Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Arts and Humanities Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Comparative Literature

Chulalongkorn University

Articles 1 - 30 of 79

Full-Text Articles in Arts and Humanities

ประมวลศัพท์เรื่องการดำน้ำลึก, ชญา ธุระสกุล Jan 2022

ประมวลศัพท์เรื่องการดำน้ำลึก, ชญา ธุระสกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอประมวลศัพท์เรื่องการดำน้ำลึก ซึ่งประกอบด้วยศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับระดับของการดำน้ำลึก อุปกรณ์ประกอบการดำน้ำลึก และวิธีการลงดำน้ำลึก โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อศึกษาทฤษฎีทางศัพทวิทยาที่เกี่ยวข้องและกระบวนการจัดทำประมวลศัพท์ และจัดทำประมวลศัพท์เรื่องการดำน้ำลึกอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจที่จะศึกษาเรื่องการดำน้ำลึก รวมทั้งนักแปล นักล่าม สามารนำประมวลศัพท์นี้ไปใช้เป็นเอกสารอ้างอิงได้ ในการจัดทำประมวลศัพท์ฉบับนี้ได้ศึกษาและนำทฤษฎีทางศัพทวิทยาและแนวทางการจัดทำประมวลศัพท์ของนักศัพทวิทยาหลาย ๆ ท่านได้เสนอไว้มาประยุกต์ใช้ โดยกระบวนการทำงานแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้ 1) การกำหนดหัวข้อ ขอบเขตของการวิจัย กลุ่มเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการจัดทำประมวลศัพท์ 2) การศึกษาทฤษฎีและระเบียบวิธีในการจัดทำประมวลศัพท์ 3) การรวบรวมและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำลึกเพื่อจัดทำคลังข้อมูลภาษาและการดึงศัพท์เฉพาะทางจากคลังข้อมูลภาษา 4) การกำหนดมโนทัศน์สัมพันธ์ระหว่างศัพท์ที่คัดเลือกมา 5) การจัดทำบันทึกข้อมูลศัพท์เบื้องต้นและบันทึกข้อมูลศัพท์เพื่อกำหนดนิยามและศัพท์เทียบเคียงในภาษาไทย ประมวลศัพท์เรื่องการดำน้ำลึกนี้ประกอบด้วยศัพท์ทั้งหมด 35 คำ ซึ่งนำเสนอตามกลุ่มมโนทัศน์สัมพันธ์และลำดับของมโนทัศน์สัมพันธ์ การนำเสนอศัพท์แต่ละคำนั้นประกอบด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษ ศัพท์เทียบเคียงในภาษาไทย คำนิยาม ประเภททางไวยกรณ์ หมวดหมู่ บริบทอ้างอิงที่พบศัพท์ดังกล่าว มโนทัศน์สัมพันธ์พร้อมรหัสของลักษณะความสัมพันธ์ รูปทางภาษาอื่นของศัพท์ดังกล่าว และข้อมูลอ้างอิง


การแปลบทกวีนิพนธ์เชิงอภิปรัชญาชุด Songs And Sonnets ของจอห์น ดันน์, อาทิมา พวงเข็มแดง Jan 2022

การแปลบทกวีนิพนธ์เชิงอภิปรัชญาชุด Songs And Sonnets ของจอห์น ดันน์, อาทิมา พวงเข็มแดง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการถ่ายทอดแนวคิดและวัจนลีลาที่โดดเด่นในกวีนิพนธ์แนวอภิปรัชญาจำนวน 6 เรื่องที่คัดสรรจากชุด Songs and Sonnets ของจอห์น ดันน์ ได้แก่ The Flea, The Apparition, Woman’s Constancy, The Canonization, The Bait และ A Valediction: Forbidding Mourning จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแนวคิดเชิงอภิปรัชญาและบทวิเคราะห์ลักษณะการประพันธ์ของดันน์และกวีแนวอภิปรัชญาคนอื่น ๆ เพื่อนำมาใช้ประกอบกับทฤษฎีวาทกรรมวิเคราะห์ ของคริสติอาเนอ นอร์ด ในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจตัวบทและแนวคิดเชิงอภิปรัชญาที่สอดแทรกอยู่ พร้อมทั้งศึกษาทฤษฎีการแปลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทฤษฎีการแปลแบบครบความ ของปีเตอร์ นิวมาร์ค ทฤษฎีการแปลแบบยึดความหมาย ของมารี-อานน์ เลเดแรร์ กลวิธีในการคิดหาคำแปล ของโมนา เบเคอร์ ทฤษฎีการแปลชดเชย ของเฮอร์วีย์ ซานดอร์ และเอียน ฮิกกินส์ แนวทางการแปลวรรณกรรม ของวัลยา วิวัฒน์ศร และแนวทางการแปลกวีนิพนธ์ ของเจมส์ โฮล์มส์ เพื่อหาแนวทางการแปลที่เหมาะสมโดยเฉพาะสำหรับตัวบทประเภทกวี­นิพนธ์ พร้อมทั้งถ่ายทอดแนวคิดอภิปรัชญาที่สำคัญและลีลาการประพันธ์ของกวีเป็นร้อยกรองภาษาไทย โดยคำนึงถึงความใกล้เคียงของผลลัพธ์ที่เกิดจากเครื่องมือทางวรรณศิลป์ในภาษาไทยเมื่อเทียบกับกวีนิพนธ์ต้นฉบับ และการทำความเข้าใจความหมายของผู้อ่านกวีนิพนธ์ฉบับแปลไปควบคู่กัน เพื่อให้ผู้อ่านกวีนิพนธ์ฉบับแปลสามารถวิเคราะห์สาระสำคัญของแนวคิดอภิปรัชญาที่สอดแทรกอยู่ในกวีนิพนธ์ และได้รับสุนทรียภาพผ่านกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่กวีใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดแนวคิดนั้นให้ได้มากที่สุด


ร้อนรักในรอยทราย : ความปรารถนาทางเพศของผู้หญิงในนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัยของไทย, จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร Jan 2022

ร้อนรักในรอยทราย : ความปรารถนาทางเพศของผู้หญิงในนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัยของไทย, จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความปรารถนาทางเพศของผู้หญิงในนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัยของไทย โดยวิเคราะห์จากตัวบทคัดสรรและศึกษาการตีความของผู้อ่านเพศหญิงกลุ่มตัวอย่าง จากการศึกษาพบว่า ตัวบทคัดสรรนำเสนอเพศวิถีของตัวละครเอกหญิงสมัยใหม่ที่ยังยึดถือคุณค่าความเป็นหญิงตามขนบกุลสตรี ความปรารถนาทางเพศของตัวละครเอกหญิงจึงถูกนำเสนอภายใต้ขนบของโรมานซ์ ได้แก่ ตัวละครเอกหญิงที่อ่อนแอซึ่งมักตกเป็นเหยื่อ ความสัมพันธ์ศัตรูคู่ขัดแย้งมาเป็นคู่รัก การสร้างความหวังถึงความสุขกับตัวละครเอกชาย โดยนำมาใช้กลบเกลื่อนการแสดงออกอารมณ์ปรารถนาทางเพศให้อยู่ในกรอบเกณฑ์ศีลธรรม นอกจากนั้นพื้นที่ทะเลทรายยังถูกผูกโยงเข้ากับตัวละครชีคโดยมีบทบาทในการปลุกเร้าและเย้ายวนใจจนทำให้ดินแดนทะเลทรายกลายภาพฝันของความสุขทางเพศของตัวละครเอกหญิง จากการศึกษาผู้อ่านเพศหญิงกลุ่มตัวอย่างพบว่า การทาบเทียบตนเองเข้ากับตัวละครเอกหญิงเพื่อสร้างความรื่นรมย์ทางเพศได้ส่งผลให้ตัวละครเอกหญิงมีอิทธิพลต่อการนิยามเพศวิถีของผู้อ่านเพศหญิงกลุ่มตัวอย่างซึ่งแตกต่างกันตามสถานะคู่ครอง ดังพบว่าผู้อ่านเพศหญิงที่มีสถานะโสดมุ่งเน้นคุณลักษณะของพระเอกชีคในฐานะชายคนรักในอุดมคติ ขณะที่ผู้อ่านเพศหญิงซึ่งแต่งงานและมีสามีชาวตะวันออกกลาง นำคุณสมบัติของตัวละครเอกชีคมาเป็นมาตรวัดบทบาททางเพศของสามี อีกทั้งยังใช้ตัวบทเป็นหนทางในการเชื่อมสัมพันธ์ชุมชนการอ่านขึ้นในกลุ่มผู้หญิง ขณะที่ผู้อ่านซึ่งมีสถานะหย่าร้างนำตัวบทมาเป็นคู่มือสำหรับความสัมพันธ์รักของชีวิตคู่ในอนาคต ผลของการศึกษาจึงเผยว่า แม้ตัวบทคัดสรรจะมีบทบาทในการผลิตซ้ำเพศวิถีของผู้หญิงสมัยใหม่ที่ยังตกอยู่ภายใต้อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ผ่านอารมณ์ความปรารถนาทางเพศของตัวละครเอกหญิง แต่ผู้อ่านก็ได้ประโยชน์จากการปรับใช้ความหมายจากตัวบทเพื่อรับมือกับข้อจำกัดทางเพศวิถีของตนเองด้วย


