปฐมวัยของ สุพิตร สมาหิโต ซึ่งมี 5 องค์ประกอบ ทั้งนี้ผู้วิจัยมีกระบวนการพัฒนาแบบทดสอบสมรรถภาพทางกลไกสำหรับเด็กออทิสติกโดย การสนทนากลุ่ม (focus group) และการวิเคราะห์ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ผลการวิจัยพบว่า แบบทดสอบสมรรถภาพทางกลไกสำหรับเด็กออทิสติก ประกอบด้วย 6 แบบทดสอบ ได้แก่ แบบทดสอบการประสานสัมพันธ์ (coordination test) แบบทดสอบการทรงตัว (balance test) แบบทดสอบปฏิกิริยาการตอบสนอง (reaction time test) แบบทดสอบพลังของกล้ามเนื้อ (muscular power test) แบบทดสอบความคล่องแคล่วว่องไว (agility test) และแบบทดสอบความเร็ว (speed test) ผลการประเมินคุณภาพเครื่องมือโดยหาค่าความสอดคล้องของความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ 7 ท่าน ด้านความตรงเชิงเนื้อหา (IOC) ได้ค่าเท่ากับ 0.96 พบว่า ก่อนนำไปทดลองใช้ แบบทดสอบนี้ มีความเหมาะสมและเป็นไปได้อยู่ในระดับสูง (.98) สรุปได้ว่า แบบทดสอบสมรรถภาพทางกลไกสำหรับเด็กออทิสติก มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ได้จริง ช่วยให้ประเมินสมรรถภาพทางกลไกของเด็กออทิสติกว่ามีความสามารถอยู่ในระดับใด และทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กออทิสติกสามารถออกแบบกิจกรรมทางกายและพัฒนาสมรรถภาพทางกลไกของเด็กได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม


กลยุทธ์การบริหารวิชาการตามแนวคิดการเรียนรู้แบบบูรณาการเนื้อหากับภาษาและสมรรถนะทางภาษาอังกฤษของนักเรียนมัธยมศึกษา, ชูขวัญ รัตนพิทักษ์ธาดา, นันทรัตน์ เจริญกุล, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ Apr 2021

กลยุทธ์การบริหารวิชาการตามแนวคิดการเรียนรู้แบบบูรณาการเนื้อหากับภาษาและสมรรถนะทางภาษาอังกฤษของนักเรียนมัธยมศึกษา, ชูขวัญ รัตนพิทักษ์ธาดา, นันทรัตน์ เจริญกุล, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์

Journal of Education Studies

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากรอบแนวคิดการบริหารวิชาการตามแนวคิดการเรียนรู้แบบบูรณาการเนื้อหากับภาษาและสมรรถนะทางภาษาอังกฤษของนักเรียนมัธยมศึกษา 2) ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารวิชาการฯ 3) วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภาวะคุกคามของการบริหารวิชาการฯ 4) พัฒนากลยุทธ์การบริหารวิชาการฯ ใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน เก็บข้อมูลจากโรงเรียนมัธยมศึกษาโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากลและสอนตามหลักสูตร English Program (EP) หรือ Mini English Program (MEP) จำนวน 113 โรงเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามและแบบประเมินกลยุทธ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนี PNIModified และ การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1) กรอบแนวคิด ประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ การบริหารวิชาการ แนวทางการเรียนรู้แบบบูรณาการเนื้อหากับภาษา และสมรรถนะทางภาษาอังกฤษของนักเรียนมัธยมศึกษา 2) สภาพปัจจุบันในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง สภาพที่พึงประสงค์ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก 3) จุดแข็ง คือหลักสูตรสถานศึกษา และการวัดและประเมินผลนักเรียน จุดอ่อน คือ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ โอกาส คือ นโยบายของรัฐบาล และสภาพเทคโนโลยี ภาวะคุกคาม คือ สภาพเศรษฐกิจและสภาพสังคม 4) กลยุทธ์หลักมี 3 กลยุทธ์ คือ (1) เร่งยกระดับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (2) เพิ่มประสิทธิผลการวัดและประเมินผลนักเรียน (3) ปรับหลักสูตรสถานศึกษา


แรงจูงใจที่มีผลต่อการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, วสินี ไขว้พันธุ์, สมปรารถ ขำเมือง Apr 2021

แรงจูงใจที่มีผลต่อการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, วสินี ไขว้พันธุ์, สมปรารถ ขำเมือง

Journal of Education Studies

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาแรงจูงใจที่มีผลต่อการเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2561 จำนวน 123 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูล ด้วย ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าทีและความแปรปรวนทางเดียว ผลการวิจัย พบว่า โดยภาพรวม นิสิตมีแรงจูงใจในการเข้าศึกษาคณะนี้อยู่ในระดับมาก (Mu = 3.65) โดยด้านความมั่นคง และความก้าวหน้า มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงสุด รองลงมา คือ ด้านความถนัดและสนใจในอาชีพ ด้านสถาบัน ด้านการประชาสัมพันธ์ส่วนด้านอิทธิพลการชักจูงจากบุคคลอื่นมีค่าเฉลี่ยคะแนนต่ำที่สุดและอยู่ในระดับน้อย นอกจากนี้พบว่า นิสิตที่เลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรที่แตกต่างกันมีแรงจูงใจในการเข้าศึกษาต่อในด้านความถนัดและความสนใจในอาชีพแตกต่างกันและรายได้ของผู้ปกครองที่แตกต่างกันมีผลในการเข้าศึกษาต่อในสถาบันแตกต่างกัน


หลักธรรมการบริหารเชิงพุทธของการบริหารโรงเรียน, ทรงพล บุญประเสริฐ Apr 2021

หลักธรรมการบริหารเชิงพุทธของการบริหารโรงเรียน, ทรงพล บุญประเสริฐ

Journal of Education Studies

บทความนี้นำเสนอนวัตกรรมทางการศึกษา คือ หลักธรรมการบริหารเชิงพุทธของการบริหารโรงเรียน เป็นการสร้างความพร้อมในการเรียนรู้อย่างรอบด้านของผู้มีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษาไปพร้อมกับนักเรียน บนพื้นฐานการให้คุณค่าด้านจิตใจและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ประกอบด้วยหลักสังคหวัตถุ 4 คือทาน (generosity) ปิยวาจา (kindly speech) อัตถจริยา (useful conduct) และสมานัตตตา (equality/ impartiality) โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้แบบบูรณาการ (integrated learning) โดยผสานรากฐานการเรียนรู้แบบไทยเข้ากับศาสตร์สากล เกิดเป็นองค์ความรู้ที่มีการพัฒนามาจากภายในจิตใจ ก่อให้เกิดอัตลักษณ์ (identity) ที่ชัดเจนของความเป็นคนไทย มีรากแก้ว (root) ที่แข็งแรงและสมบูรณ์ในด้านภาษาและวัฒนธรรม เพื่อเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาชาติไทยให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ของโลก สอดรับกับ Roadmap ในการขับเคลื่อนการศึกษา เพื่อเตรียมคนไทย 4.0 เข้าสู่โลกที่หนึ่ง


การพัฒนาตัวบ่งชี้วิถีชีวิตพอเพียงสำหรับผู้นำชุมชนในสังคมเกษตรอุตสาหกรรม, ศรวณีย์ กิจเดช, วีรฉัตร์ สุปัญโญ, ณัฏฐลักษณ์ ธาระวานิช Apr 2021

การพัฒนาตัวบ่งชี้วิถีชีวิตพอเพียงสำหรับผู้นำชุมชนในสังคมเกษตรอุตสาหกรรม, ศรวณีย์ กิจเดช, วีรฉัตร์ สุปัญโญ, ณัฏฐลักษณ์ ธาระวานิช

Journal of Education Studies

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้วิถีชีวิตพอเพียงสำหรับผู้นำชุมชนในสังคมเกษตรอุตสาหกรรม โดยมีขั้นตอนการวิจัย 3 ขั้นตอน คือ 1) การสังเคราะห์เอกสารเพื่อร่างตัวบ่งชี้วิถีชีวิตพอเพียงสำหรับผู้นำชุมชนเพื่อนำผลการสังเคราะห์สรุปเป็นประเด็นเพื่อการสัมภาษณ์เชิงลึก 2) การพัฒนาตัวบ่งชี้ในการพัฒนาวิถีชีวิตพอเพียงสำหรับผู้นำชุมชนในสังคมเกษตรอุตสาหกรรม โดยใช้แบบสัมภาษณ์กับผู้ให้ข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตัวตามวิถีพอเพียง 3) การตรวจสอบตัวบ่งชี้วิถีชีวิตพอเพียงสำหรับผู้นำชุมชน โดยใช้เครื่องมือประเภทแบบสัมภาษณ์ เสนอผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างวิถีชีวิตพอเพียง และการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียน 5 คน ผลการวิจัย พบว่า การสังเคราะห์เอกสารเพื่อร่างตัวบ่งชี้วิถีชีวิตพอเพียงสำหรับผู้นำชุมชนเป็นตัวบ่งชี้วิถีชีวิตพอเพียงสำหรับผู้นำชุมชนในสังคมเกษตรอุตสาหกรรมและการตรวจสอบตัวบ่งชี้วิถีชีวิตพอเพียงสำหรับผู้นำชุมชน แสดงให้เห็นว่ามีจำนวน 8 ด้าน 21 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 1) การปฏิบัติตนในทางสายกลาง 2) การดำรงชีวิตอย่างพอประมาณ 3) การมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต 4) การพึ่งตนเองได้ 5) การดำรงชีวิตตามแนวทางของสังคมไทย 6) การรู้จักใช้ทรัพยากรประกอบด้วย 7) การมีความสามารถในการใช้ความรู้อย่างมีเหตุผล 8) การปรับตัวอย่างมีความสุข


การบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาตามแนวคิดการพัฒนานักเรียนให้มีภาวะผู้นำที่ยอดเยี่ยม, ดวงจิต สนิทกลาง, เพ็ญวรา ชูประวัติ, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ Apr 2021

การบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาตามแนวคิดการพัฒนานักเรียนให้มีภาวะผู้นำที่ยอดเยี่ยม, ดวงจิต สนิทกลาง, เพ็ญวรา ชูประวัติ, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ ความต้องการจำเป็นและวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส ภาวะคุกคามของการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาตามแนวคิดการพัฒนานักเรียนให้มีภาวะผู้นำที่ยอดเยี่ยม ดำเนินการวิจัยโดยใช้วิธีเชิงปริมาณ เก็บข้อมูลจากโรงเรียนมัธยมศึกษา ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 342 โรง ผู้ให้ข้อมูล จำนวน 10 คน ต่อ 1 โรงเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีความต้องการจำเป็น (PNIModified) ผลการวิจัย พบว่า สภาพปัจจุบันของการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาตามแนวคิดการพัฒนานักเรียนให้มีภาวะผู้นำที่ยอดเยี่ยมในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และสภาพที่พึงประสงค์ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อเรียงลำดับความต้องการจำเป็นด้วยดัชนีความต้องการจำเป็น (PNIModified) พบว่า การบริหารกิจการนักเรียน (PNIModified = 0.195) มีดัชนีความต้องการจำเป็นในระดับสูงเป็นจุดอ่อนโดยการดำเนินงานสภานักเรียน (PNIModified = 0.198) มีดัชนีความต้องการจำเป็นสูงกว่าการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร (PNIModified = 0.192) ส่วนการบริหารงานวิชาการ (PNIModified = 0.188) มีดัชนีความต้องการจำเป็นในระดับต่ำเป็นจุดแข็งของการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาตามแนวคิดการพัฒนานักเรียนให้มีภาวะผู้นำที่ยอดเยี่ยม


การศึกษาสภาพการบริหารโรงเรียนเอกชนตามแนวคิดองค์การที่สร้างความผูกพันของครูและนักเรียน, ผาสุก สุมามาลย์กุล, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์, ปองสิน วิเศษศิริ Apr 2021

การศึกษาสภาพการบริหารโรงเรียนเอกชนตามแนวคิดองค์การที่สร้างความผูกพันของครูและนักเรียน, ผาสุก สุมามาลย์กุล, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์, ปองสิน วิเศษศิริ

Journal of Education Studies

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อ 1) ศึกษากรอบแนวคิดโรงเรียนที่สร้างความผูกพันครูและนักเรียน 2) ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ ความต้องการจำเป็น ในการบริหารโรงเรียนเอกชน และ 3) วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภาวะคุกคามของการบริหารโรงเรียนเอกชน ตามแนวคิดองค์การที่สร้างความผูกพันของครูและนักเรียน ตัวอย่าง คือ โรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา จำนวน 330 แห่ง ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้บริหาร ครู และนักเรียนรวม 873 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามและแบบประเมิน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และดัชนีความต้องการจำเป็น (PNI modified) ผลการวิจัย พบว่า 1) กรอบแนวคิดโรงเรียนที่สร้างความผูกพันมี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) การทำงานที่มีความหมาย (2) ฝ่ายบริหารร่วมปฏิบัติงานและตัดสินใจอย่างเหมาะสม (3) สภาพแวดล้อมการทำงานเชิงบวก (4) การให้โอกาสก้าวหน้า (5) การมีความเชื่อมั่นในภาวะผู้นำ (6) การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม 2) สภาพปัจจุบันของการบริหารโรงเรียนเอกชนตามแนวคิดองค์การที่สร้างความผูกพันของครูและนักเรียนในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และสภาพที่พึงประสงค์ในภาพรวมอยู่ระดับมากที่สุด 3) จุดแข็ง คือ โรงเรียนสามารถสร้างความเชื่อมั่นในภาวะผู้นำให้แก่ครูและนักเรียน จุดอ่อน คือ การให้โอกาสความก้าวหน้าแก่ครูและนักเรียน สภาพสังคมและเทคโนโลยีเป็นโอกาส การเมืองและนโยบายของรัฐบาล และสภาพเศรษฐกิจเป็นภาวะคุกคาม


ปัจจัยและระดับความเข้าใจวัฒนธรรมไทยของนักศึกษาจีนที่มีต่อการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ไฉ่เตี๋ย จาง, เชษฐภูมิ วรรณไพศาล, ชรินทร์ มั่งคั่ง Apr 2021

ปัจจัยและระดับความเข้าใจวัฒนธรรมไทยของนักศึกษาจีนที่มีต่อการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ไฉ่เตี๋ย จาง, เชษฐภูมิ วรรณไพศาล, ชรินทร์ มั่งคั่ง

Journal of Education Studies

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับความเข้าใจในวัฒนธรรมไทยของนักศึกษาจีน 2) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อระดับความเข้าใจในวัฒนธรรมไทยของนักศึกษาจีน 3) ศึกษาระดับความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยส่งเสริมทักษะความเข้าใจในวัฒนธรรมไทยของนักศึกษาจีน ประชากรที่ใช้ในการวิจัยคือนักศึกษาจีนที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 391 คน โดยมีแบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและการวิเคราะห์สถิติโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผลวิจัย พบว่า 1) ระดับความเข้าใจของนักศึกษาจีนต่อวัฒนธรรมไทยอยู่ในระดับปานกลาง (M = 3.04) 2) ปัจจัยด้านชั้นปีที่กำลังศึกษา ประสบการณ์ในประเทศไทย ประสบการณ์การเรียนภาษาไทย ความสนใจในวัฒนธรรมไทยที่แตกต่างกันมีผลต่อระดับความเข้าใจวัฒนธรรมไทยแตกต่างกัน ซึ่งปัจจัยด้านความจำเป็นของการสอนวัฒนธรรมไทย และความสนใจในการสอนวัฒนธรรมไทยที่แตกต่างกันมีผลต่อระดับความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมไทยไม่แตกต่างกัน 3) ความพึงพอใจของนักศึกษาจีนต่อการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยส่งเสริมทักษะความเข้าใจในวัฒนธรรมไทยอยู่ในระดับมาก (M = 3.67)


การประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยข้อสอบมาตรฐานในการสอบปลายปี ปีการศึกษา 2561 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1, ศศิธร ชุตินันทกุล Apr 2021

การประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยข้อสอบมาตรฐานในการสอบปลายปี ปีการศึกษา 2561 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1, ศศิธร ชุตินันทกุล

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประมวลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยข้อสอบมาตรฐานในการสอบปลายปีของผู้เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ศึกษากับกลุ่มตัวอย่างนักเรียน จำนวน 442,847 คน ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยนักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงที่สุด (ร้อยละ 44.35) รองลงมาคือ วิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 38.71) โดยกลุ่มสาระภาษาไทยและวิทยาศาสตร์ นักเรียนส่วนใหญ่มีผลการประเมินในระดับพอใช้ รองลงมาคือ ระดับดี ส่วนกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ อยู่ในระดับพอใช้ รองลงมาคือ ระดับปรับปรุง ผลการประเมินจำแนกตามสังกัด พบว่า นักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มสาระภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ เมื่อพิจารณาตามขนาดโรงเรียน พบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงสุดทุกกลุ่มสาระ เช่นเดียวกันกับนักเรียนในภาคตะวันตก แต่นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละต่ำสุด สำหรับรูปแบบของข้อสอบ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ทำข้อสอบเชิงซ้อนได้มากที่สุด แต่ทำข้อสอบแบบตอบสั้นและตอบอิสระได้น้อย สำหรับผลการวิเคราะห์คุณภาพข้อสอบ ได้ค่าความเที่ยงของกลุ่มสาระภาษาไทย เท่ากับ 0.78 คณิตศาสตร์ เท่ากับ 0.66 วิทยาศาสตร์ เท่ากับ 0.76 และ ภาษาอังกฤษ เท่ากับ 0.82 โดยทุกกลุ่มสาระยกเว้นกลุ่มสาระภาษาไทยมีจำนวนข้อสอบยากและค่อนข้างยากเกินกว่าร้อยละ 50


