Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Art and Design Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

PDF

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

Articles 61 - 67 of 67

Full-Text Articles in Art and Design

พระพุทธปฎิมาที่สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10, ทินภัทร เปี่ยมเจียก Jan 2019

พระพุทธปฎิมาที่สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10, ทินภัทร เปี่ยมเจียก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่อง “พระพุทธปฏิมาที่สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะ รูปแบบ แนวคิด คติความเชื่อ ตลอดจนพัฒนาการด้านรูปแบบศิลปกรรมในการสร้างพระพุทธปฏิมาในอดีตที่มีผลสืบเนื่องมาสู่ปัจจุบัน จากการศึกษาพบว่า พระพุทธปฏิมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ปรากฏการสร้างใน 3 ลักษณะ คือ 1) การสร้างพระพุทธปฏิมาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบศิลปกรรมในอดีตที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับภูมิวัฒนธรรมท้องถิ่นผสมผสานกับแนวคิดและคติการสร้างร่วมสมัย 2) การสร้างพระพุทธปฏิมาที่สืบทอดรูปแบบศิลปกรรมจากพระพุทธปฏิมาในอดีต ตลอดจนการจำลองพระพุทธปฏิมาสำคัญ 3) การสร้างพระพุทธปฏิมาที่เกิดขึ้นจากการตีความหมายใหม่และกระบวนการสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะร่วมสมัย นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบ กลุ่ม “พระพุทธรูปทรงสร้าง” และกลุ่มพระพุทธรูป “ใต้ร่มพระบารมี” ที่เกิดขึ้นจากความรักและความศรัทธาระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน ดังนั้น การสร้างพระพุทธปฏิมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 จึงมีความหลากหลายทางด้านรูปแบบและแนวคิด มีพัฒนาการทางศิลปะอันก่อเกิดเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม ศาสนา และความเชื่อผ่านรูปลักษณ์แห่งพระพุทธปฏิมา


การออกแบบเรขศิลป์ที่แสดงถึงสุขภาพที่ดีโดยใช้ทฤษฏีหินสีบำบัด, นรินทร์ ปลื้มปรีดาพร Jan 2018

การออกแบบเรขศิลป์ที่แสดงถึงสุขภาพที่ดีโดยใช้ทฤษฏีหินสีบำบัด, นรินทร์ ปลื้มปรีดาพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

พุทธศาสนสุภาษิตคำว่า "อโรคา ปรมา ลาภา" ที่มีความหมายว่าการไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐนั้นดูจะเห็นได้ชัดเจน เพราะว่าในปัจจุบันนี้คนเราเริ่มที่จะหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ห่วงใยสุขภาพมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากกระแสการออกกำลังกายและวีธีการรับประทานอาหารที่คำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น ซึ่งนอกจากการออกกำลังกายแล้วการบำบัดก็ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีในการดูแลสุขภาพและมีมากมายหลายวิธี เช่น การนวดประเภทต่างๆ เป็นต้น จากการศึกษาวิจัยผู้วิจัยได้พบว่ามีวิธีการบำบัดซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างมากช่วงหนึ่งคือการบำบัดด้วยหินสีที่สามารถนำมาใช้ร่วมกับการนวด การทำสมาธิหรือแม้กระทั่งแค่พกพาติดตัวไว้เป็นเครื่องประดับเฉยๆ ซึ่งผู้วิจัยจึงได้แนวคิดที่ว่าทฤษฎีหินสีบำบัดนั้นก็น่าจะสามารถที่จะแสดงถึงความเป็นสุขภาพที่ดีได้ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยฉบับนี้ซึ่งได้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อหาองค์ประกอบทางเรขศิลป์ที่ได้จากทฤษฎีหินสีบำบัดเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบที่สามารถแสดงถึงสุขภาพที่ดีได้ โดยผู้วิจัยได้นำทฤษฎีหินสีบำบัดมาหาความเชื่อมโยงกับองค์ประกอบทางเรขศิลป์โดยการสัมภาษณ์และสร้างแบบสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเพื่อหาคำตอบของงานวิจัย จากผลวิจัยพบว่าสามารถระบุองค์ประกอบทางเรขศิลป์ที่สำคัญได้แก่ ตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กลุ่มบุคลิกภาพการสื่อสาร เทคนิคการสร้างสรรค์ภาพประกอบ และโครงสร้างรูปหลายเหลี่ยม โดยแยกเป็นกลุ่มคำตอบที่สามารถแสดงถึงสุขภาพที่ดีตามรูปแบบต่างๆของการใช้การบำบัดด้วยทฤษฎีหินสีบำบัด


การศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย, หทัยกนก กวีกิจสุภัค Jan 2018

การศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย, หทัยกนก กวีกิจสุภัค

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยภาพจิตรกรรมฝาผนังในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย เป็นการสำรวจ ศึกษา เพื่อค้นหารูปแบบของจิตรกรรมฝาผนังในท้องถิ่นบริเวณนี้ พบว่ามีรูปลักษณะสำคัญ 2 แบบ คือ รูปแบบ ช่างหลวง ตั้งอยู่ในเขตเมือง และรูปแบบช่างท้องถิ่น ตั้งอยู่นอกเขตเมือง โดยมีแหล่งจิตรกรรมฝาผนังริมฝั่งทะเลตอนล่าง ที่มีเนื้อหาการเขียนภาพแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่เขียนเกี่ยวกับพุทธประวัติและทศชาติ รูปแบบจิตรกรรมฝาผนังช่างหลวง มีวิธีการเขียนสืบทอดไปตามแบบแผนดั้งเดิม แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของรูปแบบในเขตเมือง โดยมีจิตรกรรมฝาผนังแบบยุคทองสมัยรัตนโกสินทร์เป็นหลักฐานที่มีคุณค่า ส่วนรูปแบบจิตรกรรมฝาผนังช่างท้องถิ่น มีลักษณะแบบเฉพาะของตัวเอง ซึ่งสะท้อนสาระของเรื่องราวในชุมชนสังคมประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตได้อย่างน่าสนใจ มีอัตลักษณ์ของชุมชนกับจิตรกรรมฝาผนังที่มีแบบอย่าง และของกลุ่มเชื้อชาติที่ต่างออกไป โดยมีจันทบุรีเป็นแหล่งอารยธรรมของจิตรกรรมฝาผนังภาคตะวันออก


จากความศรัทธาอันแรงกล้าสู่แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมนามธรรม, ชารีฟ ตอเล็บ Jan 2018

จากความศรัทธาอันแรงกล้าสู่แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมนามธรรม, ชารีฟ ตอเล็บ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าของวัตถุมีความสำคัญภายในจิตใจของบุคคลมากยิ่งขึ้น ความศรัทธาต่อพระเจ้ากลับค่อย ๆ เสื่อมถอย นำมาสู่การกระทำอย่างไร้เหตุผลและขาดการยับยั้ง การล่มสลายภายในจิตใจ และสังคมที่วุ่นวาย ผลงานวิจัยเรื่อง 'จากความศรัทธาอันแรงกล้าสู่แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมนามธรรม' ทำขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ผู้คนหันกลับรำลึกถึงความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าอีกครั้ง เป็นการเรียกร้องผ่านการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมนามธรรมของผู้วิจัย 'จากความศรัทธาอันแรงกล้าสู่แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมนามธรรม' เป็นผลงานวิจัยสร้างสรรค์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความศรัทธาอันแรงกล้าของผู้วิจัยที่มีต่อพระเจ้า ผ่านการศึกษาความศรัทธาในบริบทต่างๆ และการศึกษาศิลปะนามธรรมสู่การสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมนามธรรมส่งเสริมจริยธรรม กระบวนการวิจัยเริ่มจากการศึกษาความศรัทธาในประเด็นเรื่อง ความหมาย บริบทของศาสนา และบริบทของบุคคลสำคัญ เมื่อศึกษาแล้ว ผู้วิจัยพบความลึกซึ้งที่สามารถเชื่อมโยงกับความศรัทธาอันแรงกล้าของตัวผู้วิจัยเอง คือ ความศรัทธาแห่งศาสนาอิสลาม จากนั้นได้ทำการศึกษาศิลปะนามธรรม เพื่อทำความเข้าใจถึงกระบวนการทางจิตรกรรมในการถ่ายทอดความศรัทธานี้ในรูปแบบนามธรรม และได้ศึกษาศิลปะอิสลาม ผู้วิจัยพบว่าอักษรอาหรับวิจิตร (Islamic Art Calligraphy) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากศิลปะอิสลาม เป็นสัญลักษณ์ในการถ่ายทอดความศรัทธาแห่งศาสนาอิสลาม จากความศรัทธาอันแรงกล้าสู่การสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมนามธรรมจึงเป็นการสร้างสรรค์ด้วยอักษรอาหรับวิจิตร


นวัตกรรมแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน, ปรีดา ศรีสุวรรณ์ Jan 2018

นวัตกรรมแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน, ปรีดา ศรีสุวรรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

นวัตกรรมแฟชั่นยั่งยืนเป็นการวิจัยเพื่อหาแนวทางการออกแบบแฟชั่นยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายถึงแนวทางการออกแบบแฟชั่นตามแนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืน และแนวทางการสร้างตราสินค้าแฟชั่นแนวคิดยั่งยืน โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ควบคู่กับกระบวนการออกแบบสร้างสรรค์ เริ่มตั้งแต่การศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อสร้างความเข้าใจระบบอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ศึกษาแนวคิดของการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) ได้แก่ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) การซ่อมบำรุง (Repair) รวมไปถึงแนวคิดอัพไซคลิ่ง (Upcycling) ดาวน์ไซคลิ่ง (Downcycling) เป็นกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ที่ให้ความสำคัญในด้านมูลค่า ตลอดจนแนวคิดเรื่องระบบการผลิตแบบปิด (Closed loop Production) มีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ และแบบสอบถามกลุ่มผู้บริโภค ที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้น และกลุ่มผู้บริโภคเจเนอเรชั่นวาย จำนวน 200 คน ผลจากการวิจัยพบว่า แฟชั่นยั่งยืนมีแนวทางในการออกแบบดังนี้ 1) แนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับการออกแบบทางแฟชั่นได้แก่ การลด (Reduce) รีไซเคิล (Recycle) และ แนวคิดการใช้ซ้ำ (Reuse) 2) แนวทางการสร้างตราสินค้าแฟชั่นแนวคิดยั่งยืน โดยการสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยแนวคิดเรื่องระบบการผลิตแบบปิด (Closed loop Production) ในทางแฟชั่นได้แก่ การสร้างแพทเทิร์นไร้เศษ (Zero-Waste Pattern Technique) สร้างสรรค์เสื้อผ้าโดยไม่เหลือเศษ เป็นอัตลักษณ์ตราสินค้า ตอบสนองความต้องการทางแฟชั่นของกลุ่มผู้บริโภคเจเนอเรชั่นวาย โอกาสการสวมใส่งานเลี้ยงสังสรรค์ รูปแบบสไตล์ดีคอนสตรัคชั่น (Deconstruction) จากแนวคิดและแนวทางในการออกแบบแฟชั่นยั่งยืน สามารถประยุกต์ใช้เพื่อตอบสนองกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค ช่องว่างทางการตลาด สู่การสร้างสรรค์ตราสินค้าแฟชั่นยั่งยืนได้ในอนาคต


การออกแบบลวดลายซ้ำทางเรขศิลป์เพื่อสื่อสารอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทยมลายูสำหรับเจเนอเรชั่นวาย, สุกรี เจะปูเตะ Jan 2018

การออกแบบลวดลายซ้ำทางเรขศิลป์เพื่อสื่อสารอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทยมลายูสำหรับเจเนอเรชั่นวาย, สุกรี เจะปูเตะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ 1) เพื่อศึกษาแนวทางการออกแบบลวดลายซ้ำทางเรขศิลป์ ที่แสดงออกถึงความเป็นวัฒนธรรมไทยมลายู 2) เพื่อหาแนวทางการสื่อสารอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทยมลายู สำหรับเจเนอเรชั่น วาย ซึ่งมีขั้นตอนวิจัยโดยศึกษาข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ เพื่อสร้างแบบสอบถามนำมาวิเคราะห์เป็นแนวทางเพื่อออกแบบลวดลายซ้ำ และนำผลที่ได้ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับทำแบบสอบถามสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับกลุ่มเป้าหมายเจเนอเรชั่น วาย โดยผลวิจัยพบว่า สิ่งที่สามารถสื่อสารวัฒนธรรมไทยมลายูนั้นสามารถแบ่งตามแนวทางรากวัฒนธรรมได้ 8 หมวดหมู่ ซึ่งได้แก่ 1) อาหาร 2) เครื่องแต่งกาย 3) ส่วนประกอบของสถาปัตยกรรม 4) ประเพณี 5) การละเล่น 6) ความเชื่อ พิธีกรรม 7) หัตถกรรม 8) วรรณกรรมพื้นบ้านและตำนาน ซึ่งสิ่งที่สื่อสารวัฒนธรรมไทยมลายูส่วนใหญ่เป็นเรื่องของวิถีชีวิต มีความเกี่ยวข้องกับอาหารการกิน อาชีพ ประเพณีท้องถิ่น สิ่งของเครื่องใช้ การละเล่นพื้นบ้าน รวมไปถึงเรื่องเล่าขานที่เป็นอดีต และรูปทรงมีความเหมาะสมที่ใช้สื่อสารวัฒนธรรมไทยมลายู คือรูปทรง ธรรมชาติ (Organic) รูปทรงเขียนมือ (Hand-Draw) รูปทรงเรขาคณิต (Geometric) และรูปทรงอุบัติเหตุ (Accidental) และมีบุคลิกภาพสีที่เหมาะสม คือ โบราณ (Classic) มีชีวิตชีวา (Dynamic) ดูสง่างาม (Elegant) และดูเป็นธรรมชาติ (Natural)


ทฤษฎีเชิงช่างศิลปะอิสลามที่ให้อิทธิพลกับลวดลายประดับสมัยอยุธยา, วรพจน์ ไวยเวทา Jan 2018

ทฤษฎีเชิงช่างศิลปะอิสลามที่ให้อิทธิพลกับลวดลายประดับสมัยอยุธยา, วรพจน์ ไวยเวทา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยทฤษฎีเชิงช่างศิลปะอิสลามที่ให้อิทธิพลกับลวดลายประดับสมัยอยุธยา เป็นการศึกษาทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นกำเนิดศิลปะวิทยาการด้านศิลปะอิสลาม การนำมาปรับใช้ในยุคสมัยต่างๆของโลกอิสลาม ที่มาแนวคิด กฎเกณฑ์ สุนทรียศาสตร์ ความงาม จากความศรัทธาของศาสนา เกิดเป็นทฤษฎีโครงสร้างสู่การจัดระเบียบโครงสร้างต่างๆ รวมไปถึงลวดลายประดับ ศาสตร์และองค์ความรู้ที่ปราชญ์ชาวมุสลิมได้ให้คุณูปการกับโลกใบนี้นับพันปี ก่อเกิดเป็นทฤษฎีเชิงช่างศิลปะอิสลาม ศาสตร์แห่งเรขาคณิตอิสลามหรือ Islamic Geometry เป็นหนึ่งในองค์ความรู้เชิงช่างที่สำคัญ เป็นอัตลักษณ์ที่สรรค์สร้างให้ศิลปะอิสลามมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ประจักษ์และยกย่องของโลกถึงความงดงามเหล่านั้น รูปแบบสกุลช่างศิลปะอิสลามที่อาจส่งอิทธิพลผ่านความสัมพันธ์ระหว่างชาติ จากหลักฐานอันโดดเด่นในสมัยอยุธยาที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อชาวมุสลิมทั้งรูปแบบสกุลช่างศิลปะอิสลามเปอร์เซียและสกุลช่างศิลปะอิสลามอินเดีย มูลเหตุข้อสันนิษฐานของนักวิชาการไทยในอดีตที่กล่าวถึงลวดลายประดับศิลปะไทยในสมัยอยุธยาที่มีอิทธิพลลวดลายประดับจากศิลปะอิสลาม เมื่อนำมาตรวจสอบด้วยเครื่องมือทฤษฎีเชิงช่างศิลปะอิสลามแล้วพบว่ามีความสัมพันธ์อย่างมากในเชิงลึกตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นจนถึงอยุธยาตอนปลาย มิติของการถ่ายเทองค์ความรู้ ช่างสมัยอยุธยาจำเป็นต้องมีความเข้าใจและความชำนาญในทฤษฎีเชิงช่างศิลปะอิสลามเป็นอย่างดี จึงได้นำระบบโครงสร้างเหล่านี้มาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับลวดลายศิลปะไทยพื้นถิ่นได้อย่างลงตัวทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชาวไทยต่อชาวมุสลิมที่มีมาแต่อดีตมาช้านาน ทฤษฎีเชิงช่างศิลปะอิสลามนี้เป็นเครื่องยืนยันว่ากระบวนการเชิงช่างศิลปะไทยในอดีตนั้นมีการคำนวณสัดส่วนอันงดงามต่างๆ อย่างเป็นระบบแบบแผนจากการคำนวณเชิงคณิตศาสตร์อย่างชัดเจน ทฤษฎีเชิงช่างนี้อาจเป็นกุญแจไขความลับของความงดงาม ฟื้นความเข้าใจทฤษฎีเชิงช่างของศิลปะไทยสมัยอยุธยาที่ได้รับการยอมรับในความงดงามอันวิจิตรเหล่านั้นซึ่งได้สูญหายไปกับกาลสมัยอยุธยาก็เป็นได้