กลวิธีการแปลอนุประโยครูปกริยาขยายปัจจุบัน (Present Participle Clause) ในนวนิยายเรื่อง สัตว์ สยอง โลก แปลโดย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จากต้นฉบับเรื่อง Zoo ของ James Patterson และ Michael Ledwidge, กฤษกรณ์ วินณรงค์ Jan 2022

กลวิธีการแปลอนุประโยครูปกริยาขยายปัจจุบัน (Present Participle Clause) ในนวนิยายเรื่อง สัตว์ สยอง โลก แปลโดย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จากต้นฉบับเรื่อง Zoo ของ James Patterson และ Michael Ledwidge, กฤษกรณ์ วินณรงค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการศึกษากลวิธีการแปลอนุประโยครูปกริยาขยายปัจจุบันในนวนิยายเรื่อง สัตว์ สยอง โลก แปลโดย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จากต้นฉบับเรื่อง Zoo ของ James Patterson และ Michael Ledwidge ใน 3 ประเด็น คือ 1) หน้าที่ของรูปภาษาปลายทางเมื่อเทียบกับหน้าที่ของรูปภาษาต้นทาง 2) ประเภทของหน่วยทางวากยสัมพันธ์ของรูปภาษาปลายทางเมื่อเทียบกับหน้าที่ของรูปภาษาต้นทาง และ 3) กลวิธีการแปล กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีจำนวน 140 ประโยค แบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามแนวคิดการอธิบายความของอนุประโยค (clause expansion) ของ Halliday & Matthiessen (2014) ได้แก่ การลงความ (elaboration) 60 ประโยค การเสริมความ (extension) 40 ประโยค และการปรุงความ (enhancement) 40 ประโยค ทั้งนี้ ผู้วิจัยใช้หลักวากยสัมพันธ์ของอมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (2554) และกิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา (2549) การเปลี่ยนแปลงรูปภาษาของแคตฟอร์ด (1965) และกลวิธีการแปลอนุประโยครูปกริยาขยายของวิมลตรี แก้วประชุม (2559) เป็นกรอบในการวิจัยครั้งนี้ จากการศึกษาประเด็นทั้ง 3 ประเด็นพบว่า 1) รูปภาษาปลายทางมีหน้าที่เพิ่มขึ้นมาจากหน้าที่ของรูปภาษาต้นทาง เนื่องจากผู้แปลปรับบทแปลโดยการเปลี่ยนระดับ (level shift) และการเปลี่ยนประเภท (category shift) ชนิดการเปลี่ยนหน่วย (unit shift) และการเปลี่ยนโครงสร้าง (structure shift) นอกจากนี้ รูปภาษาปลายทางที่ใช้แปลอนุประโยครูปกริยาขยายปัจจุบันทั้งสามประเภทยังแตกต่างกัน รูปภาษาปลายทางที่ใช้แปลอนุประโยครูปกริยาขยายปัจจุบันประเภทการลงความมีทั้งสิ้น 8 หน้าที่ เรียงลำดับจากอัตราความถี่สูงสุดไปยังอัตราความถี่ต่ำสุด ได้แก่ 1) ลงความอนุประโยคตั้งต้นโดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเดิม พบร้อยละ 23.33 2) ลงความคำนามแบบจำกัดความ พบร้อยละ 20 3) เป็นภาคแสดงในประโยคกริยาเรียง พบร้อยละ …


การแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมในหนังสือการ์ตูนมังงะเรื่อง เจ้าหนูข้าวจี่ โดย เกษม อภิชนตระกูล, ธนพนธ์ ปานอุดมลักษณ์ Jan 2022

การแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมในหนังสือการ์ตูนมังงะเรื่อง เจ้าหนูข้าวจี่ โดย เกษม อภิชนตระกูล, ธนพนธ์ ปานอุดมลักษณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษากลยุทธ์การแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม มุกตลก และภาษาถิ่นอีสานในหนังสือการ์ตูน เจ้าหนูข้าวจี่ ของเกษม อภิชนตระกูล ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการทำอาหารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตัวบทกรณีศึกษาพบคำหลายคำที่มีที่มาจากลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและความแตกต่างทางวัฒนธรรมของภาษาต้นทางและปลายทาง ทำให้กระบวนการแปลนั้นยากมากยิ่งขึ้น คำที่มีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมนั้นไม่สามารถที่จะแปลด้วยวิธีทั่วไปได้เลย ในการศึกษาครั้งนี้ สันนิษฐานได้ว่า ในการแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม จะต้องใช้กลวิธีการแปล เช่น กลยุทธ์การแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของแอนโธนี พิม มาเพื่อแก้ปัญหาที่พบได้ในตัวบทกรณีศึกษานี้ นอกจากกลยุทธ์การแปลของแอนโธนี พิม แล้วการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่ามุกตลกที่พบก็เป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมที่จะต้องได้รับการวิเคราะห์ด้วยเช่นกัน ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้พบว่า มุกตลกสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก็คือ มุกตลกสากล มุกตลกเฉพาะวัฒนธรรมและมุกตลกทางภาษา มุกตลกสากลจะเป็นมุกตลกที่สามารถแปลด้วยวิธีการปรกติได้ แต่มุกตลกวัฒนธรรมจะต้องแปลแบบเดียวกันกับคำเฉพาะทางวัฒนธรรม ในขณะที่มุกตลกทางภาษาควรที่จะได้รับการแปลด้วยแนวทางการแปลของเดิร์ค เดลาบาสติสตา อีกประเด็นปัญหาหนึ่งที่พบก็คือ การใช้ภาษาถิ่นและภาษาไทยที่ไม่ได้มาตรฐานในตัวบทต้นทาง ทำให้ในการแปลจะต้องรักษาไว้ซึ่งความแปลกต่างดังกล่าวเพื่อให้คงไว้ถึงลักษณะที่ไม่เหมือนทางวัฒนธรรมของตัวละครนั้น งานวิจัยฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า ลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและมุกตลกวัฒนธรรมที่พบใน เจ้าหนูข้าวจี่ สามารถแปลโดยใช้แนวทางของแอนโธนี พิมและแนวทางการแปลหนังสือการ์ตูนของเคลาส์ เคนดล์ ในส่วนภาพของหนังสือการ์ตูนนั้นก็ใช้ในการแก้ปัญหาการแปลที่เกี่ยวกับการแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมได้ สำหรับมุกตลกทางภาษานั้นสามารถแปลโดยใช้แนวทางการแปลของเดิร์ค เดลาบาติสตา ทำให้การแปลเข้าใจและชัดเจนขึ้น สุดท้าย ภาษาอังกฤษที่ไม่ได้มาตรฐานก็สามารถนำมาแทนที่การใช้ภาษาไทยที่ไม่ได้มาตรฐานที่พบในตัวบทต้นทางได้ ซึ่งจะช่วยให้บทแปลสามารถที่จะคงไว้ซึ่งลักษณะหรือบทบาทของตัวละครรวมถึงลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของตัวละครเหล่านั้นด้วย


การแปลภาษาเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ ในบทสนทนาจากนวนิยายเรื่อง ทวิภพ ของทมยันตีเป็นภาษาอังกฤษ, พนิดา ออตโตสัน Jan 2022

การแปลภาษาเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ ในบทสนทนาจากนวนิยายเรื่อง ทวิภพ ของทมยันตีเป็นภาษาอังกฤษ, พนิดา ออตโตสัน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเพื่อการแปลภาษาเก่าที่พบในบทสนทนาจากวรรณกรรมเรื่อง ทวิภพ ให้เป็นภาษาเก่าในภาษาอังกฤษโดยใช้วิธีศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพื่อหาวิธีระบุภาษาเก่าในตัวบทต้นฉบับ และศึกษาภาษาเก่าในภาษาปลายทางโดยการศึกษาภาษาเก่าจากวรรณกรรมของเจน ออสเตนและชาร์ลอต บรอนเต้ เพื่อเทียบเคียงภาษาแบบ time-matched archaization, hyper-archaization และ updated-archaization นอกจากนี้ยังวิเคราะห์วัจนลีลาและความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่อง ทวิภพ เพื่อที่จะสามารถเลือกวัจนลีลาในการแปลให้เหมาะสมกับความสัมพันธ์ของตัวละคร การศึกษาภาษาเก่าในภาษาอังกฤษจากวรรณกรรมที่เลือกเน้นศึกษาภาษาที่ใช้ในบทสนทนาเป็นหลักโดยการสุ่มบทสนทนาเพื่อระบุความโดดเด่นของภาษาในด้านของความเก่าของภาษาเพื่อนำมาปรับใช้ในการแปล ทฤษฎีและแนวทางการแปลที่นำมาใช้ในการวิจัยเพื่อการแปลนี้ประกอบไปด้วยทฤษฎี Dynamic Equivalence ของ Eugene A. Nida ทฤษฎี Skopos ของ Hans J. Vermeer และ Scene and Frame Semantics ของ Charles J. Fillmore และใช้กลยุทธ์การแก้ไขปัญหาการแปลข้ามวัฒนธรรมที่เสนอไว้โดย Antony Pym, Mona Baker และ Peter Newmark จากการศึกษาพบว่าภาษาเก่าแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ และการแปลภาษาเก่ามีกลยุทธ์ทั้งหมด 6 ระดับ ดังนั้นในการแปลภาษาเก่าจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกันในแง่ของระดับความเก่าของภาษานอกเหนือจากการใช้จากทฤษฎีและแนวทางต่าง ๆ ที่ยกมาไว้ในสารนิพนธ์เล่มนี้


