Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Engineering Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Electrical and Computer Engineering

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

Articles 241 - 267 of 267

Full-Text Articles in Engineering

การกำหนดขนาดแบตเตอรี่ที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นระบบพลังงานสำรองในระบบผลิตไฟฟ้า, พชรพล สกุลสุธีบุตร Jan 2017

การกำหนดขนาดแบตเตอรี่ที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นระบบพลังงานสำรองในระบบผลิตไฟฟ้า, พชรพล สกุลสุธีบุตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากการที่ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ภาครัฐจึงต้องวางแผนเพิ่มกำลังผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อรักษาความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อถือได้สูงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ภาครัฐใช้ในการแก้ปัญหามาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ใช้ระยะเวลาเตรียมการนานและอาจไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น ภาครัฐจึงจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพื่อจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการอย่างมั่นคง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี พลังงานหมุนเวียนก็มีความไม่แน่นอนและมีความผันผวนสูงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าซึ่งอาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นระยะเวลานานได้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ จึงได้เสนอแนวคิดในการนำแบตเตอรี่เข้ามาใช้เป็นระบบพลังงานสำรองในระบบผลิตไฟฟ้า และนำเสนอหลักการกำหนดขนาดของแบตเตอรี่ให้มีความเหมาะสมเพื่อเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบผลิตไฟฟ้าและลดการเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ โดยขนาดของแบตเตอรี่จะถูกกำหนดจากดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบผลิตไฟฟ้า อาทิเช่น พลังงานที่คาดว่าจะไม่ได้รับการจ่ายต่อปี และความถี่ในการเกิดไฟฟ้าดับต่อปี เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อถือได้เหล่านี้จะถูกคำนวณมาจากการจำลองสถานะการทำงานของระบบไฟฟ้าแบบ Monte Carlo ที่พัฒนาขึ้นด้วยโปรแกรม MATLAB สำหรับตัวอย่างการวิเคราะห์เพื่อกำหนดขนาดที่เหมาะสมของแบตเตอรี่เพื่อใช้เป็นระบบพลังงานสำรองในระบบผลิตไฟฟ้าจะอาศัยระบบทดสอบ IEEE-RTS96 นอกจากนี้ จะทำการวิเคราะห์ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยที่อ้างอิงตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับปี พ.ศ. 2558 - 2579 โดยแบ่งการพิจารณาออกเป็น 6 ภูมิภาคตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยด้วย


การกำหนดเกณฑ์ดัชนีความเชื่อถือได้สำหรับประเทศไทยโดยใช้แบบจำลองของระบบจำหน่ายไฟฟ้าแบบสุ่มในโปรแกรม Digsilent, ลักษิกา ตึกดี Jan 2017

การกำหนดเกณฑ์ดัชนีความเชื่อถือได้สำหรับประเทศไทยโดยใช้แบบจำลองของระบบจำหน่ายไฟฟ้าแบบสุ่มในโปรแกรม Digsilent, ลักษิกา ตึกดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนประชากรและการเติบโตของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จำเป็นต้องมีการประกาศเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพบริการไฟฟ้าขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานของค่าดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบจำหน่ายไฟฟ้า ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงได้นำเสนอการพัฒนาแบบจำลองสังเคราะห์ของระบบจำหน่ายไฟฟ้าแบบสุ่มในโปรแกรม DIgSILENT เพื่อกำหนดมาตรฐานดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศไทยและสะท้อนค่าดัชนีความเชื่อถือได้เมื่อเปลี่ยนแปลงผลของปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อถือได้ต่างๆ และเพื่อรวบรวมรูปแบบต่างๆ ของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมเมื่อเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อถือได้ รวมถึงประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าแยกตามพื้นที่ โดยผลลัพธ์ของค่าดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากแบบจำลองนั้นจะนำไปพิจารณาร่วมกับต้นทุนที่เหมาะสมในการวางแผนติดตั้งระบบจำหน่ายไฟฟ้าต่อไป ผลการทดสอบจากแบบจำลองระบบจำหน่ายไฟฟ้าพบว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อค่าดัชนีความเชื่อถือได้คือ ประเภทของสายป้อน และความยาวของสายป้อนภายในระบบจำหน่ายไฟฟ้า รวมไปถึงจำนวนของอุปกรณ์ป้องกันภายในระบบ โดยระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่มีสายป้อนประเภทสายใต้ดินจะมีความเชื่อถือได้ที่ดีกว่าสายป้อนประเภทสายเหนือดิน หรือระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันหลายตัวจะมีความเชื่อถือได้ที่ดีกว่าระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ละเลยการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน เป็นต้น นอกจากนี้ ผลการทดสอบยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนติดตั้งระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมกับค่าดัชนีความเชื่อถือได้คือ ระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่มีความเชื่อถือได้ที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนการติดตั้งระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่สูงเสมอไป โดยทางเลือกที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาคือความเหมาะสมระหว่างชนิดของสายป้อนและจำนวนอุปกรณ์ป้องกันที่ติดตั้งในระบบจำหน่ายไฟฟ้า และนอกจากนี้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ยังนำเสนอแนวคิดของค่าผ่านส่งไฟฟ้าผ่านต้นทุนติดตั้งของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่แตกต่างกันอีกด้วย


การศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบของตัวจำกัดกระแสผิดพร่องแบบตัวนำยิ่งยวดในระบบ 115 กิโลโวลต์, วรเกียรติ ไกรเกียรติ Jan 2017

การศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบของตัวจำกัดกระแสผิดพร่องแบบตัวนำยิ่งยวดในระบบ 115 กิโลโวลต์, วรเกียรติ ไกรเกียรติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบของการใช้ตัวจำกัดกระแสผิดพร่องแบบตัวนำยิ่งยวด (Superconducting fault current limiter : SCFCL) ในระบบ 115 kV โดยจำลองเปรียบเทียบผลระหว่างระบบที่ไม่มีการติดตั้งและติดตั้ง SCFCL ด้วยโปรแกรม DIgSILENT ซึ่งในส่วนผลประโยชน์ของการติดตั้ง SCFCL จะแสดง การลดกระแสไดนามิกส์ การลดกระแสลัดวงจรในระบบ การลดกำลังไฟฟ้าจากการลัดวงจร การลดแรงดันตกชั่วขณะและการลดกระเเสพุ่งเข้าหม้อเเปลง ในส่วนผลกระทบของการติดตั้ง SCFCL จะแสดง การเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงานของรีเลย์ป้องกันกระแสเกิน การจ่ายกระเเสลัดวงจรเพิ่มขึ้นของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและความไม่สมดุลเมื่ออุปกรณ์ตัวนำยิ่งยวดภายใน SCFCL เสียหาย สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางสำหรับการวิเคราะห์ระบบไฟฟ้าที่มีแผนจะติดตั้งอุปกรณ์ SCFCL


การเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบส่งไฟฟ้าโดยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานชนิดแบตเตอรี่ที่ทำงานร่วมกับระบบสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติ, ศรัญยู อินทรสุข Jan 2017

การเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบส่งไฟฟ้าโดยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานชนิดแบตเตอรี่ที่ทำงานร่วมกับระบบสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติ, ศรัญยู อินทรสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ประเภทผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ส่วนใหญ่มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมีที่ตั้งโครงการรวมตัวกันในบริเวณภาคะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ด้วยนโยบายของรัฐบาลตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ปี พ.ศ. 2558 - 2579 จึงคาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าฯ เพิ่มขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวอีกในอนาคต การเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าฯ ในพื้นที่ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาในระบบส่งไฟฟ้า เช่น กระแสไฟฟ้าไหลเกินค่าพิกัดของสายส่ง และแรงดันไฟฟ้าผันผวน เป็นต้น ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ไฟฟ้าดับได้ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ระบบส่งไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมสามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าฯ ดังกล่าวได้ ทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้คือการติดตั้งใช้งานระบบกักเก็บพลังงานชนิดแบตเตอรี่ที่สถานีไฟฟ้า วิทยานิพนธ์เล่มนี้จึงได้นำเสนอฟังก์ชันการทำงานของระบบกักเก็บพลังงานชนิดแบตเตอรี่ที่อาศัยการทำงานร่วมกับระบบสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติ เพื่อทำให้ระบบกักเก็บพลังงานชนิดแบตเตอรี่สามารถตอบสนองต่อระบบส่งไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วเพื่อรักษาความเชื่อถือได้ของระบบส่งไฟฟ้า และนำเสนอวิธีการประเมินขนาดพิกัดของระบบกักเก็บพลังงานชนิดแบตเตอรี่ที่เป็นไปได้ของกรณีศึกษาต่างๆ ที่สอดคล้องตามฟังก์ชันการใช้งานที่ได้กำหนดไว้ รวมทั้งวิธีการประเมินดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบส่งไฟฟ้าที่มีการพิจารณาถึงเหตุการณ์ความผิดพร่องที่เกิดขึ้นกับสายส่งและหม้อแปลงกำลัง นอกจากนั้นยังมีการประเมินการใช้งานระบบกักเก็บพลังงานชนิดแบตเตอรี่ดังกล่าวควบคู่ไปด้วย เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นและขนาดพิกัดที่เหมาะสมของระบบกักเก็บพลังงานชนิดแบตเตอรี่ ระบบไฟฟ้าทดสอบที่ใช้คือ ระบบส่งไฟฟ้าระดับแรงดัน 115 กิโลโวลต์ ของ กฟผ. บริเวณอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ สำหรับกรณีศึกษาของวิทยานิพนธ์ได้กำหนดจากการเพิ่มขึ้นของกำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ โดยผลการศึกษาที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ในอนาคต


การออกแบบตัวควบคุมพีไอดีสำหรับกระบวนการควบคุมอุณหภูมิที่มีการประยุกต์ใช้งานเชิงอุตสาหกรรม, อินกวี สุภานันท์ Jan 2017

การออกแบบตัวควบคุมพีไอดีสำหรับกระบวนการควบคุมอุณหภูมิที่มีการประยุกต์ใช้งานเชิงอุตสาหกรรม, อินกวี สุภานันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอการพัฒนาตัวควบคุมพีไอดีสำหรับระบบควบคุมอุณหภูมิ โดยเริ่มต้นนำเสนอการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของระบบถ่ายเทความร้อนด้วยแบบจำลองชนิดพารามิเตอร์สี่ตัวที่พิจารณาผลของเวลาประวิงชนิดขนส่ง พร้อมทั้งแสดงการหาพารามิเตอร์ต่างๆของแบบจำลองดังกล่าว ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าแบบจำลองที่สร้างขึ้นให้ผลตอบสนองที่มีความแม่นยำใกล้เคียงกับกระบวนการจริง ในลำดับถัดมาได้นำเสนอการออกแบบอัตราขยายตัวควบคุมพีไอดีที่รองรับกับโครงสร้างของแบบจำลองสี่พารามิเตอร์ที่มีค่าเวลาประวิงยาวนาน จากการศึกษาเชิงเปรียบเทียบผลตอบสนองด้วยวิธีออกแบบอัตราขยายแบบต่างๆ อาทิเช่น วิธีของซิกเกลอ-นิโคล วิธีของเชน-ฮรอนเนส-เรสวิก และวิธีของฮาลมาน พบว่าการออกแบบด้วยวิธีของฮาลมาน ให้ผลตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าอุณหภูมิคำสั่งแบบขั้นและผลตอบสนองต่อโหลดรบกวนภายนอกที่ดี หลังจากนั้นงานวิจัยนี้ได้นำเสนอวิธีการปรับค่าอัตราขยายของตัวควบคุมพีไอดีแบบออนไลน์ตามค่าอุณหภูมิของจุดทำงานต่างๆ ที่ค่าเวลาประวิงมีการเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ เพื่อให้ได้ผลตอบสนองที่ดียิ่งขึ้นสำหรับจุดทำงานในช่วงกว้าง ผลการทดลองกับระบบควบคุมอุณหภูมิในช่วง 90°C – 150°C ที่ขนาดพิกัดของตัวทำความร้อน 590 W ให้ผลตอบสนองที่สอดคล้องกับแนวคิดทางทฤษฎีที่ได้ประยุกต์ใช้


การวิเคราะห์ฮาร์มอนิกของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบไฟฟ้ากำลัง, อรวรรณ กังวาฬ Jan 2017

การวิเคราะห์ฮาร์มอนิกของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบไฟฟ้ากำลัง, อรวรรณ กังวาฬ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการวิเคราะห์ฮาร์มอนิกของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบไฟฟ้ากำลัง โดยพิจารณาดัชนีทางฮาร์มอนิก อันได้แก่ ค่าร้อยละค่าความเพี้ยนฮาร์มอนิกรวม (Total Harmonic Distortion) และค่าฮาร์มอนิกแต่ละลำดับ (Individual Harmonic) โดยพิจารณาอยู่ภายใต้ ข้อกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า ของการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2558 ในการทดสอบจะทำการทดสอบจากการเชื่อมต่อระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้า 3 แห่ง ของการไฟฟ้านครหลวง ที่มีระดับแรงดันแตกต่างกัน ได้แก่ ระดับแรงดันสูง (115 kV) ระดับแรงดันปานกลาง (24 kV) และระดับแรงดันต่ำ (230/400 V) ที่มีโครงสร้างทั้งแบบเรเดียลและโครงข่าย ผลการจำลองแบบที่ได้อยู่ในรูปแบบของค่าความเพี้ยนแรงดันฮาร์มอนิกรวม (Total Harmonic Distortion) และค่าแรงดันฮาร์มอนิกแต่ละลำดับ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าวางแผนของการไฟฟ้านครหลวง และจากนั้นจะทำการหาปริมาณกำลังผลิตติดตั้งของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยอมให้ติดตั้งได้โดยไม่เกินค่าวางแผนนั้น เพื่อเสนอแนะปริมาณกำลังผลิตติดตั้งที่เหมาะสมใหม่ให้แก่การไฟฟ้าด้วยโปรแกรม DIgSILENT PowerFactory จากการวิเคราะห์ผลการทดสอบพบว่าระบบจำหน่ายไฟฟ้าทั้ง 3 ระดับแรงดัน มีค่าความเพี้ยนแรงดันฮาร์มอนิกรวมและค่าแรงดันฮาร์มอนิกแต่ละลำดับแตกต่างกันไปตามกรณีและรูปแบบการจ่ายกระแสฮาร์มอนิก โดยปริมาณกำลังผลิตติดตั้งของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะติดตั้งได้มากที่สุดในกรณีที่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าไม่มีค่าแรงดันฮาร์มอนิกเบื้องหลังที่แหล่งจ่ายต้นทาง และมีการจ่ายกระแสฮาร์มอนิกจากอินเวอร์เตอร์รูปแบบที่ 3 (ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จ่ายกระแสฮาร์มอนิกตามข้อมูลการทดสอบอินเวอร์เตอร์จากบริษัทผู้ผลิตอินเวอร์เตอร์ โดยปรับปริมาณกระแสฮาร์มอนิกแต่ละลำดับให้มีผลรวมความเพี้ยนกระแสฮาร์มอนิกรวมเท่ากับ 5%) ทั้งนี้ในวิทยานิพนธ์นี้ยังได้ทำการศึกษาและสรุปข้อกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบกับข้อกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย


การประเมินความต้องการเทคโนโลยีพลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางถนนเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, คุณชนก ปรีชาสถิตย์ Jan 2017

การประเมินความต้องการเทคโนโลยีพลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางถนนเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, คุณชนก ปรีชาสถิตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ทำการศึกษาความต้องการเทคโนโลยีพลังงานเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคคมนาคมขนส่งทางถนน โดยการจัดลำดับความสำคัญของเทคโนโลยี/ทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานของภาคคมนาคมขนส่งทางถนนที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การศึกษานี้ใช้วิธีการวิเคราะห์ในรูปแบบ Multi-Criteria Analysis (MCA) โดยกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย เกณฑ์ด้านความพร้อม และด้านผลกระทบ และกำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญในภาคขนส่งประเมินเพื่อให้คะแนนกับเทคโนโลยี/ทางเลือกพลังงานของภาคคมนาคมขนส่งทางถนนที่สามารถประเมินได้ ผลการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ แบ่งเป็น 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือการจัดลำดับความสำคัญของเกณฑ์ พบว่าความพร้อม 3 อันดับแรกที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ ด้านนโยบาย โครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้านการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน และด้านต้นทุนและผลประโยชน์ ตามลำดับ สำหรับผลกระทบพบว่าด้านสิ่งแวดล้อมเป็นบริบทที่มีความสำคัญมากที่สุด ประเด็นที่สอง คือ วิเคราะห์ผลที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญและจัดลำดับเทคโนโลยี/ทางเลือกที่มีผลกระทบสูง ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม พบว่า 5 อันดับของเทคโนโลยี/ทางเลือกในภาคคมนาคมขนส่งทางถนนที่มีความพร้อมและผลกระทบสูง ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (ถนนและราง) ระบบตั๋วร่วม การปรับปรุงระบบขนส่งการระวางสินค้าและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนมาสู่การขนส่งทางรางและน้ำ และการวางผังเมือง ตามลำดับ สำหรับประเด็นที่สาม คือการนำเทคโนโลยี/ทางเลือกที่มีผลกระทบสูงมาวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านความพร้อมโดยการวิเคราะห์ช่องว่าง (gap analysis) เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแผนเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานของภาคคมนาคมขนส่งทางถนนที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป


การศึกษาความคุ้มค่าของการผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดจากทะลายปาล์มเปล่า, กษิเดช สาลีพัฒนา Jan 2017

การศึกษาความคุ้มค่าของการผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดจากทะลายปาล์มเปล่า, กษิเดช สาลีพัฒนา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ทะลายปาล์มเปล่าเป็นของเสียอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ และมีศักยภาพที่จะใช้ผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ด แต่ปัจจุบันยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากทะลายปาล์มเปล่ามีโพแทสเซียมปริมาณสูง ก่อให้เกิดตะกรันหลังเผาไหม้ (การเกาะตัวของเถ้าบนท่อไอน้ำร้อนยิ่งยวด) ซึ่งโดยทั่วไปสามารถลดปัญหาการเกิดตะกรันดังกล่าว 2 แนวทาง คือ การเจือจางหรือลดสัดส่วนโพแทสเซียมในเชื้อเพลิงอัดเม็ดโดยผสมทะลายปาล์มเปล่ากับชีวมวลที่มีโพแทสเซียมปริมาณต่ำ และการใช้ดินขาวเป็นสารเติมแต่ง งานวิจัยนี้จึงทำการผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ด 2 ชุด โดยชุดแรกผสมทะลายปาล์มเปล่ากับขี้เลื่อยไม้ยางพารา อัตราส่วน 1:6 และชุดที่สองผสมดินขาวร้อยละ 7.8 ทำการทดสอบคุณสมบัติเชื้อเพลิงอัดเม็ดเทียบมาตรฐานการซื้อขาย พร้อมกับศึกษาเปรียบเทียบความคุ้มค่าของการลงทุนผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดทั้งสองชุด ผลการทดสอบคุณสมบัติของเชื้อเพลิงอัดเม็ดจากทะลายปาล์มเปล่า ทะลายปาล์มผสมขี้เลื่อยยางพารา และทะลายปาล์มผสมดินขาว พบค่าความร้อน 18.30, 18.13, และ 17.06 MJ/kg ตามลำดับ ซึ่งผ่านมาตรฐานการซื้อขาย (Enplus Grade B 16.5 MJ/kg และ Korean 4th Grade 16.9 MJ/kg) ขณะที่ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี พบปริมาณไนโตรเจนอยู่ในช่วง 0.36-0.62 %โดยน้ำหนัก (Enplus Grade B ไม่เกิน 1.0 %โดยน้ำหนัก และKorean 4th Grade ไม่เกิน 0.3%โดยน้ำหนัก) พบปริมาณซัลเฟอร์อยู่ในช่วง 0.53-0.68 %โดยน้ำหนัก (Enplus Grade B ไม่เกิน 0.3%โดยน้ำหนัก และKorean 4th Grade ไม่เกิน 0.05 %โดยน้ำหนัก) ดังนั้นเชื้อเพลิงอัดเม็ดจากทะลายปาล์มจำเป็นต้องใช้ในอุตสาหกรรมที่มีระบบบำบัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าการลงทุนผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ด กรณีโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มเป็นผู้ลงทุนเอง (ไม่มีค่าใช้จ่ายวัตถุดิบทะลายปาล์มเปล่า) พบว่าเชื้อเพลิงอัดเม็ดจากทะลายปาล์มเปล่าผสมดินขาว ราคาขาย 1,960 บาทต่อตัน มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 13,139,329 บาท อัตราผลตอบแทนภายในร้อยละ 20 ระยะเวลาคืนทุน 5 ปี 2 เดือน มีความเป็นไปได้ในการผลิตมากที่สุด โดยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง


การจัดการพลังงานในอาคารเรียน กรณีศึกษา อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ปนิดา ตะสิทธิ์ Jan 2017

การจัดการพลังงานในอาคารเรียน กรณีศึกษา อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ปนิดา ตะสิทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ได้ศึกษาการจัดการพลังงานในอาคารเรียนโดยใช้ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเป็นกรณีศึกษา อาคาร มีพื้นที่ใช้งานทั้งหมด 22,222 ตารางเมตร มีคนใช้งาน 13,000 คนต่อวัน และทำงานในวันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น. การศึกษานี้มุ่งเน้นที่ระบบปรับอากาศและระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โดยเก็บข้อมูลการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าและตรวจวัดประสิทธิภาพของอุปกรณ์ก่อนการปรับปรุง เพื่อหามาตรการอนุรักษ์พลังงานที่จะทำให้อาคารมีการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ จากนั้นวิเคราะห์ผลการประหยัดพลังงานจากมาตรการที่กำหนดเพื่อหาความคุ้มค่าในการลงทุน จากผลงานวิจัยในปี 2559 อาคาร มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ทั้งหมด 7,152,840 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 31,336,591 บาทต่อปี และมีดัชนีการใช้พลังงานตลอดปี 322 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตร สัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ประกอบด้วย ระบบปรับอากาศ 68 เปอร์เซ็นต์ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง 30 เปอร์เซ็นต์ และระบบอื่นๆ 2 เปอร์เซ็นต์ ผลการวิเคราะห์ได้มาตรการอนุรักษ์พลังงาน 3 มาตรการ ได้แก่ (1) เปลี่ยนหลอดไฟฟ้าจากหลอดฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอด LED มีระยะเวลาคืนทุน 2.3 ปี (2) เปลี่ยนเครื่องทำน้ำเย็นใหม่ 1 เครื่อง มีระยะเวลาคืนทุน 15.1 ปี และ (3) ติดตั้งอินเวอร์เตอร์เพื่อปรับความเร็วรอบที่เครื่องสูบน้ำเย็นมีระยะเวลาคืนทุน 0.7 ปี สรุปรวมผลการจัดการการใช้พลังงานในอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ทุกมาตรการ สามารถประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคารได้ 476,524 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี เป็นเงินที่ประหยัดได้ 2,087,174 บาทต่อปี


ปัจจัยด้านอุณหภูมิภายนอกของประเทศไทยที่มีผลต่อค่าประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์, พัชราพรรณ การะเกต Jan 2017

ปัจจัยด้านอุณหภูมิภายนอกของประเทศไทยที่มีผลต่อค่าประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์, พัชราพรรณ การะเกต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์ศึกษาความแตกต่างของชุดอุณหภูมิเพื่อหาค่าประสิทธิภาพพลังงานตามฤดูกาลของเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ (Cooling Seasonal performance factor, CSPF) ตามมาตรฐาน ISO 16358 – 1 : 2013 โดยกำหนดให้ภาระทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศขึ้นกับสภาวะอากาศภายนอกอย่างเดียว ซึ่งวิเคราะห์ระหว่างชุดอุณหภูมิภายนอกตามค่าแนะนำกับชุดอุณหภูมิภายนอกตามสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย การวิเคราะห์ค่า CSPF ของเครื่องปรับอากาศ ทั้งหมด 17 ยี่ห้อ 23 รุ่น ที่มีขนาดทำความเย็น 2,638 3,517 5,276 และ 7,034 วัตต์ โดยเปรียบเทียบ 2 กรณี กรณีที่ 1 ใช้ชุดอุณหภูมิ (outdoor bin temperature) จากค่าแนะนำ (default) และกรณีที่ 2 ใช้ชุดอุณหภูมิตามสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย พบว่า ค่า CSPF ในกรณีที่ 1 มีค่า 4.51 4.12 4.12 และ 4.10 ตามลำดับ และ กรณีที่ 2 มีค่า 4.40 4.03 4.03 และ 4.00 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 2 กรณี พบว่า ค่า CSPF ที่คำนวณโดยใช้ชุดอุณหภูมิของประเทศไทย มีค่าลดลงร้อยละ 2.28 เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจากค่าแนะนำ นอกจากนี้ ได้วิเคราะห์ค่า CSPF โดยใช้ชุดอุณหภูมิภายนอกตามสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เมื่อปรับช่วงอุณหภูมิจาก 20 – 35 องศาเซลเซียส เป็น 20 – 40 องศาเซลเซียส เพื่อสะท้อนช่วงอุณหภูมิที่ใช้งานเครื่องปรับอากาศจริง ส่งผลให้ค่า CSPF มีค่าลดลงร้อยละ 0.59 ดังนั้นการวิเคราะห์ค่า CSPF โดยใช้ชุดอุณหภูมิภายนอกตามสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยมีความจำเป็น เพื่อให้สะท้อนประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ที่เกิดขึ้นจริง


การวิเคราะห์ผลกระทบจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่อกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย และ ต้นทุนการเดินเครื่องสำหรับการวางแผนล่วงหน้า 1 วัน, เฉลิมจิต กลั่นสุภา Jan 2017

การวิเคราะห์ผลกระทบจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่อกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย และ ต้นทุนการเดินเครื่องสำหรับการวางแผนล่วงหน้า 1 วัน, เฉลิมจิต กลั่นสุภา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยวางแผนการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและจัดสรรกำลังการผลิต จากต้นทุนการผลิตของแต่ละโรงไฟฟ้าและการพยากรณ์ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้านั้นมีความผันผวนตลอดทั้งวัน ส่งผลให้การวางแผนการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นต้องการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่าย ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่อกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่ายและต้นทุนการผลิตไฟฟ้า โดยใช้การจัดสรรกำลังผลิตที่พิจารณาถึงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดเหตุไฟฟ้าดับ ซึ่งในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้พิจารณากรณีที่เพิ่มการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในระบบผลิตไฟฟ้า และ ใช้แบบจำลองระบบผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในกรณีต่างๆ พบว่า เมื่อระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีความผันผวนสูงจะส่งผลให้ระบบผลิตไฟฟ้าต้องจัดสรรกำลังผลิตให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่ายสูง ในด้านของต้นทุนการผลิตพบว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของ กฟผ. จะลดลงเนื่องจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบ อย่างไรก็ตาม กฟผ. จะมีต้นทุนในการรับซื้อไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน


กรณีศึกษาการออกแบบการป้องกันกระแสเกินสำหรับปฏิบัติการไมโครกริดในระบบจำหน่าย, จิรณัฐ์ ตั้งจิตติจริยา Jan 2017

กรณีศึกษาการออกแบบการป้องกันกระแสเกินสำหรับปฏิบัติการไมโครกริดในระบบจำหน่าย, จิรณัฐ์ ตั้งจิตติจริยา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัญหาของระบบป้องกันเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่การไฟฟ้าวิตกกังวลและส่งผลต่อการอนุญาตให้เกิดการจ่ายไฟฟ้าแบบระบบไฟฟ้าแยกโดด เนื่องจากผลของการเชื่อมต่อแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายตัว ทำให้กระแสโหลดที่จ่ายจากโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าในวงจรนั้นน้อยลง และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสถานะการจ่ายไฟฟ้า ทำให้กระแสโหลดและกระแสความผิดพร่องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของรีเลย์ป้องกันกระแสเกินของอุปกรณ์ป้องกันของการไฟฟ้า เป็นสาเหตุทำให้รีเลย์ป้องกันกระแสเกินทำงานผิดพลาดได้ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนค่าปรับตั้งให้เหมาะสมวิทยานิพนธ์นี้จะแก้ไขปัญหาของระบบป้องกันของไมโครกริดที่เกี่ยวกับรีเลย์ป้องกันกระแสเกิน ด้วยการใช้รีเลย์ป้องกันกระแสเกินที่สามารถปรับตัวได้ในสถานะต่าง ๆ เช่น สถานะเชื่อมต่อโครงข่าย สถานะจ่ายไฟฟ้าแบบระบบไฟฟ้าแยกโดด และคำนึงถึงการประสานการป้องกันระหว่างอุปกรณ์ป้องกัน ทดสอบกับระบบทดสอบที่จำลองจากระบบจริงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คำนวณและจำลองการทำงานด้วยโปรแกรม Power Factory DIgSILENT


การออกแบบและสร้างชุดต้นแบบของเครื่องปรับจุดทำงานที่เหมาะสมของแผงเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับระบบผลิตไฟฟ้า โดยใช้วงจรคอนเวอร์เตอร์แบบซีต้า ด้วยวิธีการควบคุมจุดกำลังสูงสุดแบบโมดิฟายอะแดปทีฟการรบกวนและการสังเกต, ดวงพร เล็กอุทัย Jan 2017

การออกแบบและสร้างชุดต้นแบบของเครื่องปรับจุดทำงานที่เหมาะสมของแผงเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับระบบผลิตไฟฟ้า โดยใช้วงจรคอนเวอร์เตอร์แบบซีต้า ด้วยวิธีการควบคุมจุดกำลังสูงสุดแบบโมดิฟายอะแดปทีฟการรบกวนและการสังเกต, ดวงพร เล็กอุทัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอเครื่องปรับจุดทำงานที่เหมาะสมของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ โดยประกอบด้วยวงจรคอนเวอร์เตอร์แบบซีต้าและกระบวนการหาจุดกำลังสูงสุดแบบโมดิฟายอะแดปทีฟการรบกวนและการสังเกต เนื่องจากการต่อระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์กับโหลดคงที่ จะทำให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด หากความเข้มแสงที่ฉายส่องให้กับแผง ไม่เหมาะสมกับค่าความต้านทานโหลด เครื่องปรับจุดการทำงานนี้จะประพฤติตัวเสมือนโหลด ที่สามารถปรับค่าความต้านทานได้อัตโนมัติ ช่วยให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นเมื่อต่อกับโหลดคงที่แม้จะถูกบังแสงแดด และเป็นกำลังไฟฟ้าสูงสุด ณ ความเข้มแสงขณะนั้น วิทยานิพนธ์นี้ได้จำลองแบบโดยใช้โปรแกรม PSIM และสร้างชุดต้นแบบของเครื่องปรับ จุดทำงานที่เหมาะสมเพื่อนำมาทดลองกับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ 1 แผง ขนาด 20 วัตต์ และ 2 แผงอนุกรม รวม 40 วัตต์ ที่ความเข้มแสงเต็มที่ 100% หรือเท่ากับ 900 วัตต์/ตารางเมตร และ ที่ความเข้มแสงลดลงเหลือ 80% 50% และ 20% ตามลำดับ จากผลการทดสอบพบว่าเครื่องปรับ จุดทำงานที่เหมาะสมสามารถช่วยให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดทุกค่า ความเข้มแสง แต่เนื่องจากการสูญเสียภายในเครื่องปรับจุดทำงานจึงทำให้มีผลต่อกำลังไฟฟ้าที่โหลดได้รับ กล่าวคือ ที่ความเข้มแสง 100% และ 80% แผงเซลล์ฯ ให้กำลังไฟฟ้ามากกว่ากรณีที่ไม่มี เครื่องปรับจุดทำงานที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามโหลดได้รับกำลังไฟฟ้ามากกว่า สำหรับกรณีที่มี การใช้เครื่องปรับจุดทำงานที่เหมาะสมของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ณ ความเข้มแสงในการทดลองเท่ากับ 50% และ 20%


การกำหนดขนาดกำลังผลิตสำรองที่เหมาะสมสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย, ธนวรรธน์ จงพิพัฒน์มงคล Jan 2017

การกำหนดขนาดกำลังผลิตสำรองที่เหมาะสมสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย, ธนวรรธน์ จงพิพัฒน์มงคล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ภาครัฐมีนโยบายพัฒนาแผนพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านพลังงานอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้รองรับนโยบายดังกล่าวข้างต้น กระทรวงพลังงานจึงมีการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan: PDP) เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยใช้เกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ คือ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve margin: RM) ซึ่งเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าที่รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่ผ่านมาได้กำหนดเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวมีการใช้มาเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับในปัจจุบัน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 มีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในกรณีที่ไม่สามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้จริงตามแผนอนุรักษ์พลังงานที่คาดไว้ รวมถึงยังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบจากความพร้อมจ่ายของระบบการจัดหาเชื้อเพลิงซึ่งอาจส่งผลทำให้โรงไฟฟ้าขาดแคลนเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการประเมินเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองใหม่ให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบันมากยิ่งขึ้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอแนวทางการประเมินกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีความเหมาะสมเพื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเดิม และนำเสนอแนวทางการกำหนดเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยมีการพิจารณาในส่วนของการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนสูง ความเสี่ยงของการดำเนินการของแผนอนุรักษ์พลังงาน และความพร้อมในการจัดหาเชื้อเพลิงด้วย ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคตต่อไป


การพัฒนาต้นแบบระบบจัดการพลังงานในบ้านตามมาตรฐาน Ieee1888 และ Echonet Lite, มนต์ชัย กายาสมบูรณ์ Jan 2017

การพัฒนาต้นแบบระบบจัดการพลังงานในบ้านตามมาตรฐาน Ieee1888 และ Echonet Lite, มนต์ชัย กายาสมบูรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

มาตรฐาน ECHONET Lite และ มาตรฐาน IEEE1888 ถูกรวมเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับ Registry ได้ถูกนำมาประยุกต์รวมในงานวิจัยนี้ด้วย นั่นคืออุปกรณ์ที่ไม่ได้ทำการลงทะเบียนไว้กับ Registry จะไม่สามารถสื่อสารกับอุปกร์อื่นๆในระบบได้ ดังนั้น Registry สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความปลอดภัยของระบบได้ Registry จะถูกสร้างขึ้นด้วยโปรแกรม Processing โดยมีหน้าที่เก็บข้อมูลของอุปกรณ์ภายในระบบ ส่วน Gateway ที่ทำงานอยู่บน Raspberry Pi 1 B+ จะมีหน้าที่แปลงข้อมูลระหว่าง ECHONET Lite และ IEEE1888 และโปรแกรม MongoDB ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างฐานข้อมูลสำหรับ Storage เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลของอุปกรณ์ ECHONET Lite ซึ่งผลจากการทดลองเมื่อมีการใส่ Registry เข้าไปในระบบ จะทำให้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในฐานข้อมูลของ Registry เท่านั้นที่จะสามารถรับ-ส่งข้อมูลถึงกันได้


การวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุนของการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาร่วมกับแบตเตอรี่, บรมัตถ์ ต่างวิวัฒน์ Jan 2017

การวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุนของการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาร่วมกับแบตเตอรี่, บรมัตถ์ ต่างวิวัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ต้นทุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มลดลงทุกๆ ปี จนในปัจจุบัน การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคามีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้กับราคาค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศรวมทั้งประเทศไทย ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าที่จ่ายจากระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์คืนเข้าสู่ระบบจำหน่าย ทำให้เจ้าของบ้านยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านของตนขนาดเท่าไร นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ราคาของแบตเตอรี่ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง การติดตั้งแบตเตอรี่ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาอาจช่วยลดต้นทุนโดยรวมของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าได้เช่นกัน โดยทั่วไป การวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุนเพื่อกำหนดขนาดของการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับแบตเตอรี่ มักแก้ปัญหาด้วยวิธีการออปติไมเซชันแบบแคลคูลัส หรือแบบขั้นตอนเชิงวิวัฒนาการ เช่น วิธีเชิงพันธุกรรม เป็นต้น โดยพิจารณารูปแบบการรับและคายประจุของแบตเตอรี่ในรูปของอนุกรมเวลาซึ่งมีความซับซ้อนและอาจใช้เวลาในการแก้ปัญหานาน ดังนั้น ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ จะนำเสนอวิธีการที่เรียบง่ายมากขึ้น โดยจะพิจารณาการรับและคายประจุของแบตเตอรี่อยู่ในรูปของก้อนพลังงานที่มีช่วงเวลาในการรับและคายประจุแน่นอนแล้วนำไปพิจารณาร่วมกับลักษณะการใช้ไฟฟ้าโดยตรง จากนั้นปัญหาดังกล่าวจะถูกแก้โดยการกำหนดขอบเขตของเซตคำตอบของปัญหาที่เป็นไปได้อย่างเป็นระบบแล้วเลือกค่าที่ดีที่สุดภายใต้เซตนั้นแทนการแก้ปัญหาด้วยวิธีการออปติไมเซชันโดยตรง ส่วนการคำนวณผลประโยชน์และต้นทุนยังคงใช้ในรูปของอนุกรมเวลาซึ่งมีผลการคำนวณที่แม่นยำ วิธีการที่นำเสนอได้ใช้ทดสอบกับลักษณะการใช้ไฟฟ้าของบ้านอยู่อาศัยโดยพิจารณาค่าไฟฟ้าเป็นแบบอัตราก้าวหน้า และกิจการขนาดกลางโดยพิจารณาค่าไฟฟ้าเป็นแบบอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มีความสมเหตุสมผลและใกล้เคียงกับงานวิจัยในอดีตที่ผ่านมา แต่มีความซับซ้อนของปัญหาลดลงอย่างมาก


การพัฒนาต้นแบบระบบแจ้งเตือนการทำงานของอุปกรณ์ลัดสัญญาณแสงผ่านข้อความสั้นของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่, พรเทพ ศรีสัมพันธุ์ Jan 2017

การพัฒนาต้นแบบระบบแจ้งเตือนการทำงานของอุปกรณ์ลัดสัญญาณแสงผ่านข้อความสั้นของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่, พรเทพ ศรีสัมพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้นำเสนอ การพัฒนาต้นแบบระบบแจ้งเตือนการทำงานของอุปกรณ์ลัดสัญญาณแสงผ่านข้อความสั้นของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่บำรุงรักษาอัตโนมัติสายป้อนใช้ในการหาข้อมูล,วิเคราะห์หาสาเหตุและสถานที่เกิดเหตุขัดข้องเพื่อเดินทางไปแก้ไขเหตุขัดข้องของระบบสื่อสารเส้นใยแก้วนำแสงระหว่างระบบ DMS กับ FRTU ตามที่การไฟฟ้านครหลวงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่สาเหตุขัดข้องเกิดจากแหล่งจ่ายไฟอุปกรณ์สื่อสาร Media Converter ชำรุด ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานระบบ DMS ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับ FRTU ได้ การจำลองระบบโครงข่ายในงานวิจัยนี้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต้นแบบระบบแจ้งเตือนฯ จำนวน 3 ชุด โดยแต่ละชุดนั้น มีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน ประกอบด้วย Microcontroller (ATMEGA32U4), Cellular Module (UC-15T), Voltage Detector และ DC-DC Power supply converter วิทยานิพนธ์นี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัท Furukawa Electric ในการนำอุปกรณ์ลัดสัญญาณแสง (Optical Bypass Unit : OBU) จำนวน 4 ชุดมาให้ยืมใช้เพื่อทำงานการทดสอบ จากการทดสอบการใช้งานอุปกรณ์ต้นแบบระบบแจ้งเตือนฯและ OBU ร่วมกับระบบ DMS กับอุปกรณ์ FRTU พบว่าสามารถใช้งานได้ตามที่ออกแบบไว้ เมื่อพิจารณาการลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานแก้ไขเหตุขัดข้องโดยติดตั้งอุปกรณ์ต้นแบบฯและ OBU พบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 50% และเมื่อพิจารณาการลดเวลาในการแก้ไขเหตุขัดข้อง พบว่าสามารถลดได้ถึง 36.32% ในส่วนการทดสอบความเชื่อถือได้ของอุปกรณ์ต้นแบบฯ โดยการทดสอบต่อเนื่อง 480 ชั่วโมงและจำลองเหตุขัดข้อง 2160 ครั้ง พบว่าอุปกรณ์ต้นแบบฯทั้ง 3 ชุดสามารถแจ้งเตือนได้ถูกต้องทั้งหมด


ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดที่เหมาะสมที่สุดเมื่อพิจารณาเงื่อนไขศักยภาพพลังงานหมุนเวียน, วีรยา อิ่มเจริญกุล Jan 2017

ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดที่เหมาะสมที่สุดเมื่อพิจารณาเงื่อนไขศักยภาพพลังงานหมุนเวียน, วีรยา อิ่มเจริญกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เนื่องจากเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นแหล่งพลังงานที่มีแนวโน้มจะขาดแคลนในอนาคต ประเทศไทยจึงมีการส่งเสริมให้ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าสามารถก่อให้เกิดปัญหากับระบบไฟฟ้าได้ เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา นโยบายระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริด (Hybrid) เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีกำลังผลิตไฟฟ้าสม่ำเสมอมากขึ้น อย่างไรก็ตามการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะขึ้นอยู่กับศักยภาพพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ จึงต้องมีการศึกษาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดที่ให้ผลประโยชน์จากการขายไฟฟ้าสูงที่สุดในขณะที่ยังคงทำให้กำลังผลิตไฟฟ้ามีความสม่ำเสมอ และ อยู่ภายใต้ศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่มีในพื้นที่ วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดที่เหมาะสมที่สุดภายใต้เงื่อนไขศักยภาพพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ ด้วยการวิเคราะห์ผลประโยชน์จากการขายไฟฟ้าที่มากที่สุด โดยต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจะทำการพิจารณาจาก ค่าติดตั้งอุปกรณ์ ค่าดำเนินการและบำรุงรักษา และ ค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า สำหรับเงื่อนไขบังคับในส่วนรูปแบบการเดินเครื่องคือ ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดต้องสามารถจ่ายกำลังไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอตามนโยบาย SPP Hybrid firm ของภาครัฐ เงื่อนไขบังคับในส่วนของเชื้อเพลิงคือ ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดต้องผลิตไฟฟ้าได้ภายใต้ศักยภาพพลังงานหมุนเวียนและแผนการจัดหาแหล่งพลังงานในพื้นที่ ซึ่งแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ถูกนำมาวิเคราะห์ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ และ พลังงานขยะ


กรณีศึกษาการใช้ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเพื่อลดผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต่อระบบไฟฟ้าของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, ศิริวัฒน์ เตชะพกาพงษ์ Jan 2017

กรณีศึกษาการใช้ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเพื่อลดผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต่อระบบไฟฟ้าของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, ศิริวัฒน์ เตชะพกาพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ระบบไฟฟ้าของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนมีแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมด้วยระบบแบตเตอรี่ หากสามารถจัดการกับข้อจำกัดของโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่มีเวลาในการตอบสนองช้าและมีความเฉื่อยต่ำได้ ระบบจะมีศักยภาพที่จะทำงานเป็นระบบไมโครกริดแบบแยกโดดได้ในกรณีที่สายส่ง 115 กิโลโวลต์ เกิดขัดข้อง งานวิทยานิพนธ์นี้จึงมีเป้าหมายที่จะประเมินผลกระทบจากความผันผวนของกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโหลดที่มีต่อคุณภาพไฟฟ้า พร้อมกับนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยใช้ระบบแบตเตอรี่ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก โดยระบบแบตเตอรี่จะทำหน้าที่หลักสองประการคือ 1) ปรับเรียบกำลังไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของแสงอาทิตย์ และ 2) ใช้ฟังก์ชันการควบคุมความถี่โหลดลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของโหลดซึ่งสะท้อนเป็นความเปลี่ยนแปลงของความถี่ไฟฟ้าของระบบ โดยจะเป็นการควบคุมความถี่โหลดด้วยระบบแบตเตอรี่ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ระบบแบตเตอรี่ที่จำเป็นต้องใช้มีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับกรณีที่ใช้การควบคุมความถี่โหลดด้วยระบบแบตเตอรี่เพียงลำพัง นอกจากนั้น งานวิจัยนี้ยังได้ใช้ข้อมูลตรวจวัดย้อนหลังราย 10 วินาทีของความเข้มรังสีอาทิตย์ และกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ ในการประเมินผลกระทบผ่านการวิเคราะห์เชิงสเปกตรัม และใช้ประกอบการออกแบบวงจรกรองที่ใช้ในการปรับเรียบกำลังไฟฟ้าและการแบ่งย่านการควบคุมความถี่โหลด ผลการจำลองระบบไฟฟ้าด้วยโปรแกรม DIgSILENT แสดงให้เห็นว่าวิธีการที่นำเสนอสามารถรักษาคุณภาพแรงดันและความถี่ไฟฟ้าของระบบในสภาวะเชื่อมต่อกับกริดและสภาวะไมโครกริดแยกโดดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้


การคำนวณค่าผ่านสายส่งไฟฟ้าโดยพิจารณาการไหลของกำลังไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า, สุรพัศ ลาภวิสุทธิสาโรจน์ Jan 2017

การคำนวณค่าผ่านสายส่งไฟฟ้าโดยพิจารณาการไหลของกำลังไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า, สุรพัศ ลาภวิสุทธิสาโรจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันภาคเอกชนมีบทบาทในการขายไฟฟ้าในลักษณะของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer: SPP) ในนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการลงทุนก่อสร้างสายจำหน่ายไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจึงยินยอมและสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กเชื่อมต่อและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าแทนการก่อสร้างสายจำหน่ายเพิ่มเติม โดยทำการเรียกเก็บค่าผ่านสายสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) จากผู้ขอใช้บริการสายจำหน่าย เพื่อให้สามารถคืนเงินลงทุนในการดำเนินกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายมีการเรียกเก็บค่าบริการระบบจำหน่ายไฟฟ้าในรูปของค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) แล้ว ด้วยเหตุนี้การเรียกเก็บค่าผ่านสายส่งไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมอาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการเรียกเก็บค่าบริการได้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอแนวทางการคำนวณและเรียกเก็บค่าผ่านสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) ของระบบจำหน่ายไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเสนอแนวทางการคำนวณส่วนลดค่าความต้องการไฟฟ้า จากการเรียกเก็บค่าผ่านสายส่งไฟฟ้า นอกจากนี้จะวิเคราะห์ถึงผลกระทบการเรียกเก็บค่าผ่านสายส่งไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมจากการเกิดคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแต่ละคู่สัญญาในระบบจำหน่ายไฟฟ้า จากการศึกษาพบว่าการคำนวณค่าผ่านสายส่งไฟฟ้าด้วยวิธี Power Flow Based MW-Mile เหมาะสมสำหรับการคำนวณค่าผ่านสายส่งไฟฟ้าเพื่อให้สะท้อนถึงปริมาณสายส่งที่ถูกใช้จริงจากคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแต่ละราย และการเรียกเก็บค่าผ่านสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) ในนิคมอุตสาหกรรมจะส่งผลให้อัตราค่าความต้องการพลังไฟฟ้าในประเทศสำหรับระดับแรงดันตั้งแต่ 69 kV และ สำหรับระดับแรงดัน 22 -33 kV เปลี่ยนไป 0.18 บาท/กิโลวัตต์ และ เปลี่ยนไป 0.17 บาท/กิโลวัตต์ ตามลำดับ เมื่อมีการเรียกเก็บค่าผ่านสายส่งในเขตนิคมอุตสาหกรรมจากคู่สัญญารายใหม่คิดเป็นร้อยละ 1 จากเงินลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่พิจารณา


แนวทางการสร้างโปรแกรมพลวัตเพื่อวางแผนการบำรุงรักษาแบบเหมาะที่สุดของอุปกรณ์หลักในสถานีไฟฟ้าโดยพิจารณาค่าใช้จ่ายและความเชื่อถือได้, สุรวิชญ์ เลาหนันทน์ Jan 2017

