Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Architecture Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Articles 31 - 50 of 50

Full-Text Articles in Architecture

ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ให้บริการตรวจรักษาและส่วนเกี่ยวเนื่องแผนกผู้ป่วยนอก : กรณีศึกษาแผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวช, พาขวัญ รูปแก้ว Jan 2018

ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ให้บริการตรวจรักษาและส่วนเกี่ยวเนื่องแผนกผู้ป่วยนอก : กรณีศึกษาแผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวช, พาขวัญ รูปแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวชเป็นแผนกที่มีความเกี่ยวเนื่องกันของผู้มารับบริการ เนื่องจากแผนกสูตินรีเวชเป็นแผนกที่ให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคของระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงรวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะตั้งครรภ์และระยะหลังคลอดบุตร จึงมีความซับซ้อนในด้านขั้นตอนการให้บริการ อีกทั้งต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ป่วย ในส่วนของแผนกกุมารเวชเป็นแผนกที่ให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคในทารก เด็ก และวัยรุ่น มีบางพื้นที่แตกต่างจากแผนกผู้ป่วยนอกทั่วไป นอกจากนี้ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่พบวิจัยที่เกี่ยวกับการวิจัยด้านกายภาพของแผนกผู้ป่วยนอกแผนกสูตินรีเวชและกุมารเวช จึงดำเนินการวิจัยโดยเข้าศึกษาในพื้นที่ของโรงพยาบาลที่มีลักษณะการให้บริการที่แตกต่างกัน 3 ประเภท ได้แก่ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพ การวางผัง ลักษณะการใช้พื้นที่และปัญหาของพื้นที่ให้บริการตรวจโรคและส่วนเกี่ยวเนื่องแผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวช และหาปัจจัยที่ส่งผลต่อลักษณะทางกายภาพและการวางผังของแผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวช ผลการศึกษาพบว่า โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์มีการแบ่งแผนกสูติกรรมและนรีเวชกรรมออกจากกัน เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้งานมาก แตกต่างจากโรงพยาบาลประเภทอื่น ในแผนกกุมารเวชของโรงพยาบาลกรณีศึกษาเกือบทุกแห่งมีการแบ่งพื้นที่พักคอยของผู้ป่วยเด็กสุขภาพดี และเด็กป่วยออกจากกัน ปัจจัยที่ส่งผลต่อการออกแบบแผนกสูตินรีเวชและแผนกกุมารเวชของประเภทโรงพยาบาลที่แตกต่างกัน คือจำนวนผู้ใช้งานของโรงพยาบาลแต่ละประเภทซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ในแผนกสูตินรีเวชและกุมารเวชมีขนาดแตกต่างกันเพื่อมารองรับจำนวนผู้ใช้งานตามประเภทโรงพยาบาลนั้นๆ อีกหนึ่งปัจจัยคือขั้นตอนการให้บริการ เนื่องจากโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลรัฐมีจำนวนผู้มารับบริการจำนวนมาก ขั้นตอนการให้บริการจำเป็นต้องกระจายผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชนที่มีจำนวนผู้มารับบริการน้อยกว่าโรงพยาบาลทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว ปัญหาที่พบจากการสัมภาษณ์ผู้ใช้งานได้แก่ พื้นที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานและพื้นที่ที่ออกแบบมาไม่ตรงกับการใช้งาน ดังนั้นในอนาคตหากการออกแบบได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะทำให้แผนกที่ถูกออกแบบมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


กระบวนการก่อสร้างเรือนปกาเกอะญอแบบดั้งเดิมกรณีศึกษาโครงการบ้านวัฒนธรรมบ้านโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี, พงศ์ชวิน อุดหนุนสมบัติ Jan 2018

กระบวนการก่อสร้างเรือนปกาเกอะญอแบบดั้งเดิมกรณีศึกษาโครงการบ้านวัฒนธรรมบ้านโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี, พงศ์ชวิน อุดหนุนสมบัติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวปกาเกอะญอมาเป็นเวลานาน ภายหลังการขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานชาวปกาเกอะญอได้รับผลกระทบจากการจัดสรรพื้นที่ทำกินทำให้วิถีของการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป จากการสำรวจพื้นที่ผลกระทบดังกล่าวส่งผลต่อด้านสถาปัตยกรรมของชาวปกาเกอะญอเป็นหลัก ผู้วิจัยเล็งเห็นความสำคัญในการจดบันทึกเก็บรายละเอียดการก่อสร้างเรือนปกาเกอะญอแบบดั้งเดิม เพื่อให้ภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมแขนงนี้ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา จึงได้ทำการศึกษาร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการก่อสร้างเรือนปกาเกอะญอแบบดั้งเดิมภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในชุมชนปกาเกอะญอ บ้างโป่งลึก - บางกลอย จังหวัดเพชรบุรี บนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจดบันทึกและวิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่ได้จากการศึกษากระบวนการก่อสร้าง เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือนในหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยในอนาคต โดยลงพื้นที่เพื่อจดบันทึกตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง ตลอดจนถึงหลังการก่อสร้าง โดยเน้นความสำคัญถึงเรื่องเทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิมของช่างปัจจุบันภายในหมู่บ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างทักษะแรงงานกับวันและเวลาในการก่อสร้าง และความสัมพันธ์ของการเตรียมวัสดุกับขั้นตอนการก่อสร้าง จากการศึกษาพบว่ากระบวนการก่อสร้างเรือนปกาเกอะญอดั้งเดิมใช้เวลาทั้งหมด 19 วัน ระบบโครงสร้างมีลักษณะเป็นแบบเรือนเครื่องผูกดั้งเดิม การก่อสร้างถูกดำเนินงานโดยช่างในหมู่บ้านซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ช่างอาวุโสภายในหมู่บ้าน ช่างประจำโครงการ และ แรงงานรับจ้างรายวัน


การศึกษาการเปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่ผู้ควบคุมงานตามสัญญาจ้างของโครงการอาคารหน่วยงานของรัฐ, พิชชานันท์ สวัสดิ์เอื้อ Jan 2018

การศึกษาการเปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่ผู้ควบคุมงานตามสัญญาจ้างของโครงการอาคารหน่วยงานของรัฐ, พิชชานันท์ สวัสดิ์เอื้อ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561เป็นต้นมา ขอบเขตหน้าที่ของผู้ควบคุมงานก่อสร้างหน่วยงานของรัฐ เป็นไปตามพระราชบัญญัติและระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (ฉบับใหม่) ซึ่งมีการแก้ไขจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 (ฉบับเดิม) จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนค่าบริการวิชาชีพและรายละเอียดงานตามข้อกำหนดโครงการ (TOR: Terms of Reference) เพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงศึกษาขอบเขตหน้าที่ตามรายละเอียด TOR ตามระเบียบฯว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 (เดิม) และระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. 2560 (ใหม่) มาศึกษาการเปรียบเทียบ เพื่อหาข้อสรุปของรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีวิธีดำเนินการวิจัยคือ 1) ศึกษาข้อมูลและทบทวนทฤษฎีเกี่ยวกับระเบียบการจัดจ้างผู้ควบคุมงาน และขอบเขตหน้าที่ของผู้ควบคุมงาน 2) เปรียบเทียบข้อกำหนดโครงการ (TOR) จากกรณีศึกษา ระหว่างระเบียบฯว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 จำนวน 5 โครงการ และ ระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ.2560 จำนวน 9 โครงการ 3) ประมวลผลและวิเคราะห์เพื่อสรุปผลการศึกษา จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า การระบุในข้อกำหนดโครงการ(TOR) ขอบเขตหน้าที่ของผู้ควบคุมงานเกินกว่าขอบเขตจากที่ระเบียบฯ(เดิม)กำหนด และพบว่าขอบเขตหน้าที่ของผู้ควบคุมงานตามข้อกำหนดโครงการ (TOR) ในระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ.2560 มีขอบเขตงานที่เพิ่มเติมจาก ระเบียบฯว่าด้วยการพัสดุ ปีพ.ศ.2535 (เดิม) คือ 1) เพิ่มเติมด้านบุคลากร 2) ข้อกำหนดการปฏิบัติงาน และเครื่องมือการบริหารงาน และ 3) ผู้ควบคุมงานเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เรื่อง ค่าซอฟต์แวร์ ค่าเช่าสำนักงานสนาม พร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ค่าใช้จ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องในกระหว่างการควบคุมงานก่อสร้าง ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าในการปรับเปลี่ยนค่าบริการวิชาชีพให้มีอัตราค่าบริการวิชาชีพเพิ่มสูงขึ้นตามพรบ. ส่งผลให้เกิดการพัฒนาการบริหารโครงการ ในเรื่องจำนวนและความชำนาญของบุคลากร ทั้งนี้กรณีศึกษาตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ.2560 บางโครงการเริ่มใช้แบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling : BIM) เข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารโครงการ เพื่อลดข้อผิดพลาดปัญหาข้อผิดในการก่อสร้าง จากผลวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ความซับซ้อนของโครงการมีผลต่อการระบุรายละเอียดขอบเขตงานใน TOR ดังนั้นโครงการหน่วยงานของรัฐ ควรมีมาตรฐานในการเขียนข้อกำหนด TOR เพื่อคัดเลือกผู้ควบคุมงานและรายละเอียดของเขตหน้าที่ ตามความซับซ้อนของโครงการ อย่างมีมาตรฐานเพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมงาน และประโยชน์สูงสุดของรัฐ


พัฒนาการแนวคิดและรูปแบบสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบในเขตพุทธาวาส : กรณีศึกษา ผลงานออกแบบของสถาปนิกยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2509-2553), พิมพ์พร ไชยพร Jan 2018

พัฒนาการแนวคิดและรูปแบบสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบในเขตพุทธาวาส : กรณีศึกษา ผลงานออกแบบของสถาปนิกยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2509-2553), พิมพ์พร ไชยพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาพัฒนาการแนวคิดและรูปแบบสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบในเขตพุทธาวาส ได้แก่ เจดีย์ อุโบสถ วิหาร และมณฑป ที่ออกแบบโดยสถาปนิกไทยยุคบุกเบิกซึ่งมีผลงานในช่วงพ.ศ. 2509-2553 ที่คัดเลือกมาจำนวน 10 คน เพื่อให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมวัดจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และสถาปัตยกรรม โดยมีสมมติฐานว่าจุดเปลี่ยนที่มีบทบาทสำคัญคือการก่อตั้งหลักสูตรการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมแบบสากลขึ้น การศึกษาวิจัยใช้การเปรียบเทียบระหว่างสถาปัตยกรรมวัดที่ออกแบบโดยสถาปนิกไทยยุคบุกเบิกกับสถาปัตยกรรมวัดในอดีตซึ่งทั้งหมดอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยอิงทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมแบบสากล กรณีศึกษาได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร การสำรวจ และการสัมภาษณ์แนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดจำนวน 53 หลัง จากวัด 42 แห่งทุกภูมิภาค และจำแนกกลุ่มลักษณะทางกายภาพตามประเด็นทางสถาปัตยกรรม ดังนี้ 1. ผังบริเวณวัดและผังบริเวณในเขตพุทธาวาส 2. รูปแบบทางสถาปัตยกรรม และการประดับตกแต่งและสัญลักษณ์ 3. การใช้สอย และที่ว่างภายใน และ 4. โครงสร้าง และวัสดุก่อสร้าง และนำมาวิเคราะห์เพื่อศึกษาปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง ผลการศึกษาสรุปว่าสถาปัตยกรรมวัดที่ทาการวิจัยมีความหลากหลายของรูปแบบและการใช้สอยและมีลักษณะเฉพาะอยู่เป็นจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมวัดไม่ได้เกิดขึ้นและจบลงตามลำดับเวลา แต่เกิดขึ้นพร้อมกันและขนานกันไปตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นจึงไม่สามารถจำแนกเป็นกลุ่มรูปแบบตามลำดับช่วงเวลาอย่างพัฒนาการประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมทั่วไปได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าสถาปนิกยุคบุกเบิกได้พัฒนาแนวคิดในการออกแบบจากการใช้ศาสตร์สถาปัตยกรรมแบบสากลมาทำความเข้าใจองค์ความรู้เดิม ทำให้มีมุมมองว่าวัดเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์ได้อย่างอิสระเหมือนกับสถาปัตยกรรมประเภทอื่น ๆ และสร้างสรรค์งานออกแบบที่มีรูปแบบตั้งแต่ประเพณีนิยมไปจนถึงรูปแบบใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงพร้อมกับการใช้สอยและที่ว่างภายใน รวมถึงการทดลองใช้โครงสร้างและวัสดุก่อสร้างใหม่ ซึ่งผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมวัดมีความเป็นปัจเจกตามแนวคิดและประสบการณ์ของสถาปนิก และยังคงพัฒนาตามแนวทางของแต่ละคนต่อไป


การจัดผังรูปแบบและการใช้สอยของส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยใน : กรณีศึกษา โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน, พิชญ์สินี จงยั่งยืนวงศ์ Jan 2018

การจัดผังรูปแบบและการใช้สอยของส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยใน : กรณีศึกษา โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน, พิชญ์สินี จงยั่งยืนวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หอผู้ป่วยในเป็นแผนกหนึ่งในโรงพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยส่วนบริการผู้ป่วยและญาติ ส่วนทำงานเจ้าหน้าที่ ส่วนสนับสนุนเจ้าหน้าที่ และหอผู้ป่วยในเป็นส่วนที่ให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน ในปัจจุบันการทำงานภายในหอผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี แต่มาตรฐานในการออกแบบพื้นที่ส่วนพยาบาลปัจจุบันอิงข้อมูลการใช้พื้นที่ในอดีต และมีความแตกต่างในการใช้งานแต่ละแผนก รวมถึงแต่ละประเภทโรงพยาบาลมีลักษณะการจัดพื้นที่ส่วนพยาบาลแตกต่างกัน ส่งผลให้เกณฑ์และมาตรฐานเดิมไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานพื้นที่ในปัจจุบัน การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการออกแบบของพื้นที่ส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยใน ศึกษาลักษณะการใช้งานพื้นที่ส่วนพยาบาล และเพื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อพื้นที่ส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยใน จากการศึกษาพบว่ามาตรฐาน และพบข้อจำกัดที่ใช้ในการออกแบบแต่ละประเภทโรงพยาบาลแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้การจัดผังรูปแบบและการใช้สอยพื้นที่ของแต่ละประเภทโรงพยาบาลมีลักษณะที่แตกต่างกัน รวมถึงการใช้งานพื้นที่ส่วนหัตถการของพื้นที่ส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยในแต่ละแผนกก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน และพบว่าในการออกแบบพื้นที่ส่วนพยาบาลหอผู้ป่วยในมีปัจจัยที่ส่งผล คือประเภทโรงพยาบาล ประเภทหอผู้ป่วย ตำแหน่งที่ตั้งพื้นที่ส่วนพยาบาล จำนวนผู้ป่วย และจำนวนบุคลากร ดังนั้นพื้นที่ส่วนพยาบาลในแต่ละประเภทโรงพยาบาลมีสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยโรงพยาบาลเอกชนมีสัดส่วนพื้นที่ส่วนพยาบาลน้อยกว่าโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากการให้บริการเน้นพื้นที่ให้บริการผู้ป่วยเป็นหลักและมีความต้องการใช้สอยพื้นที่ใช้สอยน้อยที่สุดทั้งด้านขนาดและลักษณะพื้นที่ ส่วนโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์มีสัดส่วนพื้นที่ส่วนพยาบาลมากกว่าโรงพยาบาลรัฐเนื่องจากโรงเรียนแพทย์มีผู้ใช้งานที่หลากหลายและมีจำนวนบุคลากรมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ รวมถึงมีความต้องการใช้สอยพื้นที่ใช้สอยมากที่สุดทั้งด้านขนาดและลักษณะพื้นที่ ทั้งนี้ ระบบการทำงาน และการจัดการภายโรงพยาบาลก็ส่งผลต่อสัดส่วนพื้นที่ส่วนพยาบาลเช่นกัน


องค์ประกอบและรูปแบบทางกายภาพที่ส่งผลต่อการจัดการโรงอาหารภายในมหาวิทยาลัย กรณีศึกษาโรงอาหารส่วนกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มุจลินท์ สุพรรณชนะบุรี Jan 2018

องค์ประกอบและรูปแบบทางกายภาพที่ส่งผลต่อการจัดการโรงอาหารภายในมหาวิทยาลัย กรณีศึกษาโรงอาหารส่วนกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มุจลินท์ สุพรรณชนะบุรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ ที่มีทรัพยากรกายภาพพื้นฐานให้บริการแก่ทั้งนิสิต อาจารย์ บุคลากรทั่วไป โรงอาหารคือหนึ่งในทรัพยากรกายภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเป็นจำนวนมากและบ่อยครั้งที่สุดในแต่ละเทอมหรือปีการศึกษา ทางมหาวิทยาลัยได้มีการจัดเตรียมโรงอาหารเพื่อรองรับผู้ใช้บริการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14 โรงอาหาร บริหารโดยหน่วยงานส่วนกลางของมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของโรงอาหารทั้งหมด โรงอาหารส่วนกลางทั้ง 7 โรงอาหารมีบางแห่งที่ได้ผ่านการเปิดใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน โดยเปิดให้บริการมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ในระหว่างการเปิดให้บริการนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนชุดคณะทำงานรวมไปถึงมีการปรับเปลี่ยนสภาพทางกายภาพในหลายส่วนจากการใช้งานเดิมเพื่อให้สอดรับกับการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่มีความต้องการในจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยจากการสำรวจพบข้อจำกัดและอุปสรรคในพื้นที่อันเกิดจากสภาพทางกายภาพ จึงเป็นที่มาของการศึกษาถึงปัญหาและรูปแบบด้านกายภาพที่เกิดกับโรงอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในบทความวิจัยนี้ ในการนี้ได้คัดเลือกกรณีศึกษาคือโรงอาหารส่วนกลางที่บริหารโดยหน่วยงานส่วนกลางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงประจักษ์ (Empirical Research) แบบกรณีศึกษา (Case Study Approach) ที่ได้ทำการสำรวจและพบปัญหา จึงนำมาวิเคราะห์ร่วมกับตำราและเอกสารที่สืบค้น พบองค์ประกอบของโรงอาหาร 3 ประเภท คือ 1) องค์ประกอบด้านกายภาพ 2) องค์ประกอบด้านผู้ปฏิบัติงาน 3) องค์ประกอบด้านผู้ใช้งาน เมื่อนำองค์ประกอบข้างต้นมาแยกเป็นองค์ประกอบย่อยที่อยู่ในขอบเขตของการศึกษาเพื่อนำมาพิจารณาร่วมกับเกณฑ์ด้านสุขอนามัยและอาคารสถานที่ ปรากฏกรณีที่เกิดขึ้นเฉพาะสำหรับแต่ละองค์ประกอบย่อย เมื่อนำแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นเฉพาะข้างต้นมาวิเคราะห์และพิจารณาร่วมกันในกรณีศึกษาทั้ง 7 (โรงอาหารส่วนกลางทั้ง 7) พบรูปแบบและปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการด้านความสะอาดของโรงอาหารคือ 1) รูปแบบและตำแหน่งผังของร้าน 2) ระยะทางจากร้านค้าถึงจุดพักขยะใหญ่ 3) ระยะทางจากจุดคัดแยกภาชนะถึงที่ล้าง 4) วิธีการที่ปฏิบัติงานที่พื้นที่ปรุงและพื้นที่เตรียม 5) ระยะทางจากพื้นที่ปรุงและพื้นที่เตรียมถึงพื้นที่ขาย รูปแบบและปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการด้านความปลอดภัยของระบบที่ใช้ในโรงอาหารคือ 1) รูปแบบและตำแหน่งที่ติดตั้งท่อแก๊ส 2) ระยะทางจากห้องวางถังแก๊สรวมถึงจุดจ่ายแก๊ส 3) วิธีการกำหนดจุดวางถัง 4) วิธีการจ่ายแก๊ส รูปแบบและปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการด้านประสิทธิภาพของระบบที่ใช้ในโรงอาหารคือ 1) วิธีการที่ระบายควัน 2) ระยะทางจากจุดดูดควันถึงจุดระบายควัน ข้อสรุปจากการศึกษาครั้งนี้คือ 1) การจัดการด้านความสะอาด ประกอบไปด้วยองค์ประกอบจุดพักขยะ จุดคัดแยกภาชนะ จุดล้างภาชนะ จุดเตรียมวัตถุดิบ จุดปรุง จุดจำหน่าย 2) การจัดการด้านความปลอดภัย ประกอบไปด้วยองค์ประกอบระบบแก๊สหุงต้ม และ 3) การจัดการด้านประสิทธิภาพระบบ ประกอบไปด้วยองค์ประกอบระบบดูดควันระบายควัน ทั้ง 3 ส่วนนี้ล้วนส่งผลถึงประสิทธิภาพ สุขอนามัยและความปลอดภัยอันเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของโรงอาหาร การสำรวจตรวจสอบร่วมกับการกำหนดและวางแผนรูปแบบด้านกายภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการบริหารจัดการของโรงอาหารที่เป็นหนึ่งในทรัพยากรของมหาวิทยาลัย


การปรับประโยชน์ใช้สอยอาคารประวัติศาสตร์เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ กรณีศึกษา อาคารในพื้นที่อนุรักษ์ของกรุงเทพมหานคร, ภูรี อำพันสุข Jan 2018

การปรับประโยชน์ใช้สอยอาคารประวัติศาสตร์เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ กรณีศึกษา อาคารในพื้นที่อนุรักษ์ของกรุงเทพมหานคร, ภูรี อำพันสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การปรับประโยชน์ใช้สอยเป็นหนึ่งในวิธีการอนุรักษ์ด้วยการนำอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ถูกทิ้งร้าง หรือมีสภาพที่ไม่สามารถตอบสนองการใช้งานเดิมได้ มาปรับปรุงพร้อมกับปรับเปลี่ยนการใช้งาน ซึ่งในการปรับปรุงอาคารนั้นอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอาคารมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และการเลือกระดับของการอนุรักษ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับวิธีการนี้ คือเมื่อทำการปรับปรุงแล้วจะต้องคำนึงถึงการคงคุณค่าของอาคารให้ได้มากที่สุด หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะต้องส่งเสริมคุณค่าของอาคารให้เด่นชัดขึ้น วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการในการปรับประโยชน์ใช้สอยอาคาร ศึกษาการวางแนวคิด ศึกษาการออกแบบโปรแกรมการใช้สอย และศึกษาการวางผังพื้นที่ใช้สอย จากอาคารที่ได้รับการปรับประโยชน์ใช้สอยเป็นพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ กรณีศึกษาในการวิจัยนี้คืออาคารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ของกรุงเทพมหานคร 3 โครงการ อันประกอบด้วยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย และหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร กรอบทฤษฎีของการวิจัยนี้คือแนวคิดในเรื่องการปรับประโยชน์ใช้สอยและการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ ผลการศึกษาพบว่ากรณีศึกษาทั้ง 3 โครงการมีการดำเนินการเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของกระบวนการปรับประโยชน์ใช้สอยตามหลักการอนุรักษ์สากล เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดโครงการ การวางแผน การปรับปรุง และการดูแลหลังเปิดใช้งาน โดยกรณีศึกษาทั้ง 3 เป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการนำเอาอาคารประวัติศาสตร์ในลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เคยใช้งานเป็นสำนักงานมาปรับประโยชน์ใช้สอยใหม่ เนื่องจากอาคารประเภทนี้เป็นอาคารที่มีศักยภาพตามที่พื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์พึงมี ทั้งนี้กรณีศึกษาทั้ง 3 ได้รับการออกแบบพื้นที่ใช้สอยตามแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ โดยออกแบบในลักษณะของ"พื้นที่การเรียนรู้" ผสมผสานกับ "พื้นที่ทำงานร่วมกัน" ในการนี้แต่ละโครงการได้เลือกวิธีการอนุรักษ์หลายระดับอันประกอบด้วย การรักษาสภาพ การปรับปรุงและซ่อมแซม และการต่อเติม ซึ่งในภาพรวมของตัวอาคารยังคงรักษารูปลักษณ์ภายนอกเอาไว้ได้ ในขณะที่อาคารได้รับการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ที่ว่างภายใน งานระบบ และอุปกรณ์ประกอบอาคารเป็นหลัก จากการศึกษาการปรับประโยชน์ใช้สอยอาคารประวัติศาสตร์เพื่อใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ในพื้นที่อนุรักษ์ของกรุงเทพมหานคร นำมาสู่ข้อค้นพบที่ว่าการปรับประโยชน์ใช้สอยไม่ได้เป็นแค่วิธีการอนุรักษ์ในลักษณะแช่แข็งอาคารให้อยู่ในสภาพเดิม แต่การอนุรักษ์ด้วยวิธีการนี้ยังให้ความสำคัญกับคุณค่าและความแท้ของอาคารประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการใช้งานตามความต้องการในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ


การศึกษาคุณลักษณะที่ว่างของตรอกบริเวณชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร, วิสุทธิ์ นุชนาบี Jan 2018

การศึกษาคุณลักษณะที่ว่างของตรอกบริเวณชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร, วิสุทธิ์ นุชนาบี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาคุณลักษณะที่ว่างของ "ตรอก" ในเขตชุมชนเมืองเก่า ผ่านกรณีศึกษาชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการอยู่อาศัยทางสังคมของมนุษย์ ผ่านทฤษฎีทางจิตวิทยาสถาปัตยกรรมและการอยู่อาศัยสถาปัตยกรรมเป็นกรอบในการวิเคราะห์ งานวิจัยเริ่มต้นจากการศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องราวของของย่านและชุมชน สู่การศึกษาการใช้สอยที่ว่างภายในตรอก โดยอาศัยข้อมูลภาคสนามจากแผนที่แสดงการใช้สอยที่ว่างของตรอกในฐานะ "ทางแห่งการเชื่อมโยง" และ "ที่แห่งการปฏิสัมพันธ์" ด้วยการบันทึกพฤติกรรมการสัญจรบนตรอกโดยวิธีการสะกดรอยและการบันทึกพฤติกรรมการครอบครอบที่ว่างบนตรอกโดยวิธีการจับภาพชั่วขณะตามลำดับ ผ่านมิติของผู้ใช้งานตรอกประกอบด้วยคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ และมิติของเวลาทั้งในวันธรรมดาและวันสุดสัปดาห์ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างมิติทางกายภาพและการใช้สอยที่ว่างภายในตรอกในบทบาท "ทางแห่งชีวิต" และ "ที่แห่งชีวิต" ผ่านแผนที่แสดงความเข้มข้นของการใช้สอยที่ว่างภายในตรอก สู่การสังเคราะห์คุณลักษณะที่ว่างของตรอกในฐานะ "พื้นที่รองรับชีวิต" ซึ่งส่งผลให้ตรอกในชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดินเป็นพื้นที่รองรับการอยู่อาศัยทางสังคมที่มีชีวิตชีวา โดยสรุป สาระสำคัญของคุณลักษณะที่ว่างของตรอกบริเวณชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน ประกอบด้วย ที่ว่างที่ให้ประสบการณ์อันหลากหลาย ที่ว่างที่มีปฏิสันถารกับชีวิต ที่ว่างที่ซ่อนอยู่ในที่ว่าง ที่ว่างที่รองรับมิติการใช้สอยอันหลากหลาย และที่ว่างที่มีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนการใช้สอย


การประเมินประสิทธิภาพแสงธรรมชาติและการใช้พลังงานจากการออกแบบหิ้งสะท้อนแสงในอาคารสำนักงานตามเกณฑ์การประเมินอาคารเขียว ลีด เวอร์ชัน 4.0, ศิรวิชญ์ รงควิลิต Jan 2018

การประเมินประสิทธิภาพแสงธรรมชาติและการใช้พลังงานจากการออกแบบหิ้งสะท้อนแสงในอาคารสำนักงานตามเกณฑ์การประเมินอาคารเขียว ลีด เวอร์ชัน 4.0, ศิรวิชญ์ รงควิลิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอแนวทางการออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ภายในอาคารสำนักงาน โดยการลดการใช้พลังงานจากแสงประดิษฐ์ ด้วยการออกแบบหิ้งสะท้อนแสง และประเมินผลโดยใช้ค่า Spatial Daylight Autonomy (sDA) และ Annual Sunlight Exposure (ASE) ตามเกณฑ์ LEED V4 หัวข้อ Daylight ด้วยโปรแกรม Rhinoceros - Grasshopper - Ladybug Tools, Honeybee Tools ในการจำลองผล โดยมีตัวแปร คือ ระยะยื่นของหิ้งสะท้อนแสงภายนอกขนาด 0.30 เมตร 0.60 เมตร และ 0.90 เมตร ระยะติดตั้งต่ำจากฝ้าเพดาน 0.50 เมตร และ 1.00 เมตร องศาฝ้าเพดาน 0 องศา 15 องศา และ 30 องศา สัดส่วนพื้นที่ช่องเปิดต่อพื้นที่ผนัง 60% และ 100% ตำแหน่งทิศที่ติดตั้งหิ้งสะท้อนแสงทั้ง 8 ทิศ และการติดตั้งหิ้งสะท้อนแสงภายในระยะยื่นขนาด 0.30 เมตร โดยจำลองกับห้องภายในอาคารสำนักงาน กว้าง 9 เมตร ลึก 12 เมตร และสูง 3 เมตร ซึ่งผลการวิจัย ทุกกรณีศึกษามีค่า sDA ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด ส่วนค่า ASE มีกรณีศึกษาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งการมีระยะยื่นของหิ้งสะท้อนแสงภายนอกที่มากขึ้น ทำให้แสงสามารถเข้าสู่ภายในอาคารได้น้อยลง ส่งผลให้ค่า sDA และ ASE ลดลง การมีระยะติดตั้งต่ำจากฝ้าเพดานที่มากขึ้น ทำให้ค่า sDA และ ASE เพิ่มขึ้น องศาของฝ้าเพดานที่เพิ่มขึ้น ช่วยในการกระจายแสงเข้าสู่ภายในอาคาร มีผลให้ค่า sDA เพิ่มขึ้น แต่ไม่ส่งต่อค่า ASE สัดส่วนพื้นที่ช่องเปิดต่อพื้นที่ผนังที่มากขึ้น …


ประสิทธิภาพการลดการถ่ายเทความร้อนในระบบผนังด้วยฉนวน โดยพิจารณาอัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมด, จิราภา เดชจิระกุล Jan 2018

ประสิทธิภาพการลดการถ่ายเทความร้อนในระบบผนังด้วยฉนวน โดยพิจารณาอัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมด, จิราภา เดชจิระกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาค่าการต้านทานความร้อนของผนังภายนอกอาคาร เพื่อวางแนวทางในการปรับปรุงอาคารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประเมินความคุ้มค่าด้านการลงทุนในฉนวนความร้อนแต่ละชนิด โดยแบ่งอาคารเป็น 3 ประเภทตามกฎกระทรวง และมีช่วงระยะอัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดแบ่งเป็น 6 ระยะ เริ่มจาก 10% ไปถึง 35% มีช่วงระยะห่างของแต่ละทางเลือกที่ 5% การศึกษาใช้วิธีการวิเคราะห์ค่าการถ่ายเทความร้อนผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อประเมินประสิทธิภาพพลังงานของอาคาร (Building Energy Code Software, BEC) ทำการศึกษาระบบผนัง 4 ประเภท คือผนังก่ออิฐฉาบปูน, ผนังก่ออิฐมวลเบา, ผนังคอนกรีต และผนังก่ออิฐ 2 ด้าน เว้นช่องอากาศ 10 เซนติเมตร ผลการศึกษาพบว่าสำหรับอาคารที่มีการใช้งาน 9 และ 12 ชั่วโมงต่อวัน หากใช้วัสดุคอนกรีตเป็นผนังภายนอกอาคาร สำหรับอาคารที่มีอัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดเท่ากับ 10%, 15%, 20% และ 25% จำเป็นจะต้องติดตั้งฉนวนความร้อน ในขณะที่อาคารที่มีการใช้งาน 24 ชั่วโมง จำเป็นต้องติดตั้งฉนวนความร้อนที่อัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดเท่ากับ 15%, 20%, 25% และ 30% จึงสรุปได้ว่าผนังคอนกรีตมีความจำเป็นมากที่สุดในการเพิ่มประสิทธิภาพการลดการถ่ายเทความร้อนผ่านผนัง เนื่องจากมีค่าการถ่ายเทความร้อนผ่านผนังก่อนการติดตั้งฉนวนความร้อนที่ไม่ผ่านเกณฑ์เป็นจำนวนมากหากเปรียบเทียบกับระบบผนังประเภทอื่นๆ เมื่อวิเคราะห์มูลค่าปัจจุบัน (Life cycle Cost) ผนังคอนกรีตอาคารที่มีการใช้งาน 9 ชั่วโมงต่อวัน ควรติดตั้งฉนวนใยแก้ว 32 kg/m³ ความหนา 50 mm. สำหรับผนังคอนกรีตอาคารที่มีการใช้งาน 12 ชั่วโมงต่อวัน ที่อัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดเท่ากับ 10% และ 15% ควรติดตั้งฉนวนโพลิสไตรีน ความหนา 50 mm. และที่อัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดเท่ากับ 20% และ 25% ควรติดตั้งฉนวนใยแก้ว 32 kg/m³ ความหนา 50 mm. และสำหรับผนังคอนกรีตยอาคารที่มีการใช้งาน 24 ชั่วโมง ที่อัตราส่วนพื้นที่ของผนังโปร่งแสงต่อพื้นที่ผนังทั้งหมดเท่ากับ 15% และ 25% ฉนวนใยแก้ว 32 kg/m³ …


เกณฑ์และหลักคิดในการออกแบบพุทธประทีปมหาสถูปเจดีย์, วัชรพงษ์ ชุมดวง Jan 2018

เกณฑ์และหลักคิดในการออกแบบพุทธประทีปมหาสถูปเจดีย์, วัชรพงษ์ ชุมดวง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้เป็นการทำความเข้าใจ หาเกณฑ์และหลักคิดในการออกแบบพุทธประทีปมหาสถูปเจดีย์ของมูลนิธิพระบรมธาตุ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ด้วยวิธีการศึกษาในหลักพุทธธรรม คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ ที่ปรากฏอยู่ในหลักอริยสัจ 4 และได้สรุปลงมาเป็นหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักในการเข้าถึงพุทธธรรม โดยศึกษาหลักหลักธรรมทางพุทธศาสนา โดยการค้นคว้าจากพระคัมภีร์ในขั้นปฐมภูมิ ได้แก่ พระไตรปิฎก ในขั้นทุติยภูมิ ได้แก่ ตำราวิชาการทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ได้ไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และได้เดินทางไปศึกษาดูงานและวิเคราะห์จากสถานที่จริงของพระสถูปเจดีย์ในอดีต เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการการออกแบบพื้นที่ที่เอื้อให้จิตมีความสงบระงับ จิตมีศีล จิตมีความตั้งมั่น จิตมีสมาธิ จิตได้รู้เห็นตามความเป็นจริงของธรรมชาติ จิตมีปัญญา มีความสะอาด สว่าง สงบเย็น ผลการศึกษาพบว่า หลักในการเข้าถึงพุทธธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเกณฑ์ในการออกแบบพุทธประทีปมหาสถูปเจดีย์ และมีหลักคิดอยู่ 4 ข้อ ได้แก่ 1. นิมิตหมายแห่งปัญญา คือ องค์พุทธประทีปมหาสถูปเจดีย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ 2. มณฑลศักดิ์สิทธิ์ คือ พื้นที่แห่งความสงบจิตตั้งมั่นของจิต 3. พื้นที่สัปปายะ คือ พื้นที่แห่งความสบายกายและสบายใจ โดยมีความสงบเย็นเป็นตัวชี้วัด 4. พื้นที่ที่เป็นสากล คือ พื้นที่ในการศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติธรรมอบรมพัฒนาจิต ตามหลักพุทธธรรมให้พ้นจากทุกข์ได้ทุกเวลา ทุกชาติพันธุ์ และทุกศาสนา สรุปผลของการศึกษา จึงได้หลักในการออกแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการยังประโยชน์ทางจิตวิญญาณ ไปสู่ชีวิตที่เป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์ มีความสัปปายะ ด้วยการทำให้จิตสงบระงับ มีศีล ให้จิตมีสมาธิตั้งมั่น ให้จิตรู้เห็นตามความเป็นจริงของธรรมชาติ มีปัญญาญาณ


แบบบ้านสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, เทบพะวง ไชโกสี Jan 2018

แบบบ้านสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, เทบพะวง ไชโกสี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

มีวัตถุประสงค์ จะเสนอแบบบ้านสำหรับ ผู้ประสบภัยพิบัติในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ตอบสนองในการเป็นทั้งที่พักอาศัยฉุกเฉิน ที่พักอาศัยชั่วคราวและที่พักอาศัยถาวร จากแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านรูปแบบ วัสดุและแรงงาน โดยรูปแบบอาคารต้องเรียบง่าย ต่อเติมได้ และแข็งแรง ใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ มีน้ำหนักเบา เพื่อให้สามารถใช้แรงงานน้อยหรือผู้อยู่อาศัยสามารถสร้างได้เองและสามารถต่อเติมได้ภายหลัง​ที่สามารถตอบสนองเป็น ที่พักอาศัยฉุกเฉิน ที่พักอาศัยชั่วคราวและที่พักอาศัยถาวรไปพร้อมกัน จากแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านรูปแบบ วัสดุและแรงงาน โดยรูปแบบอาคารต้องเรียบง่าย ต่อเติมได้ และแข็งแรง ใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ มีน้ำหนักเบา เพื่อให้สามารถใช้แรงงานน้อยหรือผู้อยู่อาศัยสามารถสร้างได้เองและสามารถต่อเติมได้ภายหลัง จึงเสนอรูปแบบบ้านเป็นอาคารชั้นเดียว รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 3.00 x 6.00 เมตร หลังคาแบบเพิงหมาแหงน ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่ภายในใช้เป็นที่นอนและพักผ่อน ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ภายนอกที่ใช้ประกอบกิจกรรมอื่น ๆ มีช่องระแนงเพื่อระบายอากาศ โครงสร้างเป็นเหล็กรูปพรรณรีดเย็น วางบนตอม่อสำเร็จรูป พื้นภายนอกเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นภายในยกระดับโครงสร้างเหล็กยกระดับปูด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ เช่นเดียวกับผนังโครงเคร่าเป็นเหล็กกาวาไนซ์ บุด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ โครงสร้างหลังคาเป็นเหล็ก มุงด้วยแผ่นเหล็กเมทัลชีท เมื่อนำแบบไปก่อสร้างจริงในนครหลวงเวียงจันทน์ ต้องใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 24 วัน เนื่องจากสภาพอากาศมีฝนตกหนักเกือบทุกวัน แต่ถ้านับเฉพาะทำงานจะเหลือแค่ 7 วัน ใช้งบประมาณ 70,290 บาท แบ่งเป็นค่าวัสดุ 50,290 บาท ค่าแรง 20,000 บาท เป็นค่าจ้างช่างในพื้นที่ 2 คน จากการสอบถามผู้อยู่อาศัยมีความพึงพอใจ แต่มีปัญหาฝนสาดเข้าตัวบ้านเนื่องจากชายคาสั้น มีช่องเปิดน้อยเกินไปทำให้แสงเข้าภายในบ้านไม่เพียงพอและระแนงตีแนวตั้งทำให้หักได้ง่าย นอกจากนั้น ช่างยังไม่คุ้นเคยกับวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าบางขั้นตอนในช่วงแรก ผู้วิจัยจึงได้ทำการปรับแบบใหม่ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่อไป


ความต้องการและความคาดหวังจากการจัดการอาคารของผู้เช่าอาคารสำนักงาน, ณวัลริณี สุวินิจวงษ์ Jan 2018

ความต้องการและความคาดหวังจากการจัดการอาคารของผู้เช่าอาคารสำนักงาน, ณวัลริณี สุวินิจวงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อาคารสำนักงานเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่ที่ให้ทั้งผู้ที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ใช้สอย และเมื่อมีผู้ใช้อาคารจึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้ดูแลจัดการหรือที่เรียกว่าผู้บริหารอาคารเพื่อให้อาคารนั้น ๆ อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบถึงความต้องการและคาดคาดหวังจากการจัดการอาคารของผู้เช่าอาคารสำนักงาน โดยการส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทผู้เช่าพื้นที่ภายในอาคารสำนักงานระดับ เอ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณย่านธุรกิจการค้ามีอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 750 บาท/ตารางเมตร/เดือน แต่ไม่เกินกว่า 1,000 บาท/ตารางเมตร/เดือน มีอาคารสำนักงานอยู่ในกรณีศึกษาทั้งหมด 6 อาคาร ได้แก่ อาคารสาทรซิตี้ ทาวเวอร์ อาคารเอเชียเซ็นเตอร์ อาคารซี.พี. ทาวเวอร์ อาคารจามจุรี ทาวเวอร์ อาคารเอ็มโพเรียม ทาวเวอร์ และอาคารอินเตอร์เชนจ์ 21 เพื่อทำการวิเคราะห์ สรุป และอภิปรายผล จากการศึกษาพบว่าผู้เช่าอาคารสำนักงานแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผู้เช่าพื้นที่สำนักงาน และผู้เช่าพื้นที่ร้านค้า โดยผู้เช่าพื้นที่สำนักงานแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มประเภทธุรกิจ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้มีความต้องการและคาดหวังในแต่ละงานมากน้อยไม่เท่ากัน ผู้เช่าพื้นที่สำนักงาน และผู้เช่าพื้นที่ร้านค้ามีลักษณะที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องอัตราค่าเช่า สัญชาติของ ผู้เช่า ประเภทธุรกิจ แต่มีความใกล้เคียงกันในเรื่องขนาดพื้นที่เช่าและขนาดขององค์กร โดยเมื่อนำประเภทธุรกิจของผู้เช่ามาวิเคราะห์พบว่าผู้เช่าทั้ง 3 กลุ่มประเภทธุรกิจและผู้เช่าพื้นที่ร้านค้ามีความต้องการและคาดหวังให้ฝ่ายบริหารอาคารดูแลเรื่องระบบความปลอดภัยของอาคารให้ได้มาตรฐานตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารมากที่สุดเหมือนกัน ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างด้านกลุ่มประเภทธรุกิจนั้น ถึงแม้จะมีความต้องการและความคาดหวังในการจัดการงานอาคารในแต่ละงานมากน้อยไม่เท่ากัน แต่ก็มีมุมมองในการให้ความสำคัญหรือความต้องการจากการจัดการอาคารในเรื่องของการดูแลระบบความปลอดภัยมากที่สุดเหมือนกัน


ผลกระทบของระดับความส่องสว่างและอุณหภูมิสีของแสงต่อความเร็วและความถูกต้องในการอ่านหนังสือของผู้สูงอายุ, นาถนภา กิตติจารุนันท์ Jan 2018

ผลกระทบของระดับความส่องสว่างและอุณหภูมิสีของแสงต่อความเร็วและความถูกต้องในการอ่านหนังสือของผู้สูงอายุ, นาถนภา กิตติจารุนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ การออกแบบซึ่งสามารถส่งเสริมศักยภาพด้านต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นอย่างมาก งานวิจัยชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของระดับความส่องสว่างและอุณหภูมิสีของแสง ต่อความเร็วและความถูกต้องในการอ่านของผู้สูงอายุ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ สัญชาติไทย ที่พักอาศัยในกรุงเทพมหานครจำนวน 80 คน ในการศึกษา แบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 ช่วงวัย ได้แก่ 1) อายุ 60-69 ปี 2) อายุ 70-79 ปี และ 3) อายุ 80 ปีขึ้นไป เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยได้แก่ แบบทดสอบการอ่านคำ Tambartun (2001) ที่ผู้วิจัย ปรับให้เป็นคำภาษาไทย โดยจัดเตรียมสถานที่ที่มีค่าความส่องสว่าง 3 ระดับ ได้แก่ 300 lux 700 lux และ 1000 lux และอุณหภูมิสีของแสง 3 ระดับ ได้แก่ 3000K 4000K และ 6000K ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุในช่วงอายุ 60 - 69 ปี อ่านได้รวดเร็วที่สุด ที่ระดับค่าความส่องสว่าง 700-1000 lux และที่อุณหภูมิสีของแสง 6000K โดยสำหรับการอ่านหนังสือที่เน้นด้านความถูกต้องในการอ่าน พบว่าที่ระดับค่าความส่องสว่าง 700-1000 lux สามารถลดโอกาสอ่านหนังสือผิดพลาดของผู้สูงอายุได้ และพบว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุในช่วงอายุ 70 - 79 ปี และ 80 ปี ขึ่นไป จะอ่านได้รวดเร็วที่สุด ที่ระดับค่าความส่องสว่างที่ 1000 lux และที่อุณหภูมิสีของแสง 6000K โดยสำหรับด้านความถูกต้องในการอ่าน ในช่วงอายุ 70 - 79 ปี พบว่า ที่ระดับค่าความส่องสว่าง 700-1000 …


การบริหารทรัพยากรกายภาพโรงละคร: กรณีศึกษา 6 โรงละครในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, นิรดา ดำรงทวีศักดิ์ Jan 2018

การบริหารทรัพยากรกายภาพโรงละคร: กรณีศึกษา 6 โรงละครในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, นิรดา ดำรงทวีศักดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โรงละครถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการแสดงสด มีอัตลักษณ์ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการดำเนินงาน ผสมผสานไปด้วยความละเอียดอ่อนของศิลปะและความแข็งแกร่งทางวิศวกรรม เพื่อที่จะรักษาโรงละครให้ยั่งยืน โรงละครจำเป็นจะต้องมีการบริหารทรัพยากรกายภาพที่ดี การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงลักษณะของการบริหารทรัพยากรกายภาพของโรงละครและปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารทรัพยากรกายภาพของโรงละคร โดยการสำรวจโรงละครที่ดำเนินงานโดยผลิตทั้งผลงานของโรงละครเองและผลงานของผู้เช่า 6 โรงละคร ได้แก่ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ หอนาฏลักษณ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แบล็คบ็อกซ์เธียเตอร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทองหล่ออาร์ตสเปซ และเดโมเครซี่เธียเตอร์สตูดิโอ เพื่อทำการวิเคราะห์ สรุป และอภิปรายผล จากการศึกษาพบว่า โรงละครบริหารทรัพยากรกายภาพตามช่วงการใช้งานซึ่งสัมพันธ์กับกิจกรรมการ ซึ่งในแต่ละช่วงการใช้งานโรงละครจะต้องรองรับการใช้งานที่แตกต่างกันทั้งผู้ใช้งาน พื้นที่ที่มีการใช้งาน และกิจกรรมการใช้งาน จากการวิเคราะห์พบว่า การบริหารทรัพยากรกายภาพของโรงละคร เป็นการบริหารความรับผิดชอบต่อทรัพยากรกายภาพที่โรงละครมี โดยคำนึงถึง สถานที่ ผู้ใช้งาน และการใช้งานโรงละคร มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากการบริหารทรัพยากรกายภาพของอาคารทั่วไป เนื่องจากมีส่วนงานและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการแสดงโดยเฉพาะ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินงานหลักของโรง และปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารทรัพยากรกายภาพของโรงละครที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือที่ตั้ง ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงลักษณะการบริหารทรัพยากรกายภาพของโรงละครรวมถึงคุณประโยชน์ของการบริหารทรัพยากรกายภาพที่มีต่อโรงละคร และปัจจัยที่ต้องคำนึงในการบริหารทรัพยากรกายภาพของโรงละคร ซึ่งนักศึกษาวิชาการละคร หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงละคร สามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษา ไปประยุกต์ใช้กับโรงละครที่ดำเนินอยู่หรือที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการดำเนินการ


ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ทำงาน, ลัญจ์ฉัตร นิลชัยโกวิทย์ Jan 2018

ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ทำงาน, ลัญจ์ฉัตร นิลชัยโกวิทย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันรูปแบบการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงไป จากแบบเดิมที่เป็นทางการเข้าสู่การทำงานรูปแบบใหม่ที่มีการทำงานเป็นกลุ่ม และมีการทำงานขนานกันมากขึ้น ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงประจักษ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพื้นที่ทำงาน และการใช้พื้นที่ทำงานของสายงานไอทีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบเนื่องเป็นการทำงานรูปแบบใหม่ จำนวน 10 กรณีศึกษา จาก 2 องค์กร โดยเป็นฝ่ายงานขนาดเล็ก จำนวน 7 กรณีศึกษา และฝ่ายงานขนาดใหญ่ จำนวน 3 กรณีศึกษา โดยเก็บรวมรวมเอกสารแบบผังพื้น การสำรวจพื้นที่ทำงาน การจัดวางผังและชุดโต๊ะทำงานพนักงาน ร่วมกับการสังเกตการณ์การใช้พื้นที่ทำงานใน 4 จุดเวลา จากการศึกษา พบว่า มีพื้นที่ทำงาน 2 แบบ คือ พื้นที่ทำงานแบบเปิดโล่ง 8 กรณีศึกษามีพื้นที่กิจกรรมสนับสนุนย่อย 2 แบบ คือ กระดานระบุสถานะ 7 กรณีศึกษา และโต๊ะส่วนกลาง 1 กรณีศึกษา และพื้นที่ทำงานแบบปิดล้อม 2 กรณีศึกษา มีพื้นที่กิจกรรมสนับสนุนย่อย คือ กระดานระบุสถานะและพื้นที่ทำงานกลุ่ม 1 กรณีศึกษา และกระดานระบุสถานะ 1 กรณีศึกษา ภายในพื้นที่ทำงานทั้ง 2 แบบมีชุดโต๊ะทำงานพนักงานประกอบด้วยโต๊ะทำงาน ตู้เก็บของล้อเลื่อน และเก้าอี้นั่งทำงาน จากการวิเคราะห์พื้นที่ทำงานของฝ่ายงานไอที พบว่า ชุดโต๊ะทำงานพนักงานพบ 2 แบบ คือแบบทำงานคนเดียว และแบบทำงานกลุ่ม การใช้พื้นที่ทำงานของฝ่ายงานขนาดเล็กพบว่ามีการใช้พื้นที่ทำงาน 2 แบบ คือ แบบที่มีการทำงานที่โต๊ะทำงานในการทำงานเพียงอย่างเดียว 5 กรณีศึกษา และแบบที่ใช้กระดานระบุสถานะในการทำงานร่วมกับการทำงานที่โต๊ะทำงาน 2 กรณีศึกษา การใช้พื้นที่ทำงานของฝ่ายงานขนาดใหญ่ พบว่า มีการใช้พื้นที่ทำงาน 2 แบบ คือ แบบที่มีการใช้กระดานระบุสถานะในการทำงานร่วมกับการทำงานที่โต๊ะทำงาน 2 กรณีศึกษา และแบบที่มีการใช้โต๊ะส่วนกลางในการทำงานร่วมกับการทำงานที่โต๊ะทำงาน 1 กรณีศึกษา การศึกษานี้ทำให้เข้าใจว่า พื้นที่ทำงานของสายงานไอทีประกอบด้วยพื้นที่ทำงานหลัก ซึ่งมีโต๊ะทำงานที่มีขนาดใหญ่กว่าโต๊ะทำงานขนาดมาตรฐาน และพื้นที่กิจกรรมสนับสนุนย่อย ซึ่งการออกแบบกระดานระบุสถานะที่อยู่ในพื้นที่เปิดโล่งจะอยู่ด้านข้างพื้นที่ทำงานของพนักงาน การออกแบบกระดานระบุสถานะในพื้นที่ปิดล้อมจะอยู่ตามแนวผนังห้อง โต๊ะส่วนกลางที่อยูในพื้นที่เปิดโล่งจะแทรกอยู่ในพื้นที่ทำงานของพนักงาน การทำงานที่กระดานระบุสถานะจะเกิดขึ้นในช่วงเช้า ก่อนจะแยกย้ายกันไปปฏิบัติงานที่โต๊ะทำงาน ซึ่งพบทั้งการทำงานแบบเดี่ยวและการทำงานแบบกลุ่มที่โต๊ะ


การเปรียบเทียบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมด้านสีเมืองเก่าน่านและพะเยา, วัชรวิชญ์ จิรวงศาพันธุ์ Jan 2018

การเปรียบเทียบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมด้านสีเมืองเก่าน่านและพะเยา, วัชรวิชญ์ จิรวงศาพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในขณะที่การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจกระจายเข้าสู่เมืองต่างๆ ทัศนียภาพของแต่ละเมืองถูกปรับเปลี่ยนตามการพัฒนาของเมืองแบบไร้ทิศทางที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสูญเสียอัตลักษณ์ของทัศนียภาพและวัฒนธรรมของแต่ละเมืองนั้นไป หลังจากที่สำนักงานนโยบายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศพื้นที่ในจังหวัดน่านและจังหวัดพะเยาให้เป็นเมืองเก่า ในปี พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2559 ตามลำดับ การเก็บข้อมูลและการสร้างวิธีการในการอนุรักษ์เมืองเก่าเหล่านี้จึงมีความสำคัญมากโดยเฉพาะในเรื่องสีที่มีผลมากที่สุดในการรับรู้ จากการสำรวจภาคสนามที่เมืองเก่าน่านและเมืองเก่าพะเยา ผู้วิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลตัวอย่างสีด้วยระบบสี Natural Color System จากอาคาร 261 หลัง และทำการวิเคราะห์ เปรียบเทียบระหว่างเมืองเก่าน่านและเมืองเก่าพะเยาด้วยวิธีการทางสถิติในสองรูปแบบ ได้แก่ การเปรียบเทียบด้วยค่าเนื้อสี และการเปรียบเทียบด้วยค่าความสว่างสีและความสดสี จากข้อมูลที่ทำการวิเคราะห์และเปรียบเทียบสามารถสรุปได้ว่า แม้เมืองเก่าน่านและเมืองเก่าพะเยาอยู่ห่างจากกันไม่มาก แต่ทั้งสองเมืองเก่ามีอัตลักษณ์ทางด้านสีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนโดยเมืองเก่าพะเยาจะมีแนวโน้มที่จะมีค่าสีที่มืดกว่าและสดกว่าเมืองเก่าน่าน


การศึกษาช่องเปิดระบายอากาศธรรมชาติเพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในห้องนอนอาคารชุดพักอาศัย, วาสิตา วานิชศิริโรจน์ Jan 2018

การศึกษาช่องเปิดระบายอากาศธรรมชาติเพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในห้องนอนอาคารชุดพักอาศัย, วาสิตา วานิชศิริโรจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ต้องการศึกษาว่าการเปิดช่องระบายอากาศแบบธรรมชาติจะสามารถลดความปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในห้องนอนอาคารชุดพักอาศัยได้หรือไม่ โดยทำการสำรวจห้องนอนอาคารชุดพักอาศัยจำนวน 5 แห่ง ว่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินมาตรฐานหรือไม่ จากนั้นเลือกห้องนอน 2 ห้องจาก 5 ห้องข้างต้น ที่มีพื้นที่ 11.00 ตร.ม. (ปริมาตร 27.50 ลบ.ม.) และ พื้นที่ 14.00 ตร.ม. (ปริมาณ 31.10 ลบ.ม.) เป็นตัวแทนการทดลองเก็บข้อมูลค่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่เปลี่ยนแปลงในทุกห้านาที ช่วงเวลา 23:30 น. ถึง 07:00 น. รวม 7 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน เป็นระยะเวลา 15 วัน แต่ละวันจะเปิดช่องระบายอากาศที่หน้าต่างที่มีอยู่ด้านเดียวของห้อง เริ่มจากขนาด 50 ตร.ซม. แล้วเพิ่มขึ้นวันละ 50 ตร.ซม.ไปสิ้นสุดที่ 700 ตร.ซม. นำข้อมูลที่ได้มาคำนวณหาอัตราแลกเปลี่ยนอากาศและความสิ้นเปลืองพลังงานในระบบปรับอากาศผลการศึกษาพบว่าห้องนอนที่มีปริมาตร 27.50 ลบ.ม. ถึง 31.10 ลบ.ม. นั้น ถ้าเปิดช่องระบายอากาศธรรมชาติที่ผนังด้านเดียวที่ร้อยละ 0.61 ถึง ร้อยละ 0.41 ของพื้นที่ห้องตามลำดับ จะสามารถลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ตามเกณฑ์ ASHRAE ที่กำหนดให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอาคารต้องไม่มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อากาศภายนอกที่ปกติมีค่าประมาณ 300 ppm ถึง 400 ppm เกินกว่า 700 ppm หรือต้องไม่เกิน 1,000 ppm ถึง 1,100 ppm ผลการทดลองนี้ทำให้เกิดอัตราแลกเปลี่ยนอากาศที่ 1.00 ACH ถึง 0.8 ACH (16.90 CFM ถึง 14.60 CFM) ตามลำดับ ส่วนผลการจำลองค่าความสิ้นเปลืองพลังงานในระบบปรับอากาศเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 0.77 ถึง ร้อยละ 0.33 ตามลำดับ เทียบกับห้องนอนที่ไม่มีการเปิดช่องระบายอากาศแบบธรรมชาติ ส่วนการใช้เครื่อง Energy Recovery Ventilator ที่ให้ผลแบบเดียวกันสิ้นเปลืองพลังงานถึงร้อยละ …


การปรับปรุงอาคารสู่การใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ กรณีศึกษา แบบมาตรฐานอาคารสำนักงานราชการ, ศรัณย์ ตันรัตนาวงศ์ Jan 2018

การปรับปรุงอาคารสู่การใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ กรณีศึกษา แบบมาตรฐานอาคารสำนักงานราชการ, ศรัณย์ ตันรัตนาวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีเป้าหมายเพื่อหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานภายในอาคารสำนักงานโดยรวมสุทธิให้เท่ากับศูนย์ (Net Zero Energy Building) ศึกษาผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Building Energy Code (BEC) Ver 1.0.6 แนวทางในการปรับปรุงที่สามารถทำให้การใช้พลังงานโดยรวมภายในอาคารเท่ากันศูนย์(Net zero energy building) คือ 1) ใช้ฉนวนใยแก้วความหนาแน่น 32 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (กก./ลบ.ม.) ขนาด 50 มิลลิเมตรที่ผนังทึบ 2) กระจกสะท้อนแสงสีเขียว ขนาด 6 มิลลิเมตร มีค่าการส่งผ่านความร้อน (SHGC) ที่ 0.41 3) หลังคาเพิ่มฉนวนใยแก้วความหนาแน่น 32 กก./ลบ.ม. หนา 25 มิลลิเมตร 4) ปรับปรุงระบบแสงสว่าง โดยเปลี่ยนเป็นหลอด LED 5) ปรับปรุงระบบปรับอากาศ 6) ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อทดแทนพลังงานที่ใช้ภายในอาคารโดยเลือกแผงพลังงานแสงอาทิตย์ มีประสิทธิภาพที่ 17.1% พลังงานจากอาคารกรณีศึกษาก่อนปรับปรุงมีค่าการใช้พลังงานโดยรวมต่อปี 209,091.33 kWh/year เมื่อรวมแนวทางการปรับปรุงกรอบอาคาร ระบบปรับอากาศ และระบบแสงสว่าง ค่าการใช้พลังงานโดยรวม 94,963.32 kWh/year พลังงานลดลงจากเดิม 114,128.01 kWh/year หรือคิดสัดส่วนที่ลดลง 54.37% แผงพลังงานแสงอาทิตย์สามารถผลิตพลังงานโดยรวมต่อปี 147,713.84 kWh/year เมื่อรวมแนวทางการปรับปรุงและการใช้พลังงานทดแทนจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้การใช้พลังงานโดยรวมภายในอาคารสุทธิเท่ากับศูนย์ โดยมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 14.39 ปี อัตราผลตอบแทนที่ 4.87% เมื่อคิดรวมกับอัตราเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้า ระยะเวลาคืนทุนที่ 21.06 ปี อัตราผลตอบแทน 10.59%


แนวทางการลดน้ำหนักบรรทุกคงที่อาคารโดยการเปลี่ยนองค์ประกอบสถาปัตยกรรมผนังด้วยแบบจำลองสารสนเทศ(Bim) : กรณีศึกษาโรงแรมบูรพาสามยอด, ศุภิสรา นพเกตุ Jan 2018

แนวทางการลดน้ำหนักบรรทุกคงที่อาคารโดยการเปลี่ยนองค์ประกอบสถาปัตยกรรมผนังด้วยแบบจำลองสารสนเทศ(Bim) : กรณีศึกษาโรงแรมบูรพาสามยอด, ศุภิสรา นพเกตุ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โรงแรมบูรพาสามยอด กรุงเทพมหานคร เป็นอาคารที่มีขนาดสูงเกิน 16 เมตรอาคารหนึ่งภายในพื้นที่ควบคุมความสูงตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2530 เนื่องด้วยอาคารหลังนี้ก่อสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ.2500 ก่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จึงทำให้ได้รับการยกเว้นระดับความสูงของอาคารให้คงอยู่เท่ากับในปัจจุบัน โดยสามารถบูรณะและซ่อมแซมอาคารได้ แต่ไม่สามารถสร้างอาคารอื่นขึ้นใหม่ในพื้นที่ให้มีความสูงเท่าเดิม ส่งผลให้โรงแรมบูรพาสามยอดและอาคารที่ติดข้อกำหนดลักษณะเดียวกัน อาจถูกดัดแปลงเพิ่มเติมองค์ประกอบอาคารโดยไม่คำนึงถึงความสามารถที่จำกัดในการรับน้ำหนักของโครงสร้าง การปรังปรุงโดยลดน้ำหนักอาคารจึงเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย ประหยัด และได้พื้นที่มากกว่าการทุบทิ้งสร้างใหม่ ซึ่งงานวิจัยนี้จะศึกษาวิธีการลดน้ำบรรทุกคงที่อาคาร (Dead load) โดยการเปลี่ยนองค์ประกอบสถาปัตยกรรมผนัง ด้วยแบบจำลองสารสนเทศ (Build Information Modeling) หรือBIM เนื่องจาก BIM มีความสามารถในการจำลองวัตถุในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งรูปทรง 3มิติ 2มิติและข้อมูลคุณสมบัติ ตัวแปร และความสัมพันธ์กับวัตถุอื่นๆ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1)ศึกษาวิธีการบันทึกแบบอาคาร 2มิติ 3มิติ และข้อมูลน้ำหนักบรรทุกคงที่อาคาร ของอาคารปัจจุบัน และอาคารที่เปลี่ยนองค์ประกอบสถาปัตยกรรมผนัง ด้วยแบบ BIM ในโปรแกรม Autodesk Revit 2)นำเสนอแนวทางการลดน้ำบรรทุกอาคาร โดยเปลี่ยนองค์ประกอบสถาปัตยกรรมผนังโรงแรมบูรพาสามยอด ด้วย BIM ผลการศึกษามี2ประเด็นดังนี้ ประเด็นที่1กระบวนการแบบจำลองสารสนเทศในการบันทึกข้อมูลอาคารปัจจุบันและอาคารที่มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุผนังสามารถบันทึกข้อมูลทั้งหมดอยู่ในไฟล์เดียวกันได้ ทำให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อนของข้อมูล โดยการจำแนกองค์ประกอบสถาปัตยกรรมของอาคารปัจจุบันเพื่อคำนวณน้ำหนักจำแนกออกเป็น 6 ประเภท คือ เสา คาน พื้น บันได ผนังลิฟต์ และผนัง ซึ่งสามารถแยกย่อยชนิดและวัสดุองค์ประกอบได้ โดยองค์ประกอบสถาปัตยกรรมจะบันทึกอยู่ใน 3 ตำแหน่งคือ 1)Revit Modeling ซึ่งแสดงผลเป็นแบบ 2 มิติและโมเดล 3 มิติ 2)Revit Family ซึ่งแสดงผลเป็นข้อมูลวัสดุ รายละเอียด ขนาดองค์ประกอบ และ 3)Revit Schedule ซึ่งรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและคำนวณน้ำหนักอาคารเป็น 6 Schedule ตามองค์ประกอบสถาปัตยกรรม สำหรับการสร้างวัสดุทางเลือกผนังนั้น ผนัง 1 ชนิดสามารถสร้างทางเลือกได้หลากหลายโดยใช้ Design Option ในโปรแกรม Autodesk Revit ประเด็นที่2 น้ำหนักรวมองค์ประกอบสถาปัตยกรรมผนังมีทั้งหมด 4,474,148.39 กิโลกรัม จากน้ำหนักทั้งหมด10,230,569.23 กิโลกรัม …