Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Articles 1 - 30 of 316

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

ข้อถกเถียงทางการเมืองในประเด็นการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในแคนาดา, ธันยธรณ์ วัลไพจิตร Jan 2019

ข้อถกเถียงทางการเมืองในประเด็นการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในแคนาดา, ธันยธรณ์ วัลไพจิตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันสังคมโลกเริ่มตื่นตัวในเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมตามแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกันมากขึ้นในหลายประเด็น สิทธิความเท่าเทียมกันในเรื่องของการแต่งงานเป็นหนึ่งประเด็นที่หลายประเทศที่เป็นประเทศเสรีนิยมให้ความสนใจ ซึ่งตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาการแต่งงานของคนเพศเดียวกันกลายเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมใหม่ที่เป็นแนวโน้มระหว่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศฝั่งตะวันตก ซึ่งการที่จะสามารถแต่งงานกันได้นั้นจะต้องได้มีกฎหมายที่เอื้อให้บุคคคลกลุ่มนี้สามารถแต่งงานได้ ประเทศแคนาดาเป็นประเทศที่เปิดเสรีและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นเป็นประเทศแรก ๆ ในเวทีระหว่างประเทศที่มีการอนุญาตให้บุคคลที่มีเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ ซึ่งมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการแต่งงานที่ให้คำจำกัดความของคำว่าการแต่งงานจากที่ระบุว่า “ผู้ชาย” และ “ผู้หญิง” กลายเป็น “บุคคลสองคน” แทน อย่างไรก็ดีกระบวนการในการแก้ไขข้อกฎหมายล้วนแล้วต้องผ่านการพิจารณาซึ่งต้องมีผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบและทั้งในรัฐสภาและในภาคประชาสังคม ความท้าทายเหล่านี้นำไปสู่ข้อถกเถียงทางการเมืองในประเด็นดังกล่าว สารนิพนธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาถึงประเด็นการถกเถียงกันในเรื่องความเท่าเทียมกันของการแต่งงานโดยศึกษาในเรื่องของการตีความสิทธิมนุษยชนที่เป็นภาษาด้านศีลธรรมระหว่างประเทศผ่านมุมมองเรื่องสิทธิของกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันของแคนาดา และเพื่อศึกษาถึงหลักหรือแนวคิดของการถกเถียงระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานระหว่างผู้ที่มีเพศเดียวกัน โดยในการศึกษาได้นำกรอบแนวคิดทางสิทธิมนุษยชนที่สิทธิมนุษยชนถูกตีความได้ในหลายแง่มุมมองของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มคน มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ถึงข้อถกเถียงของกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มผู้ที่ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน สารนิพนธ์ฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ที่มุ่งประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศในเรื่องการแต่งงาน โดยเฉพาะการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันคือกลุ่ม LGBT โดยศึกษาจากมุมมองของตัวแทนของทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และนำมาวิเคราะห์และอธิบายเชิงพรรณนา การศึกษาค้นคว้าสารนิพนธ์ฉบับนี้ได้ศึกษาจากเอกสารในรูปแบบทุติยภูมิ ได้แก่ เอกสารที่เกี่ยวกับกฎหมายการแต่งงานของแคนาดา หนังสือ บทความทางวิชาการ เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับแคนาดาที่มีรัฐบาลแคนาดาสนับสนุน เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษา จากการศึกษาพบว่า ประการแรก การถกเถียงในเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอยู่ในประเด็นเรื่องสิทธิและฐานความคิดของตัวแสดงทั้งในรัฐสภาและประชาสังคมนั้นกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้ที่ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องของการมองและตีความสิทธิที่แต่กต่างกัน ผู้ที่สนับสนุนในรัฐสภาคือพรรคเสรีนิยม ส่วนภาคประชาสังคมได้แก่ ผู้ที่เรียกร้องสิทธิการแต่งงานคือคู่รักร่วมเพศ และโบสถ์ในชุมชนเมืองโตรอนโตโดยใช้ภาษาสิทธิมนุษยชนว่าเป็นเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคล ส่วนผู้ที่ต่อต้านในรัฐสภาคือพรรคเสรีนิยมและในภาคประชาสังคมคือสมาคมเพื่อการแต่งงานและครอบครัวเมืองออนแทรีโอ โดยใช้ภาษาทางสิทธิมนุษยชนว่าเป็นเรื่องของสิทธิครอบครัวที่ควรสงวนการแต่งงานให้เฉพาะผู้หญิงและผู้ชายเท่านั้นเพราะครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม รวมถึงสิทธิเด็กที่ควรจะได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาที่เป็นเพศชายและหญิงด้วย ประการที่สอง รัฐบาลพยายามผลักดันให้ผู้ที่มีเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ เพราะรัฐบาลต้องการที่จะเข้ามามีบทบาทเพื่อจัดระเบียบพฤติกรรมของกลุ่ม LGBT ให้อยู่ภายใต้บรรทัดฐานการรักร่วมเพศ หรือ Homonormativity ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้กลุ่ม LGBT เป็นคนปกติที่จะสามารถแต่งงานกันโดยการรับการรับรองของกฎหมายที่ผู้ที่เป็นกลุ่ม LGBT ที่ต้องการที่จะแต่งงานจึงจำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของรัฐบาล ประการสุดท้าย ตัวแสดงในรัฐสภาและภาคประชาสังคมถึงแม้ว่าจะมีแนวคิดส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่ในระดับปัจเจกบุคคลล้วนแล้วแต่มีมุมมองทางสิทธิมนุษยชนและใช้ภาษาทางสิทธิมนายชนตามมุมมองของตนเองได้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มเสรีนิยมเพียงฝ่ายเดียวแต่กลายมาเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมืองโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมในยุคปัจจุบันเช่นกัน


แนวทางการขยายอิทธิพลของจีน : กรณีศึกษาธนาคารการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank), ตนุภัทร อักษรทอง Jan 2019

แนวทางการขยายอิทธิพลของจีน : กรณีศึกษาธนาคารการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank), ตนุภัทร อักษรทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการขยายอิทธิพลและบทบาทการนําของจีนในเวทีระหว่าง ประเทศในการก่อตั้งธนาคารการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank - AIIB) โดยพิจารณาผ่านคําอธิบายในทฤษฎีสัจนิยมใหม่ (neorealism) ของเคนเน็ธ เอ็น วอลทซ์ (Kenneth N. Waltz) สารนิพนธ์มีข้อเสนอว่า รัฐที่เปลี่ยนสถานะก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมหาอํานาจจะหาทางขยายอิทธิพลระหว่างประเทศออกไป โดยแนวทางหนึ่งที่สําคัญได้แก่การสร้างกลไกเชิงสถาบันเพื่อรองรับการตอบสนองผลประโยชน์ของตนได้มากขึ้น วอลทซ์อธิบายว่าโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศจะผลักดันรัฐต่างๆ ที่สัมพันธ์กันอยู่ในระบบด้วยกระบวนการอบรมกล่อมเกลา (socialization) ส่งผลให้รัฐนั้นเรียนรู้และเลียนแบบจากตัวแบบความสําเร็จของรัฐที่เป็นมหาอํานาจอยู่ก่อนแล้ว ทั้งแนวทางการขยายอิทธิพลและการสร้างกลไกเชิงสถาบันในลักษณะเดียวกันขึ้นมา สารนิพนธ์มีข้อค้นพบสอดคล้องกับข้อเสนอในทฤษฎีของ Waltz ข้างต้นว่า การจัดตั้งธนาคาร AIIB ของจีน เป็นแนวทางที่จีนใช้ขยายอิทธิพลระหว่างประเทศ โดยใช้ธนาคาร AIIB เป็นกลไกสร้างบทบาทการนําในเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระดมและประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศอื่น และออกแบบโครงสร้างการบริหารธนาคารที่ทําให้จีนมีอํานาจควบคุมทิศทางการดําเนินงานของ AIIB ใกล้เคียงกับตัวแบบธนาคารโลกที่สหรัฐอเมริกาเคยทําสําเร็จมาแล้ว อย่างไรก็ดี สารนิพนธ์พบข้อจํากัดในคําอธิบายของ Waltz เช่นกัน นั่นคือทฤษฎีของ Waltz เป็นทฤษฎีระดับโครงสร้างระหว่างประเทศ ไม่ได้ให้ความสําคัญแก่ลักษณะของการเมือง การปกครองภายใน รวมทั้ง ค่านิยม อุดมการณ์ ซึ่งปัจจัย ภายในเหล่านี้จะเป็นตัวจํากัดว่าการเลียนแบบจากตัวแบบความสําเร็จที่ประเทศหนึ่งทําไว้ ประเทศที่เลียนแบบไม่สามารถ ถอดแบบออกมาให้เหมือนกันได้ทั้งหมด แม้ว่าธนาคาร AIIB จัดโครงสร้างการบริหารองค์กรใกล้เคียงกับธนาคารโลกอย่างมาก แต่เป้าหมายและแนวทางการดําเนินงานของ AIIB กับของธนาคารโลกไม่เหมือนกัน และสารนิพนธ์ได้ข้อสรุปว่า ลักษณะการเมืองภายในของมหาอํานาจมีความสัมพันธ์กับแนวทางของรัฐในการขยายอิทธิพล


นาฏดุริยางคศิลป์สร้างชาติ: การยินยอมและการต่อรองนิยามความเป็นไทยและนโยบายวัฒนธรรมของข้าราชการสำนักการสังคีต, ปิยาภา สังขทับทิมสังข Jan 2019

นาฏดุริยางคศิลป์สร้างชาติ: การยินยอมและการต่อรองนิยามความเป็นไทยและนโยบายวัฒนธรรมของข้าราชการสำนักการสังคีต, ปิยาภา สังขทับทิมสังข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการตอบคำถามที่ว่า ข้าราชการสำนักการสังคีตมีกระบวนการยอมรับและต่อรองกับนิยามความเป็นไทยและนโยบายวัฒนธรรมของรัฐอย่างไร มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษานโยบายวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความเป็นไทยของรัฐผ่านสำนักการสังคีต (2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างนิยามความเป็นไทยของรัฐ กับอัตลักษณ์องค์กรของสำนักการสังคีตและอัตลักษณ์ส่วนบุคคลของข้าราชการสำนักการสังคีต (3) เพื่อวิเคราะห์กระบวนการทำงาน การเข้าใจตัวตน และแรงจูงใจของข้าราชการสำนักการสังคีต ในแง่ของการยินยอม และการต่อรองนิยามความเป็นไทยของรัฐ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก แบบกึ่งโครงสร้างกับข้าราชการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตั้งแต่ระดับปฏิบัติงานไปจนถึงระดับผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 19 ราย ด้วยวิธีการวิเคราะห์สาระสำคัญ (thematic analysis) โดยใช้แนวคิดทฤษฎีอำนาจนำ ชีวอำนาจ (bio-power) วาทกรรมและการต่อรองอัตลักษณ์ จากการศึกษาพบว่า 1. ข้าราชการสำนักการสังคีตได้รับการปลูกฝังนิยามความเป็นไทยของรัฐผ่านกระบวนการสร้างตัวตนด้วยกลไกต่างๆ ทั้งด้านวิชาชีพที่ฝึกฝนมา และด้านวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้ข้าราชการยอมรับอำนาจนำภายใต้วาทกรรม “ไทยจารีต” อย่างแนบเนียน เพื่อมุ่งควบคุมร่างกายและความคิด 2. แม้ว่าจะมีการควบคุมร่างกาย จิตสำนึก และพฤติกรรมให้ยอมรับการผลิตซ้ำนิยามความเป็นไทยของรัฐ แต่ด้วยเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมต่างๆ และบริบททางสังคมที่ได้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ประกอบกับความมุ่งหวังที่จะปฏิบัติงานตามนโยบายวัฒนธรรมได้อย่างราบรื่น ทำให้เกิดการต่อรองจนบางสิ่ง ได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการต่อรองกับอำนาจนำหรือวาทกรรม “ไทยจารีต” ในที่นี้มี 2 มิติ มิติแรก คือ การต่อรองในมิติรูปแบบการแสดง เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบของฉาก เครื่องแต่งกาย บทการแสดง เป็นต้น ให้ก้าวทันกับยุคสมัยแต่ยังคงสืบทอดนิยามความเป็น “ไทยจารีต” ของรัฐพร้อมทั้งอัตลักษณ์ขององค์กร ในขณะที่ “แก่นแท้”ของการแสดงนาฏดุริยางคศิลป์เชิงอนุรักษ์ยังคงอยู่ และมิติที่สอง คือ การต่อรองในเชิงความคิดเกี่ยวกับนโยบายและองค์กร เช่น เรื่องอัตรากำลังคน งบประมาณ และสวัสดิการ เป็นต้น ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการผลักดันหรือส่งเสียงในองค์กรแต่ก็มีเมล็ดพันธุ์ความคิดที่ผู้นำองค์กรน่าจะนำไปปรับใช้ต่อไป


Testing The Determinants Of Stock Exchange Index Comovement In Thailand Stock Exchange, Nuntapat Asavaroengchai Jan 2019

Testing The Determinants Of Stock Exchange Index Comovement In Thailand Stock Exchange, Nuntapat Asavaroengchai

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

A study into the effects of different macroeconomic variables on the comovement between the Stock Exchange of Thailand (SET) Index and the Standard & Poor's 500 (S&P 500). These effects are tested using OLS regression in an annual and quarterly frequency. Real Interest Rate Difference between the two countries is found to have a significant negative effect, likely due to investors turning to Thailand when it has higher real interest rate. Income Level is found to be a significant positive effect, as countries with higher income are more integrated with the US. As the economy naturally grows, it is likely …


Is A Self-Employment Skilled Employment? - A Case Study Of Self-Employed With Bachelor’S Degree In Thailand, Kemmika Labkim Jan 2019

Is A Self-Employment Skilled Employment? - A Case Study Of Self-Employed With Bachelor’S Degree In Thailand, Kemmika Labkim

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

In the paper, the research will be focused on self-employed occupations with a bachelor's degree in Thailand to look at the skills require for the self-employed to be hired. The researcher looks further into the Thai labor force survey conducted in 2016, the latest source. The survey shows in detail of self-employed occupations in Thailand with degrees with the total number of 2,284 people in 196 different occupations which counted only those who graduate from bachelor's and above. Hence, in this paper, the researcher looks upon three different sources of information: 2016 Thai labor force National Survey, the skill required …


Does Decision In Learning Chinese Derive From Economic Reason? (A Case Study Of Airline Industry To An Increasing In Thai Labor Supply With Third Language Skill), Piyawat Jongjiramongkolchai Jan 2019

