Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Human Resources Management Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

PDF

Chulalongkorn University

2017

Articles 1 - 4 of 4

Full-Text Articles in Human Resources Management

การค้านอกระบบของจีนในอำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, ชะไมพร ชำนาญเวช Jan 2017

การค้านอกระบบของจีนในอำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, ชะไมพร ชำนาญเวช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากผลของการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม และนวัตกรรม ภายในประเทศจีน ทำให้เกิดผลทั้งด้านภาวะสินค้าล้นกำลังตลาดภายใน การคอร์รัปชั่น ภาวะแรงงานขาดดุลของภูมิภาคทั้งตะวันออกและตะวันตก ทำให้รัฐบาลจีนสร้างนโยบายเพื่อการพัฒนาคนโดยคาดหวังถึง ความมั่นคงของพลเมืองจีนที่จะนำไปสู่ความมั่นคงของจีน ฉะนั้นรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับมณฑลจึงได้พัฒนานโยบายเพื่อปูทางรองรับการพัฒนาเหล่านี้ เพื่อคนจีนและประเทศจีน โดยใช้กลยุทธ์ทางการพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆเพื่อผลประโยชน์และมีผลเชิงรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ประเทศไทยเองเป็นดินแดนที่จีนคาดหวังในด้านการค้า การลงทุน สามารถพบเจอธุรกิจ การค้าจีนทุกหนทุกแห่งทั้งเมืองหลัก เมืองรอง และเมืองชายแดน โดยเฉพาะเมืองบริเวณชายแดนอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่มีพื้นที่เชื่อมโยงกับประเทศจีนพบว่ามีคนจีนธุรกิจจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ประเด็นการศึกษาเรื่อง การค้านอกระบบของจีนในอำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัย คือ (1) เพื่อศึกษาถึงพัฒนาการการค้านอกระบบของจีนในอำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของในจังหวัดเชียงราย (2) เพื่อศึกษาปัจจัยของการขยายตัวทางการค้าในอำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของในจังหวัดเชียงราย (3) เพื่อเสนอแนะ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้เครื่องมือ เช่น การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์ พร้อมทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อมูล จนนำมาสู่ผลการศึกษา คือ พัฒนาการการค้าจีนที่พัฒนามาจากปัจจัยส่งเสริม เช่น นโยบายจากทางรัฐบาล ความร่วมมือในภูมิภาค และปัจจัยสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการของการค้าจีน เช่นแสวงหาแหล่งทรัพยากรในการผลิต การเดินทางเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิต ความต้องการอิสระและหนีระบบสังคมเดิม ประเด็นต่อมาคือ วิถีการค้าจีนค้นพบทั้งวิถีการค้าจีนในระบบเช่น วิถีการค้าแบบหุ้นส่วน วิถีการค้าจีนกับบทบาทสตรีในพื้นที่ และวิถีการค้าจีนนอกระบบ เช่น วิถีการค้าจีนที่สัมพันธ์กับผู้หญิงไทใหญ่ วิถีการค้าโดยการหารายได้พิเศษแบบอำพราง ตัวแทนอำพรางทางธุรกิจ และสุดท้ายคือผลกระทบทางสังคมทั้งทางบวกและทางลบ


การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นฐาน : กรณีศึกษา บ้านร่องฟอง ตำบลร่องฟอง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่, ชุติกาญจน์ กันทะอู Jan 2017

การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นฐาน : กรณีศึกษา บ้านร่องฟอง ตำบลร่องฟอง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่, ชุติกาญจน์ กันทะอู

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 1) เพื่อศึกษาศักยภาพของบ้านร่องฟองในการพัฒนาเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นฐาน 2) เพื่อเสนอแนวทางในการเสริมศักยภาพบ้านร่องฟองเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นฐาน เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ เช่น ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้อง และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ผลการศึกษาวิจัยพบว่า บ้านร่องฟองมีศักยภาพเบื้องต้นใน 5 ด้านได้แก่ 1.ด้านทรัพยากรท่องเที่ยว มีทรัพยากรท่องเที่ยวประเภทภูมิปัญญาพื้นบ้าน วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพ เช่น แหล่งตีเหล็กทำเครื่องมือ อุปกรณ์การเกษตร แหล่งผลิตตัดเย็บเสื้อผ้า มัดย้อมผ้า 2.ด้านการเข้าถึงทรัพยากรท่องเที่ยว มีเส้นทางคมนาคมที่เข้าถึงสะดวกและปลอดภัยเดินทางเข้าถึงชุมชนได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนมีเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งท่องเที่ยวชุมชนอื่นๆ 3.ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน มาตรฐานครบถ้วนและเพียงพอ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา เครือข่ายอินเทอร์เน็ต สถานพยาบาลชุมชน ร้านค้า 4.ด้านความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไปและกลับ หรือพักค้างคืน 5.การจัดการการท่องเที่ยว มีการวางแผนและดำเนินการโดยผู้นำท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการมีส่วนร่วมจากประชาชน ศักยภาพบ้านร่องฟองมีความพร้อมรองรับการท่องเที่ยว แต่ไม่สามารถดำเนินการจัดการท่องเที่ยวได้ตามการคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดให้เป็นหมู่บ้านเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งนี้บ้านร่องฟองต้องเพิ่มศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมจากประชาชนโดยเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชน หน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนต่อไป


ความสัมพันธ์ทางสังคมในระบบการค้าข้าวภายใต้บริบทนโยบายที่เปลี่ยนแปลง : ศึกษากรณีระบบค้าข้าว อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร, ปริญญ์ วินิจมงคลสิน Jan 2017

ความสัมพันธ์ทางสังคมในระบบการค้าข้าวภายใต้บริบทนโยบายที่เปลี่ยนแปลง : ศึกษากรณีระบบค้าข้าว อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร, ปริญญ์ วินิจมงคลสิน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีคำถามวิจัยที่สำคัญคือ ภายใต้นโยบายการอุดหนุนชาวนาที่แตกต่างกัน ระบบค้าข้าวและความสัมพันธ์ภายในระบบค้าข้าวในอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนครมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร และในการวิจัยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ เพื่อศึกษาพัฒนาการของลักษณะความสัมพันธ์ในระบบการค้าข้าวในอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และการปรับตัวของระบบค้าข้าวในบริบทความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2548-2558 (ประกันราคาข้าว-จำนำข้าว-นโยบายปัจจุบัน) รวมถึงศึกษาเครือข่ายทางสังคม และบทบาทของทุนทางสังคมในการอาศัยเป็นทุนสำหรับการปรับตัว ใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกตัวแสดงที่สำคัญในระบบการค้าข้าว ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมในระบบการค้าข้าวในอดีต มีรูปแบบที่พ่อค้าคนกลางมีบทบาทสำคัญอย่างมากทั้งการอุปถัมภ์ในเรื่องของต้นทุนการทำนากับชาวนา รวมถึงชาวนาจะต้องพึ่งการขายข้าวเปลือกผ่านพ่อค้าคนกลางก่อนที่ข้าวเปลือกจะไปถึงโรงสี และความสัมพันธ์ทางสังคมดังกล่าวเปลี่ยนไปจากเดิม โดยมีปัจจัยจากการที่ทั้งรัฐบาลเข้ามาให้ชาวนากู้เงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผลักดันให้ชนบทมีกองทุนหมู่บ้าน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมทั่วไป ทั้งการเข้ามาของความเจริญ การคมนาคมและการสื่อสารสะดวกขึ้น นโยบายจำนำข้าวส่งผลให้ข้าวราคาสูงและชาวนาเป็นอิสระจากความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์และมีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางและโรงสีมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาวะที่ราคาข้าวตกต่ำหลังนโยบายจำนำข้าว พบว่า ชาวนา พ่อค้าคนกลาง โรงสี ได้มีการนำทุนทางสังคมในรูปแบบของความไว้วางใจและเครือข่าย เพื่อมาใช้เป็นทุนสำหรับการปรับตัว ทุนทางสังคมดังกล่าวจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวนาและพ่อค้าคนกลางบางกลุ่ม สามารถลดผลกระทบ หรือสร้างช่องทางในการปรับตัวตัวที่หลากหลายขึ้นได้มากกว่าชาวนาและพ่อค้าคนกลางที่ใช้แต่ความสัมพันธ์ในกลไกตลาดเท่านั้น คำสำคัญ : ความสัมพันธ์ทางสังคม ทุนทางสังคม ระบบการค้าข้าว


บทบาทของชุมชนในการฟื้นฟูตลาดเก้าห้องเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดสุพรรณบุรี, วชิรภรณ์ สกุลดิษฐ Jan 2017

บทบาทของชุมชนในการฟื้นฟูตลาดเก้าห้องเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดสุพรรณบุรี, วชิรภรณ์ สกุลดิษฐ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาถึงพัฒนาการของชุมชนตลาดเก้าห้อง 2) เพื่อศึกษาบทบาทของชุมชนในการฟื้นฟูชุมชนตลาดเก้าห้อง 3) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเสนอแนะแนวทางการฟื้นฟูและการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนตลาดเก้าห้อง อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ยั่งยืน การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 5 กลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มผู้ถือครองที่ดิน กลุ่มผู้อาศัยอยู่ในชุมชน และ กลุ่มนักท่องเที่ยว ผลการศึกษาการวิจัยพบว่า 1) บริบทชุมชนจากพัฒนาการของชุมชนตลาดเก้าห้อง แบ่งออกเป็น 6 ยุค ได้แก่ ยุคการตั้งถิ่นฐาน ยุคขยายตัวสู่ยุครุ่งเรือง ยุคเศรษฐกิจซบเซาช่วงที่ 1 ยุคเริ่มต้นการฟื้นฟูชุมชน ยุคเศรษฐกิจซบเซาช่วงที่ 2 และยุคการฟื้นฟูด้วยการหนุนเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาการของชุมชนแสดงให้เห็นว่า ชุมชนมีเอกลักษณ์เป็นตลาดเก่าที่ตั้งที่อยู่บริเวณริมน้ำ มีความโดดเด่นในด้านการค้าและเศรษฐกิจมาตั้งแต่อดีตและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อและรูปแบบสถาปัตยกรรมบ้านเรือนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน 2) บทบาทของชุมชนมีความเด่นชัดในช่วงยุคแห่งการฟื้นฟูชุมชนเมื่อเกิดโครงการฟื้นฟูด้านต่างๆ และชุมชนเริ่มมีบทบาทในการทำงานร่วมกัน 3) การทำงานของชุมชนในรูปแบบเครือข่ายและขั้นตอนการมีส่วนร่วมเป็นบทบาทสำคัญของชุมชนในการฟื้นฟู ชุมชนตลาดเก้าห้องมีการเข้าถึงข่าวสาร การปรึกษาหารือ และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้อย ทำให้โครงการไม่มีประสิทธิภาพ 4) แนวทางการฟื้นฟูชุมชนจะต้องมุ่งเน้นการสร้างบทบาทของคนในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง และมีบทบาทในการขับเคลื่อนอย่างชัดเจนในทุกกระบวนการ และทุกขั้นตอน โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจในการทำงานร่วมกันทั้งกับคนภายในชุมชน และหน่วยงานภายนอก ดังนั้นในการฟื้นฟูชุมชนตลาดเก้าห้องต้องสร้างคนรุ่นใหม่ และส่งเสริมให้มีบทบาทในชุมชนมากขึ้น เพื่อเป็นหลักในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูชุมชนในอนาคต เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน