Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Arts and Humanities Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Comparative Literature

Chulalongkorn University

2022

Articles 1 - 14 of 14

Full-Text Articles in Arts and Humanities

ประมวลศัพท์เรื่องการดำน้ำลึก, ชญา ธุระสกุล Jan 2022

ประมวลศัพท์เรื่องการดำน้ำลึก, ชญา ธุระสกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอประมวลศัพท์เรื่องการดำน้ำลึก ซึ่งประกอบด้วยศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับระดับของการดำน้ำลึก อุปกรณ์ประกอบการดำน้ำลึก และวิธีการลงดำน้ำลึก โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อศึกษาทฤษฎีทางศัพทวิทยาที่เกี่ยวข้องและกระบวนการจัดทำประมวลศัพท์ และจัดทำประมวลศัพท์เรื่องการดำน้ำลึกอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจที่จะศึกษาเรื่องการดำน้ำลึก รวมทั้งนักแปล นักล่าม สามารนำประมวลศัพท์นี้ไปใช้เป็นเอกสารอ้างอิงได้ ในการจัดทำประมวลศัพท์ฉบับนี้ได้ศึกษาและนำทฤษฎีทางศัพทวิทยาและแนวทางการจัดทำประมวลศัพท์ของนักศัพทวิทยาหลาย ๆ ท่านได้เสนอไว้มาประยุกต์ใช้ โดยกระบวนการทำงานแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้ 1) การกำหนดหัวข้อ ขอบเขตของการวิจัย กลุ่มเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการจัดทำประมวลศัพท์ 2) การศึกษาทฤษฎีและระเบียบวิธีในการจัดทำประมวลศัพท์ 3) การรวบรวมและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำลึกเพื่อจัดทำคลังข้อมูลภาษาและการดึงศัพท์เฉพาะทางจากคลังข้อมูลภาษา 4) การกำหนดมโนทัศน์สัมพันธ์ระหว่างศัพท์ที่คัดเลือกมา 5) การจัดทำบันทึกข้อมูลศัพท์เบื้องต้นและบันทึกข้อมูลศัพท์เพื่อกำหนดนิยามและศัพท์เทียบเคียงในภาษาไทย ประมวลศัพท์เรื่องการดำน้ำลึกนี้ประกอบด้วยศัพท์ทั้งหมด 35 คำ ซึ่งนำเสนอตามกลุ่มมโนทัศน์สัมพันธ์และลำดับของมโนทัศน์สัมพันธ์ การนำเสนอศัพท์แต่ละคำนั้นประกอบด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษ ศัพท์เทียบเคียงในภาษาไทย คำนิยาม ประเภททางไวยกรณ์ หมวดหมู่ บริบทอ้างอิงที่พบศัพท์ดังกล่าว มโนทัศน์สัมพันธ์พร้อมรหัสของลักษณะความสัมพันธ์ รูปทางภาษาอื่นของศัพท์ดังกล่าว และข้อมูลอ้างอิง


การแปลบทกวีนิพนธ์เชิงอภิปรัชญาชุด Songs And Sonnets ของจอห์น ดันน์, อาทิมา พวงเข็มแดง Jan 2022

การแปลบทกวีนิพนธ์เชิงอภิปรัชญาชุด Songs And Sonnets ของจอห์น ดันน์, อาทิมา พวงเข็มแดง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการถ่ายทอดแนวคิดและวัจนลีลาที่โดดเด่นในกวีนิพนธ์แนวอภิปรัชญาจำนวน 6 เรื่องที่คัดสรรจากชุด Songs and Sonnets ของจอห์น ดันน์ ได้แก่ The Flea, The Apparition, Woman’s Constancy, The Canonization, The Bait และ A Valediction: Forbidding Mourning จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแนวคิดเชิงอภิปรัชญาและบทวิเคราะห์ลักษณะการประพันธ์ของดันน์และกวีแนวอภิปรัชญาคนอื่น ๆ เพื่อนำมาใช้ประกอบกับทฤษฎีวาทกรรมวิเคราะห์ ของคริสติอาเนอ นอร์ด ในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจตัวบทและแนวคิดเชิงอภิปรัชญาที่สอดแทรกอยู่ พร้อมทั้งศึกษาทฤษฎีการแปลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทฤษฎีการแปลแบบครบความ ของปีเตอร์ นิวมาร์ค ทฤษฎีการแปลแบบยึดความหมาย ของมารี-อานน์ เลเดแรร์ กลวิธีในการคิดหาคำแปล ของโมนา เบเคอร์ ทฤษฎีการแปลชดเชย ของเฮอร์วีย์ ซานดอร์ และเอียน ฮิกกินส์ แนวทางการแปลวรรณกรรม ของวัลยา วิวัฒน์ศร และแนวทางการแปลกวีนิพนธ์ ของเจมส์ โฮล์มส์ เพื่อหาแนวทางการแปลที่เหมาะสมโดยเฉพาะสำหรับตัวบทประเภทกวี­นิพนธ์ พร้อมทั้งถ่ายทอดแนวคิดอภิปรัชญาที่สำคัญและลีลาการประพันธ์ของกวีเป็นร้อยกรองภาษาไทย โดยคำนึงถึงความใกล้เคียงของผลลัพธ์ที่เกิดจากเครื่องมือทางวรรณศิลป์ในภาษาไทยเมื่อเทียบกับกวีนิพนธ์ต้นฉบับ และการทำความเข้าใจความหมายของผู้อ่านกวีนิพนธ์ฉบับแปลไปควบคู่กัน เพื่อให้ผู้อ่านกวีนิพนธ์ฉบับแปลสามารถวิเคราะห์สาระสำคัญของแนวคิดอภิปรัชญาที่สอดแทรกอยู่ในกวีนิพนธ์ และได้รับสุนทรียภาพผ่านกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่กวีใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดแนวคิดนั้นให้ได้มากที่สุด