Does Decision In Learning Chinese Derive From Economic Reason? (A Case Study Of Airline Industry To An Increasing In Thai Labor Supply With Third Language Skill), Piyawat Jongjiramongkolchai

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The achievement of policy “Reform and opening” implemented in 1978 was successfully liberated new China from failure state to an economic superpower in this century. The success of the policy is not only elevating state’s financial status from the line of poverty, but also enhancing the people purchasing power. Being the largest population country in the world, a massive outbound of both Chinese tourists and entrepreneurs becomes a current global phenomena. Thailand has long been a preferable destination among Chinese tourists for decades with more than thirty million averagely of Chinese tourists visiting Thailand, according to data from Ministry of …


The Effect Of Salary And Health Insurance Benefit On Job Satisfaction In Thailand, Nattapat Srivibha Jan 2019

The Effect Of Salary And Health Insurance Benefit On Job Satisfaction In Thailand, Nattapat Srivibha

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Human resources is the most significant factor in production function to exercise activities and operate the business. In order to maximize potential of employees, a good welfare and being taken care by a company are critical and will enhance employee satisfaction, resulted in employees' intention to become more accountable and dedicated to work. There are various factors that support employees' needs in fostering loyalty i.e. wages, health benefits, bonuses, scholarships, loan funds, etc. This study examines the effect of salary and health insurance on employee satisfaction in Thailand by exploring correlation between salary satisfaction and health insurance benefits satisfaction and …


Impact Of Women's Education On Marriage Outcomes, Nattamon Ungpraphakorn Jan 2019

Impact Of Women's Education On Marriage Outcomes, Nattamon Ungpraphakorn

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

In Thailand, marriage has been one of many women’s aspirations. However, nowadays women’s labor force participation has increased, and women have become more economically independent as a result of higher education attainment. An important question is whether these factors lead to an older age of marriage or even a choice remaining single. This paper analyzes how women’s education affects the marriage outcome and studies single women’s perspective towards marriage. Using data from survey of 422 women between the age of 22 and 60, we estimate the logistic regression of marriage outcome. We find that older women tend to remain single …


The Impact Of Flexible Working Time On Employees' Work-Life Balance: A Case Study Of A Kitchenware Manufacturing Company, Panisra Turakijkajohn Jan 2019

The Impact Of Flexible Working Time On Employees' Work-Life Balance: A Case Study Of A Kitchenware Manufacturing Company, Panisra Turakijkajohn

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The objective of this study is to examine the effect of flexible working time on the employees’ work-life balance in case of a kitchenware manufacturing company in Bangkok by using data from 104 employees in a kitchenware manufacturing company in Bangkok during June 2020. The result shows that the perception on flexible working time has a positive and significant impact on the work -life balance of the employees. When classifying employees into two sub-groups by age, the perception on the flexibility of working time only has positive effect on work life balance of employees with age more than 30 years …


สายใยร้อยรัดสิงคโปร์และมาเลเซีย: ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง นับแต่ ค.ศ. 2000, ชนัญชิดา สอนดี Jan 2019

สายใยร้อยรัดสิงคโปร์และมาเลเซีย: ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง นับแต่ ค.ศ. 2000, ชนัญชิดา สอนดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซียนับตั้งแต่ ค.ศ.2000 อันเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศเพิ่งประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย และปัญหาการก่อการร้ายข้ามชาติที่คุกคามความมั่นคงของทั้งสองประเทศ งานศึกษานี้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่แนบแน่นระหว่างสองประเทศในระดับที่ขึ้นต่อกันและกัน ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นนี้เกิดขึ้นทั้งในระดับระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ระหว่างกลุ่มธุรกิจ และระหว่างประชาชนกับประชาชน ความร่วมมือระหว่างสองประเทศจึงสำคัญต่อผลประโยชน์แห่งชาติอย่างยิ่ง ฉะนั้น แม้ว่าสองประเทศนี้มีความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างกันบ่อยครั้ง แต่ความขัดแย้งและความตึงเครียดก็ถูกจำกัด หรือแก้ไขด้วยกลไกระหว่างประเทศที่ดำรงอยู่ เพื่อให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายจนกระทบต่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย


บทบาทของกองทัพอากาศไทยในปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงครามศึกษากรณีการปฏิบัติการดับไฟป่า, ณัฐพล นิสยันต์ Jan 2019

บทบาทของกองทัพอากาศไทยในปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงครามศึกษากรณีการปฏิบัติการดับไฟป่า, ณัฐพล นิสยันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาบทบาทของกองทัพอากาศไทยในการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม เนื่องจากในสถานการณ์โลกปัจจุบันได้มีภัยคุกคามในรูปแบบใหม่มากขึ้นและกองทัพอากาศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และกองทัพอากาศไทยเป็นหน่วยงานที่มีกำลังบุคคลและอุปกรณ์ในการช่วยเหลือจึงต้องปรับบทบาทขององค์กรเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะศึกษามุ่งเน้นไปยังกรณีการดับไฟป่า การศึกษาพบว่ากองทัพอากาศได้มีบทบาทในการดับไฟป่าอย่างมาก เนื่องจากการดับไฟป่าต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เพราะไฟป่าสามารถลุกลามสร้างความเสียหายทำลายพื้นที่ทั้งป่าและบ้านเรือนของประชาชนได้ในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นไฟป่ายังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ซึ่งกองทัพอากาศในภาวะปกติต้องมีการฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาความสามารถ ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ให้สามารถบริหารจัดการวิกฤตการณ์และภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การศึกษายังได้ข้อสรุปเพิ่มเติมว่าปัจจุบันอุปกรณ์เครื่องมือในการดับไฟป่าได้มีวิวัฒนาการที่ทันสมัย และสามารถใช้เพื่อปฏิบัติการดับไฟป่าได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งหากกองทัพอากาศไทยนำอุปกรณ์เครื่องมือเหล่านี้มาใช้ก็จะทำให้สามารถดำเนินการดับไฟป่าได้เร็วยิ่งขึ้น


ตำรวจกับอาชญากรรมข้ามชาติ: ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงมาตรการของตำรวจในการจัดการกับปัญหาการสวมบัตรประชาชนและผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศไทย, เกียรติศักดิ์ เพชรพิมานสมุทร Jan 2019

ตำรวจกับอาชญากรรมข้ามชาติ: ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงมาตรการของตำรวจในการจัดการกับปัญหาการสวมบัตรประชาชนและผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศไทย, เกียรติศักดิ์ เพชรพิมานสมุทร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางสำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการพัฒนา ระบบการประสานงานเพื่อจัดการปัญหาการสวมบัตรประชาชนและผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อันเป็นหนึ่งในปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในของไทย และลักษณะของปัญหามีความซับซ้อนสูง สารนิพนธ์คำนึงถึงทั้งกระบวนการต้นทางของปัญหาความมั่นคงภายในดังกล่าว คือการที่กลุ่มอาชญากรรมใช้ช่องว่างทางกฎหมายและการทุจริตเพื่อลักลอบสวมบัตรประชาชน และในขั้นปลายทาง ทั้งที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากการสวมบัตรและการลักลอบเข้าเมือง ได้แก่ ผู้ดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายและกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ และผู้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากรรมดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการของรัฐในการป้องกัน สืบสวน และปราบปราม ผู้กระทำความผิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการกับปัญหาในลักษณะเช่นนี้ต้องอาศัยการกำหนดมาตรการในการปฏิบัติและการประสานงานสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถเป็นผู้รับผิดชอบเพียงลำพังได้ การศึกษาทั้งจากเอกสารคู่มือปฏิบัติงาน และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง สารนิพนธ์มีข้อเสนอว่า เครื่องมือที่จะช่วยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับการจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าวได้อย่างสมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้นคือการพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นมาตรฐาน โดยยึดแนวทางสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การสร้างมาตรฐานการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน (Standard Operating Procedures: SOPs) เกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันปราบปรามและสืบสวนสอบสวน และ สอง การกำหนดแนวทางบูรณาการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง (Inter- agency coordination) ในทุกขั้นตอน ประโยชน์ของคู่มือนี้นอกจากจะช่วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลีกเลี่ยงการเมืองในระบบราชการอันเกิดจากปัญหาข้อขัดแย้งกับหน่วยงานของส่วนราชการอื่นเกี่ยวกับภารกิจหน้าที่และงบประมาณทรัพยากรแล้ว คู่มือดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของส่วนงานราชการไทย ที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาความมั่นคงข้ามชาติเพื่อรับมือกับปัญหาได้ในระยะยาว รวมถึงสามารถพัฒนาปรับปรุงต่อไปตามบริบทความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย


นโยบาย "3 ไม่" ของเวียดนามกับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2010-2019, ชภาภัทร โสตถิอนันต์ Jan 2019

นโยบาย "3 ไม่" ของเวียดนามกับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2010-2019, ชภาภัทร โสตถิอนันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การมีภัยคุกคามและผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ร่วมกันในทะเลจีนใต้ของเวียดนามกับสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนในความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่เวียดนามยืนยันไม่เป็นพันธมิตรทางการทหารกับสหรัฐฯ เพื่อร่วมกันต่อต้านจีนโดยยึดนโยบาย “3 ไม่”กล่าวคือ ไม่เป็นพันธมิตรทางทหาร ไม่ให้ตั้งฐานทัพต่างชาติในประเทศ และไม่ร่วมมือกับรัฐหนึ่งเพื่อต่อต้านรัฐอื่น นโยบาย 3 ไม่จึงเป็นเครื่องมือในการรักษาความสัมพันธ์กับจีนควบคู่ไปกับพัฒนาความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษานโยบาย “3 ไม่” ของเวียดนามกับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2010-2019 โดยประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องพันธมิตรทางทหารของเคนเน็ต วอลท์เพื่อเสนอว่าการใช้นโยบาย “3 ไม่” ทำให้เวียดนามยังรักษาความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีกับจีนไว้ได้ พร้อม ๆ กับอนุญาตให้เวียดนามสามารถเข้าใกล้สหรัฐฯ ได้มากขึ้นด้วย และยังเป็นนโยบายที่เวียดนามใช้เพื่อป้องกันตนเองจากแรงกดดันและแสวงหาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์กับสองมหาอำนาจ ทั้งนี้ แม้เวียดนามมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากขึ้น แต่เวียดนามหลีกเลี่ยงคำและการกระทำที่เข้าข่ายการเป็นพันธมิตรทางทหาร โดยในการสร้างข้อตกลงทางการทหารอย่างไม่เป็นทางการกับสหรัฐฯ เวียดนามพยายามจำกัดให้อยู่ภายในขอบเขตของนิยามความเป็นหุ้นส่วน เพื่อยืนยันว่าตนยังคงยึดมั่นนโยบาย “3 ไม่” อย่างมั่นคง


นโยบายการส่งออกยุทโธปกรณ์ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับการเสริมสร้างความมั่นคงของญี่ปุ่น, แพรวพฤกษ์ จิตสกุลชัยเดช Jan 2019

นโยบายการส่งออกยุทโธปกรณ์ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับการเสริมสร้างความมั่นคงของญี่ปุ่น, แพรวพฤกษ์ จิตสกุลชัยเดช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การอนุมัติ "หลักสามประการว่าด้วยการถ่ายโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ" ค.ศ. 2014 เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการประกาศแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติโดยรัฐบาลอาเบะ เพื่อผ่อนปรนข้อจำกัดและขยายขอบเขตการส่งออกถ่ายโอนยุทโธปกรณ์ให้สอดรับกับนโยบายสันติภาพเชิงรุก และตอบสนองต่อสภาวการณ์ความมั่นคงปัจจุบัน สารนิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาเพื่อตอบคำถามว่า การปรับนโยบายการส่งออกยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศของญี่ปุ่นไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการอนุมัติหลักสามประการฯ ค.ศ. 2014 นั้นตอบสนองต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่นอย่างไร ผลการศึกษาพบว่า การส่งออกยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่นไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นการผสมผสานทั้งการถ่ายโอนแบบให้เปล่าและการเสนอขายตามปกติ ควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์ผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพ และการแลกเปลี่ยนทางการทหารที่เกี่ยวเนื่องกับยุทโธปกรณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นนัยยะในการเสริมสร้างความมั่นคงของญี่ปุ่นด้วยการดำเนินนโยบาย "การประกันความเสี่ยง" หรือ Hedging โดยใช้การส่งออกยุทโธปกรณ์เป็นช่องทางหนึ่งในการขยายบทบาททางทหาร และสร้างเครือข่ายหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่มีแนวคิดทางความมั่นคงร่วมกัน เพื่อเป้าหมายในการถ่วงดุลอิทธิพลจีนไม่ให้สั่นคลอนสภาวะที่เป็นอยู่ในภูมิภาค และเป็นการเพิ่มทางเลือกในการรับมือกับความไม่แน่นอนของพันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น


การดำเนินนโยบายของญี่ปุ่นต่อรัสเซียในยุคชินโซ อาเบะ: ประเด็นศึกษาข้อพิพาทเกาะทางตอนเหนือของญี่ปุ่น (2012 - 2019), พัชรพร มาลา Jan 2019

การดำเนินนโยบายของญี่ปุ่นต่อรัสเซียในยุคชินโซ อาเบะ: ประเด็นศึกษาข้อพิพาทเกาะทางตอนเหนือของญี่ปุ่น (2012 - 2019), พัชรพร มาลา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการดำเนินนโยบายของญี่ปุ่นต่อรัสเซียในยุคของรัฐบาล ชินโซ อาเบะ ในประเด็นข้อพิพาทเกาะทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ระหว่างปี 2012-2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์และการดำเนินนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นต่อรัสเซีย ในประเด็นข้อพิพาทเกาะทางตอนเหนือของญี่ปุ่น และวิเคราะห์ถึงแรงจูงใจในการดำเนินนโยบาย เข้าหารัสเซียของรัฐบาลอาเบะ ในปี 2012 – 2019 ผ่านกรอบแนวคิดการถ่วงดุลโดยใช้ไม้อ่อน (Soft balancing) จากการศึกษาพบว่า ในอดีตประเด็นพิพาทเกาะทางตอนเหนือเป็นประเด็นหลักในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซียและยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามภายใต้บริบทภายในภูมิภาคที่จีนกลายเป็นตัวแสดงสำคัญที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ รัฐบาลอาเบะจึงดำเนินนโยบายเข้าหารัสเซียเพื่อถ่วงดุลอำนาจรวมถึงสกัดกั้นจีนเป็นหลักด้วยการดึงรัสเซียเข้ามาเป็นแนวร่วมในการถ่วงดุลซึ่งเป็นไปในทางอ้อมผ่านแนวทางใหม่ (New Approach) ด้วยการใช้เครื่องมือด้านเศรษฐกิจและการทูตเป็นหลัก และได้ปรับจุดยืนในประเด็นเกาะพิพาททางตอนเหนือจากเดิมที่เคยเป็นประเด็นหลักในความสัมพันธ์ให้กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญรองลงมาเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการสร้างความสัมพันธ์กับรัสเซีย ดังเช่นในอดีต


บทบาทการพิทักษ์ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์, รัชนีกร พันศิริ Jan 2019

บทบาทการพิทักษ์ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์, รัชนีกร พันศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ศึกษาบทบาทและข้อจำกัดของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ในด้านการกำกับดูแลและพิทักษ์การปฏิบัติตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons: NPT) สารนิพนธ์ใช้กรอบวิเคราะห์ปัญหาความร่วมมือระหว่างประเทศในการปฏิบัติตามข้อตกลงตามแนวคิดทฤษฎี Neoliberal Institutionalism และการศึกษาเปรียบเทียบบทบาทการตรวจสอบของ IAEA ในเกาหลีใต้ อิรัก และอิหร่าน ผลการศึกษายืนยันสมมุติฐานจากทฤษฎี Neoliberal Institutionalism ที่เสนอว่าสถาบันระหว่างประเทศมีบทบาทหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ในความร่วมมือระหว่างประเทศ ในกรณี IAEA คือ การช่วยสนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นต่อการรักษาความร่วมมือด้านการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศผ่านหลักการ กฎเกณฑ์ กระบวนการ และมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์ของระบอบ NPT การยอมรับอำนาจหน้าที่ในการทํางานของ IAEA ข้างต้นขึ้นอยู่กับความชำนาญและองค์ความรู้ของ IAEA และความร่วมมือจากประเทศสมาชิกที่ IAEA เข้าไปตรวจสอบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในการทำงานของ IAEA อย่างไรก็ดีสารนิพนธ์พบว่าปัจจัยทั้ง 2 นั้นยังขึ้นอยู่กับสภาวะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจกับประเทศที่ถูก IAEA ตรวจสอบ ความขัดแย้งอย่างเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างมหาอำนาจกับประเทศที่ถูกตรวจสอบมีแนวโน้มจะสร้างความยุ่งยากให้แก่กระบวนการตรวจสอบและการยอมรับและรับรองรายงานผลการตรวจสอบของ IAEA เพราะแม้ IAEA จะได้รับการจัดตั้งขึ้นตามบทกฎหมายของ IAEA เองอย่างเป็นอิสระจากสหประชาชาติ แต่ IAEA ต้องรายงานการดำเนินการของตนต่อคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ


“ผู้หญิงกับการก่อการร้าย” กรณีศึกษาการก่อการร้ายของสตรีมุสลิมกลุ่มแม่หม้ายดำในสาธารณรัฐเชเชนผ่านทฤษฎีสตรีนิยม, ปฐมพร ผิวนวล Jan 2019

“ผู้หญิงกับการก่อการร้าย” กรณีศึกษาการก่อการร้ายของสตรีมุสลิมกลุ่มแม่หม้ายดำในสาธารณรัฐเชเชนผ่านทฤษฎีสตรีนิยม, ปฐมพร ผิวนวล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในขณะที่การศึกษาเรื่องการก่อร้ายมักปรากฏภาพผู้ชายเป็นตัวแสดงหลักในฐานะผู้นำกองกำลังและผู้ปฏิบัติการ กรณีศึกษานี้ต้องการนำเสนอภาพของผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาเรื่องการก่อการร้าย โดยเฉพาะกรณีมือระเบิดพลีชีพสตรีมุสลิมกลุ่มแม่หม้ายดำ (Black widow) ในสาธารณรัฐเชเชน สหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อค้นหาคำอธิบายถึงการพลิกบทบาทจากเหยื่อของสงครามมาสู่การเป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรง ผ่านกรอบทฤษฎีสตรีนิยมหลังอาณานิคม (Post Colonial Feminism) ที่ผู้เขียนเชื่อว่าสามารถนำมาใช้ทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมในระดับท้องถิ่น และอธิบายถึงการโต้กลับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะสงครามและการดำรงอยู่ของระบอบชายเป็นใหญ่ในสังคมนอกจากนี้ ผู้เขียนยังต้องการสื่อให้เห็นถึงปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงสถานะของผู้หญิงในพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆ ทั่วโลกที่มีแนวโน้มพลิกบทบาทมาเป็นผู้ก่อการร้ายมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การใช้ความรุนแรงของรัฐบาลในการปราบปรามชนกลุ่มน้อย กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ตลอดจนผู้เห็นต่างทางการเมืองนั้น อาจนำมาสู่การโต้กลับความรุนแรงไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง และสามารถยกระดับเป็นปัญหาก่อการร้าย ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งระดับภายในรัฐและระดับระหว่างประเทศได้ ด้วยมีความมุ่งหวังอย่างแรงกล้าว่า สารนิพนธ์ฉบับนี้จะสามารถสร้างความตระหนักให้แก่ภาครัฐหรือหน่วยงานความมั่นคงหันกลับมาพิจารณาทบทวนแนวทางการใช้มาตรการรุนแรงกับประชาชนได้ไม่มากก็น้อย


การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง (Lmc), ปภาพรรณ หารบุรุษ Jan 2019

การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง (Lmc), ปภาพรรณ หารบุรุษ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษานโยบายต่างประเทศของจีนที่มีต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะภายใต้การดำเนินงานของกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง (Lancang - Mekong Cooperation: LMC) ระหว่างปี ค.ศ. 2016 ถึง 2020 เพื่อวิเคราะห์แรงจูงใจที่ทำให้จีนต้องการจัดตั้งกรอบความร่วมมือดังกล่าว โดยผู้วิจัยใช้กรอบแนวคิดการเปลี่ยนผ่านของอำนาจ (Power transition theory) ของ A.F.K. Organski และ Jacek Kugler เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ การศึกษาครั้งนี้พบว่า แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้จีนจัดตั้งกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง มี 3 ประการ ได้แก่ (1) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้อย่างเต็มที่ (2) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการช่วงชิงบทบาทนำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจากมหาอำนาจนอกภูมิภาค และ (3) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของตนให้แข็งแกร่งขึ้น โดยในท้ายที่สุด กรอบความร่วมมือนี้จะช่วยสนับสนุนให้จีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ (Dominant power) ที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ


การปรับแนวทางความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยรัฐบาลชินโซ อาเบะ, อุมาพร เกตุสุวรรณ์ Jan 2019

การปรับแนวทางความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยรัฐบาลชินโซ อาเบะ, อุมาพร เกตุสุวรรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาความสัมพันธ์ของการปรับแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ (ODA) ของญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.2015 กับการดำเนินยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในยุครัฐบาลชินโซ อาเบะต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกรอบแนวคิดการถ่วงอำนาจแบบใช้ไม้อ่อน (soft balancing) เนื่องจากญี่ปุ่นใช้ ODA เป็นเครื่องมือดำเนินยุทธศาสตร์ต่างประเทศมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของ ODA ญี่ปุ่นและมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงและเศรษฐกิจต่อญี่ปุ่น โดยการปรับแนวทาง ODA ของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการปรับเป้าหมายและแนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งผลการศึกษาพบว่า รัฐบาลอาเบะใช้ ODA เป็นเครื่องมือสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) และศักยภาพด้านการพัฒนาของประเทศในภูมิภาคด้วยการให้ ODA เพื่อให้อาเซียนและประเทศสมาชิกลดการพึ่งพาจีนและรักษาระเบียบของภูมิภาคที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของญี่ปุ่น เนื่องจากการผงาดขึ้นมาของจีน โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลทางทะเลและยุทธศาสตร์ Belt and Road เป็นประเด็นท้าทายต่อการดำเนินยุทธศาสตร์และอิทธิพลของญี่ปุ่นในภูมิภาค


บทบาทของจีนต่อการแก้ไขปัญหาชนกลุ่มน้อยในเมียนมาภายใต้รัฐบาลสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย, ธนกานต์ ปัญจลักษณ์ Jan 2019

บทบาทของจีนต่อการแก้ไขปัญหาชนกลุ่มน้อยในเมียนมาภายใต้รัฐบาลสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย, ธนกานต์ ปัญจลักษณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

นับตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเป็นผู้นำรัฐบาลเมียนมา ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับจีนได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในกระบวนการเจรจาสันติภาพ ดังนั้นสารนิพนธ์ฉบันนี้จึงต้องการศึกษาบทบาทของจีนในกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลเมียนมาและชนกลุ่มน้อย เพื่อวิเคราะห์จุดมุ่งหมายและผลประโยชน์ของจีนในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของเมียนมา รวมทั้งเพื่อเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อยุทธศาสตร์การดำเนินความสัมพันธ์ของเมียนมาต่อจีนภายใต้รัฐบาลสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย และผลพวงต่อกระบวนการสันติภาพ โดยใช้กรอบแนวคิดการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในการวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าว สารนิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่าความไม่มั่นคงบริเวณชายแดนจีน–เมียนมา อันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยที่ยังไม่ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับกองทัพเมียนมา และผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจข้ามพรมแดนและความมั่นคงของจีนบริเวณชายแดนจีน-เมียนมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนเข้ามามีบทบาทสนับสนุนกระบวนการสันติภาพทั้งทางการเมืองและการเงิน ขณะที่เมียนมามีข้อจำกัดเกี่ยวกับอิทธิพลเหนือชนกลุ่มน้อยฯ จีนกลับมีอิทธิพลต่อชนกลุ่มน้อยบริเวณชายแดนจีน-เมียนมาทั้งในด้านเศรษฐกิจและยุทธปัจจัย รัฐบาลเมียนมาจึงจำเป็นต้องพึ่งพาจีนในการกดดันชนกลุ่มน้อยให้ตกลงหยุดยิงและเข้าร่วมการเจรจาเพื่อสันติภาพอย่างเป็นทางการ ทั้งสองประเทศจึงคาดหวังว่าการร่วมมือกันในกรณีนี้จะนำไปสู่ผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย


พฤติกรรมผู้บริโภคและคุณค่าตราสินค้าของแอปเปิ้ลวอทช์, ปรัชธินีย์ ชนะโอภาส Jan 2019

พฤติกรรมผู้บริโภคและคุณค่าตราสินค้าของแอปเปิ้ลวอทช์, ปรัชธินีย์ ชนะโอภาส

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเชิงสำรวจในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) พฤติกรรมผู้บริโภคต่อสินค้า Apple Watch ซึ่งได้แก่ การรับรู้ของผู้บริโภค ทัศนคติของผู้บริโภค พฤติกรรมการซื้อสินค้า และความพึงพอใจของผู้บริโภค และ 2) คุณค่าตราสินค้า Apple ของผู้บริโภค อันประกอบด้วย การตระหนักรู้ในตราสินค้า การเชื่อมโยงตราสินค้า คุณภาพของตราสินค้าที่ถูกรับรู้ และความภักดีต่อตราสินค้า โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพศชายและเพศหญิง อายุระหว่าง 25-35 ปี จำนวน 211 คน ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงเป็นผู้ซื้อและใช้สินค้า Apple Watch มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมต่อ Apple Watch และคุณค่าตราสินค้าต่อ Apple ทั้ง 4 ตัวแปรย่อยในเชิงบวกทุกตัวแปรย่อยที่วัด นอกจากนั้น พฤติกรรมผู้บริโภคต่อสินค้า Apple Watch ทั้ง 4 ตัวแปรย่อย มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคุณค่าตราสินค้า Apple อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


การเปิดรับข่าวสาร ความรู้ และภาพลักษณ์กองทัพเรือ ของผู้ใช้เฟซบุ๊กแฟนเพจกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ, นงลักษณ์ จิตต์อารีย์ Jan 2019

การเปิดรับข่าวสาร ความรู้ และภาพลักษณ์กองทัพเรือ ของผู้ใช้เฟซบุ๊กแฟนเพจกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ, นงลักษณ์ จิตต์อารีย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) ด้วยการใช้วิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ (Online questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และทำการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างเฉพาะผู้ติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ จำนวน 200 คน ช่วงเวลาที่เก็บแบบสอบถามคือเดือนมิถุนายน 2563 และประมวลผลข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS ผลการวิจัย มีดังนี้ 1) ผู้ติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ รู้จักเฟซบุ๊กแฟนเพจจากที่เพื่อนแบ่งปัน (Share) ข้อมูลในช่องทางออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น 2) ค่าเฉลี่ยการเปิดรับข่าวสารโดยรวมอยู่ในระดับน้อย 3) ความถี่ในการเห็นโพสต์จากหน้า New Feed 1 - 2 ครั้งต่อสัปดาห์ 4) ความถี่ในการเข้าชมแฟนเพจ 1 - 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ 5) ค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการเข้าชมแฟนเพจแต่ละครั้งน้อยกว่า 15 นาที 6) มีความสนใจในเนื้อหาของเพจเรื่องการชี้แจงเหตุการณ์ที่สังคมกำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับกองทัพเรือมากที่สุด 7) มีความรู้เกี่ยวกับกองทัพเรืออยู่ในระดับสูง 8) มีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์กองทัพเรือในเชิงบวกอยู่ในระดับมากที่สุด 9) มีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์กองทัพเรือในเชิงบวกด้านการดำเนินงานของกองทัพเรือมากที่สุด 10) การเปิดรับข่าวสาร ไม่มีความสัมพันธ์กับ ความรู้เกี่ยวกับกองทัพเรือ 11) การเปิดรับข่าวสาร มีความสัมพันธ์กับ ความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์กองทัพเรือ 12) ความรู้เกี่ยวกับกองทัพเรือ มีความสัมพันธ์กับ ความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์กองทัพเรือ


พฤติกรรมผู้บริโภคต่อผู้นำเสนอสินค้าในโฆษณาเครื่องสำอางเมย์เบลลีน นิวยอร์ก, ศรีสุภา ศรีเปารยะ Jan 2019

พฤติกรรมผู้บริโภคต่อผู้นำเสนอสินค้าในโฆษณาเครื่องสำอางเมย์เบลลีน นิวยอร์ก, ศรีสุภา ศรีเปารยะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคต่อผู้นำเสนอสินค้าในโฆษณาเครื่องสำอาง Maybelline New York โดยใช้วิธีวิจัยเชิงสำรวจ และใช้แบบสอบถามออนไลน์เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศหญิงอายุระหว่าง 18-25 ปี อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และบริโภคสินค้าเครื่องสำอาง Maybelline New York ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 210 คน ผลการวิจัยพบว่า การรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้บริโภค มีความสัมพันธ์กันในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ การรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อผู้นำเสนอสินค้าในโฆษณาเครื่องสำอาง Maybelline New York ทั้ง 2 คน คือ ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ และ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก สัมพันธ์ในเชิงบวกกับทัศนคติต่อโฆษณาที่ผู้นำเสนอคนนั้นๆ ปรากฏอยู่ และทัศนคติต่อตราสินค้า ตลอดจนความตั้งใจซื้อของผู้บริโภค


ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิผลการให้บริการด้านสุขภาพจิตโครงการ Depress We Care ซึมเศร้า เราใส่ใจกรณีศึกษากลุ่มเป้าหมายข้าราชการตำรวจ, ณทชา เย็นทรวง Jan 2019

ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิผลการให้บริการด้านสุขภาพจิตโครงการ Depress We Care ซึมเศร้า เราใส่ใจกรณีศึกษากลุ่มเป้าหมายข้าราชการตำรวจ, ณทชา เย็นทรวง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ข้าราชการตำรวจเป็นบุคลากรที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันปราบอาชญากรรม รวมทั้งอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เป็นอาชีพที่ได้รับความกดดันจากการทำงาน นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และปัญหาการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ จึงได้จัดตั้งโครงการ Depress we care ซึมเศร้า เราใส่ใจ ขึ้นและสร้างช่องทางการให้บริการด้านสุขภาพจิตผ่านการส่งข้อความทางอินบ๊อกซ์เพจเฟสบุ๊คและสายด่วน เพื่อหวังที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ทว่ากลับมีข้าราชการตำรวจที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักเข้าร่วมโครงการและติดต่อเข้ามาน้อย สารนิพนธ์ฉบับนี้จึงทำขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการโครงการ ปัจจัยภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโครงการ รวมถึงหาข้อเสนอแนะในการพัฒนาการดำเนินการในโครงการ ต่อกลุ่มเป้าหมายข้าราชการตำรวจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ผ่านการรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ในกรอบซิปป์โมเดล ประกอบด้วยปัจจัยด้านบริบท ปัจจัยตัวป้อนเข้า ปัจจัยด้านกระบวนการ ที่ส่งผลต่อประสิทธิผล ซึ่งในการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การแจกแบบสอบถามแก่ข้าราชการตำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 385 คน ร่วมกับการสัมภาษณ์บุคลากรผู้ดำเนินโครงการ พบว่าปัจจัยด้านบริบทที่ขัดขวางเป็นปัจจัยทางสังคม ทั้งวัฒนธรรมองค์กร ทัศนคติของผู้บังคับบัญชาที่มีต่อผู้ที่เข้ารับการรักษา และความรู้ ความเข้าใจของข้าราชการตำรวจที่มีต่อโครงการ ส่วนปัจจัยตัวป้อนเข้าและปัจจัยด้านกระบวนการเองก็ยังต้องมีการเพิ่มเติมทรัพยากรบุคคลหากต้องการรองรับการให้บริการที่มีปริมาณมากขึ้นในอนาคต และต้องเพิ่มเติมการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นเพื่อขยายประสิทธิผลในการรับรู้โครงการให้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ประสิทธิผลในการเข้าร่วม และผลลัพธ์สูงสุดในการลดการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของข้าราชการตำรวจต่อไป


พฤติกรรมผู้ปกครองต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยผ่านยูทูบ, ณัฐนรี ทินนโชติ Jan 2019

พฤติกรรมผู้ปกครองต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยผ่านยูทูบ, ณัฐนรี ทินนโชติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเชิงสำรวจในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้ปกครองต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยผ่าน YouTube รวมถึงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ปกครองต่อการรับชม YouTube ของเด็ก โดยเก็บข้อมูลกับผู้ปกครอง อายุระหว่าง 26 ถึง 56 ปี และมีบุตรหลานที่กำลังศึกษาในชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึง 3 จำนวน 217 คน ผลการวิจัยพบว่า โดยรวมผู้ปกครองมีทัศนคติเชิงบวกต่อการรับชม YouTube ของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติด้านการรับชม YouTube ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ พัฒนาการด้านภาษา และพัฒนาการจากความรู้ต่างประเทศ และผู้ปกครองส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเชิงบวกต่อการรับชม YouTube โดยเน้นไปที่ด้านการให้ความรู้กับเด็กเกี่ยวกับสื่อ นอกจากนี้ยังพบว่า ทัศนคติรวมและพฤติกรรมของผู้ปกครองต่อการรับชม YouTube ของเด็กมีความสัมพันธ์กันในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการเครื่องเช็คอินอัตโนมัติ (Cuss : Common Use Self Service) ของผู้โดยสารคนไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ณัฐสิทธิ์ สุทธิสมบูรณ์ Jan 2019

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการเครื่องเช็คอินอัตโนมัติ (Cuss : Common Use Self Service) ของผู้โดยสารคนไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ณัฐสิทธิ์ สุทธิสมบูรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ปัจจัยทางด้านประชากรศาสตร์ ปัจจัยการรับรู้ความเสี่ยง และปัจจัยการยอมรับเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการเครื่องเช็คอินอัตโนมัติ ของผู้โดยสารคนไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้โดยสารชาวไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 100 คน กลุ่มตัวอย่างได้มาจากการสุ่มแบบโควตา และแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่เคยใช้เครื่องเช็คอินอัตโนมัติ 50 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยใช้เครื่องเช็คอินอัตโนมัติ 50 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล 1) สถิติเชิงพรรณนา ประกอบด้วย ค่าจำนวน ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย 2) สถิติเชิงอนุมาน ประกอบด้วย การทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มที่เป็นอิสระจากกัน (Independent Sample t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way ANOVA) ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 25 – 30 ปี สถานภาพโสด มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน มีรายได้ต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท และส่วนใหญ่นิยมเช็คอินที่เคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบิน ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่าปัจจัยประชากรศาสตร์ ด้านอายุ ระดับการศึกษา และรายได้ที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการเครื่องเช็คอินอัตโนมัติของผู้โดยสารคนไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.10 และปัจจัยด้านการรับรู้ความเสี่ยงไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการเครื่องเช็คอินอัตโนมัติของผู้โดยสารคนไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยด้านการยอมรับการใช้เทคโนโลยีส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการเครื่องเช็คอินอัตโนมัติของผู้โดยสารคนไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.10


การประเมินผลความสำเร็จของโครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ตามแบบจำลอง Cipp Model กรณีศึกษา: โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย, กรกฎ วงษ์สุวรรณ Jan 2019

การประเมินผลความสำเร็จของโครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ตามแบบจำลอง Cipp Model กรณีศึกษา: โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย, กรกฎ วงษ์สุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การประเมินผลความสำเร็จของโครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนตามแบบจำลอง CIPP Model กรณีศึกษา: โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ โดยการศึกษาในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งดำเนินการศึกษาด้วยวิธีการสัมภาษณ์ส่วนบุคคลซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างเฉพาะเจาะจง จำนวน 10 ราย ผู้วิจัยได้นำข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง และข้อมูลจากเอกสารมาวิเคราะห์และประมวลผลตามแบบจำลอง CIPP Model ผลการศึกษาพบว่า (1) ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ (2) ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่าหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน รวมถึงสภาพพื้นที่ แบบรูปรายการ และงบประมาณมีความพร้อมและมีความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ (3) ด้านกระบวนการ พบว่ามีขั้นตอนการดำเนินโครงการที่ชัดเจน มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ (4) ด้านผลผลิต พบว่าโครงการสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนได้และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ สำหรับปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการส่วนใหญ่เป็นปัญหาในด้านเทคนิคการก่อสร้างที่ต้องมีการแก้ไขรูปแบบรายการ และขยายสัญญา เพื่อให้งานก่อสร้างสอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในอนาคตควรมีการศึกษาประเมินความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณรวมถึงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินโครงการต่อไป


พฤติกรรมและทัศนคติต่อการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) และต่อระบบภาษี ของผู้ประกอบอาชีพในเศรษฐกิจนอกระบบ กรณีศึกษา ผู้ประกอบการออนไลน์, ชญานิน แก้วหาญ Jan 2019

พฤติกรรมและทัศนคติต่อการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) และต่อระบบภาษี ของผู้ประกอบอาชีพในเศรษฐกิจนอกระบบ กรณีศึกษา ผู้ประกอบการออนไลน์, ชญานิน แก้วหาญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมและทัศนคติต่อ (1) การใช้งานระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) (2) การชำระภาษี ของผู้ประกอบการออนไลน์ที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกภาคทางการ และ (3) เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองส่วนข้างต้น โดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ผู้ประกอบการออนไลน์ที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ จำนวน 10 ราย เก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง โดยจำแนกเนื้อหาในการเก็บข้อมูลตามคำถามในการวิจัยและทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้แนวคิดทฤษฎีตามกรอบแนวคิดมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์เพื่อตอบคำถามของงานวิจัยดังกล่าว ผลการศึกษาพบว่า (1) ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีพฤติกรรมและทัศนคติต่อการใช้งาน e-Payment ที่เป็นไปตามความยอมรับและตั้งใจใช้งานเทคโนโลยี จากการเห็นประโยชน์ คุณค่า มีความคุ้นชินในการใช้งาน รวมถึงความมีอิทธิพลของสังคมที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการใช้งาน ในส่วนของผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการใช้งาน พบว่าเกิดจากความไม่รู้เทคโนโลยีและวิธีการใช้งาน (2) ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการยื่นแสดงรายได้จากกิจการออนไลน์ เนื่องด้วยรายได้ยังไม่เข้าข่ายที่จะต้องชำระภาษี และความไม่เชื่อมั่นถึงประโยชน์จากการนำเงินภาษีไปใช้ ส่วนรายที่มีประสบการณ์ในการแจ้งยื่นรายได้เนื่องด้วยเหตุผลที่ต้องการทำตามกฎหมายให้ถูกต้องและเกรงกลัวต่อโทษปรับ (3) ผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ระบบภาษี เป็นผู้ประกอบการที่กิจการเติบโตในระดับหนึ่ง มีรายได้ที่เข้าข่ายจะต้องชำระภาษี และต้องการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกิจการ กลุ่มนี้มีพฤติกรรมและทัศนติต่อการใช้งาน e-Payment ที่ดีและพร้อมเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีหรือใช้ e-Payment ที่อาจเชื่อมโยงไปสู่การชำระภาษี (4) ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ระบบ แม้ว่าจะมีพฤติกรรมเชิงบวกต่อการใช้ e-Payment แต่ด้วยเหตุผลที่รายได้ยังไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษี จึงไม่มีความพร้อมใช้เทคโนโลยีหรือใช้ระบบ e-Payment ที่อาจเชื่อมโยงไปสู่การชำระภาษี เนื่องจากมองว่าเป็นภาระต้นทุนเพิ่มในการศึกษาและการใช้งาน


ประสิทธิผลการตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีและการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงปี พ.ศ. 2557 - 2562, ปัฐญา วีระไวทยะ Jan 2019

ประสิทธิผลการตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีและการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงปี พ.ศ. 2557 - 2562, ปัฐญา วีระไวทยะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยเรื่อง “ประสิทธิผลการตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีและการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงปี พ.ศ. 2557 - 2562” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายของรัฐบาล การนำนโยบายไปปฏิบัติ รวมถึงประสิทธิผลผ่านการตรวจราชการและการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ เนื่องจากรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และได้กำหนดแนวนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินตามคำแถลงนโยบายที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยการลงพื้นที่ตรวจราชการและการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่เป็นวิธีหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ผลการศึกษาพบว่า ในการตรวจราชการและการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ตลอดรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (กันยายน พ.ศ. 2557 - พฤษภาคม พ.ศ. 2562) รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเน้นด้านการเกษตรและพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลัก นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ตามลำดับ โดยมีจังหวัดเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญในระดับพื้นที่ เพราะมีความเข้าใจในบริบทของสภาพแวดล้อม ใกล้ชิดและรับรู้ความต้องการของประชาชน ตลอดจนสิ่งที่จังหวัดต้องการขับเคลื่อนนโยบายหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการนำนโยบายไปปฏิบัติเริ่มต้นจากการที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดนำนโยบายหรือข้อสั่งการไปปฏิบัติ โดยเน้นการดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อนำนโยบายมาปฏิบัติจริงในพื้นที่พบว่า จังหวัดอาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากร และการดำเนินงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน สำหรับประสิทธิผลของการตรวจราชการและการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่พบว่า บางข้อสั่งการสามารถนำไปปฏิบัติจนเป็นรูปธรรม อยู่ระหว่างการดำเนินงาน และบางข้อสั่งการมีข้อจำกัดจึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร นอกจากนี้ การสั่งการของนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการนำนโยบายไปปฏิบัติในพื้นที่ เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีบริบทและสภาพสังคมแตกต่างกัน รวมทั้งรัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ และรัฐบาลควรเพิ่มการติดตามผลการนำข้อสั่งการไปปฏิบัติ เพื่อให้การตรวจราชการและการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่มีประสิทธิผลและเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด


ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง, พชร สุดประเสริฐ Jan 2019

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง, พชร สุดประเสริฐ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของกรมโยธาธิการและผังเมืองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินโครงการ โดยการศึกษาในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพดำเนินการศึกษาด้วยวิธีการสัมภาษณ์กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ซึ่งสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของโครงการ พบว่าโครงการมีจุดแข็งคือแก้ไขปัญหาที่ดินตาบอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดอ่อน คือมีหลายขั้นตอน แต่ละขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินงาน โอกาสได้แก่ นโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท และการแก้ไขปัญหาที่ดินตาบอด ส่วนอุปสรรคได้แก่ความเสี่ยงที่เจ้าของที่ดินบางรายมีการถอนตัวในระหว่างดำเนินโครงการส่งผลให้การดำเนินโครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินโครงการประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) มีนโยบาย แผนงานโครงการ และแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการ (2) บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงาน (3) การมีส่วนร่วมของเจ้าของที่ดิน และ (4) ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ ได้แก่ มีการโยกย้ายข้าราชการทำให้การดำเนินโครงการไม่ต่อเนื่อง และปริมาณงานเพิ่มขึ้น ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต ควรมีประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการตลอดจนการศึกษาแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่