Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Power and Energy Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2022

Chulalongkorn University

Articles 1 - 7 of 7

Full-Text Articles in Power and Energy

การวิเคราะห์การใช้พลังงานของการตัดแผ่นหินอ่อนและหินแกรนิต : กรณีศึกษา, ทิชากร โพธิ์นรินทร์ Jan 2022

การวิเคราะห์การใช้พลังงานของการตัดแผ่นหินอ่อนและหินแกรนิต : กรณีศึกษา, ทิชากร โพธิ์นรินทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หินอ่อนและหินแกรนิต เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพราะมีความสวยงาม คงทนและสะดวกต่อการดูแลรักษา ซึ่งการจะได้มาซึ่งแผ่นหินที่ใช้ตกแต่งได้นั้น จะต้องนำแผ่นหินขนาดใหญ่ (Slabs) มาตัดตามขนาดที่ต้องการเสียก่อน เนื่องจากหินทั้งสองชนิดมีความแข็งที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องใช้ความเร็วในการตัด ความเร็วรอบของใบเลื่อย รวมทั้งขนาดของใบเลื่อยที่ต่างกัน สำหรับโรงงานที่ใช้ศึกษาในครั้งนี้ การตัดหินแต่ละชนิดจะใช้พารามิเตอร์ต่างกัน สำหรับหินอ่อน จะใช้ความเร็วรอบของใบเลื่อยอยู่ที่ 2,700 rpm ความเร็วในการตัดอยู่ที่ 1, 2 และ 3 เมตรต่อนาที ใบเลื่อยที่ใช้ตัดจะอยู่ที่ 12 นิ้ว และใช้หินอ่อน Rosso Levanto ในการทดสอบ สำหรับหินแกรนิต ใช้รอบการหมุนของใบเลื่อยอยู่ที่ 1,700 rpm ความเร็วในการตัดอยู่ที่ 1, 2 และ 2.5 เมตรต่อนาที และใช้หินแกรนิตดำอินเดียในการทดสอบ จากการทดลองวัดกระแสไฟฟ้าขณะตัดแผ่นหินเพื่อนำมาคำนวณหาค่ากำลังไฟฟ้า พบว่าใช้กำลังไฟฟ้าขณะที่ตัดอยู่ที่ 21.13, 21.34 และ 24.36 กิโลวัตต์ (kW) ตามลำดับความเร็วที่ใช้ตัด และสามารถคำนวณหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ต่อการตัดแผ่นหินอ่อน 1 สแลบ อยู่ที่ 8.25, 4.19 และ 3.30 หน่วย ตามลำดับ และเมื่อทดสอบกับหินแกรนิตดำอินเดีย พบว่าใช้กำลังไฟฟ้าขณะที่ตัด อยู่ที่ 19.48, 20.29 และ 20.95 กิโลวัตต์ (kW) และหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ต่อการตัดแผ่นหินแกรนิต 1 สแลบ อยู่ที่ 7.50, 3.95 และ 3.32 ตามลำดับ เมื่อนำค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของโรงงานมาคำนวณคาดการณ์ในการตัดแผ่นหินใน 1 ปี พบว่า หากตัดแผ่นหินอ่อนด้วยความเร็ว 3 เมตรต่อนาที จะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการตัดด้วยความเร็ว 1 เมตรต่อนาที ถึง 65,488.74 บาท หรือประมาณ 60.01% และหากตัดแผ่นหินแกรนิตด้วยความเร็ว 2.5 เมตรต่อนาที สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการตัดด้วยความเร็ว 1 เมตรต่อนาที …


การผลิตน้ำร้อนด้วยแผงโซล่าฮีทไปป์ร่วมกับฮีทปั๊ม, ปิยะ ณ ลำพูน Jan 2022

การผลิตน้ำร้อนด้วยแผงโซล่าฮีทไปป์ร่วมกับฮีทปั๊ม, ปิยะ ณ ลำพูน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อาคารโรงแรมในประเทศไทยส่วนใหญ่นิยมผลิตน้ำร้อนโดยใช้ระบบฮีทปั๊มเนื่องจากเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้พลังงานต่ำส่งผลให้การลดพลังงานในส่วนนี้ทำได้ยาก การเพิ่มอุณหภูมิน้ำก่อนเติมเข้าระบบของฮีทปั๊มโดยฮีทไปป์จึงเป็นที่มาของงานวิจัยครั้งนี้ งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาการผลิตน้ำร้อนร่วมกับฮีทปั๊มเฉพาะชั้นHigh zoneจากชั้นที่ 30 ถึง ชั้นที่ 34 เท่านั้น โดยมีปริมาณการใช้น้ำร้อนเฉลี่ยเท่ากับ 2,000 ลิตรต่อวัน ในงานวิจัยใช้แผงโซล่าฮีทไปป์ซึ่งมีพื้นที่รับแสง = 1.89 m2/แผง จำนวนทั้งหมด 8 แผง ฮีทไปป์ผลิตน้ำร้อนเฉลี่ย10 ชั่วโมงต่อวัน เริ่มตั้งแต่ 7.00 น. -17.00 น. ในช่วงเวลากลางวัน น้ำร้อนได้ถูกนำไปเก็บไว้ในถังเก็บน้ำร้อนขนาด 2000 ลิตร และในช่วงเวลากลางคืนได้นำน้ำร้อนไปป้อนให้กับระบบฮีทปั๊ม ผลการวิจัยพบว่า น้ำร้อนที่ผลิตได้มีพลังงาน 18,554 kWhต่อปี และเมื่อนำน้ำร้อนไปใช้เป็นน้ำเติมในระบบฮีทปั๊มจะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่ป้อนให้กับฮีทปั๊ม ได้ 5,256kWh คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ 19,764 บาทต่อปี และเมื่อให้อายุการใช้งานของระบบทำน้ำร้อนเป็น 20 ปี จึงได้ประเมินโครงการด้านการเงินได้มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) ระยะคืนทุน(PB) เท่ากับ 242,968 บาท 7.61% และ13 ปีตามลำดับ จึงสามารถสรุปได้ว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน.


ผลกระทบด้านความต้องการพลังงานของอาคารที่ออกแบบตามเกณฑ์เป็นสุข, จีรุฏฐ์ ตั้งมานะกิจ Jan 2022

ผลกระทบด้านความต้องการพลังงานของอาคารที่ออกแบบตามเกณฑ์เป็นสุข, จีรุฏฐ์ ตั้งมานะกิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลกระทบด้านความต้องการพลังงานของอาคารที่ออกแบบตามเกณฑ์อาคารที่มีสุขภาวะที่ดีโดยสถาบันอาคารเขียวไทยมีชื่อเกณฑ์”เป็นสุข” โดยการวิจัยนี้นำข้อมูลการประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งอาคารกรณีศึกษาแบบปกติและอาคารกรณีศึกษาที่ปรับแบบให้สอดคล้องตามเกณฑ์เป็นสุข นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยการใช้โปรแกรม Building Energy Code (BEC) Web-based ผลการศึกษาพบว่า อาคารกรณีศึกษาแบบปกติที่ใช้เป็นแบบอ้างอิงมีผลการประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานผ่านเกณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯ ทั้งแบบการประเมินรายระบบและการใช้พลังงานโดยรวม ส่วนกรณีอาคารเป็นสุขแบบที่ 1 ผ่านเกณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯเฉพาะการใช้พลังงานโดยรวม แต่ระบบกรอบอาคารไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินรายระบบ โดยที่ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังในส่วนที่มีการปรับอากาศ (OTTV) เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 13.86% เนื่องจากความต้องการของอาคารตามเกณฑ์เป็นสุข คือ การมีช่องเปิดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีกระจกหน้าต่างที่สว่างมากขึ้นเพื่อให้ได้รับแสงสว่างธรรมชาติที่มากขึ้น จึงนำความร้อนเข้าสู่ภายในอาคารผ่านกระจกหน้าต่างด้านนอกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้ใช้กระจกกรอบอาคารประสิทธิภาพสูง แต่สำหรับค่าการใช้พลังงานโดยรวมของอาคารพบว่าอาคารเป็นสุขแบบที่ 1 ยังสามารถผ่านเกณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯ เนื่องจากการประหยัดพลังงานจากการใช้ไฟฟ้าแสงสว่าง สำหรับอาคารเป็นสุขแบบที่ 2 ผ่านเกณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯ ทั้งแบบการประเมินรายระบบและการใช้พลังงานโดยรวม


การอนุรักษ์พลังงานในระบบปรับอากาศของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ติดตั้งเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี : กรณีศึกษา, ศุภธัช อินทะวัง Jan 2022

การอนุรักษ์พลังงานในระบบปรับอากาศของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ติดตั้งเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี : กรณีศึกษา, ศุภธัช อินทะวัง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี เป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่หน่วยวิจัยใช้ในการตรวจวิเคราะห์สารพิษในตัวอย่างดิน น้ำและพืชในพื้นที่การเกษตร ซึ่งห้องปฏิบัติการที่ติดตั้งเครื่องมือจะมีการควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 25±5 ๐C ตามมาตรฐานที่หน่วยวิจัยได้ทำการประเมินไว้ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลต่อความถูกต้องของการวิเคราะห์ตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟีจะมีการปล่อยความร้อนออกสู่บรรยากาศภายในห้องปรับอากาศทุกครั้งหลังจากเสร็จสิ้นการวิเคราะห์ในแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นภาระต่อเครื่องปรับอากาศ งานวิจัยจึงมุ่งที่จะศึกษาหามาตรการประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศที่ติดตั้งเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี และตู้แช่เย็นที่ใช้เก็บตัวอย่าง โดยการตรวจวัดประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศและการใช้พลังงานไฟฟ้าและการระบายความร้อนของเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี และตู้แช่เย็นภายในห้องปฏิบัติ ข้อมูลได้ถูกบันทึกแบบต่อเนื่องตลอดทั้งวันเพื่อหามาตรการประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศ จาก การวิเคราะห์พบมาตรการประหยัดพลังงานหลักๆ 3 มาตรการคือ 1) มาตรการล้างเครื่องปรับอากาศ 2) มาตรการปรับตั้งอุณหภูมิ set point ของเครื่องปรับอากาศ ให้สูงขึ้น และ 3) มาตรการลดพลังงานของตู้แช่แข็ง โดยสามารถลดพลังงานไฟฟ้าได้ 963.6 kWh, 1,660.0 kWh และ 49.9 kWh ต่อปี ตามลำดับ มาตรการที่ 1 มีระยะเวลาคืนทุน 0.83 ปี จึงมีความคุ้มค่าในการลงทุน ส่วนมาตรการที่ 2 และ 3 ไม่มีเงินลงทุนแต่สามารถลดค่าไฟฟ้า ได้ 6,640 บาท และ 200 บาทต่อปีตามลำดับ


การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการป้องกันอัคคีภัยกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา, อัยลดา วาปีทำ Jan 2022

การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการป้องกันอัคคีภัยกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา, อัยลดา วาปีทำ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บ้านอยู่อาศัยในประเทศไทยเริ่มมีความสนใจในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าฯ ในหลายประเทศได้เกิดปัญหาการเกิดอัคคีภัยสร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สิน และชีวิต ในพื้นที่เกิดอัคคีภัยนักดับเพลิงจะมีความเสี่ยงอันตรายจากแรงดันกระแสไฟฟ้าที่สูงจึงเป็นที่มาของงานวิจัยนี้ โดยศึกษาความคุ้มค่าของการติดตั้งอุปกรณ์หยุดทำงานฉุกเฉินและไมโครอินเวอร์เตอร์ ขนาด 5 kWp 1 Phase ในพื้นที่ภาคกลาง โดยจำลองการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าฯ 3 กรณี ได้แก่กรณีที่ 1 ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา แบบทั่วไป กรณีที่ 2 ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งอุปกรณ์หยุดทำงานฉุกเฉิน และกรณีที่ 3 ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งไมโครอินเวอร์เตอร์ จากนั้นทำการสำรวจข้อมูล ราคาบ้านที่ติดตั้งไม่รวมทรัพย์สินภายในบ้านและราคาที่ดิน ราคาหลังคาบ้านที่ติดตั้ง ราคาระบบที่ติดตั้ง พื้นที่บ้านที่ติดตั้ง และนำข้อมูลที่ได้มาทำการหาราคาเฉลี่ย เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้วนำแต่ละระบบมาเปรียบเทียบค่าพลังงานที่ผลิตได้ โดยโปรแกรม PVSyst ค่าพลังงานที่ผลิตได้ตลอดระยะเวลาโครงการ 25 ปี เท่ากับ 160,380, 165,481 และ 168,961 kWh ตามลำดับ นำข้อมูลที่ได้ทำการคำนวณทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อหาความคุ้มค่าของโครงการ มูลล่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 55,434.83, 42,531.10 และ -44,171.64 ตามลำดับ อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 17.96%, 16.46% และ 10.67% ตามลำดับ ระยะเวลาคืนทุนเท่ากับ 5.27, 5.79 และ8.52 ปี ตามลำดับ ต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าตลอดอายุโครงการ (LCOE) 1.53, 1.61 และ 2.03 บาทต่อหน่วย จำลองเหตุการณ์การเกิดอัคคีภัยใน 3 เหตุการณ์ ได้แก่ เหตุการณ์ที่ 1 เกิดอัคคีภัยความเสียหายเพียงแค่ระบบผลิตไฟฟ้าฯ บนหลังคา เหตุการณ์ที่ 2 เกิดอัคคีภัยความเสียหายในบริเวณหลังคาบ้านอยู่อาศัยทั้งหมด และเหตุการณ์ที่ 3 เกิดอัคคีภัยความเสียหายทั้งอาคารบ้านอยู่อาศัย สืบค้นข้อมูลการเกิดอัคคีภัยในประเทศไทยพบว่ามีการเกิดอัคคีภัยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นทุกๆปี จึงทำการสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญถึงมาตรฐานที่ใช้นิยมใช้ มาตรฐานวสท. และข้อกำหนดของการไฟฟ้า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอัคคีภัยที่พบมากที่สุดคือ อุปกรณ์เชื่อมต่อ (MC4) และอุณหภูมิแวดล้อมพื้นที่ติดตั้ง ผลการวิจัยพบว่าหากพิจารณาความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ในการติดตั้งกรณีที่ …


การวิเคราะห์ฉากทัศน์สำหรับศักยภาพชีวมวลของการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในประเทศไทย, ธัญชนก เชิดชู Jan 2022

การวิเคราะห์ฉากทัศน์สำหรับศักยภาพชีวมวลของการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในประเทศไทย, ธัญชนก เชิดชู

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ฉากทัศน์ศักยภาพชีวมวลของการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในประเทศไทย ภายใต้การวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลกระทบและปัจจัยที่มีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยการวิเคราะห์ได้ใช้เครื่องมือในการประเมินปัจจัยภายนอกต่างๆ ด้วยการวิเคราะห์ STEEP Analysis และทำการจัดลำดับปัจจัยเพื่อพิจารณาเลือกสถานการณ์ ที่ถูกกำหนดด้วยปัจจัยที่ทำให้เกิดผลกระทบและปัจจัยที่มีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบ (Impact) และมีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง (Uncertainty) ต่อฉากทัศนศักยภาพชีวมวลของการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในประเทศไทย ได้แก่ ปัจจัยด้านการสนับสนุนนโยบายจากภาครัฐ เช่น อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลในรูปแบบ Feed-in Tariff และปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เช่น ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงชีวมวล ต้นทุนค่าการสร้างและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งนี้ ได้กำหนดตัวชี้วัดสำหรับการติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ การวิเคราะห์ศักยภาพชีวมวลของการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และการวิเคราะห์ต้นทุนส่วนเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจก (Marginal Abatement Cost : MAC) เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการวิเคราะห์ศักยภาพเชิงปริมาณในแต่ละสถานการณ์ภายใต้เงื่อนไขของปัจจัยขับคลื่อน โดยได้แบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์ ซึ่งพบว่า ศักยภาพชีวมวลของการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร มากที่สุด 38,376 เมกะวัตต์ รองลงมา ได้แก่ 24,940 เมกะวัตต์ และ 10,596 เมกะวัตต์ ตามลำดับ ในส่วนของการวิเคราะห์ต้นทุนส่วนเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจก อยู่ระหว่าง -980 ถึง 131 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า