ร้อนรักในรอยทราย : ความปรารถนาทางเพศของผู้หญิงในนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัยของไทย, จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร Jan 2022

ร้อนรักในรอยทราย : ความปรารถนาทางเพศของผู้หญิงในนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัยของไทย, จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความปรารถนาทางเพศของผู้หญิงในนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัยของไทย โดยวิเคราะห์จากตัวบทคัดสรรและศึกษาการตีความของผู้อ่านเพศหญิงกลุ่มตัวอย่าง จากการศึกษาพบว่า ตัวบทคัดสรรนำเสนอเพศวิถีของตัวละครเอกหญิงสมัยใหม่ที่ยังยึดถือคุณค่าความเป็นหญิงตามขนบกุลสตรี ความปรารถนาทางเพศของตัวละครเอกหญิงจึงถูกนำเสนอภายใต้ขนบของโรมานซ์ ได้แก่ ตัวละครเอกหญิงที่อ่อนแอซึ่งมักตกเป็นเหยื่อ ความสัมพันธ์ศัตรูคู่ขัดแย้งมาเป็นคู่รัก การสร้างความหวังถึงความสุขกับตัวละครเอกชาย โดยนำมาใช้กลบเกลื่อนการแสดงออกอารมณ์ปรารถนาทางเพศให้อยู่ในกรอบเกณฑ์ศีลธรรม นอกจากนั้นพื้นที่ทะเลทรายยังถูกผูกโยงเข้ากับตัวละครชีคโดยมีบทบาทในการปลุกเร้าและเย้ายวนใจจนทำให้ดินแดนทะเลทรายกลายภาพฝันของความสุขทางเพศของตัวละครเอกหญิง จากการศึกษาผู้อ่านเพศหญิงกลุ่มตัวอย่างพบว่า การทาบเทียบตนเองเข้ากับตัวละครเอกหญิงเพื่อสร้างความรื่นรมย์ทางเพศได้ส่งผลให้ตัวละครเอกหญิงมีอิทธิพลต่อการนิยามเพศวิถีของผู้อ่านเพศหญิงกลุ่มตัวอย่างซึ่งแตกต่างกันตามสถานะคู่ครอง ดังพบว่าผู้อ่านเพศหญิงที่มีสถานะโสดมุ่งเน้นคุณลักษณะของพระเอกชีคในฐานะชายคนรักในอุดมคติ ขณะที่ผู้อ่านเพศหญิงซึ่งแต่งงานและมีสามีชาวตะวันออกกลาง นำคุณสมบัติของตัวละครเอกชีคมาเป็นมาตรวัดบทบาททางเพศของสามี อีกทั้งยังใช้ตัวบทเป็นหนทางในการเชื่อมสัมพันธ์ชุมชนการอ่านขึ้นในกลุ่มผู้หญิง ขณะที่ผู้อ่านซึ่งมีสถานะหย่าร้างนำตัวบทมาเป็นคู่มือสำหรับความสัมพันธ์รักของชีวิตคู่ในอนาคต ผลของการศึกษาจึงเผยว่า แม้ตัวบทคัดสรรจะมีบทบาทในการผลิตซ้ำเพศวิถีของผู้หญิงสมัยใหม่ที่ยังตกอยู่ภายใต้อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ผ่านอารมณ์ความปรารถนาทางเพศของตัวละครเอกหญิง แต่ผู้อ่านก็ได้ประโยชน์จากการปรับใช้ความหมายจากตัวบทเพื่อรับมือกับข้อจำกัดทางเพศวิถีของตนเองด้วย


กลวิธีการแปลอนุประโยครูปกริยาขยายปัจจุบัน (Present Participle Clause) ในนวนิยายเรื่อง สัตว์ สยอง โลก แปลโดย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จากต้นฉบับเรื่อง Zoo ของ James Patterson และ Michael Ledwidge, กฤษกรณ์ วินณรงค์ Jan 2022