การแปลสุนทรพจน์ครั้งแรกเนื่องในโอกาสพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน, ธีร์ สุวรรณะชฎ Jan 2022

การแปลสุนทรพจน์ครั้งแรกเนื่องในโอกาสพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน, ธีร์ สุวรรณะชฎ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแปลตัวบทสุนทรพจน์แรกของประธานาธิบดีโจ ไบเดนจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้วิจัยจึงศึกษาแนวทางการถ่ายทอดวัจนลีลาของตัวบทต้นฉบับสู่ตัวบทฉบับแปลโดยที่ยังคงสื่อความหมายและเนื้อหาไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยต้องอาศัยแนวทางการวิเคราะห์ตัวบทของคริสติอาเน นอร์ด (Christiane Nord) ทฤษฎีการแปลแบบสื่อความหมาย (Communicative Translation) ของปีเตอร์ นิวมาร์ก (Peter Newmark) และแนวคิดการแปลวัจนลีลาของจีน โบแอส-เบเออร์ (Jean Boase-Beier) มาใช้เพื่อถ่ายทอดตัวบทสุนทรพจน์แรกที่คงรูปแบบวัจนลีลาและวาทศิลป์ไว้ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ ผลการวิจัยพบว่าทฤษฎีต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยเลือกมาใช้สามารถตอบโจทย์และมีหลักการแปลที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งบทแปล นั่นคือ บทสุนทรพจน์ที่เก็บลักษณะของวัจนลีลาไว้ได้อย่างครบถ้วน มีการใช้เครื่องมือทางวรรณศิลป์และวาทศิลป์ต่าง ๆ ที่ตรงตามความหมายที่ต้องการจะสื่อ ตลอดจนรักษารายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ไว้ได้


การศึกษาแนวทางการแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติ (Onomatopoeia) และการนำไปใช้ในการแปลนวนิยายเรื่อง The Council Of Animals ของ Nick Mcdonell, ปภาดา แก้วก่อง Jan 2022

การศึกษาแนวทางการแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติ (Onomatopoeia) และการนำไปใช้ในการแปลนวนิยายเรื่อง The Council Of Animals ของ Nick Mcdonell, ปภาดา แก้วก่อง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาแนวทางการแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติ (Onomatopoeia) และการนำไปใช้ในการแปลนวนิยายเรื่อง The Council of Animals ของ Nick McDonell สมมติฐานในการวิจัยคือ การแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติใช้กลวิธีการแปลด้วยคำเลียนเสียงธรรมชาติในภาษาปลายทางมากที่สุด ตามด้วยคำที่ไม่ใช่คำเลียนเสียงธรรมชาติ การถอดความ (paraphrase) และการละไม่แปล (omission) ตามลำดับ ผลจากการศึกษากลวิธีการแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยของคลังข้อมูลต้นฉบับและบทแปลนวนิยายเกี่ยวกับสัตว์ จำนวน 4 เรื่อง พบว่า กลวิธีการแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติ (onomatopoeia words) และ คำแสดงอาการส่งเสียงที่เกี่ยวข้อง (onomatopoeic verbs) มีทั้งหมด 4 วิธี เรียงตามสัดส่วนที่พบจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด ได้แก่ (ก) การแปลด้วยคำเลียนเสียงธรรมชาติ (ข) การแปลด้วยคำที่ไม่ใช่คำเลียนเสียงธรรมชาติ (ค) การแปลด้วยการถอดความ และ (ง) การละไม่แปล เมื่อนำมาปรับใช้กับการแปลตัวบทคัดสรรโดยยึดหลักเกณฑ์การวิเคราะห์คำเลียนเสียงธรรมชาติโดยใช้ทฤษฎีประเด็นสัมพันธ์ (Relevance-Theoretic Analysis) ของเรียวโกะ ซาซาโมโตะและรีเบคก้า แจ็คสัน (Ryoko Sasamoto and Rebecca Jackson) พบว่าคำเลียนเสียงธรรมชาติทุกคำใช้กลวิธีการแปลด้วยคำเลียนเสียงธรรมชาติทั้งหมดเนื่องจากที่มีองค์ประกอบด้านการแสดงมากกว่าการพูด และคำแสดงอาการส่งเสียงที่เกี่ยวข้องใช้กลวิธีการแปลด้วยคำเลียนเสียงธรรมชาติมากที่สุด ตามด้วยคำที่ไม่ใช่คำเลียนเสียงธรรมชาติ ตามลำดับ เนื่องจากคำส่วนใหญ่มีองค์ประกอบด้านการแสดงมากกว่าการพูด เพราะตัวบทคัดสรรให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบทางเสียง ทั้งนี้การแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติทั้ง 2 ประเภทไม่พบกลวิธีการถอดความและการละไม่แปล แต่พบกลวิธีย่อยประเภทอื่น คือ กลวิธีทางเสียง ได้แก่ การผันวรรณยุกต์ การเพิ่มจำนวนพยัญชนะ และการใช้คำซ้ำ


เรื่องเล่าบาดแผลสงครามเวียดนามของนักเขียนเวียดนามพลัดถิ่น, จิรวุฒิ กิจการุณ Jan 2022

เรื่องเล่าบาดแผลสงครามเวียดนามของนักเขียนเวียดนามพลัดถิ่น, จิรวุฒิ กิจการุณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สงครามเวียดนามเป็นความทรงจำบาดแผลร่วมของคนเวียดนามพลัดถิ่น แม้แต่ละคนจะมีประสบการณ์แตกต่างกัน แต่บาดแผลของคนรุ่นเดียวกันก็ยังคงมีความคล้ายคลึงกันอยู่ คนรุ่นที่หนึ่งนำเสนอประเด็นชายขอบของสังคมเวียดนามที่พวกเขาพบเจอ ได้แก่ เรื่องการถูกปฏิเสธจากฝ่ายคอมมิวนิสต์และเรื่องการมีเชื้อสายผสม คนรุ่นที่หนึ่งจุดห้าส่วนใหญ่เชื่อมโยงบาดแผลของตนและบาดแผลของสมาชิกในครอบครัวเข้าด้วยกัน ลูกมักแสดงท่าทีสนใจต่อบาดแผลของพ่อแม่และต้องการช่วยรักษา ตัวตนของผู้เล่าในฐานะลูกจึงมักถูกบดบังด้วยตัวตนของพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ส่วนคนรุ่นที่สองและคนรุ่นที่หนึ่งจุดห้าบางส่วนนั้นจะจำลองบาดแผลสงครามเวียดนามขึ้นมาเนื่องจากพวกเขาไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น แต่ถูกหลอกหลอนโดยประสบการณ์รองที่ได้เรียนรู้มา แม้คนเหล่านี้จะเดินทางไปอยู่ดินแดนอื่นแล้ว แต่บาดแผลเกี่ยวกับสงครามในบ้านเกิดยังคงหลอกหลอนพวกเขาอยู่ เรื่องเล่าบาดแผลสงครามเวียดนามของคนเวียดนามพลัดถิ่นจึงกลายเป็นเครื่องมือในการเยียวยาบาดแผลและการสร้างอัตลักษณ์ของคนเวียดนามพลัดถิ่น


อัตลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศรอบนอกกับการครอบงำของประเทศมหาอำนาจในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ร่วมสมัย, อริยะ จินะเป็งกาศ Jan 2022

อัตลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศรอบนอกกับการครอบงำของประเทศมหาอำนาจในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ร่วมสมัย, อริยะ จินะเป็งกาศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จุดประสงค์ของงานวิจัยคือเพื่อศึกษาอัตลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศรอบนอกที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือแสดงจุดยืนทางวัฒนธรรม หรือเพื่อต่อรองทางอำนาจกับประเทศใจกลางซึ่งเป็นมหาอำนาจ โดยใช้ทฤษฎีระบบโลกของเอ็มมานูเอล วอลเลอสไตน์มาอธิบายความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตัวบทบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาคือ The Windup Girl (2010) Lagoon (2014) และ Plum Rains (2018) จากการศึกษาวิจัยตัวบททั้งสามเล่ม ค้นพบว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติในประเทศรอบนอกมักถูกกำหนดโดยรัฐ แฝงไปด้วยอคติทางความเชื่อและศาสนา และยังถูกใช้เป็นนโยบายเพื่อกีดกันคนในชาติไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร ใน The Windup Girl รัฐบาลไทยใช้อัตลักษณ์ความเป็นชาติเพื่อเป็นเครื่องมือในการตัดขาดจากระบบทุนและความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจเพื่อรักษาสารัตถะของความเป็นชาติไว้ ส่วนโลกอนาคตอันใกล้ของ Lagoon ทำให้เห็นว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศไนจีเรียเกิดจากการผสมผสานของทรัพยากรธรรมชาติและประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ไนจีเรียใช้ต่อรองกับระบบทุนนิยมโลก และช่วยขยายอำนาจจากศูนย์กลางออกไปสู่ประชาชนในประเทศ และสุดท้าย Plum Rains แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติถูกกำหนดโดยปัจเจก และไม่ยึดโยงกับความเป็นชาติทั้งในเชิงพื้นที่ รัฐ หรือคนหมู่มากอีกต่อไป นอกจากนี้ บทบาทของตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ซึ่งมักปรากฏในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ยังได้เข้ามาช่วยรื้อฟื้นอัตลักษณ์ความเป็นชาติในโลกอนาคตที่มีการครอบงำโดยประเทศมหาอำนาจและแนวคิดเสรีนิยมสมัยใหม่ การอยู่ร่วมกันของตัวละครที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความเป็นสารัตถะของชาติและเชื้อชาติว่า สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อความอยู่รอดของมนุษย์หรือไม่ในวิกฤตยุคโลกาภิวัตน์และการขาดแคลนของทรัพยากร และยังแสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติในอนาคตอันใกล้ไม่ได้มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางเสมอไป


แนวคิดเรื่องพลเมืองและรัฐประชาชาติสมัยใหม่ในนวนิยายกำลังภายในแนวสืบสวนสอบสวนของกู่หลง, จิรายุทธ์ หรรษาพันธุ์ Jan 2022

แนวคิดเรื่องพลเมืองและรัฐประชาชาติสมัยใหม่ในนวนิยายกำลังภายในแนวสืบสวนสอบสวนของกู่หลง, จิรายุทธ์ หรรษาพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องพลเมืองและรัฐประชาชาติสมัยใหม่ในนวนิยายกำลังภายในชุดฉู่หลิวเซียงและชุดลู่เสี่ยวเฟิ่งของกู่หลงในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ถึงต้นทศวรรษที่ 1980 โดยศึกษาบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของบริบทต่าง ๆ กับแนวคิดเรื่องพลเมืองและรัฐประชาชาติที่ตัวละครเอกจอมยุทธ์เป็นตัวแทน จากการศึกษาพบว่าตัวละครเอกจอมยุทธ์นำเสนอแนวคิดที่สำคัญสำหรับการบ่มเพาะพลเมืองสมัยใหม่ในรัฐประชาชาติสมัยใหม่ อาทิ เหตุผลนิยม การปกครองด้วยกฎหมาย ความเป็นปัจเจกบุคคลและเสรีภาพผ่านปฏิสัมพันธ์กับตัวละครจอมยุทธ์อื่นที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่สมาทานกับแนวคิดเหล่านี้ อย่างไรก็ตามการนำเสนอแนวคิดเหล่านี้ผ่านการกระทำของตัวละครเอกจอมยุทธ์ไม่มั่นคง ไม่ต่อเนื่องและมีข้อยกเว้นอยู่เสมอ ความลักลั่นย้อนแย้งของตัวละครเอกจอมยุทธ์แสดงให้เห็นถึงการปะทะสังสรรค์ระหว่างแนวคิดสมัยใหม่จากตะวันตกกับแนวคิดดั้งเดิมของจีนในกระบวนการทำให้ทันสมัย นอกจากนี้การเดินทางไปยังดินแดนต่าง ๆ ของตัวละครเอกจอมยุทธ์ยังทำให้หลายพื้นที่กลายเป็นพื้นที่ของชาวจีนฮั่น รวมทั้งสร้างเขตแดนของอาณาจักรของชาวจีนฮั่นที่คล้ายคลึงกับเส้นเขตแดนของสาธารณรัฐจีน รัฐประชาชาติสมัยใหม่ที่พรางตัวอยู่ในตัวบทนี้เป็นจักรวรรดิที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีหลายชาติพันธุ์ โดยที่ชาวจีนฮั่นเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุด ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดชาตินิยมของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันภายใต้การนำของพรรคก๊กมินตั๋ง


การแปลคำทำนายบนไพ่ออราเคิลชุด Soul Truth Self-Awareness Card Deck ของ Brianne Hovey, เขมจิรา ฉายสุวรรณ Jan 2022

การแปลคำทำนายบนไพ่ออราเคิลชุด Soul Truth Self-Awareness Card Deck ของ Brianne Hovey, เขมจิรา ฉายสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และค้นหาแนวทางในการถ่ายทอดวัจนลีลาของตัวบทประเภทไพ่ทำนายดวงชะตาในไพ่ออราเคิลชุด Soul Truth Self-Awareness Card Deck ของ Brianne Hovey จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเพื่อสร้างบทแปลที่มีอรรถรสเทียบเคียงกับต้นฉบับ ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับตัวบทคำทำนายดวงชะตาประเภทไพ่ แนวทางการวิเคราะห์ตัวบทของ คริสติอาเน นอร์ด (Christiane Nord) แนวทางการวิเคราะห์วัจนลีลาของลีชและชอร์ท (Leech and Short) แนวทางการแปลวัจนลีลาของจีน โบแอส-เบเออร์ (Jean Boase-Beier) แนวทางการแปลแบบตีความของฌอง เดอลีล (Jean Delisle) และความรู้เรื่องการตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness) เพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ตัวบท วิเคราะห์ปัญหาในการถ่ายทอดวัจนลีลา และวางแผนแก้ปัญหาดังกล่าว ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ทฤษฎีและแนวทางต่าง ๆ ข้างต้นนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาการแปลตัวบทคำทำนายประเภทไพ่ที่มีวัจนลีลาโดดเด่นได้ ทั้งการใช้คำศัพท์หรือวลีเฉพาะด้าน การใช้โครงสร้างประโยคที่โดดเด่น การใช้อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ และการเล่นเสียงสัมผัสอักษร โดยสามารถถ่ายทอดวัจนลีลาอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไปสู่บทแปล อีกทั้งยังสามารถรักษาอรรถรสให้เทียบเคียงต้นฉบับได้


การประเมินค่าทัศนคติในสำนวนแปล คำให้การเพื่อขอลี้ภัยของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ โดยสำนักข่าวประชาไทและพรรคก้าวไกล, ณัฐพงษ์ บุญยะศรี Jan 2022

การประเมินค่าทัศนคติในสำนวนแปล คำให้การเพื่อขอลี้ภัยของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ โดยสำนักข่าวประชาไทและพรรคก้าวไกล, ณัฐพงษ์ บุญยะศรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการประเมินค่าทัศนคติในสำนวนแปล คำให้การเพื่อขอลี้ภัยของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ 2 สำนวน โดยสำนักข่าวประชาไทและพรรคก้าวไกลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ด้วยทฤษฎีการประเมินค่าโดย Martin และ White (2005) ประยุกต์ตามแนวทางการประเมินค่าการแปล โดย Jeremy Munday (2012) ระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาครั้งนี้เป็น 3 ระดับชั้น โดยชั้นที่ 1 การศึกษาเปรียบเทียบการประเมินค่าทัศนคติในตัวบทต้นฉบับและสำนวนแปล 2 สำนวน เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางรูปภาษาที่เกิดจากการแปลทัศนคติของสำนวนแปลในหมวดหมู่อารมณ์ การตัดสินและความนิยมจากหน่วยสร้างที่แสดงทัศนคติ และระดับทัศนคติในหมวดหมู่ความเข้มข้นและความจำเพาะจากหน่วยสร้างที่แสดงระดับทัศนคติ ชั้นที่ 2 การอภิปรายผลการวิเคราะห์กับบริบทการแปล และจากนั้นสรุปผลการวิจัยในชั้นที่ 3 โดยผลการศึกษาพบการเสริมความเข้มข้นของทัศนคติและเน้นความจำเพาะในสำนวนแปล และการใช้สำนวนภาษาในการสื่อทัศนคติที่มีความเข้มข้นและตรงไปตรงมามากกว่าต้นฉบับ และการละไม่แปล และการแปลแบบตีความเกินทำให้สำนวนแปลสื่อใจความไม่ตรงกันกับภาษาที่ปรากฏในต้นฉบับบางจุด ซึ่งอนุมานได้ว่าสำนวนแปลที่สะท้อนออกมาในภาษาปลายทางมีอิทธิพลมาจากจุดยืน อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้เขียนและผู้แปล รวมถึงหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการนำตัวบทไปใช้ด้วย


การแปลคำศัพท์ทางจิตวิเคราะห์ในหนังสือเรื่อง Freud And Beyond: A History Of Modern Psychoanalytic Thought ของ Stephen A. Mitchell และ Margaret J. Black, วิภาวี วิจิตรสาร Jan 2022

