Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Engineering Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Industrial Engineering

Chulalongkorn University

2021

Articles 31 - 39 of 39

Full-Text Articles in Engineering

การวิเคราะห์พารามิเตอร์ของเครื่องบดหินผสมในการผลิตปูนมอร์ต้า, ปรัชญ์พล พวงศิริ Jan 2021

การวิเคราะห์พารามิเตอร์ของเครื่องบดหินผสมในการผลิตปูนมอร์ต้า, ปรัชญ์พล พวงศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปูนซีเมนต์มอร์ต้าได้รับการพัฒนาเพื่อใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมก่อสร้าง วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตปูนคือทราย กระบวนการบดเป็นกระบวนการหนึ่งของการผลิตเพื่อลดขนาดของหินปูนเป็นทรายให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ (ขนาด 0.1-0.6 มม.) ส่วนที่เหลือจะเป็นผงละเอียดที่มีขนาดเล็กกว่า 0.1 มม. อาจเป็นมลภาวะทางอากาศ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดเก็บและกำจัดต่อไป การศึกษานี้จึงได้ทำการทดลองหาค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมที่สุดของเครื่องบดแบบลูกกลิ้งแนวตั้งเพื่อปรับปรุงการบดให้สามารถเพิ่มสัดส่วนของทรายที่ได้ขนาดและลดปริมาณผงหรือฝุ่นละเอียดลง จากผลการทดลองได้ค่าที่เหมาะสมของพารามิเตอร์สำหรับการปรับตั้งเครื่องบดแบบลูกกลิ้งแนวตั้งดังนี้ อัตราป้อนวัตถุดิบ 130 ตัน/ชั่วโมง แรงอัดบด 103 บาร์ ความเร็วในการหมุนของโต๊ะ 9.5 รอบต่อนาที และอัตราการดูดผงละเอียด 37,838 ลบ.ม./ชั่วโมง ทำให้สัดส่วนของทรายเพิ่มจาก 62.91% เป็น 77.34% คิดเป็นผลผลิตเพิ่มขึ้น 14% ในขณะที่สัดส่วนของผงละเอียดลดลงจาก 37% เป็น 14.80%


การประยุกต์ใช้ฮิวริสติกส์แบบ 2 ขั้น สำหรับการจัดตารางการผลิตในกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงบนแผ่นวงจร, พัฒนโชค อินทะโส Jan 2021

การประยุกต์ใช้ฮิวริสติกส์แบบ 2 ขั้น สำหรับการจัดตารางการผลิตในกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงบนแผ่นวงจร, พัฒนโชค อินทะโส

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การจัดตารางการผลิตในกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงบนแผ่นวงจร (Surface Mount Technology, SMT) เป็นกระบวนการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต เช่น เครื่องจักร วัตถุดิบ ผู้ปฏิบัติงาน รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ในการผลิต อย่างไรก็ดี การจัดตารางการผลิตในกระบวนการดังกล่าวกลับมีความซับซ้อน อันเนื่องมาจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทั้งในมุมของจำนวนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประเภทของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงประเภทของเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตที่แตกต่างกันออกไป หากตารางการผลิตไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลทำให้ไม่สามารถส่งงานไปยังกระบวนการถัดไปได้ทันเวลา สูญเสียเวลาในการผลิตมากเกินความจำเป็น อีกทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์อีกด้วย งานวิจัยนี้จึงได้ทำการพัฒนาฮิวริสติกส์แบบ 2 ขั้น เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาการจัดตารางการผลิตในกระบวนการดังกล่าว โดยในขั้นตอนการหาผลเฉลยเบื้องต้น ได้ประยุกต์ใช้กฎการส่งมอบงานที่เร็วที่สุด (Earliest Due Date, EDD) แล้วจึงทำการปรับปรุงผลเฉลยที่ได้ด้วยการบูรณาการระหว่างการปรับปรุงผลเฉลยเฉพาะถิ่น และอัลกอริทึมในการย้ายขอบเขตการค้นหา (Escape Mechanism) เพื่อค้นหาผลเฉลยที่ดีขึ้น จากนั้นทำการทดสอบฮิวริสติกส์ที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยได้ทำการเปรียบเทียบคุณภาพของคำตอบที่ได้ กับตารางการผลิตในอดีตของบริษัทกรณีศึกษาแห่งหนึ่ง พบว่าวิธีการดังกล่าวสามารถลดระยะเวลาในการปิดงาน (Makespan) ลดระยะเวลาเตรียมงาน (Setup Time) และลดต้นทุนค่าล่วงเวลาลงร้อยละ 16, 27, 32 ตามลำดับ


การปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการพัสดุบรรจุและนโยบายการเติมเต็มสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุสำหรับโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ภมร สถิรมนวงศ์ Jan 2021

การปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการพัสดุบรรจุและนโยบายการเติมเต็มสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุสำหรับโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ภมร สถิรมนวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการสินค้าสำเร็จรูป และการพัฒนาระบบเติมเต็มสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุของโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการวางแผนการผลิตที่คลาดเคลื่อน และการจัดเก็บพัสดุบรรจุที่สูงเกินจริง ทั้งนี้ผู้วิจัยพบว่า มูลค่าพัสดุคงคลังเฉลี่ยต่อเดือนของบริษัทกรณีศึกษามีค่าสูงถึงกว่า 92.3 ล้านบาท แต่อัตราการหมุนเวียนของพัสดุบรรจุเฉลี่ยมีค่าค่อนข้างต่ำที่ 3.05 รอบต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้บริษัทกรณีศึกษา ยังไม่มีนโยบายการควบคุมปริมาณสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุอย่างเป็นระบบ ผู้วิจัยจึงได้นำเสนอการปรับปรุงและพัฒนา โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ การพยากรณ์ความต้องการสินค้าที่มีความแม่นยำ และการควบคุมระดับสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุให้มีความสอดคล้องกับพัสดุบรรจุแต่ละประเภท สำหรับการปรับปรุงวิธีการพยากรณ์สินค้าสำเร็จรูป ผู้วิจัยเริ่มจากการจำแนกผลิตภัณฑ์ออกเป็นกลุ่มตามลำดับความสำคัญแบบ ABC (ABC Pareto analysis) จากนั้นจึงเลือกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่สำคัญ (B285) ไปศึกษาต่อ ผ่านวิธีการพยากรณ์ และตัวชี้วัดความแม่นยำของการพยากรณ์แบบต่างๆ ผู้วิจัยพบว่าวิธีการพยากรณ์แบบดั้งเดิมมีความแม่นยำสูงที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์ B285700 และ B2851000 ในขณะที่วิธี Autoregressive integrated moving average หรือ ARIMA นั้นมีความแม่นยำสูงที่สุด และมีค่าสูงกว่าการพยากรณ์แบบดั้งเดิม สำหรับผลิตภัณฑ์ B285345 ในส่วนของการพัฒนาระบบเติมเต็มสินค้าคงคลังของพัสดุบรรจุ ผู้วิจัยเริ่มจากการจำแนกพัสดุบรรจุออกเป็นกลุ่มตามลำดับความสำคัญแบบ ABC จากนั้นจึงเสนอให้เลือกใช้นโยบายทบทวนการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง (Continuous review policy) สำหรับพัสดุบรรจุที่สำคัญ (กลุ่ม A) และนโยบายทบทวนการสั่งซื้อตามช่วงเวลา (Periodic review policy) สำหรับพัสดุบรรจุที่สำคัญรองลงมา (กลุ่ม B และ C) ด้วยรอบระยะเวลาการทบทวนที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยพบว่า การประยุกต์ใช้ระบบเติมเต็มพัสดุคงคลังที่นำเสนอสามารถลดมูลค่าการจัดเก็บพัสดุบรรจุคงคลังเฉลี่ยของกลุ่มผลิตภัณฑ์ B285 ในช่วงเวลาที่ทำการจำลองสถานการณ์ (เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2564) ลงได้ 6.61 ล้านบาท หรือ 16.54% ตลอดจนสามารถเพิ่มอัตราการหมุนเวียนพัสดุคงคลังขึ้น จากเดิม 3.40 เป็น 4.07 หรือเพิ่มขึ้น 0.67 หน่วย


