Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Architecture Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Articles 1 - 30 of 586

Full-Text Articles in Architecture

การประเมินลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี, จิระดา มาพงษ์ Jan 2022

การประเมินลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี, จิระดา มาพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เกาะล้านมีภูมิทัศน์ที่สวยงามจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนเกาะล้านส่งผลให้มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่ชายหาด และก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะความเสียหายต่อลักษณะทางภูมิทัศน์ งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการวิเคราะห์องค์ประกอบที่ส่งผลต่อลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้านจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ หาดตายาย หาดทองหลาง หาดตาแหวน หาดสังวาลย์ หาดเทียน หาดแสม และหาดนวล โดยการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวทางการประเมินลักษณะทางภูมิทัศน์ที่พัฒนาโดยหน่วยงานของประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์ ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้านทั้ง 7 แห่ง คือ ทราย โขดหิน หิน กรวด ภูเขา ต้นไม้ สะพาน และอาคาร รวมทั้งองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ร่มชายหาด เก้าอี้ชายหาด และเสาไฟฟ้า เป็นต้น ในส่วนของกิจกรรมชายหาด ประกอบด้วย การถ่ายรูป การเล่นน้ำ การดำน้ำ การนั่งเรือกล้วย และการเล่นวอลเลย์บอล เป็นต้น โดยองค์ประกอบเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วทำให้เกิดลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชายหาด ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภทตามระดับของการพัฒนาที่แตกต่างกัน ได้แก่ ประเภทที่ 1 ชายหาดที่มีการพัฒนาน้อย ประเภทที่ 2 ชายหาดที่มีการพัฒนาปานกลาง และประเภทที่ 3 ชายหาดที่มีการพัฒนามาก


การวิเคราะห์ลักษณะทางภูมินิเวศ และ การเปลี่ยนแปลงของภูมินิเวศเมืองชายฝั่งทะเล : กรณีศึกษา เมืองกันตัง จังหวัดตรัง, ญาณิศา ปิยะกมลนิรันดร์ Jan 2022

การวิเคราะห์ลักษณะทางภูมินิเวศ และ การเปลี่ยนแปลงของภูมินิเวศเมืองชายฝั่งทะเล : กรณีศึกษา เมืองกันตัง จังหวัดตรัง, ญาณิศา ปิยะกมลนิรันดร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง เป็นพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำซึ่งน้ำจืดจากแม่น้ำและน้ำเค็มจากทะเลมาบรรจบและเกิดการผสมผสานกัน ทำให้ภูมินิเวศชะวากทะเลเป็นระบบที่ซับซ้อน เป็นพลวัต อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยที่ทำงานร่วมกันผ่านมิติเวลาและพื้นที่ เกิดเป็นรูปแบบ กระบวนการ และลักษณะของภูมินิเวศชะวากทะเล ประกอบด้วย โครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และพลวัตการเปลี่ยนแปลง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง ซึ่งเกิดจากทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและมนุษย์ และเพื่อเป็นพื้นฐานในการบ่งชี้ปัญหาและนำไปสู่การค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง โดยดำเนินการระบุโครงสร้างและความสัมพันธ์ของลุ่มน้ำและชะวากทะเล การจำแนกโครงสร้างและรูปแบบของลักษณะทางภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง และการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและรูปแบบของลักษณะทางภูมินิเวศกับการใช้ประโยชน์จากภูมินิเวศของคนในพื้นที่ ผลการวิจัยแสดงถึงลักษณะเฉพาะทางภูมินิเวศของชะวากทะเลในหลากหลายระดับ นิเวศบริการ เงื่อนไขในการตั้งถิ่นฐาน และศักยภาพในการฟื้นฟู ประกอบกันเป็นรากฐานของการวางแผนและจัดการภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง


ความสัมพันธ์ระหว่างภูมินิเวศแม่น้ำกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์: กรณีศึกษา แม่น้ำยมกับเมืองแพร่, ณัฐพงศ์ สิริสมพรคง Jan 2022

ความสัมพันธ์ระหว่างภูมินิเวศแม่น้ำกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์: กรณีศึกษา แม่น้ำยมกับเมืองแพร่, ณัฐพงศ์ สิริสมพรคง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แม่น้ำเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภูมิประเทศรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงให้ทรัพยากรแก่มนุษย์ นอกจากปัจจัยด้านทรัพยากรแล้ว ในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยังต้องคำนึงถึงเงื่อนไขจากผลกระทบของกระบวนการของแม่น้ำด้วย เช่น การหลากของน้ำตามฤดูกาลที่ทำให้เกิดที่ราบน้ำท่วมถึงและลานตะพักลำน้ำ ซึ่งเป็นรูปแบบทางธรณีสัณฐานที่มีคุณประโยชน์หลายด้าน โดยลานตะพักลำน้ำในที่ราบลุ่มหรือแอ่ง เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้สะดวก และพื้นที่มีระดับสูงทำให้ได้รับผลกระทบจากน้ำหลากน้อย วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขอบเขตภูมินิเวศแม่น้ำและความสัมพันธ์ระหว่างการตั้งถิ่นฐานของเมืองแพร่กับแม่น้ำยม โดยอาศัยพื้นฐานจากกรอบแนวคิดภูมินิเวศวิทยาและภูมินิเวศแม่น้ำ ใช้การวิเคราะห์ในเชิงพื้นที่ด้วยรูปตัดภูมิประเทศจากแบบจำลองความสูงเชิงเลข และข้อมูลธรณีวิทยา รวมถึงสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสิ่งปกคลุมดินจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า เมืองแพร่ตั้งอยู่บนลานตะพักแม่น้ำยมชิดกับแนวเขตที่ราบน้ำท่วมถึง เป็นการตั้งถิ่นฐานที่อยู่บนเงื่อนไขของปัจจัยเชิงนิเวศ แต่ในปัจจุบันเมืองแพร่มีการขยายตัวมากขึ้นจนขยายเข้าสู่พื้นที่แนวแม่น้ำยม และมีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยในที่ราบน้ำท่วมถึงอีกด้วย ความรู้ความเข้าใจที่ได้จากการศึกษานี้จึงจะเป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนการจัดการภูมินิเวศให้สอดคล้องกับปัจจัยทางภูมินิเวศของภูมินิเวศแม่น้ำ และการอยู่ร่วมกับแม่น้ำในอนาคต


รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการชลประทานของเมืองโบราณในประเทศไทย : กรณีศึกษาเมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่, ปุญชรัสมิ์ เอี่ยมประเสริฐกุล Jan 2022

รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการชลประทานของเมืองโบราณในประเทศไทย : กรณีศึกษาเมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่, ปุญชรัสมิ์ เอี่ยมประเสริฐกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ระบบชลประทานโบราณเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สำคัญประเภทหนึ่ง มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เพื่อการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม อีกทั้งยังส่งเสริมทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมให้แก่เมือง เมื่อเมืองถูกพัฒนาโดยขาดการคำนึงถึงระบบชลประทานโบราณ นำไปสู่การเกิดปัญหา เช่น น้ำท่วม น้ำแล้งและน้ำเน่าเสีย เป็นต้น วิทยานิพนธ์นี้ศึกษารูปแบบและการเปลี่ยนแปลงระบบชลประทานโบราณของเมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่ โดยใช้วิธีศึกษาจากการค้นคว้าเอกสารวิชาการ ศึกษาภาพถ่ายทางอากาศจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การสัมภาษณ์นักวิชาการที่สามารถให้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ การสำรวจพื้นที่ศึกษาเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นำข้อมูลทั้งหมดมาเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง และสรุปผลการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ระบบชลประทานโบราณเกิดจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงลักษณะภูมิศาสตร์และทำเลที่ตั้งของเมือง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์วัฒนธรรมและระบบนิเวศเมือง รวมทั้งทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ


ผลกระทบทางสายตาของโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟความเร็วสูงต่อแหล่งโบราณคดี จ.พระนครศรีอยุธยา, ธาริต อิ่มอภัย Jan 2022

ผลกระทบทางสายตาของโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟความเร็วสูงต่อแหล่งโบราณคดี จ.พระนครศรีอยุธยา, ธาริต อิ่มอภัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายตะวันออกเฉียงเหนือ มีการดำเนินโครงการ 2 ช่วง คือ ช่วงที่1 กรุงเทพมหานครถึงนครราชสีมา และช่วงที่ 2 คือ นครราชสีมาถึงหนองคาย โดยเส้นทางช่วงที่1 ตัดผ่านพื้นที่โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา งานวิจัยมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาผลกระทบทางสายตาของทางรถไฟและสถานีรถไฟที่มีต่อโบราณสถานโดยกำหนดพื้นที่ศึกษาจากรางรถไฟออกไปข้างละ 1 กิโลเมตร โดยเริ่มจากจุดศูนย์กลางของสถานีลงมา 3 กิโลเมตร และขึ้นไป 3 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 6 กิโลเมตร ในพื้นที่ศึกษาดังกล่าวมีพื้นที่มีโบราณสถานทั้งหมด 40 แห่ง แต่จะเลือกศึกษา 24 แห่งที่ยังเหลือหลักฐานทางโบราณคดีและยังไม่มีการศึกษามาก่อน ผลการวิจัยพบว่า จากโบราณสถานที่ศึกษา 24 แห่ง มีจำนวน 13 แห่งที่สถานีและรางรถไฟส่งผลกระทบต่อมุมมองของโบราณสถาน โดยในส่วนของการวิเคราะห์จะประเมินระดับผลกระทบ และลำดับความสำคัญของคุณค่าโบราณสถาน รวมทั้งเสนอแนวทางการออกแบบพืชพรรณโดยรอบพื้นที่


ทัศนคติของนิสิตต่อความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัย : กรณีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รินรดา พิทักษ์จำนงค์ Jan 2022

ทัศนคติของนิสิตต่อความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัย : กรณีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รินรดา พิทักษ์จำนงค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับว่ามีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสบการณ์การเดินภายในมหาวิทยาลัยและเป็นพื้นฐานการออกแบบมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน รวมถึงส่งผลต่อพฤติกรรมและการรับรู้สภาพแวดล้อมมหาวิทยาลัยของนักศึกษาด้วย วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจทัศนคติของนิสิตต่อความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัย โดยการพัฒนาเครื่องมือสำรวจที่มีรูปแบบเป็นแบบสอบถามออนไลน์สำหรับใช้เก็บข้อมูลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 ถึงชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์จริงในการเดินภายในมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติของความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยและพฤติกรรมการเดินและการรับรู้สภาพแวดล้อมของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเพื่อเพิ่มคุณสมบัติของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินในมหาวิทยาลัยได้ต่อไป ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้ง 85 คนเคยเดินเท้าภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งนิสิตส่วนใหญ่มีเหตุผลในการเดินเท้าคือความต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย จึงมักเดินทุกวันหรือเกือบทุกวัน ใช้เวลาในการเดินโดยประมาณไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเวลาพักกลางวัน 12.00 - 13.00 น. และมักจะเดินเป็นกลุ่มขนาดเล็ก 3 คนขึ้นไป และพบว่าคุณสมบัติของความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยสามารถจำแนกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) การเชื่อมต่อที่ครอบคลุมและมีความต่อเนื่อง 2) การเข้าถึง 3) ความปลอดภัย 4) ความสะดวกสบาย 5) สุนทรียภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าคุณสมบัติทางสภาพแวดล้อมของความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยที่มีความสำคัญมากที่สุดคือ ความปลอดภัย และคุณสมบัติทางสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกเดินมากที่สุดคือ ความสะดวกสบาย


การเปลี่ยนแปลงของสิ่งปกคลุมผิวดินในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง : กรณีศึกษาพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงแม่น้ำมูล ในอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี, ศุภวิชญ์ โรจน์สราญรมย์ Jan 2022

การเปลี่ยนแปลงของสิ่งปกคลุมผิวดินในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง : กรณีศึกษาพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงแม่น้ำมูล ในอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี, ศุภวิชญ์ โรจน์สราญรมย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แม่น้ำเป็นระบบที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและค้ำจุนชีวิตบนโลก และเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการเลือกพื้นที่เพื่อตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตำแหน่งของชุมชนในอดีตแสดงถึงการพึ่งพาและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขตามธรรมชาติ แตกต่างกับเมืองในปัจจุบันที่ไม่สนใจเงื่อนไขเหล่านั้น และพลวัตน้ำหลาก (Flood pulse) ที่เกิดขึ้นเป็นปกติตามธรรมชาติกลับถูกมองว่าเป็นปัญหาและสร้างความเสียหายให้แก่เมือง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจโครงสร้าง บทบาท การเปลี่ยนแปลง และพลวัตของภูมิทัศน์พลวัตน้ำหลาก เพื่อการกำหนดขอบเขตพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงแม่น้ำมูล และใช้เป็นขอบเขตในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมผิวดินภายในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงของแม่น้ำมูลในอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี วิทยานิพนธ์ฉบับนี้แสดงให้เห็นว่ามีเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมผิวดินที่เกิดจากการขยายตัวของเมืองบนพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง บทบาท และพลวัตน้ำหลากที่ดำเนินไปตามธรรมชาติ ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขตามธรรมชาติของภูมิทัศน์พลวัตน้ำหลาก จนทำให้เกิดการตัดขาดการเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำและพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศพลวัตน้ำหลาก ส่งผลต่อนิเวศบริการและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อีกทั้งการขยายตัวบนพื้นราบน้ำท่วมถึงทำให้เกิดน้ำท่วมเมือง ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของน้ำท่วมเมืองคือ เมืองกำลังพัฒนาอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ รอให้การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่เป็นไปตามธรรมชาติเข้าท่วมและสร้างความเสียหายซ้ำซากให้แก่เมือง


แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์เมืองโบราณเชียงแสน จ.เชียงราย, อภิปิยา เทียนทรัพย์ Jan 2022

แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์เมืองโบราณเชียงแสน จ.เชียงราย, อภิปิยา เทียนทรัพย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เมืองโบราณเชียงแสน คือ เมืองประวัติศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นทั้งเมืองต้นกำเนิดอาณาจักรล้านนา และเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความโดดเด่นทางกายภาพจากทำเลที่ตั้งเมืองบนส่วนโค้งของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นจุดสามเหลี่ยมทองคำบรรจบชายแดนสามประเทศทำให้มีโครงสร้างเมืองที่สอดคล้องตามลักษณะของภูมิประเทศ และด้านวิถีชีวิตที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโบราณสถานในแง่วัฒนธรรมทางด้านศาสนา แต่ด้วยแผนแม่บทในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าฉบับก่อนหน้าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เท่าที่ควร เนื่องจากแบ่งแยกพื้นที่โบราณสถานและชุมชนออกจากกัน ส่งผลให้ทั้งคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมในเมืองโบราณเชียงแสน และความผูกพันระหว่างชุมชนกับโบราณสถานลดลง วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เพื่อศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์รวมถึงสภาพปัจจุบันของเมืองโบราณเชียงแสนเพื่อเสนอแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณเชียงแสนภายใต้แนวคิดภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ (Historic Urban Landscape) โดยทำการบ่งชี้พื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณเชียงแสน และลงสำรวจพื้นที่ภาคสนาม ตลอดจนสัมภาษณ์ตัวแทนประธานชุมชน และเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณเชียงแสนภายใต้แนวคิดภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งเน้นการอนุรักษ์ พื้นฟู และพัฒนาพื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์ให้มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมด้านการเรียนรู้ นันทนาการ และประเพณีของชุมชน ตลอดจนการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยเฉพาะการใช้งานพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของเมืองโบราณเชียงแสน


ผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 (Covid-19) ต่อปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงแรม: กรณีศึกษาโรงแรมกักตัวขนาดเล็กจังหวัดน่าน, ณัฏฐ์ธีรา นาคพงษ์ Jan 2022

ผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 (Covid-19) ต่อปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงแรม: กรณีศึกษาโรงแรมกักตัวขนาดเล็กจังหวัดน่าน, ณัฏฐ์ธีรา นาคพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ส่งผลให้โรงแรมบางส่วนมีการปรับตัวเป็นโรงแรมกักตัวทางเลือกเพื่อเฝ้าควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีพฤติกรรมในการเข้าพักแรมที่แตกต่างจากช่วงการท่องเที่ยวโดยทั่วไป และส่งผลต่อปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมิน และเปรียบเทียบปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในช่วงก่อน และหลังที่มีการปรับเปลี่ยนเป็นโรงแรมกักตัวทางเลือก กรณีศึกษาโรงแรมกักตัวขนาดเล็ก ในจังหวัดน่าน จำนวน 3 แห่ง ในช่วงระยะเวลาปี พ.ศ. 2562 – 2564 โดยรวบรวมข้อมูลกิจกรรมจากการรวบรวมใบเสร็จค่าสาธารณูปโภค ใบเสร็จการสั่งซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโรงแรม และการสอบถามผู้ประกอบการ พนักงาน ประกอบกับการพิจารณาข้อกำหนดสำหรับโรงแรมที่ต้องการปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก ผลการศึกษาพบว่า สำหรับโรงแรมกรณีศึกษาทั้ง 3 แห่ง ในปี พ.ศ. 2564 ปีที่ปรับเป็นโรงแรมกักตัว ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์รายปีโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.71 % และช่วงที่โรงแรมปรับเป็นโรงแรมกักตัวปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์รายเดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.94 โดยเฉพาะการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในขอบเขตที่ 3 ซึ่งจากการสอบถามพบว่ามีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อาทิ ถุงครอบแก้ว รองเท้าสำหรับใส่ในห้อง และการขนส่งอาหาร เพิ่มขึ้น คิดเป็นปริมาณร้อยละ 327.78 ท้ายที่สุด ในการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงแรมในช่วยที่ปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก งานวิจัยนี้เสนอแนะให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ในบางส่วนเพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุต พริ้นท์ในขอบเขตที่ 3


การออกแบบอาคารด้วยชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป : สำนักงานราชการขนาดเล็กกรณีศึกษา อาคารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันเเละปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ, ณัทน์ธัญ อธิศธันยวัศ Jan 2022

