Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Political Science

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

2022

Articles 1 - 16 of 16

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

พรรคพลังประชารัฐและการเมืองของการดึงเข้ามาเป็นพวก, จันจิรา ดิษเจริญ Jan 2022

พรรคพลังประชารัฐและการเมืองของการดึงเข้ามาเป็นพวก, จันจิรา ดิษเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาปฏิบัติการกลยุทธ์การดึงเข้ามาเป็นพวกโดยพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งภายใต้บริบทการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คำถามในการศึกษาคือ พรรคพลังประชารัฐดึงนักการเมืองฝ่ายตรงเข้ามาเป็นพวกเพื่อรักษาและสืบทอดระบอบอำนาจนิยม ด้วยกลยุทธ์แบบใด? ใช้เครื่องมือใด? และปฏิบัติการอย่างไร? งานศึกษานี้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ รวบรวมข้อมูลโดย 1) การสัมภาษณ์เชิงลึกและ 2) การศึกษาเอกสาร และวิเคราะห์ผ่านแนวคิดกลยุทธ์การดึงเข้ามาเป็นพวกของ Maria Josua ข้อค้นพบในการศึกษาคือ บริบทการเมืองที่รัฐบาล คสช. ควบคุมสถาบันรัฐธรรมนูญและกติกาการเมือง สร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กีดกั้นผู้เห็นต่างและทำให้เป็นผู้แพ้ ใช้ทรัพยากรรัฐเอื้อให้พรรคพลังประชารัฐได้รับความนิยมในการเลือกตั้ง ปูทางให้พรรคพลังประชารัฐรักษาระบอบอำนาจนิยม ด้วยปฏิบัติการดึงเข้ามาเป็นพวกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 ของพรรคพลังประชารัฐ ดังนี้ 1) เครือข่ายทางการเมือง 2) ตำแหน่งทางการเมือง 3) เงิน 4) นโยบายและงบประมาณ และ 5) ปัดเป่า/ยัดคดีความ และลงโทษในการเลือกตั้ง กลยุทธ์การดึงเข้ามาเป็นพวกทั้ง 5 ด้าน ทำให้พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 และหวนคืนสถานะเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ


กระบวนการประกอบสร้างให้ประเทศไทยเป็นปลายทางสำหรับการศัลยกรรมแปลงเพศ, หทัยภัทร ตันติรุ่งอรุณ Jan 2022

กระบวนการประกอบสร้างให้ประเทศไทยเป็นปลายทางสำหรับการศัลยกรรมแปลงเพศ, หทัยภัทร ตันติรุ่งอรุณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้ศึกษาการเติบโตของอุตสาหกรรมการแปลงเพศในประเทศไทย ผ่านการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ สถานพยาบาลและบริษัทนายหน้าเพื่อการแปลงเพศ และกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศไทยและต่างชาติ รวมถึงศึกษาผลกระทบของการเป็นปลายทางเพื่อการศัลยกรรมแปลงเพศกับการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ อาศัยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ (State) ตลาด (Market) และสังคม (Society) ผลการวิจัยพบว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมการแปลงเพศมาจากผลพวงของอุตสาหกรรมการค้าบริการทางเพศในอดีตและอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ อันนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคการผ่าตัดแปลงเพศที่ตอบสนองต่อความต้องการการแปลงเพศของผู้หลากหลายทางเพศเพื่อการประกอบอาชีพการค้าบริการทางเพศและสถานบันเทิงทางเพศ อินเตอร์เน็ตมีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์ของสถานพยาบาลเพื่อการแปลงเพศ และนำมาซึ่งการรับรู้โดยทั่วกันของผู้คนทั่วโลกว่าประเทศไทยเป็นปลายทางเพื่อการศัลยกรรมแปลงเพศ อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบที่สำคัญของงานวิจัยฉบับนี้ คือ การที่นายหน้ามีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมการแปลงเพศ อย่างไรก็ดี การเป็นปลายทางของการศัลยกรรมแปลงเพศดังกล่าวก็บดบังความเป็นจริงที่ว่าประเทศไทยยังมิได้มีความก้าวหน้ามากเท่าที่ควรในเรื่องสิทธิของผู้หลากหลายทางเพศ และการเข้าถึงการศัลยกรรมแปลงเพศของผู้หลากหลายทางเพศชาวไทยบางส่วนยังเกิดขึ้นอย่างจำกัด


"คนดี" และ "ความดี" ในทางการเมืองไทย: การต่อสู้ทางความหมายทางการเมืองระหว่าง 2549 - 2557, กาญจนาพร เชยอักษร Jan 2022

