Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Fine Arts Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2020

Chulalongkorn University

Articles 1 - 21 of 21

Full-Text Articles in Fine Arts

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเรื่องราวของความทุกข์ที่เสมือนนรกในใจคน, สุเมธ ป้อมป้องภัย Jan 2020

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเรื่องราวของความทุกข์ที่เสมือนนรกในใจคน, สุเมธ ป้อมป้องภัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเรื่องราวของความทุกข์ที่เสมือนนรกในใจคน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์โดยใช้รูปแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่มีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหัวข้องานวิจัยการสัมภาษณ์ สื่อสารสนเทศ การสังเกตการณ์ เกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย มาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์สังเคราะห์และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 8 องค์ประกอบการแสดง ได้แก่ 1) บทการแสดงที่ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรงของผู้วิจัยรวม 5 องก์ ประกอบด้วย องก์ 1 ความเหงา องก์ 2 ไม่ครบ องค์ประกอบ องก์ 3 คิดไปเอง องก์ 4 ประเด็น ทุรนทุราย และองก์ 5 นรกในใจ 2) นักแสดงที่มีทักษะความสามารถที่แตกต่างกันทางด้านนาฏยศิลป์และด้านศิลปะการแสดง รวมจำนวน2 คน 3) ลีลานาฏยศิลป์ใช้ลีลาการเคลื่อนไหวแบบในชีวิตประจำวัน เป็นลีลานาฏยศิลป์พื้นฐาน จากนั้น ผู้วิจัยได้สร้างสรรค์ลีลานาฏยศิลป์จากรูปแบบนาฏยศิลป์ตามขนบจารีตประเพณีของตะวันออกและตะวันตก ประกอบด้วย รำไทย บัลเลต์ และภารตนาฏยัม 4) เสียงและดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงเสียงจากเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องซินธิไซเซอร์ 5) อุปกรณ์ประกอบการแสดงแคนวาสวาดภาพและขาตั้งวาดภาพ 6) เครื่องแต่งกายลายกราฟฟิก 7) แสง ใช้สีของแสงในการสร้างมิติการรับรู้ถึงสภาวะทางอารมณ์ สถานที่และเวลา 8) พื้นที่การแสดงใช้โรงละครในลักษณะ แบล็ค บ๊อกซ์ เธียเตอร์ นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้คำนึงถึงแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเรื่องราวของความทุกข์ที่เสมือนนรกในใจคน ทั้ง 5 ประการ ได้แก่ 1) เรื่องราวของความทุกข์ที่เสมือนนรกในใจคน 2) การสื่อสารกับผู้ชมที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ 3) ทฤษฎีและแนวคิดทางด้านนาฏยศิลป์และด้านทัศนศิลป์ 4) การใช้สัญลักษณ์ในผลงานนาฏยศิลป์ 5) ความคิดสร้างสรรค์ในผลงานนาฏยศิลป์ ซึ่งผลการทดลองทางด้านนาฏยศิลป์ในองค์ประกอบต่าง ๆ นั้น ได้ปรากฏขึ้นในผลงานการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเรื่องราวของความทุกข์ที่เสมือนนรกในใจคนตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ


ดุษฎีนิพนธ์งานวิจัยสร้างสรรค์: วีรสตรี 'ย่าโม' สำหรับวงวินด์ซิมโฟนี, สุพิชฌาย์ ยนต์สำอางค์ Jan 2020

ดุษฎีนิพนธ์งานวิจัยสร้างสรรค์: วีรสตรี 'ย่าโม' สำหรับวงวินด์ซิมโฟนี, สุพิชฌาย์ ยนต์สำอางค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทประพันธ์เพลง ดุษฎีนิพนธ์งานวิจัยสร้างสรรค์: วีรสตรี 'ย่าโม' สำหรับวงวินด์ซิมโฟนี เป็นผลงานการประพันธ์ประเภทดนตรีพรรณนาเพื่อยกย่องเชิดชูวีรสตรีแห่งสยามผู้ปกป้องแผ่นดินเกิดอันเป็นที่รักจากการรุกรานของศัตรู ความกล้าหาญ ความจงรักภักดี และความรักชาติของย่าโม เป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของชาวโคราช เมืองที่ได้รับสมญานามว่าเป็นประตูสู่อีสาน ผลงานประพันธ์นี้ยังต้องการสื่อถึงคุณความดีและเรื่องราวในประวัติศาสตร์ สุนทรียะของเพลงพื้นบ้านโคราชที่นำมาบูรณาการกับบทบาทลีลาดนตรีตะวันตก มีการพัฒนาทำนองเพลงด้วยเทคนิคการด้นสดและการแปรท่วงทำนอง โดยใช้เพลงพื้นบ้าน 3 เพลงเป็นหลัก คือ 1) เพลงรำวงโคราช 2) เพลงกล่อมลูกโคราช 3) เพลงพื้นเมืองโคราช นอกจากนั้นยังมีการใช้ทำนองแปรอิสระ การสร้างสีสันเสียง การผสมผสานดนตรีหลากมิติ การไล่เรียงเสียงโมทีฟ การทวนทำนอง การเอื้อนในโน้ตประดับ และการจัดพื้นผิวแนวตั้งและแนวนอน บทเพลงสะท้อนถึงความรักและศรัทธาในวัฒนธรรมถิ่นเกิด ความภาคภูมิใจในวีรสตรี 'ย่าโม' สุนทรียะและมรดกวัฒนธรรมเสียงถูกถ่ายทอดผ่านคีตลักษณ์ที่แบ่งเป็น 3 ท่อน คือ ท่อนที่ 1 บ้านเอ๋ง ท่อนที่ 2 อิสรภาพ และท่อนที่ 3 โคราชต้อนรับ บทประพันธ์ใช้เวลาในการแสดงทั้งสิ้น 40 นาที


ดุษฏีนิพนธ์วิจัยสร้างสรรค์การแสดงดนตรี: เทคนิคการตีความในบทเพลงเรียบเรียงใหม่สำหรับฟลูต, ธีรวัฒน์ รัตนประภาเมธีรัฐ Jan 2020

ดุษฏีนิพนธ์วิจัยสร้างสรรค์การแสดงดนตรี: เทคนิคการตีความในบทเพลงเรียบเรียงใหม่สำหรับฟลูต, ธีรวัฒน์ รัตนประภาเมธีรัฐ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฏีนิพนธ์วิจัยสร้างสรรค์การแสดงดนตรี: เทคนิคการตีความในบทเพลงเรียบเรียงใหม่สำหรับฟลูต มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเทคนิคการเรียบเรียงบทเพลงสำหรับฟลูตจากนักฟลูตที่มีชื่อเสียงเพื่อนำไปสู่การปรับเทคนิคการบรรเลงจากไวโอลินให้เข้ากับการบรรเลงโดยฟลูต ในขั้นตอนการวิจัยผู้วิจัยได้ทำการแสดงเดี่ยว ในบทเพลงคอนแชร์โต สำหรับไวโอลิน โอปุส 47 ในกุญแจเสียง ดี ไมเนอร์ ประพันธ์โดย ชอง ซิเบลิอุส เรียบเรียงโดย เดนิส บอเรียคอฟ และบทเพลงโซนาตาสำหรับไวโอลิน ในกุญแจเสียง เอ เมเจอร์ ประพันธ์โดย เซซาร์ ฟรางค์ เรียบเรียงโดย ชอง-ปิแอร์ รัมปาล เพื่อศึกษาวิธีการปรับเทคนิคไวโอลินนำมาเรียบเรียงให้เหมาะสมกับการบรรเลงโดยฟลูต นำไปสู่การสร้างสรรค์บทเพลงเรียบเรียงโซนาตาสำหรับไวโอลิน ในกุญแจเสียง เอฟ เมเจอร์ ประพันธ์โดย เฟลิกซ์ เมนเดลโซน จากการศึกษาพบว่าเทคนิคในการเรียบเรียงมีความสอดคล้องกับบทเพลงเรียบเรียงที่นักฟลูตที่มีชื่อเสียงได้เรียบเรียงไว้ 3 เทคนิค คือ 1) การปรับขั้นคู่เสียงที่สูงหรือต่ำเกินไป 2) การปรับโน้ตด้วยโน้ตอื่นที่อยู่ในกุญแจเสียงเดียวกัน และ 3) การปรับเทคนิคเฉพาะสำหรับไวโอลินให้เหมาะสมสำหรับฟลูต


