Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Film and Media Studies

Chulalongkorn University

Articles 1 - 6 of 6

Full-Text Articles in Dramatic Literature, Criticism and Theory

การศึกษากลวิธีเพื่อเข้าถึง คงอยู่ และออกจากสภาวะทางอารมณ์โศกเศร้า จากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก โดยใช้หลักมหาสติปัฏฐานสูตร : กรณีศึกษา ตัวละคร “คณิตา” ผู้แต่งเดวิด ออร์เบิร์นในบทละครเรื่องบทพิสูจน์ (2543), ชีวารัตน์ กสิบาล Jan 2021

การศึกษากลวิธีเพื่อเข้าถึง คงอยู่ และออกจากสภาวะทางอารมณ์โศกเศร้า จากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก โดยใช้หลักมหาสติปัฏฐานสูตร : กรณีศึกษา ตัวละคร “คณิตา” ผู้แต่งเดวิด ออร์เบิร์นในบทละครเรื่องบทพิสูจน์ (2543), ชีวารัตน์ กสิบาล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หลักมหาสติปัฏฐานสูตร คือการเจริญสติโดยมีสติเป็นประธานตามรู้ตามดูสภาวะที่เกิดขึ้นกับตนเองตามความเป็นจริงในปัจจุบันขณะ แบ่งออกเป็น 4 หลักได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนา-นุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผู้วิจัยได้นำหลักธรรมนี้มาปฏิบัติเพื่อหากลวิธีการเข้าถึงสภาวะ คงอยู่ และออกจากสภาวะภายในของตัวละครที่มีลักษณะอารมณ์โศกเศร้าจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก (Grief and Bereavement) ซึ่งมีสภาวะอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย และมีลักษณะอาการใกล้เคียงโรคทางจิตเวชชนิดไม่รุนแรงมากนัก โดยมีจุดมุ่งหมายในศึกษาการเข้าถึง คงอยู่ และออกจากสภาวะภายในของตัวละครโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของนักแสดง งานวิจัยฉบับนี้เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติ ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากผลการฝึกปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตร, บันทึกการทำงานของผู้วิจัย, ผลการวิเคราะห์จากการรวบรวมข้อมูล และแบบสอบถามจากผู้ชม ผลการศึกษาพบว่า การฝึกปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตรมีความละเอียดและลึกซึ้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นสำคัญ จึงไม่สามารถปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างสูงสุดในหลักการได้ แต่ยังคงประโยชน์หลายส่วนที่นักแสดงสามารถทำความเข้าใจ นำมาเริ่มต้นปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง และนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการแสดงของตนได้


กระบวนการกำกับการแสดงเรื่อง เช่า เขา อยู่ ของนฤทธิ์ ปาเฉย ในรูปแบบละครอิมเมอร์ซีฟเฉพาะที่บนพื้นที่ออนไลน์, ภาณุวัฒน์ อินทวัฒน์ Jan 2021

กระบวนการกำกับการแสดงเรื่อง เช่า เขา อยู่ ของนฤทธิ์ ปาเฉย ในรูปแบบละครอิมเมอร์ซีฟเฉพาะที่บนพื้นที่ออนไลน์, ภาณุวัฒน์ อินทวัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยสร้างสรรค์ชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการสร้างสรรค์การแสดงรูปแบบอิมเมอร์ซีฟเฉพาะที่ และทดลองกำกับการแสดง เรื่อง “เช่า เขา อยู่” ของ นฤทธิ์ ปาเฉย ในรูปแบบละครอิมเมอร์ซีฟเฉพาะที่บนพื้นที่ออนไลน์ ผ่านแอพลิเคชั่น ซูม คลาวด์มีตติ้ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการปรับตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แล้ว ยังเป็นการมุ่งหน้าสู่จักรวาลนฤมิตซึ่งเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตมนุษย์มากขึ้น จึงอาจเป็นแนวทางของการสร้างสรรค์ละครเวทีรูปแบบใหม่ในอนาคต ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และสังเคราะห์เป็นกระบวนการกำกับการแสดงเรื่อง “เช่า เขา อยู่” ซึ่งมุ่งสร้างองค์ประกอบของละครอิมเมอร์ซีฟตามทัศนะของ โรส บิกกิ้น ให้เหมาะสมกับพื้นที่ออนไลน์ดังนี้คือ 1) ปรับพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่ตั้งใจจะจัดในอาคารพาณิชย์ร้างแห่งหนึ่งในเยาวราช มาเป็นพื้นที่เสมือนบนแอพลิเคชั่น ซูม คลาวด์ มีตติ้ง 2) สร้างเรื่องเล่าแบบหลากลำดับเรื่องให้ผู้ชมแต่ละคนเลือกลำดับการรับชมได้ด้วยตนเอง และ 3) ออกแบบให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์ต่อเรื่องเล่า ต่อผู้ชมด้วยกันเอง และต่อผู้แสดงผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จากนั้นจึงนำเสนอต่อผู้ชมทั่วไป ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าการสร้างองค์ประกอบทั้ง 3 ของละครอิมเมอร์ซีฟให้สัมพันธ์กันอย่างมีเอกภาพช่วยให้ผู้ชมเชื่อว่าตนเป็นส่วนสำคัญในใจกลางของการแสดง และมีปฏิสัมพันธ์กับเรื่องได้ไม่ต่างจากการจัดแสดงบนพื้นทางกายภาพ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่าควรให้มีการสร้างสรรค์ละครอิมเมอร์ซีฟเฉพาะที่บนพื้นที่ออนไลน์ในสื่ออื่นอีก เพื่อค้นหารูปแบบการแสดงออนไลน์ใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศิลปะการละครให้ก้าวไปในจักรวาลนฤมิตอย่างสร้างสรรค์


แนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์ละครชาตรีร่วมสมัย : กรณีศึกษาการกำกับการแสดงเรื่อง พายุพิโรธ, ชาคร ชะม้าย Jan 2020

แนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์ละครชาตรีร่วมสมัย : กรณีศึกษาการกำกับการแสดงเรื่อง พายุพิโรธ, ชาคร ชะม้าย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาการกำกับการแสดงละครชาตรีร่วมสมัยเรื่องพายุพิโรธผ่านแนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรม ผู้วิจัยในฐานะผู้กำกับการแสดง ศึกษาการสร้างสรรค์จากบทละครเรื่องพายุพิโรธ แปลจาก The Tempest ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) และละครชาตรี เพื่อค้นหาแก่นความคิดหลัก(Theme) และวิธีการนำเสนอ(Style) ที่สามารถสื่อสารหลัก(Message) จากบทละครควบคู่กับอัตลักษณ์ละครชาตรี เพื่อแสดงให้เห็นว่าการแสดงจากต่างวัฒนธรรมสามารถนำมาสร้างสรรค์ร่วมกันได้ ผู้วิจัยศึกษาแนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรมและการกำกับการแสดงละครชาตรีร่วมสมัยเพื่อสร้างแนวทางกำกับ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการสร้างและจัดแสดง ผลการศึกษาผู้วิจัยพบว่ากระบวนการกำกับการแสดงด้วยแนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรมหลักสำคัญคือ การกำหนดแก่นความคิดหลักของผู้กำกับการแสดงที่มีความเป็นสากล(Universality) เพื่อผสานอัตลักษณ์การแสดงจากทั้งสองวัฒนธรรม ทั้งในแง่ความคิดและรูปแบบที่จะส่งผลต่อทุกองค์ประกอบการแสดง ในทุกกระบวนการสร้างสรรค์จะต้องตระหนักถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรม(Cultural exchange) บนพื้นฐานความเคารพอย่างจริงใจต่ออัตลักษณ์และรากเหง้าวัฒนธรรม(Cultural Source) ส่งผลให้การพิจารณาบริบทสังคมและประเด็นร่วมสมัยของการแสดงนั้น ก็เพื่อมองหาศักยภาพในการสร้างสรรค์ร่วมกันของทั้งสองการแสดง เพื่อให้เกิดนิเวศการแสดงข้ามวัฒนธรรม(Intercultural performative ecology) ที่ผลักดันการปะทะสังสรรค์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติ ผู้วิจัยได้ข้อสรุปว่าการกำกับการแสดงละครชาตรีร่วมสมัยเรื่องพายุพิโรธ เริ่มต้นจากวัตถุดิบการแสดง ทั้งบทละครพายุพิโรธและละครชาตรีว่าสร้างแรงบันดาลใจอย่างไรแก่ผู้กำกับในฐานะศิลปิน ซึ่งไม่มีหลักการตายตัว ข้อถกเถียงในประเด็นการรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์หรือพัฒนาจึงไม่ควรจะต้องแบ่งแยกประเภทเพราะขึ้นอยู่กับเป้าหมายของศิลปิน แนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรมจึงเป็นการสร้างการแสดงในกระแส โลกาภิวัตน์ที่ส่งผลให้ศิลปินทั่วทุกพื้นที่สามารถเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนการแสดงจากต่างวัฒนธรรม เพื่อนำมาสร้างสรรค์บนบริบทการแสดงร่วมสมัยที่เปิดโอกาสให้นำเอาอัตลักษณ์การแสดงจากทุกพื้นที่วัฒนธรรมมาใช้สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การแสดงที่ยังคงดำเนินต่อไป