การปรับปรุงตำแหน่งการวางอาหารสดและกระบวนการขาออกสำหรับคลังสินค้าของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, ภัทราพร จิระภัทรศิลป Jan 2021

การปรับปรุงตำแหน่งการวางอาหารสดและกระบวนการขาออกสำหรับคลังสินค้าของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, ภัทราพร จิระภัทรศิลป

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารการจัดวางสินค้าภายในคลังสินค้าอาหารสด (Fresh Food) ของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จากการศึกษาบริษัทกรณีศึกษาก่อนการปรับปรุงพบว่า ตำแหน่งการวางสินค้ายังไม่เป็นระเบียบและไม่เหมาะสม โดยมีค่าเฉลี่ยของระยะทางสูงสุดในการหยิบสินค้าของแต่ละคำสั่งซื้อ เท่ากับ 7.45 เมตร จากการวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2564 ถึง เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 จำนวน 36,449 รายการ ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาการจัดวางสินค้าโดยใช้หลักการวิเคราะห์ตะกร้าตลาด MBA (Market Basket Analysis) โดยใช้ทฤษฎีกฎความสัมพันธ์ของสินค้า (Association Rule) เพื่อช่วยในการจัดวางสินค้า เพื่อสร้างกลุ่มของสินค้าที่จะอยู่ใกล้กัน และได้ทำการวิเคราะห์โดยแบ่งเป็นทดสอบออกเป็น 2 ส่วน คือ Support Based Model และ Association Rule Based Model โดยวิธี Association Rule Based Model จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างตัวแปรของค่า Support ค่า Confidence และค่า lift โดยจำลองวัดระยะทางจากคำสั่งซื้อจริง จำนวน 36,449 รายการ ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบระยะทางหลังการปรับปรุง พบว่าค่าเฉลี่ยระยะทางสูงสุดต่อคำสั่งซื้อจากวิธี Association Rule Based Model แบบที่ 1 สามารถลดค่าเฉลี่ยระยะทางสูงสุดต่อคำสั่งซื้อได้เหลือ 6.81 เมตร คิดเป็นการลดลง 8.59% เทียบกับวิธีการที่บริษัทใช้ก่อนการปรับปรุง นอกจากนั้นยังนำเสนอการปรับปรุงกระบวนการทำงานในคลังสินค้าโดยใช้หลักลีน (Lean) และการลดความสูญเสีย 7 ประการ (7 Waste) เพื่อตัดกิจกรรมที่ไม่เพิ่มคุณค่า (NVA) และลดกิจกรรมที่จำเป็นแต่ไม่เพิ่มคุณค่า (NNVA) ทำให้สามารถลดระยะเวลาในคลังสินค้าอาหารสด จาก 14.1 นาทีต่อคำสั่งซื้อ เหลือ 9.55 นาที คิดเป็นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับระยะเวลาก่อนการปรับปรุง


การปรับปรุงสถานีงานตรวจสอบถังแก๊สคลอรีนโดยใช้การประเมินทางสรีรวิทยาในการทำงาน และชีวกลศาสตร์, ภาณุพงศ์ ภาวิไล Jan 2021

การปรับปรุงสถานีงานตรวจสอบถังแก๊สคลอรีนโดยใช้การประเมินทางสรีรวิทยาในการทำงาน และชีวกลศาสตร์, ภาณุพงศ์ ภาวิไล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารคลอรีนที่มีความชื้นสูงสามารถกัดกร่อนถังโลหะบรรจุสารคลอรีนจนเกิดการรั่วไหล การนำถังมาบรรจุสารคลอรรีนใหม่จึงต้องมีการตรวจสอบและระบายน้ำออกจากถังโดยการยกถังคลอรีนคว่ำลง แต่การยกถังหนัก 50 กิโลกรัม จำนวน 100 ถังต่อคนต่อวัน และท่าทางการยกที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาการปวดหลังของพนักงาน ผลจากการประเมินภาระงานของพนักงานเพศชายทั้ง 10 คน พบว่าค่าแรงกดอัดสูงสุดที่กระดูกสันหลังส่วนล่างเฉลี่ยตลอดการยกอยู่ที่ 5,673.4 นิวตัน และ ผลจากการประเมินภาระความเหนื่อยล้าของงาน โดยวิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานในอนาคต จากการปรับปรุงการทำงานทั้ง 3 แนวทางพบว่า แนวทางการใช้อุปกรณ์ช่วยยกคลอรีนและการใช้กล้องงูสามารถลดค่าแรงกดอัดสูงสุดที่กระทำต่อกระดูกหลังส่วนล่างเหลือน้อยกว่า 1,224.8 นิวตัน และผลประเมินภาระความเหนื่อยล้าของงานอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยกลายเป็นงานภาระเบา แต่แนวทางการใช้พนักงาน 2 คนยกถังคลอรีนสามารถลดค่าแรงกดอัดสูงสุดที่กระทำต่อกระดูกสันหลังส่วนล่างได้น้อยกว่า 3,992.4 นิวตัน และผลประเมินภาระความเหนื่อยล้าของงานอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเพียง 4 คนจากพนักงานทั้ง 10 คน ตามแนวทางประเมินของ Brouha ดังนั้นทางหน่วยงานกรณีศึกษาจึงได้เลือกแนวทางการใช้อุปกรณ์ช่วยยกและพลิกถังคลอรีน เนื่องจากมีความคุ้มค่าในการลงทุนเทียบกับระดับความปลอดภัยที่ได้รับ


การปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการและนโยบายการเติมเต็มพัสดุคงคลังสำหรับชิ้นส่วนเครื่องจักรกลการเกษตร, วรพล เดชาดำรงค์ชัย Jan 2021

การปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการและนโยบายการเติมเต็มพัสดุคงคลังสำหรับชิ้นส่วนเครื่องจักรกลการเกษตร, วรพล เดชาดำรงค์ชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เครื่องจักรกลการเกษตรเป็นอุปกรณ์ที่สนับสนุนการทำงานของเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงาน แต่เนื่องจากอุปกรณ์มีอายุการใช้งานที่จำกัดและอาจได้รับความชำรุดเสียหายหรือสึกหรอจากการใช้งานได้ จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อทดแทนความเสียหายอยู่เสมอ ดังนั้นผู้ให้บริการหลังการขายเครื่องจักรกลการเกษตรจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จากการวิเคราะห์ความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่ของบริษัทกรณีศึกษาพบว่ารูปแบบความต้องการของชิ้นส่วนอะไหล่มีลักษณะไม่คงที่และไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ การเติมเต็มพัสดุคงคลังจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการพัสดุคงคลังเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการอะไหล่ของลูกค้าได้ทันเวลา งานวิจัยนี้ได้ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัทกรณีศึกษา โดยได้ปรับปรุงวิธีการที่ใช้ในการพยากรณ์ความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่ให้มีความแม่นยำขึ้นโดยใช้เทคนิคการพยากรณ์แบบอนุกรมเวลาที่เหมาะสมกับรูปแบบความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่ จากนั้นกำหนดนโยบายการเติมเต็มพัสดุคงคลัง โดยได้กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพจากอัตราการตอบสนองต่อคำสั่งซื้อของลูกค้า และอัตราการขายสินค้าคงคลัง ผลการวิจัยพบว่าการกำหนดนโยบายการเติมเต็มพัสดุคงคลังแบบระดับพัสดุคงคลังเป้าหมายที่มีรอบการตรวจสอบรายสัปดาห์ มาใช้กับกลุ่มชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีรูปแบบความต้องการคงที่สามารถปรับปรุงอัตราการตอบสนองต่อคำสั่งซื้อได้เพิ่มขึ้นจากเดิมโดยเฉลี่ยร้อยละ 16.48 นอกจากนี้การกำหนดนโยบายการเติมเต็มพัสดุคงคลังแบบพอดีกับความต้องการในแต่ละคาบที่มีรอบการตรวจสอบรายวัน มาใช้กับกลุ่มชิ้นส่วนที่มีรูปแบบความต้องการแบบมีฤดูกาลและแบบมีแนวโน้มโน้มพร้อมทั้งฤดูกาลสามารถเพิ่มอัตราการตอบสนองต่อคำสั่งซื้อของลูกค้าขึ้นได้โดยเฉลี่ยร้อยละ 18.85 และร้อยละ 23.23 ตามลำดับ


การประมาณความจุของคอนเทนเนอร์ยางรถยนต์, วิภาดา ฮันสราช Jan 2021

การประมาณความจุของคอนเทนเนอร์ยางรถยนต์, วิภาดา ฮันสราช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบและกำลังการผลิต ประเทศไทยจึงเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในด้านการผลิตและส่งออก กระนั้นการส่งออกยางรถยนต์ยังคงขาดประสิทธิภาพในด้านต้นทุนการขนส่งและอรรถประโยชน์เชิงปริมาตรของตู้คอนเทนเนอร์เนื่องจากลักษณะกายภาพของสินค้าดังเช่นบริษัทยางรถยนต์กรณีศึกษา บริษัทกรณีศึกษาใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมยางรถยนต์นำเข้าในภูมิภาคและส่งออกยางที่ผลิตในประเทศไปทั่วโลก จากการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตพบว่าแผนส่งออกยางมีความคาดเคลื่อนส่งผลให้ต้องการจัดทำเอกสารศุลกากรอีกครั้งเกิดการเคลื่อนย้ายที่ซ้ำซ้อน (Double Handling)งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความคลาดเคลื่อนโดยการทำนายจำนวนยางรถยนต์ในตู้คอนเทนเนอร์ อ้างอิงจากขนาดทางกายภาพของยาง สำหรับการบรรจุยาง 2 รูปแบบ หลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลการบรรจุในอดีตและขนาดทางกายภาพ ได้ประยุกต์ใช้แบบจำลองถดถอยเชิงเส้นกับข้อมูลการบรรจุและพัฒนา 4 แบบจำลองที่แตกต่างกัน ได้แก่ แบบจำลอง Simple Regression, All Possible, Stepwise and The Best Subset Selection ในอีกทางหนึ่ง ความสัมพันธ์เชิงเรขาคณิตระหว่างคอนเทนเนอร์กับขนาดทางกายภาพของยางได้ถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาวิธีการทำนายยางที่มีข้อมูลการบรรจุไม่เพียงพอ ผลการเปรียบเทียบกับแบบจำลองถดถอยเชิงเส้นพบว่าแบบจำลอง The Best Subset Selection มีความแม่นยำสูงสุดและเป็นแบบจำลองที่เหมาะสมที่สุดโดยมีค่า MAPE (Mean Absolute Percentage Error) คือ 5.01 และ 4.30 สำหรับวิธีการบรรจุแบบตั้งและแบบไขว้ตามลำดับ ถึงอย่างไรก็ตาม แบบจำลอง The Best Subset Selection เหมาะสมกับการบรรจุยางขนาดเดียวที่มีข้อมูลการบรรจุยางที่เพียงพอ ผลการเปรียบเทียบแสดงถึงการแบบจำลองทางเรขาคณิตมีความเหมาะสมกับการบรรจุยางหลายขนาดหรือยางขนาดใหม่มากกว่า


การปรับปรุงการกระทบของมือจับแบบไม่มีตัวหน่วงในรถกระบะโดยใช้แนวคิดซิกซ์ ซิกม่า, อาทิชา วัฒนะไมตรี Jan 2021

การปรับปรุงการกระทบของมือจับแบบไม่มีตัวหน่วงในรถกระบะโดยใช้แนวคิดซิกซ์ ซิกม่า, อาทิชา วัฒนะไมตรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาการปรับปรุงการกระทบกันระหว่างส่วนจับและฐานของมือจับแบบไม่มีตัวหน่วง ซึ่งเป็นชิ้นส่วนภายในรถกระบะ โดยใช้หลักการของซิกซ์ ซิกม่า มือจับเป็นชิ้นส่วนภายในรถยนต์ถูกติดตั้งอยู่บริเวณผ้าหลังคาภายในรถยนต์ มีหน้าที่ช่วยการทรงตัวของผู้โดยสารขณะเดินทาง โดยมือจับในตลาดที่แต่ละผู้ผลิตรถยนต์นำมาใช้กับรถจริงมีอยู่ 3 ประเภท คือ มือจับแบบมีตัวหน่วง (Assist Grip with damper), มือจับแบบไม่มีตัวหน่วง (Assist Grip without damper) และมือแบบยึดติด (Assist Grip fixing type) โดยปัญหาการกระทบของมือจับที่เกิดขึ้นหลังจากใช้งานมือจับ มีเสียงกระทบระหว่างส่วนจับและฐานดังเกิดขึ้น และดังเกินมาตรฐานที่บริษัทกำหนดไว้ คือ เสียงกระทบต้องต่ำกว่า 95 เดซิเบล และจำนวนครั้งการกระทบน้อยกว่า 3 ครั้ง ซึ่งในการปรับปรุงการกระทบของมือจับ จะนำหลักการการปรับปรุงจากซิกซ์ ซิกม่า มาใช้ ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ระยะนิยามปัญหา (Define phase), ระยะการวัดเพื่อกำหนดปัญหา (Measurement phase), ระยะการวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและปัจจัย (Analysis phase), ระยะการปรับปรุงกระบวนการ (Improvement phase) และ ระยะการควบคุมกระบวนการ (Control phase) หรือ DMAIC หลังจากผ่านขั้นตอนทั้งห้าของซิกซ์ ซิกม่า พบว่า มี 5 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการกระทบของมือคือ ค่า K ของสปริง วัสดุของมือจับ น้ำหนักของส่วนจับ พื้นที่การกระทบ และองศาของการใช้งาน เมื่อทำการปรับปรุงปัจจัยทั้งห้า เสียงกระทบระหว่างส่วนจับและฐานลดลงจากเฉลี่ยอยู่ที่ 96.4 เหลือ 91.6 เดซิเบล จำนวนครั้งการกระทบจาก 4 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง ซึ่งอยู่ในมาตรฐานที่บริษัทกำหนด สามารถนำมือจับแบบไม่มีตัวหน่วงสามารถนำไปใช้กับรถกระบะในบริษัทได้จริง และสามารถสร้างผลกำไรให้กับบริษัทถึง 4 ล้านบาทต่อปี


การพยากรณ์มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบของประเทศไทย, อุรชา จันทรภา Jan 2021

การพยากรณ์มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบของประเทศไทย, อุรชา จันทรภา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญของประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับแรก ๆ ของประเทศ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและเป็นรายได้หลักจากการส่งออกของประเทศ การพยากรณ์มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบจะช่วยให้มองเห็นทิศทางของการส่งออก เพื่อวางแผนนโยบายการค้าหรือสนับสนุนการผลิตให้เกิดมูลค่ามากที่สุด งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตัวแบบพยากรณ์ที่เหมาะสมสำหรับพยากรณ์มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบโดยรวมของประเทศไทย และมูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปประเทศคู่ค้าที่มีมูลค่าการส่งออกจากประเทศไทยมากที่สุด 2 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศออสเตรเลียและประเทศญี่ปุ่นด้วยวิธีอนุกรมเวลา วิธีการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นพหุคูณ วิธีการเรียนรู้ของเครื่อง และวิธีพยากรณ์แบบผสม โดยใช้ค่าร้อยละความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์เฉลี่ย (MAPE) ในการเปรียบเทียบความแม่นยำของตัวแบบพยากรณ์ ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาวิธีการพยากรณ์ของงานวิจัยนี้เป็นข้อมูลรายเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นจำนวนทั้งหมด 156 เดือน วิธีที่ใช้ในการพยากรณ์ ได้แก่ Moving Average, Holt-Winters, SARIMA, Multiple Linear Regression, Artificial Neural Networks, Support Vector Regression, XGBoost, LSTM และวิธีพยากรณ์แบบผสม ผลการศึกษาพบว่า ตัวแบบพยากรณ์ที่มีความแม่นยำและเหมาะสมมากที่สุดสำหรับพยากรณ์มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบโดยรวมของประเทศไทย มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของประเทศไทยไปประเทศออสเตรเลียและประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ตัวแบบพยากรณ์ผสมวิธี LSTM-XGB วิธี SARIMA-XGB และวิธี LSTM-SARIMA มีค่าร้อยละความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์เฉลี่ยเท่ากับ 6.63% 15.40% และ 6.27% ตามลำดับ