Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Engineering Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Articles 31 - 60 of 1650

Full-Text Articles in Engineering

ผลกระทบของเมทิลเอสเทอร์ของน้ำมันปาล์มในปฏิกิริยาทรานเอสเทอริฟิเคชันของน้ำมันปาล์มโอเลอิน ในเครื่องปฏิกรณ์แบบกะ โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาโซเดียมฟอสเฟต, ธนาธิป ธนานิธิกร Jan 2022

ผลกระทบของเมทิลเอสเทอร์ของน้ำมันปาล์มในปฏิกิริยาทรานเอสเทอริฟิเคชันของน้ำมันปาล์มโอเลอิน ในเครื่องปฏิกรณ์แบบกะ โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาโซเดียมฟอสเฟต, ธนาธิป ธนานิธิกร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ทำการศึกษาผลกระทบของเมทิลเอสเทอร์ของน้ำมันปาล์มในปฏิกิริยาทรานเอสเทอริฟิเคชันของน้ำมันปาล์มโอเลอิน ในเครื่องปฏิกรณ์แบบกะ โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาโซเดียมฟอสเฟต สำหรับผลิตไบโอดีเซล ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทน โดยกำหนดความเร็วรอบในการปั่นกวนอยู่ที่ 600 รอบต่อนาที ความดัน 900 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาร้อยละ 0.5 โดยมวลของน้ำมันปาล์มโอเลอิน และใช้เมทิลเอสเทอร์ของน้ำมันปาล์มเป็นตัวทำละลายร่วม อันเนื่องมาจากน้ำมันและเมทานอลที่เป็นสารตั้งต้นในการทำปฏิกิริยาละลายเข้าด้วยกันได้น้อยมาก จึงต้องใส่ตัวทำละลายร่วม เพื่อทำให้สารตั้งต้นสามารถละลายเข้ากันได้ดีขึ้น ซึ่งการทำปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะทำในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ 60 ถึง 190 องศาเซลเซียส ใช้อัตราส่วนโดยโมลของเมทานอลต่อน้ำมันปาล์มโอเลอินที่ 6:1 12:1 และ 18:1 และใช้ตัวทำละลายร่วมตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึง 20 โดยมวลของน้ำมันปาล์มโอเลอิน โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิและอัตราส่วนโดยโมลของเมทานอลต่อน้ำมันปาล์มโอเลอิน เป็นตัวแปรสำคัญต่อปฏิกิริยาทรานเอสเทอริฟิเคชัน กล่าวคือ การเพิ่มตัวแปรเหล่านี้จะทำให้ปฏิกิริยาเกิดได้ดีขึ้น และที่สภาวะการทำปฏิกิริยาสูง การใส่ตัวทำละลายร่วมลงไปจะทำให้เกิดปรากฏการณ์เจือจางส่งผลให้ปฏิกิริยาเกิดได้ช้าลง แต่ที่สภาวะการทำปฏิกิริยาต่ำ การใส่ตัวทำละลายร่วมลงไปจะทำให้ปฏิกิริยาเกิดได้ดีขึ้นในช่วงปฏิกิริยาเริ่มต้น เนื่องมาจากการใส่ตัวทำละลายร่วมช่วยชดเชยเรื่องปริมาณเมทานอลที่ลดลง ในขณะที่ช่วงท้ายปฏิกิริยา การใส่ปริมาณตัวทำละลายร่วมเพิ่มจะส่งผลให้ปฏิกิริยาเกิดได้ดีขึ้น แต่หากใช้ปริมาณตัวทำละลายร่วมมากเกินไป จะทำให้เกิดปรากฏการณ์เจือจางขึ้นจนทำให้ปฏิกิริยาเกิดช้าลง


การแยกปรอทออกจากคอนเดนเสทด้วยเทคโนโลยีเมมเบรนเส้นใยกลวง, วรัญญา พูลแก้ว Jan 2022

การแยกปรอทออกจากคอนเดนเสทด้วยเทคโนโลยีเมมเบรนเส้นใยกลวง, วรัญญา พูลแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิธีการใหม่ในการแยกปรอทออกจากคอนเดนเสทโดยใช้ระบบเมมเบรนเส้นใยกลวงแบบคอนแทกเตอร์ ตามหลักการและพื้นฐานของการสกัดด้วยตัวทำละลาย โดยสารสกัดเสริมฤทธิ์ของกรดไฮโดรคลอริกและไทโอยูเรียเป็นสารสกัดที่ความเข้มข้น 0.5 โมลต่อลิตร และ 1.5 โมลต่อลิตร ตามลำดับ รูปแบบการไหลในลักษณะสารป้อนไหลผ่านและสารสกัดไหลวน อัตราการไหลที่ 1.67 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อวินาที ที่ อุณหภูมิ 323.15 เคลวิน ผลการศึกษาพบว่าประสบความสำเร็จในการแยกปรอทออกจากคอนเดนเสท ร้อยละการกำจัดปรอทสูงถึง 98.40 ซึ่งความเข้มข้นหลังกำจัดปรอทมีค่าต่ำกว่าค่าที่กำหนด สำหรับป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่น คำนวณค่าการเปลี่ยนแปลงเอนทาลปีมาตรฐาน ค่าการเปลี่ยนแปลงเอนโทรปีมาตรฐาน และค่าการเปลี่ยนแปลงพลังงานเสรีของกิ๊บส์มาตรฐานได้ 119.80 กิโลจูลต่อโมล 0.37 กิโลจูลต่อโมล และ -1.15 กิโลจูลต่อโมลตามลำดับ บ่งชี้ว่าปฏิกิริยาการแยกปรอทออกจากคอนเดนเสทเป็น ปฏิกิริยาดูดความร้อน ผันกลับไม่ได้ และสามารถเกิดขึ้นเองที่ 323.15 เคลวิน ปรอทในรูปฟีนิลเมอร์คิวรีคลอไรด์พบมากที่สุดในคอนเดนเสทจากการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคทางเสปกโตรสโคปี การประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ อันได้แก่ แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ลักษณะการแพร่ และลักษณะปฏิกิริยาเพื่ออธิบายลักษณะการถ่ายเทมวลในระบบเมมเบรนเส้นใยกลวงแบบคอนแทกเตอร์ ผลการคำนวณพบว่าแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ลักษณะปฏิกิริยาสอดคล้องกับผลการทดลอง และค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายโอนมวลในเมมเบรน และด้านเปลือก คือ 7.45 × 10−6 เซนติเมตรต่อวินาที และ 2.09 × 10−5 เซนติเมตรต่อวินาทีตามลำดับ ซึ่งบ่งชี้ว่าการถ่ายโอนมวลในเมมเบรนเป็นขั้นตอนควบคุม


ผลกระทบของแอนไอออนที่ปนเปื้อนในน้ำต่อการสังเคราะห์กรดเปอร์ฟอร์มิก, วนิดา มลาภูมิ Jan 2022

ผลกระทบของแอนไอออนที่ปนเปื้อนในน้ำต่อการสังเคราะห์กรดเปอร์ฟอร์มิก, วนิดา มลาภูมิ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ทำการศึกษาผลของแอนไอออนที่มีต่อการเตรียมกรดเปอร์ฟอร์มิก แอนไอออนที่ทำการศึกษาได้แก่ คลอไรด์, ซัลเฟต, ไบคาร์บอเนต, คาร์บอเนต และไนไตรท์ (ในรูปของเกลือโซเดียม) การเตรียมกรดเปอร์ฟอร์มิกทำโดยการผสม น้ำกลั่น, กรดเปอร์ฟอร์มิก, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และสารละลายของแอนไอออน ในขวดพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูงที่อุณหภูมิห้อง ติดตามการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของกรดเปอร์ฟอร์มิก, กรดฟอร์มิก และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ด้วยการไทเทรตกับสารละลายมาตรฐานโซเดียมไฮดรอกไซด์และโพแตสเซียมเปอร์แมงการเนตตามลำดับ ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ไฮดรอกไซด์, คาร์บอเนต และไบคาร์บอเนต เร่งการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และกรดเปอร์ฟอร์มิกอย่างรุนแรงตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังการผสม คลอไรด์และไนไทรต์ทำให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สลายตัวภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ในขณะที่ซัลเฟตสามารถเพิ่มการเกิดกรดเปอร์ฟอร์มิก นอกจากนี้ยังพบว่าสารละลายกรดเปอร์ฟอร์มิกที่เตรียมขึ้นควรใช้ภายใน ๑๒ ชั่วโมงหลังผสม


การพัฒนาส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งานโปรแกรมระเบียบวิธีการนับพลาคของไวรัสอัตโนมัติ และ ปรับปรุงความแม่นยำให้กับระบบ, ศุภณัฐ เปล่งขำ Jan 2022

การพัฒนาส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งานโปรแกรมระเบียบวิธีการนับพลาคของไวรัสอัตโนมัติ และ ปรับปรุงความแม่นยำให้กับระบบ, ศุภณัฐ เปล่งขำ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กระบวนการนับพลาคของไวรัส หรือ Plaque Assays นั้นเป็นกระบวนการเฉพาะทางที่ต้องใช้ผู้เชียวชาญทางไวรัสวิทยาในการตรวจวัด และเป็นพื้นฐานของการศึกษาพัฒนายารักษาโรคและวัคซีน ซึ่งจำเป็นงานที่ท้าทายซับซ้อน และใช้เวลา ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าต่อผู้เชียวชาญด้วยวิธีการนับหาปริมาณคลาสเตอร์ของไวรัสทางกายภาพ ดังนั้นเพื่อลดภาระงาน งานวิจัยนี้จึงศึกษาและพัฒนา โปรแกรมการนับพลาคอัตโนมัติ โดยได้ทำการสร้าง พัฒนา ปรับปรุง และ เพิ่มความเสรียรภาพ ให้กับระบบถ่ายภาพ โปรแกรม และ สร้างส่วนต่อประสานโปรแกรมการนับพลาคของไวรัสกับผู้ใช้งาน หรือ GUI ( Graphic User Interface) สำหรับแสดงผลและใช้งานโปรแกรม ซึ่งตัวโปรแกรมการนับพลาคของไวรัสได้ทำการพัฒนาอัลกอริทึม ด้วยกระบวนวิเคราะห์ภาพ หรือ Image processing เช่น เทรชโชว์ (Threshold) มอร์โฟโลว์จี (Morphology) และ กระบวนการแมชชีนเลอร์นนิ่งชนิดอันซุปเปอร์ไวส์ ( Unsupervised Learning) ชนิด เค-มีน คลาสเตอร์ริ่ง ( K-mean clustering) ในส่วนของส่วนต่อประสานผู้ใช้งานได้ทำการพัฒนาโดย C# และมากไปกว่านั้นได้ทำการสร้างอุปกรณ์ลดสิ่งรบกวนกับเครื่องถ่ายภาพอีกด้วย โดยผลลัพธ์จากโปรแกรมการนับพลาคของไวรัสอัตโนมัตินั้นสามารถ นับพลาคของไวรัสในกระบวนการนับพลาคของไวรัสได้มีความถูกต้องถึง 94% อีกทั้ง สามารถลดภาระงานผู้เชียวชาญในการตรวจหาปริมาณคลาสเตอร์ของไวรัสในกระบวนการนับพลาคของไวรัสได้


การพัฒนาอุปกรณ์สำรวจชั้นดินซึ่งทำงานด้วยการตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือนขนาดเล็ก, ชวกร เมธีพลกุล Jan 2022

การพัฒนาอุปกรณ์สำรวจชั้นดินซึ่งทำงานด้วยการตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือนขนาดเล็ก, ชวกร เมธีพลกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์นั้นเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การสำรวจปิโตรเลียม การสำรวจแหล่งน้ำบาดาล การศึกษาทางด้านแผ่นดินไหว รวมถึงการสำรวจชั้นดินทางด้านวิศวกรรมธรณีเทคนิค ในงานวิจัยนี้ได้ทำการออกแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์สำรวจชั้นดินจากการตรวจวัดคลื่นสั่นขนาดเล็ก (microtremor) บนผิวดิน อุปกรณ์ตรวจวัดประกอบด้วยวงจรแปลงสัญญาณอนาล็อกเป็นดิจิตอลแบบ 24 บิตซึ่งรับสัญญาณการสั่นสะเทือนจากจีโอโฟนแล้วส่งให้ระบบไมโครคอมพิวเตอร์ชื่อราสเบอร์รี่พาย (Raspberry Pi) เพื่อเก็บข้อมูล และประมวลผลเส้นโค้งการกระจายตัวด้วยวิธี Power of Phase (POP) ซึ่งควบคุมด้วยสมาร์ทโฟนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์สเมือนจริง (virtual network computing) โดยใช้เทคโนโลยีโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial neural network) ทำนายภาพตัดความเร็วคลื่นเฉือน (Shear wave velocity profile) ของชั้นดิน จากการตรวจวัดภาคสนามในกรุงเทพมหานครจำนวน 3 พื้นที่ซึ่งประกอบไปด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โครงการมัณฑนา บางขุนเทียน-ชายทะเล และ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โครงการ บางบอน 5 พบว่าเมื่อใช้โมเดลโครงข่ายประสาทเทียม และ รัศมีของการตรวจวัดที่เหมาะสม อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นสามารถทำนายความเร็วคลื่นเฉือนได้ใกล้เคียงกับความเร็วคลื่นเฉือนจากผลเจาะสำรวจชั้นดิน (Boring log) และ วิธีดาวน์โฮล (Downhole) ในช่วงระดับความลึกประสิทธิผลที่สามารถตรวจวัดได้


การพัฒนาแบบจำลองทางเลือกรูปแบบการเดินทางจากการสำรวจข้อมูลการเดินทางทางอ้อมจากข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่, จอมพล เพชราวุธ Jan 2022

การพัฒนาแบบจำลองทางเลือกรูปแบบการเดินทางจากการสำรวจข้อมูลการเดินทางทางอ้อมจากข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่, จอมพล เพชราวุธ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การสำรวจข้อมูลการเดินทางในครัวเรือนด้วยแบบสอบถามเป็นวิธีการสำรวจข้อมูลปริมาณการเดินทางและพฤติกรรมการเดินทางที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมีความละเอียดสูงและสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทางได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวต้องใช้ต้นทุนทั้งด้านค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการสำรวจข้อมูลอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำฐานข้อมูลทุติยภูมิขนาดใหญ่มาใช้เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทาง โดยมุ่งเน้นไปที่การอธิบายพฤติกรรมการเลือกรูปแบบการเดินทาง ด้วยการสร้างแบบจำลองเนสเต็ดโลจิตจากข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโครงการศึกษาการพัฒนานวัตกรรมระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกและการเดินทางของคนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ซึ่งผ่านกระบวนการจำแนกรูปแบบและวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาแล้ว และสามารถใช้ทดแทนการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางโดยตรงได้ โดยแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นด้วยวิธีการประเมินความพึงพอใจแบบเปิดเผยสามารถอธิบายปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกรูปแบบการเดินทางของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามวันและช่วงเวลาในการเดินทาง เช่น ระยะทาง ระยะเวลา ค่าใช้จ่าย วัตถุประสงค์ของการเดินทาง เป็นต้น และผลการศึกษาสามารถแสดงตารางจุดต้นทางและปลายทางในการเดินทางซึ่งแบ่งเป็น 209 พื้นที่ย่อย (ระดับแขวงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและระดับอำเภอใน 5 จังหวัดปริมณฑล) ตามรูปแบบการเดินทาง (รถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟชานเมือง เรือโดยสาร) ได้ตามวันและช่วงเวลาในการเดินทาง


การศึกษาพฤติกรรมการรับแรงดัดของคานจากการใช้แบบด้วยการพิมพ์ 3 มิติ, ณัฏฐา เวสสะภักดี Jan 2022

การศึกษาพฤติกรรมการรับแรงดัดของคานจากการใช้แบบด้วยการพิมพ์ 3 มิติ, ณัฏฐา เวสสะภักดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันลักษณะการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นทำให้งานก่อสร้างประสบปัญหาในการตั้งแบบหล่อชิ้นส่วนโครงสร้างต่าง ๆ เช่น คานโค้ง หรือคานรูปทรงอิสระ (Free-form beam) ซึ่งยากต่อการทำงาน แต่ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ที่มีความสามารถในการพิมพ์รูปร่างหรือรูปทรงต่างๆของชิ้นงานได้อย่างอิสระโดยที่ไม่ต้องใช้ไม้แบบ จึงเป็นส่วนช่วยในการแก้ปัญหาข้างต้น ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับแรงดัดของคานคอนกรีตที่ใช้กรอบแบบจากการพิมพ์คอนกรีต 3 มิติ กรอบแบบดังกล่าวถูกพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบระบบฉีดเส้นวัสดุ หรือ Fused Deposition Modeling (FDM) ซึ่งเป็นการพิมพ์ขึ้นรูปคอนกรีตซ้อนกันไปจนได้เป็นกรอบแบบ ในการวิจัยนี้ได้สร้างกรอบแบบที่มีความหนาของแต่ละชั้นการพิมพ์แตกต่าง 3 แบบ ได้แก่ ชั้นการพิมพ์ความหนา 15.0 มม. (BH1.50) 17.5 มม. (BH1.75) และ 20.0 มม. (BH2.00) แล้วจึงหล่อคานคอนกรีตภายในกรอบแบบนั้น จากนั้นคานตัวอย่างจะถูกพิจารณาคุณสมบัติด้านการรับกำลังแบบคานช่วงเดียว (Simple beam) และสังเกตลักษณะการวิบัติของคานที่เกิดขึ้น ผลการทดสอบจะถูกนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลเพื่อหาความแตกต่างจากคานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้ไม้แบบตามปกติ (NB)


การประยุกต์ใช้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของวัสดุเพื่อคาดการณ์ความแข็งแรงโครงสร้างทาง, ธนพล เทพวงษ์ Jan 2022

การประยุกต์ใช้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของวัสดุเพื่อคาดการณ์ความแข็งแรงโครงสร้างทาง, ธนพล เทพวงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันถนนในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นถนนแอสฟัลต์คอนกรีต เมื่อมีปริมาณจราจรมากระทำบนถนนทำให้ถนนเกิดความเสียหาย การตรวจสอบความแข็งแรงของถนนสามารถเข้าถึงได้ด้วยเครื่องมือทดสอบการวัดการแอ่นตัวของผิวทางด้วย Falling Weight Deflectometer อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของวัสดุโครงสร้างทางตามเวลาและการกระทำของจราจรส่งผลให้ความแข็งแรงของถนนมีการเปลี่ยนแปลง และตอบสนองการเกิดความเสียหาย งานวิจัยนี้ได้นำเสนอการประยุกต์การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติวัสดุมาใช้เป็นการคาดการณ์ความแข็งแรงโครงสร้างทางในแต่ละช่วงเวลา มีวัตถุประสงค์คือเพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงความแข็งแรงโครงสร้างทางตามอายุการใช้งาน และได้ทดสอบความถูกต้องของการคาดการณ์ความแข็งแรงโครงสร้างทางด้วยข้อมูลการทดสอบภาคสนามด้วยวิธี FWD ของถนนแอสฟัลต์คอนกรีต ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงโครงสร้างทางคือ ประเภทโครงสร้างทาง แรงกระทำต่อผิวทาง อุณหภูมิและฤดูกาล การดำเนินการวิจัยจะทำการประยุกต์ใช้แบบจำลอง และนำมาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงความแข็งแรงโครงสร้างทางระหว่างข้อมูลการทดสอบ FWD และแบบจำลอง ซึ่งมีรูปแบบความสัมพันธ์กับข้อมูลการทดสอบ FWD เป็นเส้นตรง แบบจำลองสามารถใช้ได้ในวัสดุชั้นพื้นทางและชั้นรองพื้นทางเป็นวัสดุไม่เกาะตัว และวัสดุชั้นพื้นทางเป็นวัสดุปรับปรุงด้วยซีเมนต์และชั้นรองพื้นทางเป็นวัสดุไม่เกาะตัว


ปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ธีรนันท์ สุวรรณชวลิต Jan 2022

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ธีรนันท์ สุวรรณชวลิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicles) เป็นเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเทคโนโลยีนี้จะส่งเสริมการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในเมืองที่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน (Inclusive transport network) ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่ไม่สามารถขับขี่รถยนต์ด้วยตนเองมีอิสระในการเดินทางมากยิ่งขึ้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่จะส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีนี้ในประเทศไทย โดยศึกษาจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 450 คนจากประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล งานวิจัยนี้ได้มุ่งเน้นไปที่ยานยนต์ไร้คนขับในระดับ 5 และทำการวิเคราะห์ผลโดยใช้กรอบแนวคิดแบบจำลองการยอมรับเทคโนโลยี (Technology Acceptance Model) ผลการศึกษาพบว่าว่าปัจจัยที่จะส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับหรือความตั้งใจที่จะใช้เทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบไปด้วยการรับรู้ถึงประโยชน์ , การรับรู้ถึงความง่ายในการใช้งาน, การรับรู้ความปลอดภัยและความเชื่อถือ โดยตัวแปรที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีสูงสุดคือ ความเชื่อถือและการรับรู้ถึงความปลอดภัย ตามลำดับ


พฤติกรรมการข้ามถนนของผู้สูงอายุบนทางข้ามที่มีสัญญาณไฟแบบนับถอยหลังในกรุงเทพมหานคร, ธาตรี รักมาก Jan 2022

พฤติกรรมการข้ามถนนของผู้สูงอายุบนทางข้ามที่มีสัญญาณไฟแบบนับถอยหลังในกรุงเทพมหานคร, ธาตรี รักมาก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 18.31และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ใกล้เคียงกับนิยามสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ควรมีความพร้อมสำหรับรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงการข้ามถนน ซึ่งสัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนนแบบมีชุดนับเวลาถอยหลัง ก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่ส่งเสริมความปลอดภัยแก่คนเดินเท้า โดยจะแสดงเวลานับถอยหลังให้คนเดินข้าม พร้อมทั้งกำกับให้ยานพาหนะหยุดรอ งานวิจัยนี้จึงทำการศึกษาพฤติกรรมการใช้ทางข้ามที่สัญญาณไฟแบบนับถอยหลังของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความเร็วในการข้ามของผู้สูงอายุ พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับความเร็วที่ใช้ในการออกแบบสัญญาณไฟในพื้นที่จริง และความเร็วมาตรฐานต่างประเทศ โดยใช้การทดสอบสมมติฐาน t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ในกรณีที่กลุ่มตัวอย่างมีการแจงแจงแบบปกติ และใช้การทดสอบของครัสคาลและวอลลิส ในกรณีที่กลุ่มตัวอย่างมีการแจงแจงแบบไม่ปกติ จากนั้นใช้การวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นอย่างง่ายเพื่อหาความเร็วที่เหมาะสมสำหรับใช้ออกแบบสัญญาณไฟตามสัดส่วนคนข้ามที่เป็นผู้สูงอายุ จากกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุ 227 คน ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความเร็วการเดินที่ 15th Percentiles เฉลี่ยจากสัดส่วนผู้สูงอายุ ไม่แตกต่างกับความเร็วแนะนำ Highway Capacity Manual (2016) อย่างมีนัยสำคัญ และมีทางข้าม 3 แห่งจากที่ศึกษา 6 แห่งที่ใช้ความเร็วที่มากกว่าความเร็วการเดินที่ 15th Percentiles เฉลี่ยจากสัดส่วนผู้สูงอายุ ในทางข้ามนั้นอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนของปัจจัยที่ส่งผลต่อความเร็วในการข้ามของผู้สูงอายุ พบว่าตัวแปรช่วงวัย ทางข้ามที่แตกต่างกัน การถือสัมภาระ ส่งผลต่อความเร็วของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญ และความเร็วที่เหมาะสมสำหรับใช้ออกแบบสัญญาณไฟตามสัดส่วนคนข้ามที่เป็นผู้สูงอายุจากข้อมูลทุกทางข้ามรวมกันมีความพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ


การวิเคราะห์เอกสารสัญญาจ้างก่อสร้างเฉพาะสำหรับโครงการก่อสร้างซึ่งใช้การจำลองสารสนเทศอาคาร, นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล Jan 2022

การวิเคราะห์เอกสารสัญญาจ้างก่อสร้างเฉพาะสำหรับโครงการก่อสร้างซึ่งใช้การจำลองสารสนเทศอาคาร, นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาการจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling, BIM) ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการส่งมอบโครงการก่อสร้างสมัยใหม่ งานวิจัยในอดีตจำนวนมากได้ศึกษาแง่มุมต่าง ๆ ของการนำ BIM ไปใช้ เช่น กระบวนการทำงาน, แบบจำลอง BIM, และ BIM Uses อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่เกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างในโครงการซึ่งใช้ BIM (โครงการ BIM) ยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากโครงการ BIM แตกต่างจากโครงการก่อสร้างทั่วไปในหลาย ๆ ด้าน องค์ประกอบและการจัดการสัญญาจ้างในโครงการ BIM (สัญญา BIM) จึงมีลักษณะเฉพาะตัว ในวิทยานิพนธ์นี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาโครงสร้างของสัญญาจ้างก่อสร้างที่เหมาะสมกับโครงการ BIM โดยเน้นการศึกษาเอกสารและเนื้อหาสำคัญของสัญญา BIM การวิจัยเริ่มจากการรวบรวมและวิเคราะห์มาตรฐาน แนวทาง คู่มือ และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ BIM ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วโลก จากนั้นจึงสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการสัญญา BIM เพื่อนำมาวิเคราะห์และร่างเอกสารสัญญา BIM และสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสัญญา BIM ผลที่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงเอกสารสัญญา BIM แต่ละรายการให้เหมาะสมกับโครงการ BIM ในประเทศไทย ผลลัพธ์หลักของงานวิจัยนี้คือ แนวทางสำหรับร่างเอกสารสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ BIM ที่เหมาะสมสำหรับการวางแผนและบริหารโครงการ BIM ในอุตสาหกรรมก่อสร้างประเทศไทย เนื่องจากเอกสารสัญญา BIM ที่พัฒนาขึ้นสะท้อนระบบนิเวศของโครงการ BIM ในประเทศไทย จึงสามารถช่วยให้โครงการ BIM ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการโครงการ BIM


การประยุกต์ใช้ระบบอากาศยานไร้คนขับเพื่อการตรวจสอบด้วยสายตาของสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กกภายใต้การรังวัดด้วยภาพถ่าย, บวรชนก มณีรัตน์ Jan 2022

การประยุกต์ใช้ระบบอากาศยานไร้คนขับเพื่อการตรวจสอบด้วยสายตาของสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กกภายใต้การรังวัดด้วยภาพถ่าย, บวรชนก มณีรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ได้ศึกษาและนำเสนอการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) ในการตรวจสอบด้วยตาเปล่าของสะพาน (Bridge Visual Inspection) เพื่อใช้ในการทดแทนการตรวจสอบแบบดั้งเดิม โดยใช้หลักเกณฑ์ตามคู่มือตรวจสอบสะพานภายใต้การดูแลกรมทางหลวงชนบทซึ่งทางสำนักก่อสร้างสะพานระบบการบำรุงรักษาสะพาน (Bridge Maintenance Management System : BMMS) โดยทำการศึกษาหาจำนวนจุดควบคุมภาพถ่าย (Ground Control Point: GCP) ในที่เหมาะสม ผลการศึกษาพบว่า ส่วนบนของสะพานเริ่มมีค่าคงที่เมื่อจุดควบคุมภาพถ่ายตั้งแต่ 6 จุด ส่วนข้างของสะพานเริ่มมีค่าคงที่เมื่อจุดควบคุมภาพถ่ายตั้งแต่ 4 จุด และส่วนเสาตอม่อเริ่มมีค่าคงที่เมื่อจุดควบคุมภาพถ่ายตั้งแต่ 4 จุด ทำการเปรียบเทียบพิกัดและระยะแต่ละองค์ประกอบของสะพานจากระนาบออร์โธกับพื้นที่จริง พบว่ามีค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 1.42 ใกล้เคียงกับพื้นที่ความเป็นจริง รวมไปถึงทำการเปรียบเทียบผลลัพธ์ขนาดความเสียหายที่ได้จากระนาบออร์โธ (Orthoplane) กับพื้นที่จริง โดยแบ่งขนาดความเสียหายได้ 3 ส่วน ได้แก่ ความเสียหายขนาดเล็ก มีเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยร้อยละ 21.87 ความเสียหายขนาดกลาง เปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยร้อยละ 19.55 และ ความเสียหายขนาดใหญ่มีเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยร้อยละ 0.832 จากผลการศึกษาพบว่าสามารถนำข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้เป็นแนวทางในการใช้อากาศยานไร้คนขับตรวจสอบสะพานเป็นแนวทางในการตรวจสอบด้วยตาเปล่าของสะพาน ได้อย่างมีคุณภาพ


การศึกษาการประยุกต์ใช้แฝดดิจิทัลในการประเมินสภาพของสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยข้อมูลจากอากาศยานไร้คนขับ, ภัททิยะ พึ่งวงศ์ Jan 2022

การศึกษาการประยุกต์ใช้แฝดดิจิทัลในการประเมินสภาพของสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยข้อมูลจากอากาศยานไร้คนขับ, ภัททิยะ พึ่งวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แบบจำลองเสมือนในโลกดิจิทัลเป็นแนวคิดของอุตสาหกรรม 4.0 ที่สามารถนำไปประยุกต์ในงานหลายๆด้าน หนึ่งในนั้นคือการสร้างแบบจำลองเพื่อใช้ตรวจสอบและประเมินสภาพของโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสะพาน แบบจำลองช่วยให้ผู้ใช้สามารถคาดการณ์และวางแผนสำหรับตรวจสอบและประเมินเพื่อการบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีของการดูแลรักษาสะพานนั้น การใช้เทคนิคโฟโตแกรมเมทรีโดยการเก็บภาพจากอากาศยานไร้คนขับ เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำแบบจำลองดิจิทัล ด้วยกระบวนการ 3D-Reconstruction งานวิจัยฉบับนี้นำเสนอกระบวนการประยุกต์ใช้แบบจำลองแฝดดิจิทัลในการประเมินสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยข้อมูลจากการเก็บภาพจากอากาศยานไร้คนขับ โดยใช้สะพานธนรัตช์ จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่ศึกษา ซึ่งประกอบด้วยกระกวนการตั้งแต่ การรวบรวมข้อมูลด้วยอากาศยานไร้คนขับ การประมวลผลภาพถ่ายเพื่อสร้างแบบจำลอง การสร้างฐานข้อมูลให้กับแบบจำลอง การประเมินสภาพของสะพานจากแบบจำลอง โดยได้ประยุกต์ใช้มาตรฐานการตรวจสอบจากคู่มือการประเมินของประเทศออสเตรเลียเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการประเมินตามคู่มือของกรมทางหลวงประเทศไทย จากการศึกษาแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการประเมินสภาพสะพานจากแบบจำลอง ที่จะช่วยลดเวลา ค่าใช้จ่าย รวมไปถึงความปลอดภัยของผู้ตรวจสอบ ตั้งแต่ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลที่ใช้อากาศยานไร้คนขับ ทดแทนการตรวจสอบแบบดั้งเดิม อีกทั้งลดความซับซ้อนของข้อมูลในกรณีที่สะพานมีขนาดใหญ่ และสามารถติดตามความเปลี่ยนแปลง ความเสียหายของสะพานดังกล่าวได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าว สามารถไปต่อยอดในการประเมินและตรวจสอบสภาพให้กับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆในอนาคต


พฤติกรรมการขับขี่จักรยานยนต์และความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ ของพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ในกรุงเทพมหานคร, ปฐมพร พงษ์อารีย์ Jan 2022

พฤติกรรมการขับขี่จักรยานยนต์และความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ ของพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ในกรุงเทพมหานคร, ปฐมพร พงษ์อารีย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปี พ.ศ. 2562 องค์การอนามัยโลกระบุว่าการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 8 ของโลกและอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยอยู่ในอันดับสูงที่สุดในอาเซียน ทั้งนี้สัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยเป็นผู้เสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการขับขี่จักรยานยนต์และทัศนคติต่อการรับรู้ความเสี่ยงและศึกษาปัจจัยที่อิทธิพลต่อพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินอัตรากำหนดของผู้ขับขี่จักรยานยนต์ประเภทพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยปัจจัยที่สนใจ ได้แก่ ลักษณะทางประชากร ทัศนคติต่อการขับรถเร็ว พฤติกรรมการขับขี่รถจักรยานยนต์เร็วเกินอัตรากำหนด การรับรู้ความเสี่ยง ความเครียดและความเหนื่อยล้าขณะทำงาน ทัศนคติต่อการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ ระยะเวลาและความถี่ในการเดินทาง ซึ่งทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกระดาษ โดยแบบสอบถามอ้างอิงตามทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน (The theory of planned behavior: TPB) จำนวน 450 ตัวอย่าง วิเคราะห์ด้วยแบบจำลองสมการโครงสร้าง (Structural equation model: SEM) พบว่า ทุกปัจจัยส่งผลทางตรงต่อพฤติกรรมการขับขี่รถจักรยานยนต์เร็วเกินอัตรากำหนด ยกเว้น ทัศนคติต่อการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ ระยะเวลาและความถี่ในการเดินทาง ที่ส่งผลทางอ้อมผ่านปัจจัยอื่นๆ ทั้งยังพบว่าระยะเวลาในการทำงานที่ต่างกันทำให้มีการรับรู้ความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ระดับการศึกษาที่ต่างกันทำให้มีการรับรู้ความเสี่ยงและทัศนคติต่อการขับรถเร็วที่แตกต่างกัน โดยผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินอัตรากำหนดต่ำลง และพบว่าจำนวนช่องจราจรมีผลต่อพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด ผลการวิจัยนี้สามารถนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านความปลอดภัยบนท้องถนนสำหรับผู้ขับขี่จักรยานยนต์ประเภทพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่


การออกแบบขนาดและรูปร่างของโครงถักสามมิติอย่างเหมาะสม ด้วยวิธีการปรับปรุงการเรียนรู้อย่างครอบคลุมเพื่อหาค่าเหมาะสมที่สุดของกลุ่มอนุภาคร่วมกับแบบจำลองการถดถอยของกระบวนการเกาส์เซียน, วรัญญา เจริญยิ่ง Jan 2022

การออกแบบขนาดและรูปร่างของโครงถักสามมิติอย่างเหมาะสม ด้วยวิธีการปรับปรุงการเรียนรู้อย่างครอบคลุมเพื่อหาค่าเหมาะสมที่สุดของกลุ่มอนุภาคร่วมกับแบบจำลองการถดถอยของกระบวนการเกาส์เซียน, วรัญญา เจริญยิ่ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทความนี้นำเสนอหนึ่งในเครื่องมือการเรียนรู้ของเครื่อง คือวิธีการถดถอยของกระบวนการเกาส์เซียน (Gaussian process regression, GPR) ร่วมกับอัลกอริทึมการปรับปรุงการเรียนรู้อย่างครอบคลุมเพื่อหาค่าเหมาะสมที่สุดของกลุ่มอนุภาค (Enhanced Comprehensive Learning Particle Swarm Optimization, ECLPSO) เพื่อหาขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมอย่างพร้อมกันของโครงถัก 3 มิติ ภายใต้แรงกระทำจากภายนอก เมื่อเทียบกับเทคนิคการออกแบบด้วยวิธีเมตา-ฮิวริสติก แนวทางนี้จะสามารถลดขั้นตอนในการวิเคราะห์โครงสร้างด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ที่ใช้เวลานานได้ โดยเป็นการสร้างแบบจำลองการทำนายพฤติกรรมของโครงสร้าง จากชุดข้อมูลอินพุต เช่น ตำแหน่งพิกัดข้อต่อและขนาดชิ้นส่วน และข้อมูลเอาต์พุตที่สร้างโดยชุดข้อมูลการวิเคราะห์โครงสร้าง เช่น แรงภายในชิ้นส่วนและการเคลื่อนที่ของตำแหน่งข้อต่อ จากนั้นอัลกอริทึม ECLPSO จะดำเนินการร่วมกับแบบจำลอง GPR ที่มีการคาดคะเนการตอบสนองที่แม่นยำเพียงพอ ผลลัพธ์ที่ได้จากวิธีการที่นำเสนอ คือน้ำหนักรวมของโครงสร้างที่มีค่าต่ำที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแม่นยำและประสิทธิภาพของอัลกอริทึม


การประมาณค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงทางหลวงอันเนื่องมาจากการจราจรรถบรรทุกหนัก, ภาณุพงศ์ เย็นฉ่ำ Jan 2022

การประมาณค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงทางหลวงอันเนื่องมาจากการจราจรรถบรรทุกหนัก, ภาณุพงศ์ เย็นฉ่ำ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแบบจำลองการคาดการณ์ความเสียหายของผิวทางลาดยางที่เหมาะสมกับทางหลวงในประเทศไทย โดยมีผลลัพธ์ความเสียหายที่เพียงพอต่อการคิดค่าบำรุงรักษาทางในระยะยาว และวิเคราะห์หาค่าความเสียหายที่ครอบคลุมค่าซ่อมบำรุงรักษาโครงสร้างทางเพื่อเป็นแนวทางในการคิดอัตราค่าธรรมเนียมรถบรรทุกในอนาคต ผู้ศึกษาได้ทำการสร้างแบบจำลองโครงสร้างถนนลาดยางด้วยโปรแกรม Highway Development and management (HDM-4) โดยใช้ข้อมูลของทางหลวงเส้น 344 ระยอง-บ้านบึง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีชั่งน้ำหนักรถบรรทุกในการสร้างแบบจำลอง โดยที่แบบจำลองที่สร้างมีความยาว 1 กิโลเมตร และมีจำนวนช่องจราจร 4 ช่องจราจร ทำการทดสอบโดยการใช้แบบจำลองรถบรรทุกหนักทั้งหมด 4 ประเภท ทำการจำลองความเสียหายที่เกิดจากรถบรรทุกหนักเป็นระยะเวลา 20 ปี คือ การแตกร้าว, การหลุดร่อน, หลุมบ่อ และร่องล้อ จากผลการศึกษาแบบจำลองพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความแข็งแรงโครงสร้างทาง ปริมาณรถบรรทุก และหน้าตัดถนน มีแนวโน้มที่จะบ่งบอกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยค่าซ่อมบำรุงจะถูกคิดในรูปแบบต่อเพลามาตรฐาน


ปัจจัยที่ส่งผลต่อเจตนาในการเลือกใช้บริการ Mobility As A Service (Maas) ในกรุงเทพมหานคร, รัชกร ภัคพิสุทธิ์กุล Jan 2022

ปัจจัยที่ส่งผลต่อเจตนาในการเลือกใช้บริการ Mobility As A Service (Maas) ในกรุงเทพมหานคร, รัชกร ภัคพิสุทธิ์กุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบัน มีการนำแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่ทำให้การเดินทางเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกขึ้น จึงทำให้เกิดแนวคิดบูรณาการบริการเดินทางซึ่งเรียกแนวความคิดนี้ว่า บริการเดินทางรวมครบวงจร (Mobility as a Service หรือ MaaS) ที่มีการบูรณาการการวางแผน การจอง และการชำระค่าบริการการเดินทางทั้งหมดในแพลตฟอร์มเดียว แนวคิดนี้ยังไม่มีการนำมาใช้ในประเทศไทย การวิจัยนี้จึงศึกษาทัศนคติในการเดินทางและเจตนาหรือความตั้งใจของผู้เดินทางในกรุงเทพมหานครว่าปัจจัยใดส่งผลต่อเจตนาที่จะใช้ MaaS และ แต่ละปัจจัยมีอิทธิพลมากน้อยเพียงใด งานวิจัยนี้ได้ใช้แบบจำลองทั้งหมด 4 แบบจำลอง ได้แก่ แบบจำลองจากทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน (Theory of Planned Behavior; TPB) แบบจำลองการยอมรับเทคโนโลยี (Technology Acceptance Model; TAM) ทฤษฎีการยอมรับและการใช้เทคโนโลยี (Unified Theory of Acceptance of Technology; UTAUT) และ ทฤษฎีการยอมรับและการใช้เทคโนโลยี 2 ฉบับปรับปรุง (Modified UTAUT2) เครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในงานนี้คือแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับการใช้แอปพลิเคชันที่มีอยู่ในปัจจุบันของผู้เดินทาง รวมไปถึงความตั้งใจใช้ MaaS การวิเคราะห์ทำโดยใช้แบบจำลองสมการโครงสร้าง (Structural Equation Modeling; SEM) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยและเจตนาเชิงพฤติกรรมภายในแบบจำลอง ตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์ทั้งสิ้น 402 ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์พบว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี มีความถี่ในการใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า ยกเว้นแอปพลิเคชันการเงิน และจากการวิเคราะห์สมการเชิงโครงสร้าง พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้ MaaS คือ ทัศนคติต่อพฤติกรรม, ความคาดหวังด้านประสิทธิภาพ, อิทธิพลทางสังคม, มูลค่าราคา, และความยืดหยุ่นในการเดินทาง ในขณะที่ความคาดหวังด้านความพยายามและคุณภาพของสารสนเทศ มีผลต่อเจตนาในทางอ้อม โดยผ่านความคาดหวังด้านประสิทธิภาพ


การวิเคราะห์สนามไฟฟ้าและกระแสไอออนของสายส่งไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรงโดยพิจารณาพารามิเตอร์สภาพแวดล้อมของประเทศไทย, แคทรียา ชูพุ่ม Jan 2022

การวิเคราะห์สนามไฟฟ้าและกระแสไอออนของสายส่งไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรงโดยพิจารณาพารามิเตอร์สภาพแวดล้อมของประเทศไทย, แคทรียา ชูพุ่ม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้วิเคราะห์ค่าสนามไฟฟ้าและความหนาแน่นของกระแสไอออนของสายส่งไฟฟ้ากระแสตรง (HVDC) แบบพาดในอากาศโดยใช้วิธีไฟไนต์วอลุ่ม. วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์คือ การประยุกต์ใช้พลศาตร์ของไหลเชิงคำนวณกับการจำลองการไหลของประจุในอากาศ และวิเคราะห์ผลการจำลองที่ได้ตามการติดตั้งสายชีลด์ สภาพแวดล้อมของลมและอุณหภูมิ. ผลการจำลองของสายส่ง 70 kV HVDC แบบขั้วเดี่ยว มีแนวโน้มคล้ายกันกับผลการวัดความหนาแน่นกระแสไอออนในกรณีไม่มีและมีสายชีลด์. การเพิ่มจำนวนสายชีลด์ที่มีระยะติดตั้งอย่างเหมาะสม ลดค่าสูงสุดของความหนาแน่นกระแสไอออนที่พื้นดินได้มากกว่า 50%. ผลการจำลองของสายส่ง ±500 kV HVDC แบบขั้วคู่สองวงจรใช้ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงค่าสนามไฟฟ้าและ ความหนาแน่นของกระแสไอออนภายในเขตเดินสายเดียวกันกับสายส่งไฟฟ้ากระแสสลับ (HVAC). การใช้สายตัวนำไฟฟ้าทางเดินไหลกลับที่เฟสล่างช่วยลดค่าสูงสุดที่พื้นดินของความหนาแน่นกระแสไอออนและสนามไฟฟ้าได้ประมาณ 63% และ 25% ตามลำดับ. ผลลัพธ์ของข้อมูลลมในจังหวัดขอนแก่นแสดงให้เห็นว่า ความหนาแน่นกระแสไอออนและสนามไฟฟ้าสูงขึ้นตามความเร็วลมและสัมประสิทธิ์แรงลมเฉือนที่เพิ่มขึ้น. ข้อจำกัดของสายส่ง ±500 kV HVDC คือ ความเร็วลมที่ความสูงอ้างอิงและสัมประสิทธิ์แรงลมเฉือนควรมีค่า 1.6 m/s และ 0.4 ตามลำดับ จึงได้ค่าสูงสุดของสนามไฟฟ้าต่ำกว่าสายส่ง 500 kV HVAC. อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของสายตัวนำ 1272 MCM ทำให้ความหนาแน่นกระแสไอออนเพิ่มขึ้นและค่าสูงสุดของสนามไฟฟ้าอาจมากกว่าสายส่ง 500 kV HVAC ได้ถึง 38%. ข้อมูลสถิติของลมและอุณหภูมิจึงเป็นพารามิเตอร์สำคัญสำหรับสภาพแวดล้อมทางไฟฟ้าที่จำเป็นต้องพิจารณาในการออกแบบสายส่ง HVDC ใช้งาน.


การนับพลัคไวรัสโดยใช้ค่าขีดคู่และขั้นตอนวิธีสันปันน้ำ, นิตยา คำดี Jan 2022

การนับพลัคไวรัสโดยใช้ค่าขีดคู่และขั้นตอนวิธีสันปันน้ำ, นิตยา คำดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การนับจำนวนไวรัสด้วยจำนวน Plaque Forming Unit (PFU) เพื่อทำการทดลองในด้านต่างๆ เช่นการผลิตวัคซีน สามารถทำได้ด้วยการใช้ตาเปล่าซึ่งส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้า ใช้เวลานานและเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย การนับด้วยวิธีที่รวดเร็วและแม่นยำต้องคำนึงหลายปัจจัย เนื่องจาก PFU มีรูปร่างไม่แน่นอน ขอบไม่เด่นชัด ขนาดไม่สม่ำเสมอ รวมถึงความแตกต่างกันของสีระหว่าง PFU และพื้นหลังภายในจานหลุมไม่คงที่ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอสร้างกรรมวิธีการนับ PFU แบบกึ่งอัตโนมัติจากภาพจานเพาะเลี้ยงที่ได้จากกล้องถ่ายรูปทั่วไปที่ไม่มีการควบคุมแสง เริ่มจากการจำแนก PFU กับพื้นหลังด้วยค่าขีดเริ่มเปลี่ยนแบบปรับตัวได้ โดยถ้าเป็น PFU ขนาดเล็กจะใช้ค่าขีดเริ่มเปลี่ยนบริเวณขอบและกลางหลุมแตกต่างกัน ขณะที่ถ้าเป็น PFU ขนาดใหญ่จะใช้ค่าขีดเริ่มเปลี่ยนเดียวกันทั้งหลุม ปัญหาเรื่องสีย้อมที่ต่างกันถูกแก้โดยใช้ผลต่างของสองช่องสัญญาณในปริภูมิสี CIE-XYZ ที่มีการถ่วงน้ำหนักให้ความสว่างของพื้นหลังเท่ากัน การแบ่งพื้นที่ของ PFU ที่ติดกันประกอบด้วยสองส่วนคือ กระบวนการวิธีสันปันน้ำร่วมกับการแปลงระยะทางและการใช้เกณฑ์ขนาดร่วมกับการขยายของจุดศูนย์กลางที่ได้จากภาพการแปลงระยะทางเป็นวงกลม จากการทดลองพบว่าเมื่อปรับค่าถ่วงน้ำหนักให้เหมาะสมแล้ว กรรมวิธีที่นำเสนอสามารถนับ PFU ผิดพลาดน้อยกว่าร้อยละ 10 สำหรับ PFU ที่เป็นสีขาว มีขอบราบเรียบและไม่มีรูตรงกลาง จึงสามารถนำมาใช้กับ PFU ของไวรัสไข้เลือดออก ไวรัสไข้ปวดข้อยุงลายและไวรัสไข้สมองอักเสบ การนับจะได้ผลผิดพลาดมากขึ้นสำหรับ PFU ที่มีสีชมพูปะปน เช่น ไวรัสไข้ซิก้าและ PFU ที่มีขอบฟุ้ง เช่น PFU ของไวรัสโคโรนา


การศึกษาจลนศาสตร์ไฟฟ้าของหยดน้ำในฉนวนเหลวภายใต้สนามไฟฟ้า, วิกานดา นันทนาวุฒิ Jan 2022

การศึกษาจลนศาสตร์ไฟฟ้าของหยดน้ำในฉนวนเหลวภายใต้สนามไฟฟ้า, วิกานดา นันทนาวุฒิ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาจลนศาสตร์ไฟฟ้าของหยดน้ำที่อยู่ในฉนวนเหลว ได้แก่ การเสียรูปร่าง การเคลื่อนที่ การรวมตัว และการแยกตัว ด้วยการทดลองและการจำลองเชิงตัวเลขเพื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อจลนศาสตร์ไฟฟ้าของหยดน้ำ. รูปแบบแรกที่ศึกษา คือ หยดน้ำอยู่บนอิเล็กโทรดโดยมีตัวกลางเป็นน้ำมันแร่และน้ำมันทานตะวัน. ผลการทดลองพบว่าการเสียรูปของหยดน้ำเพิ่มขึ้นตามสนามไฟฟ้า. การเสียรูปของหยดน้ำในน้ำมันทานตะวันมีค่าสูงกว่าเนื่องจากคุณสมบัติสภาพยอมสัมพัทธ์ที่สูงและความตึงผิวที่ต่ำของน้ำมัน. เมื่อสนามไฟฟ้าสูงถึงค่าวิกฤต การแยกตัวเกิดขึ้นที่บริเวณปลายแหลมของหยด. การจำลองสามารถแสดงการเสียรูปของหยดน้ำได้แม่นยำและทำนายค่าสนามไฟฟ้าวิกฤตได้. รูปแบบที่สอง คือ การรวมตัวของหยดในน้ำมันแร่และน้ำมันซิลิโคนกับผิวน้ำด้านล่าง. ผลการทดลองพบว่าประจุเพิ่มแรงไฟฟ้าที่กระทำกับหยดน้ำ ช่วยให้ประสิทธิภาพของกระบวนการเชื่อมรวมเพิ่มขึ้นในแง่ของเวลา. อย่างไรก็ตาม หยดน้ำที่มีประจุรวมตัวเพียงบางส่วนที่สนามไฟฟ้าต่ำกว่ากรณีที่ไม่มีประจุ. เมื่อสนามไฟฟ้าสูง หยดน้ำที่มีประจุในน้ำมันแร่ไม่รวมตัวกับผิวน้ำ หรือแตกตัวในระหว่างการเคลื่อนที่. พฤติกรรมดังกล่าวไม่เกิดขึ้นในน้ำมันซิลิโคน เนื่องจากความตึงผิวของน้ำมันมีค่าสูง ช่วยให้หยดน้ำรวมตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ. การจำลองสามารถแสดงการเสียรูปของหยดน้ำที่มีและไม่มีประจุก่อนการรวมตัวได้ใกล้เคียงกับผลการทดลอง รวมทั้งแสดงการรวมตัวรูปแบบสมบูรณ์ของหยดน้ำได้. แม้ว่าการจำลองไม่สามารถแสดงพฤติกรรมอื่นเมื่อสนามไฟฟ้ามีค่าสูง เช่น การแยกตัวของหยดน้ำทุติยภูมิ การไม่รวมตัว หรือ การแตกตัว แต่ผลการจำลองแสดงให้เห็นว่าหยดน้ำในน้ำมันซิลิโคนมีเสถียรภาพดีกว่า ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการทดลอง.


การวางแผนวิทยุของการใช้ระบบ 5g และ 6g ร่วมกันสำหรับการบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่, ศุภชาติ จีนคง Jan 2022

การวางแผนวิทยุของการใช้ระบบ 5g และ 6g ร่วมกันสำหรับการบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่, ศุภชาติ จีนคง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยี 6G จะเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก 6G มีจุดมุ่งหมายที่จะให้บริการด้วยอัตราข้อมูลที่สูงถึงระดับ Tbps และมี Latency ต่ำมาก ซึ่งการนำเทคโนโลยี 6G เข้ามาใช้งานจะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งของ Traffic ในช่วงเวลาที่มีอุปกรณ์ใช้งานจำนวนมากได้ ในอนาคตจะมีบริการที่ต้องการใช้อัตราข้อมูลที่สูงขึ้นอีกมาก เช่น Virtual Reality (VR) Extended Reality (XR) และ Hologram ซึ่งเป็นบริการที่ต้องการอัตราข้อมูลระดับสูง โดยการนำเทคโนโลยี 6G เข้ามาให้บริการจะสามารถช่วยให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เพียงพอ วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์ประเมินและเสนอแนวทางการวางแผนวิทยุของระบบ 5G และ 6G ให้ใช้งานร่วมกัน ซึ่งพิจารณาจากอัตราการใช้งานข้อมูลรวมสำหรับบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ ในพื้นที่ต่าง ๆ อัตราข้อมูลการให้บริการของสถานีฐานทั้ง 5G และ 6G และพื้นที่ครอบคลุมของทั้ง 5G และ 6G ที่คำนวณจากการสูญเสียเชิงวิถี และแสดงตำแหน่งและพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบนพื้นที่ที่กำหนด วิทยานิพนธ์นี้แสดงผลการวิเคราะห์บนพื้นที่ตัวอย่าง Dense Urban เทียบเท่าได้กับพื้นที่ศูนย์การค้าย่านสยามสแควร์ และพื้นที่ตัวอย่าง Urban เทียบเท่าได้กับพื้นที่ชุมชนอยู่อาศัยในตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยเลือกใช้งานสถานีฐานของ 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั้งหมด และใช้สถานีฐานของ 6G ในตำแหน่งที่มีผู้คนใช้งานเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลลัพธ์ของงานวิทยานิพนธ์นี้สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ในการวางพื้นที่ติดตั้งโครงข่ายเบื้องต้น เพื่อตั้งสถานีฐาน 5G และ 6G สำหรับขยายพื้นที่ให้บริการต่อไปในอนาคต


ระบบสนับสนุนการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลลำดับซ้ำเรียงต่อเนื่องแบบสั้นสำหรับนิติวิทยาศาสตร์, ณัฏฐชัย กุลธรรมนิตย์ Jan 2022

ระบบสนับสนุนการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลลำดับซ้ำเรียงต่อเนื่องแบบสั้นสำหรับนิติวิทยาศาสตร์, ณัฏฐชัย กุลธรรมนิตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ลำดับซ้ำเรียงต่อเนื่องแบบสั้น (Short Tandem Repeat) หรือเอสทีอาร์ (STR) เป็นลำดับที่ซ้ำกันเป็นชุด ๆ ที่พบได้ในจีโนม (Genome) ของมนุษย์และมีประโยชน์มากในนิติวิทยาศาสตร์ เช่น การยืนยันตัวบุคคล การหาความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เทคโนโลยีการลำดับเบสยุคใหม่ (Next-Generaton Sequencing: NGS) เช่น ForenSeq Signature Prep สามารถหาลำดับ STRs และให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรได้ ถึงแม้ว่าเอสทีอาร์ที่ได้จากเทคโนโลยีนี้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ไม่มีแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สใดที่รวมการจัดการและการวิเคราะห์ข้อมูลของเอสทีอาร์ไว้ในแพลตฟอร์มเดียว ผู้ใช้งานอาจต้องใช้หลายโปรแกรมในการวิเคราะห์ข้อมูลเอสทีอาร์ จากนั้นรวบรวมผลลัพธ์ลงในฐานข้อมูลแยกหรือโฟลเดอร์ระบบไฟล์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ระบบที่นำเสนอ STRategy เป็นเว็บแอพพลิเคชันที่มีระบบการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลเอสทีอาร์ โดย STRategy อนุญาตให้ผู้ใช้งานเก็บข้อมูลลงฐานข้อมูลหลังจากนั้นระบบจะวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ ระบบนี้ถูกออกแบบให้ใช้ในองค์กรหรือห้องปฏิบัติการ จึงมีระบบการกำหนดสิทธิผู้ใช้ระบบตามบทบาท (Role Based Access Control) เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลตามสิทธิของแต่ละบุคคลเท่านั้น ระบบถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นสูง และได้ปฏิบัติตามแนวคิดสถาปัตยกรรม 3-เลเยอร์ หลักการออกแบบโปรแกรมเชิงวัตถุ รวมถึงมีการใช้แบบรูป (Design patterns) ต่าง ๆ เพื่อรองรับการเพิ่มโมดูลการวิเคราะห์และโมดูลการแสดงผล รวมถึงการพัฒนาต่อยอดได้ง่ายในอนาคต


บทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับในคดีละเมิด: การวิเคราะห์คำพิพากษาศาลไทยด้วยกระบวนการเรียนรู้เชิงลึก, ทวีศักดิ์ ชูศรี Jan 2022

บทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับในคดีละเมิด: การวิเคราะห์คำพิพากษาศาลไทยด้วยกระบวนการเรียนรู้เชิงลึก, ทวีศักดิ์ ชูศรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การประมวลผลเอกสารทางกฎหมายโดยใช้การประมวลผลภาษาธรรมชาติเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจในการศึกษาอย่างมาก เนื่องจากการกำหนดหมวดกฎหมายสำหรับคดีในศาลมักต้องมีการปรึกษาหารือกับทนายความซึ่งมีค่าบริการที่สูงมาก ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงการใช้บริการดังกล่าวได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดทำงานวิจัยนี้ ด้วยการสร้างระบบที่สามารถดึงข้อมูลส่วนกฎหมายที่เหมาะสมตามข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องของคดีในศาล เพื่อให้บรรลุงานวิจัยนี้ ทางคณะผู้วิจัยได้รวบรวมชุดข้อมูลที่ครอบคลุมของคดีในศาลฎีกาจากประเทศไทย รวมถึงดึงข้อเท็จจริงจากเอกสารของโจทก์และจำเลยโดยใช้การผสมผสานระหว่างการเรียนรู้ของเครื่องและระบบที่ใช้กฎเป็นพื้นฐานเพื่อการวิเคราะห์การประมวลผลภาษาธรรมชาติเพิ่มเติม แนวทางที่ของงานวิจัยนี้นำเสนอมุ่งเน้นไปที่ระบบค้นคืนมาตราที่เกี่ยวข้องด้วยข้อมูลชุดฝึกที่มีจำนวนน้อย โดยใช้ข้อเท็จจริงของโจทก์เป็นข้อมูลเข้า ซึ่งระบบนี้จะสามารถจัดการกับมาตราต่างๆ ของกฎหมาย รวมถึงส่วนที่ไม่ค่อยพบหรือไม่ได้อยู่ในชุดการฝึกอบรม โดยที่ระบบจะทำงานได้ดีกว่ามาตรฐานพื้นฐาน โดยสรุป การวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบดึงข้อมูลส่วนกฎหมายที่เหมาะสมตามข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องของคดีในศาลที่เข้าถึงได้และแม่นยำมากขึ้น ทางคณะผู้วิจัยหวังว่าจะลดความจำเป็นในการปรึกษาทนายความที่มีค่าบริการที่สูง และมอบเครื่องมือที่มีค่าสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณาคดีในศาล


การเปรียบเทียบการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมด้วยภาพซ้อนทับ Pet-T1 และ Pet-Dti, ปรเมษฐ์ วงษา Jan 2022

การเปรียบเทียบการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมด้วยภาพซ้อนทับ Pet-T1 และ Pet-Dti, ปรเมษฐ์ วงษา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้ เพื่อสร้างแม่แบบภาพเพทมาตรฐานบริเวณสมองขึ้นมาใหม่ และเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการกระบวนการซ้อนทับภาพเพทระหว่างแม่แบบภาพเพทบริเวณสมองที่สร้างขึ้นกับแม่ภาพเพทบริเวณสมองแบบเดิมที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน แม่แบบภาพเพทมาตรฐานบริเวณสมองสร้างขึ้นมาจากภาพเพท กับภาพเอ็มอาร์ไอแบบ DTI จากข้อมูลภาพถ่ายทางรังสีจากกลุ่มอาสาสมัครที่มีภาวะความจำปกติ จำนวน 24 คน อายุระหว่าง 42-79 ปี ซึ่งกลุ่มอาสาสมัครดังกล่าวจะต้องทำการถ่ายเพทบริเวณสมองที่มีการฉีดสารเภสัชรังสี 11C-PIB เข้าไปในร่างกาย และทำการถ่ายภาพเอ็มอาร์ไอบริเวณสมองด้วยเทคนิค T1 และเทคนิค DTI จากนั้นทำการแก้ไขค่ากระแสไฟฟ้ารบกวน การกำจัดคลื่นสัญญาณรบกวน และการสร้างแผนที่โดยวิธี Whole-brain probabilistic tractography จากภาพถ่ายเอ็มอาร์ไอเทคนิค DTI โดยแผนที่ดังกล่าวที่ถูกสร้างขึ้นมาจะถูกนำไปใช้ในขั้นตอนการซ้อนทับ และขั้นตอนการ Normalize กับภาพเพทเพื่อช่วยในการกำหนดขอบเขตภายในบริเวณเนื้อสมอง หลังจากนั้นทำการประเมินความถูกต้องของการซ้อนทับของภาพแม่แบบภาพเพทมาตรฐาน โดยการประเมินการซ้อนทับกับภาพเพทในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้นที่เข้ารับการถ่ายภาพเพทบริเวณสมองด้วยการตรวจแบบเดียวกัน จากนั้นทำการประเมินและให้คะแนนความถูกต้องในการซ้อนทับของภาพเพทกับแม่แบบภาพเพทมาตรฐานบริเวณสมองโดยรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์จำนวน 3 คน ด้วยวิธีการแบบปกปิดข้อมูล แล้วทำการเปรียบเทียบค่าคะแนนดังกล่าวโดยใช้การทดสอบทางสถิติแบบ Wilcoxon Signed Ranks test การประเมินความสอดคล้องภายในโดยใช้สถิติ Fleiss Kappa test และสถิติ Cohen’s weighted Kappa test ผ่านโปรแกรม SPSS ที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 95 นอกจากนี้ในงานวิจัยได้ทำการหาค่า Dice similarly coefficient เพิ่มเติม เพื่อเปรียบเทียบความถูกต้องของการซ้อนทับดังกล่าว ผลการศึกษาวิจัยพบว่าคะแนนประเมินความถูกต้องในการซ้อนทับของภาพเพทกับแม่แบบมาตรฐานภาพเพทบริเวณสมองที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการใหม่มีค่าสูงกว่าแม่แบบมาตรฐานภาพเพทบริเวณสมองที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับค่า Dice similarly coefficient ที่พบว่ามีค่าสูงสุดในแม่แบบมาตรฐานภาพเพทบริเวณสมองที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการใหม่ อย่างไรก็ตามพบว่าผลการประเมินค่าความสอดคล้องภายในอยู่ในระดับสอดคล้องกันแบบเล็กน้อย ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวสรุปได้ว่า แม่แบบมาตรฐานภาพเพทบริเวณสมองที่สร้างขึ้นมาใหม่โดยใช้ภาพเอ็มอาร์ไอเทคนิค DTI มาร่วมด้วย มีการซ้อนทับของภาพที่ดีกว่าเดิมและเหมาะสมในการที่จะนำไปใช้ในการช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีสภาวะโรคสมองเสื่อม


การพัฒนาระบบฝึกเดินพร้อมการประเมินผลการเดินด้วยอุปกรณ์ไลดาร์, ศุภรักษ์ ศักดารักษ์ Jan 2022

การพัฒนาระบบฝึกเดินพร้อมการประเมินผลการเดินด้วยอุปกรณ์ไลดาร์, ศุภรักษ์ ศักดารักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ฝึกเดินที่มีการนำอุปกรณ์วัดระยะทางด้วยแสง หรือ อุปกรณ์ไลดาร์ มาประยุกต์ใช้ในการเก็บข้อมูลการเดิน และนำข้อมูลการเดินที่อุปกรณ์ไลดาร์เก็บได้ มาทำการประมวลผลเป็นตัวแปรการเดินต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำโดยไม่จำเป็นต้องทำการปรับเทียบทุกครั้งก่อนใช้งาน และ ไม่จำเป็นต้องติดวัตถุลงบนร่างกายของผู้ใช้งานก็สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างแม่นยำ โดยในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการทดสอบความถูกต้องและความแม่นยำในการเก็บข้อมูลโดยเปรียบเทียบกับอุปกรณ์ถ่ายภาพความเคลื่อนไหวทางคลินิก โดยจากการทดสอบพบว่า จากความคลาดเคลื่อนในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงระยะทาง และ ความคลาดเคลื่อนในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงเวลา ที่ต่ำกว่า 10% โดยสรุป จากการทดสอบกับระบบเก็บข้อมูลการเดินมาตรฐานทางการแพทย์ มีความเป็นไปได้ที่จะนำอุปกรณ์ฝึกเดินพร้อมระบบวัดระยะทางด้วยแสงที่พัฒนาขึ้นนี้ มาใช้งานในการเก็บข้อมูลการเดินจริงได้ ซึ่งระบบฝึกเดินที่พัฒนาขึ้นนี้ จะมีประโยชน์ในการกายภาพบำบัดและการฟื้นฟูร่างกายแบบทางไกล


การวิเคราะห์รูปแบบการสัญจรด้วยเท้าของธุรกิจในเขตวัฒนาในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19, ญาณิศา นวลอนันต์ Jan 2022

การวิเคราะห์รูปแบบการสัญจรด้วยเท้าของธุรกิจในเขตวัฒนาในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19, ญาณิศา นวลอนันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปีค.ศ.2020 - 2022 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากจากโควิด-19 การประกาศใช้มาตรการเพื่อควบคุมสถานะการณ์แพร่ระบาดส่งผลให้หลายธุรกิจขาดทุนสะสมและปิดกิจการลง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ข้อมูลการสัญจรด้วยเท้าที่ใช้ในงานวิจัยนี้ได้จากการติดตามโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบนิรนามร่วมกับระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลกด้วยดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบธุรกิจในเขตวัฒนา จังหวัดกรุงเทพฯ โดยเป้าหมายของงานวิจัย คือ ศึกษาและเปรียบเทียบประเภทธุรกิจด้วยรูปแบบการสัญจรด้วยเท้า ซึ่งจัดกลุ่มขนาดสถานที่ตามจำนวนการสัญจรด้วยเท้าเฉลี่ยต่อวันแล้วเปรียบเทียบด้วยเงื่อนไขความแตกต่างระหว่างอัตราส่วนค่าเฉลี่ยการสัญจรด้วยเท้าของกลุ่มและสถานที่ อีกทั้งข้อมูลการสัญจรด้วยเท้าสามารถวิเคราะห์ผลกระทบประกาศมาตรการจากรัฐบาล และการฟื้นตัวธุรกิจโดยการเปรียบเทียบความแตกต่างปริมาณการสัญจรด้วยเท้าด้วยสถิติทดสอบ Friedman และ Wilcoxon Signed-Rank จากงานวิจัยนี้พบว่าธุรกิจแต่ละประเภทมีรูปแบบการสัญจรด้วยเท้าค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์และสัมพันธ์กับจำนวนการสัญจรด้วยเท้าเฉลี่ยต่อวัน ผลการเปรียบเทียบสถานที่ตัวอย่างที่ผ่านเงื่อนไข/สถานที่ตัวอย่างทั้งหมดของธุรกิจบาร์และสถานบันเทิง 130/204, ธุรกิจศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาล 143/204, ธุรกิจอาคารสำนักงาน 199/282, ธุรกิจร้านอาหาร 304/480 และธุรกิจร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า 145/180 การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน), เคอร์ฟิว และห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย ส่งผลให้จำนวนการสัญจรด้วยเท้าลดลงและคงที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในช่วงระยะเวลาที่ศึกษา การสั่งปิดธุรกิจบาร์และสถานบันเทิงครั้งที่2 ใช้เวลาสองเดือนเพื่อควบคุมจำนวนการสัญจรด้วยเท้าให้อยู่ในระดับต่ำซึ่งระหว่างที่ประกาศใช้มีบางช่วงเวลาที่จำนวนการสัญจรด้วยเท้าเพิ่มขึ้นสวนทางกับจุดประสงค์ของมาตรการ และจากสถิติทดสอบพบว่าในเดือนตุลาคม ค.ศ.2022 ไม่มีธุรกิจประเภทใดฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดโควิด-19


การพัฒนาตัวแบบแปลความหมายทางภูมิศาสตร์และจำแนกประเภทอัตโนมัติจากข้อมูลภาษาไทยบนทวิตเตอร์, ธุวชิต แฉล้มเขตต์ Jan 2022

การพัฒนาตัวแบบแปลความหมายทางภูมิศาสตร์และจำแนกประเภทอัตโนมัติจากข้อมูลภาษาไทยบนทวิตเตอร์, ธุวชิต แฉล้มเขตต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ทวิตเตอร์เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่มีความรวดเร็วอย่างมาก ในข้อความปริมาณมหาศาลที่มีการสื่อสารกันนั้น มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ใหม่ ๆ ทั้งชื่อและข้อความที่อธิบายตำแหน่งที่ตั้ง จึงนับเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับช่วยในการปรับปรุงฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศในระบบสารสนเทศต่าง ๆ เช่นระบบแผนที่นำทาง ให้ทันสมัยอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยขั้นตอนสำคัญ 2 ขั้นตอนคือ การสกัดภูมินาม เพื่อค้นหาและสกัดชื่อของสถานที่ในข้อความ และการเข้ารหัสภูมิศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ประมาณค่าตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของสถานที่นั้น ในปัจจุบันการนำงานวิจัยและเครื่องมือการสกัดภูมินามที่ได้มีการพัฒนาไว้กับภาษาอื่นมาใช้กับข้อมูลภาษาไทยยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด และเทคนิคการเข้ารหัสภูมิศาสตร์ที่มีอยู่ก็ยังให้ค่าความถูกต้องทางตำแหน่งไม่ดีเท่าที่ควร งานวิจัยนี้พัฒนาตัวแบบเพื่อแปลความหมายทางภูมิศาสตร์ภาษาไทย โดยในการสกัดภูมินามนั้น ได้นำเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องได้แก่ แบบจำลอง CRF ซึ่งมีการสร้างฟังก์ชันคุณลักษณะเฉพาะทางด้านภูมิศาสตร์เพิ่มเติม โครงข่ายประสาทเทียมแบบวกกลับ ได้แก่ LSTM และ GRU และสุดท้ายคือแบบจำลองการถ่ายโอนความรู้ คือ BERT โดย BERT คือแบบจำลองที่ให้ค่าความถูกต้องโดยรวมในระดับคำที่สมบูรณ์ (F1-Phrase) อยู่ที่ 0.919 การเข้ารหัสภูมิศาสตร์เพื่อหาตำแหน่งของชื่อสถานที่ใหม่ที่สกัดได้นั้น ได้มีการพัฒนาอัลกอริทึมใหม่ขึ้นงานวิจัยนี้โดยการนำข้อมูลความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างชื่อสถานที่อื่น ๆ ที่ทราบตำแหน่งที่ตั้งในข้อความมา ใช้เป็นค่าถ่วงน้ำหนักในการประมาณตำแหน่งของสถานที่ใหม่ ให้ชื่อว่า Topology words ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า แบบจำลอง Topology words ให้ประสิทธิภาพดีที่สุดจากค่าเฉลี่ยกำลังสอง (Root mean square error) ต่ำที่สุดคือ 0.947 กิโลเมตร และเป็นค่าความถูกต้องที่ดีกว่าเทคนิคเดิม ๆ ที่มีอยู่ทั้ง DBSCAN, K-means, K-medoids และ Agglomerative clustering


การติดตามการทรุดตัวของแผ่นดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงปี ค.ศ. 2018 – 2022 ด้วยเทคนิคอินซาร์แบบอนุกรมเวลา โดยใช้ซอฟต์แวร์ Mintpy, ณัฏฐริณีย์ เอี้ยวรัตนวดี Jan 2022

การติดตามการทรุดตัวของแผ่นดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงปี ค.ศ. 2018 – 2022 ด้วยเทคนิคอินซาร์แบบอนุกรมเวลา โดยใช้ซอฟต์แวร์ Mintpy, ณัฏฐริณีย์ เอี้ยวรัตนวดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการตรวจวัดและติดตามการทรุดตัวของแผ่นดินด้วยการประมวลผลเทคนิคอินซาร์แบบอนุกรมเวลา วิธี Small Baseline บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประมวลผลผ่านซอฟต์แวร์ MintPy โดยใช้ชุดข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-1 ซึ่งเป็นข้อมูลในวงโคจรขาขึ้น ช่วงปี ค.ศ. 2017 – 2022 และชุดข้อมูลในวงโคจรขาลง ช่วงปี ค.ศ. 2018 – 2022 ผลการวิจัยตรวจพบค่าอัตราการเคลื่อนตัวอยู่ในช่วงน้อยกว่า -30 ถึงมากกว่า 10 มม./ปี โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีค่าอัตราการทรุดตัวค่อนข้างคงที่ ส่วนปริมณฑลตรวจพบในบางพื้นที่ที่มีค่าอัตราการทรุดตัวสูงในช่วง 35 ถึง 40 มม./ปี เช่น บริเวณอำเภอบ้านแพ้วและอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอบางพลีและอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้น ในงานวิจัยได้มีการคัดเลือกพื้นที่ที่มีแนวโน้มการทรุดตัวสูงและหาระดับความสัมพันธ์ของผลลัพธ์ทั้งสองชุดด้วยค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์ โดยมีค่าอยู่ในช่วง 0.6 – 0.9 หมายถึงข้อมูลมีความสอดคล้องกันอย่างมีนัยยะสำคัญและมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้สามารถสนับสนุนได้ว่ามีการทรุดตัวเกิดขึ้นจริงและควรมีการติดตามการทรุดตัวของแผ่นดินต่อไป นอกเหนือจากนี้ผลลัพธ์การทดสอบทางสถิติ t-test ร่วมกับข้อมูลจากสถานีอ้างอิงค่าพิกัดแบบต่อเนื่องทั้งหมด 7 สถานี พบสถานีที่มีค่าอัตราการทรุดตัวของแผ่นดินสอดคล้องกัน ในชุดวงโคจรขาขึ้น 4 สถานี ในชุดข้อมูลวงโคจรขาลง 2 สถานี และตรวจพบสถานีที่ข้อมูลไม่สอดคล้องกันแบ่งได้ 2 รูปแบบคือ ข้อมูลจากภาคสนามเร็วกว่าข้อมูลอินซาร์และข้อมูลจากภาคสนามช้ากว่าข้อมูลอินซาร์ อาจมีสาเหตุมาจากข้อมูลอินซาร์มีการบันทึกบนชั้นดินในขณะที่ข้อมูลภาคสนามมีการเก็บบนอาคารที่มีการวางโครงสร้างแข็งแรง ข้อมูลภาคสนามมีน้อยเกินไปรวมไปถึงข้อมูลอินซาร์มีการเฉลี่ยจุดผลลัพธ์การทรุดตัวบริเวณรอบมาด้วย


การประเมินประสิทธิภาพของการใช้สมาร์ทโฟนที่มีจีเอ็นเอสเอสแบบสองความถี่ในการคำนวณงานดินด้วยวิธีการรังวัดหาตำแหน่งแบบจลน์ในทันที, นันทพงศ์ ตันตระกูล Jan 2022

การประเมินประสิทธิภาพของการใช้สมาร์ทโฟนที่มีจีเอ็นเอสเอสแบบสองความถี่ในการคำนวณงานดินด้วยวิธีการรังวัดหาตำแหน่งแบบจลน์ในทันที, นันทพงศ์ ตันตระกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันการหาปริมาณดินที่ใช้ในการถมที่ดินว่างเปล่ามีค่าใช้จ่ายสูงต้องมีทีมสำรวจอย่างน้อย 4 คนผู้แต่งจึงต้องการนำสมาร์ตโฟนแบบสองความถี่ที่จะสามารถหาตำแหน่งด้วยวิธีการหาตำแหน่งแบบจลน์ในทันทีด้วยวิธีตําแหน่งอ้างอิงเสมือนมาช่วยในการหาปริมาณดินโดยทำการทดสอบบนพื้นที่ขนาด 11,145 ตารางเมตรโดยจะนำไปเปรียบเทียบกับวิธีดั้งเดิมที่ใช้กล้องสำรวจโดยทำการลงพื้นที่สำรวจปักหมุดทดสอบ 21 หมุดแล้วนำสมาร์ตโฟนพร้อมอุปกรณ์ล๊อคตำแหน่งและค่าระดับไปรังวัดด้วยวิธีการหาตำแหน่งแบบจลน์ในทันทีด้วยวิธีตําแหน่งอ้างอิงเสมือนโดยเชื่อมต่อกับข้อมูลสถานีค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องของกรมที่ดินในจุดทดสอบโดยรังวัดในเวลากลางคืนเก็บข้อมูลทุก 1 วินาทีเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 21 หมุดแล้วนำข้อมูลมาประมวลผลร่วมกับข้อมูลค่าแก้นาฬิกาดาวเทียม, วงโคจรดาวเทียม, ค่าแก้ชั้นบรรยากาศและค่าแก้เสาอากาศแล้วนำค่าพิกัดที่ได้ไปคำนวณปริมาณดินที่ใช้ในการถมโดยผลลัพธ์จากสมาร์ตโฟนแบบสองความถี่ได้ความถูกต้องที่ดีที่สุดทางราบ 4 cm ทางดิ่ง 8 cm โดยใช้เวลาในการลู่เข้ามากสุด 40 นาทีซึ่งเมื่อนำไปคำนวณปริมาณดินเปรียบเทียบกับวิธีเดิม ในทางสถิติจะมีปริมาณดินต่างกันไม่เกิน +-10% ทำให้สามารถสรุปได้ว่าการใช้สมาร์ตโฟนแบบสองความถี่สามารถนำมาใช้ในงานคำนวณปริมาณงานดินแทนวิธีการใช้กล้องสำรวจได้และมีค่าใช้จ่ายในการทำงานน้อยกว่าวิธีเดิมกว่า 5 เท่า


การประยุกต์ใช้แบบจำลองการแพร่กระจายฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (Pm2.5) จากภาคการจราจรบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธรรมลักษณ์ รัตนวรชัย Jan 2022

การประยุกต์ใช้แบบจำลองการแพร่กระจายฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (Pm2.5) จากภาคการจราจรบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธรรมลักษณ์ รัตนวรชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน ภาพลักษณ์และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยนี้ในการใช้แบบจำลอง AERMOD ในการจำลองการแพร่กระจายของความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อศึกษาสภาวการณ์ของฝุ่นละออง PM2.5 ในปี พ.ศ.2561-2563 บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดขอบเขตพื้นที่ 2.5 กิโลเมตร x 2.5 กิโลเมตร มีการนำเข้าข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษสู่แบบจำลองที่ประกอบไปด้วย แหล่งกำเนิด PM2.5 จากการจราจรที่แบ่งตามประเภทรถยนต์จากรายงานสถิติการจราจร ซึ่งมีทั้งข้อมูลการจราจรภาคพื้นดินและการจราจรบนทางพิเศษ การกำหนดความผันแปรปริมาณจราจรจำแนกตามประเภทยานพาหนะนั้นวิเคราะห์ข้อมูลจากวิดีโอกล้อง CCTV บริเวณถนนบรรทัดทองเป็นเวลา 7 วันตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ได้กำหนดปริมาณ PM2.5 ที่พัดพามาจากนอกพื้นที่ศึกษาที่เจาะจงตามข้อมูลทิศทางลมรายชั่วโมงและข้อมูลตรวจวัด PM2.5 จากสถานีในบริเวณต้นลม ผลที่ได้ในปี พ.ศ.2561-2563 พบว่าข้อมูลในปี พ.ศ.2563 มีความแม่นยำมากที่สุด โดยปี พ.ศ.2563 พบว่าที่ค่าสูงสุดความเข้มข้น PM­2.5 เฉลี่ย 1 ชั่วโมง (Hotspot) อยู่บริเวณแยกพงษ์พระราม ที่ความเข้มข้นเท่ากับ 343.68 µg/m3 ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนของแหล่งกำเนิดมลพิษ (Source contribution) มาจากการจราจรภาคพื้น 7.68 µg/m3 (2.21%) จากทางพิเศษ 302.08 µg/m3 (87.90%) และจากการพัดพาของ PM2.5 นอกพื้นที่ศึกษา 34 µg/m3 (9.89%) และสัดส่วนของแหล่งกำเนิดมลพิษจากประเภทของยานพาหนะทั้ง 4 ประเภท พบว่ามาจากรถยนต์ประเภท Personal car 112.97 µg/m3 (32.87%) Light duty 3.64 µg/m3 (1.06%) Heavy duty 192.68 µg/m3 (56.07%) Other vehicle 0.39 µg/m3 (0.11%) …