Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Engineering Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Articles 211 - 234 of 234

Full-Text Articles in Engineering

การทดสอบแบบจำลองปรับแก้ค่าพิกัดทางราบใช้สำหรับการแปลงค่าพิกัดจากเทคนิคการหาตำแหน่งจุดเดี่ยวความละเอียดสูงจีเอ็นเอสเอสไปยังโครงข่ายสถานีอ้างอิงค่าพิกัดต่อเนื่องจีเอ็นเอสเอสของประเทศไทยที่อยู่บนกรอบพิกัดอ้างอิงสากล Itrf2014, เมธา น้อยนาค Jan 2021

การทดสอบแบบจำลองปรับแก้ค่าพิกัดทางราบใช้สำหรับการแปลงค่าพิกัดจากเทคนิคการหาตำแหน่งจุดเดี่ยวความละเอียดสูงจีเอ็นเอสเอสไปยังโครงข่ายสถานีอ้างอิงค่าพิกัดต่อเนื่องจีเอ็นเอสเอสของประเทศไทยที่อยู่บนกรอบพิกัดอ้างอิงสากล Itrf2014, เมธา น้อยนาค

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกส่งผลกระทบโดยตรงต่อการระบุตำแหน่งด้วยค่าพิกัดและการอ้างอิงตำแหน่งบนพื้นโลกของตำแหน่งเดียวกันเมื่อเวลาผ่านไปค่าพิกัดบนพื้นหลักฐานย่อมมีค่าที่แตกต่างกัน โดยองค์กรหรือหน่วยงานในระดับสากลได้ร่วมปรับปรุงระบบกรอบพิกัดอ้างอิงสากล (The International Terrestrial Reference Frame; ITRF) ให้สอดคล้องกับการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งหน่วยงานในประเทศไทยได้ศึกษาเรื่องการปรับปรุงพื้นหลักฐานและระบบพิกัดอ้างอิงมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล อาทิเช่น กรมแผนที่ทหารซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่กำหนดโครงข่ายอ้างอิงของประเทศได้ปรับปรุงค่าพิกัดอ้างอิงของหมุดควบคุมในโครงข่ายหลักบนกรอบพิกัดอ้างอิงสากล ITRF2008 และได้ประกาศใช้ในราชการตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา และจะเปลี่ยนมาใช้ระบบกรอบพิกัดอ้างอิงพิกัดสากล ITRF2014 ในเร็วๆนี้ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างแบบจำลองค่าปรับแก้พิกัดทางราบสำหรับกรอบพิกัดอ้างอิงสากล ITRF2014 ในประเทศไทย อันเนื่องมาจากการระบุตำแหน่งพิกัดสากลของประเทศไทยจำเป็นต้องมีการอ้างอิงพิกัดสัมบูรณ์ที่บูรณาการกันภายในประเทศ หากประเทศไทยเริ่มใช้งานระบบกรอบพิกัดอ้างอิงสากล ITRF2014 จะเกิดค่าต่างพิกัดขยายใหญ่ขึ้นตามเวลา จึงต้องมีแบบจำลองค่าต่างพิกัดมาการปรับแก้พิกัดให้อยู่ในระบบเนื้อเดียวกัน โดยแบบจำลองค่าต่างพิกัดได้จากการหาค่าต่างพิกัดเฉลี่ยต่อปี (มิลลิเมตรต่อปี) ที่ได้จากคำนวณค่าพิกัดด้วยเทคนิคการรังวัดจุดเดี่ยวความละเอียดสูง (Precise Point Positioning; PPP) ให้สอดคล้องกับกรอบอ้างอิงค่าพิกัดสากลของหน่วยงานกรมแผนที่ทหารบนกรอบพิกัดอ้างอิง ITRF 2014 โดยนำค่าต่างพิกัดที่ได้จากการประมวลผลข้อมูลดาวเทียมด้วยซอฟต์แวร์เชิงวิจัย GipsyX จากโครงข่ายสถานีอ้างอิงรับสัญญาณดาวเทียมของกรมแผนที่ทหาร จำนวน 80 สถานี ของช่วงเวลาที่แตกต่างกันมาสร้างแบบจำลองค่าต่างพิกัดทางราบบนตำแหน่งกริด ซึ่งใช้วิธีการประมาณค่าในช่วง 4 วิธี คือ IDW, Kriging, Natural Neighbor และ Spline แล้วเปรียบเทียบความถูกต้องทางตำแหน่งทางราบด้วยค่ารากที่สองของความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยกำลังสอง (RMSE) ของแบบจำลองค่าปรับแก้พิกัดทางราบ โดยใช้หมุดทดสอบ 145 ตำแหน่งที่กระจายตัวทั่วพื้นที่ประเทศไทย ผลการวิจัยพบว่าแบบจำลองค่าปรับแก้พิกัดทางราบ ซึ่งประกอบด้วยแบบจำลองค่าต่างพิกัดทางราบด้วยวิธี IDW, Kriging, Natural Neighbor และ Spline มีความถูกต้องทางตำแหน่งทางราบอยู่ที่ 0.011, 0.010, 0.017 และ 0.017 เมตร ตามลำดับ โดยมีความคลาดเคลื่อนทางราบเฉลี่ยอยู่ที่ 0.006 ± 0.010, 0.006 ± 0.009, 0.011 ± 0.013 และ 0.011 ± 0.014 เมตร ตามลำดับ ซึ่งวิธี Kriging ให้ค่าพิกัดทางราบมีความถูกต้องสูงที่สุด ดังนั้นสามารถนำมาใช้แปลงค่าพิกัดสำหรับกรอบพิกัดอ้างอิงสากล ITRF2014 ในประเทศไทยให้มีความถูกต้องอยู่ในระดับ 2 ซม. …


การสร้างพื้นผิวค่าแก้สำหรับแบบจำลองยีออยด์ Tgm2017 โดยใช้สถานีร่วมค่าความสูงเหนือทรงรีและความสูงออร์โทเมตริก พื้นที่ศึกษา : ปทุมธานี, ฐิติน บัวทอง Jan 2021

การสร้างพื้นผิวค่าแก้สำหรับแบบจำลองยีออยด์ Tgm2017 โดยใช้สถานีร่วมค่าความสูงเหนือทรงรีและความสูงออร์โทเมตริก พื้นที่ศึกษา : ปทุมธานี, ฐิติน บัวทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันการสำรวจรังวัดค่าความสูงของภูมิประเทศ หรือ ความสูงออร์โทเมตริก (Orthometric Height) นอกเหนือการรังวัดด้วยอุปกรณ์ประเภทกล้องสำรวจ ยังมีการใช้งานที่แพร่หลายของสมการค่าต่างระหว่างค่าความสูงยีออยด์จากแบบจำลองความสูงยีออยด์ และความสูงทรงรีที่ได้จากการรังวัดโดยระบบนำทางด้วยดาวเทียม (GNSS) ซึ่งมีความรวดเร็วสูง และประหยัดงบประมาณกว่าโดยรวม อย่างไรก็ตามวิธีดังกล่าวมีความคาดเคลื่อนขนาดใหญ่ที่เกิดจากการประมาณค่าผิวยีออยด์ จึงทำให้การรังวัดค่าระดับออร์โทเมตริกด้วย GNSS จากสถานีฐานรับสัญญาณดาวเทียมถาวร (CORS) ไม่ผ่านเกณฑ์การรังวัดค่าระดับตามมาตรฐานในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น ภายในขอบเขตงานก่อสร้าง ดังนั้นการศึกษานี้ จึงมุ่งเน้นในการสร้างแบบจำลองความสูงยีออยด์ที่พอดีที่สุด (Best Fit) ในพื้นที่ศึกษา โดยการใช้การประมาณค่าภายใน (Interpolation) ด้วยวิธีคริกกิ้ง (Kriging method) สร้างพื้นผิวค่าแก้สำหรับแบบจำลองความสูงยีออยด์ TGM2017 จากสถานีร่วมความสูงออร์โทเมตริกและความสูงเหนือทรงรี เพื่อกำจัดค่าคลาดเคลื่อนขนาดใหญ่จากการประมาณค่าแบบจำลองยีออยด์ ส่งผลให้วิธีการรังวัดค่าความสูงภูมิประเทศโดยการใช้ GNSS มีความถูกต้องทางดิ่งผ่านเกณฑ์งานระดับ งานวิจัยนี้พบว่าหลังจากปรับใช้ค่าแก้ความสูงยีออยด์ ส่งผลให้การตรวจสอบความถูกต้องจากค่ารากที่สองของค่าความคาดเคลื่อนกําลังสองเฉลี่ย (RMSE) ลดลงถึงร้อยละ 88.4 และ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ลดลงถึงร้อยละ 82.6 โดยทุกจุดตรวจสอบในพื้นที่ศึกษามีค่าความถูกต้องทางดิ่งผ่านมาตรฐานเกณฑ์งานระดับทั้งหมด


การตรวจสอบวิถีของยานพาหนะจากระบบการทำแผนที่ชนิดเคลื่อนที่ด้วยการประมวลผลข้อมูลจีเอ็นเอสเอสแบบจลน์ภายหลัง, ชนะชล ไพจิตรประภาภรณ์ Jan 2021

การตรวจสอบวิถีของยานพาหนะจากระบบการทำแผนที่ชนิดเคลื่อนที่ด้วยการประมวลผลข้อมูลจีเอ็นเอสเอสแบบจลน์ภายหลัง, ชนะชล ไพจิตรประภาภรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ระบบการทำแผนที่ชนิดเคลื่อนที่อาศัยวิถียานพาหนะที่เกิดจากการประมวลผลบูรณาการข้อมูลจากเซ็นเซอร์ของ GNSS/INS/DMI ข้อมูลจากระบบสแกนเลเซอร์สามารถยึดโยงกับค่าพิกัดทางตรงกับวิถีของยานพาหนะ เพื่อใช้คำนวณค่าพิกัดของพอยท์คลาวด์ ถึงแม้ว่าการบูรณาการข้อมูลจากเซ็นเซอร์ของ GNSS/INS/DMI สามารถหาวิถียานของพาหนะแบบ Real-time ได้ก็ตาม แต่โดยทั่วไปแล้วนิยมนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลแบบจลน์ในภายหลัง งานวิจัยนี้ เป็นการตรวจสอบวิถียานพาหนะที่ได้จากการประมวลผลในภายหลังโดยใช้ข้อมูลวงโคจรของดาวเทียมนำหนที่มีความแม่นยำสูง จำนวน 4 ประเภท ได้แก่ วงโคจรแบบ Broadcast, Ultra-rapid, Rapid และ Final ข้อมูลอ้างอิงสำหรับการเปรียบเทียบผลกำหนดให้เป็นข้อมูลวิถียานพาหนะที่ได้จากการประมวลผลภายหลังที่ใช้ข้อมูลวงโคจรดาวเทียมนำหนแบบ Final การตรวจสอบความถูกต้องแบบทางอ้อมอาศัยข้อมูลวิถียานพาหนะทั้งหมดมายึดโยงค่าพิกัดทางตรงที่ได้จากระบบสแกนเลเซอร์และเปรียบเทียบค่าพิกัดของพอยท์คลาวด์กับค่าพิกัดจุดตรวจสอบ โดยพื้นที่ของการรับสัญญาณมี 2 ส่วน คือ พื้นที่ในเมืองและชานเมือง การศึกษาพบว่า ค่าพิกัดของวิถียานพาหนะที่ได้จากการประมวลผลภายหลังมีค่าคงที่ในช่วงที่ยานพาหนะหยุดนิ่ง ในขณะที่วิถียานพาหนะในเวลาจริง (Real-time) มีค่าไม่คงที่โดยเฉพาะขณะที่เกิดคลื่นหลุดซึ่งส่งผลต่อค่าต่างของค่าพิกัดวิถียานพาหนะแบบประมวลผลภายหลังในทางราบและทางดิ่งสูงถึง 3.865 เมตรและ 2.316 เมตรตามลำดับ การหยุดนิ่งภายหลังจากการเคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่ทำให้เกิดคลื่นหลุดไม่ส่งผลต่อค่าความถูกต้องของค่าพิกัดของวิถียานพาหนะแบบประมวลผลภายหลัง เนื่องจากค่าพิกัดมีค่าคงที่ในช่วงที่ยานพาหนะหยุดนิ่ง ค่าพิกัดพอยท์คลาวด์ที่ได้จากวิถียานพาหนะแบบประมวลผลภายหลังมีความถูกต้องทางตำแหน่งมากกว่าในเวลาจริง โดยมีค่า RMSE ของค่าพิกัดทางราบและทางดิ่งจากการใช้ Final orbit เท่ากับ 0.069 เมตรและ 0.123 เมตรสำหรับพื้นที่ในเมืองและ0.055 เมตรและ 0.107 เมตรสำหรับพื้นที่ชานเมือง การใช้ข้อมูลวงโคจรดาวเทียมที่แตกต่างกันไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อค่าพิกัดของวิถียานพาหนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สำรวจที่สามารถรับสัญญาณดาวเทียม GNSS ได้ดี ค่าต่างของพิกัดมีค่าน้อยกว่า 1 เซนติเมตร การตรวจสอบความถูกต้องทางตำแหน่งของวิถียานพาหนะด้วยวิธีการข้างต้นจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลสแกนเลเซอร์และค่าพิกัดจุดตรวจสอบ รวมถึงจะต้องไม่เกิดการกระโดดของค่าพิกัดวิถียานพาหนะอีกด้วย


การประเมินความถูกต้องทางตำแหน่งระหว่างข้อมูลค่าแก้จากระบบดาวเทียม Sbas และเทคนิคการหาตำแหน่งแบบสัมพัทธ์ Dgnss ในการเดินเรือ กรณีศึกษา ท่าเรือน้ำลึก จังหวัดสงขลา, ภูวิศะ กิ้มตั้น Jan 2021

การประเมินความถูกต้องทางตำแหน่งระหว่างข้อมูลค่าแก้จากระบบดาวเทียม Sbas และเทคนิคการหาตำแหน่งแบบสัมพัทธ์ Dgnss ในการเดินเรือ กรณีศึกษา ท่าเรือน้ำลึก จังหวัดสงขลา, ภูวิศะ กิ้มตั้น

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันการหาตำแหน่งด้วยระบบดาวเทียมนำหนจีเอ็นเอสเอส (GNSS) เป็นวิธีการที่นิยมนำมาใช้ในการหาตำแหน่งและการนำทางในภารกิจต่าง ๆ เช่น การคมนาคมทางบก การวางแผนการบิน และการเดินเรือ เป็นต้น ซึ่งการเดินเรือจำเป็นที่ต้องทราบค่าพิกัดที่มีความถูกต้องทางตำแหน่งสูง ในช่วงการนำเรือเข้าสู่ท่าเรือ จึงได้มีการนำระบบเสริมค่าความถูกต้องของตำแหน่งด้วยระบบดาวเทียม (SBAS) และเทคนิคการหาตำแหน่งแบบสัมพัทธ์ DGNSS มาประยุกต์ใช้ในการประมวลผลเพื่อหาเส้นทางการเดินเรือที่มีความแม่นยำและความถูกต้องทางตำแหน่งสูง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักเดินเรือ อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดที่ประเมินความถูกต้องทางตำแหน่งระหว่างเทคนิคทั้งสองในบริบทของการเดินเรือทางทะเลในบริเวณพื้นที่ประเทศไทย ดังนั้นงานวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาการประเมินความถูกต้องทางตำแหน่งระหว่างข้อมูลค่าแก้จากระบบดาวเทียม SBAS และเทคนิคการหาตำแหน่ง DGNSS ซึ่งใช้ข้อมูลการรังวัดด้วยระบบ GNSS จำนวน 6,665 ตำแหน่ง บริเวณท่าเรือน้ำลึก จังหวัดสงขลา โดยตำแหน่งอ้างอิงค่าพิกัดได้มาจากวิธีการรังวัดแบบจลน์แล้วประมวลผลภายหลัง (PPK) ผลจากการศึกษาพบว่า เทคนิคการหาตำแหน่งแบบสัมพัทธ์ DGNSS มีค่า RMSE ทางราบ 0.59 เมตร ทางดิ่ง 1.17 เมตร สำหรับข้อมูลรังวัดจากระบบดาวเทียม SBAS มีค่า RMSE ทางราบ 0.90 เมตร ทางดิ่ง 5.10 เมตร ดังนั้นในการนำร่องการเดินเรือในพื้นที่ฝั่งทะเลอ่าวไทย เทคนิคการหาตำแหน่งแบบสัมพัทธ์ DGNSS มีความถูกต้องเชิงตำแหน่งมากกว่าการหาตำแหน่งโดยระบบดาวเทียม SBAS ซึ่งการเดินเรือด้วยระบบดาวเทียมนำหน GNSS เพียงอย่างเดียว และการใช้ข้อมูลค่าแก้จากระบบดาวเทียม SBAS ให้ค่าความถูกต้องทางตำแหน่งที่เพียงพอต่อการเดินเรือในน่านน้ำจำกัด เดินเรือชายฝั่ง และน่านน้ำเปิด แต่ไม่เหมาะสมต่อการเดินเรือบริเวณท่าเรือ หรือน่านน้ำที่มีการจราจรทางน้ำหนาแน่นที่ต้องการความถูกต้องทางตำแหน่งน้อยกว่า 1 เมตร


การพัฒนาการแสดงผลความไม่แน่นอนเชิงพื้นที่ของความยาวแถวคอยจราจร, วิทวัส บรรณสาร Jan 2021

การพัฒนาการแสดงผลความไม่แน่นอนเชิงพื้นที่ของความยาวแถวคอยจราจร, วิทวัส บรรณสาร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ความยาวแถวคอยจราจรเป็นค่าวัดที่สำคัญค่าหนึ่งในการวัดประสิทธิภาพสัญญาณไฟจราจรและการปรับสัญญาณไฟจราจร เนื่องจากความยาวแถวคอยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาขึ้นอยู่กับการควบคุมสัญญาณไฟจราจรและจำนวนของรถบนถนน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนของแถวคอยนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการนำไปจัดการและวางแผนเพื่อเพิ่มคุณภาพของสัญญาณไฟจราจร อย่างไรก็ตามการแสดงผลความไม่แน่นอนของความยาวแถวคอยในเชิงพื้นที่เวลาให้เข้าใจได้ง่ายยังพบได้น้อย ในงานวิจัยนี้การแสดงผลความไม่แน่นอนได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยการประยุกต์ใช้กราฟรูปแบบกล่องแสดงข้อมูลแถวคอยที่ได้มาจากข้อมูลจีพีเอสของแท็กซี่ และนำมาพัฒนาบนระบบแผนที่ออนไลน์ งานวิจัยนี้ยังได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของระบบที่พัฒนาขึ้น โดยผลลัพธ์จากผู้เข้าร่วมทดสอบ 4 ใน 5 คนพบว่ามีความพึงพอใจต่อระบบและเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของระบบ นอกจากนี้เข้าใจว่าองค์ประกอบของกราฟรูปแบบกล่องบอกความไม่แน่นอนอย่างไรรวมถึงยังสามารถบอกถึงลักษณะความสัมพันธ์ของความยาวแถวคอยระหว่างทางแยกที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมทดสอบยังสามารถเปรียบเทียบความไม่แน่นอนของแต่ละแยกได้ รวมไปถึงสามารถเห็นความแตกต่างของความยาวแถวคอยระหว่างช่วงวันและเวลาที่แตกต่างกันได้ อย่างไรก็ดี ระบบยังไม่เหมาะกับผู้ใช้งานที่ไม่มีความรู้ด้านสถิติ


การประเมินประสิทธิภาพของเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม Gnss ราคาถูกโดยใช้ค่าแก้ Madoca ด้วยการรังวัดตำแหน่งแบบจุดเดี่ยวความละเอียดสูงในประเทศไทย, ศุภณัฐ ศรีจันทร์ Jan 2021

การประเมินประสิทธิภาพของเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม Gnss ราคาถูกโดยใช้ค่าแก้ Madoca ด้วยการรังวัดตำแหน่งแบบจุดเดี่ยวความละเอียดสูงในประเทศไทย, ศุภณัฐ ศรีจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันระบบดาวเทียมนำหน GNSS ได้ประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการงานหลายๆด้าน เช่น การสำรวจ การทำแผนที่ การนำทาง และงานด้านอื่นๆ เพราะฉะนั้น ค่าความถูกต้องและความแม่นยำทางตำแหน่งจาก GNSS ยังไม่เพียงพอสำหรับงานบางประเภท ระบบค่าแก้จาก MADOCA (Multi-GNSS Advanced Demonstration tool for Orbit and Clock Analysis) จากระบบดาวเทียม Quasi-Zenith (QZSS) มีวัตถุประสงค์ตอบสนองความต้องการที่จะให้บริการการระบุตำแหน่งแบบเรียลไทม์ (PPP-Realtime) ในประเทศไทยจะสามารถใช้งานดาวเทียม QZSS ในช่วงมุม 15 – 60 องศา ทำให้สามารถรับสัญญาณค่าแก้จากระบบดาวเทียม QZSS ได้โดยตรง การศึกษานี้มุ่งเน้นเรื่องการวิเคราะห์ความถูกต้องทางตำแหน่งที่ได้จากการประมวลผลการรังวัดแบบจุดเดี่ยวด้วยข้อมูล GNSS ร่วมกับข้อมูลค่าแก้ที่ได้จากระบบ MADOCA ที่ได้รับในพื้นประเทศไทยโดยใช้เครื่องรับสัญญาณดาวเทียมราคาประหยัด เพื่อแสดงถึงประสิทธิภาพและความถูกต้องเชิงตำแหน่งของระบบค่าแก้ MADOCA สำหรับการให้บริการเชิงตำแหน่งแบบ Real-time ของค่าแก้นี้ จะทำให้เน้นไปที่การประมวลผลในรูปแบบการหาตำแหน่งของจุดเดี่ยวแบบความละเอียดสูงแบบสถิต และการประมวลผลหาตำแหน่งแบบจุดเดี่ยวความละเอียดสูงแบบจลน์ โดยใช้ข้อมูลจากสถานีรังวัดสัญญาณดาวเทียมแบบต่อเนื่อง (GNSS CORS) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ติดตั้งบนรถยนต์ จากผลการทดสอบข้างต้นแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของการใช้เครื่องรับสัญญาณราคาถูกร่วมกับค่าแก้จากระบบ MADOCA สำหรับการทดสอบแบบสถิตให้ค่าความถูกต้อง ทางราบและทางดิ่ง 0.09 และ 0.13 เมตรตามลำดับ และสำหรับการทดสอบบนรถยนต์ที่มีการเคลื่อนที่ ให้ความถูกต้างทางราบและทางดิ่ง 1.24 และ 2.22 เมตรตามลำดับ


การจำแนกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนเขตร้อน โดยใช้ข้อมูลพริสม่าไฮเปอร์สเปกตรัล กรณีศึกษาบริเวณแหลมตะลุมพุก ประเทศไทย, ศุภนิดา เมืองกเสม Jan 2021

การจำแนกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนเขตร้อน โดยใช้ข้อมูลพริสม่าไฮเปอร์สเปกตรัล กรณีศึกษาบริเวณแหลมตะลุมพุก ประเทศไทย, ศุภนิดา เมืองกเสม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ป่าชายเลนที่ใกล้สูญพันธุ์ภายใต้บัญชีแดงระบบนิเวศขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List of Ecosystems) เป็นหนึ่งในปัญหาร้ายแรงที่สุดของระบบนิเวศชายฝั่งของโลก ความกังวลนี้จำเป็นต้องมีการติดตามระบบนิเวศป่าชายเลนและความหลากหลายทางสายพันธุ์ ภาพถ่ายดาวเทียมระบบไฮเปอร์สเปกตรัลที่มีความยาวคลื่นหลายร้อยช่วงคลื่นสามารถนำมาใช้จำแนกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนได้ ดาวเทียม PRISMA ถูกพัฒนาและส่งขึ้นโคจรซึ่งเป็นดาวเทียมสังเกตการณ์โลกดวงใหม่ภายใต้โครงการสาธิตเทคโนโลยีขององค์กรอวกาศอิตาลี (Italian Space Agency) ที่ปัจจุบันยังไม่มีการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าวมาใช้จำแนกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนในพื้นที่แหลมตะลุมพุกมาก่อน งานวิจัยนี้จึงเป็นการทดสอบประสิทธิภาพข้อมูล PRISMA ไฮเปอร์สเปกตรัลเพื่อจำแนกป่าชายเลนบริเวณแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นครั้งแรก ในการจำแนกใช้การคัดเลือกช่วงคลื่นด้วย genetic algorithm (GA) และ sequential maximum angle convex cone (SMACC) ร่วมกับตัวจำแนกแบบ spectral angle mapper (SAM) เพื่อเลือกความถูกต้องมากที่สุด ทั้งนี้ผลการจำแนกจากการคัดเลือกช่วงคลื่นทั้งสองแบบและการใช้แถบสเปกตรัมทั้งหมดของ PRISMA จะถูกนำมาเปรียบเทียบโดยใช้ค่าความถูกต้องโดยรวม (Overall accuracy) และใช้ค่าสถิติการทดสอบ dependent sample t-test ผลการศึกษาพบว่าการคัดเลือกช่วงคลื่นด้วย GA สามารถปรับปรุงค่าความถูกต้องในการจำแนกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80.72 เป็นร้อยละ 81.93 เมื่อเทียบกับการใช้แถบสเปกตรัมทั้งหมด ผลลัพธ์นี้จึงพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของการประยุกต์ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม PRISMA ในการจำแนกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนได้อย่างชัดเจน


การใช้ของเสียกระจกแผงพลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนการใช้ปูนซีเมนต์บางส่วนในการผลิตมอร์ตาร์, ครองขวัญ ข่วงบุญ Jan 2021

การใช้ของเสียกระจกแผงพลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนการใช้ปูนซีเมนต์บางส่วนในการผลิตมอร์ตาร์, ครองขวัญ ข่วงบุญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากปริมาณของเสียแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 20-30 ปีจากการติดตั้งในช่วงพ.ศ. 2545-2558 อาจจะเป็นน้ำหนักได้ถึง 235,954 ตัน โดยส่วนใหญ่ประเทศไทยนิยมใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิกอน ซึ่งแผงประเภทนี้มีปริมาณกระจกมากถึงร้อยละ 70-80 โดยน้ำหนักขององค์ประกอบแผง การจัดการของเสียแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยในขณะนี้มีการกำจัดด้วยการนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการจัดการที่ไม่ยั่งยืนเพราะเป็นการสูญเสียทรัพยากรอย่างไร้ประโยชน์ ในงานวิจัยนี้มุ่งเน้นในการนำกระจกแผงพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิกอนนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยทำการศึกษาผลกระทบต่อสมบัติต่างๆของมอร์ตาร์ที่มีการแทนที่บางส่วนของปูนซีเมนต์ด้วยกระจกแผงพลังงานแสงอาทิตย์บดละเอียดขนาด d50 ที่ 4.97 ไมโครเมตร ที่ร้อยละ 0, 10, 20 และ 30 โดยน้ำหนัก จากผลการศึกษาพบว่าเมื่อเพิ่มปริมาณผงกระจกจะทำให้ ค่าการขยายตัวของซีเมนต์เพสต์มีค่าเพิ่มขึ้น ค่าการก่อตัวระยะต้นและระยะปลายของซีเมนต์เพสต์สั้นลง ค่าการไหลแผ่ของมอร์ตาร์มีค่าลดลง การซึมผ่านของคลอไรด์ในมอร์ตาร์ลดลง สำหรับกำลังรับแรงอัดมอร์ตาร์ช่วงอายุต้น พบว่ามอร์ตาร์ที่มีปูนซีเมนต์ที่มีการแทนที่ด้วยผงกระจกร้อยละ 0 ให้กำลังรับแรงอัดสูงที่สุด แต่ที่อายุ 90 วัน มอร์ตาร์ที่มีการแทนที่ปูนซีเมนต์ด้วยผงกระจกร้อยละ 10 ให้กำลังรับแรงอัดที่สูงที่สุด เนื่องจากการเกิดปฏิกิริยาปอซโซลานิกใช้เวลานานกว่าจะเกิดปฏิกิริยา


การเพิ่มอัตราคุณภาพสินค้าดีของกระบวนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ชนิดสั้น, เกวลี วรนันท์ Jan 2021

การเพิ่มอัตราคุณภาพสินค้าดีของกระบวนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ชนิดสั้น, เกวลี วรนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อปรับปรุงอัตราคุณภาพของเส้นใยสังเคราะห์ชนิดสั้น โดยมุ่งเน้นในการลดปริมาณสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ รวมทั้งของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ซึ่งเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึง ตุลาคม 2563 และแสดงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตด้วยกราฟพาเรโต แล้วทำการระดมความคิดเพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลต่ออัตราคุณภาพด้วยแผนผังเหตุ และผล จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อบกพร่องและผลกระทบปัญหาด้านคุณภาพเพื่อทำการประเมินความรุนแรงของการเกิดข้อบกพร่อง โอกาสในการเกิดข้อบกพร่อง และความสามารถในการตรวจจับข้อบกพร่อง เพื่อคำนวณหาค่าดัชนีความเสี่ยง โดยจะทำการเลือกปัญหาที่มีค่าดัชนีความเสี่ยงมากที่สุดได้แก่ 1) ลมเย็นออกไม่สม่ำเสมอ 2) การเคลื่อนที่ของถังใส่เส้นใยและลูกกลิ้งไม่สัมพันธ์กัน หลังจากทำการปรับปรุงปัญหาที่ส่งผลต่ออัตราคุณภาพ พบว่าอัตราคุณภาพสินค้าดีมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 92.97 เป็นร้อยละ 95.79 และอัตราคุณภาพสินค้าไม่ได้คุณภาพ และของเสียมีปริมาณลดลงจากเดิมร้อยละ 7.03 เป็นร้อยละ 4.21 ซึ่งคิดเป็นเงินจะมีกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 130,892.63 บาท เมื่อทำการผลิตที่ 93 ตันต่อวัน หลังจากนั้นทางบริษัทกรณีศึกษาจึงทำการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็น 96 ตันต่อวัน


การลดของเสียในกระบวนการบรรจุนมพาสเจอร์ไรซ์ชนิดถุง, เกษธนา ลือกิจนา Jan 2021

การลดของเสียในกระบวนการบรรจุนมพาสเจอร์ไรซ์ชนิดถุง, เกษธนา ลือกิจนา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการบรรจุนมพาสเจอร์ไรซ์โดยการลดสัดส่วนของเสียจากข้อบกพร่องประเภทซีลไม่ติดและปริมาตรไม่ถึงที่กำหนด ในการดำเนินงานได้ใช้หลักการซิกซ์ ซิกมาในการปรับปรุงกระบวนการเริ่มจากการศึกษาสภาพปัญหา จากนั้นทำการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาด้วยแผนผังก้างปลาและใช้การออกแบบการทดลองแบบพื้นผิวตอบสนองแบบบ็อกซ์-เบห์นเคน การออกแบบพื้นผิวผลตอบสนองแบบส่วนประสมกลางแบบ CCF และการวิเคราะห์การถดถอยในการหาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนความสมบูรณ์ในการซีล ปริมาตรในการบรรจุและปัจจัยที่มีนัยสำคัญ ผู้วิจัยได้ศึกษาปัจจัยที่อาจทำให้เกิดข้อบกพร่องประเภทซีลไม่ติดพบว่า ปัจจัยที่มีนัยสำคัญได้แก่ ระดับความร้อนในการซีลแนวนอนและระดับเวลาในการซีล ซึ่งควรปรับตั้งที่ระดับ 5 และระดับ 4 ตามลำดับ และได้ศึกษาปัจจัยที่อาจทำให้เกิดข้อบกพร่องประเภทปริมาตรไม่ถึงที่กำหนด พบว่าปัจจัยที่มีนัยสำคัญได้แก่ เวลาในการบรรจุและองศาหัวจ่ายน้ำนม ซึ่งควรปรับตั้งที่ระดับ 39และ 126 องศาตามลำดับ โดยสามารถลดสัดส่วนของเสียจากข้อบกพร่องประเภทซีลไม่ติดลงจากร้อยละ 0.9 ของปริมาณการผลิตเหลือร้อยละ 0 และสัดส่วนของเสียจากข้อบกพร่องประเภทปริมาตรไม่ถึงที่กาหนดลดลงจากร้อยละ 0.63 ของปริมาณการผลิตเหลือร้อยละ 0.04


การพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญในการพยากรณ์สถานะปั๊มแบบมอเตอร์ปิดผนึก, คมกริช เถื่อนสุวรรณ Jan 2021

การพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญในการพยากรณ์สถานะปั๊มแบบมอเตอร์ปิดผนึก, คมกริช เถื่อนสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้นำเสนอการพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญในการทำนายสถานะปั๊มแบบมอเตอร์ปิดผนึกของโรงงานกรณีศึกษาโดยประยุกต์ใช้หลักการทำนายเชิงสถิติและอัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่องร่วมกับความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ โรงงานกรณีศึกษาคือโรงงานในธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งใช้ปั๊มแบบมอเตอร์ปิดผนึก ในการส่งถ่ายของเหลวในกระบวนการผลิตภายในพื้นที่โรงงาน ซึ่งปัจจุบันการบำรุงรักษาปั๊มแบบมอเตอร์ปิดผนึกของโรงงานนั้น ได้ปรับปรุงกลยุทธ์จากการบำรุงรักษาตามสภาพเป็นการบำรุงรักษาเชิงทำนาย โดยการจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำนายนั้นอยู่ในระดับที่ต้องการได้จะต้องใช้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญปั๊มแบบมอเตอร์ปิดผนึกในการค้นหาสัญญาณความผิดปกติลักษณะต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยระบบผู้เชี่ยวชาญนี้มีส่วนช่วยในการลดภาระของผู้เชี่ยวชาญโดยการทดแทนด้วยระบบ งานวิจัยนี้ประกอบไปด้วยการระบุกรอบของงานวิจัยและระบบ ขั้นตอนการทดลองและทดสอบระบบ รวมถึงการเตรียมชุดข้อมูลและการทดสอบแบบจำลองที่ใช้ ซึ่งผลการทำวิจัยพบว่าแแบบจำลองการพยากรณ์ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบบูรณาการอัตโนมัติ (Autoregressive integrated average model, ARIMA) สำหรับการพยากรณ์ และอัลกอริทึมแรนดอมฟอเรส (Random Forest, RF) สำหรับการระบุสถานะปัจจุบัน นั้นมีความเหมาะสมสำหรับระบบนี้ อันเนื่องมาจากผลของการประเมินประสิทธิภาพเชิงเปรียบเทียบระหว่างแบบจำลองที่ถูกเลือกมาประเมิน ยิ่งไปกว่านั้นระบบผู้ที่เชี่ยวชาญที่สร้างขึ้นจะเป็นต้นแบบในการนำไปใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ ในโรงงานในกรณีศึกษานี้ต่อไป


การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารโครงการก่อสร้างสถานีก๊าซธรรมชาติเหลว, ชานน จุละจาริตต์ Jan 2021

การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารโครงการก่อสร้างสถานีก๊าซธรรมชาติเหลว, ชานน จุละจาริตต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการบริหารโครงการก่อสร้างสถานีก๊าซธรรมชาติเหลวให้สามารถส่งมอบได้ทันตามแผนงานที่กำหนดด้วยการประยุกต์ใช้เครื่องมือและเทคนิคที่เหมาะสมจากองค์ความรู้ทั้งหมด 5 ด้านของแนวทางการบริหารโครงการด้วย PMBOK ในการปรับปรุงกระบวนการบริหารโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ นอกจากนี้ยังประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารโครงการ ได้แก่ ซอฟต์แวร์การบริหารโครงการ ซึ่งประกอบไปด้วย โปรแกรม Microsoft Project, โปรแกรม Trello และโปรแกรม Sitearound และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ระบบโทรทัศน์วงจรปิด และระบบบลูทูธ บีคอน เพื่อใช้สำหรับการติดตามและควบคุมโครงการระยะไกลแบบเรียลไทม์ จากผลการศึกษาพบว่าการบริหารโครงการตามแนวทางที่ได้นำเสนอมานั้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโครงการก่อสร้างสถานีก๊าซธรรมชาติเหลวได้ โดยพบว่าจำนวนกิจกรรมของโครงการที่แล้วเสร็จทันตามแผนงานที่กำหนดในปี พ.ศ. 2564 นั้นมีทั้งหมด 72 กิจกรรม จากทั้งหมด 76 กิจกรรม หรือคิดเป็น 95% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ก่อนหน้านี้ที่มีจำนวนกิจกรรมของโครงการที่แล้วเสร็จทันตามแผนงานที่กำหนดทั้งหมด 123 กิจกรรม จากทั้งหมด 152 กิจกรรม หรือคิดเป็น 77% นอกจากนี้การลงทุนเพื่อติดตั้ง IoT ในโครงการก่อสร้างนั้นพบว่ามีความคุ้มค่าทางการเงินในการลงทุนเนื่องจากสามารถลดค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางของพนักงานบริษัทกรณีศึกษา และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากบริษัทกรณีศึกษาไปยังไซต์งานก่อสร้างด้วยรถยนต์ลงได้


การออกแบบระบบการสอนแบบเกมมิฟิเคชั่นจากแบบจำลองความคิดของผู้ใช้งานกรณีศึกษา ยูนิเวอร์ซัล โรบอท ตระกูล ซีบี, ญาดา ศรีวิบูลย์ Jan 2021

การออกแบบระบบการสอนแบบเกมมิฟิเคชั่นจากแบบจำลองความคิดของผู้ใช้งานกรณีศึกษา ยูนิเวอร์ซัล โรบอท ตระกูล ซีบี, ญาดา ศรีวิบูลย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นให้ระบบการผลิต หุ่นยนต์ร่วมปฎิบัติงานหรือโคบอทจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาความสามารถในการใช้งานส่วนเชื่อมต่อผู้ใช้ของโคบอท ได้แก่ ยูนิเวอร์ซัล โรบอท พบว่าความสามารถในการใช้งานยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ แม้จะมีระบบการฝึกอบรมแต่ผลการศึกษาปัญหาเบื้องต้นพบว่ามีผู้เข้าร่วมการทดสอบสามารถทำงานทดสอบขั้นพื้นฐานได้สำเร็จเพียง 10% หลังได้รับการฝึกอบรม ดังนั้นเกมมิฟิเคชั่นจึงถูกเลือกเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปรับปรุงระบบการสอน ยิ่งไปกว่านั้นได้มีการนำแบบจำลองความคิดของผู้ใช้งานเข้ามาทำการปรับปรุงคุณภาพของระบบการฝึกอบรมอีกด้วย ดังนั้นวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือออกแบบระบบการสอนแบบเกมมิฟิเคชั่นจากแบบจำลองความคิดของผู้ใช้งาน วิธีการทดลองแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่การออกแบบระบบการสอนได้แก่ระบบการสอนแบบเกมมิฟิเคชั่นและระบบการสอนแบบเกมมิฟิเคชั่นจากแบบจำลองความคิดของผู้ใช้งาน จากนั้นทำการทดสอบความสามารถในการใช้งานโดยงานหยิบและวางแบบพื้นฐาน จากผลการทดลองพบว่าระบบการสอนแบบเกมมิฟิเคชั่นจากแบบจำลองความคิดของผู้ใช้งานสามารถเพิ่มอัตราความสำเร็จได้ 59% และลดระยะเวลาเฉลี่ยในการทำงานทดสอบลง 23% เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการสอนที่ใช้ในปัจจุบัน นอกจากนั้นการนำเกมมิฟิเคชั่นมาใช้ในการออกแบบระบบการสอนสามารถเพิ่มแนวโน้มการยอมรับเทคโนโลยีและความมีส่วนร่วมของผู้เรียนได้


การลดปัญหาแกนปูดของเทปพีวีซีโดยใช้แนวทางซิกซ์ ซิกมา, ฐานิดา กาเตชะ Jan 2021

การลดปัญหาแกนปูดของเทปพีวีซีโดยใช้แนวทางซิกซ์ ซิกมา, ฐานิดา กาเตชะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเทปพีวีซีสำหรับลดสัดส่วนของเสียประเภทแกนเทปปูดที่มีความสูงเกินค่ามาตรฐานควบคุมที่ 2 มิลลิเมตร โดยนำหลักการและแนวคิดของซิกซ์ ซิกมามาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงกระบวนการภายใต้ 5 ขั้นตอน (DMAIC) เริ่มจากขั้นตอนการนิยามปัญหา โดยทำการศึกษากระบวนการผลิตเพื่อระบุหัวข้อปัญหา กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ถัดมาเป็นระยะการวัดเพื่อหาสาเหตุของปัญหา ในการวิเคราะห์ระบบการวัดเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความถูกต้องแม่นยำในระบบการวัดนี้ รวมถึงมีการระดมสมองจากทีมงานผู้ที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาด้วยแผนภาพแสดงสาเหตุและผล และใช้ FMEA ในการจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาแกนเทปปูด จากนั้นคัดเลือกปัจจัยมาดำเนินการในขั้นตอนการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา โดยทำการออกแบบการทดลองแบบ Face-Center Composite Design (CCF) เพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยนำเข้าที่ส่งผลต่อการปูดของแกนเทปอย่างมีนัยสำคัญ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการปรัปบปรุงโดยจะนำปัจจัยที่ได้ มาปรับหาค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสม แล้วนำมาทำการทดสอบเพื่อยืนยันผลในขั้นตอนการควบคุม ทำการกำหนดและติดตามแผนการควบคุมปัจจัยให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป โดยผลหลังจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตเทป จะได้ว่ามีสี่ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการปูดของแกนเทป ได้แก่ 1.การปรับความหนาของกาวที่ 20 um และ 2.การปรับแรงดัน Nip-pressure ที่ 1 บาร์ นอกจากนี้ในกระบวนการวิเคราะห์ ยังสามารถระบุปัจจัยที่สามารถยับยั้งการปูดของแกนเทปได้โดยการ 3.ปรับอุณหภูมิและ 4.เวลาในขั้นตอนการอบ log roll ที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ภายหลังจากการตั้งค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมของปัจจัยต่างๆ พบว่าความสูงของแกนเทปปูดเฉลี่ยถูกลดระดับลงและอยู่ในค่ามาตรฐานการส่งมอบให้ลูกค้า สามารถลดสัดส่วนของเสียของการเกิดแกนเทปปูดลงได้ จาก 40% เป็น 0% ของของเสียในปัจจุบัน ซึ่งให้ผลลัพธ์มากกว่าผลผลิตที่คาดหวัง นอกจากนี้ความสามารถของกระบวนการยังได้รับการปรับปรุงจาก Cp ที่ 1.15 เป็น 2.14 และ Cpk ที่ 0.14 เป็น 1.35 ซึ่งผ่านเกณฑ์การยอมรับที่ 1.33 ของโรงงาน


การจัดการสินค้าคงคลังบรรจุภัณฑ์วงจรรวมสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการหลากหลาย​, ธัญญาทิพย์ จันทร์ผ่อง Jan 2021

การจัดการสินค้าคงคลังบรรจุภัณฑ์วงจรรวมสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการหลากหลาย​, ธัญญาทิพย์ จันทร์ผ่อง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้นำเสนอนโยบายการจัดการวัสดุคงคลังเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของวัสดุคงคลังกลุ่มบรรจุภัณฑ์ 44 รายการของโรงงานเซมิคอนดักเตอร์แห่งหนึ่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายรวมด้านวัสดุคงคลัง และยังคงสามารถรักษาระดับการบริการไว้ที่ 95% ตามเป้าหมาย งานวิจัยนี้ เริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (เช่น ข้อมูลสินค้าคงคลัง เงื่อนไขการสั่งซื้อ และข้อจำกัด) จากนั้น จึงจำแนกกลุ่มวัสดุคงคลังตามระดับความสำคัญด้วยเทคนิค AHP ซึ่งแบ่งกลุ่มจากปัจจัย ดังนี้ 1. มูลค่าการใช้งาน 2. ระยะเวลานำ 3. ความถี่การใช้งาน ถัดมาจึงเป็นการแบ่งรูปแบบความต้องการโดยใช้ ADI และ CV2 พบว่าแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ 1. Smooth Demand 2. Erratic Demand 3. Lumpy Demand จากนั้นจึงนำมากำหนดนโยบายวัสดุคงคลัง ดังนี้ 1. วัสดุคงคลังกลุ่ม Smooth DemandและErratic Demandที่มีการตรวจสอบวัสดุคงคลังอย่างต่อเนื่องใช้นโยบาย (s, S) 2. วัสดุคงคลังกลุ่ม Smooth Demand และErratic Demandที่มีรอบการตรวจสอบเป็นระยะใช้นโยบายOUL และ (R, s, S) ตามลำดับ โดยการกำหนดรอบการสั่งแบบคงที่ 3. วัสดุคงคลังกลุ่ม Lumpy Demandใช้นโยบาย Base-Stock จากนั้นจึงทำการทดสอบนโยบายด้วยแบบจำลองสถานการณ์ ผลการทดสอบ พบว่า ปี2019 ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 59.86% และระดับการให้บริการอยู่ที่ 99.42% และปี 2020 ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 57.80% และระดับการให้บริการอยู่ที่ 99.35% สุดท้าย จึงทำการตรวจสอบความคงทนของนโยบายที่นำเสนอด้วยการวิเคราะห์ความไวต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ยความต้องการ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 15% เมื่อความต้องการลดลง 50% ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของโรงงานกรณีศึกษา


การวิเคราะห์พารามิเตอร์ของเครื่องบดหินผสมในการผลิตปูนมอร์ต้า, ปรัชญ์พล พวงศิริ Jan 2021

การวิเคราะห์พารามิเตอร์ของเครื่องบดหินผสมในการผลิตปูนมอร์ต้า, ปรัชญ์พล พวงศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปูนซีเมนต์มอร์ต้าได้รับการพัฒนาเพื่อใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมก่อสร้าง วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตปูนคือทราย กระบวนการบดเป็นกระบวนการหนึ่งของการผลิตเพื่อลดขนาดของหินปูนเป็นทรายให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ (ขนาด 0.1-0.6 มม.) ส่วนที่เหลือจะเป็นผงละเอียดที่มีขนาดเล็กกว่า 0.1 มม. อาจเป็นมลภาวะทางอากาศ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดเก็บและกำจัดต่อไป การศึกษานี้จึงได้ทำการทดลองหาค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมที่สุดของเครื่องบดแบบลูกกลิ้งแนวตั้งเพื่อปรับปรุงการบดให้สามารถเพิ่มสัดส่วนของทรายที่ได้ขนาดและลดปริมาณผงหรือฝุ่นละเอียดลง จากผลการทดลองได้ค่าที่เหมาะสมของพารามิเตอร์สำหรับการปรับตั้งเครื่องบดแบบลูกกลิ้งแนวตั้งดังนี้ อัตราป้อนวัตถุดิบ 130 ตัน/ชั่วโมง แรงอัดบด 103 บาร์ ความเร็วในการหมุนของโต๊ะ 9.5 รอบต่อนาที และอัตราการดูดผงละเอียด 37,838 ลบ.ม./ชั่วโมง ทำให้สัดส่วนของทรายเพิ่มจาก 62.91% เป็น 77.34% คิดเป็นผลผลิตเพิ่มขึ้น 14% ในขณะที่สัดส่วนของผงละเอียดลดลงจาก 37% เป็น 14.80%


การประยุกต์ใช้ฮิวริสติกส์แบบ 2 ขั้น สำหรับการจัดตารางการผลิตในกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงบนแผ่นวงจร, พัฒนโชค อินทะโส Jan 2021

การประยุกต์ใช้ฮิวริสติกส์แบบ 2 ขั้น สำหรับการจัดตารางการผลิตในกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงบนแผ่นวงจร, พัฒนโชค อินทะโส

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การจัดตารางการผลิตในกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงบนแผ่นวงจร (Surface Mount Technology, SMT) เป็นกระบวนการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต เช่น เครื่องจักร วัตถุดิบ ผู้ปฏิบัติงาน รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ในการผลิต อย่างไรก็ดี การจัดตารางการผลิตในกระบวนการดังกล่าวกลับมีความซับซ้อน อันเนื่องมาจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทั้งในมุมของจำนวนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประเภทของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงประเภทของเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตที่แตกต่างกันออกไป หากตารางการผลิตไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลทำให้ไม่สามารถส่งงานไปยังกระบวนการถัดไปได้ทันเวลา สูญเสียเวลาในการผลิตมากเกินความจำเป็น อีกทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์อีกด้วย งานวิจัยนี้จึงได้ทำการพัฒนาฮิวริสติกส์แบบ 2 ขั้น เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาการจัดตารางการผลิตในกระบวนการดังกล่าว โดยในขั้นตอนการหาผลเฉลยเบื้องต้น ได้ประยุกต์ใช้กฎการส่งมอบงานที่เร็วที่สุด (Earliest Due Date, EDD) แล้วจึงทำการปรับปรุงผลเฉลยที่ได้ด้วยการบูรณาการระหว่างการปรับปรุงผลเฉลยเฉพาะถิ่น และอัลกอริทึมในการย้ายขอบเขตการค้นหา (Escape Mechanism) เพื่อค้นหาผลเฉลยที่ดีขึ้น จากนั้นทำการทดสอบฮิวริสติกส์ที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยได้ทำการเปรียบเทียบคุณภาพของคำตอบที่ได้ กับตารางการผลิตในอดีตของบริษัทกรณีศึกษาแห่งหนึ่ง พบว่าวิธีการดังกล่าวสามารถลดระยะเวลาในการปิดงาน (Makespan) ลดระยะเวลาเตรียมงาน (Setup Time) และลดต้นทุนค่าล่วงเวลาลงร้อยละ 16, 27, 32 ตามลำดับ


การปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการพัสดุบรรจุและนโยบายการเติมเต็มสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุสำหรับโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ภมร สถิรมนวงศ์ Jan 2021

การปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการพัสดุบรรจุและนโยบายการเติมเต็มสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุสำหรับโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ภมร สถิรมนวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการสินค้าสำเร็จรูป และการพัฒนาระบบเติมเต็มสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุของโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการวางแผนการผลิตที่คลาดเคลื่อน และการจัดเก็บพัสดุบรรจุที่สูงเกินจริง ทั้งนี้ผู้วิจัยพบว่า มูลค่าพัสดุคงคลังเฉลี่ยต่อเดือนของบริษัทกรณีศึกษามีค่าสูงถึงกว่า 92.3 ล้านบาท แต่อัตราการหมุนเวียนของพัสดุบรรจุเฉลี่ยมีค่าค่อนข้างต่ำที่ 3.05 รอบต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้บริษัทกรณีศึกษา ยังไม่มีนโยบายการควบคุมปริมาณสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุอย่างเป็นระบบ ผู้วิจัยจึงได้นำเสนอการปรับปรุงและพัฒนา โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ การพยากรณ์ความต้องการสินค้าที่มีความแม่นยำ และการควบคุมระดับสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุให้มีความสอดคล้องกับพัสดุบรรจุแต่ละประเภท สำหรับการปรับปรุงวิธีการพยากรณ์สินค้าสำเร็จรูป ผู้วิจัยเริ่มจากการจำแนกผลิตภัณฑ์ออกเป็นกลุ่มตามลำดับความสำคัญแบบ ABC (ABC Pareto analysis) จากนั้นจึงเลือกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่สำคัญ (B285) ไปศึกษาต่อ ผ่านวิธีการพยากรณ์ และตัวชี้วัดความแม่นยำของการพยากรณ์แบบต่างๆ ผู้วิจัยพบว่าวิธีการพยากรณ์แบบดั้งเดิมมีความแม่นยำสูงที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์ B285700 และ B2851000 ในขณะที่วิธี Autoregressive integrated moving average หรือ ARIMA นั้นมีความแม่นยำสูงที่สุด และมีค่าสูงกว่าการพยากรณ์แบบดั้งเดิม สำหรับผลิตภัณฑ์ B285345 ในส่วนของการพัฒนาระบบเติมเต็มสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุ ผู้วิจัยเริ่มจากการจำแนกพัสดุบรรจุออกเป็นกลุ่มตามลำดับความสำคัญแบบ ABC จากนั้นจึงเสนอให้เลือกใช้นโยบายทบทวนการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง (Continuous review policy) สำหรับพัสดุบรรจุที่สำคัญ (กลุ่ม A) และนโยบายทบทวนการสั่งซื้อตามช่วงเวลา (Periodic review policy) สำหรับพัสดุบรรจุที่สำคัญรองลงมา (กลุ่ม B และ C) ด้วยรอบระยะเวลาการทบทวนที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยพบว่า การประยุกต์ใช้ระบบเติมเต็มพัสดุคงคลังที่นำเสนอสามารถลดมูลค่าการจัดเก็บพัสดุบรรจุคงคลังเฉลี่ยของกลุ่มผลิตภัณฑ์ B285 ในช่วงเวลาที่ทำการจำลองสถานการณ์ (เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2564) ลงได้ 6.61 ล้านบาท หรือ 16.54% ตลอดจนสามารถเพิ่มอัตราการหมุนเวียนพัสดุคงคลังขึ้น จากเดิม 3.40 เป็น 4.07 หรือเพิ่มขึ้น 0.67 หน่วย


การปรับปรุงตำแหน่งการวางอาหารสดและกระบวนการขาออกสำหรับคลังสินค้าของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, ภัทราพร จิระภัทรศิลป Jan 2021

การปรับปรุงตำแหน่งการวางอาหารสดและกระบวนการขาออกสำหรับคลังสินค้าของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, ภัทราพร จิระภัทรศิลป

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารการจัดวางสินค้าภายในคลังสินค้าอาหารสด (Fresh Food) ของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จากการศึกษาบริษัทกรณีศึกษาก่อนการปรับปรุงพบว่า ตำแหน่งการวางสินค้ายังไม่เป็นระเบียบและไม่เหมาะสม โดยมีค่าเฉลี่ยของระยะทางสูงสุดในการหยิบสินค้าของแต่ละคำสั่งซื้อ เท่ากับ 7.45 เมตร จากการวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2564 ถึง เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 จำนวน 36,449 รายการ ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาการจัดวางสินค้าโดยใช้หลักการวิเคราะห์ตะกร้าตลาด MBA (Market Basket Analysis) โดยใช้ทฤษฎีกฎความสัมพันธ์ของสินค้า (Association Rule) เพื่อช่วยในการจัดวางสินค้า เพื่อสร้างกลุ่มของสินค้าที่จะอยู่ใกล้กัน และได้ทำการวิเคราะห์โดยแบ่งเป็นทดสอบออกเป็น 2 ส่วน คือ Support Based Model และ Association Rule Based Model โดยวิธี Association Rule Based Model จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างตัวแปรของค่า Support ค่า Confidence และค่า lift โดยจำลองวัดระยะทางจากคำสั่งซื้อจริง จำนวน 36,449 รายการ ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบระยะทางหลังการปรับปรุง พบว่าค่าเฉลี่ยระยะทางสูงสุดต่อคำสั่งซื้อจากวิธี Association Rule Based Model แบบที่ 1 สามารถลดค่าเฉลี่ยระยะทางสูงสุดต่อคำสั่งซื้อได้เหลือ 6.81 เมตร คิดเป็นการลดลง 8.59% เทียบกับวิธีการที่บริษัทใช้ก่อนการปรับปรุง นอกจากนั้นยังนำเสนอการปรับปรุงกระบวนการทำงานในคลังสินค้าโดยใช้หลักลีน (Lean) และการลดความสูญเสีย 7 ประการ (7 Waste) เพื่อตัดกิจกรรมที่ไม่เพิ่มคุณค่า (NVA) และลดกิจกรรมที่จำเป็นแต่ไม่เพิ่มคุณค่า (NNVA) ทำให้สามารถลดระยะเวลาในคลังสินค้าอาหารสด จาก 14.1 นาทีต่อคำสั่งซื้อ เหลือ 9.55 นาที คิดเป็นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับระยะเวลาก่อนการปรับปรุง


การปรับปรุงสถานีงานตรวจสอบถังแก๊สคลอรีนโดยใช้การประเมินทางสรีรวิทยาในการทำงาน และชีวกลศาสตร์, ภาณุพงศ์ ภาวิไล Jan 2021

การปรับปรุงสถานีงานตรวจสอบถังแก๊สคลอรีนโดยใช้การประเมินทางสรีรวิทยาในการทำงาน และชีวกลศาสตร์, ภาณุพงศ์ ภาวิไล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารคลอรีนที่มีความชื้นสูงสามารถกัดกร่อนถังโลหะบรรจุสารคลอรีนจนเกิดการรั่วไหล การนำถังมาบรรจุสารคลอรรีนใหม่จึงต้องมีการตรวจสอบและระบายน้ำออกจากถังโดยการยกถังคลอรีนคว่ำลง แต่การยกถังหนัก 50 กิโลกรัม จำนวน 100 ถังต่อคนต่อวัน และท่าทางการยกที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาการปวดหลังของพนักงาน ผลจากการประเมินภาระงานของพนักงานเพศชายทั้ง 10 คน พบว่าค่าแรงกดอัดสูงสุดที่กระดูกสันหลังส่วนล่างเฉลี่ยตลอดการยกอยู่ที่ 5,673.4 นิวตัน และ ผลจากการประเมินภาระความเหนื่อยล้าของงาน โดยวิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานในอนาคต จากการปรับปรุงการทำงานทั้ง 3 แนวทางพบว่า แนวทางการใช้อุปกรณ์ช่วยยกคลอรีนและการใช้กล้องงูสามารถลดค่าแรงกดอัดสูงสุดที่กระทำต่อกระดูกหลังส่วนล่างเหลือน้อยกว่า 1,224.8 นิวตัน และผลประเมินภาระความเหนื่อยล้าของงานอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยกลายเป็นงานภาระเบา แต่แนวทางการใช้พนักงาน 2 คนยกถังคลอรีนสามารถลดค่าแรงกดอัดสูงสุดที่กระทำต่อกระดูกสันหลังส่วนล่างได้น้อยกว่า 3,992.4 นิวตัน และผลประเมินภาระความเหนื่อยล้าของงานอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเพียง 4 คนจากพนักงานทั้ง 10 คน ตามแนวทางประเมินของ Brouha ดังนั้นทางหน่วยงานกรณีศึกษาจึงได้เลือกแนวทางการใช้อุปกรณ์ช่วยยกและพลิกถังคลอรีน เนื่องจากมีความคุ้มค่าในการลงทุนเทียบกับระดับความปลอดภัยที่ได้รับ


การปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการและนโยบายการเติมเต็มพัสดุคงคลังสำหรับชิ้นส่วนเครื่องจักรกลการเกษตร, วรพล เดชาดำรงค์ชัย Jan 2021

การปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการและนโยบายการเติมเต็มพัสดุคงคลังสำหรับชิ้นส่วนเครื่องจักรกลการเกษตร, วรพล เดชาดำรงค์ชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เครื่องจักรกลการเกษตรเป็นอุปกรณ์ที่สนับสนุนการทำงานของเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงาน แต่เนื่องจากอุปกรณ์มีอายุการใช้งานที่จำกัดและอาจได้รับความชำรุดเสียหายหรือสึกหรอจากการใช้งานได้ จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อทดแทนความเสียหายอยู่เสมอ ดังนั้นผู้ให้บริการหลังการขายเครื่องจักรกลการเกษตรจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จากการวิเคราะห์ความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่ของบริษัทกรณีศึกษาพบว่ารูปแบบความต้องการของชิ้นส่วนอะไหล่มีลักษณะไม่คงที่และไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ การเติมเต็มพัสดุคงคลังจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการพัสดุคงคลังเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการอะไหล่ของลูกค้าได้ทันเวลา งานวิจัยนี้ได้ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัทกรณีศึกษา โดยได้ปรับปรุงวิธีการที่ใช้ในการพยากรณ์ความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่ให้มีความแม่นยำขึ้นโดยใช้เทคนิคการพยากรณ์แบบอนุกรมเวลาที่เหมาะสมกับรูปแบบความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่ จากนั้นกำหนดนโยบายการเติมเต็มพัสดุคงคลัง โดยได้กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพจากอัตราการตอบสนองต่อคำสั่งซื้อของลูกค้า และอัตราการขายสินค้าคงคลัง ผลการวิจัยพบว่าการกำหนดนโยบายการเติมเต็มพัสดุคงคลังแบบระดับพัสดุคงคลังเป้าหมายที่มีรอบการตรวจสอบรายสัปดาห์ มาใช้กับกลุ่มชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีรูปแบบความต้องการคงที่สามารถปรับปรุงอัตราการตอบสนองต่อคำสั่งซื้อได้เพิ่มขึ้นจากเดิมโดยเฉลี่ยร้อยละ 16.48 นอกจากนี้การกำหนดนโยบายการเติมเต็มพัสดุคงคลังแบบพอดีกับความต้องการในแต่ละคาบที่มีรอบการตรวจสอบรายวัน มาใช้กับกลุ่มชิ้นส่วนที่มีรูปแบบความต้องการแบบมีฤดูกาลและแบบมีแนวโน้มโน้มพร้อมทั้งฤดูกาลสามารถเพิ่มอัตราการตอบสนองต่อคำสั่งซื้อของลูกค้าขึ้นได้โดยเฉลี่ยร้อยละ 18.85 และร้อยละ 23.23 ตามลำดับ


การประมาณความจุของคอนเทนเนอร์ยางรถยนต์, วิภาดา ฮันสราช Jan 2021

การประมาณความจุของคอนเทนเนอร์ยางรถยนต์, วิภาดา ฮันสราช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบและกำลังการผลิต ประเทศไทยจึงเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในด้านการผลิตและส่งออก กระนั้นการส่งออกยางรถยนต์ยังคงขาดประสิทธิภาพในด้านต้นทุนการขนส่งและอรรถประโยชน์เชิงปริมาตรของตู้คอนเทนเนอร์เนื่องจากลักษณะกายภาพของสินค้าดังเช่นบริษัทยางรถยนต์กรณีศึกษา บริษัทกรณีศึกษาใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมยางรถยนต์นำเข้าในภูมิภาคและส่งออกยางที่ผลิตในประเทศไปทั่วโลก จากการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตพบว่าแผนส่งออกยางมีความคาดเคลื่อนส่งผลให้ต้องการจัดทำเอกสารศุลกากรอีกครั้งเกิดการเคลื่อนย้ายที่ซ้ำซ้อน (Double Handling)งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความคลาดเคลื่อนโดยการทำนายจำนวนยางรถยนต์ในตู้คอนเทนเนอร์ อ้างอิงจากขนาดทางกายภาพของยาง สำหรับการบรรจุยาง 2 รูปแบบ หลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลการบรรจุในอดีตและขนาดทางกายภาพ ได้ประยุกต์ใช้แบบจำลองถดถอยเชิงเส้นกับข้อมูลการบรรจุและพัฒนา 4 แบบจำลองที่แตกต่างกัน ได้แก่ แบบจำลอง Simple Regression, All Possible, Stepwise and The Best Subset Selection ในอีกทางหนึ่ง ความสัมพันธ์เชิงเรขาคณิตระหว่างคอนเทนเนอร์กับขนาดทางกายภาพของยางได้ถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาวิธีการทำนายยางที่มีข้อมูลการบรรจุไม่เพียงพอ ผลการเปรียบเทียบกับแบบจำลองถดถอยเชิงเส้นพบว่าแบบจำลอง The Best Subset Selection มีความแม่นยำสูงสุดและเป็นแบบจำลองที่เหมาะสมที่สุดโดยมีค่า MAPE (Mean Absolute Percentage Error) คือ 5.01 และ 4.30 สำหรับวิธีการบรรจุแบบตั้งและแบบไขว้ตามลำดับ ถึงอย่างไรก็ตาม แบบจำลอง The Best Subset Selection เหมาะสมกับการบรรจุยางขนาดเดียวที่มีข้อมูลการบรรจุยางที่เพียงพอ ผลการเปรียบเทียบแสดงถึงการแบบจำลองทางเรขาคณิตมีความเหมาะสมกับการบรรจุยางหลายขนาดหรือยางขนาดใหม่มากกว่า


การปรับปรุงการกระทบของมือจับแบบไม่มีตัวหน่วงในรถกระบะโดยใช้แนวคิดซิกซ์ ซิกม่า, อาทิชา วัฒนะไมตรี Jan 2021

การปรับปรุงการกระทบของมือจับแบบไม่มีตัวหน่วงในรถกระบะโดยใช้แนวคิดซิกซ์ ซิกม่า, อาทิชา วัฒนะไมตรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาการปรับปรุงการกระทบกันระหว่างส่วนจับและฐานของมือจับแบบไม่มีตัวหน่วง ซึ่งเป็นชิ้นส่วนภายในรถกระบะ โดยใช้หลักการของซิกซ์ ซิกม่า มือจับเป็นชิ้นส่วนภายในรถยนต์ถูกติดตั้งอยู่บริเวณผ้าหลังคาภายในรถยนต์ มีหน้าที่ช่วยการทรงตัวของผู้โดยสารขณะเดินทาง โดยมือจับในตลาดที่แต่ละผู้ผลิตรถยนต์นำมาใช้กับรถจริงมีอยู่ 3 ประเภท คือ มือจับแบบมีตัวหน่วง (Assist Grip with damper), มือจับแบบไม่มีตัวหน่วง (Assist Grip without damper) และมือแบบยึดติด (Assist Grip fixing type) โดยปัญหาการกระทบของมือจับที่เกิดขึ้นหลังจากใช้งานมือจับ มีเสียงกระทบระหว่างส่วนจับและฐานดังเกิดขึ้น และดังเกินมาตรฐานที่บริษัทกำหนดไว้ คือ เสียงกระทบต้องต่ำกว่า 95 เดซิเบล และจำนวนครั้งการกระทบน้อยกว่า 3 ครั้ง ซึ่งในการปรับปรุงการกระทบของมือจับ จะนำหลักการการปรับปรุงจากซิกซ์ ซิกม่า มาใช้ ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ระยะนิยามปัญหา (Define phase), ระยะการวัดเพื่อกำหนดปัญหา (Measurement phase), ระยะการวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและปัจจัย (Analysis phase), ระยะการปรับปรุงกระบวนการ (Improvement phase) และ ระยะการควบคุมกระบวนการ (Control phase) หรือ DMAIC หลังจากผ่านขั้นตอนทั้งห้าของซิกซ์ ซิกม่า พบว่า มี 5 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการกระทบของมือคือ ค่า K ของสปริง วัสดุของมือจับ น้ำหนักของส่วนจับ พื้นที่การกระทบ และองศาของการใช้งาน เมื่อทำการปรับปรุงปัจจัยทั้งห้า เสียงกระทบระหว่างส่วนจับและฐานลดลงจากเฉลี่ยอยู่ที่ 96.4 เหลือ 91.6 เดซิเบล จำนวนครั้งการกระทบจาก 4 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง ซึ่งอยู่ในมาตรฐานที่บริษัทกำหนด สามารถนำมือจับแบบไม่มีตัวหน่วงสามารถนำไปใช้กับรถกระบะในบริษัทได้จริง และสามารถสร้างผลกำไรให้กับบริษัทถึง 4 ล้านบาทต่อปี


การพยากรณ์มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบของประเทศไทย, อุรชา จันทรภา Jan 2021

การพยากรณ์มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบของประเทศไทย, อุรชา จันทรภา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญของประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับแรก ๆ ของประเทศ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและเป็นรายได้หลักจากการส่งออกของประเทศ การพยากรณ์มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบจะช่วยให้มองเห็นทิศทางของการส่งออก เพื่อวางแผนนโยบายการค้าหรือสนับสนุนการผลิตให้เกิดมูลค่ามากที่สุด งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตัวแบบพยากรณ์ที่เหมาะสมสำหรับพยากรณ์มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบโดยรวมของประเทศไทย และมูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปประเทศคู่ค้าที่มีมูลค่าการส่งออกจากประเทศไทยมากที่สุด 2 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศออสเตรเลียและประเทศญี่ปุ่นด้วยวิธีอนุกรมเวลา วิธีการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นพหุคูณ วิธีการเรียนรู้ของเครื่อง และวิธีพยากรณ์แบบผสม โดยใช้ค่าร้อยละความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์เฉลี่ย (MAPE) ในการเปรียบเทียบความแม่นยำของตัวแบบพยากรณ์ ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาวิธีการพยากรณ์ของงานวิจัยนี้เป็นข้อมูลรายเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นจำนวนทั้งหมด 156 เดือน วิธีที่ใช้ในการพยากรณ์ ได้แก่ Moving Average, Holt-Winters, SARIMA, Multiple Linear Regression, Artificial Neural Networks, Support Vector Regression, XGBoost, LSTM และวิธีพยากรณ์แบบผสม ผลการศึกษาพบว่า ตัวแบบพยากรณ์ที่มีความแม่นยำและเหมาะสมมากที่สุดสำหรับพยากรณ์มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบโดยรวมของประเทศไทย มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของประเทศไทยไปประเทศออสเตรเลียและประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ตัวแบบพยากรณ์ผสมวิธี LSTM-XGB วิธี SARIMA-XGB และวิธี LSTM-SARIMA มีค่าร้อยละความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์เฉลี่ยเท่ากับ 6.63% 15.40% และ 6.27% ตามลำดับ