Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Engineering Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

PDF

2019

Discipline
Institution
Keyword
Publication
Publication Type

Articles 9271 - 9300 of 11263

Full-Text Articles in Engineering

การศึกษาลักษณะสมบัติทางไฟฟ้าสถิตและจลนศาสตร์ไฟฟ้าของอนุภาคในน้ำมันฉนวน, พนิตตา โรจน์ธนวณิชย์ Jan 2019

การศึกษาลักษณะสมบัติทางไฟฟ้าสถิตและจลนศาสตร์ไฟฟ้าของอนุภาคในน้ำมันฉนวน, พนิตตา โรจน์ธนวณิชย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษากลศาสตร์ทางไฟฟ้าของอนุภาคในน้ำมันฉนวนภายใต้สนามไฟฟ้าเป็นหนทางหนึ่งในการศึกษาลักษณะเชิงปริมาณของประจุบนอนุภาคในน้ำมันฉนวน. วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาพฤติกรรมการรับและคายประจุของอนุภาคตัวนำและอนุภาคฉนวน ในน้ำมันฉนวนภายใต้สนามไฟฟ้า. วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาคือ การสังเกตพฤติกรรมทางจลนศาสตร์ทางไฟฟ้าของอนุภาคในน้ำมันฉนวน เพื่อดูความสัมพันธ์ของประจุกับการเคลื่อนที่. การศึกษาทำโดยการวัดประจุบนอนุภาคทั้งในสภาวะสถิตและในระหว่างการเคลื่อนที่. ระบบวัดประจุที่ใช้ประกอบด้วยถ้วยฟาราเดย์แบบอนุภาคเคลื่อนที่ผ่านและวงจรวัดประจุ. ความเร็วของอนุภาคสามารถคำนวณได้จากความสัมพันธ์ระหว่างสมการแรงคูลอมบ์ แรงโน้มถ่วง และแรงต้านความหนืดของตัวกลาง. การทดลองวัดความเร็วในการเคลื่อนที่ของอนุภาค เมื่อใช้อิเล็กโทรดแบบระนาบขนานและแบบทรงกลมกับระนาบ แสดงให้เห็นว่าความเร็วในการเคลื่อนที่ของอนุภาคเพิ่มขึ้นตามขนาดแรงดันที่เพิ่มขึ้น. การวัดประจุบนอนุภาคทำได้โดยใช้ถ้วยฟาราเดย์แบบอนุภาคเคลื่อนที่ผ่านกับวงจรวัดประจุและถ้วยฟาราเดย์กับอิเล็กโตรมิเตอร์ ใช้เวลาในการอัดประจุนาน 15 s ถึง 240 s. การทดลองพบว่าค่าประจุที่วัดได้จากอุปกรณ์ถ้วยฟาราเดย์แบบอนุภาคเคลื่อนที่ผ่านกับวงจรวัดประจุสอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่กับผลการวัดด้วยถ้วยฟาราเดย์กับอิเล็กโตรมิเตอร์ แต่ค่าที่ได้มีขนาดต่ำกว่า. ขนาดของอิเล็กโทรดมีผลต่อการวัดประจุด้วยวงจรวัดประจุ. อิเล็กโทรดที่มีขนาดกว้างให้ค่าผลการวัดสูงกว่าอิเล็กโทรดที่มีขนาดเล็ก. สำหรับการสูญเสียประจุของอนุภาคในน้ำมันฉนวน อิเล็กโทรดที่ใช้ในการวัดประจุมีสองตำแหน่งคือ A และ B ซึ่ง A ห่างจาก B เป็นระยะ 2 cm โดยที่อนุภาคเคลื่อนที่ถึงตำแหน่ง B มีค่ามากกว่าตำแหน่ง A. เมื่ออนุภาคเคลื่อนที่จะมีการสูญเสียประจุเกิดขึ้น ส่งผลให้ประจุที่วัดได้จากตำแหน่ง B มีค่าน้อยกว่าตำแหน่ง A.


การทำนายกำลังผลิตของโซลาร์เซลล์โดยใช้โมเดลประมาณค่าและตัวกรองคาลมาน, พีรพล จิรนันทเจริญ Jan 2019

การทำนายกำลังผลิตของโซลาร์เซลล์โดยใช้โมเดลประมาณค่าและตัวกรองคาลมาน, พีรพล จิรนันทเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอแนวทางในการทำนายกำลังผลิตของโซลาร์เซลล์โดยใช้แบบจำลอง Auto Regressive Integrated Moving Average (ARIMA) และ Kalman filter algorithm แนวทางในการทำนายนี้ทำนายกำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานี Photovoltaic (PV) ใดๆที่ต้องการทราบโดยในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะทำนายกำลังผลิตทุกๆ 5 นาที จุดมุ่งหมายของการใช้ Kalman filter algorithm เพื่อติดตามกำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานีที่ต้องการทราบค่ากำลังผลิตในกรณีที่ข้อมูลกำลังผลิตขาดหายไปในบางช่วงเวลา Kalman filter มีข้อดีที่ไม่ต้องใช้ข้อมูลในอดีตจำนวนมากในการทำนายและติดตามข้อมูลที่ต้องการ แต่เนื่องจาก Kalman filter algorihm ต้องการข้อมูลการวัดค่าแบบเวลาจริงเพื่อปรับแก้ในสมการดังนั้นเราจึงได้เสนอแบบจำลองการคำนวณค่าประมาณกำลังผลิต Estimator model เพื่อคำนวณค่ากำลังผลิตแบบเวลาจริงเพื่อนำไปใช้ใน Kalman filter algorithm ซึ่ง Estimator model จะคำนวณค่าประมาณกำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานีที่เราต้องการทำนายจากข้อมูลค่ากำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานีข้างเคียง จากนั้นจึงส่งผลลัพธ์นั้นไปใช้ในการทำนายกำลังผลิตจาก Kalman filter algorithm พบว่าผลลัพธ์ที่ได้มีความใกล้เคียงกับค่าจริงโดยสามารถดูได้จากค่าดัชนีชี้วัดความแม่นยำ นอกจากนั้นเรายังเปรียบเเทียบผลลัพธ์ของการทำนายกับ Persistence Model และ Artificial Neural Network ซึ่งผลลัพธ์ปรากฏว่า ARIMA-Kalman ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า Persistence Model และมีความแม่นยำใกล้เคียงกับ Artificial Neural Network ที่ใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน แต่ ARIMA-Kalman มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องใช้ข้อมูลกำลังผลิตของสถานีที่ต้องการทำนายกำลังผลิตเป็นจำนวนมากในการทำนาย


การปรับปรุงระบบป้องกันและคุณภาพไฟฟ้าสำหรับระบบไมโครกริดบ้านขุนแปะในจังหวัดเชียงใหม่, วันนพ คณานุสรณ์ Jan 2019

การปรับปรุงระบบป้องกันและคุณภาพไฟฟ้าสำหรับระบบไมโครกริดบ้านขุนแปะในจังหวัดเชียงใหม่, วันนพ คณานุสรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอแนวทางการปรับปรุงระบบไมโครกริดบ้านขุนแปะจังหวัดเชียงใหม่ โดยเน้นการศึกษา 2 ประเด็นหลัก คือ 1) การปรับปรุงระบบป้องกันภายในระบบไมโครกริด และ 2) การปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าด้านแรงดันและความถี่ของระบบไมโครกริด ในประเด็นการปรับปรุงระบบป้องกันจะพิจารณาการทำงานของไมโครกริดทั้งในแบบเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลัก และแบบแยกโดด โดยนำเสนอการใช้รีโคลสเซอร์เป็นอุปกรณ์ป้องกัน พร้อมทำการจัดแบ่งเขตป้องกันและกำหนดตำแหน่งติดตั้ง นอกจากนี้ยังนำเสนอกระบวนการหาค่าปรับตั้งค่าสำหรับอุปกรณ์ป้องกันกันที่มีการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ป้องกันในเขตป้องกันต่างๆ ทั้งนี้ค่าปรับตั้งดังกล่าวจะอาศัยการวิเคราะห์กระแสลัดวงจรของระบบไมโครกริดจากโปรแกรม DIgSILENT Powerfactory ซึ่งทำให้ได้ค่าปรับตั้งกลุ่มพารามิเตอร์ของรีโคลสเซอร์ที่เหมาะสมสำหรับการทำงานของไมโครกริดในแต่ละโหมดได้ ในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าจะพิจารณาเฉพาะการทำงานแบบแยกโดด ที่คำนึงถึงความผันผวนของโหลด ความผันผวนของกำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัวชนิดพลังงานแสงอาทิตย์ และชนิดพลังน้ำ วิทยานิพนธ์นี้ได้ประยุกต์ใช้เทคนิคการควบคุมอินเวอร์เตอร์ของระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มีพฤติกรรมเสมือนกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซิงโครนัสที่มีส่วนควบคุมดรูปกำลัง-ความถี่ และส่วนควมคุมแรงดันแบบอัตโนมัติรวมอยู่ด้วย เพื่อช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนดังกล่าวข้างต้นต่อคุณภาพไฟฟ้าทางด้านแรงดันและความถี่ของไมโครกริด จากผลการจำลองการทำงานแสดงให้เห็นว่าระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่นอกจากจะสามารถช่วยประสานการผลิตกำลังไฟฟ้าระหว่างแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัวได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของแหล่งผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัวและโหลดอีกด้วย ซึ่งทำให้การทำงานของไมโครกริดแบบแยกโดดมีคุณภาพไฟฟ้าในด้านความถี่และแรงดันสอดคล้องกับมาตรฐานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้


แบบจำลองเพื่อการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์สำหรับเมืองอัจฉริยะรักษ์สิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ริรินดา ถิระศุภะ Jan 2019

แบบจำลองเพื่อการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์สำหรับเมืองอัจฉริยะรักษ์สิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ริรินดา ถิระศุภะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

“EGAT Eco Plus” เป็นโครงการเมืองอัจฉริยะโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานระบบสื่อสารสำหรับเมืองอัจฉริยะ กฟผ. สนญ. จะต้องรองรับการออกแบบเป็นโมดูลเพื่อให้การออกแบบมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการใช้งานที่เปลี่ยนไป วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงนำเสนอแบบจำลองเพื่อการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์สำหรับเมืองอัจฉริยะรักษ์สิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และแนวคิดของตัวควบคุมระบบคลาวด์เมืองอัจฉริยะ โดยผู้วิจัยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์แบบกำหนดการเชิงเส้น (linear programming: LP) เพื่อหาคำตอบการจัดสรรทรัพยากรของศูนย์ข้อมูลให้กับคำร้องขอเพื่อให้บริการแบบสีเขียวสูงสุด โดยการใช้พลังงานสีเขียวในศูนย์ข้อมูลจากแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่สูงสุดเพื่อสร้างการคำนวณรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองอัจฉริยะ และผู้วิจัยได้ทำการเปรียบเทียบกับวิธีการจัดสรรภารกิจที่มีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน คือวิธีวนรอบ (round robin) อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของเมืองอัจฉริยะ กฟผ. จึงเป็นที่มาให้ผู้วิจัยศึกษาองค์ความรู้และเกณฑ์การประเมินเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลแบบยั่งยืนรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ สัมประสิทธิ์พลังงานสีเขียว ค่าเฉลี่ยการใช้พลังงานสีเขียวของภารกิจแต่ละประเภท ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดศูนย์ข้อมูลแบบยั่งยืนของ กฟผ. สนญ. ได้ โดยสรุปแบบจำลองสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานจริงได้เพื่อรองรับโปรแกรมประยุกต์ของเมืองอัจฉริยะ กฟผ. สนญ. โดยการปรับลักษณะโปรแกรมประยุกต์แต่ละชนิดที่จะมีใช้งานในเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ ชนิดของภารกิจ ขนาดแกนคำนวณที่ต้องการใช้งาน ขนาดของเครือข่ายที่ต้องการ ขนาดของหน่วยเก็บ ขนาดของข้อมูล และค่าการประวิงเวลาในระบบสื่อสารสูงสุด รวมทั้งคุณลักษณะของศูนย์ข้อมูล ได้แก่ ความจุของแกนคำนวณ ขนาดเครือข่ายที่สามารถให้บริการได้ ขนาดหน่วยเก็บ ซึ่งพารามิเตอร์เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญและเกี่ยวข้องในการให้บริการระบบคลาวด์แก่หน่วยงานหรือลูกค้าที่อยู่ตามอาคารต่าง ๆ ใน กฟผ. สนญ. อีกทั้งสามารถใช้กับการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ที่มีการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหลายแหล่งที่แตกต่างกัน เช่น แหล่งผลิตพลังงานจากกริด หรือแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ และหน่วยกักเก็บพลังงานสำรอง เป็นต้น


การพยากรณ์กำลังผลิตไฟฟ้ารายภาคจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้โครงข่ายประสาทเชิงลึกร่วมกับการปรับจูนไฮเปอร์พารามิเตอร์, สุกฤษฎ์ ใจดี Jan 2019

การพยากรณ์กำลังผลิตไฟฟ้ารายภาคจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้โครงข่ายประสาทเชิงลึกร่วมกับการปรับจูนไฮเปอร์พารามิเตอร์, สุกฤษฎ์ ใจดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เทคโนโลยีพลังงานปัจจุบันนำไปสู่การขยายตัวของโครงข่ายสมาร์ทกริดซึ่งเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายแง่มุม เช่น การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ ความก้าวหน้าระบบสำรองพลังงาน และความสมดุลระหว่างการผลิตและใช้พลังงาน เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้เกิดข้อดีหลายแง่มุม เช่น การผลิต การสำรอง และการใช้พลังงานภายในเน็ตเวิร์กเอง ดังนั้นโครงข่ายสมาร์ทกริดจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบจำหน่ายหลัก แต่อย่างไรก็ตามเน็ตเวิร์กส่วนใหญ่พึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีความผันผวนตามสภาพอากาศ ดังนั้นการมีระบบพยากรณ์จะช่วยรักษาเสถียรภาพของเน็ตเวิร์ก วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอวิธีการพยากรณ์กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบวกกลับร่วมกับการปรับปรุงความแม่นยำในการพยากรณ์ด้วยเทคนิคต่างๆ ได้แก่ การปรับจูนไฮเปอร์พารามิเตอร์ การคัดเลือกตัวแปร การหาค่าเฉลี่ยเชิงพื้นที่ การหาค่าเฉลี่ยนเคลื่อนที่แบบเอกซ์โพเนนเชียลของความเข้มแสงอาทิตย์ และการเอนเซมเบิลค่าพยากรณ์พลังงานไฟฟ้าจากแต่ละแบบจำลอง ข้อมูลอินพุตสำหรับวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ประกอบไปด้วย ข้อมูลจากแบบจำลองพยากรณ์อากาศและข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัด วิธีที่นำเสนอศึกษาแยกเป็น 2 กรณี ได้แก่ การพยากรณ์กำลังผลิตรวมของ 7 โรงไฟฟ้า การพยากรณ์พลังงานแสงอาทิตย์บนตึกภาควิชา ผลลัพธ์ที่ได้พบว่าแบบจำลองเอนเซมเบิลให้ค่าความผิดผลาดอยู่ที่ 6.94% RMSE ซึ่งลดลง 1.71% เมื่อเทียบกับแบบจำลองอินพุตที่ดีที่สุด เมื่อเราเปรียบชนิดของโหนดจาก GRU เป็น CuDNNGRU ค่า RMSE เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1% แต่เวลาในการฝึกสอนลดลงมากกว่าเท่าตัว


การพยากรณ์ค่าอุณหภูมิของน้ำมันด้านบนในหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังสำหรับการประเมินสมรรถนะโดยใช้แบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่อง, สุวพันธุ์ อริเดช Jan 2019

การพยากรณ์ค่าอุณหภูมิของน้ำมันด้านบนในหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังสำหรับการประเมินสมรรถนะโดยใช้แบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่อง, สุวพันธุ์ อริเดช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อายุการใช้งานที่สูญเสียไปจากการใช้งานหม้อแปลงมีสาเหตุหลักมาจากค่าอุณหภูมิที่เกิดขึ้นภายในหม้อแปลง ได้แก่ค่าอุณหภูมิขดลวดและอุณหภูมิน้ำมัน หม้อแปลงที่ทำงานในสภาวะการจ่ายโหลดและอุณหภูมิแวดล้อมค่าหนึ่งจะเกิดความร้อนภายในที่แตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพในปัจจุบันและการเสื่อมสภาพในอดีตของหม้อแปลง วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องที่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมการเกิดความร้อนภายในหม้อแปลงโดยใช้ข้อมูลในอดีตเพื่อพยากรณ์ค่าอุณหภูมิน้ำมันด้านบนและอุณหภูมิขดลวดของหม้อแปลงที่จะเกิดขึ้นก่อนการใช้งานจริง ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาหาอายุการใช้งานที่คาดว่าจะสูญเสียไปของหม้อแปลงแต่ละตัวเพื่อใช้ในการวางแผนการส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าและการเลือกบำรุงรักษาอุปกรณ์ นอกจากนี้การใช้ขอบเขตการพยากรณ์ช่วยตรวจสอบข้อมูลพฤติกรรมทางความร้อนของหม้อแปลงเพื่อใช้ตรวจหาสัญญานที่อาจบ่งชี้ความผิดปกติหรือการเสื่อมสภาพของหม้อแปลงได้ โดยจากผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าข้อมูลจากแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องสามารถพยากรณ์อายุการใช้งานที่สูญเสียของหม้อแปลงได้ใกล้เคียงกับการใช้ข้อมูลที่ตรวจวัดได้จริง นอกจากนี้วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอการสร้างขอบเขตการพยากรณ์เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยในการติดตามความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางความร้อนของหม้อแปลงซึ่งมีประโยชน์ในการบริหารจัดการหม้อแปลง


การเตือนการพลิกคว่ำแบบทริปเเละแบบอันทริปด้วยโครงข่ายประสาทเเบบเวลาจริง, ไกรฤกษ์ ตรีทิพสุนทร Jan 2019

การเตือนการพลิกคว่ำแบบทริปเเละแบบอันทริปด้วยโครงข่ายประสาทเเบบเวลาจริง, ไกรฤกษ์ ตรีทิพสุนทร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ระบบป้องกันการพลิกคว่ำสำคัญมากสำหรับความปลอดภัยของผู้ขับขี่ การพัฒนาระบบป้องกันการพลิกคว่ำต้องการการประเมินความเสี่ยงในการพลิกคว่ำ ความยากของการประเมินความเสี่ยงคือ การที่ไม่รู้ความสูงจุดศูนย์ถ่วงของรถ หรือน้ำหนักของรถในขณะนั้น เป็นต้น งานวิจัยนี้จะพัฒนาการคาดเดาการพลิกคว่ำโดยที่ไม่รู้ตัวแปรข้างต้น โดยโครงข่ายประสาทใช้ค่าจากเซนเซอร์ที่ติดตั้งบนรถ การทดลองจะใช้โมเดลของรถยนต์ SUV เนื่องจากมีจุดศูนย์ถ่วงที่สูงกว่ารถยนต์ประเภทอื่น การทดสอบใช้รถทดสอบอัตราส่วน 1:5 โดยใช้ทฤษฎีบักกิงแฮมพาย และรถทดสอบได้ติดตั้งเซนเซอร์วัดความเร่ง 5 จุด และไจโรสโกป 1 จุด การเตือนการพลิกคว่ำ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ปลอดภัย, มีความเสี่ยง และมีความเสี่ยงสูง โดยระบบสามารถเตือนการพลิกคว่ำได้ทั้งแบบทริป และอันทริป ทริป คือการเข้าโค้งและสะดุดหลุม หรือสิ่งกีดขวาง อันทริปคือการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง การเตือนการพลิกคว่ำใกล้เคียงกับค่าดัชนีการพลิกคว่ำที่วัดได้จริง การทดลองด้วยข้อมูลจากโปรแกรมจำลอง “CarSim” งานวิจัยนี้ใช้โครงข่ายประสาทแบบวนกลับ โดยใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์ที่ติดตั้งบนตัวรถ ผู้วิจัยทดสอบ และเปรียบเทียบ ชนิดของโครงข่ายประสาท โครงสร้างของโครงข่ายประสาท และข้อมูลรับเข้าที่แตกต่างกัน โดยโครงข่ายประสาทที่เหมาะสมกับการคาดเดาแบบทริปคือแทนเจนต์มีรากที่สองของค่าเฉลี่ยความผิดพลาดกำลังสอง (RMSE) อยู่ที่ 3.66x10-4 และ GRU เหมาะสำหรับการคาดเดาแบบอันทริป โดยมีรากที่สองของค่าเฉลี่ยความผิดพลาดกำลังสองอยู่ที่ 0.131x10-2


ระบบการจัดการมูลค่าข้อมูลจากเกมสู่เกมด้วยบล็อกเชน, ชานน ยาคล้าย Jan 2019

ระบบการจัดการมูลค่าข้อมูลจากเกมสู่เกมด้วยบล็อกเชน, ชานน ยาคล้าย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แม้ว่าในปัจจุบันบล็อกเชนจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม แต่ในอุตสาหกรรมเกมนั้น บล็อกเชนไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากนัก นอกจากนี้ แม้ว่าในอุสาหกรรมเกมจะมีผู้เล่นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีเกมหรือแพลตฟอร์มใดที่ให้สิทธิผู้เล่นในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์หรือข้อมูลภายในเกมอย่างแท้จริง โดยแม้จะมีความพยายามในการระดมทุนเพื่อทำเกมหรือแพลตฟอร์มที่ให้ผู้เล่นได้มีโอกาสเป็นเจ้าของสินทรัพย์หรือข้อมูลภายในเกมอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการทดลองที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และผู้เล่นยังต้องพึ่งพาระบบนิเวศน์ของแพลตฟอร์มนั้น ๆ อีกด้วย ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้วิจัยจึงประสงค์ที่จะนำเสนอสถาปัตยกรรมกลางที่ทำให้ผู้เล่นเกมสามารถเป็นเจ้าของเวลาที่ตนเองใช้ภายในเกมได้โดยใช้บล็อกเชนสาธารณะ ทั้งผู้เล่นยังสามารถนำเวลาดังกล่าวไปใช้ในเกมอื่นได้ด้วย โดยใช้มาตราฐานโทเคนดิจิทัล ERC-20 บนอีเธอเรี่ยม นอกจากนี้ รูปแบบสถาปัตยกรรมที่นำเสนอดังกล่าวยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกบล็อกเชนสาธารณะ และยังเป็นประโยชน์ต่อทุกองค์ประกอบของระบบนิเวศน์ อาทิเช่น ผู้เล่น บล็อกเชนโหนด และผู้พัฒนาเกม โดยผลการทดลองในงานวิทยานิพนธ์นี้ ยังแสดงว่าแนวความคิดดังกล่าวทำให้ผู้เล่นใช้เวลาในการเล่นเกมนานขึ้น และมีแนวโน้มที่จะอยากเล่นเกมใหม่ๆ ที่สามารถนำมูลค่าในเกมเดิมไปใช้ได้ แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผล อาทิเช่น ประเภทของเกม การแลกเปลี่ยนค่าของเวลาภายในเกม เป็นต้น


