Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

International Relations

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

2022

Articles 1 - 7 of 7

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

พลวัตของกฎบัตรความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นจากทศวรรษ1990 ถึงต้นทศวรรษ 2020, พิมพ์ชนก บุญมิ่ง Jan 2022

พลวัตของกฎบัตรความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นจากทศวรรษ1990 ถึงต้นทศวรรษ 2020, พิมพ์ชนก บุญมิ่ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงของโลก หากแต่ญี่ปุ่นพึ่งพิงทรัพยากรจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งสร้างปัญหาความแตกต่างทางรายได้ในโลก ญี่ปุ่นจึงต้องแสดงความรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) ตามข้อตกลงของประชาคมนานาชาติเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา ทว่าการให้ความช่วยเหลือไม่ใช่การให้เปล่าโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนแต่แท้จริงแล้วคาดหวังสิ่งแลกเปลี่ยนบางประการ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงถูกประชาคมนานาชาติกล่าวหาว่าญี่ปุ่นอาศัยการให้ ODA ในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนเอง ทั้งนี้องค์การระหว่างประเทศเป็นผู้ส่งเสริมบรรทัดฐานสากลผ่านการประกาศเป้าหมายการพัฒนาให้ประชาคมนานาชาตินำไปปรับใช้เป็นแกนหลักนโยบาย ญี่ปุ่นจึงต้องโอบรับบรรทัดฐานสากลนั้นมาปรับให้เข้ากับหลักการท้องถิ่นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ อันนำมาสู่คำถามวิจัยที่ว่า ปัจจัยใดที่มีอิทธิพลต่อการบัญญัติกฎบัตรความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นในแต่ละช่วงเวลา โดยอาศัยกระบวนการผสมผสานบรรทัดฐานสากลให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานท้องถิ่น ในกรอบแนวคิดประดิษฐกรรมทางสังคมเพื่อศึกษาบรรทัดฐานซึ่งแพร่กระจายไปสู่อีกที่หนึ่งได้เพราะผู้นำของรัฐเห็นผลประโยชน์บางประการจึงเกิดเป็นกระบวนการโอบรับบรรทัดฐานใหม่ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้กำหนดขอบเขตของเวลาโดยเริ่มต้นที่การบัญญัติกฎบัตร ODA ฉบับแรกในทศวรรษ 1990 ถึงการบัญญัติกฎบัตร ODA ฉบับล่าสุดในต้นทศวรรษ 2020 เพื่อศึกษาพลวัตที่มีอิทธิพลต่อกฎบัตร ODA ของญี่ปุ่นเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่นในแต่ละช่วงเวลา


การถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางของสหรัฐอเมริกา : ปัญหาและข้อท้าทายของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ, ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์ Jan 2022

การถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางของสหรัฐอเมริกา : ปัญหาและข้อท้าทายของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ, ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่องการถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง : ปัญหาและข้อท้าทายของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์คือ 1) เรียนรู้ปัจจัยและกระบวนการความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเสถียรภาพและสันติภาพ 2) พิจารณาอุปสรรคในการรักษาระบอบความมั่นคงระหว่างประเทศ 3) เพื่อเป็นการทำความเข้าใจปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลวของระบอบความมั่นคงระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดของนานาอารยะประเทศ 4) ส่งเสริมการศึกษานโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา รัสเซียและจีน ในบริบทการแข่งขันอิทธิพลระหว่างชาติมหาอำนาจทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการวิจัยทางเอกสาร โดยผู้วิจัยทำการศึกษาด้วยเอกสารชั้นต้นของจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงเอกสารชั้นรอง ทำการศึกษาวิเคราะห์ด้วยการอธิบายเชิงพรรณนาเพื่อทำการสรุปความเป็นมาของเรื่อง การวิเคราะห์การถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางของสหรัฐอเมริกา พบว่า ปัจจัยพิจารณาสำคัญของการถอนตัวจากสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ภายใต้บริบทความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศและการแข่งขันทางอำนาจระหว่างชาติสหรัฐอเมริกา จีนกับรัสเซีย การผูกพันตนเองในสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกาส่งผลให้สหรัฐอเมริกาประสบกับสภาวะอสมมาตรด้านขีดความสามารถการป้องกันประเทศ


อำนาจนำทางน้ำและจักรวรรดินิยมทางทรัพยากรของจีนกับการต่อต้านจากภาคประชาสังคมข้ามชาติ : กรณีศึกษาการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง, พลวัชร ร้อยอำแพง Jan 2022

อำนาจนำทางน้ำและจักรวรรดินิยมทางทรัพยากรของจีนกับการต่อต้านจากภาคประชาสังคมข้ามชาติ : กรณีศึกษาการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง, พลวัชร ร้อยอำแพง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาการแผ่ขยายอำนาจของจีนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านแนวคิดลัทธิจักรวรรดินิยมทรัพยากร (Resource Imperialism) และอำนาจนำเหนือน้ำ (Hydro-Hegemony) ของจีนในลุ่มน้ำโขง ผ่านการสำรวจพัฒนาการของลัทธิจักรวรรดินิยมทรัพยากร และอำนาจนำเหนือน้ำ พร้อมกับบริบทเชิงอำนาจที่สนับสนุนอำนาจนำทางนำ้และกลยุทธ์การครอบงำของจีน การศึกษารวมถึงกรณีศึกษาเกี่ยวกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานในฐานะเครื่องมือควบคุมทรัพยากรน้ำของจีนในลาวและผลกระทบ งานวิจัยยังศึกษากลยุทธ์การต่อต้านของประชาสังคมข้ามชาติ ตรวจสอบบทบาท, แรงจูงใจ, กลยุทธ์ และปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จของภาคประชาสังคมข้ามชาติในฐานะองค์กรที่มีบทบาทต่อต้านการขยายอำนาจของจีน การค้นพบที่สำคัญในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ประกอบไปด้วย สถานะการครองอำนาจนำทางนำ้ของจีน, ผลลัพธ์ของการต่อต้านการสร้างเขื่อนจากภาคประชาสังคม และนำเสนอข้อเสนอแนะสำหรับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, การเพิ่มความโปร่งใส ท้ายสุดคือการแสวงหาทางออกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและการแก้ไขข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาค


ความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างประเทศสหราชอาณาจักร: กรณีศึกษาโกลบอลบริเตน, ธนภัทร จังพานิช Jan 2022

ความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างประเทศสหราชอาณาจักร: กรณีศึกษาโกลบอลบริเตน, ธนภัทร จังพานิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหราชอาณาจักรภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนำแนวคิดโกลบอลบริเตน (Global Britain) ที่ปรากฏขึ้นมาในรัฐบาลของเทเรซา เมย์ และบอริส จอห์นสัน ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาผ่านกรอบการศึกษาแนวคิดสัจนิยมคลาสสิคใหม่เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์การรับรู้ของชนชั้นนำของสหราชอาณาจักร จากการศึกษาได้บ่งชี้ว่า ยุทธศาสตร์โกลบอลบริเตนไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อเหตุการณ์การออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ เบร็กซิท (Brexit) ในปี ค.ศ. 2016 เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่พยายามแสวงหาคำตอบในการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรอันหยั่งรากลึกมาอย่างยาวนานตั้งแต่การล่มสลายของอำนาจบริติช (The collapse of British power) ที่เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดเจนในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองว่า "สหราชอาณาจักรมีบทบาทอย่างไรในโลก" โดยความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อที่ว่า “สหราชอาณาจักรยังคงมีบทบาทที่สำคัญต่อโลกนี้” ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความพยายามของลอนดอนในการแสวงหาความมั่นคงท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ ที่ชนชั้นนำในลอนดอนเผชิญ นอกจากนี้การศึกษาได้ชี้อีกว่า การผลักดันยุทธศาสตร์โกลบอลบริเตนเป็นวิธีการเอาตัวรอดของรัฐบาลและพรรคอนุรักษ์นิยมจากการขาดเตรียมความพร้อมจากเหตุการณ์เบร็กซิท


จีนในทัศนะของทหารไทย: ภาพสะท้อนจากเอกสารวิจัยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, รชยา เทียมประชา Jan 2022

จีนในทัศนะของทหารไทย: ภาพสะท้อนจากเอกสารวิจัยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, รชยา เทียมประชา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพสะท้อนของทหารไทยที่มีต่อจีนหลังเกิดการรัฐประหาร 2006 และ 2014 เพราะเป็นระยะเวลาที่กองทัพไทยเข้ามาแทรกแซงและหยั่งรากลึกบทบาททหารในทางการเมือง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาของประเทศไทย เพื่อให้เห็นภาพสะท้อนของทหารไทยที่มีต่อจีนชัดขึ้น ผู้วิจัยจึงทบทวนวรรณกรรมและตีความมุมมองที่อาจเกิดขึ้นได้ในทัศนะของไทยมีต่อจีนออกมาได้ 4 มุมมองคือ 1) มุมมองที่มีต่อจีนผ่านฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยหลังการรัฐประหาร 2549 2) มุมมองที่มีต่อจีนว่าเป็นภัยคุกคาม 3) มุมมองที่มีต่อจีนของอาเซียน และ 4) มุมมองที่มีต่อจีนผ่านผลประโยชน์ระหว่างไทย-จีนเท่านั้นซึ่งศึกษาภาพสะท้อนผ่านเอกสารวิจัยส่วนบุคคลของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ตั้งแต่รุ่นที่ 50 – 61 ทั้งหมด 16 เล่มล้วนเป็นชนชั้นนำทางทหารและอาจส่งมุมมองข้างต้นเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายไทยที่มีต่อจีนได้ จากการศึกษา เนื้อหาเอกสารวิจัยส่วนบุคลของนักศึกษาวปอ. สามารถจัดกลุ่มและจำแนกให้เข้ากับมุมมองที่ไทยมีต่อจีนในทั้ง 4 มุมมองข้างต้นได้ เห็นว่ามุมมองที่มีต่อจีนผ่านฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยมีทั้งหมด 2 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 11, มุมมองที่มีต่อจีนว่าเป็นภัยคุกคามมีทั้งหมด 1 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 6, มุมมองที่มีต่อจีนของอาเซียนมีทั้งหมด 6 เล่มซึ่ง คิดเป็นร้อยละ 33 และมุมมองมีต่อจีนผ่านผลประโยชน์ระหว่างไทย-จีนมีทั้งหมด 9 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 50 ดังนั้น ภาพสะท้อนของชนชั้นนำทหารไทยที่มีต่อจีนนั้นมีแนวโน้มที่ในการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนต่อไปซึ่งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์พิเศษระหว่างไทย-จีนและดึงอาเซียนให้เข้ามามีส่วนร่วม เป็นลำดับต่อมา