ปัจจัยแห่งความสำเร็จของมหาวิทยาลัยสีเขียวที่ยั่งยืน, โมทนา สิทธิพิทักษ์, สิริฉันท์ สถิรกุล เตชพาหพงษ์, พันธ์ศักดิ์ พลสารัมย์ Apr 2021

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของมหาวิทยาลัยสีเขียวที่ยั่งยืน, โมทนา สิทธิพิทักษ์, สิริฉันท์ สถิรกุล เตชพาหพงษ์, พันธ์ศักดิ์ พลสารัมย์

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียวที่ยั่งยืน ซึ่งศึกษาข้อมูลการดำเนินการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนงาน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของมหาวิทยาลัยสีเขียวที่ยั่งยืนมี 4 ปัจจัย ประกอบด้วย ปัจจัยที่ 1 การกําหนดนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวหรือมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน ที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งทางด้านกายภาพและการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาคมในมหาวิทยาลัย ปัจจัยที่ 2 การมีส่วนร่วมของทุกคน โดยเฉพาะผู้บริหารรวมถึงการแต่งตั้งคณะทํางานเพื่อดําเนินการตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน ปัจจัยที่ 3 การกําหนดตัวชี้วัด เป้าหมาย การติดตาม ประเมินผลการโครงการและกิจกรรม โดยใช้กระบวนการคุณภาพ (P-D-C-A) ปัจจัยที่ 4 การเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน รวมถึงนิสิตนักศึกษา ให้ใส่ใจ มีความรู้ ความตระหนักและพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม


แนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทยสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น, ชมพูนุช จูฑะเศรษฐ์, สุรพงษ์ บ้านไกรทอง Apr 2021

แนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทยสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น, ชมพูนุช จูฑะเศรษฐ์, สุรพงษ์ บ้านไกรทอง

Journal of Education Studies

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทยสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนวิชาดนตรีไทยระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอนทฤษฎีดนตรีไทย จำนวน 6 ท่าน สังเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้การสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (analytic induction) ผลการวิจัยพบว่า แนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การกำหนดจุดประสงค์ ควรชัดเจนและมุ่งให้เกิดการพัฒนาทักษะ ความรู้และทัศนคติที่ดีในทางดนตรีไทย 2) การกำหนดเนื้อหาสาระ ควรกำหนดให้เหมาะสมสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผู้สอนควรให้นักเรียนรู้จักประเภทและหน้าที่ของวงดนตรีไทย ประเภทของเพลงไทยเดิม โดยเน้นการฟังเพลงมากกว่าการสอนบรรยาย มุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องเสียงของเครื่องดนตรีไทย เน้นการปูพื้นฐานความรู้ด้านดนตรีเบื้องต้นเพื่อสุนทรียภาพ เช่น วิธีการฟังเพลงไทยและการอ่านโน้ต โดยเริ่มจากเพลงที่ง่ายไปสู่เพลงที่ซับซ้อน 3) การกำหนดรูปแบบวิธีการสอน เน้นการเรียนรู้ทฤษฎีผ่านกิจกรรมการสอนแบบ Active learning ที่สนุกสนาน น่าสนใจ เข้ากับชีวิตประจำวันและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มุ่งการสร้างผู้ฟังดนตรีไทยให้มากกว่าการสร้างนักดนตรีไทยมืออาชีพ 4) วิธีการวัดประเมินผล ควรจะใช้วิธีการที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนได้ เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การอภิปรายในชั้นเรียน และการประเมินผลตามสภาพจริง


การออกแบบสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย : กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านม่วงฝ้าย จังหวัดสระบุรี, อัธยานันท์ จิตรโรจนรักษ์, มณฑล จันทร์แจ่มใส Apr 2021

การออกแบบสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย : กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านม่วงฝ้าย จังหวัดสระบุรี, อัธยานันท์ จิตรโรจนรักษ์, มณฑล จันทร์แจ่มใส

Journal of Education Studies

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำต้นแบบทางเลือกสนามเด็กเล่นที่ส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาทักษะการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัย ขั้นตอนการดำเนินการ ประกอบด้วย (1) การประสานความร่วมมือและเตรียมความพร้อมของเครือข่าย (2) การสำรวจพื้นที่และเก็บข้อมูล (3) การวิเคราะห์ข้อมูล (4) การสังเคราะห์ข้อมูลและออกแบบทางเลือก (5) การออกแบบและผลิตผลงานขั้นสุดท้าย และ (6) การประเมินผลและสรุปผล ผลการวิจัย พบว่า ต้นแบบทางเลือกสนามเด็กเล่น จำนวน 6 รูปแบบ คำนึงถึงการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน ประกอบด้วยองค์ประกอบของสนามเด็กเล่นที่ดี 4 ส่วน ได้แก่ สนามเด็กเล่นอเนกประสงค์ บ่อทราย บริเวณเงียบสงบ และสถานที่เล่นเกมส์ มีอุปกรณ์ที่เป็นไม้ไผ่และยางรถยนต์ตามข้อเสนอแนะของทางโรงเรียน


เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Ai กับการแบ่งกลุ่มข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้วิธีการเรียนรู้การแบ่งกลุ่มข้อมูลชนิด K-Mean, สุริยัน เขตบรรจง, วิลัยวรรณ มาวัน Apr 2021

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Ai กับการแบ่งกลุ่มข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้วิธีการเรียนรู้การแบ่งกลุ่มข้อมูลชนิด K-Mean, สุริยัน เขตบรรจง, วิลัยวรรณ มาวัน

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาผลการจัดกลุ่มข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI แบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเป็น กลุ่มเก่ง กลุ่มปานกลาง กลุ่มอ่อน และเพื่อศึกษาผลการจัดกลุ่มข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI แบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของรายวิชาเป็น กลุ่มเด่น กลุ่มกลาง กลุ่มด้อย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนสามเสนนอก (ประชาราษฎร์อนุกูล) สำนักงานเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร จำนวน 33 คน ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายด้วยวิธีจับสลาก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI โดยใช้วิธีการเรียนรู้การแบ่งกลุ่มข้อมูลชนิด K-mean ผลการวิจัย พบว่า การแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเป็น กลุ่มเก่ง 11 คน กลุ่มปานกลาง 11 คน กลุ่มอ่อน 11 คน และการแบ่งกลุ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของรายวิชาเป็น กลุ่มเด่น 4 รายวิชา กลุ่มกลาง 3 รายวิชา กลุ่มด้อย 3 รายวิชา โดยมีรายวิชาที่เด่นสุดคือ วิชาประวัติศาสตร์ รองลงมาคือ วิชาการงานอาชีพ และรายวิชาที่ด้อยสุดคือ วิชาภาษาอังกฤษ


การศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา, ทัศพร ปูมสีดา, ชญาพิมพ์ อุสาโห, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ Apr 2021

การศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา, ทัศพร ปูมสีดา, ชญาพิมพ์ อุสาโห, พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์

Journal of Education Studies

งานวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากรอบแนวคิดการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา 2) ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ตัวอย่าง คือ โรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จํานวน 375 โรง ผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา และครู จํานวน 500 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถาม และแบบประเมิน สถิติที่ใช้ ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ คkาความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ลําดับความตqองการจําเป็น โดยใช้ PNImodified ผลการวิจัย พบว่า 1) กรอบแนวคิดการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ประกอบด้วย 2 แนวคิด ได้แก่ 1.1) การบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ประกอบด้วย การบริหารวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป 1.2) คุณภาพการศึกษา ประกอบด้วย ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 2) สภาพปัจจุบันของการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับ มาก (3.82) ในขณะที่สภาพที่พึงประสงค์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (4.68) ยิ่งไปกว่านั้นสภาพที่พึงประสงค์มีค่าเฉลี่ยสูง กว่าสภาพปัจจุบันในทุกด้าน ส่วนค่าความต้องการจําเป็นเมื่อพิจารณาตามขอบข่ายการบริหารงาน พบว่า ด้าน การบริหารวิชาการ (0.235) มีค่าความต้องการจําเป็นสูงสุด เมื่อพิจารณาตามคุณภาพการศึกษา พบว่า ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (0.246) มีค่าความต้องการจําเป็นสูงสุด


การจัดการเรียนรู้แบบทักษะปฏิบัติเพื่อพัฒนาความสามารถในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 รายวิชาการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน, อลงกรณ์ เกิดเนตร, สมยศ เผือดจันทึก Apr 2021

การจัดการเรียนรู้แบบทักษะปฏิบัติเพื่อพัฒนาความสามารถในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 รายวิชาการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน, อลงกรณ์ เกิดเนตร, สมยศ เผือดจันทึก