ดุษฎีนิพนธ์ดนตรีวิจัยสร้างสรรค์: การแสดงฟลูตเชมเบอร์อองซอมเบิลผ่านการตีความเชิงทฤษฎีและประวัติศาสตร์, เศรษฐพงศ์ จรรยารยชน Jan 2020

ดุษฎีนิพนธ์ดนตรีวิจัยสร้างสรรค์: การแสดงฟลูตเชมเบอร์อองซอมเบิลผ่านการตีความเชิงทฤษฎีและประวัติศาสตร์, เศรษฐพงศ์ จรรยารยชน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาบทเพลงของฟลูตผ่านวรรณกรรมทางดนตรีในรูปแบบของการบรรเลงรวมวงเป็นการสะท้อนถึงอัจฉริยภาพของคีตกวีและระดับความสามารถของนักดนตรีที่บรรเลงในแต่ละยุคสมัย การศึกษาและตีความเพื่อสังเคราะห์ทักษะปฏิบัติผ่านการบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีที่หลากหลาย การบูรณาการทางความคิด การแลกเปลี่ยนมุมมอง และองค์ความรู้เชิงปฏิบัติดนตรี สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การตีความบทเพลงผ่านประสบการณ์ รสนิยม การนำเสนอแนวความคิดทางดนตรี ผ่านกระบวนการฝึกฝนอันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการบรรเลง งานวิจัยเล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหา องค์ความรู้ พัฒนาการ แนวคิดและบทบาทของเครื่องดนตรีฟลูตในบริบทของการบรรเลงรวมวงจากกลวิธีการบรรเลงและบทประพันธ์ที่เปลี่ยนเพลงตามอิทธิพลแนวคิดของผู้ประพันธ์และยุคสมัยทางดนตรี 2) เพื่อศึกษาแนวทางการบรรเลงจากวรรณกรรมทางดนตรี นำไปสู่การตีความวิเคราะห์สังคีตลักษณ์เพื่อสังเคราะห์ และพัฒนากลวิธีการบรรเลงฟลูตในบริบทของการบรรเลงรวมวง 3) เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการแสดงฟลูตในรูปแบบการบรรเลงรวมวง โดยนำแนวคิดและองค์ความรู้ที่ได้มาเป็นพื้นฐานและบูรณาการร่วมกับการแสดงดนตรีภายใต้กรอบของการบรรเลงที่มีเครื่องดนตรีหลักคือฟลูต นำเสนอผ่านการแสดงคอนเสิร์ต 3 รายการ ผ่านกระบวนการคัดเลือกวรรณกรรมการบรรเลงรวมวงที่สำคัญสำหรับเครื่องดนตรีฟลูต รูปแบบการประสมวงดนตรี เอกลักษณ์และมุมมองของคีตกวีทั้งต่อบทประพันธ์และเครื่องดนตรี และคุณค่าของบทประพันธ์ ภาพสรุปของการสังเคราะห์ประวัติศาสตร์สู่แนวคิดด้านพัฒนาการวรรณกรรมดนตรีฟลูต เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งมุมมองของคีตกวีต่อเอกลักษณ์เครื่องดนตรีฟลูต สังเกตได้ว่าฟลูตนั้นมีอัตลักษณ์ของเครื่องดนตรีในการนำเสนอบทบาทในสัญญะของนกหรือเสียงร้องได้อย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีช่วงระยะเวลาที่เริ่มได้รับความนิยมและเป็นเครื่องดนตรีกระแสนิยมในแต่ละยุคสมัย แต่มิได้หมายความว่าหลังจากผ่านพ้นยุคสมัยเหล่านั้นค่านิยมจะหายสาบสูญจนหมดสิ้นไปทั้งหมด แนวคิดในการบรรเลงนั้นยังคงมีอยู่แม้ช่วงเวลาจะเปลี่ยนผ่านไป เพียงแต่อาจจะลดบทบาทลงเท่านั้น ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ความคิดของสังคมต่อเครื่องดนตรีฟลูตได้อย่างมีนัยสำคัญ ความเป็นดนตรีแห่งมิตรภาพ เป็นภาพสะท้อนของการบรรยายคุณลักษณะของดนตรีเชมเบอร์ถึงกระบวนการทำงานร่วมกันของนักดนตรีอย่างเป็นระบบทั้งด้านการฝึกซ้อม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการวิพากษ์เพื่อหาข้อสรุปอย่างเป็นประชาธิปไตยผ่านการพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ ของบทเพลง กล่าวได้ว่าการบรรเลงในวงดนตรีเชมเบอร์นั้นจะต้องมีทักษะพิเศษทั้งในเชิงดนตรีและสังคม โดยสิ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจหลักของดนตรีแชมเบอร์นั้น คือ การสื่อสารและกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างนักดนตรี


ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: เทพยดินแดน “เชียงราย”สำหรับวงแจ๊สอองซอมเบิลร่วมสมัย, ดิเรก เกตุพระจันทร์ Jan 2020

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: เทพยดินแดน “เชียงราย”สำหรับวงแจ๊สอองซอมเบิลร่วมสมัย, ดิเรก เกตุพระจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: เทพยดินแดน "เชียงราย"สำหรับวงแจ๊สอองซอมเบิลร่วมสมัย เป็นการประพันธ์ผลงานสร้างสรรค์ประเภทดนตรีพรรณนา เพื่อนำเสนอคุณค่าเสียงแห่งวัฒนธรรมและวรรณกรรมซึ่งเป็นตำนานประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งของ "เชียงราย" ผลงานชุดนี้ประกอบด้วยบทเพลงที่มีเอกภาพและความโดดเด่นจำนวน 6 เพลง โดยแต่ละเพลงจะนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ณ เมืองเก่าแห่งนี้นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยองค์ประกอบที่ผสมผสานกันระหว่างเทคนิคดนตรีแจ๊สร่วมสมัยและดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาค บทเพลงทั้ง 6 ได้แก่ 1) โยนกนคร 2) ล้ำค่าดอยตุง 3) พระแก้วมรกต 4) ถ้ำหลวงนางนอน 5) วัดร่องขุ่น 6) กว่างโซ้งมหาภัย เนื่องด้วยบทประพันธ์ชิ้นนี้เต็มไปด้วยจินตนาการสร้างสรรค์และเทคนิคลีลา จึงจำเป็นต้องได้รับการบรรเลงโดยนักดนตรีมืออาชีพที่มีทักษะความชำนาญในแต่ล่ะเครื่องดนตรีเพื่อที่จะสามารถเนรมิตลีลาเสียงดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ ให้สอดประสานในรูปแบบการอิมโพรไวซ์ ของดนตรีแจ๊สได้อย่างสมบูรณ์แบบอันเป็นหัวใจสำคัญของบทประพันธ์นี้ บทเพลงความยาว 33 นาที ได้นำเสนอบทบาทสำคัญในการเพิ่มพูนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรม และความภาคภูมิใจในมรดกทางประวัติศาสตร์แห่งเทพยดินแดน


การสร้างสรรค์อัตลักษณ์การออกแบบเครื่องแต่งกายแฟชั่นชั้นสูง สำหรับประเทศคูเวต, ศมิสสร สุทธิสังข์ Jan 2020

การสร้างสรรค์อัตลักษณ์การออกแบบเครื่องแต่งกายแฟชั่นชั้นสูง สำหรับประเทศคูเวต, ศมิสสร สุทธิสังข์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ถดถอยส่งผลให้อุตสาหกรรมแฟชั่นได้รับผลกระทบ แต่ในทางตรงกันข้ามประเทศตะวันออกกลางกลับได้รับผลกระทบน้อยมาก จึงเป็นโอกาสหากผู้ประกอบการส่งออกแฟชั่นในไทยจะเข้าไปมีบทบาทในตลาดนี้ ขณะเดียวกันประเทศคูเวตซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่น่าลงทุนทั้งทางด้านเศรษฐกิจรวมทั้งการให้อิสระเสรีกับสุภาพสตรีมากกว่ากลุ่มประเทศอื่น ๆ ทำให้บทบาทของสตรีคูเวตเปลี่ยนไปจนได้รับขนานนามว่าเป็นผู้หญิงที่มีความทันสมัยและมีความเป็นแฟชั่นสูง โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษากลุ่มเป้าหมายสตรีคูเวต รวมทั้งการศึกษารูปแบบเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงเพื่อวิเคราะห์ให้เกิดตราสินค้าใหม่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหารูปแบบเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงให้เหมาะสมกับสตรีคูเวต ศึกษาตลาดและช่องว่างทางการตลาดในการสร้างตราสินค้า ศึกษากลุ่มเป้าหมายและความต้องการเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงของสตรีคูเวต รวมทั้งเพื่อนำเสนอแนวทางการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงที่ผสมผสานทุนวัฒนธรรม โดยมีวิธีการดำเนินวิจัย 6 ช่วง ได้แก่ 1) การศึกษาสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง 2) การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย 3) การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดด้วยวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลด้านปริมาณ 4) การวิเคราะห์ข้อมูลด้านคุณภาพเพื่อกำหนดจุดยืนและอัตลักษณ์ของสินค้า 5) การวิเคราะห์ข้อมูลด้านคุณภาพเพื่อสร้างสรรค์ผลงานต้นแบบและสรุปผลการวิจัย และ 6) การสรุปและการอภิปรายผล ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้มีการใช้รูปแบบเค้าโครงจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในยุควิคตอเรียนผสมผสานเค้าโครงอาวองการ์ดในยุคศิลปะเค้าโครง อีกทั้งยังมีการใช้วัสดุที่เป็นทุนวัฒนธรรมของไทยด้วยการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งเป็นวัสดุที่มีกรรมวิธีที่ใช้ภูมิปัญญาให้เกิดเอกลักษณ์ ซึ่งมีผลการศึกษาและวิจัยพบว่ากลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มสตรีผู้มีชื่อเสียงและผู้นำชาวคูเวต ซึ่งต้องการเอกลักษณ์การแต่งกายที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์และล้ำสมัย ขณะเดียวกันการสร้างตราสินค้าก็เป็นสินค้าแฟชั่นชั้นสูงเพื่อให้ตอบสนองความเป็นเอกลักษณ์และเหมาะสมกับผู้สวมใส่ โดยมีการผสมผสานทุนวัฒนธรรมด้วยการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งเป็นวัสดุที่มีการใช้สำหรับเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงและเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตราสินค้าแฟชั่นชั้นสูงในประเทศไทยอีกด้วย


ดุษฎีนิพนธ์งานดนตรีวิจัยสร้างสรรค์: บทเพลงมิสซาสยามสำหรับศาสนพิธีนิกายโรมันคาทอลิก, ศิรารัตน์ สุขชัย Jan 2020

ดุษฎีนิพนธ์งานดนตรีวิจัยสร้างสรรค์: บทเพลงมิสซาสยามสำหรับศาสนพิธีนิกายโรมันคาทอลิก, ศิรารัตน์ สุขชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทเพลงมิสซาประเภทบทเพลงภาคปกติเป็นบทประพันธ์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก และสะท้อนความเชื่อความศรัทธาของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ นอกจากนี้นักพันธ์ที่มีชื่อเสียงประพันธ์บทเพลงเป็นจำนวนมาก ในประเทศไทยบทเพลงมิสซาประเภทบทเพลงภาคปกติมีผู้ประพันธ์ชาวไทยประพันธ์ประเภทนี้จำนวนไม่มากนัก จึงทำให้ผู้วิจัยเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน บทเพลง มิสซาสยาม สำหรับศาสนพิธีนิกายโรมันคาทอลิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างสรรค์บทเพลงมิสซาร่วมสมัยสำหรับศาสนพิธีนิกายโรมันคาทอลิก 2) ศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับบทเพลงมิสซาและการประพันธ์บทเพลงขับร้องประสานเสียง 3) เผยแพร่องค์ความรู้และผลงานการประพันธ์บทเพลงมิสซาสยามสำหรับพิธีนิกายโรมันคาทอลิกสู่สาธารณชน ผู้วิจัยทำการศึกษาองค์ความรู้ในบริบทของศาสนาและดนตรี วิเคราะห์ ตีความบทสวด และนำไปสู่การสร้างสรรค์บทเพลง มิสซาสยาม สำหรับนักร้องประสานเสียง นักร้องเดี่ยว และเปียโน ในภาษาละติน จำนวน 8 บท ได้แก่ บทร่ำวิงวอน บทพระสิริรุ่งโรจน์ บทข้าพเจ้าเชื่อ 4 บท บทศักดิ์สิทธิ์ และบทลูกแกะพระเจ้า ความยาว 30 นาที


ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง : คีตกวีราชามหาภูมิพล สำหรับวงแจ๊สออร์เคสตรา, พลังพล ทรงไพบูลย์ Jan 2020

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง : คีตกวีราชามหาภูมิพล สำหรับวงแจ๊สออร์เคสตรา, พลังพล ทรงไพบูลย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: คีตกวีราชามหาภูมิพล สำหรับวงแจ๊สออร์เคสตรา เป็นดนตรีพรรณนาในฟอร์มใหญ่เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงใช้ดนตรีเชื่อมโยงพระองค์กับพสกนิกร สร้างความสุข ให้กำลังใจ สร้างความกลมเกลียวของคนในชาติและความรักชาติ บทประพันธ์ความยาว 35 นาที ประกอบด้วย 4 กระบวน ซึ่งถ่ายทอดความรักและการเคารพเทิดทูนที่พสกนิกรไทยมีต่อพระองค์ กระบวนที่ 1) King Bhumibol Adulyadej Square ปฐมบทที่มีเลข 4 เป็นองค์ประกอบสำคัญในการประพันธ์ ทำนองหลักที่สื่อถึง "จัตุรัสภูมิพล" ซึ่งจะปรากฏในกระบวนอื่นใช้สังคีตลักษณ์แบบทวนความ กระบวนที่ 2) His Passion and Inspiration ใช้เอกลักษณ์ของจังหวะดนตรีดิกซีแลนด์แจ๊ส ทำนองอยู่ในโมดลิเดียนมีสังคีตลักษณ์แบบรอนโด 7 ตอน และประกอบด้วยท่อนเดี่ยวไวโอลินบรรเลงด้วยเทคนิคขั้นสูงในคาเดนซา กระบวนที่ 3) His Music and His People บทเพลง 5 ตอน ใช้แนวคิดอัตราจังหวะซ้อน มีเปียโนเป็นตัวนำใช้เทคนิคการซ้ำแบบดนตรีมินิมัล และกระบวนที่ 4) The Musical Legacy of the Nation ใช้เทคนิคผสมผสานจังหวะมีการเปลี่ยนจังหวะอย่างหลากหลายในลีลาแบบสวิง ทำนองอยู่ในบันไดเสียงแบบเพนตาโทนิกประสานเสียงด้วยคอร์ดเชิงซ้อนคู่สี่คู่ห้า บทประพันธ์นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564 ณ วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ผลงานประสบความสำเร็จได้รับการชื่นชมว่าเป็นดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลงที่มีคุณค่าทางวิชาการเหมาะสมเป็นคีตวรรณกรรมระดับชาติ


ดุษฎีนิพนธ์ดนตรีวิจัยสร้างสรรค์: บูรณาการด้านเทคนิคและกลเม็ดการแสดงบทเพลงเปียโนมิติใหม่, ธีรนัย จิระสิริกุล Jan 2020

ดุษฎีนิพนธ์ดนตรีวิจัยสร้างสรรค์: บูรณาการด้านเทคนิคและกลเม็ดการแสดงบทเพลงเปียโนมิติใหม่, ธีรนัย จิระสิริกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดนตรีในศตวรรษที่ 20 มีแนวคิดพื้นฐานคือการพยายามสร้างสรรค์ดนตรีที่แตกต่างไปจากเดิม จึงทำให้เกิดรูปแบบดนตรีที่หลากหลายและแปลกใหม่ งานวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาบทเพลงสำหรับเปียโนในศตวรรษที่ 20 ทั้งในรูปแบบของเปียโนเชมเบอร์และเดี่ยวเปียโน โดยมีวัตถุประสงค์คือการแสดงบทเพลงในรูปแบบที่แตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม ผ่านการใช้เทคนิคการบรรเลงขั้นสูง และกลเม็ดการคิด เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่ผู้ประพันธ์ต้องการนำเสนอให้เข้าถึงผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้จัดการแสดงทั้งหมด 3 การแสดง ภายใต้ดุษฎีนิพนธ์ดนตรีวิจัยสร้างสรรค์ ในชื่อหัวข้อ 'บูรณาการด้านเทคนิคและกลเม็ดการแสดงบทเพลงเปียโนมิติใหม่' ผลจากการวิจัยพบว่า 1. เทคนิคการบรรเลงและกลเม็ดในการคิดช่วยดึงศักยภาพของผู้บรรเลงออกมามากยิ่งขึ้น 2. การตีความบทเพลงโดยมีจินตภาพชัดเจนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้บรรเลงสื่อสารสิ่งที่ต้องการได้ชัดเจนมากขึ้น 3. การวางแผนการซ้อม การประเมิน และคาดการณ์ปัญหาล่วงหน้า ช่วยให้ผู้บรรเลงเตรียมตัวและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ดี องค์ประกอบทั้ง 3 ด้านนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจัดแสดงและบรรเลงเพลงที่ดีได้


ดุษฎีนิพนธ์วิจัยสร้างสรรค์ทางดุริยางคศิลป์: เพลงการเดินทางของเฉกอะหมัดสู่กรุงศรีอยุธยา, วงศ์วสันต์ วสันตสุรีย์ Jan 2020

ดุษฎีนิพนธ์วิจัยสร้างสรรค์ทางดุริยางคศิลป์: เพลงการเดินทางของเฉกอะหมัดสู่กรุงศรีอยุธยา, วงศ์วสันต์ วสันตสุรีย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฎีนิพนธ์วิจัยสร้างสรรค์ทางดุริยางคศิลป์: เพลงการเดินทางของเฉกอะหมัดสู่กรุงศรีอยุธยา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับการเดินทางของเฉกอะหมัดอันเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์บทเพลงการเดินทางของเฉกอะหมัดสู่กรุงศรีอยุธยาโดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิและการค้นคว้าทางเอกสาร ผลการวิจัยพบว่าแนวคิดสำคัญ 4 ประการซึ่งเป็นสาระสำคัญและสร้างแรงบันดาลใจในการประพันธ์บทเพลง ประกอบไปด้วยแนวคิดด้านภูมิลำเนาถิ่นกำเนิดของเฉกอะหมัด แนวคิดด้านเส้นทางการเดินทางของเฉกอะหมัดสู่กรุงศรีอยุธยา แนวคิดด้านวัฒนธรรมดนตรีเปอร์เซีย และแนวคิดด้านวัฒนธรรมดนตรีอินเดียในการสร้างสรรค์บทเพลง เส้นทางการเดินทางของเฉกอะหมัดเริ่มจากเมืองกูน แคว้นแอสตะระบัด อาณาจักรเปอร์เซียสู่กรุงศรีอยุธยาในช่วงปลายของสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แนวคิดการสร้างสรรค์ทางดุริยางคศิลป์: เพลงการเดินทางของเฉกอะหมัดสู่กรุงศรีอยุธยาประกอบด้วยทำนองเชื่อมสำเนียงเปอร์เซีย 4 ทำนอง และบทเพลงหลัก 5 บทเพลง ได้แก่ เพลงปฐมคุณา แสดงจินตภาพในการเดินทางจากเมืองกูนไปยังเมืองละฮอร์ เพลงภารตะอุดร แสดงการเดินทางเข้าสู่เมืองเดลี เพลงสัญจรทักษิณ แสดงการเดินทางจากเมืองไฮดาราบัดสู่เมืองมะสุลิปะตัม เพลงชลาสินธุ์พรรณนา แสดงจินตภาพการเดินทางในทะเลอันดามันจากฝั่งมะสุลิปะตัมไปยังสยาม และเพลงปัจฉิมวารกายี แสดงจินตภาพการเดินทางถึงกรุงศรีอยุธยาโดยสวัสดิภาพ โดยตีความนัยของคำว่า กายี ออกเป็น 2 ความหมาย คือ กายี ที่หมายถึง ตำบลท่ากายี ในกรุงศรีอยุธยา อันเป็นจุดหมายที่เฉกอะหมัดเดินทางมาถึง ส่วนอีกนัยหนึ่ง กายี ในที่นี้คือ กายา หรือ กาย อันหมายถึงเรือนร่างของเฉกอะหมัด เป็นการแฝงความหมายทางนามธรรมเปรียบได้ว่า บัดนี้ร่างกายของเฉกอะหมัดได้สูญสลายไปตามกาลเวลาแต่คุณงามความดีของเฉกอะหมัดยังคงอยู่ แม้กายสูญสลายแต่นามปรากฏชั่วนิรันดร์


การออกแบบเรขศิลป์สำหรับผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ของชุมชนทอผ้าฝ้ายลาวครั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยใช้กลยุทธ์การตลาดโชคลาง, เลอลักษณ์ ศรีเกษมศิรา Jan 2020

การออกแบบเรขศิลป์สำหรับผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ของชุมชนทอผ้าฝ้ายลาวครั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยใช้กลยุทธ์การตลาดโชคลาง, เลอลักษณ์ ศรีเกษมศิรา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ภูมิปัญญาผ้าฝ้ายลาวครั่งของอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เพื่อใช้ในการออกแบบเรขศิลป์สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ของอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี 2) เพื่อพัฒนาตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ของอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยใช้กลยุทธ์มหาสมุทรสีคราม (Blue Ocean Strategy) 3) เพื่อหาแนวทางการออกแบบเรขศิลป์ โดยใช้กลยุทธ์การตลาดโชคลาง (Superstitious Marketing Strategy) การดำเนินการวิจัยใช้วิธีแบบผสมผสาน (Mixed Methodology) โดยนำด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยการเก็บข้อมูลโดยการลงพื้นที่ชุมชนทอผ้าฝ้ายลาวครั่ง ด้วยวิธีสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) จัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) รวมถึงใช้วิธีเดลฟายประยุกต์ (Delphi) จากเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนชำนาญงาน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี 1 ท่าน ผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informant) 1 ท่าน และผู้รู้ด้านผ้าฝ้ายลาวครั่งในชุมชนทอผ้าฝ้ายลาวครั่ง อำเภอบ้านไร่ 23 ท่าน และยังสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักออกแบบที่มีประสบการณ์สูงและมีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างตราสินค้าและการทำตลาด 3 ท่าน ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และการอ้างอิงแบบต่อเนื่อง (Snowball Sampling) และเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ดดยอาศัยแบบสอบถาม 3 ชุด ที่ผ่านการประเมินค่าความสอดคล้องของข้อคำถามในแบบสอบถามกับวัตถุประสงค์การวิจัย หรือ Index of item-objective Congruence (I.O.C) ด้วยค่า 0.64, 0.90, 1.0 ตามลำดับ ไปเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งคือกลุ่มเจเนอเรชันวายไทยที่เกิดปี พ.ศ. 2525-2538 ที่ได้มาจากการเลือโดยบังเอิญ (Accident Sampling) และการอ้างอิงแบบต่อเนื่อง โดยใช้วิธีกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างด้วยตารางสำเร็จรูปของ Yamane (1967) เมื่อไม่ทราบจำนวนประชากรที่ระดับความเชื่อมั่น 95% คือจำนวน 400 คน และเก็บได้สมบูรณ์ในเวลาที่กำหนด จำนวน 133 คน สำหรับแบบสอบถามชุดที่ 1 (เพื่อโหวตเลือกชื่อตราสินค้า) จำนวน 210 …


การออกแบบเรขศิลป์สำหรับพิพิธภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในกลุ่มไทยดิจิทัลเนทีฟ, สิรดา ไวยาวัจมัย Jan 2020

การออกแบบเรขศิลป์สำหรับพิพิธภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในกลุ่มไทยดิจิทัลเนทีฟ, สิรดา ไวยาวัจมัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

พิพิธภัณฑ์นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรในชาติ เป็นพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่ประชาชนให้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ช่วยเปิดมุมมองความคิดกระตุ้นให้เกิดความสงสัย สนใจค้นหาคำตอบ สามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ความรู้ไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มช่วงวัยที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ ส่วนหนึ่งในพันธกิจหลักของงานพิพิธภัณฑ์คือการสื่อสารองค์ความรู้ที่อยู่ภายใน สามารถปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างเข้าใจ จึงจะสามารถสะท้อนบทบาทพื้นที่แห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในชาติสู่ความเจริญก้าวหน้าได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการออกแบบเรขศิลป์สำหรับพิพิธภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในกลุ่มไทยดิจิทัลเนทีฟ โดยมีระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสานในรูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ด้วยการสร้างชุดเครื่องมือการวิจัยแบบสอบถาม แบบวิเคราะห์แนวปฏิบัติที่ดี แบบสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่มโดยการเก็บข้อมูลจากนักจัดการองค์ความรู้งานพิพิธภัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักออกแบบ และกลุ่มไทยดิจิทัลเนทีฟ ผลการวิจัยพบว่าแนวทางการออกแบบเรขศิลป์สำหรับพิพิธภัณฑ์ในกลุ่มดิจิทัลเนทีฟ คือแพลทฟอร์มออนไลน์ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยี เน้นรูปแบบการสื่อสารใน 2 ลักษณะคือ การสร้างคุณค่าของข้อมูล (High Value) และกระตุ้นการมีส่วนร่วม (High Engagement) โดยพบแนวทางการพิจารณาเนื้อหาเด่นของพิพิธภัณฑ์เพื่อใช้สื่อสารได้เป็น 6 เรื่องเด่น เรียกว่า “S-6 (Story of 6)” จากการประยุกต์ใช้ผลของการวิจัยเพื่อการออกแบบสร้างสรรค์สื่อเรขศิลป์ออนไลน์สำหรับพิพิธภัณฑ์ต้นแบบ สามารถสร้างความดึงดูดใจต่อกลุ่มไทยดิจิทัลเนทีฟช่วยเชื่อมโยงองค์ความรู้ส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างยั่งยืน


การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากความไม่สมบูรณ์ในกระบวนการคัดเลือกศิลปินระดับชาติทางด้านนาฏยศิลป์, พรรณพัชร์ เกษประยูร Jan 2020

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากความไม่สมบูรณ์ในกระบวนการคัดเลือกศิลปินระดับชาติทางด้านนาฏยศิลป์, พรรณพัชร์ เกษประยูร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาความไม่สมบูรณ์ในกระบวนการคัดเลือกศิลปินระดับชาติทางด้านนาฏยศิลป์และนำข้อมูลมาสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ โดยใช้รูปแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่มีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การสัมมนา สื่อสารสนเทศ เกณฑ์การสร้างมาตรฐานการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย ซึ่งนำข้อมูลมาตรวจสอบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในครั้งนี้สามารถจำแนกตามองค์ประกอบของนาฏยศิลป์ 8 องค์ประกอบได้แก่ 1) บทการแสดง โดยแบ่งเป็น 7 องก์การแสดงตามเกณฑ์มาตรฐานยกย่องศิลปิน ฯ มาจัดหมวดหมู่ใหม่ 2) นักแสดง มีทักษะด้านนาฏยศิลป์ไทย นาฏยศิลป์ตะวันตก บัลเลต์คลาสสิค และทักษะศิลปะละคร จำนวน 12 คน 3) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้ลีลาการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน นาฏยศิลป์สมัยใหม่ การเคลื่อนไหวบัลเลต์คลาสสิค การใช้ศิลปะการละครรูปแบบนาฏยศิลป์การแสดง 4) การออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดง การใช้อุปกรณ์ชีวิตประจำวัน ได้แก่ ถ้วยรางวัล แฟ้มสีดำ ผ้าสีขาว พู่กัน ไฟฉาย และถุงมือ 5) การออกแบบเสียงและเครื่องดนตรี ใช้เครื่องดนตรีที่หลากหลายในการบรรเลงดนตรี ได้แก่ โทน กู่เจิง จะเข้ ซออู้ โปงลาง และรำมะนาลำตัด 6) การออกแบบเครื่องแต่งกาย ใช้เครื่องแต่งกายแบบสากลนิยม การใช้ผ้าที่บางเพื่อสะท้อนถึงความโปร่งใสของกระบวนการ 7) การออกแบบพื้นที่การแสดง ใช้โรงละคร แบล็ค บ๊อกซ์ เธียเตอร์ (Black Box Theatre) ที่มีลักษณะสี่เหลี่ยม 8) การออกแบบแสง ใช้แสงสื่อถึงบรรยากาศ เช่น แสงสีแดงแสดงถึงความวิกฤตของศิลปิน นอกจากนี้มีแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ผลงาน โดยคำนึงถึงแนวคิดที่สำคัญ 7 ประการ ได้แก่ 1) การคำนึงถึงความไม่สมบูรณ์ในกระบวนการคัดเลือกศิลปิน 2) การคำนึงถึงการสะท้อนสภาพของสังคม 3) การคำนึงถึงการสื่อสารกับผู้ชมและคนในสังคม 4) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในงานนาฏยศิลป์ 5) การคำนึงถึงการใช้สัญลักษณ์ในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ 6) การคำนึงถึงความหลากหลายของรูปแบบการแสดง 7) การคำนึงถึงทฤษฎีนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์และทัศนศิลป์ ซึ่งผลการวิจัยทั้งหมดนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทุกประการทั้งนี้การวิจัยในครั้งนี้เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ทางด้านนาฏยศิลป์เชื่อมโยงประสบการณ์และพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อวงการวิชาการและวงการนาฏยศิลป์ ตลอดจนเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานของผู้สร้างสรรค์ผลงานในอนาคต


การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากคำวิจารณ์คุณสมบัติการเป็นนาฏยศิลปินของนราพงษ์ จรัสศรี, ธำมรงค์ บุญราช Jan 2020

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากคำวิจารณ์คุณสมบัติการเป็นนาฏยศิลปินของนราพงษ์ จรัสศรี, ธำมรงค์ บุญราช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาคำวิจารณ์คุณสมบัติการเป็นนาฏยศิลปินของนราพงษ์ จรัสศรี ที่เป็นลายลักษณ์อักษรตามที่ได้ลงทะเบียนไว้กับสมาพันธ์นักแสดงของสหราชอาณาจักร (Actor's equity members) ทั้งสิ้น 15 คำวิจารณ์ และคำวิจารณ์จากนักวิจารณ์ ผู้ที่เคยร่วมงานและศิษย์ของนราพงษ์ จรัสศรี ในประเทศไทย ทั้งสิ้น 21 คำวิจารณ์ จากนั้นนำข้อมูลคำวิจารณ์ดังกล่าวมาสร้างสรรค์เป็นผลงานนาฏยศิลป์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากคำวิจารณ์คุณสมบัติการเป็นนาฏยศิลปินของนราพงษ์ จรัสศรี โดยใช้รูปแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่มีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหัวข้องานวิจัย การสัมภาษณ์ สื่อสารสนเทศ การสังเกตการณ์ การสัมมนาวิชาการ เกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย มาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ สังเคราะห์และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 8 องค์ประกอบการแสดง ได้แก่ 1) บทการแสดง ที่ได้มาจากคำวิจารณ์คุณสมบัติการเป็นนาฏยศิลปินของนราพงษ์ จรัสศรี ซึ่งแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้ 6 คุณสมบัติ ตามชื่อองก์การแสดงทั้งหมด 6 องก์ ได้แก่ องก์ 1 ลึกลับ องก์ 2 หลงใหล องก์ 3 แปลก องก์ 4 ตะวันออกและตะวันตก องก์ 5 สรีระและองก์ 6 คุณธรรม 2) นักแสดงไม่จำกัดเพศที่มีทักษะความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ตะวันออก นาฏยศิลป์ตะวันตก นาฏยศิลป์ร่วมสมัยและนักแสดงที่ไม่ได้รับการฝึกฝนทางด้านนาฏยศิลป์ (Untrained Dancer) 3) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้ลีลาการเคลื่อนไหวแบบมินิมอลลิสม์ (Minimalism) การเคลื่อนไหวแบบในชีวิตประจำวัน (Everyday Movement) การเคลื่อนไหวอย่างมีอิสระ (Free Spirit) ลีลานาฏยศิลป์ตะวันออก ลีลานาฏยศิลป์ตะวันตกและลีลาการเคลื่อนไหวแบบสงบนิ่งหรือแบบการทำสมาธิ (Meditation) 4) เสียงและดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้เครื่องดนตรีตะวันออกที่มาจากหลายวัฒนธรรม 5) อุปกรณ์ประกอบการแสดง ออกแบบโดยคำถึงถึงบทการแสดงและความหมายของการแสดงในแต่ละองก์ 6) เครื่องแต่งกาย ใช้ในรูปแบบมินิมอลลิสม์ (Minimalism) 7) พื้นที่การแสดง ใช้โรงละครในลักษณะ แบล็ค บ๊อกซ์ เธียเตอร์ (Black Box Theatre) …


การสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: ตับเรื่องเกาะสีชัง, สันติ อุดมศรี Jan 2020

การสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: ตับเรื่องเกาะสีชัง, สันติ อุดมศรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: ตับเรื่องเกาะสีชัง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และมูลบทที่เกี่ยวข้องกับเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี และเพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: ตับเรื่องเกาะสีชัง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บและรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าทางเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ และการเก็บข้อมูลภาคสนาม ผลการวิจัยพบว่า เกาะสีชังมีความน่าสนใจทั้งด้านประวัติความเป็นมาจากการเป็นสถานที่จอดพักเรือสินค้าเพื่อหลบลมพายุ ต่อมาใช้เป็นสถานที่ประทับตากอากาศของพระมหากษัตริย์และชนชั้นสูง เป็นเกาะเดียวในประเทศไทยที่มีพระราชวังตั้งอยู่ ปัจจุบันเกาะสีชังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของภาคตะวันออก พัฒนาการดังกล่าวจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้วิจัยสร้างสรรค์ผลงานในลักษณะของเพลงตับประเภทตับเรื่อง เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นมาและความน่าสนใจของเกาะสีชัง ผ่านบทเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในลักษณะกลอนสุภาพ ตามหลักการประพันธ์เพลงในลักษณะบันดาลรังสฤษฏ์ ของรองศาสตราจารย์พิชิต ชัยเสรี และแนวคิดการประพันธ์เพลงของรองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน โดยนำคำขวัญของเกาะสีชังมาสร้างสรรค์บทร้องเพลงคำขวัญเกาะสีชัง และนำเรื่องราวเกี่ยวกับเกาะสีชังมาสร้างสรรค์บทร้องและทำนองเพลง ได้แก่ เพลงปฐมลิขิต บอกเล่าถึงที่มาของชื่อเกาะสีชัง เพลงศักดิ์สิทธิ์สีชัง บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเกาะสีชังนับถือ เพลงสรณังราชฐาน บอกเล่าประวัติและความสำคัญของพระราชวังจุฑาธุชราชฐาน และสร้างสรรค์เพลงสุขสนานชาวเกาะ และเพลงแสนเสนาะสีชล เพื่อบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงของชุมชนเกาะสีชังสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทั้งนี้ เพลงที่สร้างสรรค์ทั้งหมด ใช้บันไดเสียงเพียงออล่าง และใช้กลุ่มเสียงปัญจมูล ซลท x รม x มากที่สุด อีกทั้งผู้วิจัยใช้สำเนียงจีนในเพลงศักดิ์สิทธิ์สีชัง และใช้สำเนียงลาว สำเนียงจีน และสำเนียงฝรั่ง ในเพลงสุขสนานชาวเกาะ เพื่อสะท้อนว่าเกาะสีชังเป็นที่พักอาศัยและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนหลากหลายเชื้อชาติ นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังได้สร้างสรรค์ทำนองเพลงแสนเสนาะสีชลตามแนวรำวงประยุกต์แบบชาวบ้าน เพื่อสื่อถึงความสนุกสนานเชิญชวนไปท่องเที่ยวที่เกาะสีชัง


ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: ซิมโฟนิกแรปโซดี จิตวิญญาณแห่งอาเซียน สำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตรา, ณัฐพร ผกาหลง Jan 2020

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: ซิมโฟนิกแรปโซดี จิตวิญญาณแห่งอาเซียน สำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตรา, ณัฐพร ผกาหลง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: ซิมโฟนิกแรปโซดี จิตวิญญาณแห่งอาเซียน สำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตรา เป็นงานสร้างสรรค์ที่แสดงจินตนาการกว้างไกลทางดนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อผสมผสานความงาม เสียงแห่งขนบวัฒนธรรมอาเซียน โดยคัดสรรบทเพลงตัวแทนชาติสมาชิกจำนวน 10 บท มาบูรณาการร่วมกับเอกภาพจังหวะบทเพลงพื้นเมืองพร้อมทั้งการสร้างสรรค์ทำนองสอดสลับและศิลปะการพลิกแพลงสีสันลีลา นับเป็นหัวใจสำคัญในการประสานคุณลักษณะองค์ประกอบดนตรี บทเพลงบรรเลงโดยวงที่มีเครื่องสายเป็นหลัก ประกอบกับเสียงสังเคราะห์ที่เพิ่มสีสันโดย อิเล็กโทน ผลงานอยู่ในคีตลักษณ์แรปโซดี ซึ่งเชื่อมโยงมรดกดนตรีอาเซียนด้วยกลวิธีการประพันธ์ อันหลากหลายโดยมีแนวเดี่ยวไวโอลิน ที่มีการบรรเลงคล้ายการขับร้องนำในเพลงพื้นบ้านและการย้ายโมดไปตามท่วงทำนองลีลา ซึ่งถือเป็นมนต์สะกดของดนตรีอาเซียน ซิมโฟนิกแรปโซดี จิตวิญญาณแห่งอาเซียน สำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตรา ประกอบด้วย เครื่องสายตะวันตก 15 คน และเครื่องตี ได้แก่ ไซโลโฟน ทิมปานี เครื่องประกอบจังหวะ และแนวเสียงสังเคราะห์โดยอิเล็กโทน บทเพลงมีความยาวทั้งสิ้น 30 นาที


ดุษฎีนิพนธ์การวิจัยประพันธ์เพลง : “เอทูด ดีทัวร์” สำหรับเดี่ยวดับเบิลเบสและวงเชมเบอร์ออนซอมเบิล, สุภกิจ สุภัทรชัยวงศ์ Jan 2020

ดุษฎีนิพนธ์การวิจัยประพันธ์เพลง : “เอทูด ดีทัวร์” สำหรับเดี่ยวดับเบิลเบสและวงเชมเบอร์ออนซอมเบิล, สุภกิจ สุภัทรชัยวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฎีนิพนธ์การวิจัยประพันธ์เพลง "เอทูด ดีทัวร์" สำหรับเดี่ยวดับเบิลเบสและวงเชมเบอร์ออนซอมเบิลเป็นผลงานการประพันธ์ บทเพลงฝึกเพื่อพัฒนาทักษะการเล่นดับเบิลเบสในระดับอาชีพ และเป็นบทเพลงเดี่ยวที่สามารถใช้ในการแสดงคอนเสิร์ต รวมทั้งเป็นบทเพลงสอบวัดระดับขั้นสูง บทเอทูดนี้ได้บูรณาการทักษะและเทคนิคการเล่นดับเบิลเบส โดยการศึกษาวิเคราะห์แนวคิดจากบทฝึกดับเบิลเบสของ จีโอวานี บอทเทซินีและฟรานซ์ ซิมานเดล สองนักดับเบิลเบสผู้เป็นตำนานและต้นแบบการเล่นดับเบิลเบส ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 19 รวมทั้งการวิจัยบทเพลงเดี่ยวและบทเพลงเอทูดสำหรับเครื่องดนตรีอื่น เช่น ไวโอลินและเปียโน ผลงานสร้างสรรค์จากการวิจัยนี้ประกอบด้วยบทประพันธ์เอทูด 10 บท สำหรับเดี่ยวดับเบิลเบส โดยบูรณาการแนวคิดและกำหนดรูปแบบโครงสร้างในการประพันธ์เป็นแบบดนตรีร่วมสมัย นอกจากนั้นยังมีการเรียบเรียงบทเพลงคลาสสิกมาตราฐาน สำหรับดับเบิลเบสบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีต่างๆ ในลักษณะเชมเบอร์ออนซอมเบิล เช่นบทเพลงรอนโดของลุดวิก ฟาน เบโธเฟน บทเพลงคอนแชร์โตของ อันโตนิโอ วิวัลดีและโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค ทั้งนี้เพื่อนำการพัฒนาทักษะจากบทฝึกเอทูดไปใช้ในบทเพลงคลาสสิก อีกทั้งยังเป็นการสร้างบทเพลงคอนเสิร์ตใหม่ให้กับดับเบิลเบส ดุษฎีนิพนธ์นี้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาทักษะการเล่นดับเบิลเบสอย่างเป็นธรรมชาติ และสามารถนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาเทคนิคและนวัตกรรมในขั้นสูงของการเล่นดับเบิลเบส


ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์: “มันตรามโนราห์” บทร้องกวีคีตาสำหรับนักร้องเดี่ยว โซปราโน บาริโทน วงขับร้องประสานเสียง และวงเชมเบอร์อองซอมเบลอ, ผกาวรรณ บุญดิเรก Jan 2020

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์: “มันตรามโนราห์” บทร้องกวีคีตาสำหรับนักร้องเดี่ยว โซปราโน บาริโทน วงขับร้องประสานเสียง และวงเชมเบอร์อองซอมเบลอ, ผกาวรรณ บุญดิเรก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฎีนิพน์การประพันธ์ "มันตรามโนราห์" บทร้องกวีคีตาสำหรับนักร้องเดี่ยวโซปราโน บาริโทน วงขับร้องประสานเสียงและวงเชมเบอร์อองซอมเบลอ เป็นดนตรีพรรณาประพันธ์จากนิทานพื้นบ้านภาคใต้เรื่อง "มโนราห์" ซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านที่มีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมท้องถิ่น บทประพันธ์ผสมผสานเทคนิคลีลาของดนตรีตะวันตกร่วมสมัยเข้ากับลักษณะเฉพาะของท่วงทำนองดนตรีภาคใต้ในรูปแบบกวีคีตา โดยยังคงรักษาบริบทพื้นบ้านภาคใต้ดั้งเดิม ผลงานประกอบด้วยบทประพันธ์ที่มีเอกลักษณ์ 12 บท สำหรับการแสดงโดยนักร้องเดี่ยวเสียงโซปราโนและบาริโทน บรรเลงประกอบโดยวงขับร้องประสานเสียง เปียโนและวงเครื่องสาย บทประพันธ์มีความยาวประมาณ 40 นาที มีการนำลักษณะการด้นสดและการเอื้อนจังหวะเสริมประดับลงไปในแนวร้องเดี่ยว รวมทั้งการแต่งเติมเสียงในคอร์ดประสานของแนวเปียโนอย่างมีเอกภาพ ในการแสดงมีการกำหนดรูปแบบและการจัดตำแหน่งนักดนตรีบนเวทีเพื่อการรักษาสมดุลระหว่างเสียงร้องและเครื่องดนตรี มันตรามโนราห์เป็นบทประพันธ์กวีคีตาพื้นบ้านภาคใต้ในมิติใหม่ที่นำเสนอความงามของวัฒนธรรมดั้งเดิมภาคใต้สู่สากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน


ประติมากรรม: ประจำเดือนและสภาวะความเจ็บปวดภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่เปลี่ยนแปลงในร่างกายของสตรีวัยเจริญพันธุ์, ชาลิศา วงษ์มงคล Jan 2020

ประติมากรรม: ประจำเดือนและสภาวะความเจ็บปวดภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่เปลี่ยนแปลงในร่างกายของสตรีวัยเจริญพันธุ์, ชาลิศา วงษ์มงคล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเชิงสร้างสรรค์เรื่อง ประติมากรรม: ประจำเดือนและสภาวะความเจ็บปวดภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่เปลี่ยนแปลงในร่างกายของสตรีวัยเจริญพันธุ์ มีวัตถุประสงค์วิจัยเพื่อ 1. ศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนในกรอบของสังคม วัฒนธรรม และในทางการแพทย์ 2. สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมที่สะท้อนภาวะความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยจากการสำรวจลักษณะอาการในขณะมีประจำเดือนของตนเอง บันทึกข้อมูลโดยใช้รูปแบบการบันทึก Calendar of Premenstrual Experiences (COPE) โดยแบ่งลักษณะอาการเป็น 2 กลุ่ม คือ อาการทางกายและอาการทางจิตใจ ร่วมกับการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนทั้งในเชิงการแพทย์ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อสร้างชุดข้อมูลที่ใช้กำหนดแนวทางในการสร้างสรรค์ ผู้วิจัยใช้วิธีวิทยาของทฤษฎีปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ในการทำความเข้าใจความรู้สึกจากประสบการณ์ การมีประจำเดือนของตนเอง และศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านแนวคิดกับอารมณ์ (Expression) แนวคิดเกี่ยวกับความเจ็บปวด (Painful) ทฤษฎีสัญวิทยา (Semiology) รวมถึงผลงานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารูปแบบและวัสดุที่สามารถแสดงคุณลักษณะถึงความรู้สึกของสภาวะความเจ็บปวดทรมานจากการมีประจำเดือนได้ ผลงานศิลปกรรมที่สะท้อนภาพความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือน โดยนำประสบการณ์และการเลือกใช้วัสดุมาสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกจากการมีประจำเดือนที่ส่งผลต่อร่างกายและชีวิตประจำวัน จากผลงานสร้างสรรค์สามารถสรุปได้ว่า การใช้เทคนิคกระบวนการและวัสดุที่เชื่อมโยงถึงความเป็นผู้หญิง มีศักยภาพพอที่จะใช้เพื่อสื่อสารถึงประสบการณ์ความเป็นผู้หญิง การเชื่อมโยงแต่ละส่วนเข้าด้วยกันในผลงานประติมากรรมสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือนที่เกิดขึ้นทางร่างกายและจิตใจ


ดุษฎีนิพนธ์วิจัยสร้างสรรค์ทางดุริยางคศิลป์: เพลงชุดไชยวัฒนาราม, ณยศ สาตจีนพงษ์ Jan 2020

ดุษฎีนิพนธ์วิจัยสร้างสรรค์ทางดุริยางคศิลป์: เพลงชุดไชยวัฒนาราม, ณยศ สาตจีนพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และมูลบทที่เกี่ยวข้องของวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์ เพลงชุดไชยวัฒนาราม ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลทางด้านเอกสาร ลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนาม เก็บข้อมูลสัมภาษณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ วิเคราะห์ข้อมูลและกำหนดโครงสร้างของบทเพลงและสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์ ผลการวิจัยพบว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองสถาปนาวัดไชยวัฒนารามเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชมารดาที่ทรงกระทำขึ้นจากพระราชศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาและการแสดงออกซึ่งพระราชอำนาจอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศ มีมูลบทที่เกี่ยวข้องแสดงเรื่องราวพุทธประวัติเหตุการณ์ตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน และมีชุมชนชาติพันธุ์สำคัญจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ ชุมชนชาวจีนและชุมชนชาวจามตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณปากคลองขุนละครไชยหรือคลองตะเคียนและบริเวณคลองคูจาม สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแรงบันดาลใจนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์ประกอบด้วย 5 เพลงหลัก 6 เพลงย่อย 1. เพลงไชยวัฒนารามบูชิต 2. เพลงมิตรวัฒนา มี 4 เพลงย่อย เพลงป่วงเซียงบ้านจีน เพลงตลาดงิ้ว เพลงแขกจาม และเพลง ประท่าคูจาม 3. เพลงพุทธศิลป์ มี 2 เพลงย่อย เพลงพกาพรหมและเพลงพระธาตุ 4. เพลงบดินทร์ปราสาททอง และ 5. เพลงเรืองรองวัฒนาราม โดยใช้หลักและทฤษฎีทางดุริยางคศิลป์ไทยและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสรรค์ทำนองขึ้นใหม่ ผู้วิจัยใช้การตั้งชื่อเพลงตามหลักการตั้งชื่อเพลงของครูมนตรี ตราโมท ในการตั้งชื่อตามเหตุและสิ่งซึ่งเป็นอนุสรณ์ กำหนดใช้วงปี่พาทย์บรรเลงเป็นหลักและปรับการประสมวงดนตรีโดยใช้เครื่องดนตรีที่สามารถสร้างสำเนียงเสียงเพื่ออรรถรสของบทเพลง ผู้วิจัยสร้างสรรค์เพลงชุดนี้เพื่อสะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของวัดไชยวัฒนารามและเพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอันจะเป็นประโยชน์สืบไป


การสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: ตับเรื่องกัลยาณมิตร, ปกรณ์ หนูยี่ Jan 2020

การสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: ตับเรื่องกัลยาณมิตร, ปกรณ์ หนูยี่

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชีวประวัติ ผลงาน และหาอัตลักษณ์ทางดนตรีครูดนตรีบ้านพาทยโกศล 6 ท่าน เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: ตับเรื่องกัลยาณมิตร ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและวิจัยเชิงสร้างสรรค์โดยศึกษาข้อมูลเอกสารเรื่องแนวคิด ทฤษฎี เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสัมภาษณ์องค์ความรู้จากทายาทบ้านพาทยโกศลและผู้เชี่ยวชาญทางด้านดุริยางคศิลป์ไทย ผลการวิจัยพบว่าครูดนตรีไทยบ้านพาทยโกศลทั้ง 6 ท่าน เป็นครูดนตรีท่านสำคัญของวงการดนตรีไทยที่สืบทอดวิชาความรู้ดนตรีไทยมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งยังเข้มงวดระเบียบวิธีบรรเลงและขับร้องอย่างโบราณอย่างเคร่งครัด เรื่องอัตลักษณ์ทางดนตรีทั้ง 6 ท่านมีอัตลักษณ์ส่วนตัวทางดนตรีที่แตกต่างกัน แต่มีอัตลักษณ์ร่วมเดียวกัน ได้แก่ การแบ่งมือทำนองหลัก วิธีการบรรเลง กลวิธีการขับร้อง และวิธีการประพันธ์ การสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: ตับเรื่องกัลยาณมิตร แบ่งการประพันธ์ออกเป็น 3 ส่วนคือ 1. การประพันธ์บทร้อง ใช้ผลการวิจัยส่วนของชีวประวัติและผลงานทางดนตรี ตลอดถึงการสัมภาษณ์จากบุคคลที่เกี่ยวข้องมาประพันธ์ในลักษณะของกลอนสุภาพ 2. การประพันธ์ทำนอง ใช้ผลการวิจัยในส่วนของอัตลักษณ์ทางดนตรีของแต่ละท่านมาเป็นแรงบันดาลใจในการประพันธ์ 3. การประพันธ์ทางขับร้อง ใช้กลวิธีการประพันธ์การขับร้องจากผลการวิจัยการประพันธ์ทางขับร้องเพลงวาของคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ (ศิลปินแห่งชาติ) มาเป็นแนวทางในการประพันธ์ทางขับร้องทั้ง 6 เพลง นอกจากนี้ยังสอดแทรกอัตลักษณ์ร่วมทางดนตรีของบ้านพาทยโกศล วิธีการขับร้อง และบรรเลงเพื่อให้ได้อรรถรสทางดนตรีตามแนวทางที่บ้านพาทยโกศลสืบทอดไว้จนถึงปัจจุบัน