Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Human Resources Management Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

PDF

Chulalongkorn University

2019

Articles 1 - 10 of 10

Full-Text Articles in Human Resources Management

การจัดการศึกษาสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยในเขตเมืองในโรงเรียนไทย, อัญชลี ศรีชมภู Jan 2019

การจัดการศึกษาสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยในเขตเมืองในโรงเรียนไทย, อัญชลี ศรีชมภู

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาสภาพปัญหาและข้อท้าทายในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยในเขตเมืองในโรงเรียนไทย (2) ศึกษาทัศนคติของบุคลากรทางการศึกษาที่มีผลต่อการจัดการศึกษา และ (3) หาแนวทางในการส่งเสริมการจัดการศึกษาที่เหมาะสม ภายใต้กรอบแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย และแนวทางการคุ้มครองและดูแลเด็กผู้ลี้ภัยในประเด็นด้านการจัดการศึกษาของ UNHCR ซึ่งเก็บข้อมูลจากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน จำนวน 5 แห่ง ใช้การศึกษาแบบพหุกรณีศึกษาโดยการศึกษาจากเอกสาร การสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม จากผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ครูผู้สอน เด็กผู้ลี้ภัยในเขตเมือง เด็กไทย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ผลการศึกษา พบว่า สภาพการจัดการศึกษาสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยในเขตเมืองในโรงเรียนไทย ใช้รูปแบบเดียวกันกับเด็กไทยทุกประการ ซึ่งหลายโรงเรียนให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้โดยการจัดสอบเทียบโอนความรู้ในระดับชั้นที่หายไป การสอบเลื่อนชั้นกลางปี และความยืดหยุ่นในการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเผชิญกับข้อท้าทายในการดำเนินงานในหลาย ๆ ประการ อาทิ อุปสรรคด้านทักษะทางภาษาไทยของเด็กผู้ลี้ภัย ฯ จำนวนบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่เพียงพอ และการขาดการประสานความร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ในขณะที่ผลของการศึกษาทัศนคติของบุคลากรทางการศึกษาที่มีผลต่อการจัดการศึกษา พบว่า บุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจสถานการณ์ของเด็กผู้ลี้ภัย และมองว่าการให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันกับเด็กไทยเป็นสิทธิที่พวกเขาพึงจะได้รับ แต่มีบุคลากรบางส่วนที่มองว่า การให้การศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้ส่งผลกระทบทางลบต่อเด็กไทยและทำให้ยากต่อการบริหารจัดการของโรงเรียน ทั้งในงานวิจัยนี้ยังได้เสนอแนวทางในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้ใน 3 รูปแบบ คือ คือ (1) การจัดห้องเรียนพิเศษสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยในเขตเมืองในโรงเรียนไทย (2) การจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยในเขตเมืองโดยเฉพาะ และ (3) การจัดการศึกษาในโรงเรียนไทยตามปกติ แต่เพิ่มการประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้จัดตั้งหรือพัฒนาศูนย์การเรียนเดิม ให้สามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อปรับพื้นฐานความรู้ ทักษะทางภาษาไทย และทักษะการใช้ชีวิตที่จำเป็นอย่างเพียงพอและมีมาตรฐานเดียวกันให้กับเด็กผู้ลี้ภัยในเขตเมือง ก่อนที่จะส่งพวกเขาเข้ารับการศึกษาต่อในโรงเรียนไทย ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้มากที่สุด


พุทธภาวะในพระคัมภีร์มหายานและความเข้าใจของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนามนุษย์และสังคม, พระกฤตกร จุฑาเกียรติ Jan 2019

พุทธภาวะในพระคัมภีร์มหายานและความเข้าใจของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนามนุษย์และสังคม, พระกฤตกร จุฑาเกียรติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ดำเนินการวิจัยเอกสารและการวิจัยสนาม ซึ่งการวิจัยเอกสารเป็นการศึกษาจากพระไตรปิฎกพากย์จีนฉบับไทโช ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร มหาปรินิรวาณสูตร และสัทธรรมปุณฑริกสูตร ส่วนการวิจัยสนามใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือพระสงฆ์ในคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทยจำนวน 24 รูป เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาแล้วนำมาเขียนเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่าพระคัมภีร์สะท้อนประเด็นพุทธภาวะตามหลักความศรัทธาในพื้นฐานความเชื่อในภาวะเดิมแท้ที่สะอาดบริสุทธิ์และเสมอภาคของสรรพสัตว์ ส่วนหลักการศึกษาคือการเรียนรู้พุทธภาวะจากแก่นคำสอนของพระพุทธศาสนาคือความเที่ยงแท้ ความสุข ความเป็นแก่นสาร และความบริสุทธิ์ ซึ่งปรากฏอยู่ในความจริงทุกสรรพสิ่ง ทุกช่วงเวลา และทุกสถานที่ ส่วนหลักปฏิบัติคือการบ่มเพาะเมล็ดพันธ์แห่งพุทธะให้เติบโตด้วยการหยุดคิดปรุงแต่งเพื่อนำไปสู่วิถีการปฏิวัติที่เข้าถึงพุทธภาวะ ความรู้และความเข้าใจของพระสงฆ์จีนนิกายแสดงถึงหลักศรัทธาในพุทธภาวะคือการเชื่อความเป็นพุทธะที่เป็นจิตเดิมแท้ของทุกคน ส่วนหลักศึกษาคือการเรียนรู้พุทธภาวะโดยอาศัยตัวเราด้วยสติ ความคิด อารมณ์ และร่างกาย รวมถึงการศึกษาสังคมวัฒนธรรมและสื่อต่าง ๆ ส่วนหลักปฏิบัติคือการพัฒนาตนเองในทุกช่วงขณะด้วยการพิจารณาจิตใจให้เห็นความเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ความรู้และความเข้าใจของพระสงฆ์จีนนิกายในประเด็นพุทธภาวะต่อการพัฒนามนุษย์พบว่า การพัฒนาตนเองคือการรู้ตัวเองและขจัดจิตไม่ให้ความมัวหมองของกิเลส ช่วยให้เกิดการพัฒนาจิตใจที่พร้อมช่วยเหลือผู้อื่น ส่วนบริบทของการพัฒนาสังคมเมื่อบุคคลสามารถพัฒนาจิตใจเข้าสู่พุทธภาวะ จะช่วยให้เกิดกระทำที่ดีงามในสังคมตามกาลและโอกาส ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ในทุกชนชาติศาสนาอย่างไร้ข้อจำกัด ก่อให้เกิดรูปแบบการกระทำของสังคมที่นำมาซึ่งความสงบสุขคือโลกอันผาสุกที่ปราศจากความวุ่นวายภายในจิตใจและภายนอกจิตใจ งานวิจัยนี้ได้ข้อค้นพบการเชื่อมโยงระหว่างพุทธภาวะที่เป็นความรู้จากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า (พระไตรปิฏก) และอรรถกถาของบูรพาจารย์ กับพุทธภาวะที่เกิดจากผู้เผยแผ่หลักคำสอนพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน (ความเข้าใจของพระสงฆ์) สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับบริบทการพัฒนามนุษย์และสังคมด้วยการให้ความสำคัญกับการสร้างคุณภาพแห่งจิตใจของคนในสังคมตามความเป็นจริงอย่างเป็นธรรมชาติ


การถอดบทเรียนการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการคิดเชิงออกแบบ : กรณีศึกษาโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนย่านตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร, ธงชัย เลิศกาญจนาพร Jan 2019

การถอดบทเรียนการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการคิดเชิงออกแบบ : กรณีศึกษาโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนย่านตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร, ธงชัย เลิศกาญจนาพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และค้นหาปัจจัยความสำเร็จของการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการคิดเชิงออกแบบจากโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร และเพื่อเสนอแนวทางส่งเสริมการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนย่านเมืองเก่าต่อไป ผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลภาคสนามด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับกลุ่มเป้าหมายคือผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าร่วมโครงการทุกครั้งและมีความสมัครใจให้ข้อมูลจำนวน 20 คน และศึกษาวิเคราะห์เอกสารรายงานสรุปผลการดำเนินงานฉบับสมบูรณ์ของโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านตลาดน้อยและพื้นที่ต่อเนื่อง วิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอผลการวิจัยในลักษณะเชิงพรรณนาและพรรณนาวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการคิดเชิงออกแบบในการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนมี5ขั้นตอน คือ 1)ขั้นเข้าใจปัญหา ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการมีความสามารถในการเข้าถึงผู้คนในชุมชนและเข้าใจปัญหาในพื้นที่ ทำให้สามารถสร้างจุดร่วมและความเข้าใจปัญหาของชุมชนเกิดขึ้นกับคนในชุมชน 2) ขั้นกำหนดประเด็นปัญหา มีการส่งเสริมให้ชุมชนร่วมวิเคราะห์ปัญหาโดยกำหนดปัญหาและสิ่งที่ต้องพัฒนาที่ชัดเจนเพื่อให้ได้แนวทางและประเด็นที่ต้องแก้ไขร่วมกัน 3) ขั้นการระดมความคิดหาแนวทางแก้ปัญหา มีการจัดกระบวนการทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างตัวแทนชุมชน ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หน่วยงานราชการและนักวิชาการจากต่างสาขาและจัดประชุมกลุ่มย่อยที่ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเพื่อให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาที่รอบด้านและแตกต่างจากวิธีการเดิม 4) ขั้นพัฒนาต้นแบบ มีกระบวนการร่วมกันสร้างภาพบริบทสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในช่วงการประชุมและจัดทำภาพจำลองแสดงข้อมูลจึงทำให้สื่อสารแนวทางการแก้ปัญหาตามที่ได้วางแผนร่วมกันให้เข้าใจง่ายและตรงกันยิ่งขึ้น และ 5) ขั้นทดสอบ มีกระบวนการร่วมกันทดสอบและตรวจดูแบบผังต้นแบบของการพัฒนาย่าน ทั้งรอบทีมงานดำเนินกิจกรรม รอบประชาชนทั่วไปในพื้นที่และผู้ที่สนใจร่วมกันประชาพิจารณ์ทำให้ได้ข้อเสนอแนะมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงย่านให้ดีขึ้น โดยสรุปการถอดบทเรียนในครั้งนี้ทำให้ทราบว่าปัจจัยของความสำเร็จคือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบเป็นกระบวนการที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมืออย่างจริงใจและจริงจัง เกิดความตระหนักเข้าใจในปัญหาของชุมชนและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจึงมีความรู้สึกเป็นเจ้าของงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของโครงการ และที่สำคัญทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการมีความสามารถเข้าถึงปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริงและเข้าถึงใจคนในชุมชนจนเป็นที่ไว้วางใจ เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความร่วมมือของชุมชนได้อย่างเต็มที่และเต็มใจ


กระบวนการเปลี่ยนไปสู่เกษตรกรรมทางเลือกในยุคสังคมสูงวัย, สุกฤษฏ์ เฮงมี Jan 2019

กระบวนการเปลี่ยนไปสู่เกษตรกรรมทางเลือกในยุคสังคมสูงวัย, สุกฤษฏ์ เฮงมี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการกลับสู่ภาคเกษตรกรรมทางเลือกของคนประเภทต่าง ๆ ในบริบทสังคมสูงวัย รวมถึงศึกษาปัจจัยเงื่อนไขที่มีผลต่อกระบวนการกลับสู่ภาคเกษตรกรรมทางเลือก ทั้งนี้ โดยใช้แนวคิดเรื่องการกลับไปเป็นชาวไร่ชาวนา (Re-peasantization) ในการวิเคราะห์และอภิปรายเกี่ยวกับเส้นทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคเกษตรกรรมทางเลือกจากประวัติชีวิตของเกษตรกรทั้ง 3 รุ่น สำหรับระเบียบวิธีวิจัยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพโดยเก็บข้อมูลเป็นรายกรณีศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 9 ราย แบ่งเป็น 3 รุ่นปี ได้แก่ เกษตรกรเจเนอเรชั่นวาย เจเนอเรชั่นเอ็กซ์และรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ผลการศึกษาเส้นทางการเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมทางเลือก พบว่าสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ (1) กลุ่มเกษตรกรดั้งเดิมที่ปรับตัวเข้าสู่เกษตรกรรมทางเลือก (Adapter) เป็นกลุ่มที่ไม่เคยออกจากภาคเกษตรกรรม และ (2) กลุ่มลูกหลานเกษตรกร หรือกลุ่มที่ออกจากภาคเกษตรกรรมไป และกลับสู่ภาคเกษตรกรรมทางเลือกอีกครั้ง (Return) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งสองกลุ่มนี้ตัดสินใจกลับเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมทางเลือกคือ ปัจจัยด้านความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านสุขภาพของคนในครอบครัวเป็นหลัก นอกจากนี้ ผลการศึกษาเปิดเผยให้เห็นถึงรูปแบบใหม่ของการทำเกษตรทางเลือกที่ทำกลุ่มเป้าหมายอยู่รอดได้ภายใต้บริบทเสรีนิยมใหม่ เกษตรกรทางเลือกพยายามใช้ประโยชน์จากทั้งการผลิตสินค้าเพื่อส่งขายในระบบตลาด ควบคู่ไปกับมุ่งเน้นความยั่งยืนของภาคเกษตร (ความมั่นคงทางอาหาร) ดังนั้น ผลการศึกษานี้มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการทำเกษตรทางเลือกในยุคสังคมสูงวัย โดยผู้สูงอายุที่มีศักยภาพเหมาะแก่การทำงานในภาคเกษตรไม่ควรเกินช่วงอายุผู้สูงอายุตอนต้น ต้องมีการพึ่งพากันระหว่างรุ่นในครอบครัวเกษตรกร รวมถึงมีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถอยู่ในภาคเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืนต่อไป


การประยุกต์ใช้กรอบการทำงาน Safa ในการประเมินความยั่งยืนทางสังคมของฟาร์มไก่เนื้อในระบบเกษตรพันธสัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี, เบญญาภา อิตุพร Jan 2019

การประยุกต์ใช้กรอบการทำงาน Safa ในการประเมินความยั่งยืนทางสังคมของฟาร์มไก่เนื้อในระบบเกษตรพันธสัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี, เบญญาภา อิตุพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความยั่งยืนทางสังคมของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยประยุกต์ใช้กรอบการประเมินความยั่งยืนของระบบอาหารและการเกษตร (Sustainability Assessment of Food and Agriculture Systems, SAFA) ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ เกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อพันธุ์ขนาดเล็ก ในระบบเกษตรพันธสัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 63 ราย (คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนประชากรทั้งหมด) เครื่องมือการวิจัยได้แก่ แนวคำถามและแบบสอบถามตามกรอบการทำงานโมเดล SAFA ทั้ง 6 มิติ ได้แก่ (1) การมีคุณภาพชีวิตที่ดี (2) การค้าที่เป็นธรรม (3) สิทธิแรงงาน (4) ความเท่าเทียม (5) สุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ และ (6) ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งนี้การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ตามกรอบการโมเดล SAFA ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อขนาดเล็กในระบบเกษตรแบบพันธสัญญาของจังหวัดสุพรรณบุรี มี (1) การมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความยั่งยืนในระดับดีมาก (2) การค้าที่เป็นธรรมมีความยั่งยืนในระดับดี (3) สิทธิแรงงาน และ (4) ความเท่าเทียม ไม่สามารถประเมินความยั่งยืน (5) สุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์มีความยั่งยืนในระดับดีมาก ตลอดจน (6) ความหลากหลายทางวัฒนธรรมมีความยั่งยืนในระดับน้อยมาก


