Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Arts and Humanities Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Comparative Literature

Chulalongkorn University

2018

Articles 1 - 11 of 11

Full-Text Articles in Arts and Humanities

การถ่ายทอดวัจนลีลาในนวนิยายเรื่อง Days Without End ของ เซบาสเตียน แบร์รี่, ณัฐกรณ์ อังสิริเสณี Jan 2018

การถ่ายทอดวัจนลีลาในนวนิยายเรื่อง Days Without End ของ เซบาสเตียน แบร์รี่, ณัฐกรณ์ อังสิริเสณี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของวัจนลีลา วิเคราะห์ปัญหา การแปล รวมถึงแก้ปัญหาโดยการหาแนวทางการแปล เพื่อถ่ายทอดวัจนลีลาในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง Days Without End ของเซบาสเตียน แบร์รี อันไม่เป็นไปตามขนบการประพันธ์นวนิยายบางส่วน ให้ได้บทแปลที่ทำหน้าที่ทั้งสื่อความหมาย และให้อรรถรสแก่ผู้อ่านได้ใกล้เคียงกับต้นฉบับ การถ่ายทอดวัจนลีลาเริ่มจากการศึกษาแนวคิดและระเบียบวิธีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวัจนลีลาประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ทฤษฎีวัจนลีลา ของ พอล ซิมป์สัน (Paul Simpson) ทฤษฎีวัจนลีลาเชิงวจนปฏิบัติศาสตร์ ของ เอลิซาเบธ แบล็ค (Elizabeth Black) และแนวทางการแปลวัจนลีลา ของ ฌ็อง โบส-ไบเออร์ (Jean Boase-Beier) รวมถึงลักษณะการประกอบสร้างทางภาษาเพื่อสร้างความ โดดเด่นให้กับวัจนลีลา และผลงานด้านการแปลวัจนลีลาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอันปรากฎในวรรณกรรมเรื่องอื่น หลังจากที่ผู้วิจัยได้รวบรวมแนวคิด ระเบียบวิธี และทฤษฎีข้างต้นแล้วนำมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์และการแปลเพื่อถ่ายทอดวัจนลีลา พบว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษาเหล่านั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาการถ่ายทอดวัจนลีลาจากภาษาของต้นฉบับให้เป็นภาษาปลายทางได้เป็นผลสาเร็จ อย่างไรก็ตาม ยังต้องอาศัยองค์ประกอบด้านความรู้ทางประวัติศาสตร์และบริบททางสังคมที่เป็นฉากหลังของ นวนิยายอย่างละเอียดลึกซึ้ง เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจเนื้อหาและสารของผู้ประพันธ์อันสะท้อนผ่านวัจนลีลาเหล่านั้นให้ได้ดียิ่งขึ้น


การแปลมุกตลกในการ์ตูนเรื่อง พีนัทส์ ของชาลส์ เอ็ม ชูลซ์, ชณิชชา พนาวัฒนวงศ์ Jan 2018

การแปลมุกตลกในการ์ตูนเรื่อง พีนัทส์ ของชาลส์ เอ็ม ชูลซ์, ชณิชชา พนาวัฒนวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์เล่มนี้เป็นการศึกษาการแปลมุกตลกในตัวบทที่คัดสรรจากการ์ตูนเรื่อง พีนัทส์ ของ ชาลส์ เอ็ม ชูลซ์ สมมติฐานในการวิจัยคือ การแปลมุกตลกในตัวบทที่คัดสรรอาจใช้แนวทางของเคลาส์ ไคน์เดิล (Klaus Kaindl) เพื่อวิเคราะห์ตัวบทตามลักษณะสำคัญและโครงสร้างของการ์ตูนช่อง แนวคิด Visual Narrative Grammar ของ นีล โคห์น (Neil Cohn) เพื่อวิเคราะห์ลำดับการเล่าเรื่อง รายงานการวิจัยการนำเสนอความตลกที่รวบรวมโดย นารีรัตน์ บุญช่วย และทฤษฎีอารมณ์ขัน 3 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีข่มท่าน (Disparage Theory) ของ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ทฤษฎีผิดฝาผิดตัว (Incongruity Theory) ของ อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) และทฤษฎีปลดปล่อย (Release Theory) ของ ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ (Sigmund Freud) เพื่อศึกษาลักษณะและกลวิธีการสร้างมุกตลกและวิเคราะห์มุกตลก รวมทั้งกลวิธีการแปล แบบตีความ (Interpretive Approach) และแนวทางการจัดการทางภาษา (Language Manipulation) ของฌอง เดอลิล (Jean Delisle) เพื่อแปลตัวบทให้เกิดสมมูลภาพเทียบเท่ากับตัวบทต้นฉบับทั้งในด้าน โครงสร้างและความหมาย ผลการศึกษาคือ แนวทางของเคลาส์ ไคน์เดิล และ Visual Narrative Grammar ของ นีล โคห์น สามารถใช้วิเคราะห์ตัวบทโดยรวมและลำดับการเล่าเรื่องของตัวบทที่คัดสรรได้ตามลำดับ และการ วิเคราะห์มุกตลกในตัวบทที่คัดสรรนั้นสามารถใช้การนำเสนอความตลกที่รวบรวมโดย นารีรัตน์ บุญช่วย และ ทฤษฎีอารมณ์ขัน 3 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีข่มท่าน ของ โทมัส ฮอบส์ ทฤษฎีผิดฝาผิดตัว ของ อิมมานูเอล คานต์ และทฤษฎีปลดปล่อย ของ ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ ได้ …


กลุ่มการเมืองในการ์ตูนการเมืองของชัย ราชวัตร, บัญชา คามิน, และเซีย ระหว่าง พ.ศ.2550-2558, กรวุฒิ นิยมศิลป์ Jan 2018

กลุ่มการเมืองในการ์ตูนการเมืองของชัย ราชวัตร, บัญชา คามิน, และเซีย ระหว่าง พ.ศ.2550-2558, กรวุฒิ นิยมศิลป์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเนื้อหาและกลวิธีการเสียดสีในการ์ตูนการเมืองของชัย ราชวัตร, บัญชา คามิน, และเซีย ระหว่าง พ.ศ. 2550-2558 และเพื่อศึกษาบริบททางการเมืองและสังคมที่เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองเสื้อเหลืองกับกลุ่มการเมืองเสื้อแดง ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นประเด็นให้นักเขียนแต่ละคนสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กลุ่มการเมืองที่ตนสนับสนุน และเสียดสีกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ในการ์ตูนการเมืองของชัย ราชวัตรมีการเสียดสีผ่านโครงสร้างการ์ตูนการเมืองและกลวิธีทางภาษา โครงสร้างการ์ตูนการเมืองมีลักษณะคล้ายกับมุกตลก ส่วนกลวิธีทางภาษา คือ การใช้ภาษาที่ผิดจากขนบหรือมาตรฐานทางภาษา กลวิธีการเสียดสีในการ์ตูนการเมืองของชัย ราชวัตรมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์เชิงลบของกลุ่มการเมืองเสื้อแดง ในฐานะผู้ทุจริตและก่อความวุ่นวายให้กับประเทศ ขณะเดียวกันมีการนำเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกให้กลุ่มการเมืองเสื้อเหลืองในฐานะผู้ใช้สันติวิธี ในการเรียกร้องความยุติธรรม ในการ์ตูนการเมืองของบัญชา คามินมีการเสียดสีผ่านภาพล้อตัวละครซึ่งเป็นกลวิธีที่บิดเบือนเรือนร่างและพฤติกรรมของตัวละครนักการเมืองให้มีความผิดเพี้ยน กลวิธีการเสียดสีในการ์ตูนการเมืองของบัญชา คามินมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์เชิงลบให้กับกลุ่มการเมืองเสื้อแดงในฐานะผู้ที่มีความโลภ และตกเป็นทาสประชานิยม ขณะเดียวกันมีการนำเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกให้กลุ่มการเมืองเสื้อเหลืองในฐานะผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ในการ์ตูนการเมืองของเซียมีการเสียดสีผ่านการใช้สัญลักษณ์ เซียมักจะใช้สัญลักษณ์สองลักษณะ คือ สัญลักษณ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เพื่อสื่อถึงพฤติกรรมการเมืองที่เป็นไปตามมาตรฐานของสังคม และสัญลักษณ์ที่เฉพาะของเซีย สื่อให้เห็นพฤติกรรมที่ก่อความวุ่นวายให้กับประเทศชาติ กลวิธีการเสียดสีในการ์ตูนการเมืองของเซียมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์เชิงลบให้กับกลุ่มการเมืองเสื้อเหลืองในฐานะผู้สนับสนุนให้ทหารมีอำนาจในการบริหารประเทศ ส่วนกลุ่มการเมืองเสื้อแดงมีภาพลักษณ์เชิงบวกในฐานะผู้ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองของรัฐบาลทหาร


การศึกษากลวิธีการแปลประโยคเคล็ฟต์ที่ใช้สรรพนาม "It" ประเภท Dummy Subject ในนวนิยายเรื่อง The Murder Of Roger Ackroyd ของอกาธา คริสตี้ : กรณีศึกษาสำนวนแปลของพิรุณรัตน์, สุนันทา ชัยณรงค์เดชากุล Jan 2018

การศึกษากลวิธีการแปลประโยคเคล็ฟต์ที่ใช้สรรพนาม "It" ประเภท Dummy Subject ในนวนิยายเรื่อง The Murder Of Roger Ackroyd ของอกาธา คริสตี้ : กรณีศึกษาสำนวนแปลของพิรุณรัตน์, สุนันทา ชัยณรงค์เดชากุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแปลประโยคเคล็ฟต์ที่ใช้สรรพนาม ‘it’ ประเภท Dummy subject ในตัวบทนวนิยาย จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และเพื่อประมวลกลวิธีการแปลจากกรณีศึกษาเรื่อง The Murder of Roger Ackroyd ของอกาธา คริสตี้ และหนังสือแปลเรื่อง คดีฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์ โดยพิรุณรัตน์ เนื่องจากภาษาไทยไม่มีโครงสร้างประโยคที่เทียบเท่ากันทางความหมายกับโครงสร้างประโยคเคล็ฟต์ จึงอาจเป็นปัญหาการแปลที่สำคัญได้ งานวิจัยนี้มุ่งเน้นที่ประโยคเคล็ฟต์ที่ใช้สรรพนาม ‘it’ ประเภท Dummy subject จานวน 63 ประโยค และกลวิธีการแปลสองระดับ ได้แก่ ระดับโครงสร้างประโยคและระดับคำ ผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณสรุปได้ว่า กลวิธีการแปลระดับโครงสร้างประโยคใช้การปรับโครงสร้างประโยคใหม่จำนวน 60 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 95.24 และใช้การรักษาโครงสร้างประโยคตามต้นฉบับจำนวน 3 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 4.76 ในการปรับโครงสร้างประโยคใหม่พบว่าผู้แปลใช้การหาประธาน หรือการปรับส่วนใด ส่วนหนึ่งของประโยคเป็นประธานมากที่สุด จำนวน 44 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 73.33 รองลงมาได้แก่การเปลี่ยนประโยคเป็นวลี ส่วนกลวิธีการแปลระดับคำใช้การเติมคำเน้นมากที่สุด จำนวน 17 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 26.98 รองลงมาได้แก่การเติมลักษณนาม ผลการวิเคราะห์เชิงคุณภาพสรุปได้ว่า การแปลประโยคเคล็ฟต์ในนวนิยายเรื่องนี้ นักแปลใช้กลวิธี การปรับบทแปลระดับโครงสร้างประโยคและระดับคำร่วมกัน โดยไม่รักษารูปแบบโครงสร้างประโยคเคล็ฟต์เสมอไป แต่ยังคงรักษาหน้าที่และเจตนาในการสื่อสารของโครงสร้างประโยคเคล็ฟต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวทาง การแปลที่นักแปลอาศัยการตีความและทำความเข้าใจความหมายโดยนัยที่สื่อผ่านการใช้ประโยคเคล็ฟต์เป็นหลักก่อน แล้วจึงถ่ายทอดความหมายนั้นเป็นภาษาปลายทางอย่างเป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับแนวทางการแปลแบบตีความที่เดอลีลส์ (1988) นำเสนอ ทฤษฎี Skopostheorie ที่ไร้ส์และแฟร์เมียร์ (1984) นำเสนอ และทฤษฎีวัจนกรรมที่เฮอนิกช์และคุสเมาล์ (1982) นำมาใช้ในการแปล


วรรณศิลป์ อำนาจ และการต่อสู้ทางการเมืองในวรรณกรรมของกะต่าย โดนสะโสริท, สุพัชรี เมนะทัต Jan 2018

วรรณศิลป์ อำนาจ และการต่อสู้ทางการเมืองในวรรณกรรมของกะต่าย โดนสะโสริท, สุพัชรี เมนะทัต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่อง"วรรณศิลป์ อำนาจและการต่อสู้ทางการเมืองในวรรณกรรมของกะต่าย โดนสะโสริท" มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์กลวิธีทางวรรณศิลป์ในวรรณกรรมของกะต่าย โดนสะโสริทที่สัมพันธ์กับการสร้างอำนาจและการต่อสู้ทางการเมือง และศึกษาบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมดังกล่าว กะต่าย โดนสะโสริท (1904-1959) เป็นนักต่อสู้กู้ชาติลาวในช่วงอาณานิคมฝรั่งเศส เป็นผู้บุกเบิกวงการวรรณกรรมสมัยใหม่ของลาวโดยใช้ภาษาฝรั่งเศสเขียนบันเทิงคดี สารคดีและงานเชิงวิชาการ ผลการวิจัยได้ข้อสรุปสามประการดังนี้ ประการแรก วรรณกรรมของกะต่ายมีวรรณศิลป์โดดเด่นเฉพาะตน ได้แก่การเสียดสียั่วล้อ การแฝงนัย การเล่นคำเล่นสำนวน เพื่อโจมตีเจ้าอาณานิคมและศัตรูทางการเมืองผ่านวรรณกรรมประเภทสารคดี อีกทั้งผสมผสานรูปแบบนิทานพื้นบ้านกับวรรณศิลป์ตะวันตกเพื่อประกอบสร้างความเป็นลาว นอกจากนี้ยังเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ตามรูปแบบตะวันตกเพื่อตอบโต้การเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ลาวของชาวตะวันตก ประการที่สอง กะต่ายใช้วรรณกรรมเพื่อแสดงอำนาจและการตอบโต้ทางการเมืองกล่าวคือในยุคต่อสู้กู้ชาติกะต่ายใช้วรรณกรรมเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เจ้าอาณานิคม อีกทั้งในเวลาเดียวกันก็เสนอแนวคิดโจมตีขั้วตรงข้ามทางการเมืองด้วย ประการที่สาม วรรณกรรมของกะต่าย โดนสะโสริท ปัญญาชนลาวผู้ได้รับการศึกษาในระบบฝรั่งเศส ใช้ภาษาและรูปแบบวรรณศิลป์รวมถึงแนวคิดแบบฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันก็ผสมผสานความเป็นตะวันตกเข้ากับความเป็นพื้นบ้านลาว วรรณกรรมของเขาจึงมีลักษณะพันทางและใช้วรรณศิลป์ในรูปแบบนี้เพื่อโจมตีเจ้าอาณานิคมด้วยเช่นกัน


การศึกษากลวิธีและแนวทางการแปลคำสร้างใหม่ในวรรณกรรมเยาวชนชุดแฮรร์รี่ พอตเตอร์ โดยเจ.เค. โรว์ลิ่ง (J.K.Rowling) กรณีศึกษาจากสำนวนแปลของสุมาลี บำรุงสุข วลีพร หวังซื่อกุล และงามพรรณ เวชชาชีวะ, นภกาญจน์ เชาวลิต Jan 2018

การศึกษากลวิธีและแนวทางการแปลคำสร้างใหม่ในวรรณกรรมเยาวชนชุดแฮรร์รี่ พอตเตอร์ โดยเจ.เค. โรว์ลิ่ง (J.K.Rowling) กรณีศึกษาจากสำนวนแปลของสุมาลี บำรุงสุข วลีพร หวังซื่อกุล และงามพรรณ เวชชาชีวะ, นภกาญจน์ เชาวลิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีและแนวทางการแปลคำสร้างใหม่จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยในวรรณกรรมเยาวชนชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ประพันธ์โดยเจ.เค. โรว์ลิ่ง และศึกษาเปรียบเทียบคำแปลคำสร้างใหม่ที่พบในฉบับแปลของสุมาลี บำรุงสุข วลีพร หวังซื่อกุล และงามพรรณ เวชชาชีวะ รวมถึงศึกษาลักษณะและแนวทางการสร้างสรรค์คำสร้างใหม่ในวรรณกรรมชุดนี้ ผู้วิจัยใช้แนวคิดเรื่องการสร้างและการแปลคำสร้างใหม่ของปีเตอร์ นิวมาร์กเป็นเกณฑ์ในการคัดสรรรวบรวมคำสร้างใหม่ จัดแบ่งประเภทคำสร้างใหม่ในต้นฉบับ และเป็นแนวทางในการวิเคราะห์คำแปล คำสร้างใหม่ในฉบับแปล ควบคู่ไปกับแนวทางการสร้างคำในภาษาไทย แนวคิดสมมูลภาพในการแปล แนวคิดบริบทในการแปล และแนวคิดเรื่องลักษณะของวรรณกรรมเยาวชนแนวแฟนตาซี ผลการวิจัยพบว่าคำสร้างใหม่ในต้นฉบับมี 5 ประเภทคือ คำเดิมที่สื่อความหมายใหม่ คำที่ร้อยเรียงขึ้นมาใหม่ คำที่แปรมาจากรากคำอื่นรวมทั้งการสนธิคำ คำปรากฏร่วมใหม่ และคำสร้างใหม่จากอักษรย่อ และพบกลวิธีการแปลคำสร้างใหม่ในฉบับแปล 6 กลวิธีคือ การทับศัพท์ การแปลตรงตัว การแปลตรงตัวประกอบทับศัพท์ การแปลตรงตัวประกอบตีความ การแปลตรงตัวและใช้อักษรย่อตามคำแปล และการตีความและ สรุปเก็บใจความ ในการเปรียบเทียบกลวิธีการแปลของนักแปลพบว่านักแปลใช้ทุกกลวิธีในการแปล คำสร้างใหม่ไปในทิศทางเดียวกันโดยพิจารณาจากลักษณะเด่นในองค์ประกอบของคำควบคู่ไปกับการพิจารณาบริบท และในการแปลคำสร้างใหม่แต่ละประเภท นักแปลใช้กลวิธีในการแปลที่หลากหลายโดยจะมีอย่างน้อยหนึ่งกลวิธีที่นักแปลใช้เหมือนกัน นอกจากนั้นเป็นการใช้กลวิธีที่เหมือนกันระหว่างสุมาลีกับวลีพร และ สุมาลีกับงามพรรณ เนื่องมาจากพบคำสร้างใหม่ในฉบับแปลของสุมาลีมากที่สุด


การศึกษาแนวทางการแปลข้อความที่มีลักษณะการให้คำนิยามในวรรณกรรมเรื่อง "A Series Of Unfortunate Events" ของ Lemony Snicket แปลโดย อาริตา พงศ์ธรานนท์, ณัฐชนน หนูแดง Jan 2018

การศึกษาแนวทางการแปลข้อความที่มีลักษณะการให้คำนิยามในวรรณกรรมเรื่อง "A Series Of Unfortunate Events" ของ Lemony Snicket แปลโดย อาริตา พงศ์ธรานนท์, ณัฐชนน หนูแดง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาแนวทางการแปลข้อความที่มีลักษณะการให้คำนิยามในนวนิยายชุด A Series of Unfortunate Events เขียนโดย Lemony Snicket แปลโดย อาริตา พงศ์ธรานนท์ โดยศึกษาจากข้อความที่มีลักษณะการให้คำนิยามที่มี 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) การอธิบายความหมายแบบตรงตัว 2) การอธิบายความหมายตามสถานการณ์ 3) การอธิบายความหมายด้วยการใช้ความหมายมากกว่าหนึ่งความหมาย และ 4) การอธิบายด้วยการหลากคำหรือการใช้คำที่ง่ายกว่าหรือซับซ้อนน้อยกว่า ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่ใช้ประกอบการศึกษา ได้แก่ ทฤษฎีวาทกรรมวิเคราะห์ของ Christiane Nord ทฤษฎี Scene-and-frame Semantics ของ Charles J. Fillmore และแนวทางการแปลแบบตีความ (Interpretative Approach) ของ Jean Delisle โดยผู้วิจัยใช้ทฤษฎีดังกล่าวในการวิเคราะห์แนวทางการแปลข้อความที่มีลักษณะการให้คำนิยามว่าผู้แปลใช้วิธีการใดในการเลือกแปลข้อความลักษณะดังกล่าว หลังจากที่ได้นำทฤษฎีดังกล่าวข้างต้นมาวิเคราะห์แนวทางการแปลพบว่า ผู้แปลจำเป็นต้องวิเคราะห์ภาพ (Scene) ของต้นฉบับเพื่อให้เห็นภาพและความหมายที่ชัดเจนตามที่ผู้ประพันธ์ต้องการสื่อสาร ก่อนถ่ายทอดฉบับแปลโดยใช้รูปแบบ (Frame) ที่ทำให้เห็นภาพเช่นเดียวกันกับต้นฉบับ ซึ่งในการแปลข้อความที่มีลักษณะการให้คำนิยามทั้ง 4 รูปแบบ บางครั้งผู้แปลไม่สามารถแปลตรงตัวได้ จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบทางภาษาให้แตกต่างจากต้นฉบับโดยยึดความหมายเป็นหลักเพื่อให้ผู้อ่านฉบับแปลเห็นภาพเช่นเดียวกับผู้อ่านต้นฉบับ กรณีที่ผู้แปลไม่สามารถแปลแบบตรงตัวได้ ผู้แปลจึงใช้วิธีอื่นในการแก้ปัญหาการแปล เช่น การแปลโดยการอธิบายขยายความ หรือการเลือกที่จะตัดเนื้อความบางส่วนเพื่อให้ข้อความที่มีลักษณะการให้คำนิยามเป็นเหตุเป็นผลในภาษาไทย


