Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Engineering Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2019

Theses/Dissertations

Electrical and Computer Engineering

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Articles 31 - 57 of 57

Full-Text Articles in Engineering

การตรวจจับการหกล้มของผู้สูงอายุโดยใช้โมดูลกล้องพร้อมระบบแจ้งเตือน, จันทิมา ทุมมะลา Jan 2019

การตรวจจับการหกล้มของผู้สูงอายุโดยใช้โมดูลกล้องพร้อมระบบแจ้งเตือน, จันทิมา ทุมมะลา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันวิสัยทัศน์คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดูแลสุขภาพเพื่อช่วยและแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลในสถานพยาบาลหรือภายในบ้าน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้เสนอระบบการตรวจจับการหกล้มของผู้สูงอายุโดยใช้โมดูลกล้องพร้อมระบบแจ้งเตือน การประยุกต์ใช้เทคนิคการประมวลผลภาพคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือช่วยในการดูแลผู้สูงอายุ ระบบทำงานเสมือนเป็นกล้องวงจรปิดที่สามารถตรวจจับกิจกรรมของผู้สูงอายุและสามารถส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลทันทีที่ตรวจพบการหกล้ม ระบบแบ่งกลุ่มกิจกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กิจวัตรประจำวัน (เช่น เดิน นั่ง และวิ่ง) และกิจกรรมที่ไม่ปกติ (การหกล้ม) การตรวจจับการหกล้มแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน: ขั้นตอนที่หนึ่งระบบใช้แบบจำลองภาพประวัติการเคลื่อนไหว เพื่อคำนวณค่าประมาณการเคลื่อนไหวในช่วงระยะเวลาหนึ่งและคำนวณเป็นตัวเลขในค่าเปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหว เมื่อระบบตรวจจับได้ว่ามีเคลื่อนไหวมากกว่า 65% จากขั้นตอนที่หนึ่ง ระบบวิเคราะห์การเสียรูปทรงของคนด้วย 3 พารามิเตอร์ คือ อัตราส่วน ค่าความเร็วการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง และการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของศีรษะ ผลการทดลองพบว่าระบบสามารถตรวจจับการหกล้มได้อย่างถูกต้องที่ความแม่นยำ 93.3% ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีสิ่งของบดบังคนและในพื้นที่ที่มีแสงสว่างคงที่


Analyzing Impact Of Changing Fuel-Mix Composition Of Thailand Power Generation, Chanaipong Srichai Jan 2019

Analyzing Impact Of Changing Fuel-Mix Composition Of Thailand Power Generation, Chanaipong Srichai

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The energy industry is considered one of the important sectors for national economic development—especially the electricity generation industry then Thailand has developed a power development plan as the nation roadmap to ensure power security and reliability of the electricity system. In this study, we focus on the electricity generation industry and examine the impacts resulting from the changing composition of power generation type compare between Thailand’s Power Development Plan year 2015 and the year 2018. The scenario case 1 assuming that the electricity generation is generated from 37% of Natural Gas, 23% of Coal, and 50% other. When the changing …


การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับโรงงานระเหยน้ำกากส่า, สิริรัตน์ เนติพัติ Jan 2019

การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับโรงงานระเหยน้ำกากส่า, สิริรัตน์ เนติพัติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานระเหยน้ำกากส่า โดยใช้ค่าการใช้พลังงานจำเพาะ (Specific Energy Consumption, SEC) และเครื่องมือทางสถิติ ได้แก่ แผนภูมิการกระจาย, การวิเคราะห์การถดถอย และการสร้างกราฟผลต่างของค่าจริงกับค่าอ้างอิงหรือค่าฐาน (Difference, DIFF) และค่าผลรวมสะสมของผลต่าง (Cumulative Summation of Difference, CUSUM) ในการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานที่ผ่านมา เพื่อใช้กำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงานและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อไป ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าและปริมาณผลผลิตในช่วงปี 2560-2561 พบว่าปี 2561 มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำกว่าปี 2560 เนื่องจากมีค่า SEC ที่สูงกว่า โดยปี 2560 มีค่า SEC เท่ากับ 250.37 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ลูกบาศก์เมตร ส่วนปี 2561 มีค่า SEC เท่ากับ 269.04 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ลูกบาศก์เมตร และการใช้กราฟ CUSUM พบว่าปี 2560 มีศักยภาพในการประหยัดพลังงานร้อยละ 21.82-31.14 ในขณะที่ปี 2561 มีศักยภาพในการประหยัดพลังงานสูงถึงร้อยละ 68.86-78.17 เป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานจึงประเมินจากศักยภาพของการประหยัดพลังงานรวมปี 2560-2561 มีร้อยละผลประหยัดเฉลี่ย 8.64 โดยมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่เลือกมานำเสนอ ได้แก่ มาตรการลดความเร็วรอบของปั๊ม Effect 1-4, Finisher A และ B และพัดลม MVR 1 และ MVR 2 ด้วย VSD และมาตรการลดขนาดปั๊มน้ำหอหล่อเย็น (Cooling Tower Pump) A และ B


การศึกษาความเป็นไปได้ของระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย, อิทธิเดช ภู่นันทพงษ์ Jan 2019

การศึกษาความเป็นไปได้ของระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย, อิทธิเดช ภู่นันทพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ตามนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2.31 kWp, 3.96 kWp และ 9.90 kWp ในบริเวณพื้นที่จังหวัดลพบุรี ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนระบบผลิตไฟฟ้ายังคงมีราคาสูงและขนาดกำลังการผลิตติดตั้งของโครงการมีผลต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน โดยโครงการที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งน้อยจะมีต้นทุน (บาท/kWp) สูงกว่าโครงการที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า ตามหลักการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) และจากผลการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนพบว่า โครงการจะมีความคุ้มค่าสำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งเพื่อใช้ภายในบ้านหรืออาคารเป็นหลัก ส่วนการติดตั้งเพื่อใช้ภายในบ้านและมีพลังงานไฟฟ้าส่วนเหลือจำหน่ายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้า มีความคุ้มค่าสำหรับโครงการที่มีขนาดใหญ่หรือโครงการที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำ และการลงทุนติดตั้งเพื่อจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ยังไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง แต่อัตรารับซื้อไฟฟ้ามีราคาต่ำ จึงสรุปได้ว่า ต้นทุนการลงทุน อัตราค่าไฟฟ้า อัตรารับซื้อไฟฟ้า สัดส่วนการผลิตและการใช้ไฟฟ้า และปัจจัยสภาพแวดล้อม มีผลต่ออัตราผลตอบแทนของโครงการและการตัดสินใจเลือกลงทุน


การประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ โดยการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ กรณีศึกษา ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง, สหภัส พุทธิขจร Jan 2019

การประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ โดยการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ กรณีศึกษา ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง, สหภัส พุทธิขจร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การใช้พลังงานของระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์อยู่ที่ประมาณ 45% ของการใช้พลังงานรวมในศูนย์การค้า ดังนั้น การควบคุมการทำงานของเครื่องทำน้ำเย็นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ ในระบบปรับอากาศแบบดั้งเดิม การเปลี่ยนแปลงของภาระการทำความเย็นจะส่งผลกระทบถึงอัตราการไหลของน้ำเย็นในระบบส่งจ่ายลมเย็นและภาระการทำความเย็นของเครื่องทำน้ำเย็นเพื่อที่จะรักษาอุณหภูมิอากาศภายในห้อง ระบบควบคุมแบบดั้งเดิมนี้มีเวลาในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของภาระการทำความเย็นที่นาน เป็นเหตุให้เกิดการแกว่งที่มากของอุณหภูมิอากาศในพื้นที่ปรับอากาศ และ ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากในการเดินเครื่องทำน้ำเย็น งานวิจัยนี้นำเสนอการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติที่ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศภายในพื้นที่ปรับอากาศเพื่อสนับสนุนระบบควบคุมแบบดั้งเดิมสำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องทำน้ำเย็นในศูนย์การค้า ระบบควบคุมอัตโนมัตินี้ใช้เซนเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศที่ติดตั้งในพื้นที่ปรับอากาศเพื่อจำกัดภาระการทำความเย็นของเครื่องทำน้ำเย็นโดยตรง ระบบควบคุมอัตโนมัตินี้สามารถลดเวลาในการตอบสนองเป็นเหตุให้การแกว่งของอุณหภูมิอากาศลดลง ค่าเฉลี่ยกำลังสองของอุณหภูมิอากาศของ โรงภาพยนตร์ พื้นที่ศูนย์การค้า และ ศูนย์อาหาร ถูกลดลงเป็น 0.0 0.16 และ 0.43 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และด้วยการช่วยของระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับการเฝ้าดูอุณหภูมิอากาศในพื้นที่ปรับอากาศอย่างต่อเนื่อง ระบบส่งจ่ายลมเย็นควบคุมค่าปรับตั้งของโรงภาพยนตร์ พื้นที่ศูนย์การค้า และ ศูนย์อาหาร ซึ่งค่าปรับตั้งได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นค่าใหม่คือ 24.5 25.3 และ 25.3 องศาเซลเซียส ตามลำดับ หลังจากใช้งานระบบควบคุมอัตโนมัติ การใช้พลังงานไฟฟ้าต่อวันลดลง 25.8 %


