Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Urban, Community and Regional Planning Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University

2022

Articles 31 - 33 of 33

Full-Text Articles in Urban, Community and Regional Planning

ความสัมพันธ์ของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค และ สาธารณูปการ ที่สอดคล้องกับผังเมืองรวม กรณีศึกษา ถนนราชพฤกษ์ และ ถนนกัลปพฤกษ์, ชยางกูร กิตติธีรธำรง Jan 2022

ความสัมพันธ์ของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค และ สาธารณูปการ ที่สอดคล้องกับผังเมืองรวม กรณีศึกษา ถนนราชพฤกษ์ และ ถนนกัลปพฤกษ์, ชยางกูร กิตติธีรธำรง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัย แหล่งงาน และสาธารณูปการ เมื่อทำการศึกษาย้อนไปในอดีตช่วง 20 - 30 ปีก่อนหรือช่วงพ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2564 พบว่า การเติบโตของโครงข่ายการคมนาคมมีผลต่อการพัฒนาพื้นที่ในฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ทั้งจากการสร้างถนนกาญจนาภิเษก ถนนบรมราชชนนี ถนนราชพฤกษ์ และถนนกัลปพฤกษ์ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาของที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเพื่อนำรูปแบบการพัฒนา และแผนการพัฒนาของภาครัฐมาพิจารณาถึงลำดับการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการเกิดสาธารณูปการที่เชื่อมโยงอันจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการกำหนดแผนงานในการพัฒนาการขยายตัวของพื้นที่เมืองต่อไป โดยใช้การเก็บข้อมูลด้วยวิธีการลงพื้นที่สำรวจภาคสนาม และการรวบรวมข้อมูลจากเว็ปไซต์ และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่าลำดับการเกิดที่อยู่อาศัย และสาธารณูปการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1) การเกาะกลุ่มของประเภทอสังหาริมทรัพย์ 3 ประเภทหลัก คือ ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และสาธารณูปการ โดยพบว่าที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวจะมีการเกาะกลุ่มกันมากบริเวณถนนราชพฤกษ์เป็นหลัก ส่วนบ้านแถวและอาคารชุด พบการเกาะกลุ่มกันมากในบริเวณถนนกัลปพฤกษ์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2) การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหนาแน่นมากขึ้นจะสัมพันธ์กับการจราจรที่หนาแน่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้า และช่วงเย็น หรือ ช่วงระหว่างวันจะพบการจราจรหนาแน่นในโซนพาณิชยกรรม ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าแผนการคมนาคมตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กับเส้นทางคมนาคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่มีความสอดคล้องกัน 3) แผนที่ลำดับการพัฒนาตามรายปีได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อถนนถูกพัฒนาใหม่ กลุ่มหมู่บ้านจัดสรรจะเกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรก ต่อมาเมื่อมีความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจะเริ่มพบเห็นพื้นที่พาณิชยกรรม และสาธารณูปการเกิดขึ้นตามมา โดยมีรูปแบบการพัฒนาไปตามแนวแกนถนน(Ribbon Development) ซึ่งพบว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินมีความสอดคล้องกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร แต่ในส่วนสาธารณูปการที่เกิดขึ้น มีความครอบคลุมแต่ไม่ใช่ด้วยกลไกหรือการวางแผนของภาครัฐแต่เกิดจากการพัฒนาของภาคเอกชนเป็นหลัก จึงทำให้รูปแบบการพัฒนาขาดการดำเนินการอย่างดีพอจนไม่สอดคล้องกับการวางผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานครในย่านนี้ จึงสรุปได้ว่าจากการพัฒนาที่เกิดขึ้นบนถนนราชพฤกษ์ และถนนกัลปพฤกษ์ พบว่า มีทั้งในประเด็นที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งในประเด็นที่ไม่สอดคล้องนำมาสู่ข้อเสนอ ในการส่งเสริมการพัฒนาถนนสายย่อย การศึกษาเส้นทางเดินรถสาธารณะ การนำเครื่องมือทางผังเมืองด้านอื่นๆมาใช้งาน เช่น การจัดรูปที่ดิน รวมไปถึงการบังคับใช้แผนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


การเตรียมการด้านที่อยู่อาศัยก่อนเกษียณของแรงงานก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษา บริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ 4 แห่ง, ทศพล นิลเปรม Jan 2022

การเตรียมการด้านที่อยู่อาศัยก่อนเกษียณของแรงงานก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษา บริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ 4 แห่ง, ทศพล นิลเปรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด จากร้อยละ 12 และใน พ.ศ. 2564 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18 จากประชากรรวมทั้งประเทศ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวพบว่าสถิติผู้มีงานทำทั่วประเทศที่มีอายุ 50-59 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และยังเป็นไปในทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับสัดส่วนแนวโน้มแรงงานก่อสร้างในเขตกทม. ที่เพิ่มจาก ร้อยละ 12 ในพ.ศ. 2553 เป็นร้อยละ 16 ใน พ.ศ. 2564 จากจำนวนแรงงานก่อสร้างรวมทั้งประเทศ จึงอาจกล่าวได้ว่ายิ่งมีแรงงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยในแคมป์มากขึ้นจะมีสัดส่วนแรงงานที่ต้องสูงอายุมากขึ้น ซึ่งแรงงานก่อสร้างที่พักอาศัยในแคมป์คนงาน หลังจากเกษียณอายุแล้วไม่สามารถอาศัยอยู่ในแคมป์ได้ แรงงานกลุ่มนี้ก่อนวัยเกษียณอายุส่วนใหญ่จะมีลักษณะสังคม เศรษฐกิจ กรรมสิทธิ์ การเตรียมการด้านที่อยู่อาศัยหลังเกษียณอายุอย่างไร โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างจากกลุ่มแรงงานก่อสร้างที่ปฏิบัติงานอยู่ในโครงการก่อสร้าง และพักอยู่ในแคมป์คนงานที่รับผิดชอบโดย 4 บริษัทกรณีศึกษา ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์ และสรุปผลการเตรียมการด้านที่อยู่อาศัยก่อนเกษียณจากการเก็บแบบสอบถามแรงงานก่อสร้างชาวไทย 400 ตัวอย่าง และชาวเมียนมา 400 ตัวอย่าง ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึก 20 คน จากแรงงานกลุ่มประชากรแรงงานก่อสร้าง จำนวน 2,471 คน จากการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างแรงงานก่อสร้างชาวไทย มีกลุ่มที่เตรียมการ และไม่เตรียมการด้านที่อยู่อาศัยก่อนเกษียณ ร้อยละ 84.25 และ 15.75 ตามลำดับ ทั้งสองกลุ่มมีปัจจัยที่เหมือนกันในด้านสังคม ส่วนใหญ่มีสถานะสมรส, มีบุตร 1 คน, ตำแหน่งกรรมกร ด้านเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อคนต่อเดือน น้อยกว่า 12,000 บาท, รายจ่ายต่อคนต่อเดือน 5,000-10,000 บาท, มีการออมเงินในบัญชีเงินฝาก, มีสิทธิ์ประกันสังคม, ไม่มีโรคประจำตัว, จะหยุดทำงานก่อสร้างเมื่ออายุ 55-60 ปี, จะทำเกษตรกรรมหลังเกษียณ ด้านที่อยู่อาศัยภูมิลำเนาเดิม ส่วนใหญ่มีที่ตั้งภูมิลำเนาเดิมอยู่ภาคอีสาน, ไม่มีปัญหาในที่อยู่อาศัย, กลุ่มที่มีปัญหาส่วนใหญ่ต้องการซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุด, มีงบประมาณที่คาดไว้ น้อยกว่า 100,000 บาท, ด้วยเงินออม, มีการออมเงินไว้บางส่วนน้อยกว่า 20,000 บาท, จะดำเนินการ 3-5 ปีข้างหน้า และมีปัจจัยที่แตกต่างกันในด้านที่อยู่อาศัยในภูมิลำเนาเดิม …


การปรับตัวของร้านค้าปลีกในช่วงตั้งแต่ พ.ศ.2561-2565 ที่มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค : กรณีศึกษา รูปแบบร้านค้าอยู่กับที่และรูปแบบร้านค้าเคลื่อนที่ ประเภทธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ศิวกร สิงหเดช Jan 2022

การปรับตัวของร้านค้าปลีกในช่วงตั้งแต่ พ.ศ.2561-2565 ที่มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค : กรณีศึกษา รูปแบบร้านค้าอยู่กับที่และรูปแบบร้านค้าเคลื่อนที่ ประเภทธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ศิวกร สิงหเดช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในการดำรงชีวิต มีความเกี่ยวข้องจากทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งงาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต โดยจะพบว่าตั้งแต่ก่อนปี 2561 ลักษณะการใช้ชีวิตโดยทั่วไปแบบดั้งเดิมเป็นลักษณะที่ ผู้รับบริการต้องเข้าหาผู้ให้บริการ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2562 และมีการแพร่ระบาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2563 ทางภาครัฐประกาศหยุดการดำเนินการต่าง ๆภายในประเทศ ทั้งการประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ตลาด แหล่งชุมชนและการเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อร้านค้าในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สามารถเปิดให้บริการแบบเดิมได้ จากการปรับตัวของผู้ประกอบการร้านค้าในช่วงปี 2564 ถึง 2565 พบว่าผู้ประกอบการหลายรายมีการปรับรูปแบบร้านค้าเพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย จากร้านค้าดั้งเดิมที่เป็นลักษณะการเช่าพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้า มีการปรับตัวเป็นลักษณะการเช่าพื้นที่ภายนอก(Stand-alone) ในรูปแบบร้านค้าอยู่กับที่ หรือบางรายมีการปรับเป็นลักษณะรถขายอาหารเคลื่อนที่(Food truck)ในรูปแบบร้านค้าเคลื่อนที่ เป็นลักษณะของการให้บริการแบบที่ ผู้ให้บริการเข้าหาผู้รับบริการ การศึกษาครั้งนี้แบ่งการเก็บข้อมูลรูปแบบร้านค้าอยู่กับที่และรูปแบบร้านค้าเคลื่อนที่ เป็น 3 ส่วน คือ 1)ลักษณะกายภาพและการบริหารจัดการของร้านค้า 2)พฤติกรรมของผู้บริโภค 3)ปัจจัยและเหตุผลในการตัดสินใจของผู้ประกอบการ จากผลการศึกษาร้านค้าในผู้ประกอบการรายเดียวกัน พบว่า ลักษณะร้านค้าแบบดั้งเดิมจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ให้บริการลูกค้าเพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ตั้งที่มีศักยภาพสูง มีปริมาณการเข้ามาของกลุ่มคนในพื้นที่จำนวนมากและมีความหลากหลาย ซึ่งจะแตกต่างจากร้านค้าที่เกิดจากการปรับตัว ที่เลือกเข้าหากลุ่มผู้บริโภค ทั้งในย่านชุมชนและทางสัญจรหลักในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัย โดยอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า ขนาดพื้นที่ร้านค้าที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อรูปแบบการให้บริการ จำนวนพนักงาน และช่วงเวลาในการเปิดให้บริการ ตามแต่ละลักษณะของร้านค้า สาธารณูปโภคและสาธารณูปการโดยรอบพื้นที่ โดยลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายจะขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของพื้นที่ร้านค้าที่สามารถทำได้ ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการในวันธรรมดาและวันหยุดแตกต่างกัน ตามลักษณะของตำแหน่งที่ตั้งร้านค้า ระยะทางและช่วงเวลาในการเข้าใช้บริการ ส่วนผู้ประกอบการตัดสินใจปรับลักษณะการใช้งานพื้นที่ร้านค้าดั้งเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงขยายโมเดลธุรกิจร้านค้าใหม่ๆ ลดต้นทุนให้เกิดความคล่องตัว และรองรับการให้บริการเดลิเวอรี่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่ผ่านมา จากงานวิจัยพบว่าการนำข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาปรับใช้ช่วยให้เกิดประโยชน์ในการเข้าใจลักษณะของพื้นที่รวมถึงการเข้าถึงตำแหน่งที่ตั้งของร้านค้า ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ในขณะเดียวกันผลการศึกษาในเรื่องดังกล่าว ผู้วิจัยทำการศึกษาเฉพาะด้านกายภาพและพฤติกรรมผู้บริโภคเท่านั้น หากผู้ที่มีความสนใจอาจศึกษาในด้านของการลงทุนธุรกิจร้านค้าปลีกเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจและลดความผิดพลาดในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น