การแปลคำศัพท์ทางจิตวิเคราะห์ในหนังสือเรื่อง Freud And Beyond: A History Of Modern Psychoanalytic Thought ของ Stephen A. Mitchell และ Margaret J. Black, วิภาวี วิจิตรสาร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาแนวทางการแปลคำศัพท์เฉพาะทางจิตวิเคราะห์ในหนังสือเรื่อง Freud and Beyond: A History of Modern Psychoanalytic Thought ของ Stephen A. Mitchell และ Margaret J. Black จากคำศัพท์ที่คัดสรรจำนวน 30 คำ โดยมีสมมติฐานการวิจัยว่า แนวทางการวิเคราะห์ตัวบทของคริสติอาเน นอร์ด แนวทางการแปลแบบตีความและยึดความหมายของฌอง เดอลิล แนวทางการสร้างคำใหม่ในภาษาอังกฤษของจอร์จ ยูล แนวทางการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของมโนทัศน์ของ มาเรีย เทเรซา คาเบร แนวทางการแปลคำสร้างใหม่ของปีเตอร์ นิวมาร์ก แนวทางการบัญญัติศัพท์และการจัดทำพจนานุกรมศัพท์เฉพาะสาขาวิชาของสมศีล ฌานวังศะ และหลักการสร้างคำในภาษาไทยและหลักการบัญญัติศัพท์โดยใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตในปัจจุบันของวัลยา ช้างขวัญยืนและคณะ จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการแปล และสามารถช่วยวางแผนการแปลคำศัพท์เฉพาะทางจิตวิเคราะห์ในตัวบทประเภทหนังสือวิชาการเบื้องต้น (Basic academic text) ซึ่งผสมผสานระหว่างรูปแบบงานเขียนสารคดีและบันเทิงคดีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าแนวทางการวิเคราะห์ตัวบท แนวทางการแปลแบบตีความและยึดความหมาย แนวทางการสร้างคำใหม่ในภาษาอังกฤษ แนวทางการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของมโนทัศน์ แนวทางการแปลคำสร้างใหม่ แนวทางการบัญญัติศัพท์และการจัดทำพจนานุกรมศัพท์เฉพาะสาขาวิชา และหลักการสร้างคำในภาษาไทยและหลักการบัญญัติศัพท์โดยใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตในปัจจุบัน สามารถใช้สร้างคำแปลคำศัพท์ในภาษาปลายทางและแก้ปัญหาการแปลคำศัพท์ทางจิตวิเคราะห์ได้อย่างมีคุณภาพ


The Use Of Asr-Cai Tool And Its Impact On Interpreters’ Performance During Simultaneous Interpretation, Pannapat Tammasrisawat Jan 2021

The Use Of Asr-Cai Tool And Its Impact On Interpreters’ Performance During Simultaneous Interpretation, Pannapat Tammasrisawat

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Ever since automatic speech recognition (ASR) was introduced as a means to improve the terminology lookup mechanism and reduce additional cognitive effort in performing a terminology query, many studies have been conducted to investigate the use of ASR-CAI tools in simultaneous interpretation (SI). However, few studies have implemented the process-oriented method in addition to the product-based method in analyzing how the use of ASR-CAI tools may affect the interpreting process. By using both product/process-oriented approaches, this paper set out to investigate the impact of ASR-CAI tool on interpreters’ overall performance. The results showed that the support of ASR-CAI tool led …


Investigation Of An Automatic Speech Recognition Software For Numbers Trigger Management In Remote Simultaneous Interpretation From English To Thai., Chirattikarn Kittimongkolmar Jan 2021

Investigation Of An Automatic Speech Recognition Software For Numbers Trigger Management In Remote Simultaneous Interpretation From English To Thai., Chirattikarn Kittimongkolmar

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

No abstract provided.


การศึกษากลวิธีการแปลข่าวออนไลน์เรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 59 จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ของสำนักข่าวไทย, อาณัติ ศักดารณรงค์ Jan 2021

การศึกษากลวิธีการแปลข่าวออนไลน์เรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 59 จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ของสำนักข่าวไทย, อาณัติ ศักดารณรงค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์เล่มนี้มุ่งศึกษาแนวทางการแปลข่าวออนไลน์เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 59 จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยของฝ่ายข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวไทย ผู้วิจัยได้ประยุกต์ใช้กระบวนการแบบจำลองผู้เฝ้าประตูในการแก้ปัญหาการแปลข่าวตามแนวทางของ Erkka Vuorinen (1995) ที่ระบุว่า ผู้แปลใช้กระบวนการแบบจำลองผู้เฝ้าประตูทั้งสี่กระบวนการ ได้แก่ การเพิ่มข้อมูล การตัดข้อมูล การจัดเรียงข้อมูลใหม่ และการแทนที่ข้อมูลในการจัดการข้อมูลข่าว นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้เลือกใช้แนวทางการวางกรอบเรื่องเล่าในการแปลของ Baker (2006) เพื่อวิเคราะห์บทบาทของผู้เรียบเรียงข่าวต่อการกำหนดกรอบความคิดของผู้รับสารอีกด้วย ผู้วิจัยคัดเลือกตัวอย่างข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 59 ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศเขียนเป็นภาษาอังกฤษ จำนวน 50 ข่าว และข่าวแปลเป็นภาษาไทยโดยฝ่ายข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวไทย 50 ข่าว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 - มกราคม 2564 เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ด้วยกระบวนการแบบจำลองผู้เฝ้าประตูและแนวทางวางกรอบเรื่องเล่าในการแปล นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้สัมภาษณ์บรรณาธิการและผู้เรียบเรียงข่าวของฝ่ายข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวไทย จำนวน 2 คน เพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่า ผู้เรียบเรียงข่าวของฝ่ายข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวไทย ได้นำกระบวนการแบบจำลองผู้เฝ้าประตูทั้งสี่กระบวนการมาประยุกต์ใช้ในการแปลข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และผู้เรียบเรียงข่าวมีบทบาทต่อการกำหนดกรอบความคิดของผู้รับสารตามแนวทางการวางกรอบเรื่องเล่าในการแปล ผลวิจัยพบว่า การแปลข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 59 จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ของฝ่ายข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวไทย ใช้กระบวนการแบบจำลองผู้เฝ้าประตูทั้งสี่กระบวนการตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ กล่าวคือ พบการตัดข้อมูลมากที่สุด ร้อยละ 55 ตามด้วยการเพิ่มข้อมูล ร้อยละ 20 การจัดเรียงข้อมูลใหม่ ร้อยละ 18 และการแทนที่ข้อมูล ร้อยละ 7 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการสื่อสารข้อมูลข้ามวัฒนธรรมและทำให้ผู้รับสารเข้าใจบริบทแวดล้อมของสถานการณ์ต่าง ๆ ตามข้อจำกัดของข่าวออนไลน์ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาและทำให้ข้อมูลสั้นกระชับตามหลักการเขียนข่าวแบบพีระมิดหัวกลับ นอกจากนี้ ผู้วิจัยพบว่าผู้เรียบเรียงยังมีบทบาทต่อการกำหนดกรอบความคิดของผู้รับสารตามแนวทางการวางกรอบเรื่องเล่าในการแปล กล่าวคือ พบว่ามีการกำหนดกรอบโดยการเลือกสรรข้อมูลมากที่สุด ร้อยละ 47 ตามด้วยการกำหนดกรอบโดยการเลือกใช้ถ้อยคำตีตรา ร้อยละ 23 การกำหนดกรอบโดยการเปลี่ยนตำแหน่งผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ร้อยละ 16 และการกำหนดกรอบโดยการใช้เงื่อนเวลาและสถานที่ ร้อยละ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความเป็นกลาง หลีกเลี่ยงประเด็นละเอียดอ่อน และลดความเอนเอียงในการนำเสนอข่าว


การแปลศัพท์เฉพาะทางในข้อเสนอกฎหมายการบริการดิจิทัลและข้อเสนอกฎหมายการตลาดดิจิทัลของสหภาพยุโรป, นพรุจ พงษ์สิทธิถาวร Jan 2021

