Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Physical Sciences and Mathematics Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Articles 1 - 30 of 181

Full-Text Articles in Physical Sciences and Mathematics

การประยุกต์ใช้ถ่านชีวภาพในการปลูกข้าวในพื้นที่เกษตรกรรมดินเค็ม, สิรภัทร ประเสริฐสุข Jan 2020

การประยุกต์ใช้ถ่านชีวภาพในการปลูกข้าวในพื้นที่เกษตรกรรมดินเค็ม, สิรภัทร ประเสริฐสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่วิกฤตดินเค็มของประเทศไทย โดยสาเหตุสำคัญของดินเค็มในพื้นที่เกิดจากสภาพทางธรณีวิทยา และมีแนวโน้มการแพร่กระจายพื้นที่ดินเค็มเพิ่มมากขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม โดยทำให้การเจริญเติบโตและผลผลิตของพืชลดลงอย่างมาก และบางพื้นที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ งานวิจัยนี้จึงมุ่งปรับปรุงดินเค็มด้วยถ่านชีวภาพแกลบเพื่อให้สามารถเพาะปลูกข้าวได้ โดยทำการทดลองปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในดินเค็มโซดิกที่มี pH เท่ากับ 10.6 ปริมาณโซเดียมทั้งหมดเท่ากับ 0.83 % ค่าการนำไฟฟ้าเท่ากับ 68.6 dS/m และ SAR เท่ากับ 11,707 และจำกัดปัญหาการระเหยของเกลือจากน้ำใต้ดินขึ้นมาสู่ผิวดินโดยทำการปลูกข้าว ในวงบ่อซีเมนต์ปิดก้นบ่อ ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ถ่านชีวภาพแกลบสามารถปรับปรุงดินเค็มโซดิกได้ โดยสามารถลดความเค็มของดินได้ภายในรอบการปลูกข้าว (120 วัน) ซึ่งพบว่า การนำไฟฟ้า ปริมาณโซเดียม และค่า SAR ของดินมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นการใส่ถ่านชีวภาพยังช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ทั้งไนโตรเจน แคลเซียม และแมกนีเซียมได้ โดยเฉพาะการใส่ถ่านชีวภาพแกลบในอัตรา 1.5 กิโลกรัมต่อวงบ่อซีเมนต์ร่วมกับปุ๋ยคอกในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อวงบ่อซีเมนต์ (ตำรับการทดลองที่ 3) มีค่าการนำไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (13.33 dS/m) เช่นเดียวกับปริมาณโซเดียมทั้งหมด (0.18 %) และค่า SAR (4,602) ของดินในตำรับการทดลองที่ 3 ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังให้ผลการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวดีที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทำการปลูกข้าวรอบที่ 2 และรอบที่ 3 พบว่า ถ่านชีวภาพแกลบสามารถปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษายังพบว่า ตำรับการทดลองที่ใส่ถ่านชีวภาพ ให้ผลผลิตของข้าวในรอบการปลูกข้าวที่ 3 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (202.77-492.77 กรัม) จากรอบการปลูกที่ 1 อีกด้วย ในขณะที่ ตำรับการทดลองที่ไม่ใส่ถ่านชีวภาพ ให้ผลการเจริญเติบโตข้าวที่ดีในรอบการปลูกที่ 1 (15.55 กรัม) แต่ให้ผลการเจริญเติบโตต่ำที่สุดในรอบการปลูกที่ 3 (7.30 กรัม) ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้จึงสรุปได้ว่า การใส่ถ่านชีวภาพร่วมกับปุ๋ยคอกสามารถลดความเค็มในดินได้ดีกว่าการใส่ปุ๋ยคอกเพียงอย่างเดียว โดยการใส่ถ่านชีวภาพแกลบในอัตรา 1.5 และ 2 กิโลกรัมต่อวงบ่อซีเมนต์ เป็นอัตราการใส่ถ่านชีวภาพที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในดินเค็มโซดิกในวงบ่อซีเมนต์ เนื่องจากสามารถปรับปรุงดินเค็มโซดิกให้มีสมบัติที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ส่งผลให้การเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวดีที่สุด


การรีมอดุลาไรเซชันด้วยการค้นหาต้องห้าม, พจนารถ จันทน์วัฒนวงษ์ Jan 2020

การรีมอดุลาไรเซชันด้วยการค้นหาต้องห้าม, พจนารถ จันทน์วัฒนวงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอการรีมอดุลาไรเซชันซอฟต์แวร์ด้วยการค้นหาต้องห้าม เพื่อค้นหารูปแบบการจัดสรรคลาสไปยังแพ็กเกจที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งเป็นการปรับปรุงสภาพมอดุลาร์ของซอฟต์แวร์ โดยทำการค้นหาคลาสที่ไม่เหมาะสมกับแพ็กเกจ เพื่อย้ายไปยังแพ็กเกจที่เหมาะสมมากขึ้น การรีมอดุลาไรเซชันซอฟต์แวร์ด้วยการค้นหาต้องห้ามนี้ ประกอบไปด้วยขั้นตอนการตรวจสอบว่า ซอฟต์แวร์นั้นมีความจำเป็นต้องทำการรีมอดุลาไรเซชันหรือไม่ ด้วยเกณฑ์ค่าสัมประสิทธิ์ซิลูเอทของระบบซอฟต์แวร์ และหากซอฟต์แวร์จำเป็นต้องรีมอดุลาไรเซชัน ขั้นตอนถัดไปคือทำการค้นหาด้วยการค้นหาต้องห้ามจะค้นหารูปแบบการจัดสรรคลาสที่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งวิธีการนี้สามารถเป็นเครื่องมือช่วยวิศวกรซอฟต์แวร์ตัดสินใจในการทำรีมอดุลาไรเซชันได้ เพื่อสนับสนุนวิธีการรีมอดุลาไรเซชันด้วยการค้นหาต้องห้าม จึงได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อทดสอบกับซอฟต์แวร์และกรณีตัวอย่างที่พัฒนาด้วยภาษาจาวารวมเจ็ดตัวอย่าง จากการทดสอบพบว่า เครื่องมือสามารถตรวจสอบได้ว่าซอฟต์แวร์ควรมีการรีมอดุลาไรเซชันหรือไม่ และเครื่องมือสามารถค้นหาและแนะนำวิธีมูฟคลาสรีแฟคทอริงเพื่อทำให้ระบบซอฟต์แวร์มีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยประเมินจากการใช้ตัววัดสัมประสิทธิ์ซิลูเอทและเทอร์โบเอ็มคิว เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการรีมอดุลาไรเซชันแล้วพบว่ามีค่าเพิ่มขึ้น


ผลของรูปทรง ตำแหน่ง และอัตราการแสดงความคืบหน้า ต่อการตอบแบบสอบถามออนไลน์, ศุภสุตา มุ่ยห้วยแก้ว Jan 2020

ผลของรูปทรง ตำแหน่ง และอัตราการแสดงความคืบหน้า ต่อการตอบแบบสอบถามออนไลน์, ศุภสุตา มุ่ยห้วยแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แบบสอบถามออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ง่ายและรวดเร็วในปัจจุบัน โดยประสิทธิภาพข้อมูลที่ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลที่ได้รับจากการตอบแบบสอบถามของหน่วยทดลอง ด้วยคำตอบที่สมบูรณ์ ครบถ้วน และเป็นความจริง การแสดงตัวชี้บอกความคืบหน้าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้การตอบกลับแบบสอบถามเสร็จสมบูรณ์ได้ ผู้วิจัยจึงสนใจวิเคราะห์ถึงลักษณะของตัวชี้บอกความคืบหน้า โดยมุ่งเน้นวิเคราะห์ผลกระทบของ (1) รูปทรง (2) ตำแหน่ง และ (3) อัตราการแสดง ของตัวชี้บอกความคืบหน้า ต่อ อัตราการตอบกลับสมบูรณ์ ระยะเวลาในการตอบแบบสอบถาม และความจริงใจในการตอบแบบสอบถามออนไลน์บนโทรศัพท์มือถือ การศึกษานี้เป็นการทดลองในสภาพจริง การวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ผลกระทบของ (1) รูปทรง (2) ตำแหน่ง และ (3) อัตราการแสดง ของตัวชี้บอกความคืบหน้า ต่ออัตราการตอบกลับสมบูรณ์ไม่มีนัยสำคัญ นอกจากนี้ผลกระทบของทุกตัวแปรต้นต่อระยะเวลาในการตอบแบบสอบถาม และต่อความจริงใจในการตอบแบบสอบถามออนไลน์ ไม่มีนัยสำคัญเช่นกัน ข้อสรุปจากการศึกษานี้เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ทางการวิจัยในบริบทของแบบสอบถามออนไลน์บนโทรศัพท์มือถือ


ผลของลำดับการผสมวัตถุดิบต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการหลอมแก้ว, ปรีณาพรรณ ปิ่นหอม Jan 2020

ผลของลำดับการผสมวัตถุดิบต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการหลอมแก้ว, ปรีณาพรรณ ปิ่นหอม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โดยทั่วไปกระบวนการหลอมแก้วระดับอุตสาหกรรมต้องการพลังงานสูงสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากวัตถุดิบเป็นน้ำแก้ว วัตถุประสงค์ในงานวิจัยนี้จะกล่าวถึงการพัฒนากระบวนการหลอมแก้วโซดาไลม์โดยวิธีปรับลำดับการผสมในระดับห้องปฏิบัติการ ซึ่งอาศัยกลไกของปฏิกิริยาสถานะของแข็งระหว่างทรายแก้วและโซเดียมคาร์บอเนตในช่วงแรกของการหลอม การเตรียมส่วนผสมแบบดั้งเดิมเป็นการผสมวัตถุดิบทั้งหมดภายในครั้งเดียว ในงานวิจัยนี้ต้องการปรับเปลี่ยนวิธีการเตรียมส่วนผสมให้เหมาะสมที่สุดต่อการหลอมโดยการปรับลำดับของการผสม ประกอบด้วยสองขั้นตอนการผสม ขั้นตอนแรกคือการผสมทรายแก้วและโซเดียมคาร์บอเนต จากนั้นจึงผสมวัตถุดิบที่เหลือเป็นขั้นตอนที่สอง เพื่อเปรียบเทียบและศึกษาผลของการเตรียมส่วนผสมทั้งสองวิธี ได้ทำการศึกษาสภาพและการเปลี่ยนแปลงระหว่างกระบวนการหลอมที่อุณหภูมิตั้งแต่ 600 ถึง 1000 องศาเซลเซียส นอกจากนี้มีผลของปริมาณวัตถุดิบที่หลอมไม่หมดบนพื้นผิวซึ่งยังคงลงเหลือในสภาพผลึก ณ สภาวะที่กำหนด เพื่อเปรียบเทียบแนวโน้มประสิทธิผลในการหลอมของส่วนผสมจากการผสมสองวิธี โดยภาพถ่ายผิวหน้าและโดยเทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ ผลการวิจัยพบว่าการจัดลำดับการผสมเป็นวิธีการผสมที่เหมาะสมกว่า ส่งผลต่ออัตราการหลอม พื้นผิวสัมผัสที่เพิ่มขึ้นระหว่างทรายแก้วและโซเดียมคาร์บอเนตจากการผสมขั้นตอนแรกนำไปสู่การเพิ่มอัตราการหลอมของทั้งระบบ ต่างจากวิธีการเดิมที่อาจมีวัตถุดิบอื่นเป็นตัวขัดขวางการเกิดปฏิกิริยาสถานะของแข็งดังกล่าว


กรอบงานการควบคุมการเข้าถึงบนฐานบทบาทสำหรับตัวจัดการความมั่นคงไมโครเซอร์วิส, จิตติภัทร ผสมทรัพย์ Jan 2020

กรอบงานการควบคุมการเข้าถึงบนฐานบทบาทสำหรับตัวจัดการความมั่นคงไมโครเซอร์วิส, จิตติภัทร ผสมทรัพย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มไมโครเซอร์วิสได้รับความนิยมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบไม่รวมศูนย์ที่มีความเร็วและกินพื้นที่น้อย อย่างไรก็ตาม จำนวนบริการที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดความท้าทายในการบำรุงรักษาความมั่นคงของการควบคุมการเข้าถึง พื้นผิวการโจมตีที่มากขึ้นสามารถนำมาซึ่งความเสี่ยงในด้านความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเข้าสู่ข้อมูลที่สำคัญและละเอียดอ่อน ดังนั้น ในงานนี้จึงได้นำเสนอแนวทางห่วงโซ่ของโดเมนที่เชื่อถือได้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แบบจำลองที่ขยายเพิ่มจากโมเดลการควบคุมการเข้าถึงตามบทบาทได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อจัดการกับภัยคุกคามจากการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งจัดการการตรวจสอบตัวตนในทุกสภาพแวดล้อมในโซลูชันคอนเทนเนอร์แอปพลิเคชัน ตัวจัดการความมั่นคงได้ถูกออกแบบบนพื้นฐานแบบจำลองอาร์แบ็กเพื่อพิสูจน์ตัวตน อนุญาต และระบุการควบคุมการเข้าถึงของผู้ใช้ผ่านเอพีไอเกตเวย์ ระบบต้นแบบที่ผสานรวมกับเซิร์ฟเวอร์การตรวจสอบสิทธิ์ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการศึกษาเชิงประจักษ์ ผลลัพธ์รายงานว่าแนวทางดังกล่าวช่วยให้เข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้เร็วขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยปรับปรุงเวลาในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ให้ดีขึ้น


การวิเคราะห์เครือข่ายสหสัมพันธ์ของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ณัฐพล ฐิตะวีระ Jan 2020

การวิเคราะห์เครือข่ายสหสัมพันธ์ของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ณัฐพล ฐิตะวีระ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้นำเสนอการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของหุ้น 100 ตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยการใช้ข้อมูลราคาของหุ้น ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ 2563 งานวิจัยนี้นำเสนอการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของหุ้น โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลอนุกรมเวลาแบบแยกองค์ประกอบเพื่อขจัดความผันผวนของข้อมูล งานวิจัยนี้ใช้เทคนิคไดนามิกไทม์วอร์ปปิงอัลกอริทึม เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของหุ้นแต่ละตัวเพื่อนำมาสร้างเครือข่าย และใช้วิธีการวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม เพื่อวิเคราะห์ค่าความเป็นสูงกลาง ค่าความเป็นศูนย์กลางประเภทความเป็นค่าคั่นกลาง ค่าความเป็นศูนย์กลางประเภทความใกล้ชิด และการตรวจจับชุมชนโดยใช้เกอร์แวน - นิวแมนอัลกอริทึม โดยงานวิจัยนี้สามารถตรวจจับชุมชนได้ทั้งหมด 7 ชุมชน งานวิจัยนี้นำเสนอสร้างแบบจำลองแบบเพิ่มข้อมูลในการแยกราคาของหุ้นโดยใช้แบบจำลองความจำสั้นแบบยาว สามารถจำแนกได้ด้วยความแม่นยำร้อยละ 57.9% ซึ่งมีความใกล้เคียงกับแบบจำลองพื้นฐานสำหรับตลาดหุ้นอื่นๆ หลังจากทดลองเพิ่มชุดข้อมูลทดแทนที่ใช้ทดสอบจากหุ้นที่มีระยะห่างใกล้กันมากที่สุด 2 ตัวพบว่า สามารถจำแนกได้ด้วยความแม่นยำร้อยละ 60.3% และหลังจากทดลองเพิ่มชุดข้อมูลทดแทนที่ใช้ทดสอบจากหุ้นที่มีระยะห่างไกลกันมากที่สุด 2 ตัวพบว่า สามารถจำแนกได้ด้วยความแม่นยำร้อยละ 62.3%


การเรียนรู้ถ่ายโอนสำหรับการจำแนกประเภทภาพเนื้อลายหินอ่อนเทียมด้วยโครงข่ายประสาทคอนโวลูชัน, เกรซ พานิชกรณ์ Jan 2020

การเรียนรู้ถ่ายโอนสำหรับการจำแนกประเภทภาพเนื้อลายหินอ่อนเทียมด้วยโครงข่ายประสาทคอนโวลูชัน, เกรซ พานิชกรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบัน เทคนิคการประมวลผลภาพถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นคือการควบคุมคุณภาพที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ขณะเดียวกัน หนึ่งในปัญหาที่การเรียนรู้เชิงลึกสามารถนำมาใช้ตอบโจทย์ได้ดีเยี่ยมคือปัญหาการจำแนกรูปภาพ ในมุมมองของการเรียนรู้เชิงลึก ปัญหาที่หลากหลายของการจำแนกประเภทภาพสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วผ่านการเรียนรู้ถ่ายโอน งานวิจัยนี้จึงนำเสนอวิธีการประยุกต์ใช้เทคนิคการเรียนรู้ถ่ายโอนในการฝึกสอนแบบจำลองโครงข่ายคอนโวลูชันเชิงลึกเพื่อจำแนกภาพเนื้อลายหินอ่อนเทียมหรือเป็นเนื้อลายหินอ่อนแท้ แบบจำลองที่เทรนมาเรียบร้อยแล้วสามแบบจำลอง ประกอบด้วย วีจีจี16 เรสเน็ต50 และ อินเซปชันวี3 ได้ถูกเลือกมาใช้ในการทดลองเพื่อสร้างแบบจำลองทั้งหมด 4 ตัว ประกอบด้วย ซีเอ็นเอ็นปกติ ซีเอ็นเอ็น+วีจีจี16 ซีเอ็นเอ็น+เรสเน็ต50 และ ซีเอ็นเอ็น+อินเซปชันวี3 พบว่า สมรรถนะแบบจำลองซีเอ็นเอ็น+อินเซปชันวี3 ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด จึงถูกเลือกนำไปปรับละเอียด การประเมินผลบนชุดข้อมูลทดสอบของแบบจำลองซีเอ็นเอ็น+อินเซปชันวี3ภายหลังการปรับแต่งให้ผลลัพธ์ค่าความแม่นยำที่ดีที่สุดคือ 96.7% เห็นได้ว่า แนวทางการจำแนกประเภทภาพที่นำเสนอมีความหวังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อในการตรวจสอบเนื้อลายหินอ่อนเทียมที่อาจตั้งราคาสูงเกินจริง อันเป็นผลมาจากการฉีดไขมันให้มีลายมากมายสวยงาม ซึ่งจะทำให้เนื้อมีรสชาติดีขึ้นรวมทั้งสามารถตั้งราคาที่สูงขึ้นได้อีกด้วย


สมาร์ทฮับบนพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ด้วยสมองโดยอุปกรณ์ราคาประหยัด, นิธิกร เกษมมงคลชัย Jan 2020