การออกแบบอาคารด้วยชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป : สำนักงานราชการขนาดเล็กกรณีศึกษา อาคารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันเเละปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ, ณัทน์ธัญ อธิศธันยวัศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันการก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูปมักถูกนำไปใช้ในการออกแบบอาคารขนาดใหญ่ที่มีหน่วยซ้ำๆ หรืออาคารขนาดเล็กที่มีรูปแบบซ้ำๆ เช่น อาคารชุดพักอาศัยและบ้านจัดสรรเท่านั้น บทความนี้นำเสนอการศึกษาความเป็นไปได้ในการออกแบบสำนักงานราชการขนาดเล็กที่ก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป ผ่านกรณีศึกษา อาคารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันเเละปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ซึ่งออกแบบโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง อาคารสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ก่อสร้างไปเเล้วในหลายจังหวัด เป็นอาคารขนาดเล็ก พื้นที่อาคารรวม 1,170 ตร.ม. มีรูปทรงคล้ายกัน เเละผังพืิ้นเหมือนกัน เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย ห้องโถง ห้องรับเรื่อง ห้องเก็บของ ส่วนพื้นที่ทำงานของหน่วยงาน ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องเก็บพัสดุ ห้องเอนกประสงค์ ห้องเลขานุการ ห้องผู้อำนวยการ ส่วนพื้นที่ทำงานของหน่วยงาน ชั้นที่ 3 ประกอบด้วย ห้องไต่สวน ห้องมั่นคง ห้องประชุม จากการศึกษาพบว่าสามารถจำแนกพื้นที่ใช้สอยดังกล่าวได้ 3 ขนาด คือ 1) ขนาดเล็ก ได้แก่ ห้องเก็บของ ห้องรับเรื่อง ห้องเลขานุการ ห้องไต่สวน ห้องเก็บพัสดุ 2) ขนาดกลาง ได้แก่ ห้องโถง ห้องเอนกประสงค์ ห้องมั่นคง ห้องผู้อำนวยการ เเละ 3) ขนาดใหญ่ ได้แก่ ส่วนพื้นที่ทำงานของเเต่ละหน่วยงาน ห้องประชุม ทั้งนี้การก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป ระบบผนังรับน้ำหนัก จะเหมาะกับพื้นที่ใช้สอยขนาดเล็ก และขนาดกลาง ส่วนระบบเสาคาน จะเหมาะกับพื้นที่ใช้สอยขนาดกลาง เเละขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ในการออกแบบอาคาราชการขนาดเล็กด้วยชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป โดยใช้ระบบเสาคาน ร่วมกับชิ้นส่วนพื้น เเละผนังภายนอกสำเร็จรูป กั้นแบ่งพื้นที่ภายในด้วยระบบผนังเบา หรือใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก แต่ต้องจัดผังพื้นแต่ละชั้นใหม่ โดยสลับให้ชั้นที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาดเล็กอยู่ชั้นล่าง เเละขนาดใหญ่อยู่ชั้นบน หรือจะใช้ระบบผสม เพื่อไม่ต้องจัดผังพื้นใหม่ก็ได้ โดยใช้ระบบผนังรับน้ำหนักในพื้นที่ใช้สอยที่มีขนาดเล็ก และขนาดกลาง เเละเพิ่มชิ้นส่วนคานสำหรับช่วงพาดกว้างในหน่วยที่มีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังสามารถออกแบบโดยใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูปอื่น ๆ เช่น ประตู-หน้าต่าง โครงหลังคา เเละส่วนตกแต่ง ทั้งแผงตกแต่ง และแผงกันแดด


การศึกษาหลักคิดการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาจากสามนิกายหลัก, ปัญจพัฒน์ ถิระธำรงวีร์ Jan 2022

การศึกษาหลักคิดการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาจากสามนิกายหลัก, ปัญจพัฒน์ ถิระธำรงวีร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทำความเข้าใจในหลักคิดการสร้างมณฑลทางพุทธศาสนาที่แตกต่างกันของสามนิกายหลัก (เถรวาท มหายาน และวัชรยาน) ที่อยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันมีหลักปฏิบัติในอริยมรรคเพื่อการเข้าถึงพุทธธรรม การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพผสมผสานกับการวิจัยเชิงบรรยาย (ในเชิงสหสัมพันธ์) โดยศึกษาวิเคราะห์แนวทางการสอน, สิ่งที่มุ่งเน้นในการปฏิบัติ, และกิจกรรม ประเพณี ที่แตกต่างกันของแต่ละนิกาย (แต่ยังคงหลักมีหลักปฏิบัติแห่งอริยมรรค (ศีล สมาธิ ปัญญา) ที่มุ่งสู่พุทธรรมเป็นเป้าหมายที่เหมือนกัน) ที่ส่งผลให้พุทธสถานของทั้ง 3 นิกายมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่มีความเหมือนในความสอดคล้องไปกับการจัดสรรพื้นที่ที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตอย่างเป็นลำดับขั้น ผลการศึกษาทำให้เข้าใจหลักคิดการสร้างอริยมรรคมณฑล โดยสามารถสรุปหลักการได้ดังนี้ อริยมรรคมณฑลนั้นต้องมีหลักร่วมใจหรือนิมิตหมายแห่งปัญญาญาณเป็นศูนย์กลาง อันเป็นเป้าหมายหลัก และมีพื้นที่โดยรอบดุจเรือนแก้วขยายออกมาจากศูนย์กลาง ดุจเป็นลำดับชั้นการเข้าถึงปัญญาญาณ หรือความเป็นพุทธะ อันเป็นคุณลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ก่อให้เกิดความสงบภายในตน ควบคุมการรับรู้ภายนอกที่เป็นปรากฏการณ์ความแปรเปลี่ยนของธรรมชาติรอบตัว โดยมีองค์ประกอบทางพุทธสถาปัตยกรรมที่มีความประณีตจากภายนอกค่อย ๆ มากขึ้นอย่างเป็นลำดับขั้น และประณีตสูงสุดที่ศูนย์กลาง (อันเปรียบดุจจิตแห่งปัญญาที่เจิดจรัส) เทียบเคียงกับสภาวะจิตที่กำลังเข้าสู่ความเป็นพุทธะ มีความบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว อันทำให้อริยมรรคมณฑลนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สามารถพัฒนาจักรวาลชีวิตให้เจริญขึ้น สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ เป็นไปตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา ทำให้บุคลเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตที่อยู่บนหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าใจความสุข สงบ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย มีชีวิตที่เป็นอิสระจากความทุกข์ มีปัญญาและมีความเบิกบาน เป็นความสมบูรณ์ของชีวิต


ศักยภาพในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ : กรณีศึกษาโรงแรมขนาดเล็กในจังหวัดน่าน, พิสิฐพงศ์ ตันติมาสน์ Jan 2022

ศักยภาพในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ : กรณีศึกษาโรงแรมขนาดเล็กในจังหวัดน่าน, พิสิฐพงศ์ ตันติมาสน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันปัญหาสภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีการใช้พลังงานตลอด 24 ชม. ในปัจจุบันอาคารประเภทโรงแรมในประเทศไทยมีการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงแรมยังหากแต่งานวิจัยในด้านการชดเชยคาร์บอนในอาคารประเภทโรงแรมยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะในโรงแรมขนาดเล็กซึ่งเป็นโรงแรมทางเลือกหลักของนักท่องเที่ยวชาวไทย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยใช้โรงแรมขนาดเล็ก (2 ชั้น ขนาด 928 และ 820 ตร.ม.) ในจังหวัดน่านเป็นกรณีศึกษา งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงจำลองสถานการณ์ซึ่งพิจารณาในเรื่องของ พื้นที่หลังคาอาคาร รูปทรงหลังคา รูปร่างอาคาร มุมเอียงหลังคา มุมเอียงของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และ ทิศทางการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทั้ง 8 ทิศทาง โดยคำนวณพลังงานไฟฟ้าและประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วยโปรแกรม DesignBuilder v7.0.1.006 และ ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เพื่อหาแนวทางในการติดตั้งที่เหมาะสม ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่ารูปแบบที่เหมาะสม คือ รูปแบบการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่ครอบคลุมการใช้พลังงานไฟฟ้าของอาคารใน 1 ปี และปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อศักยภาพในการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือ รูปร่างอาคาร มุมเอียงแผงเซลล์แสงอาทิตย์ 18 องศา การวางแนวอาคารและการหันแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้สามารถผลิตพลังงานได้ดีที่สุด คือทิศใต้ และ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีผลตอบแทนทางการเงิน (Internal rate of return: IRR) อยู่ที่ 11.00% ใช้ระยะเวลาในการคืนทุน 8.60 ปี ท้ายที่สุด งานวิจัยนี้เสนอแนวทางการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับโรงแรมขนาดเล็กในจังหวัดน่าน


กระบวนการออกแบบลิฟต์ภายในอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสูงในโรงพยาบาล กรณีศึกษา : อาคารโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่ง, พิริยะ ศรีนพรัตนกุล Jan 2022

กระบวนการออกแบบลิฟต์ภายในอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสูงในโรงพยาบาล กรณีศึกษา : อาคารโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่ง, พิริยะ ศรีนพรัตนกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การออกแบบลิฟต์เพื่อให้ลิฟต์ตอบสนองการบริการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสูงในโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างจากอาคารทั่วไป ในปัจจุบันกฎหมายและมาตรฐานในประเทศไทย เป็นเพียงข้อกำหนดขั้นพื้นฐานในการออกแบบลิฟต์สำหรับอาคารทั่วไป และมีการกล่าวถึงการออกแบบลิฟต์ที่แตกต่างกันออกไป การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของกระบวนการออกแบบลิฟต์ ข้อมูลที่ใช้ในการออกแบบลิฟต์ ตลอดจนการวิเคราะห์การแบ่งกลุ่มลิฟต์และการกำหนดจำนวนลิฟต์ โดยการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องการออกแบบลิฟต์ และแบบสถาปัตยกรรมอาคารกรณีศึกษาจำนวน 7 อาคาร ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้ออกแบบ ผู้เกี่ยวข้อง จากการค้นคว้าในเชิงทฤษฎีพบว่า มีการกล่าวถึงการออกแบบลิฟต์ออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ การออกแบบติดตั้งและก่อสร้างระบบลิฟต์ และการออกแบบลิฟต์ภายในอาคาร ทั้งนี้กฎหมายและมาตรฐานในประเทศไทยยังมีเนื้อหาไม่ครอบคลุมการออกแบบลิฟต์ภายในอาคารในโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล จากการศึกษาพบว่า กระบวนการออกแบบลิฟต์ภายในอาคารกรณีศึกษาในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การดำเนินการออกแบบลิฟต์โดยสถาปนิกตลอดทั้งกระบวนการ ซึ่งสถาปนิกจะเป็นผู้กำหนดองค์ประกอบการออกแบบลิฟต์ในหลาย ๆ ส่วน และการดำเนินการออกแบบลิฟต์ร่วมกันระหว่างสถาปนิกและวิศวกร ซึ่งจะมีการตรวจสอบจำนวน ความจุ และความเร็วของลิฟต์โดยวิศวกร ผู้ออกแบบมีการเลือกใช้ข้อมูลในการออกแบบลิฟต์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ออกแบบส่วนใหญ่ใช้กฎหมาย ความต้องการของเจ้าของโครงการ งบประมาณ แนวคิดการป้องกันการติดเชื้อ และประสบการณ์การออกแบบมาเป็นข้อมูลขั้นต้น ทั้งนี้มีผู้ออกแบบเพียงบางส่วนใช้มาตรฐานสากลมาเป็นข้อมูลในการออกแบบลิฟต์ เนื่องจากไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่ใช้ในการออกแบบลิฟต์ในโรงพยาบาลอย่างชัดเจน การแบ่งกลุ่มลิฟต์ถูกจำแนกตามการใช้งานออกเป็นหลายประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการป้องกันการติดเชื้อ ในส่วนการกำหนดจำนวนลิฟต์ผู้ออกแบบบางส่วนใช้วิธีการคำนวณและเกณฑ์การประมาณตัวแปรต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากลที่แนะนำไว้ในเบื้องต้น


การใช้พื้นที่บริการสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรณีศึกษา : ส่วนการรักษาด้วยเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง, ศศิภา อ่อนทอง Jan 2022

การใช้พื้นที่บริการสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรณีศึกษา : ส่วนการรักษาด้วยเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง, ศศิภา อ่อนทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

พื้นที่หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนเนื่องมาจากกระบวนการให้บริการ มีการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพ และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางรังสี โดยผู้วิจัยมองเห็นความสำคัญของสภาพพื้นที่ให้บริการด้านดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษาสภาพการใช้พื้นที่บริการสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรณีศึกษา : ส่วนการรักษาด้วยเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง เพื่อวิเคราะห์สภาพการใช้พื้นที่ ประเด็นปัญหา และอุปสรรคในการใช้งาน เพื่อให้ทราบถึงสภาพการใช้งานพื้นที่ในปัจจุบัน และเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาออกแบบหรือปรับปรุงพื้นที่สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาในอนาคต โดยทำการทบทวนวรรณกรรม เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่รังสีรักษา เก็บข้อมูลภาคสนามจากการสำรวจพื้นที่อาคารกรณีศึกษา การสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้แก่ แพทย์รังสีรักษา นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิค พยาบาล และเจ้าหน้าที่ธุรการ จำนวน 14 ราย และทำการรวบรวมแบบสัมภาษณ์ในผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยจำนวน 172 ราย ได้รับการตอบรับจำนวน 100 ราย นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปผลการวิจัย ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประกอบด้วย 3 พื้นที่ที่มียุคสมัยของพื้นที่แตกต่างกัน โดยมีทั้งพื้นที่ที่มีการต่อเติมเพิ่ม พื้นที่ที่ปรับปรุงจากโครงสร้างเดิม และพื้นที่สร้างใหม่ มีการแบ่งการใช้งานพื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่ ส่วนติดต่อและพักคอย ส่วนตรวจและให้คำปรึกษา ส่วนวางแผนการรักษา ส่วนการรักษาด้วยการฉายรังสี ส่วนบริการเจ้าหน้าที่ และส่วนสนับสนุน มีขั้นการเข้ารับบริการ 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงตรวจและให้คำปรึกษา ช่วงจำลองการฉายรังสี และช่วงการฉายรังสี ผลการศึกษาแสดงให้เห็นปัญหา อุปสรรคในการใช้งานพื้นที่ คือ ปัญหาด้านความแออัดของพื้นที่พักคอยในพื้นที่กรณีศึกษา 2 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เก่า มีอายุการใช้งานมานาน ด้วยข้อจำกัดด้านการขยายตัวของพื้นที่ และปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การใช้งานพื้นที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน พบปัญหาห้องควบคุมเครื่องฉายรังสีคับแคบ ไม่สะดวกต่อการทำงาน และปัญหาห้องพักเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นการออกแบบพื้นที่รังสีรักษาจึงควรคำนึงถึงการขยายตัวในอนาคตเพื่อป้องกันปัญหาด้านพื้นที่การใช้งานไม่เพียงพอ หรือจัดให้มีการปรับปรุง แก้ไข ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาจากการใช้งานพื้นที่


การรับรู้ภาพจิตรกรรมผ่านสื่อดิจิทัล กรณีศึกษา ภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน เทคนิคการระบายสีแบบหนา (Impasto), มัชฌิมา มรรคา Jan 2022

การรับรู้ภาพจิตรกรรมผ่านสื่อดิจิทัล กรณีศึกษา ภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน เทคนิคการระบายสีแบบหนา (Impasto), มัชฌิมา มรรคา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยด้านการส่องสว่างที่ส่งผลต่อการรับรู้ และเปรียบเทียบการรับรู้ภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน เทคนิคการระบายสีแบบหนา (Impasto) ระหว่างการรับชมภาพที่จัดแสดงกับการรับชมภาพในหน้าจอหรือสื่อดิจิทัล เพื่อเสนอแนะแนวทางการจัดแสดงที่ส่งเสริมการรับรู้วัตถุประเภทภาพจิตรกรรมที่มีลักษณะพื้นผิวนูน ให้มีการรับรู้ที่ใกล้เคียงกัน โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 63 คน อายุระว่าง 21-40 ปี ด้วยแบบสอบถามคู่คำที่มีความหมายตรงข้าม 6 คู่คำ ดำเนินการทดลองในห้องจำลองที่มีการปรับเปลี่ยนปัจจัยการศึกษาในการจัดแสดงภาพ 18 สภาวะ และรูปถ่าย 18 รูป ประกอบด้วย ปัจจัยด้านทิศทางการส่องสว่าง ได้แก่ การส่องจากทิศทางด้านหน้า และการส่องจากทิศทางด้านข้าง ปัจจัยด้านมุมส่องวัตถุที่ดวงโคมกระทำกับแนวดิ่งเท่ากับ 20°, 30° และ 35° และปัจจัยด้านระดับความส่องสว่าง ได้แก่ 100%, 50% และ30% ทำการศึกษาการรับรู้ด้านความสว่าง ความมีสีสัน ความชัดเจน ความมีมิติของพื้นผิว ความสบายตา และความพึงพอใจ ผลการศึกษาพบว่าทิศทางการส่องสว่าง มุมส่องวัตถุ และระดับความส่องสว่าง มีอิทธิพลต่อการรับรู้ภาพที่จัดแสดงและภาพในหน้าจออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้จากการพิจารณาโดยภาพรวมเพื่อให้การรับชมภาพที่จัดแสดงและการรับชมภาพในหน้าจอมีการรับรู้ที่ใกล้เคียงกันที่สุด การจัดแสดงภาพจิตรกรรมโดยใช้ทิศทางการส่องสว่างจากด้านหน้า มุมส่องวัตถุ 30 องศา ที่ระดับความส่องสว่าง 50% ทำให้การรับชมภาพที่จัดแสดงและการรับชมภาพในหน้าจอมีการรับรู้ที่ใกล้เคียงกันและยังสามารถส่งเสริมการรับรู้ในด้านความสว่าง ความมีสีสัน ความชัดเจน ความสบายตา และความพึงพอใจ แต่หากต้องการเน้นการรับรู้ความมีมิติของพื้นผิว จะทำให้การรับรู้ด้านอื่น ๆ ลดลง ผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกใช้ให้ตรงกับความต้องการในการนำเสนอของศิลปินและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดแสดง


การศึกษาข้อกำหนดการจัดจ้างงานทำความสะอาดในอาคารสำนักงานราชการ, ภัคจิรา ตันติกุล Jan 2022

การศึกษาข้อกำหนดการจัดจ้างงานทำความสะอาดในอาคารสำนักงานราชการ, ภัคจิรา ตันติกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานบริการอาคาร (Facility services) เป็นงานขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อทุกอาคาร สะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่ดีของอาคาร และทำให้ผู้ใช้อาคารได้รับความสะดวกและปลอดภัย อาคารสำนักงานราชการเป็นอาคารที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงควรคำนึงถึงการจัดการรักษาความสะอาดที่ดี ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงทำการศึกษาเชิงประจักษ์แบบกรณีศึกษาจากข้อกำหนดการจัดจ้างงานทำความสะอาดในอาคารสำนักงานราชการ โดยมีเกณฑ์คัดเลือกกรณีศึกษาจากข้อกำหนดการจ้างที่เปิดเผยในระบบของภาครัฐ 20 กรณีศึกษา เพื่อทราบถึงรูปแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการทำความสะอาดที่สอดคล้องกับอาคารสำนักงานราชการ และเป็นแนวทางการจัดการงานทำความสะอาดในอาคารสำนักงานราชการ ผลการศึกษาพบว่าความถี่ของการทำความสะอาด แบ่งออกเป็น 6 รูปแบบ ได้แก่ ประจำวัน ประจำสัปดาห์ ประจำเดือน ประจำ 3 เดือน ประจำ 6 เดือน และประจำปี มีการแบ่งพื้นที่สำนักงานในการทำความสะอาด 7 พื้นที่ ได้แก่ ห้องประชุม สำนักงาน ห้องผู้บริหาร ห้องน้ำ ห้องเตรียมอาหาร โถงส่วนกลาง และลิฟต์ บันไดเลื่อน บันได โดยการจัดการวัสดุและอุปกรณ์ทำความสะอาด ประกอบด้วยอุปกรณ์ทำความสะอาดทั่วไป อุปกรณ์ทำความสะอาดกระจก อุปกรณ์ทำความสะอาดอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุสิ้นเปลือง และน้ำยาทำความสะอาด และตำแหน่งบุคลากรที่พบมี 2 ตำแหน่ง ได้แก่ หัวหน้างาน และพนักงานทำความสะอาด มีการปฏิบัติงานในเวลาราชการ มีการกำหนดการจ่ายค่าจ้างที่พบส่วนมากคือจ่ายเป็นรายงวด งวดละ 1 เดือน และมีการกำหนดค่าปรับ 2 ลักษณะ ได้แก่ บอกเป็นสัดส่วน และระบุเป็นจำนวนเงิน นอกจากนี้การกำหนดราคากลางในเอกสารหลักเกณฑ์และอัตราค่าใช้จ่ายประกอบการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เบิกจ่ายในลักษณะค่าตอบแทน ใช้สอย วัสดุ และค่าสาธารณูปโภคของกองมาตรฐานงบประมาณ1 ซึ่งทางราชการใช้อ้างอิงจัดทำสัญญาจ้างทำความสะอาด โดยมีราคาอัตราจ้างเหมาทำความสะอาดสำหรับอาคารทุกประเภทเพียงราคาเดียว คือ ไม่เกิน 11 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน แต่จากผลการศึกษาพบว่าราคาค่าจ้างทำความสะอาดเฉลี่ยคือ 11.72 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน เนื่องจากมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องกับราคาค่าจ้าง เช่น อาคารราชการมีการใช้งานหลากหลายประเภท ระยะเวลาการใช้งานอาคาร จำนวนบุคลากร พื้นที่ ซึ่งในบางพื้นที่อาจมีข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน ความซับซ้อนของเนื้องานที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อความถี่ในการทำความสะอาดที่ไม่เท่ากันในแต่ละกรณีศึกษา นอกจากนี้ปริมาณวิธีการจัดการงานทำความสะอาดในส่วนพื้นที่สำนักงานทั้งหมด 7 พื้นที่ และราคาต่อตารางเมตรต่อชั่วโมงไม่แปรผันตามกัน เนื่องจากข้อมูลประเภทอาคารของกรณีศึกษา มีพื้นที่นอกเหนือขอบเขตที่ทำการศึกษา


กลยุทธ์การตลาดคอนโดมิเนียมสำหรับกลุ่มวัยเริ่มทำงานของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ :กรณีศึกษา บมจ. แสนสิริ บมจ. เอพี ไทยแลนด์ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตทและ บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, พราวนภา โกเมนธรรมโสภณ Jan 2022

กลยุทธ์การตลาดคอนโดมิเนียมสำหรับกลุ่มวัยเริ่มทำงานของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ :กรณีศึกษา บมจ. แสนสิริ บมจ. เอพี ไทยแลนด์ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตทและ บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, พราวนภา โกเมนธรรมโสภณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันกลุ่มช่วงวัยเริ่มทำงาน (FIRST JOBBER) เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ดังนั้น ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงต้องใช้กลยุทธ์การตลาดเฉพาะสำหรับสำหรับคนกลุ่มนี้ งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษากลยุทธ์การตลาดคอนโดมิเนียมสำหรับกลุ่มวัยเริ่มทำงานของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีกรณีศึกษา 4 บริษัท ประกอบไปด้วย บมจ. แสนสิริ บมจ. เอพี ไทยแลนด์ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท และ บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ใช้วิธีรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากรายงานประจำปีบริษัท ปี 2564 และข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการทั้ง 4 บริษัท และกลุ่มวัยเริ่มทำงานที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมกรณีศึกษา จำนวน 4 บริษัทๆละ 1 โครงการๆละ 20 ท่าน รวมทั้งสิ้น 80 ท่าน วิเคราะห์ความเหมือนและความแตกต่างของแนวคิดการตลาด กลยุทธ์การตลาด และลักษณะคอนโดมิเนียมกลุ่มวัยเริ่มทำงาน รวมถึงสรุปบทเรียนจากกรณีศึกษา ผลการศึกษาพบว่า 1) บริษัทกรณีศึกษามีแนวคิดกำหนดให้กลุ่มวัยเริ่มทำงานเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายสำคัญของบริษัท กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ ภารกิจ และบางบริษัทกำหนดผ่านแนวคิดผู้บริหารและกลยุทธ์การแข่งขัน 2) กลยุทธ์การตลาดที่สำคัญ คือ (1) กำหนดส่วนแบ่งทางการตลาด กลุ่มเป้าหมาย และตำแหน่งตลาด พบว่าทุกโครงการมุ่งเน้นไปที่ราคาที่จ่ายได้ กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มวัยเริ่มทำงาน หรือกลุ่มเจนแซด มีจุดยืนด้านราคา ทำเล พื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่ภายในห้องพัก และบางโครงการสามารถเลี้ยงสัตว์ได้ (2) ส่วนประสมทางการตลาด พบว่าบริษัทส่วนใหญ่ปรับช่องทางการจัดจำหน่ายไปสู่ออนไลน์ ปรับพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ภายในห้องพักให้สะท้อนถึงการใช้ชีวิตของกลุ่มวัยเริ่มทำงาน บางบริษัทยินดีรับกลุ่มคนที่เพิ่งจบใหม่ และให้โอกาสในการรับผิดชอบโครงการที่เจาะกลุ่มวัยเริ่มทำงาน 3) ลักษณะคอนโดมิเนียมกลุ่มวัยเริ่มทำงาน พบว่าทำเลที่ตั้งกระจายตัวอยู่ในย่านชานเมือง เป็นโครงการคอนโดมิเนียมแนวราบ ภายในห้องตกแต่งพร้อมเข้าอยู่ เพิ่มพื้นที่เก็บของภายในห้อง มีพื้นที่ส่วนกลางใช้งานได้ 24 ชม. มีพื้นที่นัดพบหรือประชุมงาน และมีพื้นที่ออกกำลังกาย เป็นต้น ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับกลุ่มวัยเริ่มทำงานของผู้ประกอบการ บทเรียนสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในการตลาดคอนโดมิเนียมกลุ่มวัยเริ่มทำงาน คือ ต้องกำหนดราคาที่คนกลุ่มนี้สามารถจ่ายได้ โครงการตั้งอยู่บนทำเลที่มีการคมนาคมที่สะดวก ใกล้รถไฟฟ้า และเป็นคอนโดมิเนียมที่ตกแต่งพร้อมเข้าอยู่พร้อมเข้าอยู่อาศัย


การติดตามการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของผู้ที่ย้ายจากพื้นที่ชุมชนใต้สะพานโซน 1 กรณีศึกษา ชุมชนประชาอุทิศ 76, สุฎฑรียา มากเกตุ Jan 2022

การติดตามการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของผู้ที่ย้ายจากพื้นที่ชุมชนใต้สะพานโซน 1 กรณีศึกษา ชุมชนประชาอุทิศ 76, สุฎฑรียา มากเกตุ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ชุมชนประชาอุทิศ 76 เป็น 1 ใน 3 ชุมชนที่ถูกรื้อย้ายมาจากบ้านใต้สะพานในปี 2544 ปัจจุบันผ่านการรื้อย้ายจากใต้สะพานมาสร้างบ้านในชุมชนแห่งใหม่นานกว่า 20 ปี ผู้วิจัยจึงสนใจจะศึกษาการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของชาวชุมชน ทั้งที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง และ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผลการศึกษาพบว่า ที่อยู่อาศัยในชุมชนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1) ที่อยู่อาศัยที่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง 2) ที่อยู่อาศัยที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วยการช่วยเหลือของหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองมี 3 ลักษณะ คือ 1) ที่อยู่อาศัยที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนคือผู้ที่อยู่อาศัยมีอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ และในครัวเรือนมีผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1 คน 2) ที่อยู่อาศัยที่มีสภาพคงเดิม เพราะสมาชิกในครัวเรือนมีรายได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายและสมาชิกสามารถดูแลปรับปรุงที่อยู่อาศัยเองได้ 3) ที่อยู่อาศัยที่เสื่อมโทรมตามสภาพ เพราะผู้ที่อยู่อาศัยมีรายได้ที่ไม่แน่นอน จำนวนสมาชิกในครัวเรือนมีจำนวนมากและไม่ได้ประกอบอาชีพ ส่วนที่อยู่อาศัยที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วยการช่วยเหลือของหน่วยงานภาคเอกชน เนื่องจากรายได้ของครัวเรือนที่ไม่แน่นอนและสมาชิกไม่มีความสามารถในการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ทำให้ต้องขอรับความช่วยเหลือจากภายนอก ซึ่งความช่วยเหลือเป็นแบบที่ผู้ที่อยู่อาศัยไม่มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง จึงสมควรที่จะมีสถาปนิกชุมชนมาให้คำแนะนำในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อให้เกิดการใช้วัสดุก่อสร้างอย่างเหมาะสม ไม่เกิดเป็นปัญหาการใช้วัสดุก่อสร้างผิดประเภทหรือปัญหาในการอยู่อาศัยตามมาภายหลัง จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าปัจจัยและสาเหตุของการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยในชุมชนประชาอุทิศ 76 คือ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ต้องมีการวางแผนแนวทางการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้ชาวชุมชนได้รับคำแนะนำในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย และการจัดการวัสดุที่นำมาใช้ก่อสร้างอย่างถูกวิธี ซึ่งการพัฒนาชุมชนมีความจำเป็นต้องมีการติดตามและปฏิบัติอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงชุมชนให้เข้ากับสภาวะปัญหาและสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาช่วยให้ชุมชนมีการพัฒนาที่ยั่งยืนเหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยให้ดีขึ้น


กลยุทธ์การปรับตัวของโรงแรม ภายใต้แนวคิดเวิร์คเคชั่น (Workation) : กรณีศึกษา โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา มาริส รีสอร์ท จอมเทียน โรงแรมเดอะเบย์วิว พัทยา โรงแรมเวอร์โซ หัวหิน และโรงแรมแอทที บูทีค, ศุภวิทย์ ราศรี Jan 2022

กลยุทธ์การปรับตัวของโรงแรม ภายใต้แนวคิดเวิร์คเคชั่น (Workation) : กรณีศึกษา โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา มาริส รีสอร์ท จอมเทียน โรงแรมเดอะเบย์วิว พัทยา โรงแรมเวอร์โซ หัวหิน และโรงแรมแอทที บูทีค, ศุภวิทย์ ราศรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เวิร์คเคชั่น เป็นแนวคิดสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบทำงานไปด้วย ท่องเที่ยวไปด้วย และโครงการเวิร์คเคชั่นไทยแลนด์ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นโครงการที่สนับสนุนการใช้แนวคิดนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการปรับตัวของโรงแรม งานวิจัยนี้นี้มุ่งศึกษากลยุทธ์การปรับตัวของโรงแรมภายใต้แนวคิดเวิร์คเคชั่น (Workation) จากโรงแรมที่ร่วมโครงการเวิร์คเคชั่นไทยแลนด์ ในจังหวัดชลบุรีและประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 4 แห่ง โดยรวมข้อมูลลักษณะการดำเนินงาน กลยุทธ์การปรับตัว และผลการดำเนินงาน ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2563 – 2565 นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปแนวทางการนำแนวคิดเวิร์คเคชั่นมาประยุกต์ใช้กับโรงแรม ผลการศึกษาพบว่า 1) โครงการเวิร์คเคชั่นไทยแลนด์ ใช้วิธีการเสนอขายสินค้าและบริการให้กับผู้ซื้อคือ กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการให้พนักงานไปเวิร์คเคชั่น กับกลุ่มผู้ขายคือโรงแรมที่มีความสนใจกลุ่มลูกค้านี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างมิติใหม่ของการท่องเที่ยวและยกระดับสถานประกอบการแบบเวิร์คเคชั่น และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 2) กลยุทธ์ทางการตลาดที่โรงแรมให้ความสำคัญ คือ กลยุทธ์ความแตกต่าง (Differentiation) ในการจัดสภาพแวดล้อมภายในโครงการที่โดดเด่น และการเน้นช่องทางการขายทางภาครัฐและบริษัทรวมถึงโครงการเวิร์คเคชั่นไทยแลนด์เพิ่มมากขึ้น 3) กลยุทธ์ทางกายภาพที่โรงแรมให้ความสำคัญ คือ กลยุทธ์การปรับสภาพแวดล้อมภายในโรงแรม โดยการเพิ่มปริมาณของจำนวนชุดโต๊ะนั่งทำงานในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางของโครงการ แต่รูปแบบของเครื่องเรือนยังไม่เป็นไปตามหลักการยศาสตร์ พร้อมกับปรับปรุงระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย และ 4) ผลการดำเนินงานพบว่า แนวโน้มส่วนใหญ่ของโรงแรมกรณีศึกษา มีแนวโน้มด้านอัตราเข้าพักเพิ่มขึ้น สัดส่วนรายได้จากอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น และแนวโน้มสัดส่วนช่องทางการขายด้านช่องทางการขายภาครัฐและบริษัทเพิ่มขึ้น จากการปรับตัวโดยรวมพบว่า โรงแรมกรณีศึกษาที่มีการบริหารงานอย่างอิสระมีการปรับทั้งกลยุทธ์และสภาพแวดล้อมทางกายภาพมากที่สุด ทั้งนี้แนวคิดเวิร์คเคชั่นเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกลยุทธ์การปรับตัวของธุรกิจทั้ง 4 กรณีศึกษา ผลการดำเนินงานทางธุรกิจย่อมมีองค์ประกอบและปัจจัยหลากหลายในบริบทที่แตกต่างกัน งานวิจัยนี้พบว่าโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการมีความสนใจในการนำแนวคิดเวิร์คเคชั่นมาปรับใช้ธุรกิจ โดยเห็นว่าโครงการเวิร์คเคชั่นไทยแลนด์ควรมีการจัดทำรายละเอียดของโครงการอย่างมีแบบแผนที่ชัดเจนมากขึ้น พร้อมกับควรให้การสนับสนุนแก่สถานประกอบการเพิ่มเติมทั้งในด้านองค์ความรู้ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อการเวิร์คเคชั่น การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomic design) การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับบริษัทหรือพนักงานที่สนใจไปเวิร์คเคชั่น ประสานงานกับท้องถิ่นเพื่อที่จะให้เกิดมิติการท่องเที่ยวแบบเวิร์คเคชั่นอย่างเป็นระบบนิเวศน์ (Ecosystem) และจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำเพื่อยกระดับสถานประกอบการแบบเวิร์คเคชั่นต่อไปในอนาคต


การปรับตัวของร้านค้าปลีกในช่วงตั้งแต่ พ.ศ.2561-2565 ที่มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค : กรณีศึกษา รูปแบบร้านค้าอยู่กับที่และรูปแบบร้านค้าเคลื่อนที่ ประเภทธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ศิวกร สิงหเดช Jan 2022

การปรับตัวของร้านค้าปลีกในช่วงตั้งแต่ พ.ศ.2561-2565 ที่มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค : กรณีศึกษา รูปแบบร้านค้าอยู่กับที่และรูปแบบร้านค้าเคลื่อนที่ ประเภทธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ศิวกร สิงหเดช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในการดำรงชีวิต มีความเกี่ยวข้องจากทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งงาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต โดยจะพบว่าตั้งแต่ก่อนปี 2561 ลักษณะการใช้ชีวิตโดยทั่วไปแบบดั้งเดิมเป็นลักษณะที่ ผู้รับบริการต้องเข้าหาผู้ให้บริการ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2562 และมีการแพร่ระบาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2563 ทางภาครัฐประกาศหยุดการดำเนินการต่าง ๆภายในประเทศ ทั้งการประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ตลาด แหล่งชุมชนและการเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อร้านค้าในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สามารถเปิดให้บริการแบบเดิมได้ จากการปรับตัวของผู้ประกอบการร้านค้าในช่วงปี 2564 ถึง 2565 พบว่าผู้ประกอบการหลายรายมีการปรับรูปแบบร้านค้าเพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย จากร้านค้าดั้งเดิมที่เป็นลักษณะการเช่าพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้า มีการปรับตัวเป็นลักษณะการเช่าพื้นที่ภายนอก(Stand-alone) ในรูปแบบร้านค้าอยู่กับที่ หรือบางรายมีการปรับเป็นลักษณะรถขายอาหารเคลื่อนที่(Food truck)ในรูปแบบร้านค้าเคลื่อนที่ เป็นลักษณะของการให้บริการแบบที่ ผู้ให้บริการเข้าหาผู้รับบริการ การศึกษาครั้งนี้แบ่งการเก็บข้อมูลรูปแบบร้านค้าอยู่กับที่และรูปแบบร้านค้าเคลื่อนที่ เป็น 3 ส่วน คือ 1)ลักษณะกายภาพและการบริหารจัดการของร้านค้า 2)พฤติกรรมของผู้บริโภค 3)ปัจจัยและเหตุผลในการตัดสินใจของผู้ประกอบการ จากผลการศึกษาร้านค้าในผู้ประกอบการรายเดียวกัน พบว่า ลักษณะร้านค้าแบบดั้งเดิมจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ให้บริการลูกค้าเพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ตั้งที่มีศักยภาพสูง มีปริมาณการเข้ามาของกลุ่มคนในพื้นที่จำนวนมากและมีความหลากหลาย ซึ่งจะแตกต่างจากร้านค้าที่เกิดจากการปรับตัว ที่เลือกเข้าหากลุ่มผู้บริโภค ทั้งในย่านชุมชนและทางสัญจรหลักในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัย โดยอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า ขนาดพื้นที่ร้านค้าที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อรูปแบบการให้บริการ จำนวนพนักงาน และช่วงเวลาในการเปิดให้บริการ ตามแต่ละลักษณะของร้านค้า สาธารณูปโภคและสาธารณูปการโดยรอบพื้นที่ โดยลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายจะขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของพื้นที่ร้านค้าที่สามารถทำได้ ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการในวันธรรมดาและวันหยุดแตกต่างกัน ตามลักษณะของตำแหน่งที่ตั้งร้านค้า ระยะทางและช่วงเวลาในการเข้าใช้บริการ ส่วนผู้ประกอบการตัดสินใจปรับลักษณะการใช้งานพื้นที่ร้านค้าดั้งเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงขยายโมเดลธุรกิจร้านค้าใหม่ๆ ลดต้นทุนให้เกิดความคล่องตัว และรองรับการให้บริการเดลิเวอรี่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่ผ่านมา จากงานวิจัยพบว่าการนำข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาปรับใช้ช่วยให้เกิดประโยชน์ในการเข้าใจลักษณะของพื้นที่รวมถึงการเข้าถึงตำแหน่งที่ตั้งของร้านค้า ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ในขณะเดียวกันผลการศึกษาในเรื่องดังกล่าว ผู้วิจัยทำการศึกษาเฉพาะด้านกายภาพและพฤติกรรมผู้บริโภคเท่านั้น หากผู้ที่มีความสนใจอาจศึกษาในด้านของการลงทุนธุรกิจร้านค้าปลีกเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจและลดความผิดพลาดในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น


กระบวนการตัดสินใจซื้อทาวน์โฮมระดับราคาปานกลาง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 : กรณีศึกษา โครงการทาวน์โฮม ที่เปิดขายระหว่าง พ.ศ. 2563-2565 ในเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร, อัจฉรารัช เอี่ยมสำอางค์ Jan 2022

กระบวนการตัดสินใจซื้อทาวน์โฮมระดับราคาปานกลาง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 : กรณีศึกษา โครงการทาวน์โฮม ที่เปิดขายระหว่าง พ.ศ. 2563-2565 ในเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร, อัจฉรารัช เอี่ยมสำอางค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิตทำให้ต้องอาศัยอยู่ที่บ้านมากขึ้น จึงส่งผลให้ที่อยู่อาศัยมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม ในงานวิจัยฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจซื้อทาวน์โฮมระดับราคาปานกลาง เขตดอนเมือง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปี 2563-2565 มีการรวบรวมข้อมูลโดยการสำรวจและการสัมภาษณ์ผู้ซื้อ จำนวน 80 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นโครงการทาวน์โฮมของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บริษัทใน SET) 2 โครงการ และโครงการทาวน์โฮมของบริษัทที่จดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บริษัทนอก SET) 2 โครงการ รวมเป็น 4 โครงการ วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบลักษณะผู้ซื้อรวมถึงกระบวนการตัดสินใจซื้อทาวน์โฮมในช่วงโควิด-19 ผลการศึกษาพบว่า 1) ผู้ซื้อทาวน์โฮมระดับราคาปานกลาง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นกลุ่มอายุ 24-30 ปี คิดเป็นร้อยละ 57 ประกอบอาชีพค้าขาย/ขายของออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 28 มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนมากกว่า 100,000 ขึ้นไป/เดือน คิดเป็นร้อยละ 45 โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่มีลักษณะที่อยู่อาศัยเดิมเป็นการเช่าคอนโดมิเนียมอยู่ คิดเป็นร้อยละ 28 2) กระบวนการตัดสินใจซื้อแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน คือ (1) การตระหนักรู้ถึงปัญหา เกิดจากที่อยู่อาศัยเดิมเป็นการเช่ามีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอ จึงมีความต้องการพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และความเป็นเจ้าของบ้าน (home ownership) (2) การค้นหาข้อมูล ผ่านสื่อโฆษณาจากเฟสบุ๊ค รวมถึงการค้นหาข้อมูลต่อในเว็บไซต์โดยใช้คำค้นหาว่าโครงการบ้านในดอนเมือง (3) การประเมินทางเลือก หลังจากผู้ซื้อได้ข้อมูลจึงเดินทางไปเยี่ยมชม 2 โครงการ และมีความสนใจโครงการอยู่ 1 โครงการ โดยมีการพิจารณาปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ จึงทำให้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตัดสินใจซื้อบ้านเร็วขึ้น (4) การตัดสินใจซื้อ ใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจซื้อทาวน์โฮม ในช่วงโควิด-19 อยู่ที่ 5-7 เดือน โดยครอบครัวและตนเองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งนี้ (5) ความรู้สึกหลังการซื้อ มีความพึงพอใจกับพื้นที่ทำห้องอเนกประสงค์ และสวนสาธารณะเป็นอย่างมากที่ตอบสนองการใช้งานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างดี 3) ผู้ซื้อทาวน์โฮมมีเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจซื้อบ้านหลังนี้ คือ มีพื้นที่ทำห้องอเนกประสงค์ได้หลากหลาย อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงสะท้อนไปยังระยะเวลาในการผ่อนชำระที่ลดลง และโปรโมชั่น ส่วนลด ของแถมที่มีความคุ้มในการซื้อบ้านในครั้งนี้ 4) ปัจจัยสถานการณ์โควิด-19 กับการตัดสินใจซื้อทาวน์โฮม ได้แก่ ทำเลที่ตั้งใกล้แหล่งสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านผลิตภัณฑ์ …


พลวัตการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่นครปากเซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในช่วง ค.ศ. 2000-2020, แสงสุกสัน พันทุวง Jan 2022

พลวัตการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่นครปากเซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในช่วง ค.ศ. 2000-2020, แสงสุกสัน พันทุวง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นครปากเซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินในเมือง รวมถึงการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง ที่อาจสร้างปัญหาต่อคุณภาพชีวิตของประชากรและสิ่งแวดล้อมของเมืองในอนาคต งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตของการใช้ประโยชน์ที่ดินของเมืองในนครปากเซ และศึกษาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเมืองในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โดยการวิเคราะห์ใช้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินจากภาพถ่ายดาวเทียมปี 2000, 2010 และ 2020 โดยใช้แบบจำลองมาร์คอฟ (Markov Model) ในซอฟต์แวร์ TerrSet 2020 ตรวจสอบรูปแบบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ปี 2000-2010, 2010-2020 และ 2000-2020 นอกจากนั้นยังวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเมืองด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่จากกรมโยธาธิการและการขนส่งระดับแขวง ระดับเมือง และ อาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยจำปาสัก ผลการวิจัยพบว่าพื้นที่ป่าไม้มีความน่าจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ประเภทเบ็ดเตล็ดมากที่สุด รองลงมาคือพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่เกษตรกรรมมีพื้นที่ลดลงมากกว่าที่ดินประเภทอื่น โดยในช่วงปี 2000-2020 มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไป 93.4 ตร.กม. (ร้อยละ 18.60) และพื้นที่เกษตรกรรมลดลง 1.49 ตร.กม. (ร้อยละ 0.26) ส่วนพื้นที่เบ็ดเตล็ดเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเพิ่มขึ้น 74.96 ตร.กม. (ร้อยละ 14.87) รองลงมาเป็นพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 18.04 ตร.กม. (ร้อยละ 3.61) สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้นครปากเซขยายตัวไปทางทิศตะวันออกมากที่สุดมี 5 ปัจจัยสำคัญได้แก่ (1) ปัจจัยด้านความใกล้เขตการศึกษา (ใกล้เขตมหาวิทยาลัย) (2) ปัจจัยด้านความใกล้เส้นทางสายหลัก (3) ปัจจัยด้านภูมิประเทศที่ไม่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมที่เกิดจากแม่น้ำโขง และแม่น้ำเชโดน (4) ปัจจัยด้านนโยบาย และแผนการพัฒนาเมืองที่ภาครัฐกำหนด และ (5) ปัจจัยด้านความใกล้เขตอุตสาหกรรม โดยผลการวิจัยจะสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับนักวางแผนและนักพัฒนาเมือง รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่เมืองอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม


ผลกระทบจากปรากฏการณ์การลดลงของจำนวนประชากรต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา กรณีศึกษาจังหวัดอุดรธานี, สิรวิชญ์ ปัทมะสุวรรณ์ Jan 2022

ผลกระทบจากปรากฏการณ์การลดลงของจำนวนประชากรต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา กรณีศึกษาจังหวัดอุดรธานี, สิรวิชญ์ ปัทมะสุวรรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการลดลงของประชากรที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา กล่าวคือโรงเรียนของรัฐ ที่เป็นสาธารณูปการขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญ ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบในมิติหนึ่งจากการลดลง ของประชากรในพื้นที่ คล้ายกับภาพความเสื่อมถอยของโครงสร้างพื้นฐาน ตามบริบทของปรากฏการณ์ เมืองหดที่ถูกกล่าวถึงในระดับสากล โดยมีระเบียบวิธีวิจัย ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษา ผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงจำนวนและสัดส่วน รวมถึงการกระจายตัวของประชากรแสดงให้เห็นว่า การลดลงของประชากรเกิดขึ้นในระดับโครงสร้าง ประชากรวัยเด็กเป็นกลุ่มที่มีการลดลงอย่างชัดเจนที่สุดทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนที่ลดลงในโรงเรียนของรัฐที่ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ในจังหวัดอุดรธานีมีขนาดที่เล็กลง ขณะที่อัตราการลดของประชากรวัยเด็กที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกช่วงปีทำให้ภาพปรากฏการณ์ของโรงเรียนถูกยุบชัดเจนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงขนาดสะท้อนถึงสถานภาพโรงเรียนในแต่ละช่วงปี การถูกยุบ ลดขนาด ขยายขนาด เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่เมืองและชนบทด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การวิเคราะห์สหสัมพันธ์เชิงพื้นที่แบบครอบคลุม ไม่พบรูปแบบของการพึ่งพาหรือสหสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนแต่ละแห่งในภาพรวมของจังหวัดอย่างชัดเจน เนื่องจากการลดลงของนักเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่งอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์กันด้วยปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์เพียงปัจจัยเดียว นอกเหนือปัจจัยอัตราการเกิดต่ำที่ทำให้จำนวนนักเรียนในโรงเรียนลดลงในภาพรวมแล้ว การลดลงของจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ชานเมืองและพื้นที่ชนบทเกิดจากการย้ายถิ่นเข้าสู่โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ซึ่งถูกมองว่ามีความพร้อมมากกว่าในพื้นที่เมือง ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบทต้องดิ้นรนในการสร้างคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่ส่วนกลางได้กำหนดไว้ภายใต้ภาวะข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากรเพื่อไม่ให้ถูกยุบ ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่เมืองและโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบทห่างไกล งานวิจัยนี้จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นการจัดการให้บริการด้านการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีส่วนร่วม และการส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจ โดยผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามีบทบาทด้านการศึกษาเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และรับมือกับปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจงเชิงพื้นที่มากยิ่งขึ้น


Challenges Of Ngos In Facilitating Access To Health Care Services For The Urban Poor In Slums During The Covid-19 Pandemic: A Case Study Of Kampala, Uganda||ความท้าทายขององค์กรนอกภาครัฐในการช่วยเหลือการเข้าถึงบริการการดูแลสุขภาพสำหรับคนจนเมืองในชุมชนแออัดในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรณีศึกษา กรุงกัมปาลา ประเทศยูกันดา, Brendah Kyaterekera Jan 2022

Challenges Of Ngos In Facilitating Access To Health Care Services For The Urban Poor In Slums During The Covid-19 Pandemic: A Case Study Of Kampala, Uganda||ความท้าทายขององค์กรนอกภาครัฐในการช่วยเหลือการเข้าถึงบริการการดูแลสุขภาพสำหรับคนจนเมืองในชุมชนแออัดในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรณีศึกษา กรุงกัมปาลา ประเทศยูกันดา, Brendah Kyaterekera

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This study investigates the challenges NGOs face in providing healthcare access to the urban poor during the COVID-19 pandemic, using cases of slum communities in Kampala, the capital city of Uganda. The COVID-19 pandemic has disproportionately affected vulnerable populations, including those living in slums characterized by overcrowding, inadequate infrastructure, and limited access to basic services, especially access to healthcare, a fundamental right of people. During the past years, the pandemic has further restricted the already limited accessibility to healthcare services for the urban poor. The primary research methodology employed in this study is case study research, using in-depth interviews, observations, …


Housing Choices Of Myanmar Migrants Working In The Central Business District Of Bangkok, Hsu Yee Win Jan 2022

Housing Choices Of Myanmar Migrants Working In The Central Business District Of Bangkok, Hsu Yee Win

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Urban migrant workers play a vital role in the economic growth of a country. As housing is a fundamental human need that greatly impacts individual and societal well-being, it is crucial to ensure the welfare of urban migrant workers. While several studies have explored the factors that influence urban migrants' housing choices, limited attention has been paid to the spatial distribution of housing and housing choices among urban migrant workers in Thailand. This study aims to fill this gap by examining the housing locations and determinants of housing choices among Myanmar migrants working in the Central Business District (CBD) of …


Assessing The Physical Conditions Of Motorcycle Taxi Stands And Comfort Conditions Of The Drivers In The Central Business District Of Bangkok, Nissa Phloimontri Jan 2022

Assessing The Physical Conditions Of Motorcycle Taxi Stands And Comfort Conditions Of The Drivers In The Central Business District Of Bangkok, Nissa Phloimontri

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This research explores the current physical conditions of motorcycle taxi stands located near the BTS stations in the central business district (CBD) and the comfort conditions experienced by motorcycle taxi drivers at those stands. Stand conditions were assessed using design and location standards for transit stops. A total of 25 stands were surveyed and compared with design standards, considering factors such as location, physical form, and features. Stands that share similar characteristics were classified into stand typologies. Based on the environmental comfort model, questionnaires and in-depth interviews were conducted to evaluate the comfort levels of drivers, encompassing physical, functional, and …


The Perspectives Of Stakeholders On Definition, Critical Criteria, And Supporting Measures For Affordable Housing In Bangkok, Panissara Kitisuthatham Jan 2022

The Perspectives Of Stakeholders On Definition, Critical Criteria, And Supporting Measures For Affordable Housing In Bangkok, Panissara Kitisuthatham

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This research aims to explore stakeholder perspectives on developing affordable housing in Bangkok through in-depth interviews and questionnaires. The study investigates three areas: definitions, critical criteria, and supporting measures. The data will be collected from stakeholders representing three sectors: the public sector, the private sector, and academia and non-governmental organizations. This research has established a framework for developing in-depth interviews and questionnaire surveys as part of its study from case studies of affordable housing development in other countries. During the literature review of case studies from other countries, it was discovered that affordable housing targets not only low-income households but …


Assessing The Potential Of Developing An Ecosystem For Electric Scooters In Bangkok, Thailand, Rosyad Yan Wibowo Jan 2022

Assessing The Potential Of Developing An Ecosystem For Electric Scooters In Bangkok, Thailand, Rosyad Yan Wibowo

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The rising need for mobility induces challenges to providing a sustainable mode of transportation. The absence in providing door-to-door service by public transportation gives the opportunity for micromobility to take a position. With millions of people commuting every day, Thailand's capital city requires more choices in transportation. E-scooters can travel short distances in a vehicle and are not affected by traffic. However, under the current regulation, e-scooters are not recognized as a mode of transportation in Bangkok which question the existence of the ecosystem of e-scooters in the city. To address the problems, this research focuses on exploring the potential …


Relationship Of The Relocation Decision And Job Location Of Klong Toei Community's Residents, Shu Hsuan Tang Jan 2022

Relationship Of The Relocation Decision And Job Location Of Klong Toei Community's Residents, Shu Hsuan Tang

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This study investigates the relationship between job location and the willingness to relocate of informal settlement residents, using the Klong Toei community in Bangkok as a case study. Informal settlements have emerged due to urbanization and rapid economic growth, especially in developing countries. The Klong Toei community, which has evolved around the Port Authority of Thailand, has become the largest informal settlement in Bangkok. The port authority has tried to reclaim the land occupied by the community and provide relocation options to residents. However, the relocation process encounters challenges as many residents fear losing their livelihoods and express concerns about …


Public-Private Partnerships For Implementing Sponge City Development : A Case Study Of Xiamen City, China, Ting Su Jan 2022

Public-Private Partnerships For Implementing Sponge City Development : A Case Study Of Xiamen City, China, Ting Su

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

To mitigate the disasters caused by extreme weather induced by climate change in cities, the Chinese government has proposed the implementation of sponge cities in recent years. However, the construction of sponge cities is characterized by significant investments, long project cycles, and many risks. It is difficult to implement the project only by relying on government investment. Therefore, Public-private Partnership (PPP) model is gradually applied to sponge cities' implementation. As a model of urban infrastructure implementation, PPP can significantly reduce stakeholders' risks in some respects and accelerate infrastructure implementation in sponge cities. However, the PPP model has some disadvantages. Therefore, …