Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Articles 31 - 60 of 163

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

อิทธิพลของปัจจัยจูงใจต่อพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านเว็บไซต์อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ, พิชชาพร เนียมศิริ Jan 2017

อิทธิพลของปัจจัยจูงใจต่อพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านเว็บไซต์อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ, พิชชาพร เนียมศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและใช้วิธีการเชิงสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของปัจจัยจูงใจในการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านเว็บไซต์อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ ซึ่งประกอบด้วย 3 ตัวแปร คือ คุณภาพของเว็บไซต์ คุณลักษณะของเสื้อผ้าแฟชั่น และคุณลักษณะของผู้บริโภค ที่ส่งผลต่อ (1) ทัศนคติของผู้บริโภค และ (2) ความตั้งใจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นของผู้บริโภค โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ที่เคยซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านเว็บไซต์อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ ซึ่งในงานวิจัยนี้คือ เว็บไซต์กลุ่ม Marketplace และเว็บไซต์กลุ่ม Brand ภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 400 คน ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยจูงใจในการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่น ในตัวแปรด้านคุณลักษณะของเสื้อผ้าแฟชั่น และคุณลักษณะของผู้บริโภคมีอิทธิพลต่อทัศนคติและความตั้งใจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นของผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซทั้งในกลุ่มเว็บไซต์ Marketplace และเว็บไซต์ Brand อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


กลยุทธ์การสร้างแบรนด์เครื่องหอมไทยสู่แบรนด์เครื่องหอมโลก, วสี อัชกุลพร Jan 2017

กลยุทธ์การสร้างแบรนด์เครื่องหอมไทยสู่แบรนด์เครื่องหอมโลก, วสี อัชกุลพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษากลยุทธ์การสร้างแบรนด์เครื่องหอมไทย (2) เพื่อศึกษากลยุทธ์การสื่อสารแบรนด์เครื่องหอมไทย (3) เพื่อศึกษาปัจจัยขับเคลื่อนแบรนด์เครื่องหอมไทย แบรนด์ PAÑPURI และแบรนด์ HARNN โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ผู้เกี่ยวข้องจำนวน 20 คน ผลการศึกษาพบว่า (1) แบรนด์ทั้งสองมีกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ตามแนวคิดไลฟ์สไตล์แบรนด์ ประกอบด้วยความเป็นมาของแบรนด์ จากการใส่เรื่องราว ความเชื่อของแบรนด์ และอุดมการณ์ของแบรนด์ โดยการนำเสนอไลฟ์สไตล์ รหัสไลฟ์สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์ สำหรับแบรนด์ PAÑPURI ได้กำหนดแนวคิดของแบรนด์ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์สุดหรู ชูจุดเด่นเรื่องออแกนิก ส่วนแบรนด์ HARNN กำหนดแนวคิดของแบรนด์ คือ ความร่วมสมัย หรูหรา และเอกลักษณ์ของเอเชีย (2) การสื่อสารแบรนด์เครื่องหอมไทย แบรนด์ทั้งสองมีการสื่อสารแบรนด์ตามแนวคิดไลฟ์สไตล์แบรนด์ มีแนวคิดการเล่าเรื่องราวผ่านผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดที่มีไลฟ์สไตล์ที่คนในสังคมปรารถนา ผ่านการสื่อสาร 3 ลักษณะ คือ ผ่านกิจกรรมการสื่อสารที่มีการเล่าเรื่องราวเดียวกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดสุนทรียศาสตร์ ที่มีความหมายทางอารมณ์และสอดคล้องกับผู้บริโภค และผ่านการสื่อสารในร้านค้า มีพนักงานทำหน้าที่ให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์และเผยแพร่เรื่องราวดึงดูดความสนใจผู้บริโภค (3) ปัจจัยขับเคลื่อนแบรนด์เครื่องหอมไทย แบรนด์ทั้งสองขับเคลื่อนแบรนด์ตามแนวคิดไลฟ์สไตล์แบรนด์ มีผู้นำแบรนด์ที่เป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ให้แก่แบรนด์และองค์กร กล่าวคือ ผู้นำจะออกแบบเรื่องราว สิ่งที่แบรนด์เชื่อ อัตลักษณ์ของแบรนด์ รวมถึงการนำเสนอไลฟ์สไตล์ ผ่านแนวคิดของแบรนด์ นอกจากนี้ ผู้นำยังเป็นผู้กำหนดปรัชญาการทำงานในองค์กร โดยผู้นำมองว่า พนักงานเป็นกลไกที่สำคัญของบริษัท มีการคำนึงถึงความสุขของพนักงาน ด้านพนักงาน มีแนวทางการทำงานที่สะท้อนวิสัยทัศน์ผู้นำ โดยสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์และบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสุขภาพความงาม


กลยุทธ์การสื่อสารของเว็บไซต์การพนันฟุตบอลออนไลน์, วิษชญะ ศิลาน้อย Jan 2017

กลยุทธ์การสื่อสารของเว็บไซต์การพนันฟุตบอลออนไลน์, วิษชญะ ศิลาน้อย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัย คือ ศึกษากลยุทธ์การสื่อสารเพื่อการชักจูงผู้เล่นการพนันฟุตบอลออนไลน์ ของเว็บไซต์การพนันฟุตบอล และศึกษาการสื่อสาร และการเปิดรับข้อมูลข่าวสารของผู้เรียนในสังกัดอาชีวศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เล่นการพนันฟุตบอลออนไลน์บนเว็บไซต์การพนันฟุตบอล งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) ทำการเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการสังเกตการณ์ (Obsevation) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้ คือ นักวิชาการ 3 คน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์การพนันฟุตบอล 2 คน และผู้เรียนในสังกัดอาชีวศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งหมด 8 คน ผลการวิจัยพบว่าแนวทางการสื่อสารของเว็บไซต์การพนันฟุตบอล คือ การจัดการระบบของเว็บไซต์ให้เข้าถึงง่าย รูปแบบของเว็บไซต์ไม่ซับซ้อน และสร้างความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ ซึ่งมีเทคนิคเฉพาะในการดึงดูดผู้เล่นการพนันฟุตบอลออนไลน์ คือ การสร้างรูปแบบการเล่นการพนันฟุตบอลออนไลน์ที่หลากหลาย เพิ่มทางเลือกการพนันชนิดอื่น ๆ คำนึงถึงความปลอดภัยด้วยการลบประวัติการวางเดิมพันการพนัน การสร้างเว็บไซต์บันเทิง อื่น ๆ ในการเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และวิธีการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารด้วยวิธีต่าง ๆ อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ การสื่อสารของเว็บไซต์การพนันฟุตบอลในปัจจุบัน คือ การใช้ผู้มีอิทธิพลทางความคิดในการชักจูงผู้เล่นการพนันฟุตบอลออนไลน์ กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิดเหล่านี้จะใช้ความใกล้ชิดกับผู้ติดตาม และความน่าเชื่อถือของตนเองเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งกลยุทธ์นี้มีข้อดีคือสามารถวัดผลจากสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดได้ การศึกษาผู้เรียนในสังกัดอาชีวศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่ามีการสื่อสารกับเว็บไซต์การพนันฟุตบอลในช่องทางต่าง ๆ ดังนี้ ช่องสนทนาหน้าเว็บไซต์ เบอร์โทรศัพท์ และแอพพลิเคชั่นไลน์ โดยการสื่อสารระหว่างผู้เล่นการพนันฟุตบอลด้วยกันในสื่อสังคมออนไลน์เป็นที่นิยมอย่างมาก และการสื่อสารระหว่างผู้เล่นการพนันฟุตบอลออนไลน์ในกลุ่มสังคมที่ใกล้ชิดโดยเฉพาะเพื่อน มีเหตุผลหลัก คือการแลกเปลี่ยนการวิเคราะห์ผลฟุตบอลร่วมกัน ซึ่งสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากกว่าสื่ออื่น ๆ อย่างสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ นอกจากนี้ผู้มีอิทธิพลทางความคิดยังมีผลต่อการตัดสินใจ และเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจเล่นการพนันฟุตบอลออนไลน์อีกด้วย


การประกอบสร้างความหมายของผู้หญิงที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครหญิงในละครโทรทัศน์ไทยยอดนิยมที่ถูกผลิตซ้ำ ระหว่างปี พ.ศ. 2530 - 2560, อวิรุทธ์ ศิริโสภณา Jan 2017

การประกอบสร้างความหมายของผู้หญิงที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครหญิงในละครโทรทัศน์ไทยยอดนิยมที่ถูกผลิตซ้ำ ระหว่างปี พ.ศ. 2530 - 2560, อวิรุทธ์ ศิริโสภณา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะและพัฒนาการของตัวละครหญิง ตลอดจนศึกษาการประกอบสร้างความหมายของผู้หญิงในสังคมไทย ผ่านละครโทรทัศน์ไทยยอดนิยมที่ถูกผลิตซ้ำ ระหว่างปี พ.ศ. 2530 – 2560 โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยกระบวนการวิเคราะห์เนื้อหา และการวิเคราะห์ตัวบท ผ่านละครโทรทัศน์ 5 เรื่อง ได้แก่ น้ำเซาะทราย เพลิงพระนาง เพลิงบุญ มายา และเมียหลวง ประกอบกับการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้สร้างสรรค์ละครโทรทัศน์ และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ผลการวิจัยพบว่า ตัวละครหญิงในละครโทรทัศน์ทั้ง 5 เรื่อง ปรากฏคุณลักษณะทางประชากรศาสตร์ ในระดับการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างสูง อันสอดรับกับบริบทของสังคม เช่น ลักษณะทางกายภาพ การศึกษา อาชีพ พื้นที่ เป็นต้น แต่คุณลักษณะทางจิตวิทยา มีระดับการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ ภูมิหลัง ความต้องการ ความขัดแย้ง เป้าหมาย และการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้โครงเรื่องหลักไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดชุดความคิดเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงในลักษณะการตกเป็นรองผู้ชายเช่นเดิมในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ 1) อุดมคติหญิงไทย 2) บทบาทและหน้าที่ 3) ค่านิยมด้านคู่ครอง ซึ่งมีเพียงบางประเด็นของชุดความคิดที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวละครหญิงในละครเวอร์ชันหลัง เช่น การศึกษา อาชีพ พื้นที่ เป็นต้น การวิจัยครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า พฤติกรรมการชมละครโทรทัศน์แบบเอา "รส" แต่ไม่เอา "เรื่อง" ของผู้ชม ส่งผลให้เกิด "การผลิตซ้ำย้ำความหมายเดิม" โดยมีผู้สร้างสรรค์ละครโทรทัศน์เป็นผู้ประกอบสร้างความหมายเหล่านั้นให้กลายเป็น "ความเป็นจริง" ของสังคมเรื่อยมาตามความต้องการของผู้ชม สิ่งเหล่านี้แสดงถึงการตกอยู่ภายใต้ "อุดมการณ์ปิตาธิปไตย" ในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป


อิทธิพลของเพศทางไวยากรณ์ต่อระบบปริชานของผู้พูดสองภาษารัสเซีย-อังกฤษเปรียบเทียบกับผู้พูดภาษารัสเซียและผู้พูดภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียว, กุสุมา ทองเนียม Jan 2017

อิทธิพลของเพศทางไวยากรณ์ต่อระบบปริชานของผู้พูดสองภาษารัสเซีย-อังกฤษเปรียบเทียบกับผู้พูดภาษารัสเซียและผู้พูดภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียว, กุสุมา ทองเนียม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาประเภททางไวยากรณ์เพื่อทดสอบสมมติฐานภาษาสัมพัทธ์ซึ่งกล่าวว่าผู้พูดภาษาที่มีประเภททางไวยากรณ์แตกต่างกันย่อมมีความคิดแตกต่างกันด้วย แต่งานด้านนี้ส่วนใหญ่มักทดสอบกับผู้พูดภาษาเดียว โดยมิได้คำนึงถึงผู้พูดสองภาษา เกี่ยวกับสมมติฐานภาษาสัมพัทธ์ ถึงแม้วอร์ฟมิได้กล่าวถึงผู้พูดสองภาษาโดยตรง แต่ก็พูดเป็นนัยไว้ว่าคนที่พูดได้หลายภาษามากเท่าใดก็จะมีความเป็นกลางในความคิดมากเท่านั้น ทำให้ผู้วิจัยสงสัยว่าประเภททางไวยากรณ์ที่อยู่ในตัวผู้พูดสองภาษามีอิทธิพลต่อความคิดของเขาอย่างไร นอกจากนี้ ผลงานในอดีตที่เกี่ยวกับเพศทางไวยากรณ์ในภาษารัสเซียแทบไม่มีเลย งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการมีและไม่มีเพศทางไวยากรณ์ของคำนามกับพฤติกรรมทางปริชานด้านการจำแนกประเภทของผู้พูดภาษารัสเซีย ผู้พูดภาษาอังกฤษ และผู้พูดสองภาษารัสเซีย-อังกฤษ และเปรียบเทียบพฤติกรรมทางปริชานด้านการจำแนกประเภทของผู้พูดทั้ง 3 กลุ่มเพื่อทดสอบสมมติฐานภาษาสัมพัทธ์ ผู้วิจัยมีสมมติฐานว่า ผู้พูดภาษารัสเซียซึ่งเป็นภาษาที่คำนามมีเพศทางไวยากรณ์มีพฤติกรรมทางปริชานด้านการจำแนกประเภทตามเกณฑ์เพศทางไวยากรณ์มากกว่าผู้พูดภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่คำนามไม่มีเพศทางไวยากรณ์ และผู้พูดสองภาษารัสเซีย-อังกฤษมีพฤติกรรมทางปริชานด้านการจำแนกประเภทตามเกณฑ์เพศทางไวยากรณ์น้อยกว่าผู้พูดภาษารัสเซียภาษาเดียวแต่มากกว่าผู้พูดภาษาอังกฤษภาษาเดียว ข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์มาจากการทดสอบพฤติกรรมทางปริชานด้านการจำแนกประเภทสรรพสิ่ง โดยให้ผู้พูดภาษารัสเซีย 39 คน ผู้พูดภาษาอังกฤษ 30 คน และผู้พูดสองภาษารัสเซีย-อังกฤษ 54 คน ดูภาพสัตว์หรือสิ่งของชุดละ 3 ภาพและตัดสินว่าภาพใดไม่เข้าพวกกับภาพอื่นเพื่อที่จะทดสอบว่าผู้พูดแต่ละกลุ่มใช้เพศทางไวยากรณ์หรือลักษณะของสรรพสิ่งเป็นเกณฑ์ในการจำแนกประเภท ผลการทดลองพบว่าผู้พูดภาษารัสเซียจำแนกประเภทสรรพสิ่งตามเกณฑ์เพศทางไวยากรณ์มากกว่าผู้พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งสนับสนุนสมมติฐานภาษาสัมพัทธ์ ส่วนผู้พูดสองภาษารัสเซีย-อังกฤษจำแนกประเภทสรรพสิ่งตามเกณฑ์เพศทางไวยากรณ์น้อยกว่าผู้พูดภาษารัสเซียภาษาเดียว แต่ไม่แตกต่างจากผู้พูดภาษาอังกฤษภาษาเดียวแสดงให้เห็นอิทธิพลของภาวะสองภาษา ซึ่งมีปัจจัยสำคัญคือความเชี่ยวชาญในภาษาที่สองในระดับสูง


ปรากฏการณ์การรับรู้เสียงสระแทรกในพยัญชนะควบกล้ำของผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่, รัตนสุวรรณ ระวรรณ Jan 2017

ปรากฏการณ์การรับรู้เสียงสระแทรกในพยัญชนะควบกล้ำของผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่, รัตนสุวรรณ ระวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของสัทสัมผัส หลักการการเรียงพลังประจำเสียง และลักษณะทางสัทสาสตร์ของภาษาแม่ ต่อการรับรู้เสียงควบกล้ำในผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ผู้ร่วมการทดลองเป็นผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่จำนวน 64 คน และผู้พูดภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่จำนวน 15 คน รายการคำในการทดลองเป็นคำเสมือนของภาษารัสเซียในโครงสร้างพยางค์ CCVC และ CVCVC และผู้วิจัยใช้แบบทดสอบการจำแนกเสียงแบบ AX ในการทดลอง ผู้วิจัยคาดว่าเมื่อผู้ร่วมการทดลองได้ยินเสียงควบกล้ำต่างๆ ในการทดลองที่ผิดสัทสัมผัสของภาษาแม่ ผู้ร่วมการทดลองจะได้ยินเสียงสระแทรกเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ทำให้ไม่สามารถแยกแยะเสียงควบกล้ำและเสียงสระแทรกออกจากกันได้ จากผลการทดลอง ผู้วิจัยพบว่าสัทสัมผัสของภาษาแม่มีอิทธิพลต่อการรับรู้เสียงควบกล้ำ โดยผู้ร่วมการทดลองสามารถรับรู้เสียงควบกล้ำที่ถูกสัทสัมผัสได้อย่างแม่นยำกว่าเสียงควบกล้ำที่ผิดสัทสัมผัสอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในการทดลองที่สอง ผู้วิจัยพบว่าหลักการการเรียงพลังประจำเสียงไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้การรับรู้เสียงควบกล้ำในผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่แม่นยำ กล่าวคือ ผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่สามารถรับรู้เสียงควบกล้ำที่เรียงพลังประจำเสียงแบบขึ้นได้ไม่แตกต่างจากระดับและแบบตกอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบจากผลการทดลองที่สามว่าลักษณะทางสัทศาสตร์ของภาษาแม่ในคู่คำทดสอบดัดแปลงทำให้ผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่รับรู้เสียงควบกล้ำที่ผิดสัทสัมผัสด้วยความแม่นยำที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้วิจัยเปลี่ยนไปใช้เสียงทดสอบที่ผลิตอย่างธรรมชาติโดยผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ในการทดลองที่สี่ ผู้วิจัยพบว่าผู้ร่วมการทดลองที่พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่สามารถรับรู้เสียงในคู่คำทดสอบได้อย่างแม่นยำขึ้นกว่าเมื่อได้ยินเสียงในคู่คำทดสอบที่ผลิตโดยผู้พูดภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่


การรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรัฐสวัสดิการของพลเมืองเดนมาร์ก, ติรัส ตฤณเตชะ Jan 2017

การรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรัฐสวัสดิการของพลเมืองเดนมาร์ก, ติรัส ตฤณเตชะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพลเมืองเดนมาร์กกับกระบวนการกำหนดนโยบายรัฐสวัสดิการของเดนมาร์ก ซึ่งทำการเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก จากพลเมืองของเดนมาร์กในเมืองโคเปนฮาเก้นและเมืองฮอร์เซ่นส์ ใน 4 กลุ่มอาชีพ อันได้แก่ ข้าราชการ เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรม และนักศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 48 คน ผลการวิจัยพบว่าลักษณะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรัฐสวัสดิการของพลเมืองเดนมาร์กที่สำคัญประกอบไปด้วย หนึ่ง ความรู้สึกร่วมของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สอง การให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม และสาม ลักษณะดุลยภาพของวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมและกลุ่มนิยม ซึ่งการที่พลเมืองเดนมาร์กรับรู้ถึงลักษณะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมดังกล่างของตน จึงมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อกระบวนกำหนดนโยบายรัฐสวัสดิการซึ่งพลเมืองเดนมาร์กได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้คุณค่าเชิงซ้อนและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาจากเนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐสวัสดิการมีความสอดคล้องกับลักษณะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพลเมืองเดนมาร์กเป็นอย่างยิ่ง


