Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Engineering Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2019

Theses/Dissertations

Electrical and Computer Engineering

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Articles 1 - 30 of 57

Full-Text Articles in Engineering

การพัฒนาระบบวัดช่วงเวลาเดินทางผ่านของชีพจรสำหรับการประมาณค่าความดันโลหิตแบบไร้ปลอกแขน, ทิพย์นิรินทร์ วัจนะรัตน์ Jan 2019

การพัฒนาระบบวัดช่วงเวลาเดินทางผ่านของชีพจรสำหรับการประมาณค่าความดันโลหิตแบบไร้ปลอกแขน, ทิพย์นิรินทร์ วัจนะรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวัดความดันโลหิตด้วยเครื่องวัดความดันแบบออสซิลโลเมตริกเป็นวิธีที่ถูกใช้งานในทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย แต่ด้วยข้อจำกัดของการมีปลอกแขนทำให้ไม่สามารถใช้วัดความดันโลหิตในผู้ป่วยบางกลุ่มได้ งานวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมีจุดมุ่งหมายพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบในการบันทึกสัญญาณโฟโตเพลตทีสโมแกรม (PPG) 2 ช่องพร้อมกับสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อนำไปประมาณค่าความดันโลหิตแบบไร้ปลอกแขนด้วยเทคนิคการวัด pulse arrival time (PAT) เปรียบเทียบกับ pulse transit time (PTT) โดย PAT เป็นช่วงเวลาระหว่าง R-wave ของ ECG กับจุดยอดของ PPG ที่ปลายนิ้ว และ PTT เป็นช่วงเวลาระหว่างจุดยอดของ PPG ที่ข้อพับบริเวณข้อศอก กับ PPG ที่ปลายนิ้ว โดยให้อาสาสมัครจำนวน 5 คนออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความดันโลหิตและวัดสัญญาณ ทั้งนี้ได้ออกแบบการทดลองและประเมินความแม่นยำภายใต้แนวทางของมาตรฐาน IEEE Std 1708™-2014 ผลการทดลองการประมาณค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (SBP) พบว่า PAT มีแนวโน้มผกผันกับ SBP เป็นไปตามทฤษฎี ในขณะที่ PTT ไม่แสดงถึงความสัมพันธ์กับ SBP ที่ชัดเจน การประมาณค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (DBP) ไม่แสดงถึงแนวโน้มความสัมพันธ์กับทั้ง PAT และ PTT ส่วนผลการทดลองประมาณค่า SBP ซ้ำภายใน 90 วันพบว่าเฉพาะ PAT มีความสามารถในการวัดซ้ำได้ดี โดยสรุปแล้ว PAT มีความสามารถในการประมาณค่าความดันโลหิต SBP แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาระบบการวัดความดันโลหิตแบบไร้ปลอกแขนให้แม่นยำมากขึ้นเพื่อประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ในอนาคต


การทำนายกำลังผลิตของโซลาร์เซลล์โดยใช้โมเดลประมาณค่าและตัวกรองคาลมาน, พีรพล จิรนันทเจริญ Jan 2019

การทำนายกำลังผลิตของโซลาร์เซลล์โดยใช้โมเดลประมาณค่าและตัวกรองคาลมาน, พีรพล จิรนันทเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอแนวทางในการทำนายกำลังผลิตของโซลาร์เซลล์โดยใช้แบบจำลอง Auto Regressive Integrated Moving Average (ARIMA) และ Kalman filter algorithm แนวทางในการทำนายนี้ทำนายกำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานี Photovoltaic (PV) ใดๆที่ต้องการทราบโดยในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะทำนายกำลังผลิตทุกๆ 5 นาที จุดมุ่งหมายของการใช้ Kalman filter algorithm เพื่อติดตามกำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานีที่ต้องการทราบค่ากำลังผลิตในกรณีที่ข้อมูลกำลังผลิตขาดหายไปในบางช่วงเวลา Kalman filter มีข้อดีที่ไม่ต้องใช้ข้อมูลในอดีตจำนวนมากในการทำนายและติดตามข้อมูลที่ต้องการ แต่เนื่องจาก Kalman filter algorihm ต้องการข้อมูลการวัดค่าแบบเวลาจริงเพื่อปรับแก้ในสมการดังนั้นเราจึงได้เสนอแบบจำลองการคำนวณค่าประมาณกำลังผลิต Estimator model เพื่อคำนวณค่ากำลังผลิตแบบเวลาจริงเพื่อนำไปใช้ใน Kalman filter algorithm ซึ่ง Estimator model จะคำนวณค่าประมาณกำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานีที่เราต้องการทำนายจากข้อมูลค่ากำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานีข้างเคียง จากนั้นจึงส่งผลลัพธ์นั้นไปใช้ในการทำนายกำลังผลิตจาก Kalman filter algorithm พบว่าผลลัพธ์ที่ได้มีความใกล้เคียงกับค่าจริงโดยสามารถดูได้จากค่าดัชนีชี้วัดความแม่นยำ นอกจากนั้นเรายังเปรียบเเทียบผลลัพธ์ของการทำนายกับ Persistence Model และ Artificial Neural Network ซึ่งผลลัพธ์ปรากฏว่า ARIMA-Kalman ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า Persistence Model และมีความแม่นยำใกล้เคียงกับ Artificial Neural Network ที่ใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน แต่ ARIMA-Kalman มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องใช้ข้อมูลกำลังผลิตของสถานีที่ต้องการทำนายกำลังผลิตเป็นจำนวนมากในการทำนาย


แบบจำลองเพื่อการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์สำหรับเมืองอัจฉริยะรักษ์สิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ริรินดา ถิระศุภะ Jan 2019

แบบจำลองเพื่อการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์สำหรับเมืองอัจฉริยะรักษ์สิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ริรินดา ถิระศุภะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

“EGAT Eco Plus” เป็นโครงการเมืองอัจฉริยะโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานระบบสื่อสารสำหรับเมืองอัจฉริยะ กฟผ. สนญ. จะต้องรองรับการออกแบบเป็นโมดูลเพื่อให้การออกแบบมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการใช้งานที่เปลี่ยนไป วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงนำเสนอแบบจำลองเพื่อการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์สำหรับเมืองอัจฉริยะรักษ์สิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และแนวคิดของตัวควบคุมระบบคลาวด์เมืองอัจฉริยะ โดยผู้วิจัยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์แบบกำหนดการเชิงเส้น (linear programming: LP) เพื่อหาคำตอบการจัดสรรทรัพยากรของศูนย์ข้อมูลให้กับคำร้องขอเพื่อให้บริการแบบสีเขียวสูงสุด โดยการใช้พลังงานสีเขียวในศูนย์ข้อมูลจากแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่สูงสุดเพื่อสร้างการคำนวณรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองอัจฉริยะ และผู้วิจัยได้ทำการเปรียบเทียบกับวิธีการจัดสรรภารกิจที่มีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน คือวิธีวนรอบ (round robin) อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของเมืองอัจฉริยะ กฟผ. จึงเป็นที่มาให้ผู้วิจัยศึกษาองค์ความรู้และเกณฑ์การประเมินเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลแบบยั่งยืนรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ สัมประสิทธิ์พลังงานสีเขียว ค่าเฉลี่ยการใช้พลังงานสีเขียวของภารกิจแต่ละประเภท ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดศูนย์ข้อมูลแบบยั่งยืนของ กฟผ. สนญ. ได้ โดยสรุปแบบจำลองสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานจริงได้เพื่อรองรับโปรแกรมประยุกต์ของเมืองอัจฉริยะ กฟผ. สนญ. โดยการปรับลักษณะโปรแกรมประยุกต์แต่ละชนิดที่จะมีใช้งานในเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ ชนิดของภารกิจ ขนาดแกนคำนวณที่ต้องการใช้งาน ขนาดของเครือข่ายที่ต้องการ ขนาดของหน่วยเก็บ ขนาดของข้อมูล และค่าการประวิงเวลาในระบบสื่อสารสูงสุด รวมทั้งคุณลักษณะของศูนย์ข้อมูล ได้แก่ ความจุของแกนคำนวณ ขนาดเครือข่ายที่สามารถให้บริการได้ ขนาดหน่วยเก็บ ซึ่งพารามิเตอร์เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญและเกี่ยวข้องในการให้บริการระบบคลาวด์แก่หน่วยงานหรือลูกค้าที่อยู่ตามอาคารต่าง ๆ ใน กฟผ. สนญ. อีกทั้งสามารถใช้กับการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ที่มีการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหลายแหล่งที่แตกต่างกัน เช่น แหล่งผลิตพลังงานจากกริด หรือแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ และหน่วยกักเก็บพลังงานสำรอง เป็นต้น


Application Of Battery Energy Storage System For Frequency Regulation Of Mae Hong Son Microgrid, Arnon Teawnarong Jan 2019