สมาร์ทฮับบนพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ด้วยสมองโดยอุปกรณ์ราคาประหยัด, นิธิกร เกษมมงคลชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิทยานิพนธ์นี้ได้ออกแบบและสร้างอุปกรณ์สมาร์ทฮับแบบพกพาบนพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ด้วยสมองด้วยอุปกรณ์ราคาประหยัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและประเมินวิธีการควบคุมอุปกรณ์ด้วยสัญญาณสมอง โดยสมาร์ทฮับที่กล่าวมานั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบสมาร์ทโฮม จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่างานส่วนใหญ่ได้ใช้วิธีการควบคุมอุปกรณ์ด้วยสัญยาณสมองโดยใช้การกระพริบตาและระดับค่าความสนใจ จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปว่าในงานวิทยานิพนธ์นี้จะใช้ระบบเครือข่าย WiFi สำหรับการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ และ จะใช้การกระพริบตาและระดับค่าความสนใจในการควบคุมเป็นหลัก ในการทดลองของงานวิทยานิพนธ์นี้มีผู้ทดลองทั้งหมด 10 คน โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 จะทดลองโปรแกรมที่ 1 ถึง 5 และ โปรแกรมที่ 2 จะทดลองโปรแกรมที่ 5 ถึง 1 จากผลการทดลองพบว่าค่าความแม่นยำในการใช้ค่าความสนใจนั้นมีค่ามากกว่าการกระพริบตา 2 ครั้ง แต่การใช้ค่าความสนใจในการควบคุมจะใช้เวลามากกว่า จากการทดลองสามารถสรุปได้ว่า ในการออกแบบวิธีการควบคุมสมาร์ทฮับบนพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ด้วยสมองให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดนั้นควรใช้ 1 วิธีการควบคุม ต่อ 1 คำสั่ง และ วิธีการควบคุมไม่ควรมีความซับซ้อนมากจนเกินไป


การพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนโดยใช้การเรียนรู้เชิงลึกด้วยภาพเรดาร์เสริมด้วยภาพจากดาวเทียม, วิคม โตศิริ Jan 2020

การพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนโดยใช้การเรียนรู้เชิงลึกด้วยภาพเรดาร์เสริมด้วยภาพจากดาวเทียม, วิคม โตศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การทำนายปริมาณน้ำฝนระยะสั้นด้วยข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากเรดาร์ตรวจอากาศภาคพื้นดินและแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกถือได้ว่าเป็นกระบวนการใหม่ในการทำนายปริมาณน้ำฝนระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดของระยะทำการของเรดาร์ตรวจอากาศภาคพื้นดินนั้นมีระยะทำการที่จำกัด งานวิจัยนี้จึงนำเสนอวิธีการปรับปรุงการทำนายปริมาณน้ำฝนระยะสั้นด้วยแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึก U-NET ด้วยการผนวกข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากการวิเคราะห์จากดาวเทียม เข้าด้วยกันกับข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ได้จากข้อมูลจากเรดาร์ตรวจอากาศภาคพื้นดินประเภท Type C Doppler งานวิจัยนี้ได้เสนอว่า วิธีการที่ถูกเสนอในงานวิจัยนี้สามารถปรับปรุงผลลัพธ์การทำนายปริมาณน้ำฝนได้ดีขึ้นในหลายชุดข้อมูลทดสอบ เช่น ชุดข้อมูลพายุไต้ฝุ่น เป็นต้น


การประเมินความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน (Ldn) ในพื้นที่เกษตรกรรม จังหวัดสระบุรี เพื่อการจัดการทรัพยากรดินที่ยั่งยืน, นครินทร์ มูลรัตน์ Jan 2020

การประเมินความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน (Ldn) ในพื้นที่เกษตรกรรม จังหวัดสระบุรี เพื่อการจัดการทรัพยากรดินที่ยั่งยืน, นครินทร์ มูลรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการประเมินความเสื่อมโทรมของทรัพยากรที่ดิน ตามแนวคิด Land Degradation Neutrality (LDN) พื้นที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม จังหวัดสระบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานะความเสื่อมโทรมของดิน และนำเสนอการพื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดินบริเวณพื้นที่ศึกษา โดยกำหนดตัวชี้วัดทั้งหมด 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (LU) การเปลี่ยนแปลงผลิตภาพของที่ดิน (LP) และการเปลี่ยนแปลงปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ในดิน (SOC) ภายในช่วงเวลา พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2563 ตัวชี้วัด LU และ LP ดำเนินการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat 8 วิเคราะห์หาการเปลี่ยนแปลงโดยใช้โปรแกรมทางสารสนเทศภูมิศาสตร์ (ArcMap version 10.7) ในขณะที่ตัวชี้วัด SOC มีการเก็บตัวอย่างดิน 2 ครั้ง ในพื้นที่เกษตรกรรมที่ระดับความลึก 30 ซม. ครั้งที่หนึ่งในปี พ.ศ.2560 โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 และครั้งที่สองในปี พ.ศ.2563 ซึ่งงานวิจัยนี้เก็บตัวอย่างซ้ำตำแหน่งเดิม การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของ SOC แบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่ collocated site และ interpolation การศึกษานี้ใช้หลักการ "one out, all out" ในการประเมินสถานะของ LDN จากการเปลี่ยนแปลงของตัวชี้วัดทั้งหมด ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่สีเขียวของตัวชี้วัด LU เกิดการสูญเสียในเชิงพื้นที่ประมาณ 47 ตารางกิโลเมตร ตัวชี้วัด LP ที่ได้จากการวิเคราะห์ไม่ได้แสดงความแตกต่างของการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของพื้นที่สีเขียวมากนักในช่วงเวลาที่กำหนด ในขณะที่ตัวชี้วัด SOC แสดงการลดลงของปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ในดินร้อยละ -0.04 ถึง -0.2 จากการวิเคราะห์ 2 แบบ ทั้งนี้ การวิเคราะห์สถานะของ LDN พบสัญญาณของความเสื่อมโทรมทรัพยากรที่ดิน ใน 3 อำเภอของพื้นที่ศึกษา เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงลบในตัวชี้วัด SOC ควรใช้มาตรการถ่วงดุล และหลักการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนเข้ามาใช้ในพื้นที่ดังกล่าว


การประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิตและประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก, ณัฐพงษ์ วิชัยอัชชะ Jan 2020

การประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิตและประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก, ณัฐพงษ์ วิชัยอัชชะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิตและการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก กรณีศึกษาคือการผลิตเม็ดพลาสติกความหนาแน่นสูงและเม็ดพลาสติกความหนาแน่นต่ำ โดยศึกษาในด้านความยั่งยืนทั้งสามด้านได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อมใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิต ด้านเศรษฐกิจใช้เครื่องมือการประเมินต้นทุนตลอดวัฏจักรชีวิต และด้านสังคมใช้การประเมินผลกระทบทางสังคม โดยนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้เพื่อประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกความหนาแน่นสูง และผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกความหนาแน่นต่ำ นอกจากนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิตด้วยวิธีระเบียบวิธีที่ช่วยในการสร้างการตัดสินใจกับการประเมินหลายส่วน (Multi-Criteria Decision Analysis) และการทำการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย(Actor Network Analysis) เพื่อวิเคราะห์การดำเนินการด้านความยั่งยืนของกรณีศึกษาผลการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมพบว่า ผลกระทบด้านการใช้พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป มีสัดส่วนผลกระทบมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญประมาณร้อยละ 50 เพราะเนื่องจากการผลิตเม็ดพลาสติกนั้นใช้วัตถุดิบจากแนฟทาและก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบตั้งต้น โดยกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุดคือการได้มาของวัตถุดิบโดยสัดส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงถึงรอยละ 93-99 จากกิจกรรมทั้งหมดในการดำเนินการผลิตโดยมีค่าผลกระทบที่ใกล้เคียงกันทั้งการผลิตเม็ดพลาสติกทั้งสองชนิด ผลการประเมินด้านเศรษฐกิจ การศึกษาต้นทุนพบว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากต้นทุนในการดำเนินระบบร้อยละ 80 และต้นทุนด้านการบำรุงรักษาร้อยละ 20 โดยต้นทุนของเม็ดพลาสติกความหนาแน่นสูงจะสูงกว่าต้นทุนของเม็ดพลาสติกความหนาแน่นต่ำอยู่เล็กน้อย ผลการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ระหว่างเม็ดพลาสติกความหนาแน่นสูงและเม็ดพลาสติกความหนาแน่นต่ำพบว่า ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของเม็ดพลาสติกความหนาแน่นสูงจะมีค่า 5.55 ดีกว่าเม็ดพลาสติกความหนาแน่นต่ำคือ 4.8 อยู่เล็กน้อย ผลการประเมินผลกระทบทางด้านสังคมพบว่า กรณีศึกษาได้ดำเนินการได้ครบถ้วนตามตัวชี้วัดที่ทำการศึกษาทั้งหมด 13ตัวชี้วัดทางด้านสังคม โดยครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือ คนงาน ผู้บริโภค สังคม และชุมชนท้องถิ่น และผลความถึงพอใจจากการดำเนินการพบว่า คนงานมีความพึงพอใจในระดับสูงสุดในระดับพึงพอใจมาก ส่วนกลุ่มอื่นๆอยู่ในระดับดี การวิเคราะห์ผู้มีสวนได้ส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินการของบริษัท ในด้านนโยบาย สังคม และเศรษฐกิจ พบว่า การดำเนินการกรณีศึกษาต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้เป็นลำดับแรกและมีการยกระดับตามมาตรฐานและข้อตกลงในระดับสากลอย่างต่อเนื่องโดยข้อจำกัดในการการค้าภายในประเทศไม่พบปัญหาจากการดำเนินการแต่สำหรับการค้ากับต่างประเทศมีการเรียกร้องการปฏิบัติตามมาตรฐานเพื่อลดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้ากับต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงงานดำเนินการยกระดับมาตรฐานการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การประเมินความยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องทำการเปรียบเทียบเพื่อดูผลิตภัณฑ์ว่ามีความยั่งยืนมากเพียงใดตามตัวชี้วัด ผู้วิจัยจึงนำผลการศึกษาของเม็ดพลาสติกความหนาแน่นต่ำนำมาเปรียบเทียบแต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดคือผลกระทบทางด้านสังคมไม่สามารถทำการปันส่วนได้ในลักษณะเดียวกับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและทางด้านต้นทุน ทำให้ผลกระทบทางสังคมของเม็ดพลาสติกทั้งสองชนิดมีค่าผลกระทบเท่ากัน โดยผลการประเมินความยั่งยืนพบว่าเม็ดพลาสติกความหนาแน่นต่ำมีค่าความยั่งยืนที่มากกว่าหากประเมินด้วยวิธีที่ผู้วิจัยเลือกใช้


การผลิตไฮโดรเจนโดยไพโรไลซิสร่วมกับรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำของพลาสติกและกลีเซอรอลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา Ni/Al2o3, พัชรพร วิบูลย์วิมลรัตน์ Jan 2020

การผลิตไฮโดรเจนโดยไพโรไลซิสร่วมกับรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำของพลาสติกและกลีเซอรอลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา Ni/Al2o3, พัชรพร วิบูลย์วิมลรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการผลิตไฮโดรเจนโดยไพโรไลซิสร่วมกับรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำของพลาสติกและกลีเซอรอลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิล/อลูมินา การทดลองนี้ถูกดำเนินการในเครื่องปฏิกรณ์แบบเบดนิ่งชนิดสองขั้น ในส่วนแรกศึกษาผลของตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิล/อลูมินาที่ส่งผลต่อไพโรไลซิสร่วมกับรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำในการผลิตไฮโดรเจน โดยเทียบกรณีไม่มีตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิล/อลูมินา จากผลการทดลองพบว่า การเติมตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิล/อลูมินา ส่งผลทำให้องค์ประกอบและผลได้ของไฮโดรเจนมีค่าสูงขึ้นอย่างชัดเจน และให้องค์ประกอบและผลได้ของมีเทนและคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ลดลง ส่วนที่สองศึกษาผลของอุณหภูมิรีฟอร์มิงที่ 700, 750 และ 800 องศาเซลเซียส โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิล/อลูมินา ภายใต้สภาวะการดำเนินงานเดียวกัน สำหรับกรณีที่ป้อนกลีเซอรอลหรือพลาสติกเดี่ยว พบว่าผลได้ของแก๊สผลิตภัณฑ์รวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิรีฟอร์มิงที่สูงขึ้น และที่อุณหภูมิรีฟอร์มิง 750 องศาเซลเซียส มีผลได้ของไฮโดรเจนสูงสุดสำหรับกรณีที่ป้อนกลีเซอรอลร่วมกับชนิดของพลาสติกที่แตกต่างกัน จึงถือเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการไพโรไลซิสร่วมกับรีฟอร์มิงด้วยไอน้ำของพลาสติกและกลีเซอรอล และส่วนสุดท้ายศึกษาผลของการใช้พลาสติกที่แตกต่างกันสามชนิด ได้แก่ พอลิเอทิลีน, พอลิโพรพิลีนและพอลิสไตรีน จากผลการทดลองที่ได้พบว่าการผลิตไฮโดรเจนจากกลีเซอรอลร่วมกับพอลิเอทิลีนและกลีเซอรอลร่วมกับพอลิสไตรีนมีแนวโน้มที่สูงใกล้เคียงกัน


การหาอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดของการรีดคอมพาวนด์หน้ายางและวัลคาไนเซชัน, พรทิพา ประสงค์เงิน Jan 2020

การหาอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดของการรีดคอมพาวนด์หน้ายางและวัลคาไนเซชัน, พรทิพา ประสงค์เงิน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กระบวนการหลักของการผลิตยางหล่อดอกคือกระบวนการคงรูปยาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพ การผลิตยางหล่อดอก งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อหาอุณหภูมิการอัดรีดยางคอมพาวนด์ที่เหมาะสมในการคงรูปยางสำหรับการผลิตในโรงงาน และศึกษาสมบัติของยางที่ผ่านการคงรูปที่อุณหภูมิแตกต่างกันที่ 140 150 และ 160 องศาเซลเซียส โดยให้มีระยะเวลาการเก็บยางคอมพาวนด์ก่อนคงรูปเพื่อจำลองการเก็บรักษากรีนไทร์เป็นเวลา 1 5 และ 10 วัน ก่อนนำไปเข้าสู่กระบวนการคงรูปยางเพื่อให้ได้ระยะเวลาที่เหมาะสมในการจัดเก็บ ทดสอบหาค่าความหนืด หาปริมาณการเกิดเจลในยาง พฤติกรรมการคงรูปชองยาง และ ค่าความหนาแน่นการเชื่อมขวางของยาง รวมไปถึงสมบัติทางกลโดยการหาค่าการต้านทานแรงดึง ค่าการยืดตัว ณ จุดขาด และค่ามอดุลัส จากผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าระยะเวลาสกอร์ช และระยะเวลาการคงรูปยางลดลงเมื่อเพิ่มอุณหภูมิการคงรูปและระยะเวลาในการเก็บยางคอมพาวนด์ก่อนการคงรูป ค่าการต้านทานแรงดึงแปรผันตามอุณหภูมิการคงรูป ค่าความหนาแน่นการเชื่อมขวางลดลงเมื่ออุณหภูมิการอัดรีดและอุณหภูมิการคงรูปยางคอมพาวนด์เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับค่าความต้านทางแรงดึงและค่ามอดุลัสที่ 300 % อย่างไรก็ตามการใช้อุณหภูมิที่สูงมากในการคงรูปยางส่งผลทำให้ยางสมบัติทางกลที่ต่ำ ได้ผลผลิตยางที่มีความแข็งแรงทนทานต่ำ ต้องใช้พลังงานไอน้ำในการให้ความร้อนสูง และสิ้นเปลืองเบลดเดอร์ ดังนั้นอุณหภูมิการอัดรีดยางคอมพาวนด์ที่ 50 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิการคงรูปยางที่ 150 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดที่จะให้ระยะเวลาการคงรูปที่สั้นและยังคงคุณสมบัติทางกลของยางคอมพาวนด์ที่ดีซึ่งจำเป็นต่อการปรับปรุงกระบวนการผลิตในโรงงานผลิตยางหล่อดอกเพื่อที่จะบรรลุความต้องการของลูกค้าในอนาคต


วงจรควอนตัมสำหรับขั้นตอนวิธีการของชอร์, วิภู เมธาชวลิต Jan 2020

วงจรควอนตัมสำหรับขั้นตอนวิธีการของชอร์, วิภู เมธาชวลิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิธีขั้นตอนการหาตัวประกอบจำนวนเฉพาะของชอร์เป็นหนึ่งในปัญหาที่น่าสนใจสำหรับคอมพิวเตอร์ควอนตัม โดยงานวิจัยนี้ต้องศึกษาถึงพฤติกรรมของวงจรขั้นตอนวิธีการของชอร์เมื่อนำมาใช้กับคอมพิวเตอร์ควอนตัมในปัจจุบัน โดยเลือกนำการออกแบบวงจรที่นำเสนอไว้โดย สตีเฟ่น เบอรีการ์ด มาทำการทดลองบนคอมพิวเตอร์ควอนตัมของทางบริษัทไอบีเอ็มขนาด 15 คิวบิต


การวิเคราะห์ข้อความภาษาธรรมชาติตามประมวลกฎหมายอาญา, วีรยุทธ ครั่งกลาง Jan 2020

การวิเคราะห์ข้อความภาษาธรรมชาติตามประมวลกฎหมายอาญา, วีรยุทธ ครั่งกลาง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้วิเคราะห์การบังคับใช้กฎหมายอาญาของประเทศไทย ในภาค1 บทบัญญัติทั่วไป และภาค2 เฉพาะความผิดเกี่ยวกับชีวิต มาตรา 288 และมาตรา 289 ในลักษณะ10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย ส่วนแรกของวิทยานิพนธ์นี้ใช้ความรู้ด้านกฎหมายอาญาและคำพิพากษาของศาลฎีกาในการสร้างกฎในการพิจารณาที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้ และส่วนที่สองคือการฝึกฝนแบบจำลองด้วยชุดข้อมูลจากคำพิพากษาด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก โดยแก้ปัญหาความไม่สมดุลของกลุ่มข้อมูลฝึกสอนด้วยการสังเคราะห์ตัวอย่างข้อมูลในกลุ่มอื่น ๆ ให้มีจำนวนเท่ากับกลุ่มที่มากที่สุด และฝึกสอนด้วยโครงข่ายหน่วยความจำระยะสั้นแบบยาวทิศทางเดียวและสองทิศทาง ซึ่งเป็นโครงข่ายประสาทเทียมแบบวกกลับประเภทหนึ่ง และเมื่อวัดประสิทธิภาพแบบจำลองด้วยค่าเฉลี่ยมหภาคเอฟวัน พบว่าแบบจำลองของหน่วยความจำระยะสั้นแบบยาวสองทิศทางให้ประสิทธิภาพสูงกว่าแบบทิศทางเดียว และการใช้ค่าถ่วงน้ำหนักเริ่มต้นจากเรียนรู้ด้วยคลังข้อมูลขนาดใหญ่อื่น ให้ประสิทธิภาพที่สูงกว่าการใช้เฉพาะข้อมูลฝึกสอน และท้ายสุดทำการทดสอบความแม่นยำของแบบจำลองจากข่าวอาชญากรรมด้วยเทคนิคการหาค่าเฉลี่ยความน่าจะเป็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลขาเข้าของกฎการพิจารณา พบว่าสอดคล้องกับความเห็นของนักกฎหมาย 59 %


ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารสำหรับสมาร์ตโฟนด้วยการใช้เทคนิคลายนิ้วมือของสัญญาณวายฟายเชิงกำหนด, ธีรภัทร์ วงศ์สุธีรา Jan 2020

ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารสำหรับสมาร์ตโฟนด้วยการใช้เทคนิคลายนิ้วมือของสัญญาณวายฟายเชิงกำหนด, ธีรภัทร์ วงศ์สุธีรา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การระบุตำแหน่งภายในอาคารด้วยการใช้เทคนิคลายนิ้วมือของสัญญาณวายฟายมักจะทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพเมื่อนำไปใช้งานในพื้นที่ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ การระบุตำแหน่งดังกล่าวมักพบกับปัญหาตำแหน่งที่ไม่ตรงกัน ซึ่งทำให้เกิดความไม่แม่นยำในการระบุตำแหน่ง ยิ่งกว่านั้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมก็สามารถลดประสิทธิภาพโดยรวมของระบบได้เช่นกัน เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ งานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเสนอ ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารสำหรับสมาร์ตโฟนด้วยการใช้เทคนิคลายนิ้วมือของสัญญาณวายฟายเชิงกำหนด ระบบนี้ประกอบด้วยกันทั้งหมด 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคืออัลกอริทึมสำหรับจัดหมวดหมู่พื้นที่ โดยส่วนนี้จะจำแนกคำร้องขอจากผู้ใช้งาน ว่าถูกส่งมาจากภายนอกอาคารหรือภายในอาคารใด เพื่อกรองคำร้องขอที่ถูกส่งมาจากพื้นที่ภายนอกอาคารหรือพื้นที่ที่ระบบไม่ได้ครอบคลุมออกไป ส่วนที่สองคืออัลกอริทึมระบุตำแหน่งภายในอาคาร ส่วนนี้จะใช้ข้อมูลจากส่วนแรก ในการลดขอบเขตการค้นหาลายนิ้วมือของสัญญาณลง ทำให้สามารถลดระยะเวลาในการประมวลผลเพื่อหาตำแหน่งที่แน่นอนได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้อัลกอริทึมในส่วนนี้จะคำนึงถึงปัญหาตำแหน่งที่ไม่ตรงกัน เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ส่วนที่สามคืออัลกอริทึมตรวจจับบีเอสเอสไอดีที่หายไปจากคำร้องขอจากผู้ใช้งานและปรับปรุงฐานข้อมูล เพื่อให้ระบบสามารถปรับตัวกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ จากผลการทดลอง ระบบที่นำเสนอสามารถจัดหมวดหมู่พื้นที่ ระบุตำแหน่งภายในอาคารและตรวจจับบีเอสเอสไอดีที่หายไปได้อย่างแม่นยำ โดยอัลกอริทึมสำหรับจัดหมวดหมู่พื้นที่สามารถลดระยะเวลาในการประมวลผลอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยที่ผ่านมา นอกจากนี้อัลกอริทึมตรวจจับบีเอสเอสไอดีที่หายไปสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทั้งระบบที่นำเสนอและงานวิจัยที่ผ่านมาได้อย่างมาก


การสรุปใจความสำคัญของข้อความแบบสกัดสำหรับข่าวท่องเที่ยวภาษาไทย, ศรัญญา นาทองห่อ Jan 2020

การสรุปใจความสำคัญของข้อความแบบสกัดสำหรับข่าวท่องเที่ยวภาษาไทย, ศรัญญา นาทองห่อ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นอย่างมากและยังถือว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์มากมายโดยเฉพาะทางด้านการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ เพื่อลดเวลาในการอ่านข่าวหรืออ่านบทความและข่าวออนไลน์ต่างๆ จากการวิจัยที่ผ่านมามีการศึกษาและพัฒนาการสรุปใจความสำคัญของภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ในงานวิจัยนี้ได้นำเสนอวิธีการสรุปใจความสำคัญจากข่าวการท่องเที่ยวภาษาไทย 2 วิธีคือการเลือกประโยคจากการจัดกลุ่มประโยคด้วยเคมีนและการเลือกประโยคด้วยวิธีหาคำสำคัญประโยคจากหัวข้อข่าว โดยมีการพัฒนาและสร้างคลังข้อมูลรายการคำประสมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดคำ โดยการทดลองนี้ใช้ข้อมูลข่าวการท่องเที่ยวไทย ทั้งหมด 400 ข่าวสำหรับใช้ทดลองในการสรุปใจความสำคัญ และ 5,000 ข่าวสำหรับการสร้างคลังข้อมูลรายการคำประสม การวัดประสิทธิภาพของวิธีการที่นำเสนอ มีการวัดประสิทธิภาพการสรุปใจความสำคัญโดยการเปรียบเทียบผลจากการสรุปที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยเทียบกับผลสรุปที่ได้จากวิธีการที่นำเสนอ จากงานวิจัยนี้ในขั้นตอนการสร้างคำประสมได้คำประสมทั้งหมด จำนวน 2,340 คำ ผลการทดลองพบว่าวิธีตัดคำด้วยคัตคำร่วมกับตัดคำประสมได้ผลดีกว่าการตัดคำจากคัตคำเพียงอย่างเดียว และการสรุปใจความสำคัญโดยใช้การคำนวณค่าน้ำหนักของคำสำคัญโดยหาค่าความถี่ของคำจากหัวข้อข่าวเพียงอย่างเดียวและเลือกประโยคเรียงลำดับจากผลรวมความถี่ของคำสำคัญจากหัวข้อข่าวมีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสุดโดยมีค่าความแม่นยำ ค่าความระลึกและค่าวัดประสิทธิภาพอยู่ที่ 0.8097 0.8367 และ 0.8216 ตามลำดับและเมื่อใช้คัตคำร่วมกับการตัดคำแบบเอ็นแกรมโดยวิธีการสรุปใจความสำคัญแบบเดียวกันได้ค่าความแม่นยำ ค่าความระลึกและค่าวัดประสิทธิภาพอยู่ที่ 0.8119 0.8398 และ 0.8242 ตามลำดับที่อัตราการบีบอัดร้อยละ 20


สมรรถนะการถ่ายโอนมวลของการดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์ในเอมีนผสมสามชนิด Amp-Pz-Mea, สุกัญญา นาครักษ์ Jan 2020

สมรรถนะการถ่ายโอนมวลของการดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์ในเอมีนผสมสามชนิด Amp-Pz-Mea, สุกัญญา นาครักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาสมรรถนะการดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเอมีนผสมสามชนิด AMP- PZ-MEA ในหอดูดซึมบรรจุวัสดุแบบจัดเรียงตัวเป็นระเบียบชนิด Sulzer DX ในเชิงสัมประสิทธิ์ การถ่ายโอนมวลรวม (KGav) และประสิทธิภาพการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีพารามิเตอร์ ที่ศึกษา ได้แก่ ฟลักซ์สารละลายขาเข้า (A) ฟลักซ์แก๊สขาเข้า (B) CO2 loading ในสารละลาย ขาเข้า (C) และ h/h0 (D) โดยใช้การออกแบบการทดลองเชิงแฟคทอเรียลแบบสามระดับ เพื่อศึกษาอิทธิพลของพารามิเตอร์และอันตรกิริยาระหว่างพารามิเตอร์ รวมถึงหาภาวะที่เหมาะสม ในการดำเนินการ ผลการศึกษา พบว่า KGav และประสิทธิภาพการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้นเมื่อฟลักซ์สารละลายขาเข้าและ h/h0 เพิ่มขึ้น แต่ลดลงเมื่อ CO2 loading ในสารละลาย ขาเข้าเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มฟลักซ์แก๊สขาเข้าไม่ส่งผลต่อ KGav แต่ทำให้ประสิทธิภาพของการกำจัด คาร์บอนไดออกไซด์ลดลง เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) พบว่า พารามิเตอร์และอันตรกิริยาระหว่างพารามิเตอร์ที่ส่งผลต่อ KGav ได้แก่ A C D AC CD C2 และ D2 ส่วนพารามิเตอร์และอันตรกิริยาระหว่างพารามิเตอร์ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการกำจัด คาร์บอนไดออกไซด์ คือ A B C D AC และ CD ทั้งนี้ ภาวะที่เหมาะสำหรับการดูดซึม คาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเอมีนผสมสามชนิด AMP-PZ-MEA คือ ฟลักซ์สารละลาย 3.67 ลูกบาศก์ เมตรต่อตารางเมตร·ชั่วโมง-1 CO2 loading ในสารละลายขาเข้า 0.25 โมลคาร์บอนไดออกไซด์ต่อ โมลเอมีน และ h/h0 เท่ากับ 0.32 นอกจากนี้ KGav และ ประสิทธิภาพการกำจัด คาร์บอนไดออกไซด์ของการถ่ายโอนมวลด้วยเอมีนผสมสามชนิด AMP-PZ-MEA สูงกว่าเอมีน เกณฑ์เปรียบเทียบ 5 โมลาร์ MEA กว่า …


การผลิตไฮโดรเจนพร้อมกับการสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียจากการผลิตไบโอดีเซลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงไทเทเนียมไดออกไซด์เจืออโลหะ, นัจกร จันทร์ดำ Jan 2020

การผลิตไฮโดรเจนพร้อมกับการสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียจากการผลิตไบโอดีเซลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงไทเทเนียมไดออกไซด์เจืออโลหะ, นัจกร จันทร์ดำ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษากัมมันตภาพในการผลิตไฮโดรเจนพร้อมกับการสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียจากการผลิตไบโอดีเซลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงไทเทเนียมไดออกไซด์เจืออโลหะ ตัวแปรที่ศึกษา คือ ความเข้มข้นเริ่มต้นของน้ำเสีย ชนิดอโลหะ ได้แก่ คาร์บอน (C) ซิลิคอน (Si) และฟอสฟอรัส (P) ที่เจือลงบนตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงไทเทเนียมไดออกไซด์ ปริมาณฟอสฟอรัสร้อยละ 1 3 5 7 และ 9 โดยน้ำหนัก และความสามารถในการนำตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงกลับมาใช้ซ้ำ พบว่าตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง P1/T400ให้กัมมันตภาพในการผลิตไฮโดรเจนและลดค่าซีโอดีสูงกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง C1/T400 และ Si1/T400 เท่ากับ 6.43 มิลลิโมลต่อกรัมตัวเร่งปฏิกิริยา และร้อยละ 26.0 ตามลำดับ ภายใต้ภาวะความเข้มข้นเริ่มต้นของน้ำเสียที่ไม่ผ่านการเจือจาง ปริมาณตัวเร่งปฏิกิริยา 4 กรัมต่อลิตร ความเข้มแสง 5.93 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 4 ชั่วโมง เนื่องจากตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง P1/T400 มีแถบช่องว่างพลังงานที่แคบและมีตำแหน่งแถบเวเลนซ์และแถบนำในโครงสร้างที่เหมาะสมต่อการผลิตโปรตอน (H+) และตัวออกซิไดซ์ (HO• และ O2•-) ซึ่งส่งผลต่อการผลิตไฮโดรเจนและการลดค่าซีโอดี ปริมาณฟอสฟอรัสที่เจือลงบนตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง T400 ที่ให้กัมมันตภาพในการผลิตไฮโดรเจนและลดค่าซีโอดีสูงที่สุด ได้แก่ P7/T400 โดยสามารถผลิตไฮโดรเจนได้สูงถึง 8.34 มิลลิโมลต่อกรัมตัวเร่งปฏิกิริยา และลดค่าซีโอดีได้เท่ากับร้อยละ 50.6 นอกจากนี้ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง P7/T400 ยังคงให้กัมมันตภาพในการผลิตไฮโดรเจนและลดค่าซีโอดีสูงกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง T400 แม้ผ่านการนำกลับมาใช้ซ้ำ 4 ครั้ง


การจำลองพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณของการคายซับคาร์บอนไดออกไซด์จากโพแทสเซียมคาร์บอเนต/แกมมา-อะลูมินาในฟลูอิไดซ์เบดดาวเนอร์โดยผลร่วมความดันและอุณหภูมิ, ศศิธร อังคณาวิศัลย์ Jan 2020

การจำลองพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณของการคายซับคาร์บอนไดออกไซด์จากโพแทสเซียมคาร์บอเนต/แกมมา-อะลูมินาในฟลูอิไดซ์เบดดาวเนอร์โดยผลร่วมความดันและอุณหภูมิ, ศศิธร อังคณาวิศัลย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันปัญหาภาวะโลกร้อนรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่บรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของแก๊สเรือนกระจกจะถูกปลดปล่อยออกมาจาก 3 แหล่งหลัก ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การผลิตไฟฟ้า และเนื่องจากความต้องการในการใช้พลังงานยังเพิ่มสูงขึ้นทำให้แนวโน้มในการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเพิ่มมากขึ้น นำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในการ ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์โดยใช้ตัวดูดซับของแข็งเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับความสนใจ ในงานวิจัยนี้จะศึกษาผลของอุณหภูมิและความดันต่อกระบวนการคายซับคาร์บอนไดออกไซด์ของตัวดูดซับของแข็งโพแทสเซียมคาร์บอเนต/แกมมา-อะลูมินาที่ผ่านการอิมเพรกเนชันด้วยตัวทำละลายมอนอเอทาโนลามีน สร้างแบบจำลองจลนพลศาสตร์และประเมินพลังงานที่ใช้ในกระบวนการคายซับ นอกจากนี้ จะศึกษากระบวนการคายซับด้วยแบบจำลองพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณร่วมกับแบบจำลองสัมประสิทธิ์การชน แบบพลวัติโดยใช้ผลร่วมของความดันและอุณหภูมิ ผลที่ได้ พบว่า อุณหภูมิที่ใช้ในการคายซับมีผลเชิงบวกต่ออัตราการคายซับของตัวดูดซับที่ผ่านและไม่ผ่านกระบวนการปรับปรุง เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น อัตราการคายซับเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความดันที่ใช้ในการคายซับมีผลเชิงลบต่ออัตราการคายซับ โดยเมื่อลดความดันที่ใช้ในการคายซับ อัตราการคายซับจะเพิ่มขึ้น ซึ่งตัวดูดซับของแข็งที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงในภาวะการคายซับที่ 200 oC ความดัน 1 บาร์ จะให้ค่าอัตราการคายซับสูงที่สุดรวมถึงใช้พลังงานในการคายซับสูงที่สุด และแบบจำลอง อาฟรามีสามารถใช้อธิบายอัตราการเกิดปฏิกิริยาการคายซับได้ นอกจากนี้ ในการจำลองกระบวนการคายซับคาร์บอนไดออกไซด์โดยใช้ผลร่วมของความดันและอุณหภูมิ พบว่า กรณีที่พิจารณาสัมประสิทธิ์การชนแบบพลวัติให้อัตราการคายซับต่ำกว่ากรณีที่ไม่พิจารณาสัมประสิทธิ์การชนแบบพลวัติ และเมื่อพิจารณาผลของอุณหภูมิต่ออัตราการคายซับที่ภาวะความดันต่ำของตัวดูดซับของแข็งที่ผ่านกระบวนการปรับปรุง พบว่า อัตราการคายซับมีปริมาณใกล้เคียงกัน


การพัฒนาตัวแบบรู้จำบุคลิกภาพจากเสียงสนทนาในบริบทของศูนย์ให้บริการข้อมูลลูกค้า, นคร ศรีณรงค์ Jan 2020

การพัฒนาตัวแบบรู้จำบุคลิกภาพจากเสียงสนทนาในบริบทของศูนย์ให้บริการข้อมูลลูกค้า, นคร ศรีณรงค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าเป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อระหว่างภาคธุรกิจและลูกค้า ตัวชี้วัดที่สำคัญของการทำงานของศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าคือความพึงพอใจของลูกค้า ข้อมูลหลักที่ได้จากศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าคือเสียงสนทนา ทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาแนวทางในการสร้างตัวแบบรู้จำบุคลิกภาพจากเสียง ข้อมูลเสียงและเพศถูกเก็บจากหน่วยตัวอย่าง 92 คน พร้อมกับข้อมูลบุคลิกภาพโดยใช้แบบวัด MPI (Maudsley Personality Inventory) แบบวัดดังกล่าวแบ่งบุคลิกภาพออกเป็น 2 ด้าน คือด้าน E-scale (Extraversion และ Introversion) และ N-scale (Neuroticism และ Stability) ซึ่งนำมาใช้ในการพัฒนาตัวแบบจำแนกบุคลิกภาพทั้งสองด้าน เทคนิคที่ใช้ในการพัฒนาตัวแบบประกอบด้วย Logistic regression, SVM, Random forest และ Artificial neural network โดยพบว่าตัวแบบที่พัฒนาด้วยเทคนิค Artificial neural network มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรู้จำ E-scale โดยมีค่า Positive predictive value (ค่าวัดประสิทธิภาพของ Introversion) เท่ากับ 0.71 และค่า Negative predictive value (ประสิทธิภาพของ Extraversion) เท่ากับ 0.75 ในส่วนของ N-scale ไม่พบตัวแบบที่พัฒนาด้วยเทคนิคใดมีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการศึกษาครั้งนี้พบว่าบุคลิกภาพ Extraversion และ Introversion ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์กับงานภาคธุรกิจ สามารถรู้จำจากเสียงสนทนาในบริบทศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า โดยสามารถนำไปใช้มอบหมายพนักงานที่มีบุคลิกภาพเหมือนกับลูกค้าเพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าในการติดต่อสื่อสาร ภาคธุรกิจยังสามารถนำข้อมูลบุคลิกภาพเหล่านี้ไปใช้ต่อยอดในการแนะนำผลิตภัณฑ์ หรือโฆษณา ให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน


การเตรียมถ่านกัมมันต์จากขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตที่ใช้แล้ว, ซุ ฮุ่ย คอ Jan 2020

การเตรียมถ่านกัมมันต์จากขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตที่ใช้แล้ว, ซุ ฮุ่ย คอ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาระดับโลก เทคโนโลยีในการรีไซเคิลและปรับคุณภาพขยะพลาสติกมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาการเตรียมถ่านกัมมันต์จากขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตแบบใสและแบบมีสีที่ใช้แล้วด้วยวิธีการกระตุ้นทางเคมีและทางกายภาพ ซึ่งสารเคมีที่ใช้ในการกระตุ้นทางเคมี คือ โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) ด้วยวิธีการทำให้อิ่มตัวด้วยอัตราส่วนโดยมวลระหว่างโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อคาร์บอน 2 ถึง 4 อุณหภูมิกระตุ้น 700 ถึง 900 องศาเซลเซียส และเวลากระตุ้น 1 ถึง 2.5 ชั่วโมง และใช้ไอน้ำเป็นสารกระตุ้นในการกระตุ้นทางกายภาพ อุณหภูมิกระตุ้น 800 ถึง 1,000 องศาเซลเซียส และเวลากระตุ้น 1 ถึง 4 ชั่วโมง พบว่าภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตถ่านกัมมันต์จากจากขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตแบบใสคือ กระตุ้นด้วยวิธีกระตุ้นทางกายภาพโดยใช้ไอน้ำที่อุณหภูมิ 900 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ได้พื้นที่ผิว BET สูงสุด 1634.59 ตร.ม./กรัม และปริมาตรรูพรุนรวม 1.0434 ลบ.ซม./กรัม และภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตถ่านกัมมันต์จากจากขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตแบบมีสีคือ กระตุ้นด้วยวิธีกระตุ้นทางกายภาพโดยใช้ไอน้ำเช่นกัน ที่อุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ได้พื้นที่ผิว BET สูงสุด 576.42 ตร.ม./กรัม และปริมาตรรูพรุนรวม 0.3093 ลบ.ซม./กรัม พบว่าอัตราส่วนโดยมวลของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อถ่าน อุณหภูมิและเวลาที่ใช้ในการกระตุ้น ส่งผลต่อร้อยละผลได้ของผลิตภัณฑ์และการพัฒนารูพรุนของถ่านกัมมันต์


แพลเลเดียมรองรับด้วยวัสดุไฮบริด Wo3/C สำหรับเอทานอลอิเล็กโทรออกซิเดชัน, อติรัตน์ ศรีเพชรภูมิ Jan 2020

แพลเลเดียมรองรับด้วยวัสดุไฮบริด Wo3/C สำหรับเอทานอลอิเล็กโทรออกซิเดชัน, อติรัตน์ ศรีเพชรภูมิ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของเอทานอลในเซลล์เชื้อเพลิงเอทานอลโดยตรงถือเป็นปัญหาสำคัญในเซลล์เชื้อเพลิงชนิดนี้เนื่องจากการแตกพันธะระหว่างคาร์บอนกับคาร์บอนนั้นทำได้ยากทำให้ปฏิกิริยาออกซิเดชันเกิดแบบไม่สมบูรณ์ ตัวเร่งปฏิกิริยาจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของเอทานอลในงานวิจัยนี้ได้นำทังสเตนออกไซด์คาร์บอนไฮบริดมาใช้เป็นตัวรองรับสำหรับตัวเร่งปฏิกิริยาแพลเลเดียมซึ่งทังสเตนออกไซด์สามารถทำหน้าที่ได้ทั้งเป็นตัวรองรับและทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาร่วมให้กับตัวเร่งปฏิกิริยาแพลเลเดียม ปริมาณทังสเตนออกไซด์ที่ใช้ศึกษาคือร้อยละ 10 ถึง 50 โดยน้ำหนัก โดยเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาแพลเลเดียม (Pd) ร้อยละ 20 โดยน้ำหนักบนตัวรองรับคาร์บอน (C) และทังสเตนออกไซด์คาร์บอนไฮบริด (WO3/C) จากผลการทดลองพบว่าตัวเร่งปฏิกิริยา Pd-WO3/C (ปริมาณทังสเตนออกไซด์ร้อยละ 10 ถึง 50 โดยน้ำหนัก) มีพื้นที่ผิวในการเกิดปฏิกิริยาได้มากกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา Pd/C เนื่องจากขนาดอนุภาคของแพลเลเดียมที่เล็กและมีการกระจายตัวดีเมื่ออยู่บนตัวรองรับทังสเตนออกไซด์คาร์บอนไฮบริด เมื่อทดสอบกัมมันตภาพของตัวเร่งปฏิกิริยา Pd/C และ Pd-WO3/C สำหรับปฏิกิริยาออกซิเดชันของเอทานอลด้วยเทคนิคไซคลิกโวลแทมเมทรี (Cyclic Voltammetry, CV) พบว่าตัวเร่งปฏิกิริยา Pd-40%WO3/C ให้กัมมันตภาพในการเร่งปฏิกิริยาสูงสุด ให้ค่าความหนาแน่นของกระแสไฟฟ้าเท่ากับ 118.12 มิลลิแอมป์ต่อตารางเซนติเมตร เมื่อทดสอบเสถียรภาพสำหรับปฏิกิริยาออกซิเดชันของเอทานอล พบว่าตัวเร่งปฏิกิริยา Pd-40%WO3/C มีเสถียรภาพมากกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา Pd/C ซึ่งแสดงถึงการทนต่อความเป็นพิษของสารตัวกลางที่อยู่บนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาโดยผลิตภัณฑ์หลักที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของเอทานอล คืออะซีเตต (CH3COO-)


ความจุการดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์และภาระทางความร้อนในการฟื้นฟูของตัวทำละลายชนิดใหม่ Amp–Mpdl, รัตนาภรณ์ อภัยยะกุล Jan 2020

ความจุการดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์และภาระทางความร้อนในการฟื้นฟูของตัวทำละลายชนิดใหม่ Amp–Mpdl, รัตนาภรณ์ อภัยยะกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากถูกปล่อยสู่บรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนิยมใช้วิธีการดูดซึม ด้วยตัวทำละลายเอมีน เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์สูง งานวิจัยนี้ จึงศึกษาตัวทำละลายชนิดใหม่ AMP–MPDL ความเข้มข้นรวม 30%wt. (5/25 10/20 และ 15/15 %wt. AMP/MPDL) และ 40%wt. (10/30 15/25 และ 20/20 %wt. AMP/MPDL) เปรียบเทียบกับตัวทำละลายดั้งเดิม MEA ทั้งนี้ ความจุการดูดซึมและความจุวนกลับของตัวทำละลาย AMP–MPDL ดำเนินการที่อุณหภูมิ 313 และ 363 K และความดันย่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 10.1–101.3 kPa ในส่วนของภาระทางความร้อนในการฟื้นฟูตัวทำละลาย ดำเนินการที่อุณหภูมิ 363 K เพื่อประเมินศักยภาพของตัวทำละลาย AMP–MPDL สำหรับใช้ทดแทนตัวทำละลายดั้งเดิม MEA โดยความจุการดูดซึมแสดงในหน่วย mol CO2/mol amine ส่วนความจุวนกลับแสดงในหน่วย mol CO2/L–amine solvent และ ภาระทางความร้อนในการฟื้นฟูตัวทำละลายแสดงในหน่วย kJ/mol CO2 ผลการศึกษา พบว่า ความจุการดูดซึมเพิ่มขึ้น เมื่ออัตราส่วนความเข้มข้นของ AMP เพิ่มขึ้น และ ความดันย่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น แต่ความจุการดูดซึมลดลง เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่ความเข้มข้นรวม 30%wt. และ 40%wt. ส่วนความจุวนกลับเพิ่มขึ้น เมื่ออัตราส่วนความเข้มข้นของ AMP เพิ่มขึ้นตลอดช่วงความดันย่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งที่ ความเข้มข้นรวม 30%wt. และ 40%wt. นอกจากนี้ ภาระทางความร้อนในการฟื้นฟูตัวทำละลายลดลงเมื่ออัตราส่วนความเข้มข้นของ AMP เพิ่มขึ้น ทั้งที่ความเข้มข้นรวม 30%wt. และ 40%wt. โดยสรุป อัตราส่วนความเข้มข้นที่มีศักยภาพสูงสุด คือ 20/20 %wt. AMP/MPDL มีความจุ การดูดซึมและความจุวนกลับสูงกว่าตัวทำละลายดั้งเดิม MEA กว่า 30% …


การเปรียบเทียบวิธีบูตสแตรปในการประมาณช่วงความเชื่อมั่นของค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยเชิงเส้นที่มีมิติสูง, ภูวกร นิธิศนทีกุล Jan 2020

การเปรียบเทียบวิธีบูตสแตรปในการประมาณช่วงความเชื่อมั่นของค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยเชิงเส้นที่มีมิติสูง, ภูวกร นิธิศนทีกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบช่วงความเชื่อมั่นสำหรับค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยโดยแนวทางบูตสแตรปที่แตกต่างกัน (1) วิธีสุ่มตัวแปรตามและตัวแปรอิสระ (2) วิธีสุ่มส่วนเหลือ และ (3) วิธีสุ่มค่าถ่วงน้ำหนัก ผู้วิจัยได้จำลองชุดข้อมูลขนาดมิติต่ำและมิติสูงขึ้น และ นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบด้วยวิธีบูตสแตปที่แตกต่างกัน 3 วิธี โดยการวัดค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์ช่วงความเชื่อมั่นที่ครอบคลุมค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยค่าจริง ค่าเฉลี่ยความกว้าง ค่าเฉลี่ยอัตราผลบวกเทียม และค่าเฉลี่ยอัตราผลลบเทียม ระหว่าง 1,000 ข้อมูล การวิเคราะห์ของเราพบว่าบูตสแตรปที่ใช้สุ่มตัวแปรตามและตัวแปรอิสระดีที่สุดในแง่ของทั้งค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์ช่วงความเชื่อมั่นที่ครอบคลุมค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยค่าจริงและค่าเฉลี่ยอัตราผลบวกเทียม บูตสแตรปที่ใช้สุ่มส่วนเหลือดีที่สุดในแง่ของค่าเฉลี่ยความกว้าง และบูตสแตรปที่ใช้สุ่มค่าถ่วงน้ำหนักดีที่สุดในแง่ของค่าเฉลี่ยอัตราผลลบเทียม


Catalytic Cracking Of Fusel Oil To Light Olefins Over Zeolite Catalysts, Rachatawan Yaisamlee Jan 2020

Catalytic Cracking Of Fusel Oil To Light Olefins Over Zeolite Catalysts, Rachatawan Yaisamlee

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Fusel oil is a by-product of bioethanol production. It is considered a renewable feedstock as well as an environmentally friendly material. However, due to the limitation of its application, the market is not able to absorb the demand for fuel oil, which results in a relatively low price. As a consequence, fusel oil is an interesting new renewable source to convert into value-added products via a high-efficiency bioenergy conversion process. In the present work, the catalytic cracking of fusel oil to light olefins (ethylene, propylene, and butylene) was investigated in a fixed bed reactor using zeolites as catalysts. The physicochemical …


Structure And Morphology Of Magnesium Channel By Coarse-Grained Monte Carlo And Molecular Dynamics Simulations, Warin Rangubpit Jan 2020

Structure And Morphology Of Magnesium Channel By Coarse-Grained Monte Carlo And Molecular Dynamics Simulations, Warin Rangubpit

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Coarse-grained (CG) models have become a powerful tool for studying biomolecular complex systems with a wide range of potential applications such as large-scale protein motions, protein folding, self-assembly etc. Simulating such behaviors requires time scales which are not practically possible in all-atomistic simulations. This study presents a strategy for the application of CG simulations to investigate structural and morphological properties of cobalt-resistant magnesium channel (CorA) from Thermotoga maritima. Magnesium (Mg2+) plays a crucial function in a variety of physiological processes. The deficiency of magnesium can increase the risk of several health problems, for instance, diabetes, cardiovascular disease and osteoporosis. The …


Positive Labeled And Unlabeled Learning Methods Of Meta-Path Based Functional Profiles For Predicting Drug-Disease Associations, Thitipong Kawichai Jan 2020

Positive Labeled And Unlabeled Learning Methods Of Meta-Path Based Functional Profiles For Predicting Drug-Disease Associations, Thitipong Kawichai

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Drug repositioning, discovering new indications for existing drugs, is a competent strategy to reduce time, costs, and risk in drug discovery and development. Many computational methods have been developed to identify new drug-disease associations for further validation and drug development. A recent approach showing superior performance with less required data is a meta-path based approach, which derives network-based information using path patterns from drug to disease nodes. However, existing meta-path based methods discard information of intermediate nodes along paths, which are important indicators for describing relationships between drugs and diseases. With known (positive) and unknown (unlabeled) drug-disease associations, this research …


ตัวเร่งปฏิกิริยา Ni-Mo แบบไม่มีตัวรองรับและมีตัวรองรับสำหรับไฮโดรทรีตติงของน้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ : สมรรถนะและการนำมาใช้ซ้ำ, พจวรรณ เอี่ยมศิริ Jan 2020

ตัวเร่งปฏิกิริยา Ni-Mo แบบไม่มีตัวรองรับและมีตัวรองรับสำหรับไฮโดรทรีตติงของน้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ : สมรรถนะและการนำมาใช้ซ้ำ, พจวรรณ เอี่ยมศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาไฮโดรทรีตติงของน้ำมันปาล์มบนตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิลโมลิบดีนัมแบบไม่มีตัวรองรับและมีตัวรองรับ ตัวแปรที่ศึกษาคือ ชนิดของตัวเร่งปฏิกิริยา ความเข้มข้นของสารตั้งต้น และระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา จากการทดลองพบว่า ผลิตภัณฑ์หลักคือ สารประกอบนอร์มัลแอลเคน n-C14, n-C15, n-C16, n-C17 และ n-C18 การเพิ่มความเข้มข้นของสารตั้งต้นส่งผลให้ปฏิกิริยาไปทางดีคาร์บอกซิเลชันและดีคาร์บอนิลเลชัน การเพิ่มเวลาส่งผลให้ปฏิกิริยาไปทางไฮโดรดีออกซิจิเนชันมากกว่าดีคาร์บอกซิเลชันและดีคาร์บอนิลเลชัน ตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิลโมลิบดีนัมแบบไม่มีตัวรองรับ (0.2-NiMoS2) ซึ่งเตรียมจากการสลายตัวด้วยความร้อนมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม คือ อุณหภูมิ 300 องศาเซลเซียส ความดันไฮโดรเจนเริ่มต้น 40 บาร์ เวลา 3 ชั่วโมง ความเข้มข้นของสารตั้งต้นร้อยละ 10 โดยน้ำหนักของสารละลาย และอัตราส่วนของตัวเร่งปฏิกิริยาต่อสารตั้งต้นที่ 0.1 (w/w) ให้ร้อยละผลได้ของ แอลเคนทั้งหมด (n-C14-C18) สูงสุดที่ 67.0 โดยน้ำหนัก ในส่วนของตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิลโมลิบดีนัมแบบมีตัวรองรับแกมมาอะลูมินา (NiMoS2/Al2O3) ที่เตรียมจากการสลายตัวด้วยความร้อน; (H-NiMoS2/Al2O3) ที่ปริมาณ Al2O3 ร้อยละ 20 มี HDO แอกทีวิตีดี ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม คือ อุณหภูมิ 300 องศาเซลเซียส ความดันไฮโดรเจนเริ่มต้น 50 บาร์ เวลา 3 ชั่วโมง ความเข้มข้นของสารตั้งต้นร้อยละ 5 โดยน้ำหนักของสารละลาย และอัตราส่วนของตัวเร่งปฏิกิริยาต่อสารตั้งต้นที่ 0.15 (w/w) ให้ร้อยละผลได้ของแอลเคน C14-C18 ร้อยละ 55.4 สูงที่สุด นอกจากนี้ตัวเร่งปฏิกิยา 0.2-NiMoS2 และ H-NiMoS2/Al2O3-0.2 สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำในไฮโดรทรีตติงของน้ำมันปาล์มได้อย่างน้อย 3 รอบ แสดงให้เห็นว่าตัวเร่งปฏิกิริยายังมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้นาน


การเพิ่มมูลค่าสีทาผนังอาคารโดยการปรับปรุงสมรรถนะในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์, วรัญญา ขันติอุดม Jan 2020

การเพิ่มมูลค่าสีทาผนังอาคารโดยการปรับปรุงสมรรถนะในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์, วรัญญา ขันติอุดม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันปัญหาภาวะโลกร้อนยังคงเป็นวิกฤตสำคัญสำหรับนานาชาติ เนื่องจากการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจ ขนส่ง และอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการสะสมของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับตัวดูดซับของแข็งบางชนิดสามารถทำปฏิกิริยากับคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้ภาวะบรรยากาศ จึงสามารถนำมาประยุกต์กับสีทาผนังรุ่นใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ในงานวิจัยนี้จะทำการศึกษาการเพิ่มมูลค่าสีทาผนังอาคารโดยการปรับปรุงสมรรถะในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะสร้างอุปกรณ์ทดสอบการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ของสี และศึกษาความสามารถในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ของสีเมื่อสัดส่วนตัวดูดซับ อัตราการไหลของแก๊ส ความชื้น และอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง จากผลการทดลองพบว่า เมื่อเพิ่มปริมาณสารดูดซับ ส่งผลให้ค่าความสามารถในการดูดซับของสีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีปริมาณสารตั้งต้นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามค่าความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในสีจะถูกจำกัดด้วยสมบัติบางประการของสี เช่น ความเงา เป็นต้น ในการทดสอบที่ภาวะต่าง ๆ พบว่า ความสามารถในการดูดซับจะแปรผันตรงกับอัตราการไหลของแก๊สและความชื้น แต่จะแปรผกผันกับอุณหภูมิ นอกจากนี้ ในการจำลองกระบวนการเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เกิดขึ้นบนผนังที่มีการเคลือบด้วยสี โดยปรับให้แบบจำลองให้ค่าความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ใกล้เคียงกับค่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากห้องปฏิบัติการในช่วงเวลา 0 - 21 วินาที เนื่องจากปฏิกิริยาเคมีเป็นแบบคายความร้อน แบบจำลองแสดงให้เห็นถึงอุณหภูมิและการกระจายความร้อนที่เกิดขึ้นบนกระดาษจำลองและผลกระทบต่ออุณหภูมิเนื่องจากพฤติกรรมการไหลของแก๊ส