กลวิธีการแปลอนุประโยครูปกริยาขยายปัจจุบัน (Present Participle Clause) ในนวนิยายเรื่อง สัตว์ สยอง โลก แปลโดย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จากต้นฉบับเรื่อง Zoo ของ James Patterson และ Michael Ledwidge, กฤษกรณ์ วินณรงค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการศึกษากลวิธีการแปลอนุประโยครูปกริยาขยายปัจจุบันในนวนิยายเรื่อง สัตว์ สยอง โลก แปลโดย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จากต้นฉบับเรื่อง Zoo ของ James Patterson และ Michael Ledwidge ใน 3 ประเด็น คือ 1) หน้าที่ของรูปภาษาปลายทางเมื่อเทียบกับหน้าที่ของรูปภาษาต้นทาง 2) ประเภทของหน่วยทางวากยสัมพันธ์ของรูปภาษาปลายทางเมื่อเทียบกับหน้าที่ของรูปภาษาต้นทาง และ 3) กลวิธีการแปล กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีจำนวน 140 ประโยค แบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามแนวคิดการอธิบายความของอนุประโยค (clause expansion) ของ Halliday & Matthiessen (2014) ได้แก่ การลงความ (elaboration) 60 ประโยค การเสริมความ (extension) 40 ประโยค และการปรุงความ (enhancement) 40 ประโยค ทั้งนี้ ผู้วิจัยใช้หลักวากยสัมพันธ์ของอมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (2554) และกิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา (2549) การเปลี่ยนแปลงรูปภาษาของแคตฟอร์ด (1965) และกลวิธีการแปลอนุประโยครูปกริยาขยายของวิมลตรี แก้วประชุม (2559) เป็นกรอบในการวิจัยครั้งนี้ จากการศึกษาประเด็นทั้ง 3 ประเด็นพบว่า 1) รูปภาษาปลายทางมีหน้าที่เพิ่มขึ้นมาจากหน้าที่ของรูปภาษาต้นทาง เนื่องจากผู้แปลปรับบทแปลโดยการเปลี่ยนระดับ (level shift) และการเปลี่ยนประเภท (category shift) ชนิดการเปลี่ยนหน่วย (unit shift) และการเปลี่ยนโครงสร้าง (structure shift) นอกจากนี้ รูปภาษาปลายทางที่ใช้แปลอนุประโยครูปกริยาขยายปัจจุบันทั้งสามประเภทยังแตกต่างกัน รูปภาษาปลายทางที่ใช้แปลอนุประโยครูปกริยาขยายปัจจุบันประเภทการลงความมีทั้งสิ้น 8 หน้าที่ เรียงลำดับจากอัตราความถี่สูงสุดไปยังอัตราความถี่ต่ำสุด ได้แก่ 1) ลงความอนุประโยคตั้งต้นโดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเดิม พบร้อยละ 23.33 2) ลงความคำนามแบบจำกัดความ พบร้อยละ 20 3) เป็นภาคแสดงในประโยคกริยาเรียง พบร้อยละ …


การแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมในหนังสือการ์ตูนมังงะเรื่อง เจ้าหนูข้าวจี่ โดย เกษม อภิชนตระกูล, ธนพนธ์ ปานอุดมลักษณ์ Jan 2022

การแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมในหนังสือการ์ตูนมังงะเรื่อง เจ้าหนูข้าวจี่ โดย เกษม อภิชนตระกูล, ธนพนธ์ ปานอุดมลักษณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษากลยุทธ์การแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม มุกตลก และภาษาถิ่นอีสานในหนังสือการ์ตูน เจ้าหนูข้าวจี่ ของเกษม อภิชนตระกูล ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการทำอาหารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตัวบทกรณีศึกษาพบคำหลายคำที่มีที่มาจากลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและความแตกต่างทางวัฒนธรรมของภาษาต้นทางและปลายทาง ทำให้กระบวนการแปลนั้นยากมากยิ่งขึ้น คำที่มีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมนั้นไม่สามารถที่จะแปลด้วยวิธีทั่วไปได้เลย ในการศึกษาครั้งนี้ สันนิษฐานได้ว่า ในการแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม จะต้องใช้กลวิธีการแปล เช่น กลยุทธ์การแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของแอนโธนี พิม มาเพื่อแก้ปัญหาที่พบได้ในตัวบทกรณีศึกษานี้ นอกจากกลยุทธ์การแปลของแอนโธนี พิม แล้วการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่ามุกตลกที่พบก็เป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมที่จะต้องได้รับการวิเคราะห์ด้วยเช่นกัน ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้พบว่า มุกตลกสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก็คือ มุกตลกสากล มุกตลกเฉพาะวัฒนธรรมและมุกตลกทางภาษา มุกตลกสากลจะเป็นมุกตลกที่สามารถแปลด้วยวิธีการปรกติได้ แต่มุกตลกวัฒนธรรมจะต้องแปลแบบเดียวกันกับคำเฉพาะทางวัฒนธรรม ในขณะที่มุกตลกทางภาษาควรที่จะได้รับการแปลด้วยแนวทางการแปลของเดิร์ค เดลาบาสติสตา อีกประเด็นปัญหาหนึ่งที่พบก็คือ การใช้ภาษาถิ่นและภาษาไทยที่ไม่ได้มาตรฐานในตัวบทต้นทาง ทำให้ในการแปลจะต้องรักษาไว้ซึ่งความแปลกต่างดังกล่าวเพื่อให้คงไว้ถึงลักษณะที่ไม่เหมือนทางวัฒนธรรมของตัวละครนั้น งานวิจัยฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า ลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและมุกตลกวัฒนธรรมที่พบใน เจ้าหนูข้าวจี่ สามารถแปลโดยใช้แนวทางของแอนโธนี พิมและแนวทางการแปลหนังสือการ์ตูนของเคลาส์ เคนดล์ ในส่วนภาพของหนังสือการ์ตูนนั้นก็ใช้ในการแก้ปัญหาการแปลที่เกี่ยวกับการแปลลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมได้ สำหรับมุกตลกทางภาษานั้นสามารถแปลโดยใช้แนวทางการแปลของเดิร์ค เดลาบาติสตา ทำให้การแปลเข้าใจและชัดเจนขึ้น สุดท้าย ภาษาอังกฤษที่ไม่ได้มาตรฐานก็สามารถนำมาแทนที่การใช้ภาษาไทยที่ไม่ได้มาตรฐานที่พบในตัวบทต้นทางได้ ซึ่งจะช่วยให้บทแปลสามารถที่จะคงไว้ซึ่งลักษณะหรือบทบาทของตัวละครรวมถึงลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของตัวละครเหล่านั้นด้วย


การแปลภาษาเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ ในบทสนทนาจากนวนิยายเรื่อง ทวิภพ ของทมยันตีเป็นภาษาอังกฤษ, พนิดา ออตโตสัน Jan 2022

การแปลภาษาเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ ในบทสนทนาจากนวนิยายเรื่อง ทวิภพ ของทมยันตีเป็นภาษาอังกฤษ, พนิดา ออตโตสัน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเพื่อการแปลภาษาเก่าที่พบในบทสนทนาจากวรรณกรรมเรื่อง ทวิภพ ให้เป็นภาษาเก่าในภาษาอังกฤษโดยใช้วิธีศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพื่อหาวิธีระบุภาษาเก่าในตัวบทต้นฉบับ และศึกษาภาษาเก่าในภาษาปลายทางโดยการศึกษาภาษาเก่าจากวรรณกรรมของเจน ออสเตนและชาร์ลอต บรอนเต้ เพื่อเทียบเคียงภาษาแบบ time-matched archaization, hyper-archaization และ updated-archaization นอกจากนี้ยังวิเคราะห์วัจนลีลาและความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่อง ทวิภพ เพื่อที่จะสามารถเลือกวัจนลีลาในการแปลให้เหมาะสมกับความสัมพันธ์ของตัวละคร การศึกษาภาษาเก่าในภาษาอังกฤษจากวรรณกรรมที่เลือกเน้นศึกษาภาษาที่ใช้ในบทสนทนาเป็นหลักโดยการสุ่มบทสนทนาเพื่อระบุความโดดเด่นของภาษาในด้านของความเก่าของภาษาเพื่อนำมาปรับใช้ในการแปล ทฤษฎีและแนวทางการแปลที่นำมาใช้ในการวิจัยเพื่อการแปลนี้ประกอบไปด้วยทฤษฎี Dynamic Equivalence ของ Eugene A. Nida ทฤษฎี Skopos ของ Hans J. Vermeer และ Scene and Frame Semantics ของ Charles J. Fillmore และใช้กลยุทธ์การแก้ไขปัญหาการแปลข้ามวัฒนธรรมที่เสนอไว้โดย Antony Pym, Mona Baker และ Peter Newmark จากการศึกษาพบว่าภาษาเก่าแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ และการแปลภาษาเก่ามีกลยุทธ์ทั้งหมด 6 ระดับ ดังนั้นในการแปลภาษาเก่าจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกันในแง่ของระดับความเก่าของภาษานอกเหนือจากการใช้จากทฤษฎีและแนวทางต่าง ๆ ที่ยกมาไว้ในสารนิพนธ์เล่มนี้


การแปลสุนทรพจน์ครั้งแรกเนื่องในโอกาสพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน, ธีร์ สุวรรณะชฎ Jan 2022

การแปลสุนทรพจน์ครั้งแรกเนื่องในโอกาสพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน, ธีร์ สุวรรณะชฎ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแปลตัวบทสุนทรพจน์แรกของประธานาธิบดีโจ ไบเดนจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้วิจัยจึงศึกษาแนวทางการถ่ายทอดวัจนลีลาของตัวบทต้นฉบับสู่ตัวบทฉบับแปลโดยที่ยังคงสื่อความหมายและเนื้อหาไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยต้องอาศัยแนวทางการวิเคราะห์ตัวบทของคริสติอาเน นอร์ด (Christiane Nord) ทฤษฎีการแปลแบบสื่อความหมาย (Communicative Translation) ของปีเตอร์ นิวมาร์ก (Peter Newmark) และแนวคิดการแปลวัจนลีลาของจีน โบแอส-เบเออร์ (Jean Boase-Beier) มาใช้เพื่อถ่ายทอดตัวบทสุนทรพจน์แรกที่คงรูปแบบวัจนลีลาและวาทศิลป์ไว้ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ ผลการวิจัยพบว่าทฤษฎีต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยเลือกมาใช้สามารถตอบโจทย์และมีหลักการแปลที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งบทแปล นั่นคือ บทสุนทรพจน์ที่เก็บลักษณะของวัจนลีลาไว้ได้อย่างครบถ้วน มีการใช้เครื่องมือทางวรรณศิลป์และวาทศิลป์ต่าง ๆ ที่ตรงตามความหมายที่ต้องการจะสื่อ ตลอดจนรักษารายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ไว้ได้


การศึกษาแนวทางการแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติ (Onomatopoeia) และการนำไปใช้ในการแปลนวนิยายเรื่อง The Council Of Animals ของ Nick Mcdonell, ปภาดา แก้วก่อง Jan 2022

การศึกษาแนวทางการแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติ (Onomatopoeia) และการนำไปใช้ในการแปลนวนิยายเรื่อง The Council Of Animals ของ Nick Mcdonell, ปภาดา แก้วก่อง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาแนวทางการแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติ (Onomatopoeia) และการนำไปใช้ในการแปลนวนิยายเรื่อง The Council of Animals ของ Nick McDonell สมมติฐานในการวิจัยคือ การแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติใช้กลวิธีการแปลด้วยคำเลียนเสียงธรรมชาติในภาษาปลายทางมากที่สุด ตามด้วยคำที่ไม่ใช่คำเลียนเสียงธรรมชาติ การถอดความ (paraphrase) และการละไม่แปล (omission) ตามลำดับ ผลจากการศึกษากลวิธีการแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยของคลังข้อมูลต้นฉบับและบทแปลนวนิยายเกี่ยวกับสัตว์ จำนวน 4 เรื่อง พบว่า กลวิธีการแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติ (onomatopoeia words) และ คำแสดงอาการส่งเสียงที่เกี่ยวข้อง (onomatopoeic verbs) มีทั้งหมด 4 วิธี เรียงตามสัดส่วนที่พบจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด ได้แก่ (ก) การแปลด้วยคำเลียนเสียงธรรมชาติ (ข) การแปลด้วยคำที่ไม่ใช่คำเลียนเสียงธรรมชาติ (ค) การแปลด้วยการถอดความ และ (ง) การละไม่แปล เมื่อนำมาปรับใช้กับการแปลตัวบทคัดสรรโดยยึดหลักเกณฑ์การวิเคราะห์คำเลียนเสียงธรรมชาติโดยใช้ทฤษฎีประเด็นสัมพันธ์ (Relevance-Theoretic Analysis) ของเรียวโกะ ซาซาโมโตะและรีเบคก้า แจ็คสัน (Ryoko Sasamoto and Rebecca Jackson) พบว่าคำเลียนเสียงธรรมชาติทุกคำใช้กลวิธีการแปลด้วยคำเลียนเสียงธรรมชาติทั้งหมดเนื่องจากที่มีองค์ประกอบด้านการแสดงมากกว่าการพูด และคำแสดงอาการส่งเสียงที่เกี่ยวข้องใช้กลวิธีการแปลด้วยคำเลียนเสียงธรรมชาติมากที่สุด ตามด้วยคำที่ไม่ใช่คำเลียนเสียงธรรมชาติ ตามลำดับ เนื่องจากคำส่วนใหญ่มีองค์ประกอบด้านการแสดงมากกว่าการพูด เพราะตัวบทคัดสรรให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบทางเสียง ทั้งนี้การแปลคำเลียนเสียงธรรมชาติทั้ง 2 ประเภทไม่พบกลวิธีการถอดความและการละไม่แปล แต่พบกลวิธีย่อยประเภทอื่น คือ กลวิธีทางเสียง ได้แก่ การผันวรรณยุกต์ การเพิ่มจำนวนพยัญชนะ และการใช้คำซ้ำ


เรื่องเล่าบาดแผลสงครามเวียดนามของนักเขียนเวียดนามพลัดถิ่น, จิรวุฒิ กิจการุณ Jan 2022

เรื่องเล่าบาดแผลสงครามเวียดนามของนักเขียนเวียดนามพลัดถิ่น, จิรวุฒิ กิจการุณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สงครามเวียดนามเป็นความทรงจำบาดแผลร่วมของคนเวียดนามพลัดถิ่น แม้แต่ละคนจะมีประสบการณ์แตกต่างกัน แต่บาดแผลของคนรุ่นเดียวกันก็ยังคงมีความคล้ายคลึงกันอยู่ คนรุ่นที่หนึ่งนำเสนอประเด็นชายขอบของสังคมเวียดนามที่พวกเขาพบเจอ ได้แก่ เรื่องการถูกปฏิเสธจากฝ่ายคอมมิวนิสต์และเรื่องการมีเชื้อสายผสม คนรุ่นที่หนึ่งจุดห้าส่วนใหญ่เชื่อมโยงบาดแผลของตนและบาดแผลของสมาชิกในครอบครัวเข้าด้วยกัน ลูกมักแสดงท่าทีสนใจต่อบาดแผลของพ่อแม่และต้องการช่วยรักษา ตัวตนของผู้เล่าในฐานะลูกจึงมักถูกบดบังด้วยตัวตนของพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ส่วนคนรุ่นที่สองและคนรุ่นที่หนึ่งจุดห้าบางส่วนนั้นจะจำลองบาดแผลสงครามเวียดนามขึ้นมาเนื่องจากพวกเขาไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้น แต่ถูกหลอกหลอนโดยประสบการณ์รองที่ได้เรียนรู้มา แม้คนเหล่านี้จะเดินทางไปอยู่ดินแดนอื่นแล้ว แต่บาดแผลเกี่ยวกับสงครามในบ้านเกิดยังคงหลอกหลอนพวกเขาอยู่ เรื่องเล่าบาดแผลสงครามเวียดนามของคนเวียดนามพลัดถิ่นจึงกลายเป็นเครื่องมือในการเยียวยาบาดแผลและการสร้างอัตลักษณ์ของคนเวียดนามพลัดถิ่น


อัตลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศรอบนอกกับการครอบงำของประเทศมหาอำนาจในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ร่วมสมัย, อริยะ จินะเป็งกาศ Jan 2022

อัตลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศรอบนอกกับการครอบงำของประเทศมหาอำนาจในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ร่วมสมัย, อริยะ จินะเป็งกาศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จุดประสงค์ของงานวิจัยคือเพื่อศึกษาอัตลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศรอบนอกที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือแสดงจุดยืนทางวัฒนธรรม หรือเพื่อต่อรองทางอำนาจกับประเทศใจกลางซึ่งเป็นมหาอำนาจ โดยใช้ทฤษฎีระบบโลกของเอ็มมานูเอล วอลเลอสไตน์มาอธิบายความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตัวบทบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาคือ The Windup Girl (2010) Lagoon (2014) และ Plum Rains (2018) จากการศึกษาวิจัยตัวบททั้งสามเล่ม ค้นพบว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติในประเทศรอบนอกมักถูกกำหนดโดยรัฐ แฝงไปด้วยอคติทางความเชื่อและศาสนา และยังถูกใช้เป็นนโยบายเพื่อกีดกันคนในชาติไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร ใน The Windup Girl รัฐบาลไทยใช้อัตลักษณ์ความเป็นชาติเพื่อเป็นเครื่องมือในการตัดขาดจากระบบทุนและความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจเพื่อรักษาสารัตถะของความเป็นชาติไว้ ส่วนโลกอนาคตอันใกล้ของ Lagoon ทำให้เห็นว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศไนจีเรียเกิดจากการผสมผสานของทรัพยากรธรรมชาติและประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ไนจีเรียใช้ต่อรองกับระบบทุนนิยมโลก และช่วยขยายอำนาจจากศูนย์กลางออกไปสู่ประชาชนในประเทศ และสุดท้าย Plum Rains แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติถูกกำหนดโดยปัจเจก และไม่ยึดโยงกับความเป็นชาติทั้งในเชิงพื้นที่ รัฐ หรือคนหมู่มากอีกต่อไป นอกจากนี้ บทบาทของตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ซึ่งมักปรากฏในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ยังได้เข้ามาช่วยรื้อฟื้นอัตลักษณ์ความเป็นชาติในโลกอนาคตที่มีการครอบงำโดยประเทศมหาอำนาจและแนวคิดเสรีนิยมสมัยใหม่ การอยู่ร่วมกันของตัวละครที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความเป็นสารัตถะของชาติและเชื้อชาติว่า สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อความอยู่รอดของมนุษย์หรือไม่ในวิกฤตยุคโลกาภิวัตน์และการขาดแคลนของทรัพยากร และยังแสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ความเป็นชาติในอนาคตอันใกล้ไม่ได้มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางเสมอไป


แนวคิดเรื่องพลเมืองและรัฐประชาชาติสมัยใหม่ในนวนิยายกำลังภายในแนวสืบสวนสอบสวนของกู่หลง, จิรายุทธ์ หรรษาพันธุ์ Jan 2022

แนวคิดเรื่องพลเมืองและรัฐประชาชาติสมัยใหม่ในนวนิยายกำลังภายในแนวสืบสวนสอบสวนของกู่หลง, จิรายุทธ์ หรรษาพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องพลเมืองและรัฐประชาชาติสมัยใหม่ในนวนิยายกำลังภายในชุดฉู่หลิวเซียงและชุดลู่เสี่ยวเฟิ่งของกู่หลงในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ถึงต้นทศวรรษที่ 1980 โดยศึกษาบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของบริบทต่าง ๆ กับแนวคิดเรื่องพลเมืองและรัฐประชาชาติที่ตัวละครเอกจอมยุทธ์เป็นตัวแทน จากการศึกษาพบว่าตัวละครเอกจอมยุทธ์นำเสนอแนวคิดที่สำคัญสำหรับการบ่มเพาะพลเมืองสมัยใหม่ในรัฐประชาชาติสมัยใหม่ อาทิ เหตุผลนิยม การปกครองด้วยกฎหมาย ความเป็นปัจเจกบุคคลและเสรีภาพผ่านปฏิสัมพันธ์กับตัวละครจอมยุทธ์อื่นที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่สมาทานกับแนวคิดเหล่านี้ อย่างไรก็ตามการนำเสนอแนวคิดเหล่านี้ผ่านการกระทำของตัวละครเอกจอมยุทธ์ไม่มั่นคง ไม่ต่อเนื่องและมีข้อยกเว้นอยู่เสมอ ความลักลั่นย้อนแย้งของตัวละครเอกจอมยุทธ์แสดงให้เห็นถึงการปะทะสังสรรค์ระหว่างแนวคิดสมัยใหม่จากตะวันตกกับแนวคิดดั้งเดิมของจีนในกระบวนการทำให้ทันสมัย นอกจากนี้การเดินทางไปยังดินแดนต่าง ๆ ของตัวละครเอกจอมยุทธ์ยังทำให้หลายพื้นที่กลายเป็นพื้นที่ของชาวจีนฮั่น รวมทั้งสร้างเขตแดนของอาณาจักรของชาวจีนฮั่นที่คล้ายคลึงกับเส้นเขตแดนของสาธารณรัฐจีน รัฐประชาชาติสมัยใหม่ที่พรางตัวอยู่ในตัวบทนี้เป็นจักรวรรดิที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีหลายชาติพันธุ์ โดยที่ชาวจีนฮั่นเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุด ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดชาตินิยมของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันภายใต้การนำของพรรคก๊กมินตั๋ง


การแปลคำทำนายบนไพ่ออราเคิลชุด Soul Truth Self-Awareness Card Deck ของ Brianne Hovey, เขมจิรา ฉายสุวรรณ Jan 2022

การแปลคำทำนายบนไพ่ออราเคิลชุด Soul Truth Self-Awareness Card Deck ของ Brianne Hovey, เขมจิรา ฉายสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และค้นหาแนวทางในการถ่ายทอดวัจนลีลาของตัวบทประเภทไพ่ทำนายดวงชะตาในไพ่ออราเคิลชุด Soul Truth Self-Awareness Card Deck ของ Brianne Hovey จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเพื่อสร้างบทแปลที่มีอรรถรสเทียบเคียงกับต้นฉบับ ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับตัวบทคำทำนายดวงชะตาประเภทไพ่ แนวทางการวิเคราะห์ตัวบทของ คริสติอาเน นอร์ด (Christiane Nord) แนวทางการวิเคราะห์วัจนลีลาของลีชและชอร์ท (Leech and Short) แนวทางการแปลวัจนลีลาของจีน โบแอส-เบเออร์ (Jean Boase-Beier) แนวทางการแปลแบบตีความของฌอง เดอลีล (Jean Delisle) และความรู้เรื่องการตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness) เพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ตัวบท วิเคราะห์ปัญหาในการถ่ายทอดวัจนลีลา และวางแผนแก้ปัญหาดังกล่าว ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ทฤษฎีและแนวทางต่าง ๆ ข้างต้นนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาการแปลตัวบทคำทำนายประเภทไพ่ที่มีวัจนลีลาโดดเด่นได้ ทั้งการใช้คำศัพท์หรือวลีเฉพาะด้าน การใช้โครงสร้างประโยคที่โดดเด่น การใช้อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ และการเล่นเสียงสัมผัสอักษร โดยสามารถถ่ายทอดวัจนลีลาอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไปสู่บทแปล อีกทั้งยังสามารถรักษาอรรถรสให้เทียบเคียงต้นฉบับได้


การประเมินค่าทัศนคติในสำนวนแปล คำให้การเพื่อขอลี้ภัยของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ โดยสำนักข่าวประชาไทและพรรคก้าวไกล, ณัฐพงษ์ บุญยะศรี Jan 2022

การประเมินค่าทัศนคติในสำนวนแปล คำให้การเพื่อขอลี้ภัยของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ โดยสำนักข่าวประชาไทและพรรคก้าวไกล, ณัฐพงษ์ บุญยะศรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการประเมินค่าทัศนคติในสำนวนแปล คำให้การเพื่อขอลี้ภัยของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ 2 สำนวน โดยสำนักข่าวประชาไทและพรรคก้าวไกลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ด้วยทฤษฎีการประเมินค่าโดย Martin และ White (2005) ประยุกต์ตามแนวทางการประเมินค่าการแปล โดย Jeremy Munday (2012) ระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาครั้งนี้เป็น 3 ระดับชั้น โดยชั้นที่ 1 การศึกษาเปรียบเทียบการประเมินค่าทัศนคติในตัวบทต้นฉบับและสำนวนแปล 2 สำนวน เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางรูปภาษาที่เกิดจากการแปลทัศนคติของสำนวนแปลในหมวดหมู่อารมณ์ การตัดสินและความนิยมจากหน่วยสร้างที่แสดงทัศนคติ และระดับทัศนคติในหมวดหมู่ความเข้มข้นและความจำเพาะจากหน่วยสร้างที่แสดงระดับทัศนคติ ชั้นที่ 2 การอภิปรายผลการวิเคราะห์กับบริบทการแปล และจากนั้นสรุปผลการวิจัยในชั้นที่ 3 โดยผลการศึกษาพบการเสริมความเข้มข้นของทัศนคติและเน้นความจำเพาะในสำนวนแปล และการใช้สำนวนภาษาในการสื่อทัศนคติที่มีความเข้มข้นและตรงไปตรงมามากกว่าต้นฉบับ และการละไม่แปล และการแปลแบบตีความเกินทำให้สำนวนแปลสื่อใจความไม่ตรงกันกับภาษาที่ปรากฏในต้นฉบับบางจุด ซึ่งอนุมานได้ว่าสำนวนแปลที่สะท้อนออกมาในภาษาปลายทางมีอิทธิพลมาจากจุดยืน อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้เขียนและผู้แปล รวมถึงหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการนำตัวบทไปใช้ด้วย


การแปลคำศัพท์ทางจิตวิเคราะห์ในหนังสือเรื่อง Freud And Beyond: A History Of Modern Psychoanalytic Thought ของ Stephen A. Mitchell และ Margaret J. Black, วิภาวี วิจิตรสาร Jan 2022

การแปลคำศัพท์ทางจิตวิเคราะห์ในหนังสือเรื่อง Freud And Beyond: A History Of Modern Psychoanalytic Thought ของ Stephen A. Mitchell และ Margaret J. Black, วิภาวี วิจิตรสาร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาแนวทางการแปลคำศัพท์เฉพาะทางจิตวิเคราะห์ในหนังสือเรื่อง Freud and Beyond: A History of Modern Psychoanalytic Thought ของ Stephen A. Mitchell และ Margaret J. Black จากคำศัพท์ที่คัดสรรจำนวน 30 คำ โดยมีสมมติฐานการวิจัยว่า แนวทางการวิเคราะห์ตัวบทของคริสติอาเน นอร์ด แนวทางการแปลแบบตีความและยึดความหมายของฌอง เดอลิล แนวทางการสร้างคำใหม่ในภาษาอังกฤษของจอร์จ ยูล แนวทางการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของมโนทัศน์ของ มาเรีย เทเรซา คาเบร แนวทางการแปลคำสร้างใหม่ของปีเตอร์ นิวมาร์ก แนวทางการบัญญัติศัพท์และการจัดทำพจนานุกรมศัพท์เฉพาะสาขาวิชาของสมศีล ฌานวังศะ และหลักการสร้างคำในภาษาไทยและหลักการบัญญัติศัพท์โดยใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตในปัจจุบันของวัลยา ช้างขวัญยืนและคณะ จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการแปล และสามารถช่วยวางแผนการแปลคำศัพท์เฉพาะทางจิตวิเคราะห์ในตัวบทประเภทหนังสือวิชาการเบื้องต้น (Basic academic text) ซึ่งผสมผสานระหว่างรูปแบบงานเขียนสารคดีและบันเทิงคดีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าแนวทางการวิเคราะห์ตัวบท แนวทางการแปลแบบตีความและยึดความหมาย แนวทางการสร้างคำใหม่ในภาษาอังกฤษ แนวทางการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของมโนทัศน์ แนวทางการแปลคำสร้างใหม่ แนวทางการบัญญัติศัพท์และการจัดทำพจนานุกรมศัพท์เฉพาะสาขาวิชา และหลักการสร้างคำในภาษาไทยและหลักการบัญญัติศัพท์โดยใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตในปัจจุบัน สามารถใช้สร้างคำแปลคำศัพท์ในภาษาปลายทางและแก้ปัญหาการแปลคำศัพท์ทางจิตวิเคราะห์ได้อย่างมีคุณภาพ