การสื่อสารรณรงค์บนพื้นที่ออนไลน์ Change.Org, แก้วเกล้า บรรจง Jan 2017

การสื่อสารรณรงค์บนพื้นที่ออนไลน์ Change.Org, แก้วเกล้า บรรจง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่องการสื่อสารรณรงค์บนพื้นที่ออนไลน์ Change.org มุ่งศึกษาใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ลักษณะประเด็นสังคมที่ปรากฏบนพื้นที่ออนไลน์ Change.org 2) กลยุทธ์การสื่อสารในการสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณชนบนพื้นที่ออนไลน์ Change.org 3) ความผูกพันของพลเมืองเน็ตต่อแบรนด์ Change.org โดยการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method) ด้วยเทคนิคการวิจัย ดังนี้ การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis), การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) และวิธีการสำรวจจากแบบสอบถามออนไลน์ (Online Questionnaire) ผลการวิจัยในประเด็นแรกพบว่าลักษณะประเด็นสังคมที่ปรากฏบนพื้นที่ออนไลน์ Change.org แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเด็นสาธารณะ (Public Issues) และปัญหาระดับบุคคล (Private Troubles) โดยนักรณรงค์ใช้พื้นที่ออนไลน์ Change.org เพื่อสื่อสารใน 5 วัตถุประสงค์ ได้แก่ (1) ให้ข้อมูล (2) อัปเดตข่าวสาร (3) โน้มน้าวให้คล้อยตาม (4) ขอบคุณ และ (5) ประกาศชัยชนะ ซึ่งกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ (1) หน่วยงานในการปกครองของรัฐ (2) องค์กรเอกชน และ (3) องค์กรเพื่อสังคม โดยผลการรณรงค์บนพื้นที่ออนไลน์ Change.org มี 2 รูปแบบ ได้แก่ แคมเปญที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน และแคมเปญที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย ผลการวิจัยในประเด็นที่สองพบว่ากลยุทธ์การสื่อสารในการสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณชนบนพื้นที่ออนไลน์ Change.org มีทั้งหมด 4 กลยุทธ์ ได้แก่ (1) การทำให้เห็นภาพ หรือจินตทัศน์ (Visualization) (2) การสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Engagement) (3) การจัดการข้อมูล (Information Management) และ (4) ความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน (Current issues …


การเล่าเรื่องขุนโจรจากเหตุการณ์จริง ในนวนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" ของ ป.อินทรปาลิต, ฐิติพงศ์ อินทรปาลิต Jan 2017

การเล่าเรื่องขุนโจรจากเหตุการณ์จริง ในนวนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" ของ ป.อินทรปาลิต, ฐิติพงศ์ อินทรปาลิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการเล่าเรื่อง โครงสร้างตัวละครและการสร้างแนวเรื่องแบบขุนโจรที่อิงจากเหตุการณ์จริงและเพื่อวิเคราะห์สภาพการณ์ทางสังคมและแนวทางการเล่าเรื่องแบบบุกเบิกตะวันตกที่มีอิทธิพลต่องานเขียนนวนิยายชุด เสือใบ - เสือดำ ของ ป.อินทรปาลิต โดยใช้การวิเคราะห์ตัวบท (Textual Analysis) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากนวนิยายชุดเสือใบ เสือดำและดาวโจร จากสำนักพิมพ์ฉบับผดุงศึกษา (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์) จำนวนทั้งสิ้น 12 เล่ม และจากการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผลการวิเคราะห์พบว่า กลวิธีการเล่าเรื่องและโครงสร้างตัวละคร ด้านโครงสร้างการเล่าเรื่อง มีการสร้างแนวเรื่องแบบขุนโจรจากแนวเรื่องแบบบุกเบิกตะวันตก (Western Genre) เป็นหลัก อาทิ การท้าดวลปืนตามลักษณะตัวละครแบบวีรบุรุษนอกกฎหมาย ความขัดแย้งในความอยุติธรรมระหว่างอำนาจรัฐและชุมชน โดยผสมผสานเหตุการณ์จริงในบริบทของสังคมไทย เข้ากับจินตนาการและขนบของการเล่าเรื่อง การปฏิบัติภารกิจที่มาจากแนวเรื่องผจญภัย (Adventure Genre) การต่อสู้จากแนวเรื่องแบบบู๊ล้างผลาญ (Action Genre) การทำการรบการสงครามจากแนวเรื่องแบบสงคราม (War Genre) และความรักในสตรีเพศจากแนวเรื่องรักโศก ด้านการสร้างตัวละคร พบว่า การใช้ชื่อตัวละครในนวนิยายได้เค้าโครงมาจากตัวละครจากเหตุการณ์จริงบางส่วน จากสภาพการณ์ทางสังคมของไทยในช่วงที่ไทยประสบปัญหาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดตัวละครโจรผู้ร้ายมากมาย ทำให้การกำหนดคุณลักษณะของตัวละคร แบบวีรบุรุษขุนโจร คือ ความกล้าหาญ ความเก่งกาจ ความมีคุณธรรม และการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรี ที่สอดคล้องกับองค์ประกอบการสร้างตัวละครชายในวรรณคดีไทย


การสื่อสารอัตลักษณ์และบทบาททางสังคมของลิเกไทใหญ่, ปรีดาพร ศรีเมือง Jan 2017

การสื่อสารอัตลักษณ์และบทบาททางสังคมของลิเกไทใหญ่, ปรีดาพร ศรีเมือง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบของการแสดงลิเกไทใหญ่ อัตลักษณ์และบทบาททางสังคมของการแสดงลิเกไทใหญ่ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงลิเกไทใหญ่ จำนวน 20 คน กลุ่มผู้ชม จำนวน 50 คน นักวิชาการไทใหญ่ จำนวน 2 คน เก็บข้อมูลในช่วงเดือนตุลาคม 2558 - มีนาคม 2560 โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interviews) และการบันทึกข้อมูลการแสดงสดของลิเกไทใหญ่ (ทั้งในประเทศไทยและรัฐฉานประเทศพม่า) จำนวน 12 ครั้ง รวมทั้งจากเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1. องค์ประกอบในการแสดงลิเกไทใหญ่มีทั้งหมด 12 องค์ประกอบ คือ 1) ขั้นตอนการแสดง 2) เครื่องดนตรีและเพลง 3) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงและการแสดง 4) สถานที่ฉากและเวที 5) ช่วงเวลา/โอกาสของการแสดง 6) เครื่องแต่งกาย 7) ความรู้เกี่ยวกับลิเกไทใหญ่ 8) ข้อห้ามและความเชื่อ 9) การร้องโดยใช้ภาษาถิ่นไทใหญ่ 10) การไหว้ครู 11) ความเชื่อเรื่องเทพสรัสวดี 12) ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง 2. อัตลักษณ์ของการแสดงลิเกไทใหญ่ มีทั้งหมด 6 อัตลักษณ์ คือ1) อัตลักษณ์ด้านบทเพลง 2) ด้านภาษา 3) ด้านสุนทรีย์ 4) ด้านการแต่งกาย 5) ด้านวรรณกรรมพื้นบ้าน และ 6) ด้านความเป็นชนกลุ่มน้อยที่รักประเทศชาติ 3. บทบาททางสังคมของลิเกไทใหญ่ พบว่า มี 12 ประการบทบาท คือ 1) บทบาทในการพัฒนาตัวเอง 2) การยกระดับสถานภาพบุคคลในสังคม 3) การเป็นสื่อในการเห็นตนเองและผู้อื่น 4) การสร้างความทรงจำร่วมกัน 5) การสร้างความสามัคคี 6) การให้ความบันเทิง 7) …


การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลของผู้ฟังรายการพ็อดคาสท์, ปวรรัตน์ ระเวง Jan 2017

การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลของผู้ฟังรายการพ็อดคาสท์, ปวรรัตน์ ระเวง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. อธิบายความเหมาะสมของเนื้อหารายการพ็อดคาสท์ และ 2. อธิบายการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลในรายการพ็อดคาสท์ของผู้ฟังรายการ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ดำเนินการวิจัยด้วยการวิเคราะห์เนื้อหารายการพ็อดคาสท์ประเภทไฟล์เสียงภาษาไทย สุ่มเลือกจากกลุ่มรายการพ็อดคาสท์ในช่วงเดือนธันวาคม 2560 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2561 รวมจำนวนรายการที่นำมาวิเคราะห์ 104 ตอน หลังจากนั้นดำเนินการสนทนากลุ่มผู้ฟังรายการพ็อดคาสท์ จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ วัยทำงานชายและหญิง และนักเรียนมัธยมชายและหญิง กลุ่มละ 6-7 คน ผลการวิจัย ด้านการใช้ภาษา พบว่า มีเนื้อหารายการที่อาจทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสมในเรื่องการใช้ภาษาในรายการสนทนา ด้านพฤติกรรมและความรุนแรง พบว่า มีเนื้อหารายการที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงและอันตรายโดยแทรกเป็นส่วนประกอบของรายการ และเรื่องทางเพศ พบในบทสนทนาหรือคำพูดที่สร้างค่านิยมเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมปรากฏอยู่ รวมถึงเนื้อหาทางเพศที่ล่อแหลม สำหรับการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลของผู้ฟังรายการพ็อดคาสท์ พบว่า กลุ่มวัยทำงานและกลุ่มนักเรียนมัธยม มีความสามารถในการเข้าถึงพ็อดคาสท์สูง สามารถควบคุมการใช้งานได้ด้วยตนเอง มีความสามารถในการทำความเข้าใจและใช้ความคิดในเชิงวิพากษ์ถึงคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และมุมมองการผลิตเนื้อหาของผู้ผลิตได้ดี สามารถวิเคราะห์และประเมินข้อดีข้อเสีย คุณค่าและประโยชน์ รวมถึงโทษภัยอันตรายของเนื้อหารายการที่แฝงเรื่องธุรกิจการค้า และเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในเรื่องพฤติกรรมและความรุนแรง เรื่องทางเพศ และการใช้ภาษา อย่างไรก็ตาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีลักษณะของการคล้อยไปตามที่สื่อกำหนด โดยมีการให้เหตุผลประกอบการกระทำที่คล้อยตามเนื้อหานั้น


การเปิดโปงหน้าม้าในชุมชนออนไลน์พันทิปดอทคอม, ปองรัก เกษมสันต์ Jan 2017

การเปิดโปงหน้าม้าในชุมชนออนไลน์พันทิปดอทคอม, ปองรัก เกษมสันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปรากฏการณ์กระทู้หน้าม้า หรือกระทู้รับจ้างรีวิวสินค้าในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม โดยเลือกศึกษาเฉพาะลักษณะเด่นของกระทู้หน้าม้า กระบวนการตรวจสอบและเปิดโปงหน้าม้า รวมทั้งกระบวนการสร้างและส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองทั้งโดยผู้ใช้พันทิปและทีมงานพันทิป การศึกษาใช้การวิเคราะห์เนื้อหาจากกรณีตัวอย่าง 5 กรณีระหว่าง พ.ศ. 2556 – 2559 การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ใช้พันทิป และการสนทนากลุ่มผู้นิยมอ่านรีวิวในอินเทอร์เน็ต ผลการศึกษาพบว่า กระทู้หน้าม้าในเว็บไซต์พันทิปดอทคอมปรากฏอยู่ในสามรูปแบบหลัก ๆ ตามลักษณะการนำเสนอเนื้อหา ได้แก่ กระทู้รีวิวแบบพื้นฐานทั่วไป กระทู้สาธิตวิธีการสร้างสิ่งใหม่โดยมีสินค้าหรือบริการหนึ่ง ๆ เป็นส่วนประกอบ และกระทู้เปิดประเด็นให้เกิดบทสนทนา โดยกระทู้หน้าม้าทั้งสามรูปแบบนี้จะมีองค์ประกอบสำคัญสองประเภทคือ การสร้างความดึงดูดใจ และการสร้างความแนบเนียนให้เนื้อหาดูไม่ออกว่ามาจากหน้าม้า ในส่วนของการตรวจสอบและเปิดโปงกระทู้ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นกระทู้หน้าม้านั้น จากการศึกษาพบว่า มีกระบวนการที่เป็นขั้นตอนดังนี้คือ 1) การวิเคราะห์ความสมจริงและความสอดคล้องของคำบรรยายกับภาพประกอบ 2) การค้นคว้าข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ปรากฏในกระทู้ ทั้งที่อยู่ในเว็บไซต์พันทิปเองและเว็บไซต์อื่น และ 3) การสืบหาข้อมูลที่ไม่เคยมีการเผยแพร่มาก่อน เพื่อให้การเปิดโปงมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่า การกำกับดูแลกระทู้หน้าม้าในชุมชนออนไลน์พันทิปนั้น จะมีที่มาจากสองส่วน ได้แก่ การออกแบบเว็บไซต์ของพันทิป กับ การการลงโทษโดยสมาชิกพันทิปด้วยกัน โดยทั้งสองส่วนนี้ต่างประกอบด้วยสองแนวทางคือ กระบวนการรับมือกับปัญหาหน้าม้า และกระบวนการสื่อสารหลังเกิดปัญหาหน้าม้า


การสื่อสารความหมายใหม่ของตัวละครสำมนักขาผ่านการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย, วิรสา โรจน์วรพร Jan 2017

การสื่อสารความหมายใหม่ของตัวละครสำมนักขาผ่านการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย, วิรสา โรจน์วรพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่อง "การสื่อสารความหมายใหม่ของตัวละครสำมนักขาผ่านการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย" เป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ (Creative Research) ที่มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย 1) เพื่อศึกษาการสร้างความหมายใหม่และสร้างสรรค์ตัวละครนางสำมนักขาผ่านการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย และ 2) เพื่อศึกษาการรับรู้ความหมายใหม่ของตัวละครนางสำมนักขาผ่านการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย ผลการวิจัยพบว่า 1) การสร้างสรรค์การแสดง ฉุยฉายนางสำมนักขาร่วมสมัย สามารถนำองค์ประกอบในการแสดง "ฉุยฉาย" มาประยุกต์ใช้ผ่านกระบวนท่าทางการร่ายรำในรูปแบบนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ผนวกกับการนำทั้งบทร้องดั้งเดิมของการแสดงฉุยฉายศูรปนขา และบทเพลงสมัยนิยม มาเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเนื้อหาเรื่องราวและอารมณ์ของตัวละคร รวมถึงความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครผ่านการแสดงเดี่ยว เพื่อใช้ในการสื่อสารหมายใหม่ให้กับตัวละครนางสำมนักขา ผ่านรูปแบบการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย การจัดการแสดง "ฉุยฉายนางสำมนักขาร่วมสมัย" พบว่า ผู้ชมและผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า รูปแบบและองค์ประกอบในการแสดงสามารถสื่อสารความหมายใหม่ในความเป็นมนุษย์ให้กับตัวละครนางสำมนักขาได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ของผู้ชมเกี่ยวกับนางสำมนักขาด้วย และผู้ชมมีความรู้สึกเอื้ออาทรต่อนางสำมนักขาแตกต่างไปจากเดิม ส่วนทัศนคติของผู้ชมพบว่า รูปแบบในการจัดการแสดง เป็นส่วนที่ผู้ชมชื่นชอบมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 54.12 ผู้แสดงสามารถถ่ายทอดเนื้อเรื่องและอารมณ์ได้ในระดับ มากที่สุด (M=4.34) เนื้อหาในการแสดงมีความน่าสนใจในระดับ มาก (M=4.04) บทร้องและดนตรีมีความเหมาะสมต่อการแสดงในระดับ มาก (M=3.93) และผู้ชมมีทัศนคติต่อตัวละครนางสำมนักขาแตกต่างไปจากเดิม คิดเป็นร้อยละ 76.47


ผลของโฆษณาที่ใช้จินตภาพด้านความหลากหลายทางเพศต่อพฤติกรรมผู้บริโภค, ศรันยา หงษ์ทอง Jan 2017

ผลของโฆษณาที่ใช้จินตภาพด้านความหลากหลายทางเพศต่อพฤติกรรมผู้บริโภค, ศรันยา หงษ์ทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง แบบ 2x2 แฟคทอเรียล เพื่อศึกษาผลกระทบหลักและผลกระทบร่วมกันของ 2 ปัจจัย ได้แก่ (1) เพศผู้แสดงแบบในงานโฆษณาที่ใช้จินตภาพด้านความหลากหลายทางเพศ (เพศหญิงและเพศชาย) และ (2) ระดับจินตภาพด้านความหลากหลายทางเพศในโฆษณา (จินตภาพด้านความหลากหลายทางเพศโดยนัยและจินตภาพด้านความหลากหลายทางเพศโดยแจ้ง) ที่มีต่อพฤติกรรมผู้บริโภค อันได้แก่ อารมณ์ที่มีต่อโฆษณา การรับรู้ของผู้บริโภคด้านการเชื่อมโยงกับสังคม การรับรู้ของผู้บริโภคด้านการเห็นใจหรือเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น ทัศนคติต่อโฆษณา ทัศนคติต่อตราสินค้า ทัศนคติต่อความหลากหลายทางเพศ และความตั้งใจซื้อ โดยเก็บข้อมูลกับนิสิตและนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีอายุระหว่าง 18 - 25 ปี จำนวน 141 คน ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ผลการวิจัยพบว่า เพศผู้แสดงแบบในงานโฆษณาที่ใช้จินตภาพด้านความหลากหลายทางเพศและระดับจินตภาพด้านความหลากหลายทางเพศในโฆษณาที่แตกต่างกัน ส่งผลกระทบหลักต่อพฤติกรรมผู้บริโภคแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนั้น เพศผู้แสดงแบบในงานโฆษณาที่ใช้จินตภาพด้านความหลากหลายทางเพศและระดับจินตภาพด้านความหลากหลายทางเพศในโฆษณา ยังส่งผลกระทบร่วมกันต่อพฤติกรรมผู้บริโภคแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน


พฤติกรรมการอ่านนิยายภาพของนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม, ปภัสรา สามารถ Jan 2017

พฤติกรรมการอ่านนิยายภาพของนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม, ปภัสรา สามารถ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการอ่านนิยายภาพของนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ในด้านเหตุผลที่อ่าน วิธีการได้นิยายภาพมาอ่าน ภาษา เนื้อหา ประเภทของนิยายภาพที่อ่าน สถานที่ และเวลาที่อ่าน ใช้วิธีวิจัยเชิงสำรวจ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้าง กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6) ในปีการศึกษา 2559 ที่อ่านนิยายภาพ โดยใช้การสุ่มแบบโควตา จำนวนรวม 60 คน ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ส่วนใหญ่อ่านนิยายภาพประเภทนวนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่อง สารานุกรมความรู้วิทยาศาสตร์ ชุด Why? มากที่สุด มีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี นิยายภาพที่อ่านเป็นภาษาไทย อ่านนิยายภาพเพราะมีเนื้อหาน่าสนใจ วิธีการได้นิยายภาพมาอ่าน คือ การซื้อและการยืมจากห้องสมุดโรงเรียน สถานที่อ่าน คือ ที่บ้านและห้องสมุดโรงเรียน เวลาที่อ่านนิยายภาพ คือ ในวันที่เรียนช่วงพักกลางวัน และใช้ระยะเวลาในการอ่าน 6-10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์


ความอยู่ดีมีสุขทางด้านเศรษฐกิจของผู้สูงอายุไทย, จารุวรรณ ศรีภักดี Jan 2017

ความอยู่ดีมีสุขทางด้านเศรษฐกิจของผู้สูงอายุไทย, จารุวรรณ ศรีภักดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ความอยู่ดีมีสุขทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำทางเพศ สถานภาพสมรส และความเป็นปึกแผ่นระหว่างสมาชิกต่างรุ่นในครอบครัวของผู้สูงอายุไทย รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศ สถานภาพสมรส และความเป็นปึกแผ่นระหว่างสมาชิกต่างรุ่นในครอบครัวกับความอยู่ดีมีสุขทางด้านเศรษฐกิจของผู้สูงอายุไทย กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ตอบแบบสอบถามด้วยตนเองในโครงการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวนทั้งสิ้น 26,793 คน โดยใช้การวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติคแบบเรียงลำดับ เพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านต่างๆ กับความอยู่ดีมีสุขทางด้านเศรษฐกิจของผู้สูงอายุไทย ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุไทยมีความอยู่ดีมีสุขทางด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลาง แต่หากพิจารณาความอยู่ดีมีสุขทางด้านเศรษฐกิจ 4 มิติ พบว่า ผู้สูงอายุไทยมีความอยู่ดีมีสุขทางเศรษฐกิจด้านการดำรงชีพอยู่ในระดับที่สูงมาก มีความอยู่ดีมีสุขทางเศรษฐกิจด้านการทำงานอยู่ในระดับสูง มีความอยู่ดีมีสุขทางเศรษฐกิจด้านรายได้อยู่ในระดับปานกลาง และมีความอยู่ดีมีสุขทางเศรษฐกิจด้านทรัพย์สินและเงินออมอยู่ในระดับต่ำ โดยเมื่อควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอิสระแล้ว ผลการศึกษาได้ข้อค้นพบที่สำคัญ คือ ผู้สูงอายุเพศชายมีความอยู่ดีมีสุขทางด้านเศรษฐกิจสูงกว่าผู้สูงอายุเพศหญิง ผู้สูงอายุที่สมรสมีความอยู่ดีมีสุขทางด้านเศรษฐกิจสูงกว่าผู้สูงอายุที่เป็นโสด ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินจากบุตรตั้งแต่ 30,000 บาทต่อปีขึ้นไป มีความอยู่ดีมีสุขทางด้านเศรษฐกิจสูงกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับเงินจากบุตร และผู้สูงอายุที่มีการเยี่ยมเยียนและติดต่อกับบุตรมีความอยู่ดีมีสุขทางด้านเศรษฐกิจสูงกว่าผู้สูงอายุที่ไม่เคยเยี่ยมเยียนและติดต่อกับบุตร ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมุ่งเน้นส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัว เพราะส่วนหนึ่งของการให้การช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกันระหว่างผู้สูงอายุกับบุตรมาจากสัมพันธภาพที่ดีและแน่นแฟ้น รวมทั้งส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพในคู่สมรสที่มีความพร้อม เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคตให้กับผู้สูงอายุไทยว่าอย่างน้อยเมื่อตกอยู่ในภาวะยากลำบากยังมีครอบครัวเป็นหลักให้พึ่งพา


การวิเคราะห์ปัจจัยหลักต่อความต้องการจ้างงานประชากรวัยทำงานวัยปลาย : กรณีศึกษาสถานประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, พิมพวรรณ วิเศษศรี Jan 2017

การวิเคราะห์ปัจจัยหลักต่อความต้องการจ้างงานประชากรวัยทำงานวัยปลาย : กรณีศึกษาสถานประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, พิมพวรรณ วิเศษศรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เนื่องจากประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า ความไม่สมดุลในโครงสร้างอายุประชากรอาจส่งผลให้ขาดแคลนประชากรวัยแรงงานได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ลำดับความสำคัญของปัจจัยต่อความต้องการจ้างงานประชากรวัยทำงานวัยปลาย และเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะของสถานประกอบการ ลักษณะของผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจด้านนโยบายการจ้างแรงงานที่มีอิทธิพลต่อการให้ระดับความสำคัญต่อปัจจัยหลักที่ใช้จ้างงานประชากรวัยทำงานวัยปลาย ประชากรที่ศึกษาเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจด้านนโยบายการจ้างแรงงาน โดยใช้ข้อมูลรายชื่อบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2559 กลุ่มตัวอย่าง 614 แห่งและมีการตอบกลับแบบสอบถามจำนวน 136 แห่ง คิดเป็นระดับความเชื่อมั่นที่ 90% ผลการศึกษาพบว่าสถานประกอบการกว่าร้อยละ 70 มีการจ้างงานประชากรวัยทำงานวัยปลายแล้ว และส่วนมากให้ค่าความสำคัญกับปัจจัยต่อความต้องการจ้างงานประชากรวัยทำงานวัยปลายจากสูงที่สุดไปต่ำที่สุด คือ ด้านประสบการณ์และความชำนาญในการทำงาน ด้านภาระรับผิดชอบงาน ด้านความพร้อมของสภาพร่างกาย ด้านความสามารถของนายจ้างในการจ่ายค่าตอบแทน ด้านประสบการณ์จากการฝึกอบรมและความรู้ในงาน ด้านความพร้อมในการทำงานเต็มเวลา ด้านความสามารถการใช้คอมพิวเตอร์ ด้านการศึกษา และด้านเพศ หากแต่สถานประกอบการบางลักษณะ อาทิ กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายกลับให้ค่าความสำคัญสูงสุดในปัจจัยด้านภาระรับผิดชอบงาน สถานประกอบการที่มีจำนวนพนักงานระหว่าง 50-200 คนให้ค่าความสำคัญในปัจจัยความสามารถด้านการใช้คอมพิวเตอร์แทนปัจจัยด้านความพร้อมของสภาพร่างกาย นอกจากนี้หากพิจารณาองค์ประกอบของสถานประกอบการโดยวิธีถดถอยโลจิสติกพหุกลุ่มพบว่า ลักษณะของสถานประกอบการ ที่ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจ (ผู้ผลิต ผู้ผลิตและจำหน่าย บริการ) ทุนจดทะเบียน สถานการณ์การจ้างประชากรวัยทำงานวัยปลายในปัจจุบัน และตำแหน่งของผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจจ้างแรงงาน มีอิทธิพลต่อการพิจารณาจ้างงานในปัจจัยหลัก 4 ด้านคือ ด้านประสบการณ์และความชำนาญในการทำงาน ด้านภาระรับผิดชอบงาน ด้านสภาพร่างกาย และด้านประสบการณ์การฝึกอบรมและความรู้ในงานอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.1


ความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ, วสวัตติ์ สุติญญามณี Jan 2017

ความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ, วสวัตติ์ สุติญญามณี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ 1) เพื่อศึกษาความเป็นปึกแผ่นของประชากรต่างรุ่นในครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือรวมถึง 2) เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความเป็นปึกแผ่นของประชากรต่างรุ่นในครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ และ 3)เพื่อศึกษารูปแบบโครงสร้างและความสัมพันธ์ในครอบครัวในอนาคตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ โดยอาศัยการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณนั้นเริ่มจากการวิจัยเอกสาร นำไปสู่การวิจัยเชิงสำรวจ และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 - มิถุนายน 2559 โดยได้กลุ่มตัวอย่างจากการเก็บแบบสอบถามที่เป็นวัยแรงงาน ในครัวเรือนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง ล่าหู่ และ อาข่า ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน ทั้งสิ้นจำนวน 1,285 คนที่เป็นตัวแทนครัวเรือน และกลุ่มตัวอย่างจากการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 50 คนที่มีสถานภาพโสดที่อยู่ในวัยแรงงานช่วงอายุ18-25 ปี ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์หลายตัวแปร (Multivariate Analysis) ผสมผสานกับข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 5 ส่วนสำคัญดังนี้ 1) ระดับความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ จากมิติของความเป็นปึกแผ่นใน 4 มิติ คือ ความเป็นปึกแผ่นเชิงหน้าที่ ความเป็นปึกแผ่นเชิงความรู้สึก มิติความเป็นปึกแผ่นเชิงบรรทัดฐาน และความเป็นปึกแผ่นเชิงปฏิสัมพันธ์ร่วม พบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาเผ่าประชากรต่างรุ่นในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือโดยรวมมีระดับความเป็นปึกแผ่นมาก โดยกลุ่มชาติพันธุ์ม้งมีระดับสูงที่สุด รองลงมาคือกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ล่าหู่ และอาข่า 2) เมื่อใช้วิธีการวิเคราะห์ด้วยวิธีการถดถอยพหุคูณโลจิสติกเพื่อหาปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ พบว่าปัจจัยทางด้านทุนทางสังคม ในส่วนของ จำนวนบุตรในครอบครัว จำนวนสมาชิกในครอบครัว และลักษณะรูปแบบโครงสร้างครอบครัว ปัจจัยทางด้านความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ปัจจัยทางด้านทุนทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อปี และสถานภาพการทำงาน มีผลต่อระดับความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือโดยรวม และในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ 3) แนวโน้มโครงสร้างครอบครัวในด้านจำนวนบุตรของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือจากอดีตสู่อนาคต พบว่ามีแนวโน้มที่ลดลง 4) เมื่อใช้วิธีสมการถดถอยปัวซอง (Poisson Regression Analysis) เพื่อหาปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนบุตรในปัจจุบันและความต้องการจำนวนบุตรที่จะมีในอนาคตในครอบครัว พบว่า ปัจจัยทางด้านความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ปัจจัยทางด้านทุนทางสังคม ในส่วนของ ลักษณะรูปแบบโครงสร้างครอบครัว ปัจจัยทางด้านมิติความสัมพันธ์ระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัว ปัจจัยทางด้านทุนมนุษย์ในส่วนของระดับการศึกษา มีผลต่อจำนวนบุตรในปัจจุบันและความต้องการจำนวนบุตรที่จะมีในอนาคตในครอบครัวของกลุ่มาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือโดยรวม และในแต่ละกลุ่มชาตพันธุ์ จากนั้นผู้วิจัยจึงได้ศึกษาเชิงคุณภาพถึงสาเหตุของการมีบุตรที่ลดลงจากเดิม อันเนื่องจากแนวคิดที่ว่าหากมีบุตรจำนวนมากจะเป็นภาระในการเลี้ยงดู แต่หากอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายรุ่นเป็นครอบครัวขยายก็จะมีความคิดที่จะมีความต้องการบุตรที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสามารถแบ่งเบาในการเลี้ยงดูดูแลบุตร 5) ภาพอนาคตรูปแบบโครงสร้างและความสัมพันธ์ในครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ โดยใช้วิธีการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่าภาพอนาคตของครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือสอดคล้องกันทุกกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่ ปัจจัยด้านทุนทางสังคมที่ให้ความสำคัญกับการสมรสการสร้างครอบครัวซึ่งยังคงยึดถือปฏิบัติเป็นจารีตประเพณีที่สำคัญ รวมทั้งความต้องการในการอยู่ร่วมกันหลายรุ่นในครอบครัว ในส่วนปัจจัยความสัมพันธ์และความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ลดลง แต่ยังคงมีความเชื่อเรื่องกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาที่ยังเหนียวแน่นจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนในด้านของปัจจัยทุนมนุษย์ในอนาคตจะมีการย้ายถิ่นมากขึ้นเนื่องจากมีความต้องการในการทำงานที่มีความมั่นคงทางรายได้ …


นโยบายของญี่ปุ่นต่อโครงสร้างอำนาจใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก: ศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น, กนกวรรณ เชาวกิจ Jan 2017

นโยบายของญี่ปุ่นต่อโครงสร้างอำนาจใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก: ศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น, กนกวรรณ เชาวกิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP)​ ของญี่ปุ่น ค.ศ. 2013 โดยใช้แนวคิดการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร (Alliance) และแนวคิดการคานอำนาจ (Balance of Power) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญของการศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีสมมติฐานว่า ญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะใช้ข้อตกลง TPP เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคง เพราะการที่สหรัฐฯ สามารถคงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกผ่านนโยบายการหันความสนใจมาสู่เอเชีย (Pivot to Asia) เป็นการคานบทบาทและอิทธิพลของจีนและกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีจีนเป็นผู้ขับเคลื่อนไม่ให้มีบทบาทครอบงำในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก จากการศึกษาพบว่า ญี่ปุ่นประกาศความสนใจที่จะเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง TPP ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2010 ซึ่งรัฐบาลพรรค DPJ ต้องเผชิญกับการคัดค้านภายในประเทศและปัญหาภัยพิบัติแผ่นดินไหว ค.ศ. 2011 ทำให้ต้องเลื่อนการเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง TPP ออกไป แต่ในสมัยรัฐบาลพรรค LDP สามารถผลักดันข้อตกลง TPP และโน้มน้าวประชาชนให้เห็นด้วยกับข้อตกลง TPP จนสามารถประกาศให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมข้อตกลง TPP อย่างเป็นทางการได้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทั้งนี้พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องการเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลง TPP เนื่องด้วยญี่ปุ่นต้องการใช้ข้อตกลง TPP เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยแสดงให้เห็นว่าระบบพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังคงมีความเข้มแข็งอยู่ โดยข้อตกลง TPP ช่วยสนับสนุนนโยบายการหันความสนใจมาสู่เอเชีย (Pivot to Asia) เพื่อให้สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทในภูมิภาคต่อไป เพื่อสกัดกั้นการขยายบทบาทและอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP แต่ญี่ปุ่นยังคงผลักดันข้อตกลง TPP ในฐานะเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของตนต่อไป


ประสบการณ์ทางจิตใจในระยะแรกของพ่อแม่หลังจากลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ, เพิ่มพูน สานิชวรรณกุล Jan 2017

ประสบการณ์ทางจิตใจในระยะแรกของพ่อแม่หลังจากลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ, เพิ่มพูน สานิชวรรณกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจในระยะแรกของพ่อแม่หลังจากลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ผู้ให้ข้อมูลในงานวิจัยครั้งนี้ คือ พ่อแม่ที่ลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษจากกุมารแพทย์สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จำนวน 7 ราย คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจนข้อมูลอิ่มตัว และวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวการวิจัยคุณภาพเชิงปรากฏการณ์วิทยา ผลการวิจัยพบ 3 ประเด็นหลักคือ (1) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ ได้แก่ การมีปัญหาในการเลี้ยงดูลูก การสังเกตและการรับรู้ความผิดปกติของบุคคลรอบข้าง และทรัพยากรในการรักษา (2) การรับรู้ผลการวินิจฉัย ได้แก่ ข้อมูลที่ได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ ความไม่อยากยอมรับผลการวินิจฉัย และการยอมรับผลการวินิจฉัยและความพร้อมที่จะดูแลลูก (3) กระบวนการปรับตัวและการก้าวข้ามผ่านอุปสรรค ได้แก่ ความยากลำบากของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กำลังใจจากครอบครัว การสนับสนุนจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ แรงบันดาลใจจากพ่อแม่คนอื่น และความมุ่งมั่นตั้งใจในการดูแลลูก


ประสบการณ์ทางจิตใจของนักกีฬาคนพิการที่มีความมั่นหมาย, จิราวัฒน์ เหลาสุภาพ Jan 2017

ประสบการณ์ทางจิตใจของนักกีฬาคนพิการที่มีความมั่นหมาย, จิราวัฒน์ เหลาสุภาพ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของนักกีฬาคนพิการที่มีความมั่นหมาย โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาในการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลเป็นนักกีฬาคนพิการจำนวน 8 ราย คัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนดและเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ต้นธารของความสำเร็จ ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย คือ ความมุ่งมั่นทำสิ่งดีให้ครอบครัว ความรักในสิ่งที่ทำ เกียรติของการได้ทำเพื่อประเทศ และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน (2) ปัจจัยเกื้อหนุนในการฝ่าฟันอุปสรรค ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย คือ กำลังใจจากครอบครัวช่วยให้มีแรงฝ่าฟันอุปสรรค การช่วยเหลือเกื้อกูลของทีมนักกีฬา การมีมุมมองที่เอื้อต่อการแก้ปัญหา และการมีความมานะอดทนต่ออุปสรรค (3) พลังฃขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย คือ ตระหนักถึงความยากลำบากของคนพิการ และต้องการมีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลให้ชีวิตคนพิการดีขึ้น และ (4) ภาวะจิตใจของความสำเร็จ ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย คือ ภาวะจิตใจในฐานะปัจเจก และภาวะจิตใจในฐานะนักกีฬา มีการอภิปรายถึงแนวทางการนำไปใช้สำหรับนักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้ที่ทำงานกับนักกีฬาคนพิการ


ผลของการยืนยันตนเองต่อการลดสภาวะวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ : อิทธิพลกำกับของคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะและการเห็นคุณค่าในตนเอง, ธนิกานต์ มณีขาว Jan 2017

ผลของการยืนยันตนเองต่อการลดสภาวะวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ : อิทธิพลกำกับของคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะและการเห็นคุณค่าในตนเอง, ธนิกานต์ มณีขาว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการลดสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะด้วยทฤษฎีการยืนยันตนเอง โดยใช้วิธีที่หลากหลายในการวัดสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ ได้แก่ การรายงานตนเอง ความแปรปรวนอัตราการเต้นหัวใจ และการนำไฟฟ้าที่ผิวหนัง และยังศึกษาอิทธิพลกำกับของคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะและการเห็นคุณค่าในตนเอง โดยมีกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี ชั้นปี 1-4 ช่วงอายุ 18-23 ปี จำนวน 90 คน ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม และกลุ่มยืนยันตนเอง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป เครื่องมือวัดคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ สภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ การเห็นคุณค่าในตนเอง ศักดิ์ศรีในตนเอง เครื่องมือวัดความแปรปรวนอัตราการเต้นหัวใจและการนำไฟฟ้าที่ผิวหนัง ผลการวิเคราะห์เส้นทาง (path analysis) ด้วยโปรแกรม LISREL พบว่าโมเดลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองและคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะเป็นตัวแปรกำกับระหว่างการยืนยันตนเองและสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในเกณฑ์ดี (x2 = 6.71, p = 0.67, df = 9, x2/df = 0.75, GFI = 0.99, AGFI = 0.89, CFI = 1.00, RMSEA = 0.00, RMR = 0.50) การยืนยันตนเองมีอิทธิพลทางลบต่อการนำไฟฟ้าที่ผิวหนังอย่างมีนัยสำคัญ (B = -0.21, p < .01) และพบว่าการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นตัวแปรกำกับผลของการยืนยันตนเองต่อสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะที่วัดด้วยความแปรปรวนอัตราการเต้นหัวใจ โดยอิทธิพลดังกล่าวจะสูงในคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ แต่ไม่พบอิทธิพลกำกับของคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ


การพัฒนามาตรวัดการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรี, ธนพงศ์ อุทยารัตน์ Jan 2017

การพัฒนามาตรวัดการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรี, ธนพงศ์ อุทยารัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องการคิดแก้ปัญหาของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรม 2) เพื่อพัฒนามาตรวัดการคิดแก้ปัญหาของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรมที่มีคุณลักษณะทางจิตมิติที่พึงประสงค์ 3) เพื่อศึกษาเกณฑ์ปกติของมาตรวัดการคิดแก้ปัญหาของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรม โดยใช้รูปแบบการวิจัยผสานวิธี โดยผู้วิจัยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องความการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมของนิสิตนักศึกษา ผ่านการคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลอย่างเฉพาะเจาะจง 15 ราย และ ระยะที่ 2 การศึกษาวิจัยเชิงปริมาณเพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพมาตรการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมของนิสิตนักศึกษา และพัฒนาเกณฑ์ปกติของมาตรวัดในกลุ่มนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 930 คน จาก 15 มหาวิทยาลัยซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอนจาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ผลการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่ากรอบมโนทัศน์การคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมของนิสิตนักศึกษาประกอบด้วย 4 ประเด็นหลักคือ (1) การรับรู้และทำความเข้าใจความทุกข์ (2) ใคร่ครวญจนรู้ชัดถึงสาเหตุของความทุกข์ (3) การลงมือจัดการความทุกข์ และ (4) ตรวจสอบว่าได้จัดการความทุกข์แล้ว ผลการพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของมาตรวัดพบว่า มีความตรงตามเนื้อหาจากการตรวจสอบของผู้ทรงคุณวุฒิ มีความตรงตามเกณฑ์สัมพันธ์กับแบบวัดปัญญา (r = .356) มาตรวัดความสุขของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรม (r = .434) มาตรวัดสุขภาวะทางจิตแบบสั้นด้านความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อม (r = .386) แบบวัดภาวะซึมเศร้า (r = -.269) แบบวัดความวิตกกังวล (r = -.332) ไม่พบความตรงตามเกณฑ์สัมพันธ์กับแบบวัดการหมกมุ่นครุ่นคิด (r = -.110) มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐานจากการเปรียบเทียบด้วยกลุ่มรู้ชัด (t = 2.05, p < .05) และโมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่หนึ่ง (χ2 = 1296.692, df = 659, p < .001, χ2/df = 1.967, GFI = .935, RMSEA = .0323, SRMR = .0304, CFI = .995, AGFI = .915) มีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .963 ผลในการพัฒนาเกณฑ์ปกติในรูปแบบคะแนนทีปกติอยู่ในช่วง T14.35 - T74.17 ผลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ทำให้ได้เครื่องมือสำหรับสำรวจ คัดกรอง และประเมินการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย ตลอดจนสามาถนำกรอบมโนทัศน์ที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมสำหรับนิสิตนักศึกษาสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านจิตใจแก่นิสิตนักศึกษาต่อไป


การกลับใจของผู้พ้นโทษผ่านทางการใช้ชีวิตในบ้านกึ่งวิถีแนวคริสต์ : ศึกษากรณีบ้านกึ่งวิถีบ้านพระพรของมูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน, ทิวาพร เดชมณี Jan 2017

การกลับใจของผู้พ้นโทษผ่านทางการใช้ชีวิตในบ้านกึ่งวิถีแนวคริสต์ : ศึกษากรณีบ้านกึ่งวิถีบ้านพระพรของมูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน, ทิวาพร เดชมณี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่องการกลับใจของผู้พ้นโทษในบ้านกึ่งวิถีแนวคริสต์ ศึกษากรณีบ้านกึ่งวิถีบ้านพระพร ของมูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดและรูปแบบการดำเนินกระบวนการของบ้านกึ่งวิถีบ้านพระพร กระบวนการกลับใจที่เกิดขึ้นกับผู้พ้นโทษที่สมัครใจเข้าร่วมในบ้านกึ่งวิถีบ้านพระพร และแนวทางในการพัฒนาบทบาทของภาคประชาสังคมในรูปแบบของบ้านกึ่งวิถี ที่นำเอาหลักคำสอนในพระคริสตธรรมคัมภีร์มาปรับใช้ช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่มีความแตกต่างหลากหลายให้กลับสู่สังคม โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่ออธิบายประสบการณ์การกลับใจของผู้พ้นโทษและการดำเนินการในบ้านกึ่งวิถีแนวคริสต์ ผลการวิจัยพบว่า (1) การดำเนินงานของบ้านพระพรมีการดูแลสมาชิกอย่างเป็นระบบ กิจกรรมต่างๆส่งเสริมระเบียบวินัยและความรับผิดชอบของสมาชิก ดูแลปัจจัยพื้นฐาน ฝึกอาชีพเสริม และมีชั้นเรียนเพื่อพัฒนาความรู้ทางพระคัมภีร์ นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการจัดการกับอารมณ์และพฤติกรรมติดตัวของสมาชิกให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีคริสตจักรพระพรเป็นศูนย์กลางประสานงานกับผู้พ้นโทษและเป็นสถานที่ที่สมาชิกเก่าและใหม่สามารถกลับมารวมตัวกันได้ ซึ่งทำให้เกิดพันธะทางสังคมที่ต่อเนื่องช่วยในการสอดส่องดูแลพฤติกรรมอย่างไม่เป็นทางการเมื่อกลับสู่สังคม (2) กระบวนการกลับใจของสมาชิกในบ้านพระพร พบว่าสมาชิกมีการเปลี่ยนแปลงในจิตใจคือตัดสินใจที่จะละทิ้งการกระทำผิดและตั้งใจดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์เริ่มตั้งแต่ในเรือนจำ และมีสมาชิกบางคนเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้เมื่อได้รับการฝึกฝนในบ้านพระพรแล้ว การเปลี่ยนแปลงเกิดทั้งด้านพฤติกรรม ด้านอัตมโนทัศน์ และด้านจิตวิญญาณส่งผลให้สมาชิกมีมุมมองใหม่ต่อตนเองและผู้อื่นในทางที่ดีขึ้น ช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) จากเรือนจำไปสู่สังคมภายนอกได้อย่างเข้มแข็ง (3) ควรมีการขยายแนวคิดในการส่งต่อผู้พ้นโทษจากเรือนจำไปอยู่ในการดูแลของคริสตจักรหรือให้หน่วยงานภาคเอกชนอื่นๆ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาแบบครบวงจรโดยอาจพ่วงมิติของศาสนาอันจะส่งผลให้เกิดการช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น


ทายาทความรุนแรง : แนวคิดการประกอบสร้างทางสังคมต่อการจัดการประสบการณ์ความรุนแรง, นญา พราหมหันต์ Jan 2017

ทายาทความรุนแรง : แนวคิดการประกอบสร้างทางสังคมต่อการจัดการประสบการณ์ความรุนแรง, นญา พราหมหันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องทายาทความรุนแรง: แนวคิดการประกอบสร้างทางสังคมต่อการจัดการประสบการณ์ความรุนแรง เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) เป็นเครื่องมือหลักในการรวบรวมข้อมูล ศึกษาวิจัยผ่านเรื่องเล่า (narrative) ของผู้หญิงอายุระหว่าง 20 - 60 ปี จำนวน 5 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มาจากพื้นฐานครอบครัวตั้งต้นที่รุนแรงหรือมีประสบการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นช่วงก่อนอายุ 20 ปีบริบูรณ์ จากการศึกษาวิจัย มีข้อค้นพบดังต่อไปนี้ 1) กรอบแนวคิดทายาทความรุนแรง อธิบายปัจเจกบุคคลที่มีประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับ "พิษ" "ความรุนแรง" หรือ "ผลกระทบในเชิงลบ"อันเนื่องมาจากประสบการณ์ดังกล่าว ซึ่งอาจสะท้อนผ่านทัศนคติที่รุนแรง อารมณ์ที่รุนแรง จนอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่รุนแรงต่าง ๆ ต่อไปได้ 2) แนวคิดการประกอบสร้างทางสังคมเป็นการอธิบายกลไกทางสังคม 4 ระดับ ประกอบด้วย ความรุนแรงที่แฝงอยู่ในระดับความคิดความเชื่อหรือวัฒนธรรมที่รุนแรง (Toxic Root) สภาพแวดล้อมทางสังคมที่รุนแรง (Toxic Environment) ความสัมพันธ์ที่รุนแรง (Toxic Relationships) และปัจเจกบุคคลในฐานะทายาทความรุนแรง (Toxic Fruits) ซึ่งทั้งหมดถือเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญทำให้ความรุนแรงในฐานะโครงสร้างทางสังคมสามารถถูกสืบทอดและถ่ายทอดมาอย่างยาวนานรุ่นแล้วรุ่นเล่า 3) ทายาทความรุนแรงสามารถเลือกจัดการกับประสบการณ์ความรุนแรงได้ 2 แนวทาง ได้แก่ การจัดการด้วยวิถีทางที่รุนแรงและการจัดการด้วยวิถีทางที่ไม่รุนแรง (4) ปัจเจกบุคคลที่เติบโตมาจากพื้นฐานครอบครัวตั้งต้นที่รุนแรงมีแนวโน้มที่จะสืบทอดหรือผลิตซ้ำความรุนแรงต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลนั้นก็สามารถเสริมสร้างพลังแห่งตนและเรียนรู้ที่จะจัดการประสบการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นด้วยวิถีทางที่ไม่รุนแรงได้เช่นกัน 5) ในการยุติวงจรความรุนแรงในครอบครัว จำเป็นต้องอาศัย 2 พลังสำคัญ ทั้งพลังภายในของปัจเจกบุคคลเองและพลังภายนอกจากสังคมทุกภาคส่วนที่จะเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวร่วมกัน เพราะฉะนั้นการเสริมสร้างพลังแห่งตนจึงต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการเสริมสร้างพลังทางสังคมเพื่อยุติโครงสร้างความรุนแรง โดยสรุป เนื่องจากมนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผลผลิตจากการประกอบสร้างทางสังคมเท่านั้น แต่มนุษย์เสมือนผลผลิตทางสังคมซึ่งมาพร้อมกับเมล็ดพันธุ์ที่ทรงพลัง ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตนเองและมีความสามารถในการสร้างสรรค์สังคมไปในวิถีทางที่ดีขึ้นต่อไปได้


ระดับค่าจ้างที่แตกต่างกันในพื้นที่ความหนาแน่นกรุงเทพมหานครผ่านเว็บไซต์หางานออนไลน์, จุมพล กูลโท Jan 2017

ระดับค่าจ้างที่แตกต่างกันในพื้นที่ความหนาแน่นกรุงเทพมหานครผ่านเว็บไซต์หางานออนไลน์, จุมพล กูลโท

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แนวคิดเศรษฐศาสตร์จุลภาคเชื่อว่าศักยภาพของพื้นที่จะส่งผลโดยตรงกับค่าแรงของแรงงานในพื้นที่ด้วย การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ1) แสดงให้เห็นการเกิดขึ้นของ Intra-Urban Wage Premium ในแต่ละย่านของกรุงเทพมหานคร 2) ศึกษาลักษณะของเมืองว่าเอื้อต่อการเกิด Intra-Urban Wage Premium และ 3) ศึกษาผลกระทบกับประสบการณ์ทำงานที่เกิดจากการทำงานในย่านพื้นที่ต่างๆ โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการนำข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้งานในเว็บไซต์หางานออนไลน์ การวิเคราะห์จะต่อยอดด้วยการนำชื่อบริษัทจากประวัติงานของผู้ใช้บริการมาค้นหาตำแหน่งพิกัดสถานที่ผ่าน Google Map เพื่อ 1) ระบุย่านพื้นที่ของสถานที่ตั้งบริษัท โดยผู้วิจัยทำการแบ่งย่านเมืองทั้งสิ้น 8 เขตเมือง ตามความหนาแน่นของการจ้างงานและระดับเงินเดือนของปี 2558 (49,730 ตำแหน่งงาน) และ 2) เพื่อระบุลักษณะของเมือง (Urban Characters) ที่บริษัทตั้งอยู่ ผ่านฐานข้อมูล GoodWalk Score โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลือกใช้ตัวแบบ Mincer's Equation ในการวิเคราะห์ผู้ที่ตัดสินใจเปลี่ยนงานใหม่ในปี พ.ศ. 2559 (3,652 ราย) ผลการศึกษาพบว่า 1) การเกิดขึ้นของ Intra-Urban Wage Premium จะมีความเข้มข้นสูงในย่านสีลม-สาทร และอโศก-เพชรบุรี มากตามลำดับ 2) ลักษณะเมืองที่เอื้อให้การเข้าถึงพื้นที่ด้วยการเดินเท้า (GoodWalk Score) จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มขึ้นของระดับค่าจ้างโดยเฉลี่ยภายในพื้นที่ อีกทั้ง 3) ประสบการณ์ของแรงงานที่เคยทำงานในเขตที่มีความเข้มข้นของการเป็นเมืองสูงจะช่วยให้ได้รับ Intra-Urban Wage Premium จากการเข้าทำงานใหม่สูงสอดคล้องกัน


บทบาทการพัฒนาทางการเงินและความยากง่ายในการประกอบธุรกิจต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่, ปิยาพัชร ล้อจรัสศรีวงษ์ Jan 2017

บทบาทการพัฒนาทางการเงินและความยากง่ายในการประกอบธุรกิจต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่, ปิยาพัชร ล้อจรัสศรีวงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทการพัฒนาทางการเงินและความยากง่ายในการประกอบธุรกิจต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่ โดยพิจารณาบทบาทการพัฒนาทางการเงินทั้งในด้านความลึก การเข้าถึง และความมีประสิทธิภาพของสถาบันการเงินและความยากง่ายในการประกอบธุรกิจด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การเริ่มต้นธุรกิจ การจดทะเบียนทรัพย์สิน การคุ้มครองผู้ลงทุน และการชำระภาษี โดยศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา 8 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศมาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ และปากีสถาน ใช้ข้อมูลภาคตัดขวางร่วมกับข้อมูลอนุกรมเวลา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002-2014 ประยุกต์กับแบบจำลอง Panel Regression Method Models ด้วยวิธี Fixed-Effects ผลการศึกษาพบว่า การเข้าถึงสถาบันการเงิน ความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจ การคุ้มครองผู้ลงทุนและอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวมีผลทางบวก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงมีผลทางลบต่อจำนวนการจดทะเบียนประกอบธุรกิจใหม่ในประเทศอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่าความลึกและประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน ความสะดวกในการจดทะเบียนทรัพย์สิน การชำระภาษี มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และสัดส่วนการออมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมีความสัมพันธ์กับจำนวนการจดทะเบียนประกอบธุรกิจใหม่ในประเทศอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ


ผลกระทบของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อระบบเศรษฐกิจไทย: ศึกษาโดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตระหว่างภาค, อาทิตย์ ว่องวิกย์การ Jan 2017

ผลกระทบของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อระบบเศรษฐกิจไทย: ศึกษาโดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตระหว่างภาค, อาทิตย์ ว่องวิกย์การ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่อระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยประยุกต์ใช้แบบจำลองปัจจัยการผลิตและผลผลิตระหว่างภาคของประเทศเป็นเครื่องมือในการศึกษาด้วยวิธี Multiplier Decomposition Analysis การศึกษาผลกระทบจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะถูกจำแนกออกเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาค ผลกระทบระหว่างภาค และผลกระทบย้อนกลับระหว่างภาค นอกจากนี้การศึกษานี้ยังประยุกต์ใช้แบบจำลองที่สร้างขึ้นเพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบผลกระทบของโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือผ่านการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่อระบบเศรษฐกิจในเชิงภูมิภาค ผลการศึกษาผลกระทบของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติชี้ให้เห็นว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออกขายผลผลิตไปยังภูมิภาคอื่นๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า การท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ ต้องพึ่งพาผลผลิตจากภูมิภาคทั้งสองในระดับสูงโดยเปรียบเทียบ ทั้งนี้รัฐบาลควรดำเนินนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออกให้ใช้วัตถุดิบจากภูมิภาคอื่นๆ มากขึ้นเพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวในส่วนกลางไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในขณะที่ภาคกลางแสดงบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญของประเทศไปสู่การบริโภคขั้นสุดท้ายในภูมิภาคอื่นๆ กรณีศึกษาจากสถานการณ์จำลองพบว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือส่งผลกระทบต่อมูลค่าผลผลิตในระบบเศรษฐกิจมากกว่ารถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากผลกระทบระหว่างภาคของทั้งสองโครงการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญซึ่งปัจจัยหนึ่งเกิดจากความยาวของเส้นทางที่พาดผ่านภาคกลางที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการประเมินผลกระทบของโครงการลงทุนใดๆ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับผลกระทบระหว่างภาคเนื่องจากเป็นส่วนที่สะท้อนถึงการกระจายผลกระทบไปยังภูมิภาคต่างๆ


ผลกระทบของนโยบายประชานิยมแบบทักษิณต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย, ภัทร หวังกิตติกุล Jan 2017

ผลกระทบของนโยบายประชานิยมแบบทักษิณต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย, ภัทร หวังกิตติกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้เป็นการนำเสนอเนื้อหาเรื่อง "ผลกระทบของนโยบายประชานิยมแบบทักษิณที่มีต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย" โดยใช้การเก็บรวบรวมข้อมูล 2 รูปแบบคือ รูปแบบเอกสาร และ รูปแบบการสัมภาษณ์ ก่อนจะนำมาตรวจสอบ วิเคราะห์ และอธิบายเป็นผลการวิจัยของวิทยานิพนธ์นี้ ผลจากการวิจัยได้พบว่า นโยบายประชานิยมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนชนชั้นกลางกับกลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าด้วยเหตุผล 2 ประการคือ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจในอดีต และ ความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร อันนำไปสู่การแบ่งแยกกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบาย (กลุ่มคนชนชั้นรากหญ้า) และฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย (กลุ่มคนชนชั้นกลาง) ทว่าด้วยสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยที่กลุ่มคนทั้งสองกลุ่มมีจำนวนที่แตกต่างกันมาก กลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าซี่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมจึงสามารถใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการปกป้องนโยบายประชานิยมที่พวกตนได้รับผลประโยชน์เอาไว้ ในขณะที่กลุ่มคนชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยและได้รับผลกระทบจากนโยบายประชานิยมมิอาจใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับกลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าได้ กลุ่มคนชนชั้นกลางจึงหันไปร่วมมือกับกลุ่มอำนาจนอกระบบ เช่น ทหาร ในการเข้ามายึดอำนาจการปกครองอันส่งผลให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยสิ้นสุดลง สรุปผลการวิจัย นโยบายประชานิยมทำให้อำนาจทางการเมืองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตกอยู่ในมือของกลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าเพียงกลุ่มเดียวอย่างเด็ดขาด กลุ่มคนชนชั้นกลางซึ่งสูญเสียอำนาจทางการเมืองจึงตัดสินใจล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยลงด้วยการรัฐประหารใน พ.ศ.2557


การปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, หฤทัย จงวัฒนบัณฑิตย์ Jan 2017

การปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, หฤทัย จงวัฒนบัณฑิตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีจุดม่งหมายในการค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติ และท่าทีต่อปัจจัยดังกล่าวของรัฐบาลในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การศึกษาครั้งนี้ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีวิจัยเอกสารทางวิชาการ งานวิจัยต่างๆ และคำแถลงการณ์ของคณะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านทางนายกรัฐมนตรีหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยผลักดันที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ภายในประเทศ แรงงานข้ามชาติมีส่วนให้เกิดปัญหาอาชญากรรม การค้ายาเสพติด และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ส่วนภายนอกประเทศ เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการบังคับใช้แรงงานเด็ก บังคับหญิงค้าประเวณี การใช้แรงงานทาสอันเชื่อมโยงไปสู่การค้ามนุษย์ ทำให้ถูกเพ่งเล็งโจมตี และได้รับแรงกดดันอย่างมากจากต่างชาติและองค์การระหว่างประเทศ จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ท่าทีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยรัฐประหาร มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีความคล่องตัวในการใช้อำนาจได้อย่างรวดเร็วในการแก้ปัญหา จึงให้ความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติเป็นวาระเร่งด่วน อันนำไปสู่วาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นการลดแรงกดดัน ทั้งจากภายในและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากต่างประเทศ เพื่อสร้างการยอมรับในเรื่องการใช้อำนาจ พร้อมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบบรรยากาศการค้าและการลงทุน ภายหลังการดำเนินงานตามนโยบายแรงงานข้ามชาติที่ปรับเปลี่ยนโดยรัฐบาลนี้ ทำให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ในปี 2559 ดีขึ้น ได้รับการเลื่อนอันดับอยู่ Tier 2 Watch List