Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Psychology

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

2017

Articles 1 - 25 of 25

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

ความสัมพันธ์ระหว่างการเห็นคุณค่าในตนเอง การเปิดรับอิทธิพลจากสื่อ การประเมินตนเสมือนวัตถุ และความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายในชายรักชายและชายรักต่างเพศ, พรรณทิพา ปัทมอารักษ์ Jan 2017

ความสัมพันธ์ระหว่างการเห็นคุณค่าในตนเอง การเปิดรับอิทธิพลจากสื่อ การประเมินตนเสมือนวัตถุ และความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายในชายรักชายและชายรักต่างเพศ, พรรณทิพา ปัทมอารักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายของนิสิตนักศึกษาชายรักชายและชายรักต่างเพศ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ที่การเห็นคุณค่าในตนเอง การเปิดรับอิทธิพลจากสื่อ การประเมินตนเสมือนวัตถุมีกับความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกาย กลุ่มตัวอย่างคือนิสิตชายรักชายและชายรักต่างเพศระดับปริญญาตรี จำนวน 233 คน ซึ่งตอบเครื่องมือวัด 4 ฉบับ ได้แก่ มาตรวัดความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกาย มาตรวัดการเห็นคุณค่าในตนเอง มาตรวัดการเปิดรับอิทธิพลจากสื่อ มาตรวัดการประเมินตนเสมือนวัตถุ ซึ่งแบ่งเป็นสามด้านย่อย อันได้แก่ ด้านการเฝ้าสำรวจภาพลักษณ์ทางร่างกายตนเอง ด้านความรู้สึกอับอายในภาพลักษณ์ทางร่างกายตนเอง และด้านความเชื่อเกี่ยวกับการควบคุมภาพลักษณ์ทางร่างกายตนเอง ข้อมูลที่ได้รับถูกนำมาวิเคราะห์ทางสถิติโดยการทดสอบค่าที (Independent sample t-test) เพื่อเปรียบเทียบความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายของนิสิตนักศึกษาทั้งสองกลุ่ม และศึกษาสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษาด้วยการสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและการวิเคราะห์การถดถอยพหคูณ ผลการวิจัยพบว่า 1. กลุ่มตัวอย่างชายรักชายจะมีระดับความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างชายรักต่างเพศอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t(231) = 6.65, p < .001) 2. ในกลุ่มตัวอย่างชายรักชาย เมื่อพิจารณาร่วมกันโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบการถดถอยพหุคูณ ด้วยวิธีการใส่ตัวแปรอิสระทั้งหมดเข้าไปในสมการ (Enter method) พบว่าการเห็นคุณค่าในตนเอง การเปิดรับอิทธิพลจากสื่อ การประเมินตนเสมือนวัตถุร่วมกันทำนายความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R2 = .60, p < .001) 3. ในกลุ่มตัวอย่างชายรักต่างเพศ เมื่อพิจารณาร่วมกันโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบการถดถอยพหุคูณ ด้วยวิธีการใส่ตัวแปรอิสระทั้งหมดเข้าไปในสมการ (Enter method) พบว่าการเห็นคุณค่าในตนเอง การเปิดรับอิทธิพลจากสื่อ การประเมินตนเสมือนวัตถุ ร่วมกันทำนายความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R2 = .31, p < .001)


ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้คู่ครองในอุดมคติและการเลือกรูปแบบการรับมือกับปัญหาโดยมีความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับความสัมพันธ์เป็นตัวแปรกำกับและความพึงพอใจในความสัมพันธ์เป็นตัวแปรส่งผ่าน, วสพร ไชยะกุล Jan 2017

ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้คู่ครองในอุดมคติและการเลือกรูปแบบการรับมือกับปัญหาโดยมีความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับความสัมพันธ์เป็นตัวแปรกำกับและความพึงพอใจในความสัมพันธ์เป็นตัวแปรส่งผ่าน, วสพร ไชยะกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ว่าคู่ครองตรงกับอุดมคติ และรูปแบบการรับมือกับปัญหา โดยมีความพึงพอใจในความสัมพันธ์เป็นตัวแปรส่งผ่าน และความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบเติบโตได้เป็นตัวแปรกำกับ กลุ่มตัวอย่างเป็นคนทั่วไป อายุ 18-60 ปี จำนวน 302 คน (ชาย 164 คน หญิง 138 คน) ที่มีคู่รักในปัจจุบันซึ่งคบหากันเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ ผู้เข้าร่วมการวิจัยตอบแบบสอบถาม การรับรู้ว่าคู่ครองตรงกับอุดมคติ ความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบเติบโตได้ การรับมือกับปัญหาแบบส่งเสริมความสัมพันธ์ และความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ผลพบว่าการรับรู้ว่าคู่ครองตรงกับอุดมคติส่งอิทธิพลทางตรงทางบวกต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ และมีอิทธิพลทางอ้อมต่อรูปแบบการรับมือกับปัญหาที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และรูปแบบการรับมือกับปัญหาที่บั่นทอนความสัมพันธ์ โดยมีความพึงพอใจในความสัมพันธ์เป็นตัวแปรส่งผ่าน แต่ความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบเติบโตได้ไม่มีอิทธิพลกำกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรดังกล่าว ผลที่พบสามารถอธิบายได้ว่า บุคคลที่มีการรับรู้ว่าคู่ครองตรงกับอุดมคติสูง จะมีความพึงพอใจในความสัมพันธ์มากกว่า ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะใช้รูปแบบการรับมือกับปัญหาที่ส่งเสริมความสัมพันธ์มากกว่า ในทางกลับกัน ผู้ที่มีการรับรู้ว่าคู่ครองตรงกับอุดมคติต่ำ มีความพึงพอใจในความสัมพันธ์ต่ำกว่า ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะใช้รูปแบบการรับมือกับปัญหาที่บั่นทอนความสัมพันธ์มากกว่า โดยแบบแผนความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นทั้งในคนที่มีความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบเติบโตได้สูงและต่ำ


Hiring Discrimination Against Highly-Competent Candidates: An Investigation Of Competence And Warmth Stereotypes, And Cooperative/Competitive Mindsets, Vipavee Puttaravuttiporn Jan 2017

Hiring Discrimination Against Highly-Competent Candidates: An Investigation Of Competence And Warmth Stereotypes, And Cooperative/Competitive Mindsets, Vipavee Puttaravuttiporn

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This study applies the continuum model of impression formation and the stereotype content model to investigate the effect of warmth and competence stereotype on blatant and subtle hiring discrimination against highly-competent candidates. Study 1 (N = 220) used hypothetical countries and Study 2 (N = 512) used four ASEAN Economic Community (AEC) countries to manipulate the competence and warmth stereotypes. The results offer a theoretical extension to the stereotype content model where warmth and competence stereotypes have differentiating effects on hiring discrimination against highly-competent candidates. Results from both studies showed that competence stereotype had a significant positive direct effect on …


ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมทางสังคมของที่อยู่อาศัยกับสุขภาวะของผู้สูงวัย : อิทธิพลส่งผ่านของการเห็นคุณค่าในตนเองแบบเน้นอัตลักษณ์ตนและการเห็นคุณค่าในตนเองแบบเน้นความสัมพันธ์, เบญจภรณ์ ธโนศวรรย์ Jan 2017

ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมทางสังคมของที่อยู่อาศัยกับสุขภาวะของผู้สูงวัย : อิทธิพลส่งผ่านของการเห็นคุณค่าในตนเองแบบเน้นอัตลักษณ์ตนและการเห็นคุณค่าในตนเองแบบเน้นความสัมพันธ์, เบญจภรณ์ ธโนศวรรย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อสำรวจผลกระทบของสภาพแวดล้อมทางสังคมของที่อยู่อาศัยต่อสุขภาวะของผู้สูงวัย ผู้ร่วมการวิจัยเป็นผู้สูงวัยจำนวน 400 คน ประกอบด้วยผู้สูงวัยที่อาศัยในบ้านพักส่วนตัว 200 คน และผู้สูงวัยที่อาศัยในโครงการที่พักผู้สูงวัย เช่น สวางคนิเวศ 200 คน กลุ่มตัวอย่างถูกประเมินเรื่องสภาพแวดล้อมทางสังคมของที่พักอาศัย การเห็นคุณค่าของตนเองแบบเน้นอัตลักษณ์ตน การเห็นคุณค่าในตนเองแบบเน้นความสัมพันธ์ และสุขภาวะส่วนบุคคล ผลการวิเคราะห์โมเดลสมการเชิงโครงสร้างพบว่า สภาพแวดล้อมทางสังคมของที่พักอาศัยมีอิทธิพลทางตรงทางบวกต่อสุขภาวะของผู้สูงวัย และมีอิทธิพลทางอ้อมผ่านการเห็นคุณค่าในตนเองแบบเน้นอัตลักษณ์ตนและการเห็นคุณค่าในตนเองแบบเน้นความสัมพันธ์ เมื่อวิเคราะห์แต่ละกลุ่มเพิ่มเติมพบว่า การเห็นคุณค่าในตนเองแบบเน้นอัตลักษณ์ตนมีอิทธิพลส่งผ่านแบบสมบูรณ์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมทางสังคมของที่พักอาศัยและสุขภาวะของผู้สูงวัยที่อาศัยในบ้านพักส่วนตัว ในขณะที่การเห็นคุณค่าในตนเองแบบเน้นอัตลักษณ์ตนและการเห็นคุณค่าในตนเองแบบเน้นความสัมพันธ์มีอิทธิพลส่งผ่านบางส่วนต่อความสัมพันธ์นี้ในกลุ่มผู้สูงวัยที่อาศัยในโครงการที่พักผู้สูงวัย สภาพแวดล้อมทางสังคมของที่พักอาศัยมีอิทธิพลทางตรงต่อสุขภาวะเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยที่อาศัยในโครงการที่พักผู้สูงวัยเท่านั้น แม้ว่าคะแนนสุขภาวะของกลุ่มผู้สูงวัยที่อาศัยในโครงการที่พักผู้สูงวัยจะสูงกว่าอีกกลุ่ม แต่ความแตกต่างนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ


การปรับงาน ความสอดคล้องระหว่างบุคคลกับงาน และงานที่มีความหมาย: การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านระยะยาว, ติชิลา พัชรดำรงกุล Jan 2017

การปรับงาน ความสอดคล้องระหว่างบุคคลกับงาน และงานที่มีความหมาย: การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านระยะยาว, ติชิลา พัชรดำรงกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของความสัมพันธ์ระหว่างการปรับงาน ความสอดคล้องระหว่างบุคคลกับงานและงานที่มีความหมาย โดยใช้การศึกษาระยะสั้นและระยะยาว ข้อมูล 3 ช่วงเวลาถูกเก็บจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นพนักงานที่ทำงานในองค์การภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย (N = 190) โดยเว้นระยะ 2 สัปดาห์ ผลการวิเคราะห์เหลื่อมเวลาไขว้ไม่พบอิทธิพลของการปรับงานครั้งที่ 1 ต่อความสอดคล้องระหว่างบุคคลกับงานครั้งที่ 2 และความสอดคล้องระหว่างบุคคลกับงานครั้งที่ 2 ต่องานที่มีความหมายครั้งที่ 3 กล่าวคือไม่พบอิทธิพลระยะยาวของการปรับงาน อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์โมเดลความสัมพันธ์ระหว่างการปรับงาน ความสอดคล้องระหว่างบุคคลกับงาน และงานที่มีความหมายในช่วงเวลาเดียวกันมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ในเกณฑ์ดีทั้ง 3 ช่วงเวลา นอกจากนี้ยังพบว่าความสอดคล้องระหว่างบุคคลกับงานเป็นตัวแปรส่งผ่านความสัมพันธ์ระหว่างการปรับงานและงานที่มีความหมายในการวิเคราะห์ในช่วงเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบมาตรวัดการปรับงานทั้ง 2 มาตรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ พบว่ามาตรวัดการปรับงานของ Slemp และ Vella-Brodrick (2013) สามารถทำนายงานที่มีความหมายได้ดีกว่ามาตรวัดการปรับงานของ Tims, Bakker และ Derks (2012)


ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์, พิมพ์พลอย รุ่งแสง Jan 2017

ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์, พิมพ์พลอย รุ่งแสง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่ถูกรังแกทางโลกไซเบอร์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีประสบการณ์การถูกรังแกทางโลกไซเบอร์ อายุระหว่าง 12-15 ปี จำนวน 30 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 15 คน กลุ่มทดลองเข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ในขณะที่กลุ่มควบคุมดำเนินชีวิตไปตามปกติ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบวัดการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) ของ ประวีณา ธาดาพรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ เชิงพรรณนาและสถิติทดสอบความแปรปรวน (Mixed-design ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนการเห็นคุณค่าในตนเองในช่วงก่อน-หลังการทดลองและช่วงติดตามผลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมพบว่าคะแนนการเห็นคุณค่าในตนเองในช่วงหลังการทดลองและช่วงติดตามผลของทั้งสองกลุ่ม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) ดังนั้น โปรแกรมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสามารถใช้เพื่อเพิ่มระดับการเห็นคุณค่าในตนเองในเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่ตกเป็นเหยื่อการถูกรังแกทางโลกไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อัตลักษณ์ทางจริยธรรม และคติรวมหมู่ทางจิตในฐานะตัวแปรกำกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง และพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า, ชิตพล สุวรรณนที Jan 2017

อัตลักษณ์ทางจริยธรรม และคติรวมหมู่ทางจิตในฐานะตัวแปรกำกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง และพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า, ชิตพล สุวรรณนที

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลกำกับของคติรวมหมู่ทางจิต และอัตลักษณ์ทางจริยธรรมต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง และพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานองค์การภาคเอกชน และภาคราชการ รวมทั้งสิ้น 452 คน ให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยตอบแบบสอบถามรายงานตนแบบกระดาษ หรือแบบออนไลน์ ผลการวิเคราะห์สมการโครงสร้างอิทธิพลกำกับของตัวแปรแฝงพบว่า บุคลิกภาพแบบหลงตนเองมีอิทธิพลทางตรงต่อพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตามสมมติฐาน (b = .08, p<.01) นอกจากนี้ยังพบอิทธิพลกำกับของอัตลักษณ์ทางจริยธรรมต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบหลงตนเองและพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า (b = -1.42, p<.05) ส่งผลทำให้พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าลดลง อย่างไรก็ตามผู้วิจัยไม่พบนัยสำคัญทางสถิติของคติรวมหมู่ทางจิตในฐานะตัวแปรกำกับของความสัมพันธ์นี้


ประสบการณ์ทางจิตใจในระยะแรกของพ่อแม่หลังจากลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ, เพิ่มพูน สานิชวรรณกุล Jan 2017

ประสบการณ์ทางจิตใจในระยะแรกของพ่อแม่หลังจากลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ, เพิ่มพูน สานิชวรรณกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจในระยะแรกของพ่อแม่หลังจากลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ผู้ให้ข้อมูลในงานวิจัยครั้งนี้ คือ พ่อแม่ที่ลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษจากกุมารแพทย์สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จำนวน 7 ราย คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจนข้อมูลอิ่มตัว และวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวการวิจัยคุณภาพเชิงปรากฏการณ์วิทยา ผลการวิจัยพบ 3 ประเด็นหลักคือ (1) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ ได้แก่ การมีปัญหาในการเลี้ยงดูลูก การสังเกตและการรับรู้ความผิดปกติของบุคคลรอบข้าง และทรัพยากรในการรักษา (2) การรับรู้ผลการวินิจฉัย ได้แก่ ข้อมูลที่ได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ ความไม่อยากยอมรับผลการวินิจฉัย และการยอมรับผลการวินิจฉัยและความพร้อมที่จะดูแลลูก (3) กระบวนการปรับตัวและการก้าวข้ามผ่านอุปสรรค ได้แก่ ความยากลำบากของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กำลังใจจากครอบครัว การสนับสนุนจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ แรงบันดาลใจจากพ่อแม่คนอื่น และความมุ่งมั่นตั้งใจในการดูแลลูก


บทบาทการเป็นตัวแปรส่งผ่านของการรับรู้ความสามารถในการเป็นบิดามารดาในความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ของบิดามารดาในพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของบุตรออทิสติกกับปัญหาทางจิตใจของบิดามารดา, เอื้อจิต พูนพนิช Jan 2017

บทบาทการเป็นตัวแปรส่งผ่านของการรับรู้ความสามารถในการเป็นบิดามารดาในความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ของบิดามารดาในพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของบุตรออทิสติกกับปัญหาทางจิตใจของบิดามารดา, เอื้อจิต พูนพนิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทการเป็นตัวแปรส่งผ่านของการรับรู้ความสามารถในการเป็นบิดามารดา ในความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ของบิดามารดาในพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของบุตรออทิสติกกับปัญหาทางจิตใจของบิดามารดา โดยผู้เข้าร่วมการวิจัยคือ บิดาและมารดา จำนวน 119 คน (มารดา 83.2%) ที่มีบุตรเป็นออทิสติกอายุระหว่าง 3-12 ปี (อายุเฉลี่ย 7.08 ปี, เพศชาย 81.5%) และเป็นผู้ดูแลหลัก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) มาตรวัดปัญหาทางจิตใจของบิดามารดา (ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเครียด) 2) มาตรวัดการรับรู้ของบิดามารดาในพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของบุตรออทิสติก และ 3) มาตรวัดการรับรู้ความสามารถในการเป็นบิดามารดา ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS และ PROCESS ในการวิเคราะห์สหสัมพันธ์และการวิเคราะห์ตัวแปรส่งผ่านอย่างง่าย (Simple Mediation Analysis) โดยผลการวิจัยพบว่า การรับรู้ความสามารถในการเป็นบิดามารดาเป็นตัวแปรส่งผ่าน ระหว่างความสัมพันธ์ของการรับรู้ของบิดามารดาในพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของบุตรออทิสติกกับปัญหาทางจิตใจของบิดามารดา (b = 0.13, 95% Cl [0.002, 0.388]) นักจิตวิทยาและบุคลากรด้านการศึกษาพิเศษหรือสุขภาพจิตสามารถนำองค์ความรู้จากผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการสร้างโปรแกรมให้ความช่วยเหลือแก่บิดามารดาที่มีบุตรออทิสติก โดยมุ่งเน้นไปที่การรับรู้ความสามารถในการเป็นบิดามารดาเพื่อป้องกันและลดแนวโน้มในการเกิดปัญหาทางจิตใจ


ประสบการณ์ทางจิตใจของวัยรุ่นที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงที่มีภูมิหลังครอบครัวขัดแย้งสูง, กิตติคุณ ซึ้งหฤทัย Jan 2017

ประสบการณ์ทางจิตใจของวัยรุ่นที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงที่มีภูมิหลังครอบครัวขัดแย้งสูง, กิตติคุณ ซึ้งหฤทัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความ (Interpretative Phenomenological Analysis: IPA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของวัยรุ่นที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงที่มีภูมิหลังครอบครัวขัดแย้งสูง โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคลแบบกึ่งมีโครงสร้าง (Semi-structured interview) กับผู้ให้ข้อมูลจำนวน 8 ราย ซึ่งผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มีอายุตั้งแต่ 18-22 ปี ที่รายงานว่าตนมีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงและมีการรับรู้ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองสูงจากการตอบแบบสอบถาม โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าประสบการณ์ของผู้ให้ข้อมูลสามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นหลักที่ 1 รูปแบบของความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ที่ตนเผชิญ ได้แก่ สาเหตุความขัดแย้งของพ่อแม่ การแสดงออกของพ่อแม่ต่อความขัดแย้ง และการกลับมาเป็นปกติในความสัมพันธ์ของพ่อแม่ ประเด็นหลักที่ 2 ปฏิกิริยาของลูกที่มีต่อความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ ได้แก่ การรับมือของลูกต่อความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ และสิ่งที่ลูกได้เรียนรู้จากความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ และประเด็นหลักที่ 3 การมีทรัพยากรที่เอื้อต่อการมีความมั่นคงทางจิตใจ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล และทรัพยากรที่มั่นคงภายในจิตใจ โดยผู้วิจัยได้สรุปและอภิปรายไว้เกี่ยวกับปัจจัยที่เอื้อต่อการมีความมั่นคงทางจิตใจของวัยรุ่น


ประสบการณ์ทางจิตใจของนักกีฬาคนพิการที่มีความมั่นหมาย, จิราวัฒน์ เหลาสุภาพ Jan 2017

ประสบการณ์ทางจิตใจของนักกีฬาคนพิการที่มีความมั่นหมาย, จิราวัฒน์ เหลาสุภาพ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของนักกีฬาคนพิการที่มีความมั่นหมาย โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาในการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลเป็นนักกีฬาคนพิการจำนวน 8 ราย คัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนดและเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ต้นธารของความสำเร็จ ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย คือ ความมุ่งมั่นทำสิ่งดีให้ครอบครัว ความรักในสิ่งที่ทำ เกียรติของการได้ทำเพื่อประเทศ และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน (2) ปัจจัยเกื้อหนุนในการฝ่าฟันอุปสรรค ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย คือ กำลังใจจากครอบครัวช่วยให้มีแรงฝ่าฟันอุปสรรค การช่วยเหลือเกื้อกูลของทีมนักกีฬา การมีมุมมองที่เอื้อต่อการแก้ปัญหา และการมีความมานะอดทนต่ออุปสรรค (3) พลังฃขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย คือ ตระหนักถึงความยากลำบากของคนพิการ และต้องการมีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลให้ชีวิตคนพิการดีขึ้น และ (4) ภาวะจิตใจของความสำเร็จ ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย คือ ภาวะจิตใจในฐานะปัจเจก และภาวะจิตใจในฐานะนักกีฬา มีการอภิปรายถึงแนวทางการนำไปใช้สำหรับนักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้ที่ทำงานกับนักกีฬาคนพิการ


อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองต่อความก้าวร้าว โดยมีการควบคุมตนเองเป็นตัวแปรส่งผ่าน และการละเลยศีลธรรมเป็นตัวแปรส่งผ่านและตัวแปรกำกับ : การเปรียบเทียบโมเดลอิทธิพลส่งผ่านที่มีอิทธิพลกำกับระหว่างผู้ต้องขังหญิงและเพศหญิงที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง, ชนัญชิดา ทุมมานนท์ Jan 2017

อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองต่อความก้าวร้าว โดยมีการควบคุมตนเองเป็นตัวแปรส่งผ่าน และการละเลยศีลธรรมเป็นตัวแปรส่งผ่านและตัวแปรกำกับ : การเปรียบเทียบโมเดลอิทธิพลส่งผ่านที่มีอิทธิพลกำกับระหว่างผู้ต้องขังหญิงและเพศหญิงที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง, ชนัญชิดา ทุมมานนท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของความก้าวร้าวในเพศหญิง และเปรียบเทียบโมเดลความก้าวร้าวระหว่างผู้ต้องขังหญิงกับเพศหญิงที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง มีกลุ่มตัวอย่างผู้ต้องขังหญิง จำนวน 953 คน และกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง จำนวน 728 คน ตอบมาตรวัดแบบรายงานตนเอง 4 ฉบับ คือ มาตรวัดบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง มาตรวัดการควบคุมตนเอง มาตรวัดการละเลยศีลธรรม และมาตรวัดความก้าวร้าว การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของความก้าวร้าวด้วยโมเดลสมการเชิงโครงสร้าง พบว่า บุคลิกภาพแบบหลงตนเองมีอิทธิพลทางตรงต่อความก้าวร้าวในกลุ่มตัวอย่างผู้ต้องขังหญิง แต่ไม่มีอิทธิพลทางตรงต่อความก้าวร้าวในกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง การควบคุมตนเองไม่เป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างบุคลิกภาพแบบหลงตนเองต่อความก้าวร้าวทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่าง บุคลิกภาพแบบหลงตนเองมีอิทธิพลทางอ้อมต่อความก้าวร้าว โดยมีการละเลยศีลธรรมเป็นตัวแปรส่งผ่านทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่าง การละเลยศีลธรรมเป็นตัวแปรกำกับอิทธิพลของการควบคุมตนเองต่อความก้าวร้าวทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่าง และลักษณะของกลุ่มตัวอย่างเป็นตัวแปรกำกับอิทธิพลของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองต่อความก้าวร้าว


ความสัมพันธ์ระหว่างการล้อเลียนกับความซึมเศร้าและความวิตกกังวลในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น โดยมีคุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทและการยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนเป็นตัวแปรส่งผ่าน และมีความสามารถในการฟื้นพลังเป็นตัวแปรกำกับ, ณัฐพล ชัยกิตติพรเลิศ Jan 2017

ความสัมพันธ์ระหว่างการล้อเลียนกับความซึมเศร้าและความวิตกกังวลในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น โดยมีคุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทและการยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนเป็นตัวแปรส่งผ่าน และมีความสามารถในการฟื้นพลังเป็นตัวแปรกำกับ, ณัฐพล ชัยกิตติพรเลิศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลุ่มวัยรุ่นตอนต้นในเรื่องความสัมพันธ์ของการถูกล้อเลียนที่ส่งผลให้เกิดความซึมเศร้าและความวิตกกังวล โดยมีคุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทและการยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนเป็นตัวแปรส่งผ่าน และมีความสามารถในการฟื้นพลังเป็นตัวแปรกำกับ โดยผู้เข้าร่วมงานวิจัย คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนในจังหวัดกรุงเทพมหานคร มีอายุระหว่าง 13 - 15 ปี การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 433 คน ผู้วิจัยตรวจสอบสมมติฐานด้วยการทดสอบตัวแปรส่งผ่านและตัวแปรกำกับ ด้วยการทดสอบตัวแปรส่งผ่านอย่างมีเงื่อนไข (moderated mediation) ผลการวิจัยพบว่า 1. คุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทเป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่าง การถูกล้อเลียน และความซึมเศร้าและความวิตกกังวล (B = .02, p < .05) 2. การยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนไม่ได้เป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่าง การถูกล้อเลียน และความซึมเศร้าและความวิตกกังวล แต่การล้อเลียน สัมพันธ์ทางบวกกับการยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเพียงอย่างเดียว (B = .13, p < .05) 3. ความสามารถในการฟื้นพลัง เป็นตัวแปรกำกับระหว่าง คุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทและความซึมเศร้าและความวิตกกังวล (B = -.13, p < .05) และ 4. การถูกล้อเลียนสามารถอธิบายความซึมเศร้าและความวิตกกังวลของวัยรุ่นได้โดยตรง เมื่อควบคุมอิทธิพลของตัวแปรส่งผ่านทั้ง 2 ตัวแปร (B = .36, p < .05) ผลการวิจัยสามารถนำไปปรับใช้ในการออกแบบโปรแกรมเพื่อจัดการกับปัญหาการล้อเลียน โดยเสริมสร้างให้เด็กมีความสามารถในการฟื้นพลังมากขึ้น โดยผู้วิจัยได้อภิปรายถึงแนวทางการป้องกันต่าง ๆ เพื่อให้เด็กที่่ถูกล้อเลียนสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่ส่งผลให้เกิดความซึมเศร้าและความวิตกกังวลตามมา


การพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพชุดเครื่องมือประเมินอารมณ์ทารกไทย วัย 12 เดือน, ทยิดา ธนโชติวรรณ Jan 2017

การพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพชุดเครื่องมือประเมินอารมณ์ทารกไทย วัย 12 เดือน, ทยิดา ธนโชติวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพชุดเครื่องมือประเมินพัฒนาการทางอารมณ์ในทารกไทยวัย 12 เดือน กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้ปกครอง/ผู้ดูแลหลักและทารกอายุ 12 เดือน ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 30 คู่ และ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่30 คู่ เครื่องมือที่พัฒนาและตรวจสอบคุณภาพในงานวิจัยนี้ ได้แก่ ชุดเครื่องมือประเมินการแสดงอารมณ์ทารก คือ Laboratory Temperament Assessments Battery (Lab-TAB) และแบบประเมินพฤติกรรมทารกที่ประเมินโดยผู้ปกครอง คือ Mini Infant Behavior Questionnaire (IBQ) - Thai version ผลการวิจัยพบว่า ชุดเครื่องมือLab-TAB มีค่าความเที่ยงระหว่างผู้ประเมินในระดับดีมาก คือ มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ภายในชั้น (Intra-class Correlation Coefficient) อยู่ระหว่าง.96 ถึง .99 ผลการวิเคราะห์ความตรงเชิงสอดคล้องระหว่างชุดเครื่องมือLab-TAB และแบบประเมิน Mini IBQ -Thai version พบว่ามีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson product moment correlation coefficient) ของการประเมินอารมณ์สนุกสนาน อารมณ์เพลิดเพลิน การยิ้มการหัวเราะ อารมณ์กลัว และอารมณ์โกรธอยู่ในระดับ .39 - .76 และเมื่อวิเคราะห์ด้วยเมตริกซ์หลายคุณลักษณะวิธี (Multitrait-Multimethod Matrix; MMTM) พบว่าชุดเครื่องมือ Lab-TAB และแบบประเมิน Mini IBQ -Thai version มีความตรงเชิงสอดคล้องและความตรงเชิงจำแนก (convergent and discriminant validity) อยู่ในระดับดี ผลการวิเคราะห์ความแผ่ขยาย (Generalizability) ของชุดเครื่องมือ Lab-TAB ระหว่างกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า เครื่องมือนี้สามารถใช้ประเมินทารกวัย 12 เดือนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ ได้ด้วยผลคะแนนที่ไม่แตกต่างกัน


ผลของการยืนยันตนเองต่อการลดสภาวะวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ : อิทธิพลกำกับของคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะและการเห็นคุณค่าในตนเอง, ธนิกานต์ มณีขาว Jan 2017

ผลของการยืนยันตนเองต่อการลดสภาวะวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ : อิทธิพลกำกับของคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะและการเห็นคุณค่าในตนเอง, ธนิกานต์ มณีขาว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการลดสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะด้วยทฤษฎีการยืนยันตนเอง โดยใช้วิธีที่หลากหลายในการวัดสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ ได้แก่ การรายงานตนเอง ความแปรปรวนอัตราการเต้นหัวใจ และการนำไฟฟ้าที่ผิวหนัง และยังศึกษาอิทธิพลกำกับของคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะและการเห็นคุณค่าในตนเอง โดยมีกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี ชั้นปี 1-4 ช่วงอายุ 18-23 ปี จำนวน 90 คน ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม และกลุ่มยืนยันตนเอง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป เครื่องมือวัดคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ สภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ การเห็นคุณค่าในตนเอง ศักดิ์ศรีในตนเอง เครื่องมือวัดความแปรปรวนอัตราการเต้นหัวใจและการนำไฟฟ้าที่ผิวหนัง ผลการวิเคราะห์เส้นทาง (path analysis) ด้วยโปรแกรม LISREL พบว่าโมเดลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองและคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะเป็นตัวแปรกำกับระหว่างการยืนยันตนเองและสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในเกณฑ์ดี (x2 = 6.71, p = 0.67, df = 9, x2/df = 0.75, GFI = 0.99, AGFI = 0.89, CFI = 1.00, RMSEA = 0.00, RMR = 0.50) การยืนยันตนเองมีอิทธิพลทางลบต่อการนำไฟฟ้าที่ผิวหนังอย่างมีนัยสำคัญ (B = -0.21, p < .01) และพบว่าการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นตัวแปรกำกับผลของการยืนยันตนเองต่อสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะที่วัดด้วยความแปรปรวนอัตราการเต้นหัวใจ โดยอิทธิพลดังกล่าวจะสูงในคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ แต่ไม่พบอิทธิพลกำกับของคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ


ผลของการมองจากมุมของผู้อื่นและการเห็นคุณค่าในตนเองจากความสัมพันธ์ต่อเจตคติรังเกียจกลุ่มและพฤติกรรมช่วยเหลือ : การศึกษาอิทธิพลกำกับและอิทธิพลส่งผ่าน, นรุตม์ พรประสิทธิ์ Jan 2017

ผลของการมองจากมุมของผู้อื่นและการเห็นคุณค่าในตนเองจากความสัมพันธ์ต่อเจตคติรังเกียจกลุ่มและพฤติกรรมช่วยเหลือ : การศึกษาอิทธิพลกำกับและอิทธิพลส่งผ่าน, นรุตม์ พรประสิทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มด้วยวิธีการมองจากมุมของผู้อื่นในต่างประเทศมีจำนวนมาก แต่ในไทยการศึกษาเรื่องนี้ยังคงมีจำนวนน้อย การศึกษาที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทการเป็นตัวแปรกำกับของการเห็นคุณค่าในตนเองจากความสัมพันธ์ ในการส่งอิทธิพลของการมองจากมุมของผู้อื่นที่มีต่อการลดเจตคติรังเกียจแบบเด่นชัด เจตคติรังเกียจกลุ่มแบบแอบแฝง และการเพิ่มพฤติกรรมช่วยเหลือ ผลการศึกษาที่ 1.1 จากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 112 คน พบว่าบุคคลในเงื่อนไขการเห็นคุณค่าในตนเองจากความสัมพันธ์ทางลบเมื่อมีการมองจากมุมของผู้อื่นจะสามารถลดเจตคติรังเกียจบุคคลรักเพศเดียวกันได้มากกว่าบุคคลในเงื่อนไขการเห็นคุณค่าในตนเองจากความสัมพันธ์ทางบวก ผลการศึกษาที่ 1.2 จากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 152 คน พบว่าอิทธิพลของการมองจากมุมของผู้อื่นที่มีต่อการลดเจตคติรังเกียจชาวพม่าแบบเด่นชัด การลดเจตคติรังเกียจชาวพม่าแบบแอบแฝง และการเพิ่มพฤติกรรมช่วยเหลือไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มเงื่อนไขควบคุมการเห็นคุณค่าในตนเองจากความสัมพันธ์ กลุ่มเงื่อนไขการเห็นคุณค่าในตนเองจากความสัมพันธ์ทางลบ และกลุ่มเงื่อนไขการเห็นคุณค่าในตนเองจากความสัมพันธ์ทางบวก การศึกษาที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทการเป็นตัวแปรกำกับของการเห็นคุณค่าในตนเองจากความสัมพันธ์ ในการส่งอิทธิพลของการมองจากมุมของผู้อื่นที่มีต่อเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบเด่นชัด โดยส่งผ่านการระบุตัวตนกับกลุ่มของตน การคล้อยตามบรรทัดฐาน และการรวมตนเองกับเป้าหมาย ผลการศึกษาจากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 271 คน พบว่าการส่งผ่านอิทธิพลของการมองจากมุมของผู้อื่นไปยังเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบเด่นชัดไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มเงื่อนไขควบคุมการเห็นคุณค่าในตนเองจากความสัมพันธ์ และกลุ่มเงื่อนไขการเห็นคุณค่าในตนเองจากความสัมพันธ์ทางบวก ข้อค้นพบนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการนำเทคนิคการมองจากมุมของผู้อื่นมาปรับใช้จำเป็นต้องคำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรมร่วมด้วย


การพัฒนามาตรวัดการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรี, ธนพงศ์ อุทยารัตน์ Jan 2017

การพัฒนามาตรวัดการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมของนิสิตนักศึกษาปริญญาตรี, ธนพงศ์ อุทยารัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องการคิดแก้ปัญหาของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรม 2) เพื่อพัฒนามาตรวัดการคิดแก้ปัญหาของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรมที่มีคุณลักษณะทางจิตมิติที่พึงประสงค์ 3) เพื่อศึกษาเกณฑ์ปกติของมาตรวัดการคิดแก้ปัญหาของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรม โดยใช้รูปแบบการวิจัยผสานวิธี โดยผู้วิจัยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องความการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมของนิสิตนักศึกษา ผ่านการคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลอย่างเฉพาะเจาะจง 15 ราย และ ระยะที่ 2 การศึกษาวิจัยเชิงปริมาณเพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพมาตรการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมของนิสิตนักศึกษา และพัฒนาเกณฑ์ปกติของมาตรวัดในกลุ่มนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 930 คน จาก 15 มหาวิทยาลัยซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอนจาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ผลการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่ากรอบมโนทัศน์การคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมของนิสิตนักศึกษาประกอบด้วย 4 ประเด็นหลักคือ (1) การรับรู้และทำความเข้าใจความทุกข์ (2) ใคร่ครวญจนรู้ชัดถึงสาเหตุของความทุกข์ (3) การลงมือจัดการความทุกข์ และ (4) ตรวจสอบว่าได้จัดการความทุกข์แล้ว ผลการพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของมาตรวัดพบว่า มีความตรงตามเนื้อหาจากการตรวจสอบของผู้ทรงคุณวุฒิ มีความตรงตามเกณฑ์สัมพันธ์กับแบบวัดปัญญา (r = .356) มาตรวัดความสุขของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรม (r = .434) มาตรวัดสุขภาวะทางจิตแบบสั้นด้านความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อม (r = .386) แบบวัดภาวะซึมเศร้า (r = -.269) แบบวัดความวิตกกังวล (r = -.332) ไม่พบความตรงตามเกณฑ์สัมพันธ์กับแบบวัดการหมกมุ่นครุ่นคิด (r = -.110) มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐานจากการเปรียบเทียบด้วยกลุ่มรู้ชัด (t = 2.05, p < .05) และโมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่หนึ่ง (χ2 = 1296.692, df = 659, p < .001, χ2/df = 1.967, GFI = .935, RMSEA = .0323, SRMR = .0304, CFI = .995, AGFI = .915) มีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .963 ผลในการพัฒนาเกณฑ์ปกติในรูปแบบคะแนนทีปกติอยู่ในช่วง T14.35 - T74.17 ผลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ทำให้ได้เครื่องมือสำหรับสำรวจ คัดกรอง และประเมินการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย ตลอดจนสามาถนำกรอบมโนทัศน์ที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการคิดแก้ปัญหาในบริบทพุทธธรรมสำหรับนิสิตนักศึกษาสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านจิตใจแก่นิสิตนักศึกษาต่อไป


การพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพชุดเครื่องมือในการประเมินพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทสำหรับเด็กไทยวัย 12 และ 18 เดือน ผ่านพฤติกรรมการเล่นของเล่น, วธูสิริ พรหมดวง Jan 2017

การพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพชุดเครื่องมือในการประเมินพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทสำหรับเด็กไทยวัย 12 และ 18 เดือน ผ่านพฤติกรรมการเล่นของเล่น, วธูสิริ พรหมดวง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของชุดเครื่องมือในการประเมินพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทสำหรับเด็กไทยผ่านพฤติกรรมการเล่นของเล่นของเด็ก กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้คือ เด็กไทยอายุ 12 เดือน จำนวน 30 คน และเด็กไทยอายุ 18 เดือน จำนวน 30 คน จากครอบครัวที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เครื่องมือที่พัฒนาและตรวจสอบคุณภาพในงานวิจัยนี้ ได้แก่ 1. Delay recognition task พัฒนาตามแนวคิดของ Rose et al. (2011) ใช้ในการประเมินความจำแบบการจำได้ (Recognition memory) 2. Deferred imitation task พัฒนาตามแนวคิดของ Bauer et al. (2000) ใช้ในการประเมินความจำแบบการระลึก (Recall memory) 3. Looking version of the A-not-B task พัฒนาตามแนวคิดของ Bell และ Adams (1999) ใช้ในการประเมินความจำใช้งาน (Working memory) ผลการวิจัยพบว่า เครื่องมือ Delay recognition task มีค่าความเที่ยงระหว่างผู้ประเมินในระดับดีมาก คือ มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson correlation coefficient) เท่ากับ .966 การวิเคราะห์ independent samples t-test พบว่าเด็กอายุ 18 เดือนมีคะแนนความจำแบบการจำได้สูงกว่าเด็ก 12 เดือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -2.795, p < .005) ซึ่งแสดงว่าเครื่องมือนี้มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐาน เครื่องมือ Deferred imitation task มีค่าความเที่ยงระหว่างผู้ประเมินในระดับดีมาก คือ มีค่าสัมประสิทธิ์แคปปา (Cohen's kappa coefficient) เท่ากับ .879 การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมแบบ one-way ANCOVA พบว่าเด็กอายุ 18 เดือนมีคะแนนความจำแบบการระลึกสูงกว่าเด็ก 12 เดือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F(1,57) = 20.002, p < .001) ซึ่งแสดงว่าเครื่องมือนี้มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐาน เครื่องมือ Looking version of the A-not-B task มีค่าความเที่ยงระหว่างผู้ประเมินในระดับดีมาก คือ มีค่าสัมประสิทธิ์แคปปา (Cohen's kappa coefficient) เท่ากับ 1.000 การวิเคราะห์ independent samples t-test พบว่าเด็กอายุ 18 เดือนมีคะแนนความจำใช้งานสูงกว่าเด็ก 12 เดือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -3.842, p < .001) ซึ่งแสดงว่าเครื่องมือนี้มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐาน


กรอบคิดและสุขภาวะ: การวิเคราะห์อภิมาน, ศุภณัฐ ศรีอุทัยสุข Jan 2017

กรอบคิดและสุขภาวะ: การวิเคราะห์อภิมาน, ศุภณัฐ ศรีอุทัยสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ศาสตร์จิตวิทยาศึกษาแนวคิดเรื่องกรอบคิดแบบเติบโตมานานกว่า 30 ปี แต่เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกรอบคิดและสุขภาวะ การวิจัยครั้งนี้ต้องการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากงานวิจัยที่มีอยู่เดิมด้วยการวิเคราะห์อภิมาน เพื่อทดสอบขนาดอิทธิพลของความสัมพันธ์ระหว่างกรอบคิดแบบต่าง ๆ กับสุขภาวะ และทดสอบว่าขนาดอิทธิพลเหล่านั้นถูกกำกับด้วยตัวแปรด้านของกรอบคิดและช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่าง ทำให้ขนาดอิทธิพลของความสัมพันธ์ระหว่างกรอบคิดแบบต่าง ๆ กับสุขภาวะมีขนาดแตกต่างกันหรือไม่ ผลการวิเคราะห์อภิมานจากงานวิจัยจำนวน 21 เรื่อง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 31 กลุ่ม และค่าขนาดอิทธิพลที่ถูกแปลงให้อยู่ในรูปค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์จำนวน 64 ค่า พบว่ากรอบคิดแบบเติบโตมีความสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาวะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ แต่มีขนาดอิทธิพลในระดับต่ำ (r = .134, p < .001) อย่างไรก็ดี ผลการทดสอบตัวแปรกำกับไม่พบว่าด้านของกรอบคิด และช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่างมีอิทธิพลกำกับความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งสอง จึงไม่สนับสนุนสมมติฐานที่ตั้งไว้ นอกจากนี้มีข้อค้นพบที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า ในขณะที่งานวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ส่วนใหญ่พบความสัมพันธ์ระหว่างกรอบคิดกับสุขภาวะอย่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่งานวิจัยที่จัดกระทำกรอบคิดไม่พบว่ามีอิทธิพลทำให้สุขภาวะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปงานวิเคราะห์อภิมานนี้บ่งชี้ว่าบุคคลที่เชื่อว่าคุณลักษณะต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาวะที่ดีมากกว่าบุคคลที่มองว่าคุณลักษณะต่าง ๆ เป็นสิ่งตายตัว แต่ยังไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สรุปความเป็นสาเหตุได้ชัดเจนว่ากรอบคิดทำให้เกิดสุขภาวะโดยตรงหรือโดยทันที


ความสัมพันธ์ระหว่าง บุคลิกภาพ สัมพันธภาพในการปรึกษา และความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ ในผู้ที่มีประสบการณ์รับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา, ชิชยะ ศรีชัยสวัสดิ์ Jan 2017

ความสัมพันธ์ระหว่าง บุคลิกภาพ สัมพันธภาพในการปรึกษา และความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ ในผู้ที่มีประสบการณ์รับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา, ชิชยะ ศรีชัยสวัสดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง บุคลิกภาพ สัมพันธภาพในการปรึกษา และความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ที่มีประสบการณ์รับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา จำนวน 132 คน อายุเฉลี่ยเท่ากับ 23.77 ± 5.72 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) มาตรวัดบุคลิกภาพแบบห้าองค์ประกอบ 2) มาตรวัดสัมพันธภาพในการปรึกษา ฉบับย่อ: สำหรับผู้รับบริการ และ 3) มาตรวัดความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจภาษาไทย ฉบับย่อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า บุคลิกภาพแบบไม่มั่นคงทางอารมณ์ มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.42, p < .01) ในขณะที่บุคลิกภาพแบบเปิดเผย บุคลิกภาพแบบคล้อยตาม บุคลิกภาพแบบมีจิตสำนึก และสัมพันธภาพในการปรึกษา มีค่าสหสัมพันธ์ทางบวกกับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .44, .22, .39 และ .26 ตามลำดับ, p < .01) ส่วนบุคลิกภาพแบบเปดรับประสบการณ์ใหม่ มีค่าสหสัมพันธ์ทางบวกกับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .19, p < .05) นอกจากนี้ บุคลิกภาพแบบห้าองค์ประกอบ (ได้แก่ แบบไม่มั่นคงทางอารมณ์ แบบเปิดเผย แบบเปดรับประสบการณ์ใหม่ แบบคล้อยตาม และแบบมีจิตสำนึก) และสัมพันธภาพในการปรึกษา สามารถร่วมกันทำนายความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอธิบายความแปรปรวนของความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจร้อยละ 36 (R2 = .36, p < .01) โดยบุคลิกภาพแบบไม่มั่นคงทางอารมณ์มีน้ำหนักในการทำนายสูงที่สุด (β = -.32, p < .01) ส่วนบุคลิกภาพแบบเปิดเผยและสัมพันธภาพในการปรึกษา มีน้ำหนักในการทำนายลำดับรองลงมา (β = .27 และ .23 ตามลำดับ, p < .01) ในขณะที่บุคลิกภาพแบบมีจิตสำนึกมีน้ำหนักในการทำนายต่ำที่สุด (β = .17, p < .05)


ความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์กับการเผชิญปัญหาของเหยื่อ: อิทธิพลส่งผ่านของการประเมินทางปัญญาโดยมีความเป็นนิรนามของผู้กระทำเป็นตัวแปรกำกับ, ณัฐกานต์ จันทรศิริพุทธ Jan 2017

ความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์กับการเผชิญปัญหาของเหยื่อ: อิทธิพลส่งผ่านของการประเมินทางปัญญาโดยมีความเป็นนิรนามของผู้กระทำเป็นตัวแปรกำกับ, ณัฐกานต์ จันทรศิริพุทธ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลของความถี่ของการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์ ที่มีต่อแนวโน้มที่จะใช้รูปแบบการเผชิญปัญหาแบบต่าง ๆ โดยมีการประเมินทางปัญญาสามด้าน ได้แก่ การประเมินการคุกคาม ความท้าทาย และทรัพยากรที่จะช่วยในการรับมือกับปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่าน และมีความเป็นนิรนามของผู้กระทำเป็นตัวแปรกำกับ กลุ่มตัวอย่างคือนิสิตนักศึกษาปริญญาตรี อายุ 18-25 ปี 264 คน ใช้วิธีเก็บข้อมูลตามสะดวก โดยสุ่มให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยอ่านและจินตนาการสถานการณ์การรังแกในพื้นที่ไซเบอร์ที่มีการจัดกระทำให้มีความถี่และความเป็นนิรนามของผู้กระทำที่แตกต่างกัน และตอบแบบสอบถามการประเมินทางปัญญาทั้งสามด้าน และการเผชิญปัญหาการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์ ผลจากการวิเคราะห์เส้นทาง พบว่าอิทธิพลทางอ้อมของความถี่ของการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์ ที่ส่งผ่านตัวแปรการประเมินทางปัญญาทั้งสามด้านไปยังการเผชิญปัญหาทั้งแบบเข้าหาและแบบหลีกเลี่ยงนั้น ไม่ถึงระดับนัยสำคัญทางสถิติ ขณะที่อิทธิพลของความเป็นนิรนามที่กำกับความสัมพันธ์ระหว่างความถี่และการประเมินทางปัญญาทั้งสามด้านก็ไม่ถึงระดับนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์โมเดลทางเลือกโดยใช้การรับรู้ความถี่ของการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์เป็นตัวแปรทำนายแทนเงื่อนไขการจัดกระทำ พบอิทธิพลส่งผ่านที่มีนัยสำคัญทางสถิติของการประเมินการคุกคาม ที่ส่งผ่านความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความถี่ของการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์และการเผชิญปัญหาแบบเข้าหาและแบบหลีกเลี่ยง โดยเมื่อบุคคลรับรู้ว่าเหตุการณ์มีความถี่มากจะยิ่งรู้สึกถูกคุกคาม และมีแนวโน้มเผชิญปัญหาแบบเข้าหามากขึ้น และหลีกเลี่ยงน้อยลง นอกจากนี้ พบว่าความท้าทายสามารถทำนายการเผชิญปัญหาแบบหลีกเลี่ยง ส่วนทรัพยากรทำนายการเผชิญปัญหาแบบเข้าหาได้ การศึกษาต่อไปจึงควรศึกษาปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการประเมินทางปัญญาเพิ่มเติม


อิทธิพลของพฤติกรรมการมอบอำนาจของผู้นำที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ในงาน: อิทธิพลส่งผ่านของการรับรู้การเสริมสร้างอำนาจในงาน ที่ถูกกำกับด้วยค่านิยมเชิงอนุรักษ์, ณัฐวุฒิ จารุนานันท์ Jan 2017