Journal of Education Studies

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสามารถในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษาโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบทักษะปฏิบัติ 2) เปรียบเทียบความสามารถในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษาก่อนและหลังการทดลอง และ 3) ศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบทักษะปฏิบัติ เครื่องมือการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้แบบทักษะปฏิบัติ แบบประเมินความสามารถในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ และแบบประเมินความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบทักษะปฏิบัติ ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. การจัดการเรียนรู้แบบทักษะปฏิบัติสามารถพัฒนานักศึกษาให้มีความสามารถในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ในภาพรวมได้ในระดับดี (Mu = 4.42, Sigma = .13) 2. การจัดการเรียนรู้แบบทักษะปฏิบัติสามารถพัฒนาความสามารถในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษาหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง (d = +26.53) 3. นักศึกษามีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบทักษะปฏิบัติในระดับมากที่สุด (Mu = 4.70, Sigma = .31) โด โดยมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจมากที่สุดเท่ากัน 4 รายการ (Mu = 4.82, Sigma = .39) ได้แก่ 1) นักศึกษาได้รับการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ 2) ผู้สอนมีความสามารถในการอธิบายและถ่ายทอดความรู้ 3) ผู้สอนเปิดโอกาสให้สอบถามและแสดงความคิดเห็น 4) ผู้สอนมีเวลาให้เข้าพบหรือปรึกษานอกเวลา


การนำเสนอแนวทางสำหรับครูในการพัฒนาคุณลักษณะเด็กอนุบาลไทยสู่ประชาคมอาเซียน, ปนัฐษรณ์ จารุชัยนิวัฒน์, นัทธมน บุญสิงห์ Apr 2021

การนำเสนอแนวทางสำหรับครูในการพัฒนาคุณลักษณะเด็กอนุบาลไทยสู่ประชาคมอาเซียน, ปนัฐษรณ์ จารุชัยนิวัฒน์, นัทธมน บุญสิงห์

Journal of Education Studies

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการจำเป็นของครูในการพัฒนาคุณลักษณะเด็กอนุบาลไทยสู่ประชาคมอาเซียน และ 2) เสนอแนวทางสำหรับครูในการพัฒนาคุณลักษณะเด็กอนุบาลไทยสู่ประชาคมอาเซียน ตัวอย่าง คือ ครูอนุบาลโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 397 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม และแนวคำถามในการประชุมกลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบค่าที และใช้เทคนิค Modified Priority Needs Index และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1) ค่าเฉลี่ยการพัฒนาคุณลักษณะเด็กอนุบาลไทยสู่ประชาคมอาเซียนในสภาพที่เป็นจริงแตกต่างจากสภาพที่ควรจะเป็นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทุกด้าน 2) แนวทางการพัฒนาคุณลักษณะเด็กอนุบาลไทยสู่ประชาคมอาเซียนที่สำคัญ ได้แก่ 2.1) ครูควรจัดเวลาในการดูแลตนเองเพื่อเป็นแบบอย่างในการมีสุขภาวะทางกายและใจที่ดี และกระทรวงศึกษาธิการควรจัดทำคู่มือครู 2.2) ครูควรจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นมิตรไมตรีต่อกัน และผู้บริหารโรงเรียนควรพัฒนาความรู้ความเข้าใจของครู 2.3) ครูควรปรับเปลี่ยนวิธีสอนเกี่ยวกับอาเซียนโดยเริ่มจากเรื่องราวใกล้ตัวเด็ก จากนั้นจึงสอนเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศในอาเซียน และผู้บริหารโรงเรียนควรกำหนดการสร้างเจตคติที่ดีต่ออาเซียนไว้ในหลักสูตรสถานศึกษา


การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดกระบวนการคิดเชิงออกแบบร่วมกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความเป็นนวัตกรของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4, พิชญา กล้าหาญ, วิสูตร โพธิ์เงิน Apr 2021

การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดกระบวนการคิดเชิงออกแบบร่วมกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความเป็นนวัตกรของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4, พิชญา กล้าหาญ, วิสูตร โพธิ์เงิน

Journal of Education Studies

การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดกระบวนการคิดเชิงออกแบบร่วมกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน 2) เพื่อประเมินความเป็นนวัตกรของนักเรียนหลังจากจัดกิจกรรมเรียนรู้ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดกระบวนการคิดเชิงออกแบบร่วมกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาด้วยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินความเป็นนวัตกร แบบประเมินผลงาน และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ผลการวิจัย พบว่า 1) กิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดกระบวนการคิดเชิงออกแบบร่วมกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน มีลักษณะมุ่งเน้นให้นักเรียนทำความเข้าใจกับปัญหาโดยผ่านการสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปัญหาหรือสถานการณ์ปัญหา อาศัยการทำงานร่วมกัน มีการวางแผนดำเนินการ ค้นคว้า วิเคราะห์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ พัฒนาเป็นชิ้นงานหรือผลงานเพื่อแก้ปัญหาโดยอาศัยความรู้และแนวคิดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นเตรียมการและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง 2) ขั้นตั้งกรอบปัญหา 3) ขั้นการวางแผน/ระดมความคิด 4) ขั้นสร้างต้นแบบ และ 5) ขั้นทดสอบและประเมิน กิจกรรมการเรียนรู้มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.28/83.86 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 2) ผลการประเมินความเป็นนวัตกรอยู่ในระดับดี และผลงานของนักเรียนอยู่ในระดับดี 3) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดกระบวนการคิดเชิงออกแบบร่วมกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานภาพรวมอยู่ในระดับมาก


ผลการจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้การเสริมต่อศักยภาพการเรียนรู้ที่มีต่อความรับผิดชอบและทักษะการตีโต้หน้ามือในกีฬาเทเบิลเทนนิส, เอก แซ่จึง, รุ่งระวี สมะวรรธนะ Apr 2021

ผลการจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้การเสริมต่อศักยภาพการเรียนรู้ที่มีต่อความรับผิดชอบและทักษะการตีโต้หน้ามือในกีฬาเทเบิลเทนนิส, เอก แซ่จึง, รุ่งระวี สมะวรรธนะ

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้การเสริมต่อศักยภาพการเรียนรู้ที่มีต่อความรับผิดชอบและทักษะการตีโต้หน้ามือในกีฬาเทเบิลเทนนิส ตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 80 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 40 คน เครื่องมือที่ใช้วิจัย คือ แบบทดสอบความรับผิดชอบและแบบวัดทักษะการตีโต้หน้ามือ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบที ผลการวิจัย พบว่า 1) ค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะการตีโต้หน้ามือหลังการทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีคะแนนความรับผิดชอบหลังการทดลองสูงกว่าก่อนทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะการตีโต้หน้ามือหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่มีคะแนนความรับผิดชอบหลังการทดลองไม่แตกต่างจากก่อนทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะการตีโต้หน้ามือและความรับผิดชอบหลังการทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


ผลการใช้กิจกรรม "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" โดยใช้ศิลปะมวยไทยที่่มีต่อทักษะการป้องกันตนเองของนักเรียนหญิงมัธยมศึกษาตอนต้น, กิตติศักดิ์ เพ็ญโรจน์, จินตนา สรายุทธพิทักษ์ Jan 2021

ผลการใช้กิจกรรม "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" โดยใช้ศิลปะมวยไทยที่่มีต่อทักษะการป้องกันตนเองของนักเรียนหญิงมัธยมศึกษาตอนต้น, กิตติศักดิ์ เพ็ญโรจน์, จินตนา สรายุทธพิทักษ์

Journal of Education Studies

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้โดยใช้ศิลปะมวยไทยที่มีต่อทักษะการป้องกันตนเองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 60 คน โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 30 คน ใช้แผนกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยใช้ศิลปะมวยไทย และกลุ่มควบคุม จำนวน 30 คน ใช้แผนแบบปกติ เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบทดสอบทักษะการป้องกันตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบค่าที ผลการวิจัย พบว่า 1) ค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะการป้องกันตนเอง หลังการทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะการป้องกันตนเอง หลังการทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


การเตรียมความพร้อมเพื่อการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร, ฐิตินันทน์ ผิวนิล Jan 2021

การเตรียมความพร้อมเพื่อการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร, ฐิตินันทน์ ผิวนิล

Journal of Education Studies

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อการสอบ O-NET ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และ 2) ศึกษาแนวทางเสริมสร้างความพร้อมเพื่อการสอบ O-NET สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถามกับนักเรียน จำนวน 731 คน ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลกลุ่มครูและผู้บริหารโรงเรียนด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 18 คน และสัมภาษณ์กลุ่มนักเรียน จำนวน 15 คน พื้นที่ในการศึกษา คือ โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครที่มีการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 9 แห่ง ดำเนินการวิจัยในเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2562 ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเตรียมความพร้อมของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การมีเจตคติเชิงบวกต่อการสอบ การสนับสนุนจากผู้ปกครอง และการสนับสนุนจากโรงเรียน โดยตัวแปรการได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุด สำหรับแนวทางในการเสริมสร้างความพร้อมเพื่อการสอบ O-NET สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นั้น ควรการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างครู ผู้ปกครอง และโรงเรียน โดยส่งเสริมบทบาทของผู้ปกครองในการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของนักเรียนให้มากขึ้น