แนวทางการสร้างโปรแกรมพลวัตเพื่อวางแผนการบำรุงรักษาแบบเหมาะที่สุดของอุปกรณ์หลักในสถานีไฟฟ้าโดยพิจารณาค่าใช้จ่ายและความเชื่อถือได้, สุรวิชญ์ เลาหนันทน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การบริหารสินทรัพย์ภายในสถานีไฟฟ้าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยเฉพาะระบบเฝ้าระวังสภาวะเพื่อวางแผนงานการบำรุงรักษา การกำหนดแผนงานบำรุงรักษานั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานอุปกรณ์ ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายวงชีพ วิทยานิพนธ์นี้มุ่งความสนใจกับการวางแผนบำรุงรักษาระยะยาวโดยพิจารณาความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า การวางแผนบำรุงรักษาสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับอุปกรณ์ และระดับสถานีไฟฟ้า เราใช้การแจกแจงแบบไวบูลล์เพื่อประมาณฟังก์ชันความเชื่อถือได้ของอุปกรณ์ ความเชื่อถือได้ของสถานีไฟฟ้ากำหนดโดยใช้วิธีเซตตัดต่ำสุด และอาจประมาณด้วยความเชื่อถือได้ของอุปกรณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างแรงต่อความเชื่อถือได้ของระบบ การกำหนดแผนงานบำรุงรักษามีรูปแบบเป็นปัญหาการหาค่าเหมาะที่สุดแบบไม่ต่อเนื่อง เพื่อหาค่าใช้จ่ายวงชีพต่ำที่สุด ภายใต้เงื่อนไขอายุประสิทธิผลสุดท้ายของอุปกรณ์และเงื่อนไขบังคับของความเชื่อถือได้ การหาคำตอบเหมาะที่สุดของการวางแผนบำรุงรักษามีความซับซ้อนและใช้เวลามาก วิทยานิพนธ์นี้เสนอแนวทางของการสร้างโปรแกรมพลวัตเพื่อหาคำตอบเหมาะที่สุดย่อย โดยทำให้ค่าขอบเขตบนของค่าใช้จ่ายวงชีพมีค่าต่ำสุด เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายวงชีพที่ได้จากวิธีการสร้างโปรแกรมพลวัต กับคำตอบจากวิธีพันธุกรรมและการบำรุงรักษาตามเวลา เราพบว่าวิธีการสร้างโปรแกรมพลวัตให้แผนงานบำรุงรักษามีค่าใช้จ่ายวงชีพน้อยกว่า และสอดคล้องกับความเชื่อถือได้ที่กำหนด


การตั้งค่าเป้าหมายดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้ากำลังโดยพิจารณาค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง, อมร ฉมังหัตถพงศ์ Jan 2017

การตั้งค่าเป้าหมายดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้ากำลังโดยพิจารณาค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง, อมร ฉมังหัตถพงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการให้บริการด้านไฟฟ้าของผู้จำหน่ายไฟฟ้า เนื่องจากระบบไฟฟ้าที่มีความเชื่อถือได้ที่ดีจะสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความเชื่อถือได้ที่ดี จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้จำหน่ายไฟฟ้าที่ควรกระทำ ซึ่งการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าจะต้องมีการประเมินค่าดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า เพื่อให้ทราบถึงระดับความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าที่มีอยู่ และมีการกำหนดค่าเป้าหมายค่าดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า เพื่อให้ทราบถึงระดับความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าที่ต้องการ โดยค่าเป้าหมายที่กำหนดนั้นควรมีการพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความท้าทายที่เหมาะสมกับศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ อีกทั้งยังต้องมีวิธีการที่ให้ได้มาซึ่งค่าเป้าหมายอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถนำไปกำหนดกิจกรรมบำรุงรักษา และวางแผนปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะนำเสนอแนวทางเลือกหนึ่ง ในการตั้งค่าเป้าหมายค่าดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าที่มีความรวดเร็ว รวมทั้งพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า ความยาวสายระบบไฟฟ้า โดยใช้วิธีการวิเคราะห์การถดถอยเชิงแบบพหุ (Multiple Linear Regression Analysis) และวิธีการวิเคราะห์การถดถอยเชิงอย่างง่าย (Simple Linear Regression Analysis) ในการคาดการณ์ค่าดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าให้สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ เพื่อให้ได้รับค่าเป้าหมายค่าดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าที่เหมาะสม


ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและพลังงานจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์, ธนะรัชต์ งามเสงี่ยม Jan 2017

ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและพลังงานจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์, ธนะรัชต์ งามเสงี่ยม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านการขนส่งของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของทั้งอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์เอง และสาขาการผลิตอื่นๆ ภายในห่วงโซ่อุปทานเดียวกันอีกด้วย งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ โดยใช้แบบจำลองปัจจัยการผลิตและผลผลิต จากการคำนวณการเปลี่ยนแปลงต้นทุนการขนส่งรวมของปูนซีเมนต์ในสถานการณ์ปัจจุบันและสถานการณ์จำลอง พบว่า ในสถานการณ์จำลองที่ 1 ซึ่งกำหนดให้เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนเป็นทางราง ต้นทุนรวมของการขนส่งปูนซีเมนต์ทั้งระบบจะลดลงเหลือร้อยละ 53.71 ของมูลค่าเดิม ในขณะที่ ในสถานการณ์จำลองที่ 2 ซึ่งกำหนดให้เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนเป็นทางรางและทางทะเล ต้นทุนรวมของการขนส่งปูนซีเมนต์ทั้งระบบจะลดลงเหลือร้อยละ 49.44 ของมูลค่าเดิม การวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ต่อปริมาณการใช้พลังงานรวมของทั้งประเทศ พบว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งตามสถานการณ์จำลองที่ 1 และสถานการณ์จำลองที่ 2 จะช่วยลดการใช้พลังงานรวมของทั้งระบบเศรษฐกิจลงได้ ร้อยละ 0.0498 และร้อยละ 0.0532 ตามลำดับ นอกจากนี้ การศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งต่อการเปลี่ยนแปลงด้านราคาผลผลิตพบว่า ทั้งสองสถานการณ์จำลองให้ผลที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ สาขาการผลิตที่มีการลดลงของราคาผลผลิตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต การก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์อโลหะ ปูนซีเมนต์ และ ประปา ซึ่งล้วนแต่เป็นสาขาการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ทั้งสิ้น ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและทางทะเล เพื่อกระจายผลผลิตไปยังสาขาการผลิตอื่นๆ และผู้บริโภคขั้นสุดท้ายให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้า แล้วยังช่วยลดการใช้พลังงานรวมของทั้งระบบเศรษฐกิจลงได้อีกด้วย


ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนเมื่อเปลี่ยนสารทำความเย็น Hcfc-22 เป็น Hfc-32, พรรณิภา เจียมศิริโรจน์ Jan 2017

ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนเมื่อเปลี่ยนสารทำความเย็น Hcfc-22 เป็น Hfc-32, พรรณิภา เจียมศิริโรจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการใช้พลังงานตามฤดูกาล (Cooling Seasonal Performance Factor: CSPF) ของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน ที่ความเร็วรอบคอมเพรสเซอร์คงที่ เมื่อเปลี่ยนสารทำความเย็น HCFC-22 เป็น HFC-32 ที่ขนาดทำความเย็น 2,638 3,517 5,276 และ 7,034 วัตต์ จากผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศที่เข้าร่วมโครงการ Thailand HPMP Stage I ทั้ง 11 ผู้ผลิต การวิเคราะห์เปรียบเทียบอ้างอิงตามมาตรฐาน ISO 16358-1 โดยใช้ชุดอุณหภูมิ (Outdoor Bin Temperature) ของประเทศไทย โดยกำหนดให้ภาระการทำความเย็น (Cooling Load) ขึ้นกับอุณหภูมิภายนอกเพียงอย่างเดียว พบว่าเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น HFC-32 มีค่า CSPF มากกว่า HCFC-22 ร้อยละ 4.99 การวิเคราะห์เปรียบเทียบ CSPF ของเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น HFC-32 โดยสมมตชั่วโมงการใช้งานต่อปี 3 กรณี ได้แก่ (1) กรณีใช้งาน 24 ชั่วโมงต่อวัน (2) กรณีใช้งาน 12 ชั่วโมง ในตอนกลางวัน (6.00-18.00 น.) และ (3) กรณีใช้งาน 12 ชั่วโมง ในตอนกลางคืน (18.00-6.00 น.) เทียบกับ CSPF ที่ใช้ช่วงอุณหภูมิตามค่าแนะนำ (Default) พบว่า CSPF ทั้ง 3 กรณี ต่ำกว่าค่า CSPF ที่ใช้ช่วงอุณหภูมิตามค่าแนะนำ เป็นผลมาจากการกระจายตัวของอุณหภูมิประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงที่มีอุณหภูมิสูง (อุณหภูมิเฉลี่ยทั้ง 3 กรณี มีค่าสูงกว่า) ส่วนสุดท้ายเป็นการวิเคราะห์ผลประหยัด พบว่า หากมีการใช้งานเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น HFC-32 แทน HCFC-22 ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า กรณีใช้งาน 24 …


การประเมินความต้องการทางเทคโนโลยีพลังงานในภาคการผลิตไฟฟ้าเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, วิสรรค์ ศรีอนันต์ Jan 2017

การประเมินความต้องการทางเทคโนโลยีพลังงานในภาคการผลิตไฟฟ้าเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, วิสรรค์ ศรีอนันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ทำการศึกษาความต้องการเทคโนโลยีพลังงานในภาคการผลิตไฟฟ้า เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีจุดประสงค์เพื่อจัดลำดับความสำคัญของเทคโนโลยี/ทางเลือก เพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานของภาคการผลิตไฟฟ้า ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การศึกษานี้ใช้วิธีการวิเคราะห์ Multi-criteria Analysis (MCA) โดยให้ผู้เชี่ยวชาญในภาคการผลิตไฟฟ้า ทำการประเมินเพื่อให้คะแนนกับเทคโนโลยี/ทางเลือกพลังงาน ที่สามารถทำการประเมินได้ ซึ่งรายการเทคโนโลยี/ทางเลือก ถูกอ้างอิงจากเอกสารของ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) และสำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย 2 เกณฑ์หลัก คือ เกณฑ์ด้านความพร้อม และ เกณฑ์ด้านผลกระทบ ผลการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า เกณฑ์ด้านความพร้อมที่ทางผู้เชี่ยวชาญเล็งเห็นถึงความสำคัญมากสุด คือ ด้านการยอมรับจากสังคม ในด้านผลกระทบที่ทางผู้เชี่ยวชาญให้ความสำคัญ คือ ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม: มลพิษทางอากาศ, มลพิษทางน้ำ, การปนเปื้อน ฯลฯ เป็นอันดับแรก และ ผลจัดอันดับเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญพบว่า เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นอันดับแรก และลำดับที่ 2 คือ พลังงานไฟฟ้าร่วมโดยใช้แก๊สธรรมชาติแบบทั่วไป ที่ส่งผลกระทบสูงและมีความพร้อมสูง อีกทั้งเมื่อนำกลุ่มเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบสูงมาวิเคราะห์ช่องว่าง ประเด็นหลักที่สำคัญคือ ต้นทุนและผลประโยชน์ และ การสนับสนุนด้านการเงิน ที่ยังต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมที่มากขึ้น ทั้งนี้จึงนำไปสู่ข้อเสนอแนะนโยบายควรให้มีองค์กรหรือสถาบันวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยโดนเฉพาะ อีกทั้งตั้งกองทุนการสนับสนุนเทคโนโลยี รวมไปถึงกฎหมายควบคุมต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก


การใช้ประโยชน์เถ้ากะลาปาล์มเป็นสารเร่งปฏิกิริยาในการผลิตไบโอดีเซล, สุเชษฐ เทพอาษา Jan 2017

การใช้ประโยชน์เถ้ากะลาปาล์มเป็นสารเร่งปฏิกิริยาในการผลิตไบโอดีเซล, สุเชษฐ เทพอาษา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาการใช้ประโยชน์เถ้ากะลาปาล์มเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว โดยทำการทดลองที่หลากหลายสภาวะ อาทิ สัดส่วนโดยโมลเมทานอลต่อน้ำมันพืช ร้อยละโดยน้ำหนักของตัวเร่งปฏิกิริยา อุณหภูมิและเวลาที่ใช้ในการเผาเถ้ากะลาปาล์ม เป็นต้น โดยที่ทุกการทดลองใช้น้ำมันพืชปริมาณ 200 กรัม ทำปฏิกิริยาที่ 65 OC เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ผลการศึกษาพบว่าตัวเร่งปฏิกิริยาที่ได้จากการเผาเถ้ากะลาปาล์มที่ 900 OC เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ให้ผลผลิตและคุณภาพไบโอดีเซลสูงกว่าการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ได้จากการเผาเถ้ากะลาปาล์มที่ 800 OC เป็นเวลา 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบว่าสภาวะการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วสำหรับการศึกษานี้ คือ การผลิตไบโอดีเซลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ได้จากการเผาเถ้ากะลาปาล์มที่ 900 OC เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ปริมาณร้อยละ 1 โดยน้ำหนักน้ำมันพืชที่ใช้ตั้งต้น เติมเมทานอล 3 เท่าโดยโมลน้ำมันพืช ทำปฏิกิริยาที่ 65 OC เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ทั้งนี้พบว่าไบโอดีเซลที่ผลิต ณ สภาวะเหมาะสมนี้ จะให้ผลผลิตไบโอดีเซลสูงถึง 85.6% และมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานกำหนดโดยกระทรวงพลังงานของประเทศไทย


การลดเสียงรบกวนจากเครื่องกรอฟันที่ขึ้นกับการตัดออกเสียงรบกวนแบบปรับตัว, จิฏิณ เข็มวงษ์ Jan 2017

การลดเสียงรบกวนจากเครื่องกรอฟันที่ขึ้นกับการตัดออกเสียงรบกวนแบบปรับตัว, จิฏิณ เข็มวงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอเทคนิคการลดเสียงรบกวนจากเครื่องกรอฟันแบบสองขั้นตอน (Two-Step Dental-Drill Noise Reduction, TSDNR) โดยใช้ระบบการตัดออกเสียงรบกวนแบบปรับตัว (Adaptive Noise Cancellation, ANC) เทคนิคที่นำเสนอถูกออกแบบสำหรับหูฟังสวมศีรษะตัดออกเสียงรบกวน (noise-cancelling headphone) เพื่อให้ทันตแพทย์และคนไข้สวมใส่ขณะที่มีการรักษาฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยินของทันตแพทย์ที่ต้องทำงานภายใต้สถานการณ์ที่มีเสียงรบกวนจากเครื่องกรอฟันเป็นระยะเวลานานๆ เทคนิค TSDNR ประกอบด้วยสองขั้นตอน เพื่อลดเสียงรบกวนจากเครื่องกรอฟัน ในขั้นตอนแรก ขั้นตอนวิธีการสกัดความถี่หลักมูลและความถี่ฮาร์มอนิก (fundamental-and-harmonic frequencies extraction algorithm) ถูกนำเสนอเพื่อใช้ประมาณความถี่หลักมูลและความถี่ฮาร์มอนิกของเสียงรบกวนจากเครื่องกรอฟัน หลังจากนั้น สัญญาณไซนูซอยด์ของความถี่หลักมูลและความถี่ฮาร์มอนิกต่างๆจะถูกสร้างและใช้เป็นสัญญาณอ้างอิงของระบบ ANC หลายระบบพร้อมๆกันเพื่อตัดออกความถี่หลักมูลและความถี่ฮาร์มอนิกของเสียงรบกวนจากเครื่องกรอฟัน ในขั้นตอนที่สอง ตัวกรองแบบปรับตัวอีกตัวหนึ่งของระบบ ANC จะถูกใช้ร่วมกับตัวกรองผ่านสูงเพื่อกำจัดองค์ประกอบความถี่สูงอื่นๆของเสียงรบกวนจากเครื่องกรอฟัน ผลการจำลองผ่านคอมพิวเตอร์โดยใช้เสียงรบกวนจากเครื่องกรอฟันที่บันทึกเสียงไว้ และสัญญาณเสียงพูดจากฐานข้อมูล IEEE แสดงให้เห็นว่าเทคนิค TSDNR ที่นำเสนอสามารถลดเสียงรบกวนจากเครื่องกรอฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านของสมรรถนะในการลดทอนเสียงรบกวนและในด้านของคุณภาพของเสียงพูด ยิ่งไปกว่านั้น ผลจากการทดสอบฟังจากผู้ฟัง 15 คน ยืนยันประสิทธิภาพของเทคนิคที่นำเสนอนี้อีกด้วย