การเขียนบทละครเพลงว่าด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์, นฤทธิ์ ปาเฉย Jan 2019

การเขียนบทละครเพลงว่าด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์, นฤทธิ์ ปาเฉย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาวิธีการเขียนบทละครเพลงว่าด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ โดยใช้การนำเสนอรูปแบบละครเพลง (musical theatre) และใช้วิธีการนำเสนอแบบหลายโครงเรื่อง (multiple plots) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกผลิตขึ้นและนำไปใช้ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน การยึดติดบุคคลต้นแบบที่ผ่านการประกอบสร้างจากเรื่องเล่า อาจทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดในสังคมที่บานปลายสู่การใช้ความรุนแรงได้ ผู้วิจัยศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการผลิตเรื่องเล่า ละครเพลง การเขียนบทละครเพลง การเขียนคำร้องในละครเพลงและวิธีการนำเสนอแบบหลายโครงเรื่อง จากนั้นจึงดำเนินการเขียนบทละครเพลงร่างที่ 1 โดยพัฒนาบทละครเพลงจากการจัดแสดงในรูปแบบการอ่าน (stage reading) แล้วนำความคิดเห็นของผู้ชมมาประมวล เพื่อพัฒนาเป็นบทละครเพลงร่างที่ 2 ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิตและจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบ จากการประเมินผลการวิจัยผ่านการจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบ ผู้วิจัยได้ข้อสรุปว่า การนำเสนอด้วยรูปแบบละครเพลงสามารถส่งเสริมการถ่ายทอดประเด็นสำคัญของเรื่องที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางความคิดในประเด็นทางสังคมและการเมือง ด้วยการยกระดับประสบการณ์ทางอารมณ์ของผู้ชมควบคู่ไปกับการทำงานทางความคิด และการใช้วิธีการนำเสนอแบบหลายโครงเรื่อง โดยออกแบบปฏิสัมพันธ์ของเหตุการณ์บนโครงเรื่องตามวัตถุประสงค์ของบทละครเพลง สามารถกระตุ้นความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ของผู้ชมให้มีต่อเรื่องราวและประเด็นสำคัญของเรื่อง และเผยให้เห็นการประกอบสร้างบุคคลต้นแบบผ่านเรื่องเล่า รวมถึงอิทธิพลชองการสืบทอดอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านบุคคลต้นแบบ


การพัฒนาทักษะการแสดงเพื่อสร้างตัวละครผู้หญิงจีน ในการแสดงเรื่อง รายละเอียด ไม่ได้ ร่างกาย อยาก ของชิน วุน ปิง ตามหลักการแสดงของไมเคิล เชคอฟ, กุนทรา ไชยชาญ Jan 2018

การพัฒนาทักษะการแสดงเพื่อสร้างตัวละครผู้หญิงจีน ในการแสดงเรื่อง รายละเอียด ไม่ได้ ร่างกาย อยาก ของชิน วุน ปิง ตามหลักการแสดงของไมเคิล เชคอฟ, กุนทรา ไชยชาญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาและสังเคราะห์การนำหลักการแสดงของไมเคิล เชคอฟมาใช้เพื่อสร้างตัวละคร ผู้หญิงจีนในการแสดงเรื่อง รายละเอียด ไม่ได้ ร่างกาย อยาก โดยมุ่งเน้นไปที่การค้นหาและสร้างความเข้มข้นทางความรู้สึกภายในที่ มีลักษณะซับซ้อน เนื่องจากการหล่อหลอมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างจากตัวผู้แสดง ผู้วิจัยเริ่มต้นจากการทำงานศึกษาบทละครเพื่อนำมาประกอบการสร้างตัวละคร หลังจากนั้นใช้หลักการแสดงของไมเคิล เชคอฟเป็นหลักในการค้นหา พัฒนาและสร้างสรรค์ตัวละครระหว่างการฝึกซ้อมจนกระทั่งถึงวันนำเสนอผลงาน โดยเก็บรวบรวม ข้อมูลเพื่อนำมาประเมินผลจากการจดบันทึก บันทึกวีดีโอ แบบสอบถาม การเสวนาและบทสัมภาษณ์ผู้ชมและผู้เชี่ยวชาญด้าน ศิลปะการแสดงในวันนำเสนอผลงาน ระหว่างการดำเนินงานผู้วิจัยค้นพบว่าหลักการแสดงของไมเคิล เชคอฟเป็นหลักการแสดงที่ช่วยพัฒนาทักษะการแสดง ของนักแสดงและทำให้นักแสดงตระหนักถึงพลังแห่งจินตนาการ นำไปสู่การทำงานกับตัวละครอย่างสร้างสรรค์และไร้ขีดจำกัด ช่วย ให้นักแสดงสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเองไปสู่การสร้างตัวละครอย่างสร้างสรรค์ จากการประเมินผลการวิจัย ผู้วิจัยพบว่าหลักสำคัญของนักแสดงในการทำงานกับตัวละครที่มีความแตกต่างทาง วัฒนธรรมกับนักแสดง คือ การศึกษาบทละครเพื่อทำความเข้าใจบริบททางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมเพื่อสร้างตัวละครให้มี ความสมจริงน่าเชื่อถือ และการศึกษาเทคนิคการแสดงที่เหมาะสมกับนักแสดงและตัวละครเพื่อช่วยให้นักแสดงสามารถเข้าถึง บทบาทของตัวละครได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้จะสามารถทำให้นักแสดงเชื่อมโยงการทำงานกับตัวละครได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลักษณะตัวละครที่ แสดงออกมีความน่าสนใจ มีลักษณะเฉพาะ และทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงตัวละครได้ง่าย สามารถสร้างตัวละครได้สอดคล้องกับบท ละครได้อย่างน่าเชื่อถือและสมจริง


การศึกษาวิธีการแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสสำหรับผู้ชมวัยเด็กที่มีภาวะออทิซึม, ชนัตถ์ พงษ์พานิช Jan 2017

การศึกษาวิธีการแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสสำหรับผู้ชมวัยเด็กที่มีภาวะออทิซึม, ชนัตถ์ พงษ์พานิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์วิธีการแสดงของนักแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสที่เหมาะสมและสามารถเพิ่มปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างผู้ชมวัยเด็กที่มีภาวะออทิซึมกับนักแสดงได้ เนื่องจากละครลักษณะนี้ยังไม่เคยมีผู้ใดพัฒนามาก่อนในประเทศไทย ผู้วิจัยจึงต้องออกแบบและคิดค้นกระบวนการนำเสนอละครเวทีประสาทสัมผัสก่อน จากนั้นจึงคิดค้น พัฒนาวิธีการแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสขึ้นโดยประยุกต์จากเทคนิคการแสดงแบบด้นสดและแนวทางการบำบัดรักษาแบบซันไรส์ ต่อจากนั้นได้นำวิธีการแสดงที่ได้ออกแบบขึ้นมาใช้ทดลองทำงานกับนักแสดง-กระบวนกร 4 คน จัดแสดงจริงกับผู้ชมกลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะออทิซึมจำนวน 10 คน ช่วงอายุ 4 – 18 ปี ละครเวทีประสาทสัมผัสในงานวิจัยชิ้นนี้ชื่อว่า "สวนมีสุข" เป็นละครที่ออกแบบให้ผู้ชมที่มีภาวะออทิซึมมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับเรื่องราวและตัวละครในจินตนาการ บทที่ใช้ในการแสดงดัดแปลงมาจากนิทานภาพเรื่องกบแฮรี่ผู้หิวโหย ประกอบกับการเลือกใช้กิจกรรมละครสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ผู้วิจัยได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่การแสดงให้เป็นสวนเล็กๆที่มีอยู่ในนิทานภาพ ผู้วิจัยได้สร้างเงื่อนไขและจัดลำดับกิจกรรมให้ผู้ชมกลุ่มตัวอย่างได้ปฏิบัติ เล่นเป็นตัวละคร ร้องเพลง และสำรวจประสาทสัมผัสของตนเองผ่านกิจกรรมต่างๆในโรงละครตามความสนใจ กลุ่มตัวอย่างจะได้ชมละครเวที ความยาว 50 – 60 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่อง 4 – 6 สัปดาห์ ในแต่ละสัปดาห์จะพัฒนาเรื่องราวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในการทดลองจัดแสดงแต่ละสัปดาห์ ผู้วิจัยได้นำปัญหาที่พบและการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญมาปรับวิธีการแสดงที่ได้สังเคราะห์ขึ้นให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลได้แก่ 1) บันทึกการทำงานของผู้วิจัย 2) บันทึกปฏิสัมพันธ์เชิงบวกของผู้ชมขณะชมการแสดง 3) บทสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ปกครองของกลุ่มตัวอย่าง 4) บทสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญด้านละครบำบัดที่ได้ชมวีดีโอบันทึกภาพการแสดง เมื่อได้พัฒนาและปรับปรุงวิธีการแสดงในแต่ละสัปดาห์แล้ว ผู้วิจัยได้เรียนรู้ว่าการเป็นนักแสดงในละครสำหรับผู้ชมที่มีภาวะออทิซึมนั้น นักแสดงจะต้องเข้าใจวิธีการสื่อสารกับผู้ที่มีภาวะออทิซึม เข้าใจลำดับกิจกรรมต่างๆ และเข้าใจบริบทของผู้ชมเป็นอย่างดี นักแสดงจะต้องมีพลังหรือคลื่นความคิด ความรู้สึกภายในที่เข้มข้นแต่แสดงออกอย่างสงบเพื่อลดการกระตุ้นเร้าผู้ชมและช่วยให้ผู้ชมสามารถจดจ่อกับการแสดงได้ นักแสดงต้องอยู่กับปัจจุบันในขณะแสดงและมีสมาธิในการสื่อสารกับผู้ชมในรายบุคคล นักแสดงจะต้องมองเห็น ได้ยิน และรับรู้ผู้ชมอย่างชัดเจนเพื่อจะสามารถสังเกตการสื่อสารทางกายของผู้ชมและสื่อสารตอบกลับได้อย่างเหมาะสม วิธีการแสดงที่ได้พัฒนาขึ้นทำให้เกิดตัวละครที่ให้อิสระและเป็นมิตรกับผู้ชม สร้างความไว้วางใจและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ชม ตัวละครจะเป็นแกนนำที่พาผู้ชมไปสู่โลกของจินตนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลการสังเกตปฏิสัมพันธ์ในโรงละครพบว่า ผู้ชมกลุ่มตัวอย่างมีปฏิสัมพันธ์และพัฒนาการทางสังคมที่ดีขึ้นในหลายกรณี จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองพบว่ามีหลายกรณีที่ผู้ชมแสดงสัญญาณของความสุขและความต้องการชมละคร