Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Film and Media Studies

Theses/Dissertations

2017

Articles 1 - 1 of 1

Full-Text Articles in Dramatic Literature, Criticism and Theory

การศึกษาวิธีการแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสสำหรับผู้ชมวัยเด็กที่มีภาวะออทิซึม, ชนัตถ์ พงษ์พานิช Jan 2017

การศึกษาวิธีการแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสสำหรับผู้ชมวัยเด็กที่มีภาวะออทิซึม, ชนัตถ์ พงษ์พานิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์วิธีการแสดงของนักแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสที่เหมาะสมและสามารถเพิ่มปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างผู้ชมวัยเด็กที่มีภาวะออทิซึมกับนักแสดงได้ เนื่องจากละครลักษณะนี้ยังไม่เคยมีผู้ใดพัฒนามาก่อนในประเทศไทย ผู้วิจัยจึงต้องออกแบบและคิดค้นกระบวนการนำเสนอละครเวทีประสาทสัมผัสก่อน จากนั้นจึงคิดค้น พัฒนาวิธีการแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสขึ้นโดยประยุกต์จากเทคนิคการแสดงแบบด้นสดและแนวทางการบำบัดรักษาแบบซันไรส์ ต่อจากนั้นได้นำวิธีการแสดงที่ได้ออกแบบขึ้นมาใช้ทดลองทำงานกับนักแสดง-กระบวนกร 4 คน จัดแสดงจริงกับผู้ชมกลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะออทิซึมจำนวน 10 คน ช่วงอายุ 4 – 18 ปี ละครเวทีประสาทสัมผัสในงานวิจัยชิ้นนี้ชื่อว่า "สวนมีสุข" เป็นละครที่ออกแบบให้ผู้ชมที่มีภาวะออทิซึมมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับเรื่องราวและตัวละครในจินตนาการ บทที่ใช้ในการแสดงดัดแปลงมาจากนิทานภาพเรื่องกบแฮรี่ผู้หิวโหย ประกอบกับการเลือกใช้กิจกรรมละครสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ผู้วิจัยได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่การแสดงให้เป็นสวนเล็กๆที่มีอยู่ในนิทานภาพ ผู้วิจัยได้สร้างเงื่อนไขและจัดลำดับกิจกรรมให้ผู้ชมกลุ่มตัวอย่างได้ปฏิบัติ เล่นเป็นตัวละคร ร้องเพลง และสำรวจประสาทสัมผัสของตนเองผ่านกิจกรรมต่างๆในโรงละครตามความสนใจ กลุ่มตัวอย่างจะได้ชมละครเวที ความยาว 50 – 60 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่อง 4 – 6 สัปดาห์ ในแต่ละสัปดาห์จะพัฒนาเรื่องราวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในการทดลองจัดแสดงแต่ละสัปดาห์ ผู้วิจัยได้นำปัญหาที่พบและการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญมาปรับวิธีการแสดงที่ได้สังเคราะห์ขึ้นให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลได้แก่ 1) บันทึกการทำงานของผู้วิจัย 2) บันทึกปฏิสัมพันธ์เชิงบวกของผู้ชมขณะชมการแสดง 3) บทสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ปกครองของกลุ่มตัวอย่าง 4) บทสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญด้านละครบำบัดที่ได้ชมวีดีโอบันทึกภาพการแสดง เมื่อได้พัฒนาและปรับปรุงวิธีการแสดงในแต่ละสัปดาห์แล้ว ผู้วิจัยได้เรียนรู้ว่าการเป็นนักแสดงในละครสำหรับผู้ชมที่มีภาวะออทิซึมนั้น นักแสดงจะต้องเข้าใจวิธีการสื่อสารกับผู้ที่มีภาวะออทิซึม เข้าใจลำดับกิจกรรมต่างๆ และเข้าใจบริบทของผู้ชมเป็นอย่างดี นักแสดงจะต้องมีพลังหรือคลื่นความคิด ความรู้สึกภายในที่เข้มข้นแต่แสดงออกอย่างสงบเพื่อลดการกระตุ้นเร้าผู้ชมและช่วยให้ผู้ชมสามารถจดจ่อกับการแสดงได้ นักแสดงต้องอยู่กับปัจจุบันในขณะแสดงและมีสมาธิในการสื่อสารกับผู้ชมในรายบุคคล นักแสดงจะต้องมองเห็น ได้ยิน และรับรู้ผู้ชมอย่างชัดเจนเพื่อจะสามารถสังเกตการสื่อสารทางกายของผู้ชมและสื่อสารตอบกลับได้อย่างเหมาะสม วิธีการแสดงที่ได้พัฒนาขึ้นทำให้เกิดตัวละครที่ให้อิสระและเป็นมิตรกับผู้ชม สร้างความไว้วางใจและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ชม ตัวละครจะเป็นแกนนำที่พาผู้ชมไปสู่โลกของจินตนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลการสังเกตปฏิสัมพันธ์ในโรงละครพบว่า ผู้ชมกลุ่มตัวอย่างมีปฏิสัมพันธ์และพัฒนาการทางสังคมที่ดีขึ้นในหลายกรณี จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองพบว่ามีหลายกรณีที่ผู้ชมแสดงสัญญาณของความสุขและความต้องการชมละคร