Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Other Education

PDF

Chulalongkorn University

Articles 31 - 46 of 46

Full-Text Articles in Education

กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงระนาดเอกของครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์, ชัยเทพ ชัยภักดี Jan 2018

กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงระนาดเอกของครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์, ชัยเทพ ชัยภักดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ชีวประวัติของครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ 2) ศึกษากระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงระนาดเอกของครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ วิธีดำเนินการวิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม โดยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความและสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย นำเสนอผลการวิจัยเป็นความเรียง ผลการวิจัยพบว่า 1) ชีวประวัติของครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ ประกอบด้วย 4 ด้าน (1) ข้อมูลทั่วไป เป็นบุตรของครูเพชร จรรย์นาฏย์ กับนางปริก จรรย์นาฏย์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2460 สมรสกับนางสังวาลย์ จรรย์นาฏย์ และนางทองหยด จรรย์นาฏย์ มีบุตรธิดารวม 15 คน (2) การศึกษา ศึกษาวิชาสามัญจากวังบูรพาภิรมย์ ศึกษาวิชาดนตรีกับครูเพชร จรรย์นาฏย์ และครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) (3) การทำงาน รับราชการเป็นมหาดเล็กนักดนตรีไทยของวังบางคอแหลมและวังลดาวัลย์ และจัดตั้งสำนักปี่พาทย์ครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ รับงานบรรเลงดนตรีไทย และสอนดนตรีไทย (4) ผลงาน ประกอบด้วย ผลงานการประพันธ์เพลงทั่วไปและเพลงเดี่ยว การบรรเลงในโอกาสสำคัญ ผลงานการประชันปี่พาทย์ และผลงานการปรับวงปี่พาทย์ 2) กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงระนาดเอก ประกอบด้วย 4 ด้าน (1) ครู เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกศิษย์ มีจิตวิทยาในการสอน และมีคุณธรรมจริยธรรม (2) ผู้เรียน มีคุณสมบัติของนักดนตรีที่ดี มีทักษะในการบรรเลงระนาดเอกขั้นสูง (3) เนื้อหาสาระ มีการเรียงลำดับบทเพลงในการสอนเป็นหมวดหมู่ ทางเพลงที่ใช้สอนคือทางครูเพชร จรรย์นาฏย์ ทางครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ และทางครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) (4) การจัดการเรียนการสอน ยึดหลักการสอนตามความสามารถของผู้เรียน ใช้วิธีการสอนทางตรง การสอนทางอ้อม และการสอนให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ เทคนิคการสอนคือการเสริมแรง ระยะเวลาในการสอนยืดหยุ่นตามบริบทของผู้เรียน สถานที่ในการสอนคือสำนักปี่พาทย์ครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ วัดและประเมินผลโดยวิธีการสังเกต


กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ, รัษศิษฏา เกลาพิมาย Jan 2018

กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ, รัษศิษฏา เกลาพิมาย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ 2) สร้างคู่มือการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกตามแนวทางของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ วิธีการดำเนินการวิจัยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์ (interview) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการตีความข้อมูล (interpretation) สร้างข้อสรุปและนำเสนอเป็นความเรียง ผลการวิจัยพบว่า 1. ครูพินิจ ฉายสุวรรณ เป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีปี่พาทย์ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการถ่ายทอด โดยเฉพาะเครื่องมือระนาดเอก ได้รับการยกย่องว่ามีความเป็นเลิศ ครูพินิจได้รับการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกจากครูสอน วงฆ้อง ครูพริ้ง ดนตรีรส และครูเชื้อ ดนตรีรส โดยครูทั้งสามท่านนี้เป็นลูกศิษย์โดยตรงของพระยาเสนาะดุริยางค์ ในช่วงหลังขณะที่ครูพินิจรับราชการประจำอยู่ที่วงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร ท่านได้รับการถ่ายทอดบทเพลงเดี่ยวต่าง ๆ จากครูบุญยงค์ เกตุคง รวมทั้งได้ต่อเพลงเดี่ยวเพิ่มเติมกับครูท่านอื่น ๆ ด้วย เช่น ครูบุญช่วย ชิตท้วม ครูสนิท ลัดดาอ่อน เป็นต้น ลูกศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกจากครูพินิจต้องมีพื้นฐานการบรรเลงระนาดเอกมาก่อนในระดับหนึ่ง ในการถ่ายทอดบทเพลง ครูพินิจเป็นผู้พิจารณาว่าผู้เรียนแต่ละคนเหมาะสมกับบทเพลงใด สำหรับหลักการถ่ายทอดทักษะการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกของครูพินิจ ฉายสุวรรณ มี 3 ประการ ได้แก่ 1) สอนตามสติปัญญาและความสามารถ 2) เน้นเรื่องรสมือของผู้เรียนที่ควรเป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละคน 3) เน้นการบรรเลงที่ถูกต้องชัดเจนไพเราะและได้อรรถรสของบทเพลง 2. คู่มือการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย คำชี้แจงในคู่มือ เนื้อหาสาระเกี่ยวกับเนื้อหาที่เป็นความรู้ความเข้าใจในการนำไปถ่ายทอดสำหรับผู้สอน และการนำไปฝึกทักษะการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกสำหรับผู้เรียนตามแนวทางของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ ขั้นตอนการถ่ายทอดและการฝึกทักษะการบรรเลงเดี่ยวระนาด การวัดและประเมินผล และแหล่งอ้างอิง


การพัฒนาชุดการสอนกีตาร์ไฟฟ้าออนไลน์ด้วยวิธีการเลียนแบบสำหรับผู้เรียนระดับชั้นต้น, พงศ์วุฒิ มหิธิธรรมธร Jan 2018

การพัฒนาชุดการสอนกีตาร์ไฟฟ้าออนไลน์ด้วยวิธีการเลียนแบบสำหรับผู้เรียนระดับชั้นต้น, พงศ์วุฒิ มหิธิธรรมธร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์คุณลักษณะและผลิตชุดการสอนกีตาร์ไฟฟ้าออนไลน์ด้วยวิธีการเลียนแบบสำหรับผู้เรียนระดับชั้นต้นฉบับนำร่อง 2) พัฒนาชุดการสอนกีตาร์ไฟฟ้าออนไลน์ด้วยวิธีการเลียนแบบสำหรับผู้เรียนระดับชั้นต้นฉบับสมบูรณ์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา โดยใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ผู้สอน ผู้ผลิตสื่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านกีตาร์ไฟฟ้า และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อ ในประเด็น 1) แนวคิดเกี่ยวกับวิธีการสอนออนไลน์ 2) แนวคิดการผลิตสื่อ 3) แนวทางการพัฒนาชุดการสอนกีตาร์ไฟฟ้าออนไลน์ ใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ใช้การตีความและสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย ผลการวิจัยพบว่า 1. ชุดการสอนออนไลน์ที่เหมาะสมในการให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติตามควรมีส่วนประกอบที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้ 1) ด้านผู้สอน ใช้การแต่งกายและภาษาที่มีความสุภาพเป็นกันเอง 2) ด้านการสอน ใช้วิธีการสาธิตและการบรรยาย 3) ด้านเนื้อหาสาระ เน้นตามความสนใจของผู้เรียน โดยแบ่งออกเป็นเทคนิคการเล่นและทฤษฎีดนตรี 4) ด้านองค์ประกอบสื่อมัลติมีเดีย ควรมีองค์ประกอบทางภาพและเสียงที่มีความคมชัด มีการใช้กราฟิกช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และ 5) ด้านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อระหว่างบุคคลที่มีความสนใจกับชุดการสอนที่ตรงความต้องการผู้เรียน สำหรับกระบวนการผลิตชุดการสอนฉบับนำร่องประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมการผลิต ขั้นการผลิตรายการ และขั้นหลังการผลิต 2. ในการพัฒนาชุดการสอนฉบับสมบูรณ์ได้ข้อค้นพบที่สำคัญว่า ผู้สอนควรให้ข้อสังเกตไว้ในขั้นนำ มีการยกตัวอย่างประกอบและสาธิตการเล่นไปพร้อมกับเมโทรโนม ควรสอดแทรกเนื้อหาเรื่องพื้นฐานที่มีความจำเป็นในการนำไปประยุกต์ใช้ไว้ในบทเพลงท่อนที่สอน ในการถ่ายทำควรใช้กล้องวิดีโออย่างน้อย 2 ตัว เพื่อให้ผู้เรียนเห็นทั้งมือซ้ายและมือขวาของผู้สอนได้อย่างชัดเจน


ปัจจัยความสำเร็จในการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะสำหรับผู้สูงอายุไทย, วรัท โชควิทยา Jan 2018

ปัจจัยความสำเร็จในการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะสำหรับผู้สูงอายุไทย, วรัท โชควิทยา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การทำวิจัยเรื่องปัจจัยความสำเร็จในการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะสำหรับผู้สูงอายุไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่ต้องการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะมีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ โดยใช้ทฤษฎีการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่แอนดราโกจี (Andragogy) และ การออกแบบการเรียนรู้ที่เป็นสากล (Universal Design for Learning) การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเลือกผู้ให้ข้อมูลสำคัญเป็นประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจากศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนครนนทบุรี ได้แก่ ผู้บริหาร 1 ท่าน ผู้สอน 5 ท่าน และผู้เรียน 23 ท่าน และชมรมขับร้องประสานเสียงนนทรีคอรัส ได้แก่ ประธานชมรมผู้นำกิจกรรม 1 ท่าน สมาชิกชมรม 11 ท่าน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และไม่มีส่วนร่วม ตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลโดยใช้วิธีการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า จัดระเบียบข้อมูล สรุปข้อมูล และนำเสนอผลการศึกษาโดยการบรรยาย ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยในการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะสำหรับผู้สูงอายุของทั้งสองกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ 1) ปัจจัยด้านสุขภาวะ ได้แก่ สุขภาวะทางอารมณ์ สุขภาวะทางสังคม สุขภาวะทางร่างกาย ด้านสมองและความจำ 2) ปัจจัยด้านการจัดกิจกรรม ได้แก่ มโนภาพต่อตนเอง จุดประสงค์ของกิจกรรม บรรยากาศของกิจกรรม รูปแบบของกิจกรรม และเจตคติของผู้สอน และผู้สูงอายุ 3) ปัจจัยด้านนโยบายและการบริหาร ด้านนโยบายทั้งสองกลุ่มให้การส่งเสริมด้านกิจกรรม ด้านการบริหารบุคลากร ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรีมีผู้สอนจิตอาสาเป็นผู้สูงอายุ อบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความเข้าใจผู้สูงอายุ ให้การดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้น ปัญหาด้านงบประมาณที่ไม่เพียงพอแก้ปัญหาร่วมกับครูจิตอาสา ชมรมขับร้องประสานเสียงนนทรีคอรัส สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชุปถัมภ์ ไม่มีโยบายการใช้งบประมาณที่ชัดเจน และสมาชิกมีส่วนร่วมไม่เท่าเทียมกัน ปัจจัยดังกล่าวเป็นแนวทางสำหรับผู้จัดกิจกรรมในการทำความเข้าใจถึงผู้สูงอายุเพื่อนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะเพื่อสร้างความสุขและการมีสุขภาวะที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ


แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม, อินทุอร จันทนภุมมะ Jan 2018

แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม, อินทุอร จันทนภุมมะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาสภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม 2. นำเสนอแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีกลุ่มผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย 1) ครูผู้สอนเปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม จำนวน 5 ท่าน 2) ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดนตรีสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จำนวน 1 ท่าน 3) นักเรียนที่มีภาวะออทิซึมที่เรียนเปียโน จำนวน 5 ท่าน 4) ผู้ปกครองของนักเรียนที่มีภาวะออทิซึมที่ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูล จำนวน 5 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ปลายเปิด จำนวน 3 ชุด และแบบสังเกต จำนวน 1 ชุด ผลการวิจัยพบว่า 1. สภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม ครูผู้สอนส่วนใหญ่ใช้หลักการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน 2. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม ประกอบด้วย 5 ประเด็น คือ 1) ด้านวัตถุประสงค์ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางดนตรี เชื่อมโยงองค์ความรู้ทางดนตรีกับทักษะปฏิบัติเปียโน อีกทั้งส่งเสริมและพัฒนาด้านพัฒนาการ 2) ด้านเนื้อหา แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านองค์ประกอบดนตรี วรรณคดีดนตรี และทักษะดนตรี 3) ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ครูผู้สอนควรใช้รูปแบบการนำเสนอและวิธีการตอบสนองของนักเรียนที่หลากหลาย มีการปรับระดับการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนและปรับเปลี่ยนระยะเวลาการทำงานของนักเรียนตามความเหมาะสม รวมไปถึงครูผู้สอนต้องมีความสามารถในการจัดการชั้นเรียน 4) ด้านสื่อการสอน ครูผู้สอนควรเลือกสื่อการสอนที่มีความหลากหลาย โดยสามารถประยุกต์สิ่งของอุปกรณ์เสริมพัฒนาการและของเล่น อีกทั้งควรเลือกหนังสือจากหลักสูตรที่มีมาตราฐานผ่านการยอมรับจากสถาบันต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียน 5) ด้านการวัดและการประเมินผล ครูผู้สอนควรวัดและประเมินผลทั้งด้านวิชาการและพัฒนาการของนักเรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย อีกทั้งควรวัดและประเมินผลประสิทธิภาพของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนอยู่เสมอ เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนให้เหมาะสมต่อไป


กระบวนการถ่ายทอดการประพันธ์เพลงไทยตามแนวทางของพันโทเสนาะ หลวงสุนทร ศิลปินแห่งชาติ, สมนึก แสงอรุณ Jan 2018

กระบวนการถ่ายทอดการประพันธ์เพลงไทยตามแนวทางของพันโทเสนาะ หลวงสุนทร ศิลปินแห่งชาติ, สมนึก แสงอรุณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากระบวนการถ่ายทอดการประพันธ์เพลงไทยตามแนวทางของพันโทเสนาะ หลวงสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการตีความ สร้างข้อสรุปแบบอุปนัย และนำเสนอเป็นความเรียง ผลการวิจัยพบว่ากระบวนการถ่ายทอดการประพันธ์เพลงไทยตามแนวทางของพันโทเสนาะ หลวงสุนทร แบ่งออกเป็นด้าน ดังนี้ ด้านผู้สอน พันโทเสนาะ หลวงสุนทร กำเนิดในครอบครัวดนตรีไทยได้รับการถ่ายทอดดนตรีจากครูดนตรีที่เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ดนตรีที่หลากหลาย ส่งผลให้พันโทเสนาะ หลวงสุนทร มีความเชี่ยวชาญดนตรีไทย การประพันธ์เพลงไทย และสามารถถ่ายทอดได้เป็นอย่างดียิ่ง ทำให้ให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทักษะการประพันธ์เพลงไทยอย่างมีประสิทธิภาพ พันโทเสนาะ หลวงสุนทร มีคุณลักษณะของครูที่ดีตรงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือ 1) มีปัญญาความรู้ดีในหลักวิชาอันถูกต้อง 2) ประพฤติดี มีความสุจริต เมตตากรุณา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น และ 3) มีความสามารถที่จะเผื่อแผ่และถ่ายทอดความรู้ได้อย่างดี ด้านผู้เรียน ต้องมีพื้นฐานดนตรีไทยที่เกี่ยวข้องกับการประพันธ์เพลงไทย และสามารถอ่านเขียนโน้ตแบบดนตรีตะวันตกได้ดี ด้านสาระมี 3 ส่วนดังนี้ 1) ความสำคัญและวัตถุประสงค์ของการประพันธ์เพลงไทย 2) ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการประพันธ์เพลงไทย และ 3) แนวคิดการประพันธ์เพลงไทย คือ ประพันธ์ตามขนบแบบโบราณ ประพันธ์ตามแรงบันดาลใจ และประพันธ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีหลักการประพันธ์ 13 แบบดังนี้ (1) การประดิษฐ์มือฆ้องอิสระ (2) การประดิษฐ์ทางพื้น (3) การประดิษฐ์ทางกรอหรือบังคับทาง (4) การยึดลูกตก (5) การประดิษฐ์ทางเปลี่ยน (6) การยืดขยายตัดยุบ (7) การยืดยุบพร้อมเปลี่ยนทาง (8) การยืดทำนองเฉพาะลูกเท่าและลูกโยน (9) การประดิษฐ์ลูกล้อลูกขัดและลูกเหลื่อม (10) การประพันธ์เพลงในโครงสร้างหน้าทับสองไม้หรือหน้าทับทยอย (11) ประพันธ์เพลงให้เป็นเพลงสำเนียงภาษา (12) การใช้และการย้ายบันไดเสียง และ (13) การประพันธ์ทางเดี่ยว ด้านการสอน สอนด้วยวิธีการบรรยายควบคู่กับการให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติ มีเทคนิคการสอนกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เน้นทักษะพิสัยด้วยการฝึกหัดการประพันธ์เพลงไทย โดยมีการประเมินผลก่อนเรียน ในระหว่างเรียน และหลังจากเรียนครบตามเนื้อหาสาระ ด้วยวิธีการแสดงผลงานเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่


การศึกษากระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงจะเข้ของครูระตี วิเศษสุรการ, ไกรสิทธิ์ อัจฉริยะประสิทธิ์ Jan 2017

การศึกษากระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงจะเข้ของครูระตี วิเศษสุรการ, ไกรสิทธิ์ อัจฉริยะประสิทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) รวบรวมและสังเคราะห์ชีวประวัติของครูระตี วิเศษสุรการ 2) ศึกษากระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงจะเข้ของครูระตี วิเศษสุรการ วิธีการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบวิเคราะห์เอกสารและแบบสัมภาษณ์สำหรับกลุ่มเครือญาติ กลุ่มลูกศิษย์ และกลุ่มผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากกลุ่มลูกศิษย์ เก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและการตีความแบบอุปนัย จากนั้นสร้างข้อสรุปและนำเสนอเป็นความเรียง ผลการวิจัยพบว่า 1) ครูระตี วิเศษสุรการ เป็นนักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงและมีพรสวรรค์ในการบรรเลงจะเข้ บิดาของครูปลูกฝังความรักในดนตรีและวินัยในการฝึกซ้อมดนตรีให้ครูตั้งแต่เป็นเด็ก บิดาของครูส่งเสริมการเรียนดนตรีของครู โดยการแสวงหาครูจะเข้ที่มีฝีมือหลายท่านมาสอนครู จนทำให้ครูได้รับถ่ายทอดบทเพลงอันทรงคุณค่าไว้จำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น บิดาของครูยังสนับสนุนการศึกษาของครู ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของครูอีกด้วย ครูรับราชการเป็นนักดนตรีที่กรมประชาสัมพันธ์ จึงทำให้ครูมีผลงานการบันทึกเสียงจำนวนมาก นอกจากนี้ ครูยังได้ถ่ายทอดการบรรเลงจะเข้ให้แก่ลูกศิษย์ ตามสถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ อีกด้วย ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ครูป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ครูมีอาการทรุดลงอย่างต่อเนื่อง และได้สิ้นลมอย่างสงบ รวมอายุได้ 65 ปี 2) กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงจะเข้ของครูระตี วิเศษสุรการ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านผู้สอน ครูมีคุณสมบัติครบถ้วนในความเป็นครู ทั้งด้านความรู้ ด้านการสอน ด้านบุคลิกภาพ และด้านคุณธรรมจริยธรรม (2) ด้านผู้เรียน ลูกศิษย์ของครูมีบทบาทในการปรนนิบัติดูแลครูและรักษาองค์ความรู้ของครู มีลักษณะของครูที่ดีและนักดนตรีที่ดี และมีวิธีการถ่ายทอดที่สอดคล้องกับวิธีการของครู (3) ด้านเนื้อหาสาระ บทเพลงที่ครูใช้ในการถ่ายทอดมีลักษณะทำนองที่โดดเด่น ซึ่งเป็นบทเพลงที่ครูได้รับถ่ายทอดมาจากครูโบราณและเป็นบทเพลงที่ครูได้ประพันธ์ขึ้นมาใหม่ ครูให้ความสำคัญกับพื้นฐานการบรรเลงจะเข้ เทคนิคในการบรรเลงจะเข้ของครูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (4) ด้านการเรียนการสอน ครูมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดและใช้วิธีการถ่ายทอดแบบท่องจำ ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และเห็นคุณค่าของบทเพลง ครูมีขั้นตอนการถ่ายทอดการบรรเลงจะเข้ที่เริ่มจากการพิจารณาพื้นฐานของผู้เรียน จนกระทั่งผู้เรียนสามารถบรรเลงได้อย่างเป็นธรรมชาติและเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดต่อไปได้


การนำเสนอชุดบทเพลงที่ใช้สอนในวิชาปฏิบัติกีตาร์ไฟฟ้าระดับปริญญาตรี, วัยวุฒิ พรมจีน Jan 2017

การนำเสนอชุดบทเพลงที่ใช้สอนในวิชาปฏิบัติกีตาร์ไฟฟ้าระดับปริญญาตรี, วัยวุฒิ พรมจีน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาและนำเสนอบทเพลงในสไตล์ต่างๆ ที่ใช้ในวิชาปฏิบัติกีตาร์ไฟฟ้าระดับปริญญาตรี 2. เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ของบทเพลงในสไตล์ต่างๆ และศึกษาวิธีการเปลี่ยนสไตล์บทเพลง งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีขั้นตอนดังนี้ 1) วิเคราะห์รวบรวมสาระดนตรีที่ใช้สอนกีตาร์ไฟฟ้าในระดับอุดมศึกษา 2) วิเคราะห์องค์ประกอบดนตรีของบทเพลงในสไตล์ต่างๆ จากตำราสอนกีตาร์และบทเพลงที่คัดสรร 3) ตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญกีตาร์ไฟฟ้าในสไตล์ต่างๆ 12 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเป็นเครื่องมือวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบดนตรีของแต่ละสไตล์ จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลของบทเพลงกีตาร์ไฟฟ้าในสไตล์ต่างๆ จำแนกตามองค์ประกอบดนตรี ผลการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ตอนได้แก่ ตอนที่ 1 ผลการศึกษาและนำเสนอชุดบทเพลงที่ใช้สอนในวิชาปฏิบัติกีตาร์ไฟฟ้าระดับปริญญาตรีในบทเพลงสไตล์บลูส์ 30 เพลง คันทรี่ 30 เพลง ร็อค 40 เพลง และฟังก์กับโซล 30 เพลง โดยวิเคราะห์องค์ประกอบดนตรี 4 ด้าน 1) จังหวะวิเคราะห์ ความเร็ว (tempo) อัตราจังหวะ (Time signature) และรูปแบบจังหวะ 2) ทำนองวิเคราะห์การใช้บันใดเสียงและโมด 3) เสียงประสานวิเคราะห์ลักษณะการใช้ทางเดินคอร์ด 4) สีสันของเสียงวิเคราะห์การใช้เทคนิคและการใช้ประเภทของเสียงกีตาร์ เอฟเฟค ซึ่งรายละเอียดดนตรีในแต่ละสไตล์มีความแตกต่างกัน ตอนที่ 2 ผลของวิธีการเปลี่ยนสไตล์บทเพลงที่ได้จากการวิเคราะห์ในตอนที่ 1 นำมาสรุปสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของดนตรีแต่ละสไตล์เพื่อใช้ในการเปลี่ยนสไตล์บทเพลง และนำเสนอตัวอย่างการเปลี่ยนสไตล์บทเพลงที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น 5 บทเพลง


การนำเสนอกิจกรรมดนตรีเพื่อส่งเสริมเจตคติทางดนตรี สำหรับเด็กด้อยโอกาส, คณิต พรมนิล Jan 2017

การนำเสนอกิจกรรมดนตรีเพื่อส่งเสริมเจตคติทางดนตรี สำหรับเด็กด้อยโอกาส, คณิต พรมนิล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มี วัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการจัดกิจกรรมดนตรีเพื่อส่งเสริมเจตคติดนตรีสำหรับเด็กด้อยโอกาส 2) นำเสนอแนวทางการจัดกิจกรรมดนตรีเพื่อส่งเสริมเจตคติดนตรีสำหรับเด็กด้อยโอกาส โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบวิจัยและพัฒนา ในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล มีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ออกแบบกิจกรรมโดยวิเคราะห์เอกสารและศึกษาเกี่ยวกับสภาพบริบทเด็กด้อยโอกาสที่เกี่ยวข้องกับดนตรี นำกิจกรรมไปทดลองใช้กับโรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็กสานรัก มูลนิธิเด็ก จังหวัดนครปฐม จำนวน 10 คน ด้วยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมไม่มีพื้นฐานด้านดนตรีมาก่อน ศึกษาผลการใช้กิจกรรมด้วยวิธีการสัมภาษณ์ผู้เรียน ผู้สอนประจำชั้นเรียนและการสังเกตเจตคติในการเรียนการสอนดนตรีและพัฒนาการทางดนตรี โดยศึกษาจากพฤติกรรมการร่วมกิจกรรม ความสนใจ ทัศนคติต่อการเรียนการสอนดนตรี การวิจัยครั้งนี้ตรวจสอบข้อมูลด้วยวิธีการสามเส้า ประกอบด้วยข้อมูลจาก 1) การสัมภาษณ์ผู้เรียน 2) การสัมภาษณ์ผู้สอนประจำชั้นเรียนของมูลนิธิ 3) การสังเกตการเรียนการสอนโดยผู้สอนดนตรีเป็นผู้บันทึกหลังกิจกรรมการเรียนการสอน ผลการวิจัยพบว่า 1) ห้องเรียนไม่มีผู้สอนวิชาดนตรีและไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนดนตรีที่ต่อเนื่อง ผู้เรียนมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและอารมณ์ช้ากว่าปกติ การจัดการเรียนการสอนเป็นลักษณะการเรียนร่วม นอกจากนี้ยังพบว่าในห้องเรียนมีเครื่องดนตรี เช่น อูคูเลเล่ ระนาดขนาดเล็ก กลองยาวเล็ก แทมบูริน เป็นต้น 2) แนวทางการจัดกิจกรรมดนตรี ฯ แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงต้นมุ่งเน้นกิจกรรมการเคลื่อนไหวและการฟังเพื่อให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์เบื้องต้น ช่วงกลางมุ่งเน้นกิจกรรมการร้องเพื่อให้สามารถร้องและเคลื่อนไหวประกอบเพลงได้ ช่วงสุดท้ายมุ่งเน้นกิจกรรมการเล่นระนาดขนาดเล็กเพื่อให้เกิดประสบการณ์ด้านทักษะดนตรี 3) ผลการจัดกิจกรรมดนตรี ฯ ด้านทักษะทางดนตรี สามารถปฏิบัติดนตรีได้ดีขึ้น สำหรับด้านเนื้อหาดนตรี สามารถอธิบายเนื้อหาดนตรีได้ดี ด้านเจตคติทางดนตรี ผู้เรียนมีความสนใจต่อกิจกรรมเป็นอย่างดีและผู้เรียนแสดงความเอื้อเฟื้อแบ่งปันระหว่างผู้เรียนและผู้เรียน


การศึกษาต้นแบบความเป็นครูดนตรีพื้นบ้านล้านนา: กรณีศึกษาครูพรหเมศวร์ สรรพศรี, เพียงแพน สรรพศรี Jan 2017

การศึกษาต้นแบบความเป็นครูดนตรีพื้นบ้านล้านนา: กรณีศึกษาครูพรหเมศวร์ สรรพศรี, เพียงแพน สรรพศรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นแบบความเป็นครูดนตรีพื้นบ้านล้านนาของครูพรหเมศวร์ สรรพศรี วิธีดำเนินการวิจัยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์สำหรับครูพรหเมศวร์ สรรพศรี กลุ่มครอบครัวและเครือญาติ และกลุ่มลูกศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดโดยตรง ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษางานเอกสาร และการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ให้ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา และนำเสนอผลการวิจัยเป็นความเรียง ผลการวิจัยพบว่า ต้นแบบความเป็นครูดนตรีพื้นบ้านล้านนาของครูพรหเมศวร์ สรรพศรี ประกอบไปด้วยคุณลักษณะ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านบุคลิกภาพ พบว่า ท่านเป็นผู้มีทักษะการเข้าสังคม เป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นผู้มีความเป็นกัลยาณมิตร และเป็นผู้มีความใฝ่รู้ 2) ด้านคุณธรรม พบว่า ท่านเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ เป็นผู้มีความประพฤติตนอยู่ในความดี เป็นผู้มีความอดทน และเป็นผู้สละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 3) ด้านความรู้ พบว่า ท่านสามารถจดจำเพลงและบรรเลงได้อย่างแม่นยำ สามารถแปรทำนองคล่องชำนาญ สามารถสอน ใช้ ปรับ กระบวนทัศน์แตกฉาน สามารถวิเคราะห์บริบทดนตรีพื้นบ้านล้านนาอย่างชาญเชี่ยว สามารถสร้างสรรค์ผลงานตระการผล และ สามารถประเมินผลงานดนตรีเที่ยงธรรม 4) ด้านการสอน ท่านปลูกฝังให้ศิษย์บรรเลงดนตรีล้านนาได้เสนาะโสต ปลูกฝังให้ศิษย์มีความเป็นดนตรีการ ปลูกฝังให้ศิษย์พัฒนาตนเองต่อเนื่อง ปลูกฝังให้ศิษย์มีประสบการณ์การแสดงดนตรี ปลูกฝังให้ศิษย์รู้สมรรถนะตนเอง และ ปลูกฝังให้ศิษย์มีทักษะดนตรีพื้นบ้านล้านนาที่ลุ่มลึก 5) ด้านความเป็นคนในวัฒนธรรมล้านนา พบว่า ท่านเป็นผู้ดำเนินชีวิตตามวิถีชาวล้านนา และ เป็นผู้มีความผูกพันกับขนบวัฒนธรรมดนตรีล้านนา


แนวทางการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ, นวพร กังสาภิวัฒน์ Jan 2017

แนวทางการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ, นวพร กังสาภิวัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาและเก็บรวบรวมองค์ความรู้ในเรื่องของหลักการในการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ และ 2) เพื่อนำเสนอแนวทางการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้การวิเคราะห์เอกสาร (Content Analysis) และการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการบรรยาย การกำหนดผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) ผู้วิจัยใช้วิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำกลุ่มศิลปินระดับนานาชาติ 2 ท่าน และ 2) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำกลุ่มศิลปินครู จำนวน 6 ท่าน ผลการวิจัยสรุปว่า 1) ในการศึกษาหัวข้อการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ ประกอบด้วย 2 หัวข้อ คือ 1) องค์ประกอบสำคัญในการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ ได้แก่ 1.1) รูปปาก 1.2) การใช้ลมหายใจ1.3) ตำแหน่งคาง 1.4) การออกเสียง 1.5) การควบคุมลักษณะเสียง 1.6) ตำแหน่งมือขวา และ 2) แบบฝึกหัดทักษะการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ (Horn Low Register's Etudes) โดยองค์ประกอบสำคัญเหล่านี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการบรรเลงฮอร์น ซึ่งการบรรเลงฮอร์นแต่ละช่วงเสียงมีวิธีการที่แตกต่างกัน สำหรับการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ รูปปากควรมีความผ่อนคลาย ใช้ลมช้าและประมาณมาก โดยการเปลี่ยนตำแหน่งคางและการออกเสียงช่วยสนับสนุนให้ลมเดินทางช้าลง ผู้เล่นควรมีการควบคุมลักษณะเสียงในการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำโดยใช้ลิ้นเน้นหัวเสียงแรงกว่าช่วงเสียงสูงเพื่อความชัดเจนและแม่นยำ ตำแหน่งมือขวาช่วยทำให้เสียงต่ำมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น องค์ประกอบสำคัญดังกล่าว ส่งผลต่อองค์ประกอบของเสียง ได้แก่ ระดับเสียง ความถูกต้องของระดับเสียง คุณภาพเสียง ความแม่นยำเสียง และสีสันเสียง แบบฝึกหัดฝึกทักษะการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำเป็นปัจจัยที่ช่วยในการฝึกทักษะการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำให้เป็นผลดีในระยะยาว 2) แนวทางการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ นำเสนอเป็นเล่มเอกสารคู่มือ เรื่อง "แนวทางการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ" ประกอบด้วย คำนำ คำชี้แจงในการใช้แนวทางการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ สารบัญ ตอนที่ 1 ประวัติความเป็นมาของฮอร์น ตอนที่ 2 หลักการทั่วไปในการบรรเลงฮอร์น ตอนที่ 3 องค์ประกอบสำคัญในการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ ตอนที่ 4 แบบฝึกหัดทักษะการบรรเลงฮอร์นช่วงเสียงต่ำ …


กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงตรัวของครูธงชัย สามสี, ยุทธนา ทองนำ Jan 2017

กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงตรัวของครูธงชัย สามสี, ยุทธนา ทองนำ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษากระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงตรัวของครูธงชัย สามสี 2) สร้างคู่มือการบรรเลงตรัวตามแนวทางของครูธงชัย สามสี วิธีการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการตีความ สร้างข้อสรุปแบบอุปนัย และนำเสนอเป็นความเรียง ผลการวิจัย พบว่า 1. ครูธงชัย สามสี เป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านกันตรึมได้รับการถ่ายทอดด้วยวิธีการ แบบมุขปาฐะจากครูดนตรีกันตรึมหลายท่านของหมู่บ้านวัฒนธรรมดงมัน เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์จนสามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็นเลิศทางการบรรเลงตรัวและการถ่ายทอด ลูกศิษย์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ 1) ไม่มีพื้นฐานการบรรเลงตรัวมาก่อน และ 2) มีพื้นฐานการบรรเลงตรัวมาบ้างแล้ว ลักษณะความรู้หรือทักษะการบรรเลงตรัวของผู้เรียนแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) ระดับพื้นฐาน 2) ระดับขั้นกลาง และ 3) ระดับเพลงชั้นสูง วิธีการสอนแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ 1) วิธีการสอนสำหรับผู้เรียนที่ไม่มีพื้นฐาน โดยมีขั้นตอนการสอนอย่างเป็นลำดับขั้น และ 2) วิธีการสอนสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานมาแล้ว ซึ่งใช้วิธีการต่อเพลงแบบปากเปล่า ทั้ง 2 วิธีการใช้การอธิบายและสาธิต โดยยึดหลักการสอน 4 ประการ คือ 1) เน้นให้ผู้เรียนมีพื้นฐานการบรรเลงที่ดีตามแนวทางของตน 2) สอนตามระดับทักษะของผู้เรียน 3) เน้นให้ผู้เรียนฝึกทักษะปฏิบัติการบรรเลงตรัวให้เข้ากับจังหวะหน้าทับกลอง และ 4) สอนทักษะการบรรเลงโดยใช้บทเพลงจากง่ายไปยาก เนื้อหาสาระที่ครูให้ความสำคัญในการถ่ายทอด คือ พื้นฐานการบรรเลงตรัวเบื้องต้นที่ถูกต้องตามหลักการของครู 2. คู่มือการฝึกทักษะการบรรเลงตรัวตามแนวทางของครูธงชัย สามสี ประกอบด้วยคำชี้แจงในการใช้คู่มือ เนื้อหาสาระที่จำเป็นสำหรับการฝึกทักษะการบรรเลงตรัว วิธีการฝึกทักษะการบรรเลง ตรัว การประเมินผล และแหล่งข้อมูล


ผลการใช้ชุดแบบฝึกตามแนวคิดของคาร์ล ออร์ฟเพื่อพัฒนาความเข้าใจทางด้านจังหวะของนักเรียนวงโยธวาทิตระดับประถมศึกษา, ฌานดนู ไล้ทอง Jan 2017

ผลการใช้ชุดแบบฝึกตามแนวคิดของคาร์ล ออร์ฟเพื่อพัฒนาความเข้าใจทางด้านจังหวะของนักเรียนวงโยธวาทิตระดับประถมศึกษา, ฌานดนู ไล้ทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อนำเสนอชุดแบบฝึกตามแนวคิดของคาร์ล ออร์ฟเพื่อพัฒนาความเข้าใจทางด้านจังหวะของนักเรียนวงโยธวาทิตระดับประถมศึกษา 2) เพื่อศึกษาผลของการใช้ชุดแบบฝึกตามแนวคิดของคาร์ล ออร์ฟเพื่อพัฒนาความเข้าใจทางด้านจังหวะของนักเรียนวงโยธวาทิตระดับประถมศึกษา กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้ได้แก่ นักเรียนวงโยธวาทิตระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม จำนวน 25 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษา 4-6 เครื่องมือในการวิจัยประกอบด้วย 1) ชุดแบบฝึกตามแนวคิดของคาร์ล ออร์ฟเพื่อพัฒนาความเข้าใจทางด้านจังหวะของนักเรียนวงโยธวาทิตระดับประถมศึกษา จำนวน 5 ชุด 2) แบบทดสอบความเข้าใจทางด้านจังหวะของนักเรียนวงโยธวาทิต ระดับประถมศึกษา 3) แบบประเมินความเข้าใจทางด้านจังหวะของนักเรียนวงโยธวาทิต ระดับประถมศึกษา การดำเนินการวิจัยประกอบด้วยการศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พัฒนาเป็นชุดแบบฝึกตามแนวคิดของคาร์ล ออร์ฟเพื่อพัฒนาความเข้าใจทางด้านจังหวะของนักเรียนวงโยธวาทิตระดับประถมศึกษา จากนั้นนำไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาและสถิติเชิงบรรยาย คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าที (t-test) ผลการวิจัยมีดังนี้ 1) ชุดแบบฝึกตามแนวคิดของคาร์ล ออร์ฟเพื่อพัฒนาความเข้าใจทางด้านจังหวะของนักเรียนวงโยธวาทิตระดับประถมศึกษา ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ประกอบไปด้วยแบบฝึกย่อย 5 แบบฝึก นำเสนอในรูปแบบของหนังสืออิเล็กโทรนิกบนเครื่องคอมพิวเตอร์แทบเลต 2) ผลของการใช้ชุดแบบฝึกตามแนวคิดของคาร์ล ออร์ฟเพื่อพัฒนาความเข้าใจทางด้านจังหวะของนักเรียนวงโยธวาทิตระดับประถมศึกษา พบว่าคะแนนรวมด้านความรู้ความเข้าใจหลังการใช้ชุดแบบฝึก สูงกว่าคะแนนก่อนการใช้ชุดแบบฝึกของนักเรียนแต่ละคน (M = 23.32, SD = 2.49), (M = 18.12, SD = 3.49) และเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยด้วย t-test พบว่าคะแนนก่อนการใช้ชุดแบบฝึกและหลังการใช้ชุดแบบฝึกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (t = -10.007, sig = .000)


แนวทางการใช้แอปพลิเคชั่นดนตรีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ดนตรีในระดับประถมศึกษา, ธณัตชัย เหลือรักษ์ Jan 2017

แนวทางการใช้แอปพลิเคชั่นดนตรีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ดนตรีในระดับประถมศึกษา, ธณัตชัย เหลือรักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจการใช้สื่อการสอนในชั้นเรียนวิชาดนตรีสำหรับนักเรียนประถมศึกษา และ 2) นำเสนอแนวทางการใช้แอปพลิเคชั่นดนตรีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ดนตรีในระดับประถมศึกษา ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาจาก 1) แนวคิดและทฤษฎีการเรียนการสอนดนตรีระดับประถมศึกษาในประเทศไทย 2) แนวคิดและทฤษฎีการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนดนตรี และ 3) การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากแนวคิดของผู้ทรงคุณวุฒิด้านการใช้เทคโนโลยีการศึกษาและด้านการสอนดนตรีประถม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ใช้การตีความและสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย ผลการวิจัยพบว่า 1. การใช้สื่อการสอนดนตรีแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการใช้สื่อการสอนทั่วไป นิยมใช้ เครื่องดนตรีไฟฟ้า อุปกรณ์ MIDI วีดีทัศน์ และ บทเพลงสมัยนิยม 2) ด้านการใช้สื่อมัลติมีเดีย นิยมใช้บันทึกภาพการแสดงดนตรีสด และ สื่อการสอนออนไลน์ 3) ด้านการใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ นิยมใช้แอปพลิเคชั่นนำเสนอ อินเตอร์เนต และแอปพลิเคชั่นการศึกษา 2. แนวทางการใช้แอปพลิเคชั่นแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดนตรีในระดับชั้นประถมศึกษา ควรคำนึงถึงการจูงใจผู้เรียน ให้ผู้เรียนสนุก รู้จักคุณค่าของการเรียนดนตรี จากนั้นจึงให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ ความรู้ทางดนตรี เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ดนตรี 2) การใช้แอปพลิเคชั่นดนตรีในการเรียนการสอน ควรคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างความสามารถของแอปพลิเคชั่นกับเนื้อหาสาระ ความสะดวกสบายและความน่าสนใจในการใช้งาน และ 3) การจัดกิจกรรมดนตรีสามารถทำได้ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานผ่านสื่อออนไลน์เพื่อเป็นผลงานผู้เรียน โดยควรคำนึงถึงการละเมิดลิขสิทธิ์และความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา


แนวทางการจัดกิจกรรมชมรมดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวร, ธมนภัทร อนันตศรี Jan 2017

แนวทางการจัดกิจกรรมชมรมดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวร, ธมนภัทร อนันตศรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาลักษณะการเรียนรู้แบบร่วมมือในชมรมดนตรีไทยที่มีความแตกต่างกันในระยะเริ่มต้นและชมรมดนตรีไทยระยะยาวนาน 2) เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดกิจกรรมชมรมดนตรีไทยตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ การวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ครูและนักเรียนในชมรมดนตรีในของโรงเรียนคีรีเวสเพียรอุปถัมภ์ จังหวัดตราด เป็นชมรมดนตรีไทยในโรงเรียนที่มีความโดดเด่นด้านชมรมดนตรีไทยที่เริ่มต้นก่อตั้ง และโรงเรียนวัดทรงธรรม จังหวัดสมุทรปราการ เป็นชมรมดนตรีไทยในโรงเรียนที่มีความโดดเด่นด้านชมรมดนตรีที่มีความมั่นคงยาวนานเกิน 10 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสังเกตและแบบสัมภาษณ์สรุปผล จากนั้นตีความโดยสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (analysis induction) และนำเสนอข้อมูลแบบความเรียงโดยใช้การพรรณนาความ (Descriptive) ผลการวิจัยพบว่า 1) ทั้งโรงเรียนที่มีความแตกต่างกันในด้านระยะเวลาทั้งเริ่มต้นและยาวนานต่างมีลักษณะการเรียนรู้แบบร่วมมือ มีกิจกรรมที่สะท้อนถึงการรวมกลุ่มที่มีการเรียนรู้แบบร่วมมือในชมรมดนตรีไทยตามตัวชี้วัดทั้ง 5 ได้แก่ (1) การช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในด้านกิจกรรมทางดนตรีและการเป็นอยู่ในชมรม (2) การมีปฏิสัมพันธ์ในชมรม ผู้เรียนและครูผู้สอน ปรึกษาหารือกันเพื่อการฝึกซ้อมและการประกวดแข่งขัน (3) การรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคนในด้านทักษะเครื่องมือเอกที่แต่ละคนต้องฝึกซ้อมรวมทั้งการดูแลเครื่องดนตรีและชมรมดนตรีไทย (4) การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย การซ้อมแต่ละเครื่องมือและการซ้อมรวมกลุ่มย่อยที่แบ่งตามระดับทักษะ (5) กระบวนการกลุ่มของชมรมดนตรีไทยที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันในชมรมและการซ้อมรวมวงเพื่อพัฒนาทักษะรายกลุ่มของผู้เรียน 2) จากการเก็บรวบรวมข้อมูลและการศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยได้สังเคราะห์และนำเสนอแนวทางการที่เป็นคุณลักษณะดนตรีไทยที่ส่งเสริมกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวร


กระบวนการจัดการเรียนการสอนดนตรีไทยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย กรณีศึกษา ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลนครนนทบุรี, ธมนวรรณ อยู่ดี Jan 2017

กระบวนการจัดการเรียนการสอนดนตรีไทยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย กรณีศึกษา ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลนครนนทบุรี, ธมนวรรณ อยู่ดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการจัดการเรียนการสอนดนตรีไทยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยเลือกศึกษา ได้แก่ 1) ครูผู้สอนดนตรีไทย จำนวน 1 ท่าน 2) ผู้เรียนดนตรีไทย จำนวน 30 ท่าน 3) ผู้บริหารศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จำนวน 1 ท่าน เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างและการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาและสรุปผลเป็นความเรียง ผลการวิจัยพบว่า 1) รูปแบบการสอนดนตรีไทยของผู้สูงอายุในประเทศไทยของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลนครนนทบุรี เป็นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ประเภทการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง และเป็นไปตามหลักการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย 3 ประการ ได้แก่ ด้านหลักการศึกษาตามอัธยาศัย ที่มีลักษณะการจัดการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น ขับเคลื่อนโดยระบบการบริหารจัดการที่เป็นเอกลักษณ์ภายใต้การดูแลของกลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ เทศบาลนครนนทบุรี โดยมีกลุ่มจิตอาสาทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้หลักแก่ผู้เรียนคือกลุ่มสมาชิกผู้สูงอายุ รวมถึงมีการประสานงานกับเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุเพื่อขยายการลงพื้นที่ในชุมชน ในด้านคุณลักษณะของผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ โดดเด่นเรื่องการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและเข้าใจถึงธรรมชาติของผู้เรียน และด้านบทบาทของผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างกำลังใจให้แก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ 2) ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนดนตรีไทยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทยของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลนครนนทบุรี พบว่า เป็นไปตามทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ (Andragogy) มีบรรยากาศในการเรียนรู้ที่มีลักษณะเป็นกันเอง โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้ดำเนินการหลักในการเรียนการสอนในขณะเดียวกันก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นโดยมีครูผู้สอนพิจารณาตามความเหมาะสม ใช้การวัดประเมินผลโดยการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) รวมถึงการพัฒนาสุขภาวะของผู้เรียนและทำให้ผู้เรียนเกิดความสุขจากการเล่นดนตรีซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการเรียนดนตรีไทยของผู้สูงอายุ