"คนดี" และ "ความดี" ในทางการเมืองไทย: การต่อสู้ทางความหมายทางการเมืองระหว่าง 2549 - 2557, กาญจนาพร เชยอักษร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยเผชิญกับความถดถอยของประชาธิปไตยพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านจากการเมืองของชนชั้นนำไปสู่การเมืองของมวลชน โดยมีปรากฏการณ์ที่มวลชนคู่ขัดแย้งสองฝ่ายต่างยึดถือความชอบธรรมคนละชุดและออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ฝ่ายหนึ่งต่อต้านประชาธิปไตยยึดหลักความชอบธรรมแบบการปกครองตามจารีตประเพณีที่ดำเนินการตามอุดมการณ์หลักอย่าง “ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และอีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยยึดหลักความชอบธรรมความถูกต้องตามกฎหมาย มีวาทกรรมจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนความชอบธรรมของขบวนการเคลื่อนไหว แต่คำที่ถูกผลิตซ้ำและมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยคือคำว่า “คนดี”และ “ความดี” ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือมวลชนที่ให้คุณค่ากับวาทกรรม“คนดี”และ “ความดี” มีแต่ในขบวนการต่อต้านทักษิณเท่านั้น วิทยานิพนธ์นี้จึงมุ่งศึกษาความหมายของคำว่า “คนดี”และ “ความดี”ของแต่ละกลุ่มภายใต้ขบวนการต่อต้านทักษิณ สาเหตุที่ขบวนการต่อต้านทักษิณใช้วาทกรรม“คนดี”และ “ความดี”มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมและท้ายที่สุดวาทกรรมดังกล่าวส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างไรในปัจจุบัน โดยใช้วาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Discourse Analysis: CDA) มาเป็นเครื่องมือในการศึกษาเพื่อให้สามารถสะท้อนหลักคิดเบื้องหลังวาทกรรมที่ขบวนการเคลื่อนไหวยึดมั่นและนำมาใช้เป็นความชอบธรรมในการชุมนุม ผลการศึกษาพบว่าภายใต้ขบวนการต่อต้านทักษิณมีการให้ความหมาย “คนดี”และ “ความดี” อย่างหลากหลายโดยได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธผสมผสานกับลัทธิขงจื่อ ขบวนการฯใช้หลักการทางศาสนาเป็นแกนหลักในการเคลื่อนไหวและสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง ข้อเสนอของขบวนการต่อต้านทักษิณไม่เพียงแต่ขับไล่รัฐบาลเท่านั้น แต่พวกเขายังมีความพยายามเสนอรูปแบบการปกครองแบบใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะให้ความสำคัญกับหลักคุณธรรมมากกว่าวิถีทางตามหลักประชาธิปไตยแบบสากลซึ่งส่งผลต่อการเลือกตั้งในปีพ.ศ. 2562 อย่างมีนัยสำคัญ


การศึกษายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลกับปทัสถานด้านความมั่นคงไซเบอร์ของไทย, ธนาวิทย์ หวังภุชเคนทร์ Jan 2022

การศึกษายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลกับปทัสถานด้านความมั่นคงไซเบอร์ของไทย, ธนาวิทย์ หวังภุชเคนทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้วิเคราะห์การรับรู้ของหน่วยงานและตัวแสดงที่เกี่ยวข้องในไทยเกี่ยวกับปทัสถานทางไซเบอร์ของจีนที่เผยแพร่ผ่านยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัล ความเข้าใจของตัวกระทำการเหล่านี้อาจแตกต่างกันไป ซึ่งส่งผลต่อมุมมองของประเทศไทยเกี่ยวกับความมั่นคงไซเบอร์ ปัจจุบันงานศึกษาจำนวนมากให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารโทรคมนาคมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาความมั่นคงไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการวิจัยอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับกลยุทธ์เส้นทางสายไหมดิจิทัลและมิติด้านความมั่นคงไซเบอร์ แต่การศึกษาการมีส่วนร่วมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับปทัสถานไซเบอร์ของจีนยังคงมีจำกัด ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงกำหนดขอบเขตภายในกรอบการศึกษาผู้ประกอบการเชิงปทัสถาน โดยเน้นที่ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการแพร่กระจายปทัสถานทางไซเบอร์ของจีน เพื่อตรวจสอบบทบาทของตัวแสดงทั้งจากภาครัฐและเอกชนของไทยในฐานะผู้ประกอบการเชิงปทัสถานที่มีส่วนร่วมในการเผยแพร่และอิทธิพลของปทัสถานไซเบอร์ของจีน การศึกษาชี้ให้เห็นว่ายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลมีอิทธิพลต่อมุมมองด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่การยอมรับเทคโนโลยีและปทัสถานด้านความมั่นคงไซเบอร์ของจีนหลายประการเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อำนาจอธิปไตยทางไซเบอร์" กลายเป็นประเด็นสำคัญของการถกเถียงเกี่ยวกับปทัสถานทางไซเบอร์ของจีนในเวทีโลก


การเมืองเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ: การคุ้มครองทางสังคมในกิจการประมงทะเล, ไพรินทร์ มากเจริญ Jan 2022

การเมืองเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ: การคุ้มครองทางสังคมในกิจการประมงทะเล, ไพรินทร์ มากเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องการเมืองเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ: การคุ้มครองทางสังคมในกิจการประมงทะเลนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ธรรมาภิบาลความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเล และวิเคราะห์ผลของการดำเนินงานและการคุ้มครองทางสังคมต่อแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเล ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ แรงงานข้ามชาติ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง จำนวน จำนวน 20 คน รวมทั้งการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในการตรวจแรงงานประมงทะเลรวมกับเจ้าหน้าที่รัฐ การเข้าร่วมประชุมการสัมมนาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 ครั้ง ผลการวิจัยพบว่า 1) รัฐไทยมีพัฒนาการด้านนโยบายในการบริหารจัดการและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเลเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและปัจจัยหลักที่รัฐให้ความสำคัญ ตั้งแต่การใช้นโยบายด้านความมั่นคง นโยบายการผ่อนผันให้ทำงานและนำแรงงานเข้าสู่ระบบกฎหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จนกระทั่งปัจจุบันเป็นนโยบายภายใต้แรงกดดันจากภายนอก 2) การเมืองเรื่องธรรมาภิบาล ในช่วง พ.ศ.2558-2562 (ก่อนปลดใบเหลือง) กระบวนการบริหารจัดการร่วมกันเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีอำนาจไม่เท่ากัน รวมทั้งมีการเจรจาซึ่งหน้า มีความไว้วางใจ มีความมุ่งมั่นในการทำงาน และความเข้าใจร่วมกันน้อย ทำให้ขาดความร่วมมือร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการประมงทะเล มีรูปแบบเป็น ‘ธรรมาภิบาลแบบสั่งการ’ (Directive Governance) คือ ภาครัฐเป็นผู้กำหนดทิศทาง การบังคับใช้กฎหมายและบริหารจัดการแรงงานผ่านนายจ้าง และยังคงไว้ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจและสั่งการแบบบนลงล่าง แต่ยังไม่สามารถสร้างระบอบที่เป็นกระบวนการตามแนวคิดธรรมาภิบาลความร่วมมือที่ทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมทำได้ ต่อมาในช่วง พ.ศ.2562 (หลังปลดใบเหลือง) - 2565 เป็นช่วงรัฐบาลแบบปกติ ภาครัฐมีการสร้างกลไกในการบริหารจัดการที่ส่อให้เห็นความมีธรรมาภิบาลความร่วมมือมากขึ้น โดยเฉพาะกรมสวัสดิการแรงงาน กระทรวงแรงงาน ตัวอย่างของการรับฟังความคิดเห็นอันนำมาสู่การประนีประนอมเพื่อหาทางออกร่วมกันที่ชัดเจน เช่น กรณีประกันสังคม 3) ผลของการดำเนินงานและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเล แม้จะมีพลวัตรในเชิงหลักการ เช่น การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานประมงทะเลโดยตรง แต่ยังคงมีปัญหาด้านการปฏิบัติใช้ เช่น กรณีการเรียกร้องค่าชดเชยจากกองทุนเงินทดแทน ที่มีอุปสรรคในด้านเอกสาร และปัญหาข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังจากการดำเนินการของภาครัฐ


การถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางของสหรัฐอเมริกา : ปัญหาและข้อท้าทายของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ, ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์ Jan 2022

การถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางของสหรัฐอเมริกา : ปัญหาและข้อท้าทายของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ, ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่องการถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง : ปัญหาและข้อท้าทายของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์คือ 1) เรียนรู้ปัจจัยและกระบวนการความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเสถียรภาพและสันติภาพ 2) พิจารณาอุปสรรคในการรักษาระบอบความมั่นคงระหว่างประเทศ 3) เพื่อเป็นการทำความเข้าใจปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลวของระบอบความมั่นคงระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดของนานาอารยะประเทศ 4) ส่งเสริมการศึกษานโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา รัสเซียและจีน ในบริบทการแข่งขันอิทธิพลระหว่างชาติมหาอำนาจทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการวิจัยทางเอกสาร โดยผู้วิจัยทำการศึกษาด้วยเอกสารชั้นต้นของจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงเอกสารชั้นรอง ทำการศึกษาวิเคราะห์ด้วยการอธิบายเชิงพรรณนาเพื่อทำการสรุปความเป็นมาของเรื่อง การวิเคราะห์การถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางของสหรัฐอเมริกา พบว่า ปัจจัยพิจารณาสำคัญของการถอนตัวจากสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ภายใต้บริบทความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศและการแข่งขันทางอำนาจระหว่างชาติสหรัฐอเมริกา จีนกับรัสเซีย การผูกพันตนเองในสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกาส่งผลให้สหรัฐอเมริกาประสบกับสภาวะอสมมาตรด้านขีดความสามารถการป้องกันประเทศ


ความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างประเทศสหราชอาณาจักร: กรณีศึกษาโกลบอลบริเตน, ธนภัทร จังพานิช Jan 2022

ความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างประเทศสหราชอาณาจักร: กรณีศึกษาโกลบอลบริเตน, ธนภัทร จังพานิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหราชอาณาจักรภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนำแนวคิดโกลบอลบริเตน (Global Britain) ที่ปรากฏขึ้นมาในรัฐบาลของเทเรซา เมย์ และบอริส จอห์นสัน ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาผ่านกรอบการศึกษาแนวคิดสัจนิยมคลาสสิคใหม่เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์การรับรู้ของชนชั้นนำของสหราชอาณาจักร จากการศึกษาได้บ่งชี้ว่า ยุทธศาสตร์โกลบอลบริเตนไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อเหตุการณ์การออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ เบร็กซิท (Brexit) ในปี ค.ศ. 2016 เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่พยายามแสวงหาคำตอบในการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรอันหยั่งรากลึกมาอย่างยาวนานตั้งแต่การล่มสลายของอำนาจบริติช (The collapse of British power) ที่เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดเจนในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองว่า "สหราชอาณาจักรมีบทบาทอย่างไรในโลก" โดยความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อที่ว่า “สหราชอาณาจักรยังคงมีบทบาทที่สำคัญต่อโลกนี้” ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความพยายามของลอนดอนในการแสวงหาความมั่นคงท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ ที่ชนชั้นนำในลอนดอนเผชิญ นอกจากนี้การศึกษาได้ชี้อีกว่า การผลักดันยุทธศาสตร์โกลบอลบริเตนเป็นวิธีการเอาตัวรอดของรัฐบาลและพรรคอนุรักษ์นิยมจากการขาดเตรียมความพร้อมจากเหตุการณ์เบร็กซิท


พลวัตของกฎบัตรความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นจากทศวรรษ1990 ถึงต้นทศวรรษ 2020, พิมพ์ชนก บุญมิ่ง Jan 2022

พลวัตของกฎบัตรความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นจากทศวรรษ1990 ถึงต้นทศวรรษ 2020, พิมพ์ชนก บุญมิ่ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงของโลก หากแต่ญี่ปุ่นพึ่งพิงทรัพยากรจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งสร้างปัญหาความแตกต่างทางรายได้ในโลก ญี่ปุ่นจึงต้องแสดงความรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) ตามข้อตกลงของประชาคมนานาชาติเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา ทว่าการให้ความช่วยเหลือไม่ใช่การให้เปล่าโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนแต่แท้จริงแล้วคาดหวังสิ่งแลกเปลี่ยนบางประการ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงถูกประชาคมนานาชาติกล่าวหาว่าญี่ปุ่นอาศัยการให้ ODA ในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนเอง ทั้งนี้องค์การระหว่างประเทศเป็นผู้ส่งเสริมบรรทัดฐานสากลผ่านการประกาศเป้าหมายการพัฒนาให้ประชาคมนานาชาตินำไปปรับใช้เป็นแกนหลักนโยบาย ญี่ปุ่นจึงต้องโอบรับบรรทัดฐานสากลนั้นมาปรับให้เข้ากับหลักการท้องถิ่นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ อันนำมาสู่คำถามวิจัยที่ว่า ปัจจัยใดที่มีอิทธิพลต่อการบัญญัติกฎบัตรความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นในแต่ละช่วงเวลา โดยอาศัยกระบวนการผสมผสานบรรทัดฐานสากลให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานท้องถิ่น ในกรอบแนวคิดประดิษฐกรรมทางสังคมเพื่อศึกษาบรรทัดฐานซึ่งแพร่กระจายไปสู่อีกที่หนึ่งได้เพราะผู้นำของรัฐเห็นผลประโยชน์บางประการจึงเกิดเป็นกระบวนการโอบรับบรรทัดฐานใหม่ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้กำหนดขอบเขตของเวลาโดยเริ่มต้นที่การบัญญัติกฎบัตร ODA ฉบับแรกในทศวรรษ 1990 ถึงการบัญญัติกฎบัตร ODA ฉบับล่าสุดในต้นทศวรรษ 2020 เพื่อศึกษาพลวัตที่มีอิทธิพลต่อกฎบัตร ODA ของญี่ปุ่นเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่นในแต่ละช่วงเวลา


อำนาจนำทางน้ำและจักรวรรดินิยมทางทรัพยากรของจีนกับการต่อต้านจากภาคประชาสังคมข้ามชาติ : กรณีศึกษาการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง, พลวัชร ร้อยอำแพง Jan 2022