การใช้พลังงานสำหรับตู้แช่แข็งภายในร้านสะดวกซื้อ, สุพัชชา กระต่ายแก้ว Jan 2019

การใช้พลังงานสำหรับตู้แช่แข็งภายในร้านสะดวกซื้อ, สุพัชชา กระต่ายแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้พลังงานสำหรับตู้แช่แข็งและการศึกษาพฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าในการเปิดประตูตู้แช่แข็งภายในร้านสะดวกซื้อ โดยหาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการเปิดประตูกับพลังงานที่ใช้ การตรวจวัดพลังงานใช้ meter วัดพลังงาน เทียบกับระยะเวลาในการเปิดประตูตู้ ส่วนการศึกษาพฤติกรรมได้ข้อมูลจากการสังเกตผู้ที่ซื้อสินค้าจากตู้แช่แข็งจำนวน 60 คน จากการศึกษาพบว่า การใช้พลังงานรายวันของตู้แช่แข็ง 1 ตู้มีค่าเฉลี่ย 7.73 หน่วย/วัน ความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกับระยะเวลาที่ใช้เปิดประตูตู้แช่แข็งได้ความสัมพันธ์ตามสมการ Y = 6.4079x + 14.503 ซึ่งสามารถอธิบายชุดข้อมูลได้ 97% และพบว่าพฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าในการเปิดประตูตู้แช่แข็งในการเลือกหยิบสินค้าในตำแหน่งต่าง ๆ ภายในตู้ ซึ่งแบ่งเป็นตำแหน่งซ้าย ตำแหน่งกลาง และตำแหน่งขวา โดยตำแหน่งซ้ายจะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการเปิดตู้แช่แข็งนานที่สุดเนื่องจากอยู่ด้านในสุดของตู้แช่แข็งซึ่งจะต้องเปิดประตู้กว้างสุดในการเลือกหยิบสินค้า


การพัฒนาระบบอ่านมิเตอร์อัตโนมัติสนับสนุนการจัดการไฟฟ้าดับโดยใช้เทคโนโลยี Lorawan, จิตติวัชร์ สมุหศิลป์ Jan 2019

การพัฒนาระบบอ่านมิเตอร์อัตโนมัติสนับสนุนการจัดการไฟฟ้าดับโดยใช้เทคโนโลยี Lorawan, จิตติวัชร์ สมุหศิลป์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Automatic Meter Reading (AMR) เป็นส่วนสำคัญของระบบไฟฟ้าส่วนจำหน่ายที่สามารถให้ข้อมูลจากลูกค้าเพื่อการตรวจสอบค่าวัดที่จำเป็นต่อระบบไฟฟ้า และด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการสื่อสารจึงสามารถใช้ AMR ช่วยเหลือในระบบจัดการไฟฟ้าดับได้ เมื่อเกิดการขัดข้อง AMR จะส่งการแจ้งเตือนไฟฟ้าดับไปยังผู้ให้บริการ (Utilities) เพื่อประเมินสถานการณ์ และส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือรูปแบบการสื่อสารของ AMR ซึ่งปัจจุบันมีระบบการสื่อสารที่ได้มีบทบาทมากขึ้น เช่น LoRaWAN ที่เป็น Low Power Wide Area Network (LPWAN) ที่ให้การส่งสัญญาณในระยะไกลโดยใช้พลังงานที่ต่ำ อย่างไรก็ตามมันยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ความเร็วในการส่ง ขนาดของข้อมูล หรือ ความจุของเครือข่าย การนำมาใช้งานร่วมกับ AMR เพื่อใช้งานในระบบจัดการไฟฟ้าดับจึงจำเป็นต้องหาอัลกอริธึมที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานดังกล่าว บทความนี้จึงจะศึกษาถึงวิธีการใช้ LoRaWan ร่วมกับ AMR ในการอ่านค่าวัดหรือสถานะและพัฒนาอัลกอริธึมที่เหมาะสมเพื่อใช้งาน LoRaWAN ร่วมกับระบบจัดการไฟฟ้าดับดังกล่าว


ระบบวิเคราะห์ความสูงและการเคลื่อนที่ของเมฆแบบเวลาจริงโดยใช้ภาพถ่ายแบบสเตอริโอ, ชยากร ประเสริฐเสรี Jan 2019

ระบบวิเคราะห์ความสูงและการเคลื่อนที่ของเมฆแบบเวลาจริงโดยใช้ภาพถ่ายแบบสเตอริโอ, ชยากร ประเสริฐเสรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กล้องถ่ายภาพทั่วฟ้า คืออุปกรณ์ใช้สังเกตการณ์สภาพอากาศที่ติดตั้งบริเวณภาคพื้นชนิดหนึ่ง โดยให้มุมมองการถ่ายภาพตั้งฉากกับพื้นโลก ข้อมูลจากอุปกรณ์ดังกล่าวนำไปใช้ในการประเมิณปริมาณเมฆที่ปกคลุมบริเวณเหนือกล้อง และบอกทิศทางการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆได้ แต่ไม่สามารถบอกข้อมูลความสูงและความเร็วของเมฆซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกนำไปใช้งานในหลายแขนง เช่น การบิน การพยากรณ์อากาศและการพยากรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น วิทยานิพนธ์นี้เสนอการพัฒนาระบบวิเคราะห์ความสูงและการเคลื่อนที่ของเมฆแบบเวลาจริงโดยใช้ภาพถ่ายแบบสเตอริโอ เพื่อใช้ประมาณความสูงฐานเมฆรวมถึงความเร็วของกลุ่มเมฆที่เคลื่อนที่เหนือรัศมีของระบบถ่ายภาพ โดยใช้กล้อง Canon EOS M100 สองตัว ที่ถูกควบคุมการถ่ายภาพให้พร้อมกันและส่งภาพถ่ายขึ้นคลาวด์ด้วยบอร์ดคอมพิวเตอร์ Raspberry Pi ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ใช้หลักการวิเคราะห์สามเหลี่ยมระยะทางในการประมาณความสูงเมฆ และได้พัฒนากระบวนการปรับเทียบระบบถ่ายภาพขึ้นใหม่ ซึ่งทำให้การวิเคราะห์ความสูงฐานเมฆมีความแม่นยำขึ้น การทดสอบวัดระยะทำโดยการวัดระยะทางกับอาคารที่ทราบระยะโดยใช้ Google map พบว่ามีความผิดพลาดน้อยกว่า 6% สำหรับเป้าหมายที่ระยะน้อยกว่า 200 เมตรและประมาณ 8% สำหรับเป้าหมายที่ระยะ 1,200 เมตร และการทดลองวัดความเร็วรถยนต์พบว่าอัลกอริทึมที่ใช้มีความสอดคล้องกับการวัดความเร็วเมฆโดยผิดพลาดที่น้อยกว่า 10%


การวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่โดยพิจารณาการตอบสนองของโรงไฟฟ้าต่อการเปลี่ยนแปลงของโหลด, กีรติ รัตนประทุม Jan 2019

การวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่โดยพิจารณาการตอบสนองของโรงไฟฟ้าต่อการเปลี่ยนแปลงของโหลด, กีรติ รัตนประทุม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้า ภาครัฐจึงจำเป็นต้องพิจารณาวางแผนการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและมีความผันผวนในอนาคต โดยต้องคำนึงถึงการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ในปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เริ่มเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในสัดส่วนสูง ซึ่งส่งผลต่อความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าและความต้องการใช้ไฟฟ้าอันมีสาเหตุมาจากปัญหาเรื่องความไม่สามารถพึ่งพาได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ ดังนั้นผู้ควบคุมระบบไฟฟ้าจึงต้องพิจารณาจัดเตรียมโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพาณิชย์เพื่อมารองรับกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่อาจจะขาดหายไปจากระบบไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพาณิชย์อาจไม่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกันมาในแต่ละชั่วโมงได้อย่างทันทีทันใด วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ จึงนำเสนอหลักการในการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ ซึ่งสามารถคำนวณขนาดพิกัดติดตั้งของแบตเตอรี่ได้จากกำลังผลิตที่คาดว่าจะไม่สามารถพึ่งพาได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อช่วยลดภาระในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ อีกทั้งพิจารณาการตอบสนองของโรงไฟฟ้าต่อการเปลี่ยนแปลงของโหลดโดยแบ่งลักษณะความต้องการใช้ไฟฟ้าออกเป็น 5 ระดับ และจำแนกประเภทของโรงไฟฟ้าให้มีความสอดคล้องกับระดับความต้องการใช้ไฟฟ้า มีการทดสอบกระบวนการวางแผนที่นำเสนอโดยสร้างกรณีศึกษาโดยใช้ฐานข้อมูลตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นว่า การวางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและติดตั้งแบตเตอรี่ตามวิธีที่นำเสนอนั้น ทำให้ดัชนีความเชื่อถือได้ค่าดีขึ้น และอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยของระบบไฟฟ้ามีค่าลดลง โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีความผันผวนได้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อหน่วยเฉลี่ยมีสูงขึ้นเล็กน้อยเนื่องมากจากกำลังผลิตรวมในระบบไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น


ระบบควบคุมไฟฟ้าแสงสว่างถนนอัจฉริยะโดยใช้การสื่อสารแบบเครือข่าย, ณธวัฒน์ สุขะไท Jan 2019

ระบบควบคุมไฟฟ้าแสงสว่างถนนอัจฉริยะโดยใช้การสื่อสารแบบเครือข่าย, ณธวัฒน์ สุขะไท

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอระบบควบคุมไฟฟ้าแสงสว่างถนนอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารแบบเครือข่ายซึ่งคือ LoRaWAN ในการควบคุมการส่องสว่างของไฟถนนในช่วงเวลากลางคืนให้มีการใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ การประหยัดพลังงานของระบบนี้ทำได้โดยการใช้ Sensor ในการตรวจสอบการเคลื่อนไหวของวัตถุและทำการตรวจสอบการจราจรบนถนน ระบบไฟฟ้าแสงสว่างถนนจะถูกควบคุมด้วยอุปกรณ์การสื่อสารผ่านระบบ LoRaWAN ที่เรียกว่า Endpoint Module ซึ่งจะทำการรับและส่งข้อมูลเข้าสู่ Gateway ก่อนจะส่งข้อมูลไปประมวลผลที่ TheThingsNetwork ซึ่งจะทำหน้าที่เป็น Server หลักในการสื่อสารและประมวลผล และทำการสั่งการกลับไปยัง Endpoint Module ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมระบบไฟฟ้าแสงสว่างถนน โดยระบบจะทำการลดความสว่างของโคมไฟตามการตรวจจับของ Sensor ถ้าไม่มียานพาหนะผ่าน จากการศึกษาพบว่าระบบสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพที่ดีและระยะทางของการทำงานที่ไกลเกินกว่า 2 กฺิโลเมตร จากการลดแสงสว่างของดวงโคม สามารถทำการประหยัดพลังงานที่ใช้ได้เกินกว่า 40% ในถนนแบบ M Class ประมาณ 30% ใน P Class และ10-20% ใน C Class มีงบประมาณในการติดตั้งระบบอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มากนักรวมถึงสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก ซึ่งจากการคำนวณทางด้านงบประมาณ จะเห็นได้ว่าสามารถคืนทุนได้เร็วในประมาณ 2 ปี ในถนนประเภท M Class และ P Class แต่จะคืนทุนได้ช้าในถนนประเภท C Class ซึ่งจะใช้เวลาถึง 10 ปี ทำให้การติดตั้งนั้นควรทำการติดตั้งในถนน M Class และ P Class เป็นหลักเนื่องจากสามารถประหยัดพลังงานได้ดีและคืนทุนได้ไว


การพัฒนาระบบวัดช่วงเวลาเดินทางผ่านของชีพจรสำหรับการประมาณค่าความดันโลหิตแบบไร้ปลอกแขน, ทิพย์นิรินทร์ วัจนะรัตน์ Jan 2019

การพัฒนาระบบวัดช่วงเวลาเดินทางผ่านของชีพจรสำหรับการประมาณค่าความดันโลหิตแบบไร้ปลอกแขน, ทิพย์นิรินทร์ วัจนะรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวัดความดันโลหิตด้วยเครื่องวัดความดันแบบออสซิลโลเมตริกเป็นวิธีที่ถูกใช้งานในทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย แต่ด้วยข้อจำกัดของการมีปลอกแขนทำให้ไม่สามารถใช้วัดความดันโลหิตในผู้ป่วยบางกลุ่มได้ งานวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมีจุดมุ่งหมายพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบในการบันทึกสัญญาณโฟโตเพลตทีสโมแกรม (PPG) 2 ช่องพร้อมกับสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อนำไปประมาณค่าความดันโลหิตแบบไร้ปลอกแขนด้วยเทคนิคการวัด pulse arrival time (PAT) เปรียบเทียบกับ pulse transit time (PTT) โดย PAT เป็นช่วงเวลาระหว่าง R-wave ของ ECG กับจุดยอดของ PPG ที่ปลายนิ้ว และ PTT เป็นช่วงเวลาระหว่างจุดยอดของ PPG ที่ข้อพับบริเวณข้อศอก กับ PPG ที่ปลายนิ้ว โดยให้อาสาสมัครจำนวน 5 คนออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความดันโลหิตและวัดสัญญาณ ทั้งนี้ได้ออกแบบการทดลองและประเมินความแม่นยำภายใต้แนวทางของมาตรฐาน IEEE Std 1708™-2014 ผลการทดลองการประมาณค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (SBP) พบว่า PAT มีแนวโน้มผกผันกับ SBP เป็นไปตามทฤษฎี ในขณะที่ PTT ไม่แสดงถึงความสัมพันธ์กับ SBP ที่ชัดเจน การประมาณค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (DBP) ไม่แสดงถึงแนวโน้มความสัมพันธ์กับทั้ง PAT และ PTT ส่วนผลการทดลองประมาณค่า SBP ซ้ำภายใน 90 วันพบว่าเฉพาะ PAT มีความสามารถในการวัดซ้ำได้ดี โดยสรุปแล้ว PAT มีความสามารถในการประมาณค่าความดันโลหิต SBP แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาระบบการวัดความดันโลหิตแบบไร้ปลอกแขนให้แม่นยำมากขึ้นเพื่อประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ในอนาคต


การประยุกต์ใช้โครงข่ายประสาทเพื่อตรวจจับเซลล์หลายชนิดผ่านกล้องจุลทรรศน์เชิงซ้อนด้วยตัวรับรู้ภาพ, ณัทกร เกษมสำราญ Jan 2019

การประยุกต์ใช้โครงข่ายประสาทเพื่อตรวจจับเซลล์หลายชนิดผ่านกล้องจุลทรรศน์เชิงซ้อนด้วยตัวรับรู้ภาพ, ณัทกร เกษมสำราญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สำหรับงานทางด้านการตรวจหาและนับจำนวนเซลล์ภายในห้องปฏิบัติการ จะให้ความสำคัญในการวิเคราะห์จำนวนเซลล์ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจาระ เสมหะ เป็นต้น จากการมองด้วยตาผ่านกล้องจุลทรรศน์นานนับชั่วโมงติดต่อกันและเป็นลักษณะงานทำซ้ำจะส่งผลให้เกิดอาการล้าสายตาจนก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ จึงมีแนวคิดในการสร้างอุปกรณ์ที่ช่วยลดระยะเวลาในการนับคัดแยกเซลล์ขนาดเล็กที่มีความแม่นยำอย่างอัตโนมัติ ซึ่งส่งผลให้การวินิจฉัยโรคทำได้รวดเร็วมากขึ้นเป็น ชุดกล้องอัจฉริยะ “ไมโครซิสดีซีเอ็น” สำหรับกล้องจุลทรรศน์ (“MicrosisDCN” intelligent camera for microscope : Microbes Diagnosis with Deep Convolutional Neural Network) สำหรับแยกชนิดและนับจำนวนเซลล์ขนาดเล็กด้วยโครงข่ายประสาท เป็นชุดอุปกรณ์สำหรับสวมชุดกล้องเข้ากับท่อเลนส์ใกล้ตา (Eyepiece lens tube) ของกล้องจุลทรรศน์เชิงซ้อน (Compound microscope) สามารถบ่งบอกจำนวนเซลล์ขนาดเล็กด้วยโครงข่ายประสาทที่นับได้ในพื้นที่มาตรฐานการมองเห็นของชุดกล้อง จากพื้นที่ขอบเขตการมองเห็นของตัวรับรู้ภาพภายในชุดกล้องมีหน่วยเป็น 11.89 40X “field images” to equal standard area หรือ 11.9 คูณจำนวนเซลล์ต่อ HPF (High Power Field) ระบบมีความสามารถในการจำแนกเซลล์ขนาดเล็ก 3 คลาส ได้แก่ เม็ดเลือดแดง (Red blood cell : RBC) เม็ดเลือดขาว (White blood cell : WBC) และเกล็ดเลือด (Platelets) ที่มีค่า Mean Average Precision (mAP) สูงถึง 0.8681 หรือร้อยละ 86.81 และค่าความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์เฉลี่ย (Mean Absolute Error : MAE) ของ RBC 1.06 WBC 0.06 และ Platelets 4.23


การพัฒนาต้นแบบเพื่อควบคุมการใช้พลังงานสำหรับระบบจัดการพลังงานในโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อน, ประกาศิต ศรีประไหม Jan 2019

การพัฒนาต้นแบบเพื่อควบคุมการใช้พลังงานสำหรับระบบจัดการพลังงานในโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อน, ประกาศิต ศรีประไหม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวมากขึ้นทำให้มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางที่ให้ภาคอุตสาหกรรมมีการควบคุมการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวข้างต้นคือการจัดการพลังงานในโรงงานดังนั้นในวิทยานิพนธ์นี้จึงได้นำความรู้เรื่องระบบจัดการพลังงานไฟฟ้า (Energy Management System, EMS) และการนำอุปกรณ์ IoT2040 มาใช้ในการมอนิเตอร์จากระยะไกลเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับระบบจัดการพลังงาน ภายในระบบได้สร้างอัลกอริทึม เพื่อจำลองการควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยนำค่าจากการวัดพลังงานจากเครื่องใช้ไฟฟ้าจริงมาจำลองเพื่อใช้ทดสอบอัลกอริทึมที่คิดขึ้นมาผ่านอุปกรณ์ Programmable Logic Controller (PLC) S7-1200 โดยทำงานผ่าน Webserver และนำIoT2040 มาใช้มอนิเตอร์ในระยะไกลโดยใช้ Node-Red สร้างในส่วนแสดงผล และเชื่อมต่ออุปกรณ์ ซึ่งจะแสดงผลผ่านระบบ Cloud ของ ThingSpeak ผลที่ได้รับจากการควบคุมด้วยอัลกอริทึม คือ การควบคุมการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคได้รวมถึงการใช้พลังงานที่น้อยลง และมีระบบแจ้งเตือนทางเมล์ และทางไลน์แอปพลิเคชัน เมื่อค่าพลังงานเกินกว่าค่าที่กำหนด ประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยนี้ คือ การนำอัลกอริทึมมาประยุกต์ใช้ในการประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม การนำอุปกรณ์ IoT มาใช้เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆได้ง่ายรวมถึงเป็นแนวทางให้แก่บุคคลทั่วไปได้รับรู้ และสร้างความเข้าใจถึงขั้นตอนการทำงานของอัลกอริทึม เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ระบบจัดการพลังงานภายในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต


การซิงโครไนซ์สัญลักษณ์โอเอฟดีเอ็มบนช่องสัญญาณเฟดดิงแบบพหุวิถี, พฤกษ์ สระศรีทอง Jan 2019

การซิงโครไนซ์สัญลักษณ์โอเอฟดีเอ็มบนช่องสัญญาณเฟดดิงแบบพหุวิถี, พฤกษ์ สระศรีทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอวิธีการซิงโครไนซ์สัญลักษณ์โอเอฟดีเอ็มบนช่องสัญญาณเฟดดิงแบบพหุวิถี เพื่อหาตำแหน่งเริ่มต้นของสัญลักษณ์โอเอฟดีเอ็มที่ทำให้ได้รับข้อมูลได้อย่างถูกต้อง โดยได้เสนอวิธีการซิงโครไนซ์สองวิธีที่แตกต่างกัน วิธีแรกคือการซิงโครไนซ์ด้วยไซคลิกพรีฟิกซ์ร่วมกับการประมาณค่าการแผ่เวลาประวิงของช่องสัญญาณที่มีการแผ่ออกทางเวลาเพื่อประมาณค่าตำแหน่งเริ่มต้นที่แท้จริงของสัญลักษณ์โอเอฟดีเอ็ม ส่วนวิธีที่สองเสนอการหาค่าต่ำสุดของผลต่างกำลังงานของคลื่นพาห์ย่อยระหว่างเวลาที่ติดกัน เพื่อหาช่วงเวลาที่ปลอดภัยจากการแทรกแซงระหว่างสัญลักษณ์ จากผลการทดสอบวิธีแรกพบว่า การซิงโครไนซ์ร่วมกับการประมาณการแผ่เวลาประวิงซึ่งไม่ต้องการความรู้ช่องสัญญาณเพิ่มเติมสามารถให้สมรรถนะที่เทียบเคียงได้กับวิธีการซิงโครไนซ์ด้วยไซคลิกพรีฟิกซ์แบบดั้งเดิมที่ใช้ข้อมูลเวลาประวิงกำลังงาน ในส่วนผลการทดสอบวิธีที่สองนั้นพบว่า การหาค่าต่ำสุดของผลต่างกำลังงานของคลื่นพาห์ย่อยระหว่างเวลาที่ติดกันสามารถให้สมรรถนะที่เหนือกว่าวิธีการดั้งเดิมที่ใช้ผลต่างกำลังงานเช่นเดียวกันเป็นอย่างมาก อีกทั้งสามารถทำงานในช่องสัญญาณที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะแก่การนำไปประยุกต์ใช้กับภาครับในยานพาหนะความเร็วสูง


การศึกษาการเจริญเติบโตและสารต้านอนุมูลอิสระในผักชีโดยใช้แหล่งกำเนิดแสงแอลอีดี, มาโนช แสนหลวง Jan 2019

การศึกษาการเจริญเติบโตและสารต้านอนุมูลอิสระในผักชีโดยใช้แหล่งกำเนิดแสงแอลอีดี, มาโนช แสนหลวง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกพืชผักอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือการปลูกผักชี (Coriandrum sativum) เกษตรกรนิยมปลูกผักชีในแถบภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งจะปลูกได้ดีในช่วงฤดูหนาวทำให้ผักชีมีราคาถูกในช่วงฤดูนี้ แต่ฤดูอื่นจะปลูกผักชีได้ยากมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแบบร้อนชื้นในประเทศไทย อีกทั้งศัตรูพืชที่มาทำลายผักชี ทำให้ผักชีมีราคาสูง การนำแสงเทียมมาใช้ในการเพาะปลูกพืชจึงนิยมมากขึ้น ซึ่งสามารถเลือกปลูกในพื้นที่ปิด ควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมได้อีกทั้งยังควบคุมผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยงานวิจัยนี้จะออกแบบและสร้างหลอดไฟที่เหมาะสมสำหรับการปลูกผักชีต่อการเพิ่มการเจริญเติบโตในด้านความสูง จำนวนใบ จำนวนก้าน น้ำหนักสดและแห้ง อีกทั้งยังวิเคราะห์ถึงปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในผักชีอีกด้วย ทั้งนี้งานวิจัยจะเน้นการศึกษาผลของแสงทั้ง 3 สีซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นผักชี ประกอบไปด้วยแสงสี Red (660 nm), Blue (447 nm) และ Far-red (730 nm) นำมาสร้างเป็นหลอดแอลอีดี 6 แบบคือ R:B:Fr = 10:4:1, 10:2:1, 10:1:1 และ R:B = 10:4, 10:2, 10:1 โดยใช้ค่า PPFD (Photosynthetic Photon Flux Density) ที่ 2 ระดับคือ 150±10 และ 250±10 µmol/m2/s เปรียบเทียบกับการปลูกผักชีด้วยแสงอาทิตย์ รวม 13 การทดลอง จากผลการทดลองพบว่าการใช้หลอดไฟแอลอีดีในการเพาะปลูกผักชีส่งผลดีกว่าการปลูกด้วยแสงอาทิตย์ทุกรูปแบบ ที่ระดับความเข้มแสงทั้ง 2 ระดับ การเลือกใช้แสงที่ค่า PPFD ที่สูงกว่าส่งผลต่อการเจริญเติบโตของผักชีทุกด้าน จากการวิเคราะห์แสงสีพบว่าแสงสี Far-red ส่งผลต่อความสูงของต้นผักชีอย่างมาก แต่จะทำให้จำนวนใบและก้าน รวมถึงน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งลดลง ส่วนแสงสี Blue ทำให้จำนวนใบและจำนวนก้านของผักชีเพิ่มมากขึ้น มีน้ำหนักแห้งมีมากแต่ปริมาณน้ำหนักสดมีค่าลดลงตามสัดส่วนของแสงสี Blue ที่เพิ่มมากขึ้น ในส่วนของสารต้านอนุมูลอิสระพบว่าแสงสี Blue ช่วยทำให้ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้นแต่แสงสี Far-red ทำให้ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในผักชีลดน้อยลง เมื่อพิจารณาถึงสารต้านอนุมูลอิสระโดยรวมพบว่าผักชีที่ได้รับแสงจากหลอดแอลอีดีมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผีกชีที่ได้รับแสงอาทิตย์ แต่เมื่อพิจารณาถึงปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระจากน้ำหนักของผักชีที่เท่ากันเป็นปริมาณ 1 กรัมพบว่าผักชีภายใต้แสงอาทิตย์กลับมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับผักชีที่ได้รับแสงจากหลอดแอลอีดี


การประยุกต์ใช้การจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายแบบสถิตและการควบคุมแทปหม้อแปลงเพื่อลดการใช้กำลังไฟฟ้าจากกริดให้ต่ำที่สุดสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์, วัชริศ สืบอุดม Jan 2019

การประยุกต์ใช้การจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายแบบสถิตและการควบคุมแทปหม้อแปลงเพื่อลดการใช้กำลังไฟฟ้าจากกริดให้ต่ำที่สุดสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์, วัชริศ สืบอุดม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (Photovoltaic, PV) เป็นหนึ่งในการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัวที่มีการเติบโตทั่วโลก การเพิ่มปริมาณของระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในระบบโดยการใช้ต้นทุนต่ำเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการศึกษา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งของระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์นั้นถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ข้อจำกัดด้านความร้อนของสายส่ง ข้อจำกัดด้านแรงดันไฟฟ้า หรือแม้กระทั้งปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบระบบป้องกัน การจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายถูกควบคุมด้วยผู้ประกอบการระบบจำหน่ายในประเทศไทยจะเป็น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง โดยการจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายสามารถทำเพื่อวัตุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การลดกำลังสูญเสียในระบบไฟฟ้า การทำโหลดสมดุล และการแก้ไขความผิดพร่องในระบบไฟฟ้า ส่วนหม้อแปลงไฟฟ้านั้นเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเพิ่มหรือลดระดับแรงดันไฟฟ้า วิทยานิพนธ์เล่มนี้จึงได้นำเสนอการลดการใช้กำลังไฟฟ้าจากกริดให้ต่ำที่สุดสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์โดยใช้การจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายแบบสถิตและการควบคุมแทปหม้อแปลง ปัญหาถูกจำลองผ่านการไหลของกำลังไฟฟ้าเพื่อจะหาระบบที่ทำให้การใช้กำลังไฟฟ้าจากกริดมีค่าน้อยสุดภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านความร้อนหรือข้อจำกัดด้านแรงดันไฟฟ้าของระบบ ขั้นตอนวิธีในการดำเนินการมีดังต่อไปนี้ เริ่มต้นจากการหาช่วงเวลาที่จะนำมาทดสอบโดยใช้ข้อมูลของโปรไฟล์การใช้ไฟและข้อมูลโปรไฟล์ของระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ต่อมาจะเป็นการจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายแบบสถิต ต่อมาจะเป็นขั้นตอนการกำหนดขนาดของกำลังการผลิตติดตั้งของระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และการกำหนดตำแหน่งของแทปหม้อแปลงไฟฟ้า สุดท้ายจะเป็นการจำลองการไหลของกำลังไฟฟ้าเพื่อหากำลังไฟฟ้าจากกริด จากผลการทดสอบเราจะสามารถหาขนาดกำลังผลิตติดตั้งของระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แต่ละตำแหน่ง


การคำนวณราคากลางและการคิดค่าผ่านสาย สำหรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าเพียร์ทูเพียร์แบบล่วงหน้าหนึ่งวันในระบบจำหน่าย, ศักดิ์สิทธิ์ สุขชัยศรี Jan 2019

การคำนวณราคากลางและการคิดค่าผ่านสาย สำหรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าเพียร์ทูเพียร์แบบล่วงหน้าหนึ่งวันในระบบจำหน่าย, ศักดิ์สิทธิ์ สุขชัยศรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีราคาถูกลง ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบางรายสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง และขายให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นในบริเวณข้างเคียงได้ เกิดเป็นโครงสร้างการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เรียกว่า ตลาดซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบเพียร์ทูเพียร์ ที่ให้อิสระในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าภายใต้เงื่อนไขและการจัดการภายในตลาด ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายผู้เป็นเจ้าของและให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า อาจสูญเสียรายได้ในโครงข่ายไฟฟ้าจำหน่ายที่มีการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเพียร์ทูเพียร์ ดังนั้นจึงต้องมีการเรียกเก็บค่าผ่านสายจำหน่ายเพื่อคืนเงินลงทุน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้จำลองตลาดซื้อขายไฟฟ้าเพียร์ทูเพียร์แบบล่วงหน้าหนึ่งวัน โดยนำเสนอกลไกการหาราคากลางซื้อขายไฟฟ้าและแนวทางการตัดสินข้อเสนอของผู้เสนอราคาแต่ละราย อีกทั้งยังได้นำเสนอแนวทางการคิดค่าผ่านสายจำหน่ายจากการซื้อขายในตลาดเพียร์ทูเพียร์เพื่อคืนเงินลงทุนให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย นอกจากนี้ยังได้นำเสนอแนวทางการประเมินประสิทธิภาพของกลไกการตัดสินราคาซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเพียร์ทูเพียร์ รวมไปถึงการประเมินอัตราผลตอบแทนการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจากการคิดค่าผ่านสายจำหน่าย จากผลการศึกษาพบว่า ด้วยกลไกที่นำเสนอนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมตลาดได้ผลประโยชน์จากการซื้อขายในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเพียร์ทูเพียร์มากกว่าการซื้อขายไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้าหลัก และจากการประเมินอัตราผลตอบแทนการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย พบว่าแนวการคิดค่าผ่านสายจำหน่ายที่ได้นำเสนอนี้ สามารถคืนเงินลงทุนให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้อย่างเหมาะสม


การพัฒนาอุปกรณ์ประกอบมิเตอร์เพื่อการเก็บข้อมูลที่สามารถวิเคราะห์ฮาร์มอนิกของผู้ใช้ไฟฟ้าได้, สาธิต เฟื่องรอด Jan 2019