การแปลศัพท์เฉพาะทางในข้อเสนอกฎหมายการบริการดิจิทัลและข้อเสนอกฎหมายการตลาดดิจิทัลของสหภาพยุโรป, นพรุจ พงษ์สิทธิถาวร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้เป็นวิจัยประเภทโครงการแปลในหัวข้อ ‘การแปลศัพท์เฉพาะทางในข้อเสนอกฎหมายการบริการดิจิทัลและข้อเสนอกฎหมายการตลาดดิจิทัลของสหภาพยุโรป’ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาทฤษฎีและแนวทางด้านการแปลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาแนวทางการวิเคราะห์ตัวบทประเภทกฎหมาย 2) เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายการให้บริการดิจิทัลและกฎหมายการตลาดดิจิทัล 3) เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างคำศัพท์และบัญญัติศัพท์เฉพาะทาง 4) เพื่อแปลคำศัพท์เฉพาะทางเกี่ยวกับกฎหมายดิจิทัลจากข้อเสนอกฎหมายการให้บริการดิจิทัลและข้อเสนอกฎหมายการตลาดดิจิทัลในส่วนของบทนิยามและอภิธานศัพท์ที่คณะกรรมาธิการยุโรปจัดทำขึ้นในเว็บไซต์ของตน และ 5) เพื่อแปลตัวบทคัดสรรจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยจากข้อเสนอกฎหมายทั้งสองฉบับ ผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า การแปลคำศัพท์เฉพาะทางเกี่ยวกับกฎหมายดิจิทัลและตัวบทคัดสรรในข้อเสนอกฎหมายการให้บริการดิจิทัลและกฎหมายการตลาดดิจิทัลให้สามารถถ่ายทอดความหมายได้ครบถ้วนและเหมาะสมนั้น จะต้องใช้วิธีการแปลบัญญัติศัพท์ทั้งหมดสามวิธี ได้แก่ 1) วิธีทาบเทียบ (mapping-matching) 2) วิธียืมตรง (direct borrowing) 3) วิธียืมตรงโดยมีคำอธิบายเสริมสั้น ๆ ผลการศึกษาในภาพรวมสนับสนุนสมมติฐานโดยพบว่า วิธีการแปลบัญญัติศัพท์ด้วยวิธีทาบเทียบ (mapping-matching) สามารถนำมาใช้ได้กับคำศัพท์ที่คัดสรรทั้งหมด 17 คำ เช่น Content moderation, Digital Services Coordinator, Very Large Online Platforms คำกลุ่มนี้จะเป็นคำที่ความหมายสามารถนำคำไทยที่มีอยู่แล้วมาแปลเทียบรายคำได้ เนื่องจากมีความหมายไม่ซับซ้อนหรือมีความหมายคนที่ภาษาไทยมีคำที่ใช้แทนความหมายได้อย่างตรงตัวอยู่แล้ว วิธีการแปลบัญญัติศัพท์ด้วยวิธียืมตรง (direct borrowing) สามารถนำมาไปใช้กับคำศัพท์ที่คัดสรรทั้งหมดสามคำ ได้แก่ online interface, cloud computing services, และ software application คำกลุ่มนี้จะเป็นคำที่มีใจความที่ใหม่สำหรับวัฒนธรรมไทย และมีความหมายค่อนข้างซับซ้อน ทำให้ไม่มีคำไทยเดิมที่เหมาะแก่การนำมาใช้เพื่อสื่อความได้อย่างสั้นและกระชับ วิธีการแปลบัญญัติศัพท์ด้วยวิธียืมตรงโดยมีคำอธิบายเสริมสั้น ๆ ไม่ปรากฏคำศัพท์คัดสรรที่ต้องใช้วิธีนี้ในการแปล นอกจากนี้ วิธีการแปลนอกเหนือจากสมมติฐานที่ผู้วิจัยนำมาใช้มีสามวิธี ได้แก่ 1) แปลโดยการใช้คำศัพท์ที่มีอยู่แล้วประกอบคำอธิบายเพิ่มเติมและใช้แนวทางการบัญญัติศัพท์ด้วยวิธีทาบเทียบ (mapping-matching) (8 คำ) 2) แปลแบบตีความและใช้แนวทางการบัญญัติด้วยวิธีแปลยืม (loan translation) ในส่วนหนึ่งของคำและแปลโดยใช้วิธียืมตรง (direct borrowing) ในอีกส่วนหนึ่ง (1 คำ) และ 3) แปลแบบตีความและใช้แนวทางการบัญญัติด้วยวิธีทาบเทียบ (mapping-matching) ในส่วนหนึ่งของคำและแปลโดยใช้วิธียืมตรง (direct borrowing) ในอีกส่วนหนึ่ง (1 คำ)


การแปลคำศัพท์ด้านวัฒนธรรมภาษาฟาร์ซี (อัฟกานิสถาน) ในนวนิยายเรื่อง A Thousand ​Splendid Suns ของ Khaled Hosseini, พนิตนุช สัจจมงคล Jan 2021

การแปลคำศัพท์ด้านวัฒนธรรมภาษาฟาร์ซี (อัฟกานิสถาน) ในนวนิยายเรื่อง A Thousand ​Splendid Suns ของ Khaled Hosseini, พนิตนุช สัจจมงคล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษากลวิธีการแปล ลักษณะภาษาและระบบเสียงของภาษาฟาร์ซี ประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศอัฟกานิสถานเพื่อทำความเข้าใจกลวิธีการแปล ลักษณะเสียงของภาษาฟาร์ซี ฉากของเรื่อง ความเป็นอยู่ของตัวละครและสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอัฟกันแล้วประยุกต์ใช้ในจัดการกับคำศัพท์ทางวัฒนธรรมภาษาฟาร์ซี (อัฟกานิสถาน) ในวรณกรรมเรื่อง A Thousand Splendid Suns ของคอลิด ฮุซัยนีย์ ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่นำมาใช้ในการศึกษาเพื่อหาแนวทางการแปลคำศัพท์ทางวัฒนธรรมที่เป็นประเด็นวิจัย ได้แก่ ทฤษฎีวาทกรรมวิเคราะห์ของคริสเตียอาเน่ นอร์ด แนวทางการวิเคราะห์ตัวบทประเภทวรรณกรรมของทอมลินสันและลินช์-บราวน์ แนวทางการศึกษาวรรณกรรมหลังยุคอาณานิคมของบิล แอชครอฟท์และคณะ การแปลแบบตีความของฌอง เดอลิล การศึกษารูปแบบการแก้ปัญหาในการแปลของแอนโทนี่ พิมประกอบกับนิยามและประเภทของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมของประเทศอัฟกานิสถาน ลักษณะภาษาฟาร์ซี และการใช้คำทับศัพท์ ทั้งนี้ กรอบการวิเคราะห์ที่นำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ จะต้องนำทฤษฎีที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการวิเคราะห์ตัวบทต้นฉบับ และทฤษฎีการแปลเข้ามาช่วยให้สามารถถ่ายทอดบทแปลได้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าต้นฉบับ โดยเห็นว่าทฤษฎีวาทกรรมวิเคราะห์ของคริสเตียอาเน่ นอร์ด แนวทางการวิเคราะห์ตัวบทประเภทวรรณกรรมของทอมลินสันและลินช์-บราวน์ แนวทางการศึกษาวรรณกรรมหลังยุคอาณานิคมของบิล แอชครอฟท์และคณะ การแปลแบบตีความของฌอง เดอลิล การศึกษารูปแบบการแก้ปัญหาในการแปลของแอนโทนี่ พิมประกอบกับนิยามและประเภทของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมของประเทศอัฟกานิสถาน ลักษณะภาษาฟาร์ซีรวมทั้งจากเอกสารตัวอักษรและการสอบถามเจ้าของภาษาฟาร์ซี และการใช้คำทับศัพท์เพียงพอ ช่วยให้สามารถเลือกกลวิธีการแปลที่เหมาะสมกับการแปลตัวบทต้นฉบับ เพื่อถ่ายทอดจินตภาพและหน้าที่ในฐานะสื่อที่ผู้เขียนต้นฉบับต้องการสื่อไปยังผู้รับสารงานแปล จากการศึกษาทฤษฎีข้างต้นพบว่า การใช้ทฤษฎีต่าง ๆ ดังกล่าวช่วยให้สามารถนำมาประยุกต์สร้างหลักเกณฑ์การทับศัพท์คำศัพท์ทางวัฒนธรรมและเลือกใช้กลวิธีการแปลที่เหมาะสมกับตัวบทให้ถ่ายทอดความหมายและเจตนารมณ์ของผู้เขียนได้อย่างครบถ้วน แต่ด้วยข้อจำกัดทางความรู้ด้านสัทศาสตร์และอรรถศาสตร์ของภาษาฟาร์ซีทำให้ไม่สามารถสร้างหลักเกณฑ์การทับศัพท์จากภาษาฟาร์ซี (อัฟกานิสถาน) เป็นภาษาไทยได้แม่นยำสมบูรณ์


บาดแผลและความทรงจำ: เรื่องเล่าเหตุการณ์ 228 และ ไวต์ เทอร์เรอร์ (White Terror) ในไต้หวัน, รณฤทธิ์ มณีพันธุ์ Jan 2021

บาดแผลและความทรงจำ: เรื่องเล่าเหตุการณ์ 228 และ ไวต์ เทอร์เรอร์ (White Terror) ในไต้หวัน, รณฤทธิ์ มณีพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาการถ่ายทอดความทรงจำบาดแผลเหตุการณ์ 228 และไวต์ เทอร์เรอร์ของไต้หวันในกลุ่มตัวบทคัดสรร โดยมุ่งสำรวจให้เห็นบทบาทของบาดแผลที่เชื่อมร้อยคนระหว่างรุ่นเข้าด้วยกัน การจัดการกับอดีตที่ยังตามมาหลอกหลอนของผู้ที่เจ็บปวดจากความทรงจำบาดแผล และการปรับใช้อดีตเพื่อนิยามความเป็นไต้หวัน กลุ่มตัวบทคัดสรรดังกล่าวได้แก่ The Lost Garden (1991) ของ หลี่ อัง (Li Ang) ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปีค.ศ.2015 The Third Son (2013) ของ จูลี่ หวู่ (Julie Wu) The 228 Legacy (2013) ของ เจนนิเฟอร์ เจ. โชว์ (Jennifer J. Chow) Green Island (2016) ของชอว์นา หยาง ไรอัน (Shawna Yang Ryan) และสื่อวิดีโอเกมสยองขวัญ Detention (2017) ของ เรด แคนเดิล เกมส์ (Red Candle Games) จากการศึกษากลุ่มตัวบทคัดสรรพบว่า ความทรงจำบาดแผลนั้นมิได้ทำให้ตัวตนหยุดนิ่งอยู่กับบาดแผล หากแต่ยังเปี่ยมล้นด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ผู้ประสบเหตุความทรงจำบาดแผลจะชะงักค้างติดอยู่ในอดีต แต่ก็ยังสามารถเปลี่ยนแปรประสบการณ์ความทรงจำบาดแผลไปสู่เรื่องเล่าอื่นใดได้หลากหลายรูปแบบ ดังนั้นเหตุการณ์ 228 และไวต์ เทอร์เรอร์ของไต้หวัน ในฐานะเหตุการณ์ความทรงจำบาดแผลจึงสามารถปรากฎในเรื่องเล่าหลากรูปแบบได้ เช่น นวนิยายโรแมนติคพาฝัน วิดีโอเกมสยองขวัญ นวนิยายก่อรูปอัตลักษณ์ นวนิยายชีวิตครอบครัวระหว่างรุ่น และนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ รูปแบบของเรื่องเล่าต่างๆดังเผยแสดงในตัวบทคัดสรรดังกล่าวสามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจอดีตที่ยังคงหลอกหลอนไต้หวัน ตลอดจนวิธีการที่อัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันก่อรูปปรากฎขึ้นมาจากประวัติศาสตร์อันหลอกหลอนนี้


บทบาทของผีไทยในสังคมเมืองร่วมสมัยในนวนิยายชุด ผีมหานคร, สุวภัทร ใจคง Jan 2021

บทบาทของผีไทยในสังคมเมืองร่วมสมัยในนวนิยายชุด ผีมหานคร, สุวภัทร ใจคง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัย บทบาทของผีไทยในสังคมเมืองร่วมสมัยในนวนิยายชุด ผีมหานคร วัตถุประสงค์ในการวิจัยคือ เพื่อศึกษาศึกษาการปรับเปลี่ยนของผีไทยในคติความเชื่อพื้นบ้านและคติทางพระพุทธศาสนามาสู่สังคมเมืองร่วมสมัย ซึ่งในที่นี้คือกรุงเทพมหานคร และศึกษาสภาพของสังคมเมืองร่วมสมัย ตลอดจนประสบการณ์ สภาวะ อารมณ์ความรู้สึกของคนเมืองในนวนิยายออร์บันกอทิกชุด ผีมหานคร จำนวน 4 เล่ม อันประกอบไปด้วย กระสือ ของ RabbitRose กระหัง ของ ทวิวัฒน์ ปอป ของ ธุวัฒธรรพ์ และ เปรต ของ ปราปต์ จากการศึกษาพบว่า แม้สังคมจะมีการพัฒนามาเป็นสังคมเมืองร่วมสมัยด้วยอิทธิพลจากความเป็นสมัยใหม่ แต่ความเชื่อเรื่องผีที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมก็ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย ทั้งนี้เนื่องจากผีเป็นผลผลิตของสังคมแต่ละสมัย ดังนั้น ผีไทยทั้ง 4 ชนิดคือกระสือ กระหัง ปอป และ เปรตจึงมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับบริบทของสังคมเมืองร่วมสมัยโดยรับอิทธิพลจากการพัฒนาตามแบบสมัยใหม่และแนวคิดแบบสมัยใหม่ อาทิ ทุนนิยม บริโภคนิยม ปัจเจกนิยม ความเป็นเมือง เป็นต้น ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนของผีแต่ละชนิดยังคงมีรากฐานมาจากคติความเชื่อพื้นบ้านและคติทางพระพุทธศาสนาจึงยังคงเห็นร่องรอยเดิมของผีแต่ละชนิด การปรากฏของผีไทยในสังคมเมืองร่วมสมัยเป็นการมาเผยให้เห็นอีกด้านหนึ่งของสังคมเมืองร่วมสมัยที่เต็มไปด้วยความผิดปกติ ความรุนแรง ความเสื่อมโทรมถดถอยที่ถูกปกปิดด้วยความเป็นปกติจากกฎเกณฑ์ของสังคมเมือง และยังนำเสนอให้เห็นประสบการณ์ อารมณ์ความรู้สึกของคนเมืองในการใช้ชีวิตภายใต้กฎเกณฑ์ของสังคมเมืองที่ไม่อาจถ่ายทอดด้วยคำพูดหรือวิธีการตามปกติได้จึงต้องอาศัยผีที่เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติในการช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าว


A Study Of The Problems Encountered By Interpreters In Translating Criminal Case Examination Questions From Thai Into English, Brian Keith Cutshall Jan 2021

A Study Of The Problems Encountered By Interpreters In Translating Criminal Case Examination Questions From Thai Into English, Brian Keith Cutshall

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The official language used in the Thai judicial system is the Thai central dialect. All documentation and testimony must be submitted in this language. Because of this, all documentation in a foreign language that needs to be submitted to the court must first be translated into Thai. Additionally, non-proficient speakers of Thai (NPT’s) require the services of an interpreter to render their foreign language testimony into Thai during court proceedings. The goal of this research was to study and better understand the types of problems that interpreters in court have in interpreting criminal case examination questions from Thai into English. …


Automatic Subtitling And Machine Translation In Aiding English To Thai Simultaneous Interpretation, Nutdanai Sornchai Jan 2021

Automatic Subtitling And Machine Translation In Aiding English To Thai Simultaneous Interpretation, Nutdanai Sornchai

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

With the development of automatic speech recognition (ASR) and machine translation (MT) technology in recent years, their uses in simultaneous interpretation (SI) have been a subject of interest. This research, conducted to study these technologies in aiding the SI process, has four participants interpreted (English to Thai) three comparable speeches with automatic subtitling, with MT, and without subtitling. An audience then rated the interpretation renditions and answered a comprehension questionnaire. According to the participants, automatic subtitling allowed them to cross-check their translation, while MT provided a way to decrease the cognitive effort. According to the audience, automatic subtitling has a …


Smartphone-Tapping Vs Hand-Writing: A Comparative Study Of Note-Taking Alternatives For Consecutive Interpretation, Panuwat Sojaiwong Jan 2021

Smartphone-Tapping Vs Hand-Writing: A Comparative Study Of Note-Taking Alternatives For Consecutive Interpretation, Panuwat Sojaiwong

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Tapping on a smartphone has expanded beyond texting, from interpersonal interaction to taking notes in an academic context. More specifically, consecutive interpreters, both novice and experienced, who are accustomed to smartphone tapping on a daily basis may be able to take notes on their smartphones. The study investigates the modern method of tapping on a smartphone as a note-taking alternative to the classic method of pen and paper. Six Thai interpreting students participated in a consecutive interpretation experiment. Participants were given the opportunity to practice both hand-writing and smartphone tapping for their consecutive interpretation tasks. The data was collected in …


User-Side Assessment On English To Thai And Thai To English Machine Interpreting: The Case Of Google Translate, Thatchaphon Silpi Jan 2021

User-Side Assessment On English To Thai And Thai To English Machine Interpreting: The Case Of Google Translate, Thatchaphon Silpi

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This research aims to assess Google Translate´s effectiveness in English-Thai consecutive interpreting based on users' comprehension and to investigate users’ satisfaction with MI renditions. Ten native speakers of Thai and eight native speakers of English were asked to listen to the translated speeches and complete a questionnaire to assess the Adequacy and Fluency of the MI. The findings showed that in terms of Adequacy of the English to Thai MI participants’ comprehension scores ranged from 2.4 to 3.45 out of 5, while Fluency received less than half of the maximum scores in all areas. In comparison, for the direction of …


การแปลกริยานุเคราะห์ในข้อบังคับการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาและการประชุมคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา, โกศล อุดมศิลป์ Jan 2021

การแปลกริยานุเคราะห์ในข้อบังคับการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาและการประชุมคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา, โกศล อุดมศิลป์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อหาแนวทางการแปลกริยานุเคราะห์ Shall, May และ Will ในข้อบังคับการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาและข้อบังคับการประชุมคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภาจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย โดยมีคำถามการวิจัยว่ากริยานุเคราะห์ทั้ง 3 คำดังกล่าวมีความหมายและหน้าที่ อย่างไรในบริบทกฎหมายและสามารถแปลเป็นภาษาไทยได้ว่าอะไร ผลการวิจัยจากเอกสารและแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องพบว่า กริยานุเคราะห์ Shall, May และ Will ที่ใช้ในข้อบังคับของสหภาพรัฐสภาที่คัดสรรนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของประโยค โดยเฉพาะในฐานะคำบอกทัศนะภาวะปริพัทธซึ่งเป็นเรื่องภาวะหน้าที่ การอนุญาต และการสั่งห้าม ในการแปลคำกริยานุเคราะห์ทั้ง 3 คำในตัวบทดังกล่าว ผู้วิจัยจึงนำเสนอแนวทางการแปลซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ Shall เป็นเรื่องของพันธะหน้าที่ May เป็นเรื่องของการอนุญาตและดุลยพินิจ และ Will เป็นเรื่องพันธะหน้าที่ซึ่งเกี่ยวโยงกับอนาคตกาลหรือเงื่อนไข โดยรูปภาษาที่ใช้ขึ้นอยู่ลักษณะการใช้งานในแต่ละประโยคและบริบท โดยสามารถอ้างอิงคำที่ใช้ในข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาไทยประกอบการแปลได้ ผลการวิจัยและบทแปลที่ได้จากสารนิพนธ์ฉบับนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่รัฐสภา และบุคคลในวงงานรัฐสภาในการนำไปใช้ในภารกิจด้านรัฐสภาระหว่างประเทศของรัฐสภาไทย รวมถึงต่อผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการแปลกริยานุเคราะห์ในบริบทต่าง ๆ ต่อไป


การแปลภาษาถิ่นจาเมกาในนวนิยายยุคหลังอาณานิคม เรื่อง The Book Of Night Women โดย มาร์ลอน เจมส์, หรรษา ต้นทอง Jan 2021

