Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Criminology

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

2020

Articles 1 - 15 of 15

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

การป้องกันปัญหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, กรณัฏฐ์ อัครธนบูลย์ Jan 2020

การป้องกันปัญหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, กรณัฏฐ์ อัครธนบูลย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ สาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศในมุมมองอาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหามลพิษทางอากาศในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ผู้วิจัยได้ทำการวิจัยเอกสารและสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง 6 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ผู้นำและตัวแทนชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ นักวิชาการอิสระ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งสิ้นจำนวน 24 คน ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัญหาและผลกระทบจากมลพิษทางอากาศส่งผลต่อ (1) สุขภาพของประชาชน โดยประชาชนยังคงมีความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง และภาวะความผิดปกติต่างๆ อันเนื่องมาจากการสูดดมมลพิษทางอากาศเข้าไป และ (2) สิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่า ยังคงมีสารมลพิษถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) บางประเภท สาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ เป็นผลมาจาก (1) การพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลกับสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ (2) การบริหารจัดการของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (3) มาตรการและระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่สะท้อนข้อเท็จจริง และ (4) การบังคับใช้กฎหมายและการบังคับโทษไม่ชัดเจน โดยสาเหตุการกระทำผิดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในมุมมองอาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ (1) ภาครัฐ ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนซึ่งเป็นทั้งเหยื่อทางตรงและทางอ้อม (2) ผู้ประกอบการหรือผู้ก่อมลพิษ ไม่รู้ตัวว่ากำลังก่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมอยู่ หรือ จงใจกระทำผิดเนื่องจากเห็นว่าได้รับประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายมากกว่าได้รับโทษจากกฎหมาย (3) ผู้ได้รับผลกระทบ หรือ เหยื่อทางตรงที่เป็นมนุษย์ ได้รับความเสียหายจากการก่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากการพิสูจน์หาตัวและจับกุมผู้กระทำผิดทำได้ยาก (4) ประชาชนทั่วไป หรือ เหยื่อทางอ้อมที่เป็นมนุษย์ ขาดความรู้ความเอาใจใส่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่ได้ตระหนักในสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ พบว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการควรปรับปรุงและบูรณาการกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้มีการบังคับใช้และบทลงโทษที่ชัดเจนควบคู่กับการส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมตระหนักถึงการดูแลและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถจำแนกเป็นรูปธรรมได้โดย (1) ประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างจริงจัง (2) ใช้หลักทางวิศวกรรมในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศควบคู่กับการควบคุมมาตรฐานในการปล่อยทิ้งอากาศเสีย (3) มีระบบบริหารจัดการแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


แนวทางการพัฒนารูปแบบการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, จักรี กันธิยะ Jan 2020

แนวทางการพัฒนารูปแบบการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, จักรี กันธิยะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดและเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนารูปแบบการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในประเทศไทย โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณโดยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมกลุ่มย่อยและการเก็บแบบสอบถามจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เครื่องมือในการวิจัยได้แก่ แบบสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้าง แบบประชุมกลุ่มย่อยและแบบสอบถามและผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหารวมถึงสถิติพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัญหาและอุปสรรคของการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในประเทศไทยประกอบด้วย 1.1) ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ยังขาดยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและขาดนโยบายในการป้องกันและปราบปรามคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอย่างจริงจัง 1.2) ด้านกฎหมายและการลงโทษซึ่งการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษยังขาดประสิทธิภาพและไม่มีการนำมาตรการมาใช้อย่างจริงจัง 1.3) ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการปฏิบัติงานในการสืบสวนสอบสวนแต่ละหน่วยงานแตกต่างกัน ตลอดจนไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีและ 1.4) ด้านบุคลากร เจ้าหน้าที่รัฐขาดประสบการณ์ในคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและ 2) แนวทางการพัฒนารูปแบบการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในประเทศไทยภาครัฐต้องมีแนวทางการพัฒนาในด้าน 2.1) นโยบายและยุทธศาสตร์โดยการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ยาเสพติด 2.2) ด้านกฎหมายและการลงโทษ เช่น การแก้ไขกลไกทางกฎหมาย/แนวทางการปฏิบัติระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว 2.3) ด้านหน่วยงาน สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเข้าถึงข้อมูล ตลอดจนหน่วยงานภาคีทั้งในและต่างประเทศและ 2.4) ด้านบุคลากร เช่น ความรู้ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรบุคคลให้เหมาะสมทั้งนี้การพัฒนาดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย


เนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีกับการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในทางย้อนแย้งของคู่รักวัยรุ่นไทย: กรณีศึกษาละครโทรทัศน์เรื่อง Princess Hour, You Who Came From The Stars And Crash Landing On You, วริศรา กรีธาพล Jan 2020

เนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีกับการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในทางย้อนแย้งของคู่รักวัยรุ่นไทย: กรณีศึกษาละครโทรทัศน์เรื่อง Princess Hour, You Who Came From The Stars And Crash Landing On You, วริศรา กรีธาพล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เล่มนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ตีความเนื้อหาละครโทรทัศน์เกาหลีที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในทางย้อนแย้งของคู่รักวัยรุ่นไทย โดยศึกษาจากละครโทรทัศน์เกาหลี 3 เรื่อง ได้แก่ Princess Hours, You Who Came from the Stars และ Crash Landing on You และ (2) ศึกษาทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงของคู่รักวัยรุ่นไทยหลังจากการดูละครโทรทัศน์เกาหลี โดยศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกคู่รักวัยรุ่นชาวไทยเพศชายและเพศหญิงอายุ 18-25 ปีที่รับชมและชื่นชอบละครโทรทัศน์เกาหลี ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ละครโทรทัศน์เกาหลีสามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในทางย้อนแย้งของคู่รักวัยรุ่นไทยในด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม ด้วยการนำเสนอภาพตัวละครนำชายที่มีลักษณะของความเป็นชายแบบใหม่และความเป็นสุภาพบุรุษ รวมถึงการไม่ใช้ความรุนแรงกับคนรัก ซึ่งย้อนแย้งกับความเป็นจริงของสังคมเกาหลีที่เป็นสังคมปิตาธิปไตยและเพศชายมีการใช้ความรุนแรงต่อคู่รักของตน ซึ่งงานวิจัยนี้อาจเป็นแนวทางและความรู้สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างเนื้อหาละครโทรทัศน์ให้สามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงของคู่รักวัยรุ่นไทย เพื่อลดการเรียนรู้และลอกเลียนแบบความรุนแรงจากสื่อ


การศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ในโครงการฟื้นฟูเยียวยา และพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนชายขอบในสังคมเมือง, วณีนุช ตั้งพรพิพัฒน์ Jan 2020

การศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ในโครงการฟื้นฟูเยียวยา และพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนชายขอบในสังคมเมือง, วณีนุช ตั้งพรพิพัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ในโครงการฟื้นฟูเยียวยา และพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนชายขอบในสังคมเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนศึกษาถึง ปัญหา อุปสรรค โอกาสในการพัฒนา และการสร้างความยั่งยืนต่อโครงการฟื้นฟูเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนชายขอบในสังคมเมือง เพื่อแสวงหารูปแบบแนวทางการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยใช้วิธีการดำเนินการวิจัย คือ การวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสังเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการฯ หัวหน้าแก๊งและเด็กเยาวชนชายขอบ พี่เลี้ยงจิตอาสา และเครือข่ายพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการฯ ผลการศึกษา พบว่า แนวทางปฏิบัติที่ดีต่อเด็กและเยาวชนในโครงการฯ มี 4 แนวทางคือ (1) P : POSSIBILITY มองปัญหาเป็นโอกาสเสมอ (2) C : COOPERATION บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (3) L : LEARNING รูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย และ(4) O : OCCUPATION มุ่งเน้นกิจกรรมสร้างอาชีพ ที่ดำเนินงานผ่านแนวคิด "5C พิชิตใจเด็กชายขอบ" ซึ่งประกอบไปด้วย Core person หากลุ่มคนที่ใช่ Connect ติดต่อ สร้างสัมพันธ์ในเชิงลึก Control ควบคุมกำหนดทิศทาง Continue ติดตามอย่างต่อเนื่อง และ Complete บรรลุผลสำเร็จ นำมาซึ่งรูปแบบแนวทางการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เหมาะสมกับประเทศไทย จากที่โครงการฯได้ดึงศักยภาพ และคุณความดีในจิตใจของเด็กเยาวชนชายขอบออกมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้เด็กเยาวชนชายขอบสามารถสร้างอาชีพ ดูแลตนเอง ดูแลครอบครัว และทำประโยชน์เพื่อสังคมได้ ส่งผลให้คนในสังคมให้การยอมรับเด็กเยาวชนชายขอบมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามโครงการฯยังคงพบปัญหาอีกหลายประการ คือ ปัญหาด้านการเข้าถึงเด็กและเยาวชนชายขอบ ปัญหาการดูแลเด็กและเยาวชนไม่ทั่วถึง ปัญหาด้านการปรับเปลี่ยนทัศนคติเด็กและเยาวชนชายขอบ ปัญหาด้านการประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่าย และปัญหาด้านความยั่งยืนของโครงการฯ จึงนำมาซึ่งข้อเสนอแนะต่อโครงการฯดังนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายในการผลักดันการปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชนชายขอบในทุกพื้นที่ วางแผนจัดกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์เด็กเยาวชนชายขอบระหว่างจังหวัด มอบหมายหน้าที่ให้รุ่นพี่ที่มีพฤติกรรมที่ดี เป็นหัวหน้ากลุ่มในการช่วยดูแลทีม เปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชนชายขอบแสดงศักยภาพผ่านสื่อออนไลน์ ต่อยอดสร้างอาชีพเจ้าของธุรกิจให้ทีมแกนนำเยาวชนในโครงการฯ เพื่อต่อยอดพัฒนาโครงการฯ และขยายไปยังเครือข่ายจังหวัดอื่นที่สนใจต่อไป


การผสานรอยต่อจากเรือนจำสู่ชุมชน: กรณีศึกษาผู้ต้องขังสูงอายุ, พรรษพร สุวรรณากาศ Jan 2020

การผสานรอยต่อจากเรือนจำสู่ชุมชน: กรณีศึกษาผู้ต้องขังสูงอายุ, พรรษพร สุวรรณากาศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง การผสานรอยต่อจากเรือนจำสู่ชุมชน: กรณีศึกษาผู้ต้องขังสูงอายุ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาของผู้ต้องขังสูงอายุ เพื่อศึกษาถึงกระบวนการและรูปแบบการผสานรอยต่อจากเรือนจำสู่ชุมชน และเพื่อเสนอแนวทางการผสานรอยต่อจากเรือนจำสู่ชุมชนสำหรับผู้ต้องขังสูงอายุในสังคมไทย การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ต้องขังจำนวน 24 คนและเจ้าหน้าที่จำนวน 14 คน และการสนทนากลุ่มเจ้าหน้าที่จำนวน 6 คน ผลการศึกษาพบว่า ผู้ต้องขังสูงอายุเผชิญสภาพปัญหาทั้งทางด้ายร่างกาย จิตใจและสังคม ในกระบวนการผสานรอยต่อจากเรือนจำสู่ชุมชนพบว่าในแต่ละขั้นตอนมีข้อจำกัด ดังนี้ 1) ขั้นตอนการรับตัว เนื่องจากการบริหารจัดการแต่ละเรือนจำที่แตกต่างกันผู้ต้องขังที่ชราในเรือนจำจึงอาจไม่ได้รับการจำแนกซ้ำเพื่อจัดเข้าอยู่ในกลุ่มพิเศษที่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมโปรแกรมเฉพาะเพื่อแก้ไขฟื้นฟู 2) ขั้นดำเนินการ การจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่จะเป็นการให้ความสำคัญต่อการดูแลด้านสวัสดิการเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของจำเป็นมากกว่าการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาหลักสูตรการแก้ไขฟื้นฟู ดังนั้นการส่งเสริมการให้ความรู้สิทธิและสวัสดิการสูงอายุจึงยังคงมิได้ครอบคลุม 3) ขั้นตอนเตรียมการปลดปล่อย ที่ประสบปัญหาการเชื่อมโยงการปฏิบัติงานในรูปแบบเครือข่ายภายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการใช้ชีวิตหลังพ้นโทษและพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรเตรียมพร้อมก่อนปล่อยสำหรับผู้สูงอายุให้สามารถนำไปใช้ได้จริง 4) ขั้นติดตามหลังปล่อยที่ยังคงไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์ผู้ต้องขังสูงอายุโดยเฉพาะและความล่าช้าของระบบราชการที่ทำให้ติดตามหรือสงเคราะห์มิอาจทันท่วงที ดังนั้นการเสนอรูปแบบการผสานรอยต่อจากเรือนจำสู่ชุมชนสำหรับผู้ต้องขังสูงอายุในสังคมไทย คือ ควรเป็นรูปแบบเครือข่ายที่เน้นการทำงานลักษณะบูรณาการขององค์กร โดยทางราชทัณฑ์ควรมีลักษณะที่เป็นองค์กรกลางเนื่องด้วยมีความใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติกับผู้ต้องขังในระยะรอยต่อที่ควรเริ่มตั้งแต่ในเรือนจำ และแต่ละหน่วยงานซึ่งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องที่อยู่รายล้อมยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผสานรอยต่อจากเรือนจำสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่องจนได้รับการปล่อยตัว


เหยื่อจากศัลยกรรมความงามและกระบวนการเยียวยาเหยื่อในประเทศไทย, ศิริรัตน์ พรหมหิตาธร Jan 2020

เหยื่อจากศัลยกรรมความงามและกระบวนการเยียวยาเหยื่อในประเทศไทย, ศิริรัตน์ พรหมหิตาธร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง "เหยื่อจากศัลยกรรมความงามและกระบวนการเยียวยาเหยื่อในประเทศไทย" นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสถานการณ์การตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเกี่ยวกับศัลยกรรมความงาม 2) ศึกษากระบวนการเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อการทำศัลยกรรมที่เกิดความผิดพลาด และ 3) ศึกษาแนวทางป้องกันและเยียวยาการตกเป็นเหยื่อศัลยกรรมความงาม งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลจากเอกสารวิชาการและข่าวที่นำเสนอในปี 2558-2562 ที่ปรากฏในสื่อ เก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการทำศัลยกรรมความงาม ซึ่งผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ผู้ที่ได้รับความเสียหาย ญาติและผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการศัลยกรรมความงามจากหมอกระเป๋าและคลินิกศัลยกรรมความงาม จำนวน 5 คน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการเยียวยาผู้เสียหายจากการทำศัลยกรรมที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมทั้งหมด 9 คน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผลการศึกษาพบว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่ผู้ตกเป็นเหยื่อได้รับผลกระทบที่ปรากฏให้เห็นภายนอกทั้งทางร่างกายและจิตใจตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อย เสียโฉม พิการและเสียชีวิต อีกทั้งพบว่ารูปแบบการทำศัลยกรรมกับหมอกระเป๋าได้รับความนิยมในกลุ่มสาวประเภทสอง เพราะความต้องการตอบสนองด้านความงาม ต้องการเหมือนผู้หญิง เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ทำศัลยกรรมความงาม ปัจจุบันความนิยมเหล่านี้ขยายวงกว้างในกลุ่มผู้หญิง เกือบทุกช่วงอายุ เนื่องจากอิทธิพลของกระบวนการสร้างอัตลักษณ์โดยใช้สื่อทางสังคม การโฆษณา การรีวิว และการบอกกันแบบปากต่อปาก การเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อจากการศัลยกรรมความงามพบว่ามีการเยียวยาโดยสังคมผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย องค์กรต่างๆที่ไม่หวังผลกำไร, การเยียวยาโดยคู่กรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย และการบังคับตามคำพิพากษาของศาล ประกอบกับการเยียวยาโดยภาครัฐผ่านพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และ การเยียวยาตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 ในมาตรา 41 ที่นำหลักการชดเชยความเสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิดมาใช้ แต่ยังไม่ครอบคลุมความเสียหายจากการทำศัลยกรรมความงาม ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยเพื่อเป็นแนวทางป้องกันการตกเป็นเหยื่อศัลยกรรมความงาม คือ ควรเพิ่มช่องทางตรวจสอบใบอนุญาตประกอบกิจการสถานเสริมความงาม, การมีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะของแพทย์ที่จะทำศัลยกรรมความงาม, การทำความเข้าใจระหว่างแพทย์และผู้รับบริการถึงขั้นตอนและวิธีการรักษา การผ่าตัด และผลกระทบ, มีการควบคุมข้อความที่ใช้โฆษณาของคลินิกศัลยกรรมให้มีความเหมาะสม, การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงผลดีและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการทำศัลยกรรมความงาม และการตรวจสอบแพทย์และคลินิกศัลยกรรมความงาม รวมทั้งการผสานการทำงานเชิงรุกของหน่วยงานภาครัฐและมีหน่วยงานกลางกำกับดูแลเฉพาะเรื่องศัลยกรรมความงาม และแนวทางการเยียวยาความเสียหายจากการทำศัลยกรรมความงาม คือ เพิ่มเติมข้อกำหนดในพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 ในมาตรา 41 ให้มีการชดเชยที่ครอบคลุมความเสียหายจากการทำศัลยกรรมความงาม, จัดให้มีการประกันภัยความรับผิดทางการแพทย์ หรือกองทุนเพื่อเยียวยากรณีเกิดความผิดพลาดจากการทำศัลยกรรมความงาม


