Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Other Education

PDF

Chulalongkorn University

2022

Articles 1 - 4 of 4

Full-Text Articles in Education

การศึกษากลยุทธ์ของครูในการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันเปียโนที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานในประเทศไทย, แคทรียา ชูสังข์ Jan 2022

การศึกษากลยุทธ์ของครูในการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันเปียโนที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานในประเทศไทย, แคทรียา ชูสังข์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบและรายละเอียดของรายการแข่งขันเปียโนที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2561 – 2565 และ 2) ศึกษากลยุทธ์ของครูในการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันเปียโนจัดขึ้นโดยหน่วยงานในประเทศไทย ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพที่มีลักษณะสำคัญในการวิจัยโดยเน้นการวิเคราะห์เอกสาร (Content Analysis) และการสัมภาษณ์ (Interview) เป็นหลัก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการบรรยายและตาราง โดยเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลในเรื่องเดียวกันจากแหล่งข้อมูลที่ต่างกัน โดยผู้วิจัยใช้วิธีการกำหนดผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) ผู้วิจัยใช้วิธีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ครูที่มีนักเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศหรือรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และ 2 จากรายการแข่งขันเปียโนที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานในประเทศไทยในช่วงปีพ.ศ. 2561 – 2565 ตามเกณฑ์การคัดเลือกรายการแข่งขันเปียโนจำนวน 11 ท่าน กลุ่มที่ 2 นักเรียนของครูกลุ่มที่ 1 ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศหรือรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และ 2 จากรายการแข่งขันเปียโนที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานในประเทศไทยในช่วงปีพ.ศ. 2561 – 2565 ตามเกณฑ์การคัดเลือกรายการแข่งขันเปียโนจำนวน 10 คน กลุ่มที่ 3 ผู้ปกครองของบุตรหลานในกลุ่มที่ 2 จำนวน 6 ท่าน ผลการวิจัยพบว่า 1) รายการแข่งขันเปียโนในประเทศไทยที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2561 – 2565 มีทั้งหมด 16 รายการ โดยมีทั้งรายการแข่งขันเปียโนระดับนานาชาติ รายการแข่งขันเปียโนระดับชาติ และรายการแข่งขันเปียโนเฉพาะสังกัด ซึ่งรายการแข่งขันเปียโนแต่ละรายการจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามระเบียบการแข่งขันของรายการนั้น ๆ ทั้งในส่วนของช่วงอายุของผู้เข้าร่วมการแข่งขัน การกำหนดรุ่นการแข่งขัน การจัดหมวดหมู่ของการแข่งขัน รูปแบบบทเพลงที่ใช้ในการแข่งขัน การกำหนดระยะเวลาในการแข่งขัน ประเภทการแข่งขัน รวมถึงรางวัลที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับ 2) กลยุทธ์ของครูในการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันเปียโนที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานในประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ประการ ได้แก่ การวางแผนภาพรวมให้นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันเปียโน การเตรียมความพร้อมด้านทักษะการบรรเลงเปียโน การเตรียมความพร้อมด้านการฝึกซ้อม การเตรียมความพร้อมด้านการแสดงดนตรี การเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง


แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสอนแบบเน้นความสำคัญของวัฒนธรรมสำหรับนักศึกษาสาขาวิชาดนตรีศึกษา, ธีรวิทย์ กลิ่นจุ้ย Jan 2022

แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสอนแบบเน้นความสำคัญของวัฒนธรรมสำหรับนักศึกษาสาขาวิชาดนตรีศึกษา, ธีรวิทย์ กลิ่นจุ้ย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพของการจัดการเรียนรู้ และ 2) เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดการเรียนรู้รายวิชาที่เกี่ยวข้องกับดนตรีเชิงวัฒนธรรมในหลักสูตรดนตรีศึกษาระดับปริญญาตรีประเทศไทย ใช้ระเบียบวิธีวิจัยผสมวิธี (Mixed Methods) กลุ่มตัวอย่างวิจัยทั้งหมดคัดเลือกเป้าหมายตามเป้าหมายแนวคิดทฤษฎี (Theory and concept-focused Sampling) มีขั้นตอนการวิจัยดังนี้ คือ a) ประกอบไปด้วยวิจัยเชิงคุณภาพโดยการศึกษาเอกสาร 37 หลักสูตร และศึกษาเชิงปริมาณด้วยการสำรวจความคิดเห็นอาจารย์ผู้สอนและอาจารย์ประจำหลักสูตร (N=20) จากนั้น b) สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน และทำการวิเคราะห์ผลร่วมกันจากทั้งสองขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า หลักสูตรดนตรีศึกษาทั้ง 37 หลักสูตร มีรายวิชาดนตรีเชิงวัฒนธรรมทั้งที่เป็นรายวิชาบังคับและรายวิชาเลือก สามารถแบ่งได้ 3 ประเภทได้แก่ a) แนวเน้นทฤษฎี b) เน้นทักษะปฏิบัติ และ c) แนวเน้นการบูรณาการกับศาสตร์อื่น และผลจากการสำรวจความคิดเห็นอาจารย์ผู้สอนและอาจารย์ประจำหลักสูตร (N=20) และสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ (N=5) สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1) ด้านจำนวนรายวิชา: รายวิชาดนตรีเชิงวัฒนธรรมในหลักสูตรมีจำนวนมากเหมาะสม (M=4.25) และเพียงพอต่อความรู้ที่ควรได้รับตลอดหลักสูตร (M=3.95) และรายวิชาดนตรีเชิงวัฒนธรรมเหมาะสมจะเป็นรายวิชาเลือก (M=4.00) มากกว่าเป็นวิชาบังคับ (M=3.70) 2) ด้านสถานภาพของรายวิชา: รายวิชาดนตรีเชิงวัฒนธรรมในหลักสูตรมีความจำเป็นต่อการเตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่การเป็นครูดนตรี (M=4.65) และเหมาะสมกับการที่มีสถานภาพเป็นรายวิชาแนวผสมผสานบูรณาการกับศาสตร์อื่น (M=4.45) มากที่สุด ถัดมาเป็นแนวการบรรยายทฤษฎี (M=4.10) และแนวปฏิบัติทักษะดนตรี (M=3.90) ตามลำดับ 3) ด้านขอบเขตการจัดการเรียนรู้: ควรมุ่งเน้นเนื้อหาทางวัฒนธรรมดนตรีที่เชื่อมโยงกับชุมชนหรือท้องถิ่น (M=4.40) และมีการจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงภูมิหลังทางวัฒนธรรมดนตรีของผู้เรียน (M=4.15) จากนั้นอาจมีการเพิ่มเนื้อหาที่มีความเชื่อมโยงกับนานาชาติ (M=4.25) และในประเทศ (M=4.20) ตามลำดับ การจัดการเรียนรู้ควรเป็นเนื้อหาที่กว้างและมีความหลากหลาย (M=4.35) มากกว่ากำหนดประเด็นที่ลงลึกและจำเพาะเจาะจงเพียงประเด็นเดียว (M=3.70) สำหรับแนวทางการจัดการเรียนรู้รายวิชาที่เกี่ยวข้องกับดนตรีเชิงวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นความสำคัญของวัฒนธรรมมีหลักสำคัญใน 4 ประเด็นได้แก่ 1)กำหนดมโนทัศน์หลัก 2)เนื้อหาการเรียนรู้ 3)ผู้สอนและการจัดการเรียนรู้ 4)บริบทพื้นที่การเรียนรู้


การพัฒนาหนังสือนิทานเพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านจังหวะสำหรับนักเรียนเปียโนระดับต้น, สุทัตตา จรัสกำจรกูล Jan 2022

การพัฒนาหนังสือนิทานเพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านจังหวะสำหรับนักเรียนเปียโนระดับต้น, สุทัตตา จรัสกำจรกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหนังสือนิทานเพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านจังหวะสำหรับนักเรียนเปียโนระดับต้น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบสัมภาษณ์นำร่อง 2) แบบประเมินคุณภาพหนังสือนิทาน และ 3) แบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียนระหว่างการทำกิจกรรม กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการศึกษานำร่อง จำนวน 4 ท่าน 2) กลุ่มผู้ประเมินคุณภาพหนังสือนิทาน จำนวน 5 ท่าน และ 3) นักเรียนเปียโนระดับต้นที่ผู้วิจัยสอนจำนวน 3 คน ทำการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์นำร่อง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาเป็นหนังสือนิทาน จากนั้นนำหนังสือนิทานไปให้ผู้เชี่ยวชาญประเมิน และนำไปทดลองใช้ วิเคราะห์ผลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา และการวิเคราะห์เชิงสถิติพื้นฐาน ได้แก่ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยคือ หนังสือนิทานที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยเนื้อหาด้านจังหวะ 4 หัวข้อ คือ 1) อัตราความเร็วและจังหวะตบ 2) อัตราจังหวะ 3) รูปแบบจังหวะ และ 4) เครื่องหมายโยงเสียง ใช้กิจกรรมดนตรีทั้งหมด 4 แบบ คือ 1) การฟังและเคลื่อนไหว 2) การพูด อ่าน ประกอบการใช้ร่างกายสร้างจังหวะ โดยการใช้กลวิธีหลักการใช้คำแทนจังหวะ (Rhythm Syllables) เข้ามาประกอบ 3) การเล่นบนเปียโน และ 4) การสร้างสรรค์จังหวะ ผลการประเมินคุณภาพหนังสือนิทานอยู่ในเกณฑ์ดีมาก และจากการทดลองใช้ พบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีความสามารถด้านจังหวะทั้งการฟังและเคลื่อนไหว พูด อ่าน เล่น และสร้างสรรค์ในภาพรวมที่ดี


แนวทางการพัฒนาคุณภาพเนื้อเสียงไวโอลินด้วยวิธีการเลียนแบบสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา, เกวลี พุกป้อม Jan 2022

แนวทางการพัฒนาคุณภาพเนื้อเสียงไวโอลินด้วยวิธีการเลียนแบบสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา, เกวลี พุกป้อม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพเนื้อเสียงไวโอลิน ด้วยวิธีการเลียนแบบ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การวิเคราะห์เอกสารและการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญการสอนปฏิบัติไวโอลิน 3 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์ และการเก็บข้อมูลเสียงไวโอลิน ผลการวิจัยพบว่า แนวทางการพัฒนาคุณภาพเนื้อเสียงไวโอลิน ด้วยวิธีการเลียนแบบ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา แบ่งได้ 3 ขั้น ได้แก่ 1) เทคนิคการเล่นไวโอลิน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างคุณภาพเสียงที่ดี 2) การเรียนการสอนด้วยวิธีการเลียนแบบ ผ่านการฟังและเลียนแบบครูผู้สอน 3) คุณภาพเสียงไวโอลิน ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถมองเห็นลักษณะของเสียง หากผู้เรียนสามารถปฏิบัติตามทั้ง 3 ขั้นจะสามารถผลิตเสียงไวโอลินที่มีคุณภาพ โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้ควบคุมตลอดการเรียนการสอน เพื่อสังเกตและให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน