Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Sociology Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Anthropology

Chulalongkorn University

Publication Year

Articles 1 - 10 of 10

Full-Text Articles in Sociology

“ขอเป็นเด็กเลวในประวัติศาสตร์ไทย”: การร่วมเวลาและการรื้อถอนเขตแดนเวลาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนมัธยมผ่านแคมเปญของเครือข่ายกลุ่ม “นักเรียนเลว”, กันต์ นาเมืองรักษ์ Jan 2022

“ขอเป็นเด็กเลวในประวัติศาสตร์ไทย”: การร่วมเวลาและการรื้อถอนเขตแดนเวลาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนมัธยมผ่านแคมเปญของเครือข่ายกลุ่ม “นักเรียนเลว”, กันต์ นาเมืองรักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้ทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ประวัติศาสตร์ของสังคมไทยจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเชิงเวลาที่กลุ่มนักเรียนเลวได้สร้างขึ้นในสังคมไทยผ่านแคมเปญและกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ใช้มโนทัศน์ “การร่วมเวลา” และ “เขตแดนเวลา” ที่เกิดจากการบรรจบกันของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมภายใต้พลวัตของ "ความเป็นสังคม” แบบสมัยใหม่ที่แยก “ความเป็นประวัติศาสตร์” และ “ความเป็นประวัติการณ์” ออกจากกัน และใช้ชาติพันธุ์วรรณนาเชิงสถาบันที่ใช้จุดยืนทางสังคมของผู้ถูกศึกษาอย่างกลุ่มนักเรียนเลวและแนวร่วมเป็นวิธีวิทยาหลักในการสืบเสาะกระบวนการทางสังคมและเล่าผ่านการเขียนวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ จากการศึกษาปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในระดับต่างๆ ของกลุ่มเครือข่ายนักเรียนเลวและแนวร่วม ผู้วิจัยได้ทำการเล่าออกมาเป็น 3 บท โดยการใช้การข้องเกี่ยวทางสังคมเชิงเวลา 3 แบบเป็นแกนในการเล่า ได้แก่ ความทรงจำของการเป็นนักเรียน การต่อสู้สิทธิเสรีภาพเหนือเรือนร่างของนักเรียน และสถานะของนักเรียนในฐานะเยาวชนในการเมืองระดับชาติ อันสะท้อนถึงการร่วมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในการต่อสู้ทางการเมืองร่วมสมัย ซึ่งกลุ่มนักเรียนเลวได้ใช้กลวิธีและทรัพยากรต่างๆ ในการเคลื่อนไหวได้อย่างโดดเด่น จนทลาย "พรมแดนเวลา" ของการเติบโตทางความคิดเกี่ยวกับความเป็นผู้เยาว์แบบอนุรักษ์จารีตนิยมในวัฒนธรรมไทยได้สำเร็จ ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อแนวคิดเรื่องความก้าวหน้าทางสังคม แต่ก็ทำให้เห็นถึงการแบ่งขั้วทางเวลาที่เข้มข้นขึ้นในสังคมไทยไปด้วย ส่งผลให้ความเป็นผู้เยาว์กลายเป็นวาระทางการเมืองในสังคมไทยไปโดยสมบูรณ์


จิตอาสาใต้โลกแห่งความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม: การคิดย้อนสะท้อนกลับและการสื่อสารของนักดำน้ำอาสาสมัครในประเทศไทย, จุฑามณี สมบูรณ์สุทธิ์ Jan 2022

จิตอาสาใต้โลกแห่งความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม: การคิดย้อนสะท้อนกลับและการสื่อสารของนักดำน้ำอาสาสมัครในประเทศไทย, จุฑามณี สมบูรณ์สุทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่อง "จิตอาสาใต้โลกแห่งความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม: การคิดย้อนสะท้อนกลับและการสื่อสารของนักดำน้ำอาสาสมัครในประเทศไทย" มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการคิดย้อนสะท้อนกลับของนักดำน้ำอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ 2) ศึกษาสาเหตุ ปฏิบัติการการคิดย้อนสะท้อนกลับและการตอบโต้ของนักดำน้ำต่อสถานการณ์สังคมเสี่ยงวิกฤตทะเลไทย และ 3) ศึกษาสังคมเสี่ยงของการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อนักดำน้ำและการคิดย้อนสะท้อนกลับ ปรับตัว วิธีการวิจัยใช้การสัมภาษณ์ระดับลึกควบคู่กับการเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานเป็นนักดำน้ำอาชีพ นักดำน้ำอาสาสมัครและเข้าฝึกเพื่อเป็นนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ในค่ายทหาร พื้นที่หลักในการศึกษา ประกอบด้วย เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีและเกาะพระ จังหวัดชลบุรี กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย นักดำน้ำอาชีพ นักดำน้ำอาสาสมัคร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 53 คน ผลการวิจัยพบว่า การนำเสนอข่าวสังคมความเสี่ยงของสื่อส่งผลให้เกิดการคิดย้อนสะท้อนกลับและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำน้ำให้เป็นนักดำน้ำอาสาสมัครในบริบทต่างๆ นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้นักดำน้ำเกิดการคิดย้อนสะท้อนกลับและผันตัวเป็นอาสาสมัครใต้ทะเล ประกอบด้วย ประสบการณ์ตรงจากการลงไปสัมผัสโลกใต้ทะเล ความขัดแย้งทางทะเลและการเข้าร่วมอบรมด้านการอนุรักษ์ นักดำน้ำใช้วิธีจัดการปัญหาสังคมเสี่ยงและโต้ตอบผ่านสื่อด้วยการทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารพลเมืองใต้ทะเล โดยใช้กล้องถ่ายรูปใต้น้ำควบคู่กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ วิธีปรับตัวของนักดำน้ำภายใต้สังคมเสี่ยงแบบทุนนิยม คือการพัฒนาทักษะความรู้ สร้างจุดเด่น สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและนำความรู้มาใช้ในงานอาสาสมัครเพื่อเคลื่อนไหวสังคม


“ที่นี่ไม่ได้แจกกัญชา แจกน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น”: ความเลื่อนไหลและกระบวนการทางสังคมของกัญชา, ศุภรดา เฟื่องฟู Jan 2021

“ที่นี่ไม่ได้แจกกัญชา แจกน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น”: ความเลื่อนไหลและกระบวนการทางสังคมของกัญชา, ศุภรดา เฟื่องฟู

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาวัฒนธรรมชาติและกระบวนการทางสังคมของกัญชา ผ่านการสำรวจกิจกรรมจัดหา แปรรูปและแจกจ่ายกัญชาที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคกลาง ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 - พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยดำเนินการอย่างเป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมายป้องปรามยาเสพติดของไทย ผู้วิจัยอาศัยแนววิเคราะห์เชิงวัตถุ-สัญญะและกรอบคิดเรื่องวัฒนธรรมชาติในการสำรวจปรากฎการณ์ดังกล่าว โดยเสนอว่ากัญชาเป็นวัตถุที่มีความเลื่อนไหลและหลากหลาย ทั้งในรูปแบบของวัตถุศักดิ์สิทธิ์ สินค้า ยารักษาโรค และสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนบุญ นอกจากนี้ผู้วิจัยเสนอว่า ปรากฏการณ์ผิดกฎหมายดังกล่าวดำรงอยู่ได้จากกระบวนการประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์ที่มีลักษณะจำเพาะสองรูปแบบขึ้น ภายใต้พิธีกรรมแจกจ่ายกัญชาสองลักษณะ กล่าวคือ การประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์แบบผูกขาดในพิธีกรรมเชิงการแพทย์ และการประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์แบบรวบรวมในพิธีกรรมศาสนา กระบวนการทางสังคมของกัญชาดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นความพร่าเลือนและคร่อมข้ามของกรอบคิดทวิลักษณ์และปริมณฑลที่แน่นิ่ง ตายตัวต่าง ๆ ทั้งรัฐ/ราษฎร์ วิทยาศาสตร์/ศาสนา สาธารณะ/ส่วนตัว และได้นำไปสู่การขยับขยายเข้าใจต่อเรื่องการสั่งจ่ายยา โดยพิจารณาอิทธิพลของตัวแสดงที่ไม่ใช่มนุษย์ในบริบทด้วย


ชีวอำนาจกับฮาบิทัสของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร, ปิยชัย นาคอ่อน Jan 2020

ชีวอำนาจกับฮาบิทัสของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร, ปิยชัย นาคอ่อน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่อง ชีวอำนาจกับฮาบิทัสของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในระลอกที่สองในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร 2.เพื่อศึกษาการใช้ชีวอำนาจที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร 3.เพื่อวิเคราะห์การปรับตัวของฮาบิทัสที่ได้รับผลจากชีวอำนาจของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา การศึกษานี้ใช้แนวทางการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ การสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาจำนวน 15 คน ด้วยการคัดเลือกตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ผลการวิจัยพบว่า การเกิดขึ้นของโรคระบาดเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้รัฐไทยเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการโรคระบาดในรูปแบบการส่งผ่านชีวอำนาจทางในมิติต่าง ๆ ประการแรกคือ การใช้อำนาจรัฐโดยตรงในระดับจังหวัดกล่าวคือ การออกนโยบาย กฎหมาย มาตรการ ประกาศจังหวัด เพื่อควบคุมแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาและองค์กรเอกชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร การดำเนินการดังกล่าวของรัฐเป็นไปเพื่อให้แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ดูแลรักษาตนเองให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลาสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ประการที่สองการใช้อำนาจรัฐโดยส่งผลต่อวิถีชีวิตแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา การใช้อำนาจดังกล่าวส่งผลให้การเคลื่อนย้าย การพบปะสังสรรค์ และการทำกิจกรรมทางศาสนาหยุดชะงักลงหรือได้รับการควบคุม ทั้งนี้สื่อสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยที่เข้ามาทดแทนกิจกรรมดังกล่าว ประการสุดท้ายคือการใช้อำนาจรัฐโดยส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอันส่งผลต่อแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาและองค์การเอกชน การใช้อำนาจในส่วนนี้ได้ส่งผลต่อรายได้ ค่าใช้จ่ายประจำวัน และการส่งเงินกลับประเทศที่ลดลงอันเนื่องมาจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราวและการเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยาที่ยากลำบาก งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะว่า 1. หน่วยงานระดับจังหวัด ได้แก่ สำนักงานประกันสังคมและสำนักงานสาธารณสุข ต้องเข้ามาช่วยเหลือในส่วนเงินเยียวยาจากผลกระทบเชื้อไวรัส Covid-19 ในเรื่องของสุขภาพและสุขภาพจิตของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาเช่นเดียวกับชาวไทย 2. ผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการควรเข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการด้านเอกสารประกันสังคมเพื่อช่วยเหลือเยียวยาต่อไป


กลไกการหลอกลวงต่อการใช้เครื่องสำอางปลอมในกลุ่มพริตตี้, ณฐมน นวมนาคะ Jan 2020

กลไกการหลอกลวงต่อการใช้เครื่องสำอางปลอมในกลุ่มพริตตี้, ณฐมน นวมนาคะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลไกการหลอกลวงเครื่องสําอางปลอมในกลุ่มพริตตี้ โดยศึกษา พฤติกรรมการเลือกเครื่องสําอางของพริตตี้ที่แตกต่างในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ เกิดความรู้ ความเข้าใจว่าเหตุใด เครื่องสําอางปลอมยังคงเป็นที่นิยมอยู่ในสังคมไทย และเหตุใดในกลุ่มพริตตี้ มีการใช้เครื่องสําอางปลอมเหล่านี้ และให้แนวทางป้องกันการตกเป็นเหยื่อของพริตตี้จากกลไกการ หลอกลวงเครื่องสําอางปลอม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้เทคนิคการเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ แบบเจาะลึกในพริตตี้ทั้งหมด 15 คน โดยแบ่งประเภทผู้ให้สัมภาษณ์ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 7 คน และอีก 1 คน โดยกลุ่มแรก เรียกว่า กลุ่มพริตตี้ที่ใช้เครื่องสําอางปลอมเป็น ประจำ กลุ่มที่สองเรียกว่า กลุ่มพริตตี้ที่ไม่ใช้เครื่องสําอางปลอมเป็นประจำ และอีก 1 คน คือ พริตตี้ที่ไม่เคยใช้เครื่องสําอางปลอม จากการศึกษาพบว่า กลุ่มพริตตี้ที่ใช้เครื่องสําอางปลอมเป็น ประจำมีความเสี่ยง และมีผลกระทบมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น โดยจาก กลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ 7 รายมีผลกระทบเกิดขึ้น 4 ราย ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ไม่ใช้เครื่องสําอางปลอม เป็นประจำ มี ทั้งหมด 7 คน แต่ได้รับผลกระทบ 1 ราย ดังนั้นหากพริตตี้มีการใช้เครื่องสําอางปลอมเป็นประจำ ความเสี่ยงก็จะมีมากขึ้นในส่วนของผลกระทบที่จะเกิด นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่า กลไกการหลอกลวง ในเครื่องสําอางปลอมเกิดจากปัจจัยเหล่านี้ 1. การใช้ค่านิยมของสังคม 2. การใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ 3. การพิจารณาจากบุคคลต่างๆ เช่น ผู้มีชื่อเสียงในสังคม หรือการให้ความเห็นจากบุคคลอื่น 4.การเชื่อถือบุคคลรอบข้างเพื่อน บุคคลใกล้ชิดโดยเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ที่ส่งผลต่อกลุ่มพริตตี้ยังคงเป็นเหยื่อในเครื่องสําอางปลอม


สถานการณ์ของความโกรธกับมุมมองเชิงพื้นที่ของผู้ขับรถยนต์และการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงเทพมหานคร, ชัญญาณ์ภัช ทิพพาบุญ Jan 2020

สถานการณ์ของความโกรธกับมุมมองเชิงพื้นที่ของผู้ขับรถยนต์และการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงเทพมหานคร, ชัญญาณ์ภัช ทิพพาบุญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่องสถานการณ์ของความโกรธกับมุมมองเชิงพื้นที่ของผู้ขับรถยนต์ และการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงเทพมหานครมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาอารมณ์โกรธ และการแสดงออกขณะที่โกรธของผู้ขับรถยนต์ภายใต้สถานการณ์ต่างๆบนท้องถนน มุมมองเชิงพื้นที่ของผู้ขับรถยนต์ภายใต้ภาวะอารมณ์โกรธ และความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์โกรธและการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์บนท้องถนนโดยอาศัยกรอบแนวคิดทฤษฎีสังคมวิทยาอารมณ์ ทฤษฎีการปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ แนวคิดการผลิตพื้นที่ มุมมองต่อพื้นที่ และแนวคิดเกี่ยวกับอุบัติเหตุ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การสังเกตการณ์ขณะขับรถยนต์และสัมภาษณ์เชิงลึกโดยใช้กรณีศึกษาจำนวน 20 คน และระยะที่ 2 การสังเกตการณ์ผ่านกล้องบันทึกภาพในรถยนต์ โดยใช้กรณีศึกษาที่คัดเข้าจากระยะที่ 1 จำนวน 10 คน ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สึกและถ่ายทอดความคิดในสถานการณ์ธรรมชาติได้ดี ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เรื่องเล่าจากข้อความและภาพของกรณีศึกษาด้วยการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างผู้ขับรถยนต์และบริบทต่างๆ ผลการศึกษา พบว่า สถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงและพฤติกรรมที่เกิดจากการกระทำของผู้ขับรถยนต์มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงเทพมหานคร โดยที่ความโกรธและการแสดงความโกรธของผู้ขับรถยนต์เกี่ยวข้องทางอ้อม ความโกรธที่เกิดขึ้นบนถนนประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก คือสถานการณ์ ตัวตน และสัญญะที่เกิดจากการการปฏิสัมพันธ์ที่มีผลในการเป็นตัวจุดชนวน เพิ่ม ลด หรือหยุดความโกรธได้ และมีองค์ประกอบรองคือมุมมองของพื้นที่ เพราะอารมณ์โกรธเป็นกระบวนการผลิตที่ถูกผลิตสร้างจากการใช้พื้นที่ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้พื้นที่ถนนที่แตกต่างกัน การให้ความหมายของพื้นที่ที่แตกต่างกัน และการใช้รถใช้ถนนที่แตกต่างกันในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นของผู้ขับรถยนต์จนถูกผลิตสร้างจิตสำนึกในการใช้พื้นที่และการใช้รถใช้ถนนขึ้น ดังนั้นผู้ขับรถยนต์จึงมีการใช้ตัวตนของตนเองในการตีความ และตัดสินทั้งสถานการณ์และบุคคลอื่นในทุกพื้นที่ที่ใช้งานและแสดงตัวตนนั้นออกมาผ่านการกระทำที่ล้วนแสดงให้เห็นถึงบริบทบนท้องถนนของผู้ขับรถยนต์ในกรุงเทพมหานค


การเปลี่ยนผ่านของสัญศาสตร์แห่งชนชั้นในพิธีการไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม้ง: กรณีศึกษาคนไทยเชื้อสายจีน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา, อธิพร เรืองทวีป Jan 2020

การเปลี่ยนผ่านของสัญศาสตร์แห่งชนชั้นในพิธีการไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม้ง: กรณีศึกษาคนไทยเชื้อสายจีน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา, อธิพร เรืองทวีป

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาการเปลี่ยนผ่านของสัญศาสตร์แห่งชนชั้นในพิธีการไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม้ง: กรณีศึกษาคนไทยเชื้อสายจีน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมองผ่านมุมมองสัญศาสตร์และชนชั้นทางสังคม กลุ่มตัวอย่างพิจารณาจากคนไทยเชื้อสายจีน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์และกลุ่มเจเนอเรชันเอ็กซ์ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ใช้การสัมภาษณ์และการสังเกตการณ์อย่างไม่มีส่วนร่วมเพื่อเก็บข้อมูล ผลการวิจัยพบว่า การให้ภาพสัญญะและการให้ความหมายภายใต้การประกอบพิธีเช็งเม้ง มีการให้สัญญะจากอัตลักษณ์ของความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จีนกวางไสในพื้นที่เบตง สิ่งนี้นำไปสู่ความเฉพาะทางวัฒนธรรม ทั้งเรื่องอาหาร การใช้ภาษา ความเชื่อ ขั้นตอนการประกอบพิธีและลักษณะเฉพาะของสุสานตำบลยะรม สัญญะภายใต้การประกอบพิธีเช็งเม้งจึงแตกต่างจากพื้นที่อื่น ซึ่งสร้างชนชั้นทางสังคมจากการมีทุนที่แตกต่างกัน อันนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านการประกอบสร้างความหมาย การวิจัยพบว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นผลมาจากการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่มีปัจจัยทางสังคมที่แตกต่างกัน ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน 4 ประเด็น คือ 1) การลดขั้นตอนการทำพิธี 2) ประเภทอาหาร 3) การฝังศพสู่การเผาศพ 4) ป้ายฮวงซุ้ย นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่าชนชั้นทางสังคมที่แฝงอยู่ภายใต้การประกอบพิธีเช็งเม้ง เป็นชนชั้นทางสังคมภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องทุน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการให้ความหมายสัญญะต่อสิ่งของ วัตถุและบทบาททางเพศที่ต่างกัน จากปัจจัย 4 ประการ คือ 1) การประกอบอาชีพ 2) ฐานะทางเศรษฐกิจ 3) ระดับการศึกษา 4) การเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามสิ่งของบางประเภทไม่ได้มีนัยยะสำคัญในเรื่องชนชั้นทางสังคมในทุกครอบครัวของคนไทยเชื้อสายจีน การศึกษานี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าสัญญะและชนชั้นทางสังคมที่อยู่ภายใต้การประกอบพิธีเช็งเม้ง ควรพิจารณาปัจจัยทางสังคม ความแตกต่างของพื้นที่และอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์จีนที่ต่างกัน


ความเป็นแม่เชิงเทคโน : การประกอบสร้างเชิงภววิทยาของความเป็นแม่, ปาณิภา สุขสม Jan 2020

ความเป็นแม่เชิงเทคโน : การประกอบสร้างเชิงภววิทยาของความเป็นแม่, ปาณิภา สุขสม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่มีส่วนสำคัญต่อการประกอบสร้างความเป็นแม่ของมนุษย์ให้มีลักษณะซับซ้อนและก้าวข้ามความเป็นมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เรียกร้องกรอบแนวคิดใหม่ที่ไม่ใช่แต่เป็นเพียงการประกอบสร้างในเชิงความหมายทางสังคม หากแต่รวมไปถึงภววิทยาของความเป็นแม่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วย การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจบทบาทของเทคโนโลยีในกระบวนการสร้างความเป็นแม่ และติดตามปฏิบัติการของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี ที่ส่งผลให้ความเป็นแม่ก้าวข้ามภววิทยาของความเป็นมนุษย์ออกไป ผู้วิจัยนำเสนอเครื่องมือเชิงวิเคราะห์แบบใหม่ผ่านมุมมองแบบหลังมนุษยนิยม และทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ และใช้วิธีวิทยาแบบมาตุพันธุ์วรรณาเชิงเทคโน (techno-maternography) เพื่อทำความเข้าใจความเป็นแม่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีผู้กระทำที่เป็นมนุษย์และเทคโนโลยีเข้ามาร่วมปฏิบัติการ เทคโนโลยีที่ใช้เป็นกรณีศึกษาได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ เทคโนโลยีเชิงวัตถุสำหรับเลี้ยงดูลูก และเครือข่ายเชิงเทคโนที่สร้างการสนับสนุนแม่ งานวิจัยเสนอว่า เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวิถีความเป็นแม่ดำรงอยู่ในหลายรูปแบบ ซึ่งการดำรงอยู่ในแต่รูปแบบสามารถแสดงศักยภาพในฐานะผู้กระทำ โดยช่วยให้มนุษย์ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ปฏิบัติการของเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากในประกอบสร้างความเป็นแม่ให้กลายมาเป็น "ความเป็นแม่เชิงเทคโน" ซึ่งเป็นภววิทยาแบบหนึ่งที่มีรูปแบบที่ไม่ตายตัว และสามารถปรับเปลี่ยนไปตามองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมประกอบสร้าง ภววิทยาของความเป็นแม่เชิงเทคโนสามารถอยู่ในรูปแบบที่เป็นทั้งภววิทยาเชิงพื้นที่ ภววิทยาเชิงวัตถุ และภววิทยาเชิงเครือข่าย การศึกษาปฏิบัติการของเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการประกอบสร้างความเป็นแม่สะท้อนให้เห็นว่า การประกอบสร้างความเป็นแม่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างจากตัวแสดงที่เป็นมนุษย์เท่านั้น หากแต่ตัวแสดงที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างเทคโนโลยีก็มีส่วนในการสร้าง กำกับ และเปลี่ยนแปลงความเป็นแม่ได้ ความเป็นแม่ที่เคยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและเกี่ยวข้องกับความเป็นอัตวิสัย จึงเป็นเรื่องที่มีวัตถุและสิ่งอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีความเป็นวัตถุวิสัยร่วมอยู่ด้วยเสมอ ความเป็นแม่เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างและมีลักษณะความเป็นสัมพัทธ์นิยม อีกทั้งไม่ได้ถูกจำกัดแต่เพียงการสร้างทางสังคมในเชิงความหมายแบบเดิมอีกต่อไป


การกำหนดคำอธิบายและการให้ความหมายความรุนแรงในโลกออนไลน์:กรณีศึกษานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สุภาพร กมลฉ่ำ Jan 2020

การกำหนดคำอธิบายและการให้ความหมายความรุนแรงในโลกออนไลน์:กรณีศึกษานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สุภาพร กมลฉ่ำ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษามุมมองของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อการให้คำอธิบายและการให้ความหมายความรุนแรงในโลกออนไลน์ 2. เพื่อศึกษาทัศนคติที่มีต่อการแบ่งระดับความรุนแรงในโลกออนไลน์ และ 3. เพื่อวิเคราะห์การให้คำอธิบายและการให้ความหมายความรุนแรงในโลกออนไลน์ว่าเป็นผลมาจากแหล่งอิทธิพลทางสังคมอย่างไร โดยสัมภาษณ์นิสิตจุฬาฯ ที่มีอายุระหว่าง 18-23 ปี จำนวน 21 คน คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลหลักทั้งหมด 15 คน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า นิสิตจุฬาฯ ให้คำอธิบายความรุนแรงในโลกออนไลน์ว่าเป็นความรุนแรงที่ปรากฏให้เห็นได้ตามความแตกต่างของแพลตฟอร์มและชุมชนออนไลน์ต่าง ๆ อีกทั้งความรุนแรงในโลกออนไลน์ยังสามารถอธิบายได้ด้วยเงื่อนไขด้านความแตกต่างของเพศ และช่วงวัย โดยความหมายของความรุนแรงในโลกออนไลน์จะเกี่ยวข้องกับการแสดงออกของคำพูดหรือการกระทำที่ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจของบุคคล การคุกคามและการละเมิดความเป็นส่วนตัว และเนื้อหาที่ถูกเผยแพร่ลงในสื่อออนไลน์ ขณะที่การแบ่งระดับความรุนแรงในโลกออนไลน์ออกเป็นระดับต่าง ๆ ได้ชี้ให้เห็นถึงทัศนคติของนิสิตจุฬาฯ ตามการรับรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย รวมถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลจากครอบครัวที่ส่งผลต่อความคิดเรื่องความรุนแรงของกลุ่มเยาวชนโดยตรง การวิจัยนี้ จึงให้ต้องการชี้ให้เห็นถึงการศึกษาเบื้องต้นที่จะเป็นองค์ความรู้พื้นฐานสำหรับนักวิจัยที่ต้องการศึกษาและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงในโลกออนไลน์ในเชิงลึก เพื่อนำมาพัฒนาแก้ไขป้องกันปัญหาความรุนแรงในโลกออนไลน์ได้ทันต่อยุคสมัย


ทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณการทำงานในมุมมองของแต่ละรุ่นวัย: กรณีศึกษาบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา, พนิตชญา ลิ้มศิริ Jan 2020

ทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณการทำงานในมุมมองของแต่ละรุ่นวัย: กรณีศึกษาบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา, พนิตชญา ลิ้มศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่อง "ทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณการทำงานในมุมมองของแต่ละรุ่นวัย: กรณีศึกษาบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา" มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาทัศนคติของพนักงานบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาต่อโครงการขยายอายุเกษียณการทำงานของพนักงานอาวุโส ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการทำงานต่อของพนักงานบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น และเพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาโครงการขยายอายุเกษียณการทำงานของพนักงานอาวุโสของบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสานทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ พนักงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งหนึ่ง จำนวน 148 คน และผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการสัมภาษณ์จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบไปด้วยแบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน การทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากร 1 กลุ่มการวิเคราะห์ความเป็นอิสระ 2 กลุ่ม การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบจำแนกทางเดียว และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัย พบว่า 1) พนักงานบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมามีทัศนคติในระดับเห็นด้วยต่อการขยายอายุเกษียณการทำงานของพนักงานอาวุโส 2) อายุ สถานภาพสมรส ระดับรายได้ ภาวะสุขภาพ และภาวะการออมที่แตกต่างกัน ส่งผลให้บุคคลมีทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณการทำงานของพนักงานอาวุโสแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 สำหรับเพศ ระดับการศึกษา ตำแหน่งงาน และการมีบุคคลภายใต้ความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ไม่ได้ทำให้กลุ่มพนักงานบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมามีทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณของพนักงานอาวุโสแตกต่างกัน 3) ปัจจัยทางด้านสังคมและวัฒนธรรม (society & culture) ประกอบไปด้วย สภาพแวดล้อมรอบตัว และสภาพทางเศรษฐกิจ มีอิทธิพลเชิงบวกต่อทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณของพนักงานอาวุโส 4) ปัจจัยทางด้านการจัดการขององค์การ (organization management) ประกอบไปด้วย โอกาสก้าวหน้าในทางการงาน สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานของผู้สูงอายุ และลักษณะของงาน มีอิทธิพลเชิงบวกต่อทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณของพนักงานอาวุโส และ 5) ปัจจัยทางด้านความต้องการทางจิตใจและสังคม (psychological needs) ประกอบไปด้วย ความจำเป็นและความต้องการ และความสัมพันธ์ทางสังคมและการได้รับแรงสนับสนุนทางสังคม มีอิทธิพลเชิงบวกต่อทัศนคติต่อการขยายอายุเกษียณของพนักงานอาวุโส สำหรับในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า พนักงานบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาเห็นพ้องกันว่าโครงการขยายอายุเกษียณของพนักงานอาวุโสเป็นความพยายามที่ดีในการช่วยเหลือแรงงานสูงอายุ แต่ในการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้อาจมีอุปสรรคในการดำเนินการ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นขององค์การ ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์การที่จะต้องพิจารณาผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงานของพนักงานอาวุโส ดังนั้นหากมีการพิจารณาแล้วพบว่าองค์การจะยังได้รับผลประโยชน์จากการทำงานของพนักงานอาวุโสอยู่ องค์การหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็ควรที่จะทำการศึกษาเกี่ยวกับนโยบายการขยายอายุเกษียณการทำงานเพิ่มเติม และปฏิบัติตามอย่างเหมาะสม