Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Computer Sciences

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

Articles 391 - 412 of 412

Full-Text Articles in Entire DC Network

การพัฒนากรอบงานความสามารถด้านการเขียนโปรแกรม จากความถนัดและทักษะ, ชัยวัฒน์ ฉวีวรรณ Jan 2017

การพัฒนากรอบงานความสามารถด้านการเขียนโปรแกรม จากความถนัดและทักษะ, ชัยวัฒน์ ฉวีวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเรียนการสอนการเขียนโปรแกรมจะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเขียนโปรแกรมเพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่สามารถแก้ด้วยภาษาโปรแกรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางผู้สอนจึงมักจะสอนการเขียนโปรแกรมในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงให้คำแนะนำการใช้เครื่องมือทางภาษาโปรแกรมให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในการเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย แต่เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนนั้นมีพื้นฐาน และความถนัดในการเขียนโปรแกรมที่แตกต่างกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการค้นหาความถนัด และประเมินทักษะของผู้เรียน เพื่อเป็นข้อมูลให้กับครูผู้สอนรับทราบถึงทักษะของผู้เรียนแต่ละคน และยังทำให้สามารถเข้าไปเสริมในเรื่องที่ผู้เรียนเกิดความไม่เข้าใจให้มีความเข้าใจมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเขียนโปรแกรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้มีการนำเสนอแนวคิด และวิธีการในการค้นหาความถนัด และประเมินทักษะในการเขียนโปรแกรม โดยที่ทางด้านการค้นหาความถนัดนี้จะพิจารณาจาก 4 คุณลักษณะได้แก่ 1) ผลจากการเปรียบเทียบระหว่างวัตถุประสงค์การสอนกับโปรแกรมที่ผู้เรียนการเขียนโปรแกรมเขียนขึ้น 2) การใช้เครื่องมือทางภาษาเขียนโปรแกรม 3) หมายเหตุที่ได้จากการตรวจ และ 4) ความยากง่ายทางการอ่านของรหัสต้นฉบับ และทางด้านการประเมินทักษะทางด้านการเขียนโปรแกรมจะพิจารณาจาก เวลาที่ผู้เรียนการเขียนโปรแกรมใช้ไปในการเขียนโปรแกรม 1 ข้อ และจำนวนครั้งของการส่งโปรแกรม โดยผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้คือแนวคิด และวิธีการในการค้นหาความถนัด และประเมินทักษะในการเขียนโปรแกรมที่สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนการเขียนโปรแกรมได้ อีกทั้งผลลัพธ์ที่ได้จากการค้นหาความถนัด และประเมินทักษะทางด้านการเขียนโปรแกรมยังเป็นข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนการเขียนโปรแกรมในการเสริมสร้างทักษะในการเขียนโปรแกรมให้แก่ผู้เรียนเขียนโปรแกรม


การแปลงแผนภาพยูเอ็มแอลสเตทแมชชีนเป็นภาษาโพรเมลา, ปาณิสรา ดำจันทร์ Jan 2017

การแปลงแผนภาพยูเอ็มแอลสเตทแมชชีนเป็นภาษาโพรเมลา, ปาณิสรา ดำจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การทำการทวนสอบเชิงรูปนัยโดยใช้วิธีการโมเดลเช็คกิงโดยเครื่องมือสปินนั้นต้องอาศัยแบบจำลองที่เป็นภาษาโพรเมลาซึ่งการทวนสอบเชิงรูปนัยนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่ระยะต้นของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยเฉพาะขั้นตอนการออกแบบ ปัจจุบันการออกแบบระบบได้มีการนำแผนภาพยูเอ็มแอลมาใช้โดยเฉพาะแผนภาพสเตทแมชชีนที่ช่วยอธิบายพฤติกรรมแบบพลวัตของระบบซอฟต์แวร์ วิทยานิพนธ์นี้จึงนำเสนอเครื่องมือในการแปลงแผนภาพสเตทแมชชีนที่มีการเขียนโอซีแอลไปเป็นภาษาโพรเมลา เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการทำการทวนสอบด้วยวิธีโมเดลเช็คกิงโดยเครื่องมือสปิน โดยวิทยานิพนธ์นี้สนใจสัญลักษณ์พื้นฐานของแผนภาพสเตทแมชชีน 5 สัญลักษณ์ด้วยกันคือ สัญลักษณ์เริ่มต้น สัญลักษณ์สิ้นสุด สัญลักษณ์สถานะ สัญลักษณ์ทางเลือก และสัญลักษณ์การเปลี่ยนสถานะ และมีแม่แบบในการแปลง 6 แม่แบบ สำหรับแปลงแผนภาพสเตทแมชชีนเป็นภาษาโพรเมลา ทั้งนี้เครื่องมือสามารถแปลงแผนภาพสเตทแมชชีนที่มีการเขียนโอซีแอลบนแผนภาพ สเตทแมชชีนไปเป็นภาษาโพรเมลาได้ โดยเครื่องมือจะรับแผนภาพสเตทแมชชีนที่อยู่ในรูปแบบแฟ้มเอกสารเอกซ์เอ็มแอลเป็นข้อมูลนำเข้าในการแปลงและข้อมูลนำออกเป็นภาษาโพรเมลา


การตรวจจับหน้าตัดของปลายท่อนซุงจากภาพถ่ายด้านท้ายรถบรรทุกไม้ยูคาลิปตัส, นพวัชร์ สำแดงเดช Jan 2017

การตรวจจับหน้าตัดของปลายท่อนซุงจากภาพถ่ายด้านท้ายรถบรรทุกไม้ยูคาลิปตัส, นพวัชร์ สำแดงเดช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เสนอวิธีการตรวจจับหน้าตัดของปลายท่อนซุงที่อยู่ในภาพถ่ายท้ายรถบรรทุกไม้ยูคาลิปตัสโดยใช้การเรียนรู้ด้วยเครื่องและเทคนิคการประมวลผลภาพดิจิทัล โดยใช้ภาพถ่ายจากด้านท้ายรถบรรทุกไม้ยูคาลิปตัส ณ ทางเข้าโรงงานผลิตกระดาษในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนสำคัญ ขั้นตอนแรกคือการตรวจหารถบรรทุกไม้ยูคาลิปตัส เริ่มจากการตรวจจับวัตถุด้วยโครงสร้างซิงเกิ้ลชอทดีเทคเตอร์ ถูกนำไปใช้ในการหาพื้นที่ของรถบรรทุกไม้โดยระบุพิกัดของขอบเขตที่ตรวจพบรถบรรทุกไม้และกำจัดวัตถุที่ไม่เกี่ยวข้องในภาพ ขั้นตอนที่สองคือการแยกส่วนหน้าตัดของปลายท่อนซุง ซึ่งถูกนำไปใช้เพื่อสกัดจุดภาพเฉพาะส่วนที่เป็นหน้าตัดของปลายท่อนซุงเท่านั้นและแบ่งส่วนปลายท่อนซุงแต่ละท่อนออกจากภาพพื้นหลัง โดยในขั้นตอนนี้ดำเนินการด้วยวิธีการจำแนกทางความหมายตามโครงข่ายคอนโวลูชันแบบทั่วถึง แต่เนื่องจากภาพอาจมีหน้าตัดของปลายท่อนซุงบางส่วนที่ติดกับหน้าตัดของปลายท่อนซุงอื่น รวมถึงอาจมีส่วนที่ไม่ใช่หน้าตัดของปลายท่อนซุงปรากฏขึ้นในภาพผลลัพธ์ ดังนั้นในขั้นตอนสุดท้ายนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแยกปลายท่อนซุงที่เชื่อมติดกันและเพื่อนับหน้าตัดของปลายท่อนซุงโดยใช้เทคนิคการประมวลผลภาพ วิธีการที่เสนอนี้ได้รับการทดสอบด้วยชุดข้อมูลไม้ยูคาลิปตัสบนรถบรรทุกจำนวน 300 ภาพและมีความถูกต้องเฉลี่ยร้อยละ 94.45 ในการแยกส่วนหน้าตัดของปลายท่อนซุงและมีค่าลบเท็จ (False negative) เฉลี่ยร้อยละ 2.71 และค่าลบจริง (False positive) เฉลี่ยร้อยละ 2.84


