Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Physical Sciences and Mathematics Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Computer Sciences

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

2019

Articles 61 - 65 of 65

Full-Text Articles in Physical Sciences and Mathematics

เครื่องมือทดสอบแบบจำลองบีพีเอ็มเอ็นด้วยวีคมิวเทชัน, ชาตรี งามเบญจวงศ์ Jan 2019

เครื่องมือทดสอบแบบจำลองบีพีเอ็มเอ็นด้วยวีคมิวเทชัน, ชาตรี งามเบญจวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แบบจำลองบีพีเอ็มเอ็นเป็นแบบจำลองที่ใช้สำหรับอธิบายกระบวนการทางธุรกิจ และถูกพัฒนาให้สามารถประมวลผลได้บนเครื่องประมวลผลแบบจำลอง จึงจำเป็นต้องทดสอบความถูกต้องของแบบจำลองตามเงื่อนไขทางธุรกิจ นักทดสอบจึงได้นำเสนอวิธีการสร้างกรณีทดสอบที่แตกต่างกัน รวมถึงใช้การทดสอบมิวเทชัน เพื่อประเมินคุณภาพของกรณีทดสอบ แต่จุดด้อยของการทดสอบมิวเทชันยังต้องใช้แรงงาน และทรัพยากรที่ค่อนข้างสูง งานวิจัยนี้ได้นำเสนอการนำตัวดำเนินการมิวเทชันของแบบจำลองบีพีเอ็มเอ็นมาประยุกต์กับการทดสอบวีคมิวเทชัน และยังเสนอเครื่องมือวีมูบีพีเอ็มเอ็นที่ใช้ในการสร้างมิวแตนท์ และทดสอบมิวแตนท์ได้อย่างอัตโนมัติกับเครื่องประมวลผลแบบจำลองบีพีเอ็มเอ็น โดยเครื่องมือสามารถรายงานผลลัพธ์ ได้แก่ จำนวนมิวแตนท์ที่กำจัดได้ จำนวนมิวแตนท์ที่ยังคงอยู่ เวลาที่ใช้ในการทดสอบ คะแนนมิวเทชัน และประสิทธิภาพของกรณีทดสอบ หลังจากผู้วิจัยได้ทดสอบเครื่องมือกับแบบจำลองตัวอย่างทั้งหมด 8 แบบจำลอง เครื่องมือสามารถสร้างมิวแตนท์ได้ครบถ้วน 25 ตัวดำเนินการ และทดสอบกับเครื่องประมวลผลแบบจำลองได้ทั้งหมด 13 ตัวดำเนินการ


การประเมินการส่งผ่านข้อมูลส่วนตัวของเเอปพลิเคชันโดยวิเคราะห์จากนโยบายความเป็นส่วนตัว, เมธัส นาคเสนีย์ Jan 2019

การประเมินการส่งผ่านข้อมูลส่วนตัวของเเอปพลิเคชันโดยวิเคราะห์จากนโยบายความเป็นส่วนตัว, เมธัส นาคเสนีย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โมไบล์เเอปพลิเคชันในปัจจุบันได้ขอเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้บริการเพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาการให้บริการ เช่น ข้อมูลส่วนตัว อีเมล ซึ่งการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้มีทั้งจุดประสงค์ในการใช้ข้อมูลในทางที่ดีเเละไม่ดี จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการควรตระหนักถึง ทั้งนี้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบรายละเอียดการนำข้อมูลไปใช้จากเเหล่งที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ได้เเก่ นโยบายความเป็นส่วนตัว เเต่เนื่องจากนโยบายความเป็นส่วนตัวมีข้อความที่ยาวเเละทำความเข้าใจได้ยาก ผู้ใช้บริการอาจพลาดส่วนสำคัญจากการอ่านนโยบายความเป็นส่วนตัวได้ ดังนั้นวิทยานิพนธ์นี้จึงได้ตั้งข้อสมมุติฐานเพื่อทำการพิสูจน์สมมุติฐานว่าการประเมินการส่งผ่านข้อมูลส่วนตัวของเเอปพลิเคชันสามารถวิเคราะห์ได้จากข้อความในนโยบายความเป็นส่วนตัวหรือไม่ โดยการใช้การเรียนรู้ด้วยเครื่องเข้ามาช่วยเพื่อที่จะประเมินการส่งผ่านของข้อมูลส่วนตัวเเทนการอ่านจากนโยบายความเป็นส่วนตัว


เครื่องมือวิเคราะห์ผลกระทบต่อซอร์สโค้ดไฮเบอร์เนตและกรณีทดสอบสำหรับการเปลี่ยนแปลงสคีมาฐานข้อมูล, อมรรัตน์ ใจมูล Jan 2019

เครื่องมือวิเคราะห์ผลกระทบต่อซอร์สโค้ดไฮเบอร์เนตและกรณีทดสอบสำหรับการเปลี่ยนแปลงสคีมาฐานข้อมูล, อมรรัตน์ ใจมูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การออกแบบฐานข้อมูลเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพราะมีการจัดการความสอดคล้องของข้อมูลและทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลไม่ได้อยู่ในสภาพที่ไม่ถูกต้อง โดยในแต่ละรอบของการพัฒนาซอฟต์แวร์จะมีเปอร์เซ็นต์ของความซับซ้อนและขนาดของฐานข้อมูลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสคีมาฐานข้อมูลจะส่งผลกระทบต่อซอร์สโค้ดที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงกรณีทดสอบที่มักจะนำไปสู่ความล้มเหลวของกระบวนการซอฟต์แวร์ได้ นักวิจัยบางคนวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การจัดการตัวกำหนดค่า การตรวจสอบความสัมพันธ์ในรูปแบบย้อนกลับ และการแบ่งส่วนของโปรแกรม เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบเพื่อระบุปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาเหล่านั้นไม่ได้เน้นถึงผลกระทบที่มีต่อซอร์สโค้ดและกรณีทดสอบ ดังนั้นงานวิจัยนี้นำเสนอเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบต่อซอร์สโค้ดไฮเบอร์เนตและกรณีทดสอบสำหรับการเปลี่ยนแปลงสคีมาฐานข้อมูล นอกจากนี้เครื่องมือยังสามารถแสดงให้ผู้ใช้ได้ทราบถึงตำแหน่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นในซอร์สโค้ดและกรณีทดสอบรวมไปถึงตำแหน่งของซอร์สโค้ดและกรณีทดสอบที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขบนซอร์สโค้ดและการณีทดสอบที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย สุดท้ายนี้เครื่องมือที่สร้างขึ้นจะถูกนำไปทดสอบกับกรณีศึกษา 3 กรณี ซึ่งพบว่าซอร์สโค้ดและกรณีทดสอบที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสคีมาฐานข้อมูลสามารถนำกลับไปใช้งานต่อได้อย่างสมบูรณ์เนื่องจากได้รับการปรับปรุงแก้ไขจากเครื่องมือที่สร้างขึ้น


ผลกระทบของคุณลักษณะแชทบอทต่อการรับรู้ของผู้เยี่ยมชมโซเชียลคอมเมิร์ซ, ณัฐ ปานมโนธรรม Jan 2019

ผลกระทบของคุณลักษณะแชทบอทต่อการรับรู้ของผู้เยี่ยมชมโซเชียลคอมเมิร์ซ, ณัฐ ปานมโนธรรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ด้วยการเติบโตของแชทบอทในธุรกิจโซเชียลคอมเมิร์ซ และความสามารถของหลักภาษาไทย งานวิจัยนี้จึงมีจุดมุ่งหมายในการวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลกระทบของคุณลักษณะของแชทบอท ได้แก่ การรับรู้เพศ และการรับรู้ความเป็นทางการ ที่มีต่อความพึงพอใจและการรับรู้คุณภาพบริการโดยใช้แบบจำลอง SERVQUAL ในขณะที่ผู้เยี่ยมชมใช้แชทบอทเลือกซื้อสินค้าผ่านร้านค้าบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ และมีตัวแปรกำกับ ได้แก่ เพศของผู้เยี่ยมชม โดยในการทดลอง หน่วยตัวอย่างแต่ละคนจะได้รับหนึ่งในสี่แบบจำลองแชทบอทด้วยการสุ่ม ได้แก่ (1) เพศหญิง เป็นทางการ (2) เพศชาย เป็นทางการ (3) เพศหญิง ไม่เป็นทางการ และ (4) เพศชาย ไม่เป็นทางการ และได้รับคำชี้แจงในการค้นหาราคาสินค้าในร้านค้าออนไลน์บน Facebook ที่กำหนด งานวิจัยแสดงถึงผลกระทบการรับรู้ความเป็นทางการของแชทบอทที่มีต่อการรับรู้คุณภาพบริการในด้านความน่าเชื่อถือกับการสร้างความมั่นใจในภาพรวม รวมถึงผลกระทบการรับรู้ความเป็นทางการของแชทบอทต่อความพึงพอใจเพิ่มเติมในผู้เยี่ยมชมเพศชาย ถึงแม้ว่าจะไม่มีการพบผลกระทบของการรับรู้เพศแชทบอทที่มีต่อตัวแปรตาม แต่งานวิจัยนี้ก็ได้พบผลกระทบร่วมของคุณลักษณะแชทบอทที่มีต่อการรับรู้คุณภาพบริการด้านการสร้างความมั่นใจ ผลของงานวิจัยแนะนำให้ใช้แชทบอทเพศชายที่ใช้ภาษาเป็นทางการในการเป็นผู้ให้บริการผู้เยี่ยมชมโซเชียลคอมเมิร์ซเพศหญิงและเพศชาย


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจกลับมาใช้งานและความตั้งใจในการบอกต่อเว็บไซต์คราวด์ฟันดิงรูปแบบบริจาคเพื่อการกุศลที่ผสมผสานการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์, ภัทรา อาวะกุลพาณิชย์ Jan 2019

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจกลับมาใช้งานและความตั้งใจในการบอกต่อเว็บไซต์คราวด์ฟันดิงรูปแบบบริจาคเพื่อการกุศลที่ผสมผสานการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์, ภัทรา อาวะกุลพาณิชย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษา วิเคราะห์และเปรียบเทียบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจกลับมาใช้งานและความตั้งใจในการบอกต่อเว็บไซต์คราวด์ฟันดิงรูปแบบบริจาคเพื่อการกุศลที่ผสมผสานการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้วิจัยมุ่งศึกษาตัวแปรที่เกี่ยวข้องได้แก่ (1) ปัจจัยด้านการกุศล (ปัจจัยภายใน คือ ความเข้าใจผู้อื่น ความเอื้อเฟื้อ และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ภาพลักษณ์ขององค์กร) และ (2) ปัจจัยด้านการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ปัจจัยภายใน ได้แก่ ความสนใจและความอยากรู้ และ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความสนุก คุณภาพเนื้อหาการเรียนรู้ และความน่าดึงดูดใจของสื่อการเรียนมัลติมีเดีย) โดยมีตัวแปรกำกับ ได้แก่ เพศของผู้ใช้งาน และเก็บข้อมูลจากหน่วยตัวอย่างกลุ่มเจเนอเรชันวายเป็นเพศชายจำนวน 101 คน และเพศหญิงจำนวน 101 คน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในภาพรวม พบว่า ตัวแปรต้นทั้ง 8 ตัวมีอิทธิพลเชิงบวกต่อตัวแปรตาม ได้แก่ ความตั้งใจกลับมาใช้งาน และความตั้งใจในการบอกต่อ โดยพบว่า ปัจจัยความสนุกมีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจกลับมาใช้งาน และ ปัจจัยคุณภาพเนื้อหาการเรียนรู้ มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการบอกต่อ เมื่อเพศของผู้ใช้งานเป็นเพศชาย พบว่า ปัจจัยความสนุก มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจกลับมาใช้งานและความตั้งใจในการบอกต่อ และเมื่อเพศของผู้ใช้งานเป็นเพศหญิง พบว่า ปัจจัยภาพลักษณ์องค์กร มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจกลับมาใช้งาน และ ปัจจัยคุณภาพเนื้อหาการเรียนรู้ มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสดต่อความตั้งใจในการบอกต่อ