การแปลภาษาถิ่นจาเมกาในนวนิยายยุคหลังอาณานิคม เรื่อง The Book Of Night Women โดย มาร์ลอน เจมส์, หรรษา ต้นทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ เป็นการศึกษาแนวทางการแปลภาษาถิ่นจาเมกาในวรรณกรรมยุคหลังอาณานิคมเรื่อง The Book of Night Women ของ Marlon James ซึ่งเป็นนวนิยายที่สะท้อนถึงความหลากหลายทางภาษา ชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในประเทศจาเมกาผ่านการใช้ภาษาของผู้เขียน ผู้วิจัยได้ศึกษาแนวคิดหลังอาณานิคม แนวคิดวรรณกรรมยุคหลังอาณานิคม ลักษณะภาษาถิ่นจาเมกา ลักษณะภาษาไทยถิ่นอีสานและภาษาไทยถิ่นโคราช ลักษณะภาษาเก่า รวมทั้งแนวทางการแปลภาษาถิ่นและภาษาต่างมาตรฐานอื่น ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการแปลที่รักษาความหลากหลายทางภาษาที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศจาเมกา ผลการวิจัยพบว่าการแปลเพื่อรักษาความหลากหลายทางภาษาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของสารนิพนธ์ฉบับนี้ทำได้โดยการวิเคราะห์ลักษณะภาษาที่ใช้ในตัวบทต้นฉบับและนำมาเทียบเคียงกับลักษณะของภาษาไทยถิ่นอีสานและภาษาไทยถิ่นโคราชเพื่อถ่ายทอดภาษาที่แตกต่างกันไปตามเชื้อชาติของตัวละคร เกิดเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการแปลที่สามารถถ่ายทอดความหลากหลายทางภาษาจนนำไปสู่การถ่ายทอดต้นฉบับได้อย่างใกล้เคียง นอกจากนี้ แนวทางการแปลนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการต่อต้านอำนาจอาณานิคมและช่วยส่งเสริมการแสดงออกถึงอัตลักษณ์และตัวตนของคนที่ใช้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาศูนย์กลาง


การแปลบทสนทนาภาษาถิ่น Irish English ในนวนิยายเรื่อง The Commitments โดย Roddy Doyle, พิมพ์สุจี กิติโชตน์กุล Jan 2021

การแปลบทสนทนาภาษาถิ่น Irish English ในนวนิยายเรื่อง The Commitments โดย Roddy Doyle, พิมพ์สุจี กิติโชตน์กุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการแปลลักษณะภาษาถิ่น Irish English หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ภาษา Hiberno-English ในนวนิยายหลัง อาณานิคมเรื่อง The Commitments จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ซึ่งตัวบทมีการใช้ภาษาอังกฤษต่างมาตรฐาน รวมไปถึงคำหยาบและคำสแลงที่มีความแตกต่างจากภาษาปลายทางเป็นอย่างมาก ผู้วิจัยได้นำแนวทางการศึกษาวรรณกรรมยุคหลังอาณานิคมของบิล แอชครอฟท์และคณะ ลักษณะของภาษา Hiberno-English และทฤษฎีภาษาศาสตร์ระบบ-หน้าที่ของเอ็ม.เอ.เค. ฮัลลิเดย์ และคณะ มาใช้เป็นแนวทางการแปลเพื่อสร้างความหลากหลายทางภาษาและถ่ายทอดภาษา Hiberno-English ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชนชั้นแรงงานในไอร์แลนด์ยุคหลังอาณานิคม ผลการวิจัยพบว่า การแปลเพื่อรักษาความหลากหลายทางภาษาเป็นเป้าหมายหลักของสารนิพนธ์ฉบับนี้ ซึ่งทำได้โดยการแปลให้ความสำคัญกับตัวลักษณะภาษาที่ต่างมาตรฐานในตัวบทและประยุกต์ใช้ความต่างมาตรฐานของภาษาพูดในปลายทางผสมผสานกับภาษาถิ่นไทยกาญจนบุรี แนวทางการแปลเพื่อสะท้อนความหลากหลายทางภาษานี้สามารถสะท้อนการต่อต้านอำนาจอาณานิคม ช่วยแก้ปัญหาในการวิจัย และนำไปสู่การถ่ายทอดที่สะท้อนตัวบทต้นฉบับได้อย่างใกล้เคียง


ความขัดแย้งระหว่างศาสนานิยมกับฆราวาสนิยมในอาชญนิยายชุด 'โรเบิร์ต แลงดอน' ของ แดน บราวน์, เกศกนก เฮงจำรัส Jan 2021

ความขัดแย้งระหว่างศาสนานิยมกับฆราวาสนิยมในอาชญนิยายชุด 'โรเบิร์ต แลงดอน' ของ แดน บราวน์, เกศกนก เฮงจำรัส

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปมความขัดแย้งระหว่างศาสนานิยมและฆราวาสนิยมในอาชญนิยายชุด โรเบิร์ต แลงดอน ของแดน บราวน์ อาชญากรรมชุดดังกล่าวเรื่องแต่งที่นำเสนอการปะทะกันระหว่างผู้นิยมศาสนาอย่างสุดโต่งกับผู้คนในโลกฆราวาส โดยนำเสนอทั้งความรุนแรงที่ฝ่ายศาสนานิยมเป็นผู้ก่อและความรุนแรงที่ฝ่ายฆราวาสนิยมเป็นผู้ก่อผ่านอาชญากรรมที่ปรากฏในตัวบท นักสืบที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งและทำให้สังคมกลับสู่สภาพปกติอีกด้วย ผลการศึกษาพบว่าอาชญนิยายชุด โรเบิร์ต แลงดอน ใช้รูปแบบอาชญนิยายและการสืบสวนสอบสวนในการนำเสนอความขัดแย้งระหว่างศาสนานิยมและฆราวาสนิยมที่สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลในสังคมปัจจุบัน โดยสาเหตุของความขัดแย้งที่ถูกนำเสนอ ได้แก่ การพยายามช่วงชิงพื้นที่ในสังคมคืนโดยฝ่ายศาสนานิยม การตีความพระคัมภีร์ที่ไม่ตรงกัน การพยายามครอบงำเรื่องเล่าศาสนาด้วยวิถีฆราวาส การใช้องค์ความรู้ทางฆราวาสอย่างสุดโต่ง และการพยายามกำจัดศาสนาออกจากโลกฆราวาส ในขณะเดียวกัน นักสืบของเรื่องที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางและผู้ไกล่เกลี่ย ก็สามารถเข้ามาประนีประนอมความขัดแย้งผ่านการทำความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาและโลกฆราวาส จัดการอาชญากรรม และทำให้ผู้อ่านคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่ตัวบทนำเสนอได้


สัจนิยมมหัศจรรย์กับการนำเสนอความทรงจำบาดแผลในนวนิยายไทยร่วมสมัย, นภสร เสวกวัง Jan 2021

สัจนิยมมหัศจรรย์กับการนำเสนอความทรงจำบาดแผลในนวนิยายไทยร่วมสมัย, นภสร เสวกวัง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ลักษณะสัจนิยมมหัศจรรย์ในการนำเสนอความทรงจำบาดแผลในนวนิยายไทยร่วมสมัยคัดสรร ได้แก่ โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า ฉบับปรับปรุงใหม่ (2555) ของศิริวร แก้วกาญจน์ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ (2559) ของวีรพร นิติประภา และวายัง อมฤต (2561) ของอนุสรณ์ ติปยานนท์ ผลการศึกษาพบว่า การใช้องค์ประกอบสัจนิยมควบคู่ไปกับความมหัศจรรย์ภายใต้ตรรกะชุดเดียวกันในการนำเสนอประเด็นความทรงจำบาดแผล ส่งผลให้ความทรงจำบาดแผลซึ่งเป็นอัตวิสัยหรือปรากฏการณ์เชิงนามธรรมในโลกของปัจเจก สามารถปรากฏและดำรงอยู่ในฐานะความจริงอีกรูปแบบหนึ่งทัดเทียมกับความจริงเชิงประจักษ์ พื้นที่สัจนิยมมหัศจรรย์ช่วยให้ความทรงจำบาดแผลที่ไม่สามารถเล่าได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลไม่ถูกลดทอนลงไปเพียงภาพมายาส่วนบุคคล ทั้งยังเผยให้เห็นธรรมชาติที่สลับซับซ้อนและแปลกประหลาดของความทรงจำบาดแผล โดยไม่ตัดสินว่าเป็นเพียงความลวง เนื่องจากไม่สอดคล้องกับการนิยาม “ความจริง” แบบสัจนิยม นอกจากนี้ ลักษณะสัจนิยมมหัศจรรย์เผยให้เห็นว่า ความทรงจำบาดแผลเป็นความจริงอีกรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประสบเหตุและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างล้ำลึกและยาวนาน จนไม่อาจลดทอนให้เป็นเพียงสภาวะทางอารมณ์ของปัจเจกที่ไม่มีผลต่อการทำความเข้าใจสังคมโดยรวม ลักษณะสัจนิยมมหัศจรรย์เน้นย้ำให้เห็นว่า ความทรงจำบาดแผลมีความสำคัญเท่า ๆ กับข้อมูลเชิงประจักษ์ในการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต อีกทั้งยังเป็นหลักฐานของความเลวร้ายที่ฉายให้เห็นผลกระทบที่ต่อเนื่องยาวนานของประวัติศาสตร์