Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Linguistics

PDF

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

2019

Articles 1 - 2 of 2

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

การแปรทางกลสัทศาสตร์ของช่วงเวลาเริ่มเสียงก้องของพยัญชนะกักในภาษาไทยที่พูดโดยผู้หญิงข้ามเพศ, พัทธนันท์ หาญชาญเวช Jan 2019

การแปรทางกลสัทศาสตร์ของช่วงเวลาเริ่มเสียงก้องของพยัญชนะกักในภาษาไทยที่พูดโดยผู้หญิงข้ามเพศ, พัทธนันท์ หาญชาญเวช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ค่าช่วงเวลาเริ่มเสียงก้องของพยัญชนะกักในภาษาไทย คือ พยัญชนะกักก้อง กักไม่ก้องไม่พ่นลม และกักไม่ก้องพ่นลมของผู้หญิงข้ามเพศและเปรียบเทียบกับผู้ชายและผู้หญิง 2) ศึกษาระดับความเป็นหญิงของผู้หญิงข้ามเพศด้วยค่าดัชนีความเป็นหญิงและความสัมพันธ์ระหว่างค่าช่วงเวลาเริ่มเสียงก้องกับดัชนีความเป็นหญิง สำหรับการวิเคราะห์ค่าช่วงเวลาเริ่มเสียงก้อง เก็บข้อมูลเสียงจากรายการคำที่ประกอบด้วยคำพูดเดี่ยวที่มีพยัญชนะกักแป็นพยัญชนะต้น จากผู้หญิงข้ามเพศ 15 คน ผู้ชาย 10 คนและผู้หญิง 10 คน ส่วนการวิเคราะห์ดัชนีความเป็นหญิง เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามมาตรวัดลิเคิร์ทสเกล 5 ระดับซึ่งประกอบด้วยคำถามที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีจากผู้หญิงข้ามเพศ ผลการศึกษาทางกลสัทศาสตร์พบว่า ค่าช่วงเวลาเริ่มเสียงก้องโดยรวมของผู้หญิงข้ามเพศมีค่าระยะเวลายาวกว่าผู้ชายและผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ลักษณะเด่นชัดที่สุดของการผลิตเสียงพยัญชนะกักของผู้หญิงข้ามเพศพบในพยัญชนะกักไม่ก้องไม่พ่นลม ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างจากผู้ชายและผู้หญิง และมีช่วงพ่นลมที่ยาวกว่าผู้ชายและผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 อีกด้วย ผลการศึกษาเกี่ยวกับระดับความเป็นหญิงพบว่า ผู้หญิงข้ามเพศในการศึกษาครั้งนี้มีระดับความเป็นหญิงอยู่ในช่วง 2-4 จากทั้งหมด 5 ระดับ เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างค่าช่วงเวลาเริ่มเสียงก้องกับค่าดัชนีความเป็นหญิงพบว่า พยัญชนะกักก้องและกักไม่ก้องพ่นลมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับค่าดัชนีความเป็นหญิงของผู้หญิงข้ามเพศ โดยมีนัยสำคัญอยู่ที่ระดับ 0.01 ในขณะที่ค่าช่วงเวลาเริ่มเสียงก้องของพยัญชนะกักไม่ก้องไม่พ่นลมไม่พบความสัมพันธ์กับค่าดัชนีความเป็นหญิง นอกจากค่าช่วงเวลาเริ่มเสียงก้องแล้ว ยังพบว่าค่าระยะเวลาของช่วงพ่นลมของพยัญชนะกักไม่ก้องพ่นลมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับค่าดัชนีความเป็นหญิงด้วย ข้อค้นพบเหล่านี้แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ทางเสียงของผู้หญิงข้ามเพศที่แตกต่างจากผู้ชายและผู้หญิง และการแปรภายในกลุ่มของเสียงผู้หญิงข้ามเพศซึ่งสัมพันธ์กับตัวตนทางเพศของผู้หญิงข้ามเพศ


การตีความสรรพนามสะท้อนรูปอ้างตามในภาษาไทย, กษิดิ์เดช ทรัพย์วัฒนไพศาล Jan 2019

การตีความสรรพนามสะท้อนรูปอ้างตามในภาษาไทย, กษิดิ์เดช ทรัพย์วัฒนไพศาล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษา 1) การตีความสรรพนามสะท้อนรูปอ้างตามในภาษาไทย อันได้แก่ สรรพนามสะท้อนรูปเดี่ยว ตัวเอง และสรรพนามสะท้อนรูปประสม ตัวเขาเอง ตามข้อค้นพบของ Hoonchamlong (1991) ที่เสนอไว้ว่าสรรพนามสะท้อนรูปเดี่ยวใช้อ้างถึงรูปที่ถูกแทนที่เป็นประธานภายในอนุพากย์เดียวกันเท่านั้น ขณะที่สรรพนามสะท้อนรูปประสมสามารถใช้อ้างถึงรูปที่ถูกแทนที่เป็นประธานหรือกรรมที่ปรากฏภายในหรือภายนอกอนุพากย์เดียวกันก็ได้ และ 2) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตีความสรรพนามสะท้อนรูปเดี่ยว ตัวเอง และสรรพนามสะท้อนรูปประสม ตัวเขาเอง อันได้แก่ ปัจจัยความเป็นประธาน และปัจจัยระยะห่างจากรูปอ้างตาม ผู้วิจัยใช้วิธีการทดสอบการตีความภายหลังด้วยแบบสอบถาม เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของการตีความสรรพนามสะท้อนรูปอ้างตามในภาษาไทยว่าเป็นไปตามข้อเสนอของ Hoonchamlong (1991) หรือไม่ ผลจากแบบสอบถามพบว่าปัจจัยความเป็นประธานของรูปที่ถูกแทนส่งผลต่อการตีความสรรพนามสะท้อนทั้งรูปเดี่ยวและรูปประสมให้อ้างถึงรูปที่ถูกแทนที่ทำหน้าที่เป็นประธานมากกว่ารูปที่ถูกแทนที่ทำหน้าที่เป็นกรรม และปัจจัยระยะห่างจากรูปอ้างตามก็ส่งผลต่อการตีความสรรพนามสะท้อนทั้งรูปเดี่ยวและรูปประสมให้อ้างถึงรูปที่ถูกแทนที่ทำหน้าที่เป็นประธานภายในอนุพากย์เดียวกันมากกว่ารูปที่ถูกแทนที่ทำหน้าที่เป็นประธานภายนอกอนุพากย์ นอกจากนี้ ผู้วิจัยใช้การทดลองทางภาษาศาสตร์จิตวิทยาแบบกำหนดเวลาอ่านด้วยตัวเอง เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประมวลผลในระยะเวลาจริงของสรรพนามสะท้อนรูปอ้างตามในภาษาไทย การทดลองที่ 1 ศึกษาปัจจัยความเป็นประธาน ผลจากการทดลองพบว่าปัจจัยความเป็นประธานเอื้อต่อการประมวลผลประโยคที่ ตัวเอง และ ตัวเขาเอง อ้างถึงประธานได้เร็วกว่ากรรม การทดลองที่ 2 ศึกษาปัจจัยระยะห่างจากรูปอ้างตาม ผลจากการทดลองพบว่าปัจจัยระยะห่างจากรูปอ้างตามเอื้อต่อการประมวลผลประโยคที่ ตัวเอง และ ตัวเขาเอง อ้างถึงประธานภายในอนุพากย์เดียวกันได้เร็วกว่าประธานภายนอกอนุพากย์ อย่างไรก็ดี ปัจจัยทั้ง 2 ข้างต้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการตีความสรรพนามสะท้อนรูปประสมมากกว่าสรรพนามสะท้อนรูปเดี่ยว กล่าวโดยสรุป งานวิจัยนี้ไม่เป็นไปตามข้อเสนอของ Hoonchamlong (1991) กล่าวคือทั้งสรรพนามสะท้อนรูปเดี่ยวและรูปประสมนั้นต่างมีแนวโน้มที่จะอ้างถึงรูปที่ถูกแทนที่ทำหน้าที่เป็นประธานมากกว่ากรรม หรือรูปที่ถูกแทนที่เป็นประธานภายในอนุพากย์เดียวกันมากกว่าประธานภายนอกอนุพากย์ นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งของการทำความเข้าใจประโยคนั้น สรรพนามสะท้อนรูปประสมมีความไวต่อการตีความให้อ้างถึงรูปที่ถูกแทนที่ทำหน้าที่เป็นประธาน หรือรูปที่ถูกแทนที่เป็นประธานภายในอนุพากย์เดียวกันมากกว่าสรรพนามสะท้อนรูปเดี่ยว