การพัฒนาอุปกรณ์ประกอบมิเตอร์เพื่อการเก็บข้อมูลที่สามารถวิเคราะห์ฮาร์มอนิกของผู้ใช้ไฟฟ้าได้, สาธิต เฟื่องรอด

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้นำเสนอการพัฒนาอุปกรณ์ประกอบมิเตอร์เพื่อการเก็บข้อมูลที่สามารถวิเคราะห์ฮาร์มอนิกของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ เนื่องจากปัจจุบันนั้นมิเตอร์เอเอ็มอาร์ไม่สามารถเก็บข้อมูลรูปคลื่นแรงดันและรูปคลื่นกระแสได้ ซึ่งการวิเคราะห์ฮาร์มอนิกจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงสถิติจากการวัดค่าปริมาณทางไฟฟ้าจากมิเตอร์เอเอ็มอาร์ที่ติดตั้งให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า โครงสร้างหลักประกอบไปด้วย ไมโครคอนโทรลเลอร์ ESP32 (Node MCU-32S) เป็นตัวควบคุมการทำงานร่วมกับมอดูลวัดค่าแรงดันและกระแสไฟฟ้ากระแสสลับในการวัดสัญญาณแรงดันและกระแสตามอัตราการสุ่มข้อมูลต่อหนึ่งรูปคลื่น โดยไมโครคอนโทรลเลอร์ ESP32 ประมวลผลสัญญาณแรงดันและกระแสเพื่อเก็บข้อมูลไปยังหน่วยความจำภายนอก (SD Card) และการนำข้อมูลที่บันทึกได้ไปวิเคราะห์ลำดับฮาร์มอนิกด้วยกระบวนการแปลงฟูเรียร์แบบเร็ว (FFT) ในโปรแกรม MATLAB ทำให้ลดความยุ่งยากในการวัดและวิเคราะห์ฮาร์มอนิก ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์สำหรับวิเคราะห์ฮาร์มอนิกเพิ่มเข้าไปในระบบไฟฟ้า ไม่ต้องติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพไฟฟ้าที่มีราคาแพงในการวิเคราะห์คุณภาพไฟฟ้า การแสดงผลผ่านโปรแกรมได้อย่างรวดเร็ว ความแม่นยำ และแนวทางการแก้ไขลำดับฮาร์มอนิกที่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าในระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า


โฟโตลูมิเนสเซนส์ของโครงสร้างนาโนแกลเลียมอาร์เซไนด์บิสไมด์ควอนตัมริง, อภิรักษ์ สร้อยสน Jan 2019

โฟโตลูมิเนสเซนส์ของโครงสร้างนาโนแกลเลียมอาร์เซไนด์บิสไมด์ควอนตัมริง, อภิรักษ์ สร้อยสน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการปลูกโครงสร้างนาโน GaAsBi ควอนตัมริงบนแผ่นฐาน GaAs ด้วยระบบเอพิแทกซีลำโมเลกุล (MBE) ชิ้นงานถูกศึกษาสัณฐานวิทยาด้วยกล้องจุลทรรศน์แรงอะตอม (AFM) และ สมบัติเชิงแสงด้วยโฟโตลูมิเนสเซนส์สเปกโทรสโกปี (PL) โครงสร้างนาโนควอนตัมริงถูกปลูกโดยใช้เทคนิคดรอพเล็ทเอพิแทกซี (Droplet Epitaxy) หยด GaBi ถูกปล่อยลงบนแผ่นฐาน GaAs ในอัตราส่วน Ga:Bi 0.95:0.05, 0.90:0.10 และ 0.85:0.15 ตามลำดับ หยดโลหะถูกขึ้นรูปผลึกภายใต้ความดันไอของ As เพื่อเปลี่ยนหยดโลหะให้เป็นโครงสร้างนาโน GaAsBi ควอนตัมริง ปัจจัยที่สำคัญในการเกิดโครงสร้างนาโนควอนตัมริง คือ ความหนาของหยด GaBi, อุณหภูมิของแผ่นฐานในขณะปล่อยหยดโลหะ, และความดันไอของ As กล่าวคือ ความหนาของหยด GaBi ต้องมากกว่า 5 ML เพื่อขนาดโครงสร้างนาโนควอนตัมริงที่เหมาะสม เส้นผ่านศูนย์กลางของควอนตัมริงปลูกที่อุณหภูมิ 225°C มีขนาดน้อยกว่าที่อุณหภูมิ 300°C เนื่องจาก หยด GaBi สามารถแพร่ออกจากจุดศูนย์กลางของหยดได้น้อยกว่าที่อุณหภูมิปลูกต่ำ ความดันไอของ As ต้องมากพอและถูกปล่อยอย่างรวดเร็วขณะทำกระบวนการตกผลึก โครงสร้างนาโนควอนตัมริง และควอนตัมดอท สามารถเกิดได้ด้วยกระบวนการตกผลึกที่ช้าและเร็ว ตามลำดับ เนื่องจากลักษณะเฉพาะของแหล่งกำเนิดไอ As งานวิจัยนี้จึงจำกัดขอบเขตเฉพาะโครงสร้างนาโนควอนตัมริงเท่านั้น โฟโตลูมิเนสเซนส์ของโครงสร้างนาโน GaAsBi ควอนตัมริงกลบทับด้วย GaAs ซึ่งปลูกที่อุณหภูมิสูง (500°C) และอุณหภูมิต่ำ (300°C) ถูกศึกษา สำหรับการกลบทับที่อุณหภูมิสูง ชิ้นงานแสดงการเปล่งแสงที่เด่นชัดของ LT-GaAs เท่านั้น อันเป็นผลเนื่องมาจากการอบขณะที่ปลูกชั้นกลบทับ สำหรับการกลบทับที่อุณหภูมิต่ำ ชิ้นงานแสดงการเปล่งแสงช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดใกล้ของโครงสร้างนาโน GaAsBi ควอนตัมริง อย่างไรก็ตาม ชิ้นงานมีความเข้มของแสงต่ำเนื่องจากความเป็นผลึกของชั้นกลบทับที่ต่ำ


ระบบบริหารจัดการพลังงานครัวเรือนที่เป็นไปตามโพรโทคอล Homekit และ Echonet Lite, อธิวัฒน์ ภูชำนิพัฒนนันท์ Jan 2019

ระบบบริหารจัดการพลังงานครัวเรือนที่เป็นไปตามโพรโทคอล Homekit และ Echonet Lite, อธิวัฒน์ ภูชำนิพัฒนนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอระบบบริหารจัดการพลังงานครัวเรือนซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมคำนวณแบบ รวมศูนย์ ประกอบด้วยคอนโทรลเลอร์ 1 ตัวและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน 4 ชนิด ได้แก่ ตู้เย็น หลอดแอลอีดี เครื่องทำน้ำอุ่น และเครื่องปรับอากาศ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดถูกปรับปรุงและพัฒนาให้กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดที่สามารถสื่อสารแบบไร้สายผ่านโพรโทคอล ECHONET Lite ร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในโพรโทคอลเดียวกันได้ นอกจากนี้ยังนำเสนอการพัฒนาเกตเวย์สำหรับสื่อสารกับอุปกรณ์หรือตัวแทนปัญญาที่ใช้โพรโทคอลอื่น ซึ่งในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้นำเสนอเกตเวย์สำหรับสื่อสารกับโพรโทคอล HomeKit การปรับปรุงและพัฒนาตู้เย็นและหลอดแอลอีดีเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดทำได้โดยการศึกษาการทำงานของวงจรควบคุมและส่วนประกอบที่ทำหน้าที่ของเครื่องใช้ไฟฟ้า จากนั้นออกแบบวงจรควบคุมใหม่โดยสามารถทำงานร่วมกับส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าเดิมได้ จากนั้นแทนที่วงจรควบคุมด้วยวงจรที่ออกแบบขึ้น โดยให้มีการดัดแปลงวัสดุโครงสร้างเท่าที่จำเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดสามารถทำงานได้ตามฟังก์ชันการทำงานปกติเมื่อไม่ได้เชื่อมต่อกับเครือข่าย และจะมีความสามารถเกี่ยวกับการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยหรือการประหยัดพลังงานมากขึ้นเมื่อสามารถรับ/ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไปยังคอนโทรลเลอร์เพื่อประมวลผลและสั่งการได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดทำงานโดยการประโยชน์ใช้สอยให้มากที่สุด ไม่ใช้พลังงานอย่างสูญเปล่า อัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่องถูกนำมาใช้เพื่อทดสอบการติดต่อสื่อสารระหว่างตู้เย็นชาญฉลาดและคอนโทรลเลอร์ด้วยโพรโทคอล ECHONET Lite ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานของตู้เย็นลงได้อย่างน้อย 6.38\% และลดช่วงเวลาการเก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิที่สูงเกินไปได้อย่างน้อย 33.54\% ซึ่งผู้ใช้งานสามารถประนีประนอมระหว่างช่วงเวลาในการเก็บรักษาอาหารที่อุณหภูมิอุ่นเกินไปให้สูงขึ้นแลกกับการลดการใช้พลังงานลงได้อีก หรือการทำงานเพื่อลดค่าไฟฟ้าเนื่องจากการคิดค่าไฟฟ้าด้วยอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ หรือเข้าร่วมมาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า สำหรับการทำงานของหลอดแอลอีดีนั้น ตัวควบคุมสามารถเรียนรู้การเลือกความสว่างที่เหมาะสมได้


Analyzing The Impact Of Biofuel Industry On Thailand’S Economy Based On Input-Output Model, Thipruedee Limchaikit Jan 2019

Analyzing The Impact Of Biofuel Industry On Thailand’S Economy Based On Input-Output Model, Thipruedee Limchaikit

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This research tries to examine the impact of the biofuel industry focusing on ethanol and biodiesel on Thailand's economy. It uses input-output analysis. In the past 10 years, Thailand's Alternate Energy Development Plan (AEDP) has played a significant role in launching policies and promoting the biofuel industry. The plan focuses on increasing internal energy security by increasing the use of alternate sources of energy which is a perfect replacement for the importation of fuels. However, the main challenge is price competitiveness which requires subsidization to sustain its market in the industry. Therefore, the main objective of this study is to …


การประเมินความคุ้มค่าภายใต้ความเสี่ยงของกระบวนการทอร์รีแฟกชัน กรณีศึกษาเม็ดเชื้อเพลิงไม้ยางพารา, กุลนันท์ แซ่หลี่ Jan 2019

การประเมินความคุ้มค่าภายใต้ความเสี่ยงของกระบวนการทอร์รีแฟกชัน กรณีศึกษาเม็ดเชื้อเพลิงไม้ยางพารา, กุลนันท์ แซ่หลี่

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันเศษไม้ยางพาราที่เหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลโดยตรง ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำ กระบวนการทอร์รีแฟกชันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพเศษไม้ยางพาราให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติคล้ายถ่านหิน ผู้วิจัยจึงทำการประเมินความคุ้มค่าของกระบวนการทอร์รีแฟกชันด้วยเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์โรตารีดรัม โดยใช้วัตถุดิบเศษไม้ยางพาราในการประเมิน ทางการเงินภายใต้ความเสี่ยงของความไม่แน่นอนของราคาวัตถุดิบ และราคาผลิตภัณฑ์ เป็นการประเมินเพื่อการตัดสินใจเลือกลงทุน โดยมีทางเลือกในการลงทุน 4 ทางเลือกได้แก่ 1.โครงการผลิตเม็ดเชื้อเพลิงไม้ยางพาราเกรดธรรมดาขายในประเทศ 2.โครงการผลิตเม็ดเชื้อเพลิงไม้ยางพาราเกรดพรีเมี่ยมส่งออก 3.โครงการผลิตเม็ดเชื้อเพลิงไม้ยางพาราทอร์ริไฟด์แบบอัดเม็ดหลังการทอร์รีแฟกชันส่งออก และ 4.โครงการผลิตเม็ดเชื้อเพลิงไม้ยางพาราทอร์ริไฟด์แบบอัดเม็ดก่อนการทอร์รีแฟกชันส่งออก ทุกทางเลือกมีกำลังผลิต 20,000 ตันต่อปี โดยทางเลือกที่1 และ2 ประเมินเป็นทางเลือกเปรียบเทียบ โดยทำการวิเคราะห์ทางการเงินของแต่ละทางเลือกด้วยแบบจำลองกระแสเงินสดคิดลดเพื่อหามูลค่าปัจจุบันสุทธิและอัตราผลตอบแทนภายในที่ปรับค่าแล้วของแต่ละโครงการ ทำการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของตัวแปรที่มีผลกระทบต่อผลตอบแทนของโครงการ ทำการจัดกลุ่มตามการกระจายตัวเพื่อหาความน่าจะเป็นของ แต่ละกลุ่ม เพื่อทำการวิเคราะห์ด้วยแขนงการตัดสินใจ และทำการคำนวณค่าคาดหวังของผลตอบแทนใน แต่ละทางเลือก ผลการวิเคราะห์พบว่าทางเลือกในการลงทุนทั้ง 4 ทางเลือกให้มูลค่าปัจจุบันเป็นบวกและมีผลตอบแทนภายในที่ปรับค่าแล้วมากกว่าต้นทุนทางการลงทุนเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักที่ร้อยละ 10.15 โดยทางเลือกที่4 โครงการผลิตเม็ดเชื้อเพลิงไม้ยางพาราทอร์ริไฟด์แบบอัดเม็ดก่อนการทอร์รีแฟกชันส่งออก ซึ่งมีค่าคาดหวังของผลตอบแทนสูงสุด เท่ากับ 630.07 ล้านบาท


ผลกระทบของยานยนต์อัตโนมัติต่อการใช้พลังงานในภาคการขนส่งไทย, สราวุฒิ มูลสุข Jan 2019

ผลกระทบของยานยนต์อัตโนมัติต่อการใช้พลังงานในภาคการขนส่งไทย, สราวุฒิ มูลสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบผลการพยากรณ์การใช้พลังงานในภาคการขนส่งของประเทศไทย และพิจารณาว่าหากยานยนต์อัตโนมัติเข้ามาในตลาดจะมีผลต่อการใช้พลังงานอย่างไร ด้วยวิธีการพยากรณ์จากการใช้ปลายทาง การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ผลการศึกษาในภาพรวมพบว่ามีปัจจัยหลักสองด้านที่ส่งผลกระทบต่อการใช้พลังงาน คือปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณการเดินทาง และปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานในยานยนต์ จากผลการวิเคราะห์สถานการณ์ (Scenario Analysis) จากอิทธิพลของทั้งสองปัจจัยดังกล่าวพบว่า กรณีที่คาดว่าเป็นไปได้สูงสุด (Probable Case) การเข้ามาของยานยนต์อัตโนมัติจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานจากที่พยากรณ์ไว้ระหว่าง -3.01% ถึง -14.74% และกรณีขั้นสุด (Extreme Case) จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานได้ตั้งแต่ -50.00% ถึง +40.66% ทั้งนี้ ยังได้วิเคราะห์กรณีเปรียบเทียบ หากการใช้ยานยนต์อัตโนมัตินั้นมีการโดยสารร่วมกัน (Sharing) และ ไม่มีการโดยสารร่วมกัน (Non- Sharing) พบว่า ทั้งสองกรณีนี้ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญต่อการใช้พลังงานในอนาคตแต่อย่างใด ในส่วนการประเมินดัชนีความพร้อมของยานยนต์อัตโนมัติในประเทศไทย พบว่าประเทศไทยได้คะแนนเพียง 6.29 ซึ่งต่ำกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีคะแนนเท่ากับ 24.75 อย่างไรก็ดี คาดว่าแนวโน้มความพร้อมของประเทศไทยจะมีมากขึ้นในอนาคต โดยมีประเด็นที่สำคัญคือ การยอมรับทางสังคมซึ่งมีความอ่อนไหวต่อดัชนีมากที่สุด ผลการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการวางแผนเพื่อให้เกิดสมดุลของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงในมิติด้านการขนส่งจากการเข้ามาของยานยนต์อัตโนมัติในประเทศไทย


การตัดสินใจระหว่างการผลิตเองกับการจ้างผลิตสำหรับผลิตชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไอน้ำ, วริศรา เจียรจินดา Jan 2019

การตัดสินใจระหว่างการผลิตเองกับการจ้างผลิตสำหรับผลิตชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไอน้ำ, วริศรา เจียรจินดา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนเครื่องตัดชนิดเลเซอร์สำหรับโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไอน้ำ โดยทำการศึกษาจากการเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนซื้อเครื่องตัดสำหรับใช้เอง และการจ้างผู้อื่นตัดชิ้นส่วนให้ เปรียบเทียบจากต้นทุนทั้งหมดของทั้งสองวิธีการ ผลการศึกษาข้อมูลของโรงงาน ณ ปี พ.ศ.2562 พบว่ามีการจ้างผู้อื่นตัดโดยเฉลี่ยเดือนละ 2,374,142.73 มิลลิเมตรต่อเดือน โดยวัดจากความยาวของเส้นรอบรูป และหากลงทุนซื้อเครื่องตัดเพื่อใช้งานเองจะต้องใช้งานตัดทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 943,587.38 มิลลิเมตรต่อเดือน จึงจะคุ้มค่า ซึ่งทางโรงงานมีค่าเฉลี่ยในการตัดมากกว่าจุดปริมาณคุ้มทุน จึงสมควรแก่การเลือกวิธีลงทุนซื้อเครื่องตัดมาเพื่อใช้งานเองภายในโรงงาน


อัตราส่วนผสมสูงสุดของน้ำมันไพโรไลซิสเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำมันดีเซลของไทย, อรปวีณ์ แสงเนตร Jan 2019

อัตราส่วนผสมสูงสุดของน้ำมันไพโรไลซิสเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำมันดีเซลของไทย, อรปวีณ์ แสงเนตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัญหาการนำเข้าน้ำมันปริมาณมากทำให้ประเทศไทยตื่นตัวต่อการหาเชื้อเพลิงทดแทน ขณะเดียวกันขยะพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักของประเทศ และมีแนวโน้มจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น การนำขยะพลาสติกมาเปลี่ยนเป็นน้ำมันไพโรไลซิส เพื่อใช้ทดแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ดังนั้น งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาอัตราส่วนน้ำมันไพโรไลซิสในน้ำมันดีเซลที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นของการผสมน้ำมันไพโรไลซิสในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยทำการทดสอบตัวอย่างน้ำมันไพโรไลซิสจาก 2 แหล่งที่มา ตามมาตรฐานการทดสอบ ASTM จำนวน 6 รายการทดสอบ ได้แก่ ความถ่วงจำเพาะ ความหนืด จุดไหลเท กำมะถัน จุดวาบไฟ และการกลั่น พบว่าน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 1 (1PO) ที่ผลิตจากขยะพลาสติกสามารถ ผสมที่อัตราส่วนมากกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพทุกรายการ ส่วนน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 2 (2PO) ที่ผลิตจากวัตถุดิบหลายชนิด เช่น ยาง ขยะพลาสติก และน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว สามารถผสมที่อัตราส่วนน้อยกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ 1 รายการ และเมื่อนำเอาน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 1 มาศึกษาต่อในเชิงปริมาณสูงสุดที่ผสมแทนน้ำมันดีเซลได้ พบว่าน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 1 สามารถผสมได้สูงสุดที่อัตราส่วนน้ำมันไพโรไลซิสร้อยละ 18 โดยปริมาตร (1PO18) และเมื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นที่สัดส่วนดังกล่าว โดยเปรียบเทียบกับราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซล พบว่าราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลผสมน้ำมันไพโรไลซิสต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 0.19 บาทต่อลิตร ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ในการผลักดันให้น้ำมันไพโรไลซิสเป็นเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนในภาคขนส่งต่อไป


การศึกษาความพึงพอใจของชุมชนต่อการจัดการพลังงานของบริษัทปิโตรเคมีที่คัดเลือก, ศรัณย์ ข่อยงาม Jan 2019

การศึกษาความพึงพอใจของชุมชนต่อการจัดการพลังงานของบริษัทปิโตรเคมีที่คัดเลือก, ศรัณย์ ข่อยงาม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ด้วยบริษัทปิโตรเคมีที่คัดเลือกได้ดำเนินโครงการด้านการจัดการพลังงาน ตามนโยบายการสนับสนุนของกระทรวงพลังงานให้ประชาชนใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเป็นแผนการบริหารกิจการเพื่อสังคมตามแนวทางการปฏิบัติในระดับมาตรฐานสากล ดังนั้นงานวิจัยจึงมุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบกับความพึงพอใจของชุมชนต่อการบริหารจัดการโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น คุณลักษณะประชากร ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน และความสอดคล้องกับบริบทในท้องถิ่น เป็นต้น โดยสำรวจชุมชนที่อยู่รอบโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนได้ จึงคัดเลือกตัวอย่างเพื่อทำแบบสอบถามจำนวน 360 คน ให้เสนอข้อคิดเห็นในการดำเนินโครงการด้านพลังงานของบริษัท 2 โครงการ คือ โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ และโครงการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นแบบ LED เพื่อชุมชน แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลด้วยสถิเชิงพรรณาและสถิติเชิงอนุมาน ซึ่งผลการวิจัยพบว่าชุมชนมีความพึงพอใจด้านพลังงานทั้ง 2 โครงการอยู่ในระดับที่สูงมาก และเหมาะสมกับบริบทของชุมชน แต่รูปแบบโครงการที่มีประโยชน์ต่อชุมชนนั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยที่สามารถสร้างแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม หรือกระจายผลประโยชน์ให้ชุมชนได้รับการสนับสนุนมากที่สุด แต่ต้องขับเคลื่อนด้วยพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังในการดำเนินการ เช่น กรณีพิพาทในพื้นที่ส่วนกลาง หรือข้อกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง


การตั้งเป้าหมายพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องจักรการผลิตในโรงงานเคมีภัณฑ์, อังคนา สังข์ทองจีน Jan 2019

การตั้งเป้าหมายพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องจักรการผลิตในโรงงานเคมีภัณฑ์, อังคนา สังข์ทองจีน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้ศึกษาถึงการใช้พลังงานของโรงงานเคมีภัณฑ์ตัวอย่าง โดยเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา11เดือนของการใช้พลังงานจากระบบการติดตามการใช้พลังงาน (Energy Monitoring System) และ ข้อมูลของปริมาณผลผลิตต่อวันมาวิเคราะห์เพื่อเป้าหมายการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานของโรงงานตัวอย่าง โดยแยกย่อยศึกษาแต่ละระบบในพื้นที่นั้นซึ่งประกอบด้วย ระบบไฟฟ้าสำหรับเครื่องจักรการผลิต ระบบอากาศอัด ระบบไฟส่องสว่าง ระบบระบายอากาศ และ ระบบทำความเย็น เพื่อกำหนดพลังงานฐาน (Energy Baseline) และ กำหนดเป้าหมายพลังงาน (Energy Target) ของพื้นที่การผลิตรายอาทิตย์และรายเดือนด้วยสมการเชิงเส้นแบบง่าย ในการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการใช้พลังงานของระบบที่ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิต และใช้ค่าที่ดีที่สุดกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานของระบบที่ปริมาณการใช้พลังงานไม่ขึ้นกับปริมาณการผลิต รวมทั้งนำข้อมูลการใช้พลังงานที่ความละเอียดทุก 30 วินาทีเปรียบเทียบกับโปรไฟล์อุณหภูมิของเครื่องจักร CMMP ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำหรับสร้างรูปทรงของชิ้นงาน จากการศึกษาพบว่าถ้าไม่มีแผนการผลิตนานกว่า 3 ชั่วโมงควรเปลี่ยนจากสแตนด์บายโหมด (Standby Mode) เป็นการปิดเครื่องเมื่อไม่ใช้งานจะลดปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ได้เฉลี่ย 390 kWh/day และเพื่อการสื่อสารที่ชัดเจนกับผู้เกี่ยวข้อง งานวิจัยฉบับนี้ได้มีการสร้างกระดานสรุปข้อมูลการใช้พลังงาน (Energy Dashboard) ด้วย Microsoft Power Bi เพื่อติดตามการใช้พลังงานรายวันของแต่ละพื้นที่การผลิต และมีกิจกรรม Green day เพื่อเพิ่มความตระหนักต่อการใช้พลังงานของพนักงานในโรงงาน