Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Communication Technology and New Media

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

Articles 331 - 342 of 342

Full-Text Articles in Entire DC Network

การสื่อสารตราสินค้า ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมผู้บริโภคต่อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของเจเนอเรชั่นวาย, ปุณชญา ใจภักดี Jan 2017

การสื่อสารตราสินค้า ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมผู้บริโภคต่อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของเจเนอเรชั่นวาย, ปุณชญา ใจภักดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาการสื่อสารตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ประเภทสินค้าที่เลือกใช้ในงานวิจัยเป็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพผิว ได้แก่ ตราสินค้า The Body Shop และตราสินค้า L'Occitane ซึ่งเป็นตราสินค้าที่มีจำหน่ายในประเทศไทย โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการศึกษาจากเอกสารจากสื่อต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ร้านค้า และ บทความโฆษณา ในช่วงระยะเวลา 1 ปี (2) วิเคราะห์ความแตกต่างของการรับรู้ ทัศนคติ และการตัดสินใจซื้อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคกลุ่มเจนวายที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน (3) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการรับรู้ ทัศนคติ และการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกลุ่มเจนวายต่อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้วิธีเชิงปริมาณ มีแบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพศชายและหญิง อายุ 18-38 ปี ที่รู้จักและทราบว่าทั้งสองตราสินค้ามีการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อมจำนวน 400 คน ผลการวิจัยตราสินค้า The Body Shop และ L'Occitane ในประเทศไทยโดยวิเคราะห์ช่องทางการสื่อสารทั้งหมด 6 ช่องทาง ได้แก่ (1) เอกลักษณ์ขององค์กร (2) แผนการรณรงค์เชิงการตลาดเหตุสัมพันธ์ (3) การโฆษณาองค์กร (4) การประชาสัมพันธ์องค์กร (5) การสื่อสารผ่านผู้แทนองค์กร และ (6) ผู้สนับสนุนกิจกรรม พบว่า ทั้งสองตราสินค้ามีการสื่อสารประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยตราสินค้า The Body Shop เน้นประเด็นการสื่อสารเกี่ยวกับสัตว์ และตราสินค้า L'Occitane เน้นประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติของแคว้นโพวองซ์ ซึ่งตราสินค้า The Body Shop มีการสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนกว่า สำหรับผลการศึกษาในส่วนการวิจัยเชิงปริมาณ พบว่า ผู้บริโภคที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีการรับรู้ ทัศนคติ และการตัดสินใจซื้อตราสินค้าสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่า การรับรู้ตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับทัศนคติต่อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ทัศนคติต่อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการตัดสินใจซื้อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม และการรับรู้ตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการตัดสินใจซื้อตราสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


การสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ และการรับรู้ความหมายของผู้ชมรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง, พาฝัน รงศิริกุล Jan 2017

การสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ และการรับรู้ความหมายของผู้ชมรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง, พาฝัน รงศิริกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เข้าใจกระบวนการสร้างความหมาย การถ่ายทอดความหมาย และการรับรู้ความหมายทั้งหมดในรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง ผู้วิจัยแบ่งการศึกษาวิจัยออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) เพื่อศึกษาการสร้างสรรค์รายการภัตตาคารบ้านทุ่งและการถ่ายทอดความหมายไปสู่ผู้ชมรายการ ผู้วิจัยจะใช้การวิเคราะห์ตัวบท รายการโทรทัศน์ภัตตาคารบ้านทุ่ง และการสัมภาษณ์ เชิงลึกผู้ผลิตรายการเพื่อนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์เนื้อหารายการ นอกจากนี้ (2) เพื่อศึกษาการถอดรหัสความหมายของผู้ชมรายการ ผู้วิจัยจะใช้การสนทนากลุ่ม สำรวจผู้ชมวัยทำงานว่ามีการรับรู้และการถอดรหัสความหมายในรายการอย่างไร ผลการวิจัยพบว่า ผู้ผลิตรายการมุ่งถ่ายทอดความหมายหลักเกี่ยวกับ "คุณค่าและความงดงามของวิถีชีวิตในชนบท" แก่ผู้ชมรายการ โดยผ่านภาพและเรื่องราวของ "อาหาร" และ "วัตถุดิบ" ในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ตัวบทรายการทั้ง 20 ตอน พบการถ่ายทอดความหมายมากที่สุดใน 4 ประเด็นคือ 'วิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย พอเพียง ใกล้ชิดธรรมชาติ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่' 'วัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนไทยทรงคุณค่า' 'ความขยันหมั่นเพียร การลงมือทำด้วยตนเอง และการร่วมมือกันของคนในชุมชน นำมาซึ่งความสุขและความสำเร็จ' และ 'บ้านเกิดที่เราจากมามีความอบอุ่น ความห่วงใย และความสุข' รองลงมาคือ 'ประเทศไทยมีทรัพยากรอันทรงคุณค่า เลี้ยงประชากรได้อย่างยั่งยืน และที่พบน้อยที่สุดคือ 'เกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรผสมผสานเลี้ยงชีพได้และช่วยให้คุณภาพชีวิตดี' ส่วนการถอดรหัสความหมายของผู้ชมรายการกลุ่มตัวอย่าง พบการถอดรหัสความหมายที่สอดคล้องกับผู้ผลิตมากที่สุดใน 3 ประเด็นหลักคือ วิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย การระลึกถึงบ้านเกิด และวัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน นอกจากนี้ พบการตีความตรงข้ามความหมายเพียงหนึ่งประเด็นคือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังมีผู้ร่วมสนทนามองเห็นในประเด็นนี้น้อยที่สุดอีกด้วย สรุปผู้ผลิตรายการพยายามนำเสนอคุณค่าของวิถีชีวิตชนบท และวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยผ่านกระบวนการค้นหาวัตถุดิบ และการประกอบอาหารในรายการ เพื่อมุ่งสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ทั้งปลูกฝังสำนึกรักและภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดของตน


ผลของความสอดคล้องของการวางสินค้าในเกมและความเกี่ยวพันของสินค้าต่อการตอบสนองของผู้เล่นเกม, พิจาริน สุขกุล Jan 2017

ผลของความสอดคล้องของการวางสินค้าในเกมและความเกี่ยวพันของสินค้าต่อการตอบสนองของผู้เล่นเกม, พิจาริน สุขกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองในรูปแบบ 2 x 2 แฟคทอเรียล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบหลักและผลกระทบเชิงปฏิสัมพันธ์ที่เกิดจากระดับความสอดคล้องของการวางสินค้าในเกม (การวางสินค้าในเกมแบบมีความสอดคล้องสูง และการวางสินค้าในเกมแบบมีความสอดคล้องต่ำ) และระดับความเกี่ยวพันของสินค้า (สินค้าที่มีความเกี่ยวพันสูง และสินค้าที่มีความเกี่ยวพันต่ำ) ที่ส่งผลต่อการระลึกถึงตราสินค้า การจดจำตราสินค้า ความรู้สึกถูกรบกวนจากโฆษณา ทัศนคติต่อตราสินค้า และความตั้งใจซื้อของผู้เล่นเกม โดยทำการวิจัยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 กับนิสิตปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 140 คน โดยผลการวิจัยพบว่า ระดับความสอดคล้องของการวางสินค้าในเกมต่างกัน ส่งผลกระทบหลักให้ผู้เล่นเกมมีการตอบสนองในด้านการระลึกถึงตราสินค้า การจดจำตราสินค้า และความตั้งใจซื้อ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนสินค้าที่มีความเกี่ยวพันต่างกันนั้น ส่งผลให้ผู้เล่นเกมมีการตอบสนองในด้านการระลึกถึงตราสินค้า การจดจำตราสินค้า และความรู้สึกถูกรบกวนจากโฆษณา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม ระดับความสอดคล้องของการวางสินค้าในเกมและความเกี่ยวพันของสินค้าที่ต่างกัน ส่งผลกระทบเชิงปฏิสัมพันธ์ต่อการตอบสนองของผู้เล่นเกมให้แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ


อิทธิพลของปัจจัยจูงใจต่อพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านเว็บไซต์อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ, พิชชาพร เนียมศิริ Jan 2017

อิทธิพลของปัจจัยจูงใจต่อพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านเว็บไซต์อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ, พิชชาพร เนียมศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและใช้วิธีการเชิงสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของปัจจัยจูงใจในการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านเว็บไซต์อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ ซึ่งประกอบด้วย 3 ตัวแปร คือ คุณภาพของเว็บไซต์ คุณลักษณะของเสื้อผ้าแฟชั่น และคุณลักษณะของผู้บริโภค ที่ส่งผลต่อ (1) ทัศนคติของผู้บริโภค และ (2) ความตั้งใจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นของผู้บริโภค โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ที่เคยซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นผ่านเว็บไซต์อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ ซึ่งในงานวิจัยนี้คือ เว็บไซต์กลุ่ม Marketplace และเว็บไซต์กลุ่ม Brand ภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 400 คน ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยจูงใจในการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่น ในตัวแปรด้านคุณลักษณะของเสื้อผ้าแฟชั่น และคุณลักษณะของผู้บริโภคมีอิทธิพลต่อทัศนคติและความตั้งใจซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นของผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซทั้งในกลุ่มเว็บไซต์ Marketplace และเว็บไซต์ Brand อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


การประยุกต์ใช้บอร์ดเกมเพื่อพัฒนาทักษะสื่อสารการแสดง, รักชน พุทธรังษี Jan 2017

การประยุกต์ใช้บอร์ดเกมเพื่อพัฒนาทักษะสื่อสารการแสดง, รักชน พุทธรังษี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงประยุกต์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบของบอร์ดเกมที่ส่งเสริมทักษะสื่อสารการแสดง และเพื่อประยุกต์ใช้บอร์ดเกมในการพัฒนาทักษะสื่อสารการแสดง โดยการจัดกระบวนการประยุกต์ใช้บอร์ดเกมพื่อพัฒนาทักษะสื่อสารการแสดง ประกอบกับสหวิธีการ ได้แก่ การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านบอร์ดเกมแบบเจาะลึก การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมโดยผู้วิจัย การประเมินก่อน-หลังการร่วมกิจกรรม และการสนทนากลุ่มกับกลุ่มตัวอย่าง จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ และนำเสนอผลการวิจัยเป็นลำดับ ผลของการวิจัยพบว่า กระบวนการประยุกต์บอร์ดเกมเพื่อพัฒนาทักษะสื่อสารการแสดง สามารถใช้พัฒนาทักษะสื่อสารการแสดงได้แก่ 1) ความสามารถในการใช้ภาษาพูด 2) ความพร้อมของอารมณ์และความรู้สึก 3) ความพร้อมของประสาทสัมผัส 4) สมาธิ 5) ความสามารถในการสังเกต 6) ความจำ 7) ความเข้าใจ 8) ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ 9) ความกล้าแสดงออก และ 10) การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยคัดเลือกบอร์ดเกมจากองค์ประกอบของบอร์ดเกม ได้แก่ 1) ประเภทของบอร์ดเกม ควรเป็นบอร์ดเกมประเภทปาร์ตี้เกม 2) แนวของบอร์ดเกม ควรเป็นแนวอารมณ์ขัน แนวโน้มน้าวใจ แนวเล่าเรื่อง และแนวตัดตัวเลือก 3) กลศาสตร์ของบอร์ดเกม ควรประกอบไปด้วย กลศาสตร์การสวมบทบาท กลศาสตร์การเล่าเรื่อง และกลศาสตร์การลงมติ เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการของเกมการแสดง และเพิ่มกลศาสตร์ที่ส่งเสริมการใช้ทักษะสื่อสารการแสดงอย่างเฉพาะเจาะจง จากนั้นจึงนำเกมที่เลือกแล้วมาวางโครงสร้างของกิจกรรม โดย 1) เริ่มด้วยเกมอุ่นเครื่อง 2) เข้าสู่เกมแนวตัดตัวเลือกที่มีกลศาสตร์การสวมบทบาท 3) เข้าสู่เกมแนวตัดตัวเลือกที่มีกลศาสตร์การมีคู่หู 4) เข้าสู่เกมที่เน้นไหวพริบ เพื่อประมวลทักษะสื่อสารการแสดงที่ได้ใช้ในแต่ละเกม และ 5) สนทนาหลังจบกิจกรรม เพื่อประเมินผลกิจกรรม