การประยุกต์ใช้การเรียนรู้เชิงลึกเพื่อเพิ่มความจำเพาะในการตรวจคัดกรองภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจากสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, จันทัปปภา จันทร์ครบ Jan 2019

การประยุกต์ใช้การเรียนรู้เชิงลึกเพื่อเพิ่มความจำเพาะในการตรวจคัดกรองภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจากสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, จันทัปปภา จันทร์ครบ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation: AF) เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นภัยเงียบและพบได้บ่อย โดยเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดหลอดเลือดสมองตีบตัน (Ischemic stroke) ดังนั้นการตรวจคัดกรองสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจึงมีความสำคัญ ปัจจุบันมีการพัฒนาอุปกรณ์พกพาที่สามารถตรวจจับภาวะนี้ของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง โดยอัลกอริทึมที่ใช้จะให้ค่าความไวสูงในการตรวจจับ ซึ่งจะทำให้ค่าความจำเพาะนั้นต่ำ ดังนั้นในงานวิจัยนี้ได้ทำการนำการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มค่าความจำเพาะในการตรวจจับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยมีตัวรบกวนที่สำคัญได้แก่ ภาวะหัวใจปกติ ภาวะหัวใจห้องบนเต้นก่อนจังหวะ และภาวะหัวใจห้องล่างเต้นก่อนจังหวะ โดยงานวิจัยนี้ได้นำเอาโครงข่ายคอนโวลูชันมาใช้แยกแยะภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วทั้งข้อมูลภาพและข้อมูลอนุกรมเวลา ซึ่งค่าความไวและค่าความจำเพาะของโมเดลที่ฝึกจากข้อมูลภาพสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจอยู่ที่ร้อยละ 84.67 และ 96.33 ตามลำดับ จากนั้นนำโมเดลที่ได้ไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจคัดกรองภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่ใช้อัลกอริทึมที่มีความซับซ้อนน้อย พบว่าได้ค่าความไวและค่าความจำเพาะอยู่ที่ร้อยละ 96.97 และ 100 ตามลำดับ และโมเดลที่ทำการแยะแยะกลุ่มสัญญาณภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วกับกลุ่มสัญญาณที่ไม่ใช่ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่ได้จากข้อมูลอนุกรมเวลาให้ค่าความไวและค่าความจำเพาะของอยู่ที่ร้อยละ 98.33 และ 99.33 ตามลำดับ จากนั้นนำข้อมูลของกลุ่มสัญญาณที่ไม่ใช่ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมาทำการแยกประเภทได้ค่าความถูกต้องสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 92.33 ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าค่าความจำเพาะสามารถถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นได้เมื่อนำการเรียนรู้เชิงลึกมาประยุกต์เพื่อสร้างโมเดลสำหรับการคัดแยกภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจากภาวะอื่น ๆ


การพัฒนาขั้นตอนวิธีที่มีความซับซ้อนต่ำเพื่อตรวจจับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจากสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจระยะสั้น, สุเชษฐ์ มหัทธนทวี Jan 2019

การพัฒนาขั้นตอนวิธีที่มีความซับซ้อนต่ำเพื่อตรวจจับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจากสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจระยะสั้น, สุเชษฐ์ มหัทธนทวี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในงานวิทยานิพนธ์นี้ได้ทำการพัฒนาขั้นตอนวิธีที่มีความซับซ้อนต่ำเพื่อตรวจจับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจากสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจระยะสั้น โดยใช้พารามิเตอร์ค่าความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ (pNN50) และอัตราการเต้นของหัวใจในหน่วยครั้งต่อนาที โดยผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจะมีค่าความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่าคนปกติ จากนั้นได้นำค่าพารามิเตอร์ทั้งสองมาวัดการกระจายตัวเชิงเส้นและกำหนดค่าจุดตัดสินใจ โดยได้ใช้ฐานข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจจาก PhysioNet challenge 2017 เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาขั้นตอนวิธีโดยคัดเลือกข้อมูลผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วและสภาวะปกติที่มีความยาวอย่างน้อย 30 วินาทีได้ตัวอย่างคลื่นไฟฟ้าหัวใจในภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจำนวน 625 ตัวอย่างและคลื่นไฟฟ้าหัวใจในสภาวะปกติจำนวน 4,529 ตัวอย่าง โดยได้นำขั้นตอนวิธีที่พัฒนาขึ้นนี้ไปสังเคราะห์และประมวลผลโดยไมโครคอนโทรลเลอร์ขนาด 8 บิต เพื่อหาประสิทธิภาพของการคัดกรองสภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วแบบตามเวลาจริง ขั้นตอนวิธีที่ได้พัฒนาขึ้นมีค่าความไวที่ 97.12% และความจำเพาะที่ 76.54% แสดงให้เห็นว่าขั้นตอนวิธีที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้อย่างดี


การแปลงกระแสงานยอร์ลที่มีเงื่อนไขเวลาไปเป็นสโตแคสติกเพทริเน็ตส์ทั่วไป, สุพัตรา บุญญะวัตร Jan 2019

การแปลงกระแสงานยอร์ลที่มีเงื่อนไขเวลาไปเป็นสโตแคสติกเพทริเน็ตส์ทั่วไป, สุพัตรา บุญญะวัตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันโลกทางธุรกิจมีการแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการทางธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนและการบริหารจัดการเวลา ทรัพยากร รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ในปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยในการจำลองกระบวนการทางธุรกิจ เช่น แผนภาพบีพีเอ็มเอ็น บีเพล และกระแสงานยอว์ล เป็นต้น แต่เครื่องมือดังกล่าวยังไม่สามารถระบุเวลาเฉลี่ยของแต่ละงานในการพัฒนาระบบได้ งานวิทยานิพนธ์นี้ได้เสนอการแปลงกระแสงานยอว์ลไปเป็นสโตแคสติกเพทริเน็ตแบบทั่วไป ซึ่งในงานวิทยานิพนธ์นี้เลือกใช้กระแสงานยอว์ลมาใช้ในการสร้างแบบจำลองกระบวนการทางธุรกิจเพราะกระแสงานยอว์ลมีเครื่องมือ YAWL Editor ที่มีฟีเจอร์ในการตรวจสอบคุณสมบัติของแบบจำลองที่สร้างขึ้น เช่น ตรวจสอบสภาวะติดตายของระบบ เป็นต้น ถึงแม้ว่ากระแสงานยอว์ลจะมีฟีเจอร์ที่ดีดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่กระแสงานยอว์ลไม่สามารถวิเคราะห์ข้อจำกัดด้านเวลาได้ ดังนั้นในงานวิทยานิพนธ์นี้จึงได้เสนอการแปลงกระแสงานยอว์ลที่มีเงื่อนไขของเวลาไปเป็นสโตแคสติกเพทริเน็ตส์ทั่วไป โดยผู้วิจัยจะเพิ่มค่าเฉลี่ยของเวลาเข้าไปในสัญลักษณ์ของกระแสงานยอว์ลมาตรฐานหลังจากที่แปลงเป็นสโตแคสติกเพทริเน็ตส์ทั่วไปแล้ว โดยใช้การวิเคราะห์ความน่าจะเป็นของเวลาในรูปแบบความน่าจะเป็นที่มีการแจกแจงแบบเอ็กโพเนนเชียลในการสาธิตการใช้งานโมเดล


การประเมินค่าความถูกต้องของสมาร์ตโฟนสำหรับการประยุกต์ใช้งาน Gnss ความแม่นยำสูง, เชาวลิต เนตรทองหลาง Jan 2019

การประเมินค่าความถูกต้องของสมาร์ตโฟนสำหรับการประยุกต์ใช้งาน Gnss ความแม่นยำสูง, เชาวลิต เนตรทองหลาง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 บริษัท Google ได้ออกมาประโคมข่าวการรังวัดข้อมูลดิบจากสัญญาณ GNSS (Global Navigation Satellite Systems) ด้วยสมาร์ตโฟน (smartphone) ในระบบ Android เวอร์ชัน 7.0 เป็นครั้งแรกที่ผู้พัฒนาระบบ Android สามารถเข้าถึงข้อมูลการรังวัด (Android GNSS raw measurement) ที่ใช้ในการคำนวณหาตำแหน่งได้ทั้ง 2 ชนิด คือ เฟสของคลื่นส่ง (Carrier phase) และซูโดเรนจ์ (Pseudorange) ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการหาตำแหน่งความแม่นยำด้วยสมาร์ตโฟน แต่ข้อจำกัดคือ ผู้ผลิตต่างไม่เปิดเผยข้อมูลตำแหน่งที่แท้จริงของศูนย์กลางการรับคลื่นส่งและตำแหน่งของเสาอากาศเครื่องรับคลื่นส่งสัญญาณ GNSS ที่ติดตั้งอยู่ภายในสมาร์ตโฟน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาศูนย์กลางการรับสัญญาณ GNSS ในสมาร์ตโฟนยี่ห้อ เสียวหมี่ (Xiaomi) รุ่น Mi8 และประสิทธิภาพในการระบุตำแหน่งของเสาอากาศ โดยการเปรียบเทียบค่าพิกัดที่ได้จากสมาร์ตโฟน Mi8 กับค่าพิกัดที่ได้จากเครื่องรับสัญญาณ GNSS ยี่ห้อ Trimble รุ่น R10 ณ จุดทดสอบเดียวกัน บนดาดฟ้าของอาคาร ด้วยวิธีการหาตำแหน่งแบบสัมพัทธ์ โดยใช้สถานีอ้างอิงรับสัญญาณ GNSS แบบต่อเนื่อง (GNSS Continuously Operating Reference Stations; CORS) ของกรมที่ดินที่อยู่ใกล้ที่สุดเป็นสถานีฐาน (base station) ระยะเส้นฐานประมาณ 5.3 กิโลเมตร ประมวลผลด้วยซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ CHC Geomatics Office: CGO V1.0.6 ผลจากการศึกษาพบว่า ศูนย์กลางการรับคลื่นส่งในสมาร์ตโฟน Mi8 โดยประมาณจะอยู่ถัดจากกึ่งกลางขอบด้านบนสุดมาทางซ้ายประมาณ 2.8 เซนติเมตร และลึกจากขอบด้านบนสุดลงมา 0.9 เซนติเมตร และมีค่า RMSE (Root Mean Square Error) ทางราบและทางดิ่งสูงสุด 2.9 และ 6.3 เซนติเมตร ตามลำดับ


เครื่องมือวิเคราะห์ผลกระทบต่อซอร์สโค้ดไฮเบอร์เนตและกรณีทดสอบสำหรับการเปลี่ยนแปลงสคีมาฐานข้อมูล, อมรรัตน์ ใจมูล Jan 2019

เครื่องมือวิเคราะห์ผลกระทบต่อซอร์สโค้ดไฮเบอร์เนตและกรณีทดสอบสำหรับการเปลี่ยนแปลงสคีมาฐานข้อมูล, อมรรัตน์ ใจมูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การออกแบบฐานข้อมูลเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพราะมีการจัดการความสอดคล้องของข้อมูลและทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลไม่ได้อยู่ในสภาพที่ไม่ถูกต้อง โดยในแต่ละรอบของการพัฒนาซอฟต์แวร์จะมีเปอร์เซ็นต์ของความซับซ้อนและขนาดของฐานข้อมูลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสคีมาฐานข้อมูลจะส่งผลกระทบต่อซอร์สโค้ดที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงกรณีทดสอบที่มักจะนำไปสู่ความล้มเหลวของกระบวนการซอฟต์แวร์ได้ นักวิจัยบางคนวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การจัดการตัวกำหนดค่า การตรวจสอบความสัมพันธ์ในรูปแบบย้อนกลับ และการแบ่งส่วนของโปรแกรม เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบเพื่อระบุปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาเหล่านั้นไม่ได้เน้นถึงผลกระทบที่มีต่อซอร์สโค้ดและกรณีทดสอบ ดังนั้นงานวิจัยนี้นำเสนอเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบต่อซอร์สโค้ดไฮเบอร์เนตและกรณีทดสอบสำหรับการเปลี่ยนแปลงสคีมาฐานข้อมูล นอกจากนี้เครื่องมือยังสามารถแสดงให้ผู้ใช้ได้ทราบถึงตำแหน่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นในซอร์สโค้ดและกรณีทดสอบรวมไปถึงตำแหน่งของซอร์สโค้ดและกรณีทดสอบที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขบนซอร์สโค้ดและการณีทดสอบที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย สุดท้ายนี้เครื่องมือที่สร้างขึ้นจะถูกนำไปทดสอบกับกรณีศึกษา 3 กรณี ซึ่งพบว่าซอร์สโค้ดและกรณีทดสอบที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสคีมาฐานข้อมูลสามารถนำกลับไปใช้งานต่อได้อย่างสมบูรณ์เนื่องจากได้รับการปรับปรุงแก้ไขจากเครื่องมือที่สร้างขึ้น


การใช้สัญญาณ Gnss ในการหาปริมาณไอน้ำในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ เพื่อเป็นข้อมูลทางเลือกในการระบุวันเข้าสู่ฤดูมรสุมสำหรับประเทศไทย, โชคชัย ตระกลกุล Jan 2019

การใช้สัญญาณ Gnss ในการหาปริมาณไอน้ำในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ เพื่อเป็นข้อมูลทางเลือกในการระบุวันเข้าสู่ฤดูมรสุมสำหรับประเทศไทย, โชคชัย ตระกลกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์รูปแบบการผันแปรของไอน้ำในชั้นบรรยากาศ (PWV) ในระยะยาว เพื่อใช้เป็นข้อมูลทางเลือกในการระบุช่วงการเข้าสู่ฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูล GPS-PWV ที่ได้จากสถานีรังวัดสัญญาณดาวเทียมแบบต่อเนื่องของกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 11 สถานี ตั้งแต่ปี 2007-2016 โดยใช้เทคนิคการประมวลผลแบบจุดเดี่ยวความละเอียดสูงด้วยโปรแกรม PANDA ผลการวิจัยพบว่า ความสัมพันธ์ของค่าเฉลี่ย PWV แปรผกผันกับระดับความสูงของพื้นที่ แนวโน้มของค่า PWV ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นไปในเชิงบวกแสดงให้เห็นว่า ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่นี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว ในทางกลับกันแนวโน้มของค่า PWV ในภาคกลาง, ภาคตะวันออก, ภาคตะวันตกและภาคใต้ เป็นไปในเชิงลบแสดงให้เห็นถึงปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว ค่าเฉลี่ยของแอมพลิจูดประจำปีของ PWV มีขนาดตั้งแต่ 7 ถึง 16 มิลลิเมตร การเปลี่ยนแปลงเฟสของ PWV ประจำปีอยู่ที่ประมาณ -0.428 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมในฤดูฝนและเป็นช่วงที่มีค่า PWV สูงสุดประจำปี สำหรับเกณฑ์ใหม่ในการพิจารณาวันเริ่มต้นฤดูมรสุมใช้ค่า PWV เฉลี่ยในวันที่ฝนตกในเดือนพฤษภาคม ปี 2007-2016 ของสถานีจันทบุรีเป็นตัวกำหนด ซึ่งพบว่าเกณฑ์ใหม่ในการพิจารณาวันเริ่มต้นฤดูมรสุมเป็นวันที่ค่า GPS-PWV เฉลี่ยในเดือนพฤษภาคมสูงกว่า 58.5 มิลลิเมตร เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน หลังจากการทดสอบพบว่า เกณฑ์ใหม่ให้ผลลัพธ์ที่ดีหลังจากมีการกำหนดวันเข้าสู่ฤดูมรสุมแล้วจะมีปริมาณน้ำฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง และเมื่อใช้เกณฑ์การวิเคราะห์ในรูปแบบเดียวกันนี้กับภูมิภาคอื่นที่อยู่ละติจูดที่สูงขึ้น พบว่า การเข้าสู่ฤดูมรสุมจะมาช้ากว่าประมาณ 3-5 วัน ตามบริบทของพื้นที่ซึ่งถือได้ว่ามีความละเอียดสอดคล้องกับสภาพจริงของพื้นที่มากกว่าเกณฑ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งใช้เกณฑ์เดียวกันทั่วประเทศ


การประมาณค่าปริมาณการใช้น้ำของข้าว กข. นาหว่านน้ำตม โดยใช้ดัชนีผลต่างพืชพรรณแบบนอร์มอลไลซ์จากภาพถ่ายดาวเทียมเซนทิเนล-2 หลายช่วงเวลา ในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา, ณัฐพล เย็นสกุลสุข Jan 2019

การประมาณค่าปริมาณการใช้น้ำของข้าว กข. นาหว่านน้ำตม โดยใช้ดัชนีผลต่างพืชพรรณแบบนอร์มอลไลซ์จากภาพถ่ายดาวเทียมเซนทิเนล-2 หลายช่วงเวลา ในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา, ณัฐพล เย็นสกุลสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปริมาณการใช้น้ำของพืชเป็นองค์ประกอบข้อมูลหนึ่งที่สำคัญในการวางแผนการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานเพื่อให้มีความเหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุนและมีประสิทธิภาพ ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการประมาณค่าปริมาณการใช้น้ำของพืช (ET) ในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีผลต่างพืชพรรณแบบนอร์มอลไลซ์ (NDVI) ที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 กับค่าสัมประสิทธิ์พืช (Kc) ที่อ้างอิงจากกรมชลประทาน โดยการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้น เมื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างปริมาณการใช้น้ำของพืชที่คำนวณโดยใช้ Kc ที่ได้จาก NDVI กับค่าปริมาณการใช้น้ำของพืชที่คำนวณโดยใช้ Kc ที่อ้างอิงจากกรมชลประทาน พบว่าข้าวในช่วงระยะเริ่มต้นเพาะปลูกสัปดาห์ที่ 3-7 ให้ค่าที่ใกล้เคียงกัน ในขณะข้าวที่อยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 8-10 ปริมาณการใช้น้ำของพืชที่คำนวณโดยใช้ Kc ที่ได้จาก NDVI ให้ค่าที่สูงกว่าค่าปริมาณการใช้น้ำของพืชที่คำนวณโดยใช้ Kc ที่อ้างอิงจากกรมชลประทาน และข้าวที่เพาะปลูกในช่วงสัปดาห์ที่ 11-16 ให้ค่าที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการใช้น้ำตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ค่าปริมาณการใช้น้ำของพืชที่คำนวณโดยใช้ Kc ที่ได้จาก NDVI มีค่า 72.72 มม./วัน ในขณะที่ค่าปริมาณการใช้น้ำของพืชที่คำนวณโดยใช้ Kc ที่อ้างอิงจากกรมชลประทาน มีค่า 71.96 มม./วัน โดยมีเปอร์เซ็นต์ความแตกต่าง 1.05 ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าค่าปริมาณการใช้น้ำของพืชที่ได้จากเทคโนโลยีการสำรวจจากระยะไกลให้ค่าความถูกต้องที่สูง จากข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบปริมาณการใช้น้ำของพืชเชิงพื้นที่ตามช่วงการเจริญเติบโตของพืชระยะต่างๆ ได้และสามารถนำไปศึกษาเพิ่มเติมในพืชชนิดอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาเพื่อคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำของพืชล่วงหน้าในอนาคตต่อไป


การประเมินระยะเวลาและค่าความถูกต้องที่ได้จากสถานีอ้างอิงเสมือน สำหรับการรังวัดด้วยโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ในเวลาจริง สำหรับประเทศไทย, นำพล ศักดิ์สนิท Jan 2019

การประเมินระยะเวลาและค่าความถูกต้องที่ได้จากสถานีอ้างอิงเสมือน สำหรับการรังวัดด้วยโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ในเวลาจริง สำหรับประเทศไทย, นำพล ศักดิ์สนิท

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โครงข่ายการระบุพิกัดที่แม่นยำด้วยจีเอ็นเอสเอสแบบจลน์ในเวลาจริงเริ่มที่จะใช้งานได้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยแล้วหลายโครงข่ายโดยจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ กรมที่ดินดำเนินการโครงข่ายที่ประกอบด้วยสถานีฐานรับสัญญาณจีเอ็นเอสเอสอย่างต่อเนื่องที่กระจายอยู่ทั่วประเทศรวมไปถึงศูนย์ข้อมูลกลาง ระเบียบวิธีการหนึ่งสำหรับประมวลผลใช้การหาค่าพิกัดแบบสัมพัทธ์ด้วยสัญญาณจีเอ็นเอสเอสคลื่นพาห์ที่มีหลายความถี่และสร้างสถานีอ้างอิงเสมือนในเวลาจริงเพื่อการรังวัดค่าพิกัดที่แม่นยำ กรมที่ดินทำหน้าที่สำรวจรังวัดที่ดินในประเทศไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้ค่าความถูกต้องของค่าพิกัดที่ดีกว่า 4 เซนติเมตร สำหรับผลการรังวัด การวิจัยนี้เป็นการประเมินผลเพื่อวิเคราะห์ระยะเวลาการรังวัดที่เหมาะสมของการรังวัดด้วยโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ในเวลาจริง และการหาค่าความถูกต้องของรากที่สองของค่าคลาดเคลื่อนกำลังสองในทางราบของเครื่องรับสัญญานจีเอ็นเอสเอส ยี่ห้อ CHC รุ่น i80 จากจุดทดสอบจำนวน 2,122 จุด ที่ได้จากเครื่องรับสัญญาณจีเอ็นเอสเอสแบบเดียวกันคือ ยี่ห้อ CHC รุ่น i80 การประเมินความสามารถของโครงข่ายสถานีฐานอ้างอิงนี้ ยังพิจารณาจากการหาค่าความถูกต้องของพิกัดทางราบที่วัดจากค่าคลาดเคลื่อนรากที่สองของกำลังสองเฉลี่ย โดยสร้างวงรอบสามเหลี่ยมจานวน 143 วง และแบ่งเป็น 4 ระยะคือ 30 ถึง 50, 50 ถึง 70, 70 ถึง 90 และ 90 ถึง 110 กิโลเมตร ตามระยะห่างเฉลี่ยของสถานีฐานอ้างอิง ส่วนค่าพิกัดอ้างอิงนั้นหาจากการรังวัดแบบสถิตเป็นเวลา 90 นาทีและได้ค่าพิกัดค่าแม่นยาสูงที่ได้จากการประมวลผลในภายหลัง การเปรียบเทียบค่าความถูกต้องของค่าพิกัดในทางราบที่ได้จากการอ่านผลจากเครื่องรับสัญญาณและการประมวลผลทำที่ระยะเวลาเฉลี่ยรวม 30 วินาที 1 นาที 2 นาทีและ 3 นาที โดยทำการรับสัญญาณดาวเทียมเป็นระยะเวลา 15 นาที การวิจัยนี้เป็นเครื่องยืนยันค่าความถูกต้องของค่าพิกัดในทางราบโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากค่าคลาดเคลื่อนรากที่สองของกำลังสองเฉลี่ยที่ได้จากการรังวัดและการประมวลผล ค่าดังกล่าวขึ้นอยู่กับระยะเวลาการรังวัดซึ่งควรจะมากกว่า 2 นาที และการกำหนดขนาดของวงรอบสามเหลี่ยมที่ควรมีขนาดของด้านสั้นกว่า 90 กิโลเมตร สำหรับงานที่ต้องการความถูกต้องของค่าพิกัดในทางราบในระดับ 4 เซนติเมตร และความถูกต้องของเครื่องรับสัญญาณจีเอ็นเอสเอส CHC รุ่น i80 เท่ากับ 2.27 เท่าของค่าของรากที่สองของค่าคลาดเคลื่อนกำลังสองในทางราบของเครื่องรับ อย่างไรก็ดีควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวเพื่อเพิ่มค่าความถูกต้องในทางราบโดยใช้เวลาการรังวัดที่สั้นลง


ผลของตัวกลางต่อการกำจัดซีโอดีและไนโตรเจน ในถังปฏิกรณ์ฟิล์มชีวภาพเบดเคลื่อนที่, เพ็ญพนิต โพธิ์สวัสดิ์ Jan 2019

ผลของตัวกลางต่อการกำจัดซีโอดีและไนโตรเจน ในถังปฏิกรณ์ฟิล์มชีวภาพเบดเคลื่อนที่, เพ็ญพนิต โพธิ์สวัสดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาชนิดตัวกลางและปริมาณการบรรจุที่เหมาะสมต่อการเกาะของจุลินทรีย์ รวมถึงประเมินประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียของระบบบำบัดชีวภาพชนิดเบดเคลื่อนที่โดยใช้ตัวกลาง 2 ชนิดคือตัวกลางพีวีเอเจล และตัวกลางพลาสติกพีอี นอกจากนี้ยังศึกษาผลของการเติมอนุภาคเหล็กนาโนที่ส่งผลต่อการสร้างไบโอฟิล์ม โดยทดลองในถังปฏิกรณ์ที่มีระยะเวลากักเก็บ 4 ชั่วโมง ใช้น้ำเสียสังเคราะห์ซึ่งเตรียมจากกลูโคสที่ความเข้มข้น 500 1,000 2,000 และ 3,000 มิลลิกรัมซีโอดีต่อลิตร มีอัตราน้ำเสียเข้าระบบ 18 ลิตรต่อวัน ผลการทดลองพบว่าปริมาณการบรรจุร้อยละ 10 20 และ 30 ของตัวกลางพีวีเอเจล มีประสิทธิภาพในการบำบัดซีโอดีอยู่ที่ร้อยละ 86 - 89 โดยปริมาณบรรจุตัวกลางพีวีเอเจลที่ร้อยละ 20 ให้ประสิทธิภาพสูงที่สุดคือร้อยละ 89.13 ± 6.12 และมีอัตราการบำบัดซีโอดีจำเพาะเท่ากับ 425.86 ± 69.79 มิลลิกรัมซีโอดีต่อลิตรต่อตารางเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบชนิดตัวกลางพลาสติกพีอีกับตัวกลางพีวีเอเจล พบว่าการใส่ตัวกลางพลาสติกทั้งสองชนิดที่มีพื้นที่ผิวเท่ากันให้ประสิทธิภาพการบำบัดซีโอดีเฉลี่ยไม่แตกต่างกันในช่วงร้อยละ 78.62 - 80.25 (ทดสอบทางสถิติด้วยเทคนิค t-test) กรณีที่ทดลองด้วยอนุภาคเหล็กนาโน พบว่ามีประสิทธิภาพการบำบัดซีโอดีสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ทดสอบด้วยเทคนิค t-test) ส่วนการบำบัดไนโตรเจนในระบบชีวภาพเบดเคลื่อนที่พบว่าทุกการทดลองมีประสิทธิภาพการบำบัดทีเคเอ็นอยู่ในช่วงร้อยละ 33.88 – 38.49 ซึ่งไม่แตกต่างกันอย่างนัยสำคัญ (ทดสอบทางสถิติด้วยเทคนิค t-test) สำหรับการวิเคราะห์การเกาะของจุลินทรีย์บนตัวกลางด้วยเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดพบว่าจุลินทรีย์จะเกาะติดเฉพาะรอบนอกของตัวกลางพีวีเอเจล และเกาะอยู่พื้นที่ช่องว่างภายในของตัวกลางพลาสติกพีอี และมีรูปร่างส่วนใหญ่ของจุลินทรีย์เป็นกลุ่มเส้นใย แต่เมื่อใช้อนุภาคเหล็กนาโนในการทดลองจะพบสัดส่วนของจุลินทรีย์รูปท่อนเพิ่มสูงขึ้น ส่วนองค์ประกอบทางเคมีของสารไบโอฟิล์มพบว่ามีสัดส่วนโปรตีนสูงกว่าคาร์โบไฮเดรตในทุกการทดลอง แต่ตัวกลางพีวีเอเจลมีความเข้มข้นของโปรตีนน้อยกว่าตัวกลางพลาสติกพีอี ดังนั้นจากการทดลองแสดงให้เห็นว่าชนิด รูปทรงของตัวกลาง และการเติมอนุภาคเหล็กนาโนส่งผลเพียงบางส่วนต่อแนวโน้มของการเกาะติดของจุลินทรีย์ แต่ไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการบําบัดซีโอดีและไนโตรเจน


การปลดปล่อยคาร์บอนอินทรีย์ละลายน้ำและไอออนจากกระบวนการดูดซับฟลูออไรด์ด้วยถ่านกระดูกและถ่านกัมมันต์ชนิดเกล็ด, กฤษกร ศรีรังสิต Jan 2019

การปลดปล่อยคาร์บอนอินทรีย์ละลายน้ำและไอออนจากกระบวนการดูดซับฟลูออไรด์ด้วยถ่านกระดูกและถ่านกัมมันต์ชนิดเกล็ด, กฤษกร ศรีรังสิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการกำจัดฟลูออไรด์ด้วยถ่านกระดูก (BC) และถ่านกระดูกที่ถูกกระตุ้นด้วยสารโซเดียมไฮดรอกไซด์และโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ รวมถึงศึกษาการปลดปล่อยสารคาร์บอนอินทรีย์ละลายน้ำ (DOC) จากถ่านกระดูก และศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับ DOC ด้วยถ่านกัมมันต์ชนิดเกล็ด (GAC) จากการศึกษาแบบทีละเทพบว่า BC มีประสิทธิภาพในการกำจัดฟลูออไรด์มากกว่าถ่านกระดูกที่ถูกกระตุ้นด้วยสารเคมี เนื่องจากการกระตุ้นด้วยสารเคมีทำให้สารไฮดรอกซีอะพาไทต์ (HAP) ภายในวัสดุดูดซับลดลง โดยจลนพลศาสตร์และไอโซเทอมการดูดซับฟลูออไรด์ด้วย BC สอดคล้องกับสมการจลนพลศาสตร์การดูดซับอันดับหนึ่งเสมือนและไอโซเทอมการดูดซับแบบเส้นตรง ขณะที่จลนพลศาสตร์และไอโซเทอมการดูดซับ DOC ด้วย GAC สอดคล้องกับสมการจลนพลศาสตร์การดูดซับอันดับสองเสมือนและไอโซเทอมการดูดซับแบบเส้นตรงและแบบเรดลิชและปีเตอร์สัน สำหรับการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของไอออน พบว่าฟลูออไรด์ ฟอสเฟต (PO43-) และแคลเซียม (Ca2+) เป็นไอออนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ทั้งนี้กลไกหลักของการกำจัดฟลูออไรด์และ Ca2+ คือการแลกเปลี่ยนไอออนและการตกตะกอนจากปฏิกิริยาทางเคมี ตามลำดับ และผลจากการแลกเปลี่ยนไอออนของฟลูออไรด์ทำให้ PO43- ถูกปลดปล่อยออกสู่สารละลาย จากการศึกษาแบบคอลัมน์พบว่าการเพิ่มความสูงของชั้นวัสดุดูดซับ ส่งผลให้เวลา ณ จุดความเข้มข้นเบรกทรูเพิ่มมากขึ้นในขณะที่อัตราการใช้วัสดุดูดซับลดลง โดยกราฟเบรกทรูที่ได้จากการทดลองทั้งกรณีการดูดซับฟลูออไรด์โดยถ่านกระดูกและการดูดซับ DOC โดย GAC สอดคล้องกับแบบจำลองของโทมัส ขณะที่การปลดปล่อย DOC ของระบบคอลัมน์ BC มีค่ามากที่สุดในช่วงเริ่มต้นการทดลองและลดลงตามระยะเวลา


การดูดซับสารกลุ่มไตรฮาโลมีเทนโดยวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ที่ทำการคาร์บอไนซ์, จิรภิญญา โอทอง Jan 2019

การดูดซับสารกลุ่มไตรฮาโลมีเทนโดยวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ที่ทำการคาร์บอไนซ์, จิรภิญญา โอทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้วัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ที่ทำการคาร์บอไนซ์เพื่อดูดซับสารกลุ่มไตรฮาโลมีเทน โดยทำการสังเคราะห์วัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ (MOFs) ชนิด MIL-53(Al), ZIF-8(Zn) และ HKUST-1(Cu) ที่อุณหภูมิห้อง และนำมาผ่านกระบวนการคาร์บอนไนเซชันที่อุณหภูมิ 900 องศาเซลเซียส ภายในก๊าซไนโตรเจน ( carbonized MIL-53(Al), carbonized ZIF-8(Zn) และ Carbonized HKUST-1(Cu)) เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในวัฏภาคน้ำ และศึกษาดูดซับสารกลุ่มไตรฮาโลมีเทนทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ คลอโรฟอร์ม(TCM), โบรโมฟอร์ม(TBM), โบรโมไดคลอรามีเทน (BDCM) และไดโบรโมคลอรามีเทน (DBCM) แบบทีละเทในน้ำประปา โดยทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการดูดซับกับถ่านกัมมันต์ชนิดผงเกรดการค้า (PAC) จากผลการทดลองพบว่าตัวดูดซับที่ทำการคาร์บอไนซ์มีประสิทธิภาพในการดูดซับสูงกว่าตัวดูดซับแบบปกติ carbonized MIL-53(Al) มีอัตราเร็วในการดูดซับสารไตรฮาโลมีเทนทั้ง 4 ชนิดสูงกว่า carbonized MOFs อีก 2 ตัวและใกล้เคียงกับ PAC โดยจลนพลศาสตร์การดูดซับของสารไตรฮาโลมีเทนของ carbonized MIL-53(Al) และถ่านกัมมันต์ชนิดผงเกรดการค้า เป็นไปตามจลนพลศาสตร์การดูดซับลำดับที่ 2 เสมือน และเข้าสู่สภาวะสมดุลภายในระยะเวลา 40 นาที และ 60 นาที ตามลำดับ การศึกษาไอโซเทอมการดูดซับพบว่า carbonized MIL-53(Al) สามารถดูดซับสารไตรฮาโลมีเทนได้ดีกว่า PAC โดยสามารถดูดสารโบรโมฟอร์มได้ดีที่สุด (TCM


การศึกษาอายุการใช้งานและผลกระทบที่ได้รับจากระบบกรองน้ำบาดาลเพื่อกำจัดฟลูออไรด์: กรณีศึกษา หมู่บ้านบ้านใหม่ในฝัน ตำบลสะเนียน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน, กิตติคุณ เสมอภาค Jan 2019

การศึกษาอายุการใช้งานและผลกระทบที่ได้รับจากระบบกรองน้ำบาดาลเพื่อกำจัดฟลูออไรด์: กรณีศึกษา หมู่บ้านบ้านใหม่ในฝัน ตำบลสะเนียน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน, กิตติคุณ เสมอภาค

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินอายุการใช้งาน การเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงทางสุขภาพเบื้องต้น และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของระบบกรองน้ำที่ทำการติดตั้งในหมู่บ้านบ้านใหม่ในฝัน ตำบลสะเนียน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน จากการศึกษาพบว่า น้ำขาออกจากระบบมีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลสำหรับบริโภค ซึ่งเมื่อทำการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพของผู้ได้รับผลประโยชน์ พบว่า ค่าดัชนีความเป็นอันตรายเนื่องจากฟลูออไรด์มีค่าลดลงจนถึงระดับน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับได้ ส่วนการประเมินอายุการใช้งานของระบบการกำจัดฟลูออไรด์ และสารคาร์บอนอินทรีย์ละลายน้ำด้วยระบบคอลัมน์ พบว่า ที่ความสูงของชั้นกรองที่ 25.00 ซม. อัตราการกรอง 2.30 มล./นาทีสามารถกำจัดฟลูออไรด์และสารคาร์บอนอินทรีย์ละลายน้ำได้ดีที่สุด ด้วยมีระยะเวลาที่จุดเบรกทรูยาวนาน มีค่าอัตราการใช้สารกรองต่ำ และระยะเวลาการสัมผัสสารของชั้นกรองสูง และจากการทำนายอายุการใช้งานของสารกรอง ตามสมการ ของ Thomas พบว่า การกำจัดฟลูออไรด์และคาร์บอนอินทรีย์ละลายน้ำด้วยระบบคอลัมน์ ที่ความสูงชั้นกรองที่ 25.00 ซม. อัตราการกรอง 2.30 มล./นาที สารกรองมีค่าความสามารถในการดูดซับสูงสุด และจากการศึกษาผ่านสมการ Bohart and Adam พบว่าการกำจัดฟลูออไรด์เป็นไปตามความสัมพันธ์ดังสมการ Y=429X–6.430 โดย Y คือ เวลาเบรกทรู(นาที) และ X คือ ความสูงของชั้นกรองถ่านกระดูก(ซม.)ที่อัตราการกรอง 0.01 ลบ.ม./ชม. ส่วนการกำจัดสารคาร์บอนอินทรีย์ละลายน้ำ พบว่า สมการความสัมพันธ์คือ Y=50,931X–934 โดยที่ Y คือ เวลาเบรกทรู(นาที) และ X คือ ความสูงชั้นกรองถ่านกัมมันต์(ซม.) ที่อัตราการกรอง 0.01 ลบ.ม./ชม. และจากการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนโครงการ พบว่า ความคุ้มค่าของโครงการกรณีภาครัฐลงทุนให้ และส่งมอบชาวบ้าน มีมูลค่าปัจจุบันของผลตอบแทนสุทธิ(NPV) คือ 6,448.36 บาท อัตราผลตอบแทนต่อต้นทุนโครงการ(B/C Ratio) 1.008 อัตราผลตอบแทนโครงการ(IRR) ร้อยละ 4.407 และระยะเวลาคืนทุน(PB) 0 ปี ส่วนกรณีชาวบ้านลงทุนด้วยตัวเองและจัดการทั้งหมด พบว่ามูลค่าปัจจุบันของผลตอบแทนสุทธิ คือ -365,822.50 บาท อัตราผลตอบแทนต่อต้นทุนโครงการ ร้อยละ 0.6909 อัตราผลตอบแทนโครงการ และระยะเวลาคืนทุน ไม่สามารถหาค่าได้


การดูดซับไอบูโพรเฟนโดยตัวกลางดูดซับแบบโครงข่ายโลหะสารอินทรีย์ Mil-53(Al) ที่เคลือบเมโสพอรัสซิลิกา, บุญฤทธิ์ ศิริรังสรรค์กุล Jan 2019

การดูดซับไอบูโพรเฟนโดยตัวกลางดูดซับแบบโครงข่ายโลหะสารอินทรีย์ Mil-53(Al) ที่เคลือบเมโสพอรัสซิลิกา, บุญฤทธิ์ ศิริรังสรรค์กุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประส่งค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับสารตกค้างจากยากลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ไอบูโพรเฟน (IBP) ในนำ้เสียสังเคราะห์ โดยตัวกลางดูดซับโครงข่ายโลหะอินทรีย์ MIL-53(Al) และ MIL-53(Al) ที่เคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกาที่สัดส่วนต่างๆ นอกจากนี้ยังศึกษาเสถียรภาพของ MIL-53(Al) ในนำ้เสียสังเคราะห์ทั้งก่อนและหลังการเคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกา รวมถึงการศึกษาการนำตัวกลางดูดซับกลับมาใช้ใหม่ภายหลังจากฟื้นสภาพตัวกลางดูดซับด้วยเมธานอล จากผลการทดลองกระบวนการดูดซับภายใต้ระบบทีละเท พบว่า MIL-53(Al) มีอัตราเร็วในการดูดซับไอบูโพรเฟนสูงกว่าถ่านกัมมันต์ชนิดผง (PAC) โดยเข้าสู่สมดุลภายใน 75 นาที และเมื่อทำการเคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกาที่สัดส่วนต่างๆ พบว่าอัตราเร็วในการดูดซับเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยใช้ระยะเวลาในการเข้าสู่สมดุลภายใน 25 และจลนพลศาสตร์การดูดซับของตัวกลางดูดซับทั้งหมดสอดคล้องกับจลนพลศาตร์การดูดซับเสมือนลำดับที่ 2 ในขณะที่ตัวกลางดูดซับเมโสพอรัสซิลิกาเพียงอย่างเดียวไม่พบการดูดซับ โดย MIL-53(Al) มีความสามารถในการดูดซับสูงสุด เมื่อเคลือบเมโสพอรัสซิลิกาที่สัดส่วนโดยโมลของ MIL-53(Al) ต่อเตตระเอธิลออร์โธซิลิเกต (TEOS) เท่ากับ 1:0.48 มีความสามารถในการดูดซับไอบูโพรเฟนสูงกว่าสัดส่วนอื่นๆ และไอโซเทอมการดูดซับสอดคล้องกับแบบจำลองของเรดลิช-ปีเตอร์สัน ถึงแม้ว่าการเคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกาจะมีประสิทธิภาพในการดูดซับลดลง แต่ยังมีความสามารถในการดูดซับใกล้เคียงกับ PAC จากการศึกษาเสถียรภาพพบว่า MIL-53(Al) ที่เคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกามีเสถียรภาพเพิ่มขึ้นและมีการชะละลายของสารอินทรีย์และโลหะน้อยลง นอกจากนี้ MIL-53(Al) ที่เคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกาสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 2 ครั้งหลังจากสกัดด้วยเมทานอล ในขณะที่ MIL-53(Al) ไม่สามารถในการดูดซับไอบูโพรเฟนได้อีกเมื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งที่ 2 เนื่องจากการพังทลายของโครงสร้าง


ผลของภาระบรรทุกสารอินทรีย์ต่อประสิทธิภาพของถังกรองไร้อากาศและ ผลของความลึกชั้นทรายต่อประสิทธิภาพของถังกรองทรายชีวภาพ, พัชราภรณ์ เที่ยงทอง Jan 2019

ผลของภาระบรรทุกสารอินทรีย์ต่อประสิทธิภาพของถังกรองไร้อากาศและ ผลของความลึกชั้นทรายต่อประสิทธิภาพของถังกรองทรายชีวภาพ, พัชราภรณ์ เที่ยงทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาผลของภาระบรรทุกสารอินทรีย์และระยะเวลาเก็บกักต่ออัตราการบำบัดและ ประสิทธิภาพถังกรองไร้อากาศและผลของความลึกชั้นทรายต่อประสิทธิภาพของถังกรองทรายชีวภาพ โดยใช้น้ำเสียสังเคราะห์ที่เตรียมจากน้ำตาลทรายซึ่งมีความเข้มข้นเริ่มต้น 1,000 มิลลิกรัมซีโอดีต่อลิตรตลอดทั้งการทดลอง ปรับอัตราการไหลเข้าของน้ำเสีย 4 ค่า ได้แก่ 24 , 48 , 96 และ 192 ลิตรต่อวัน คิดเป็นภาระบรรทุกสารอินทรีย์ 0.5 , 1 , 2 และ 4 กิโลกรัมซีโอดีต่อลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตามลำดับ และใช้ถังกรองไร้อากาศออกเป็น 4 ถังต่อแบบอนุกรมโดยให้ไหลแบบตามกัน (Plug Flow) เพื่อให้มีระยะเวลาเก็บกักน้ำเสียตั้งแต่ 0.0625-2 วัน เดินระบบแบบไหลต่อเนื่องและควบคุมค่าพีเอชระหว่าง 7.0-7.5 ผลการทดลองพบว่าที่ภาระบรรทุกสารอินทรีย์ 0.5 , 1 , 2 และ 4 กิโลกรัมซีโอดีต่อลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีระยะเวลาเก็บกักน้ำเสียรวม 2 , 1 , 0.5 และ 0.25 วัน ตามลำดับ สามารถบำบัดสารอินทรีย์ได้ถึงร้อยละ 84.76 , 93.06 , 91.90 และ 88.58 ตามลำดับ มีค่าซีโอดีที่สามารถย่อยสลายได้เท่ากับ 861.0±30.6 มิลลิกรัมต่อลิตร มีค่าสัมประสิทธิ์ของปฏิกิริยาลำดับที่ 1 (k1) อยู่ที่ 18.8±2.40 วัน-1 และมีค่าซีโอดีที่ไม่สามารถบำบัดได้เท่ากับ 128.2±16.3 มิลลิกรัมต่อลิตร และพบว่าเมื่อเดินระบบร่วมกับถังกรองทรายชีวภาพที่ความลึกชั้นทราย 80 , 60 , 40 , 20 และ 0 เซนติเมตร ระบบมีค่าประสิทธิภาพในการบำบัดซีโอดีอยู่ที่ร้อยละ 92-94 โดยถังกรองทรายชีวภาพช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดซีโอดีร้อยละ 1-5 ปริมาณซัลไฟด์ในน้ำทิ้งจากถังกรองทรายชีวภาพที่ความลึกชั้นทรายต่างๆลดลงอยู่ในช่วง 16-18 มิลลิกรัมซัลไฟด์ต่อลิตร โดยที่ความลึกชั้นทราย 80 , 60 , …


การวิเคราะห์แนวทางการลดของเสีย: กรณีศึกษาของกระบวนการผลิตขวดเพท, พีรพล วงศ์บุญนาค Jan 2019

การวิเคราะห์แนวทางการลดของเสีย: กรณีศึกษาของกระบวนการผลิตขวดเพท, พีรพล วงศ์บุญนาค

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ขวดเพทได้รับความนิยมแก่ผู้บริโภคเพราะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการใช้งาน แต่ในกระบวนการผลิตนั้นมักจะก่อให้เกิดของเสียพลาสติกขึ้นมา ในการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่วิเคราะห์จุดกำเนิดของเสียและหาข้อเสนอแนะที่เหมาะสมในการลดของเสียพลาสติก ในการวิจัยได้ใช้การวิเคราะห์การไหลของมวลสารเพื่อสำรวจข้อมูลพื้นฐานของการใช้ทรัพยากร ค้นหาจุด Hot spot และนำไปสู่การประเมินแนวทางจัดการของเสียพลาสติกให้ตรงจุดมากที่สุด งานวิจัยได้ออกแบบการเก็บข้อมูลโดยการพัฒนาและออกแบบแบบฟอร์มใบรายงานการผลิต การสัมภาษณ์ การศึกษาคู่มือ ตลอดจนการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดของเสียพลาสติกจากกระบวนการเป่าขวดเพท และนำองค์ความรู้ที่รวบรวมได้ไปใช้งานจริงในการปฏิบัติงาน ผลการศึกษาพบว่าแผนกฉีดพรีฟอร์มเกิดของเสียจากการเซ็ตอัพมากที่สุด แผนกเป่าขวดเพท ก่อให้เกิดของเสียประเภทอื่นๆที่อยู่นอกเหนือจากการจำแนกประเภทมากที่สุด แนวทางการลดของเสียที่แนะนำให้ดำเนินการเพื่อลดของเสียพลาสติกในภาพรวม คือ การปรับปรุงระบบสนับสนุนของกระบวนการผลิต ได้แก่ ระบบน้ำ ระบบลม, ลำดับต่อมา คือ การสร้างองค์ความรู้แก่พนักงาน, การใช้เอกสารประกอบการทำงาน, สุดท้าย คือ การรักษาสภาพเครื่องจักรให้มีความสมบูรณ์ทั้งก่อนและระหว่างทำการผลิต แนวทางการปรับปรุงที่ดำเนินการสามารถทำให้ของเสียในภาพรวมลดลงได้


การสร้างและประสิทธิภาพของเม็ดตะกอนจุลินทรีย์แบบใช้ออกซิเจน, อริยะ กาญจนโกมุท Jan 2019

การสร้างและประสิทธิภาพของเม็ดตะกอนจุลินทรีย์แบบใช้ออกซิเจน, อริยะ กาญจนโกมุท

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างเม็ดตะกอนโดยใช้เวลาตกตะกอนที่แตกต่างกัน โดยใช้ถังปฏิกิริยาแบบทีละเท การทำงานของระบบเป็นรอบการบำบัด ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือการเติมน้ำเสียสังเคราะห์จากซูโครสความเข้มข้นซีโอดี ในถังปฏิกิริยา 2,000 มิลลิกรัมต่อลิตร ปริมาณแอมโมเนียมคลอไรด์ 380 มิลลิกรัมต่อลิตร การเติมอากาศโดยควบคุมความเร็วการเติมอากาศ 3.5 เซนติเมตรต่อวินาที การตกตะกอน และการทิ้งน้ำโดยใช้สัดส่วนการทดแทนน้ำเสีย 50% โดยไม่มีการทิ้งตะกอนและเปลี่ยนแปลงเวลาตกตะกอน 60 30 15 5 และ 2 นาที ผลการทดลองค่า MLSS เฉลี่ยที่ 30,200 31,600 26,750 15,733 และ 9,770 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ค่า SVIคงที่อยู่ในช่วง 13.2-19.5 มิลลิลิตรต่อกรัม มีอัตราการบำบัดซีโอดีจำเพาะคงที่ 6.29-10.81 มิลลิกรัมซีโอดีต่อมิลลิกรัม MLSS ต่อวัน ขนาดเม็ดตะกอนในระบบที่เริ่มต้นใช้เวลาตกตะกอน 60 นาที พบเม็ดตะกอนขนาดเล็กเป็นส่วนมาก ซึ่งเม็ดตะกอนดังกล่าวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร และเมื่อลดเวลาตกตะกอนลงเหลือ 30 15 5 และ 2 นาที เม็ดตะกอนมีขนาดใหญ่ขึ้น และเม็ดตะกอนขนาดใหญ่ที่สุดในระบบมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร โดยมีความหนาแน่นของตะกอนจุลินทรีย์อยู่ในช่วง 1.025-1.342 g/mL ต่อมาการทดลองส่วนที่ 2 เลือกใช้เวลาตกตะกอน 15 นาที และเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการทดแทนน้ำเสีย 50% 60% 70% 80% และ 90% ผลการทดลองค่า MLSSเฉลี่ยที่ 17,240, 18,590, 10,207, 7,293 และ 4,030 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ค่า SVI คงที่อยู่ในช่วง 19.5-27.0 มิลลิลิตรต่อกรัม มีอัตราการบำบัดซีโอดีจำเพาะคงที่ 6.29-10.39 มิลลิกรัมซีโอดีต่อมิลลิกรัม MLSS ต่อวัน …


การปรับความลึกในการตัด สำหรับชิ้นส่วนอากาศยาน, ชัชนก ขำแผลง Jan 2019

การปรับความลึกในการตัด สำหรับชิ้นส่วนอากาศยาน, ชัชนก ขำแผลง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสึกหรอของเม็ดมีดคาร์ไบด์อันเนื่องมาจากกระบวนการกลึงอินโคเนล718 ซึ่งพบปัญหาว่าเมื่อผลิตงานอย่างต่อเนื่องจะทำให้ขนาดของชิ้นงานคลาดเคลื่อนไปตามอายุเม็ดมีดกลึงที่มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการปรับค่าความลึกในการกลึงของพนักงาน แต่การปรับค่าของพนักงานนี้ยังไม่ถูกต้องจึงทำให้เกิดของเสียมากมายจากกระบวนการนี้ ดังนั้นจุดประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือ การหาค่าการปรับความลึกการกลึงที่ถูกต้องและทำให้ผลิตงานที่ดีได้ ซึ่งผลที่ได้จากการทดลอง คือ กราฟความสัมพันธ์ระหว่างระยะสึกของเม็ดมีดกลึงกับอายุของเม็ดมีดกลึงและค่าระยะสึกเม็ดมีดกลึงนี้สามารถนำมาใช้หาค่าการปรับความลึกได้ ซึ่งทำให้สามารถหากราฟความสัมพันธ์ระหว่างการปรับความลึกของเม็ดมีดกลึงกับอายุของเม็ดมีดกลึง และค่านี้สามารถนำไปสร้างสมการการปรับความลึกการตัดในช่วงอายุของเม็ดมีดกลึงต่างๆได้ ซึ่งเมื่อนำค่าการปรับความลึกที่ได้จากสมการไปทดลองผลิตชิ้นงานพบว่าได้ชิ้นงานเป็นงานดีทั้งหมด และเมื่อนำขนาดชิ้นงานที่ผลิตด้วยการปรับลึกจากสมการมาคิดเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนและเปรียบเทียบขนาดชิ้นงานที่ผลิตด้วยการปรับลึกด้วยพนักงาน จะพบว่าวิธีการปรับลึกด้วยสมการได้ขนาดของชิ้นงานที่มีค่าความคลาดเคลื่อนที่น้อยกว่า โดยเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนที่มากที่สุดของค่าการปรับจากพนักงาน คือ 0.947 เปอร์เซ็นต์ แต่เปอร์เซ็นความคลาดเคลื่อนที่มากที่สุดของค่าการปรับจากสมการ คือ 0.168 เปอร์เซ็นต์


การบำรุงรักษาเชิงรุกสำหรับระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิงในท่าเรือและคลังปิโตรเคมี, ณภัทร บรรจงกิจ Jan 2019

การบำรุงรักษาเชิงรุกสำหรับระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิงในท่าเรือและคลังปิโตรเคมี, ณภัทร บรรจงกิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการตรวจพบความผิดปกติของระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิงในท่าเทียบเรือและบริเวณถังเก็บปิโตรเคมีเหลว จากการวิเคราะห์หาสาเหตุพบว่าแผนการบำรุงรักษาที่มีอยู่เดิมนั้นยังขาดการตรวจพบความผิดปกติล่วงหน้าจึงส่งผลให้เกิดการขัดข้องของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงในขณะฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินรวม 18 ครั้งภายในระยะเวลาหนึ่งปี มีค่าความพร้อมใช้งานของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงเพียง 65.4% ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงได้สร้างแผนการบำรุงรักษาขึ้นใหม่ที่สามารถตรวจความผิดปกติและป้องกันการขัดข้องของเครื่องจักร โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงานวิจัยมีดังนี้ 1) รวบรวมข้อมูลจำนวนครั้งและประวัติอาการขัดข้องเพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป 2) วิเคราะห์อาการขัดข้องและผลกระทบตามรูปแบบความเสียหายแยกตามประเภทของเครื่องจักร ประกอบไปด้วย มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องสูบน้ำ 3) คัดเลือกวิธีการตรวจพบความผิดปกติที่เหมาะสมกับเครื่องมือ เทคโนโลยีและความรู้ความสามารถของพนักงานที่องค์กรมีอยู่ 4) กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะใช้ในการบำรุงรักษาเครื่องจักร 5) ปรับปรุงแผนการบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำดับเพลิง 6) ดำเนินการตามแผนการบำรุงรักษาต่าง ๆ และทำการประเมินผล ผลการดำเนินงานพบว่าสามารถตรวจจับอาการผิดปกติของระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิงได้ก่อนที่จะเกิดการขัดข้อง ส่งผลให้ระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิงมีความพร้อมใช้งานหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์และจำนวนชั่วโมงในการบำรุงรักษาลดลง 18 เปอร์เซ็นต์


การกำหนดเวลาในขั้นทำแห้งทุติยภูมิของกระบวนการทำแห้งแบบเยือกแข็งเพื่อควบคุมความชื้นคงเหลือของเภสัชภัณฑ์รูปแบบยาฉีด, ธราวิชญ์ ศุภคติสันติ์ Jan 2019

การกำหนดเวลาในขั้นทำแห้งทุติยภูมิของกระบวนการทำแห้งแบบเยือกแข็งเพื่อควบคุมความชื้นคงเหลือของเภสัชภัณฑ์รูปแบบยาฉีด, ธราวิชญ์ ศุภคติสันติ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในฐานะคุณสมบัติด้านคุณภาพที่สำคัญ ความชื้นคงเหลือของเภสัชภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการทำแห้งแบบเยือกแข็งส่งผลโดยตรงต่อความคงตัวของผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามความแปรปรวนของความชื้นในแต่ละรอบการผลิตเกิดขึ้นเสมอเนื่องจากการตั้งสภาวะของขั้นทำแห้งทุติยภูมิคงที่โดยไม่พิจารณาลักษณะผลึกน้ำแข็งในขั้นเยือกแข็งที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้วิจัยจึงกำหนดแนวทางการหาค่าสภาวะที่เหมาะสมกับลักษณะผลึกน้ำแข็งในแต่ละรอบการผลิตจากความสัมพันธ์ระหว่างความชื้น ณ จุดเริ่มต้นของขั้นทำแห้งทุติยภูมิและอุณหภูมิที่เกิดผลึกน้ำแข็ง ค่าความชื้น ณ จุดเริ่มต้นถูกกำหนดโดยวิธีการความผิดพลาดตกค้างน้อยที่สุดระหว่างค่าอุณหภูมิของผลิตภัณฑ์ที่วัดได้จริงตลอดขั้นทำแห้งทุติยภูมิและค่าที่ได้จากการคำนวณโดยสมการทางคณิตศาสตร์ที่อธิบายอุณหภูมิของผลิตภัณฑ์ตลอดขั้นทำแห้งทุติยภูมิด้วยความชื้น ณ เริ่มต้น เพื่อนำเสนอแนวทางดังกล่าว ข้อมูลการทดลองกระบวนการทำแห้งแบบเยือกแข็งจำนวน 4 รอบการผลิตจากโรงงานเภสัชภัณฑ์กรณีศึกษาถูกใช้ในการหาค่าพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องและสร้างสมการทำนายค่าความชื้น ณ จุดเริ่มต้นด้วยอุณหภูมิที่เกิดผลึกของผลิตภัณฑ์ จากนั้นประสิทธิภาพของสมการทำนายถูกประเมินด้วยชุดข้อมูลทดลอง ผลการประเมินยืนยันว่าสมการดังกล่าวสามารถใช้ทำนายความชื้นเริ่มต้นของขั้นทำแห้งทุติยภูมิจากอุณหภูมิที่เกิดผลึกน้ำแข็งระหว่าง -12.9°C และ -4.0°C ได้ และนำไปสู่แนวทางการปรับเวลาของขั้นทำแห้งทุติยภูมิในแต่ละรอบการผลิต เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เพื่อควบคุมความชื้นคงเหลือของเภสัชภัณฑ์รูปแบบยาฉีดที่ผลิตด้วยกระบวนการทำแห้งแบบเยือกแข็งในระดับอุตสาหกรรมต่อไป


การแก้ปัญหาการจับคู่เที่ยวบินของสายการบินราคาประหยัดแบบมากวัตถุประสงค์, ณิชา กฤษณพันธุ์ Jan 2019

การแก้ปัญหาการจับคู่เที่ยวบินของสายการบินราคาประหยัดแบบมากวัตถุประสงค์, ณิชา กฤษณพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัญหาการจับคู่เที่ยวบินของสายการบินราคาประหยัดแบบมากวัตถุประสงค์ จัดเป็นปัญหาแบบมากวัตถุประสงค์ และเป็นปัญหาประเภทเอ็นพี-ฮาร์ด งานวิจัยนี้เสนออัลกอริทึมที่พัฒนาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ได้แก่วิธีการเชิงวิวัฒนาการแบบหลายวัตถุประสงค์โดยยึดหลักการจำแนก (Multi-Objective Evolutionary Algorithm based on Decomposition: MOEA/D) วิธีเชิงพันธุกรรมแบบการจัดลำดับที่ไม่ถูกครอบงำ III (Non-dominated Sorting Genetic Algorithm III: NSGA-III) และวิธีการเชิงวิวัฒนาการโดยใช้ผลต่างแบบหลายวัตถุประสงค์ (A Multi-Objective Differential Evolution Algorithm: MODE) โดยพิจารณาวัตถุประสงค์จำนวน 5 วัตถุประสงค์ พร้อมกันดังนี้ เวลาว่างระหว่างเที่ยวบินน้อยที่สุด ปรับดุลภาระงานให้เท่าเทียมกัน เส้นทางการบินซ้ำน้อยที่สุด ระยะทางการบินแตกต่างกันน้อยที่สุด และจำนวนคู่นักบินน้อยที่สุด ผลการวิจัยพบว่า MOEA/D มีสมรรถนะด้านการลู่เข้าของคำตอบ (GD) ด้านการลู่เข้าและความหลากหลายของคำตอบ (IGD) ด้านอัตราส่วนของจำนวนคำตอบที่ไม่ถูกครอบงำเทียบกับจำนวนคำตอบที่อัลกอริทึมหาได้ (RNDS I) ด้านอัตราส่วนของจำนวนคำตอบที่ไม่ถูกครอบงำเทียบกับจำนวนคำตอบที่แท้จริง (RNDS II) และด้านเวลาในการดำเนินงาน (CPU Time) ที่ดีกว่า NSGA-III และ MODE ในปัญหาขนาดเล็กและกลาง แต่ MOEA/D มีสมรรถนะด้านอัตราส่วนของจำนวนคำตอบที่ไม่ถูกครอบงำเทียบกับจำนวนคำตอบที่อัลกอริทึมหาได้ (RNDS I) พอกับ NSGA-III ในปัญหาขนาดใหญ่ โดยรวม MOEA/D มีสมรรถนะที่ดีกว่า NSGA-III และ MODE ในทุกๆ ด้าน ทั้งปัญหาขนาดเล็ก กลาง และใหญ่


การจัดทำแผนด้านกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล, ธันย์ชนก ตงสกุลรุ่งเรือง Jan 2019

การจัดทำแผนด้านกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล, ธันย์ชนก ตงสกุลรุ่งเรือง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล (Digital Transformation) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยยกระดับการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะทำให้เกิดการทำงานที่สอดประสานกันในหน่วยงาน ส่งผลให้เกิดการทำงานที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันและผลักดันให้องค์กรเกิดการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อรองระบบดิจิทัลในกรณีศึกษาโรงงานไพ่ ให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศประกอบด้วย นโยบายไทยแลนด์ 4.0 แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ วิเคราะห์โดยการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการสร้างกลยุทธ์ เช่น การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในด้วยการใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า การวิเคราะห์แบบ SWOT และการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกด้วยการใช้เครื่องมือการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมมหภาค 7 ประการ (PESTEL) แรงกดดัน 5 ประการ (Porter's Five Forces) เป็นต้น จากนั้นทำการวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบช่องว่างระหว่างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงงานไพ่และนโยบายประเทศ และจัดทำแผนกลยุทธ์ ซึ่งมีการนำเอาสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ จะช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมโยงองค์ประกอบที่สำคัญทั้งหมดเข้าด้วยกัน คือ บุคลากร กระบวนการทำงาน เครื่องจักร/อุปกรณ์ ข้อมูล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ทำวิจัยได้เสนอแนวทางการพัฒนาทางด้านดิจิทัล 3 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาธุรกิจการตลาดรูปแบบดิจิทัล การลดกระดาษในการใช้งานในสถานที่ทำงาน และการพัฒนาบุคลากรเพื่อเสริมทักษะความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ


การพัฒนากระบวนการตรวจสอบการไม่ยึดติดกันของแผ่นโพลีไวนิลคลอไรด์ ผ้าคาร์บอนและผ้าใยแก้วใน ผลิตภัณฑ์วินเซิร์ฟโดยการประยุกต์ใช้เซนเซอร์เสียงและเทคนิคการรู้จําแบบ, นภาพรรณ สุขประเสริฐ Jan 2019

การพัฒนากระบวนการตรวจสอบการไม่ยึดติดกันของแผ่นโพลีไวนิลคลอไรด์ ผ้าคาร์บอนและผ้าใยแก้วใน ผลิตภัณฑ์วินเซิร์ฟโดยการประยุกต์ใช้เซนเซอร์เสียงและเทคนิคการรู้จําแบบ, นภาพรรณ สุขประเสริฐ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ เพื่อพัฒนาการตรวจสอบการยึดติดกันของแผ่นโพลีไวนิลคลอไรด์กับผ้าใยแก้วหรือผ้าคาร์บอนในผลิตภัณฑ์วินเซิร์ฟ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบในปัจจุบันใช้คนในการเคาะและฟังเสียงเพื่อตัดสินชิ้นงานที่มีการยึดติดหรือไม่มีการยึดติด และเกิดความผิดพลาดจากการตัดสินโดยพนักงานที่ไม่มีทักษะ จึงมีการพัฒนาการตรวจสอบโดยการประยุกต์ใช้เซนเซอร์เสียงและการแปลงฟูเรียร์แบบเร็วเพื่อแปลงสัญญาณเสียงให้อยู่ในรูปของโดเมนความถี่ จากนั้นระบุความถี่การยึดติดและคำนวณพื้นที่ใต้กราฟ และใช้เทคนิคการรู้จำแบบและการแบ่งแบบอาบิทารีในการจำแนกชิ้นงานที่ไม่มีการยึดติดออกจากชิ้นงานที่มีการยึดติด โดยทำการทดลองกับวินเซิร์ฟทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่วินเซิร์ฟ 1,วินเซิร์ฟ 2,วินเซิร์ฟ 3 และ วินเซิร์ฟ 4 ที่ประกอบด้วยแผ่นโพลีไวนิลคลอไรด์ที่มีความหนาเท่ากันแต่มีความหนาแน่นแตกต่างกัน ผ้าใยแก้วและผ้าคาร์บอนที่มีความหนาแน่นแตกต่างกัน โดยผลการทดลองพบว่า ความหนาแน่นของแผ่นโพลีไวนิลคลอไรด์ ผ้าใยแก้วและผ้าคาร์บอนมีผลต่อความถี่การยึดติด โดยวินเซิร์ฟที่ประกอบด้วยแผ่นโพลีไวนิลคลอไรด์ ผ้าใยแก้วและผ้าคาร์บอนที่มีความหนาแน่นสูงจะมีความถี่การยึดติดสูงกว่าวินเซิร์ฟที่ประกอบด้วยแผ่นโพลีไวนิลคลอไรด์ ผ้าใยแก้วและผ้าคาร์บอนที่มีความหนาแน่นต่ำ และความเข้มพาวเวอร์สเปกตรัมที่ความถี่การยึดติดนี่เองที่บ่งบอกการยึดติดของแผ่นโพลีไวนิลคลอไรด์กับผ้าใยแก้วหรือผ้าคาร์บอน โดยความเข้มเพาเวอร์สเปกตรัมที่มากจะแปรผันตรงกับพื้นที่ใต้กราฟ ซึ่งพื้นที่ใต้กราฟที่มากหมายถึงการยึดติดที่ดีด้วย ผลการทดลองพบว่าจุดที่มีการยึดติดมีพื้นที่ใต้กราฟมากกว่าจุดที่มีการยึดติดบางส่วนและมากกว่าจุดที่ไม่มีการยึดติด โดยรูปแบบพื้นที่จำแนกการไม่ยึดติดของวินเซิร์ฟ 1 มีค่า ≤ 0.23 dB2 วินเซิร์ฟ 2 ≤ 0.25 dB2 วินเซิร์ฟ 3 ≤ 0.36 dB2 วินเซิร์ฟ 4 ≤ 0.26dB2 และผลการทดสอบความแม่นยำของรูปแบบพื้นที่จำแนกการยึดติดของวินเซิร์ฟ 1 วินเซิร์ฟ 2 และ วินเซิร์ฟ 4 มีค่าเท่ากับ 80% และ วินเซิร์ฟ 3 มีค่าเท่ากับ 90% จากผลการทดลองพบว่า การพัฒนาการตรวจสอบการยึดติดด้วยการใช้เซนเซอร์เสียงนี้ สามารถนำไปใช้ตรวจสอบการไม่ยึดติดได้ โดยไม่ต้องอาศัยทักษะการตรวจสอบของพนักงาน