การประยุกต์ใช้กฎหมายอาญาโดยใช้ออนโทโลยี, พงศ์ปณัฏฐ โอสถิตย์พร Jan 2017

การประยุกต์ใช้กฎหมายอาญาโดยใช้ออนโทโลยี, พงศ์ปณัฏฐ โอสถิตย์พร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดเรื่องความผิด และบทลงโทษไว้สำหรับความผิดที่เกิดขึ้น โดยบทลงโทษนั้นใช้สำหรับการรักษาความสงบของบ้านเมือง เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข เพราะฉะนั้นกฎหมายอาญาจึงเป็นกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎรซึ่งกระทำความผิด ว่าบุคคลที่ทำความผิดนั้นต้องถูกรัฐลงโทษอย่างไร ในการพิจารณากฎหมายอาญานั้นต้องสามารถแยกพิจารณาองค์ประกอบกฎหมายได้ โดยต้องอาศัยการตีความอย่างเคร่งครัด และในการพิจารณาความผิดนั้น ต้องมีการตีความองค์ประกอบต่างๆหลายส่วนด้วยกัน งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นเพื่อสร้างองค์ความรู้กฎหมายอาญาโดยใช้วิธีการออนโทโลยีในการวิจัย โดยองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นมานั้นจะแสดงองค์ประกอบต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบในกฎหมายอาญา และมีการสร้างกฎเอสดับบลิวอาร์แอล เพื่อใช้สำหรับการพิจารณาเจตนา เหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ รวมถึงการพิจารณาความผิดอีกด้วย ซึ่งจะทำการส่งกลับผลลัพธ์จากการประมวลผลทางเว็ปไซต์ที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานระบบ


การประเมินแบบจำลองการปกปิดข้อมูลและการใช้กลุ่มตัวจำแนกประเภท, พีรพงศ์ วาณิชยวิศาลสกุล Jan 2017

การประเมินแบบจำลองการปกปิดข้อมูลและการใช้กลุ่มตัวจำแนกประเภท, พีรพงศ์ วาณิชยวิศาลสกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้ประเมินและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโมเดลความปลอดภัยในการปกปิดข้อมูลและกลุ่มตัวจำแนกประเภทในการจำแนกประเภทชนิดต่างๆ ในปัจจุบันการทำเหมืองข้อมูลถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องในจุดประสงค์ต่างๆเพื่อหาองค์ความรู้ การทำเหมืองข้อมูลจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ใช้สอนโดยที่จะต้องป้องกันไม่ให้สามารถระบุตัวตนข้อมูลในชุดข้อมูลนั้นได้ การปกปิดข้อมูลถูกคิดค้นขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ที่ต้องการจะลดอัตราความเสี่ยงจากการถูกระบุตัวตน อย่างไรก็ตามการปกปิดข้อมูลถูกใช้งานคุณภาพของชุดข้อมูลก็จะลดลง ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงสมดุลระหว่างความปลอดภัยของข้อมูลในการถูกระบุตัวตนและคุณภาพของชุดข้อมูล จุดประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้คือทำการประเมินผลกระทบของการจำแนกประเภทด้วยข้อมูลที่ถูกปกปิดและประเมินประสิทธิภาพของโมเดลความปลอดภัยและอัลกอริทึ่มกลุ่มตัวจำแนกประเภทต่างๆ มาตรวัดที่จะใช้ในการทดลองคือ ความแม่นยำของการจำแนกประเภท อัตราความเสี่ยงจากการถูกระบุตัวตน และ จำนวนข้อมูลที่ถูกลบ จากผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองสามารถสรุปได้ว่าความแม่นยำของการจำแนกประเภทระหว่างข้อมูลดั้งเดิมและข้อมูลที่ถูกปกปิดไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ


ไดนามิกไทม์วอร์ปปิงถ่วงน้ำหนักแบบเพิ่มสมรรถนะสำหรับการจำแนกประเภทอนุกรมเวลา, พิชามญชุ์ อนันตเศรษฐ์ Jan 2017

ไดนามิกไทม์วอร์ปปิงถ่วงน้ำหนักแบบเพิ่มสมรรถนะสำหรับการจำแนกประเภทอนุกรมเวลา, พิชามญชุ์ อนันตเศรษฐ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ไดนามิกไทม์วอร์ปปิงเป็นมาตรวัดระยะห่างซึ่งเป็นที่นิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการจำแนกประเภทข้อมูลอนุกรมเวลาเนื่องจากความยืดหยุ่นและความทนทานต่อข้อมูลในหลากหลายกรณีอันเป็นคุณสมบัติหลักของไดนามิกไทม์วอร์ปปิง อย่างไรก็ตามไดนามิกไทม์วอร์ปปิงอาจนำไปสู่การยืดหดที่มากจนเกินไปส่งผลให้แนวการปรับตรงของจุดหลายจุดบนอนุกรมเวลาหนึ่งสู่จุดเพียงจุดเดียวบนอีกอนุกรมเวลาหนึ่งและอาจส่งผลให้เกิดการจำแนกประเภทผิดพลาดเมื่อนำไปใช้ในการจำแนกประเภทอนุกรมเวลา ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้มีงานวิจัยมากมายถูกนำเสนอออกมาเพื่อใช้แก้ปัญหา หนึ่งในนั้นคือการเสนอไดนามิกไทม์วอร์ปปิงถ่วงน้ำหนักแบบต่างๆ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดีแต่กลับต้องแลกมาด้วยตัวแปรเสริมที่ยากต่อการหาค่าที่เหมาะสม เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงได้เสนอมาตรวัดระยะห่างที่ยังคงคุณสมบัติที่ดีของไดนามิกไทม์วอร์ปปิงฉบับดั้งเดิมเอาไว้อีกทั้งสามารถแก้ปัญหาแนวการปรับตรงที่ผิดพลาดของไดนามิกไทม์วอร์ปปิงแบบดั้งเดิมได้ โดยอาศัยหลักการของไดนามิกไทม์วอร์ปปิงถ่วงน้ำหนักแต่ไม่จำเป็นต้องหาค่าของตัวแปรเสริมเช่นไดนามิกไทม์วอร์ปปิงถ่วงน้ำหนักแบบอื่นๆ ภายใต้ชื่อไดนามิกไทม์วอร์ปปิงถ่วงน้ำหนักแบบเพิ่มสมรรถนะ ที่นอกจากจะให้ประสิทธิภาพในการจำแนกประเภทอนุกรมเวลาให้ดีขึ้นแล้ว ก็ยังคงไว้ด้วยความซับซ้อนของเวลาที่เท่ากันกับไดนามิกไทม์วอร์ปปิงแบบดั้งเดิมอีกด้วย


การพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยเหลืองานเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยไมโครเซอร์วิส, รัชย์ฐิดา วงศ์ศักดิ์ถาวร Jan 2017

การพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยเหลืองานเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยไมโครเซอร์วิส, รัชย์ฐิดา วงศ์ศักดิ์ถาวร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บ่อยครั้งที่การประกอบธุรกิจมักใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ แอปพลิเคชันหรือระบบต่างๆทั้งหลายได้ถูกนำมาใช้ในองค์กรสำหรับการปรับปรุงกระบวนการและความพึงพอใจของลูกค้า ระบบช่วยเหลืองานเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ ระบบที่ให้ผู้ใช้สามารถส่งคำร้องขอบริการ โดยรายงานปัญหาที่เกิดขึ้น หรือแจ้งความต้องการของผู้ใช้งานเพื่อให้ทีมไอทีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น งานวิจัยนี้ได้นำเสนอการออกแบบระบบช่วยเหลืองานเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยสถาปัตยกรรมไมโครเซอร์วิส เพื่อส่งเสริมความสามารถการขยายตัวของระบบ หนึ่งในงานบริการของระบบที่พัฒนาขึ้น คือ การจำแนกประเภทคำร้องขอซึ่งดำเนินการแบ่งประเภทใบคำร้องเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากทีมไอทีที่เกี่ยวข้องแบบอัตโนมัติ ในการนี้ ฐานข้อมูลthesaurusได้ถูกใช้เพื่อช่วยจัดกลุ่มโดยพิจารณาจากหัวข้อที่ร้องขอ ประโยชน์ของแนวทางที่นำเสนอ คือ ทำให้ระบบมีความสามารถขยายตัวได้ดี รวมทั้งเสริมสร้างความคงทนของการใช้งานได้ของระบบ


การสร้างกรณีทดสอบด้วยกราฟการไหลหน้าจอสำหรับโปรแกรมประยุกต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์, วิไลพร ภู่เมธากุล Jan 2017

การสร้างกรณีทดสอบด้วยกราฟการไหลหน้าจอสำหรับโปรแกรมประยุกต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์, วิไลพร ภู่เมธากุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โปรแกรมประยุกต์บนโทรศัพท์เคลื่อนในปัจจุบันมีการพัฒนาและปรับปรุงโปรแกรมอยู่เสมอ เมื่อโปรแกรมประยุกต์มีขนาดใหญ่ขึ้น มีหน้าจอการทำงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กรณีทดสอบมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยที่ผ่านมามุ่งเน้นการสร้างกรณีทดสอบโดยไม่ได้สนใจลำดับหน้าจอของโปรแกรมประยุกต์ ก่อให้เกิดปัญหาคือโปรแกรมประยุกต์ที่นำมาทดสอบถูกทดสอบได้ไม่ครอบคลุมหรือครบถ้วนทุกหน้าจอ ดังนั้นลำดับของหน้าจอจึงเป็นสิ่งที่ควรนำมาทดสอบด้วย งานวิจัยนี้จึงนำเสนอเครื่องมือสร้างกรณีทดสอบตามลำดับของหน้าจอของโปรแกรมประยุกต์บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยเริ่มต้นเครื่องมือจะสร้างกราฟการไหลของหน้าจอของโปรแกรมประยุกต์ และเส้นทางการทดสอบ หลังจากนั้นจะให้ผู้ทดสอบกำหนดค่าขอบเขตเพื่อนำไปสร้างกรณีทดสอบ โดยจะสร้างกรณีทดสอบด้วยวิธีการทดสอบแบบแบล็กบอกซ์โดยใช้ค่าขอบเขต เมื่อนำเครื่องมือมาทดลองกับโปรแกรมประยุกต์บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ใช้งานจริงจำนวน 3 โปรแกรม เครื่องมือสามารถสร้างกรณีทดสอบที่มีเส้นทางทดสอบครอบคลุมแบบกิ่งตามกราฟการไหลของหน้าจอได้ และยังสามารถสร้างข้อมูลทดสอบได้ครบถ้วนถูกต้องตามค่าขอบเขตที่กำหนด


การตรวจสอบความต้องกันของแผนภาพข่ายงานแบบพีดีเอ็มโดยใช้ออนโทโลยี, วิสาข์รัตน์ ศรีสูงเนิน Jan 2017

การตรวจสอบความต้องกันของแผนภาพข่ายงานแบบพีดีเอ็มโดยใช้ออนโทโลยี, วิสาข์รัตน์ ศรีสูงเนิน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แผนภาพข่ายงานแบบพีดีเอ็ม (Precedence Diagram Method: PDM) เป็นวิธีการสร้างแผนภาพข่ายงานกิจกรรมเพื่อแสดงลำดับและความสัมพันธ์ของกิจกรรมภายใต้งานโครงการ โดยใช้โหนดในการอธิบายระยะเวลาในการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรม ที่ถูกเชื่อมโยงกันด้วยลูกศรที่แสดงการพึ่งพาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในระหว่างการดำเนินกิจกรรมนั้น อาจมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการดำเนินงานซึ่งอาจจะส่งผลให้ช่วงเวลาของการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรมไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงนำเสนอวิธีการตรวจสอบความต้องกันเชิงความหมายของช่วงเวลาในแผนภาพข่ายงานแบบพีดีเอ็ม โดยการสร้างแบบจำลองออนโทโลยีที่อธิบายความหมายของแผนภาพข่ายงานแบบพีดีเอ็มด้วยภาษาอาวล์ (OWL) และออกแบบกฎด้วยภาษาเอสดับบลิวอาร์แอล (SWRL) ที่สามารถสรุปผลจากจากข้อเท็จจริงเชิงตรรกะที่กำหนดขึ้นมาได้อย่างอัตโนมัติ และแสดงผลลัพธ์ของการตรวจสอบความต้องกันด้วยรูปแบบการสืบค้นของภาษาเอสคิวดับเบิลยูอาร์แอล (SQWRL)


การพัฒนากรอบการประเมินและวิเคราะห์แคปช่าแบบข้อความ, สรรัตน์ ชัยกรไพบูลย์ Jan 2017

การพัฒนากรอบการประเมินและวิเคราะห์แคปช่าแบบข้อความ, สรรัตน์ ชัยกรไพบูลย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เสนอกรอบการประเมินและวิเคราะห์แคปช่าแบบตัวอักษร การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูล ช้อปปิ้งออนไลน์ หรือทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง บริการเหล่านี้ต้องการการรักษาความปลอดภัยเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นความลับจาก สแปม การหลอกลวงจากแฮกเกอร์ที่สร้างเว็บปลอม แคปช่าได้ถูกนำมาใช้เพื่อตรวจสอบว่าผู้ใช้เป็นมนุษย์หรือจักรกล (บ็อท) เว็บไซต์จำนวนมากใช้แคปช่าแบบตัวอักษรสำหรับตรวจสอบพิสูจน์ตัวตนโดยให้ผู้ใช้พิมพ์ตัวอักษรตามอักขระบิดเบือนเป็นตัวอักษรหรือตัวเลขหรือตัวอักษรและตัวเลขในช่องข้อความ ในการทดลองผู้วิจัยกำหนดความยาวของแคปช่าแบบตัวอักษรโดยกำหนดความยาวอักษรที่ 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 และ 10 ที่มีรูปแบบเป็นภาษาอังกฤษตัวใหญ่ผสมตัวเลข ผู้วิจัยทำการเก็บรูปแคปช่าตามความยาวของแต่ละแบบจำนวนอย่างละ 1,000 รูป จากเว็บไซต์ BotDetect™ CAPTCHA เพื่อให้มนุษย์ทำแบบทดสอบผ่านเว็บไซต์ที่สร้างและจักรกล (บ็อท) Tesseract และ Free-OCR online ตอบรูปแคบช่าโดยชุดแคปช่าที่ใช้ทดสอบระหว่างมนุษย์และบ็อทใช้เป็นแบบทดสอบชุดเดียวกัน ผู้ทดสอบ 1 คน จะทำแบบทดสอบ 8 ข้อ ผู้วิจัยนำเสนอประสิทธิภาพแคปช่า (CAPTCHA EFFICIENCY (CE)) ที่ได้จากการตอบแคปช่าของมนุษย์และบ็อทมาคำนวณหาส่วนต่างระหว่างแคปช่าที่ดี (มนุษย์ตอบถูกและบ็อทตอบผิด) และแคปช่าที่ไม่ดี(บ็อทตอบถูกและมนุษย์ตอบผิด) สำหรับการประเมินผลเราประเมินผลจากความยาวตัวอักษรและตัวเลขจาก 3 4 5 6 7 8 9 และ 10 ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ และ บ็อท Tesseract มีค่า CE เท่ากับ 0.842 ที่ความยาว 9 ตัวอักษร Human และ Free-OCR.com มี CE เท่ากับ 0.921 ที่ความยาว 4 ตัวอักษร


การค้นหาจุดสนใจโดยใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่จากรถแท็กซี่ด้วยอัลกอริทึมการจัดกลุ่มตามความหนาแน่นที่กำหนดพารามิเตอร์แบบอัตโนมัติ, อุไรวรรณ์ อังคะเวย์ Jan 2017

การค้นหาจุดสนใจโดยใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่จากรถแท็กซี่ด้วยอัลกอริทึมการจัดกลุ่มตามความหนาแน่นที่กำหนดพารามิเตอร์แบบอัตโนมัติ, อุไรวรรณ์ อังคะเวย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ความเจริญของเมืองในปัจจุบันทำให้เกิดสถานที่ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร อาคารสำนักงาน หรือแม้แต่ลานกิจกรรมต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจุดที่ผู้คนมักไปรวมตัว สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของประชากร ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในหลายด้านเช่น การวางแผนผังเมือง การวางแผนการจราจร การสำรวจโรคระบาด หรือวิเคราะห์การเกิดอาชญากรรมต่างๆ การสำรวจเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงตำแหน่งการเคลื่อนที่ของประชากร เช่น ข้อมูลจีพีเอสจากโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลจากอุปกรณ์จีพีเอสที่ติดตามยานพาหนะ ข้อมูลจากการใช้บริการขนส่งสาธารณะของประชากรในเมืองใหญ่ รถแท็กซี่เป็นการขนส่งสาธารณะอีกประเภทหนึ่งที่ให้บริการอย่างกว้างขวางในเขตกรุงเทพมหานคร ด้วยลักษณะของการเคลื่อนที่ไปยังบริเวณต่างๆ ทุกพื้นที่ พบว่า ข้อมูลจีพีเอสจากการรับส่งผู้โดยสารของรถแท็กซี่ สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นข้อมูลในการค้นหาบริเวณที่เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ งานวิจัยนี้ นำเสนอแนวทางในการค้นพบพื้นที่จุดสนใจโดยใช้เทคนิคการจัดกลุ่มข้อมูลด้วยอัลกอริทึมการแบ่งกลุ่มตามความหนาแน่น (DBSCAN) ในกรณีของชุดข้อมูลแท๊กซี่การกำหนดพารามิเตอร์เป็นเรื่องยากเพราะข้อมูลรับ - ส่ง ผู้โดยสารกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ที่แตกต่างกัน ดังนั้น งานวิจัยจึงพัฒนาวิธีการกำหนดพารามิเตอร์ที่เหมาะสมแบบอัตโนมัติเพื่อใช้ในการทำงานของอัลกอริทึมโดยการพิจารณาจากปริมาณและความหนาแน่นของข้อมูลในแต่ละพื้นที่ ผลการทดลองกับพื้นที่ตัวอย่างทำให้พบว่า สามารถค้นพบสถานที่ที่เป็นจุดสนใจ รวมถึงบริเวณพื้นที่ที่ประกอบด้วยจุดสนใจหลายๆจุดรวมกัน ดังนั้นวิธีการจากงานวิจัยนี้จึงเหมาะสำหรับการนำมาใช้เพื่อค้นหาจุดสนใจในกรุงเทพมหานคร แนวทางการศึกษาในอนาคต เราจะทดลองใช้วิธีนี้กับพื้นที่อื่นเพื่อค้นหาพื้นที่น่าสนใจสำหรับวิเคราะห์ทิศทางของการพัฒนาเมือง


การสร้างเครือข่ายแอดฮอกแบบเสมือนโดยใช้วายฟายฮอตสปอตบนสมาร์ทโฟน, ฉันทวัฒน์ รัตนพงศ์พันธ์ Jan 2017

การสร้างเครือข่ายแอดฮอกแบบเสมือนโดยใช้วายฟายฮอตสปอตบนสมาร์ทโฟน, ฉันทวัฒน์ รัตนพงศ์พันธ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ทุกวันนี้สมาร์ทโฟนได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ด้วยจำนวนและเซนเซอร์ที่มากขึ้นของสมาร์ทโฟนส่งผลให้มีแอพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนามาเพื่อต้องสนองความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้น โดยปกติสมาร์ทโฟนจะพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานในการติดต่อสื่อสาร อย่างไรก็ตามเมื่อโครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถใช้งานได้ในสถานการณ์ภัยพิบัติ การติดต่อสื่อสารก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน สถานการณ์นี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้เครือข่ายแบบฉวยโอกาส โดยสมาร์ทโฟนจะทำการติดต่อสื่อสารกันโดยตรงเมื่อใช้เครือข่ายแบบฉวยโอกาส อย่างไรก็ตามการติดต่อสื่อสารกันโดยตรงแบบอัตโนมัติเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับแอพลิเคชั่นจำนวนมากในเครือข่ายแบบฉวยโอกาส ซึ่งในสมาร์ทโฟนมีเทคโนโลยีมากมายที่สามารถทำการสร้างเครือขายแบบฉวยโอกาสได้ นักวิจัยบางส่วนได้ใช้เทคโนโลยีวายฟายแอดฮอกในการสร้างเครือข่ายแบบฉวยโอกาสเนื่องจากเทคโนโลยีวายฟายแอดฮอกมีลักษณะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการติดต่อกันแบบอัตโนมัติของสมาร์ทโฟนและการทำให้แนวคิดของเครือข่ายฉาบฉวยเป็นจริง อย่างไรก็ตามสมาร์ทโฟนเกือบทั้งหมดในตลาดไม่สามารถใช้งานวายฟายแอดฮอกนอกจากจะทำการรูทเครื่อง ซึ่งในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยได้ใช้เทคโนโลยีวายฟายฮอตสปอตในการสร้างเครือข่ายแอดฮอกแบบเสมือน ผู้วิจัยทำการเสนอกลไกในการลดจำนวนฮอตสปอตที่มากเกินจำเป็นและยืดระยะการทำงานของระบบ ผลจากการทดลองแสดงให้เห็นว่างานวิจัยของผู้วิจัยสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 62% เมื่อเทียบกับอัลกอริทึมการเปลี่ยนสถานะเป็นฮอตสปอตแบบคงที่ที่ถูกเสนอในงานวิจัยที่ผ่านมา