Application Of Battery Energy Storage System For Frequency Regulation Of Mae Hong Son Microgrid, Arnon Teawnarong

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Mae Hong Son microgrid in an isolated mode has low inertia. Therefore, when a disturbance occurs, the system frequency is subjected to a large deviation, which may lead to a blackout. The installation of a battery energy storage system (BESS) will improve the frequency response performance of the microgrid system in both islanding and grid-connected modes. The objective of this thesis is to investigate and compare BESS control methods for providing primary and secondary frequency response. The results show that the control of BESS for providing primary frequency response using virtual droop and virtual inertia approaches can reduce the frequency …


การพัฒนาระบบอ่านมิเตอร์อัตโนมัติสนับสนุนการจัดการไฟฟ้าดับโดยใช้เทคโนโลยี Lorawan, จิตติวัชร์ สมุหศิลป์ Jan 2019

การพัฒนาระบบอ่านมิเตอร์อัตโนมัติสนับสนุนการจัดการไฟฟ้าดับโดยใช้เทคโนโลยี Lorawan, จิตติวัชร์ สมุหศิลป์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Automatic Meter Reading (AMR) เป็นส่วนสำคัญของระบบไฟฟ้าส่วนจำหน่ายที่สามารถให้ข้อมูลจากลูกค้าเพื่อการตรวจสอบค่าวัดที่จำเป็นต่อระบบไฟฟ้า และด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการสื่อสารจึงสามารถใช้ AMR ช่วยเหลือในระบบจัดการไฟฟ้าดับได้ เมื่อเกิดการขัดข้อง AMR จะส่งการแจ้งเตือนไฟฟ้าดับไปยังผู้ให้บริการ (Utilities) เพื่อประเมินสถานการณ์ และส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือรูปแบบการสื่อสารของ AMR ซึ่งปัจจุบันมีระบบการสื่อสารที่ได้มีบทบาทมากขึ้น เช่น LoRaWAN ที่เป็น Low Power Wide Area Network (LPWAN) ที่ให้การส่งสัญญาณในระยะไกลโดยใช้พลังงานที่ต่ำ อย่างไรก็ตามมันยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ความเร็วในการส่ง ขนาดของข้อมูล หรือ ความจุของเครือข่าย การนำมาใช้งานร่วมกับ AMR เพื่อใช้งานในระบบจัดการไฟฟ้าดับจึงจำเป็นต้องหาอัลกอริธึมที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานดังกล่าว บทความนี้จึงจะศึกษาถึงวิธีการใช้ LoRaWan ร่วมกับ AMR ในการอ่านค่าวัดหรือสถานะและพัฒนาอัลกอริธึมที่เหมาะสมเพื่อใช้งาน LoRaWAN ร่วมกับระบบจัดการไฟฟ้าดับดังกล่าว


ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตกระเบื้องปูพื้นคอนกรีต : กรณีศึกษา, ญาณพิมพ์พา จำเนียรเจริญสุข Jan 2019

ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตกระเบื้องปูพื้นคอนกรีต : กรณีศึกษา, ญาณพิมพ์พา จำเนียรเจริญสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานผลิตกระเบื้องปูพื้นคอนกรีต ผลวิเคราะห์การใช้พลังงานปี 2560-2562 ด้วยการวิเคราะห์การถดถอยระหว่างผลผลิตกับการใช้พลังงานไฟฟ้ามีค่า R2 0.34 เนื่องจากผลผลิตของกระเบื้องปูพื้นคอนกรีตมีหลายกลุ่มสินค้าที่มีการใช้พลังงานต่างกัน จึงแบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 2 กลุ่ม คือ Terrazzo Tile และ Other Tiles เมื่อวิเคราะห์การถดถอยระหว่างผลผลิตสินค้ากลุ่ม Terrazzo Tile กับการใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากมีอุปกรณ์เครื่องวัดการใช้พลังงานค่า R2 อยู่ที่ 0.92 เมื่อวิเคราะห์โดยใช้ค่าพลังงานจำเพาะและกราฟ CUSUM สินค้า Terrazzo Tile พบว่าปี 2561 และ 2562 ประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำกว่าปี 2560 เนื่องจากค่า SEC สูงกว่า เพื่อกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานเลือกข้อมูลที่มีค่า SEC ต่ำจำนวน 6 เดือนมาเป็นตัวแทนเดือนที่มีศักยภาพการใช้พลังงานสูง โรงงานตัวอย่างจะมีศักยภาพการประหยัดพลังงานจากกลุ่มสินค้า Terrazzo Tile อยู่ที่ 417,488 kWh ต่อปี จากการวิจัยนี้พบว่าเพื่อให้การวิเคราะห์การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพควรติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัดการใช้พลังงานทุกกระบวนการผลิตสำหรับวิเคราะห์การใช้พลังงานทุกกลุ่มสินค้า


การตัดสินใจระหว่างการผลิตเองกับการจ้างผลิตสำหรับผลิตชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไอน้ำ, วริศรา เจียรจินดา Jan 2019

การตัดสินใจระหว่างการผลิตเองกับการจ้างผลิตสำหรับผลิตชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไอน้ำ, วริศรา เจียรจินดา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนเครื่องตัดชนิดเลเซอร์สำหรับโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไอน้ำ โดยทำการศึกษาจากการเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนซื้อเครื่องตัดสำหรับใช้เอง และการจ้างผู้อื่นตัดชิ้นส่วนให้ เปรียบเทียบจากต้นทุนทั้งหมดของทั้งสองวิธีการ ผลการศึกษาข้อมูลของโรงงาน ณ ปี พ.ศ.2562 พบว่ามีการจ้างผู้อื่นตัดโดยเฉลี่ยเดือนละ 2,374,142.73 มิลลิเมตรต่อเดือน โดยวัดจากความยาวของเส้นรอบรูป และหากลงทุนซื้อเครื่องตัดเพื่อใช้งานเองจะต้องใช้งานตัดทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 943,587.38 มิลลิเมตรต่อเดือน จึงจะคุ้มค่า ซึ่งทางโรงงานมีค่าเฉลี่ยในการตัดมากกว่าจุดปริมาณคุ้มทุน จึงสมควรแก่การเลือกวิธีลงทุนซื้อเครื่องตัดมาเพื่อใช้งานเองภายในโรงงาน


การศึกษาความเป็นไปได้ของระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย, อิทธิเดช ภู่นันทพงษ์ Jan 2019

การศึกษาความเป็นไปได้ของระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย, อิทธิเดช ภู่นันทพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2.31 kWp, 3.96 kWp และ 9.90 kWp ในบริเวณพื้นที่จังหวัดลพบุรี ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนระบบผลิตไฟฟ้ายังคงมีราคาสูงและขนาดกำลังการผลิตติดตั้งของโครงการมีผลต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน โดยโครงการที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งน้อยจะมีต้นทุน (บาท/kWp) สูงกว่าโครงการที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า ตามหลักการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) และจากผลการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนพบว่า โครงการจะมีความคุ้มค่าสำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งเพื่อใช้ภายในบ้านหรืออาคารเป็นหลัก ส่วนการติดตั้งเพื่อใช้ภายในบ้านและมีพลังงานไฟฟ้าส่วนเหลือจำหน่ายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้า มีความคุ้มค่าสำหรับโครงการที่มีขนาดใหญ่หรือโครงการที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำ และการลงทุนติดตั้งเพื่อจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ยังไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง แต่อัตรารับซื้อไฟฟ้ามีราคาต่ำ จึงสรุปได้ว่า ต้นทุนการลงทุน อัตราค่าไฟฟ้า อัตรารับซื้อไฟฟ้า สัดส่วนการผลิตและการใช้ไฟฟ้า และปัจจัยสภาพแวดล้อม มีผลต่ออัตราผลตอบแทนของโครงการและการตัดสินใจเลือกลงทุน


การศึกษาเชิงเปรียบเทียบข้อกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงานสากล Iso 50001:2018 และกฎหมายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับโรงงานและอาคารควบคุม, กิตติคุณ สินอุปการ Jan 2019

การศึกษาเชิงเปรียบเทียบข้อกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงานสากล Iso 50001:2018 และกฎหมายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับโรงงานและอาคารควบคุม, กิตติคุณ สินอุปการ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบข้อกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงานสากล ISO 50001:2018 กับการจัดการพลังงานตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) จากการเปรียบเทียบข้อกำหนดพบว่า ISO 50001:2018 มีความใกล้เคียงกับ พ.ร.บ. เป็นอย่างมาก โดยหัวข้อหลักของ ISO 50001:2018 ครอบคลุมข้อกำหนดทั้งหมดของ พ.ร.บ. ทั้งนี้ มีหัวข้อที่แตกต่างจากข้อกำหนดตาม พ.ร.บ. จำนวน 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) บริบทขององค์กร (2) การวางแผน (3) การสนับสนุน (4) การจัดหา และ (5) การปรับปรุง ซึ่ง ISO 50001:2018 มีความแตกต่างจาก ISO 50001:2011 จำนวน 2 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อที่ 4.1 ความเข้าใจองค์กรและบริบทขององค์กร และหัวข้อที่ 10.2 การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ได้จากการศึกษาทำให้ทราบว่าองค์กรที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ. อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงงานควบคุม หรืออาคารควบคุม สามารถเข้าสู่มาตรฐาน ISO 50001:2018 ได้ โดยใช้เอกสารเดิมที่จัดทำตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ. โดยจะต้องจัดทำเอกสารเพิ่มเติมตามข้อกำหนด 5 หัวข้อ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ เอกสารทั้งหมดจะต้องจัดทำให้เป็นรูปแบบตามข้อกำหนด ISO 9001 ส่วนองค์กรที่ได้รับการรับรองตาม ISO 50001:2011 และต้องการเข้าสู่ ISO 50001:2018 ต้องจัดทำเอกสารเพิ่มเติม เช่น วิสัยทัศน์องค์กร พันธกิจ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ด้านการจัดการพลังงาน รวมถึงการวิเคราะห์ SWOT Analysis เพื่อให้เข้าใจบริบทขององค์กร เป็นต้น


อัตราส่วนผสมสูงสุดของน้ำมันไพโรไลซิสเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำมันดีเซลของไทย, อรปวีณ์ แสงเนตร Jan 2019

อัตราส่วนผสมสูงสุดของน้ำมันไพโรไลซิสเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำมันดีเซลของไทย, อรปวีณ์ แสงเนตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัญหาการนำเข้าน้ำมันปริมาณมากทำให้ประเทศไทยตื่นตัวต่อการหาเชื้อเพลิงทดแทน ขณะเดียวกันขยะพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักของประเทศ และมีแนวโน้มจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น การนำขยะพลาสติกมาเปลี่ยนเป็นน้ำมันไพโรไลซิส เพื่อใช้ทดแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ดังนั้น งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาอัตราส่วนน้ำมันไพโรไลซิสในน้ำมันดีเซลที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นของการผสมน้ำมันไพโรไลซิสในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยทำการทดสอบตัวอย่างน้ำมันไพโรไลซิสจาก 2 แหล่งที่มา ตามมาตรฐานการทดสอบ ASTM จำนวน 6 รายการทดสอบ ได้แก่ ความถ่วงจำเพาะ ความหนืด จุดไหลเท กำมะถัน จุดวาบไฟ และการกลั่น พบว่าน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 1 (1PO) ที่ผลิตจากขยะพลาสติกสามารถ ผสมที่อัตราส่วนมากกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพทุกรายการ ส่วนน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 2 (2PO) ที่ผลิตจากวัตถุดิบหลายชนิด เช่น ยาง ขยะพลาสติก และน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว สามารถผสมที่อัตราส่วนน้อยกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ 1 รายการ และเมื่อนำเอาน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 1 มาศึกษาต่อในเชิงปริมาณสูงสุดที่ผสมแทนน้ำมันดีเซลได้ พบว่าน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 1 สามารถผสมได้สูงสุดที่อัตราส่วนน้ำมันไพโรไลซิสร้อยละ 18 โดยปริมาตร (1PO18) และเมื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นที่สัดส่วนดังกล่าว โดยเปรียบเทียบกับราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซล พบว่าราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลผสมน้ำมันไพโรไลซิสต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 0.19 บาทต่อลิตร ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ในการผลักดันให้น้ำมันไพโรไลซิสเป็นเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนในภาคขนส่งต่อไป


ฟลักซ์เทียมและตัวสังเกตที่มีเสถียรภาพในวงกว้างสำหรับการควบคุมแบบไร้เซนเซอร์วัดตำแหน่งของมอเตอร์ซิงโครนัสรีลักแตนซ์, ธันวา ภิญโญภาวศุทธิ Jan 2019

ฟลักซ์เทียมและตัวสังเกตที่มีเสถียรภาพในวงกว้างสำหรับการควบคุมแบบไร้เซนเซอร์วัดตำแหน่งของมอเตอร์ซิงโครนัสรีลักแตนซ์, ธันวา ภิญโญภาวศุทธิ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การประมาณตำแหน่งโรเตอร์ของมอเตอร์ซิงโครนัสรีลักแตนซ์โดยอาศัยแบบจำลองของมอเตอร์มีข้อดีคือไม่รบกวนการทำงานของมอเตอร์ และมีย่านการใช้งานที่ค่อนข้างกว้าง แม้ว่าในอดีตจะมีงานวิจัยหลายฉบับที่ได้นำเสนอตัวสังเกตฟลักซ์เพื่อการประมาณตำแหน่งโรเตอร์ไว้ แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยใดสามารถรับประกันเสถียรภาพของตัวสังเกตที่นำเสนอได้ ดังนั้นงานวิทยานพินธ์นี้จึงมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อนำเสนอตัวสังเกตฟลักซ์ซึ่งสามารถพิสูจน์เสถียรภาพในวงกว้างได้ โดยอาศัยแบบจำลองทางพลวัตใหม่ของมอเตอร์ซิงโครนัสรีลักแตนซ์บนฐานฟลักซ์เทียม ฟลักซ์เทียมสำหรับมอเตอร์ซิงโครนัสรีลักแตนซ์ที่นำเสนอมีข้อดีคล้ายกับแม่เหล็กถาวรของมอเตอร์ซิงโครนัสคือ มีขนาดที่รู้หรือคำนวณได้จากข้อมูลของกระแสสเตเตอร์ และมีมุมเฟสที่ให้ข้อมูลของตำแหน่งโรเตอร์ที่ต้องการรวมอยู่ด้วย ตำแหน่งและความเร็วของโรเตอร์สามารถหาได้จากฟลักซ์เทียมที่ประมาณได้โดยใช้เทคนิคเฟสล็อกลูปเชิงเวกเตอร์ แนวคิดและทฤษฎีทั้งหมดที่นำเสนอถูกทดสอบในเบื้องต้นโดยการจำลองด้วยโปรแกรม Matlab/Simulink และนำไปใช้กับระบบจริงเพื่อประมาณตำแหน่งและความเร็วโรเตอร์ในระบบควบคุมแบบไร้ตัวตรวจจับตำแหน่ง ผลการจำลองและผลการทดลองกับระบบจริงยืนยันความถูกต้องของแนวคิดและทฤษฎีที่ได้นำเสนอในงานวิทยานิพนธ์ฉบับนี้


การควบคุมแรงดันอย่างเหมาะที่สุดด้วยกราฟคุณลักษณะกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟกับแรงดันสำหรับระบบจำหน่ายที่มีระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบกระจายตัว, พงศธร เรืองจันทร์ Jan 2019

การควบคุมแรงดันอย่างเหมาะที่สุดด้วยกราฟคุณลักษณะกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟกับแรงดันสำหรับระบบจำหน่ายที่มีระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบกระจายตัว, พงศธร เรืองจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบกระจายตัวในระบบจำหน่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาแรงดันเกินในสายป้อน การใช้ความสามารถในการชดเชยกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟของอินเวอร์เตอร์ด้วยกราฟคุณลักษณะ Q(U) เป็นวิธีที่สามารถแก้ปัญหาแรงดันเกินได้ วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอวิธีการปรับตั้งค่ากราฟคุณลักษณะ Q(U) โดยประยุกต์ใช้ปัญหาการไหลของกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟที่เหมาะที่สุด ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการจำแนกกลุ่มแบบเคมีน ทดสอบกับระบบไฟฟ้าจริงของสถานีไฟฟ้าอุบลราชธานี 2 วงจรที่ 7 ผลการทดสอบพบว่า สามารถควบคุมแรงดันให้อยู่ในเกณฑ์ 0.95 - 1.05 pu. ที่กำหนด ช่วยลดปริมาณความต้องการกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟ และช่วยลดปริมาณกำลังไฟฟ้าสูญเสียในแต่ละวันของระบบจำหน่ายได้ เมื่อเปรียบเทียบผลกับกราฟคุณลักษณะ Q(U) ที่ปรับตั้งค่าตามมาตรฐาน IEEE 1547-2018 อย่างไรก็ตาม กราฟคุณลักษณะ Q(U) จะสามารถแก้ไขปัญหาแรงดันตามที่กล่าวได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไข 2 ประการ คือ โหลดการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกราย ในช่วงเวลาที่กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีค่าสูงสุด จะต้องมีปริมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของค่าความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละราย และจำเป็นต้องควบคุมขนาดแรงดันที่สถานีไฟฟ้าต้นทางให้อยู่ในช่วง 0.95 – 1.00 pu.