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ในจังหวัดสระเเก้ว, ไชยวัฒน์ สมสอางค์ Jan 2019

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ในจังหวัดสระเเก้ว, ไชยวัฒน์ สมสอางค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ในจังหวัดสระแก้ว” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ และได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานรัฐและเกษตรกร โดยประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ ชาวนาที่ทำนานอกเขตชลประทานในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ทั้งเพศชายและหญิง จำนวน 400 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา คือ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน คือ วิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (Multiple regression analysis) แบบวิธี Stepwise โดยการวิจัยในครั้งนี้กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ระดับ .05 ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ของชาวนาในพื้นที่นอกเขตชลประทานของจังหวัดสระแก้ว ได้แก่ ปัจจัยด้านการได้รับการอบรม ใน 2 มิติ คือเรื่องการนำความรู้มาปรับใช้ในพื้นที่นา และเรื่องการได้รับการอบรมจะช่วยพัฒนาตนเองและอาชีพ ในด้านปัจจัยแรงจูงใจจากเกษตรกรต้นแบบ มี 1 มิติคือ เรื่องการได้รับแรงจูงใจจากเกษตรกรต้นแบบจะช่วยพัฒนาตนเองและอาชีพส่วนปัจจัยด้านการมีเป้าหมายที่ชัดเจน มี 1 มิติคือ เรื่องการมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยพัฒนาตนเองและอาชีพ รวมทั้งปัจจัยด้านการรวมกลุ่ม มี 1 มิติคือ เรื่องความสมัครใจในการเป็นสมาชิกกลุ่มด้านการเกษตร และปัจจัยด้านการบริหารจัดการพื้นที่นา ซึ่งมีค่าแปรผกผัน ใน 2 มิติ คือ เรื่องการรู้สภาพดินเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการทำนาและการบริหารจัดการพื้นที่นาจะช่วยพัฒนาตนเองและอาชีพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


การออกแบบเกมกระดานเพื่อให้คนรุ่นใหม่ตระหนักรู้ประโยชน์ของสวนสาธารณะ : กรณีศึกษาสวนลุมพินีกรุงเทพมหานคร, ณัฐพล พูลนาผล Jan 2019

การออกแบบเกมกระดานเพื่อให้คนรุ่นใหม่ตระหนักรู้ประโยชน์ของสวนสาธารณะ : กรณีศึกษาสวนลุมพินีกรุงเทพมหานคร, ณัฐพล พูลนาผล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความความรู้ความเข้าใจในประโยชน์สวนสาธารณะผ่านการเล่นเกมกระดาน 2) เพื่อออกแบบเกมกระดานให้คนรุ่นใหม่ตระหนักรู้ประโยชน์ของสวนสาธารณะ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาประโยชน์ของสวนสาธารณะในประเทศไทยโดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สวนลุมพินี ซึ่งมีการไปสังเกตพฤติกรรมในการใช้ประโยชน์ของสวนลุมพินีของคนในช่วงวัยต่างๆ จากนั้นจะเป็นการสอบถามและพูดคุยเกี่ยวกับความรู้และความเข้าใจถึงประโยชน์ของพื้นที่สวนสาธารณะ จากการลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งกลุ่มคนวัยรุ่นและวัยทำงานพบว่า ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆนั้นต้องได้รับความสนุกสนานควบคู่ไปกับความรู้ ทางผู้วิจัยจึงเห็นว่าควรนำเกมกระดานมาใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความรู้และความเข้าในในประโยชน์ของพื้นที่สวนสาธารณะ เกมกระดานที่จะใช้นำมาใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการออกแบบเป็นเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประโยชน์ของสวนสาธารณะซึ่งหลังจากนำเกมไปให้กลุ่มคนที่เข้ามาใช้พื้นที่สวนลุมพินีได้ลองเล่น และเก็บข้อมูลวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า ในกลุ่มคนรุ่นใหม่มีความเข้าใจในการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สวนลุมพินีเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการใช้พื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย การพักผ่อน รวมถึงการใช้สวนสาธารณะทำกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ผลจากการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะเรื่องการนำเกมกระดานไปสร้างความตระหนักรู้ประโยชน์ของสวนสาธารณะและนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวัดความต้องการในการใช้ประโยชน์ของสวนสาธารณะในกลุ่มคนต่างๆในชุมชนจนนำไปสู่การออกแบบสวนสาธารณะที่ตรงกับความต้องการของคนในสังคม