กลยุทธ์การสร้างแบรนด์เครื่องหอมไทยสู่แบรนด์เครื่องหอมโลก, วสี อัชกุลพร Jan 2017

กลยุทธ์การสร้างแบรนด์เครื่องหอมไทยสู่แบรนด์เครื่องหอมโลก, วสี อัชกุลพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษากลยุทธ์การสร้างแบรนด์เครื่องหอมไทย (2) เพื่อศึกษากลยุทธ์การสื่อสารแบรนด์เครื่องหอมไทย (3) เพื่อศึกษาปัจจัยขับเคลื่อนแบรนด์เครื่องหอมไทย แบรนด์ PAÑPURI และแบรนด์ HARNN โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ผู้เกี่ยวข้องจำนวน 20 คน ผลการศึกษาพบว่า (1) แบรนด์ทั้งสองมีกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ตามแนวคิดไลฟ์สไตล์แบรนด์ ประกอบด้วยความเป็นมาของแบรนด์ จากการใส่เรื่องราว ความเชื่อของแบรนด์ และอุดมการณ์ของแบรนด์ โดยการนำเสนอไลฟ์สไตล์ รหัสไลฟ์สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์ สำหรับแบรนด์ PAÑPURI ได้กำหนดแนวคิดของแบรนด์ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์สุดหรู ชูจุดเด่นเรื่องออแกนิก ส่วนแบรนด์ HARNN กำหนดแนวคิดของแบรนด์ คือ ความร่วมสมัย หรูหรา และเอกลักษณ์ของเอเชีย (2) การสื่อสารแบรนด์เครื่องหอมไทย แบรนด์ทั้งสองมีการสื่อสารแบรนด์ตามแนวคิดไลฟ์สไตล์แบรนด์ มีแนวคิดการเล่าเรื่องราวผ่านผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดที่มีไลฟ์สไตล์ที่คนในสังคมปรารถนา ผ่านการสื่อสาร 3 ลักษณะ คือ ผ่านกิจกรรมการสื่อสารที่มีการเล่าเรื่องราวเดียวกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดสุนทรียศาสตร์ ที่มีความหมายทางอารมณ์และสอดคล้องกับผู้บริโภค และผ่านการสื่อสารในร้านค้า มีพนักงานทำหน้าที่ให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์และเผยแพร่เรื่องราวดึงดูดความสนใจผู้บริโภค (3) ปัจจัยขับเคลื่อนแบรนด์เครื่องหอมไทย แบรนด์ทั้งสองขับเคลื่อนแบรนด์ตามแนวคิดไลฟ์สไตล์แบรนด์ มีผู้นำแบรนด์ที่เป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ให้แก่แบรนด์และองค์กร กล่าวคือ ผู้นำจะออกแบบเรื่องราว สิ่งที่แบรนด์เชื่อ อัตลักษณ์ของแบรนด์ รวมถึงการนำเสนอไลฟ์สไตล์ ผ่านแนวคิดของแบรนด์ นอกจากนี้ ผู้นำยังเป็นผู้กำหนดปรัชญาการทำงานในองค์กร โดยผู้นำมองว่า พนักงานเป็นกลไกที่สำคัญของบริษัท มีการคำนึงถึงความสุขของพนักงาน ด้านพนักงาน มีแนวทางการทำงานที่สะท้อนวิสัยทัศน์ผู้นำ โดยสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์และบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสุขภาพความงาม


การสื่อสารความหมายใหม่ของตัวละครสำมนักขาผ่านการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย, วิรสา โรจน์วรพร Jan 2017

การสื่อสารความหมายใหม่ของตัวละครสำมนักขาผ่านการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย, วิรสา โรจน์วรพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่อง "การสื่อสารความหมายใหม่ของตัวละครสำมนักขาผ่านการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย" เป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ (Creative Research) ที่มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย 1) เพื่อศึกษาการสร้างความหมายใหม่และสร้างสรรค์ตัวละครนางสำมนักขาผ่านการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย และ 2) เพื่อศึกษาการรับรู้ความหมายใหม่ของตัวละครนางสำมนักขาผ่านการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย ผลการวิจัยพบว่า 1) การสร้างสรรค์การแสดง ฉุยฉายนางสำมนักขาร่วมสมัย สามารถนำองค์ประกอบในการแสดง "ฉุยฉาย" มาประยุกต์ใช้ผ่านกระบวนท่าทางการร่ายรำในรูปแบบนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย ผนวกกับการนำทั้งบทร้องดั้งเดิมของการแสดงฉุยฉายศูรปนขา และบทเพลงสมัยนิยม มาเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเนื้อหาเรื่องราวและอารมณ์ของตัวละคร รวมถึงความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครผ่านการแสดงเดี่ยว เพื่อใช้ในการสื่อสารหมายใหม่ให้กับตัวละครนางสำมนักขา ผ่านรูปแบบการแสดงฉุยฉายร่วมสมัย การจัดการแสดง "ฉุยฉายนางสำมนักขาร่วมสมัย" พบว่า ผู้ชมและผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า รูปแบบและองค์ประกอบในการแสดงสามารถสื่อสารความหมายใหม่ในความเป็นมนุษย์ให้กับตัวละครนางสำมนักขาได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ของผู้ชมเกี่ยวกับนางสำมนักขาด้วย และผู้ชมมีความรู้สึกเอื้ออาทรต่อนางสำมนักขาแตกต่างไปจากเดิม ส่วนทัศนคติของผู้ชมพบว่า รูปแบบในการจัดการแสดง เป็นส่วนที่ผู้ชมชื่นชอบมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 54.12 ผู้แสดงสามารถถ่ายทอดเนื้อเรื่องและอารมณ์ได้ในระดับ มากที่สุด (M=4.34) เนื้อหาในการแสดงมีความน่าสนใจในระดับ มาก (M=4.04) บทร้องและดนตรีมีความเหมาะสมต่อการแสดงในระดับ มาก (M=3.93) และผู้ชมมีทัศนคติต่อตัวละครนางสำมนักขาแตกต่างไปจากเดิม คิดเป็นร้อยละ 76.47


การสื่อสารแบบห้องเสียงสะท้อนในเฟซบุ๊ก, วรางคณาง อุ๊ยนอก Jan 2017

การสื่อสารแบบห้องเสียงสะท้อนในเฟซบุ๊ก, วรางคณาง อุ๊ยนอก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) องค์ประกอบของปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อนในการสื่อสารบนสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก (2) ปัจจัยที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน และ (3) ผลที่สามารถประเมินได้ของปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน ผ่านเพจเฟซบุ๊กที่มีแนวโน้มจะเกิดปรากฏการณ์แห่งห้องเสียงสะท้อน ในประเด็นการสื่อสารที่มีแนวโน้มแบ่งขั้วทางความคิด 2 ประเด็น คือ ประเด็นการจัดการผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และประเด็นความวุ่นวายในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2560 โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ คือ วิเคราะห์เนื้อหาและการวิเคราะห์ตัวบทความคิดเห็นบนโพสต์ของเพจ อีกทั้งยังสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ติดตามเพจที่มีความกระตือรือร้นสูง และค้นคว้าเอกสารต่าง ๆ
ผลการศึกษาองค์ประกอบของปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อนในการสื่อสารทั้งสองประเด็น โดยการวิเคราะห์เนื้อหาพบว่า ผู้ติดตามเพจสื่อสารความคิดเห็น โดยให้ข้อเท็จจริงและตั้งคำถามต่อข้อมูลที่ได้รับรวมกันน้อยกว่าการให้ความคิดเห็นถึง 9 เท่า การสัมภาษณ์พบว่าผู้ติดตามเพจมีวิธีเลือกรับและหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ขัดแย้งกับทัศนคติของตนเอง 4 แบบ คือ 1) การหลีกเลี่ยงทางกายภาพต่อเนื้อหา 2) การไม่ทำความเข้าใจเนื้อหา 3) การเลือกรับข้อมูลเพื่อหาข้อโต้แย้ง และ 4) การเลือกรับข้อมูลเพื่อจับผิดผู้นำเสนอข้อมูล และการวิเคราะห์ตัวบทพบว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 1) เลือกรับและตอบสนองต่อข้อมูลอย่างลำเอียง 2) สร้างกลุ่มแบ่งขั้ว และ 3) สื่อสารกันอย่างเป็นภัย
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน ได้แก่ 1) การนำเสนอข่าวสารของสื่อและบรรยากาศการสื่อสาร ส่งผลต่อเฉพาะการสื่อสารประเด็นการจัดการผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ 2) ปัจจัยด้านการกำกับดูแลเนื้อหา และ 3) ลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการออกแบบฟีเจอร์และฟังก์ชันการใช้งานโดยมีกลไกของอัลกอริทึมอยู่เบื้องหลัง ได้ลดทอนความซับซ้อนของข้อมูล ผลักดันเนื้อหาที่ได้รับความนิยม และสร้างสังคมของคนที่คิดเหมือนกัน โดยผู้ติดตามเพจประเมินว่าการสื่อสารแบบห้องเสียงสะท้อนมีผลทั้งด้านที่ดีและด้านเสีย ทั้งต่อตัวบุคคลและต่อสังคม


อิทธิพลของการสื่อสารการตลาดผ่านไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์ของสถาบันการเงินและการธนาคารต่อทัศนคติและการตัดสินใจเลือกใช้บริการของผู้บริโภค, วีรินทร์ วีระวรรณ Jan 2017

อิทธิพลของการสื่อสารการตลาดผ่านไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์ของสถาบันการเงินและการธนาคารต่อทัศนคติและการตัดสินใจเลือกใช้บริการของผู้บริโภค, วีรินทร์ วีระวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะและความสัมพันธ์ของการเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านการสื่อสารการตลาดด้วยไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์ กับทัศนคติและการตัดสินใจเลือกใช้บริการสถาบันการเงินและการธนาคารของผู้บริโภค ซึ่งใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยการใช้แบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่ใช้งานแอปพลิเคชันไลน์และเป็นผู้ที่มีไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์ของสถาบันการเงินและการธนาคารประเภทธนาคารพาณิชย์อย่างน้อย 1 แอคเคาท์ จำนวน 400 คน โดยข้อมูลที่ได้จะนำมาวิเคราะห์ด้วยค่าสถิติ t-test ร่วมกับการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบ ANOVA ค่าสหสัมพันธ์แบบ Pearson และค่าการถดถอยแบบ Linear Regression ผลการวิจัยพบว่า 1. กลุ่มตัวอย่างมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านการสื่อสารการตลาดด้วยไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์ของสถาบันการเงินและการธนาคารในภาพรวมอยู่ในระดับสูง โดยมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านการโฆษณามากที่สุด รองลงมาคือ การประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการขาย ตามลำดับ 2. กลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะทางประชากรแตกต่างกันมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารของสถาบันการเงินและการธนาคารผ่านการสื่อสารการตลาดด้วยไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์ไม่แตกต่างกัน 3. การเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านการโฆษณามีความสัมพันธ์กับทัศนคติและการตัดสินใจเลือกใช้บริการสถาบันการเงินและการธนาคาร ในทางกลับกัน การเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านการส่งเสริมการขายไม่มีความสัมพันธ์กับทั้งทัศนคติและการตัดสินใจเลือกใช้บริการสถาบันการเงินและการธนาคาร 4. ทัศนคติต่อสถาบันการเงินและการธนาคารมีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเลือกใช้บริการสถาบันการเงินและการธนาคาร รวมทั้งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการสถาบันเหล่านี้ด้วย ในขณะที่การเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านการสื่อสารการตลาดด้วยไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์กลับไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการสถาบันการเงินและการธนาคาร


พฤติกรรมการซื้อของฝากประเภทขนมไทยของนักท่องเที่ยวจีน, ศศินิภา ดุสิตานนท์ Jan 2017

พฤติกรรมการซื้อของฝากประเภทขนมไทยของนักท่องเที่ยวจีน, ศศินิภา ดุสิตานนท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยเรื่อง "พฤติกรรมการซื้อของฝากประเภทขนมไทยของนักท่องเที่ยวจีน" มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การเปิดรับ ทัศนคติต่อการสื่อสารทางการตลาด และพฤติกรรมการซื้อของฝากประเภทขนมไทยของนักท่องเที่ยวจีน 2) ความแตกต่างระหว่างลักษณะทางประชากรกับการเปิดรับ ทัศนคติต่อการสื่อสารทางการตลาด และพฤติกรรมการซื้อของฝากประเภทขนมไทยของนักท่องเที่ยวจีน 3) การเปิดรับ ทัศนคติต่อการสื่อสารทางการตลาดที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อของฝากประเภทขนมไทยของนักท่องเที่ยวจีน 4) การสื่อสารทางการตลาดแต่ละองค์ประกอบที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อของฝากประเภทขนมไทยของนักท่องเที่ยวจีน งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล จำนวน 400 ชุด ผลการวิจัย พบว่า 1) ช่องทางการสื่อสารที่เปิดรับมากที่สุด คือคนใกล้ชิด รองลงมา คือโทรทัศน์ ขณะที่พฤติกรรมการเปิดรับสื่อสังคมออนไลน์สามอันดับแรก คือการหาข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการดูภาพและอ่านข้อความทั้งหมด ในส่วนของทัศนคติต่อการสื่อสารทางการตลาด กลุ่มตัวอย่างชื่นชอบให้ของฝากประเภทขนมไทยมีความเป็นไทย บรรจุภัณฑ์ที่ระบุคำว่าประเทศไทย และมีคำอธิบายเป็นภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษ วิธีการจ่ายเงินที่มีความสะดวก ราคาที่สมเหตุสมผล การซื้อจากศูนย์การค้า การซื้อจากสถานที่ขายที่มีความสะดวกและง่ายต่อการเดินทาง พนักงานขายที่พูดภาษาจีนได้ ยิ้มแย้มแจ่มใส สุภาพอ่อนน้อม และมีจรรยาบรรณ พฤติกรรมการซื้อที่พบมากที่สุดสองอันดับแรก คือการชำระสินค้าด้วย Alipay และ Wechat Pay 2) ลักษณะทางประชากรต่างกัน การเปิดรับ ทัศนคติต่อการสื่อสารทางการตลาดส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกัน ขณะที่ลักษณะทางประชากรต่างกัน พฤติกรรมการซื้อไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้อายุต่างกัน มีพฤติกรรมการเปิดรับสื่อและในภาพรวมแตกต่างกัน และระดับการศึกษาต่างกัน มีการเปิดรับสื่อแตกต่างกัน โดยเพศหญิงมีทัศนคติต่อการสื่อสารทางการตลาดด้านความต้องการของผู้บริโภค ด้านค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคยอมรับ ด้านการสื่อสาร และในภาพรวมมากกว่าเพศชาย 3) ทัศนคติต่อการสื่อสารทางการตลาดมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อของฝากประเภทขนมไทยมากกว่าการเปิดรับ 4) การสื่อสารทางการตลาดด้านความต้องการของผู้บริโภคมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อของฝากประเภทขนมไทยมากที่สุด รองลงมา คือด้านค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคยอมรับ ด้านการสื่อสาร และด้านความสะดวกในการซื้อ


ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มดิจิทัลเนทีฟไทยในการเลือกใช้แอปพลิเคชันสั่งและจัดส่งอาหารในเขตกรุงเทพมหานคร, สสินาท แสงทองฉาย Jan 2017

ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มดิจิทัลเนทีฟไทยในการเลือกใช้แอปพลิเคชันสั่งและจัดส่งอาหารในเขตกรุงเทพมหานคร, สสินาท แสงทองฉาย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแตกต่างทางลักษณะประชากรกับการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร ทัศนคติที่มีต่อส่วนประสมทางการตลาด และพฤติกรรมในการเลือกใช้แอปพลิเคชันสั่งและจัดส่งอาหาร ตลอดจนอิทธิพลของการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร และทัศนคติต่อส่วนประสมทางการตลาดที่มีต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มดิจิทัลเนทีฟไทยในการเลือกใช้แอปพลิเคชันสั่งและจัดส่งอาหาร โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลกับผู้บริโภคกลุ่มดิจิทัลเนทีฟไทยในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 384 คน และมีแอปพลิเคชันสั่งและจัดส่งอาหารที่เป็นตัวแทนในการวิจัยครั้งนี้ คือ แอปพลิเคชันฟู้ดแพนด้า (Foodpanda) ไลน์แมน (LINE MAN) และอูเบอร์อีสท์ (UberEATs) ผลการวิจัย พบว่า ผู้บริโภคที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่างกัน มีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแอปพลิเคชันฟู้ดแพนด้า และไลน์แมนแตกต่างกัน และผู้บริโภคที่มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวต่างกัน การเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแอปพลิเคชันฟู้ดแพนด้าแตกต่างกัน แต่ผู้บริโภคที่มีผู้บริโภคที่มีเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ สถานภาพ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน และจำนวนสมาชิกในครอบครัวต่างกัน มีการเปิดรับข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับแอพพลิเคชันสั่งและจัดส่งอาหารทั้ง 3 แอปพลิเคชัน จากสื่อประเภทต่าง ๆ ไม่แตกต่างกัน และผู้บริโภคที่มีเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ สถานภาพ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน และจำนวนสมาชิกในครอบครัวต่างกัน มีทัศนคติต่อแอปพลิเคชันสั่งและจัดส่งอาหารไม่แตกต่างกัน อีกทั้งผู้บริโภคที่มีเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ สถานภาพ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน และจำนวนสมาชิกในครอบครัวต่างกันมีพฤติกรรมการเลือกใช้แอปพลิเคชันสั่งและจัดส่งอาหารไม่แตกต่างกันเช่นกัน ในขณะที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมในการเลือกใช้แอปพลิเคชันสั่งและจัดส่งอาหารมากที่สุดคือ ทัศนคติที่มีต่อแอปพลิเคชันสั่งและจัดส่งอาหาร (Beta = 0.579) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 ถัดมาคือการเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแอปพลิเคชันสั่งและจัดส่งอาหารจากสื่อประเภทต่าง ๆ (Beta = 0.158) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 ตามลำดับ


แรงจูงใจ การเปิดรับข่าวสาร การตัดสินใจ และรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวของผู้พิการ, อิสระ อุปดี Jan 2017

แรงจูงใจ การเปิดรับข่าวสาร การตัดสินใจ และรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวของผู้พิการ, อิสระ อุปดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มุ่งสำรวจและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของแรงจูงใจ การเปิดรับข่าวสาร การตัดสินใจ พฤติกรรมการท่องเที่ยว และรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวของผู้พิการ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างผู้พิการ 3 ประเภท ได้แก่ ผู้พิการทางการมองเห็น ผู้พิการทางการได้ยิน และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว จำนวน 415 คน ผลการวิจัยพบว่า ผู้พิการมีแรงจูงใจในการท่องเที่ยวทั้งแบบปัจจัยผลักดันและแบบปัจจัยดึงดูดอยู่ในระดับมาก มีการเปิดรับข่าวสารการท่องเที่ยวในด้านแหล่งข้อมูล เนื้อหา และช่องทางอยู่ในระดับปานกลาง มีการตัดสินใจท่องเที่ยวแบบวางแผนไว้ล่วงหน้าในระดับมาก และท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากที่สุด ในด้านพฤติกรรมการทางท่องเที่ยวพบว่า ผู้พิการเดินทางท่องเที่ยว 1-2 ครั้งต่อปี ใช้เวลา 2 วัน ในการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง ท่องเที่ยวในวันหยุด ใช้จ่ายในการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง 1,000-3,000 บาท เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ท่องเที่ยวกับครอบครัว และจัดการท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากที่สุด พฤติกรรมระหว่างการท่องเที่ยวพบว่า ผู้พิการมีการถ่ายภาพขณะท่องเที่ยว และโพสต์ภาพหลังการท่องเที่ยว รวมทั้งเล่าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่อำนวยความสะดวกที่ดีให้กับผู้พิการท่านอื่น ๆ และทบทวนถึงปัญหาที่พบ เพื่อพิจารณาในการท่องเที่ยวครั้งต่อไป ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า แรงจูงใจในการท่องเที่ยวทั้งแบบปัจจัยผลักดันและแบบปัจจัยดึงดูดมีความสัมพันธ์กับการเปิดรับข่าวสารการท่องเที่ยวในด้านแหล่งข้อมูล เนื้อหา และช่องทาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีความสัมพันธ์อยู่ในระดับต่ำและมีทิศทางแปรตามกัน นอกจากนี้ยังพบว่า การเปิดรับข่าวสารการท่องเที่ยว มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจท่องเที่ยว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีความสัมพันธ์อยู่ในระดับต่ำและมีทิศทางแปรตามกัน และเนื้อหาการเปิดรับข่าวสารด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ด้านสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวมีความเกี่ยวข้องกับรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05