การแปลป้ายพิพิธภัณฑ์ กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร, ณัฐสุดา แก่นน้อย Jan 2018

การแปลป้ายพิพิธภัณฑ์ กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร, ณัฐสุดา แก่นน้อย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการแปลตัวบทในพิพิธภัณฑ์ และแปลตัวบทต้นฉบับบางส่วนในพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร โดยผู้วิจัยเลือกแปลป้ายพิพิธภัณฑ์บรรยายวัตถุที่นำมาจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร รวมทั้งหมด ๑๙๗ ป้าย คือป้ายพิพิธภัณฑ์บริเวณชั้น ๑ ของนิทรรศการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวสวนของชุมชนวัดหนังในอดีต และป้ายพิพิธภัณฑ์บริเวณชั้น ๒ ของนิทรรศการซึ่งจัดแสดงเรื่องยาแผนโบราณของวัดหนัง ผลการศึกษา พบว่าการแปลป้ายแสดงคำบรรยายวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ นอกจากจะต้องพิจารณาเลือกใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้อ่านในวัฒนธรรมปลายทางแล้ว ยังต้องพิจารณาวัตถุที่นำมา จัดแสดงประกอบด้วย เนื่องจากวัตถุที่นำมาจัดแสดงบางชิ้นแม้จะมีชื่อเรียกเหมือนกับคำในวัฒนธรรมปลายทาง แต่ลักษณะเฉพาะของวัตถุชิ้นนั้นไม่เหมือนกับวัตถุในวัฒนธรรมปลายทาง และวัตถุที่นำมา จัดแสดงบางชิ้นไม่พบในวัฒนธรรมปลายทาง โดยผู้วิจัยพบว่าการใช้แนวทางในการวิเคราะห์ตัวบทต้นฉบับ ของคริสติอาเน นอร์ด ทฤษฎีของปีเตอร์ นิวมาร์ก ทฤษฎีหลากรูปแบบ ทฤษฎีเกี่ยวกับการแปลพิพิธภัณฑ์ (Museum Translation) และความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการแปลพิพิธภัณฑ์ สามารถนำมาใช้ในการศึกษาตัวบทและวิเคราะห์ปัญหาที่พบในการแปลป้ายของพิพิธภัณฑ์เพื่อวัดหนังฯ นำไปสู่แนวทางการแปลป้ายพิพิธภัณฑ์ซึ่งผู้วิจัยจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนคำศัพท์ และโครงสร้างประโยคในภาษาปลายทางที่ใช้ในการแปลใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุที่นำมาจัดแสดง และจะสามารถทำให้ผู้อ่านได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องมากที่สุด


ปัญหาเยาวชนและปัญหาสังคมในวรรณกรรมเยาวชนไทยร่วมสมัย, รังสินี หลักเพชร Jan 2018

ปัญหาเยาวชนและปัญหาสังคมในวรรณกรรมเยาวชนไทยร่วมสมัย, รังสินี หลักเพชร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการนำเสนอปัญหาเยาวชนและปัญหาสังคมในวรรณกรรมเยาวชนไทยร่วมสมัยระหว่าง พ.ศ. 2550 - 2559 ได้แก่ บ้านต่างสายเลือด (2552), ปลายฝน (2553), หัวใจของช้าง (2557) ของอรเกษม รอดสุทธิ, โรงเรียนริมทะเล (2553) ของสาคร พูลสุข, ตามหาโจตัน (2554) ของคามิน คมนีย์, เอ้อระเหยลอยคอ (2555) ของจันทรา รัศมีทอง, เซนในสวน (2557) ของจักษณ์ จันทร, ร่มไม้หนึ่งซึ่งเราตัวเล็ก (2557) ของปันนารีย์ และ เสียงเดือนในเสียงหวูดรถไฟ (2557) ของกร ศิริวัฒโน โดยวิเคราะห์ผ่านองค์ประกอบวรรณกรรม อาทิ ตัวละคร ฉาก แก่นเรื่อง โครงเรื่อง และศึกษาบริบททางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับการสะท้อนประเด็นปัญหา จากการศึกษาพบว่าผู้ประพันธ์ตัวบทคัดสรรนำเสนอภาพเยาวชนผู้เป็นตัวละครเอกที่ประสบปัญหาจากครอบครัวและสังคมโดยปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาในลักษณะที่รุนแรงหรือคุกคามชีวิตของตัวละคร อาทิ ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ปัญหาความอ้างว้าง ปัญหาความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาบริโภคนิยม ปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมในบริบทสังคมไทยร่วมสมัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของครอบครัว ภาพความไม่สมบูรณ์ของครอบครัว อาทิ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวต่างสายเลือด และครอบครัวอุปถัมภ์ ส่งผลให้เยาวชนผู้เป็นตัวละครเอกได้รับผลกระทบจากปัญหาผ่านความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเอกกับตัวละครอื่นๆ รอบตัว ได้แก่ พ่อแม่ เพื่อน และครู แสดงให้เห็นอิทธิพลของสังคมที่มีต่อเยาวชนผู้เป็นตัวละครเอก ทั้งนี้ผู้ประพันธ์นำเสนอแนวทางออกของปัญหาโดยนำเสนอให้เยาวชนผู้เป็นตัวละครเอกเรียนรู้และปรับตัว อาทิ การยอมรับและเผชิญหน้ากับความเป็นจริง การให้ความสำคัญกับการศึกษา การประนีประนอม และการปลูกฝังแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้กับผู้อ่าน


ความย้อนแย้งแห่งเสรีภาพในนวนิยายเรื่อง ความฝันในหอแดง และนวนิยายของมั่วเหยียน, นัยน์พัศ อธิษฐ์พัส Jan 2018

ความย้อนแย้งแห่งเสรีภาพในนวนิยายเรื่อง ความฝันในหอแดง และนวนิยายของมั่วเหยียน, นัยน์พัศ อธิษฐ์พัส

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์แนวคิดเสรีภาพที่ปรากฏในนวนิยายเรื่อง ความฝันในหอแดง และนวนิยายของมั่วเหยียนทั้งหมด 7 เรื่อง ได้แก่ ตำนานรักทุ่งสีเพลิง ลำนำกระเทียม อกโตสะโพกใหญ่ ป่าชายเลน ทัณฑ์ไม้จันทน์ ความเหนื่อยล้าแห่งชีวิตและความตาย และกบ และเพื่อศึกษาบริบททางสังคมและวัฒนธรรมจีนที่สัมพันธ์กับแนวคิดเสรีภาพในวรรณกรรมดังกล่าว ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ความย้อนแย้งของเสรีภาพเกิดขึ้นจากเสรีภาพที่มีความหลากหลายและเลื่อนไหลแตกต่างกันในแต่ละยุค กล่าวคือ นวนิยายเรื่อง ความฝันในหอแดง นำเสนอเสรีภาพของสังคมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาทิ เสรีภาพการประกอบอาชีพ เสรีภาพทางการศึกษา เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพการแต่งงาน เป็นต้น และอุดมการณ์ "เบญจสัมพันธ์" ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับข้า พ่อกับลูก สามีกับภรรยา พี่กับน้อง และเพื่อนกับเพื่อน พันธนาการความสัมพันธ์นอกจากสร้างภาวะความย้อนแย้งของเสรีภาพแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเรียกร้องเสรีภาพ ส่วนนวนิยายของมั่วเหยียนนำเสนอเสรีภาพในบริบทสังคมนิยมที่ตั้งอยู่บนรากฐานความเท่าเทียมตามกฎหมาย อาทิ เสรีภาพการประกอบอาชีพ เสรีภาพการแต่งงาน เสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิความเท่าเทียม เป็นต้น แต่อิทธิพลของอุดมการณ์ "เบญจสัมพันธ์" และระบบทุนนิยมที่ยังคงฝั่งแน่นอยู่ในสังคม เป็นปัจจัยให้วิถีชีวิตของชาวจีนยังคงดำเนินไปตามครรลองแบบเก่า การไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปตามกรอบเสรีภาพและแสดงการต่อสู้และต่อรอง จึงนำมาซึ่งภาวะความย้อนแย้งของเสรีภาพ


วิกฤตอัตลักษณ์ความเป็นชายในวรรณกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่สองของคะวะบะตะ ยะซุนะริ, มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์ Jan 2018

วิกฤตอัตลักษณ์ความเป็นชายในวรรณกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่สองของคะวะบะตะ ยะซุนะริ, มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์วิกฤตอัตลักษณ์ความเป็นชายในวรรณกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่สองของคะวะบะตะ ยะซุนะริ โดยศึกษานวนิยายจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ นวนิยายเรื่อง เสียงแห่งขุนเขา 『山の音』(1954)นวนิยายเรื่อง นิทราเทวี『眠れる美女』(1961)นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง แขนข้างเดียว『片腕』(1964)และนวนิยายเรื่อง ดอกแดนดิไลออน『たんぽぽ』(1968)และศึกษาบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมดังกล่าว ผลการวิจัยสรุปได้ว่าวรรณกรรมของคะวะบะตะที่เขียนขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมในช่วงเวลาดังกล่าว การนำเสนอวิกฤตอัตลักษณ์ความเป็นชายในนวนิยายได้แสดงให้เห็นถึงภาพของสังคมญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1950 และทศวรรษ 1960 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการพ่ายแพ้สงครามและถูกยึดครองโดยสหรัฐอเมริกา นักเขียนได้ตระหนักถึงสภาวะในขณะนั้นและนำเสนอผ่านตัวละครเอกในนวนิยายที่เป็นตัวเอกปฏิลักษณ์ (antihero) ไร้สมรรถภาพทางเพศ มีความโดดเดี่ยวแปลกแยกจากสังคม ตัวละครได้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะไร้ซึ่งอำนาจของเพศชาย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิกฤตอัตลักษณ์ความเป็นชายอย่างชัดเจน กล่าวคือ นักเขียนนำเสนอภาพของตัวละครชายที่ล้มเหลวในฐานะผู้นำครอบครัว ปฏิเสธหลีกหนีการเป็นพ่อและสามีที่ดีตามบทบาททางเพศภายใต้ระบบครอบครัวซึ่งผู้ชายถูกกำหนดให้เป็นเพศที่เข้มแข็งและผูกพันกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะพ่อและสามี นักเขียนนำเสนอภาพของตัวละครชายที่ประสบกับภาวะโดดเดี่ยวแปลกแยกในสังคมเมืองอันสืบเนื่องจากปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยเฉพาะความสัมพันธ์ชายหญิงที่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ตัวละครเหล่านี้จึงเลือกวิธีการต่อรองเพื่อยืนยันความเป็นชายของตนด้วยการแสดงออกถึงความปรารถนาทางเพศในรูปที่บิดเบี้ยวหรือมีรูปแบบพฤติกรรมทางเพศที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตดังกล่าว ความปรารถนาทางเพศในรูปที่บิดเบี้ยวดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านความสัมพันธ์ในลักษณะต้องห้ามที่ถูกกดทับไว้ในระดับจิตไร้สำนึก ซึ่งเผยให้เห็นถึงความวิตกกังวลในบทบาททางเพศหรือความไม่เป็นชายของตัวละคร การนำเสนอวิกฤตอัตลักษณ์ความเป็นชายในวรรณกรรมได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพของผู้ชายที่มีความสับสนภายในจิตใจระหว่างความเป็นปัจเจกบุคคลกับโครงสร้างทางสังคมญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว