Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Criminology Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2017

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Articles 1 - 4 of 4

Full-Text Articles in Criminology

มาตรการที่เหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ผลงานเพลงลิขสิทธิ์ในร้านอาหาร-ร้านกาแฟในกรุงเทพมหานคร, ชัยวัฒน์ ภมรเวชวรรณ Jan 2017

มาตรการที่เหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ผลงานเพลงลิขสิทธิ์ในร้านอาหาร-ร้านกาแฟในกรุงเทพมหานคร, ชัยวัฒน์ ภมรเวชวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายมาตรการสำหรับการเผยแพร่เพลงลิขสิทธิ์อย่างเหมาะสม และการลดปัญหาการเผยแพร่เพลงลิขสิทธิ์ในร้านอาหาร - ร้านกาแฟ โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการร้านอาหาร - ร้านกาแฟในกรุงเทพมหานคร จำนวน 9 คน และเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 คน และผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำนวน 1 คน การสุ่มตัวอย่างใช้แบบที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) และการสุ่มตัวอย่างแบบลูกโซ่ (snowball sampling) โดยใช้วิธีการพรรณนาข้อมูลร่วมกับการวิเคราะห์เนื้อหาข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ ผลการศึกษาพบว่า 1) ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญคือ การเลือกปฏิบัติในการตรวจสอบการเผยแพร่เพลง รวมไปถึงการแสวงหาผลประโยชน์แอบแฝงของผู้รับมอบอำนาจ ประกอบกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความรู้ในการเผยแพร่เพลงลิขสิทธิ์อยู่ในระดับน้อย 2) มาตรการที่เหมาะสมสำหรับการเผยแพร่เพลงลิขสิทธิ์คือ การกำหนดบทบาทการใช้อำนาจของผู้รับมอบอำนาจให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์แอบแฝง และระบุรายละเอียดในข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ให้ชัดเจน โดยยึดผลประโยชน์ของเจ้าของผลงาน และการปกป้องคุ้มครองผลงานลิขสิทธิ์ 3) แนวทางการลดปัญหาและข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้คือ การให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์และการเผยแพร่เพลงลิขสิทธิ์แก่ประชาชน เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อลิขสิทธิ์ในประเทศไทยต่อไป


การกลับใจของผู้พ้นโทษผ่านทางการใช้ชีวิตในบ้านกึ่งวิถีแนวคริสต์ : ศึกษากรณีบ้านกึ่งวิถีบ้านพระพรของมูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน, ทิวาพร เดชมณี Jan 2017