การอ่านทำความเข้าใจด้วยเครื่องเพื่อคำถามที่มีหลายความสัมพันธ์ด้วยวิธีการเรียนรู้เชิงลึก, ณัฐชัย ตรีทศายุธ Jan 2017

การอ่านทำความเข้าใจด้วยเครื่องเพื่อคำถามที่มีหลายความสัมพันธ์ด้วยวิธีการเรียนรู้เชิงลึก, ณัฐชัย ตรีทศายุธ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การอ่านทำความเข้าใจเพื่อใช้ตอบคำถาม เป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญและยากที่สุดในงานสายการประมวลผลภาษาธรรมชาติ วิธีการที่ได้รับความนิยมและให้ผลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือการใช้โมเดลที่นำเอาการเรียนรู้เชิงลึกเข้ามาช่วยตอบ โดยโมเดลจะทำการหาคำที่คล้ายกันระหว่างคำถามและบทความเพื่อนำไปใช้ในการตอบคำถาม แต่โมเดลในรูปแบบนี้จะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจะตอบคำถามซึ่งคำตอบจะต้องใช้การเชื่อมต่อคำในหลายประโยคเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่าคำถามที่มีหลายความสัมพันธ์ได้ งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการที่จะเสนอแนวทางในการใช้คำอ้างอิงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงยังได้เสนอวิธีการตอบแบบสองทาง และฟังก์ชันต้นทุนจากความยาวของคำตอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของระบบ


การอ่านเลขสายรถประจำทางจากภาพ, พิชชากร วงศ์ต๊ะ Jan 2017

การอ่านเลขสายรถประจำทางจากภาพ, พิชชากร วงศ์ต๊ะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากข้อจำกัดในการเดินทางด้วยตนเองโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะของผู้พิการสายตาเลือนราง ที่มักมองเลขสายรถประจำทางไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้ช่วยหรือสอบถามจากคนรอบข้าง จึงสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดงานวิจัยชิ้นนี้ เพื่อช่วยให้ผู้พิการสายตาเลือนรางสามารถเดินทางโดยรถประจำทางได้อย่างอิสระยิ่งขึ้น งานวิจัยนี้นำเสนอระบบตรวจจับเลขสายรถประจำทางจากภาพ โดยใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องที่สามารถเรียนรู้และสกัดคุณลักษณะจากชุดข้อมูลสอนได้ และใช้เทคนิคการประมวลผลภาพประกอบกับใช้ข้อมูลจีพีเอสของป้ายรถประจำทางที่มีข้อมูลบอกว่าป้ายรถประจำทางนั้นมีรถประจำทางสายใดผ่าน วิเคราะห์และประมวลผลจนได้เลขสายรถประจำทางออกมา โดยขั้นตอนของระบบตรวจจับเลขสายรถประจำทางจากภาพ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นตอนการตรวจจับบริเวณแผงด้านบนรถประจำทาง ขั้นตอนการตรวจหาบริเวณที่มีข้อความ ขั้นตอนการรู้จำข้อความ และขั้นตอนการประมวลผลหลังเพื่อปรับปรุงความแม่นยำ โดยขั้นตอนการตรวจจับบริเวณแผงด้านบนรถประจำทางจะใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องวิธีการฟาสเตอร์อาร์ซีเอ็นเอ็น ในการเรียนรู้ตัวสกัดคุณลักษณะแผงด้านบนรถประจำทางจากชุดข้อมูลสอน และส่งต่อไปยังขั้นตอนการหาบริเวณที่มีข้อความโดยใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องวิธีการฟาสเตอร์อาร์ซีเอ็นเอ็น จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการรู้จำข้อความกูเกิลคลาวด์วิชัน และตัวรู้จำข้อความวิธีหน่วยความจำระยะสั้นระยะยาว สุดท้ายนำผลลัพธ์ที่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการประมวลผลหลังเพื่อปรับปรุงความแม่นยำ โดยทำการตัดตัวอักษรที่ไม่เกี่ยวข้อง และใช้ข้อมูลจีพีเอสป้ายรถประจำทาง ในการช่วยแก้ไขคำตอบที่ผิดจากวิธีรู้จำข้อความให้ถูกต้องมากขึ้น จากผลการทดลองในการอ่านสายรถประจำทางพบว่าสามารถอ่านเลขรถประจำทางได้ถูกต้อง 62 เปอร์เซ็นต์ โดยประเมินความถูกต้องจากจำนวนค่าความจริงของแผงรถประจำทาง และจำนวนเลขสายรถประจำทางที่อ่านได้ถูกต้องจากขั้นตอนวิธีที่นำเสนอ


การแปลงสโตแคสติกเพทริเน็ตไปเป็นห่วงโซ่มาร์คอฟ, เกศิณี สุมนาตย์ Jan 2017

การแปลงสโตแคสติกเพทริเน็ตไปเป็นห่วงโซ่มาร์คอฟ, เกศิณี สุมนาตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในการดำเนินธุรกิจ เมื่อมีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น การให้บริการที่รวดเร็ว ทันต่อความต้องการของลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากผู้ประกอบการธุรกิจ ไม่ได้มีการวางแผนเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของลูกค้า อาจทำให้การบริการมีความล่าช้า ไม่ทันกาล ต้องมีการรอคอย ซึ่งอาจเกิดจากมีจำนวนของผู้ให้บริการหรือพนักงานไม่เพียงพอกับจำนวนผู้มารับบริการ การบริหารจัดการแถวคอยที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้เกิดความไม่พึงพอใจต่อผู้มารับบริการ และอาจนำไปสู่การสูญเสียลูกค้า และเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้ งานวิจัยนี้ได้เสนอสโตแคสติกเพทริเน็ตซึ่งเป็นแบบจำลองที่สามารถจำลองการเข้าแถวคอยของผู้มารับบริการ, ผู้ให้บริการและลักษณะของการเข้าแถวคอยได้ ซึ่งที่ได้เสนอแบบจำลองนี้เนื่องจากว่าเป็นแบบจำลองที่สามารถวิเคราะห์การเข้าแถวคอยได้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ตลอดจนช่วยทำให้เข้าใจพฤติกรรมของการเข้าแถวคอยที่ได้จำลองเอาไว้ได้ แต่ด้วยข้อจำกัดของแบบจำลองสโตแคสติกเพทริเน็ตที่ไม่สามารถคำนวณความน่าจะเป็นของการเปลี่ยนจากจุดของการเข้าแถวคอยจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ ทำให้ไม่เพียงพอกับการวิเคราะห์การเข้าแถวคอย ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้เสนอการแปลงสโตแคสติกเพทริเน็ตไปเป็นห่วงโซ่มาร์คอฟ ซึ่งห่วงโซ่มาร์คอฟสามารถคำนวณความน่าจะเป็นเพื่อวิเคราะห์หาโอกาสที่ผู้ใช้บริการเข้ามาใช้บริการที่แถวคอย และคาดการณ์การใช้บริการว่าจะสามารถแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งในการวิเคราะห์นี้จะถูกวิเคราะห์อยู่ในรูปแบบของการคำนวณความน่าจะเป็นที่มีการแจกแจงแบบเอ็กโพเนนเชียล โดยใช้ฟังก์ชันความหนาแน่นของความน่าจะเป็นหรือ ฟังก์ชันการแจกแจงสะสม เพื่อให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าจำนวนของผู้ให้บริการเพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการหรือไม่อย่างไรและนำไปสู่การตัดสินใจและดำเนินการเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการการใช้บริการของผู้ใช้บริการได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพต่อไป สุดท้ายเครื่องมือได้ถูกนำไปทดสอบความถูกต้องกับ 3 กรณีศึกษา ผลลัพธ์ที่ได้ คือ เครื่องมือสามารถวิเคราะห์หาโอกาสที่ผู้ใช้บริการเข้ามาใช้บริการที่แถวคอยและแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนดมีค่าความน่าจะเป็นได้อย่างถูกต้อง


เครื่องมือประเมินความสามารถในการใช้งานเชิงฮิวริสติกสำหรับแอปพลิเคชันแอนดรอยด์, ขวัญดี เพชรากานต์ Jan 2017

เครื่องมือประเมินความสามารถในการใช้งานเชิงฮิวริสติกสำหรับแอปพลิเคชันแอนดรอยด์, ขวัญดี เพชรากานต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การประเมินความสามารถในการใช้งานแอปพลิเคชันโดยใช้วิธีการประเมินเชิงฮิวริสติกเป็นวิธีการประเมินความสามารถในการใช้งานส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ที่ได้รับความนิยม เนื่องจากสามารถดำเนินการประเมินได้ง่ายและค่าใช้จ่ายไม่สูงเมื่อเทียบกับวิธีประเมินแบบอื่น โดยการประเมินจะให้ผู้ประเมินทำการเปรียบเทียบการออกแบบส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ในแต่ละหน้าจอของแอปพลิเคชันกับหลักการออกแบบส่วนต่อประสานกับผู้ใช้หรือฮิวริสติก การประเมินจึงขึ้นกับการพิจารณาและประสบการณ์ในการออกแบบที่ผ่านมาของผู้ประเมินว่าสามารถตรวจพบข้อผิดพลาดในการออกแบบหรือไม่ อีกทั้งยังมีรายการประเมินตามฮิวริสติกในการออกแบบโดยต้องตรวจสอบเป็นจำนวนมาก ทำให้การประเมินทำได้ไม่ง่าย งานวิจัยนี้จึงนำเสนอการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยผู้ประเมินความสามารถในการใช้งานของส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ของแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์พกพาบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ในการตรวจสอบรายการประเมินการออกแบบส่วนต่อประสานกับผู้ใช้จากโค้ดของแอปพลิเคชันและรายงานข้อผิดพลาดในการออกแบบที่พบ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการประเมินเชิงฮิวริสติกเป็นการประเมินที่ต้องทำโดยอาศัยผู้ประเมิน ผู้วิจัยจึงได้เลือกรายการประเมินจำนวน 19 รายการ ที่ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้สึกของผู้ประเมิน และสามารถตรวจสอบได้อย่างอัตโนมัติมาพัฒนาเครื่องมือ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประเมินในการตรวจสอบความสามารถในการใช้งานส่วนต่อประสานกับผู้ใช้เทียบกับรายการประเมินบางส่วนได้ จากการทดสอบการประเมินส่วนต่อประสานผู้ใช้ของ 3 แอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ตามรายการประเมิน 19 รายการดังกล่าว พบว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนจุดที่พบข้อผิดพลาดในการออกแบบเมื่อประเมินโดยใช้เครื่องมือ มีค่ามากกว่าเมื่อประเมินโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบส่วนต่อประสานผู้ใช้และกลุ่มนักพัฒนาแอปพลิเคชันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 นอกจากนี้เครื่องมือยังช่วยลดเวลาในการประเมินและสามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดในการออกแบบที่ผู้ประเมินทั้งสองกลุ่มตรวจไม่พบได้


การแปลงไทมด์เพทริเน็ตให้เป็นอีเวนท์บีโดยอัตโนมัติสำหรับการทวนสอบเชิงรูปนัย, ชลิกา ศักดิ์สุภาวัฒนกุล Jan 2017

การแปลงไทมด์เพทริเน็ตให้เป็นอีเวนท์บีโดยอัตโนมัติสำหรับการทวนสอบเชิงรูปนัย, ชลิกา ศักดิ์สุภาวัฒนกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โดยทั่วไปการออกแบบซอฟต์แวร์เป็นขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ความถูกต้องของพฤติกรรมของระบบซอฟต์แวร์แบบเรียลไทม์มีความสัมพันธ์กับเวลาของการทำงานของระบบ หากพบข้อผิดพลาดหลังจากการพัฒนาซอฟต์แวร์จะทำให้มีผลกระทบที่ต้องสูญเสียอย่างมาก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำการทวนสอบแบบจำลองของการออกแบบ เพื่อหาจุดผิดพลาดก่อนที่จะลงเมื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ วิทยานิพนธ์นี้จึงนำเสนอทางเลือกในการทวนสอบเชิงรูปนัยโดยใช้ไทมด์เพทริเน็ตในการสร้างแบบจำลองเชิงรูปนัย ซึ่งในปฏิบัติแล้วไทมด์เพทริเน็ตเป็นวิธีการเชิงรูปนัยที่ใช้สัญลักษณ์กราฟิกสำหรับจำลองโครงสร้างของระบบ ซึ่งทำให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมของระบบได้ง่าย แต่ไทมด์เพทริเน็ตยังขาดการแสดงส่วนของข้อมูลที่ใช้ภายในระบบและยังไม่ได้มีการปรับแต่งใดๆ หากระบบมีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนมาก อาจจะเกิดปัญหาการระบบของสถานะได้ State explosion อีกทางเลือกของวิธีการเชิงรูปนัยพบว่าอีเวนท์บี เป็นวิธีการเชิงรูปนัยที่นิยมสำหรับการทวนสอบการทำงานของระบบโดยสนใจข้อมูลภายในระบบอีกทั้งสนับสนุนการปรับแต่งของระบบซอฟต์แวร์แบบเรียลไทม์ โดยใช้วิธีการพิสูจน์ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดปัญหาการระเบิดของสถานะในระหว่างการทวนสอบ อย่างไรก็ตามการเขียนอีเวนท์บีไม่ง่ายนักเนื่องจากต้องมีทักษะทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับการเขียนอีเวนท์บีเพื่อทวนสอบระบบ งานวิทยานิพนธ์นี้จึงเสนอเครื่องมือการแปลงไทมด์เพทริเน็ตให้เป็นอีเวนท์บีโดยอัตโนมัติสำหรับการทวนสอบเชิงรูปนัย โดยสนใจแบบจำลองไทมด์เพทริเน็ตที่มีค่าน้ำหนักโทเค็นที่มีค่าเท่ากับ 1 เท่านั้น และกฎการแปลงส่วนประกอบไทมด์เพทริเน็ตให้เป็นอีเวนท์บีทั้งหมด 7 ข้อ ข้อมูลนำเข้าเครื่องมือการแปลงจะเป็นแบบจำลองไทมด์เพทริเน็ตที่อยู่ในรูปแบบแฟ้มเอกสารเอกซ์เอ็มแอล และเครื่องมือจะดำเนินการแปลงโดยใช้กฎการแปลงที่ได้นิยามขึ้นมา เพื่อแปลงแบบจำลองไทมด์เพทริเน็ตให้เป็นอีเวนท์บีได้โดยอัตโนมัติ เมื่อได้ผลลัพธ์การแปลงอีเวนท์บีเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการทวนสอบด้วยเครื่องมือโรดิน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของวิธีการแปลงโดยใช้เครื่องมือการแปลงและทวนสอบการทำงานของระบบ


การตรวจจับการเรียกใช้เว็บเซอร์วิซสำหรับทดสอบดับเบิลยูเอส-บีเพล, ณัฐพงศ์ เอื้อเพิ่มเกียรติ Jan 2017

การตรวจจับการเรียกใช้เว็บเซอร์วิซสำหรับทดสอบดับเบิลยูเอส-บีเพล, ณัฐพงศ์ เอื้อเพิ่มเกียรติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดับเบิลยูเอส-บีเพล เป็นภาษาที่อนุญาตให้ผู้ออกแบบกระบวนการทางธุรกิจ นำเว็บเซอร์วิซที่มีมาทำงานร่วมกับกระบวนการทางธุรกิจขององค์กร โดยเรียกผ่านพาร์ทเนอร์ลิงก์ที่เป็นแท็กเชื่อมโยงการเรียกใช้งานเว็บเซอร์วิซ เมื่อออกแบบกระบวนการทางธุรกิจโดยใช้ ดับเบิลยูเอส-บีเพล แล้ว ผู้ทดสอบควรมีการทดสอบการทำงานทุกเว็บเซอร์วิซ ที่อยู่ภายใต้ดับเบิลยูเอส-บีเพล ซึ่งความท้าทายของการทดสอบเว็บเซอร์วิซคือ การตามรอยข้อความที่รับส่งระหว่างดับเบิลยูเอส-บีเพลกับเว็บเซอร์วิซ และทดสอบทุกเว็บเซอร์วิซที่อยู่ภายใต้ดับเบิลยูเอส-บีเพล วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอวิธีการสำหรับตรวจจับการเรียกใช้เว็บเซอร์วิซสำหรับทดสอบดับเบิลยูเอส-บีเพล โดยมุ่งเน้นการตรวจจับข้อความที่รับส่งระหว่างเว็บเซอร์วิซ โดยใช้วิธีการแทรกรหัสต้นทาง และสามารถแสดงรายการเว็บเซอร์วิซที่ไม่ถูกทดสอบให้ผู้ทดสอบทราบได้ วิธีการที่นำเสนอนี้ยังครอบคลุมถึงการสร้างกรณีทดสอบเพิ่มเติมสำหรับเว็บเซอร์วิซที่ไม่ถูกทดสอบภายใต้ข้อจำกัดบางประการได้ วิทยานิพนธ์นี้ยังนำวิธีการที่เสนอมาพัฒนาเป็นเครื่องมือสำหรับตรวจจับการเรียกใช้เว็บเซอร์วิซสำหรับทดสอบดับเบิลยูเอส-บีเพล โดยเครื่องมือจะสามารถอ่านไฟล์ดับเบิลยูเอส-บีเพล เพื่อจัดเก็บเส้นทางการไหลและแทรกรหัสต้นทางได้ สามารถจัดเก็บและแสดงข้อความที่รับส่งระหว่างเว็บเซอร์วิซกับดับเบิลยูเอส-บีเพลได้ สามารถแสดงเว็บเซอร์วิซที่ไม่ถูกทดสอบให้ผู้ทดสอบทราบได้ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างกรณีทดสอบเพิ่มเติมสำหรับเว็บเซอร์วิซที่ไม่ถูกทดสอบภายใต้ข้อจำกัดที่ระบุไว้ได้ เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นนี้ได้นำไปทดสอบกับกรณีศึกษา 3 กรณีศึกษา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ เครื่องมือสามารถจัดเก็บข้อมูลนำเข้าและข้อมูลส่งออกที่รับส่งระหว่างเว็บเซอร์วิซได้ สามารถแสดงรายการเว็บเซอร์วิซที่ไม่ถูกทดสอบ และสามารถสร้างกรณีทดสอบเพิ่มเติม ตามที่คาดหวังได้ถูกต้อง


ผลของเกมมิฟิเคชันแบบใช้ป้ายสัญลักษณ์ที่มีต่อการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์, จักรกฤช สุวรรณเสวตร Jan 2017

ผลของเกมมิฟิเคชันแบบใช้ป้ายสัญลักษณ์ที่มีต่อการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์, จักรกฤช สุวรรณเสวตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แบบสอบถามออนไลน์เป็นหนึ่งในเครื่องมือการเก็บข้อมูลที่นิยมใช้มากที่สุดทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม คุณภาพของคำตอบยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้ทำการวิจัยเนื่องจากแบบสอบถามออนไลน์เป็นการจัดการให้ข้อมูลโดยตัวผู้ตอบแบบสอบถามเอง (Self-administration) วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้คือการศึกษาผลของการใช้เกมมิฟิเคชันแบบใช้ป้ายสัญลักษณ์เพียงองค์ประกอบเดียวในบริบทของการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ ว่ามีผลทำให้พฤติกรรมการไม่ตอบกลับ (Nonresponding) และพฤติกรรมการตอบตามความพอใจ (Satisficing) เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เพศและประสบการณ์ด้านเกมเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้เกมมิฟิเคชันและได้ถูกนำมาพิจารณาเป็นตัวแปรกำกับในงานวิจัยนี้ ผลจากการทดลองในสภาพแวดล้อมจริง ไม่พบความแตกต่างของอัตราส่วนการไม่ตอบกลับ (Nonresponse Ratio) ของแบบสอบถามออนไลน์ที่ใช้เกมมิฟิเคชันและแบบสอบถามออนไลน์ที่ไม่ได้ใช้เกมมิฟิเคชัน โดยเพศและประสบการณ์ด้านเกมไม่ได้ทำให้ผลดังกล่าวแตกต่างกัน การใช้เกมมิฟิเคชันมีผลทำให้มีข้อคำถามที่ไม่ได้ตอบ (Unanswered Question) เพิ่มขึ้น เนื่องจากทำให้เกิดการออกกลางคันในช่วงแรกของแบบสอบถามออนไลน์มากขึ้น และยังพบว่าผู้ทำแบบสอบถามออนไลน์ที่เป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ที่เล่นเกมบ่อยจะให้คำตอบที่มีคุณภาพมากขึ้นในช่วงกลางของแบบสอบถามออนไลน์เมื่อแบบสอบถามออนไลน์มีการใช้เกมมิฟิเคชันแบบใช้ป้ายสัญลักษณ์ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่าในช่วงท้ายของแบบสอบถามออนไลน์ การใช้เกมมิฟิเคชันแบบใช้ป้ายสัญลักษณ์ไม่ได้ทำให้คุณภาพของคำตอบที่ได้รับเปลี่ยนแปลงไป


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำและความตั้งใจในการบอกต่อคราวด์ซอร์สซิ่งที่มีการผสมผสานเกม, ปาลิณี ตีรบุลกุล Jan 2017

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำและความตั้งใจในการบอกต่อคราวด์ซอร์สซิ่งที่มีการผสมผสานเกม, ปาลิณี ตีรบุลกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษา วิเคราะห์และเปรียบเทียบอิทธิพลของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคราวด์ซอร์สซิ่งที่มีการผสมผสานแนวคิดเกม หรือ เกมมิฟายด์คราวด์ซอร์สซิ่งที่มีต่อความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำและความตั้งใจในการบอกต่อ ผู้วิจัยมุ่งศึกษาหาตัวแปรที่มีความเกี่ยวข้องกับเกมมิฟายด์คราวด์ซอร์สซิ่ง ดังนี้ (1) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับเทคโนโลยี หรือ TAM ได้แก่ การรับรู้ความง่ายและการรับรู้ประโยชน์ที่ผู้ใช้งานได้รับจากการเข้าร่วม และ (2) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเกม ได้แก่ การรับรู้ความสนุก การรับรู้ความท้าทาย การรับรู้ความดึงดูดใจของการออกแบบ และการรับรู้ความรู้สึกภาคภูมิใจ โดยมีเกณฑ์ในการวัดแยกตามตัวแปรกำกับ 2 ประเภท คือ (1) เพศ ได้แก่ เพศชาย และ เพศหญิง และ (2) ช่วงวัย หรือ เจเนอเรชั่น ได้แก่ เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ เจเนอเรชั่นวาย และ เจเนอเรชั่นแซด ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในภาพรวม แบ่งตามเพศ หรือ แบ่งตามเจเนอเรชั่น พบว่า ตัวแปรทั้ง 6 ตัว มีอิทธิพลเชิงบวกต่อตัวแปรตาม คือ ความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำ และความตั้งใจในการบอกต่อ อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์พบว่า คือ การรับรู้ความรู้สึกภาคภูมิใจ มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำ และ การรับรู้ประโยชน์ มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการบอกต่อ เมื่อผู้ใช้เป็นเพศชาย พบว่า การรับรู้ความรู้สึกภาคภูมิใจ มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำ และ การรับรู้ประโยชน์ มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการบอกต่อ ในขณะที่ เมื่อผู้ใช้เป็นเพศหญิง การรับรู้ความดึงดูดใจของการออกแบบ และ การรับรู้ความรู้สึกภาคภูมิใจ มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำ และ การรับรู้ความดึงดูดใจของการออกแบบ ก็ยังมีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการบอกต่อ เมื่อผู้ใช้เป็นเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ การรับรู้ความรู้สึกภาคภูมิใจ มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำ และ การรับรู้ประโยชน์ มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการบอกต่อ เมื่อผู้ใช้เป็นเจเนอเรชั่นวาย การรับรู้ความสนุก มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำ และ ความตั้งใจในการบอกต่อ และเมื่อผู้ใช้เป็นเจเนอเรชั่นแซด การรับรู้ความดึงดูดใจของการออกแบบ มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำ และ การรับรู้ความสนุก มีอิทธิพลเชิงบวกสูงสุดต่อความตั้งใจในการบอกต่อ


ผลของข้อมูลป้อนกลับเชิงวิทัศน์บนจอแสดงผลต่อการรับรู้การรอคอยเมื่อการรับรู้ความไม่แน่นอนเป็นตัวแปรร่วม, ปิยาภรณ์ คุรุเสถียรพงศ์ Jan 2017

ผลของข้อมูลป้อนกลับเชิงวิทัศน์บนจอแสดงผลต่อการรับรู้การรอคอยเมื่อการรับรู้ความไม่แน่นอนเป็นตัวแปรร่วม, ปิยาภรณ์ คุรุเสถียรพงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับความรู้สึกล่าช้าของผู้ใช้งาน ในบริบทของการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านเว็บไซต์ โดยมีรูปแบบของข้อมูลป้อนกลับที่ต้องการศึกษาคือ แถบแสดงสถานะที่มีความยาวของการแสดงผลไม่เท่ากัน อัตราการแสดงความคืบหน้าของความสำเร็จสามแบบ ได้แก่แบบคงที่ แบบก้าวหน้า และแบบถดถอย ร่วมกับการเพิ่มข้อมูลป้อนกลับเชิงอักษร (การเพิ่มร้อยละของการดาวน์โหลดที่สำเร็จในการแสดงความคืบหน้าภายในแถบแสดงสถานะ) ทั้งนี้ตัวแปรทั้งหมดจะมีการพิจารณาถึงผลที่มีต่อการรับรู้การรอคอยร่วมกันโดยมีการรับรู้ความไม่แน่นอนเป็นตัวแปรร่วม การวิเคราะห์ความสัมพันธ์และผลของตัวแปรต่าง ๆ ในงานวิจัยนี้จะดำเนินการผ่านเว็บไซต์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เพื่อทดสอบ โดยประเภทของเว็บไซต์ที่ใช้ในการทดสอบ คือเว็บไซต์คลังข้อสอบออนไลน์ การเก็บข้อมูลมาจากหน่วยทดลองในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์จากหน่วยทดลองจำนวน 447 คน ผลการทดลองพบว่าการรับรู้การรอคอย ขึ้นอยู่กับอิทธิพลโดยตรงของความยาวของแถบแสดงสถานะ การเพิ่มสถานการณ์ดาวน์โหลดเชิงอักษร และการรับรู้ตวามไม่แน่นอน กล่าวคือ แถบแสดงสถานะแบบสั้น และการเพิ่มสถานะการดาวน์โหลดเชิงอักษร ส่งผลให้หน่วยตัวอย่างรับรู้การรอคอยสั้นกว่า ผลจากงานวิจัยนี้อาจจะนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ทั่วไปให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานเว็บไซต์มากยิ่งขึ้นโดยอาจจะลดระยะเวลารอการแสดงผล หรือปรับฟังก์ชันของอัตราการแสดงตัวชี้บอกความคืบหน้าของข้อมูลป้อนกลับ เพื่อให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์รับรู้ความล่าช้าลดน้อยลง


แง่มุมในข้อความความคิดเห็นออนไลน์ที่มีผลต่อการรับรู้ประโยชน์ในเว็บไซต์แนะนำร้านอาหาร, สาริทธิ์ บุญชูสนอง Jan 2017

แง่มุมในข้อความความคิดเห็นออนไลน์ที่มีผลต่อการรับรู้ประโยชน์ในเว็บไซต์แนะนำร้านอาหาร, สาริทธิ์ บุญชูสนอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาแง่มุมในข้อความความคิดเห็นออนไลน์ที่มีผลต่อการรับรู้ประโยชน์ของความคิดเห็นในเว็บไซต์แนะนำร้านอาหาร โดยใช้ข้อมูลความคิดเห็นออนไลน์ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากเว็บไซต์แนะนำร้านอาหารแห่งหนึ่ง จำนวน 20,000 ข้อความ ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาว่าจำนวนครั้งที่พบคำใน 5 แง่มุม คือ (1) รสชาติอาหาร (2) บริการ (3) บรรยากาศและการตกแต่งร้าน (4) ราคา และ (5) รายการอาหาร ส่งผลต่อการรับรู้ประโยชน์ของความคิดเห็นออนไลน์ในเว็บไซต์แนะนำร้านอาหารหรือไม่ รวมถึงสรุปเกี่ยวกับแง่มุมและระดับที่ส่งผลต่อการรับรู้ประโยชน์ของผู้อ่าน ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้ใช้เครื่องมือ Unsupervised-Aspect-Extraction (github.com/ruidan/Unsupervised-Aspect-Extraction) ในการจัดกลุ่มคำในแต่ละแง่มุมและใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลการรับรู้ประโยชน์ของความคิดเห็นจำนวน 350 ความคิดเห็นจากหน่วยตัวอย่างจำนวน 117 คน ผลการวิจัยพบว่าแง่มุมในข้อความคิดเห็นออนไลน์ที่ศึกษามีผลต่อการรับรู้ประโยชน์ของความคิดเห็น โดยมีค่า p-value เท่ากับ 0.021 แต่อย่างไรก็ตามจำนวนคำในทั้ง 5 แง่มุมยังอธิบายการรับรู้ประโยชน์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร และมีเพียงตัวแปรเดียวคือ จำนวนครั้งที่พบคำในแง่มุมรสชาติอาหารในความคิดเห็นออนไลน์ที่มีผลต่อการรับรู้ประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือมีค่า p-value เท่ากับ 0.008