Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Political Science

PDF

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

2019

Articles 1 - 30 of 43

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

บทบาทของกองทัพอากาศไทยในปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงครามศึกษากรณีการปฏิบัติการดับไฟป่า, ณัฐพล นิสยันต์ Jan 2019

บทบาทของกองทัพอากาศไทยในปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงครามศึกษากรณีการปฏิบัติการดับไฟป่า, ณัฐพล นิสยันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาบทบาทของกองทัพอากาศไทยในการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม เนื่องจากในสถานการณ์โลกปัจจุบันได้มีภัยคุกคามในรูปแบบใหม่มากขึ้นและกองทัพอากาศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และกองทัพอากาศไทยเป็นหน่วยงานที่มีกำลังบุคคลและอุปกรณ์ในการช่วยเหลือจึงต้องปรับบทบาทขององค์กรเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะศึกษามุ่งเน้นไปยังกรณีการดับไฟป่า การศึกษาพบว่ากองทัพอากาศได้มีบทบาทในการดับไฟป่าอย่างมาก เนื่องจากการดับไฟป่าต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เพราะไฟป่าสามารถลุกลามสร้างความเสียหายทำลายพื้นที่ทั้งป่าและบ้านเรือนของประชาชนได้ในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นไฟป่ายังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ซึ่งกองทัพอากาศในภาวะปกติต้องมีการฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาความสามารถ ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ให้สามารถบริหารจัดการวิกฤตการณ์และภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การศึกษายังได้ข้อสรุปเพิ่มเติมว่าปัจจุบันอุปกรณ์เครื่องมือในการดับไฟป่าได้มีวิวัฒนาการที่ทันสมัย และสามารถใช้เพื่อปฏิบัติการดับไฟป่าได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งหากกองทัพอากาศไทยนำอุปกรณ์เครื่องมือเหล่านี้มาใช้ก็จะทำให้สามารถดำเนินการดับไฟป่าได้เร็วยิ่งขึ้น


นโยบาย "3 ไม่" ของเวียดนามกับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2010-2019, ชภาภัทร โสตถิอนันต์ Jan 2019

นโยบาย "3 ไม่" ของเวียดนามกับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2010-2019, ชภาภัทร โสตถิอนันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การมีภัยคุกคามและผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ร่วมกันในทะเลจีนใต้ของเวียดนามกับสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนในความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่เวียดนามยืนยันไม่เป็นพันธมิตรทางการทหารกับสหรัฐฯ เพื่อร่วมกันต่อต้านจีนโดยยึดนโยบาย “3 ไม่”กล่าวคือ ไม่เป็นพันธมิตรทางทหาร ไม่ให้ตั้งฐานทัพต่างชาติในประเทศ และไม่ร่วมมือกับรัฐหนึ่งเพื่อต่อต้านรัฐอื่น นโยบาย 3 ไม่จึงเป็นเครื่องมือในการรักษาความสัมพันธ์กับจีนควบคู่ไปกับพัฒนาความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษานโยบาย “3 ไม่” ของเวียดนามกับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2010-2019 โดยประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องพันธมิตรทางทหารของเคนเน็ต วอลท์เพื่อเสนอว่าการใช้นโยบาย “3 ไม่” ทำให้เวียดนามยังรักษาความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีกับจีนไว้ได้ พร้อม ๆ กับอนุญาตให้เวียดนามสามารถเข้าใกล้สหรัฐฯ ได้มากขึ้นด้วย และยังเป็นนโยบายที่เวียดนามใช้เพื่อป้องกันตนเองจากแรงกดดันและแสวงหาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์กับสองมหาอำนาจ ทั้งนี้ แม้เวียดนามมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากขึ้น แต่เวียดนามหลีกเลี่ยงคำและการกระทำที่เข้าข่ายการเป็นพันธมิตรทางทหาร โดยในการสร้างข้อตกลงทางการทหารอย่างไม่เป็นทางการกับสหรัฐฯ เวียดนามพยายามจำกัดให้อยู่ภายในขอบเขตของนิยามความเป็นหุ้นส่วน เพื่อยืนยันว่าตนยังคงยึดมั่นนโยบาย “3 ไม่” อย่างมั่นคง


การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง (Lmc), ปภาพรรณ หารบุรุษ Jan 2019

การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง (Lmc), ปภาพรรณ หารบุรุษ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษานโยบายต่างประเทศของจีนที่มีต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะภายใต้การดำเนินงานของกรอบความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง (Lancang - Mekong Cooperation: LMC) ระหว่างปี ค.ศ. 2016 ถึง 2020 เพื่อวิเคราะห์แรงจูงใจที่ทำให้จีนต้องการจัดตั้งกรอบความร่วมมือดังกล่าว โดยผู้วิจัยใช้กรอบแนวคิดการเปลี่ยนผ่านของอำนาจ (Power transition theory) ของ A.F.K. Organski และ Jacek Kugler เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ การศึกษาครั้งนี้พบว่า แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้จีนจัดตั้งกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง มี 3 ประการ ได้แก่ (1) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้อย่างเต็มที่ (2) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการช่วงชิงบทบาทนำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจากมหาอำนาจนอกภูมิภาค และ (3) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของตนให้แข็งแกร่งขึ้น โดยในท้ายที่สุด กรอบความร่วมมือนี้จะช่วยสนับสนุนให้จีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ (Dominant power) ที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ


การปรับแนวทางความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยรัฐบาลชินโซ อาเบะ, อุมาพร เกตุสุวรรณ์ Jan 2019

การปรับแนวทางความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยรัฐบาลชินโซ อาเบะ, อุมาพร เกตุสุวรรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาความสัมพันธ์ของการปรับแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ (ODA) ของญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.2015 กับการดำเนินยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในยุครัฐบาลชินโซ อาเบะต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกรอบแนวคิดการถ่วงอำนาจแบบใช้ไม้อ่อน (soft balancing) เนื่องจากญี่ปุ่นใช้ ODA เป็นเครื่องมือดำเนินยุทธศาสตร์ต่างประเทศมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของ ODA ญี่ปุ่นและมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงและเศรษฐกิจต่อญี่ปุ่น โดยการปรับแนวทาง ODA ของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการปรับเป้าหมายและแนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งผลการศึกษาพบว่า รัฐบาลอาเบะใช้ ODA เป็นเครื่องมือสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) และศักยภาพด้านการพัฒนาของประเทศในภูมิภาคด้วยการให้ ODA เพื่อให้อาเซียนและประเทศสมาชิกลดการพึ่งพาจีนและรักษาระเบียบของภูมิภาคที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของญี่ปุ่น เนื่องจากการผงาดขึ้นมาของจีน โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลทางทะเลและยุทธศาสตร์ Belt and Road เป็นประเด็นท้าทายต่อการดำเนินยุทธศาสตร์และอิทธิพลของญี่ปุ่นในภูมิภาค


The Roles And Perceptions Of The Thai Ministry Of Foreign Affairs Through Governmental Politics In The Preah Vihear Temple Dispute, Ornthicha Duangratana Jan 2019

The Roles And Perceptions Of The Thai Ministry Of Foreign Affairs Through Governmental Politics In The Preah Vihear Temple Dispute, Ornthicha Duangratana

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

In the Thai-Cambodian Preah Vihear Temple dispute, the perceptions of the Thai Ministry of Foreign Affairs (MFA) are investigated. Through the employment of role theory, the MFA's national role conceptions (NRCs), since the Cold War period and with concentration on the years from 2008 to 2013, are explicated. The research presents that the organizational characteristics of the ministry conduce the propensity for cooperative NRCs. At the same time, as the agency dealing with foreign affairs, the material and ideational elements in the external environment are important determinants. Nevertheless, at times, the national public opinion and the decline of the MFA's …


บทบาทของเกาหลีใต้กับปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างปีค.ศ.2000-2018, บุษยพรรณ ลิ้มยิ่งเจริญ Jan 2019

บทบาทของเกาหลีใต้กับปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างปีค.ศ.2000-2018, บุษยพรรณ ลิ้มยิ่งเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาบทบาทของเกาหลีใต้ในการแก้ไขปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ในระหว่าง ค.ศ. 2000 - 2018 โดยต้องการตอบคำถามว่า เกาหลีใต้ มีบทบาทอย่างไรในการแก้ไขปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือ และนโยบายที่เกาหลีใต้เลือกใช้ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคอย่างไร ทั้งนี้ ผู้วิจัยใช้แนวคิดเรื่องนโยบายผูกมิตรเข้าหา (engagement policy) มาเป็นกรอบในการศึกษาบทบาทของเกาหลีใต้ในการดำเนินนโยบายต่อเกาหลีเหนือ ตลอด 5 ยุคสมัยของประธานาธิบดี ได้แก่ คิมแดจุง (ค.ศ. 1998 - 2003) โนมูฮยอน (ค.ศ. 2003 - 2008) อีมยองบัค (ค.ศ. 2008 - 2013) พัคกึนฮเย (ค.ศ. 2013 - 2017) และมูนแจอิน (ค.ศ. 2017 - ปัจจุบัน) ข้อเสนอหลักของการศึกษาวิจัยพบว่า ประธานาธิบดีทั้ง 5 ท่าน ใช้นโยบายผูกมิตรเข้าหาเป็นนโยบายหลักเพื่อจัดการปัญหาเกาหลีเหนือ แต่ใช้คนละรูปแบบ และมีระดับของการผูกมิตรเข้าหาเกาหลีเหนือแตกต่างกัน ซึ่งกลายเป็นตัวแปรปัจจัยภายในที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของเกาหลีใต้เอง โดยในสมัยประธานาธิบดีฝ่ายหัวก้าวหน้า จะใช้นโยบายผูกมิตรเข้าหาในลักษณะที่เป็นมิตรกับเกาหลีเหนือมากกว่าสมัยประธานาธิบดีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรปัจจัยภายนอกที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของเกาหลีใต้ ได้แก่ การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจและคู่กรณีหลักในประเด็นปัญหานี้ และนโยบายนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งมีบทบาทหลักในสถานการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี


นโยบายของประเทศหน้าด่านในการรับผู้ลี้ภัยจากซีเรีย: กรณีศึกษาการตอบสนองของรัฐบาลกรีซ 2015-2017, ระพีพัฒน์ สุขนาน Jan 2019

นโยบายของประเทศหน้าด่านในการรับผู้ลี้ภัยจากซีเรีย: กรณีศึกษาการตอบสนองของรัฐบาลกรีซ 2015-2017, ระพีพัฒน์ สุขนาน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้เป็นเชิงคุณภาพ มุ่งเน้นศึกษาการตอบสนองต่อการดำเนินการรับผู้ลี้ภัยของรัฐหน้าด่านของสหภาพยุโรปอย่างกรีซในช่วงปีค.ศ. 2015 - 2017 พร้อมทั้งเสนอปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการตอบสนองดังกล่าว ผ่านการวิเคราะห์ด้วยแนวคิดเรื่องกระบวนการยุโรปภิวัตน์ และการเมืองเกี่ยวพัน ในการอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและเหล่าประเทศสมาชิก ผ่านมิติทางการเมือง ระบอบการปกครอง และนโยบาย ที่มีความสอดคล้องกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของสหภาพยุโรป ผลการศึกษาพบว่าการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยของกรีซมีลักษณะในการจัดการปัญหาในรูปแบบของการดำเนินนโยบายหรือกระบวนการต่าง ๆ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญทั้งภายในและภายนอกที่มีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน โดยจะต้องมีการคำนึงถึงข้อตกลง หรือกฎหมายต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปในฐานะที่กรีซเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก รวมถึงจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอื่นของสหภาพยุโรป แต่อย่างไรก็ตามการจัดการผู้ลี้ภัยของกรีซกลับมีการดำเนินการอย่างมีข้อจำกัดจากปัจจัยเรื่อง สมาชิกภาพของสหภาพฯ และปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ เพราะแม้ว่าสหภาพยุโรปมีการบูรณาการความสัมพันธ์แน่นแฟ้น สะท้อนออกมาเป็นแนวทางการดำเนินงานและนโยบายร่วมในด้านต่าง ๆ แต่สำหรับด้านการจัดการปัญหาวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัย การเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของประเทศหน้าด่านอย่างกรีซ กลับเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการจัดการกับปัญหา เนื่องจากกระบวนการหรือนโยบายร่วมไม่สามารถตอบสนองหรือสร้างความเท่าเทียมต่อการรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศสมาชิก ประกอบกับการที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศจึงส่งผลต่อความเชื่อใจและความน่าเชื่อถือของกรีซในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้กรีซไม่มีศักยภาพมากพอที่จะขอปรับเปลี่ยนข้อกำหนดที่ไม่เป็นธรรมต่อการจัดการผู้ลี้ภัยภายในประเทศได้ ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองปัจจัยเปรียบเสมือนข้อท้าทายของรัฐบาลกรีซซึ่งจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางการแก้ไข เพื่อให้แนวทางในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่อประเด็นชาวโรฮิงญา, ภัทราวรรณ แก้วกรอง Jan 2019

การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่อประเด็นชาวโรฮิงญา, ภัทราวรรณ แก้วกรอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้ว่าด้วยเรื่องการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่อประเด็นชาวโรฮิงญา โดยมุ่งศึกษาถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในการจัดการและตอบสนองต่อประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคระหว่างปี 2009-2017 และนำปัญหาชาวโรฮิงญามาเป็นกรณีศึกษา งานวิจัยฉบับนี้จะใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ รวมถึงอาศัยทฤษฎีสรรสร้างนิยมเพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์ จากการศึกษาพบว่า การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในการจัดการและตอบสนองต่อประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคต้องดำเนินอยู่ภายใต้ข้อจำกัดสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1. ปัจจัยที่เกิดจากภายในภูมิภาค คือ บรรทัดฐานที่ใช้กำกับความสัมพันธ์ภายในองค์กรหรือเป็นที่รู้จักในนามของวิถีอาเซียน ได้ส่งผลต่อการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ รวมถึงส่งผลให้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนปราศจากอำนาจเข้าไปตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและลงโทษต่อประเทศผู้กระทำผิด วิถีอาเซียนจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกลายเป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจในการปกป้องประชาชนได้อย่างแท้จริง และ 2. ปัจจัยที่เกิดจากภายนอกภูมิภาค คือ อิทธิพลของบรรทัดฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศภายนอกภูมิภาค ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยภายในรวมถึงการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันจากประเทศภายนอกภูมิภาคมาโดยตลอด เนื่องจากความผิดหวังต่อการจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคที่มีสาเหตุมาจากการตีความในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างจากภายนอกภูมิภาค รวมถึงการจัดการกับประเด็นปัญหาชาวโรฮิงญาในเรื่องของการตีความเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ไม่มีกฎหมายจารีตประเพณีที่จะสามารถนำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือและรองรับกับปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามกระแสวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไปจากเดิม แต่อิทธิพลของบรรทัดฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศภายนอกภูมิภาคที่เข้ามาได้มีการนำมาปรับใช้ให้สอดรับกับวิถีอาเซียน เพื่อนำไปสู่บรรทัดฐานที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถยอมรับได้


พินิจทฤษฎีการปกครองแบบผสมกับรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. ๒๔๗๕ - ๒๕๓๔, เอกลักษณ์ ไชยภูมี Jan 2019

พินิจทฤษฎีการปกครองแบบผสมกับรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. ๒๔๗๕ - ๒๕๓๔, เอกลักษณ์ ไชยภูมี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีองค์ประกอบหลักสองส่วน โดยวัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยในส่วนแรกคือ ผู้วิจัยต้องการพัฒนาทฤษฎีการปกครองแบบผสมที่วางอยู่บนฐานคิดสำคัญสองประการคือ ฐานคิดเรื่องการปกครองตามธรรมชาติและฐานคิดเรื่องการปกครองที่รู้จักประมาณ ในส่วนของฐานคิดเรื่องการปกครองตามธรรมชาติประกอบด้วยกฎเหล็กของการปกครองแบบผสมสามข้ออันเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขความจำเป็นพื้นฐานของสดมภ์หลักทางการเมืองของทุกระบอบการปกครอง ประการที่หนึ่งคือกฎเหล็กขององค์ประกอบมหาชนที่ทำงานในส่วนความชอบธรรมของระบอบการเมือง ประการที่สองคือกฎเหล็กขององค์ประกอบคณะบุคคลที่ทำงานในส่วนกลไกที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของระบอบ และสุดท้ายคือกฎเหล็กขององค์ประกอบเอกบุคคลที่ทำงานในส่วนที่ต้องการการตัดสินใจที่มีเอกภาพและผู้ที่จะมาเติมเต็มการใช้อำนาจบริหาร หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจของเอกบุคคลที่เด็ดขาดในสภาวะหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนฐานคิดประการที่สองของทฤษฎีการปกครองแบบผสมเสนอให้ทำความเข้าใจทฤษฎีการปกครองแบบผสมในฐานะการปกครองที่รู้จักประมาณซึ่งจะหลอมรวมจารีตของความคิดเรื่องการปกครองแบบผสมที่แตกต่างกันสองแบบในความคิดทางการเมืองตะวันตก คือการปกครองแบบผสมที่เน้นการสร้างความผสมกลมกลืนและการผสานความขัดแย้งทางการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน โดยให้แต่ละส่วนต่างทำงานในฐานะส่วนที่เป็นกลไกอุดมการณ์และส่วนที่ทำหน้าที่ออกแบบสถาบันทางการเมืองที่เกื้อหนุนกัน ส่วนวัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยในครึ่งหลัง คือการนำทฤษฎีการปกครองแบบผสมมาประยุกต์ใช้เพื่ออธิบายการเมืองไทยสมัยใหม่ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 จนถึงปีพุทธศักราช 2534 ผ่านรัฐธรรมนูญในประเด็นแกนกลางที่เอกบุคคล คณะบุคคล และมหาชนใช้ในการประชันขันแข่งเพื่อสถาปนาตนเองให้ขึ้นมาเป็นจุดหมุนของสภาวะทางการเมืองที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุค เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าความไม่ลงตัวและความไร้เสถียรภาพที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการประชันขันแข่งระหว่างวิธีคิดแบบบริสุทธิ์และวิธีคิดแบบผสมที่อยู่เบื้องหลังแต่ละสดมภ์ในการออกแบบ บังคับใช้ และการตีความรัฐธรรมนูญ กระทั่งนำมาซึ่งสภาวะที่งานวิจัยเรียกว่า "การเมืองแห่งการสลายการปกครองแบบผสม" อันเป็นที่มาของการเหวี่ยงตัวทางการเมืองไทยครั้งแล้วครั้งเล่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา


การหยุดยิงกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา กรณีศึกษา คะฉิ่น และกะเหรี่ยง, อรไท โสภารัตน์ Jan 2019

การหยุดยิงกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา กรณีศึกษา คะฉิ่น และกะเหรี่ยง, อรไท โสภารัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้ตั้งข้อสังเกตต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในเมียนมาว่าไม่อาจเปลี่ยนผ่านได้ด้วยแนวทางเส้นตรง (linear democratization)ได้แก่การจัดตั้งสถาบันทางการเมืองหรือ การจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะไม่ใช่แนวทางที่แน่นอนในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแบบเสรีได้อย่างแท้จริง การศึกษานี้มีคำถามวิจัย คือ การทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างฝ่ายรัฐบาลเมียนมา และฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในสหภาพเมียนมาอย่างไร ตลอดจนข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลเมียนมา กับรัฐบาลรัฐคะฉิ่นและระหว่างรัฐบาลเมียนมากับรัฐบาลรัฐกะเหรี่ยงส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยภายในรัฐกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสองอย่างไร ทั้งยังศึกษาเปรียบเทียบข้อตกลงหยุดยิงและผลต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของรัฐบาลรัฐคะฉิ่นและรัฐบาลรัฐกะเหรี่ยงหลังการทำข้อตกลงหยุดยิง กรอบหลักในการศึกษาคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของโดนัลด์ แชร์(Donald Share) ที่อธิบายการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในสหภาพเมียนมาโดยการยินยอมของฝ่ายผู้นำทหาร สำหรับการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในรัฐคะฉิ่นและรัฐกะเหรี่ยง อธิบายภายใต้กรอบการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแบบเป็นไปตามกระบวนการตามลำดับ (Sequencing Approach) ด้วยการจัดตั้งสถาบันทางการเมืองโดยโทมัส คาโรเธอร์ (Thomas Carothers) และกรอบการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป (Gradualist/Transformist) เป็นกรอบการศึกษาที่ยอมรับการเรียนรู้ในหลักการประชาธิปไตยที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกกรณี จึงส่งเสริมสถานการณ์สันติภาพได้มากกว่าโดย ออล ทอร์ทควิสท์ (Olle Tornquist) และ คริสเตียน สโตกก์ (Kristian Stokke) ผลการศึกษา พบว่า ข้อตกลงหยุดยิงเป็นองค์ประกอบหนึ่งในทางสถาบันทางการเมืองที่ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญและไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับสันติภาพในสหภาพเมียนมา ในการเปรียบเทียบผลหลังการลงนามหยุดยิงระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ พบว่ารัฐคะฉิ่นหลังยุติข้อตกลงหยุดยิง คุณค่าของความเป็นประชาธิปไตยภายในรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นเติบโตขึ้น เนื่องด้วยเงื่อนไขภายในรัฐกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นที่มีความเป็นเอกภาพและการตระหนักในคุณค่าความเท่าเทียมกัน ในขณะที่รัฐกะเหรี่ยง ความแตกแยกภายในเป็นเงื่อนไขก่อนการลงนามข้อตกลงหยุดยิง เมื่อลงนามข้อตกลงหยุดยิงกลับไม่ได้เป็นสถาบันทางการเมืองที่สามารถส่งเสริมการรวมตัวและความเป็นประชาธิปไตยภายในรัฐกะเหรี่ยงได้


นโยบายต่างประเทศไทย : การสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (1945-1946), ธนชัย นิสยันต์ Jan 2019

นโยบายต่างประเทศไทย : การสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (1945-1946), ธนชัย นิสยันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของประเทศไทยในปี 1946 ความเป็นสมาชิกภาพขององค์การสหประชาชาติช่วยในการดำรงสถานะความเป็นรัฐเอกราชของประเทศไทยในช่วงสงครามโลก ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยไม่เป็นรัฐ ผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น ในกรณีของประเทศเยอรมนีและประเทศญี่ปุ่น ผลจากการแพ้สงครามทำให้ทั้งสองประเทศดังกล่าวถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ประเทศไทยไม่ถูกกระทำเช่นนั้น นอกจากนี้ความเป็นสมาชิกภาพขององค์การสหประชาชาติยังช่วยเปลี่ยนแปลง ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจากความเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามอีกด้วย


บทบาทของกลุ่มการเมืองในฟิลิปปินส์ต่อนโยบายของประธานาธิบดีดูเตอร์เตที่มีต่อจีน, กชพร สร้อยทอง Jan 2019

บทบาทของกลุ่มการเมืองในฟิลิปปินส์ต่อนโยบายของประธานาธิบดีดูเตอร์เตที่มีต่อจีน, กชพร สร้อยทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาบทบาทของกลุ่มการเมืองในฟิลิปปินส์ต่อนโยบายของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตที่มีต่อจีน โดยมุ่งพิจารณาบทบาทของกองทัพ รัฐสภา หน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน จากการศึกษาพบว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์ กลุ่มการเมืองภายในประเทศทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุล (Checks and Balances) ทำให้ดูเตอร์เตไม่อาจดำเนินนโยบายต่อจีนตามที่มุ่งหวัง โดยดูเตอร์เตต้องการมีความใกล้ชิดกับจีนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และไม่ต้องการนำปัญหาทะเลจีนใต้มาก่อให้เกิดความขัดแย้งกับจีนภายหลังศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (Permanent Court of Arbitration – PCA) มีคำตัดสินข้อพิพาททะเลจีนใต้ที่ส่งผลในทางบวกต่อฟิลิปปินส์ กลุ่มการเมืองภายในเรียกร้องให้ดูเตอร์เตใช้คำตัดสินดังกล่าวเพื่อยืนยันอำนาจอธิปไตยของฟิลิปปินส์ เพื่อลดการแผ่ขยายอำนาจในทะเลจีนใต้ของจีน และตอบโต้พฤติกรรมรุกล้ำของจีนในน่านน้ำฟิลิปปินส์บริเวณทะเลจีนใต้ ขณะที่ดูเตอร์เตไม่ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับจีน จึงใช้วิธีแสวงหาความร่วมมือกับจีน อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายของดูเตอร์เตทำให้ฟิลิปปินส์ดูเหมือนประเทศเล็กที่ต้องทำตัว อ่อนน้อมให้กับมหาอำนาจอย่างจีน ท่าทีดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มและสถาบันการเมืองในประเทศมีปฏิกิริยาเชิงลบทั้งต่อดูเตอร์เตและจีน รวมถึงกระตุ้นกระแสชาตินิยมที่เรียกร้องให้รัฐบาลต้องมีจุดยืนที่แข็งกร้าวตอบโต้จีน ส่งผลให้ดูเตอร์เตต้องลดการโอนอ่อนให้กับจีน ในแง่นี้ชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยที่กลุ่มการเมืองและสถาบันที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลสามารถมีเสรีภาพในการทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพนี้ ส่งผลให้ผู้นำต้องรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนในระดับหนึ่ง แม้ว่าผู้นำจะมีลักษณะอำนาจนิยมก็ตาม


แผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่น ต่อ อาเซียน สมัยรัฐบาลอาเบะ, นนทิวรรธน์ สามัญบุตร Jan 2019

แผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่น ต่อ อาเซียน สมัยรัฐบาลอาเบะ, นนทิวรรธน์ สามัญบุตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ เพื่อจะตอบคำถามว่า ความเปลี่ยนแปลงในนโยบายญี่ปุ่นต่ออาเซียน ในสมัย นายกฯ ชินโซ อาเบะ ตอบสนองยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่น อย่างไร? จากการศึกษาพบว่า นับตั้งแต่ สมัยรัฐบาลฟูกูดะ ในช่วงสงครามเย็น ญี่ปุ่นกลับเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดเด่นคือ การแสดงออกชัดเจนว่า จะไม่แสดงบทบาทด้านการทหารอีก แต่นโยบายญี่ปุ่นต่ออาเซียนในยุครัฐบาลอาเบะ กลับเปลี่ยนแปลงมาให้ความสำคัญกับอาเซียนด้านความมั่นคงกว่าเดิม ในกรอบ อินโด-แปซิฟิก (Indo Pacific) และวิสัยทัศน์เวียงจันทน์(Vientiane Vision) ผ่านการให้ความช่วยเหลือ และ มีบทบาทด้านการทหารมากขึ้น เช่น มีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และ บุคลากรด้านความมั่นคง โดยเฉพาะใน ประเด็นเรื่อง เสรีภาพด้านการเดินเรือ และ กฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (UNCLOS1982) ซึ่งการปรับบทบาทของญี่ปุ่นต่ออาเซียนนี้ จัดว่าเป็น การถ่วงดุลแบบละมุนละม่อม (Soft Balancing) โดยมีปัจจัยการผงาดของจีน เป็นตัวเร่งให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีการแสวงหา หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ความมั่นคง(Security Strategic Partnership) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เห็นความจำเป็นในการถ่วงดุลกับ จีน


การสนับสนุนทางการเงินกับการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรัฐอิสลาม, เปาว์ เชาวน์ประยูร Jan 2019

การสนับสนุนทางการเงินกับการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรัฐอิสลาม, เปาว์ เชาวน์ประยูร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

นับตั้งแต่การประกาศก่อตั้งตัวเองเป็นรัฐของกลุ่มรัฐอิสลามระหว่าง ค.ศ. 2014 - ค.ศ. 2017 สังคมระหว่างประเทศได้เห็นการดำเนินกิจกรรมอย่างมีศักยภาพของกลุ่มรัฐอิสลามในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการปฏิบัติการทางทหารและการแพร่ขยายอิทธิพล โดยกลุ่มรัฐอิสลามสามารถยึดและปกครองเมืองจำนวนมากทั้งในอิรักและซีเรีย และมีประชาชนในปกครองกว่าแปดล้านคน รวมถึงมีนักรบก่อการร้ายต่างชาติและกลุ่มหัวรุนแรงอื่นๆ ให้การสนับสนุนและสวามิภักดิ์อีกจำนวนมาก สารนิพนธ์นี้เล็งเห็นถึงความสำคัญของแหล่งเงินทุนและการสนับสนุนทางการเงินว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรัฐอิสลาม จึงมุ่งศึกษาถึงรูปแบบและวิธีการในการจัดหาเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรัฐอิสลาม ซึ่งพบว่าความสามารถในการสร้างรายได้จำนวนมหาศาลด้วยตัวเองผ่านการกระทำความผิดรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่ยึดครองอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรัฐอิสลาม โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจภายนอกทำให้กลุ่มรัฐอิสลามไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการตัดวงจรทางการเงินและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐและองค์การระหว่างประเทศนำมาบังคับใช้กับกลุ่มรัฐอิสลามเท่าที่ควร และความสามารถในการหล่อเลี้ยงตัวเองได้ก็ทำให้กลุ่มรัฐอิสลามสามารถดำเนินกิจกรรมและกำหนดนโยบายได้อย่างอิสระและมีศักยภาพ


การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของเกาหลีใต้ต่อกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม – Clmv) ระหว่างปี ค.ศ. 2009 – 2019, แพรวพรรณ รักขิโต Jan 2019

การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของเกาหลีใต้ต่อกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม – Clmv) ระหว่างปี ค.ศ. 2009 – 2019, แพรวพรรณ รักขิโต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของเกาหลีใต้ โดยใช้การให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) มาเป็นกรณีศึกษาเนื่องจากในช่วงปี 2009 – 2019 เกาหลีใต้ส่งความช่วยเหลือไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ผลงานฉบับนี้ประยุกต์ใช้ทฤษฎีเสรีนิยมในการวิเคราะห์สมมติฐานที่ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างรัฐ จากการศึกษาพบว่า โดยทั่วไปแล้วปัจจัยที่มีผลต่อการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของเกาหลีใต้ต่อประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ผลประโยชน์ทางการเมือง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การยอมรับในระดับสากล และการสร้างแบรนด์ประเทศ อย่างไรก็ตาม ในกรณีการให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศ CLMV พบว่าปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการให้ความช่วยเหลือ คือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเกาหลีใต้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศ CLMV ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร การพัฒนาชนบท การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความช่วยเหลือข้างต้นช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เพราะได้นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของกลุ่มประเทศ CLMV ให้พร้อมรับการลงทุนจากภาคธุรกิจเกาหลีใต้ในด้านอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน ภาคการผลิต ภาคบริการ และโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนปัจจัยด้านการสร้างแบรนด์ประเทศมีส่วนสำคัญในการเพิ่มปริมาณความช่วยเหลือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2009 – 2010 เนื่องจากรัฐบาลในช่วงเวลาดังกล่าวภายใต้การนำของประธานาธิบดีอี มยองบัก มองว่าการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนานำไปสู่การสร้างแบรนด์ประเทศและส่งเสริมบทบาทเกาหลีใต้ในระดับสากล


ซินเธีย เอ็นโลกับแนวทางการศึกษาเพศสภาพในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, ปรีชญา ยศสมศักดิ์ Jan 2019

ซินเธีย เอ็นโลกับแนวทางการศึกษาเพศสภาพในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, ปรีชญา ยศสมศักดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเพศสภาพก้าวเข้าสู่พื้นที่ของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภายใต้ข้อโต้แย้งที่ว่าองค์ความรู้ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือองค์ความรู้ที่ถูกผลิตจากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตของผู้ชายโดยเฉพาะชายผิวขาว นักสตรีนิยมไม่เห็นด้วยว่าทฤษฎี อย่างเช่น สัจนิยม หรือ เสรีนิยมที่ผลิตจากมุมมองของผู้ชายเป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอแนวทางของการศึกษาเพศสภาพของซินเธีย เอ็นโลในพื้นที่ของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความแตกต่างกันของมโนทัศน์และระเบียบวิธีวิจัยระหว่างแนวทางการศึกษากระแสหลักและแนวทางทางการศึกษาเอ็นโล และความพยายามในการท้าทายองค์ความรู้กระแสหลักทั้งในเชิงภาววิทยา ญาณวิทยา และระเบียบวิธีวิจัย โดยการให้ความสำคัญกับประสบการณ์ ความสัมพันธ์ และบทบาทของผู้หญิงในทางการเมืองระหว่างประเทศ การให้ความสำคัญกับผู้หญิงอย่างจริงจังจะช่วยให้เราเห็นโครงสร้างทางเพศสภาพในการเมืองระหว่างประเทศ ผ่านแว่นของสตรีนิยมในการตอบคำถามที่ว่าผู้หญิงอยู่ที่ไหนในโลกของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอำนาจทำงานอย่างไรในการจัดที่ทางให้กับผู้หญิง


ทรราชในปรัชญาการเมืองของฮอบส์, หัสนัย สุขเจริญ Jan 2019

ทรราชในปรัชญาการเมืองของฮอบส์, หัสนัย สุขเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะศึกษารากฐานที่มาและความเข้าใจของการที่ฮอบส์สลายเส้นแบ่งระหว่างรูปแบบการปกครองที่ถูกและรูปแบบการปกครองที่ผิด/บกพร่อง อันนำไปสู่รูปแบบการปกครองของฮอบส์ที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของทรราช ผลการศึกษาพบว่า ในทรรศนะของฮอบส์นั้น เขาได้เสนอว่า ชื่อเรียกของรูปแบบการปกครองนั้นไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าชื่อเรียกที่ประชาชนรู้สึกชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น ดังนั้น ชื่อเรียกของรูปแบบการปกครองจึงไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรเลย ทั้งนี้ รากฐานความคิดดังกล่าวมาจากความคิดของฮอบส์เรื่องธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งวางอยู่บนฐานคำอธิบายมนุษย์อันมีลักษณะเชิงกลไก สำหรับฮอบส์แล้ว มนุษย์ถูกขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชัง (ความตาย) และความปรารถนาอยาก (อำนาจ ชื่อเสียง ความรุ่งโรจน์) มนุษย์แต่ละคนต่างเป็นผู้กำหนดนิยามความหมายของคุณธรรมและศีลธรรมด้วยตนเอง กระทั่งนำไปสู่สภาวะธรรมชาติที่เรียกได้ว่าเป็นสงครามของทุก ๆ คนต่อต้านทุก ๆ คน ในสภาวะเช่นนั้นมนุษย์ทุกคนเต็มไปด้วยความรู้สึกกลัวในความตายอันทารุณโหดร้าย ความกลัวดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์ใช้สิทธิตามธรรมชาติในการรักษาชีวิตของตนเองให้รอดพ้นจากความตาย และความกลัวดังกล่าวยังเป็นแรงผลักดันไปสู่การสร้างองค์อธิปัตย์หรือรัฐขึ้นมา ทั้งนี้ ไม่ว่าประชาชนจะเรียกองค์อธิปัตย์ว่าอะไรนั้นไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย สิ่งที่สำคัญเพียงประการเดียวเท่านั้น คือ อำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จขององค์อธิปัตย์ที่สามารถสร้างให้เกิดสันติสุขและความสงบเรียบร้อย ภายใต้รูปแบบการปกครองดังกล่าวนี้ ประชาชนล้วนอยู่ภายใต้อำนาจและเจตจำนงขององค์อธิปัตย์ อย่างไรก็ดี แม้ว่าฮอบส์จะปฏิเสธการมีอยู่ของทรราช แต่นักวิชาการปัจจุบันจำนวนหนึ่งตีความว่า ปรัชญาการเมืองของฮอบส์เป็นรากฐานอันหนึ่งที่รองรับทรราชสมัยใหม่


The Influence Of Jacksonian Tradition Toward Trump's Trade War Against China., Putdhikorn Kasemphaibulsuk Jan 2019

The Influence Of Jacksonian Tradition Toward Trump's Trade War Against China., Putdhikorn Kasemphaibulsuk

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This Individual Study examines how the Jacksonian tradition influences Trump’s trade war against China between 2018 to 2020. The Jacksonian tradition emphasizes the importance of the government and its role as a protector of people, culture, and identity of the United States. This research argues that the US foreign policy and the US domestic affairs are intertwined and influenced by the Jacksonian tradition. The domestic source that is responsible for the upsurge of Jacksonian tradition and the Trade War can be linked to the resentment of the political elitists and their upper-class bubbles who Jacksonian supporters are suspicious of. Jacksonian …


กระบวนการสร้างกรอบโครงความคิดของขบวนการเสื้อแดง จังหวัดขอนแก่น, ชุติเดช สำเร็จ Jan 2019

กระบวนการสร้างกรอบโครงความคิดของขบวนการเสื้อแดง จังหวัดขอนแก่น, ชุติเดช สำเร็จ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ อธิบายความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการวิเคราะห์ขบวนการเสื้อแดง จังหวัดขอนแก่น โดยใช้ทฤษฎีกรอบโครงความคิด (framing) เป็นเครื่องมือหลักในการทำความเข้าใจขบวนการ วิธีการดำเนินเลือกใช้การวิจัยด้านเอกสาร (documentary research) การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-dept interview) ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า (oral history) และการสนทนากลุ่ม (focus group) ของผู้นำและมวลชนคนเสื้อแดงจังหวัดขอนแก่น งานศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่ากรอบโครงความคิดของความอยุติธรรม (injustice frame) เป็นกรอบโครงความคิดหลัก (master frame) ของขบวนการเสื้อแดงเชื่อมโยงรวบรวมความคิดทางการเมืองของชาวบ้านที่หลากหลาย อยู่กระจัดกระจายและอ่อนแอได้ กรอบโครงความคิดที่ถูกสร้างขึ้นได้ร้อยรัดทัศนคติที่แตกต่างกันของปัจเจกบุคคล และสร้างความหมายร่วมกันของคนเสื้อแดงลุกขึ้นมามีปฏิบัติการทางการเมือง อย่างไรก็ตามกระบวนการสร้างกรอบโครงความคิดของขบวนการเสื้อแดงก็มิได้เป็นไปอย่างง่ายดาย แต่ทว่างานศึกษานี้ค้นพบกระบวนการตอบโต้กรอบโครงความคิด (counter framing) การปะทะ ต่อสู้ ต่อรองของมวลชนในฐานะผู้กระทำการทางการเมือง (political actor) มวลชนมิได้นำเชื่อกรอบโครงความคิดที่ถูกผลิตขึ้นอย่างง่ายดาย จนในบางครั้งมวลชนเองก็มีความพยายามที่จะลบล้างเพื่อสร้างกรอบโครงความคิดใหม่ขึ้นมาทดแทน (reframing)


สันติวิธีในนโยบายความมั่นคงของไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ติณณภพ เตียวเจริญกิจ Jan 2019

สันติวิธีในนโยบายความมั่นคงของไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ติณณภพ เตียวเจริญกิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ ประการแรก เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงของนโยบายความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประการที่สอง เพื่อวิเคราะห์การให้ความหมาย การตีความ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดสันติวิธีของตัวแสดงสำคัญในการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ และ ประการสุดท้ายเพื่อประเมินปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนแนวคิดสันติวิธีในนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การศึกษานี้เป็นการวิจัยเอกสารประกอบการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเอกสารที่ใช้เป็นเอกสารชั้นต้น ได้แก่ นโยบาย คำสั่ง โครงการ คำประกาศ และ เอกสารชั้นรอง ได้แก่ ข่าวสาร บทความวิเคราะห์ และงานวิจัย ผลการศึกษาพบว่า สันติวิธีมีส่วนขับเคลื่อนนโยบายด้านความมั่นคงสำหรับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในบางลักษณะคือ ประการแรก สันติวิธีถูกบรรจุในนโยบายความมั่นคงมากว่า 17 ปี แต่พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของนโยบายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นสันติวิธี ขึ้นอยู่กับแนวทางการแก้ไขปัญหาของแต่ละรัฐบาลและผู้นำประเทศ ประการที่สอง สันติวิธีในความรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐคือ การไม่ใช้กำลังและคงไว้ซึ่งการรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งต่างจากภาคประชาสังคมที่มีความเห็นว่าสันติวิธีคือการไม่ใช้กำลังและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และประการที่สาม ปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนสันติวิธีในนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ย้อนแย้งกับสันติวิธี คือความรุนแรงทางโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ฝังรากอยู่ในระดับองค์กรและระดับกลไกปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ


การสร้างและรักษาฐานเสียงของพรรคการเมืองในจังหวัดเชียงรายระหว่างปีพ.ศ. 2544 - 2562, ศิริรัตน์ พิสัยเลิศ Jan 2019

การสร้างและรักษาฐานเสียงของพรรคการเมืองในจังหวัดเชียงรายระหว่างปีพ.ศ. 2544 - 2562, ศิริรัตน์ พิสัยเลิศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์กลไกในการสร้างและรักษาฐานเสียงในจังหวัดเชียงรายของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย โดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากการลงภาคสนาม การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลในพื้นที่ ตลอดจนการค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารงานวิจัย และสถิติการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย มีกลไกสำคัญในการสร้างและรักษาฐานเสียงในจังหวัดเชียงราย 4 กลไก คือ 1) นโยบายพรรค 2) ศูนย์ประสานงานพรรคการเมือง 3) ผู้สมัครสังกัดพรรค และ 4) หัวคะแนน พรรคไทยรักไทยมีความพยายามในการจัดตั้งกลไกทั้ง 4 ด้านเพื่อสร้างระบบการจัดการฐานเสียงรูปแบบใหม่ที่ยึดโยงกับพรรคโดยตรง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ให้ทำพรรคสามารถครองที่นั่งส.ส.ในทุกเขตของจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 - 2554 แต่ทั้งสามพรรคประสบความท้าทายในการสร้างและรักษาฐานเสียงจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน คือ การยึดติดตัวผู้นำพรรค และอิทธิพลของกลุ่มมุ้งภายในพรรค ทำให้การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งถูกผูกขาดโดยคนใกล้ชิดแกนนำ และบทบาทของศูนย์ประสานงานพรรคยังถูกจำกัด เนื่องจากส.ส.หรือผู้สมัครมีบทบาทในการบริหารจัดการศูนย์ประสานงาน ทำให้ศูนย์ประสานงานขึ้นตรงกับส.ส.หรือผู้สมัครมากกว่าพรรค ปัจจัยภายนอก คือ การยุบพรรค และการรัฐประหาร ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พรรคมีอุปสรรคในการพัฒนากลไกในการสร้างและรักษาฐานเสียงให้มั่งคง นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า พรรคมุ่งเน้นชัยชนะในการเลือกตั้งเฉพาะหน้ามากกว่าการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อส่งเสริมการสร้างฐานเสียงระยะยาวของพรรค ตามทฤษฎีการสร้างความเข้มแข็งและประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองอย่างแนวคิดตะวันตก


ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมชนบท: กรณีศึกษาโครงการนาแปลงใหญ่ ในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มัณฑนา นกเสวก Jan 2019

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมชนบท: กรณีศึกษาโครงการนาแปลงใหญ่ ในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มัณฑนา นกเสวก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ตลอดหลายทศวรรษนโยบายข้าวได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่เข้าไปใช้แทรกแซงสังคมชนบท ดังนั้นวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้จึงต้องการวิเคราะห์ถึงการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมชนบทผ่านการศึกษานโยบายข้าวที่ถูกกำหนดนโยบายมาในในช่วงบริบทการเมืองแบบอำนาจนิยม โดยใช้โครงการนาแปลงใหญ่เป็นกรณีศึกษา ผ่านการตั้งคำถามว่า“ในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการจัดสถาบันระหว่างรัฐกับสังคมชนบทผ่านการใช้โครงการนาแปลงใหญ่อย่างไร” และ “โครงการนาแปลงใหญ่มีลักษณะการทำงานอย่างไร” เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าว งานวิจัยนี้ใช้กรอบการศึกษาสถาบันนิยมใหม่แบบสถาบันนิยมเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Institutionalism) และแนวการศึกษาแบบพหุภาคี (Corporatism) เป็นกรอบในการวิเคราะห์ โดยใช้นาแปลงใหญ่ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ในการศึกษา ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมภายใต้นโยบายข้าวของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันประกอบด้วย บรรทัดฐานในการตัดสินใจ กลไกรัฐในการดำเนินนโยบาย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นผลมาจากจุดเปลี่ยนสำคัญ (critical juncture) คือวิกฤตินโยบายจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ส่งผลให้นโยบายข้าวในรัฐบาลปัจจุบันมีลักษณะคือ รัฐเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรแบบครบวงจรมากกว่าที่จะเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดโดยตรง และเน้นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนเพื่อเข้ามาจัดการการรวมกลุ่มและควบคุมวิถีชีวิตประจำวันของชาวนาในชนบทภายใต้แนวคิดแบบประชารัฐ โดยมีรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นตัวแสดงทางนโยบายที่รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจ และมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างตัวแสดงทางนโยบายภายใต้การจัดสถาบันดังกล่าวทั้งในรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อค้ำจุนความสัมพันธ์นั้นไว้ ซึ่งผลลัพธ์ของการจัดความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวมีความสอดคล้องกับคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมในรูปแบบพหุภาคีโดยรัฐ (state corporatism) อย่างไรก็ดีจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ทำให้พบว่ารัฐยังไม่สามารถสถาปนาความร่วมมือดังกล่าวได้แม้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจภายใต้บริบทการเมืองแบบอำนาจนิยมก็ตาม และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบริบทการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 แต่นาแปลงใหญ่ยังคงมีการขับเคลื่อนในลักษณะเดิม เพียงแต่ถูกลดระดับความเข้มข้นลงไปเท่านั้น เนื่องจากโครงการดังกล่าวถูกวางแผนให้เป็นโครงการระยะยาวภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังนั้นแม้มีการเปลี่ยนแปลงบริบททางการเมือง แต่กลไกที่ใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายก็ยังเป็นกลไกเดิมที่มีที่มาจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


ความเป็นแกนกลางของอาเซียนและการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน: กรณีศึกษาโครงการเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง, จรินทร์ทิพย์ สายมงคลเพชร Jan 2019

ความเป็นแกนกลางของอาเซียนและการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน: กรณีศึกษาโครงการเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง, จรินทร์ทิพย์ สายมงคลเพชร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาถึงแนวคิดความเป็นแกนกลางของอาเซียนผ่านมิติของการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนระหว่างปี ค.ศ. 2010 – 2019 เป็นสำคัญ โดยมีโครงการเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง เป็นกรณีศึกษา ประเด็นปัญหาของการศึกษานี้มีความสำคัญเพราะนับจากการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนในปี ค.ศ. 2008 แนวคิดความเป็นแกนกลางของอาเซียนได้กลายเป็นหลักการสำคัญที่อาเซียนใช้ดำเนินนโยบายความสัมพันธ์กับประเทศภายนอกภูมิภาคมาโดยตลอด อีกทั้งที่ผ่านมาอาเซียนเชื่อว่าการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันภายในประเทศสมาชิกอาเซียนจะช่วยสนับสนุนบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมแห่งภูมิภาคได้ งานชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารและอาศัยทฤษฎีเสรีนิยมเชิงสถาบันของโรเบิร์ต โคเฮนในการพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัย วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่า การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนจากกรณีของโครงการเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิงจะไม่สามารถช่วยส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนได้ เนื่องจากภายใต้กรอบแนวคิดเสรีนิยมเชิงสถาบันที่ใช้ในการศึกษาชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) ข้อจำกัดภายในอาเซียน คือ รูปแบบและลักษณะของความร่วมมือเชิงสถาบันด้านความเชื่อมโยงของอาเซียน และ (2) ข้อจำกัดภายนอกอาเซียน คือ การส่งออกรถไฟความเร็วสูงภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งข้อจำกัดทั้งสองต่างก็ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาเซียนมิอาจบรรลุไปสู่เป้าหมายของการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนได้ดังที่ได้วางแผนไว้


นโยบายการส่งเสริมความมั่นคงภายในปากีสถานระหว่างค.ศ. 2015–2017: กรณีศึกษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างปากีสถานกับจีนภายใต้โครงการแถบเศรษฐกิจจีนกับปากีสถาน, จุลพัชร เอกวัฒน์ Jan 2019

นโยบายการส่งเสริมความมั่นคงภายในปากีสถานระหว่างค.ศ. 2015–2017: กรณีศึกษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างปากีสถานกับจีนภายใต้โครงการแถบเศรษฐกิจจีนกับปากีสถาน, จุลพัชร เอกวัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ต้องการศึกษาว่าเพราะเหตุใดความพยายามในการส่งเสริมความมั่นคงภายในปากีสถานระหว่าง ค.ศ. 2015-2017 โดยการสร้างแถบเศรษฐกิจจีนกับปากีสถานกลับนำไปสู่ความไม่มั่นคงภายในปากีสถาน โดยใช้แนวคิดภาวะย้อนแย้งทางความไม่มั่นคงเและแนวคิดรัฐอ่อนแอเป็นกรอบการวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่าความไม่มั่นคงภายในปากีสถานที่เกิดหลังการสร้างแถบเศรษฐกิจจีนกับปากีสถานเกิดจากกลุ่มบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบาลูชที่รู้สึกไม่มั่นคงจากการส่งเสริมความมั่นคงจึงต่อต้านเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับกลุ่มตน และการที่ปากีสถานมีลักษณะเป็นรัฐอ่อนแอทำให้ไม่มีขีดความสามารถจัดการกับภัยคุกคามและความไม่มั่นคง ในที่สุดจึงนำไปสู่ความไม่มั่นคงภายในปากีสถาน


นโยบายของอียิปต์ต่อองค์การสันนิบาตอาหรับ (The Arab League) ในยุคประธานาธิบดีมูฮัมหมัด อันวาร์ ซาดัต ระหว่างค.ศ. 1970-1981, อาลาอุดดีน กะด๊ะ Jan 2019

นโยบายของอียิปต์ต่อองค์การสันนิบาตอาหรับ (The Arab League) ในยุคประธานาธิบดีมูฮัมหมัด อันวาร์ ซาดัต ระหว่างค.ศ. 1970-1981, อาลาอุดดีน กะด๊ะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับนโยบายของอียิปต์ต่อสันนิบาตอาหรับในยุคประธานาธิบดีมูฮัมหมัด อันวาร์ ซาดัต ระหว่างค.ศ. 1970-1981 ผู้วิจัยได้ใช้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศที่ประกอบไปด้วยหลายตัวแปรเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของอียิปต์ต่อสันนิบาตอาหรับและบทบาทของอียิปต์ในสันนิบาตอาหรับภายใต้การนำของประธานาธิบดีซาดัต สมมติฐานในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้คือ ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของอียิปต์ต่อสันนิบาตอาหรับเกิดมาจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในประกอบด้วย ปัจจัยเกี่ยวกับตัวบุคคล ปัจจัยด้านการเมือง และปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยภายนอก คือ การดำเนินนโยบายของสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา


รัฐวิสาหกิจไทยในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์องค์การ, ภัทรพงศ์ สาลักษณ Jan 2019

รัฐวิสาหกิจไทยในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์องค์การ, ภัทรพงศ์ สาลักษณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาองค์การรัฐวิสาหกิจไทยในอดีตโดยมากมักเป็นการศึกษาผ่านกรอบแนวคิดและกระบวนทัศน์ของระบบราชการและระบบขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับอิทธิพลและแนวคิดจากทฤษฎีระบบ (System Theory) เป็นสำคัญ จึงส่งผลให้รัฐวิสาหกิจไทยถูกวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการดำเนินงานและผลประกอบการแต่เพียงมิติเดียว จนนำไปสู่วาทกรรมที่กล่าวถึงรัฐวิสาหกิจไทยว่าเป็นองค์การขนาดใหญ่แต่ไร้ศักยภาพ ขาดความคล่องตัว เพราะฉะนั้นแล้ว ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษารัฐวิสาหกิจไทยในยุคปัจจุบันผ่านมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์องค์การ ซึ่งประกอบไปด้วยทฤษฎีหน่วยทางธุรกิจ (Theory of The Firm) ต้นทุนธุรกรรมการดำเนินงาน (transaction cost) ตัวการ-ตัวแทน (agency) และโครงสร้างทางธุรกรรม (structure of transaction) เพื่ออธิบายถึงรัฐวิสาหกิจไทยในฐานะหน่วยทางธุรกิจ ที่มีความสามารถในการดำเนินธุรกรรมและประสานผลประโยชน์ระหว่างตัวการตัวแทน อันจะนำไปสู่การสร้างกำไรจากผลประกอบการ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องไม่ประสบกับภาวะขาดทุน จนต้องพึ่งพาการอุดหนุนและงบประมาณจากภาครัฐ รวมไปถึงการมีจริยธรรมในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในทุกภาคส่วน ทั้งภายนอกและภายในองค์การ


ความเข้าใจเกี่ยวกับการคลังและงบประมาณและการมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย, ศิริพร จันทนสกุลวงศ์ Jan 2019

ความเข้าใจเกี่ยวกับการคลังและงบประมาณและการมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย, ศิริพร จันทนสกุลวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) เพื่อศึกษาการเปิดเผยข้อมูลด้านการคลังและงบประมาณ ความเข้าใจเกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ การมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและงบประมาณ และความพอใจทางการคลังและงบประมาณของประชาชนในเขตรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่อนท้องถิ่น และ2) เพื่อศึกษารูปแบบโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่าง การเปิดเผยข้อมูลด้านการคลังและงบประมาณ ความเข้าใจเกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ และการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและงบประมาณที่ส่งผลต่อความพอใจทางการคลังและงบประมาณ ใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสมผสานเชิงสำรวจ ด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพใช้หน่วยในการวิเคราะห์ระดับกลุ่ม รวบรวมข้อมูลจากจากกรณีศึกษา 4 แห่ง คือเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เทศบาลเมืองราชบุรี เทศบาลเมืองวังน้ำเย็น และเทศบาลเมืองกำแพงเพชร โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพและนำไปใช้ออกแบบวิธีและเครื่องมือในเชิงปริมาณ ซึ่งใช้หน่วยการวิเคราะห์ระดับปัจเจกบุคคล ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอนกับประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลเมืองทั้ง 4 แห่ง ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,512 คน ผลการวิเคราะห์โดยใช้การวิเคราะห์สมการเชิงโครงสร้าง (Strructural equation model : SEM) พบว่ารูปแบบโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการเปิดเผยข้อมูลด้านการคลังและงบประมาณ ความเข้าใจเกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ และการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการจัดทำแผนและงบประมาณ สามารถอธิบายความแปรปรวนของความพอใจทางการคลังและงบประมาณได้ร้อยละ 12 (R2 = 0.12) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ .01


ตำรวจกับอาชญากรรมข้ามชาติ: ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงมาตรการของตำรวจในการจัดการกับปัญหาการสวมบัตรประชาชนและผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศไทย, เกียรติศักดิ์ เพชรพิมานสมุทร Jan 2019

ตำรวจกับอาชญากรรมข้ามชาติ: ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงมาตรการของตำรวจในการจัดการกับปัญหาการสวมบัตรประชาชนและผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศไทย, เกียรติศักดิ์ เพชรพิมานสมุทร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางสำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการพัฒนา ระบบการประสานงานเพื่อจัดการปัญหาการสวมบัตรประชาชนและผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อันเป็นหนึ่งในปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในของไทย และลักษณะของปัญหามีความซับซ้อนสูง สารนิพนธ์คำนึงถึงทั้งกระบวนการต้นทางของปัญหาความมั่นคงภายในดังกล่าว คือการที่กลุ่มอาชญากรรมใช้ช่องว่างทางกฎหมายและการทุจริตเพื่อลักลอบสวมบัตรประชาชน และในขั้นปลายทาง ทั้งที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากการสวมบัตรและการลักลอบเข้าเมือง ได้แก่ ผู้ดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายและกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ และผู้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากรรมดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการของรัฐในการป้องกัน สืบสวน และปราบปราม ผู้กระทำความผิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการกับปัญหาในลักษณะเช่นนี้ต้องอาศัยการกำหนดมาตรการในการปฏิบัติและการประสานงานสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถเป็นผู้รับผิดชอบเพียงลำพังได้ การศึกษาทั้งจากเอกสารคู่มือปฏิบัติงาน และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง สารนิพนธ์มีข้อเสนอว่า เครื่องมือที่จะช่วยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับการจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าวได้อย่างสมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้นคือการพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นมาตรฐาน โดยยึดแนวทางสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การสร้างมาตรฐานการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน (Standard Operating Procedures: SOPs) เกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันปราบปรามและสืบสวนสอบสวน และ สอง การกำหนดแนวทางบูรณาการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง (Inter- agency coordination) ในทุกขั้นตอน ประโยชน์ของคู่มือนี้นอกจากจะช่วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลีกเลี่ยงการเมืองในระบบราชการอันเกิดจากปัญหาข้อขัดแย้งกับหน่วยงานของส่วนราชการอื่นเกี่ยวกับภารกิจหน้าที่และงบประมาณทรัพยากรแล้ว คู่มือดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของส่วนงานราชการไทย ที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาความมั่นคงข้ามชาติเพื่อรับมือกับปัญหาได้ในระยะยาว รวมถึงสามารถพัฒนาปรับปรุงต่อไปตามบริบทความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย


สายใยร้อยรัดสิงคโปร์และมาเลเซีย: ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง นับแต่ ค.ศ. 2000, ชนัญชิดา สอนดี Jan 2019

สายใยร้อยรัดสิงคโปร์และมาเลเซีย: ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง นับแต่ ค.ศ. 2000, ชนัญชิดา สอนดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซียนับตั้งแต่ ค.ศ.2000 อันเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศเพิ่งประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย และปัญหาการก่อการร้ายข้ามชาติที่คุกคามความมั่นคงของทั้งสองประเทศ งานศึกษานี้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่แนบแน่นระหว่างสองประเทศในระดับที่ขึ้นต่อกันและกัน ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นนี้เกิดขึ้นทั้งในระดับระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ระหว่างกลุ่มธุรกิจ และระหว่างประชาชนกับประชาชน ความร่วมมือระหว่างสองประเทศจึงสำคัญต่อผลประโยชน์แห่งชาติอย่างยิ่ง ฉะนั้น แม้ว่าสองประเทศนี้มีความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างกันบ่อยครั้ง แต่ความขัดแย้งและความตึงเครียดก็ถูกจำกัด หรือแก้ไขด้วยกลไกระหว่างประเทศที่ดำรงอยู่ เพื่อให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายจนกระทบต่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย


"ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับนโยบายสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจในกัมพูชา: ผลกระทบต่อความมั่นคงมนุษย์", ณัฐพล ยิ้มมาก Jan 2019

"ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับนโยบายสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจในกัมพูชา: ผลกระทบต่อความมั่นคงมนุษย์", ณัฐพล ยิ้มมาก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ชิ้นนี้มุ่งพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน การลงทุนด้านการเกษตรของบริษัทมิตรผลในกัมพูชา กับนโยบายสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจในกัมพูชา และวิเคราะห์ว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลกระทบด้านความมั่นคงมนุษย์ต่อชาวกัมพูชาและประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร โดยสารนิพนธ์ชิ้นนี้ใช้กรอบสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจและการเมืองในฐานะปัจจัยสำคัญสำหรับการส่งเสริมความมั่นคงมนุษย์ในการวิเคราะห์ จากการศึกษาพบว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นนโยบายที่อำนวยความสะดวกและสร้างโอกาสให้แก่กลุ่มทุนภาคการเกษตรภายในภูมิภาคให้เข้าไปลงทุนและขยายฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน โดยกลุ่มทุนภาคการเกษตรของไทยในกรณีนี้คือบริษัทมิตรผล ซึ่งมีศักยภาพสูง และมีความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงขยายการลงทุนและการผลิตอ้อยและน้ำตาลเข้าไปในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลกัมพูชาต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้ประกาศโครงการสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดธุรกิจด้านการเกษตรให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชา ซึ่งหมายถึงการขยายตัวของการเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อดำเนินโครงการเพาะปลูกพืชและทำอุตสาหกรรมเกษตร แต่กระบวนการดังกล่าวกลับสร้างผลกระทบด้านความมั่นคงมนุษย์ เกิดการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนจากปัญหาการแย่งยึดที่ดิน ด้วยวิธีการบังคับขับไล่ชาวบ้านจากที่ดิน และการใช้ความรุนแรง ทั้งยังทำให้เกิดปัญหามลภาวะหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงมนุษย์ด้านสิ่งแวดล้อมภายในภูมิภาค ปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับนโยบายของอาเซียนที่ระบุว่าจะมุ่งส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน การพัฒนาที่ยั่งยืน และปกป้องสิ่งแวดล้อม ||รัฐศาสตรมหาบัณฑิต