กระบวนการประกอบสร้างให้ประเทศไทยเป็นปลายทางสำหรับการศัลยกรรมแปลงเพศ, หทัยภัทร ตันติรุ่งอรุณ Jan 2022

กระบวนการประกอบสร้างให้ประเทศไทยเป็นปลายทางสำหรับการศัลยกรรมแปลงเพศ, หทัยภัทร ตันติรุ่งอรุณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้ศึกษาการเติบโตของอุตสาหกรรมการแปลงเพศในประเทศไทย ผ่านการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ สถานพยาบาลและบริษัทนายหน้าเพื่อการแปลงเพศ และกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศไทยและต่างชาติ รวมถึงศึกษาผลกระทบของการเป็นปลายทางเพื่อการศัลยกรรมแปลงเพศกับการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ อาศัยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ (State) ตลาด (Market) และสังคม (Society) ผลการวิจัยพบว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมการแปลงเพศมาจากผลพวงของอุตสาหกรรมการค้าบริการทางเพศในอดีตและอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ อันนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคการผ่าตัดแปลงเพศที่ตอบสนองต่อความต้องการการแปลงเพศของผู้หลากหลายทางเพศเพื่อการประกอบอาชีพการค้าบริการทางเพศและสถานบันเทิงทางเพศ อินเตอร์เน็ตมีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์ของสถานพยาบาลเพื่อการแปลงเพศ และนำมาซึ่งการรับรู้โดยทั่วกันของผู้คนทั่วโลกว่าประเทศไทยเป็นปลายทางเพื่อการศัลยกรรมแปลงเพศ อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบที่สำคัญของงานวิจัยฉบับนี้ คือ การที่นายหน้ามีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมการแปลงเพศ อย่างไรก็ดี การเป็นปลายทางของการศัลยกรรมแปลงเพศดังกล่าวก็บดบังความเป็นจริงที่ว่าประเทศไทยยังมิได้มีความก้าวหน้ามากเท่าที่ควรในเรื่องสิทธิของผู้หลากหลายทางเพศ และการเข้าถึงการศัลยกรรมแปลงเพศของผู้หลากหลายทางเพศชาวไทยบางส่วนยังเกิดขึ้นอย่างจำกัด


การศึกษายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลกับปทัสถานด้านความมั่นคงไซเบอร์ของไทย, ธนาวิทย์ หวังภุชเคนทร์ Jan 2022

การศึกษายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลกับปทัสถานด้านความมั่นคงไซเบอร์ของไทย, ธนาวิทย์ หวังภุชเคนทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้วิเคราะห์การรับรู้ของหน่วยงานและตัวแสดงที่เกี่ยวข้องในไทยเกี่ยวกับปทัสถานทางไซเบอร์ของจีนที่เผยแพร่ผ่านยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัล ความเข้าใจของตัวกระทำการเหล่านี้อาจแตกต่างกันไป ซึ่งส่งผลต่อมุมมองของประเทศไทยเกี่ยวกับความมั่นคงไซเบอร์ ปัจจุบันงานศึกษาจำนวนมากให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารโทรคมนาคมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาความมั่นคงไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการวิจัยอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับกลยุทธ์เส้นทางสายไหมดิจิทัลและมิติด้านความมั่นคงไซเบอร์ แต่การศึกษาการมีส่วนร่วมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับปทัสถานไซเบอร์ของจีนยังคงมีจำกัด ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงกำหนดขอบเขตภายในกรอบการศึกษาผู้ประกอบการเชิงปทัสถาน โดยเน้นที่ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการแพร่กระจายปทัสถานทางไซเบอร์ของจีน เพื่อตรวจสอบบทบาทของตัวแสดงทั้งจากภาครัฐและเอกชนของไทยในฐานะผู้ประกอบการเชิงปทัสถานที่มีส่วนร่วมในการเผยแพร่และอิทธิพลของปทัสถานไซเบอร์ของจีน การศึกษาชี้ให้เห็นว่ายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมดิจิทัลมีอิทธิพลต่อมุมมองด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่การยอมรับเทคโนโลยีและปทัสถานด้านความมั่นคงไซเบอร์ของจีนหลายประการเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อำนาจอธิปไตยทางไซเบอร์" กลายเป็นประเด็นสำคัญของการถกเถียงเกี่ยวกับปทัสถานทางไซเบอร์ของจีนในเวทีโลก