Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Engineering Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Electrical and Computer Engineering

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

2019

Articles 31 - 57 of 57

Full-Text Articles in Engineering

ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตกระเบื้องปูพื้นคอนกรีต : กรณีศึกษา, ญาณพิมพ์พา จำเนียรเจริญสุข Jan 2019

ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตกระเบื้องปูพื้นคอนกรีต : กรณีศึกษา, ญาณพิมพ์พา จำเนียรเจริญสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานผลิตกระเบื้องปูพื้นคอนกรีต ผลวิเคราะห์การใช้พลังงานปี 2560-2562 ด้วยการวิเคราะห์การถดถอยระหว่างผลผลิตกับการใช้พลังงานไฟฟ้ามีค่า R2 0.34 เนื่องจากผลผลิตของกระเบื้องปูพื้นคอนกรีตมีหลายกลุ่มสินค้าที่มีการใช้พลังงานต่างกัน จึงแบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 2 กลุ่ม คือ Terrazzo Tile และ Other Tiles เมื่อวิเคราะห์การถดถอยระหว่างผลผลิตสินค้ากลุ่ม Terrazzo Tile กับการใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากมีอุปกรณ์เครื่องวัดการใช้พลังงานค่า R2 อยู่ที่ 0.92 เมื่อวิเคราะห์โดยใช้ค่าพลังงานจำเพาะและกราฟ CUSUM สินค้า Terrazzo Tile พบว่าปี 2561 และ 2562 ประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำกว่าปี 2560 เนื่องจากค่า SEC สูงกว่า เพื่อกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานเลือกข้อมูลที่มีค่า SEC ต่ำจำนวน 6 เดือนมาเป็นตัวแทนเดือนที่มีศักยภาพการใช้พลังงานสูง โรงงานตัวอย่างจะมีศักยภาพการประหยัดพลังงานจากกลุ่มสินค้า Terrazzo Tile อยู่ที่ 417,488 kWh ต่อปี จากการวิจัยนี้พบว่าเพื่อให้การวิเคราะห์การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพควรติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัดการใช้พลังงานทุกกระบวนการผลิตสำหรับวิเคราะห์การใช้พลังงานทุกกลุ่มสินค้า


การวิเคราะห์ต้นทุนไฟฟ้าของการผลิตสมุนไพรด้วยวิธีการจัดสรรต้นทุน, รัชญา ฤาชัยตระกูล Jan 2019

การวิเคราะห์ต้นทุนไฟฟ้าของการผลิตสมุนไพรด้วยวิธีการจัดสรรต้นทุน, รัชญา ฤาชัยตระกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ต้นทุนค่าไฟฟ้าส่วนกลางที่มีการใช้ร่วมกันของผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท ที่ผลิตจากแผนกผลิตสมุนไพร ในรอบ 1 ปี ของโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง ทางภาคเหนือ เป็นมูลค่า 881,139.50 บาท โดยวิเคราะห์และกำหนดการจัดสรรปันส่วน (Allocation Base Analysis) ของต้นทุนพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะอาศัยหลักเกณฑ์ที่ใช้จัดสรรปันส่วน (Cost Allocation Criteria) คือ 1) Naive 2) Causal Relation และ 3) Benefit Received และอาศัยฐานที่ใช้จัดสรรปันส่วน (Cost Allocation Base) คือ 1) ชั่วโมงเครื่องจักร (Machine-Hours 2) ชั่วโมงแรงงานทางตรง (Direct Labor-Hours) และ 3) ต้นทุนการใช้วัตถุดิบ (Direct Material Usage) จากผลการวิจัยพบว่า ในการจะเลือกใช้หลักเกณฑ์และฐานเพื่อนำมาจัดสรรปันส่วนพลังงานไฟฟ้าในการผลิตจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม โดยพบว่าโรงพยาบาลไม่ได้มุ้งเน้นแสวงหากำไรเป็นหลัก แต่มุ่งเน้นช่วยเหลือชุมชน ดังนั้นการเลือก Causal Relation เป็นหลักเกณฑ์ (Criteria) จึงเหมาะสมมากที่สุด ส่วนด้านกระบวนการและวัตถุดิบในการผลิตของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน การเลือก ชั่วโมงเครื่องจักร จึงเหมาะสมมากที่สุดในการวิเคราะห์ต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยนำชั่วโมงการทำงานของเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตมาวิเคราะห์


การตัดสินใจระหว่างการผลิตเองกับการจ้างผลิตสำหรับผลิตชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไอน้ำ, วริศรา เจียรจินดา Jan 2019

การตัดสินใจระหว่างการผลิตเองกับการจ้างผลิตสำหรับผลิตชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไอน้ำ, วริศรา เจียรจินดา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนเครื่องตัดชนิดเลเซอร์สำหรับโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไอน้ำ โดยทำการศึกษาจากการเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนซื้อเครื่องตัดสำหรับใช้เอง และการจ้างผู้อื่นตัดชิ้นส่วนให้ เปรียบเทียบจากต้นทุนทั้งหมดของทั้งสองวิธีการ ผลการศึกษาข้อมูลของโรงงาน ณ ปี พ.ศ.2562 พบว่ามีการจ้างผู้อื่นตัดโดยเฉลี่ยเดือนละ 2,374,142.73 มิลลิเมตรต่อเดือน โดยวัดจากความยาวของเส้นรอบรูป และหากลงทุนซื้อเครื่องตัดเพื่อใช้งานเองจะต้องใช้งานตัดทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 943,587.38 มิลลิเมตรต่อเดือน จึงจะคุ้มค่า ซึ่งทางโรงงานมีค่าเฉลี่ยในการตัดมากกว่าจุดปริมาณคุ้มทุน จึงสมควรแก่การเลือกวิธีลงทุนซื้อเครื่องตัดมาเพื่อใช้งานเองภายในโรงงาน


การศึกษาปัจจัยและประเมินการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย, ภัทรลดา สินทรัพย์ Jan 2019

การศึกษาปัจจัยและประเมินการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย, ภัทรลดา สินทรัพย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและรวบรวมปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1) โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ รวมทั้ง ได้ประเมินการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งนำแบบจำลองการเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคของศูนย์วิจัยพลังงานแห่งเอเชียแปซิฟิกมาประยุกต์ใช้ในการคาดการณ์การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยปัจจัยที่มีความสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ประเมินค่า 5 ระดับ ตามแนวทางของ Likert Scale และผลจากการคาดการณ์การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าประเภท รย.1 ในปี ค.ศ. 2050 ของประเทศไทย ได้คาดการณ์เป็น 2 ภาพเหตุการณ์คือ ภาพเหตุการณ์พื้นฐาน และภาพเหตุการณ์ที่มีนโยบายส่งเสริมอย่างเข้มข้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอ้างอิงจากรถยนต์ไฟฟ้า 3 ชนิด ได้แก่ รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ซึ่งผลการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งภาครัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายและพัฒนาคุณลักษณะของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้ง โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง


การประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ โดยการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ กรณีศึกษา ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง, สหภัส พุทธิขจร Jan 2019

การประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ โดยการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ กรณีศึกษา ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง, สหภัส พุทธิขจร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การใช้พลังงานของระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์อยู่ที่ประมาณ 45% ของการใช้พลังงานรวมในศูนย์การค้า ดังนั้น การควบคุมการทำงานของเครื่องทำน้ำเย็นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ ในระบบปรับอากาศแบบดั้งเดิม การเปลี่ยนแปลงของภาระการทำความเย็นจะส่งผลกระทบถึงอัตราการไหลของน้ำเย็นในระบบส่งจ่ายลมเย็นและภาระการทำความเย็นของเครื่องทำน้ำเย็นเพื่อที่จะรักษาอุณหภูมิอากาศภายในห้อง ระบบควบคุมแบบดั้งเดิมนี้มีเวลาในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของภาระการทำความเย็นที่นาน เป็นเหตุให้เกิดการแกว่งที่มากของอุณหภูมิอากาศในพื้นที่ปรับอากาศ และ ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากในการเดินเครื่องทำน้ำเย็น งานวิจัยนี้นำเสนอการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติที่ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศภายในพื้นที่ปรับอากาศเพื่อสนับสนุนระบบควบคุมแบบดั้งเดิมสำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องทำน้ำเย็นในศูนย์การค้า ระบบควบคุมอัตโนมัตินี้ใช้เซนเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศที่ติดตั้งในพื้นที่ปรับอากาศเพื่อจำกัดภาระการทำความเย็นของเครื่องทำน้ำเย็นโดยตรง ระบบควบคุมอัตโนมัตินี้สามารถลดเวลาในการตอบสนองเป็นเหตุให้การแกว่งของอุณหภูมิอากาศลดลง ค่าเฉลี่ยกำลังสองของอุณหภูมิอากาศของ โรงภาพยนตร์ พื้นที่ศูนย์การค้า และ ศูนย์อาหาร ถูกลดลงเป็น 0.0 0.16 และ 0.43 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และด้วยการช่วยของระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับการเฝ้าดูอุณหภูมิอากาศในพื้นที่ปรับอากาศอย่างต่อเนื่อง ระบบส่งจ่ายลมเย็นควบคุมค่าปรับตั้งของโรงภาพยนตร์ พื้นที่ศูนย์การค้า และ ศูนย์อาหาร ซึ่งค่าปรับตั้งได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นค่าใหม่คือ 24.5 25.3 และ 25.3 องศาเซลเซียส ตามลำดับ หลังจากใช้งานระบบควบคุมอัตโนมัติ การใช้พลังงานไฟฟ้าต่อวันลดลง 25.8 %


การใช้พลังงานสำหรับตู้แช่แข็งภายในร้านสะดวกซื้อ, สุพัชชา กระต่ายแก้ว Jan 2019

การใช้พลังงานสำหรับตู้แช่แข็งภายในร้านสะดวกซื้อ, สุพัชชา กระต่ายแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้พลังงานสำหรับตู้แช่แข็งและการศึกษาพฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าในการเปิดประตูตู้แช่แข็งภายในร้านสะดวกซื้อ โดยหาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการเปิดประตูกับพลังงานที่ใช้ การตรวจวัดพลังงานใช้ meter วัดพลังงาน เทียบกับระยะเวลาในการเปิดประตูตู้ ส่วนการศึกษาพฤติกรรมได้ข้อมูลจากการสังเกตผู้ที่ซื้อสินค้าจากตู้แช่แข็งจำนวน 60 คน จากการศึกษาพบว่า การใช้พลังงานรายวันของตู้แช่แข็ง 1 ตู้มีค่าเฉลี่ย 7.73 หน่วย/วัน ความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกับระยะเวลาที่ใช้เปิดประตูตู้แช่แข็งได้ความสัมพันธ์ตามสมการ Y = 6.4079x + 14.503 ซึ่งสามารถอธิบายชุดข้อมูลได้ 97% และพบว่าพฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าในการเปิดประตูตู้แช่แข็งในการเลือกหยิบสินค้าในตำแหน่งต่าง ๆ ภายในตู้ ซึ่งแบ่งเป็นตำแหน่งซ้าย ตำแหน่งกลาง และตำแหน่งขวา โดยตำแหน่งซ้ายจะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการเปิดตู้แช่แข็งนานที่สุดเนื่องจากอยู่ด้านในสุดของตู้แช่แข็งซึ่งจะต้องเปิดประตู้กว้างสุดในการเลือกหยิบสินค้า


การศึกษาประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงน้ำแข็งในประเทศไทย, สุจิตรา จำนงบุตร Jan 2019

การศึกษาประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงน้ำแข็งในประเทศไทย, สุจิตรา จำนงบุตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกลุ่มโรงงานน้ำแข็งที่เป็นโรงงานควบคุม โดยศึกษาข้อมูลจากรายงานการจัดการพลังงานของโรงงานน้ำแข็งจำนวน 80 แห่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2558 - 2561 ซึ่งมีการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมมากกว่า 500 ล้านหน่วย (GWh) ต่อปี เฉลี่ยต่อแห่ง 6.25 ล้านหน่วยต่อปี และคัดเลือกกลุ่มโรงงานตัวอย่างจำนวน 20 แห่ง มาวิเคราะห์ค่าการใช้พลังงานจำเพาะ (SEC) โดยละเอียด พบว่าค่า SEC หรือประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงานน้ำแข็งมีค่าตั้งแต่ 59 -133 kWh/ตัน และมีค่าเฉลี่ยที่ 98 kWh/ตัน เมื่อวิเคราะห์รายประเภทโรงงานน้ำแข็งพบว่า โรงงานผลิตน้ำแข็งหลอดและโรงงานผลิตน้ำแข็งซองมีค่า SEC เฉลี่ยเท่ากันที่ 94 kWh/ตัน ในขณะที่โรงงานที่ผลิตทั้งน้ำแข็งซองและน้ำแข็งหลอดมีค่า SEC เฉลี่ยที่ 104 kWh/ตัน การศึกษายังพบว่าโรงงานน้ำแข็งที่ผลิตน้ำแข็งประเภทเดียวกัน มีปริมาณการผลิตใกล้เคียงกัน แต่มีค่า SEC ต่างกันมากถึง 31% โดยข้อมูลจากรายงานการจัดการพลังงานแสดงให้เห็นว่า โรงงานที่มีค่า SEC สูงกว่ามีชั่วโมงการทำงานต่อปีมากกว่าถึง 65% ส่งผลให้การใช้พลังงานไฟฟ้าสูงกว่าในขณะที่ผลิตน้ำแข็งได้ปริมาณใกล้เคียงกัน สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิตที่ต่ำกว่าและศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงานที่สูงกว่า โรงงานน้ำแข็งมีค่า SEC เฉลี่ยต่ำที่สุด 59 kWh/ตัน เมื่อวิเคราะห์สมการถดถอย การใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและเป็นไปตามความสัมพันธ์เชิงเส้น ส่วนค่า SEC ลดลงเมื่อการผลิตน้ำแข็งมากขึ้น โดยพลังงานที่ใช้สามารถแยกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่คงที่ไม่ขึ้นกับปริมาณการผลิตและส่วนที่แปรผันตามปริมาณการผลิต โดยส่วนแรกคิดเป็น 11.86% ของพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยที่ใช้ในการผลิตน้ำแข็งในแต่ละเดือน การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและการบำรุงรักษาทำความสะอาด เป็นมาตรการที่นิยมใช้ในโรงงานน้ำแข็ง ทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน


การศึกษาเชิงเปรียบเทียบข้อกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงานสากล Iso 50001:2018 และกฎหมายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับโรงงานและอาคารควบคุม, กิตติคุณ สินอุปการ Jan 2019

การศึกษาเชิงเปรียบเทียบข้อกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงานสากล Iso 50001:2018 และกฎหมายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับโรงงานและอาคารควบคุม, กิตติคุณ สินอุปการ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบข้อกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงานสากล ISO 50001:2018 กับการจัดการพลังงานตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) จากการเปรียบเทียบข้อกำหนดพบว่า ISO 50001:2018 มีความใกล้เคียงกับ พ.ร.บ. เป็นอย่างมาก โดยหัวข้อหลักของ ISO 50001:2018 ครอบคลุมข้อกำหนดทั้งหมดของ พ.ร.บ. ทั้งนี้ มีหัวข้อที่แตกต่างจากข้อกำหนดตาม พ.ร.บ. จำนวน 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) บริบทขององค์กร (2) การวางแผน (3) การสนับสนุน (4) การจัดหา และ (5) การปรับปรุง ซึ่ง ISO 50001:2018 มีความแตกต่างจาก ISO 50001:2011 จำนวน 2 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อที่ 4.1 ความเข้าใจองค์กรและบริบทขององค์กร และหัวข้อที่ 10.2 การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ได้จากการศึกษาทำให้ทราบว่าองค์กรที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ. อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงงานควบคุม หรืออาคารควบคุม สามารถเข้าสู่มาตรฐาน ISO 50001:2018 ได้ โดยใช้เอกสารเดิมที่จัดทำตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ. โดยจะต้องจัดทำเอกสารเพิ่มเติมตามข้อกำหนด 5 หัวข้อ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ เอกสารทั้งหมดจะต้องจัดทำให้เป็นรูปแบบตามข้อกำหนด ISO 9001 ส่วนองค์กรที่ได้รับการรับรองตาม ISO 50001:2011 และต้องการเข้าสู่ ISO 50001:2018 ต้องจัดทำเอกสารเพิ่มเติม เช่น วิสัยทัศน์องค์กร พันธกิจ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ด้านการจัดการพลังงาน รวมถึงการวิเคราะห์ SWOT Analysis เพื่อให้เข้าใจบริบทขององค์กร เป็นต้น


การศึกษาความพึงพอใจของชุมชนต่อการจัดการพลังงานของบริษัทปิโตรเคมีที่คัดเลือก, ศรัณย์ ข่อยงาม Jan 2019

การศึกษาความพึงพอใจของชุมชนต่อการจัดการพลังงานของบริษัทปิโตรเคมีที่คัดเลือก, ศรัณย์ ข่อยงาม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ด้วยบริษัทปิโตรเคมีที่คัดเลือกได้ดำเนินโครงการด้านการจัดการพลังงาน ตามนโยบายการสนับสนุนของกระทรวงพลังงานให้ประชาชนใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเป็นแผนการบริหารกิจการเพื่อสังคมตามแนวทางการปฏิบัติในระดับมาตรฐานสากล ดังนั้นงานวิจัยจึงมุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบกับความพึงพอใจของชุมชนต่อการบริหารจัดการโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น คุณลักษณะประชากร ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน และความสอดคล้องกับบริบทในท้องถิ่น เป็นต้น โดยสำรวจชุมชนที่อยู่รอบโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนได้ จึงคัดเลือกตัวอย่างเพื่อทำแบบสอบถามจำนวน 360 คน ให้เสนอข้อคิดเห็นในการดำเนินโครงการด้านพลังงานของบริษัท 2 โครงการ คือ โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ และโครงการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นแบบ LED เพื่อชุมชน แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลด้วยสถิเชิงพรรณาและสถิติเชิงอนุมาน ซึ่งผลการวิจัยพบว่าชุมชนมีความพึงพอใจด้านพลังงานทั้ง 2 โครงการอยู่ในระดับที่สูงมาก และเหมาะสมกับบริบทของชุมชน แต่รูปแบบโครงการที่มีประโยชน์ต่อชุมชนนั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยที่สามารถสร้างแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม หรือกระจายผลประโยชน์ให้ชุมชนได้รับการสนับสนุนมากที่สุด แต่ต้องขับเคลื่อนด้วยพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังในการดำเนินการ เช่น กรณีพิพาทในพื้นที่ส่วนกลาง หรือข้อกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง


Optimal Planning Of Wind-Based Distributed Generation And Reactive Power Management In A Distribution System, Ovi Eka Putri Jan 2019

Optimal Planning Of Wind-Based Distributed Generation And Reactive Power Management In A Distribution System, Ovi Eka Putri

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

In recent years, the incremental load demand leads to the higher presence of distributed generation (DG) in distribution system. Renewable energy-based DG has been much appreciated due to the techno-eco-environmental benefit. Wind-based DG is one of most promising renewable energy based-DG. However, in the technical aspect, distribution system planning with wind-based DG alone is not fruitful enough due to limited reactive power support. Capacitor bank is one of available devices for reactive power management in distribution system. So, installing wind-based DG and capacitor bank in distribution system is one of alternative solutions to improve electrical power system performance in term …


Grid-Friendly Dispatch Strategy Of Pv Generation System With Battery Energy Storage, Sarute Srisontisuk Jan 2019

Grid-Friendly Dispatch Strategy Of Pv Generation System With Battery Energy Storage, Sarute Srisontisuk

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

High PV penetration reduces stability tolerance due to the lower of system inertia and system ramp capability. To handle higher PV penetration issues, the system operator and PV owners should consider the operation improvement. For the system operator, critical system ramp capability with respect to PV penetration ratio can be useful to determine the lower bound of system ramp capability for handling N-1 contingency and expected disturbances. In the case study, test results reveal that the system can operate securely with PV penetration ratio up to 40%, in which it will require system ramp capability in the range of 0.05-0.09 …


Analyzing The Impact Of Biofuel Industry On Thailand’S Economy Based On Input-Output Model, Thipruedee Limchaikit Jan 2019

Analyzing The Impact Of Biofuel Industry On Thailand’S Economy Based On Input-Output Model, Thipruedee Limchaikit

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This research tries to examine the impact of the biofuel industry focusing on ethanol and biodiesel on Thailand's economy. It uses input-output analysis. In the past 10 years, Thailand's Alternate Energy Development Plan (AEDP) has played a significant role in launching policies and promoting the biofuel industry. The plan focuses on increasing internal energy security by increasing the use of alternate sources of energy which is a perfect replacement for the importation of fuels. However, the main challenge is price competitiveness which requires subsidization to sustain its market in the industry. Therefore, the main objective of this study is to …


การพยากรณ์ค่าอุณหภูมิของน้ำมันด้านบนในหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังสำหรับการประเมินสมรรถนะโดยใช้แบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่อง, สุวพันธุ์ อริเดช Jan 2019

การพยากรณ์ค่าอุณหภูมิของน้ำมันด้านบนในหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังสำหรับการประเมินสมรรถนะโดยใช้แบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่อง, สุวพันธุ์ อริเดช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อายุการใช้งานที่สูญเสียไปจากการใช้งานหม้อแปลงมีสาเหตุหลักมาจากค่าอุณหภูมิที่เกิดขึ้นภายในหม้อแปลง ได้แก่ค่าอุณหภูมิขดลวดและอุณหภูมิน้ำมัน หม้อแปลงที่ทำงานในสภาวะการจ่ายโหลดและอุณหภูมิแวดล้อมค่าหนึ่งจะเกิดความร้อนภายในที่แตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพในปัจจุบันและการเสื่อมสภาพในอดีตของหม้อแปลง วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องที่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมการเกิดความร้อนภายในหม้อแปลงโดยใช้ข้อมูลในอดีตเพื่อพยากรณ์ค่าอุณหภูมิน้ำมันด้านบนและอุณหภูมิขดลวดของหม้อแปลงที่จะเกิดขึ้นก่อนการใช้งานจริง ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาหาอายุการใช้งานที่คาดว่าจะสูญเสียไปของหม้อแปลงแต่ละตัวเพื่อใช้ในการวางแผนการส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าและการเลือกบำรุงรักษาอุปกรณ์ นอกจากนี้การใช้ขอบเขตการพยากรณ์ช่วยตรวจสอบข้อมูลพฤติกรรมทางความร้อนของหม้อแปลงเพื่อใช้ตรวจหาสัญญานที่อาจบ่งชี้ความผิดปกติหรือการเสื่อมสภาพของหม้อแปลงได้ โดยจากผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าข้อมูลจากแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องสามารถพยากรณ์อายุการใช้งานที่สูญเสียของหม้อแปลงได้ใกล้เคียงกับการใช้ข้อมูลที่ตรวจวัดได้จริง นอกจากนี้วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอการสร้างขอบเขตการพยากรณ์เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยในการติดตามความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางความร้อนของหม้อแปลงซึ่งมีประโยชน์ในการบริหารจัดการหม้อแปลง


การพยากรณ์กำลังผลิตไฟฟ้ารายภาคจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้โครงข่ายประสาทเชิงลึกร่วมกับการปรับจูนไฮเปอร์พารามิเตอร์, สุกฤษฎ์ ใจดี Jan 2019

การพยากรณ์กำลังผลิตไฟฟ้ารายภาคจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้โครงข่ายประสาทเชิงลึกร่วมกับการปรับจูนไฮเปอร์พารามิเตอร์, สุกฤษฎ์ ใจดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เทคโนโลยีพลังงานปัจจุบันนำไปสู่การขยายตัวของโครงข่ายสมาร์ทกริดซึ่งเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายแง่มุม เช่น การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ ความก้าวหน้าระบบสำรองพลังงาน และความสมดุลระหว่างการผลิตและใช้พลังงาน เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้เกิดข้อดีหลายแง่มุม เช่น การผลิต การสำรอง และการใช้พลังงานภายในเน็ตเวิร์กเอง ดังนั้นโครงข่ายสมาร์ทกริดจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบจำหน่ายหลัก แต่อย่างไรก็ตามเน็ตเวิร์กส่วนใหญ่พึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีความผันผวนตามสภาพอากาศ ดังนั้นการมีระบบพยากรณ์จะช่วยรักษาเสถียรภาพของเน็ตเวิร์ก วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอวิธีการพยากรณ์กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบวกกลับร่วมกับการปรับปรุงความแม่นยำในการพยากรณ์ด้วยเทคนิคต่างๆ ได้แก่ การปรับจูนไฮเปอร์พารามิเตอร์ การคัดเลือกตัวแปร การหาค่าเฉลี่ยเชิงพื้นที่ การหาค่าเฉลี่ยนเคลื่อนที่แบบเอกซ์โพเนนเชียลของความเข้มแสงอาทิตย์ และการเอนเซมเบิลค่าพยากรณ์พลังงานไฟฟ้าจากแต่ละแบบจำลอง ข้อมูลอินพุตสำหรับวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ประกอบไปด้วย ข้อมูลจากแบบจำลองพยากรณ์อากาศและข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัด วิธีที่นำเสนอศึกษาแยกเป็น 2 กรณี ได้แก่ การพยากรณ์กำลังผลิตรวมของ 7 โรงไฟฟ้า การพยากรณ์พลังงานแสงอาทิตย์บนตึกภาควิชา ผลลัพธ์ที่ได้พบว่าแบบจำลองเอนเซมเบิลให้ค่าความผิดผลาดอยู่ที่ 6.94% RMSE ซึ่งลดลง 1.71% เมื่อเทียบกับแบบจำลองอินพุตที่ดีที่สุด เมื่อเราเปรียบชนิดของโหนดจาก GRU เป็น CuDNNGRU ค่า RMSE เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1% แต่เวลาในการฝึกสอนลดลงมากกว่าเท่าตัว


การศึกษาลักษณะสมบัติทางไฟฟ้าสถิตและจลนศาสตร์ไฟฟ้าของอนุภาคในน้ำมันฉนวน, พนิตตา โรจน์ธนวณิชย์ Jan 2019

การศึกษาลักษณะสมบัติทางไฟฟ้าสถิตและจลนศาสตร์ไฟฟ้าของอนุภาคในน้ำมันฉนวน, พนิตตา โรจน์ธนวณิชย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษากลศาสตร์ทางไฟฟ้าของอนุภาคในน้ำมันฉนวนภายใต้สนามไฟฟ้าเป็นหนทางหนึ่งในการศึกษาลักษณะเชิงปริมาณของประจุบนอนุภาคในน้ำมันฉนวน. วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาพฤติกรรมการรับและคายประจุของอนุภาคตัวนำและอนุภาคฉนวน ในน้ำมันฉนวนภายใต้สนามไฟฟ้า. วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาคือ การสังเกตพฤติกรรมทางจลนศาสตร์ทางไฟฟ้าของอนุภาคในน้ำมันฉนวน เพื่อดูความสัมพันธ์ของประจุกับการเคลื่อนที่. การศึกษาทำโดยการวัดประจุบนอนุภาคทั้งในสภาวะสถิตและในระหว่างการเคลื่อนที่. ระบบวัดประจุที่ใช้ประกอบด้วยถ้วยฟาราเดย์แบบอนุภาคเคลื่อนที่ผ่านและวงจรวัดประจุ. ความเร็วของอนุภาคสามารถคำนวณได้จากความสัมพันธ์ระหว่างสมการแรงคูลอมบ์ แรงโน้มถ่วง และแรงต้านความหนืดของตัวกลาง. การทดลองวัดความเร็วในการเคลื่อนที่ของอนุภาค เมื่อใช้อิเล็กโทรดแบบระนาบขนานและแบบทรงกลมกับระนาบ แสดงให้เห็นว่าความเร็วในการเคลื่อนที่ของอนุภาคเพิ่มขึ้นตามขนาดแรงดันที่เพิ่มขึ้น. การวัดประจุบนอนุภาคทำได้โดยใช้ถ้วยฟาราเดย์แบบอนุภาคเคลื่อนที่ผ่านกับวงจรวัดประจุและถ้วยฟาราเดย์กับอิเล็กโตรมิเตอร์ ใช้เวลาในการอัดประจุนาน 15 s ถึง 240 s. การทดลองพบว่าค่าประจุที่วัดได้จากอุปกรณ์ถ้วยฟาราเดย์แบบอนุภาคเคลื่อนที่ผ่านกับวงจรวัดประจุสอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่กับผลการวัดด้วยถ้วยฟาราเดย์กับอิเล็กโตรมิเตอร์ แต่ค่าที่ได้มีขนาดต่ำกว่า. ขนาดของอิเล็กโทรดมีผลต่อการวัดประจุด้วยวงจรวัดประจุ. อิเล็กโทรดที่มีขนาดกว้างให้ค่าผลการวัดสูงกว่าอิเล็กโทรดที่มีขนาดเล็ก. สำหรับการสูญเสียประจุของอนุภาคในน้ำมันฉนวน อิเล็กโทรดที่ใช้ในการวัดประจุมีสองตำแหน่งคือ A และ B ซึ่ง A ห่างจาก B เป็นระยะ 2 cm โดยที่อนุภาคเคลื่อนที่ถึงตำแหน่ง B มีค่ามากกว่าตำแหน่ง A. เมื่ออนุภาคเคลื่อนที่จะมีการสูญเสียประจุเกิดขึ้น ส่งผลให้ประจุที่วัดได้จากตำแหน่ง B มีค่าน้อยกว่าตำแหน่ง A.


แบบจำลองเพื่อการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์สำหรับเมืองอัจฉริยะรักษ์สิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ริรินดา ถิระศุภะ Jan 2019

แบบจำลองเพื่อการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์สำหรับเมืองอัจฉริยะรักษ์สิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ริรินดา ถิระศุภะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

“EGAT Eco Plus” เป็นโครงการเมืองอัจฉริยะโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานระบบสื่อสารสำหรับเมืองอัจฉริยะ กฟผ. สนญ. จะต้องรองรับการออกแบบเป็นโมดูลเพื่อให้การออกแบบมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการใช้งานที่เปลี่ยนไป วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงนำเสนอแบบจำลองเพื่อการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์สำหรับเมืองอัจฉริยะรักษ์สิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และแนวคิดของตัวควบคุมระบบคลาวด์เมืองอัจฉริยะ โดยผู้วิจัยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์แบบกำหนดการเชิงเส้น (linear programming: LP) เพื่อหาคำตอบการจัดสรรทรัพยากรของศูนย์ข้อมูลให้กับคำร้องขอเพื่อให้บริการแบบสีเขียวสูงสุด โดยการใช้พลังงานสีเขียวในศูนย์ข้อมูลจากแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่สูงสุดเพื่อสร้างการคำนวณรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองอัจฉริยะ และผู้วิจัยได้ทำการเปรียบเทียบกับวิธีการจัดสรรภารกิจที่มีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน คือวิธีวนรอบ (round robin) อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของเมืองอัจฉริยะ กฟผ. จึงเป็นที่มาให้ผู้วิจัยศึกษาองค์ความรู้และเกณฑ์การประเมินเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลแบบยั่งยืนรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ สัมประสิทธิ์พลังงานสีเขียว ค่าเฉลี่ยการใช้พลังงานสีเขียวของภารกิจแต่ละประเภท ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดศูนย์ข้อมูลแบบยั่งยืนของ กฟผ. สนญ. ได้ โดยสรุปแบบจำลองสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานจริงได้เพื่อรองรับโปรแกรมประยุกต์ของเมืองอัจฉริยะ กฟผ. สนญ. โดยการปรับลักษณะโปรแกรมประยุกต์แต่ละชนิดที่จะมีใช้งานในเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ ชนิดของภารกิจ ขนาดแกนคำนวณที่ต้องการใช้งาน ขนาดของเครือข่ายที่ต้องการ ขนาดของหน่วยเก็บ ขนาดของข้อมูล และค่าการประวิงเวลาในระบบสื่อสารสูงสุด รวมทั้งคุณลักษณะของศูนย์ข้อมูล ได้แก่ ความจุของแกนคำนวณ ขนาดเครือข่ายที่สามารถให้บริการได้ ขนาดหน่วยเก็บ ซึ่งพารามิเตอร์เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญและเกี่ยวข้องในการให้บริการระบบคลาวด์แก่หน่วยงานหรือลูกค้าที่อยู่ตามอาคารต่าง ๆ ใน กฟผ. สนญ. อีกทั้งสามารถใช้กับการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ที่มีการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหลายแหล่งที่แตกต่างกัน เช่น แหล่งผลิตพลังงานจากกริด หรือแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ และหน่วยกักเก็บพลังงานสำรอง เป็นต้น


การวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่โดยพิจารณาการตอบสนองของโรงไฟฟ้าต่อการเปลี่ยนแปลงของโหลด, กีรติ รัตนประทุม Jan 2019

การวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่โดยพิจารณาการตอบสนองของโรงไฟฟ้าต่อการเปลี่ยนแปลงของโหลด, กีรติ รัตนประทุม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้า ภาครัฐจึงจำเป็นต้องพิจารณาวางแผนการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและมีความผันผวนในอนาคต โดยต้องคำนึงถึงการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ในปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เริ่มเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในสัดส่วนสูง ซึ่งส่งผลต่อความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าและความต้องการใช้ไฟฟ้าอันมีสาเหตุมาจากปัญหาเรื่องความไม่สามารถพึ่งพาได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ ดังนั้นผู้ควบคุมระบบไฟฟ้าจึงต้องพิจารณาจัดเตรียมโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพาณิชย์เพื่อมารองรับกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่อาจจะขาดหายไปจากระบบไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพาณิชย์อาจไม่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกันมาในแต่ละชั่วโมงได้อย่างทันทีทันใด วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ จึงนำเสนอหลักการในการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ ซึ่งสามารถคำนวณขนาดพิกัดติดตั้งของแบตเตอรี่ได้จากกำลังผลิตที่คาดว่าจะไม่สามารถพึ่งพาได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อช่วยลดภาระในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ อีกทั้งพิจารณาการตอบสนองของโรงไฟฟ้าต่อการเปลี่ยนแปลงของโหลดโดยแบ่งลักษณะความต้องการใช้ไฟฟ้าออกเป็น 5 ระดับ และจำแนกประเภทของโรงไฟฟ้าให้มีความสอดคล้องกับระดับความต้องการใช้ไฟฟ้า มีการทดสอบกระบวนการวางแผนที่นำเสนอโดยสร้างกรณีศึกษาโดยใช้ฐานข้อมูลตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นว่า การวางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและติดตั้งแบตเตอรี่ตามวิธีที่นำเสนอนั้น ทำให้ดัชนีความเชื่อถือได้ค่าดีขึ้น และอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยของระบบไฟฟ้ามีค่าลดลง โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีความผันผวนได้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อหน่วยเฉลี่ยมีสูงขึ้นเล็กน้อยเนื่องมากจากกำลังผลิตรวมในระบบไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น


การพัฒนาแอปพลิเคชันจำแนกความสุกผลทุเรียนจากเสียงเคาะโดยใช้โครงข่ายประสาทคอนโวลูชัน, เวียงชัย คาระมาตย์ Jan 2019

การพัฒนาแอปพลิเคชันจำแนกความสุกผลทุเรียนจากเสียงเคาะโดยใช้โครงข่ายประสาทคอนโวลูชัน, เวียงชัย คาระมาตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ทุเรียนเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภคภายในประเทศไทย การตรวจสอบความสุกของทุเรียนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการซื้อขายในตลาดผลไม้และการส่งออก การตรวจสอบความสุกทุเรียนสามารถตรวจสอบได้หลายวิธี ในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ใช้วิธีเคาะและฟังเสียงเพื่อบอกความสุก ปกติการฟังเสียงจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการฟัง ดังนั้นจึงได้ออกแบบแอปพลิเคชันจำแนกความสุกผลทุเรียนจากเสียงเคาะโดยใช้โครงข่ายประสาทคอนโวลูชัน การเก็บข้อมูลเสียงเคาะทุเรียนได้รับคำแนะนำจากพ่อค้าคนกลางในจังหวัดจันทบุรีและบอกว่าทุเรียนที่เคาะมีความสุกในระดับใด การเก็บข้อมูลเสียงใช้ตัวอย่างทุเรียนพันธุ์หมอนทองจำนวน 30 ลูก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับความสุก ได้แก่ ทุเรียนสุก ทุเรียนสุกปานกลาง และทุเรียนไม่สุก กลุ่มละ 10 ลูก จากนั้นนำเสียงเคาะมาเพื่อแยกชุดข้อมูลเสียงสำหรับการเรียนรู้ ความยาวเสียงประมาณ 0.3 วินาที หรือความยาวที่ครอบคลุมเสียงเคาะหนึ่งครั้ง กระบวนการเรียนรู้ใช้การกระบวนการเรียนรู้เชิงลึกแบบคอนโวลูชัน (CNN) และกระบวนการการสกัดคุณลักษณะของเสียงด้วยสัมประสิทธิ์เมลฟรีเคว็นซีเซปสตรอล (MFCC) จากการทดลองพบว่าค่าความถูกต้องของแบบจำลองมีความถูกต้อง 90.78% สำหรับชุดข้อมูลตรวจสอบความถูกต้อง และความถูกต้อง 89.47% สำหรับชุดข้อมูลทดสอบ เมื่อได้แบบจำลองแล้วนำไปใช้ในแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อสะดวกต่อการใช้งานของผู้บริโภคและชาวสวนทุเรียน การออกแบบแอปพลิเคชันเป็นการส่งข้อมูลผ่านระบบ HTTP Protocol ที่อยู่ในรูปแบบเอพีไอ


การทำนายกำลังผลิตของโซลาร์เซลล์โดยใช้โมเดลประมาณค่าและตัวกรองคาลมาน, พีรพล จิรนันทเจริญ Jan 2019

การทำนายกำลังผลิตของโซลาร์เซลล์โดยใช้โมเดลประมาณค่าและตัวกรองคาลมาน, พีรพล จิรนันทเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอแนวทางในการทำนายกำลังผลิตของโซลาร์เซลล์โดยใช้แบบจำลอง Auto Regressive Integrated Moving Average (ARIMA) และ Kalman filter algorithm แนวทางในการทำนายนี้ทำนายกำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานี Photovoltaic (PV) ใดๆที่ต้องการทราบโดยในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะทำนายกำลังผลิตทุกๆ 5 นาที จุดมุ่งหมายของการใช้ Kalman filter algorithm เพื่อติดตามกำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานีที่ต้องการทราบค่ากำลังผลิตในกรณีที่ข้อมูลกำลังผลิตขาดหายไปในบางช่วงเวลา Kalman filter มีข้อดีที่ไม่ต้องใช้ข้อมูลในอดีตจำนวนมากในการทำนายและติดตามข้อมูลที่ต้องการ แต่เนื่องจาก Kalman filter algorihm ต้องการข้อมูลการวัดค่าแบบเวลาจริงเพื่อปรับแก้ในสมการดังนั้นเราจึงได้เสนอแบบจำลองการคำนวณค่าประมาณกำลังผลิต Estimator model เพื่อคำนวณค่ากำลังผลิตแบบเวลาจริงเพื่อนำไปใช้ใน Kalman filter algorithm ซึ่ง Estimator model จะคำนวณค่าประมาณกำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานีที่เราต้องการทำนายจากข้อมูลค่ากำลังผลิตแบบเวลาจริงของสถานีข้างเคียง จากนั้นจึงส่งผลลัพธ์นั้นไปใช้ในการทำนายกำลังผลิตจาก Kalman filter algorithm พบว่าผลลัพธ์ที่ได้มีความใกล้เคียงกับค่าจริงโดยสามารถดูได้จากค่าดัชนีชี้วัดความแม่นยำ นอกจากนั้นเรายังเปรียบเเทียบผลลัพธ์ของการทำนายกับ Persistence Model และ Artificial Neural Network ซึ่งผลลัพธ์ปรากฏว่า ARIMA-Kalman ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า Persistence Model และมีความแม่นยำใกล้เคียงกับ Artificial Neural Network ที่ใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน แต่ ARIMA-Kalman มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องใช้ข้อมูลกำลังผลิตของสถานีที่ต้องการทำนายกำลังผลิตเป็นจำนวนมากในการทำนาย


ระบบแจ้งเตือนการช่วยเหลือผู้ป่วยบนพื้นฐานการติดตามท่ามือและขั้นตอนวิธีเหมือนฮาร์ที่ถูกดัดแปร, ธนภัทร รัชธร Jan 2019

ระบบแจ้งเตือนการช่วยเหลือผู้ป่วยบนพื้นฐานการติดตามท่ามือและขั้นตอนวิธีเหมือนฮาร์ที่ถูกดัดแปร, ธนภัทร รัชธร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human-Computer Interaction: HCI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในชีวิตประจำวันของเรา โดยหนึ่งในการประยุกต์ใช้ที่สำคัญคือการใช้งานด้านการแพทย์ งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นไปที่การออกแบบระบบที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้วยการสื่อสารด้วยเสียงสามารถติดต่อกับผู้ดูแลได้โดยง่ายโดยใช้การแสดงท่าทางมือ ซึ่งได้ใช้อุปกรณ์เป็น Raspberry Pi ซึ่งเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กและราคาถูกเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้โดยง่าย สำหรับการทำงานของระบบนั้นได้ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ในส่วนแรกระบบจะตรวจหาท่ากำมือเพื่อใช้เป็นสัญญาณในการเริ่มระบบแจ้งเตือน ซึ่งได้ใช้กระบวนวิธีแบบฮาร์สำหรับการตรวจจับ ผลการทดลองพบว่ามีความแม่นยำในการตรวจจับสูงโดยมีค่า F1-Score อยู่ที่ 0.991 ส่วนที่สองระบบจะรับภาพที่ได้จากการตรวจจับในตอนแรกเพื่อกำหนดพื้นที่และทำการแบ่งส่วนพื้นผิวมนุษย์ (Human Skin Segmentation) เพื่อลดความซับซ้อนของข้อมูลภาพ ก่อนที่จะส่งภาพไปยังโครงข่ายประสาทแบบคอนโวลูชั่นเพื่อจำแนกท่าทางนิ้วมือ 1 - 5 นิ้ว โดยในงานวิจัยนี้ได้ใช้สถาปัตยกรรมแบบ MobileNetV2 ที่มีความเร็วในการประมวลผลสูงสำหรับการจำแนก และได้ใช้ภาพมือขาว/ดำจำนวน 19,000 ภาพสำหรับการฝึกสอนโมเดล โดยผลลัพธ์จากการจำแนกท่ามือมีความถูกต้องมากกว่า 96% ผลลัพธ์ที่ได้จากการจำแนกท่ามือจะถูกแปลเป็นข้อความตามที่ได้กำหนดไว้และส่งไปยังแอพพลิเคชั่น LINE ของผู้ดูแลต่อไป วิธีการนี้ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถสือสารกับผู้ดูแลได้โดยง่ายและยังช่วยลดความตึงเครียดของผู้ดูเลเนื่องจากไม่จำเป็นต้องอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา


การปรับปรุงอัลกอริทึมการหลบหลีกสิ่งกีดขวางสำหรับอากาศยานไร้คนขับโดยใช้เรดาร์สามมิติ, ณัฐพล เตชะพันธ์งาม Jan 2019

การปรับปรุงอัลกอริทึมการหลบหลีกสิ่งกีดขวางสำหรับอากาศยานไร้คนขับโดยใช้เรดาร์สามมิติ, ณัฐพล เตชะพันธ์งาม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางสำหรับอากาศยานสี่ใบพัด สิ่งสำคัญคือ ตัวรับรู้และ ลักษณะของสิ่งกีดขวาง รูปร่างและการทำงานของอากาศยานสี่ใบพัดอาจมีการติดตั้ง อุปกรณ์อื่นๆ และยังแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักมากเพื่อให้ใช้ได้นาน เพื่อลดภาระในส่วนนี้ จึงต้องอาศัยตัวรับรู้สำหรับค้นหาสิ่งกีดขวางที่มีน้ำหนักเบา และอาศัยการประมวล ผลที่ไม่ซับซ้อนจึงถูกเลือก งานวิจัยนี้นำเสนอประมาณขนาดและตำแหน่งของสิ่ง กีดขวางนั้น เพื่อกำหนดเส้นทางหลบหลีกโดยใช้ตัวรับรู้เรดาร์สามมิติ สัญญาณที่ได้ จากตัวรับรู้เรดาร์ไม่สามารถแสดงถึงขนาดจริง และตำแหน่งของสิ่งกีดขวาง อัลกอริ ทึมเคมีนถูกใช้สำหรับแยกกลุ่มของข้อมูลที่เป็นจุด วิธีกำลังสองตํ่าสุดสำหรับวงกลม ถูกใช้สำหรับประมาณสิ่งกีดขวาง โดยรัศมีแทนขนาดของวัตถุและจุดศูนย์กลางแทน ตำแหน่งของวัตถุผลจากการประมาณตำแหน่งมีความใกล้เคียงค่าจริง แต่ผลจากการ ประมาณขนาดจะมีค่าเล็กกว่าค่าจริง จึงเพิ่มตัวแปรเพื่อขยายขนาดของการประมาณ ขนาด เมื่อได้ข้อมูลของสิ่งกีดขวางแล้ว โดยอาศัยอัลกอริทึมอาร์อาร์ทีเพื่อค้นหาเส้น ทางในการบินหลบหลีกสิ่งกีดขวาง เพื่อลดเวลาในการค้นหาเส้นทาง เราได้ลดพื้นที่ การค้นหาเส้นทางในทิศทางจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดสุดท้าย ผลการจำลองการสร้างเส้น ทางหลบหลีกจากขนาด และตำแหน่งแหน่งที่ถูกประมาณแสดงให้เห็นว่า อากาศยาน สี่ใบพัดสามารถบินหลบสิ่งกีดขวางได้


การประยุกต์ใช้การจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายแบบสถิตและการควบคุมแทปหม้อแปลงเพื่อลดการใช้กำลังไฟฟ้าจากกริดให้ต่ำที่สุดสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์, วัชริศ สืบอุดม Jan 2019

การประยุกต์ใช้การจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายแบบสถิตและการควบคุมแทปหม้อแปลงเพื่อลดการใช้กำลังไฟฟ้าจากกริดให้ต่ำที่สุดสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์, วัชริศ สืบอุดม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (Photovoltaic, PV) เป็นหนึ่งในการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัวที่มีการเติบโตทั่วโลก การเพิ่มปริมาณของระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในระบบโดยการใช้ต้นทุนต่ำเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการศึกษา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งของระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์นั้นถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ข้อจำกัดด้านความร้อนของสายส่ง ข้อจำกัดด้านแรงดันไฟฟ้า หรือแม้กระทั้งปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบระบบป้องกัน การจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายถูกควบคุมด้วยผู้ประกอบการระบบจำหน่ายในประเทศไทยจะเป็น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง โดยการจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายสามารถทำเพื่อวัตุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การลดกำลังสูญเสียในระบบไฟฟ้า การทำโหลดสมดุล และการแก้ไขความผิดพร่องในระบบไฟฟ้า ส่วนหม้อแปลงไฟฟ้านั้นเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเพิ่มหรือลดระดับแรงดันไฟฟ้า วิทยานิพนธ์เล่มนี้จึงได้นำเสนอการลดการใช้กำลังไฟฟ้าจากกริดให้ต่ำที่สุดสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์โดยใช้การจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายแบบสถิตและการควบคุมแทปหม้อแปลง ปัญหาถูกจำลองผ่านการไหลของกำลังไฟฟ้าเพื่อจะหาระบบที่ทำให้การใช้กำลังไฟฟ้าจากกริดมีค่าน้อยสุดภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านความร้อนหรือข้อจำกัดด้านแรงดันไฟฟ้าของระบบ ขั้นตอนวิธีในการดำเนินการมีดังต่อไปนี้ เริ่มต้นจากการหาช่วงเวลาที่จะนำมาทดสอบโดยใช้ข้อมูลของโปรไฟล์การใช้ไฟและข้อมูลโปรไฟล์ของระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ต่อมาจะเป็นการจัดเรียงรูปแบบโครงข่ายแบบสถิต ต่อมาจะเป็นขั้นตอนการกำหนดขนาดของกำลังการผลิตติดตั้งของระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และการกำหนดตำแหน่งของแทปหม้อแปลงไฟฟ้า สุดท้ายจะเป็นการจำลองการไหลของกำลังไฟฟ้าเพื่อหากำลังไฟฟ้าจากกริด จากผลการทดสอบเราจะสามารถหาขนาดกำลังผลิตติดตั้งของระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แต่ละตำแหน่ง


การพัฒนาต้นแบบเพื่อควบคุมการใช้พลังงานสำหรับระบบจัดการพลังงานในโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อน, ประกาศิต ศรีประไหม Jan 2019

การพัฒนาต้นแบบเพื่อควบคุมการใช้พลังงานสำหรับระบบจัดการพลังงานในโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อน, ประกาศิต ศรีประไหม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวมากขึ้นทำให้มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางที่ให้ภาคอุตสาหกรรมมีการควบคุมการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวข้างต้นคือการจัดการพลังงานในโรงงานดังนั้นในวิทยานิพนธ์นี้จึงได้นำความรู้เรื่องระบบจัดการพลังงานไฟฟ้า (Energy Management System, EMS) และการนำอุปกรณ์ IoT2040 มาใช้ในการมอนิเตอร์จากระยะไกลเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับระบบจัดการพลังงาน ภายในระบบได้สร้างอัลกอริทึม เพื่อจำลองการควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยนำค่าจากการวัดพลังงานจากเครื่องใช้ไฟฟ้าจริงมาจำลองเพื่อใช้ทดสอบอัลกอริทึมที่คิดขึ้นมาผ่านอุปกรณ์ Programmable Logic Controller (PLC) S7-1200 โดยทำงานผ่าน Webserver และนำIoT2040 มาใช้มอนิเตอร์ในระยะไกลโดยใช้ Node-Red สร้างในส่วนแสดงผล และเชื่อมต่ออุปกรณ์ ซึ่งจะแสดงผลผ่านระบบ Cloud ของ ThingSpeak ผลที่ได้รับจากการควบคุมด้วยอัลกอริทึม คือ การควบคุมการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคได้รวมถึงการใช้พลังงานที่น้อยลง และมีระบบแจ้งเตือนทางเมล์ และทางไลน์แอปพลิเคชัน เมื่อค่าพลังงานเกินกว่าค่าที่กำหนด ประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยนี้ คือ การนำอัลกอริทึมมาประยุกต์ใช้ในการประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม การนำอุปกรณ์ IoT มาใช้เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆได้ง่ายรวมถึงเป็นแนวทางให้แก่บุคคลทั่วไปได้รับรู้ และสร้างความเข้าใจถึงขั้นตอนการทำงานของอัลกอริทึม เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ระบบจัดการพลังงานภายในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต


การคำนวณราคากลางและการคิดค่าผ่านสาย สำหรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าเพียร์ทูเพียร์แบบล่วงหน้าหนึ่งวันในระบบจำหน่าย, ศักดิ์สิทธิ์ สุขชัยศรี Jan 2019

การคำนวณราคากลางและการคิดค่าผ่านสาย สำหรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าเพียร์ทูเพียร์แบบล่วงหน้าหนึ่งวันในระบบจำหน่าย, ศักดิ์สิทธิ์ สุขชัยศรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีราคาถูกลง ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบางรายสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง และขายให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นในบริเวณข้างเคียงได้ เกิดเป็นโครงสร้างการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เรียกว่า ตลาดซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบเพียร์ทูเพียร์ ที่ให้อิสระในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าภายใต้เงื่อนไขและการจัดการภายในตลาด ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายผู้เป็นเจ้าของและให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า อาจสูญเสียรายได้ในโครงข่ายไฟฟ้าจำหน่ายที่มีการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเพียร์ทูเพียร์ ดังนั้นจึงต้องมีการเรียกเก็บค่าผ่านสายจำหน่ายเพื่อคืนเงินลงทุน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้จำลองตลาดซื้อขายไฟฟ้าเพียร์ทูเพียร์แบบล่วงหน้าหนึ่งวัน โดยนำเสนอกลไกการหาราคากลางซื้อขายไฟฟ้าและแนวทางการตัดสินข้อเสนอของผู้เสนอราคาแต่ละราย อีกทั้งยังได้นำเสนอแนวทางการคิดค่าผ่านสายจำหน่ายจากการซื้อขายในตลาดเพียร์ทูเพียร์เพื่อคืนเงินลงทุนให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย นอกจากนี้ยังได้นำเสนอแนวทางการประเมินประสิทธิภาพของกลไกการตัดสินราคาซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเพียร์ทูเพียร์ รวมไปถึงการประเมินอัตราผลตอบแทนการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจากการคิดค่าผ่านสายจำหน่าย จากผลการศึกษาพบว่า ด้วยกลไกที่นำเสนอนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมตลาดได้ผลประโยชน์จากการซื้อขายในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเพียร์ทูเพียร์มากกว่าการซื้อขายไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้าหลัก และจากการประเมินอัตราผลตอบแทนการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย พบว่าแนวการคิดค่าผ่านสายจำหน่ายที่ได้นำเสนอนี้ สามารถคืนเงินลงทุนให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้อย่างเหมาะสม


ระบบบริหารจัดการพลังงานครัวเรือนที่เป็นไปตามโพรโทคอล Homekit และ Echonet Lite, อธิวัฒน์ ภูชำนิพัฒนนันท์ Jan 2019

ระบบบริหารจัดการพลังงานครัวเรือนที่เป็นไปตามโพรโทคอล Homekit และ Echonet Lite, อธิวัฒน์ ภูชำนิพัฒนนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอระบบบริหารจัดการพลังงานครัวเรือนซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมคำนวณแบบ รวมศูนย์ ประกอบด้วยคอนโทรลเลอร์ 1 ตัวและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน 4 ชนิด ได้แก่ ตู้เย็น หลอดแอลอีดี เครื่องทำน้ำอุ่น และเครื่องปรับอากาศ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดถูกปรับปรุงและพัฒนาให้กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดที่สามารถสื่อสารแบบไร้สายผ่านโพรโทคอล ECHONET Lite ร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในโพรโทคอลเดียวกันได้ นอกจากนี้ยังนำเสนอการพัฒนาเกตเวย์สำหรับสื่อสารกับอุปกรณ์หรือตัวแทนปัญญาที่ใช้โพรโทคอลอื่น ซึ่งในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้นำเสนอเกตเวย์สำหรับสื่อสารกับโพรโทคอล HomeKit การปรับปรุงและพัฒนาตู้เย็นและหลอดแอลอีดีเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดทำได้โดยการศึกษาการทำงานของวงจรควบคุมและส่วนประกอบที่ทำหน้าที่ของเครื่องใช้ไฟฟ้า จากนั้นออกแบบวงจรควบคุมใหม่โดยสามารถทำงานร่วมกับส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าเดิมได้ จากนั้นแทนที่วงจรควบคุมด้วยวงจรที่ออกแบบขึ้น โดยให้มีการดัดแปลงวัสดุโครงสร้างเท่าที่จำเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดสามารถทำงานได้ตามฟังก์ชันการทำงานปกติเมื่อไม่ได้เชื่อมต่อกับเครือข่าย และจะมีความสามารถเกี่ยวกับการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยหรือการประหยัดพลังงานมากขึ้นเมื่อสามารถรับ/ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไปยังคอนโทรลเลอร์เพื่อประมวลผลและสั่งการได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าชาญฉลาดทำงานโดยการประโยชน์ใช้สอยให้มากที่สุด ไม่ใช้พลังงานอย่างสูญเปล่า อัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่องถูกนำมาใช้เพื่อทดสอบการติดต่อสื่อสารระหว่างตู้เย็นชาญฉลาดและคอนโทรลเลอร์ด้วยโพรโทคอล ECHONET Lite ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานของตู้เย็นลงได้อย่างน้อย 6.38\% และลดช่วงเวลาการเก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิที่สูงเกินไปได้อย่างน้อย 33.54\% ซึ่งผู้ใช้งานสามารถประนีประนอมระหว่างช่วงเวลาในการเก็บรักษาอาหารที่อุณหภูมิอุ่นเกินไปให้สูงขึ้นแลกกับการลดการใช้พลังงานลงได้อีก หรือการทำงานเพื่อลดค่าไฟฟ้าเนื่องจากการคิดค่าไฟฟ้าด้วยอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ หรือเข้าร่วมมาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า สำหรับการทำงานของหลอดแอลอีดีนั้น ตัวควบคุมสามารถเรียนรู้การเลือกความสว่างที่เหมาะสมได้


อัตราส่วนผสมสูงสุดของน้ำมันไพโรไลซิสเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำมันดีเซลของไทย, อรปวีณ์ แสงเนตร Jan 2019

อัตราส่วนผสมสูงสุดของน้ำมันไพโรไลซิสเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำมันดีเซลของไทย, อรปวีณ์ แสงเนตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัญหาการนำเข้าน้ำมันปริมาณมากทำให้ประเทศไทยตื่นตัวต่อการหาเชื้อเพลิงทดแทน ขณะเดียวกันขยะพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักของประเทศ และมีแนวโน้มจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น การนำขยะพลาสติกมาเปลี่ยนเป็นน้ำมันไพโรไลซิส เพื่อใช้ทดแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ดังนั้น งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาอัตราส่วนน้ำมันไพโรไลซิสในน้ำมันดีเซลที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นของการผสมน้ำมันไพโรไลซิสในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยทำการทดสอบตัวอย่างน้ำมันไพโรไลซิสจาก 2 แหล่งที่มา ตามมาตรฐานการทดสอบ ASTM จำนวน 6 รายการทดสอบ ได้แก่ ความถ่วงจำเพาะ ความหนืด จุดไหลเท กำมะถัน จุดวาบไฟ และการกลั่น พบว่าน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 1 (1PO) ที่ผลิตจากขยะพลาสติกสามารถ ผสมที่อัตราส่วนมากกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพทุกรายการ ส่วนน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 2 (2PO) ที่ผลิตจากวัตถุดิบหลายชนิด เช่น ยาง ขยะพลาสติก และน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว สามารถผสมที่อัตราส่วนน้อยกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ 1 รายการ และเมื่อนำเอาน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 1 มาศึกษาต่อในเชิงปริมาณสูงสุดที่ผสมแทนน้ำมันดีเซลได้ พบว่าน้ำมันไพโรไลซิสตัวอย่างที่ 1 สามารถผสมได้สูงสุดที่อัตราส่วนน้ำมันไพโรไลซิสร้อยละ 18 โดยปริมาตร (1PO18) และเมื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นที่สัดส่วนดังกล่าว โดยเปรียบเทียบกับราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซล พบว่าราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลผสมน้ำมันไพโรไลซิสต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 0.19 บาทต่อลิตร ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ในการผลักดันให้น้ำมันไพโรไลซิสเป็นเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนในภาคขนส่งต่อไป


ผลกระทบของยานยนต์อัตโนมัติต่อการใช้พลังงานในภาคการขนส่งไทย, สราวุฒิ มูลสุข Jan 2019

ผลกระทบของยานยนต์อัตโนมัติต่อการใช้พลังงานในภาคการขนส่งไทย, สราวุฒิ มูลสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบผลการพยากรณ์การใช้พลังงานในภาคการขนส่งของประเทศไทย และพิจารณาว่าหากยานยนต์อัตโนมัติเข้ามาในตลาดจะมีผลต่อการใช้พลังงานอย่างไร ด้วยวิธีการพยากรณ์จากการใช้ปลายทาง การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ผลการศึกษาในภาพรวมพบว่ามีปัจจัยหลักสองด้านที่ส่งผลกระทบต่อการใช้พลังงาน คือปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณการเดินทาง และปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานในยานยนต์ จากผลการวิเคราะห์สถานการณ์ (Scenario Analysis) จากอิทธิพลของทั้งสองปัจจัยดังกล่าวพบว่า กรณีที่คาดว่าเป็นไปได้สูงสุด (Probable Case) การเข้ามาของยานยนต์อัตโนมัติจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานจากที่พยากรณ์ไว้ระหว่าง -3.01% ถึง -14.74% และกรณีขั้นสุด (Extreme Case) จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานได้ตั้งแต่ -50.00% ถึง +40.66% ทั้งนี้ ยังได้วิเคราะห์กรณีเปรียบเทียบ หากการใช้ยานยนต์อัตโนมัตินั้นมีการโดยสารร่วมกัน (Sharing) และ ไม่มีการโดยสารร่วมกัน (Non- Sharing) พบว่า ทั้งสองกรณีนี้ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญต่อการใช้พลังงานในอนาคตแต่อย่างใด ในส่วนการประเมินดัชนีความพร้อมของยานยนต์อัตโนมัติในประเทศไทย พบว่าประเทศไทยได้คะแนนเพียง 6.29 ซึ่งต่ำกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีคะแนนเท่ากับ 24.75 อย่างไรก็ดี คาดว่าแนวโน้มความพร้อมของประเทศไทยจะมีมากขึ้นในอนาคต โดยมีประเด็นที่สำคัญคือ การยอมรับทางสังคมซึ่งมีความอ่อนไหวต่อดัชนีมากที่สุด ผลการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการวางแผนเพื่อให้เกิดสมดุลของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงในมิติด้านการขนส่งจากการเข้ามาของยานยนต์อัตโนมัติในประเทศไทย