อิทธิพลของพฤติกรรมการมอบอำนาจของผู้นำที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์ในงาน: อิทธิพลส่งผ่านของการรับรู้การเสริมสร้างอำนาจในงาน ที่ถูกกำกับด้วยค่านิยมเชิงอนุรักษ์, ณัฐวุฒิ จารุนานันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยปัจจุบันต่างให้ความสำคัญกับบทบาทของภาวะผู้นำต่อกระบวนการเกิดความคิดสร้างสรรค์ในองค์การ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือสำคัญในการนำองค์การในหลาย ๆ ภาคส่วนไปสู่ความสำเร็จ การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการมอบอำนาจของผู้นำ การรับรู้การเสริมสร้างอำนาจในงาน ค่านิยมเชิงอนุรักษ์และความคิดสร้างสรรค์ในงาน ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานประจำชายและหญิงจากทั้งรัฐบาลและเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอายุงานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 200 คน มีการดำเนินการวิจัยโดยให้ผู้ร่วมงานวิจัยตอบแบบสอบถามแบบกระดาษและออนไลน์วัดพฤติกรรมการมอบอำนาจของผู้นำ การรับรู้การเสริมสร้างอำนาจในงาน ค่านิยมเชิงอนุรักษ์ และความคิดสร้างสรรค์ในงาน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการสร้างสมการโครงสร้าง (SEM) ด้วยโปรแกรม Mplus ผลการวิจัยพบว่าพฤติกรรมการมอบอำนาจของผู้นำมีอิทธิพลทางบวกต่อความคิดสร้างสรรค์ในงาน โดยมีการรับรู้การเสริมสร้างอำนาจในงานเป็นตัวแปรส่งผ่านแบบเต็มรูปแบบ (indirect effect = .60, p < .001) อย่างไรก็ตาม ไม่พบอิทธิพลกำกับของค่านิยมเชิงอนุรักษ์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การเสริมสร้างอำนาจในงานและความคิดสร้างสรรค์ในงาน ผลการวิจัยชิ้นนี้สามารถนำไปใช้พัฒนานโยบายในองค์การต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในตัวบุคลากร ทั้งยังสามารถนำไปใช้คัดสรรผู้นำที่มีพฤติกรรมการมอบอำนาจต่อไป


อิทธิพลของรูปแบบการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ต่อความกลมเกลียวในกลุ่มนักศึกษาและความผูกพันกับคณะ : การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านการระบุตัวตนทางสังคม, พัชรวุฒิ สุภาคง Jan 2017

อิทธิพลของรูปแบบการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ต่อความกลมเกลียวในกลุ่มนักศึกษาและความผูกพันกับคณะ : การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านการระบุตัวตนทางสังคม, พัชรวุฒิ สุภาคง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมรับน้องใหม่ (แบบสร้างสรรค์ และไม่สร้างสรรค์) กับความกลมเกลียวในกลุ่มและความผูกพันด้านจิตใจต่อคณะภายในมหาวิทยาลัย โดยมีการระบุตัวตนทางสังคมเป็นตัวแปรส่งผ่าน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้คือ นิสิต/นักศึกษา ระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จำนวน 331 คน ผลจากการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง (Structural Equation Modeling: SEM) ด้วยโปรแกรม LISREL Version 9.30 (Jöreskog & Sörbom, 2017) พบว่า กิจกรรมรับน้องใหม่แบบสร้างสรรค์มีอิทธิพลทางตรงทางบวกต่อความกลมเกลียวในกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในขณะที่ไม่พบอิทธิพลทางตรงของกิจกรรมรับน้องใหม่แบบไม่สร้างสรรค์ต่อความกลมเกลียวในกลุ่ม ผลจากการวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านพบว่า การระบุตัวตนทางสังคมเป็นตัวแปรส่งผ่านแบบบางส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมรับน้องใหม่แบบสร้างสรรค์และความกลมเกลียวในกลุ่ม และเป็นตัวแปรส่งผ่านแบบสมบูรณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมรับน้องใหม่แบบสร้างสรรค์และความผูกพันด้านจิตใจต่อคณะ นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจคือ กิจกรรมรับน้องใหม่แบบไม่สร้างสรรค์มีอิทธิพลทางบวกต่อการระบุตัวตนทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในขณะที่ไม่พบอิทธิพลทางตรงของกิจกรรมรับน้องใหม่ทั้งแบบสร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ต่อความผูกพันด้านจิตใจต่อคณะ แต่พบอิทธิพลส่งผ่านแบบสมบูรณ์ของการระบุตัวตนทางสังคมต่อความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมรับน้องใหม่แบบไม่สร้างสรรค์กับความกลมเกลียวในกลุ่มและความผูกพันด้านจิตใจต่อคณะ


อิทธิพลของบุคลิกภาพผู้บริโภค และบุคลิกภาพตราสินค้า ต่อความภักดีต่อตราสินค้ารถยนต์, พิมพ์ภัทร ชูตระกูล Jan 2017

อิทธิพลของบุคลิกภาพผู้บริโภค และบุคลิกภาพตราสินค้า ต่อความภักดีต่อตราสินค้ารถยนต์, พิมพ์ภัทร ชูตระกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพผู้บริโภค บุคลิกภาพตราสินค้า และความภักดีต่อสินค้า โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ (correlation research) ผู้วิจัยใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) เป็นผู้ใช้รถยนต์นั่งตราสินค้าโตโยต้า (Toyota) อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 300 คน ผลการวิเคราะห์สมการพบว่าบุคลิกภาพตราสินค้าบางมิติ (บุคลิกภาพตราสินค้าแบบจริงใจ / บุคลิกภาพตราสินค้าแบบมีความสามารถ / บุคลิกภาพตราสินค้าแบบน่าตื่นเต้น) เป็นตัวแปรส่งผ่านความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพผู้บริโภคบางองค์ประกอบ (บุคลิกภาพผู้บริโภคแบบเป็นมิตร และบุคลิกภาพผู้บริโภคแบบมีจิตสำนึก) และความภักดีต่อตราสินค้า (ขั้นความรู้สึกและการกระทำ) โดยบุคลิกภาพตราสินค้าแบบมีความสามารถส่งอิทธิพลทางบวกต่อความภักดีต่อตราสินค้าขั้นความรู้สึกมากที่สุด โดยมีค่าอิทธิพล .41 (p < .001) ในขณะที่บุคลิกภาพตราสินค้าแบบจริงใจส่งอิทธิพลทางบวกต่อความภักดีต่อตราสินค้าขั้นการกระทำมากที่สุด โดยมีค่าอิทธิพล .39 (p < .01)


ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจทำหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต, วนัชพร พิพัฒน์ธนวงศ์ Jan 2017

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจทำหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต, วนัชพร พิพัฒน์ธนวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาฯ การหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวหรือนึกถึงความตาย การมองความตายว่าเป็นการหลุดพ้นจากปัญหา ประสบการณ์การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ประสบการณ์ความเจ็บป่วยหนักของตนเอง ประสบการณ์ความเจ็บป่วยหนักของบุคคลใกล้ชิด ความแข็งแรงของสุขภาพร่างกาย การรับรู้เวลาชีวิตที่เหลืออยู่ และปัจจัยคุณลักษณะของบุคคล ได้แก่ อายุ และระดับการศึกษา ที่มีต่อการตัดสินใจทำหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเชียงใหม่ และเป็นผู้ที่รู้จักหนังสือแสดงเจตนาฯ จำนวน 204 คน ช่วงอายุ 18-74 ปี (อายุเฉลี่ย 39.860±15.251 ปี) ผ่านการตอบแบบสอบถามในรูปแบบเอกสารและออนไลน์ โดยสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในงานวิจัย คือ การถดถอยพหุคูณ (multiple regression) ผลการวิจัยพบว่า ตัวแปรทั้งหมดอธิบายการตัดสินใจทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ได้ร้อยละ 11 โดยการตัดสินใจทำหนังสือแสดงเจตนาฯ มีความสัมพันธ์ทางลบกับการหลีกเลี่ยงพูดถึงเรื่องความตาย (β = -.203, p = .005) และมีความสัมพันธ์ทางบวกกับอายุ (β = .267, p = .001) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลจากงานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคสำคัญของการตัดสินใจทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ซึ่งก็คือการหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวหรือนึกถึงความตาย ซึ่งอาจใช้เป็นแนวทางในการรณรงค์เรื่องการตัดสินใจทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ต่อไป