Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Engineering Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Industrial Engineering

Chulalongkorn University

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Articles 271 - 281 of 281

Full-Text Articles in Engineering

การออกแบบฮิวริสติกเพื่อใช้ในการออกแบบและปรับปรุงสายการผลิต, ญาณวโรตม์ พงศ์เศรษฐไพศาล Jan 2017

การออกแบบฮิวริสติกเพื่อใช้ในการออกแบบและปรับปรุงสายการผลิต, ญาณวโรตม์ พงศ์เศรษฐไพศาล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การออกแบบสายการผลิตมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้รับสายการผลิตที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการและข้อจำกัดของเจ้าของสายการผลิตได้ ซึ่งสายการผลิตจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละโรงงาน โดยทั่วไปนั้นสายการผลิตจะถูกออกแบบโดยผู้มีประสบการณ์สูงด้วยวิธีการลองผิดลองถูก ซึ่งจะอาศัยการประเมินว่าสายการผลิตที่ทำการออกแบบมานั้นทำได้ตรงตามความต้องการหรือข้อจำกัดของเจ้าของสายการผลิตหรือไม่ย่อม หากสายการผลิตไม่สามารถทำได้ตรงตามความต้องการหรือข้อจำกัดจะทำการปรับปรุงสายการผลิต ทำให้การออกแบบสายการผลิตแต่ครั้งใช้ระยะเวลานาน มีค่าใช้จ่ายสูง และจำเป็นต้องพึ่งพาผู้มีประสบการณ์สูงซึ่งมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้การประเมินสายการผลิตแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้ตัวประเมินที่ถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งจากการศึกษางานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าตัวประเมินสายการผลิตจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนั้นในงานวิจัยฉบับนี้จะนำเสนอวิธีการออกแบบสายการผลิตที่สามารถใช้ได้ทั้งการออกแบบสายการผลิตใหม่และทำการปรับปรุงสายการผลิตที่มีอยู่เดิม ซึ่งวิธีการที่ทำการออกแบบมานั้นสามารถใช้งานได้ง่าย หาคำตอบได้อย่างรวดเร็วและไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์สูงในการออกแบบ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ โดยวิธีการที่ทำการออกแบบมาจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกคือการหาคำตอบเริ่มต้นด้วยหลักการหาค่าเหมาะสมสุด และ อัลกอริทึมการจัดสรรแล้วพอดีที่สุด และในส่วนที่สองจะอาศัยหลักการการหาคำตอบข้างเคียงในการปรับปรุงคำตอบ โดยการหาคำตอบข้างเคียงจะทำการหาผ่านวิธีการที่ทำการออกแบบขึ้น นอกจากนี้งานวิจัยฉบับนี้ยังได้ทำการรวบรวมตัวประเมินที่ใช้ในการประเมินสมรรถนะสายการผลิตในแต่ละด้าน รวมไปถึงวิธีการชี้วัดหรือวิธีการคำนวณเพื่อใช้ในการประเมินสายการผลิตและสามารถเปรียบเทียบได้ เพื่อให้ผู้ทำการประเมินและผู้ที่นำผลการประเมินไปใช้สามารถวิเคราะห์สมรรถนะของสายการผลิตได้อย่างแม่นยำและเที่ยงตรงโดยใช้ตัวชี้วัดสำหรับการประเมินสมรรถนะสายการผลิต


การสร้างแบบจำลองพยากรณ์น้ำท่าสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีสถานีวัดในลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน, ณัฐนนท์ สงวนศัพท์ Jan 2017

การสร้างแบบจำลองพยากรณ์น้ำท่าสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีสถานีวัดในลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน, ณัฐนนท์ สงวนศัพท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ข้อมูลปริมาณน้ำท่ามีความสำคัญต่อการวางแผนและการจัดการทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการเกิดอุทกภัย หรือ ภัยแล้ง ซึ่งในบางพื้นที่ลุ่มน้ำไม่มีการบันทึกข้อมูลปริมาณน้ำท่าหรือมีการบันทึก แต่สถิติข้อมูลไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้งาน ดัชนีทางอุกทกวิทยาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการพยากรณ์ปริมาณน้ำท่า วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงได้นำเสนอวิธีการในการพยากรณ์ปริมาณน้ำท่าในบริเวณที่ไม่มีสถานีวัดน้ำท่าจำนวน 34 ลุ่มน้ำย่อยในบริเวณลุ่มน้ำปิงตอนบนตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยทำการศึกษาในช่วงปี 2549-2557 ผู้วิจัยได้นำเทคนิคการวิเคราะห์การถดถอยมาประยุกต์ใช้ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีน้ำท่ากับลักษณะทางกายภาพของลุ่มน้ำจำนวน 7 ตัว ได้แก่ สัมประสิทธิ์น้ำท่า ดัชนีการไหลพื้นฐาน ดัชนีความอ่อนไหวของน้ำท่าต่อน้ำฝนตามฤดูกาล เปอร์เซนไทล์ที่ 95 ของปริมาณน้ำท่า เปอร์เซนไทล์ที่ 50 ของปริมาณน้ำท่า เปอร์เซนไทล์ที่ 5 ของปริมาณน้ำท่า ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ยต่อพื้นที่ลุ่มน้ำ และผลต่างของปริมาณน้ำฝนและน้ำท่ารายปีเฉลี่ย โดยใช้ช่วงความเชื่อมั่นจากตัวแบบการถดถอยในการจำกัดชุดพารามิเตอร์ของแบบจำลองน้ำฝน-น้ำท่า และใช้ตัวชี้วัด NSE* และ Reliability ในการประเมินประสิทธิภาพของแบบจำลอง ผลการศึกษาพบว่าดัชนีน้ำท่าที่มีความสามารถในการพยากรณ์ปริมาณน้ำท่ามากที่สุดคือเปอร์เซนไทล์ที่ 95 ของปริมาณน้ำท่า สัมประสิทธิ์น้ำท่า ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ยต่อพื้นที่ลุ่มน้ำ ผลต่างของปริมาณน้ำฝนและน้ำท่ารายปีเฉลี่ย และดัชนีความอ่อนไหวของน้ำท่าต่อน้ำฝนตามฤดูกาล มีความสามารถในการพยากรณ์ปริมาณน้ำท่าน้อยที่สุด โดยเปอร์เซนไทล์ที่ 95 ของปริมาณน้ำท่า สัมประสิทธิ์น้ำท่า ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ยต่อพื้นที่ลุ่มน้ำ และผลต่างของปริมาณน้ำฝนและน้ำท่ารายปีเฉลี่ยใช้ได้ดีในบริเวณลุ่มน้ำย่อยที่มีลักษณะการใช้ที่ดินแบบเกษตรกรรมและมีขนาดเล็ก


การผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งจากกากตะกอนบำบัดน้ำเสียอุตสาหกรรมเบียร์ร่วมกับวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตไบโอดีเซล, ปริญญ์รัฐ หนูสงค์ Jan 2017

การผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งจากกากตะกอนบำบัดน้ำเสียอุตสาหกรรมเบียร์ร่วมกับวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตไบโอดีเซล, ปริญญ์รัฐ หนูสงค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเงื่อนไขในกระบวนการคาร์บอไนซ์และสัดส่วนผสมในการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งจากกากตะกอนบำบัดน้ำเสียอุตสาหกรรมเบียร์ร่วมกับวัสดุเหลือใช้จากการผลิตไบโอดีเซล ได้แก่ กากดินฟอกสีและกลีเซอรอลดิบ ในงานวิจัยนี้ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน (1) ศึกษาเงื่อนไขในการคาร์บอไนซ์กากตะกอนบำบัดน้ำเสียที่มีผลต่อปริมาณคาร์บอนคงตัวในระดับสูงด้วยวิธีการออกแบบการทดลองเชิงแฟคทอเรียล โดยมีปัจจัยนำเข้า ได้แก่ อุณหภูมิและเวลาในการคาร์บอไนซ์ระหว่าง 100 ถึง 700 องศาเซลเซียส และเวลา 10 ถึง 120 นาที ตามลำดับ (2) ศึกษาเงื่อนไขของสัดส่วนผสมระหว่างกากตะกอนบำบัดน้ำเสีย กากดินฟอกสี และกลีเซอรอลดิบที่มีผลต่อปริมาณคาร์บอนคงตัวและค่าความร้อนในระดับสูงด้วยวิธีการออกแบบการทดลองแบบผสม (3) คำนวณผลิตภาพด้านพลังงานของเชื้อเพลิงอัดแท่ง จากการวิจัยพบว่า (1) เงื่อนไขที่เหมาะสมในการคาร์บอไนซ์กากตะกอนบำบัดน้ำเสีย คือ อุณหภูมิ 350 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที โดยเงื่อนไขดังกล่าวมีปริมาณคาร์บอนคงตัวสูงสุดร้อยละ 10.01 ± 0.30 โดยน้ำหนัก (2) เงื่อนไขที่เหมาะสมของสัดส่วนผสมระหว่างกากตะกอนบำบัดน้ำเสียร่วมกับกากดินฟอกสี โดยมีกลีเซอรอลดิบเป็นตัวเชื่อมประสานที่ร้อยละ 30 ของของผสม พบว่าอัตราส่วนกากตะกอนบำบัดน้ำเสียร้อยละ 95 ต่อกากดินฟอกสีร้อยละ 5 ให้ปริมาณคาร์บอนคงตัวสูงสุดร้อยละ 3.05 ± 0.05 โดยน้ำหนัก และค่าความร้อนสูงสุด 3,548.10 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม (3) ผลิตภาพด้านพลังงานหรือสัดส่วนของค่าพลังงานของเชื้อเพลิงอัดแท่งที่ได้ต่อค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตมีค่าสูงสุดเท่ากับ 11.29


สมบัติเชิงกลของพอลิเมอร์ผสม Pla/Pp ที่มีสารเพิ่มความเข้ากันได้, พัทธานันท์ จริยะกุลสิทธิ์ Jan 2017

สมบัติเชิงกลของพอลิเมอร์ผสม Pla/Pp ที่มีสารเพิ่มความเข้ากันได้, พัทธานันท์ จริยะกุลสิทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมบัติเชิงกลของพอลิเมอร์ผสมระหว่างพอลิแลกติกแอซิด (PLA) และพอลิโพรพิลีน (PP) ที่ใส่และไม่ใส่พอลิโพรพิลีนกราฟต์มาเลอิกแอนไฮไดร์ (PP-g-MAH) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารเพิ่มความเข้ากันได้ (Compatibilizer) และมีไดคิวมิลเปอร์ออกไซด์ (DCP) ทำหน้าที่เป็นสารริเริ่มปฎิกิริยา (Initiator) โดย (1) ทำการผสม PLA/PP ที่อัตราส่วนดังนี้ 70/30, 50/50, และ 30/70 โดยน้ำหนัก ซึ่งในแต่ละอัตราส่วนจะมีการเติม PP-g-MAH ที่ปริมาณ 0.3 และ 0.7phr พร้อมกับการเติม DCP ที่ปริมาณ 0.03 และ 0.07 phr ด้วยเครื่องอัดรีดแบบสองสกรู (Twin screw extruder) ที่อุณหภูมิ 175-195 องศาเซลเซียสเพื่อให้ได้เป็นเม็ดของพอลิเมอร์ผสม (2) นำเม็ดของพอลิเมอร์ผสมที่ได้ไปขึ้นรูปเป็นชิ้นงานทดสอบด้วยเครื่องกดอัด (Compression moulding) เพื่อทำการทดสอบสมบัติเชิงกลได้แก่ ความทนแรงดึงสูงสุด, ความทนแรงดึง ณ จุดคราก, มอดูลัสของยัง, ร้อยละการยืดตัว ณ จุดขาด, ความแข็งและความทนแรงกระแทก (3) ศึกษาอิทธิพลของสารเพิ่มความเข้ากันได้ (PP-g-MAH), สารริเริ่มปฎิกิริยา (DCP) และอัตราส่วนของพอลิเมอร์ที่มีต่อสมบัติเชิงกลของพอลิเมอร์ผสม จากผลการทดลองพบว่า (1) การเพิ่ม PP ใน PLA มีผลให้ค่าสมบัติเชิงกลได้แก่ ความทนแรงดึงสูงสุด, ความทนแรงดึง ณ จุดคราก, มอดูลัสของยัง, ความแข็งและความทนแรงกระแทกลดลง ในขณะที่ร้อยละการยืดตัว ณ จุดขาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (2) การเพิ่ม PP-g-MAH และ DCP ลงในพอลิเมอร์ผสม PLA/PP ในทุกสัดส่วนมีผลให้สมบัติเชิงกลต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (3) ที่อัตราส่วน PLA/PP/PP-g-MAH/DCP เท่ากับ 70/30/0.3/0.03 จะให้ค่าความทนแรงดึงสูงสุด, ความทนแรงดึง ณ จุดครากและความแข็งสูงที่สุดเท่ากับ 26.75 MPa, 22.53 MPa และ …


ผลกระทบของสัดส่วนการผสมทรายเคลือบเรซินที่มีผลต่อคุณสมบัติและต้นทุน, ภูวดล ศิริวิมลพันธุ์ Jan 2017

ผลกระทบของสัดส่วนการผสมทรายเคลือบเรซินที่มีผลต่อคุณสมบัติและต้นทุน, ภูวดล ศิริวิมลพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาสัดส่วนการผสมทรายเคลือบเรซินที่มีค่าคุณสมบัติอยู่ในช่วงความต้องการของลูกค้า และเพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบของทรายเคลือบเรซิน เนื่องจากก่อนการปรับปรุง แต่ละสูตรการผลิตจะถูกผสมจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และยังไม่มีวิธีการที่แน่ชัดสำหรับการหาสัดส่วนการผสมเพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ทำให้ต้องเสียเวลาในการลองผิดลองถูกเพื่อให้ได้ค่าคุณสมบัติตามที่ต้องการและเกิดต้นทุนวัตถุดิบที่สูงเกินความจำเป็น งานวิจัยนี้ได้ประยุกต์การออกแบบการทดลองแบบส่วนประสมกลาง เพื่อหาสัดส่วนการผสมทรายเคลือบเรซินที่เหมาะสม โดยมีปัจจัยนำเข้าทั้งหมด 5 ปัจจัยได้แก่ ทรายเอ ทรายบี เรซินเอ เรซินบี และเปอร์เซ็นต์เรซิน และมีตัวแปรตอบสนองทั้งหมด 7 ปัจจัย ได้แก่ ความทนแรงดัดโค้ง การขยายตัวทางความร้อน ปริมาณการสูญเสียหลังการเผา ค่าความโก่งงอ อุณหภูมิต่ำสุดที่ทรายเซตตัว ค่าแก๊ส และต้นทุนวัตถุดิบในส่วนของทรายและเรซิน จากนั้นทำการทดลองและวิเคราะห์ผลการทดลองเพื่อหาสมการความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยนำเข้ากับตัวแปรตอบสนองโดยใช้เทคนิคการคัดเลือกตัวแปรอิสระแบบขั้นตอน (Stepwise Regression) ชนิดการเลือกตัวแปรโดยวิธีการลดตัวแปรอิสระ (Backward Elimination) จากนั้นทำการหาสัดส่วนการผสมใหม่ด้วยวิธีการหาจุดที่เหมาะสม ผลที่ได้จากการหาสัดส่วนการผสมใหม่ทั้งหมด 25 สูตรการผลิต พบว่าค่าคุณสมบัติทั้ง 6 ชนิดของทั้ง 25 สูตรการผลิตอยู่ในช่วงการยอมรับของโรงงาน และสามารถลดต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ลง 28.36% จากต้นทุนวัตถุดิบที่ได้จากสัดส่วนการผสมเก่า ซึ่งคิดเป็นต้นทุนที่ลดลง 42,293,318 บาทต่อปี


การลดสัดส่วนรอยแตกบริเวณขอบยางในการผลิตยางล้อรถจักรยานยนต์, วรุตม์ รังรองรัตน์ Jan 2017

การลดสัดส่วนรอยแตกบริเวณขอบยางในการผลิตยางล้อรถจักรยานยนต์, วรุตม์ รังรองรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดสัดส่วนรอยแตกบริเวณขอบยาง ในกระบวนการผลิตยางล้อรถจักรยานยนต์ของโรงงานกรณีศึกษา ซึ่งปัญหานี้ก่อให้เกิดความสูญเสียมากกว่า 20 ล้านบาทต่อปี แนวทางการปรับปรุงมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตโดยใช้วัตถุดิบ วิธีการ และเครื่องจักรที่มีอยู่ โดยไม่ให้การเปลี่ยนแปลงนั้นกระทบต่อคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ การศึกษาแบ่งเป็น 6 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของปัญหาจากบันทึกการผลิต และเก็บข้อมูลลักษณะของปัญหาเพิ่มเติมจากตัวอย่างยางจริงที่เกิดปัญหารอยแตก พบว่ายางรุ่น 90/90-14EG ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขอบยาง 14 นิ้ว หน้ายางกว้าง 90 มม. แก้มยางสูง 81 มม. มีความสูญเสียมากที่สุดถึง 4 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.31 จากปริมาณการผลิตทั้งหมด 2) ประเมินความสามารถของกระบวนการตรวจสอบปัญหา พบว่าพนักงานสามารถตรวจสอบคัดแยกปัญหารอยแตกได้อย่างถูกต้องทั้งหมด และจากการประเมินความสามารถในการวัดขนาดของปัญหา พบว่ามีความแม่นและเที่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยอมรับได้ 3) วิเคราะห์และคัดกรองสาเหตุเบื้องต้นของปัญหา โดยใช้วิธีการทดสอบสมมติฐานที่ระดับความเชื่อมั่น 95% พบว่าสาเหตุของปัญหารอยแตกของยางรุ่นตัวอย่างมีสามประการ คือ ขนาดของแบบยาง ความกว้างของชิ้นส่วนหน้ายาง และแรงดันไอน้ำที่ใช้ในการขึ้นรูปแบบยาง 4) ดำเนินการทดลองเพื่อลดปัญหารอยแตกโดยใช้วิธีการออกแบบการทดลองแบบบ็อกซ์-เบ็ห์นเคน โดยพิจารณา 3 ปัจจัย ปัจจัยละ 3 ระดับ และทดสอบความมีนัยสำคัญของปัจจัยโดยใช้วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อปัญหารอยแตกอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ได้แก่ ขนาดของแบบยาง อันตรกิริยาระหว่างขนาดของแบบยางกับความกว้างของชิ้นส่วนหน้ายาง และอันตรกิริยาระหว่างขนาดของแบบยางกับแรงดันที่ใช้ในการขึ้นรูป ค่าระดับปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับยางรุ่นตัวอย่าง คือ ขนาดของแบบยาง 180 มม. ความกว้างชิ้นส่วนหน้ายาง 186 มม. และแรงดันที่ใช้ในการขึ้นรูป 0.12 เมกะปาสคาล 5) ปรับปรุงมาตรฐานการผลิต 6) ติดตามผลการใช้มาตรฐานใหม่ในกระบวนการผลิตจริงเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี พบว่าสามารถลดสัดส่วนรอยแตกบริเวณขอบยางของยางรุ่นตัวอย่างจากร้อยละ 7.31 เหลือเพียงร้อยละ 1.04 โดยเฉลี่ย คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียที่ลดลงได้มากกว่า 3 ล้านบาทต่อปี


การเปรียบเทียบระดับรูปสัญลักษณ์ในแถวลำดับของสัญรูปสำหรับการออกแบบตัวช่วยในการตัดสินใจ, ศิถี วังเอี่ยมเสริมสุข Jan 2017

การเปรียบเทียบระดับรูปสัญลักษณ์ในแถวลำดับของสัญรูปสำหรับการออกแบบตัวช่วยในการตัดสินใจ, ศิถี วังเอี่ยมเสริมสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แถวลำดับของสัญรูปหรือภาษาภาพถูกขนานนามว่าเป็นรูปแบบการนำเสนอข้อมูลเชิงตัวเลขในบริบทของความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลสูงสุด แต่อย่างไรก็ตามจากการศึกษางานวิจัยที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มผู้ใช้งานแต่ละระดับการคำนวณมีรูปแบบการประมวลผลข้อมูลจากแถวลำดับของสัญรูปแตกต่างกันประกอบกับระดับรูปสัญลักษณ์อาจส่งผลต่อการแปลความหมายข้อมูลที่แตกต่างกันของกลุ่มคนแต่ละระดับการคำนวณ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงทำการเปรียบเทียบระดับรูปสัญลักษณ์ในแถวลำดับของสัญรูปสำหรับการออกแบบตัวช่วยในการตัดสินใจที่เหมาะสมกับประชากรไทยแต่ละระดับการคำนวณเพื่อประเมินประสิทธิผล คือ การทดสอบระดับการรับรู้ข้อมูล การทดสอบความเข้าใจและการทดสอบการดึงข้อมูลกลับมาใช้ ประสิทธิภาพ คือ ระยะเวลาที่ใช้ในการทดสอบความเข้าใจ ความพึงพอใจ คือ การทดสอบระดับการเข้าถึงข้อมูล โดยเริ่มจากการแบ่งกลุ่มกลุ่มผู้ทดสอบตามลักษณะส่วนบุคคลด้วยแบบทดสอบระดับการคำนวณและระดับการหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอน หลังจากนั้นผู้ทดสอบจะถูกสุ่มเพื่อทำการทดสอบอิทธิพลของระดับรูปสัญลักษณ์เพียง 1 ระดับจากทั้งหมด 3 ระดับรูปสัญลักษณ์ในแถวลำดับของสัญรูป จากการทดลองพบว่ากลุ่มคนระดับการคำนวณต่ำสามารถแปลความหมายข้อมูลเชิงตัวเลขซึ่งนำเสนอด้วยแถวลำดับของสัญรูปที่ระดับรูปสัญลักษณ์กลางหรือสัญลักษณ์รูปคนได้ถูกต้องที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับการวัดผลด้านการเข้าถึงข้อมูล ในทางตรงกันข้ามอิทธิพลของระดับรูปสัญลักษณ์ไม่ส่งผลต่อการแปลความหมายข้อมูลและคะแนนการเข้าถึงข้อมูลของกลุ่มคนระดับการคำนวณสูง หากเปรียบเทียบความแตกต่างของการรับรู้ข้อมูลที่ระดับรูปสัญลักษณ์ต่ำหรือสัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพบว่ากลุ่มคนทั้งสองระดับการคำนวณมีระดับการรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามผลจากการทดลองนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการออกแบบการนำเสนอข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจที่มีประสิทธิผลในการสื่อสารกับกลุ่มคนแต่ละระดับการคำนวณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับกลุ่มคนระดับการคำนวณต่ำเพื่อเพิ่มความสามารถในการแปลความหมายข้อมูลเชิงตัวเลขให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้นและผลจากการทดลองยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบสื่ออินโฟกราฟฟิกที่มีประสิทธิผลในการสื่อสารภายในสังคม


