Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Articles 151 - 155 of 155

Full-Text Articles in Education

ผลการจัดการเรียนรู้พลศึกษาด้วยการฝึกแบบสถานีที่มีต่อทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน ของนักเรียนประถมศึกษาตอนต้น, ชญานันทน์ ไทรศักดิ์สิทธิ์ Jan 2019

ผลการจัดการเรียนรู้พลศึกษาด้วยการฝึกแบบสถานีที่มีต่อทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน ของนักเรียนประถมศึกษาตอนต้น, ชญานันทน์ ไทรศักดิ์สิทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อเปรียบเทียบผลของคะแนนทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานก่อนและหลังการทดลองของคะแนนทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานของกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม 2) เพื่อเปรียบเทียบผลของคะแนนทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานหลังการทดลองของกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่าง ทำการเลือกนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนระดับประถมศึกษา ที่มีอายุระหว่าง 8-9 ปี ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) จากนั้นทำการจัดนักเรียนเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยการสุ่มห้องเรียนจำนวน 2 ห้อง จากจำนวน 3 ห้อง ด้วยวิธีสุ่มอย่างง่าย (Sample Random Sampling) โดยการจับฉลาก จำนวน 64 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลองจำนวน 32 คน กลุ่มควบคุมจำนวน 32 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับการจัดการเรียนรู้พลศึกษาด้วยการฝึกแบบสถานี ส่วนนักเรียนกลุ่มควบคุมได้รับการจัดการเรียนรู้พลศึกษาตามปกติ ดำเนินการทดลองเป็นเวลา 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 วัน วันละ 60 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) คือ แผนการจัดการเรียนรู้พลศึกษาโดยใช้การฝึกแบบสถานี จำนวน 8 แผน มีค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 0.92-0.97 2) แบบประเมินทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน มีค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 0.95 และทำการเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน โดยทดสอบค่าที (t-test) ก่อนและหลังทำการทดลอง แล้วทำการทดสอบทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน ก่อนและหลังการทดลอง ด้วยแบบประเมินทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน ผลการวิจัยพบว่า 1) ค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานหลังการทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานหลังการทดลองของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สรุปได้ว่าการจัดการเรียนรู้พลศึกษาด้วยการฝึกแบบสถานีสามารถพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานของนักเรียนประถมศึกษาตอนต้น ทำให้นักเรียนประถมศึกษาตอนต้นมีทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานที่ดีขึ้น


ผลการจัดการเรียนรู้สุขศึกษาโดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการคิดเชิงบริหารของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3, มนทรัตน์ สุจีรกุลไกร Jan 2019

ผลการจัดการเรียนรู้สุขศึกษาโดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการคิดเชิงบริหารของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3, มนทรัตน์ สุจีรกุลไกร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการคิดเชิงบริหารก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม 2) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการคิดเชิงบริหารหลังการทดลองระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 80 คน ที่ได้จากการสุ่มอย่างง่าย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานจำนวน 40 คนและกลุ่มควบคุมที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติจำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานจำนวน 8 แผน และแบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติ และการคิดเชิงบริหาร ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย 8 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนด้วยค่าที ผลการวิจัยพบว่า 1) ค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านความรู้ เจตคติ การปฏิบัติ และการคิดเชิงบริหารหลังการทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านความรู้ เจตคติ การปฏิบัติ และการคิดเชิงบริหารหลังการทดลองของกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างจากก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านความรู้ เจตคติ การปฏิบัติ และการคิดเชิงบริหารของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


การพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนโดยใช้ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และทฤษฎีการตั้งเป้าหมายสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี, พีชาณิกา เพชรสังข์ Jan 2019

การพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนโดยใช้ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และทฤษฎีการตั้งเป้าหมายสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี, พีชาณิกา เพชรสังข์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนโดยใช้ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และทฤษฎีการตั้งเป้าหมายสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และ 2) ประเมินคุณภาพของโปรแกรมเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนโดยใช้ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และทฤษฎีการตั้งเป้าหมายสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีระยะเวลาในการทดลองใช้โปรแกรมที่พัฒนาขึ้น 15 สัปดาห์ ซึ่งมีนักศึกษากลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามทั่วไป แบบวัดพฤติกรรมการเรียน แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียน และแบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว วิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางและการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมีหลักการ 4 ประการ คือ 1) หลักการกำหนดเป้าหมายด้วยตนเอง 2) หลักการรับรู้ความสามารถของตนเองและการมั่นว่าทำได้ 3) หลักการวางแผนการทำงาน 4) หลักการการประเมินตนเอง มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งเนื้อหาที่ใช้ในโปรแกรมมีดังนี้ 1) การกำหนดเป้าหมาย 2) การรับรู้ความสามารถของตนเอง 3) ความเชื่อมั่นในอำนาจแห่งตน 4) การวางแผนการทำงาน และ 5) การกำกับและประเมินตนเอง โดยขั้นตอนของโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1) การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ 2) คิดและเชื่อในความสามารถและความพยายามของตนเอง 3) วางแผนเพื่อดำเนินการ 4) ทำตามแผนอย่างมุ่งมั่น และ 5) ประเมินและสะท้อนคิด การดำเนินการใช้โปรแกรมประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนใช้โปรแกรม ระหว่างใช้โปรแกรม และหลังใช้โปรแกรม การวัดและประเมินพฤติกรรมการเรียนดำเนินการวัดก่อน ระหว่างและหลังเข้าร่วมโปรแกรม โดยใช้แบบสอบถามทั่วไป แบบวัดพฤติกรรมการเรียน แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนและแบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียน 2. นักศึกษาที่เข้าร่วมโปรแกรมมีพฤติกรรมการเรียนหลังเข้าร่วมโปรแกรมสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรม และหลังเข้าร่วมโปรแกรมสูงกว่าระหว่างเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อจำแนกตามลักษณะชีวสังคมภูมิหลัง พบว่า ภายหลังเข้าร่วมโปรแกรมนักศึกษาที่มีลักษณะชีวสังคมภูมิหลังแตกต่างกันมีพฤติกรรมการเรียนไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. นักศึกษาที่เข้าร่วมโปรแกรมเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนโดยใช้ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และทฤษฎีการตั้งเป้าหมายมีพฤติกรรมการเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยมีพฤติกรรมการเรียนที่เหมาะสมมากขึ้น


การพัฒนาความสามารถในการออกแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับสาระรายวิชาด้วยโปรแกรมฝึกอบรมที่ใช้แนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้เชิงรุก, ฐนัส มานุวงศ์ Jan 2019

การพัฒนาความสามารถในการออกแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับสาระรายวิชาด้วยโปรแกรมฝึกอบรมที่ใช้แนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้เชิงรุก, ฐนัส มานุวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อพัฒนาโปรแกรมฝึกอบรมตามแนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้เชิงรุกในการพัฒนาความสามารถการออกแบบการเรียนการสอน ที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับสาระรายวิชา และ 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมฝึกอบรมฯ งานวิจัยฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมายเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาทางทหาร จำนวน 8 นาย เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกตพฤติกรรม แบบทดสอบและแบบสอบถาม และรายงานการจดบันทึก โดยใช้ระยะเวลาฝึกอบรมร่วมกับการเก็บข้อมูล 3 สัปดาห์ จากการสอบถาม การสัมภาษณ์ การเสวนากลุ่มย่อย การสังเกตการณ์ และการถอดบทเรียนร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา การวิเคราะห์ข้อมูลแบบอุปนัย และการเลือกข้อมูลเพื่อแสดงหลักฐาน ผลการวิจัยพบว่า โปรแกรมการฝึกอบรมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสามารถในการออกแบบการเรียนการสอน ที่บูรณาการหลักปรัชญาฯ กับสาระรายวิชา โดยมีหลักการ วัตถุประสงค์ ผลการเรียนรู้ ตลอดจนการวัดและประเมินผล อันเป็นไปตามแนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์ และมีการกำหนดวิธีการฝึกอบรม โดยเลือกใช้กิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ตามหลักการของแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก ระยะการดำเนินการมี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การกำหนดเป้าหมายในการออกแบบการเรียนการสอน ระยะที่ 2 การดำเนินการฝึกปฏิบัติที่มีความใส่ใจต่อผู้อื่น และระยะที่ 3 การสรุปผลการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาการออกแบบการเรียนการสอน ส่วนประสิทธิผลของโปรแกรมฝึกอบรมฯ พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีพัฒนาการของความสามารถในการออกแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการหลักปรัชญาฯ กับสาระรายวิชา ทั้ง 9 ด้าน รวมทั้งมีพัฒนาการที่สะท้อนอัตลักษณ์ตามหลักการของโปรแกรมฝึกอบรม ได้แก่ การจัดทรัพยากรการสอนอย่างสมดุล การร่วมมือในการพัฒนาเป็นหมู่คณะ และการออกแบบการสอนที่ตระหนักถึงคุณธรรม จริยธรรม และคุณค่าสิ่งแวดล้อม


การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดการวางแผนกลยุทธ์และการคิดนอกกรอบ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต, เธียรดนัย เสริมบุญไพศาล Jan 2019

การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดการวางแผนกลยุทธ์และการคิดนอกกรอบ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต, เธียรดนัย เสริมบุญไพศาล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาประสิทธิผลของกระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดการวางแผนกลยุทธ์และการคิดนอกกรอบ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต แบ่งการดำเนินการเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหาและกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย ระยะที่ 2 การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดการวางแผนกลยุทธ์และการคิดนอกกรอบ ระยะที่ 3 การศึกษาผลการทดลองใช้กระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น และระยะที่ 4 การปรับปรุงแก้ไขและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นหลังการทดลองใช้ กลุ่มตัวอย่างวิจัยได้จากการเลือกแบบเจาะจง คือ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งลงทะเบียนในรายวิชาเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ระยะเวลาดำเนินการทดลอง 15 สัปดาห์ รวม 60 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีและแบบบันทึกการเรียนรู้ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าที และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ว่า กระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต มีขั้นตอนของกระบวนการ 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 ระบุเป้าหมายจากปัญหา ขั้นที่ 2 วิเคราะห์ตนและกำหนดกลยุทธ์ ขั้นที่ 3 ดำเนินกลยุทธ์เพื่อนวัตกรรม ขั้นที่ 4 ตรวจสอบผลการใช้กลยุทธ์ ผลการทดลองใช้กระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า นักศึกษามีระดับของความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดี มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 78.41 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 11.74 และมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงให้เห็นว่า นักศึกษาที่เรียนด้วยกระบวนการเรียนการสอนที่สร้างขึ้นมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีสูงขึ้น สามารถสร้างนวัตกรรมทางเคมีจากการระบุปัญหาของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง พร้อมทั้งวางแผนสร้างผลงานผสมผสานด้วยองค์ความรู้ทางด้านเคมีอย่างเป็นระบบด้วยแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมที่แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