การกลับใจของผู้พ้นโทษผ่านทางการใช้ชีวิตในบ้านกึ่งวิถีแนวคริสต์ : ศึกษากรณีบ้านกึ่งวิถีบ้านพระพรของมูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน, ทิวาพร เดชมณี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่องการกลับใจของผู้พ้นโทษในบ้านกึ่งวิถีแนวคริสต์ ศึกษากรณีบ้านกึ่งวิถีบ้านพระพร ของมูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดและรูปแบบการดำเนินกระบวนการของบ้านกึ่งวิถีบ้านพระพร กระบวนการกลับใจที่เกิดขึ้นกับผู้พ้นโทษที่สมัครใจเข้าร่วมในบ้านกึ่งวิถีบ้านพระพร และแนวทางในการพัฒนาบทบาทของภาคประชาสังคมในรูปแบบของบ้านกึ่งวิถี ที่นำเอาหลักคำสอนในพระคริสตธรรมคัมภีร์มาปรับใช้ช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่มีความแตกต่างหลากหลายให้กลับสู่สังคม โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่ออธิบายประสบการณ์การกลับใจของผู้พ้นโทษและการดำเนินการในบ้านกึ่งวิถีแนวคริสต์ ผลการวิจัยพบว่า (1) การดำเนินงานของบ้านพระพรมีการดูแลสมาชิกอย่างเป็นระบบ กิจกรรมต่างๆส่งเสริมระเบียบวินัยและความรับผิดชอบของสมาชิก ดูแลปัจจัยพื้นฐาน ฝึกอาชีพเสริม และมีชั้นเรียนเพื่อพัฒนาความรู้ทางพระคัมภีร์ นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการจัดการกับอารมณ์และพฤติกรรมติดตัวของสมาชิกให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีคริสตจักรพระพรเป็นศูนย์กลางประสานงานกับผู้พ้นโทษและเป็นสถานที่ที่สมาชิกเก่าและใหม่สามารถกลับมารวมตัวกันได้ ซึ่งทำให้เกิดพันธะทางสังคมที่ต่อเนื่องช่วยในการสอดส่องดูแลพฤติกรรมอย่างไม่เป็นทางการเมื่อกลับสู่สังคม (2) กระบวนการกลับใจของสมาชิกในบ้านพระพร พบว่าสมาชิกมีการเปลี่ยนแปลงในจิตใจคือตัดสินใจที่จะละทิ้งการกระทำผิดและตั้งใจดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์เริ่มตั้งแต่ในเรือนจำ และมีสมาชิกบางคนเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้เมื่อได้รับการฝึกฝนในบ้านพระพรแล้ว การเปลี่ยนแปลงเกิดทั้งด้านพฤติกรรม ด้านอัตมโนทัศน์ และด้านจิตวิญญาณส่งผลให้สมาชิกมีมุมมองใหม่ต่อตนเองและผู้อื่นในทางที่ดีขึ้น ช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) จากเรือนจำไปสู่สังคมภายนอกได้อย่างเข้มแข็ง (3) ควรมีการขยายแนวคิดในการส่งต่อผู้พ้นโทษจากเรือนจำไปอยู่ในการดูแลของคริสตจักรหรือให้หน่วยงานภาคเอกชนอื่นๆ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาแบบครบวงจรโดยอาจพ่วงมิติของศาสนาอันจะส่งผลให้เกิดการช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น


ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ : ศึกษากรณีแชร์ลูกโซ่, พลิสสุภา พจนะลาวัณย์ Jan 2017

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ : ศึกษากรณีแชร์ลูกโซ่, พลิสสุภา พจนะลาวัณย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง "ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ : ศึกษากรณีแชร์ลูกโซ่" มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบของแชร์ลูกโซ่ในประเทศไทย ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ และแนวทางการแก้ไขปัญหาการตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณควบคู่กับการศึกษาเชิงคุณภาพ ในการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากกลุ่มผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ จำนวน 396 คน ส่วนการศึกษาเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก ประชากรที่ศึกษาจำนวน 4 คน คือ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานโดยตรงเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ ผลการศึกษาพบว่า มีแชร์ลูกโซ่ในประเทศไทย 3 รูปแบบ คือ 1. รูปแบบของแชร์ลูกโซ่ที่ใช้วิธีการขายสินค้าและบริการ มีลักษณะชักชวนให้ร่วมเล่นแบบปากต่อปาก เช่น การขายสินค้า การลงทุนแบบต่างๆ 2. รูปแบบแชร์ลูกโซ่ที่ใช้วิธีการชักชวนให้มาเป็นสมาชิกจะมีลักษณะเหมือนยุคอดีต แต่เน้นการหาสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า 3. รูปแบบแชร์ลูกโซ่ที่ใช้วิธีการให้ความรู้และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เน้นการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือหาสมาชิกเข้าร่วม และการทดสอบปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ จำนวน 11 ตัวแปร ประกอบด้วย 1) ลักษณะของเหยื่ออาชญากรรม 2) ความเชื่อ 3) การตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมตามแนวพุทธ 4) แบบแผนการดำเนินชีวิต 5) กิจวัตรประจำวัน 6) โอกาส 7) การบังคับ 8) การสนับสนุน 9) ความสามารถ 10) ค่านิยม และ 11) เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ ทั้งหมดส่งผลต่อพฤติกรรมการตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ 1) การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ที่หลากหลายและซับซ้อน 2) แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ทันทีเมื่อประชาชนตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด 3) ควรมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปราบปราม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ให้เกิดเป็นรูปธรรม และ 4) ควรแก้ไขบทลงโทษในความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ให้รุนแรงขึ้น เพื่อให้ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำความผิด


ทายาทความรุนแรง : แนวคิดการประกอบสร้างทางสังคมต่อการจัดการประสบการณ์ความรุนแรง, นญา พราหมหันต์ Jan 2017

ทายาทความรุนแรง : แนวคิดการประกอบสร้างทางสังคมต่อการจัดการประสบการณ์ความรุนแรง, นญา พราหมหันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องทายาทความรุนแรง: แนวคิดการประกอบสร้างทางสังคมต่อการจัดการประสบการณ์ความรุนแรง เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) เป็นเครื่องมือหลักในการรวบรวมข้อมูล ศึกษาวิจัยผ่านเรื่องเล่า (narrative) ของผู้หญิงอายุระหว่าง 20 - 60 ปี จำนวน 5 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มาจากพื้นฐานครอบครัวตั้งต้นที่รุนแรงหรือมีประสบการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นช่วงก่อนอายุ 20 ปีบริบูรณ์ จากการศึกษาวิจัย มีข้อค้นพบดังต่อไปนี้ 1) กรอบแนวคิดทายาทความรุนแรง อธิบายปัจเจกบุคคลที่มีประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับ "พิษ" "ความรุนแรง" หรือ "ผลกระทบในเชิงลบ"อันเนื่องมาจากประสบการณ์ดังกล่าว ซึ่งอาจสะท้อนผ่านทัศนคติที่รุนแรง อารมณ์ที่รุนแรง จนอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่รุนแรงต่าง ๆ ต่อไปได้ 2) แนวคิดการประกอบสร้างทางสังคมเป็นการอธิบายกลไกทางสังคม 4 ระดับ ประกอบด้วย ความรุนแรงที่แฝงอยู่ในระดับความคิดความเชื่อหรือวัฒนธรรมที่รุนแรง (Toxic Root) สภาพแวดล้อมทางสังคมที่รุนแรง (Toxic Environment) ความสัมพันธ์ที่รุนแรง (Toxic Relationships) และปัจเจกบุคคลในฐานะทายาทความรุนแรง (Toxic Fruits) ซึ่งทั้งหมดถือเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญทำให้ความรุนแรงในฐานะโครงสร้างทางสังคมสามารถถูกสืบทอดและถ่ายทอดมาอย่างยาวนานรุ่นแล้วรุ่นเล่า 3) ทายาทความรุนแรงสามารถเลือกจัดการกับประสบการณ์ความรุนแรงได้ 2 แนวทาง ได้แก่ การจัดการด้วยวิถีทางที่รุนแรงและการจัดการด้วยวิถีทางที่ไม่รุนแรง (4) ปัจเจกบุคคลที่เติบโตมาจากพื้นฐานครอบครัวตั้งต้นที่รุนแรงมีแนวโน้มที่จะสืบทอดหรือผลิตซ้ำความรุนแรงต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลนั้นก็สามารถเสริมสร้างพลังแห่งตนและเรียนรู้ที่จะจัดการประสบการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นด้วยวิถีทางที่ไม่รุนแรงได้เช่นกัน 5) ในการยุติวงจรความรุนแรงในครอบครัว จำเป็นต้องอาศัย 2 พลังสำคัญ ทั้งพลังภายในของปัจเจกบุคคลเองและพลังภายนอกจากสังคมทุกภาคส่วนที่จะเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวร่วมกัน เพราะฉะนั้นการเสริมสร้างพลังแห่งตนจึงต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการเสริมสร้างพลังทางสังคมเพื่อยุติโครงสร้างความรุนแรง โดยสรุป เนื่องจากมนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผลผลิตจากการประกอบสร้างทางสังคมเท่านั้น แต่มนุษย์เสมือนผลผลิตทางสังคมซึ่งมาพร้อมกับเมล็ดพันธุ์ที่ทรงพลัง ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตนเองและมีความสามารถในการสร้างสรรค์สังคมไปในวิถีทางที่ดีขึ้นต่อไปได้