แนวทางการส่งเสริมแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน, ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร Jan 2019

แนวทางการส่งเสริมแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน, ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา คือ เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการชุมชนภายใต้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการสนทนากลุ่ม เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลคนสำคัญ (Key informant) ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 15 ท่าน และสนทนากลุ่ม โดยเชิญผู้ที่ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนักวิชาการจำนวน 6 ท่าน มาร่วมสนทนากลุ่ม โดยใช้การเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง และการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เชิงบรรยายและการวิเคราะห์เชิงบริบทของเนื้อหา จากการศึกษาพบว่า ประชาชนเพียงส่วนน้อยที่มีการคัดแยกขยะในครัวเรือน อย่างไรก็ตาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ส่งเสริมและมีความพยายามในการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ภายใต้หลักการ 3R คือ ใช้น้อยลง ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะในครัวเรือนเพื่อนำขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ไปขายเพื่อมีรายได้มาช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และมีการสนับสนุนให้ชุมชนมีการจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและรับซื้อขยะรีไซเคิลจากประชาชน ส่วนขยะ เช่น เศษอาหารมีการส่งเสริมในเรื่องปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ และการนำมาหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพไว้ใช้ในครัวเรือน ข้อเสนอแนะสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้มีดังนี้ 1) ควรจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ในการออกแบบและผลิตถังหมักก๊าซชีวภาพที่เหมาะสำหรับใช้ในครัวเรือน และสามารถผลิตก๊าซสำหรับเพื่อใช้ในการเป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารได้ 2) ควรมีการออกแบบ ผลิต และพัฒนาตู้รับซื้อขวดพลาสติดอัตโนมัติและติดตั้งในพื้นที่ชุมชนต่างๆ 3) รัฐบาลร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้จัดเก็บขยะควรจะบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาสถานที่ โรงงาน อุปกรณ์ สำหรับการการแปรรูปขยะมูลฝอยผลิตเป็นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) และ 4) รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญและจริงจังในการบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และภาคเอกชน ในการกำหนดนโยบาย แผนการปฏิบัติการ การการกำหนดพื้นที่ (ตามปริมาณขยะที่สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบได้ในระยะยาว) และแนวทางการให้สัมปทาน สำหรับการจัดตั้งโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะ และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้า ที่สร้างแรงจูงใจในการลงทุน


การใช้สื่อสังคมในการศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร, พิชัย ดาราพงษ์ Jan 2019

การใช้สื่อสังคมในการศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร, พิชัย ดาราพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและจัดทำข้อเสนอแนะการใช้สื่อสังคมในการศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร โดยใช้หลักธรรมสำหรับผู้สูงอายุประกอบด้วย 4 หลักธรรม ได้แก่ หลักธรรมอิทธิบาท 4 หลักธรรมโลกธรรม 8 หลักธรรมพรหมวิหาร 4 และหลักธรรมสังคหวัตถุ 4 กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร และใช้งานแอปพลิเคชันไลน์ โดยมีขนาดตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 384 คน ใช้การสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) สถิติที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่การวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มที่เป็นอิสระจากกัน (t-test Independent) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีรูปแบบการศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ต่างกันตามลักษณะทางประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพก่อนเกษียณ อาชีพหลังเกษียณ รายได้ และสถานภาพการอยู่อาศัย รวมถึงพฤติกรรมการใช้งานแอปพลิเคชันไลน์ โดยกลุ่มตัวอย่างมีการศึกษาหลักธรรมผ่านแอปพลิเคชันไลน์จากมากไปน้อยตามลำดับดังนี้ หลักธรรมสังคหวัตถุ 4 หลักธรรมพรหมวิหาร 4 หลักธรรมอิทธิบาท 4 และหลักธรรมโลกธรรม 8 ผลวิจัยได้ข้อเสนอแนะรูปแบบการการศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาผ่านการใช้งานแอปพลิเคชันไลน์ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงหลักธรรมโลกธรรม 8 เป็นอันดับแรก และกลุ่มผู้สูงอายุเพศหญิง อยู่ในสถานภาพหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ อาศัยอยู่คนเดียว จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ และมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการส่งเสริมใช้งานแอปพลิเคชันไลน์ในการศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นลำดับต้น


การรับรู้ และการยอมรับนวัตกรรมระบบหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการเกิดดินถล่มในพื้นที่ทางการเกษตร : กรณีศึกษา ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี, อรรณพ เยื้องไธสง Jan 2019

การรับรู้ และการยอมรับนวัตกรรมระบบหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการเกิดดินถล่มในพื้นที่ทางการเกษตร : กรณีศึกษา ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี, อรรณพ เยื้องไธสง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลต่อรูปแบบการรับรู้เกี่ยวกับระบบหญ้าแฝกผ่านทางข้อมูลสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ศึกษาปัจจัยด้านการรับรู้ที่ส่งผลต่อกระบวนการยอมรับนวัตกรรมการใช้ระบบหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการเกิดดินถล่มในพื้นที่ทางการเกษตร และแนวทางสำหรับการส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกเพื่อป้องกันการเกิดดินถล่มในพื้นที่ทางการเกษตร ดำเนินการศึกษาโดยใช้เทคนิควิจัยเชิงปริมาณ สุ่มกลุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มแบบโควตา โดยมีขนาดกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 383 ครัวเรือน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ในการบรรยายข้อมูลสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มตัวอย่าง สถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน โดยการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยสำหรับประชากรกลุ่มตัวอย่างที่เป็นอิสระต่อกัน (Independent t-test) เพื่ออธิบายความแตกต่างกันของการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับหญ้าแฝก และการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson’s Product Moment Correlation Coefficient) โดยการวิจัยในครั้งนี้กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ระดับ .05 ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการรับรู้ว่าหญ้าแฝกเป็นหญ้าที่มีระบบรากช่วยในการยึดเกาะดินเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และดินถล่มตามหลักการวิธีพืช มากกว่าการรับรู้ว่าหญ้าแฝกเป็นพืชมหัศจรรย์ ในขณะที่ผลการศึกษาไม่พบว่ามีการรับรู้ว่าหญ้าแฝกเป็นวัชพืช โดยปัจจัยสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับหญ้าแฝก ประกอบด้วย ระดับอายุ ระดับการศึกษา บทบาทในชุมชน รูปแบบการทำการเกษตร และรายได้เฉลี่ยจากภาคการเกษตรต่อปี ส่งผลต่อรูปแบบการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับหญ้าแฝกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อทำการเปรียบเทียบรูปแบบการรับรู้ที่ส่งผลต่อกระบวนการยอมรับนวัตกรรมระบบหญ้าพบว่า การรับรู้เกี่ยวกับระบบหญ้าแฝกที่แตกต่างกันส่งผลต่อกระบวนการยอมรับนวัตกรรมในขั้นความรู้ ขั้นการจูงใจ ขั้นการตัดสินใจ และขั้นการยืนยันผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่ส่งผลต่อขั้นการนำหญ้าแฝกไปใช้ในพื้นที่ทางการเกษตร โดยแนวทางสำหรับการส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกในพื้นที่ทางการเกษตร ได้แก่ การสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับหญ้าแฝก การส่งเสริมความรู้ และการสร้างแรงจูงใจต่อการนำหญ้าแฝกไปใช้ในพื้นที่ทางการเกษตร