การป้องกันการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์, พรรษาวดี คล้อยระยับ Jan 2020

การป้องกันการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์, พรรษาวดี คล้อยระยับ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาการป้องกันการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ 2) ปัญหาและอุปสรรคในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ และ 3) เสนอแนะแนวทางการป้องกันการตกเป็นเหยื่อทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กับกลุ่มตัวอย่างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลเชิงลึกในการศึกษาวิจัยครั้งนี้คือองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน อัยการ จำนวน 10 คน ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพปัญหาการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศในสื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น สาเหตุการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ เกิดจากหลายสาเหตุทั้งจากตัวของเด็กที่เข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ง่าย ครอบครัวของเด็กมีปัญหาในครอบครัวทำให้ต้องพึ่งพาสังคมออนไลน์ สภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่ รวมไปถึงเพื่อนของเด็ก และตัวผู้กระทำความผิดมักจะเป็นผู้มีความชำนาญ รูปแบบการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ มีดังนี้คือ การกลั่นแกล้งทางเพศ การข่มขู่ทางเพศ การลวนลามทางเทศ และ การอนาจารทางเพศ 2) ผลการศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ พบว่า กฎหมาย บทลงโทษตลอดจนนโยบายของรัฐ เกี่ยวกับการป้องกันการถูกคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ มีความสอดคล้องเหมาะสม แต่การนำผู้ต้องหามาลงโทษมีความยากลำบาก เนื่องจากในโลกออนไลน์ไม่สามารถเก็บพยานหลักฐานได้ครบ ขาดการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐกับภาคเอกชน และการได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนยังไม่เพียงพอทั้งด้านงบประมาณ ด้านข้อมูล และบุคลากรยังไม่เพียงพอ 3) แนวทางการป้องกันการตกเป็นเหยื่อทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ ดังนี้ คือรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการดำเนินการเชิงรุก โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่เด็กและเยาวชน ประชาชน ในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ องค์กรเอกชน หรือภาคเอกชน ร่วมเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันการตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศของเด็กในโลกออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยง ควรให้การสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งทางด้านงบประมาณ บุคลากร และข้อมูล เนื่องจากภาครัฐมีทรัพยากรดังกล่าวไม่เพียงพอและ ผู้ปกครองสร้างความรู้ความเข้าใจ เอาใจใส่ดูแลบุตรหลาน ทุกหน่วยงานต้องมีส่วนร่วมป้องกัน แก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่รัฐไม่เผยแพร่ข้อมูลเหยื่อสู่สาธารณะ


การละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาในชั้นก่อนฟ้องคดี, พจมานพจี ทวีสว่างผล Jan 2020

การละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาในชั้นก่อนฟ้องคดี, พจมานพจี ทวีสว่างผล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่อง "การละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาในชั้นก่อนฟ้องคดี" มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาและผู้ถูกจับกุมในการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องคดี ประกอบกับระยะเวลาที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาและผู้ถูกจับกุม เพื่อเสนอแนวทางในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาและผู้ถูกจับกุมในการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องคดี เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้ต้องหา จำนวน 7 ราย และ2) กลุ่มบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 26 ราย รวมทั้งสิ้น 33 ราย ผลการศึกษาพบว่า สภาพปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาในชั้นก่อนฟ้องคดี ปรากฎอยู่ใน 3 ขั้นตอนคือ 1) ขั้นตอนการจับกุม : มีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหา สร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำโดยผู้ต้องหาที่ไม่ได้กระทำผิด การเรียกรับประโยชน์จากผู้ต้องหา 2) ในขั้นตอนการสอบสวน : ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติให้ทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก ไม่ได้รับสิทธิพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว ไม่ได้รับสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนในชั้นสอบสวน ไม่ได้รับสิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร ไม่ได้รับสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย อีกทั้งพบว่า พนักงานสอบสวนมีจำนวนน้อย ปริมาณงานมาก ทำให้พนักงานสอบสวนย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่นที่ก้าวหน้ามากกว่า และที่สำคัญที่สุดระยะเวลาการควบคุมผู้ต้องหา 48 ชั่วโมง ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน 3) ในขั้นตอนการสั่งคดี : พนักงานสอบสวนมักจะส่งสำนวนล่าช้าไม่เหลือเวลาให้พนักงานอัยการตรวจสอบและไม่สามารถส่งสอบสวนเพิ่มเติมได้ เนื่องจากไม่มีเหลือเวลาในการควบคุมผู้ต้องหา มีผลให้พนักงานอัยการต้องรีบสั่งฟ้องคดี หรือหากไม่มีหลักฐานเพียงพอพนักงานอัยการต้องสั่งไม่ฟ้องและปล่อยตัวผู้ต้องหาไป สำหรับแนวทางการปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหา : เจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนงดสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำผู้ต้องหาที่ไม่ได้กระทำผิด งดทำลายพยานหลักฐาน งดการข่มขู่ งดการทำร้ายร่างกาย เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนควรส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการมีระยะเวลาการตรวจสอบ ผู้วิจัยนำเสนอให้แยกเวลาพิจารณาคดีระหว่างพนักงานสอบสวนออกจากพนักงานอัยการ หากควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 48 วัน ควรเหลือเวลาให้พนักงานอัยการอย่างน้อย 14 วัน และหากการควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 84 วัน ควรเหลือเวลาให้พนักงานอัยการอย่างน้อย 28 วัน และพนักงานอัยการเข้าตรวจสอบการสอบสวนคดีร่วมกับพนักงานสอบสวน


ความสัมพันธ์ระหว่างการไร้ตัวตนกับอาชญากรรมไซเบอร์, ปรเมศวร์ กุมารบุญ Jan 2020

ความสัมพันธ์ระหว่างการไร้ตัวตนกับอาชญากรรมไซเบอร์, ปรเมศวร์ กุมารบุญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฎีนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการไร้ตัวตนกับอาชญากรรมไซเบอร์ด้วยทฤษฎีเกม โดยการไร้ตัวตนในดุษฎีนิพนธ์นี้หมายถึง การหลบพ้นการสืบสวนจับกุมทางดิจิทัลและการไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานดิจิทัลเพื่อดำเนินคดีเอาผิดได้ เพราะอาชญากรไซเบอร์เป็นอาชญากรที่คอยมองหาโอกาสอยู่เสมอและเมื่อได้พบไซเบอร์เทคโนโลยีใดที่มีปัจจัยการไร้ตัวตนจะตัดสินใจเลือกก่ออาชญากรรมทันทีและเมื่อไซเบอร์เทคโนโลยีนั้นการไร้ตัวตนหมดสิ้นไป อาชญากรรมไซเบอร์ประเภทนั้นจะหมดไปเป็นวัฏจักร ดุษฎีนิพนธ์นี้ เป็นการวิจัยแบบผสมผสานมีทั้งการวิจัยเชิงปริมาณจากสถิติคดีอาชญากรรมไซเบอร์กับการสำรวจความเห็นออนไลน์จำนวน 35 ราย และการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการวิจัยเอกสาร รวบรวมเนื้อหาอาชญากรรมไซเบอร์ คำสารภาพของอาชญากรไซเบอร์ คดีที่มีคำพิพากษาอาชญากรรมไซเบอร์ที่เคยเกิดขึ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบันและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก 1 กรณีศึกษา จากนั้นเลือกกรณีศึกษาที่น่าสนใจขึ้นมา 17 กรณีศึกษาและใช้ทฤษฎีเกมกับทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรรมไซเบอร์กับการไร้ตัวตน โดยอธิบายรูปแบบความสัมพันธ์เป็น ต้นไม้การตัดสินใจ ตารางผลตอบแทน และสมการผลตอบแทน ผลการวิจัยพบว่า ทฤษฎีเกมอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการไร้ตัวตนและการเกิดอาชญากรรมไซเบอร์ให้ได้เข้าใจง่ายและได้มีข้อเสนอแนะให้รัฐแก้กฎหมายที่ยังมีช่องว่างและเสนอให้มีศาลชำนัญพิเศษพิจารณาอาชญากรรมไซเบอร์โดยเฉพาะต่อไป


สถานการณ์และผลกระทบของการแพร่กระจายข่าวปลอมที่เกี่ยวกับ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมาตรการป้องกันในประเทศไทย, พรรณวดี ชัยกิจ Jan 2020

สถานการณ์และผลกระทบของการแพร่กระจายข่าวปลอมที่เกี่ยวกับ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมาตรการป้องกันในประเทศไทย, พรรณวดี ชัยกิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ ผลกระทบ และมาตรการป้องกันการแพร่กระจายข่าวปลอมเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทย อันจะนำไปสู่การแสวงหาข้อเสนอแนะเชิงมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายข่าวปลอมของไทยในอนาคต โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่มีขอบเขตการศึกษาระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยจำแนกสถานการณ์การศึกษาออกเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ 1) การแพร่ระบาดรอบที่ 1 ระว่างเดือนมกราคม-เดือนพฤศจิกายน 2563 และ 2) การแพร่ระบาดรอบที่ 2 เดือนธันวาคม 2563-เดือนมีนาคม 2564 ตลอดจนการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ที่คัดเลือกด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจง เพื่อวิเคราะห์ประเด็นอย่างรอบด้านผ่าน 4 มุมมอง ได้แก่ 1) มุมมองเชิงนโยบายจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 2) มุมมองเชิงข้อเสนอแนะจากนักวิชาการ 3) มุมมองเชิงสาธารณะจากภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สื่อ และผู้มีอิทธิพลทางความคิดบนโลกออนไลน์ และ 4) มุมมองเชิงการสื่อสารจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผลการศึกษาพบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นตัวการสำคัญที่ให้เกิดการแพร่กระจายข่าวปลอมจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร โดยการส่งต่อข่าวปลอมมีปัจจัยกระตุ้นมาจากการรับรู้ ความคิด และอารมณ์ร่วมขณะเสพข่าว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดการผลักดันการส่งต่อข่าวระหว่างกัน ขณะเดียวกันผู้รับสารยังสามารถเปลี่ยนบทบาทมาทำหน้าที่ผู้ส่งสารได้อย่างคู่ขนานด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การส่งต่อข่าวปลอมได้ก่อให้เกิดผลกระทบสำคัญ 5 มิติ ได้แก่ 1) ผลกระทบต่อสุขภาพ 2) ผลกระทบต่อจิตใจ 3) ผลกระทบต่อสังคม 4) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และ 5) ผลกระทบต่อความมั่นคงและความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดี แม้ว่าการดำเนินมาตรการป้องกันข่าวปลอมของไทยเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถจำแนกมาตรการออกเป็น 2 มาตรการหลัก คือ มาตรการจากภาครัฐ และมาตรการที่ไม่ใช่ภาครัฐ แต่กลับพบว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ งานชิ้นนี้จึงมุ่งแสวงหามาตรการป้องกันข่าวปลอมที่มีประสิทธิภาพผ่านข้อเสนอแนะเชิงมาตรการทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านระบบและเทคโนโลยี 2) ด้านโครงสร้าง 3) ด้านความรู้ 4) ด้านการมีส่วนร่วม 5) ด้านการสื่อสาร และ 6) ด้านการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด


แนวทางการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัส, วิสูต กัจฉมาภรณ์ Jan 2020

แนวทางการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัส, วิสูต กัจฉมาภรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ "แนวทางการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัส" เป็นการศึกษาวิจัยธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัสอันเป็นนวัตกรรมการโอนมูลค่าระหว่างกันโดยตรงแบบไร้พรมแดนได้อย่างรวดเร็วและไม่มีหน่วยงานกลางใดกำกับ เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่ออาชญากรที่อาจเลือกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน รูปแบบของอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสกุลเข้ารหัส รวมถึงแนวทางการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัสที่เหมาะสม โดยระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกร่วมกับเทคนิควิธีเดลฟายรูปแบบปรับปรุง จากการศึกษาพบว่า ระบบนิเวศเงินสกุลเข้ารหัสมีกลไกการปกปิดตัวตนของผู้ใช้งาน สามารถกลบเกลื่อนร่องรอยเส้นทางธุรกรรมไม่ให้พิสูจน์ย้อนกลับถึงต้นทางได้ กอรปกับมีช่องว่างทางกฎหมายของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน อาชญากรจึงอาจเลือกใช้เงินสกุลเข้ารหัสเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน ทั้งนี้ มาตรการป้องกันและปราบปรามที่เหมาะสม คือ ควรเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์ตัวตนของผู้ขอใช้งานโดยจัดทำระบบจัดการฐานข้อมูลกลางของประเทศ เฝ้าระวังธุรกรรมแปรสภาพเงินสกุลเข้ารหัสของผู้ต้องสงสัย พร้อมกับสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศด้านการต่อต้านการฟอกเงิน และปรับปรุงกฎระเบียบในกระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับธุรกรรมเงินสกุลเข้ารหัส รวมถึงพัฒนาโปรแกรมสืบค้นเส้นทางธุรกรรมบนระบบปฏิบัติการบล็อกเชน และเสริมทักษะความรู้เกี่ยวกับเงินสกุลเข้ารหัสที่ถูกต้องให้แก่เจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงประชาชนทั่วไป


แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนต่อการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเป็นผู้กระทำผิดในสังคม: กรณีศึกษาโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์, กรวรรณ คำกรเกตุ Jan 2020

แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนต่อการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเป็นผู้กระทำผิดในสังคม: กรณีศึกษาโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์, กรวรรณ คำกรเกตุ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวนต่อการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเป็นผู้กระทำผิดในสังคม: กรณีศึกษาโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ เพื่อศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชน ผ่านโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ เพื่อนำไปสู่ตัวอย่างรูปแบบและนโยบายที่เหมาะสมต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของเด็กและเยาวชนต่อโอกาสในการตกเป็นเหยื่อและเป็นผู้กระทำผิดในสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทยและแต่ละบริบทสังคมต่อไป การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 25 คน และการจัดสนทนากลุ่มย่อย ผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่ม จำนวน 5 คน ผลการศึกษาพบว่า การกำหนดแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนนั้น ต้องมีการสำรวจสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนก่อน ทั้ง 5 ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 1) ปัจจัยส่วนบุคคล 2) ปัจจัยทางด้านครอบครัว 3) ปัจจัยทางด้านกลุ่มเพื่อน /สถาบันการศึกษา 4) ปัจจัยทางด้านสังคม และ 5) ปัจจัยอื่น ๆ เพื่อกำหนดรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนให้มีวัคซีนทางสังคมต่อการป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อ และการกระทำความผิดในสังคม โดยปัญหาและอุปสรรคจากกรณีศึกษาการดำเนินโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2562 สามารถแบ่งปัญหาออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านนโยบาย และการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ 2) ด้านวิธีการแก้ไข/เนื้อหา หรือกิจกรรม 3) ด้านเจ้าหน้าที่ผู้แก้ไข 4) ด้านเด็กและเยาวชนผู้รับการแก้ไข 5) ด้านระยะเวลา และ 6) ปัญหาด้านอื่น ๆ ทั้งงบประมาณ การติดตามประเมินผล และสถานการณ์ Covid-19 ดังนั้น การนำเสนอนโยบาย และรูปแบบที่เหมาะสม โดยผู้ศึกษาวิเคราะห์และนำเสนอผ่านกระบวนการตามหลักของทฤษฎีระบบ (System Theory) การวิเคราะห์ปัจจัยนำเข้า (Input) คือ การวิเคราะห์และสำรวจสภาพปัญหา จากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนโดยใช้เครื่องมือในการประเมินเพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดกระบวนการ (Process) คือ แนวทาง/วิธีการ/โปรแกรม ที่จะนำไปสู่กระบวนการในการเปลี่ยนแปลง และนำแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนต่อการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเป็นผู้กระทำผิดในสังคม ตามบริบทของสังคมไทยไปปฏิบัติที่เหมาะสม แบ่งเป็นหลักสูตรแกนกลาง และหลักสูตรเฉพาะด้าน ในแต่ละโรงเรียน จึงนำไปสู่ผลลัพธ์ (Output) คือ เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตนเอง ไม่หันไปกระทำผิดในสังคมหรือตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในสังคม โดยกระบวนการต่าง ๆ นั้น ดำเนินการผ่านการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้อัตราการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนลดลง และเป็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง จึงนำไปสู่แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชนต่อการป้องกันจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมและเป็นผู้กระทำผิดในสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การซ้อนทับจับวางของวาทกรรมทัณฑวิทยา: วงศาวิทยาของการใช้โทษประหาร และความรุนแรงเพื่อการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทย, ภูวดล ไชยอินทร์ Jan 2020

การซ้อนทับจับวางของวาทกรรมทัณฑวิทยา: วงศาวิทยาของการใช้โทษประหาร และความรุนแรงเพื่อการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทย, ภูวดล ไชยอินทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทยเป็นการใช้ความรุนแรงของรัฐกระทำต่อมนุษย์ผู้อยู่ในสังคม โดยสังคมย่อมยินยอมให้รัฐลงโทษมนุษย์ที่กระทำความผิด อย่างไรก็ตามการลงโทษทัณฑ์ของรัฐต้องอาศัยความสมเหตุสมผลซึ่งเป็นอำนาจของความรู้อย่างหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมในการปกครอง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของโทษทัณฑ์ในฐานะวาทกรรมอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงตามรูปแบบของรัฐไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการให้เหตุผลในการลงโทษในแต่ละสมัย โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการให้ความสมเหตุสมผลของภาครัฐ และความเห็นจากภาคสังคม ผ่านกรณีศึกษาการลงโทษประหารชีวิต และรูปแบบของเรือนจำ ด้วยวิธีวงศาวิทยาเชิงประวัติศาสตร์ จากปัจจุบันร่วมสมัยจนถึงรัฐสมัยโบราณ ซึ่งทำให้เห็นว่าในมิติทางประวัติศาสตร์การลงโทษเป็นเพียงวาทกรรมที่ปรากฏเด่นชัดในแต่ละยุคสมัย โดยเป็นอิทธิพลของการรับเอาวิธีคิดจากภายนอกเข้ามาปะทะกับความคิดภายในสังคมแบบเดิม และทำให้ความคิดที่เป็นวาทกรรมเกิดการซ้อนทับกันเป็นชั้น โดยต่างเป็นการจับวางในวาทกรรมทัณฑวิทยาทั้งรูปแบบดังต่อไปนี้ (1) การแก้แค้นทดแทนให้สาสม (2) การลงโทษเพื่อการยับยั้งป้องกัน และ (3) การลงโทษเพื่อการบำบัดฟื้นฟู ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของรัฐไทยในการผดุงความชอบธรรมของความสมเหตุสมผลของการลงโทษในสังคมไว้แบบเดิม วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นับเป็นคุณูปการในการพยามนำเสนอการใช้วิธีวงศาวิทยาในการศึกษาการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทย ตลอดจนเปิดมุมมองที่หลากหลายต่อความสมเหตุสมผลของกรอบคิดของการลงโทษแบบอื่นๆต่อไป


แบบจำลองการคาดคะเนปัจจัยที่เป็นข้อบ่งชี้ลักษณะอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย, ดิเรกฤทธิ์ บุษยธนากรณ์ Jan 2020

แบบจำลองการคาดคะเนปัจจัยที่เป็นข้อบ่งชี้ลักษณะอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย, ดิเรกฤทธิ์ บุษยธนากรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่อง แบบจำลองการคาดคะเนปัจจัยที่เป็นข้อบ่งชี้ลักษณะอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อ (1) ศึกษาปัญหาอาชญากรรมลูกผสมที่เป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทย (2) สร้างแบบจำลองการคาดคะเนปัจจัยที่เป็นข้อบ่งชี้ลักษณะอาชญากรรมลูกผสมที่ใช้ในการจำแนก และอธิบายความสัมพันธ์และ/หรือหลักฐานในการยอมรับว่าเป็นอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย และ (3) ศึกษาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสานของการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเน้นการวิจัยเชิงปริมาณเป็นหลักสำคัญจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 400 คน ซึ่งใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างจากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น (IOC = 0.868, Reliability = 0.981) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่า ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ปัจจัยบ่งชี้ลักษณะอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทยโดยใช้ตัวแบบสมการเชิงโครงสร้าง ในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ปฏิบัติงานระดับผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย จำนวน 15 คน ซึ่งใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา เพื่ออธิบายและยืนยันความถูกต้องของข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเชิงปริมาณ รวมทั้งเป็นส่วนเสริมหรือส่วนเติมเต็มความสมบูรณ์ถูกต้องของงานวิจัย ผลการวิจัย พบว่า ปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบด้านปัญหาอาชญากรรมลูกผสมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.18) ซึ่งเป็นอาชญากรรมมากกว่ารูปแบบเดียว ที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างอาชญากรรมรูปแบบเดิมและอาชญากรรมรูปแบบใหม่ เป็นอาชญากรรมลูกผสมพื้นฐาน อาชญากรรมลูกผสมขั้นสูง อาชญากรรมลูกผสมอื่น ๆ และในอนาคต โดยปรากฏลักษณะสำคัญของปัญหาอาชญากรรมลูกผสมในมิติด้านต่าง ๆ ได้แก่ ผู้กระทำผิดหรืออาชญากรมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย/องค์กรมากขึ้น ข้ามรัฐ/ไร้พรมแดน พึ่งพาเทคโนโลยี วิธีการที่หลากหลาย/ซับซ้อน ส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่จำกัดช่วงเวลาและสถานที่ สร้างการเลียนแบบ เข้าถึงเป้าหมายได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับเป้าหมาย คุ้มค่ามากที่สุดในการก่อเหตุต่อครั้ง เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน ติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ยาก ทำให้สูญเสียบุคลากรและงบประมาณจำนวนมากในการปราบปราม ป้องกันและแก้ไข ซึ่งการสร้างแบบจำลองการคาดคะเนปัจจัยบ่งชี้ลักษณะอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทยตามสมมติฐาน มีความสัมพันธ์กับข้อมูลเชิงประจักษ์ (p-value = 0.881, Chi-square / df = 0.920, CFI = 0.95, GFI = 0.96, AGFI = 0.95, RMSEA = 0.000, SRMR = 0.040) สรุปได้ว่า ปัญหาอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทยได้รับอิทธิพลรวม …


แนวทางการลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทย: กรณีศึกษาอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามแนวทางสหประชาชาติ, ตุลาการ ขยันขันเกตุ Jan 2020

แนวทางการลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทย: กรณีศึกษาอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามแนวทางสหประชาชาติ, ตุลาการ ขยันขันเกตุ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัย เรื่อง "แนวทางการลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทย: ศึกษากรณีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามแนวทางสหประชาชาติ" มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อกำหนดและแนวทางของสหประชาชาติ รวมถึงความสอดคล้องของสภาพสังคมไทยกับการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุด และแนวทางที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยในการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามมาตรฐานสหประชาชาติ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำนโยบายมาปฏิบัติ กลุ่มประชาสังคม และกลุ่มนักวิชาการ จำนวน 14 คน ผลการศึกษาพบว่า ข้อกำหนดและแนวทางการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดของสหประชาชาติเป็นมาตรฐานสากลที่พึงปฏิบัติ แม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หากประเทศไทยกำหนดนโยบายการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดสอดคล้องต่อแนวทางของสหประชาชาติจะส่งผลให้สามารถลดความผิดพลาดในการดำเนินคดีอาญาด้วยการลงโทษผู้บริสุทธิ์ และลดผลกระทบต่อเหยื่อได้ แนวทางที่เหมาะสมในการใช้โทษประหารชีวิตในกรณีคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุดตามแนวทางของสหประชาชาติ คือ การใช้โทษประหารชีวิตเฉพาะในคดีเจตนาฆ่าทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และอาจพักการใช้โทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ อีกทั้งการนำมาตรการแทนการลงโทษประหารชีวิตในฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงถึงขั้นประหารชีวิตที่ไม่สอดคล้องต่อแนวทางของสหประชาชาติ คือ กำหนดโทษจำคุกเพิ่มเข้าไปในบางฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว, การใช้โทษจำคุกระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนในการพ้นโทษ, การจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ได้รับการลดโทษ และการนำนักโทษประหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการลงโทษประหารชีวิตในคดีอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ที่สุด (Most Serious Crime) ที่สอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติและเหมาะสมกับสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตสืบไป