Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Architecture Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Articles 31 - 60 of 76

Full-Text Articles in Architecture

จิตวิญญาณแห่งพุทธสถาปัตยกรรมวัดไหล่หินหลวง จ. ลำปาง, ธีรยุทธ อินทจักร์ Jan 2018

จิตวิญญาณแห่งพุทธสถาปัตยกรรมวัดไหล่หินหลวง จ. ลำปาง, ธีรยุทธ อินทจักร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายความหมายในเชิงความคุณ ค่าของงานสถาปัตยกรรมจากวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา งานวิจัยนี้นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายความหมายในเชิงความคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมจากวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา และนาเสนอคุณสมบัติในงานสถาปัตยกรรมที่สามารถพัฒนาความเป็นมนุษย์ตามหลักการทางพุทธศาสนา จากกรณีศึกษา วัดไหล่หินหลวง จ.ลาปาง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่รองรับสถาบันทางพุทธศาสนาภายในวัฒนธรรมล้านนาที่ได้รับการยอมรับในคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปสถาปัตยกรรมยังคงสืบสานวิถีทางวัฒนธรรมมาจนปัจจุบัน โดยการวิจัยนี้เป็นลักษณะการวิจัยเชิงคุณภาพ จากการสังเคราะห์หลักการทางพุทธศาสนาร่วมกับการสังเกตเชิงลึกการจากข้อมูลภาคสนาม ผลการศึกษาสามารถสรุปในเชิงคุณสมบัติทางงานสถาปัตยกรรม มีดังต่อไปนี้ คือสถาปัตยกรรมแห่งการตระหนักรู้ ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจต่อคุณค่าและความหมายของชีวิต และการรู้เท่าทันตามความเป็นจริงบนวิถีที่เป็นเอกภาพกับธรรมชาติ, สถาปัตยกรรมแห่งสภาวะจิตตั้งมั่นมีสติสัมปชัญญะเห็นแจ้งในสภาวะสากลของชีวิต และสถาปัตยกรรมแห่งการน้อมนา เหตุและปัจจัยจากภายนอกที่ให้จิตได้รับรู้ และเข้าถึงสภาวะแห่งศีล สภาวะแห่งสมาธิและสภาวะแห่งปัญญา อันเป็นวิถีแห่งการพัฒนาทางจิตวิญญาณและผลการศึกษาในเชิงคุณค่าและความหมาย คือการสร้างงานสถาปัตยกรรมที่รองรับการดำรงอยู่บนวิถีที่มีเป้าหมายในการพัฒนาจิตใจไปสู่จุดสูงสุดของชีวิตเป้าหมายของชีวิตคือวิถีทางเดียวกันกับธรรมชาติ สถาปัตยกรรมจึงมีความหมายเป็นดั่ง มหาวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ ที่สะท้อนพลังในมิติทางจิตวิญญาณ ที่มุ่งพัฒนาชีวิตสู่สภาวะการดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์และเข้าถึงคุณค่าสูงสุด


แนวทางในการออกแบบเพื่อลดผลกระทบจากการสะท้อนของเปลือกอาคาร, ทัชชา อังกนะภัทรขจร Jan 2018

แนวทางในการออกแบบเพื่อลดผลกระทบจากการสะท้อนของเปลือกอาคาร, ทัชชา อังกนะภัทรขจร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากความนิยมในการเลือกใช้วัสดุเปลือกอาคารกระจกเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดปัญหาแสงสะท้อนที่สร้างความเดือดร้อนแก่สภาพแวดล้อมโดยรอบตามมา งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของแสงสะท้อนจากเปลือกอาคาร ที่มีสาเหตุมาจากรูปทรงอาคารและทิศทางการวางอาคารต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งเสนอแนะแนวทางในการออกแบบอาคารเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากแสงสะท้อนของเปลือกอาคาร สำหรับเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการสร้างมาตรฐานการออกแบบอาคารให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยนี้ ได้ใช้ซอฟต์แวร์ทางคอมพิวเตอร์ในการคำนวณหาความส่องสว่างและทิศทางการสะท้อนของรังสีอาทิตย์ตามวันเวลาที่กำหนด โดยมีอาคารกรณีศึกษา 5 รูปทรง ประกอบด้วย อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเปลือกอาคารเรียบตรง อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมเปลือกอาคารลาดเอียงเข้าหาอาคาร อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมเปลือกอาคารลาดเอียงออกจากอาคาร อาคารรูปทรงโค้งเว้า และอาคารรูปทรงแตงกวา เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการจำลอง พบว่า บนพื้นที่ขนาด 500 เมตร x 500 เมตร อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีเปลือกอาคารลาดเอียงออกจากอาคารในแนวตั้งในทางทิศใต้ ก่อให้เกิดแสงสะท้อนในแนวราบเป็นพื้นที่รวมมากที่สุด ในขณะที่อาคารรูปทรงแตงกวาก่อให้เกิดการกระจายตัวของแสงสะท้อนทุกทิศทางเป็นบริเวณกว้างมากที่สุด และอาคารรูปทรงโค้งเว้าก่อให้เกิดค่าความส่องสว่างของแสงสะท้อนสูงที่สุดจากการสะท้อนรวมกันไปยังจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งพื้นที่ที่โดนแสงสะท้อนสูงสุดมีค่าความส่องสว่างมากกว่าค่าเฉลี่ยแสงธรรมชาติในส่วนที่ไม่ถูกสะท้อนกว่า 2 เท่า และสำหรับแสงที่สะท้อนตกกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบอาคารกรณีศึกษา หากรัศมียิ่งใกล้อาคารจะเกิดแสงสะท้อนที่มีระยะเวลายาวนานกว่า โดยจากการใช้วิธีการทางสถิติในการแบ่งระดับคะแนนของแสงสะท้อนจากเปลือกอาคารออกเป็น A B C และ D โดยระดับ A เป็นระดับที่ก่อให้เกิดค่าความส่องสว่างต่ำที่สุด ในขณะที่ระดับ D เป็นระดับที่ก่อให้เกิดค่าความส่องสว่างสูงที่สุด พบว่า อาคารรูปทรงแตงกวา เป็นรูปทรงที่แสงสะท้อนส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับคะแนน D เป็นจำนวนมากที่สุดในรูปทรงทั้งหมดที่ทำการศึกษา ทั้งสภาพแวดล้อมแนวราบและแนวตั้ง จึงถือเป็นรูปแบบอาคารที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการออกแบบเพราะก่อให้เกิดผลกระทบด้านแสงสะท้อนโดยรวมมากที่สุด


ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ให้บริการตรวจรักษาและส่วนเกี่ยวเนื่องแผนกผู้ป่วยนอก : กรณีศึกษาแผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวช, พาขวัญ รูปแก้ว Jan 2018

ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ให้บริการตรวจรักษาและส่วนเกี่ยวเนื่องแผนกผู้ป่วยนอก : กรณีศึกษาแผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวช, พาขวัญ รูปแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวชเป็นแผนกที่มีความเกี่ยวเนื่องกันของผู้มารับบริการ เนื่องจากแผนกสูตินรีเวชเป็นแผนกที่ให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคของระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงรวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะตั้งครรภ์และระยะหลังคลอดบุตร จึงมีความซับซ้อนในด้านขั้นตอนการให้บริการ อีกทั้งต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ป่วย ในส่วนของแผนกกุมารเวชเป็นแผนกที่ให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคในทารก เด็ก และวัยรุ่น มีบางพื้นที่แตกต่างจากแผนกผู้ป่วยนอกทั่วไป นอกจากนี้ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่พบวิจัยที่เกี่ยวกับการวิจัยด้านกายภาพของแผนกผู้ป่วยนอกแผนกสูตินรีเวชและกุมารเวช จึงดำเนินการวิจัยโดยเข้าศึกษาในพื้นที่ของโรงพยาบาลที่มีลักษณะการให้บริการที่แตกต่างกัน 3 ประเภท ได้แก่ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพ การวางผัง ลักษณะการใช้พื้นที่และปัญหาของพื้นที่ให้บริการตรวจโรคและส่วนเกี่ยวเนื่องแผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวช และหาปัจจัยที่ส่งผลต่อลักษณะทางกายภาพและการวางผังของแผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวช ผลการศึกษาพบว่า โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์มีการแบ่งแผนกสูติกรรมและนรีเวชกรรมออกจากกัน เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้งานมาก แตกต่างจากโรงพยาบาลประเภทอื่น ในแผนกกุมารเวชของโรงพยาบาลกรณีศึกษาเกือบทุกแห่งมีการแบ่งพื้นที่พักคอยของผู้ป่วยเด็กสุขภาพดี และเด็กป่วยออกจากกัน ปัจจัยที่ส่งผลต่อการออกแบบแผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวชของประเภทโรงพยาบาลที่แตกต่างกัน คือจำนวนผู้ใช้งานของโรงพยาบาลแต่ละประเภทซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ในแผนกสูตินรีเวชและกุมารเวชมีขนาดแตกต่างกันเพื่อมารองรับจำนวนผู้ใช้งานตามประเภทโรงพยาบาลนั้นๆ อีกหนึ่งปัจจัยคือขั้นตอนการให้บริการ เนื่องจากโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลรัฐมีจำนวนผู้มารับบริการจำนวนมาก ขั้นตอนการให้บริการจำเป็นต้องกระจายผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชนที่มีจำนวนผู้มารับบริการน้อยกว่าโรงพยาบาลทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว ปัญหาที่พบจากการสัมภาษณ์ผู้ใช้งานได้แก่ พื้นที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานและพื้นที่ที่ออกแบบมาไม่ตรงกับการใช้งาน ดังนั้นในอนาคตหากการออกแบบได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะทำให้แผนกที่ถูกออกแบบมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


กระบวนการก่อสร้างเรือนปกาเกอะญอแบบดั้งเดิมกรณีศึกษาโครงการบ้านวัฒนธรรมบ้านโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี, พงศ์ชวิน อุดหนุนสมบัติ Jan 2018

กระบวนการก่อสร้างเรือนปกาเกอะญอแบบดั้งเดิมกรณีศึกษาโครงการบ้านวัฒนธรรมบ้านโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี, พงศ์ชวิน อุดหนุนสมบัติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวปกาเกอะญอมาเป็นเวลานาน ภายหลังการขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานชาวปกาเกอะญอได้รับผลกระทบจากการจัดสรรพื้นที่ทำกินทำให้วิถีของการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป จากการสำรวจพื้นที่ผลกระทบดังกล่าวส่งผลต่อด้านสถาปัตยกรรมของชาวปกาเกอะญอเป็นหลัก ผู้วิจัยเล็งเห็นความสำคัญในการจดบันทึกเก็บรายละเอียดการก่อสร้างเรือนปกาเกอะญอแบบดั้งเดิม เพื่อให้ภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมแขนงนี้ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา จึงได้ทำการศึกษาร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการก่อสร้างเรือนปกาเกอะญอแบบดั้งเดิมภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในชุมชนปกาเกอะญอ บ้างโป่งลึก - บางกลอย จังหวัดเพชรบุรี บนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจดบันทึกและวิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่ได้จากการศึกษากระบวนการก่อสร้าง เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือนในหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยในอนาคต โดยลงพื้นที่เพื่อจดบันทึกตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง ตลอดจนถึงหลังการก่อสร้าง โดยเน้นความสำคัญถึงเรื่องเทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิมของช่างปัจจุบันภายในหมู่บ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างทักษะแรงงานกับวันและเวลาในการก่อสร้าง และความสัมพันธ์ของการเตรียมวัสดุกับขั้นตอนการก่อสร้าง จากการศึกษาพบว่ากระบวนการก่อสร้างเรือนปกาเกอะญอดั้งเดิมใช้เวลาทั้งหมด 19 วัน ระบบโครงสร้างมีลักษณะเป็นแบบเรือนเครื่องผูกดั้งเดิม การก่อสร้างถูกดำเนินงานโดยช่างในหมู่บ้านซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ช่างอาวุโสภายในหมู่บ้าน ช่างประจำโครงการ และ แรงงานรับจ้างรายวัน


การศึกษาการเปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่ผู้ควบคุมงานตามสัญญาจ้างของโครงการอาคารหน่วยงานของรัฐ, พิชชานันท์ สวัสดิ์เอื้อ Jan 2018

การศึกษาการเปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่ผู้ควบคุมงานตามสัญญาจ้างของโครงการอาคารหน่วยงานของรัฐ, พิชชานันท์ สวัสดิ์เอื้อ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561เป็นต้นมา ขอบเขตหน้าที่ของผู้ควบคุมงานก่อสร้างหน่วยงานของรัฐ เป็นไปตามพระราชบัญญัติและระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (ฉบับใหม่) ซึ่งมีการแก้ไขจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 (ฉบับเดิม) จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนค่าบริการวิชาชีพและรายละเอียดงานตามข้อกำหนดโครงการ (TOR: Terms of Reference) เพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงศึกษาขอบเขตหน้าที่ตามรายละเอียด TOR ตามระเบียบฯว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 (เดิม) และระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. 2560 (ใหม่) มาศึกษาการเปรียบเทียบ เพื่อหาข้อสรุปของรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีวิธีดำเนินการวิจัยคือ 1) ศึกษาข้อมูลและทบทวนทฤษฎีเกี่ยวกับระเบียบการจัดจ้างผู้ควบคุมงาน และขอบเขตหน้าที่ของผู้ควบคุมงาน 2) เปรียบเทียบข้อกำหนดโครงการ (TOR) จากกรณีศึกษา ระหว่างระเบียบฯว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 จำนวน 5 โครงการ และ ระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ.2560 จำนวน 9 โครงการ 3) ประมวลผลและวิเคราะห์เพื่อสรุปผลการศึกษา จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า การระบุในข้อกำหนดโครงการ(TOR) ขอบเขตหน้าที่ของผู้ควบคุมงานเกินกว่าขอบเขตจากที่ระเบียบฯ(เดิม)กำหนด และพบว่าขอบเขตหน้าที่ของผู้ควบคุมงานตามข้อกำหนดโครงการ (TOR) ในระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ.2560 มีขอบเขตงานที่เพิ่มเติมจาก ระเบียบฯว่าด้วยการพัสดุ ปีพ.ศ.2535 (เดิม) คือ 1) เพิ่มเติมด้านบุคลากร 2) ข้อกำหนดการปฏิบัติงาน และเครื่องมือการบริหารงาน และ 3) ผู้ควบคุมงานเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เรื่อง ค่าซอฟต์แวร์ ค่าเช่าสำนักงานสนาม พร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ค่าใช้จ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องในกระหว่างการควบคุมงานก่อสร้าง ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าในการปรับเปลี่ยนค่าบริการวิชาชีพให้มีอัตราค่าบริการวิชาชีพเพิ่มสูงขึ้นตามพรบ. ส่งผลให้เกิดการพัฒนาการบริหารโครงการ ในเรื่องจำนวนและความชำนาญของบุคลากร ทั้งนี้กรณีศึกษาตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ.2560 บางโครงการเริ่มใช้แบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling : BIM) เข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารโครงการ เพื่อลดข้อผิดพลาดปัญหาข้อผิดในการก่อสร้าง จากผลวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ความซับซ้อนของโครงการมีผลต่อการระบุรายละเอียดขอบเขตงานใน TOR ดังนั้นโครงการหน่วยงานของรัฐ ควรมีมาตรฐานในการเขียนข้อกำหนด TOR เพื่อคัดเลือกผู้ควบคุมงานและรายละเอียดของเขตหน้าที่ ตามความซับซ้อนของโครงการ อย่างมีมาตรฐานเพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมงาน และประโยชน์สูงสุดของรัฐ


พัฒนาการแนวคิดและรูปแบบสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบในเขตพุทธาวาส : กรณีศึกษา ผลงานออกแบบของสถาปนิกยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2509-2553), พิมพ์พร ไชยพร Jan 2018

พัฒนาการแนวคิดและรูปแบบสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบในเขตพุทธาวาส : กรณีศึกษา ผลงานออกแบบของสถาปนิกยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2509-2553), พิมพ์พร ไชยพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาพัฒนาการแนวคิดและรูปแบบสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบในเขตพุทธาวาส ได้แก่ เจดีย์ อุโบสถ วิหาร และมณฑป ที่ออกแบบโดยสถาปนิกไทยยุคบุกเบิกซึ่งมีผลงานในช่วงพ.ศ. 2509-2553 ที่คัดเลือกมาจำนวน 10 คน เพื่อให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมวัดจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และสถาปัตยกรรม โดยมีสมมติฐานว่าจุดเปลี่ยนที่มีบทบาทสำคัญคือการก่อตั้งหลักสูตรการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมแบบสากลขึ้น การศึกษาวิจัยใช้การเปรียบเทียบระหว่างสถาปัตยกรรมวัดที่ออกแบบโดยสถาปนิกไทยยุคบุกเบิกกับสถาปัตยกรรมวัดในอดีตซึ่งทั้งหมดอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยอิงทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมแบบสากล กรณีศึกษาได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร การสำรวจ และการสัมภาษณ์แนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดจำนวน 53 หลัง จากวัด 42 แห่งทุกภูมิภาค และจำแนกกลุ่มลักษณะทางกายภาพตามประเด็นทางสถาปัตยกรรม ดังนี้ 1. ผังบริเวณวัดและผังบริเวณในเขตพุทธาวาส 2. รูปแบบทางสถาปัตยกรรม และการประดับตกแต่งและสัญลักษณ์ 3. การใช้สอย และที่ว่างภายใน และ 4. โครงสร้าง และวัสดุก่อสร้าง และนำมาวิเคราะห์เพื่อศึกษาปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง ผลการศึกษาสรุปว่าสถาปัตยกรรมวัดที่ทาการวิจัยมีความหลากหลายของรูปแบบและการใช้สอยและมีลักษณะเฉพาะอยู่เป็นจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมวัดไม่ได้เกิดขึ้นและจบลงตามลำดับเวลา แต่เกิดขึ้นพร้อมกันและขนานกันไปตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นจึงไม่สามารถจำแนกเป็นกลุ่มรูปแบบตามลำดับช่วงเวลาอย่างพัฒนาการประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมทั่วไปได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าสถาปนิกยุคบุกเบิกได้พัฒนาแนวคิดในการออกแบบจากการใช้ศาสตร์สถาปัตยกรรมแบบสากลมาทำความเข้าใจองค์ความรู้เดิม ทำให้มีมุมมองว่าวัดเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์ได้อย่างอิสระเหมือนกับสถาปัตยกรรมประเภทอื่น ๆ และสร้างสรรค์งานออกแบบที่มีรูปแบบตั้งแต่ประเพณีนิยมไปจนถึงรูปแบบใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงพร้อมกับการใช้สอยและที่ว่างภายใน รวมถึงการทดลองใช้โครงสร้างและวัสดุก่อสร้างใหม่ ซึ่งผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมวัดมีความเป็นปัจเจกตามแนวคิดและประสบการณ์ของสถาปนิก และยังคงพัฒนาตามแนวทางของแต่ละคนต่อไป


การจัดผังรูปแบบและการใช้สอยของส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยใน : กรณีศึกษา โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน, พิชญ์สินี จงยั่งยืนวงศ์ Jan 2018

การจัดผังรูปแบบและการใช้สอยของส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยใน : กรณีศึกษา โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน, พิชญ์สินี จงยั่งยืนวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หอผู้ป่วยในเป็นแผนกหนึ่งในโรงพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยส่วนบริการผู้ป่วยและญาติ ส่วนทำงานเจ้าหน้าที่ ส่วนสนับสนุนเจ้าหน้าที่ และหอผู้ป่วยในเป็นส่วนที่ให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน ในปัจจุบันการทำงานภายในหอผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี แต่มาตรฐานในการออกแบบพื้นที่ส่วนพยาบาลปัจจุบันอิงข้อมูลการใช้พื้นที่ในอดีต และมีความแตกต่างในการใช้งานแต่ละแผนก รวมถึงแต่ละประเภทโรงพยาบาลมีลักษณะการจัดพื้นที่ส่วนพยาบาลแตกต่างกัน ส่งผลให้เกณฑ์และมาตรฐานเดิมไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานพื้นที่ในปัจจุบัน การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการออกแบบของพื้นที่ส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยใน ศึกษาลักษณะการใช้งานพื้นที่ส่วนพยาบาล และเพื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อพื้นที่ส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยใน จากการศึกษาพบว่ามาตรฐาน และพบข้อจำกัดที่ใช้ในการออกแบบแต่ละประเภทโรงพยาบาลแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้การจัดผังรูปแบบและการใช้สอยพื้นที่ของแต่ละประเภทโรงพยาบาลมีลักษณะที่แตกต่างกัน รวมถึงการใช้งานพื้นที่ส่วนหัตถการของพื้นที่ส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยในแต่ละแผนกก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน และพบว่าในการออกแบบพื้นที่ส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยในมีปัจจัยที่ส่งผล คือประเภทโรงพยาบาล ประเภทหอผู้ป่วย ตำแหน่งที่ตั้งพื้นที่ส่วนพยาบาล จำนวนผู้ป่วย และจำนวนบุคลากร ดังนั้นพื้นที่ส่วนพยาบาลในแต่ละประเภทโรงพยาบาลมีสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยโรงพยาบาลเอกชนมีสัดส่วนพื้นที่ส่วนพยาบาลน้อยกว่าโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากการให้บริการเน้นพื้นที่ให้บริการผู้ป่วยเป็นหลักและมีความต้องการใช้สอยพื้นที่ใช้สอยน้อยที่สุดทั้งด้านขนาดและลักษณะพื้นที่ ส่วนโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์มีสัดส่วนพื้นที่ส่วนพยาบาลมากกว่าโรงพยาบาลรัฐเนื่องจากโรงเรียนแพทย์มีผู้ใช้งานที่หลากหลายและมีจำนวนบุคลากรมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ รวมถึงมีความต้องการใช้สอยพื้นที่ใช้สอยมากที่สุดทั้งด้านขนาดและลักษณะพื้นที่ ทั้งนี้ ระบบการทำงาน และการจัดการภายโรงพยาบาลก็ส่งผลต่อสัดส่วนพื้นที่ส่วนพยาบาลเช่นกัน


องค์ประกอบและรูปแบบทางกายภาพที่ส่งผลต่อการจัดการโรงอาหารภายในมหาวิทยาลัย กรณีศึกษาโรงอาหารส่วนกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มุจลินท์ สุพรรณชนะบุรี Jan 2018

องค์ประกอบและรูปแบบทางกายภาพที่ส่งผลต่อการจัดการโรงอาหารภายในมหาวิทยาลัย กรณีศึกษาโรงอาหารส่วนกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มุจลินท์ สุพรรณชนะบุรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ ที่มีทรัพยากรกายภาพพื้นฐานให้บริการแก่ทั้งนิสิต อาจารย์ บุคลากรทั่วไป โรงอาหารคือหนึ่งในทรัพยากรกายภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเป็นจำนวนมากและบ่อยครั้งที่สุดในแต่ละเทอมหรือปีการศึกษา ทางมหาวิทยาลัยได้มีการจัดเตรียมโรงอาหารเพื่อรองรับผู้ใช้บริการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14 โรงอาหาร บริหารโดยหน่วยงานส่วนกลางของมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของโรงอาหารทั้งหมด โรงอาหารส่วนกลางทั้ง 7 โรงอาหารมีบางแห่งที่ได้ผ่านการเปิดใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน โดยเปิดให้บริการมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ในระหว่างการเปิดให้บริการนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนชุดคณะทำงานรวมไปถึงมีการปรับเปลี่ยนสภาพทางกายภาพในหลายส่วนจากการใช้งานเดิมเพื่อให้สอดรับกับการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่มีความต้องการในจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยจากการสำรวจพบข้อจำกัดและอุปสรรคในพื้นที่อันเกิดจากสภาพทางกายภาพ จึงเป็นที่มาของการศึกษาถึงปัญหาและรูปแบบด้านกายภาพที่เกิดกับโรงอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในบทความวิจัยนี้ ในการนี้ได้คัดเลือกกรณีศึกษาคือโรงอาหารส่วนกลางที่บริหารโดยหน่วยงานส่วนกลางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงประจักษ์ (Empirical Research) แบบกรณีศึกษา (Case Study Approach) ที่ได้ทำการสำรวจและพบปัญหา จึงนำมาวิเคราะห์ร่วมกับตำราและเอกสารที่สืบค้น พบองค์ประกอบของโรงอาหาร 3 ประเภท คือ 1) องค์ประกอบด้านกายภาพ 2) องค์ประกอบด้านผู้ปฏิบัติงาน 3) องค์ประกอบด้านผู้ใช้งาน เมื่อนำองค์ประกอบข้างต้นมาแยกเป็นองค์ประกอบย่อยที่อยู่ในขอบเขตของการศึกษาเพื่อนำมาพิจารณาร่วมกับเกณฑ์ด้านสุขอนามัยและอาคารสถานที่ ปรากฏกรณีที่เกิดขึ้นเฉพาะสำหรับแต่ละองค์ประกอบย่อย เมื่อนำแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นเฉพาะข้างต้นมาวิเคราะห์และพิจารณาร่วมกันในกรณีศึกษาทั้ง 7 (โรงอาหารส่วนกลางทั้ง 7) พบรูปแบบและปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการด้านความสะอาดของโรงอาหารคือ 1) รูปแบบและตำแหน่งผังของร้าน 2) ระยะทางจากร้านค้าถึงจุดพักขยะใหญ่ 3) ระยะทางจากจุดคัดแยกภาชนะถึงที่ล้าง 4) วิธีการที่ปฏิบัติงานที่พื้นที่ปรุงและพื้นที่เตรียม 5) ระยะทางจากพื้นที่ปรุงและพื้นที่เตรียมถึงพื้นที่ขาย รูปแบบและปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการด้านความปลอดภัยของระบบที่ใช้ในโรงอาหารคือ 1) รูปแบบและตำแหน่งที่ติดตั้งท่อแก๊ส 2) ระยะทางจากห้องวางถังแก๊สรวมถึงจุดจ่ายแก๊ส 3) วิธีการกำหนดจุดวางถัง 4) วิธีการจ่ายแก๊ส รูปแบบและปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการด้านประสิทธิภาพของระบบที่ใช้ในโรงอาหารคือ 1) วิธีการที่ระบายควัน 2) ระยะทางจากจุดดูดควันถึงจุดระบายควัน ข้อสรุปจากการศึกษาครั้งนี้คือ 1) การจัดการด้านความสะอาด ประกอบไปด้วยองค์ประกอบจุดพักขยะ จุดคัดแยกภาชนะ จุดล้างภาชนะ จุดเตรียมวัตถุดิบ จุดปรุง จุดจำหน่าย 2) การจัดการด้านความปลอดภัย ประกอบไปด้วยองค์ประกอบระบบแก๊สหุงต้ม และ 3) การจัดการด้านประสิทธิภาพระบบ ประกอบไปด้วยองค์ประกอบระบบดูดควันระบายควัน ทั้ง 3 ส่วนนี้ล้วนส่งผลถึงประสิทธิภาพ สุขอนามัยและความปลอดภัยอันเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของโรงอาหาร การสำรวจตรวจสอบร่วมกับการกำหนดและวางแผนรูปแบบด้านกายภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการบริหารจัดการของโรงอาหารที่เป็นหนึ่งในทรัพยากรของมหาวิทยาลัย


การปรับประโยชน์ใช้สอยอาคารประวัติศาสตร์เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ กรณีศึกษา อาคารในพื้นที่อนุรักษ์ของกรุงเทพมหานคร, ภูรี อำพันสุข Jan 2018

การปรับประโยชน์ใช้สอยอาคารประวัติศาสตร์เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ กรณีศึกษา อาคารในพื้นที่อนุรักษ์ของกรุงเทพมหานคร, ภูรี อำพันสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การปรับประโยชน์ใช้สอยเป็นหนึ่งในวิธีการอนุรักษ์ด้วยการนำอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ถูกทิ้งร้าง หรือมีสภาพที่ไม่สามารถตอบสนองการใช้งานเดิมได้ มาปรับปรุงพร้อมกับปรับเปลี่ยนการใช้งาน ซึ่งในการปรับปรุงอาคารนั้นอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอาคารมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และการเลือกระดับของการอนุรักษ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับวิธีการนี้ คือเมื่อทำการปรับปรุงแล้วจะต้องคำนึงถึงการคงคุณค่าของอาคารให้ได้มากที่สุด หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะต้องส่งเสริมคุณค่าของอาคารให้เด่นชัดขึ้น วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการในการปรับประโยชน์ใช้สอยอาคาร ศึกษาการวางแนวคิด ศึกษาการออกแบบโปรแกรมการใช้สอย และศึกษาการวางผังพื้นที่ใช้สอย จากอาคารที่ได้รับการปรับประโยชน์ใช้สอยเป็นพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ กรณีศึกษาในการวิจัยนี้คืออาคารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ของกรุงเทพมหานคร 3 โครงการ อันประกอบด้วยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย และหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร กรอบทฤษฎีของการวิจัยนี้คือแนวคิดในเรื่องการปรับประโยชน์ใช้สอยและการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ ผลการศึกษาพบว่ากรณีศึกษาทั้ง 3 โครงการมีการดำเนินการเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของกระบวนการปรับประโยชน์ใช้สอยตามหลักการอนุรักษ์สากล เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดโครงการ การวางแผน การปรับปรุง และการดูแลหลังเปิดใช้งาน โดยกรณีศึกษาทั้ง 3 เป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการนำเอาอาคารประวัติศาสตร์ในลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เคยใช้งานเป็นสำนักงานมาปรับประโยชน์ใช้สอยใหม่ เนื่องจากอาคารประเภทนี้เป็นอาคารที่มีศักยภาพตามที่พื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์พึงมี ทั้งนี้กรณีศึกษาทั้ง 3 ได้รับการออกแบบพื้นที่ใช้สอยตามแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ โดยออกแบบในลักษณะของ"พื้นที่การเรียนรู้" ผสมผสานกับ "พื้นที่ทำงานร่วมกัน" ในการนี้แต่ละโครงการได้เลือกวิธีการอนุรักษ์หลายระดับอันประกอบด้วย การรักษาสภาพ การปรับปรุงและซ่อมแซม และการต่อเติม ซึ่งในภาพรวมของตัวอาคารยังคงรักษารูปลักษณ์ภายนอกเอาไว้ได้ ในขณะที่อาคารได้รับการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ที่ว่างภายใน งานระบบ และอุปกรณ์ประกอบอาคารเป็นหลัก จากการศึกษาการปรับประโยชน์ใช้สอยอาคารประวัติศาสตร์เพื่อใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ในพื้นที่อนุรักษ์ของกรุงเทพมหานคร นำมาสู่ข้อค้นพบที่ว่าการปรับประโยชน์ใช้สอยไม่ได้เป็นแค่วิธีการอนุรักษ์ในลักษณะแช่แข็งอาคารให้อยู่ในสภาพเดิม แต่การอนุรักษ์ด้วยวิธีการนี้ยังให้ความสำคัญกับคุณค่าและความแท้ของอาคารประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการใช้งานตามความต้องการในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ


การศึกษาคุณลักษณะที่ว่างของตรอกบริเวณชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร, วิสุทธิ์ นุชนาบี Jan 2018

การศึกษาคุณลักษณะที่ว่างของตรอกบริเวณชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร, วิสุทธิ์ นุชนาบี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาคุณลักษณะที่ว่างของ "ตรอก" ในเขตชุมชนเมืองเก่า ผ่านกรณีศึกษาชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการอยู่อาศัยทางสังคมของมนุษย์ ผ่านทฤษฎีทางจิตวิทยาสถาปัตยกรรมและการอยู่อาศัยสถาปัตยกรรมเป็นกรอบในการวิเคราะห์ งานวิจัยเริ่มต้นจากการศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องราวของของย่านและชุมชน สู่การศึกษาการใช้สอยที่ว่างภายในตรอก โดยอาศัยข้อมูลภาคสนามจากแผนที่แสดงการใช้สอยที่ว่างของตรอกในฐานะ "ทางแห่งการเชื่อมโยง" และ "ที่แห่งการปฏิสัมพันธ์" ด้วยการบันทึกพฤติกรรมการสัญจรบนตรอกโดยวิธีการสะกดรอยและการบันทึกพฤติกรรมการครอบครอบที่ว่างบนตรอกโดยวิธีการจับภาพชั่วขณะตามลำดับ ผ่านมิติของผู้ใช้งานตรอกประกอบด้วยคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ และมิติของเวลาทั้งในวันธรรมดาและวันสุดสัปดาห์ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างมิติทางกายภาพและการใช้สอยที่ว่างภายในตรอกในบทบาท "ทางแห่งชีวิต" และ "ที่แห่งชีวิต" ผ่านแผนที่แสดงความเข้มข้นของการใช้สอยที่ว่างภายในตรอก สู่การสังเคราะห์คุณลักษณะที่ว่างของตรอกในฐานะ "พื้นที่รองรับชีวิต" ซึ่งส่งผลให้ตรอกในชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดินเป็นพื้นที่รองรับการอยู่อาศัยทางสังคมที่มีชีวิตชีวา โดยสรุป สาระสำคัญของคุณลักษณะที่ว่างของตรอกบริเวณชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน ประกอบด้วย ที่ว่างที่ให้ประสบการณ์อันหลากหลาย ที่ว่างที่มีปฏิสันถารกับชีวิต ที่ว่างที่ซ่อนอยู่ในที่ว่าง ที่ว่างที่รองรับมิติการใช้สอยอันหลากหลาย และที่ว่างที่มีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนการใช้สอย


การประเมินประสิทธิภาพแสงธรรมชาติและการใช้พลังงานจากการออกแบบหิ้งสะท้อนแสงในอาคารสำนักงานตามเกณฑ์การประเมินอาคารเขียว ลีด เวอร์ชัน 4.0, ศิรวิชญ์ รงควิลิต Jan 2018

การประเมินประสิทธิภาพแสงธรรมชาติและการใช้พลังงานจากการออกแบบหิ้งสะท้อนแสงในอาคารสำนักงานตามเกณฑ์การประเมินอาคารเขียว ลีด เวอร์ชัน 4.0, ศิรวิชญ์ รงควิลิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอแนวทางการออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ภายในอาคารสำนักงาน โดยการลดการใช้พลังงานจากแสงประดิษฐ์ ด้วยการออกแบบหิ้งสะท้อนแสง และประเมินผลโดยใช้ค่า Spatial Daylight Autonomy (sDA) และ Annual Sunlight Exposure (ASE) ตามเกณฑ์ LEED V4 หัวข้อ Daylight ด้วยโปรแกรม Rhinoceros - Grasshopper - Ladybug Tools, Honeybee Tools ในการจำลองผล โดยมีตัวแปร คือ ระยะยื่นของหิ้งสะท้อนแสงภายนอกขนาด 0.30 เมตร 0.60 เมตร และ 0.90 เมตร ระยะติดตั้งต่ำจากฝ้าเพดาน 0.50 เมตร และ 1.00 เมตร องศาฝ้าเพดาน 0 องศา 15 องศา และ 30 องศา สัดส่วนพื้นที่ช่องเปิดต่อพื้นที่ผนัง 60% และ 100% ตำแหน่งทิศที่ติดตั้งหิ้งสะท้อนแสงทั้ง 8 ทิศ และการติดตั้งหิ้งสะท้อนแสงภายในระยะยื่นขนาด 0.30 เมตร โดยจำลองกับห้องภายในอาคารสำนักงาน กว้าง 9 เมตร ลึก 12 เมตร และสูง 3 เมตร ซึ่งผลการวิจัย ทุกกรณีศึกษามีค่า sDA ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด ส่วนค่า ASE มีกรณีศึกษาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งการมีระยะยื่นของหิ้งสะท้อนแสงภายนอกที่มากขึ้น ทำให้แสงสามารถเข้าสู่ภายในอาคารได้น้อยลง ส่งผลให้ค่า sDA และ ASE ลดลง การมีระยะติดตั้งต่ำจากฝ้าเพดานที่มากขึ้น ทำให้ค่า sDA และ ASE เพิ่มขึ้น องศาของฝ้าเพดานที่เพิ่มขึ้น ช่วยในการกระจายแสงเข้าสู่ภายในอาคาร มีผลให้ค่า sDA เพิ่มขึ้น แต่ไม่ส่งต่อค่า ASE สัดส่วนพื้นที่ช่องเปิดต่อพื้นที่ผนังที่มากขึ้น …


แนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบของโครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่ง ต่อชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี, พชร ภู่กำชัย Jan 2018

แนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบของโครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่ง ต่อชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี, พชร ภู่กำชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่งในพื้นที่ริมน้ำบริเวณอำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา จากการที่รัฐบาลปัจจุบันมีโครงการแผนพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ โดยโครงการแผนพัฒนาแม่บทกินพื้นที่ริมน้ำเป็นวงกว้างครอบคลุม 4 จังหวัด (Thaipublica , 2015) หน่วยงานราชการท้องถิ่นได้นำแผนพัฒนานี้ไปดำเนินการ โดยแบ่งโครงการเป็นส่วน ๆ ซึ่งพื้นที่กรณีศึกษาดำเนินการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ แต่ส่วนหนึ่งเกิดการทรุดตัวลงสร้างความเสียหายให้ผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น จากการลงสำรวจพื้นที่โครงการรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในแผนพัฒนาพื้นที่ริมน้ำนั้นพบว่าเกิดผลกระทบทางลบหลายด้าน โดยแบ่งออกเป็นทางกายภาพและผลกระทบทางทัศนคติ เช่น แนวเขื่อนทำให้วิถีชิวิตริมน้ำต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการมีส่วนร่วมภาคประชาชนไม่ได้เกิดขึ้นเท่าที่ควร จึงได้เกิดการตั้งคำถามถึงผลกระทบจากกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งกำหนดไว้เป็นกรอบให้หน่วยงานราชการต้องดำเนินการ โดยวิธีวิจัยเน้นการสัมภาษณ์เชิงลึกกับชุมชนริมน้ำในพื้นที่โครงการ โดยแบ่งผู้มีส่วนได้เสียเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทรุดตัว 2) ผู้อาศัยบริเวณโดยรอบเขื่อนแต่ไม่ได้รับความเสียหายและ 3) ผู้อาศัยในชุมชนใกล้เคียงกับชุมชนที่เขื่อนเกิดการทรุดตัว จากการศึกษาพบว่ากระบวนการมีส่วนร่วมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชุมชนต้องได้รับผลกระทบเหล่านั้นโดยไม่ทันตั้งตัว ผลวิจัยนี้ชี้ถึงผลกระทบจากโครงการที่ชุนชนไม่ได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐผู้ดำเนินโครงการเท่าที่ควร จึงได้นำเสนอแนวทางการมีส่วนร่วม และตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากภาครัฐในโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ เพื่อการบรรเทาผลกระทบทางลบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่งและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อื่น ๆ ต่อไป


การเดินทางเข้าสู่จุดหมายปลายทางของผู้โดยสารรถบัสในย่านเมืองเก่านครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, โพเงิน แหวนวงทอง Jan 2018

การเดินทางเข้าสู่จุดหมายปลายทางของผู้โดยสารรถบัสในย่านเมืองเก่านครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, โพเงิน แหวนวงทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษารูปแบบการเดินทางเข้าสู่จุดหมายปลายทางของผู้ที่ใช้รถบัสในย่านเมืองเก่านครหลวงเวียงจันทน์ มีวัตถุประสงค์คือ 1. เพื่อสำรวจรูปแบบการเดินทางเข้าสู่จุดหมายปลายทางของผู้ใช้บริการรถบัสในย่านเมืองเก่าในนครหลวงเวียงจันทน์ 2. วิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อรูปแบบการเดินทางเข้าสู่จุดหมายปลายทางของผู้ใช้รถบัส และ 3. เสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ รูปแบบของงานวิจัยนี้ มีการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากผู้ที่ใช้บริการรถโดยสารสาธาณณะ จำนวน 140 ตัวอย่าง โดยสามารถจำแนกผู้ใช้บริการออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ คนลาว และคนต่างชาติ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา สถิติไคสแควร์จากผลการศึกษาพบว่าผู้ใช้รถบัสส่วนใหญ่เดินเท้าเข้าสู่จุดหมายปลายทางในย่านเมืองเก่านครหลวงเวียงจันทน์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเดินเท้ามากกว่าคนลาว หลังจากรสบัสเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2017 คนลาวส่วนใหญ่ยังคงใช้รถยนต์เป็นหลักในการเดินทางเพื่อไปทำงาน การเดินทางด้วยรถบัสเป็นการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวและการซื้อสินค้าของผู้หญิงคนต่างชาติ ป้ายรถเมล์ที่มีคนเดินเยอะจึงมักเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ รวมถึงเป็นย่านพาณิชยกรรมการค้า ตลาด และโรงแรม เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเดินเท้า พบว่า คุณลักษณะของผู้เดินทาง ได้แก่ เพศ อายุ รายได้ เชื้อชาติ และลักษณะทางกายภาพบริเวณป้ายรถบัส ได้แก่ ป้ายและเครื่องหมายบอกทิศทางในเวลาเดิน ที่นั่งหรือผ่อนคลายในเวลาหยุดพัก ห้องน้ำ ความต่อเนื่องของกิจกรรม และความสะอาดของทางเท้ามีผลต่อการเดินเท้าเข้าสู่จุดหมายปลายทางอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษานำไปสู่ข้อเสนอแนะที่สำคัญในการออกแบบเมืองเพื่อส่งเสริมการเดินทางแบบไม้ใช้เครื่องยนต์ อาทิ การออกแบบป้ายสัญลักษณ์ที่อำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึงการออกแบบภูมิทัศน์ให้ทางเท้ามีต้นไม้ร่มรื่นน่าเดิน มีห้องน้ำ จุดนั่งพักระหว่างทางและมีกิจกรรมสองข้างทาง จะช่วยส่งเสริมการเดินเท้านำไปสู่การพัฒนาเมืองน่าอยู่และยั่งยืนต่อไป


แนวทางการออกแบบ และปรับปรุง ที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกรณีศึกษา ชมรมเพื่อนพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ณัฐ จิระอมรนิมิต Jan 2018

แนวทางการออกแบบ และปรับปรุง ที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกรณีศึกษา ชมรมเพื่อนพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ณัฐ จิระอมรนิมิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ประชากรผู้สูงอายุของโลกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรังที่มักเกิดกับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 8 ถูกพบว่าเป็นโรคพาร์กินสันก่อนอายุ 40 ปี ดังนั้นโรคพาร์กินสันจึงไม่ใช่โรคของผู้ป่วยสูงอายุเท่านั้น ดังนั้นการศึกษาแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะที่ดี โดยพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด ที่อยู่อาศัยที่มีความเหมาะสมสามารถส่งเสริมสภาพร่างกาย และจิตใจ ให้มีความพร้อมสู่การใช้ชีวิตในสังคมภายนอก ผลการศึกษาพบว่า 1) ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันร้อยละ 73 เคยได้รับอุบัติเหตุภายในที่พักอาศัย โดยเกิดเหตุในห้องนอนและทางเดิน ร้อยละ 40 ห้องนั่งเล่นร้อยละ 33 2) สาเหตุหลักมาจากอาการของโรคพาร์กินสันที่ก้าวขาไม่ออก และปัญหาการทรงตัว 3) ผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับอุบัติเหตุส่วนใหญ่พบว่าอยู่ในระยะการดำเนินอาการที่ 2 และ 2.5 จากทั้งหมด 5 ระยะ โดยผู้ป่วยและผู้ดูแล มีความระมัดระวังต่อการการเกิดอุบัติเหตุสูง สรุปผลการศึกษาพบว่า ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีข้อสำคัญดังนี้ 1) พื้นควรมีระดับที่เสมอกันทั้งบริเวณ 2) พื้นที่แต่ละส่วนควรมีความกระชับ กล่าวคือผู้ป่วยสามารถเดินจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งได้ในระยะที่สอดคล้องกับสภาพร่างกายของตัวผู้ป่วยเอง 3) การจัดผังทางเดินควรวางให้เรียบง่าย เป็นเส้นตรง ไม่ซับซ้อนหรือไม่ต้องให้ผู้ป่วยหมุนตัวบ่อย ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุให้กับผู้ป่วย 4) ประตู ควรเป็นบานเลื่อน และมีที่ให้ผู้ป่วยจับยึดขณะเปิด 5) ทางเดินภายในควรมีระยะทางเดินอย่างน้อย 1.20 ม. มีราวจับ หรือวางเฟอร์นิเจอร์ที่มั่นคงเพื่อให้ผู้ป่วยได้ยึดจับ


ประสิทธิภาพการลดการถ่ายเทความร้อนในระบบผนังด้วยฉนวน โดยพิจารณาอัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมด, จิราภา เดชจิระกุล Jan 2018

ประสิทธิภาพการลดการถ่ายเทความร้อนในระบบผนังด้วยฉนวน โดยพิจารณาอัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมด, จิราภา เดชจิระกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาค่าการต้านทานความร้อนของผนังภายนอกอาคาร เพื่อวางแนวทางในการปรับปรุงอาคารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประเมินความคุ้มค่าด้านการลงทุนในฉนวนความร้อนแต่ละชนิด โดยแบ่งอาคารเป็น 3 ประเภทตามกฎกระทรวง และมีช่วงระยะอัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดแบ่งเป็น 6 ระยะ เริ่มจาก 10% ไปถึง 35% มีช่วงระยะห่างของแต่ละทางเลือกที่ 5% การศึกษาใช้วิธีการวิเคราะห์ค่าการถ่ายเทความร้อนผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อประเมินประสิทธิภาพพลังงานของอาคาร (Building Energy Code Software, BEC) ทำการศึกษาระบบผนัง 4 ประเภท คือผนังก่ออิฐฉาบปูน, ผนังก่ออิฐมวลเบา, ผนังคอนกรีต และผนังก่ออิฐ 2 ด้าน เว้นช่องอากาศ 10 เซนติเมตร ผลการศึกษาพบว่าสำหรับอาคารที่มีการใช้งาน 9 และ 12 ชั่วโมงต่อวัน หากใช้วัสดุคอนกรีตเป็นผนังภายนอกอาคาร สำหรับอาคารที่มีอัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดเท่ากับ 10%, 15%, 20% และ 25% จำเป็นจะต้องติดตั้งฉนวนความร้อน ในขณะที่อาคารที่มีการใช้งาน 24 ชั่วโมง จำเป็นต้องติดตั้งฉนวนความร้อนที่อัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดเท่ากับ 15%, 20%, 25% และ 30% จึงสรุปได้ว่าผนังคอนกรีตมีความจำเป็นมากที่สุดในการเพิ่มประสิทธิภาพการลดการถ่ายเทความร้อนผ่านผนัง เนื่องจากมีค่าการถ่ายเทความร้อนผ่านผนังก่อนการติดตั้งฉนวนความร้อนที่ไม่ผ่านเกณฑ์เป็นจำนวนมากหากเปรียบเทียบกับระบบผนังประเภทอื่นๆ เมื่อวิเคราะห์มูลค่าปัจจุบัน (Life cycle Cost) ผนังคอนกรีตอาคารที่มีการใช้งาน 9 ชั่วโมงต่อวัน ควรติดตั้งฉนวนใยแก้ว 32 kg/m³ ความหนา 50 mm. สำหรับผนังคอนกรีตอาคารที่มีการใช้งาน 12 ชั่วโมงต่อวัน ที่อัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดเท่ากับ 10% และ 15% ควรติดตั้งฉนวนโพลิสไตรีน ความหนา 50 mm. และที่อัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดเท่ากับ 20% และ 25% ควรติดตั้งฉนวนใยแก้ว 32 kg/m³ ความหนา 50 mm. และสำหรับผนังคอนกรีตยอาคารที่มีการใช้งาน 24 ชั่วโมง ที่อัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดเท่ากับ 15% และ 25% ฉนวนใยแก้ว 32 kg/m³ …


เกณฑ์และหลักคิดในการออกแบบพุทธประทีปมหาสถูปเจดีย์, วัชรพงษ์ ชุมดวง Jan 2018

เกณฑ์และหลักคิดในการออกแบบพุทธประทีปมหาสถูปเจดีย์, วัชรพงษ์ ชุมดวง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้เป็นการทำความเข้าใจ หาเกณฑ์และหลักคิดในการออกแบบพุทธประทีปมหาสถูปเจดีย์ของมูลนิธิพระบรมธาตุ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ด้วยวิธีการศึกษาในหลักพุทธธรรม คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ ที่ปรากฏอยู่ในหลักอริยสัจ 4 และได้สรุปลงมาเป็นหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักในการเข้าถึงพุทธธรรม โดยศึกษาหลักหลักธรรมทางพุทธศาสนา โดยการค้นคว้าจากพระคัมภีร์ในขั้นปฐมภูมิ ได้แก่ พระไตรปิฎก ในขั้นทุติยภูมิ ได้แก่ ตำราวิชาการทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ได้ไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และได้เดินทางไปศึกษาดูงานและวิเคราะห์จากสถานที่จริงของพระสถูปเจดีย์ในอดีต เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการการออกแบบพื้นที่ที่เอื้อให้จิตมีความสงบระงับ จิตมีศีล จิตมีความตั้งมั่น จิตมีสมาธิ จิตได้รู้เห็นตามความเป็นจริงของธรรมชาติ จิตมีปัญญา มีความสะอาด สว่าง สงบเย็น ผลการศึกษาพบว่า หลักในการเข้าถึงพุทธธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเกณฑ์ในการออกแบบพุทธประทีปมหาสถูปเจดีย์ และมีหลักคิดอยู่ 4 ข้อ ได้แก่ 1. นิมิตหมายแห่งปัญญา คือ องค์พุทธประทีปมหาสถูปเจดีย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ 2. มณฑลศักดิ์สิทธิ์ คือ พื้นที่แห่งความสงบจิตตั้งมั่นของจิต 3. พื้นที่สัปปายะ คือ พื้นที่แห่งความสบายกายและสบายใจ โดยมีความสงบเย็นเป็นตัวชี้วัด 4. พื้นที่ที่เป็นสากล คือ พื้นที่ในการศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติธรรมอบรมพัฒนาจิต ตามหลักพุทธธรรมให้พ้นจากทุกข์ได้ทุกเวลา ทุกชาติพันธุ์ และทุกศาสนา สรุปผลของการศึกษา จึงได้หลักในการออกแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการยังประโยชน์ทางจิตวิญญาณ ไปสู่ชีวิตที่เป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์ มีความสัปปายะ ด้วยการทำให้จิตสงบระงับ มีศีล ให้จิตมีสมาธิตั้งมั่น ให้จิตรู้เห็นตามความเป็นจริงของธรรมชาติ มีปัญญาญาณ


ทัศนคติของผู้อยู่อาศัยต่อการอยู่อาศัยในอาคารชุดที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์: กรณีศึกษาโครงการแฮปปี้ คอนโด ลาดพร้าว 101 และโครงการเอ็ม จตุจักร, เชี่ยวชาญ ไพศาลธีระจิต Jan 2018

ทัศนคติของผู้อยู่อาศัยต่อการอยู่อาศัยในอาคารชุดที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์: กรณีศึกษาโครงการแฮปปี้ คอนโด ลาดพร้าว 101 และโครงการเอ็ม จตุจักร, เชี่ยวชาญ ไพศาลธีระจิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเพิ่มขึ้นของอาคารชุดที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากค่านิยมการเลี้ยงสัตว์ของคนเมือง งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของผู้อยู่อาศัยต่อการอยู่อาศัยในอาคารชุดที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ โดยศึกษาภาพรวมของอาคารชุด 13 แห่งในกรุงเทพมหานคร ใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด จากนั้นเลือกกรณีศึกษา 2 แห่ง คือโครงการแฮปปี้ คอนโด ลาดพร้าว 101 (HCL) และโครงการเอ็ม จตุจักร (MJJ) ใช้การสอบถามผู้อยู่อาศัย โดยแบ่งเป็นผู้มีสัตว์เลี้ยงแห่งละ 105 ชุด และผู้ไม่มีสัตว์เลี้ยงแห่งละ 105 ชุด รวม 2 แห่งเป็น 420 ชุด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ และค่าร้อยละ ผลการศึกษาพบว่า 1) ผู้มีสัตว์เลี้ยงและไม่มีสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 50 อยู่อาศัยเป็นคู่รักทั้งสมรส และไม่สมรส ซึ่งส่วนมากไม่มีบุตรถึงร้อยละ 95 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี ทั้งนี้กลุ่มผู้มีสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าถึงร้อยละ 60 ในขณะที่ผู้ไม่มีสัตว์เลี้ยงร้อยละ 90 เป็นเจ้าของห้องชุด 2) การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารชุด แบ่งได้ 3 ลักษณะ (1) สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ เช่น คลินิกสัตว์เลี้ยง หรือพื้นที่ขับถ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น (2) สิ่งอำนวยความสะดวกที่ให้สัตว์เลี้ยงใช้ร่วมกับคน ได้แก่ สวนรอบอาคาร และดาดฟ้าอาคาร (3) ไม่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้สัตว์เลี้ยง โดยสัตว์เลี้ยงไม่สามารถออกไปเดินนอกห้องชุดได้ ยกเว้นการอุ้มเท่านั้น 3) ทัศนคติของผู้มีสัตว์เลี้ยงใน HCL เห็นว่าไม่มีปัญหาทั้งก่อนและหลังเข้าอยู่อาศัย ในขณะที่ผู้ไม่มีสัตว์เลี้ยงของ HCL เห็นว่าเป็นปัญหาทั้งก่อนและหลังเข้าอยู่อาศัย ส่วนผู้มีสัตว์เลี้ยงและไม่มีสัตว์เลี้ยงใน MJJ เห็นว่าไม่มีปัญหาก่อนเข้าอยู่อาศัย แต่พบว่ามีปัญหาหลังเข้าอยู่อาศัย 4) ผู้ไม่มีสัตว์เลี้ยงมีความพึงพอใจต่ออาคารชุดน้อยกว่าผู้มีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะเรื่องความเหมาะสมของห้องชุดต่อการเลี้ยงสัตว์ การระบายอากาศ และการมีเพื่อนบ้านที่เลี้ยงสัตว์ ในขณะที่ผู้มีสัตว์เลี้ยงมีความพึงพอใจสูงในหลายด้าน ยกเว้นเรื่องการป้องกันเสียงเห่าหอนจากห้องข้างเคียง 5) ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้มีสัตว์เลี้ยงและไม่มีสัตว์เลี้ยงพบตรงกันคือ ได้ยินเสียงรบกวนของสัตว์เลี้ยงจากห้องข้างเคียง รองลงมาคือพบสัตว์เลี้ยงตัวอื่นขับถ่ายแล้วเจ้าของไม่ทำความสะอาด ส่วนปัญหาที่พบต่างกันคือ ผู้มีสัตว์เลี้ยงพบปัญหานิติบุคคลดูแลเรื่องสัตว์เลี้ยงไม่เต็มที่ ส่วนผู้ไม่มีสัตว์เลี้ยงพบปัญหาสัตว์เลี้ยงเห่าทำให้ตกใจเสียขวัญ อย่างไรก็ตามในภาพรวมผู้ไม่มีสัตว์เลี้ยงจะรู้สึกถึงปัญหามากกว่าผู้มีสัตว์เลี้ยง ผลการศึกษานี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของผู้อยู่อาศัยที่มีสัตว์เลี้ยงและไม่มีสัตว์เลี้ยงในอาคารชุดเดียวกัน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ไม่มีสัตว์เลี้ยงจะรู้สึกถึงปัญหามากกว่า โดยเฉพาะเรื่องเสียงรบกวนของสัตว์เลี้ยงจากห้องข้างเคียง ในขณะที่ผู้มีสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่พบปัญหาสัตว์เลี้ยงตัวอื่นขับถ่ายแล้วเจ้าของไม่ทำความสะอาด …


การจัดการที่พักแรงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในเขตเมืองกรุงเทพมหานคร, วิภาวี อังศุวัชรากร Jan 2018

การจัดการที่พักแรงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในเขตเมืองกรุงเทพมหานคร, วิภาวี อังศุวัชรากร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แรงงานก่อสร้าง เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมก่อสร้าง จากแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทำให้เกิดความต้องการแรงงานและที่พักแรงงานเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการหรือบริษัทรับเหมาก่อสร้าง จะต้องรับหน้าที่จัดเตรียมที่พักสำหรับแรง งานก่อสร้าง เพื่อเป็นแหล่งพักอาศัย ทำให้เกิดความสะดวกต่อการทำงานและการควบคุมบริหารงานก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากในการดำเนินงาน แต่จากการศึกษางานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า ลักษณะที่พักแรงงานก่อสร้าง ร้อยละ 70 มีการจัดพื้นที่และใช้วัสดุในการก่อสร้างต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ได้รับการจัดการเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยที่ดี รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่ควรได้รับ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิด วิธีการ ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการที่พักแรงงานก่อสร้างของ 2 บริษัทที่เป็นกรณีศึกษา ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีการจัดที่พักแรงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในเขตเมืองของกรุงเทพมหานคร โดยผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดที่พักแรงงาน รวมถึงทัศนคติของแรงงานก่อสร้าง และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ผลการศึกษาแบ่งได้เป็น 4 ส่วนหลัก ดังนี้ ส่วนที่ 1 แนวคิดในการจัดการที่พักแรงงานก่อสร้างของ 2 บริษัทที่เป็นกรณีศึกษา ผู้ดำเนินการจัดการที่พักแรงงานก่อสร้างโดยมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยการจัดที่พักแรงงานก่อสร้างให้มีสุขลักษณะ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งส่งผลให้แรงงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่วนที่ 2 วิธีการจัดการที่พักแรงงานก่อสร้าง ซึ่งแบ่งเป็น 12 ประเด็น ได้แก่ 1.การเลือกทำเลที่ตั้ง 2.การจัดผังบริเวณ 3.การก่อสร้าง (โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวก) 4.การจัดแรงงานเข้าพักอาศัย 5.การจัดการเดินทาง 6.การจัดการสุขลักษณะ 7.การจัดการสิ่งแวดล้อม 8.การจัดการความปลอดภัย 9.การบริการรักษาพยาบาล 10.กฎระเบียบและบทลงโทษ 11.การสื่อสารและอบรมให้ความรู้ 12.การจัดการงบประมาณ ส่วนที่ 3 ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการ พบว่า มีข้อจำกัดในเรื่องการหาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ภายใต้งบประมาณและพื้นที่ในเมืองที่จำกัด และปัญหาจากพฤติกรรมส่วนบุคคลของแรงงานเอง และส่วนที่ 4 ทัศนคติของแรงงานก่อสร้าง พบว่า แรงงานมีทัศนคติที่ดีต่อการพักอาศัยในที่พักที่จัดให้ทั้ง 2 บริษัทที่เป็นกรณีศึกษา


แนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ กรณีศึกษา ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร, หฤษฏ์ โคกผา Jan 2018

แนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ กรณีศึกษา ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร, หฤษฏ์ โคกผา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โครงสร้างประชากรไทยมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงควรปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมเพื่อลดอุบัติเหตุจากสภาพร่างกายที่เสื่อมลง แต่จากสภาพทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุพบว่ามีรายได้ไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยมีราคาสูงส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่มีความสามารถในการจ่ายเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมได้ งานวิจัยนี้จึงศึกษาลักษณะเศรษฐกิจ สภาพที่อยู่อาศัย และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกองทุนปรับปรุงที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุภายในชุมชนรุ่งมณีพัฒนา รวมถึงวิเคราะห์องค์ประกอบของกองทุนทั้งผลดีและผลเสียจากกองทุนในชุมชน เพื่อเสนอแนะแนวทางรูปแบบกองทุนเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มีความเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา จากข้อมูลการสอบถามผู้สูงอายุภายในชุมชน และสัมภาษณ์กรรมการระบบการเงินชุมชน ผู้เชี่ยวชาญจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และผู้ดูแลพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พบว่า กองทุนภายในชุมชนรุ่งมณีพัฒนามีกองทุนทั้งหมด 7 กองทุน โดยมี 3 กองทุนที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากติดระเบียบข้อบังคับของกองทุน ได้แก่ กองทุนรักษาดินรักษาบ้าน วิสาหกิจชุมชน และกองทุนแม่แห่งแผ่นดิน และอีก 4 กองทุนที่สามารถแก้ไขระเบียบข้อบังคับได้ ได้แก่ สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง สถาบันการเงินกองทุน กองทุนสวัสดิการ และกลุ่มสัจจะสตรี จากการสอบถามผู้สูงอายุในชุมชนพบว่า ร้อยละ 76.2 เห็นด้วยกับการมีกองทุนเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับรองรับผู้สูงอายุในชุมชนและยินดีจะออมเงินเพื่อใช้สำหรับปรับปรุงที่อยู่อาศัย ในส่วนของการสัมภาษณ์ ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการระบบการเงินชุมชน วิเคราะห์ได้ว่ากองทุนที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ไขระเบียบข้อบังคับ ให้เป็นแหล่งเงินทุนในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุกองทุนที่มีความเหมาะสมที่สุดคือ สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง และรองลงมาคือสถาบันการเงินกองทุนชุมชน จึงควรเสนอแนะแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ในชุมชนรุ่งมณีพัฒนา ได้แก่การปรับปรุงแก้ไขกองทุนเดิม ได้แก่ สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง และสถาบันการเงินกองทุน และในกรณีชุมชนที่ไม่มีระบบการเงินชุมชน เสนอควรให้จัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองเพื่อเป็นระบบการเงินชุมชนก่อนในเบื้องต้น เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุต่อไป


ติดตามผลที่ผู้อยู่อาศัยได้รับจากบ้านประหยัดพลังงานในโครงการบ้านจัดสรร กรณีศึกษาโครงการเสนาปาร์ค วิลล์ และโครงการเสนาพาร์คแกรนด์ รามอินทรา วงแหวน, มัลลิกา มงคลรังสฤษฎ์ Jan 2018

ติดตามผลที่ผู้อยู่อาศัยได้รับจากบ้านประหยัดพลังงานในโครงการบ้านจัดสรร กรณีศึกษาโครงการเสนาปาร์ค วิลล์ และโครงการเสนาพาร์คแกรนด์ รามอินทรา วงแหวน, มัลลิกา มงคลรังสฤษฎ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา แนวคิดของผู้ประกอบการที่ส่งผลต่อการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน ขนาด 135-259 ตารางเมตร รวมถึงศึกษาลักษณะการใช้งาน และทัศนคติของผู้อยู่อาศัยที่มีต่อรูปแบบบ้านประหยัดพลังงาน โดย วิธีการสัมภาษณ์จากผู้ประกอบการ และแจกแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่าง ที่เป็นผู้อยู่อาศัยในโครงการบ้านประหยัดพลังงานที่เป็น กรณีศึกษาทั้ง 2 โครงการ ได้แก่ เสนาพาร์ควิลล์ และ เสนาพาร์คแกรนด์ จำนวน 90 ตัวอย่าง สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณและใช้การ สัมภาษณ์เชิงลึก 10 ตัวอย่างสำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ การศึกษาแนวความคิดบ้านประหยัดพลังงาน ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและด้านงานระบบที่ส่งผลให้เกิดการประหยัด พลังงานภายในบ้าน ค้นพบว่า บ้านประหยัดพลังงานมีช่องเปิดระบายอากาศ และ สัดส่วนอาคารต่อที่ดิน สูงกว่ามาตรฐานกำหนดไว้ อีกทั้ง ระบบ Solar cell ที่ช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 700 - 4,100 ต่อเดือน ซึ่งจัดอยู่ในระดับค่าไฟฟ้าค่อนข้าง ไม่สูงมากหนักเมื่อเทียบกับบ้านขนาดเดียวกันในโครงการอื่นๆ อันนี้เป็นตัวแปรสำคัญต่อการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน ผลการสำรวจด้านครัวเรือน และการใช้งานพื้นที่พบว่าผู้อยู่อาศัยบ้านประหยัดพลังงานทั้ง 5 รูปแบบ ส่วนใหญ่มี สมาชิกในครัวเรือนจำนวน 4 คน มีรายได้ครัวเรือนประมาณ 100,000 ขึ้นไป ช่วงเช้า – ช่วงเย็น จะใช้งานส่วนพื้นที่ห้องรับแขกเป็น หลัก เฉลี่ยอยู่บ้านต่อวันเป็น 17 ชม. นอกจากนี้ผู้อยู่อาศัยทั้ง 5 รูปแบบ การใช้ระบบภายในบ้านที่คล้ายกัน คือ การใช้ เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า และแผงโซลาเซลล์ ผลที่ได้รับจากบ้านประหยัดพลังงาน (ก่อนอยู่) ทั้งด้านสถาปัตยกรรม และ ด้านระบบของบ้านประหยัดพลังงาน อยู่ในระดับปานกลาง และ ความพึงพอใจต่อบ้านประหยัดพลังงาน(อยู่อาศัย) ทั้งด้าน สถาปัตยกรรม และด้านระบบของบ้านประหยัดพลังงานอยู่ ในระดับมากการปรับปรุงด้านสถาปัตยกรรม 3 อันดับแรก คือ ปรับปรุง รูปแบบบ้านให้มีระแนงกันแดดเข้าถึงตัวบ้าน รองลงมาคือ รูปแบบบ้านน่าจะเหมาะสมกับราคามากกว่านี้ และ อยากให้ใช้สีกับตัว บ้านมีความโดดเด่นมากกว่านี้ ผู้อยู่อาศัย ต้องการให้เพิ่มแบตเตอรี่เก็บไฟตอนกลางคืน ข้อเสนอแนะด้านอื่นๆ อยากให้ปลูกต้นไม้ที่ …


ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะของผู้ใช้บริการกับประเภทร้านค้าในคอมมูนิตี้ มอลล์ กรณีศึกษา : โครงการเดอะ เซ้นส์ ปิ่นเกล้า และโครงการเออร์เบิน สแควร์, เสาวพร วรสินธพ Jan 2018

ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะของผู้ใช้บริการกับประเภทร้านค้าในคอมมูนิตี้ มอลล์ กรณีศึกษา : โครงการเดอะ เซ้นส์ ปิ่นเกล้า และโครงการเออร์เบิน สแควร์, เสาวพร วรสินธพ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การกำหนดประเภทของร้านค้าให้มีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายถือเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาโครงการคอมมูนิตี้ มอลล์ งานวิจัยนี้ศึกษาแนวคิดในการกำหนดประเภทร้านค้ารวมถึงลักษณะของผู้ใช้บริการโดยมีกรณีศึกษาคือ โครงการเดอะ เซ้นส์ ปิ่นเกล้า (SP) และโครงการเออร์เบิน สแควร์ (US) ใช้วิธีการสำรวจลักษณะทางกายภาพโครงการ สัมภาษณ์ผู้ประกอบการ และสอบถามผู้ใช้บริการ 300 คน วิเคราะห์โดยวิธีการทางสถิติและการถอดคำสำคัญจากบทสัมภาษณ์ ผลการศึกษาพบว่า 1) ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการเลือกทำเลที่ตั้งและการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้คอมมูนิตี้ มอลล์เป็นสถานที่ตอบสนองความต้องการของการใช้ชีวิต เน้นความสะดวกสบายและใกล้ชุมชน 2) ประเภทร้านค้าของทั้งสองโครงการทีมีความคล้ายคลึงกัน คือ มีซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสุขภาพและความงาม สถาบันกวดวิชา ธนาคารและตู้เอทีเอ็ม อย่างไรก็ตาม มีการจัดตราสินค้าของร้านค้าแต่ละประเภทแตกต่างกันตามกลุ่มเป้าหมาย 3) ลักษณะของผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ของโครงการ SP คือ กลุ่มอายุ 26-35 ปี มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ส่วนโครงการ US เป็นกลุ่มอายุ 18-25 ปี มีอาชีพนักเรียน/นักศึกษา ทั้งนี้ ร้านค้าที่มีการใช้บริการหลักคือ ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารรวมถึงร้านเครื่องดื่มและขนม 4) ประเภทร้านค้าที่จัดไว้ทั้งสองโครงการเป็นร้านค้าที่รองรับการใช้ชีวิตประจำวันและมีความหลากหลายของตราสินค้า อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของตราสินค้าส่งผลต่อการใช้บริการที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการเข้าใช้บริการและค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าประเภทร้านค้าที่มีอยู่ในคอมมูนิตี้ มอลล์ยุคนี้คือ ร้านอาหารและร้านเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม ซึ่งถือเป็นกลุ่มร้านค้าหลักนอกเหนือจากซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้ ตราสินค้าจะเป็นตัวบ่งชี้ลักษณะการใช้บริการของกลุ่มเป้าหมาย งานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้พัฒนาคอมมูนิตี้ มอลล์ โดยเฉพาะการเลือกที่ตั้งที่ควรสะดวกต่อการเดินทางและมีร้านค้าที่มีตราสินค้าตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของกลุ่มเป้าหมาย


โอกาสและข้อจำกัดของการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมโดยใช้แนวคิดสุขภาวะของผู้ประกอบการ ในเขตกรุงเทพมหานคร, ณิชารัตน์ อัครมณี Jan 2018

โอกาสและข้อจำกัดของการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมโดยใช้แนวคิดสุขภาวะของผู้ประกอบการ ในเขตกรุงเทพมหานคร, ณิชารัตน์ อัครมณี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันการคำนึงถึงสุขภาวะในการอยู่อาศัยเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโอกาสและข้อจำกัดในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมของผู้ประกอบการโดยใช้แนวคิดสุขภาวะ รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมจำนวน 131 คน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจำนวน 11 คน โดยใช้แบบสอบถาม และกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 4 บริษัท โดยใช้แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการถอดคำสำคัญ จัดกลุ่มคำตามความหมายและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ผลการศึกษาพบว่า 1) ความพึงพอใจเรื่องสุขภาวะในคอนโดมิเนียมที่ผู้อยู่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ให้คะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลางถึงมาก (ร้อยละ 76) โดยอายุต่ำกว่า 20 ปี มีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยมากที่สุด (4.27 คะแนน) 2) องค์ประกอบของลักษณะคอนโดมิเนียมที่ส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะในการอยู่อาศัย สามารถจำแนกได้ 8 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) คุณภาพอากาศ (2) ความสะดวก (3) สุนทรียภาพ (4) สภาวะน่าสบาย (5) การจัดการชุมชน (6) ความปลอดภัย (7) แสงสว่าง (8) การเลือกใช้วัสดุ 3) ในทัศนคติของผู้ประกอบการ มีโอกาสสูงในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่ส่งเสริมสุขภาวะ เพราะมีนโยบายเรื่องนี้อยู่แล้ว ประกอบกับแนวโน้มการคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดด้านการเงินการลงทุนที่ค่อนข้างสูง โดยเพิ่มขึ้นจาก (1) การออกแบบ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก พื้นที่ส่วนกลาง (2) วัสดุ รวมถึงข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีในการผลิตวัสดุที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาในอนาคตได้ และการสื่อสารทางการตลาด 4) องค์ประกอบของลักษณะคอนโดมิเนียมที่ส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะในการอยู่อาศัยที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่ามีโอกาสสูงในการทำได้จริงและมีคุณประโยชน์และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการลงทุนต่ำ (ระดับ A) เช่น ปัจจัยด้านความปลอดภัยเรื่อง Safety และ Secure ปัจจัยด้านการจัดการชุมชนเรื่องการบริหารจัดการที่ดีของนิติบุคคล เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจัยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมีการทำอยู่แล้วในโครงการปัจจุบัน ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ในทัศนคติของผู้ประกอบการพบว่ามีโอกาสสูงในการพัฒนาคอนโดมิเนียมที่ส่งเสริมสุขภาวะในการอยู่อาศัยในอนาคต ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดโดยเฉพาะด้านการเงินการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมค่อนข้างมาก โครงการส่วนใหญ่จึงอยู่ในระดับราคาสูง โดยผลการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ รวมถึงภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคอนโดมิเนียมที่ส่งเสริมสุขภาวะในการอยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้อยู่อาศัยในอนาคต


การพัฒนาโครงการอาคารชุดระดับราคาสูง ในเขตกรุงเทพมหานครของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี พ.ศ. 2550-2560, ธัญลักษณ์ พุ่มมาก Jan 2018

การพัฒนาโครงการอาคารชุดระดับราคาสูง ในเขตกรุงเทพมหานครของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี พ.ศ. 2550-2560, ธัญลักษณ์ พุ่มมาก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากการที่มีรถไฟฟ้า ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้น และการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาอาคารชุดตามแนวรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งบมจ.แสนสิริ ถือได้ว่าเป็นผู้นำในการพัฒนาตลาดอาคารชุดระดับราคาสูง และจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าตลาดอาคารชุดระดับราคาสูงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา การพัฒนาโครงการอาคารชุดระดับราคาสูงของ บมจ.แสนสิริ โดยศึกษาลักษณะการพัฒนาโครงการและการวางผังอาคารชุดระดับราคาสู วิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการพัฒนาโครงการ ด้วยวิธีการศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์ฝ่ายปฏิบัติงาน และฝ่ายผู้บริหาร จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการพัฒนาโครงการอาคารชุดระดับราคาสูงโดยแบ่งตามช่วงระยะเวลา พบว่า 1) ช่วงระยะเวลาที่ 1 (2550-2552) เป็นช่วงที่ บมจ.แสนสิริ มีกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเน้นพัฒนาโครงการอาคารชุดระดับราคาสูง ส่งผลให้ในมีการเปิดตัวโครงการอาคารชุดระดับราคาสูงถึง 5 โครงการ แต่มีการเว้นช่วงในปี 2551 เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจซัพไพร์ม ในช่วงเวลานั้นมีห้องชุดขนาด 50 ตร.ม. ซึ่งราคาขายอยู่ที่ 100,000-140,000 บาท/ตร.ม. 2) ช่วงระยะเวลาที่ 2 (2553-2555) เป็นช่วงที่ตลาดอสังหาฯ มีการขยายตัว เนื่องมาจากมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า โดยในปี 2553 เกิดโครงการ 4 โครงการ ช่วงนี้ตลาดขยายตัว ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มสูง จึงส่งผลให้ขนาดของห้องชุดมีขนาดเล็กลง คือ 40 ตร.ม. ตั้งราคาขายอยู่ที่ 120,000-195,000 บาท/ตร.ม. 3) ช่วงระยะเวลาที่ 3 (2556-2557) เป็นช่วงที่ตลาดอาคารชุดมีการขยายตัว ทำในปี 2556 ที่ดินมีราคาเพิ่มสูงมากขึ้น ส่งผลให้มีขนาดห้องชุดเล็กลงถึง 30 ตร.ม. ตั้งราคาขายอยู่ที่ 180,000 บาท/ตร.ม. เนื่องจากราคาที่ดินสูงมาก จึงทำให้ช่วงระยะเวลานี้ บมจ.แสนสิริ เน้นไปพัฒนาโครงการอาคารชุดระดับอื่น และเริ่มทำการขยายฐานลูกค้าไปยังชาวต่างชาติ 4) ช่วงระยะเวลาที่ 4 (2558-2560) เป็นช่วงเวลาที่ตลาดอสังหาฯเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาการเมืองในปี 2557 และหลังจากนั้นภาครัฐได้มีนโยบายการสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า ทำให้ตลาดอสังหาฯมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาที่ดินในเมืองเริ่มเหลือน้อย และมีราคาแพง ทำให้ บมจ.แสนสิริ มีการร่วมทุนกับ บมจ.บีทีเอส เพื่อพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการใช้ที่ดินของ บมจ.บีทีเอส และนอกจากนี้ยังทำให้ได้ข้อมูลลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้กลยุทธ์การตลาดสามารถมุ่งเป้าไปยังกลุ่มลูกค้าได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นผลให้มีการพัฒนาโครงการห้องชุดพักอาศัยระดับราคาสูงแบ่งเป็น 2 ขนาด ได้แก่ ห้องชุดขนาดเฉลี่ย …


ทัศนคติและความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัยเจเนอเรชั่นวายต่อพื้นที่ส่วนกลางด้านนันทนาการในอาคารชุด กรณีศึกษา บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), ธัญญ์นารี ชัยชาญ Jan 2018

ทัศนคติและความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัยเจเนอเรชั่นวายต่อพื้นที่ส่วนกลางด้านนันทนาการในอาคารชุด กรณีศึกษา บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), ธัญญ์นารี ชัยชาญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บริษัท แอล.พี.เอ็น. ให้ความสำคัญต่อพื้นที่ส่วนกลางด้านนันทนาการจากกลยุทธชุมชนน่าอยู่ เพื่อคนทุกวัยอาศัยร่วมกันอย่างมีความสุข โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน หรือคนเจเนอเรชั่นวาย (GenY) ในปัจจุบัน ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2524 - 2543 งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพและองค์ประกอบของพื้นที่ส่วนกลางด้านนันทนาการ และ ศึกษาทัศนคติและความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัยเจเนอเรชั่นวาย โครงการกรณีศึกษา 5 SUB BRAND ด้วยการสังเกต, ถ่ายภาพ, การสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และแจกแบบสอบถามผู้อาศัยเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ส่วนกลางด้านนันทนาการมีองค์ประกอบ 9 ประเภท โดยใช้พื้นที่ระหว่างร้อยละ 5-8 ของพื้นที่โครงการ แยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ (1)พื้นที่ที่ใช้ทำกิจกรรมอเนกประสงค์ เช่น ทำบุญตักบาตร, งานเทศกาลประจำปี เป็นต้น (2)พื้นที่สำหรับใช้ทำกิจกรรมเฉพาะ เช่น ว่ายน้ำ, อ่านหนังสือ, ออกกำลังกาย เป็นต้น โดยมีตำแหน่งการวาง 2 จุดคือ (1)อยู่ชั้น 1 ของโครงการ โดยประเภทพื้นที่ที่วางไว้ที่ชั้น 1 เหมือนกันทุกโครงการคือ สวน/ลานกิจกรรม และ สนามเด็ก และ (2)วางไว้ชั้นอื่น ๆ ในตัวอาคาร โดยประเภทพื้นที่ที่วางไว้ที่ชั้นอื่น ๆ เหมือนกันทุกโครงการคือ ฟิตเนส และแต่ละโครงการมีความแตกต่างกันในด้านความครบครัน, ตำแหน่งการจัดวาง, ขนาดพื้นที่ และแนวความคิดในการออกแบบ ด้านผู้อาศัยเจเนอเรชั่นวายพบว่า มีบุคลิกเด่นชัด 4 ลักษณะ คือ (1)ชอบพบปะพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนชอบทีมเวิร์ค ในกรณีศึกษา 1, (2)ชอบการมีส่วนร่วม ในกรณีศึกษา 2, (3)มีความสมดุลในการทำงานและใช้ชีวิต ในกรณีศึกษา 3 และ 5, (4)รักอิสระ ในกรณีศึกษา 4 ผู้อยู่อาศัยเจเนอเรชั่นวายมีความพึงพอใจรวมต่อพื้นที่ส่วนกลางด้านนันทนาการในระดับมาก 4 โครงการคือ กรณีศึกษา 1, 2, 3 และ 4 โดยกรณีศึกษา 5 …


สภาพการอยู่อาศัยของผู้ค้าแผงลอยอาหารในย่านเยาวราช, นนธวัช วรมงคลชัย Jan 2018

สภาพการอยู่อาศัยของผู้ค้าแผงลอยอาหารในย่านเยาวราช, นนธวัช วรมงคลชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เยาวราชเป็นแหล่งแผงลอยอาหารกลางคืนที่มีชื่อเสียง และมีรูปแบบการค้านอกระบบที่มีการประกอบอาชีพเชื่อมโยงกับที่พักอาศัย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการอยู่อาศัยของผู้ค้าแผงลอยอาหารบนถนนเยาวราชเป็นกรณีศึกษา รวบรวมข้อมูลโดยการสำรวจและสัมภาษณ์ กระบวนการประกอบอาชีพแผงลอยอาหาร สภาพสภาพสังคม เศรษฐกิจ และที่อยู่อาศัย ของผู้ค้าแผงลอยอาหารแบบมีโครงสร้าง จำนวน 93 ตัวอย่าง ร่วมกับการสำรวจที่พักอาศัยของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 25 ตัวอย่าง เพื่อศึกษาการอยู่อาศัยและการใช้พื้นที่ประกอบอาชีพร่วมกับการอยู่อาศัย และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงปริมาณและพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า 1). ผู้ค้าแผงลอยอาหารที่เป็นเจ้าของกิจการ ประกอบอาชีพและอยู่อาศัยในย่านเยาวราชมานานกว่า 20 ปี ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 62.4 และเป็นกลุ่มคนที่สืบทอดธุรกิจจากรุ่นพ่อแม่ ขณะที่ร้อยละ 37.6 เป็นกลุ่มคนต่างถิ่นย้ายเข้ามาทำการค้าในย่านเยาวราชมากขึ้น 2). ผู้ค้าแผงลอยอาหารส่วนใหญ่พักอาศัยในอาคารพาณิชย์ ห้องเช่าและทาวน์เฮาส์ ตามลำดับ ซึ่งตั้งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากแหล่งประกอบอาชีพแผงลอยอาหาร ส่วนลูกจ้างพักอาศัยอยู่ระยะห่างไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากย่านเยาวราช 3). ผู้ค้าแผงลอยอาหารใช้ที่พักอาศัยเพื่อทั้งการอยู่อาศัยและจัดเตรียมอาหารเพื่อไปขายที่แผงลอยที่เยาวราช โดยส่วนใหญ่ใช้พื้นที่เปิดโล่งของอาคารสำหรับการจัดเตรียมและปรุงอาหาร ทั้งนี้พบว่าอาคารพาณิชย์และห้องเช่า มีพื้นที่เปิดโล่งไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ ทำให้มีการใช้พื้นที่อเนกประสงค์ภายในอาคารในการจัดเตรียมอาหารเพื่อการค้าและการอยู่อาศัยร่วมกัน แต่ปรับเปลี่ยนตามเวลาใช้งาน รวมถึงมีการใช้พื้นที่นอกอาคารที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น หน้าห้อง ทางเดิน ในการจัดเตรียมอาหาร ในขณะที่ทาวน์เฮาส์มีพื้นที่แยกส่วนระหว่างการอยู่อาศัยและการประกอบอาชีพอาหาร งานวิจัยนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจสภาพการอยู่อาศัย สภาพสังคม เศรษฐกิจ และกระบวนการประกอบอาชีพของผู้ค้าแผงลอยอาหารในย่านเยาวราช สามารถเป็นแนวทางให้ภาครัฐ นักพัฒนา และผู้ค้าแผงลอยอาหาร ในการนำข้อเสนอแนะการจัดการพื้นที่ประกอบอาชีพทั้งบริเวณแผงลอย และที่พักอาศัย ไปใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดสุขอนามัยและความปลอดภัยทั้งการอยู่อาศัยและการประกอบอาชีพอาหารแผงลอยต่อไป


การตัดสินใจของผู้บริโภคในการเลือกคอนโดมิเนียมบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย มหิดล ศาลายา : กรณีศึกษา โครงการไอคอนโด ศาลายา, โครงการอิลิท ศาลายา และ โครงการวีคอนโด ศาลายา, พิมพ์ประไพ อุดมปละ Jan 2018

การตัดสินใจของผู้บริโภคในการเลือกคอนโดมิเนียมบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย มหิดล ศาลายา : กรณีศึกษา โครงการไอคอนโด ศาลายา, โครงการอิลิท ศาลายา และ โครงการวีคอนโด ศาลายา, พิมพ์ประไพ อุดมปละ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การพัฒนาคอนโดมิเนียมบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มสูงขึ้น และขณะเดียวกันผู้ซื้อมีพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไปจากอดีต งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะและการตัดสินใจเลือกคอนโดมิเนียมโดยรอบมหาวิทยาลัย มหิดล ศาลายา (ม.มหิดล ศาลายา) ของผู้ซื้อและผู้เช่ารวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างในโครงการกรณีศึกษา 3 โครงการ จํานวน 433 คน ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างผู้ที่เลือกคอนโดมิเนียมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ซื้อมีร้อยละ 54 ขณะที่กล่มผู้เช่ามีร้อยละ 46 ทั้งนี้กลุ่มผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นผู้มีครอบครัวแล้วอยู่ในวัยทำงานโดยมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เจ้าของกิจการ และรับราชการ ขณะที่กลุ่มผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาถึงร้อยละ 93 โดยมีค่าเช่าประมาณ 7,000 – 9,000 บาทต่อเดือน 2) ผู้ที่ซื้อคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ร้อยละ 68 ต้องการซื้อเพื่อลงทุนและเก็บเป็นทรัพย์สิน รองลงมาคือซื้อเพื่ออยู่อาศัยร้อยละ 31 และที่เหลือเป็นการเก็งกำไร ทั้งนี้ พบว่ากลุ่มที่ซื้อเพื่อการลงทุนมักเป็นการซื้อให้บุตรพักอาศัยระหว่างศึกษา (ร้อยละ 75) และปล่อยเช่าต่อหลังจากบุตรจบการศึกษาแล้ว 3) ปัจจัยในการเลือกคอนโดมิเนียมของทั้งผู้ซื้อและผู้เช่ามีความคล้ายคลึงกันคือพิจารณาจากทำเลที่ตั้ง และราคาเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เช่ามีเหตุผลในการเลือกเช่าโดยพิจารณาจาก 1.สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน 2.มีความปลอดภัยมากกว่า และ 3.ราคาเช่าใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับอพาร์ทเม้นท์ นอกจากนี้ยังพบว่าสิ่งอำนวยความสะดวกที่กลุ่มซื้อและกลุ่มผู้เช่าให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือที่จอดรถ จากการศึกษาสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการซื้อคอนโดมิเนียมรอบ ม.มหิดล ศาลายา ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักซื้อคอนโดมิเนียมไว้เพื่อลงทุนโดยเฉพาะการนำไปปล่อยเช่าในราคาค่าเช่าสูงกว่าอพาร์ทเม้นท์โดยรอบ นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการเลือกเช่าคอนโดมิเนียมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงความปลอดภัยที่มากกว่าที่อยู่อาศัยเช่าทั่วไป ดังนั้นงานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่จะเลือกทำเลที่ตั้ง และการออกแบบโครงการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคดังกล่าว


การดำเนินงานในรูปแบบบริษัทเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า: กรณีศึกษาชุมชนริมน้ำจันทบูร จ.จันทบุรี, พชรพร ภุมรินทร์ Jan 2018

การดำเนินงานในรูปแบบบริษัทเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า: กรณีศึกษาชุมชนริมน้ำจันทบูร จ.จันทบุรี, พชรพร ภุมรินทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องการดำเนินงานในรูปแบบบริษัทเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า กรณีศึกษาชุมชนริมน้ำจันทบูร จ.จันทบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์กลไกการดำเนินงานในรูปแบบบริษัทเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ในย่านเมืองเก่า พร้อมกับถอดบทเรียนของการดำเนินงาน โดยเลือกกรณีศึกษาชุมชนริมน้ำจันทบูร ซึ่งมีการดำเนินงานในการสนับสนุนการอนุรักษ์ ของบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ที่เป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยการระดมทุนของชาวชุมชนและผู้สนับสนุนภายนอกพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการอาคารที่ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู โดยงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งมีการเก็บข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสำรวจพื้นที่ การสังเกตการณ์ รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียแบบมีโครงสร้าง ผลการศึกษาพบว่า ข้อดีของการดำเนินงานในรูปแบบบริษัทคือ มีความคล่องตัวในการดำเนินงานเพราะมีงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนและงบประมาณของบริษัทที่ได้จากการร่วมระดมทุนของผู้ถือหุ้น รวมถึงรูปแบบบริษัทเป็นการบริหารงานที่สามารถตรวจสอบได้ง่าย แต่ข้อจำกัดของการดำเนินงานในรูปแบบบริษัทคือ ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการในส่วนอื่นได้นอกจากตัวอาคารที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทเท่านั้น อีกทั้งยังพบว่าการดำเนินงานของบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ประสบความสำเร็จในด้านการเป็นธุรกิจสามารถดำเนินงานได้ด้วยตัวเองในเชิงการบริหารธุรกิจมาตลอด 5 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นกิจการเพื่อสังคม เนื่องจากยังไม่สามารถปันผลและคืนกำไรบางส่วนสู่สังคมได้ ข้อค้นพบอื่นๆ ได้แก่ การดำเนินงานในพื้นที่ชุมชนริมน้ำจันทบูรประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานตามขั้นตอนการอนุรักษ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป มีระยะเวลาในการพัฒนาการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์ขององค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการการสร้างความตระหนักรู้ ในเชิงการเงินพบว่า การระดมทุนน่าจะสามารถทำซ้ำได้ในพื้นที่ที่มีบริบทใกล้เคียงกับชุมชนริมน้ำจันทบูร ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม เช่น ความร่วมมือของชุมชน และความเข้าใจของผู้ร่วมทุน นอกจากนั้นแล้ว บริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ยังแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ของกิจการเพื่อสังคมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า ซึ่งในปัจจุบันพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้น


รูปแบบเชิงพื้นที่ของพื้นที่ซอยท่าน้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร, ปณัฐพรรณ ลัดดากลม Jan 2018

รูปแบบเชิงพื้นที่ของพื้นที่ซอยท่าน้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร, ปณัฐพรรณ ลัดดากลม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานครล้วนแต่เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ และ ย่านชุมชนริมน้ำดั้งเดิม ตั้งแต่การเริ่มตั้งถิ่นฐานของกรุงเทพฯ ทำให้มีพื้นที่ท่าน้ำแทรกตัวอยู่ตลอด พื้นที่ริมแม่น้ำ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดีในปัจจุบันพื้นที่ ท่าน้ำและบริเวณโดยรอบ มักมีการใช้งานที่ไม่เต็มศักยภาพ ทำให้พื้นที่ท่าน้ำเหล่านี้ไม่เอื้อ ประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ ย่าน และเมืองตามที่ควรจะเป็น งานวิจัยชิ้นนี้ ต้องการจำแนกประเภทพื้นที่ซอยท่าน้ำและศึกษารูปแบบเชิงพื้นที่ อัน ประกอบด้วย โครงข่ายการสัญจรและพื้นที่สาธารณะ การใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารรูปแบบมวล อาคารและพื้นที่ว่าง และรูปแบบพื้นที่มุมมอง ที่ส่งผลต่อรูปแบบการใช้พื้นที่อย่างอเนกประโยชน์ อันประกอบด้วย ความหลากหลายจากกลุ่มคนกิจกรรม และช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ผลการศึกษา พบว่า พื้นที่ซอยท่าน้ำจำแนกได้ 6 ประเภท และพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีรูปแบบการใช้พื้นที่อย่าง อเนกประโยชน์ จะมีรูปแบบเชิงพื้นที่ที่หลากหลายด้วย ผลการวิเคราะห์พบว่า โครงข่ายการสัญจรและพื้นที่สาธารณะมีผลต่อการเข้าใช้พื้นที่ อย่างอเนกประโยชน์มากที่สุด รองลงมาคือการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารและรูปแบบมวลอาคาร และพื้นที่ว่างตามลำดับ กล่าวคือ พื้นที่ซอยท่าน้ำที่มีโครงข่ายที่สานต่อเนื่องเป็นส่วนหนึ่งของย่าน และเมือง จะมีโอกาสเหนี่ยวนำผู้คนให้เข้ามาใช้งานพื้นที่ได้มากและหากพื้นที่ดังกล่าวมีการใช้ ประโยชน์ที่ดินและอาคารและรูปแบบมวลอาคารและพื้นที่ว่างที่หลากหลายด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้มี ความแตกต่างของกลุ่มคน กิจกรรมและช่วงเวลาในการเข้าใช้งาน


เศรษฐกิจเชิงเดี่ยวและความอ่อนไหวเปราะบางของเมือง กรณีศึกษาเทศบาลเมืองปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช, รวินทร์ ถิ่นนคร Jan 2018

เศรษฐกิจเชิงเดี่ยวและความอ่อนไหวเปราะบางของเมือง กรณีศึกษาเทศบาลเมืองปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช, รวินทร์ ถิ่นนคร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ฐานเศรษฐกิจมีอิทธิพลต่อการสร้างความหลากหลายของความเป็นเมืองนำมาสู่ผลทวีคูณและการเติบโตทั้งด้านกายภาพ, เศรษฐกิจ และสังคม เอื้อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมของเมืองในการเผชิญและรับมือกับผลกระทบภายนอกเชิงลบที่ไม่คาดคิด แต่ในทางตรงกันข้าม เมืองที่ไม่สามารถควบคุมการเติบโตของฐานเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่ก่อให้เกิดพลวัตเมืองเชิงลบและความเสื่อมถอยของเมือง ลดความหลากหลายของความเป็นเมือง นำมาซึ่งการสูญเสียทุนทั้งทางกายภาพ, เศรษฐกิจ และสังคม เพิ่มระดับความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและสังคมของเมือง ส่งผลให้เมืองอ่อนไหวเปราะบางต่อการเปิดรับภัยอันตรายจากภายนอก งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวและความอ่อนไหวเปราะบางของเมือง กรณีศึกษาคือ เทศบาลเมืองปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีฐานเศรษฐกิจหลักของเมืองเป็นเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวคือธุรกิจรังนกแอ่น ระเบียบวิธีวิจัยสามารถแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่1 การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสัณฐานเมืองจากการเติบโตของเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ส่วนที่2 การศึกษารูปแบบการกระจายตัวของระดับความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ-สังคม และระดับการเปิดรับภัยอันตรายเชิงพื้นที่ เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างแผนที่ดัชนีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและสังคม, แผนที่ดัชนีการเปิดรับภัยอันตราย และการกระจุกตัวของเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวจากธุรกิจรังนกแอ่น และส่วนที่3 การประเมินความสามารถในการปรับตัวเชิงสถาบันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ผลการศึกษาพบว่า การเติบโตของเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวจากธุรกิจรังนกแอ่นเป็นรากสาเหตุของการเสื่อมถอยของศูนย์กลางเมืองในปัจจุบันที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของพื้นที่ศูนย์กลางเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังแสดงได้จาก (1) การเปลี่ยนแปลงสัณฐานเมืองและการพัฒนาที่ถูกจำกัดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์อาคารเป็นอาคารสำหรับนกแอ่นทำรังซึ่งมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่แทรกตัวอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางเมือง ไม่ก่อให้เกิดลักษณะสัณฐานที่สามารถดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย (2) ค่าดัชนีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและสังคมมีระดับปานกลางค่อนข้างมากจนถึงระดับมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยพื้นที่อื่นๆของเมืองซึ่งมีอิทธิพลต่อระดับความอ่อนไหวเปราะบางของเมืองต่อการเปิดรับภัยอันตรายภายนอก ทั้งหมดเป็นผลมาจากความสามารถในการปรับตัวของสถาบันที่มีจำกัดในการควบคุมการเติบโตของเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวจากธุรกิจรังนกแอ่น ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญของสัณฐานเมืองและโครงสร้างประชากร ดังนั้นข้อเสนอแนะคือ การเติบโตของเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวจำเป็นอย่างยิ่งต้องถูกควบคุมและปรับตัวโดยสถาบัน


ความสัมพันธ์ของทุนทางสังคมกับการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติเมืองของแรงงานต่างชาติทักษะสูง, ณปรินทสิทธิ์ ปรีชาหาญ Jan 2018

ความสัมพันธ์ของทุนทางสังคมกับการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติเมืองของแรงงานต่างชาติทักษะสูง, ณปรินทสิทธิ์ ปรีชาหาญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบัน โลกอยู่ในยุคของเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy) ที่มีความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างความเติบโตและความมั่งคั่งของเศรษฐกิจ โดยมีทุนมนุษย์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในประเทศไทย รัฐบาลได้นำแนวคิด ประเทศไทย 4.0 มาเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่ต้องการเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม แต่ทว่าทุนมนุษย์ของประเทศไทยยังมีอยู่จำกัด โดยเฉพาะการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลในด้านเทคโนโลยีและทักษะชั้นสูงในด้านต่างๆ นอกเหนือจากการทำงานที่ต้องการความรู้และความเชี่ยวชาญชั้นสูงให้กับองค์กรและบริษัทต่างๆ แล้ว แรงงานต่างชาติทักษะสูง ยังเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ ด้วยการเผยแพร่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ (Knowledge spillover) ที่ช่วยเสริมสร้างความรู้และความเชี่ยวชาญให้กับทรัพยากรบุคคลในประเทศไทย เพิ่มศักยภาพให้กับทุนมนุษย์ของประเทศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบกับภัยพิบัติหลากหลายรูปแบบ เช่น คลื่นสึนามิใน พ.ศ. 2547 อุทกภัยใน พ.ศ. 2554 และภัยพิบัติหมอกควัน รวมถึงจลาจลและความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลต่อความมั่นใจในการลงทุนในประเทศไทยของนักลุงทุนต่างชาติ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในการเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานต่างชาติทักษะสูง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มักมีทุนทางสังคม (Social capital) ต่ำเมื่อเทียบกับคนไทยที่อยู่ในท้องถิ่นในด้านการเตรียมตัวและรับมือภัยพิบัติ งานวิจัยนี้จึงเป็นงานวิจัยชิ้นแรกๆ ในการศึกษาทุนทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวและรับมือภัยพิบัติของแรงงานต่างชาติทักษะสูง โดยใช้กรณีศึกษาของแรงงานต่างชาติทักษะสูงในกรุงเทพมหานคร โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ด้วยการวิเคราะห์ทุนทางสังคมและวิเคราะห์โครงข่ายทางสังคม (Social network analysis) จากการทำการสัมภาษณ์เชิงลึกของกลุ่มตัวอย่าง 20 คนที่ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ สถานฑูต มหาวิทยาลัย และบริษัทข้ามชาติ ผลของงานวิจัยพบว่า ทุนทางสังคมของแรงงานต่างชาติทักษะสูงไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร แต่เกิดขึ้นที่สถานที่ทำงานและสถานที่พักผ่อน ดังนั้นการวางแผนการเตรียมตัวและรับมือภัยพิบัติของแรงงานต่างชาติทักษะสูงจึงควรให้ความสำคัญกับพื้นที่บริเวณสถานที่ทำงาน ซึ่งแตกต่างกับการวางแผนการเตรียมตัวและรับมือภัยพิบัติของคนในท้องถิ่นที่มีทุนทางสังคมในชุมชนสูง