การวิเคราะห์ประสิทธิภาพเชิงต้นทุนในการลดจุดดำในอุตสาหกรรมการฉีดพลาสติก, ศุภโชค เส็งหนองแบน Jan 2017

การวิเคราะห์ประสิทธิภาพเชิงต้นทุนในการลดจุดดำในอุตสาหกรรมการฉีดพลาสติก, ศุภโชค เส็งหนองแบน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัญหาในกระบวนการฉีดพลาสติกที่ส่งผลกับคุณภาพของงานมากที่สุดคือจุดดำ (Black dot) วิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหาจุดดำนั้นมีด้วยกันหลายวิธีด้วยกันโดยงานวิจัยนี้จะเน้นที่การเลือกวิธีการลดปัญหาจุดดำต่างเงื่อนไขกันทั้งในส่วนของราคาต่อหน่วย ปริมาณการผลิตต่อครั้ง เพื่อเลือกวิธีการและค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภทสำหรับโรงงานกรณีศึกษานี้ ก่อนการปรับปรุงด้วยวิธีการถอดสกรูขัดทำความสะอาดมีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 72,500 บาทต่อเดือน (ค่าเครื่องจักร, ค่าล่วงเวลา, ค่าขนส่ง, ค่าอุปกรณ์ เป็นต้น) งานวิจัยนี้จะนำทฤษฎีซิกซ์ ซิกม่า(Six Sigma)ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน Define, Measure, Analyze, Improveและ Control (DMAIC)มาใช้ และใช้Cause and Effect Diagram, Cause and Effect Matrix และ FMEAในการคัดเลือกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดจุดดำและใช้ 2k Factorial Designในการหาปัจจัยที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญกับจุดดำ ผลที่ได้จากวิธีแรกคือการถอดสกรูขัดทำความสะอาดนั้นสามารถลดจุดดำจากเดิมลงได้ 50% ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับการผลิตชิ้นงานที่มีราคาต่อหน่วยค่อนข้างสูง หรือชิ้นงานที่มีการผลิตจำนวนมากวิธีที่สองคือ การใช้เม็ดพลาสติกชนิดพิเศษสำหรับล้างสกรูโดยเฉพาะโดยวิธีนี้จะให้ผลการลดจุดดำได้ ประมาณ 25% ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับการชิ้นงานที่มีราคาต่อหน่วยไม่สูงมากและการผลิตปริมาณน้อยต่อครั้งโดยหลังจากที่นำวิธีการลดจุดดำและคำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปสำหรับวิธีที่ได้เลือกให้เหมาะสมกับชนิดและประเภทของงานนั้นสามารถลดค่าใช้จ่ายที่คิดเป็นมูลค่าเพิ่มได้ถึง 144,000 บาทต่อปี


การพยากรณ์ปริมาณสายโทรเข้าสำหรับศูนย์บริการลูกค้าธนาคารพาณิชย์, ศิริเทพ จันทร์บุญแก้ว Jan 2017

การพยากรณ์ปริมาณสายโทรเข้าสำหรับศูนย์บริการลูกค้าธนาคารพาณิชย์, ศิริเทพ จันทร์บุญแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์จะพัฒนาเทคนิคการพยากรณ์ปริมาณสายโทรเข้าของธนาคารพาณิชย์สำหรับรายเดือนและรายวันของกลุ่มบริการ 5 กลุ่มบริการ ได้แก่ กลุ่มบริการบัตรเครดิต กลุ่มบริการอิเล็กทรอนิกส์และบัตรกดเงินสด กลุ่มบริการข้อมูลบัญชีเงินฝาก กลุ่มบริการอายัดบัญชี และกลุ่มบริการสำหรับกลุ่มลูกค้าพิเศษ สำหรับการพยากรณ์รายเดือนทำการเปรียบเทียบระหว่าง วิธีเฉลี่ยเคลื่อนที่อย่างง่าย (Simple Moving Average) วิธีปรับให้เรียบเอ็กโปเนนเชียล (Exponential Smoothing Methods) วิธีการของบอกซ์-เจนกินส์ (ARIMA) และวิธีปัจจุบันของธนาคาร ผลการวิจัยพบว่าการพยากรณ์รายเดือน สำหรับกลุ่มบริการบัตรเครดิต กลุ่มบริการอิเล็กทรอนิกส์และบัตรกดเงินสด กลุ่มบริการข้อมูลบัญชีเงินฝาก กลุ่มบริการอายัดบัญชี และกลุ่มบริการสำหรับกลุ่มลูกค้าพิเศษด้วยวิธีการพยากรณ์แบบบอกซ์-เจนกินส์ให้ค่าพยากรณ์ที่ดีที่สุดเกือบทุกกรณี เมื่อวัดด้วยค่ารากที่สองของค่าความคลาดเคลื่อนกำลังสองเฉลี่ย (Root Mean Squared Error: RMSE) มีค่าลดลงจาก 31,239.99 51,653.49 17,962.78 9,096.84 และ 6,375.80 เป็น 22,233.65 34,491.97 15,058.23 7,683.65 และ 4,264.49 ตามลำดับ และค่าร้อยละของค่าสัมบูรณ์ของค่าความคลาดเคลื่อน (Mean Absolute Percentage Error: MAPE) มีค่าลดลงจาก 9.25% 13.22% 9.52% 8.38% และ 6.18% เป็น 6.58% 8.15% 7.27% 4.43% และ 4.66% ตามลำดับ สำหรับการพยากรณ์รายวัน ทำการคำนวณหาดัชนีรายวันจากข้อมูลในอดีต จากนั้นทำการพยากรณ์ปริมาณสายรายวันโดยการนำดัชนีรายวันไปคูณกับค่าเฉลี่ยรายวันจากผลของการพยากรณ์รายเดือนที่ดีที่สุด ผลการวิจัยพบว่า เมื่อวัดด้วยค่า RMSE ลดลงจาก 1,303.92 2,327.07 773.19 749.16 และ 416.37 เป็น 1,115.52 2,187.68 613.67 710.40 และ 326.63 ตามลำดับ เมื่อวัดด้วยค่า MAPE ลดลงจาก 11.74% 17.26% 12.63% 9.74% และ 11.79% เป็น …


กรอบการออกแบบระบบการผลิตอย่างรวดเร็วสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม, สุวรา บุญภากร Jan 2017

กรอบการออกแบบระบบการผลิตอย่างรวดเร็วสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม, สุวรา บุญภากร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมั่นใจว่าระบบการผลิตนั้นเท่าทันกับความต้องการอยู่เสมอ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีการแข่งขันกันสูงจากจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น และมักขาดความรู้ในการออกแบบระบบการผลิต ทำให้เสียเวลาและทรัพยากรไปกับการตัดสินใจแบบลองผิดลองถูก คำถามที่น่าสนใจคือ ระบบการผลิตควรประกอบด้วยอะไรบ้าง และการออกแบบระบบการผลิตควรพิจารณาข้อมูลใด งานวิจัยนี้นำเสนอกรอบในการออกแบบระบบการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำให้ผู้ออกแบบสามารถออกแบบได้รวดเร็วขึ้น กรอบความคิดนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบในระบบการผลิต โครงสร้างข้อมูลในการออกแบบ หลักการออกแบบระบบการผลิตแต่ละส่วน ได้แก่ ผลลัพธ์ที่ต้องได้จากการออกแบบ ข้อมูลนำเข้า ตัวแปรที่ต้องพิจารณาและหลักการตัดสินใจ ความสัมพันธ์ระหว่างการออกแบบแต่ละส่วน รวมทั้งตัวชี้วัดสำหรับควบคุมทิศทางการออกแบบให้ตรงตามจุดประสงค์ของการออกแบบระบบการผลิต โดยงานวิจัยนี้เกิดจากการศึกษาการออกแบบอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจริง และการศึกษาหลักการการออกแบบระบบการผลิตของงานวิจัยต่างๆ นำมาวิเคราะห์ผ่านการแยกย่อยความต้องการ (Requirements Decomposition) ซึ่งสามารถสร้างเป็นกรอบการออกแบบระบบการผลิตในรูปแบบของคำอธิบายผ่านแผนภาพกระแสข้อมูล (Data Flow Diagram, DFD) และนำไปสู่การสร้างระบบสนับสนุน เพื่อใช้ออกแบบระบบการผลิตได้อย่างมีประสิทธิผล ผลลัพธ์จากงานนี้ ถูกประเมินการใช้งานผ่านการนำเสนอกรอบการออกแบบระบบการผลิตนี้กับผู้ใช้งานทั้งสองฝ่าย คือ ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบระบบการผลิต และผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้มั่นใจว่าผลลัพธ์มีความเหมาะสมกับการนำไปใช้งานต่อไป


การประยุกต์ใช้วิธีเชิงวิวัฒนาการแบบมากวัตถุประสงค์สำหรับการจัดสมดุลคู่สายการประกอบรูปตัวยู, สุชานันท์ ตันชนะประดิษฐ์ Jan 2017

การประยุกต์ใช้วิธีเชิงวิวัฒนาการแบบมากวัตถุประสงค์สำหรับการจัดสมดุลคู่สายการประกอบรูปตัวยู, สุชานันท์ ตันชนะประดิษฐ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สายการประกอบรูปตัวยูเป็นส่วนที่สำคัญซึ่งถูกนำมาใช้ร่วมกับระบบผลิตแบบทันเวลาพอดี ในงานวิจัยนี้จึงศึกษาปัญหาการจัดสมดุลของคู่สายการประกอบรูปตัวยูในรูปแบบผลิตภัณฑ์ผสม โดยสายการประกอบรูปตัวยูสองสายถูกจัดวางในลักษณะขนานแบบประชิดกัน ปัญหาการจัดสมดุลคู่สายการประกอบรูปตัวยูในงานวิจัยนี้อยู่ในรูปแบบปัญหาการหาค่าที่เหมาะสมที่สุดแบบมากวัตถุประสงค์ ซึ่งประกอบไปด้วย 5 วัตถุประสงค์ที่ต้องทำการหาค่าที่ดีที่สุดไปพร้อมกัน ได้แก่ จำนวนสถานีงานน้อยที่สุด จำนวนสถานีน้อยที่สุด ความไม่สัมพันธ์ของขั้นงานน้อยที่สุด ความไม่สมดุลของภาระงานระหว่างสถานีน้อยที่สุด และความไม่สมดุลของภาระงานภายในสถานีน้อยที่สุด เนื่องจากปัญหาการจัดสมดุลเป็นปัญหาเอ็นพีแบบยาก (NP-Hard) จึงใช้วิธีการทางฮิวริสติกในการแก้ปัญหาการหาค่าที่เหมาะสมที่สุด งานวิจัยนี้จึงประยุกต์ใช้วิธีการหาค่าที่เหมาะสมแบบฝูงอนุภาคโดยยึดหลักการจำแนก (Multi-Objective Particle Swarm Optimization based on decomposition: MOPSO/D) และทำการเปรียบเทียบสมรรถนะกับอัลกอริทึมที่สามารถแก้ปัญหาหลายวัตถุประสงค์ได้ดี ได้แก่ วิธีการเชิงวิวัฒนาการแบบหลายวัตถุประสงค์โดยยึดหลักการจำแนก (Multi-objective Evolutionary Algorithm Based on Decomposition: MOEA/D) และ วิธีการหาค่าที่เหมาะสมแบบฝูงอนุภาค (Multi-Objective Particle Swarm Optimization Algorithm: MOPSO) จากผลการทดลองพบว่า MOPSO/D มีสมรรถนะในด้านการลู่เข้าสู่กลุ่มคำตอบที่เหมาะสมที่สุด ด้านการลู่เข้าและความหลากหลาย และด้านอัตราส่วนที่ไม่ถูกครอบงำที่ดีกว่าอัลกอริทึมอื่น สำหรับด้านการกระจายตัวของกลุ่มคำตอบ MOPSO มีสมรรถนะที่ดีที่สุด