อำนาจนำทางน้ำและจักรวรรดินิยมทางทรัพยากรของจีนกับการต่อต้านจากภาคประชาสังคมข้ามชาติ : กรณีศึกษาการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง, พลวัชร ร้อยอำแพง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาการแผ่ขยายอำนาจของจีนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านแนวคิดลัทธิจักรวรรดินิยมทรัพยากร (Resource Imperialism) และอำนาจนำเหนือน้ำ (Hydro-Hegemony) ของจีนในลุ่มน้ำโขง ผ่านการสำรวจพัฒนาการของลัทธิจักรวรรดินิยมทรัพยากร และอำนาจนำเหนือน้ำ พร้อมกับบริบทเชิงอำนาจที่สนับสนุนอำนาจนำทางนำ้และกลยุทธ์การครอบงำของจีน การศึกษารวมถึงกรณีศึกษาเกี่ยวกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานในฐานะเครื่องมือควบคุมทรัพยากรน้ำของจีนในลาวและผลกระทบ งานวิจัยยังศึกษากลยุทธ์การต่อต้านของประชาสังคมข้ามชาติ ตรวจสอบบทบาท, แรงจูงใจ, กลยุทธ์ และปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จของภาคประชาสังคมข้ามชาติในฐานะองค์กรที่มีบทบาทต่อต้านการขยายอำนาจของจีน การค้นพบที่สำคัญในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ประกอบไปด้วย สถานะการครองอำนาจนำทางนำ้ของจีน, ผลลัพธ์ของการต่อต้านการสร้างเขื่อนจากภาคประชาสังคม และนำเสนอข้อเสนอแนะสำหรับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, การเพิ่มความโปร่งใส ท้ายสุดคือการแสวงหาทางออกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและการแก้ไขข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาค


จีนในทัศนะของทหารไทย: ภาพสะท้อนจากเอกสารวิจัยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, รชยา เทียมประชา Jan 2022

จีนในทัศนะของทหารไทย: ภาพสะท้อนจากเอกสารวิจัยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, รชยา เทียมประชา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพสะท้อนของทหารไทยที่มีต่อจีนหลังเกิดการรัฐประหาร 2006 และ 2014 เพราะเป็นระยะเวลาที่กองทัพไทยเข้ามาแทรกแซงและหยั่งรากลึกบทบาททหารในทางการเมือง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาของประเทศไทย เพื่อให้เห็นภาพสะท้อนของทหารไทยที่มีต่อจีนชัดขึ้น ผู้วิจัยจึงทบทวนวรรณกรรมและตีความมุมมองที่อาจเกิดขึ้นได้ในทัศนะของไทยมีต่อจีนออกมาได้ 4 มุมมองคือ 1) มุมมองที่มีต่อจีนผ่านฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยหลังการรัฐประหาร 2549 2) มุมมองที่มีต่อจีนว่าเป็นภัยคุกคาม 3) มุมมองที่มีต่อจีนของอาเซียน และ 4) มุมมองที่มีต่อจีนผ่านผลประโยชน์ระหว่างไทย-จีนเท่านั้นซึ่งศึกษาภาพสะท้อนผ่านเอกสารวิจัยส่วนบุคคลของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ตั้งแต่รุ่นที่ 50 – 61 ทั้งหมด 16 เล่มล้วนเป็นชนชั้นนำทางทหารและอาจส่งมุมมองข้างต้นเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายไทยที่มีต่อจีนได้ จากการศึกษา เนื้อหาเอกสารวิจัยส่วนบุคลของนักศึกษาวปอ. สามารถจัดกลุ่มและจำแนกให้เข้ากับมุมมองที่ไทยมีต่อจีนในทั้ง 4 มุมมองข้างต้นได้ เห็นว่ามุมมองที่มีต่อจีนผ่านฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยมีทั้งหมด 2 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 11, มุมมองที่มีต่อจีนว่าเป็นภัยคุกคามมีทั้งหมด 1 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 6, มุมมองที่มีต่อจีนของอาเซียนมีทั้งหมด 6 เล่มซึ่ง คิดเป็นร้อยละ 33 และมุมมองมีต่อจีนผ่านผลประโยชน์ระหว่างไทย-จีนมีทั้งหมด 9 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 50 ดังนั้น ภาพสะท้อนของชนชั้นนำทหารไทยที่มีต่อจีนนั้นมีแนวโน้มที่ในการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนต่อไปซึ่งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์พิเศษระหว่างไทย-จีนและดึงอาเซียนให้เข้ามามีส่วนร่วม เป็นลำดับต่อมา


การสื่อสารทางการเมืองผ่าน Tiktok เพื่อการต่อต้านรัฐบาลบนโลกออนไลน์ ช่วงปี 2563 - 2564, นภัสวรรณ รักษาใจ Jan 2022

การสื่อสารทางการเมืองผ่าน Tiktok เพื่อการต่อต้านรัฐบาลบนโลกออนไลน์ ช่วงปี 2563 - 2564, นภัสวรรณ รักษาใจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาการสื่อสารทางการเมืองเพื่อการต่อต้านรัฐบาลบนโลกอินเทอร์เน็ตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ TikTok ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น โดยศึกษาวิจัยในเชิงคุณภาพด้วยแนวทางการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) และการวิจัยเอกสาร เพื่อตอบคำถามดังต่อไปนี้ ประการแรก ประเด็นปัญหาและรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่เครือข่ายผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลใช้ในการสื่อสารทางการเมืองผ่าน TikTok รวมถึงปัจจัยที่มีส่วนทำให้สื่อสังคมออนไลน์ TikTok ถูกนำมาใช้ในกิจกรรมทางการเมืองเพื่อการต่อต้านรัฐบาล ประการที่สอง อุดมการณ์และวาทกรรมที่ขับเคลื่อนอยู่ภายในเครือข่ายผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ปรากฏบนแพลตฟอร์ม TikTok และประการสุดท้าย กระบวนการที่ฝ่ายรัฐใช้ในการจัดการกับการต่อต้านรัฐบาลที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบัน TikTok เป็นส่วนหนึ่งในหลาย ๆ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกนำมาใช้สำหรับการประท้วงทางการเมืองในประเทศไทย โดย TikTok ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึง TikTok ยังมีบทบาทในการท้าทายอุดมการณ์ใหญ่ของรัฐด้วยอารมณ์ขัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นำมาใช้สำหรับเสียดสีล้อเลียนรัฐและผู้มีอำนาจในสังคม นอกเหนือจากนี้ TikTok ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกควบคุมจากรัฐต่ำกว่าแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ประเภทอื่น ๆ แม้ว่าภาครัฐจะมีความพยายามในการรับมือกับการเมืองบนอินเทอร์เน็ตด้วยการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาและการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ก็ตาม วิทยานิพนธ์นี้จึงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบของความสัมพันธ์ระหว่างอินเทอร์เน็ตกับสถาบันการเมืองและระบอบประชาธิปไตย


การเปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมืองของเอนก เหล่าธรรมทัศน์: การแสวงหาความหมายใหม่ของ "ประชาธิปไตย", ณัตถยา สุขสงวน Jan 2022

การเปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมืองของเอนก เหล่าธรรมทัศน์: การแสวงหาความหมายใหม่ของ "ประชาธิปไตย", ณัตถยา สุขสงวน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมืองของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผ่านการแสวงหาความหมายใหม่ของ “ประชาธิปไตย” ท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่สำคัญรอบตัวของเอนกซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในห้วงเวลาต่างๆ ผลการศึกษาพบว่า เอนกมีความคิดทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ประชาธิปไตยสากลตามมาตรฐานตะวันตก เป็นระยะของการก่อตัวทางความคิดทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยของเอนก โดยในภาพรวม เอนกได้ยึดถือคุณค่าและหลักการประชาธิปไตยสากลตามมาตรฐานตะวันตกเพื่อปรับใช้กับประเทศไทยเป็นสำคัญ, ระยะที่ 2 สองนคราประชาธิปไตย เป็นระยะที่เอนกแสดงให้เห็นถึงสภาวะทางสังคมและการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะของไทยในรูปแบบสองนคราประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ท่ามกลางการนำประชาธิปไตยแบบตะวันตกตามมาตรฐานสากลไปใช้กับการเมืองไทย, ระยะที่ 3 ประชาธิปไตยโดยประชาชน เป็นระยะที่เอนกให้ความสนใจกับประชาธิปไตยโดยประชาชน ประชาชนเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย และระยะที่ 4 ประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะของไทย ในระยะนี้ เอนกให้ความสนใจกับประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะของไทย ด้วยการนำเอาความเป็นตะวันออกและความเป็นไทย รวมถึงการมีพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จัดอยู่ในความสัมพันธ์ทางอำนาจในการเมืองไทย มาผสมผสานและปรับใช้กับความคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตก การก่อรูปและการเปลี่ยนแปลงความคิดทางการเมืองของเอนกทั้ง 4 ระยะเป็นผลจากบริบทแวดล้อมที่สำคัญรอบตัวเอนก ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในห้วงเวลาต่างๆ ทั้งจากภูมิหลังชีวิต บริบทสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นจุดเปลี่ยนหรือจุดหักเหในชีวิตหรือความคิด และกระแสภูมิปัญญาความคิดทางการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยในสังคมไทยในทศวรรษที่ 2520 – 2560


สถานะ บทบาท และพลวัตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในสถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย, ปุญญวันต์ จิตประคอง Jan 2022

สถานะ บทบาท และพลวัตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในสถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย, ปุญญวันต์ จิตประคอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับโครงสร้างอำนาจในท้องถิ่น และองค์กรอื่นในรัฐไทย ด้วยการศึกษาผ่านตัวแสดง ความสัมพันธ์ทางอำนาจในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมระหว่างบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน รวมถึงตัวแสดงอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นในบริบทสถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขอบเขตการศึกษาครอบคลุมตั้งแต่ยุคก่อร่างรัฐและการผนวกปาตานีเข้ากับรัฐสยามจนถึงปัจจุบันภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ.2329-2564) งานศึกษาชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิธิวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยการใช้สถิติเชิงพรรณนาจากข้อมูลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการใช้การตีความจากการสัมภาษณ์ และข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่มีความถี่สะสมของเหตุการณ์ความรุนแรงสูงสุดระหว่างปี 2547-2564 ประกอบด้วย อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ผลการศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับโครงสร้างอำนาจในท้องถิ่นเป็นความสัมพันธ์ที่ผูกติดกับโครงสร้างสถาบันเชิงจารีตที่เชื่อมโยงราชสำนัก ศาสนา เจ้าเมือง และกลุ่มพ่อค้าคนจีน ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับองค์กรอื่นในรัฐไทยเป็นความสัมพันธ์ผ่านโครงสร้างรัฐราชการแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการปกครอง ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้ มีองค์ประกอบของตัวแสดงที่เข้าไปมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วยข้าราชการทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์ด้านใดด้านหนึ่งกับเครือข่ายสถาบันจารีตดั้งเดิม และข้าราชการประจำที่มีความสัมพันธ์กับรัฐส่วนกลางตามโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะที่จิตสำนึกเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกช่วงเวลากลับพบว่าอยู่ในระดับต่ำสุด คือ ระดับการครอบงำและบังคับความคิด และระดับการบำบัดรักษา เพราะเครือข่ายเชิงสถาบันในราชการส่วนท้องถิ่นและประชาชนถูกครอบงำโดยโครงสร้างรัฐราชการแบบรวมศูนย์อำนาจภายใต้บริบทสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งผลทำให้ท้องถิ่นกลายเป็นสถาบันที่ต้องรองรับการใช้อำนาจจากรัฐทุกรูปแบบผ่านวิธีการควบคุม กำกับ กดทับ ลดทอน และจำกัดการกระทำของสถาบันหรือตัวแสดงระดับท้องถิ่น ที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวกำหนดการก่อรูปโครงสร้างเชิงสถาบัน


พัฒนาการของแนวคิดการปกครองตนเองของท้องถิ่น: โอกาสและความท้าทายภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง, ฒาลัศมา จุลเพชร Jan 2022

พัฒนาการของแนวคิดการปกครองตนเองของท้องถิ่น: โอกาสและความท้าทายภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง, ฒาลัศมา จุลเพชร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการและการถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดการปกครองตนเองในสังคมไทย ประเมินสถานภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมถึงประเมินเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เป็นแรงกดดันหรือแรงต้านทานต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากนั้นนำไปสู่การสังเคราะห์รูปแบบการปกครองตนเองจากทัศนะที่หลากหลาย โดยศึกษาจากพื้นที่ปฏิบัติการจริงของการใช้แนวคิดการปกครองตนเองในสถานการณ์ที่แตกต่าง อันได้แก่ พื้นที่ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งรุนแรงมี การประกาศใช้กฎหมายพิเศษ (เทศบาลปัตตานี) พื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยอาศัยโอกาสจากนโยบายประชารัฐ (เทศบาลนครขอนแก่น) และ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (เทศบาลนครแม่สอด) สำหรับวิธีการเก็บข้อมูลใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย (ส่วนกลาง) ผู้ว่าราชการจังหวัด (ส่วนภูมิภาค) และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ นายกเทศมนตรี และรองนายกเทศมนตรี การสังเกตการณ์ (observation) อย่างมีส่วนร่วม และการสนทนากลุ่ม (focus group) ประกอบด้วย ประชาชนในพื้นที่ และผู้เคยร่วมงานกับผู้นำท้องถิ่น จำนวน 33 คน โดยนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์แบบพรรณนาเชิงวิเคราะห์ ผลการวิจัยแบ่งได้เป็น 4 ส่วน ดังนี้ 1) พัฒนาการแนวคิดการปกครองตนเองเริ่มเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เนื่องจากมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่สนับสนุนการกระจายอำนาจเต็มที่ และในปี พ.ศ. 2546 ผู้นำท้องถิ่น ทุกประเภทมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 เกิดแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งมิติความเป็นตัวแทนมีมากที่สุด รองลงมามิติอำนาจตัดสินใจไม่สามารถยับยั้งโครงการจากส่วนกลางได้ ในขณะที่มิติการมีส่วนร่วมมีกลไก ไม่ชัดเจน สำหรับแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเหมาะสมสำหรับส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นแต่ยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแพร่หลาย ส่วนมิติในการปกครองตนเองที่น้อยที่สุด คือ จัดสรรทรัพยากรและความรับผิดรับชอบ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ 2) สถานภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เป็นการเจรจาต่อรองในฐานะหุ้นส่วนถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคงเป็นการเจรจาเพื่อให้ส่วนกลางมีพื้นที่ในท้องถิ่น ในขณะที่โครงสร้างที่ส่วนกลางส่งลงมาท้องถิ่นมีลักษณะ “จำแลง” คือ โครงสร้างนโยบายของรัฐที่ต้องการใช้ท้องถิ่นจัดหาประโยชน์ให้ส่วนกลาง ทำให้ส่วนท้องถิ่นไม่สามารถใช้มิติการปกครอง 5 ด้านได้อย่างเต็มที่เพราะถูกกำกับดูแลด้วยคณะกรรมการต่างๆ ในจังหวัด 3) เงื่อนไขภายในที่เป็นทั้งแรงกดดันและแรงต้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหยั่งรากอยู่ในปริมณฑลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ได้แก่ นโยบาย โครงสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน และโครงสร้างทางการเมือง ในทางตรงข้าม การดำเนินการและการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแรงกดดันจากภายนอกเพื่อให้มีการปกครองตนเองมากขึ้น 4) ผลการสังเคราะห์รูปแบบการปกครองตนเองจากทัศนะที่หลากหลาย ได้แก่ ยุบรวม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง (Lower-Tier) ท้องถิ่นรูปแบบเมืองพิเศษ และการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ทั้งนี้ความท้าทายในการปกครองตนเองมี …


พลวัตการประท้วง : ศึกษากรณีขบวนการต่อต้านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, วรรธนพร ภัทรธรรมกุล Jan 2022

พลวัตการประท้วง : ศึกษากรณีขบวนการต่อต้านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, วรรธนพร ภัทรธรรมกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา การเกิดขึ้นและพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และสถานการณ์และแนวโน้มของขบวนการต่อต้านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ผ่านกรอบแนวคิดทฤษฎีการระดมทรัพยากร (Resources Mobilization Theory) ผลการศึกษาพบว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เกิดขึ้นในปี 2559 ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ในการก่อกำเนิดและดำเนินโครงการ จึงนำมาสู่การกำเนิดขึ้นของ “ขบวนการต่อต้านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” โดยมีข้อเรียกร้องคือให้ยุติหรือชะลอโครงการดังกล่าว ทั้งนี้การเคลื่อนไหวอยู่ภายบริบททางการเมืองที่แบ่งได้เป็น 2 ยุค คือ อำนาจนิยมเต็มรูปแบบ ในปี 2559 – 2561 และอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งปัจจัยโครงสร้างโอกาสทางการเมืองมีผลอย่างมากต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวและทิศทางการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะในยุคอำนาจนิยมที่มีการจำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม แม้ภายหลังการเลือกตั้งทำให้มีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวมากขึ้น แต่รัฐยังคงรวมศูนย์การตัดสินใจจนได้ดำเนินโครงการจนหวนกลับไม่ได้แล้ว ดังนั้น จึงนำมาสู่การลดทอนข้อเรียกร้องของขบวนการ จนในที่สุดขบวนการได้รับความสำเร็จจากการสร้างผลสะเทือนต่อรัฐ จนเกิดการเร่งทบทวนผังเมืองใหม่ 30 อำเภอ โดยเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็น อย่างไรก็ตาม หลังจากการเคลื่อนไหวในปี 2563 การเคลื่อนไหวก็คลายตัวลงแต่การเคลื่อนไหวยังไม่สิ้นสุดเพราะแต่ละพื้นที่ยังคงแยกกันเคลื่อนไหวตามผลกระทบที่ได้รับซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็ได้รับความสำเร็จ/ล้มเหลวแตกต่างกันไป


พลวัตทางการเมืองของตระกูลการเมืองท้องถิ่นภายใต้ระบอบอำนาจนิยม: ศึกษากรณีจังหวัดชลบุรี, อัฟนาน จรัลศาส์น Jan 2022

พลวัตทางการเมืองของตระกูลการเมืองท้องถิ่นภายใต้ระบอบอำนาจนิยม: ศึกษากรณีจังหวัดชลบุรี, อัฟนาน จรัลศาส์น

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตของอำนาจทางการเมืองและศึกษารูปแบบและวิธีการรักษาอำนาจทางการเมืองของตระกูลการเมืองท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 จนถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2564 เก็บข้อมูลโดยการศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลหลัก 15 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา และนำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนา ผลการศึกษา พบว่า ตระกูลคุณปลื้มปรับตัวภายใต้ปกครองระบอบอำนาจนิยมโดยการไม่แสดงการต่อต้านการปกครองโดยคณะรัฐประหาร และตัดสินใจเข้าร่วมพรรคการเมืองฝั่งทหารเพื่อการฟื้นฟูอำนาจของตน แต่ผลกระทบทางอ้อม คือ ก่อให้เกิดกลุ่มท้าทายอำนาจสองกลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มการเมืองในเครือข่ายพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม) ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามที่ชูนโยบายต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร 2) กลุ่มการเมืองของนายสุชาติ ชมกลิ่น ที่แยกตัวออกจากบ้านใหญ่ชลบุรีหลังจากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ไม่ลงตัวในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งสองกลุ่มกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญในจังหวัดชลบุรี โดยกลุ่มแรกดึงคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับตระกูลคุณปลื้ม ส่วนกลุ่มที่สองดึงนักการเมืองบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับแนวทางการบริหารเครือข่ายบ้านใหญ่ที่เน้นการอุปถัมภ์ช่วยเหลือผ่านอำนาจในระบบราชการมากกว่าการให้เงินส่วนตัวแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ตระกูลคุณปลื้มยังคงรักษาโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นแบบขั้วเดียวในจังหวัดชลบุรีได้ผ่านวิธีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเพื่อเข้าร่วมฝั่งรัฐบาลในการเมืองระดับชาติ วิธีการจัดสรรผลประโยชน์ภายในเครือข่ายบ้านใหญ่ชลบุรีและสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์เชื่อมโยงตระกูลคุณปลื้มกับประชาชนในการเมืองระดับท้องถิ่น