การประยุกต์ฮีทไปป์แบบแบนเพื่อใช้ระบายความร้อนจากแผงโซล่าร์เซลล์, ยศพล เกื้อชาติ Jan 2022

การประยุกต์ฮีทไปป์แบบแบนเพื่อใช้ระบายความร้อนจากแผงโซล่าร์เซลล์, ยศพล เกื้อชาติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ฮีทไปป์แบบแบนเพื่อใช้ระบายความร้อนจากแผงโซล่าร์เซลล์ โดยแผงโซล่าร์เซลล์ที่ใช้เป็นแบบอะมอฟัส (ฟิล์มบาง) ขนาดยาว 1.25 เมตร และกว้าง 1 เมตร พิกัดกำลังไฟฟ้า 140 วัตต์ ทดสอบที่อุณหภูมิมาตรฐาน 25 องศาเซลเซียส จนกระทั่งเมื่อนำแผงโซล่าร์เซลล์ไปใช้งานจริงจะเกิดความร้อนสะสมทำให้แผงโซล่าร์เซลล์มีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้กำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ลดลง จึงเป็นเหตุให้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาในครั้งนี้เพื่อต้องการลดอุณหภูมิแผง และเพิ่มการผลิตกำลังไฟฟ้าให้สูงขึ้น โดยได้ทำการทดลองเปรียบเทียบ แผงโซล่าร์เซลล์แบบปกติกับแผงโซล่าร์เซลล์ที่ติดตั้งฮีทไปป์แบบแบน ซึ่งท่อฮีทไปป์เป็นท่อทองแดงภายในท่อบรรจุวิกแบบเกลียวทำหน้าที่ดูดของเหลวทำงานจากส่วนควบแน่นกลับไปยังส่วนระเหย โดยติดตั้งทั้งหมดจำนวน 7 ท่อ แต่ละท่อประกอบด้วยท่อแบนส่วนระเหย ต่อเชื่อมกับ ท่อกลมส่วนควบแน่น มีน้ำกลั่นบรรจุอยู่ภายในท่อ ท่อแบนส่วนระเหยจะยึดติดกับด้านหลังของแผงโซล่าร์เซลล์ และมีซิลิโคนอยู่ระหว่างกลางเพื่อเป็นตัวกลางในการถ่ายเทความร้อน ในการทดสอบได้วางแผงโซล่าร์เซลล์ทั้งสองแผงให้ได้รับแสงอาทิตย์เท่ากันตลอดเวลา และได้บันทึกค่าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังไฟฟ้าและอุณหภูมิแผงโซล่าร์เซลล์ของทั้ง 2 แผง และอุณหภูมิแวดล้อม การบันทึกค่าทำทุกเวลา 15 นาทีระหว่าง 11:30 น. ถึง 15:30 น. เป็นระยะเวลา 11 วัน ผลการทดสอบพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยแผงโซล่าร์เซลล์ปกติเท่ากับ 59.7 องศาเซลเซียส และผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 2,090 วัตต์-ชม. ตามลำดับ อุณหภูมิเฉลี่ยแผงโซล่าร์เซลล์ติดตั้งท่อฮีทไปป์เท่ากับ 57.3 องศาเซลเซียส และผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 2,340 วัตต์-ชม.ตามลำดับ โดยมีอุณหภูมิแวดล้อมเฉลี่ย 37.4 องศาเซลเซียส โดยสรุป แผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งท่อฮีทไปป์สามารถลดอุณหภูมิหลังแผงโซล่าร์เซลล์ลงได้ 2.4 องศาเซลเซียส และผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น 250 วัตต์-ชม. หรือ 12 % จากแผงโซล่าร์เซลล์ปกติ