Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Political Science

PDF

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Articles 151 - 178 of 178

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

การติดตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557, ทนาย เพิ่มพูล Jan 2018

การติดตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557, ทนาย เพิ่มพูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ติดตามการขับเคลื่อน ผลผลิต และผลลัพธ์ของนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 (2) วิเคราะห์อุปสรรคในการขับเคลื่อนนโยบายฯ และ (3) สังเคราะห์และเสนอแนวทางแก้ไขอุปสรรคในการขับเคลื่อนนโยบายฯ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงผสม ประกอบด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์ รวมทั้งการวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลและแบบสอบถาม ผลการวิจัยปรากฏว่า (1) ในการติดตามการขับเคลื่อนนโยบายด้านทรัพยากรที่ใช้เพียงพอแต่ยังขาดความสมดุลระหว่างด้านความมั่นคงและการพัฒนา ด้านเส้นทางนโยบายมีความเชื่อมโยงและเหมาะสม ด้านกระบวนการและกลไกสอดคล้องกันแต่ยังบูรณาการไม่สมบูรณ์ ด้านภาคีได้รับความร่วมมือดีขึ้นจากประชาชน ภาคประชาสังคม เอกชน และต่างประเทศ ส่วนขบวนการลดการก่อเหตุรุนแรงแต่เปลี่ยนมาต่อสู้ทางความคิดอย่างเปิดเผยมากขึ้น ในการติดตามผลผลิต เหตุการณ์ความรุนแรง การสูญเสียประชากรและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีแนวโน้มลดลง ส่วนการสิ้นเปลืองยุทโธปกรณ์และงบประมาณมีแนวโน้มสูงขึ้น และในการติดตามผลลัพธ์ มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับ"ปานกลาง"ทั้งในด้านการบรรลุวัตถุประสงค์ ความเท่าเทียม และเสรีภาพ (2) อุปสรรคที่สำคัญคืออุปสรรคในการบูรณาการให้การจัดสรรทรัพยากรมีสัดส่วนด้านความมั่นคงและการพัฒนาที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งบูรณาการกลไกความมั่นคงและการพัฒนา และอุปสรรคจากการที่ต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือภาคประชาสังคมอาจถูกขบวนการใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองได้ (3) ข้อเสนอแนวทางแก้ไขอุปสรรคควรปรับปรุงให้การขับเคลื่อนนโยบายมีความสมดุลระหว่างด้านความมั่นคงและพัฒนา ให้กลไกและภาคีในการขับเคลื่อนนโยบายมีพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้อง และปรับปรุงให้กระบวนการและกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายมีประสิทธิภาพ


ความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2475 : การก่อรูป, การประชันความหมาย และการผสมผสาน, เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ Jan 2018

ความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2475 : การก่อรูป, การประชันความหมาย และการผสมผสาน, เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีคำถามหลักในการศึกษาว่า ความคิด “ประชาธิปไตย” (Democracy) ในฐานะความคิดการเมืองตะวันตก เริ่มเข้ามาในสังคมไทยในยุคสมัยใด และมีการรับรู้เข้าใจในรูปแบบใดบ้างจนถึง พ.ศ. 2475? ผลการศึกษาพบว่า ความคิด "ประชาธิปไตย" (Democracy) เริ่มเข้ามาสู่ในสังคมไทยตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. 2475 มีการรับรู้เข้าใจในสังคมอย่างน้อยห้ารูปแบบด้วยกัน ได้แก่ (1) รูปแบบการปกครองที่ไม่มีกษัตริย์หรือมหาชนรัฐ (2) องค์ประกอบหนึ่งของระบอบการปกครอง (3) การปกครองของเอเธนส์โบราณ (4) การปกครองในรูปแบบตัวแทน และ (5) อำนาจของประชาชน มากไปกว่านั้น ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า ความหมายของประชาธิปไตยนั้นมีลักษณะที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง และเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางทฤษฎีและปฏิบัติการทางการเมืองตราบจนถึงปัจจุบัน


บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการเมืองไทย (พ.ศ. 2541-2557), ชาย ไชยชิต Jan 2018

บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการเมืองไทย (พ.ศ. 2541-2557), ชาย ไชยชิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาวิเคราะห์ถึงบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไทยในช่วงเวลานับแต่ปี 2541 ถึงปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออธิบายว่าการจัดตั้งสถาบันทางการเมืองรูปแบบใหม่นี้ขึ้นมาในโครงสร้างระบอบการเมืองของไทย ส่งผลให้กระบวนการทางการเมืองโดยรวมมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากในช่วงก่อนหน้านั้นอย่างไร การศึกษาวิเคราะห์รายละเอียดเนื้อหาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงเวลาดังกล่าว จำนวน 677 คำวินิจฉัย พบว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลต่อการใช้อำนาจขององค์กรต่าง ๆ ได้แก่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลต่าง ๆ รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการวินิจฉัยข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญหลายลักษณะ ได้แก่ การโต้แย้งปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบนามธรรมในช่วงก่อนและหลังกฎหมายประกาศใช้ การตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ใช้พิพากษาคดีในศาล ข้อขัดแย้งเรื่องอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ การตีความรัฐธรรมนูญ รวมถึงปัญหาความถูกต้องสมบูรณ์ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญของการดำรงตำแหน่งสาธารณะ การดำเนินกิจการพรรคการเมืองและกระบวนการทางการเมือง การทำหน้าที่ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในฐานะสถาบันที่ทำหน้าที่พิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ


วัดกับรัฐ: กรณีศึกษาโครงการความร่วมมือระหว่างวัดพระธรรมกายและกระทรวงศึกษาธิการในโครงการ เด็กดี V-Star, กันต์ แสงทอง Jan 2018

วัดกับรัฐ: กรณีศึกษาโครงการความร่วมมือระหว่างวัดพระธรรมกายและกระทรวงศึกษาธิการในโครงการ เด็กดี V-Star, กันต์ แสงทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้เป็นการเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับรัฐในบริบทการเมืองไทย โดยมีกรณีศึกษาคือโครงการเด็กดี V-STAR ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างวัดพระธรรมกายและกระทรวงศึกษาธิการ โดยอธิบายความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจและการต่อรอง ผ่านแนวคิดโครงสร้างหน้าที่ และ กลไกอุดมการณ์รัฐตลอดจนแนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาโดยการวิจัยเชิงเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการศึกษาพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับรัฐในบริบททางการเมืองไทยนั้น วัดอยู่ภายใต้การควบคุมของโครงสร้างอำนาจของรัฐผ่านกรอบของกฎหมายและระบบราชการ โดยมีการรับรองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับรัฐพบว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2540 วัดมีบทบาทสถาบันหนึ่งของสังคมที่ทำหน้าที่กล่อมเกลาอุดมการณ์หลักของรัฐและมีบทบาทที่สัมพัน์กับรัฐใน 4 รูปแบบคือ ร่วมมือ เรียกร้อง ต่อรอง และ ขัดแย้ง ในกรณีของวัดพระธรรมกายกับกระทรวงศึกษาธิการพบว่าการดำเนินโครงการเด็กดี V-STAR มีลักษณะความสัมพันธ์เชิงร่วมมือกันระหว่างรัฐกับวัดพระธรรมกาย โดยวัดพระธรรมกายมีใช้วิธีการในการเข้าหารัฐผ่านทั้งโครงสร้างของระบบราชการมากกว่าจะเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากฝ่ายการเมืองซึ่งต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างวัดอื่นๆกับรัฐ


รัฐ ทุน และชาวนาหลังโครงการรับจำนำข้าว, กัญญาภัทร เพชรร่วง Jan 2018

รัฐ ทุน และชาวนาหลังโครงการรับจำนำข้าว, กัญญาภัทร เพชรร่วง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน และชาวนาที่เกิดขึ้นภายหลังโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยแบ่งเป็นประเด็นในการอธิบายออกเป็น 3 ประเด็น คือ 1) รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน และชาวนาหลังโครงการรับจำนำข้าว 2) ผลที่เกิดขึ้นจากการปรับรูปแบบความสัมพันธ์ต่อตัวแสดงทั้งสามฝ่าย และ 3) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ของรัฐ ทุน และชาวนาหลังนโยบายรับจำนำข้าว ผลการวิจัยพบว่าหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 รัฐ (รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และระบบราชการ) ไม่เข้มแข็งพอที่จะควบคุมหรือกำหนดนโยบายเองทั้งหมดเหมือนที่เคยทำได้ในสมัยที่เป็นรัฐราชการ หรือ ช่วงที่เป็นแบบภาคีรัฐ - สังคม เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ทำให้บริบทด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจเปลี่ยนไป รัฐจึงต้องค่อยๆ คลายตัว และลดบทบาทของตนเองลง ในช่วงเวลานั้นทุน โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ และชาวนามีโอกาสได้พัฒนาตนเองจนทำให้มีอำนาจในการต่อรองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐต้องมีการปรับตัว คือการพัฒนาตนเองของชาวนาในด้านการเมืองโดยเฉพาะในช่วงการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ประกอบกับบริบททางเศรษฐกิจที่เอื้อให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่สามารถลดการพึ่งพิงรัฐลงได้เรื่อยขณะที่รัฐกลับต้องพึ่งพาการลงทุนจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งต้องสร้างการยอมรับจากทุนท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวนาแทนระบบราชการในท้องถิ่น และต้องการการยอมรับจากชาวนาซึ่งเป็นกลุ่มพลังสำคัญทางการเมือง รัฐจึงจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้คนจากกลุ่มอื่นได้เข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนด และดำเนินนโยบายมากกว่ากลุ่มอื่นๆแต่กระนั้น รัฐก็มิได้ปล่อยให้อำนาจในการต่อรอง หรือกำหนดนโยบายให้เป็นไปตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo - Liberalism)เสียทีเดียว กล่าวคือ รัฐยังคงมีการแทรกแซง และกุมอำนาจอยู่ และยังไม่ได้เปิดโอกาสให้ชาวนาได้เข้าไปมีส่วนร่วมเท่าที่เคยมีในช่วงรัฐบาลที่ผ่านๆ มาดังนั้นรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน และชาวนาหลังโครงการรับจำนำข้าวจึงยังคงเป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่งเช่นที่ผ่านมา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า รัฐในยุคของ คสช. จะพยายามรักษาความสัมพันธ์กับทุนท้องถิ่น และชาวนาผ่านการดำเนินนโยบายในลักษณะประชานิยมต่างๆ รัฐยังคงไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนาและเอื้อประโยชน์ให้กับทุนขนาดใหญ่เป็นหลักเช่นเดิม


พลวัตรของการกำหนดนโยบายค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย, ณัฐภัทร โสพิณ Jan 2018

พลวัตรของการกำหนดนโยบายค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย, ณัฐภัทร โสพิณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ประเด็นนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นข้อขัดแย้งที่มีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยประเด็นนี้นั้นจึงเป็นประเด็นที่มีมิติทางการเมืองอย่างชัดเจนผ่านการกดดันจากกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ในสิ่งที่ตนต้องการผ่านหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นทางพรรคการเมืองหรือกลุ่มคณะต่าง ๆ ที่มีผลได้ผลเสียกับนโยบายที่จะกำหนดลงโดยงานชิ้นนี้นั้นต้องการที่จะอธิบายและวิเคราะห์พลวัตรของการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยโดยให้ให้ความสำคัญกับบริบททางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของนโยบาย ซึ่งงานชิ้นนี้นั้นได้มีจุดประสงค์ที่จะ วิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุที่นำไปสู่รูปแบบของการกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำภายในบริบทการเมืองที่แตกต่างกัน อธิบายพลวัตรของการกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำในบริบททางการเมืองที่แตกต่างกัน และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างระบอบการเมืองกับการกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งงานชิ้นนี้นั้นศึกษาช่วงเวลาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรจนถึงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และใช้การเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของการกำหนดนโยบายนี้ สิ่งที่พบในการศึกษาคือการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของไทยนั้นมีรูปแบบทั่วไปที่คล้ายกันในตลอดที่ผ่านมาคือการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีข้อยกเว้นในบางกรณีที่มาจากบริบททางการเมืองพิเศษคือการเลือกตั้ง บริบททางการเมืองนั้นส่งผลกับแนวทางและทิศทางของการกำหนดนโยบายทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่ระบอบการเมืองนั้นไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับการปรับขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำแต่เป็นบริบททางการเมืองโดยรวมมากกว่าที่ส่งผลอย่างเห็นได้ชัด


การศึกษาความสัมพันธ์ของการพัฒนาเมืองภูเก็ตกับการเมืองท้องถิ่น, สุดรัก หนูนิ่ม Jan 2018

การศึกษาความสัมพันธ์ของการพัฒนาเมืองภูเก็ตกับการเมืองท้องถิ่น, สุดรัก หนูนิ่ม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่องการศึกษาความสัมพันธ์การพัฒนาเมืองภูเก็ตกับการเมืองท้องถิ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ถึง ปัจจุบัน โดยมุ่งทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในอำนาจของนักการเมืองท้องถิ่นกับพื้นที่เมืองในระดับนคร ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจการเมือง โดยมีคำถามการวิจัยคือ 1) ลักษณะการพัฒนาทุนนิยมของจังหวัดภูเก็ตเชื่อมโยงหรือมีผลต่อการเมืองท้องถิ่นอย่างไรและ 2) ทุนนิยมชนิดใดทีเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เมืองภูเก็ตเกิดการพัฒนา การศึกษาครั้งนี้ได้อาศัยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการศึกษาพื้นที่เมืองของเทศบาลนครภูเก็ต ผลการศึกษาพบว่าทุนนิยมในเมืองนครภูเก็ตตั้งแต่อดีต จนกระทั่งปัจจุบัน ประกอบไปด้วยทุนนิยมเหมืองแร่ และทุนนิยมวัฒนธรรม โดยทุนนิยมเหมืองแร่มีทุนทรัพยากรเป็นพื้นฐานที่สำคัญหลังจากกิจการเหมืองแร่เริ่มซบเซา เมืองภูเก็ตมีสภาพเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก จนกระทั่งนักการเมืองท้องถิ่นเทศบาลนครภูเก็ตได้เล็งเห็นถึงการนำทุนอุตสาหกรรมและทุนภาคบริการมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง นับจากนั้นเพียงไม่นานทุนดังกล่าวก็ได้หล่อรวมเกิดเป็นทุนนิยมวัฒนธรรมขึ้นในพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ต ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจในพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งทำให้นักการเมืองท้องถิ่นที่เข้ามาแย่งชิงอำนาจในพื้นที่เมืองแห่งนี้ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตของเมืองนครภูเก็ตผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ ทำให้พื้นที่เมืองถูกขยายและพัฒนาออกไป ระบบทุนนิยมวัฒนธรรมวัฒนธรรมส่งผลต่อเศรษฐกิจเมืองและเมื่อเศรษฐกิจเป็นตัวชี้นำทิศทางของการเมืองได้ การแพ้ชนะในการแข่งขันของการเมืองท้องถิ่นจึงเป็นการแพ้ชนะกันด้วยโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดทุนนิยมวัฒนธรรมขึ้น คือ การเมืองท้องถิ่นเทศบาลนครภูเก็ตซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่ากลุ่มการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีมีมีเพียงกลุ่มเดียวคือ กลุ่มคนหนุ่ม ซึ่งสมาชิกในกลุ่มล้วนแล้วแต่เป็นนายทุนในพื้นที่ที่มีการสะสมทุนทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ยุคทุนนิยมเหมืองแร่ ดังนั้นนครภูเก็ตตั้งแต่ปี 2540 จนกระทั้งถึงปัจจุบันถูกขับเคลื่อนโดยทุนนิยมที่เรียกว่าทุนนิยมวัฒนธรรม


นโยบายต่างประเทศของรัสเซียต่อกรณีพิพาทหมู่เกาะคูริลระหว่าง ค.ศ. 2000 ถึง 2008, นราวดี สุวรรณกูฏ Jan 2018

นโยบายต่างประเทศของรัสเซียต่อกรณีพิพาทหมู่เกาะคูริลระหว่าง ค.ศ. 2000 ถึง 2008, นราวดี สุวรรณกูฏ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ต้องการศึกษาปัจจัยที่ทำให้รัสเซียในสมัยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อกรณีพิพาทหมู่เกาะคูริลระหว่างค.ศ. 2000 ถึง 2008 ทั้งนี้ผู้วิจัยศึกษาปัจจัยในสามระดับ ได้แก่ 1. ตัวแสดงระดับปัจเจกบุคคล 2. ตัวแสดงระดับภายในประเทศ 3. ตัวแสดงระดับระหว่างประเทศ เพื่อศึกษาว่าปัจจัยใดที่ส่งผลให้ท่าทีของรัสเซียแข็งกร้าว ซึ่งแตกต่างจากสมัยแรกของประธานาธิบดีปูตินรัสเซียที่ยังพยายามเจรจาแก้ไขกรณีพิพาทหมู่เกาะคูริล จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในสมัยที่สองเมื่อรัสเซียเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจบนหมู่เกาะและมีการประจำกองทัพโดยมีเป้าหมายหลักด้านความมั่นคง การศึกษาพบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้รัสเซียดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวมากขึ้นเพราะตัวแสดงระดับภายในประเทศและตัวแสดงระดับระหว่างประเทศ เพราะในสมัยแรกรัสเซียยังยินดีที่จะเจรจาตามปฏิญญาร่วมระหว่างอดีตสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่น ค.ศ. 1956 ซึ่งรัสเซียตกลงที่จะคืนเกาะชิโกตันและเกาะฮาโบไมซึ่งเป็นสองเกาะเล็กให้ญี่ปุ่น แต่ท่าทีของรัสเซียในสมัยที่สองได้เปลี่ยนแปลงไป รัสเซียยังคงยืนกรานอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะคูริลและแสดงท่าทีแข็งกร้าวที่จะไม่คืนแม้แต่เกาะชิโกตันและเกาะฮาโบไมให้ญี่ปุ่น บทบาทของตัวแสดงระดับภายในประเทศที่มีผลอย่างมากต่อท่าทีของรัสเซีย คือ สภาดูม่าซาคาลินส์ซึ่งต่อต้านการยกหมู่เกาะคูริลให้ญี่ปุ่นส่งผลให้เกิดความขัดแย้งภายในรัสเซีย เพราะในตอนแรกรัฐบาลซึ่งนำโดยประธานาธิบดีปูตินมีท่าทีประนีประนอมต่อการแก้ไขกรณีพิพาทหมู่เกาะคูริล ส่วนบทบาทตัวแสดงระดับระหว่างประเทศที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกาที่เป็นพันธมิตรหลักของญี่ปุ่น ยิ่งทำให้รัสเซียหวั่นเกรงเรื่องความมั่นคงเพราะหากรัสเซียยกหมู่เกาะคูริลให้ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาอาจจะเข้ามาตั้งฐานทัพในหมู่เกาะคูริลได้ในอนาคต บทบาทของตัวแสดงระดับภายในประเทศและตัวแสดงระดับระหว่างประเทศส่งผลให้รัสเซียไม่สามารถยกหมู่เกาะคูริลให้ญี่ปุ่นได้


บทบาทการรณรงค์ของภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ในต่างประเทศกรณีหญิงบำเรอทหารญี่ปุ่น: ศึกษาระหว่าง ค.ศ.2010-2017, สุชาดา เลี้ยงชูศักดิ์ Jan 2018

บทบาทการรณรงค์ของภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ในต่างประเทศกรณีหญิงบำเรอทหารญี่ปุ่น: ศึกษาระหว่าง ค.ศ.2010-2017, สุชาดา เลี้ยงชูศักดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาบทบาทของภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ในการเรียกร้องความรับผิดชอบจากญี่ปุ่นกรณีหญิงบำเรอที่เกิดขึ้นช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวทีระหว่างประเทศ ระหว่าง ค.ศ. 2010-2017 ทั้งในส่วนของการตั้งอนุสาวรีย์และรูปปั้นหญิงบำเรอในต่างแดนและการนำประเด็นขึ้นเรียกร้องในสถาบันระหว่างประเทศ เช่นองค์การสหประชาชาติ (United Nations) โดยต้องการศึกษาว่า ภาคประชาสังคมเกาหลีใต้มียุทธศาสตร์หรือวิธีการใด ในการนำอนุสาวรีย์และรูปปั้นหญิงบำเรอไปตั้งในต่างประเทศและนำประเด็นปัญหาขึ้นเสนอต่อที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ ผู้วิจัยใช้แนวคิดเรื่องประชาสังคมข้ามชาติ (transnational civil society) มาเป็นกรอบในการศึกษายุทธศาสตร์ของภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ 3 กลุ่ม คือ สมาคมชาวเกาหลีเพื่อผู้หญิงที่ถูกใช้บำเรอทหารญี่ปุ่น (the Korean Council for Women Drafted for Military Sexual Slavery by Japan) หรือ the Korean Council, ภาคประชาสังคมเมืองฮวาซ็อง (Hwaseong city civic group) และภาคประชาสังคมเมืองซูวอน (Suwon city civic group) ผลการศึกษาพบว่า ในการผลักดันประเด็นปัญหาในสู่เวทีนานาชาตินั้น ภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ใช้วิธีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มผู้สนับสนุนในต่างประเทศ อย่างภาคประชาสังคมภายนอกเกาหลีใต้และองค์กรระหว่างประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 รูปแบบด้วยกันคือ การใช้กรอบการมีประสบการณ์ร่วมกัน (sisterhood) การใช้อุดมการณ์สากลอย่างสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี (human rights and women's rights) และการผลักดันอดีตหญิงบำเรอออกมาสู่สาธารณะ (survivor's testimony)


The Design Of Thailand International Public Sector Standard Management System And Outcomes In Service For The Private Sector And People System (P.S.O. 1107): Case Study Of Siriraj Piyamaharajkarun Hospital, Pimadej Siwapornpitak Jan 2018

The Design Of Thailand International Public Sector Standard Management System And Outcomes In Service For The Private Sector And People System (P.S.O. 1107): Case Study Of Siriraj Piyamaharajkarun Hospital, Pimadej Siwapornpitak

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The application of privatization in public sector is a one of strategic transformations that significantly helps promoting the organizational development in terms of efficiency and quality which subsequently resulted to the continuous financial development which refers to as revenue and profitability. Such development usually will be corresponded to the competitive market which indicates the organizational achievement. However, privatization can possibly create direct impacts on public sector and stakeholders as well if it was conducted in the public sector that emphasized on public health services such as public hospital where the core product is health care or medical treatment. The objectives …


ความไม่มั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์: ที่มา พลวัต และแนวโน้ม, ปานหทัย วาสนาวิจิตร์ Jan 2017

ความไม่มั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์: ที่มา พลวัต และแนวโน้ม, ปานหทัย วาสนาวิจิตร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความไม่มั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์โดยใช้แนวคิดความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) มากำหนดดัชนีความั่นคงด้านพลังงาน เพื่อนำเสนอให้เห็นประเด็นด้านความมั่นคงพลังงานของเมียนมาร์ในช่วง ค.ศ. 2010 - 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเมียนมาร์นำโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (Thein Sein) ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายด้านพลังงานคู่ขนานกับนโยบายด้านการลงทุนของประเทศ จากการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการหลั่งไหลของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในเมียนมาร์ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานต่างๆ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ทรัพยากรน้ำ และถ่านหิน เป็นต้น ผลจากการวิเคราะห์ความมั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์ตามดัชนีความมั่นคงด้านพลังงานทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การมีพลังงานที่เพียงพอ (Availability) การเข้าถึงพลังงาน (Accessibility) การมีราคาพลังงานที่สามารถหาซื้อได้ (Affordability) และการยอมรับทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Acceptability) พบว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศด้านพลังงานในช่วง ค.ศ. 2010 - 2015 ไม่ได้พัฒนาภาคพลังงานของเมียนมาร์อย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากสถานการณ์ด้านพลังงานของเมียนมาร์ยังไม่มีความมั่นคงตามประเด็นที่กำหนดไว้ในแต่ละดัชนี อาทิเช่น การผลิตพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ การมีโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงข่ายพลังงานที่ไม่ทั่วถึง และการขาดความโปร่งใสและไม่เป็นที่ยอมรับในการบริหารจัดการภาคพลังงาน เป็นต้น ซึ่งอาจเรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ว่าเป็นพลวัตความไม่มั่นคงด้านพลังงานในเมียนมาร์


การลงทุนต่างประเทศจากประเทศกำลังพัฒนาในรัฐสังคมนิยม : ศึกษากรณีการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติไทยในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, วิทวัส บูรณะ Jan 2017

การลงทุนต่างประเทศจากประเทศกำลังพัฒนาในรัฐสังคมนิยม : ศึกษากรณีการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติไทยในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, วิทวัส บูรณะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อประเทศสังคมนิยม โดยเป็นการศึกษาบรรษัทข้ามชาติจากประเทศกำลังพัฒนาที่ไปลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment, FDI) ในรัฐสังคมนิยมโดยใช้กรณีศึกษาของบรรษัทข้ามชาติจากประเทศไทย ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) และกลุ่มไทยซัมมิท (Thai Summit) ที่ไปลงทุนในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม วัตถุประสงค์ต้องการทราบว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่มีตัวแสดงสำคัญคือบรรษัทข้ามชาติมีอิทธิพลหรือไม่อย่างไรในเวียดนาม และ ต้องการทราบว่าบรรษัทข้ามชาติไทยจะมีอิทธิพลในฐานะตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศในกรณีการลงทุนในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามหรือไม่ อย่างไร การศึกษานี้ใช้วิธีการในเชิงคุณภาพโดยการศึกษาสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลัก 49 ท่าน ประกอบกับการศึกษาตำรา บทความ ตลอดจนสื่อสารมวลชนต่างๆ ผลการศึกษาพบว่า เวียดนามไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้ แต่มีปัจจัยสำคัญคือ การเป็นรัฐเผด็จการคอมมิวนิสต์ การปลูกฝังค่านิยมตามแนวทางขงจี๊อ และค่านิยมรักชาติ เป็นเครื่องมือตลอดจนเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญ ในการสนับสนุนให้เวียดนามเป็นตัวแสดงที่มียุทธศาสตร์ และสามารถอยู่ท่ามกลางโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้ ในมิติของการเป็นตัวแสดงทางการเมืองของบรรษัทข้ามชาติไทย ผู้วิจัยพบว่าในระยะเริ่มแรกของการเข้าไปลงทุน ซีพีมีฐานะเป็นตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศเนื่องจากการครอบครองเทคโนโลยีทางการเกษตร และจะมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเกษตรที่เวียดนามเผชิญอยู่ เอสซีจีไม่มีฐานะในการเป็นตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศจากปรัชญาการทำธุรกิจของบริษัท ขณะที่ไทยซัมมิทไม่มีบทบาทในฐานะตัวแสดงการเมืองระหว่างประเทศโดยการลงทุนของไทยซัมมิทนั้นได้ประโยชน์ในฐานะที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีอยู่แล้ว การดำเนินธุรกิจในระยะต่อมาพบว่าซีพีไม่มีฐานะเป็นตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศเนื่องจากปัญหาด้านการเกษตรในเวียดนามได้รับการแก้ไข เอสซีจีในเวียดนามไม่มีฐานะเป็นตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศด้วยตัวเอง แต่สามารถใช้ความเข้มแข็งในประเทศผลักดันนโยบายผ่านตัวแสดงทางเมืองของไทยได้ ในขณะที่การลงทุนของไทยซัมมิทยังคงเป็นไปในลักษณะเช่นเดิม


นโยบายของญี่ปุ่นต่อโครงสร้างอำนาจใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก: ศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น, กนกวรรณ เชาวกิจ Jan 2017

นโยบายของญี่ปุ่นต่อโครงสร้างอำนาจใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก: ศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น, กนกวรรณ เชาวกิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP)​ ของญี่ปุ่น ค.ศ. 2013 โดยใช้แนวคิดการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร (Alliance) และแนวคิดการคานอำนาจ (Balance of Power) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญของการศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีสมมติฐานว่า ญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะใช้ข้อตกลง TPP เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคง เพราะการที่สหรัฐฯ สามารถคงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกผ่านนโยบายการหันความสนใจมาสู่เอเชีย (Pivot to Asia) เป็นการคานบทบาทและอิทธิพลของจีนและกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีจีนเป็นผู้ขับเคลื่อนไม่ให้มีบทบาทครอบงำในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก จากการศึกษาพบว่า ญี่ปุ่นประกาศความสนใจที่จะเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง TPP ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2010 ซึ่งรัฐบาลพรรค DPJ ต้องเผชิญกับการคัดค้านภายในประเทศและปัญหาภัยพิบัติแผ่นดินไหว ค.ศ. 2011 ทำให้ต้องเลื่อนการเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง TPP ออกไป แต่ในสมัยรัฐบาลพรรค LDP สามารถผลักดันข้อตกลง TPP และโน้มน้าวประชาชนให้เห็นด้วยกับข้อตกลง TPP จนสามารถประกาศให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมข้อตกลง TPP อย่างเป็นทางการได้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทั้งนี้พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องการเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลง TPP เนื่องด้วยญี่ปุ่นต้องการใช้ข้อตกลง TPP เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยแสดงให้เห็นว่าระบบพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังคงมีความเข้มแข็งอยู่ โดยข้อตกลง TPP ช่วยสนับสนุนนโยบายการหันความสนใจมาสู่เอเชีย (Pivot to Asia) เพื่อให้สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทในภูมิภาคต่อไป เพื่อสกัดกั้นการขยายบทบาทและอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP แต่ญี่ปุ่นยังคงผลักดันข้อตกลง TPP ในฐานะเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของตนต่อไป


การมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซีย: กรณีศึกษาความสัมพันธ์ทางด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและจีน, ธัญสุดา เทพกุล Jan 2017

การมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซีย: กรณีศึกษาความสัมพันธ์ทางด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและจีน, ธัญสุดา เทพกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษานโยบายการมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซียโดยใช้กรณีศึกษาความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีน ระหว่างปี 2009 - 2015 โดยประยุกต์ใช้แนวคิดสัจนิยเชิงรุกของ จอห์น เมียร์ชไฮเมอร์ เป็นกรอบในการศึกษาร่วมกับแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ แนวคิดภูมิเศรษฐศาสตร์ และแนวคิดขั้วอำนาจ เพื่อเสนอว่า การมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซียเป็นการพยายามแสวงหาพันธมิตรและความอยู่รอดในช่วงเวลาที่อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาลดลงและความสัมพันธ์กับตะวันตกเสื่อมถอย นับตั้งแต่สงครามจอร์เจียในปี 2008 ตลอดจนวิกฤตยูเครนในปี 2014 โดยใช้ทรัพยากรพลังงาน ได้แก่ น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ในเขตไซบีเรียตะวันออกและเขตตะวันออกไกลที่มีอยู่จำนวนมากเป็นเครื่องมือในการผูกมิตรกับจีน ตลอดจนใช้ความสัมพันธ์ด้านพลังงานเป็นทางไปสู่การขยายบทบาทและอิทธิพลในด้านตะวันออกเพื่อถ่วงดุลกับตะวันตก จากการศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีนถือเป็นความสำเร็จของการมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซีย ดังปรากฎให้เห็นได้จากการเกิดระบบท่อขนส่งน้ำมันจากรัสเซียไปสู่จีนและไปยังชายฝั่งเอเชียแปซิฟิก และจากโครงการ Power of Siberia ในปี 2014 ที่ครอบคลุมถึงข้อตกลงซื้อขายแก๊สระหว่างรัสเซียกับจีนในระยะยาวและการก่อสร้างท่อขนส่งแก๊สธรรมชาติสายแรกจากรัสเซียสู่จีน และโครงการนี้ยังกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในทำนองเดียวกันกับประเทศในเอเชียตะวันออก การเกิดระบบท่อขนส่งดังกล่าวเป็นการรับประกันถึงความมั่นคงด้านพลังงานระยะยาวของรัสเซียกับจีน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออก และทำให้รัสเซียสามารถถ่วงดุลการส่งออกพลังงานได้ทั้งสองฝั่งของโลก นอกจากนี้ความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับจีนทำให้รัสเซียหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งกับตะวันตก สนับสนุนระเบียบโลกแบบหลายขั้วอำนาจ และเป็นส่วนหนึ่งในการถ่วงดุลอำนาจกับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาจากการใช้น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ


โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมกับการแพร่ขยายของวัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกัน : กรณีศึกษาเครือข่ายธุรกิจอาหารจานด่วนในประเทศบรูไนดารุสซาลาม, พิชญสุดา พลเสน Jan 2017

โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมกับการแพร่ขยายของวัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกัน : กรณีศึกษาเครือข่ายธุรกิจอาหารจานด่วนในประเทศบรูไนดารุสซาลาม, พิชญสุดา พลเสน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแพร่ขยายตัวของเครือข่ายธุรกิจอาหารจานด่วนอเมริกันไปยังนานาประเทศ ถือเป็นกระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์ที่มีประสิทธิภาพ และส่วนมากมีความสัมพันธ์กับกระบวนการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมกับหลายประเทศทั่วโลก ผู้วิจัยได้เลือกกรณีศึกษาประเทศบรูไนดารุสซาลามเนื่องจากเห็นว่า เป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์เข้าถึงยาก สังคมค่อนข้างปิด เป็นรัฐอิสลามที่เคร่งครัดด้วยกฏทางศาสนา และยังมีระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ผู้วิจัยจึงได้เข้าไปทำการวิจัยตรวจสอบสมมติฐานดังกล่าวข้างต้นในประเทศบรูไน โดยใช้วิธีวิจัยแบบลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลแบบวิจัยจากการสังเกต การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง และการตอบแบบสอบถาม ผลการวิจัยพบว่า 1.) แมคโดนัลดาภิวัตน์ในบรูไน ไม่ใช่เป็นกระบวนการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมแต่ถือเป็นพหุวัฒนธรรมในบรูไน เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนมากชื่นชอบอาหารจานด่วนอเมริกันและมองว่าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการบริโภค ทางฝั่งผู้ผลิตก็พยายามปรับนโยบายทางการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น ทำให้วัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกันสามารถผสมผสานและดำเนินร่วมกันได้ดีกับวัฒนธรรมท้องถิ่น 2.) กระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในบรูไนค่อนข้างตรงข้ามทฤษฎีเดิม จากการสังเกตการณ์กลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคร้านแมคโดนัลด์ในกรุงบันดาเสรีเบกาวัน พบว่าคนค่อนข้างใช้ชีวิตแบบช้าๆ ไม่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร ใช้ร้านอาหารจานด่วนเหมือนร้านอาหารทั่วไป มีเมนูเฉพาะท้องถิ่นที่หารับประทานไม่ได้ในประเทศอื่น 3.) แบรนด์อาหารจานด่วนท้องถิ่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความนิยมมากกว่าแบรนด์อาหารจานด่วนต้นตำรับอเมริกัน ตัดสินได้โดยความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างที่ยืนยันว่า ร้านอาหารจานด่วนท้องถิ่นสามารถใช้กระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์และท้องถิ่นภิวัตน์ได้ดีเหมาะสมกับชาวท้องถิ่นมากกว่าร้านอาหารจานด่วนอเมริกัน จนพวกเขาพึงพอใจในรสชาติ ราคา ปริมาณ และการเข้าถึงสถานที่ และ 4.) ด้วยเหตุผลดังกล่าว กลุ่มตัวอย่าง ไม่ได้มีอคติหรือต่อต้านกับวัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกัน และไม่ได้รู้สึกว่าการบริโภคอาหารจานด่วนอเมริกันเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม


อนุรักษนิยมไทยกับนโยบายต่างประเทศ (พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2521), ศิบดี นพประเสริฐ Jan 2017

อนุรักษนิยมไทยกับนโยบายต่างประเทศ (พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2521), ศิบดี นพประเสริฐ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาบทบาทของอนุรักษนิยมไทยที่มีต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศในช่วง พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2521 อันเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเวทีระหว่างประเทศและในการเมืองไทย ทั้งนี้ ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายในของไทยอันเกิดขึ้นจากการขยายตัวของพลังฝ่ายขวาในการต่อต้านขบวนการนักศึกษาและขบวนการเคลื่อนไหวอื่นจำนวนมากในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคหลังการประกาศถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากเวียดนาม ทำให้รัฐอนุรักษนิยมไทยต้องหาทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาระบอบที่จะนำเสถียรภาพและความมั่นคงกลับคืนมา นั่นคือการตัดสินใจเลือกแนวทางการปรับนโยบายที่แตกต่างจากข้อเรียกร้องของขบวนการฝ่ายขวา โดยผลการศึกษาพบว่าอนุรักษนิยมไทยในบริบทของการกำหนดนโยบายต่างประเทศนั้นไม่มีความเป็นเอกภาพ นั่นคือ มีทั้งอนุรักษนิยมที่มีบทบาทที่สำคัญในการปรับนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยการสนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มประเทศอินโดจีน และอนุรักษนิยมที่เป็นฝ่ายขวา คือ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อต้านประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ และต่อต้านการปรับนโยบายต่างประเทศต่อประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด จึงอาจกล่าวได้ว่าอนุรักษนิยมฝ่ายขวาเป็นปัจจัยสร้างเงื่อนไขเร่งความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายในของไทย และสามารถสั่นคลอนฐานะของรัฐบาลได้ แต่กลับไม่ได้มีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศ


ระบบเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้ง: เป้าหมายและผลลัพธ์ทางการเมือง, ณสดมภ์ ธิติปรีชา Jan 2017

ระบบเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้ง: เป้าหมายและผลลัพธ์ทางการเมือง, ณสดมภ์ ธิติปรีชา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้ง ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองที่สะท้อนเป้าหมายทางการเมือง และ ได้นำมาสู่ผลลัพธ์ทางการเมืองอย่างไร ในบริบทการเมืองไทยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ถึงปัจจุบัน โดยแบ่งการศึกษาเป็น 3 ประเด็นได้ แก่ (1) บริบททางการเมือง อันเป็นปัจจัยในการกำหนดเป้าหมายทางการเมือง (2) ระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้ง และ (3) ผลลัพธ์ทางการเมือง โดยใช้การศึกษาเชิงคุณภาพที่อาศัยการวิเคราะห์เอกสารเป็นหลัก หน่วยการศึกษาได้แก่ ระบบการเลือกตั้ง และการจัดการเลือกตั้ง ผลการศึกษาพบว่า (1) บริบทการเมืองในช่วงเวลาต่างๆเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของผู้มีอำนาจในการกำหนดกติกาในช่วงเวลานั้น โดยได้ใช้ระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้ง เป็นเครื่องมือหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว (2) ระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้ต่างสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเมืองที่ต้องการให้เป็นและผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (3) ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเสมอไป โดยปัจจัยที่ทำให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเสียทั้งหมดที่สำคัญได้แก่ โลภาภิวัฒน์ กระแสการตื่นตัวทางประชาธิปไตย วัฒนธรรมการเมืองไทย อันเป็นพลวัตรภายในสังคมไทยเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่การเลือกตั้งในการเมืองไทยที่ยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ดังนั้นระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งจึงมีความสัมพันธ์ ในฐานะเครื่องมือของการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางการเมืองสืบเนื่องต่อมา ทั้งในรูปแบบที่บรรลุหรือไม่บรรลุเป้าหมายทางการเมืองนั้นๆ


การเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น: ความล้มเหลวของการทำให้เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย, จิราภรณ์ ดำจันทร์ Jan 2017

การเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น: ความล้มเหลวของการทำให้เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย, จิราภรณ์ ดำจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาในกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยของไทย โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยเอกสารบนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ และการทำความเข้าใจการเมืองไทยผ่านแนวคิดการทำให้เป็นประชาธิปไตย แนวคิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แนวคิดการตั้งมั่นของประชาธิปไตย แนวคิดฉันทามติ และทฤษฎีชนชั้นนำ วิทยานิพนธ์นี้ศึกษากระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยไทยที่สำคัญ 4 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงแรกปี 2475 - 2490 สอง ระหว่างปี 2516 - 2519 สาม ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2540 - 2549 และสี่ ช่วงเวลาปี 2550 - 2557 ผลการศึกษาพบว่า ความล้มเหลวในกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยใน 4 ช่วงเวลานี้เกิดขึ้นจากการที่ชนชั้นนำ ทั้งในฝ่ายอนุรักษนิยมและชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีเจตนาที่จะสถาปนาและจรรโลงประชาธิปไตยให้ยั่งยืน ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ 2 กลุ่มหลักทำให้รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับไม่ได้รับฉันทามติและมักขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะที่การประนีประนอมในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันเองส่งผลให้การออกแบบสถาบันทางการเมือง เช่น วุฒิสภาและองค์กรอิสระขาดการเชื่อมโยงกับประชาชน นอกจากปัญหารัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองแล้วยังพบว่า ทั้ง 4 ช่วงเวลาที่ศึกษา ตัวแสดงทางการเมืองยังแสดงบทบาทเหนี่ยวรั้งแทนส่งเสริมการจรรโลงประชาธิปไตยอีกด้วย เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน การไม่พร้อมรับผิดชอบและยอมรับการตรวจสอบ และการที่สังคมยอมรับบทบาทของกองทัพในการแทรกแซงทางการเมือง โดยรวมแล้วพบว่า การขับเคี่ยวระหว่างพลังอนุรักษนิยมกับพลังที่ต้องการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยในทุกช่วงเวลา มักจบลงด้วยชัยชนะของพลังอนุรักษนิยมในการร่างรัฐธรรมนูญและออกแบบสถาบันทางการเมืองเพื่อรักษาและคงไว้ซึ่งอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษนิยม


พลวัตกรอบความคิดและการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบท : ความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง, ณัฐรุจ วงศ์ทางสวัสดิ์ Jan 2017

พลวัตกรอบความคิดและการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบท : ความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง, ณัฐรุจ วงศ์ทางสวัสดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ศึกษาพลวัตการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบท โดยพยายามตอบคำถามสำคัญเหตุใดขบวนการแพทย์ชนบทจึงประสบความสำเร็จในการผลักดันการปฏิรูประบบสาธารณสุข และขบวนการแพทย์ชนบทมีพลวัตทางกรอบความคิด และการเคลื่อนไหวอย่างไร โดยงานชิ้นนี้ศึกษาผ่านกรอบแนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 3 แนวคิดได้แก่ แนวคิดการระดมทรัพยากร แนวคิดกระบวนการสร้างกรอบความคิด และแนวคิดโครงสร้างโอกาสทางการเมือง การเก็บข้อมูลใช้วิธีการวิจัยจากเอกสาร ควบคู่กับการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องจำนวน 33 คน ผลการวิเคราะห์พบว่าพลวัตกรอบความคิดและการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบท สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาสำคัญ ช่วงแรก คือช่วงก่อตั้งชมรมแพทย์ชนบทในปี พ.ศ.2521 ถึงช่วงก่อนเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ.2535 เป็นช่วงเวลาที่ขบวนการแพทย์ชนบทมีลักษณะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเชิงวิชาชีพ เคลื่อนไหวภายใต้โครงสร้างระบบราชการของกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้กรอบความคิดการพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำ ช่วงที่สอง คือช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ถึง ช่วงปี 2545 ขบวนการแพทย์ชนบทเปลี่ยนจากขบวนการเคลื่อนไหวเชิงวิชาชีพ มาเป็นหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวปฏิรูประบบสาธารณสุขและพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ภายใต้กรอบความคิดการมีส่วนร่วม การกระจายทรัพยากรและอำนาจ โดยสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชน และพันธมิตรชนชั้นนำทางการเมือง ผลักดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโอกาสทางการเมือง ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เปิดโอกาสในการเคลื่อนไหวผลักดันการก่อตั้งองค์กรตระกูล ส.จนเป็นผลสำเร็จ และ ช่วงเวลาที่สาม ได้แก่ ช่วงพ.ศ.2545 จนถึง 2560 ซึ่งเป็นช่วงของการปฏิบัติการของเครือข่ายองค์กรตระกูล ส. ในฐานะเครือข่ายองค์กรในการระดมทรัพยากร เคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุข ภายใต้กรอบความคิดสุขภาวะ การกระจายทรัพยากรและอำนาจ ทำให้ขบวนการแพทย์ชนบทสามารถระดมทรัพยากรจากภาครัฐจำนวนมาก เพื่อนำมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการและเครือข่ายได้อย่างเป็นอิสระจากการฝ่ายราชการและฝ่ายการเมือง จนทำให้เกิดสภาวะการมีอำนาจอธิปไตยเชิงซ้อนขึ้นในโครงสร้างระบบสาธารณสุข ข้อเสนอหลักในงานชิ้นนี้ คือ การปรับตัวของกรอบความคิดและการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบท ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างโอกาสทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขบวนการแพทย์ชนบทประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหวผลักดันการปฏิรูประบบสาธารณสุข โดยมีลักษณะของการใช้การเข้าถึงชนชั้นนำทางการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการทางสังคมที่ประกอบไปด้วยเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่เคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง


ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ พ.ศ. 2544-2548, กุลนันทน์ คันธิก Jan 2017

ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ พ.ศ. 2544-2548, กุลนันทน์ คันธิก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การทำความเข้าใจถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศไทยภายใต้แนวคิดการทูตเชิงรุกของรัฐบาลในช่วง พ.ศ. 2544-2548 จำเป็นที่จะต้องศึกษาบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น คือ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทโดยตรงในการนำนโยบายไปปฏิบัติ การศึกษาครั้งนี้ได้นำแนวคิดเรื่องการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ การศึกษานโยบายสาธารณะ และแนวคิดด้านจิตวิทยามาปรับใช้ในการศึกษาบทบาทของรัฐมนตรีผู้นี้ ผลการศึกษาพบว่า ดร. สุรเกียรติ์ มีบทบาทใน 3 มิติสำคัญคือ 1) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ผ่านการฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคอื่นๆ 2) การดำเนินการทูตเชิงรุกด้วยการสร้างวาระและกรอบความร่วมมือใหม่ๆ ที่วางสถานะให้ประเทศไทยมีบทบาทนำ และ 3) การปรับกลไกของกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งในส่วนของการปรับวิสัยทัศน์ จุดยืนเชิงนโยบาย และกระบวนการทำงาน ให้มีบทบาทและการทำงานเชิงรุกเพื่อรองรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล การศึกษายังพบอีกด้วยว่าปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ ดร. สุรเกียรติ์ สามารถขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การต่างประเทศเชิงรุกได้นั้น เป็นผลจากการจัดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการประจำ ที่ฝ่ายการเมืองมีบทบาทนำในกระบวนการกำหนดนโยบาย การได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญก็คือคุณลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ ภูมิหลัง ความตื่นตัวและประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ รูปแบบและวิธีการทำงาน รวมถึงโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ที่ส่งเสริมต่อการทำงานด้านการต่างประเทศ


ชาตินิยมไทยกับข้อพิพาทเรื่องดินแดน : ศึกษาเปรียบเทียบรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ดาวราย ลิ่มสายหั้ว Jan 2017

ชาตินิยมไทยกับข้อพิพาทเรื่องดินแดน : ศึกษาเปรียบเทียบรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ดาวราย ลิ่มสายหั้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบอิทธิพลของแนวคิดชาตินิยมต่อการใช้กำลังทหารในปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดนของไทยในสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พ.ศ.2481-2484 และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ.ศ.2551-2554 ว่ามีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรเนื่องจากในสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม แนวคิดชาตินิยมมีอิทธิพลจนนำไปสู่สงครามอินโดจีนพ.ศ.2484 ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นเพียงการปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการวิจัยเอกสารและนำแนวคิดชาตินิยมมาประยุกต์ใช้ร่วมกับแนวทางการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ ผลการศึกษาพบว่าแนวคิดชาตินิยมมีอิทธิพลต่อการใช้กำลังทหารในปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดนทั้งสองสมัยแตกต่างกันเนื่องจากเงื่อนไขภายในประเทศ คือ สภาพการเมืองภายในประเทศที่มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพอย่างมาก รัฐบาลสามารถควบคุมอำนาจการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในการใช้กำลังทหารผนวกดินแดนที่เป็นข้อพิพาทได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่ออกมาคัดค้าน กอรปกับกลุ่มการเมืองชาตินิยมที่สนับสนุนมาตรการทางทหารเป็นตัวแสดงในอำนาจรัฐที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศโดยตรงส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศมีทิศทางในการใช้กำลังทหารและนำไปสู่สงครามระหว่างประเทศในที่สุด ส่วนเงื่อนไขภายนอกประเทศ คือ การที่ประเทศคู่พิพาทกำลังเผชิญปัญหาความมั่นคงทางทหาร ดังเช่นกรณีที่ฝรั่งเศสถูกเยอรมนีโจมตีในสงครามโลกครั้งที่สองได้เอื้อให้รัฐบาลไทยตัดสินใจใช้กำลังทหารและทำสงครามในปัญหาข้อพิพาทเนื่องจากรัฐบาลประเมินสถานการณ์แล้วพบว่าประเทศไทยมีโอกาสชนะสงคราม ดังนั้นเงื่อนไขภายในประเทศและภายนอกประเทศข้างต้นส่งผลให้แนวคิดชาตินิยมแสดงบทบาทและมีอิทธิพลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจนยกระดับไปสู่สงครามระหว่างประเทศในที่สุด


การรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรัฐสวัสดิการของพลเมืองเดนมาร์ก, ติรัส ตฤณเตชะ Jan 2017

การรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรัฐสวัสดิการของพลเมืองเดนมาร์ก, ติรัส ตฤณเตชะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพลเมืองเดนมาร์กกับกระบวนการกำหนดนโยบายรัฐสวัสดิการของเดนมาร์ก ซึ่งทำการเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก จากพลเมืองของเดนมาร์กในเมืองโคเปนฮาเก้นและเมืองฮอร์เซ่นส์ ใน 4 กลุ่มอาชีพ อันได้แก่ ข้าราชการ เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรม และนักศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 48 คน ผลการวิจัยพบว่าลักษณะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรัฐสวัสดิการของพลเมืองเดนมาร์กที่สำคัญประกอบไปด้วย หนึ่ง ความรู้สึกร่วมของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สอง การให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม และสาม ลักษณะดุลยภาพของวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมและกลุ่มนิยม ซึ่งการที่พลเมืองเดนมาร์กรับรู้ถึงลักษณะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมดังกล่างของตน จึงมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อกระบวนกำหนดนโยบายรัฐสวัสดิการซึ่งพลเมืองเดนมาร์กได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้คุณค่าเชิงซ้อนและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาจากเนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐสวัสดิการมีความสอดคล้องกับลักษณะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพลเมืองเดนมาร์กเป็นอย่างยิ่ง


ผลกระทบของนโยบายประชานิยมแบบทักษิณต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย, ภัทร หวังกิตติกุล Jan 2017

ผลกระทบของนโยบายประชานิยมแบบทักษิณต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย, ภัทร หวังกิตติกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้เป็นการนำเสนอเนื้อหาเรื่อง "ผลกระทบของนโยบายประชานิยมแบบทักษิณที่มีต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย" โดยใช้การเก็บรวบรวมข้อมูล 2 รูปแบบคือ รูปแบบเอกสาร และ รูปแบบการสัมภาษณ์ ก่อนจะนำมาตรวจสอบ วิเคราะห์ และอธิบายเป็นผลการวิจัยของวิทยานิพนธ์นี้ ผลจากการวิจัยได้พบว่า นโยบายประชานิยมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนชนชั้นกลางกับกลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าด้วยเหตุผล 2 ประการคือ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจในอดีต และ ความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร อันนำไปสู่การแบ่งแยกกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบาย (กลุ่มคนชนชั้นรากหญ้า) และฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย (กลุ่มคนชนชั้นกลาง) ทว่าด้วยสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยที่กลุ่มคนทั้งสองกลุ่มมีจำนวนที่แตกต่างกันมาก กลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าซี่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมจึงสามารถใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการปกป้องนโยบายประชานิยมที่พวกตนได้รับผลประโยชน์เอาไว้ ในขณะที่กลุ่มคนชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยและได้รับผลกระทบจากนโยบายประชานิยมมิอาจใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับกลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าได้ กลุ่มคนชนชั้นกลางจึงหันไปร่วมมือกับกลุ่มอำนาจนอกระบบ เช่น ทหาร ในการเข้ามายึดอำนาจการปกครองอันส่งผลให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยสิ้นสุดลง สรุปผลการวิจัย นโยบายประชานิยมทำให้อำนาจทางการเมืองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตกอยู่ในมือของกลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าเพียงกลุ่มเดียวอย่างเด็ดขาด กลุ่มคนชนชั้นกลางซึ่งสูญเสียอำนาจทางการเมืองจึงตัดสินใจล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยลงด้วยการรัฐประหารใน พ.ศ.2557


การแปลงเปลี่ยนสถานภาพจากผู้สูญเสียไปสู่นักกิจกรรมสังคมของผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, ซารีฮาน สุหลง Jan 2017

การแปลงเปลี่ยนสถานภาพจากผู้สูญเสียไปสู่นักกิจกรรมสังคมของผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, ซารีฮาน สุหลง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการแปลงเปลี่ยน (Transformation) สถานภาพของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากผู้สูญเสียมาสู่ นักกิจกรรมสังคม และระบุเงื่อนไขที่ที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมและเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวหรือสมาชิกในครอบครัวถูกดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงนักกิจกรรมได้ปรับเปลี่ยนตัวเองในระดับทัศนคติ พฤติกรรม และ วิถีชีวิต อันได้แก่การค้นพบศักยภาพของตัวเอง ทัศนคติต่อผู้อื่น และ การหันมาทำงานเพื่อสังคมมากขึ้นขณะที่ยังมีภาระดูแลครอบครัว เงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายทางสังคมในกระบวนการเยียวยา ที่ทำให้เกิดการช่วยเหลือกัน การรับฟังปัญหาของผู้อื่น และการเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้องเผชิญร่วมกัน เครือข่ายกิจกรรมเป็นทุนทางสังคมที่เอื้อให้ผู้หญิงผู้สูญเสียทำงานเพื่อส่วนรวมได้ (public sphere) ส่วนทุนทางสังคมดังเดิมอันได้แก่ ครอบครัวและเครือญาติช่วยประคับประคองชีวิตส่วนตัวและครอบครัว (private sphere) นอกจากนั้นผู้หญิงผู้สูญเสียสามารถแสดงบทบาททางสังคมได้มากน้อยแตกต่างกัน ผู้หญิงส่วนหนึ่งก้าวไปสู่การสร้างพื้นที่สันติภาพ ขณะที่ส่วนหนึ่งทำงานเพื่อสร้างโอกาสการดำรงชีพ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเนื่องมาจากการมีทุนมนุษย์หรือศักยภาพและประสบการณ์ส่วนบุคคลไม่เท่ากันด้วย


การปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, หฤทัย จงวัฒนบัณฑิตย์ Jan 2017

การปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, หฤทัย จงวัฒนบัณฑิตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีจุดม่งหมายในการค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติ และท่าทีต่อปัจจัยดังกล่าวของรัฐบาลในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การศึกษาครั้งนี้ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีวิจัยเอกสารทางวิชาการ งานวิจัยต่างๆ และคำแถลงการณ์ของคณะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านทางนายกรัฐมนตรีหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยผลักดันที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ภายในประเทศ แรงงานข้ามชาติมีส่วนให้เกิดปัญหาอาชญากรรม การค้ายาเสพติด และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ส่วนภายนอกประเทศ เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการบังคับใช้แรงงานเด็ก บังคับหญิงค้าประเวณี การใช้แรงงานทาสอันเชื่อมโยงไปสู่การค้ามนุษย์ ทำให้ถูกเพ่งเล็งโจมตี และได้รับแรงกดดันอย่างมากจากต่างชาติและองค์การระหว่างประเทศ จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ท่าทีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยรัฐประหาร มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีความคล่องตัวในการใช้อำนาจได้อย่างรวดเร็วในการแก้ปัญหา จึงให้ความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติเป็นวาระเร่งด่วน อันนำไปสู่วาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นการลดแรงกดดัน ทั้งจากภายในและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากต่างประเทศ เพื่อสร้างการยอมรับในเรื่องการใช้อำนาจ พร้อมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบบรรยากาศการค้าและการลงทุน ภายหลังการดำเนินงานตามนโยบายแรงงานข้ามชาติที่ปรับเปลี่ยนโดยรัฐบาลนี้ ทำให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ในปี 2559 ดีขึ้น ได้รับการเลื่อนอันดับอยู่ Tier 2 Watch List


รัฐราชการไทยภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557, ธนบรรณ อู่ทองมาก Jan 2017

รัฐราชการไทยภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557, ธนบรรณ อู่ทองมาก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเมืองไทยภายหลังการรัฐประการ พ.ศ. 2557นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยหลังการรัฐประหารพ.ศ. 2557 และการปรับตัวของการเมืองไทย ภายใต้กรอบแนวคิดว่าด้วย Bureaucratic polity หรือ รัฐราชการ โดยใช้การศึกษาเชิงคุณภาพ วิเคราะห์เอกสาร งานวิจัย โดยมีหน่วยการศึกษาคือ สถาบันทางการเมืองเป็นหน่วยในการศึกษาในฐานะตัวแสดงที่สำคัญในระบบการเมือง ผลการศึกษาพบว่า (1) การเมืองไทยภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 มีลักษณะเป็นการเมืองแบบรัฐราชการ โดยอาศัยระบบราชการเป็นตัวแสดงที่สำคัญในการบวนการนโยบาย ทั้งการเสนอนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ สถาบันภายนอกระบบราชการ พรรคการเมือง ภาคประชาชนจำกัดบทบาททำให้ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ (2) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง ทำให้การกลับมามีบทบาทนำอีกครั้งของรัฐราชการ ไม่สามารถดำรงรูปแบบรูปเดิมได้ รัฐราชการภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 มีลักษณะที่สำคัญคือ 1) การใช้เครื่องมือทางรัฐธรรมนูญและกฏหมายเพื่อผนวกรัฐราชการให้อยูในโครงสร้างที่เป็นทางการของระบบและสถาบันทางการเมือง 2) มีการผนึกกำลังระหว่างรัฐราชการกับกลุ่มทุนใหญ่เพื่อเอื้อประโยชน์และค้ำจุนซึ่งกันและกันอย่างชัดเจน 3) ใช้พลังของระบบราชการฝ่ายทหารควบคุมระบบการเมืองโดยมีพลังของระบบราชการค่อยสนับสนุน


กระบวนการทางนโยบายในการตัดสินใจพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง, พรพรรณ ประดิษฐ์แท่น Jan 2017

กระบวนการทางนโยบายในการตัดสินใจพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง, พรพรรณ ประดิษฐ์แท่น

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทางนโยบายในการตัดสินใจพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลประยุทธ์ เพื่อแสดงให้เห็นและอธิบายถึงความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของนโยบายที่เกิดขึ้นกับทั้ง 2 รัฐบาล การวิจัยประการแรกคือนโยบายที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 รัฐบาลไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ซึ่งความคล้ายคลึงกันของนโยบายของทั้ง 2 รัฐบาล เป็นมาจากการที่ทั้ง 2 รัฐบาลเลือกใช้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งผลให้เมื่อนโยบายดำเนินไปสู่ขั้นการนำไปปฏิบัติผู้เข้ารวมประกวดราคาส่วนใหญ่ล้วนเป็นบริษัทธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่รัฐบาลประยุทธ์มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงให้บริษัทธุรกิจกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีขนาดเล็กกว่าสามารถเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาให้มากขึ้นจากการวิจัยพบว่าความเชื่อมโยงกันระหว่างเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลกับการที่บริษัทธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่เป็นผู้ดำเนินการสร้างในโครงการรถไฟทางคู่ฯ สะท้อนให้เห็นถึงการมีสถานะพิเศษของบริษัทธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่จึงส่งผลให้นโยบายในเรื่องดังกล่าวของทั้ง 2 รัฐบาลมีความคล้ายคลึงกัน การวิจัยประการที่สองคือความต่อเนื่องของระบบราชการในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางนโยบาย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงของฝ่ายบริหารนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง หากแต่ตำแหน่งและบทบาทของฝ่ายข้าราชการยังคงเหมือนเดิม ส่งผลให้ฝ่ายข้าราชการสามารถพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายในช่วงของทั้ง 2 รัฐบาลไปในทิศทางที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่านโยบายการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นระหว่างช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลประยุทธ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น


การปฏิรูปกฎหมายเงินบริจาคพรรคการเมือง : เปรียบเทียบไทยกับญี่ปุ่น, พงศกร ยาห้องกาศ Jan 2017

การปฏิรูปกฎหมายเงินบริจาคพรรคการเมือง : เปรียบเทียบไทยกับญี่ปุ่น, พงศกร ยาห้องกาศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการปฏิรูปกฎหมายเงินบริจาคแก่พรรคการเมืองระหว่างไทยกับญี่ปุ่นใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) เป้าหมายและกระบวนการ (2) มาตรการที่ใช้ (3) ผลลัพธ์ โดยใช้การศึกษาเชิงคุณภาพที่อาศัยการวิเคราะห์เอกสารเป็นหลักและสนับสนุนด้วยข้อมูลสถิติเงินบริจาคแก่พรรคการเมือง หน่วยศึกษา ได้แก่ กฎหมายควบคุมเงินบริจาคและข้อมูลเงินบริจาคของพรรคการเมืองในปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลการศึกษาพบว่า (1) ไทยและญี่ปุ่นกำหนดเป้าหมายในการปฏิรูปต่างกัน โดยการปฏิรูปของไทยต้องการสร้างความโปร่งใสและลดอิทธิพลของกลุ่มทุน ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องการลดปริมาณเงินโดยรวมของการเลือกตั้ง ด้านกระบวนการพบว่า การปฏิรูปของไทยมีตัวแสดงที่มีส่วนร่วมน้อย โดยมักเป็นการตกลงระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในขณะที่ญี่ปุ่นมีการต่อรองระหว่างกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม (2) มาตรการควบคุมของไทยขาดความรอบคอบ แม้ว่าจะใช้การผสมผสานกันหลายมาตรการแต่ยังคงมีช่องว่างและไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ส่วนมาตรการของญี่ปุ่นนั้นมีความรัดกุมและชัดเจน (3) ไทยและญี่ปุ่นประสบปัญหาการควบคุมเงินบริจาค โดยสาเหตุของไทยเกิดจากช่องว่างของกฎหมายและการขาดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายส่วนญี่ปุ่นเกิดจากขาดการควบคุมองค์กรจัดการเงินทุนและองค์กรโคเอ็นไกซึ่งทำให้นักการเมืองเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริจาคในตลาดมืด