Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

International Relations

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

2017

Articles 1 - 4 of 4

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

ความไม่มั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์: ที่มา พลวัต และแนวโน้ม, ปานหทัย วาสนาวิจิตร์ Jan 2017

ความไม่มั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์: ที่มา พลวัต และแนวโน้ม, ปานหทัย วาสนาวิจิตร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความไม่มั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์โดยใช้แนวคิดความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) มากำหนดดัชนีความั่นคงด้านพลังงาน เพื่อนำเสนอให้เห็นประเด็นด้านความมั่นคงพลังงานของเมียนมาร์ในช่วง ค.ศ. 2010 - 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเมียนมาร์นำโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (Thein Sein) ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายด้านพลังงานคู่ขนานกับนโยบายด้านการลงทุนของประเทศ จากการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการหลั่งไหลของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในเมียนมาร์ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานต่างๆ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ทรัพยากรน้ำ และถ่านหิน เป็นต้น ผลจากการวิเคราะห์ความมั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์ตามดัชนีความมั่นคงด้านพลังงานทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การมีพลังงานที่เพียงพอ (Availability) การเข้าถึงพลังงาน (Accessibility) การมีราคาพลังงานที่สามารถหาซื้อได้ (Affordability) และการยอมรับทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Acceptability) พบว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศด้านพลังงานในช่วง ค.ศ. 2010 - 2015 ไม่ได้พัฒนาภาคพลังงานของเมียนมาร์อย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากสถานการณ์ด้านพลังงานของเมียนมาร์ยังไม่มีความมั่นคงตามประเด็นที่กำหนดไว้ในแต่ละดัชนี อาทิเช่น การผลิตพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ การมีโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงข่ายพลังงานที่ไม่ทั่วถึง และการขาดความโปร่งใสและไม่เป็นที่ยอมรับในการบริหารจัดการภาคพลังงาน เป็นต้น ซึ่งอาจเรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ว่าเป็นพลวัตความไม่มั่นคงด้านพลังงานในเมียนมาร์


การมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซีย: กรณีศึกษาความสัมพันธ์ทางด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและจีน, ธัญสุดา เทพกุล Jan 2017

การมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซีย: กรณีศึกษาความสัมพันธ์ทางด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและจีน, ธัญสุดา เทพกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษานโยบายการมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซียโดยใช้กรณีศึกษาความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีน ระหว่างปี 2009 - 2015 โดยประยุกต์ใช้แนวคิดสัจนิยเชิงรุกของ จอห์น เมียร์ชไฮเมอร์ เป็นกรอบในการศึกษาร่วมกับแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ แนวคิดภูมิเศรษฐศาสตร์ และแนวคิดขั้วอำนาจ เพื่อเสนอว่า การมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซียเป็นการพยายามแสวงหาพันธมิตรและความอยู่รอดในช่วงเวลาที่อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาลดลงและความสัมพันธ์กับตะวันตกเสื่อมถอย นับตั้งแต่สงครามจอร์เจียในปี 2008 ตลอดจนวิกฤตยูเครนในปี 2014 โดยใช้ทรัพยากรพลังงาน ได้แก่ น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ในเขตไซบีเรียตะวันออกและเขตตะวันออกไกลที่มีอยู่จำนวนมากเป็นเครื่องมือในการผูกมิตรกับจีน ตลอดจนใช้ความสัมพันธ์ด้านพลังงานเป็นทางไปสู่การขยายบทบาทและอิทธิพลในด้านตะวันออกเพื่อถ่วงดุลกับตะวันตก จากการศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีนถือเป็นความสำเร็จของการมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซีย ดังปรากฎให้เห็นได้จากการเกิดระบบท่อขนส่งน้ำมันจากรัสเซียไปสู่จีนและไปยังชายฝั่งเอเชียแปซิฟิก และจากโครงการ Power of Siberia ในปี 2014 ที่ครอบคลุมถึงข้อตกลงซื้อขายแก๊สระหว่างรัสเซียกับจีนในระยะยาวและการก่อสร้างท่อขนส่งแก๊สธรรมชาติสายแรกจากรัสเซียสู่จีน และโครงการนี้ยังกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในทำนองเดียวกันกับประเทศในเอเชียตะวันออก การเกิดระบบท่อขนส่งดังกล่าวเป็นการรับประกันถึงความมั่นคงด้านพลังงานระยะยาวของรัสเซียกับจีน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออก และทำให้รัสเซียสามารถถ่วงดุลการส่งออกพลังงานได้ทั้งสองฝั่งของโลก นอกจากนี้ความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับจีนทำให้รัสเซียหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งกับตะวันตก สนับสนุนระเบียบโลกแบบหลายขั้วอำนาจ และเป็นส่วนหนึ่งในการถ่วงดุลอำนาจกับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาจากการใช้น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ


นโยบายของญี่ปุ่นต่อโครงสร้างอำนาจใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก: ศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น, กนกวรรณ เชาวกิจ Jan 2017

นโยบายของญี่ปุ่นต่อโครงสร้างอำนาจใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก: ศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น, กนกวรรณ เชาวกิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP)​ ของญี่ปุ่น ค.ศ. 2013 โดยใช้แนวคิดการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร (Alliance) และแนวคิดการคานอำนาจ (Balance of Power) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญของการศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีสมมติฐานว่า ญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะใช้ข้อตกลง TPP เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคง เพราะการที่สหรัฐฯ สามารถคงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกผ่านนโยบายการหันความสนใจมาสู่เอเชีย (Pivot to Asia) เป็นการคานบทบาทและอิทธิพลของจีนและกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีจีนเป็นผู้ขับเคลื่อนไม่ให้มีบทบาทครอบงำในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก จากการศึกษาพบว่า ญี่ปุ่นประกาศความสนใจที่จะเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง TPP ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2010 ซึ่งรัฐบาลพรรค DPJ ต้องเผชิญกับการคัดค้านภายในประเทศและปัญหาภัยพิบัติแผ่นดินไหว ค.ศ. 2011 ทำให้ต้องเลื่อนการเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง TPP ออกไป แต่ในสมัยรัฐบาลพรรค LDP สามารถผลักดันข้อตกลง TPP และโน้มน้าวประชาชนให้เห็นด้วยกับข้อตกลง TPP จนสามารถประกาศให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมข้อตกลง TPP อย่างเป็นทางการได้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทั้งนี้พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องการเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลง TPP เนื่องด้วยญี่ปุ่นต้องการใช้ข้อตกลง TPP เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยแสดงให้เห็นว่าระบบพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังคงมีความเข้มแข็งอยู่ โดยข้อตกลง TPP ช่วยสนับสนุนนโยบายการหันความสนใจมาสู่เอเชีย (Pivot to Asia) เพื่อให้สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทในภูมิภาคต่อไป เพื่อสกัดกั้นการขยายบทบาทและอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP แต่ญี่ปุ่นยังคงผลักดันข้อตกลง TPP ในฐานะเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของตนต่อไป


โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมกับการแพร่ขยายของวัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกัน : กรณีศึกษาเครือข่ายธุรกิจอาหารจานด่วนในประเทศบรูไนดารุสซาลาม, พิชญสุดา พลเสน Jan 2017

โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมกับการแพร่ขยายของวัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกัน : กรณีศึกษาเครือข่ายธุรกิจอาหารจานด่วนในประเทศบรูไนดารุสซาลาม, พิชญสุดา พลเสน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแพร่ขยายตัวของเครือข่ายธุรกิจอาหารจานด่วนอเมริกันไปยังนานาประเทศ ถือเป็นกระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์ที่มีประสิทธิภาพ และส่วนมากมีความสัมพันธ์กับกระบวนการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมกับหลายประเทศทั่วโลก ผู้วิจัยได้เลือกกรณีศึกษาประเทศบรูไนดารุสซาลามเนื่องจากเห็นว่า เป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์เข้าถึงยาก สังคมค่อนข้างปิด เป็นรัฐอิสลามที่เคร่งครัดด้วยกฏทางศาสนา และยังมีระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ผู้วิจัยจึงได้เข้าไปทำการวิจัยตรวจสอบสมมติฐานดังกล่าวข้างต้นในประเทศบรูไน โดยใช้วิธีวิจัยแบบลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลแบบวิจัยจากการสังเกต การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง และการตอบแบบสอบถาม ผลการวิจัยพบว่า 1.) แมคโดนัลดาภิวัตน์ในบรูไน ไม่ใช่เป็นกระบวนการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมแต่ถือเป็นพหุวัฒนธรรมในบรูไน เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนมากชื่นชอบอาหารจานด่วนอเมริกันและมองว่าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการบริโภค ทางฝั่งผู้ผลิตก็พยายามปรับนโยบายทางการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น ทำให้วัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกันสามารถผสมผสานและดำเนินร่วมกันได้ดีกับวัฒนธรรมท้องถิ่น 2.) กระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในบรูไนค่อนข้างตรงข้ามทฤษฎีเดิม จากการสังเกตการณ์กลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคร้านแมคโดนัลด์ในกรุงบันดาเสรีเบกาวัน พบว่าคนค่อนข้างใช้ชีวิตแบบช้าๆ ไม่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร ใช้ร้านอาหารจานด่วนเหมือนร้านอาหารทั่วไป มีเมนูเฉพาะท้องถิ่นที่หารับประทานไม่ได้ในประเทศอื่น 3.) แบรนด์อาหารจานด่วนท้องถิ่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความนิยมมากกว่าแบรนด์อาหารจานด่วนต้นตำรับอเมริกัน ตัดสินได้โดยความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างที่ยืนยันว่า ร้านอาหารจานด่วนท้องถิ่นสามารถใช้กระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์และท้องถิ่นภิวัตน์ได้ดีเหมาะสมกับชาวท้องถิ่นมากกว่าร้านอาหารจานด่วนอเมริกัน จนพวกเขาพึงพอใจในรสชาติ ราคา ปริมาณ และการเข้าถึงสถานที่ และ 4.) ด้วยเหตุผลดังกล่าว กลุ่มตัวอย่าง ไม่ได้มีอคติหรือต่อต้านกับวัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกัน และไม่ได้รู้สึกว่าการบริโภคอาหารจานด่วนอเมริกันเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม