Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Metallurgy Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

2017

Articles 1 - 4 of 4

Full-Text Articles in Metallurgy

การศึกษาผลของความเร็วการตัด กำลังของเลเซอร์ และแรงดันแก๊สช่วยตัด ต่อสมบัติและโครงสร้างจุลภาคบริเวณรอยตัดด้วยเลเซอร์บนแผ่นโลหะผสมไทเทเนียม, วาริท โปษยานนท์ Jan 2017

การศึกษาผลของความเร็วการตัด กำลังของเลเซอร์ และแรงดันแก๊สช่วยตัด ต่อสมบัติและโครงสร้างจุลภาคบริเวณรอยตัดด้วยเลเซอร์บนแผ่นโลหะผสมไทเทเนียม, วาริท โปษยานนท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โลหะไทเทเนียมเกรด Ti-6Al-4V เป็นโลหะที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอากาศยานและทางการแพทย์ เนื่องจากความแข็งแรงที่สูง การขึ้นรูปเบื้องต้นด้วยกรรมวิธีการตัดด้วยเลเซอร์จึงสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ แต่เนื่องจากวิธีนี้ทำให้เกิดความร้อนสูงและการหลอมละลายในบริเวณที่รอยตัดรวมถึงความสามารถในการเกิดปฏิกิริยาเคมีอย่างรุนแรงกับออกซิเจนรวมไปถึงไนโตรเจนที่เป็นแก๊สช่วยตัดด้วยนั้นจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงพารามิเตอร์หลักที่ใช้ในการตัดคือ 1.กำลังของเลเซอร์ 2.ความดันแก๊สช่วยตัด 3.ความเร็วการตัด ต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางจุลภาคและสมบัติของรอยตัดเพื่อให้สามารถทราบขีดจำกัดของการใช้งานและผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพสูงด้วยต้นทุนที่ต่ำ ในงานวิจัยนี้จะทดสอบการตัดแผ่นโลหะไทเทเนียมเกรด Ti-6Al-4V หนา 2 มิลลิเมตร โดยใช้ไฟเบอร์เลเซอร์ขนาดกำลัง 3000 วัตต์ ใช้แก๊สไนโตรเจนเป็นแก๊สช่วยตัด และตรวจวัดความลึกและลักษณะของชั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางจุลภาคที่เป็นผลจากความร้อน รวมไปถึงเฟสที่เกิด ลักษณะโครงสร้างทางจุลภาคและการกระจายตัวของธาตุประกอบบริเวณรอยตัด ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า เมื่อเพิ่มความเร็วการตัดจะทำให้ความหนาชั้นที่ได้รับผลกระทบจากความร้อนลดลง เพื่อความสม่ำเสมอและคุณภาพรอยตัดดีที่สุดควรความดันแก๊สที่เหมาะสมไม่สูงหรือต่ำเกิดไป ในส่วนของกำลังของเลเซอร์นั้นผลกระทบเมื่อใช้กำลังของเลเซอร์ต่ำมากเนื่องจากน้ำโลหะที่อุณหภูมิต่ำมีความหนืดสูงกว่าจึงค้างอยู่บริเวณรอยตัดมากกว่าส่งผลให้ความเท่ากันของความลึกของชั้นดังกล่าวเปลี่ยนไป การเพิ่มความดันแก๊สช่วยตัดสามารถลดผลกระทบนี้ได้ ในส่วนของโครงสร้างทางจุลภาคพบว่ามีการแพร่เข้าของออกซิเจนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และพบเฟสที่มีไนโตรเจนสูงฝังอยู่ภายในชั้นหลอมละลายซึ่งแข็งและเปราะ หากต้องการชิ้นงานคุณภาพสูงต้องกำจัดชั้นเหล่านี้ออก


วิวัฒนาการของโครงสร้างจุลภาคและพฤติกรรมการไหลของน้ำโลหะระหว่างการแข็งตัวของโลหะอะลูมิเนียมผสมซิลิกอนและทองแดงที่มีเหล็กเจือปน, สุรดา ช่วยประดิษฐ์ Jan 2017

วิวัฒนาการของโครงสร้างจุลภาคและพฤติกรรมการไหลของน้ำโลหะระหว่างการแข็งตัวของโลหะอะลูมิเนียมผสมซิลิกอนและทองแดงที่มีเหล็กเจือปน, สุรดา ช่วยประดิษฐ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โลหะอะลูมิเนียมผสมซิลิกอนและทองแดง มีการใช้งานอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ในระหว่างกระบวนการรีไซเคิลอะลูมิเนียม จะเกิดการเจือปนของธาตุเหล็ก เป็นสาเหตุให้เกิดเฟสสารประกอบเชิงโลหะ ß-Al5FeSi ในโครงสร้างจุลภาคที่ส่งผลต่อการเกิดโพรงหดตัวและทำให้สมบัติทางกลของวัสดุลดลง ด้วยสาเหตุนี้จึงมีความพยายามที่จะลดผลของเฟส ß-Al5FeSi ด้วยวิธีต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาในอดีตยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายพฤติกรรมการไหลของน้ำโลหะในช่วงกึ่งแข็งกึ่งเหลวได้ งานวิจัยนี้จึงอาศัยเทคนิค in situ X-ray tomography ร่วมกับเทคนิค computational fluid dynamics (CFD) ในการวิเคราะห์วิวัฒนาการของโครงสร้างจุลภาคระหว่างการแข็งตัว และศึกษาพฤติกรรมการไหลของน้ำโลหะภายในช่องแขนของเดนไดรท์ โดยทำการศึกษาในโลหะอะลูมิเนียมผสมซิลิกอนและทองแดง ที่มีส่วนผสมของเหล็กเจือปนต่างกัน (0.4-1.0 wt.%) ทั้งกรณีที่มีการเติมและไม่เติม grain refiner ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณเหล็กเจือปนที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อพฤติกรรมในการกำเนิดของเฟส ß-Al5FeSi แต่ไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมในการเติบโตของเฟส ß-Al5FeSi ผลจากแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ด้วยเทคนิค CFD แสดงให้เห็นว่า เฟส ß-Al5FeSi และโครงสร้างยูเทคติค ส่งผลร่วมกันต่อการขัดขวางการไหลของน้ำโลหะ สมการทางคณิตศาสตร์ของ Blake-Kozeny ถูกนำมาปรับปรุงเพื่อใช้อธิบายพฤติกรรมการไหลของน้ำโลหะผลของการขัดขวางการไหล นอกจากนั้นการศึกษาในส่วนของการเติม grain refiner พบว่า ส่งผลให้โครงสร้างจุลภาคของเดนไดรท์เปลี่ยนจากลักษณะ columnar ไปเป็น equiaxed dendrite และทำให้พฤติกรรมการไหลภายในช่องแขนของเดนไดรท์เปลี่ยนแปลงไป ผลการศึกษายังพบว่า การเติม grain refiner ส่งผลต่อพฤติกรรมการกำเนิดของเฟส ß-Al5FeSi แต่ไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเติบโตและลักษณะสัณฐานวิทยาของเฟส ß-Al5FeSi ผลการศึกษาในงานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโลหะอะลูมิเนียมผสมเกรดรีไซเคิล ให้มีข้อบกพร่องจากงานหล่อที่ลดลง ผ่านการควบคุมปริมาณเหล็กเจือปนและการเติม grain refiner ได้


ผลของการเติมเถ้าแกลบต่อการเกิดชั้นฟิล์มในกระบวนการอะลูมิไนซิงแบบผงบนนิกเกิลบริสุทธิ์, บุญฤทธิ์ เฮงประยูร Jan 2017

ผลของการเติมเถ้าแกลบต่อการเกิดชั้นฟิล์มในกระบวนการอะลูมิไนซิงแบบผงบนนิกเกิลบริสุทธิ์, บุญฤทธิ์ เฮงประยูร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การปรับปรุงกระบวนการอะลูมิไนซิงแบบผงทำได้โดยการเจือธาตุซิลิกอนเพื่อเพิ่มความเสถียรของชั้นออกไซด์ที่เกิดขึ้นในการใช้งานที่อุณหภูมิสูง ซึ่งเถ้าแกลบมีส่วนประกอบของซิลิกาอยู่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ในงานวิจัยนี้จะหาความเป็นไปได้ในการใช้เถ้าแกลบแทนซิลิกาจากอุตสาหกรรม (ควอทซ์) เพื่อเจือซิลิกอนลงในกระบวนการอะลูมิไนซิงแบบผง โดยวิเคราะห์ถึงความแตกต่างของโครงสร้างผลึก สารเจือในเถ้าแกลบ ขนาดอนุภาค ลักษณะพิ้นผิวและพื้นที่ผิวจำเพาะระหว่างผงควอทซ์และผงเถ้าแกลบที่จะส่งผลต่อโครงสร้างจุลภาค โครงสร้างของสารประกอบของชั้นแพร่และปริมาณซิลิกอนที่พบในชั้นแพร่ในผิวชิ้นงานที่ใช้สารตั้งต้นเป็นควอทซ์และเถ้าแกลบ ซึ่งปริมาณสารเจือที่เติมคือ 9, 13.5, 18 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก เผาที่อุณหภูมิ 800 และ 1000๐C เป็นเวลา 4 ชั่วโมง และทดสอบความต้านทานการเกิดออกซิเดชันที่อุณหภูมิ 1000๐C เป็นเวลา 100 ชั่วโมง ชิ้นงานที่นำมาทดสอบคือ นิกเกิลบริสุทธิ์, ชิ้นงานที่ทำอะลูมิไนซิงที่ 900๐C เป็นเวลา 4 ชั่วโมง, ชิ้นงานที่เติมควอทซ์ 13.5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ทำอะลูมิไนซิงที่ 1000๐C เป็นเวลา 4 ชั่วโมงและชิ้นงานที่เติมเถ้าแกลบ 13.5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ทำอะลูมิไนซิงที่ 1000๐C เป็นเวลา 4 ชั่วโมง นำชิ้นงานมาวิเคราะห์ลักษณะพื้นผิวและโครงสร้างของสารประกอบออกไซด์ที่เกิดขึ้นที่ผิว พบว่าชิ้นงานที่เติมเถ้าแกลบจะมีปริมาณซิลิกอนที่พบในชั้นแพร่มากกว่าและมีความสามารถในการต้านทานการเกิดออกซิเดชันที่อุณหภูมิสูงดีกว่าชิ้นงานที่เติมควอทซ์


การปรับปรุงผิว Incoloy 825 ด้วยวิธีอะลูมิไนซิงแบบผง, วิมุติ ตงศิริ Jan 2017

การปรับปรุงผิว Incoloy 825 ด้วยวิธีอะลูมิไนซิงแบบผง, วิมุติ ตงศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในวิทยานิพนธ์นี้ศึกษาการปรับปรุงผิวโลหะผสมเกรด INCOLOY 825 ด้วยวิธีอะลูมิไนซิง แบบผง ใช้อุณหภูมิการทำอะลูมิไนซิงที่ 700, 800 และ 900 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1, 2.25, 4 และ 6.25 ชั่วโมง โครงสร้างจุลภาคของชั้นเคลือบอะลูมิไนด์ตรวจสอบและวิเคราะห์โดยใช้กล้องจุลทรรศน์แสง กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด และเทคนิควิเคราะห์การเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์ ทดสอบการเกิดออกซิเดชันที่อุณหภูมิ 1000 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 50 ชั่วโมง พบว่ามีชั้นเคลือบ 2 ชั้น ชั้นเคลือบด้านนอกจะประกอบไปด้วยเฟสของสารประกอบ Ni2Al3, NiAl3 และ Fe2Al5 และชั้นเคลือบด้านในจะประกอบไปด้วยเฟสของสารประกอบ Ni3Al และ Fe3Al ผลจากชุดเอกซ์เรย์สเปคโตรสโคปีแบบกระจายพลังงานแสดงให้เห็นการกระจายตัวของธาตุโครเมียมบริเวณชั้นรอยต่อระหว่างชั้นเคลือบด้านในกับวัสดุพื้น ผลจากเทคนิควิเคราะห์การเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์แสดงให้เห็นว่าธาตุโครเมียมที่อยู่บริเวณชั้นรอยต่อจะอยู่ในรูปของอะตอมของธาตุโครเมียม ความหนาเฉลี่ยของชั้นเคลือบจะเพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิและเวลาที่ใช้ในการเคลือบเพิ่มขึ้น ค่าพลังงานก่อกัมมันต์สำหรับการทำอะลูมิไนซิงแบบผงบนโลหะผสมเกรด INCOLOY 825 มีค่าเท่ากับ 70.64 กิโลจูลต่อโมล ผลการทดสอบการเกิดออกซิเดชันแสดงให้เห็นว่าชิ้นงานที่ผ่านการเคลือบจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าชิ้นงานโลหะผสมเกรด INCOLOY 825