การพยากรณ์กำลังผลิตไฟฟ้ารายภาคจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้โครงข่ายประสาทเชิงลึกร่วมกับการปรับจูนไฮเปอร์พารามิเตอร์, สุกฤษฎ์ ใจดี Jan 2019

การพยากรณ์กำลังผลิตไฟฟ้ารายภาคจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้โครงข่ายประสาทเชิงลึกร่วมกับการปรับจูนไฮเปอร์พารามิเตอร์, สุกฤษฎ์ ใจดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เทคโนโลยีพลังงานปัจจุบันนำไปสู่การขยายตัวของโครงข่ายสมาร์ทกริดซึ่งเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายแง่มุม เช่น การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ ความก้าวหน้าระบบสำรองพลังงาน และความสมดุลระหว่างการผลิตและใช้พลังงาน เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้เกิดข้อดีหลายแง่มุม เช่น การผลิต การสำรอง และการใช้พลังงานภายในเน็ตเวิร์กเอง ดังนั้นโครงข่ายสมาร์ทกริดจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบจำหน่ายหลัก แต่อย่างไรก็ตามเน็ตเวิร์กส่วนใหญ่พึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีความผันผวนตามสภาพอากาศ ดังนั้นการมีระบบพยากรณ์จะช่วยรักษาเสถียรภาพของเน็ตเวิร์ก วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอวิธีการพยากรณ์กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบวกกลับร่วมกับการปรับปรุงความแม่นยำในการพยากรณ์ด้วยเทคนิคต่างๆ ได้แก่ การปรับจูนไฮเปอร์พารามิเตอร์ การคัดเลือกตัวแปร การหาค่าเฉลี่ยเชิงพื้นที่ การหาค่าเฉลี่ยนเคลื่อนที่แบบเอกซ์โพเนนเชียลของความเข้มแสงอาทิตย์ และการเอนเซมเบิลค่าพยากรณ์พลังงานไฟฟ้าจากแต่ละแบบจำลอง ข้อมูลอินพุตสำหรับวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ประกอบไปด้วย ข้อมูลจากแบบจำลองพยากรณ์อากาศและข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัด วิธีที่นำเสนอศึกษาแยกเป็น 2 กรณี ได้แก่ การพยากรณ์กำลังผลิตรวมของ 7 โรงไฟฟ้า การพยากรณ์พลังงานแสงอาทิตย์บนตึกภาควิชา ผลลัพธ์ที่ได้พบว่าแบบจำลองเอนเซมเบิลให้ค่าความผิดผลาดอยู่ที่ 6.94% RMSE ซึ่งลดลง 1.71% เมื่อเทียบกับแบบจำลองอินพุตที่ดีที่สุด เมื่อเราเปรียบชนิดของโหนดจาก GRU เป็น CuDNNGRU ค่า RMSE เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1% แต่เวลาในการฝึกสอนลดลงมากกว่าเท่าตัว


ระบบบริหารจัดการพลังงานครัวเรือนที่เป็นไปตามโพรโทคอล Homekit และ Echonet Lite, อธิวัฒน์ ภูชำนิพัฒนนันท์ Jan 2019

ระบบบริหารจัดการพลังงานครัวเรือนที่เป็นไปตามโพรโทคอล Homekit และ Echonet Lite, อธิวัฒน์ ภูชำนิพัฒนนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอระบบบริหารจัดการพลังงานครัวเรือนซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมคำนวณแบบ รวมศูนย์ ประกอบด้วยคอนโทรลเลอร์ 1 ตัวและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน 4 ชนิด ได้แก่ ตู้เย็น หลอดแอลอีดี เครื่องทำน้ำอุ่น และเครื่องปรับอากาศ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดถูกปรับปรุงและพัฒนาให้กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดที่สามารถสื่อสารแบบไร้สายผ่านโพรโทคอล ECHONET Lite ร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในโพรโทคอลเดียวกันได้ นอกจากนี้ยังนำเสนอการพัฒนาเกตเวย์สำหรับสื่อสารกับอุปกรณ์หรือตัวแทนปัญญาที่ใช้โพรโทคอลอื่น ซึ่งในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้นำเสนอเกตเวย์สำหรับสื่อสารกับโพรโทคอล HomeKit การปรับปรุงและพัฒนาตู้เย็นและหลอดแอลอีดีเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดทำได้โดยการศึกษาการทำงานของวงจรควบคุมและส่วนประกอบที่ทำหน้าที่ของเครื่องใช้ไฟฟ้า จากนั้นออกแบบวงจรควบคุมใหม่โดยสามารถทำงานร่วมกับส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าเดิมได้ จากนั้นแทนที่วงจรควบคุมด้วยวงจรที่ออกแบบขึ้น โดยให้มีการดัดแปลงวัสดุโครงสร้างเท่าที่จำเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดสามารถทำงานได้ตามฟังก์ชันการทำงานปกติเมื่อไม่ได้เชื่อมต่อกับเครือข่าย และจะมีความสามารถเกี่ยวกับการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยหรือการประหยัดพลังงานมากขึ้นเมื่อสามารถรับ/ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไปยังคอนโทรลเลอร์เพื่อประมวลผลและสั่งการได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดทำงานโดยการประโยชน์ใช้สอยให้มากที่สุด ไม่ใช้พลังงานอย่างสูญเปล่า อัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่องถูกนำมาใช้เพื่อทดสอบการติดต่อสื่อสารระหว่างตู้เย็นชาญฉลาดและคอนโทรลเลอร์ด้วยโพรโทคอล ECHONET Lite ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานของตู้เย็นลงได้อย่างน้อย 6.38\% และลดช่วงเวลาการเก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิที่สูงเกินไปได้อย่างน้อย 33.54\% ซึ่งผู้ใช้งานสามารถประนีประนอมระหว่างช่วงเวลาในการเก็บรักษาอาหารที่อุณหภูมิอุ่นเกินไปให้สูงขึ้นแลกกับการลดการใช้พลังงานลงได้อีก หรือการทำงานเพื่อลดค่าไฟฟ้าเนื่องจากการคิดค่าไฟฟ้าด้วยอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ หรือเข้าร่วมมาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า สำหรับการทำงานของหลอดแอลอีดีนั้น ตัวควบคุมสามารถเรียนรู้การเลือกความสว่างที่เหมาะสมได้


การประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ โดยการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ กรณีศึกษา ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง, สหภัส พุทธิขจร Jan 2019

การประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ โดยการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ กรณีศึกษา ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง, สหภัส พุทธิขจร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การใช้พลังงานของระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์อยู่ที่ประมาณ 45% ของการใช้พลังงานรวมในศูนย์การค้า ดังนั้น การควบคุมการทำงานของเครื่องทำน้ำเย็นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ ในระบบปรับอากาศแบบดั้งเดิม การเปลี่ยนแปลงของภาระการทำความเย็นจะส่งผลกระทบถึงอัตราการไหลของน้ำเย็นในระบบส่งจ่ายลมเย็นและภาระการทำความเย็นของเครื่องทำน้ำเย็นเพื่อที่จะรักษาอุณหภูมิอากาศภายในห้อง ระบบควบคุมแบบดั้งเดิมนี้มีเวลาในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของภาระการทำความเย็นที่นาน เป็นเหตุให้เกิดการแกว่งที่มากของอุณหภูมิอากาศในพื้นที่ปรับอากาศ และ ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากในการเดินเครื่องทำน้ำเย็น งานวิจัยนี้นำเสนอการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติที่ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศภายในพื้นที่ปรับอากาศเพื่อสนับสนุนระบบควบคุมแบบดั้งเดิมสำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องทำน้ำเย็นในศูนย์การค้า ระบบควบคุมอัตโนมัตินี้ใช้เซนเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศที่ติดตั้งในพื้นที่ปรับอากาศเพื่อจำกัดภาระการทำความเย็นของเครื่องทำน้ำเย็นโดยตรง ระบบควบคุมอัตโนมัตินี้สามารถลดเวลาในการตอบสนองเป็นเหตุให้การแกว่งของอุณหภูมิอากาศลดลง ค่าเฉลี่ยกำลังสองของอุณหภูมิอากาศของ โรงภาพยนตร์ พื้นที่ศูนย์การค้า และ ศูนย์อาหาร ถูกลดลงเป็น 0.0 0.16 และ 0.43 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และด้วยการช่วยของระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับการเฝ้าดูอุณหภูมิอากาศในพื้นที่ปรับอากาศอย่างต่อเนื่อง ระบบส่งจ่ายลมเย็นควบคุมค่าปรับตั้งของโรงภาพยนตร์ พื้นที่ศูนย์การค้า และ ศูนย์อาหาร ซึ่งค่าปรับตั้งได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นค่าใหม่คือ 24.5 25.3 และ 25.3 องศาเซลเซียส ตามลำดับ หลังจากใช้งานระบบควบคุมอัตโนมัติ การใช้พลังงานไฟฟ้าต่อวันลดลง 25.8 %


การใช้พลังงานสำหรับตู้แช่แข็งภายในร้านสะดวกซื้อ, สุพัชชา กระต่ายแก้ว Jan 2019

การใช้พลังงานสำหรับตู้แช่แข็งภายในร้านสะดวกซื้อ, สุพัชชา กระต่ายแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้พลังงานสำหรับตู้แช่แข็งและการศึกษาพฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าในการเปิดประตูตู้แช่แข็งภายในร้านสะดวกซื้อ โดยหาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการเปิดประตูกับพลังงานที่ใช้ การตรวจวัดพลังงานใช้ meter วัดพลังงาน เทียบกับระยะเวลาในการเปิดประตูตู้ ส่วนการศึกษาพฤติกรรมได้ข้อมูลจากการสังเกตผู้ที่ซื้อสินค้าจากตู้แช่แข็งจำนวน 60 คน จากการศึกษาพบว่า การใช้พลังงานรายวันของตู้แช่แข็ง 1 ตู้มีค่าเฉลี่ย 7.73 หน่วย/วัน ความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกับระยะเวลาที่ใช้เปิดประตูตู้แช่แข็งได้ความสัมพันธ์ตามสมการ Y = 6.4079x + 14.503 ซึ่งสามารถอธิบายชุดข้อมูลได้ 97% และพบว่าพฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าในการเปิดประตูตู้แช่แข็งในการเลือกหยิบสินค้าในตำแหน่งต่าง ๆ ภายในตู้ ซึ่งแบ่งเป็นตำแหน่งซ้าย ตำแหน่งกลาง และตำแหน่งขวา โดยตำแหน่งซ้ายจะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการเปิดตู้แช่แข็งนานที่สุดเนื่องจากอยู่ด้านในสุดของตู้แช่แข็งซึ่งจะต้องเปิดประตู้กว้างสุดในการเลือกหยิบสินค้า


การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์โรงไฟฟ้าพลังงานลม, ปรีชญา อุ่นใจ Jan 2019

การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์โรงไฟฟ้าพลังงานลม, ปรีชญา อุ่นใจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ภายในปี พ.ศ. 2563 มีแผนที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมรวม 270 เมกกะวัตต์ โดยใช้ราคารับซื้อไฟฟ้าอ้างอิงเฉลี่ยไม่สูงกว่า 2.44 บาทต่อหน่วย การศึกษานี้จึงได้วิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดระบบเงินเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) สำหรับการวิเคราห์ต้นทุนและผลตอบแทนโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดเล็กในประเทศไทย (90 เมกกะวัตต์) ได้ดำเนินการศึกษาทั้งหมด 3 โครงการ ภาคกลางที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดชัยภูมิ และภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในเวลา 1 ปีคือ 179.75 GWh, 227.06 GWh และ 182.91 GWh โดยใช้เงินลงทุน 6,026 ล้านบาทต่อโครงการ ผลจากการวิเคราะห์เงินลงทุนและผลตอบแทนของโครงการที่แบ่งออกเป็น 3 กรณี ในกรณีฐาน คิดโดยใช้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.44 บาท กรณีที่ 2 คิดโดยใช้กรณีฐานรวมกับผลประโยชน์ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ (Intangible Benefit) และกรณีที่ 3 คิดโดยใช้กรณีฐานรวมกับ Adder คือได้เงินสนับสนุน 3.5 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าในกรณีที่ 1 ของทั้ง 3 โครงการไม่สามารถที่จะดำเนินโครงการได้ เนื่องจากค่า FIRR น้อยกว่า i (6%) และ B/C Ratio มีค่าน้อยกว่า 1 เมื่อคิดในกรณีที่ 2 ที่รวม intangible benefit และในกรณีที่ 3 ที่คิดรวม Adder ทำให้โครงการมีความคุ้มค่าที่นักลงทุนจะลงทุน ซึ่งมี 2 โครงการในจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดชัยภูมิ ที่มีค่า B/C Ratio ในกรณีที่คิดรวม Intangible Benefit มีค่ามากกว่า B/C Ratio ในกรณีที่คิดรวม Adder หมายความว่าประโยชนฺที่รัฐหรือชุมชนจะได้รับมีมากกว่าที่นักลงทุนจะได้รับ …


การศึกษาความพึงพอใจของชุมชนต่อการจัดการพลังงานของบริษัทปิโตรเคมีที่คัดเลือก, ศรัณย์ ข่อยงาม Jan 2019

การศึกษาความพึงพอใจของชุมชนต่อการจัดการพลังงานของบริษัทปิโตรเคมีที่คัดเลือก, ศรัณย์ ข่อยงาม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ด้วยบริษัทปิโตรเคมีที่คัดเลือกได้ดำเนินโครงการด้านการจัดการพลังงาน ตามนโยบายการสนับสนุนของกระทรวงพลังงานให้ประชาชนใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเป็นแผนการบริหารกิจการเพื่อสังคมตามแนวทางการปฏิบัติในระดับมาตรฐานสากล ดังนั้นงานวิจัยจึงมุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบกับความพึงพอใจของชุมชนต่อการบริหารจัดการโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น คุณลักษณะประชากร ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน และความสอดคล้องกับบริบทในท้องถิ่น เป็นต้น โดยสำรวจชุมชนที่อยู่รอบโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนได้ จึงคัดเลือกตัวอย่างเพื่อทำแบบสอบถามจำนวน 360 คน ให้เสนอข้อคิดเห็นในการดำเนินโครงการด้านพลังงานของบริษัท 2 โครงการ คือ โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ และโครงการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นแบบ LED เพื่อชุมชน แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลด้วยสถิเชิงพรรณาและสถิติเชิงอนุมาน ซึ่งผลการวิจัยพบว่าชุมชนมีความพึงพอใจด้านพลังงานทั้ง 2 โครงการอยู่ในระดับที่สูงมาก และเหมาะสมกับบริบทของชุมชน แต่รูปแบบโครงการที่มีประโยชน์ต่อชุมชนนั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยที่สามารถสร้างแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม หรือกระจายผลประโยชน์ให้ชุมชนได้รับการสนับสนุนมากที่สุด แต่ต้องขับเคลื่อนด้วยพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังในการดำเนินการ เช่น กรณีพิพาทในพื้นที่ส่วนกลาง หรือข้อกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง


การศึกษากระแสรั่วของกับดักเสิร์จที่มีแรงดันพิกัด 21 Kv, จีระวัฒน์ นาคเวช Jan 2019

การศึกษากระแสรั่วของกับดักเสิร์จที่มีแรงดันพิกัด 21 Kv, จีระวัฒน์ นาคเวช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กับดักเสิร์จเป็นอุปกรณ์ป้องกันในระบบไฟฟ้าที่สำคัญ ทำหน้าที่จำกัดแรงดันเกินเสิร์จที่เกิดขึ้นจากฟ้าผ่าหรือการสวิตชิงเพื่อป้องกันอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบไฟฟ้า เมื่อมีการตรวจรับหรือก่อนนำกับดักเสิร์จไปติดตั้งใช้งานจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบสภาพของกับดักเสิร์จ หรือเมื่อติดตั้งใช้งานไประยะหนึ่งกับดักเสิร์จอาจเริ่มเกิดการเสื่อมสภาพขึ้น จำเป็นจะต้องมีการประเมินสภาพกับดักเสิร์จก่อนที่จะเกิดความเสียหาย วิธีการหนึ่งซึ่งมีความถูกต้องสำหรับการประเมินสภาพของกับดักเสิร์จคือการพิจารณาค่ากระแสรั่วเชิงความต้านทาน นอกจากนี้อุณหภูมิของกับดักเสิร์จขณะติดตั้งใช้งานก็เป็นอีกดัชนีที่สามารถบ่งบอกถึงการเสื่อมสภาพของกับดักเสิร์จได้เช่นกัน แต่จำเป็นจะต้องทราบความสัมพันธ์ของดัชนีเหล่านี้กับสภาพของกับดักเสิร์จ วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์ที่จะตรวจวัดกระแสรั่วและอุณหภูมิของกับดักเสิร์จแรงดันพิกัด 21 kV ทั้งที่ยังไม่ได้ติดตั้งใช้งาน ที่ผ่านการใช้ติดตั้งใช้งานมาเป็นระยะเวลาที่หลากหลาย และกับดักเสิร์จที่เสื่อมสภาพ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาวิธีการ พร้อมเกณฑ์ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการประเมินสภาพของกับดักเสิร์จ ซึ่งจะเป็นประโชน์ต่อการปฏิบัติงานบำรุงรักษา และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับระบบจำหน่ายไฟฟ้า


ระบบวิเคราะห์ความสูงและการเคลื่อนที่ของเมฆแบบเวลาจริงโดยใช้ภาพถ่ายแบบสเตอริโอ, ชยากร ประเสริฐเสรี Jan 2019

ระบบวิเคราะห์ความสูงและการเคลื่อนที่ของเมฆแบบเวลาจริงโดยใช้ภาพถ่ายแบบสเตอริโอ, ชยากร ประเสริฐเสรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กล้องถ่ายภาพทั่วฟ้า คืออุปกรณ์ใช้สังเกตการณ์สภาพอากาศที่ติดตั้งบริเวณภาคพื้นชนิดหนึ่ง โดยให้มุมมองการถ่ายภาพตั้งฉากกับพื้นโลก ข้อมูลจากอุปกรณ์ดังกล่าวนำไปใช้ในการประเมิณปริมาณเมฆที่ปกคลุมบริเวณเหนือกล้อง และบอกทิศทางการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆได้ แต่ไม่สามารถบอกข้อมูลความสูงและความเร็วของเมฆซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกนำไปใช้งานในหลายแขนง เช่น การบิน การพยากรณ์อากาศและการพยากรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น วิทยานิพนธ์นี้เสนอการพัฒนาระบบวิเคราะห์ความสูงและการเคลื่อนที่ของเมฆแบบเวลาจริงโดยใช้ภาพถ่ายแบบสเตอริโอ เพื่อใช้ประมาณความสูงฐานเมฆรวมถึงความเร็วของกลุ่มเมฆที่เคลื่อนที่เหนือรัศมีของระบบถ่ายภาพ โดยใช้กล้อง Canon EOS M100 สองตัว ที่ถูกควบคุมการถ่ายภาพให้พร้อมกันและส่งภาพถ่ายขึ้นคลาวด์ด้วยบอร์ดคอมพิวเตอร์ Raspberry Pi ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ใช้หลักการวิเคราะห์สามเหลี่ยมระยะทางในการประมาณความสูงเมฆ และได้พัฒนากระบวนการปรับเทียบระบบถ่ายภาพขึ้นใหม่ ซึ่งทำให้การวิเคราะห์ความสูงฐานเมฆมีความแม่นยำขึ้น การทดสอบวัดระยะทำโดยการวัดระยะทางกับอาคารที่ทราบระยะโดยใช้ Google map พบว่ามีความผิดพลาดน้อยกว่า 6% สำหรับเป้าหมายที่ระยะน้อยกว่า 200 เมตรและประมาณ 8% สำหรับเป้าหมายที่ระยะ 1,200 เมตร และการทดลองวัดความเร็วรถยนต์พบว่าอัลกอริทึมที่ใช้มีความสอดคล้องกับการวัดความเร็วเมฆโดยผิดพลาดที่น้อยกว่า 10%


การศึกษาผลกระทบของแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนชนิดอินเวอร์เตอร์ต่อกระแสลัดวงจรในระบบส่งกำลังไฟฟ้า, ธรรมชาติ เพ็ชรนพรัตน์ Jan 2019

การศึกษาผลกระทบของแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนชนิดอินเวอร์เตอร์ต่อกระแสลัดวงจรในระบบส่งกำลังไฟฟ้า, ธรรมชาติ เพ็ชรนพรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้จะพิจารณาระบบป้องกันในระบบส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ระดับแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 22 kV ถึง 500 kV ที่ถูกติดตั้งอยู่ภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูงทั้งหมด 252 สถานี มีประเด็นหลักที่ศึกษา 3 ประเด็น คือ 1) ศึกษาผลกระทบจากกระแสผิดพร่องที่ลดลงต่อการปรับตั้งค่าระบบป้องกัน 2) ศึกษาผลกระทบจากอินเวอร์เตอร์ในโหมดควบคุมกระแสไฟฟ้าต่อขนาดแรงดันไฟฟ้าลำดับลบ และนำเสนอการใช้อินเวอร์เตอร์ในโหมดควบคุมแรงดันไฟฟ้าเพื่อลดขนาดแรงดันไฟฟ้าลำดับลบเมื่อเกิดความผิดพร่องแบบไม่สมมาตร และ 3) ศึกษาความเป็นไปได้ในการชดเชยกระแสผิดพร่องด้วยการปรับเพิ่มการผลิตสำรองพร้อมจ่ายและ/หรือการใช้ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ผลการจำลองการทำงานด้วยโปรแกรม DIgSILENT Powerfactory ตามมาตรฐาน IEC 60909 แสดงถึงผลการศึกษาที่มีต่อ 3 ประเด็นข้างต้นดังนี้ 1) ในกรณีที่มีแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และพลังงานลมในสัดส่วน 36% ของกำลังผลิตทั้งหมด จะส่งผลให้ระบบป้องกันภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูงจำนวน 26 สถานี ตรวจจับกระแสผิดพร่องลดลงมากกว่า 10% ของค่าที่ปรับตั้งไว้ ซึ่งมากกว่าย่านที่รับได้ตามแนวปฏิบัติของ กฟผ. 2) อินเวอร์เตอร์ในโหมดควบคุมแรงดันไฟฟ้าสามารถช่วยชดเชยกระแสผิดพร่องในลำดับบวกและลำดับลบได้อย่างเหมาะสม ซึ่งช่วยทำให้แรงดันไฟฟ้าลำดับลบมีขนาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับในกรณีที่ใช้อินเวอร์เตอร์ในโหมดควบคุมกระแสไฟฟ้า และ 3) การปรับเพิ่มกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายและการใช้ระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่สามารถช่วยเพิ่มกระแสผิดพร่องภายในระบบส่งให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ของค่าปรับตั้งอุปกรณ์ป้องกัน


การศึกษาการเจริญเติบโตและสารต้านอนุมูลอิสระในผักชีโดยใช้แหล่งกำเนิดแสงแอลอีดี, มาโนช แสนหลวง Jan 2019

การศึกษาการเจริญเติบโตและสารต้านอนุมูลอิสระในผักชีโดยใช้แหล่งกำเนิดแสงแอลอีดี, มาโนช แสนหลวง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกพืชผักอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือการปลูกผักชี (Coriandrum sativum) เกษตรกรนิยมปลูกผักชีในแถบภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งจะปลูกได้ดีในช่วงฤดูหนาวทำให้ผักชีมีราคาถูกในช่วงฤดูนี้ แต่ฤดูอื่นจะปลูกผักชีได้ยากมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแบบร้อนชื้นในประเทศไทย อีกทั้งศัตรูพืชที่มาทำลายผักชี ทำให้ผักชีมีราคาสูง การนำแสงเทียมมาใช้ในการเพาะปลูกพืชจึงนิยมมากขึ้น ซึ่งสามารถเลือกปลูกในพื้นที่ปิด ควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมได้อีกทั้งยังควบคุมผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยงานวิจัยนี้จะออกแบบและสร้างหลอดไฟที่เหมาะสมสำหรับการปลูกผักชีต่อการเพิ่มการเจริญเติบโตในด้านความสูง จำนวนใบ จำนวนก้าน น้ำหนักสดและแห้ง อีกทั้งยังวิเคราะห์ถึงปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในผักชีอีกด้วย ทั้งนี้งานวิจัยจะเน้นการศึกษาผลของแสงทั้ง 3 สีซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นผักชี ประกอบไปด้วยแสงสี Red (660 nm), Blue (447 nm) และ Far-red (730 nm) นำมาสร้างเป็นหลอดแอลอีดี 6 แบบคือ R:B:Fr = 10:4:1, 10:2:1, 10:1:1 และ R:B = 10:4, 10:2, 10:1 โดยใช้ค่า PPFD (Photosynthetic Photon Flux Density) ที่ 2 ระดับคือ 150±10 และ 250±10 µmol/m2/s เปรียบเทียบกับการปลูกผักชีด้วยแสงอาทิตย์ รวม 13 การทดลอง จากผลการทดลองพบว่าการใช้หลอดไฟแอลอีดีในการเพาะปลูกผักชีส่งผลดีกว่าการปลูกด้วยแสงอาทิตย์ทุกรูปแบบ ที่ระดับความเข้มแสงทั้ง 2 ระดับ การเลือกใช้แสงที่ค่า PPFD ที่สูงกว่าส่งผลต่อการเจริญเติบโตของผักชีทุกด้าน จากการวิเคราะห์แสงสีพบว่าแสงสี Far-red ส่งผลต่อความสูงของต้นผักชีอย่างมาก แต่จะทำให้จำนวนใบและก้าน รวมถึงน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งลดลง ส่วนแสงสี Blue ทำให้จำนวนใบและจำนวนก้านของผักชีเพิ่มมากขึ้น มีน้ำหนักแห้งมีมากแต่ปริมาณน้ำหนักสดมีค่าลดลงตามสัดส่วนของแสงสี Blue ที่เพิ่มมากขึ้น ในส่วนของสารต้านอนุมูลอิสระพบว่าแสงสี Blue ช่วยทำให้ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้นแต่แสงสี Far-red ทำให้ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในผักชีลดน้อยลง เมื่อพิจารณาถึงสารต้านอนุมูลอิสระโดยรวมพบว่าผักชีที่ได้รับแสงจากหลอดแอลอีดีมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผีกชีที่ได้รับแสงอาทิตย์ แต่เมื่อพิจารณาถึงปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระจากน้ำหนักของผักชีที่เท่ากันเป็นปริมาณ 1 กรัมพบว่าผักชีภายใต้แสงอาทิตย์กลับมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับผักชีที่ได้รับแสงจากหลอดแอลอีดี


การปรับปรุงระบบป้องกันและคุณภาพไฟฟ้าสำหรับระบบไมโครกริดบ้านขุนแปะในจังหวัดเชียงใหม่, วันนพ คณานุสรณ์ Jan 2019

การปรับปรุงระบบป้องกันและคุณภาพไฟฟ้าสำหรับระบบไมโครกริดบ้านขุนแปะในจังหวัดเชียงใหม่, วันนพ คณานุสรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอแนวทางการปรับปรุงระบบไมโครกริดบ้านขุนแปะจังหวัดเชียงใหม่ โดยเน้นการศึกษา 2 ประเด็นหลัก คือ 1) การปรับปรุงระบบป้องกันภายในระบบไมโครกริด และ 2) การปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าด้านแรงดันและความถี่ของระบบไมโครกริด ในประเด็นการปรับปรุงระบบป้องกันจะพิจารณาการทำงานของไมโครกริดทั้งในแบบเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลัก และแบบแยกโดด โดยนำเสนอการใช้รีโคลสเซอร์เป็นอุปกรณ์ป้องกัน พร้อมทำการจัดแบ่งเขตป้องกันและกำหนดตำแหน่งติดตั้ง นอกจากนี้ยังนำเสนอกระบวนการหาค่าปรับตั้งค่าสำหรับอุปกรณ์ป้องกันกันที่มีการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ป้องกันในเขตป้องกันต่างๆ ทั้งนี้ค่าปรับตั้งดังกล่าวจะอาศัยการวิเคราะห์กระแสลัดวงจรของระบบไมโครกริดจากโปรแกรม DIgSILENT Powerfactory ซึ่งทำให้ได้ค่าปรับตั้งกลุ่มพารามิเตอร์ของรีโคลสเซอร์ที่เหมาะสมสำหรับการทำงานของไมโครกริดในแต่ละโหมดได้ ในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าจะพิจารณาเฉพาะการทำงานแบบแยกโดด ที่คำนึงถึงความผันผวนของโหลด ความผันผวนของกำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัวชนิดพลังงานแสงอาทิตย์ และชนิดพลังน้ำ วิทยานิพนธ์นี้ได้ประยุกต์ใช้เทคนิคการควบคุมอินเวอร์เตอร์ของระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มีพฤติกรรมเสมือนกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซิงโครนัสที่มีส่วนควบคุมดรูปกำลัง-ความถี่ และส่วนควมคุมแรงดันแบบอัตโนมัติรวมอยู่ด้วย เพื่อช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนดังกล่าวข้างต้นต่อคุณภาพไฟฟ้าทางด้านแรงดันและความถี่ของไมโครกริด จากผลการจำลองการทำงานแสดงให้เห็นว่าระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่นอกจากจะสามารถช่วยประสานการผลิตกำลังไฟฟ้าระหว่างแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัวได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของแหล่งผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัวและโหลดอีกด้วย ซึ่งทำให้การทำงานของไมโครกริดแบบแยกโดดมีคุณภาพไฟฟ้าในด้านความถี่และแรงดันสอดคล้องกับมาตรฐานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้


Analyzing Impact Of Changing Fuel-Mix Composition Of Thailand Power Generation, Chanaipong Srichai Jan 2019

Analyzing Impact Of Changing Fuel-Mix Composition Of Thailand Power Generation, Chanaipong Srichai

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The energy industry is considered one of the important sectors for national economic development—especially the electricity generation industry then Thailand has developed a power development plan as the nation roadmap to ensure power security and reliability of the electricity system. In this study, we focus on the electricity generation industry and examine the impacts resulting from the changing composition of power generation type compare between Thailand’s Power Development Plan year 2015 and the year 2018. The scenario case 1 assuming that the electricity generation is generated from 37% of Natural Gas, 23% of Coal, and 50% other. When the changing …


การปรับปรุงอาคารสำนักงานเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ : กรณีศึกษาอาคารอำนวยการ องค์การเภสัชกรรม, ยชนา เชาวนะกมล Jan 2019

การปรับปรุงอาคารสำนักงานเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ : กรณีศึกษาอาคารอำนวยการ องค์การเภสัชกรรม, ยชนา เชาวนะกมล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากรอบอาคารของอาคารสำนักงาน อาคารอำนวยการ องค์การเภสัชกรรม ให้กรอบอาคารมีค่าการถ่ายเทความร้อนเป็นไปตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ฉบับที่ 2 (ปี พ.ศ.2550) รวมทั้งวิเคราะห์ผลทางเศรษฐศาสตร์ในการลงทุนของมาตรการทางการเงินและความคุ้มทุน วิธีการศึกษาการใช้วิธีการจำลองอาคารด้วยโปรแกรม Building Energy Code Software version 1.0.6 (BEC v.1.0.6) โดยรวบรวมข้อมูลกรอบอาคาร อุปกรณ์ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และระบบปรับอากาศ จากการจำลองอาคารพบว่า ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมทั้งผนังด้านนอกอาคาร (OTTV) เท่ากับ 34.102 W/m² ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดคือต่ำกว่า 50 W/m² ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของหลังคาอาคาร (RTTV) เท่ากับ 19.433 W/m² ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดคือ 15 W/m² มีค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างสูงสุด (LPD) เท่ากับ 14.461 W/m² ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดคือ 14 W/m² ค่าการประเมินศักยภาพด้านพลังงานของระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน (EER) ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดคือต่ำกว่า 3.22 W/W และค่าการใช้พลังงานทั้งหมดของอาคารเท่ากับ 813,300 kWh/Year ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคือสูงกว่าอาคารอ้างอิง พลังงานที่ใช้ในอาคารส่วนใหญ่มาจากระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และระบบปรับอากาศ คิดเป็นร้อยละ 76.75 ของการใช้พลังงานทั้งหมด ทั้งนี้ถ้าต้องการลดการใช้พลังงานเพื่อการอนุรักษ์พลังงานของอาคาร จำเป็นต้องปรับปรุงโดยการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นแอลอีดี การติดตั้งฉนวนกันความร้อนชนิดโพลิสไตรีนโฟมที่หลังคา และการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนเฉพาะเครื่องที่ไม่ผ่านเกณฑ์ให้เป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นจะได้ค่า RTTV 13.605 W/m² ค่า LPD 6.627 W/m² ค่า EER มากกว่า 3.22 W/W มาตรการนี้ทำให้ค่า RTTV ลดลงร้อยละ 30 ซึ่งทำให้อาคารมีการใช้พลังงานรวมลดลงร้อยละ 29.66 โดยมีผลประหยัด 964,972 บาทต่อปี มีระยะเวลาคืนทุน 6 ปี 5 เดือน


การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับโรงงานระเหยน้ำกากส่า, สิริรัตน์ เนติพัติ Jan 2019

การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับโรงงานระเหยน้ำกากส่า, สิริรัตน์ เนติพัติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานระเหยน้ำกากส่า โดยใช้ค่าการใช้พลังงานจำเพาะ (Specific Energy Consumption, SEC) และเครื่องมือทางสถิติ ได้แก่ แผนภูมิการกระจาย, การวิเคราะห์การถดถอย และการสร้างกราฟผลต่างของค่าจริงกับค่าอ้างอิงหรือค่าฐาน (Difference, DIFF) และค่าผลรวมสะสมของผลต่าง (Cumulative Summation of Difference, CUSUM) ในการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานที่ผ่านมา เพื่อใช้กำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงานและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อไป ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าและปริมาณผลผลิตในช่วงปี 2560-2561 พบว่าปี 2561 มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำกว่าปี 2560 เนื่องจากมีค่า SEC ที่สูงกว่า โดยปี 2560 มีค่า SEC เท่ากับ 250.37 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ลูกบาศก์เมตร ส่วนปี 2561 มีค่า SEC เท่ากับ 269.04 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ลูกบาศก์เมตร และการใช้กราฟ CUSUM พบว่าปี 2560 มีศักยภาพในการประหยัดพลังงานร้อยละ 21.82-31.14 ในขณะที่ปี 2561 มีศักยภาพในการประหยัดพลังงานสูงถึงร้อยละ 68.86-78.17 เป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานจึงประเมินจากศักยภาพของการประหยัดพลังงานรวมปี 2560-2561 มีร้อยละผลประหยัดเฉลี่ย 8.64 โดยมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่เลือกมานำเสนอ ได้แก่ มาตรการลดความเร็วรอบของปั๊ม Effect 1-4, Finisher A และ B และพัดลม MVR 1 และ MVR 2 ด้วย VSD และมาตรการลดขนาดปั๊มน้ำหอหล่อเย็น (Cooling Tower Pump) A และ B


การวิเคราะห์ต้นทุนไฟฟ้าของการผลิตสมุนไพรด้วยวิธีการจัดสรรต้นทุน, รัชญา ฤาชัยตระกูล Jan 2019

การวิเคราะห์ต้นทุนไฟฟ้าของการผลิตสมุนไพรด้วยวิธีการจัดสรรต้นทุน, รัชญา ฤาชัยตระกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ต้นทุนค่าไฟฟ้าส่วนกลางที่มีการใช้ร่วมกันของผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท ที่ผลิตจากแผนกผลิตสมุนไพร ในรอบ 1 ปี ของโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง ทางภาคเหนือ เป็นมูลค่า 881,139.50 บาท โดยวิเคราะห์และกำหนดการจัดสรรปันส่วน (Allocation Base Analysis) ของต้นทุนพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะอาศัยหลักเกณฑ์ที่ใช้จัดสรรปันส่วน (Cost Allocation Criteria) คือ 1) Naive 2) Causal Relation และ 3) Benefit Received และอาศัยฐานที่ใช้จัดสรรปันส่วน (Cost Allocation Base) คือ 1) ชั่วโมงเครื่องจักร (Machine-Hours 2) ชั่วโมงแรงงานทางตรง (Direct Labor-Hours) และ 3) ต้นทุนการใช้วัตถุดิบ (Direct Material Usage) จากผลการวิจัยพบว่า ในการจะเลือกใช้หลักเกณฑ์และฐานเพื่อนำมาจัดสรรปันส่วนพลังงานไฟฟ้าในการผลิตจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม โดยพบว่าโรงพยาบาลไม่ได้มุ้งเน้นแสวงหากำไรเป็นหลัก แต่มุ่งเน้นช่วยเหลือชุมชน ดังนั้นการเลือก Causal Relation เป็นหลักเกณฑ์ (Criteria) จึงเหมาะสมมากที่สุด ส่วนด้านกระบวนการและวัตถุดิบในการผลิตของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน การเลือก ชั่วโมงเครื่องจักร จึงเหมาะสมมากที่สุดในการวิเคราะห์ต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยนำชั่วโมงการทำงานของเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตมาวิเคราะห์


การศึกษาปัจจัยและประเมินการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย, ภัทรลดา สินทรัพย์ Jan 2019

การศึกษาปัจจัยและประเมินการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย, ภัทรลดา สินทรัพย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและรวบรวมปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1) โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ รวมทั้ง ได้ประเมินการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งนำแบบจำลองการเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคของศูนย์วิจัยพลังงานแห่งเอเชียแปซิฟิกมาประยุกต์ใช้ในการคาดการณ์การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยปัจจัยที่มีความสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ประเมินค่า 5 ระดับ ตามแนวทางของ Likert Scale และผลจากการคาดการณ์การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าประเภท รย.1 ในปี ค.ศ. 2050 ของประเทศไทย ได้คาดการณ์เป็น 2 ภาพเหตุการณ์คือ ภาพเหตุการณ์พื้นฐาน และภาพเหตุการณ์ที่มีนโยบายส่งเสริมอย่างเข้มข้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอ้างอิงจากรถยนต์ไฟฟ้า 3 ชนิด ได้แก่ รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ซึ่งผลการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งภาครัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายและพัฒนาคุณลักษณะของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้ง โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง


ศึกษาเปรียบเทียบระบบน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างแบบแผ่นเรียบและแบบหลอดแก้วสุญญากาศ, อภิวัฒน์ สุขาภิรมย์ Jan 2019

ศึกษาเปรียบเทียบระบบน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างแบบแผ่นเรียบและแบบหลอดแก้วสุญญากาศ, อภิวัฒน์ สุขาภิรมย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องนี้ได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบประสิทธิภาพของระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ระหว่างแบบแผ่นเรียบและแบบหลอดแก้วสุญญากาศ จากการเก็บข้อมูลจริงเป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน โดยวิเคราะห์จากปัจจัยที่อาจจะมีผลต่ออุณหภูมิของน้ำ เช่น ความเข้มแสงอาทิตย์ ความชื้นในอากาศ อุณหภูมิอากาศ น้ำเข้า-ออกแผงรับความร้อน พบว่าสภาพอากาศมีผลต่อการผลิตน้ำร้อนมากที่สุด โดยในวันที่แสงแดดดีจะทำความร้อนได้สูงแต่ในวันที่ฝนตกจะไม่สามารถทำความร้อนได้ และแผงทำความร้อนทั้งสองแบบมีช่วงการทำความร้อนที่ไม่เท่ากัน โดยที่แผงทำความร้อนแบบแผ่นเรียบจะมีช่วงเวลาที่สามารถเพิ่มอุณหภูมิของน้ำได้แคบกว่าแบบหลอดแก้วประมาณ 1.5-2 ชั่วโมงต่อวัน แต่ช่วงเวลา09.00-15.00 แผงแบบแผ่นเรียบสามารถทำความร้อนได้สูงกว่าแบบหลอดแก้วสุญญากาศ ทั้งนี้ประสิทธิภาพรวมตลอดวันของแผงทั้งสองชนิดมันจะขึ้นอยู่กับปริมาณแสงแดดแต่ละช่วงเวลาของวันนั้นๆ โดยปริมาณแสงแดดมากน้อยไม่เท่ากันแต่ละช่วงเวลา จะส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบของแผงทำน้ำร้อนทั้งสองขนิด นอกจากนี้ยังพบว่าแผงแบบแผ่นเรียบมีอัตราการสูญเสียความร้อนที่สูงกว่าแบบหลอดแก้วสุญญากาศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอณุหภูมิบริเวณที่ทำการทดลองโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้แผงทั้งสองชนิดได้มีผลได้เปรียบเสียเปรียบต่างกันไป ทางด้านจุดคุ้มทุนพบว่า ทั้งสองระบบมีจุดคืนทุนไม่ต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับราคาขายในท้องตลาด


การศึกษาประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงน้ำแข็งในประเทศไทย, สุจิตรา จำนงบุตร Jan 2019

การศึกษาประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงน้ำแข็งในประเทศไทย, สุจิตรา จำนงบุตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกลุ่มโรงงานน้ำแข็งที่เป็นโรงงานควบคุม โดยศึกษาข้อมูลจากรายงานการจัดการพลังงานของโรงงานน้ำแข็งจำนวน 80 แห่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2558 - 2561 ซึ่งมีการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมมากกว่า 500 ล้านหน่วย (GWh) ต่อปี เฉลี่ยต่อแห่ง 6.25 ล้านหน่วยต่อปี และคัดเลือกกลุ่มโรงงานตัวอย่างจำนวน 20 แห่ง มาวิเคราะห์ค่าการใช้พลังงานจำเพาะ (SEC) โดยละเอียด พบว่าค่า SEC หรือประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงานน้ำแข็งมีค่าตั้งแต่ 59 -133 kWh/ตัน และมีค่าเฉลี่ยที่ 98 kWh/ตัน เมื่อวิเคราะห์รายประเภทโรงงานน้ำแข็งพบว่า โรงงานผลิตน้ำแข็งหลอดและโรงงานผลิตน้ำแข็งซองมีค่า SEC เฉลี่ยเท่ากันที่ 94 kWh/ตัน ในขณะที่โรงงานที่ผลิตทั้งน้ำแข็งซองและน้ำแข็งหลอดมีค่า SEC เฉลี่ยที่ 104 kWh/ตัน การศึกษายังพบว่าโรงงานน้ำแข็งที่ผลิตน้ำแข็งประเภทเดียวกัน มีปริมาณการผลิตใกล้เคียงกัน แต่มีค่า SEC ต่างกันมากถึง 31% โดยข้อมูลจากรายงานการจัดการพลังงานแสดงให้เห็นว่า โรงงานที่มีค่า SEC สูงกว่ามีชั่วโมงการทำงานต่อปีมากกว่าถึง 65% ส่งผลให้การใช้พลังงานไฟฟ้าสูงกว่าในขณะที่ผลิตน้ำแข็งได้ปริมาณใกล้เคียงกัน สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิตที่ต่ำกว่าและศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงานที่สูงกว่า โรงงานน้ำแข็งมีค่า SEC เฉลี่ยต่ำที่สุด 59 kWh/ตัน เมื่อวิเคราะห์สมการถดถอย การใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและเป็นไปตามความสัมพันธ์เชิงเส้น ส่วนค่า SEC ลดลงเมื่อการผลิตน้ำแข็งมากขึ้น โดยพลังงานที่ใช้สามารถแยกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่คงที่ไม่ขึ้นกับปริมาณการผลิตและส่วนที่แปรผันตามปริมาณการผลิต โดยส่วนแรกคิดเป็น 11.86% ของพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยที่ใช้ในการผลิตน้ำแข็งในแต่ละเดือน การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและการบำรุงรักษาทำความสะอาด เป็นมาตรการที่นิยมใช้ในโรงงานน้ำแข็ง ทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน