Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Physical Sciences and Mathematics Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Statistics and Probability

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

2018

Articles 1 - 5 of 5

Full-Text Articles in Physical Sciences and Mathematics

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ณปภัช บรรณาการ Jan 2018

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ณปภัช บรรณาการ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษกับนักเรียนทั่วไปในโรงเรียนสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) ศึกษาปัจจัยนำเข้าสำหรับการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษและระบบช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 3) วิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนอันเนื่องมาจากภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม ปัจจัยนำเข้าสำหรับการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และระบบช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน การวิจัยนี้เก็บรวบรวมข้อมูลจาก 2 แหล่งประกอบด้วย 1) ข้อมูลปฐมภูมิจากโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 และ 2 ทั้งหมด 43 โรงเรียน 2) แหล่งข้อมูลทุติยภูมิโดยใช้ฐานข้อมูลของผู้สอบ O-NET รายบุคคล ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ศึกษาในโรงเรียนสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2560 ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้คือ โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 และ 2 จำนวน 39 โรงเรียน และนักเรียนจำนวน 11,534 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติบรรยาย การวิเคราะห์กลุ่มแฝง (latent class analysis) และการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำ (Inequality Index) ด้วยโปรแกรม R ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) ภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษกับนักเรียนทั่วไปไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ .05 (ꭓ2df = 2 = 2.408, p = 0.300) 2) ผลการศึกษาปัจจัยนำเข้าของการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ด้านความเพียงพอและคุณภาพครู พบว่าอัตราส่วนระหว่างจำนวนผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษต่อจำนวนครูที่รับผิดชอบงานการศึกษาพิเศษในโรงเรียน มีค่าเท่ากับ 3.77 (SD = 5.27) ค่าเฉลี่ยร้อยละของครูการศึกษาพิเศษเมื่อเปรียบเทียบกับครูที่รับผิดชอบงานการศึกษาพิเศษในโรงเรียนมีค่าเท่ากับ 16.89 (SD = 30.97) จะเห็นว่าโรงเรียนส่วนใหญ่มีครูที่รับผิดชอบงานการศึกษาพิเศษที่เพียงพอต่อความต้องการ แต่อย่างไรก็ตามครูที่รับผิดชอบงานการศึกษาพิเศษของโรงเรียนดังกล่าวนั้นมีส่วนน้อยที่มีวุฒิการศึกษาพิเศษโดยตรงซึ่งสะท้อนความขาดแคลนคุณภาพของปัจจัยนำเข้าด้านบุคลากรครูที่รับผิดชอบงานการศึกษาพิเศษของโรงเรียน นอกจากนี้ยังพบว่าสิ่งอำนวยความสะดวกและวัสดุในการผลิตสื่อของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษไม่เพียงพอ สื่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูและอุปกรณ์นันทนาการเพียงพอระดับน้อย ด้านระบบช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษมีผลการประเมินดังนี้ ด้านการวางแผนการจัดการศึกษา (plan), การปฏิบัติแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (do) และ ด้านการวิเคราะห์และการตรวจสอบผลการจัดการเรียนรู้ (check) ปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ ส่วนด้านการปรับปรุงแผนและการปฏิบัติงาน (act) ปฏิบัติเป็นบางครั้ง 3) ผลการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ พบว่า …


การเปรียบเทียบวิธีการหาจุดเปลี่ยนแปลงแบบออฟไลน์ในข้อมูลอนุกรมเวลาที่มีความผันแปรไม่ปกติที่มีการแจกแจงปกติ 2 ตัวแปร, ปภาวิน เจริญชัยปิยกุล Jan 2018

การเปรียบเทียบวิธีการหาจุดเปลี่ยนแปลงแบบออฟไลน์ในข้อมูลอนุกรมเวลาที่มีความผันแปรไม่ปกติที่มีการแจกแจงปกติ 2 ตัวแปร, ปภาวิน เจริญชัยปิยกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการตรวจหาจุดเปลี่ยนแปลงของวิธี E-Divisive, e-cp3o และ ks-cp3o สำหรับข้อมูลอนุกรมเวลาที่มีความผันแปรไม่ปกติที่มีการแจกแจงปกติ 2 ตัวแปรซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในค่าเฉลี่ย ค่าความแปรปรวน หรือค่าสหสัมพันธ์ โดยทำการจำลองและเปรียบเทียบประสิทธิภาพโดยใช้ค่า Adjusted Rand Index และเปรียบเทียบจำนวนและตำแหน่งของจุดเปลี่ยนแปลงทั้งสามวิธีในข้อมูลจริง โดยข้อมูลเป็นข้อมูลสัญญาณชีพและข้อมูลปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของแต่ละช่วงโดยใช้การทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยและความแปรปรวนของสองประชากร จากการศึกษาพบว่า เมื่อข้อมูลมีขนาดเล็ก (n = 90) วิธี e-cp3o และ ks-cp3o มีประสิทธิภาพในการตรวจหาจุดเปลี่ยนแปลงมากที่สุด (ค่า Adjusted Rand Index มีค่าเป็น 1) และพบว่าวิธี E-Divisive มีประสิทธิภาพสูงเฉพาะกรณีที่ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงในค่าเฉลี่ย (ค่า Adjusted Rand Index มีค่าเข้าใกล้ 1) เมื่อข้อมูลมีขนาดมากขึ้น (n = 150 และ 300) วิธี E-Divisive มีประสิทธิภาพสูงที่สุดเมื่อข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ย และวิธี e-cp3o มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในกรณีอื่น ๆ การศึกษากับข้อมูลจริงซึ่งเป็นข้อมูลสัญญาณชีพ และข้อมูลปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งทำการตรวจหาจุดเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในคราวเดียวและแบ่งข้อมูลออกเป็น 3 ส่วนก่อนแล้วจึงนำแต่ละส่วนมาตรวจหาจุดเปลี่ยนแปลง พบว่า วิธี E-Divisive และ ks-cp3o พบจำนวนจุดและตำแหน่งของจุดเปลี่ยนแปลงที่ใกล้เคียงกัน และการแบ่งข้อมูลออกเป็นช่วงย่อยก่อนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจข้อมูลทั้งหมดในคราวเดียวกัน


การศึกษาเปรียบเทียบการประมาณค่าจากตัวแบบการถดถอยสำหรับข้อมูลที่ถูกตัดปลายทางขวาแบบที่ 1 ที่มีการแจกแจงแบบล็อกนอร์มอล, ศิวพร ทิพย์พันธุ์ Jan 2018

การศึกษาเปรียบเทียบการประมาณค่าจากตัวแบบการถดถอยสำหรับข้อมูลที่ถูกตัดปลายทางขวาแบบที่ 1 ที่มีการแจกแจงแบบล็อกนอร์มอล, ศิวพร ทิพย์พันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบวิธีการประมาณค่าจากตัวแบบ การถดถอย เมื่อตัวแปรตามมีการแจกแจงแบบล็อกนอร์มอลและตัวแปรตามบางค่าเป็นข้อมูล ที่ถูกตัดปลายทางขวาแบบที่ 1 ด้วยวิธีกำลังสองต่ำสุด (OLS) วิธีภาวะน่าจะเป็นสูงสุด (MLE) วิธีของแชตเทอร์จีและแมคลีช (CM) และวิธีภาวะน่าจะเป็นสูงสุดด้วยขั้นตอนวิธีอีเอ็ม (MLE_EM) ข้อมูลในการศึกษาได้จากการจำลองข้อมูลจำนวน 81 สถานการณ์ สถานการณ์ละ 10,000 รอบ ขนาดตัวอย่าง (n) เท่ากับ 30, 50, 100 และเปอร์เซ็นต์การถูกตัดปลายทางขวาของตัวแปรตาม (r) เท่ากับ 10%, 20%, 30% และอัตราส่วนความแปรปรวนของตัวแปรอิสระตัวที่ 1 ต่อตัวแปรอิสระ ตัวที่ 2 คือ 1:1, 1:2, 1:5 และอัตราส่วนความแปรปรวนรวมของตัวแปรอิสระต่อความคลาดเคลื่อน คือ 2:1, 1:1, 1:2 จากการศึกษาพบว่า 1) วิธี MLE และวิธี MLE_EM มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อตัวอย่างมีขนาดใหญ่ (n=100) หรือตัวแปรตามถูกตัดปลายทางขวามาก (r=30%) ในทางกลับกัน 2) วิธี OLS เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อตัวอย่างมีขนาดเล็ก (n=30) หรือตัวแปรตามถูกตัดปลายทางขวาน้อย (r=10%) และ 3) วิธี CM เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในสถานการณ์ที่เหลือ กล่าวคือ เมื่อตัวอย่างมีขนาดปานกลาง (n=50) หรือตัวแปรตามถูกตัดปลายทางขวาปานกลาง (r=20%) นอกจากนั้นพบว่า 4) ทุกวิธีมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อตัวอย่างมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือตัวแปรตาม ถูกตัดปลายทางขวาน้อยลงหรือความคลาดเคลื่อนกระจายตัวน้อยกว่าตัวแปรอิสระ


โมเดลคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาของไทยและต่างประเทศ: การวิเคราะห์ความไม่แปรเปลี่ยนแบบเบส์, ชนินันท์ พฤกษ์ประมูล Jan 2018

โมเดลคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาของไทยและต่างประเทศ: การวิเคราะห์ความไม่แปรเปลี่ยนแบบเบส์, ชนินันท์ พฤกษ์ประมูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาโมเดลคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาของไทยและต่างประเทศ 2) เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาของไทยและต่างประเทศที่พัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และ 3) เพื่อทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลคุณลักษณะที่พึงประสงค์ฯ ที่พัฒนาขึ้นตามกลุ่มนักศึกษาไทยและต่างประเทศด้วยวิธีการประมาณค่าความน่าจะเป็นสูงสุด และการวิเคราะห์แบบเบส์ ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจำนวน 716 คน จาก 11 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย จำนวน 459 คนและจาก 11 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกจำนวน 257 คน เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ แบบประเมินตนเองของนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกต่อคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประมาณค่าพารามิเตอร์ในโมเดลด้วยวิธีการประมาณค่าความน่าจะเป็นสูงสุด (Maximum-likelihood estimation) จากโปรแกรม LISREL 8.72 และการวิเคราะห์แบบเบส์ (Bayesian analysis) จากโปรแกรม R 3.6.1 ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. โมเดลคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาของไทยและต่างประเทศ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ 10 ตัวบ่งชี้ ประกอบด้วย องค์ประกอบที่ 1 ด้านความรู้ แบ่งออกเป็น 3 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ ความรู้ในสาขาวิชาชีพ ความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ และ ความรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง องค์ประกอบที่ 2 ด้านทักษะการเรียนรู้และการทำงาน แบ่งออกเป็น 4 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ การคิดเชิงนวัตกรรม การจัดการตนเองและองค์กร การทำงานเป็นทีมแบบท้าทาย และ การเรียนรู้เทคโนโลยีสม่ำเสมอ และองค์ประกอบที่ 3 ด้านคุณธรรมจริยธรรม แบ่งออกเป็น 3 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ คุณธรรมการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม จรรยาบรรณทางวิชาชีพและวิชาการ และจิตอาสาและสำนึกสาธารณะ 2. โมเดลคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาของไทยและต่างประเทศสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ2 = 29.17, df = 19, χ2/df = 1.535, p= .06339, RMSEA = .027, GFI= …


การศึกษาเปรียบเทียบการประมาณค่าจากตัวแบบการถดถอย สำหรับข้อมูลที่มีการแจกแจงแบบล็อกนอร์มอล ที่ถูกตัดปลายทางขวาแบบสุ่มที่มีการแจกแจงแบบยูนิฟอร์ม, ธนาพิพัฒน์ ทรัพย์ครองชัย Jan 2018

การศึกษาเปรียบเทียบการประมาณค่าจากตัวแบบการถดถอย สำหรับข้อมูลที่มีการแจกแจงแบบล็อกนอร์มอล ที่ถูกตัดปลายทางขวาแบบสุ่มที่มีการแจกแจงแบบยูนิฟอร์ม, ธนาพิพัฒน์ ทรัพย์ครองชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการประมาณค่าจากตัวแบบความถดถอย เมื่อตัวแปรตามมีการแจกแจงแบบล็อกนอร์มอลและตัวแปรตามบางค่าเป็นข้อมูลที่ถูกตัดปลายทางขวาแบบที่ 1 ด้วยวิธีด้วยวิธีกำลังสองต่ำสุด (OLS), วิธีของแชตเทอร์จีและแมคลีช (CM) วิธีภาวะน่าจะเป็นสูงสุดด้วยขั้นตอนอีเอ็ม (MLE_EM) และวิธีภาวะน่าจะเป็นสูงสุดด้วยขั้นตอนอีเอ็มเมื่อมีการปรับค่าข้อมูลก่อนคำนวณ (MLE_EM_AD) ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาได้จากการจำลองข้อมูล 243 สถานการณ์ ขนาดตัวอย่าง (n) เท่ากับ 30, 50, 100 ร้อยละของตัวแปรตามที่ถูกตัดปลายทางขวา (r1) เท่ากับ 10, 20, 30 สัดส่วนช่วงเวลาที่เปิดรับผู้ป่วยต่อช่วงเวลาที่ติดตามการรอดชีวิต (r2) เท่ากับ 0.1, 0.2, 0.3 อัตราส่วนความแปรปรวนของตัวแปรอิสระตัวที่ 1 ต่อตัวแปรอิสระตัวที่ 2 คือ 1:1, 1:2, 1:5 และอัตราส่วนความแปรปรวนรวมของตัวแปรอิสระต่อความคลาดเคลื่อน คือ 2:1, 1:1, 1:2 จากการศึกษาพบว่า 1) วิธี MLE_EM และ MLE_EM_AD เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อตัวอย่างมีขนาดปานกลางและใหญ่ (n = 50, 100) หรือร้อยละของข้อมูลที่ถูกตัดปลายทางขวาปานกลางและมาก (r1 = 20%, 30%) ในทางกลับกัน 2) วิธี OLS เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อตัวอย่างมีขนาดเล็ก (n = 30) หรือตัวแปรอิสระมีการกระจายตัวน้อยกว่าความคลาดเคลื่อน แต่ CM มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อตัวแปรอิสระมีการกระจายตัวมากกว่าหรือเท่ากับความคลาดเคลื่อน 3) ทุกวิธีมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อตัวอย่างมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือตัวแปรถูกตัดปลายทางขวาน้อยลง หรือสัดส่วนช่วงเวลาที่เปิดรับผู้ป่วยต่อช่วงเวลาที่ติดตามการรอดชีวิตลดลง หรือความคลาดเคลื่อนกระจายตัวน้อยกว่าตัวแปรอิสระ