Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Medicine and Health Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2020

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Other Mental and Social Health

Articles 1 - 10 of 10

Full-Text Articles in Medicine and Health Sciences

หน้าที่ทางสังคมและทักษะทางสังคมที่เกี่ยวข้องในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับการรักษาแผนกผู้ป่วยนอก จิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ณัฐอานนท์ ช่อคง Jan 2020

หน้าที่ทางสังคมและทักษะทางสังคมที่เกี่ยวข้องในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับการรักษาแผนกผู้ป่วยนอก จิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ณัฐอานนท์ ช่อคง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาหน้าที่ทางสังคม ทักษะทางสังคมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับการรักษา แผนกผู้ป่วยนอก จิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิธีการศึกษา : การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา โดยดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับการรักษา แผนกผู้ป่วยนอก จิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 150 ราย ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัย DSM-5 ของโรคซึมเศร้าหลัก หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือโรคซึมเศร้าสองชนิดทับซ้อนกัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง ธันวาคม 2563 โดยให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถาม 5 ฉบับ ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินอาการซึมเศร้าฉบับภาษาไทย 3) แบบวัดทักษะทางสังคม 4) มาตรวัดการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น และ 5) แบบประเมินหน้าที่ทางสังคมฉบับภาษาไทย และผู้วิจัยกรอกแบบกรอกข้อมูลทางการแพทย์ ทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ทางสังคมและทักษะทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ และทำการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติกเพื่อหาปัจจัยทำนายความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคม โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษา : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65.3) มีความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคม โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยของหน้าที่ทางสังคมเท่ากับ 11.37±4.14 ส่วนใหญ่มีทักษะทางสังคมอยู่ในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคม ได้แก่ การมีระดับทักษะทางสังคมต่ำมาก ถึง ต่ำ (p < 0.01) การมีโรคประจำตัวทางกาย (p < 0.05) การใช้สารเสพติด (p < 0.05) และความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในระดับรุนแรง (p < 0.01) ปัจจัยทำนายความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับการรักษา แผนกผู้ป่วยนอก จิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ได้แก่ การมีโรคประจำตัวทางกาย (p < 0.01) ความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในระดับรุนแรง (p < 0.01) และการมีระดับทักษะทางสังคมต่ำมาก ถึง ต่ำ (p < 0.01) สรุปผลการศึกษา : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65.3) มีความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคม และส่วนใหญ่มีทักษะทางสังคมอยู่ในระดับปานกลาง มีการรับรู้ความรู้สึกผู้อื่นในระดับสูง และพบว่าการมีโรคประจำตัวทางกาย ความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในระดับรุนแรง และการมีระดับทักษะทางสังคมต่ำมาก ถึง ต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า


ความเครียดจากการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของพยาบาลวิชาชีพ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย, อิสราภรณ์ พละศักดิ์ Jan 2020

ความเครียดจากการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของพยาบาลวิชาชีพ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย, อิสราภรณ์ พละศักดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใด เวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเครียดจากการทำงาน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ จำนวน 133 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความเครียดในการทำงาน แบบสอบถามปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเครียดด้านการทำงาน และแบบประเมินการสนับสนุนทางสังคมของพยาบาลวิชาชีพ ผลการศึกษาพบว่า พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 97 อายุเฉลี่ยอยู่ในช่วง 41-50 ปี ร้อยละ 47.4 มีความเครียดจากการทำงานในระดับต่ำ ร้อยละ 60.9 ผู้ที่มีความเพียงพอของรายได้พบความเครียดจากการทำงานต่ำกว่าผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01) ปัจจัยด้านการทำงานมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลางกับความเครียดจากการทำงาน ได้แก่ ปัจจัยด้านบทบาทหน้าที่ในองค์กร (r = 0.489, p < 0.001) ด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (r = 0.468, p < 0.001) ด้านลักษณะองค์กร (r = 0.424, p < 0.001) ด้านลักษณะงานและภาระงาน (r = 0.420, p < 0.001) ด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน (r = 0.409, p < 0.001) ด้านโอกาสความก้าวหน้าและขวัญกำลังใจ (r = 0.401, p < 0.001) ด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการ (r = 0.376, p < 0.001) และปัจจัยระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (r = 0.355, p < 0.001) ปัจจัยการสนับสนุนทางสังคมที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดจากการทำงาน ได้แก่ ปัจจัยการสนับสนุนด้านการช่วยเหลือในการทำกิจกรรมฯ (r = -0.341, p < 0.001) การสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร (r = -0.315, p < 0.001) และการสนับสนุนด้านอารมณ์ (r = -0.287, p < 0.01) ปัจจัยด้านบทบาทหน้าที่ในองค์กร (Beta = 0.43) การสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์ (Beta = -0.19) และความเพียงพอของรายได้ (Beta = -0.17) สามารถร่วมทำนายความเครียดจากการทำงานได้ร้อยละ 30 (R2 = 0.30, p < 0.05) ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลในการป้องกันความเครียดจากการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ จากการมีบทบาทหน้าที่ในองค์กรอย่างเหมาะสม การเพิ่มระดับการสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์ของพยาบาลวิชาชีพ เพื่อลดความเครียดในการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานต่อไป


การระรานทางไซเบอร์และภาวะสุขภาพจิตของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1, ธัญจิรา จำนงค์ฤทธิ์ Jan 2020

การระรานทางไซเบอร์และภาวะสุขภาพจิตของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1, ธัญจิรา จำนงค์ฤทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การระรานทางไซเบอร์ เป็นปัญหาสำคัญในวัยเรียนที่เกิดขึ้นเมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน การเข้าถึงได้โดยไม่ต้องระบุตัวตนในสื่อสังคมออนไลน์ส่งผลให้การกลั่นแกล้งรังแกกันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และสุขภาพจิตของนิสิตได้ การวิจัยครั้งนี้มีรูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อศึกษาความชุกของการระรานทางไซเบอร์ คุณภาพชีวิตด้านจิตสังคม และสุขภาวะทางจิตในนิสิตชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการระรานทางไซเบอร์ คุณภาพชีวิต กับสุขภาพจิตของนิสิตชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเก็บรวมรวมข้อมูลจากนิสิตในปีการศึกษา 2563 จำนวน 1433 คน โดยใช้เครื่องมือ 1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป 2) Cyber-Aggression Perpetration and Victimization Scale ฉบับภาษาไทย 3) แบบวัดคุณภาพชีวิตด้านจิตสังคม (CU student psychological well-being revised 2020) และ 4) แบบวัดสุขภาพจิตในคนไทย ฉบับปรับปรุง โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (The Thai Mental Health Questionnaire : TMHQ : CU-modified short form) สถิติที่ใช้ได้แก่ วิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย มัธยฐาน ค่าสู่งสุด ค่าต่ำสุด ส่วนเบี่ยงเบนมตราฐาน การทดสอบ Chi-Square และ การวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติก (Multiple Logistic Regression Analysis) ผลการศึกษาพบว่า นิสิตส่วนใหญ่เคยถูกระรานทางไซเบอร์ (52.7%) มีคุณภาพชีวิตด้านจิตสังคมในระดับกลาง (46.5%) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35.55 และ S.D. เท่ากับ 6.94 โดยส่วนมากไม่พบปัญหาสุขภาพจิต (55.8%) เมื่อวิเคราะห์การถอดถอยพหุคูณพบว่าปัจจัยทำนายที่สัมพันธ์กับสุขภาพจิตได้แก่ การเคยถูกระรานทางไซเบอร์ (p<0.01) คุณภาพชีวิตด้านจิตสังคมในระดับต่ำ (p<0.01) เพศหญิง (p<0.01) คณะ (p<0.05) ศาสนาอื่น ๆ นอกเหนือจากศาสนาพุทธ (p<0.05) ความไม่เพียงพอของค่าใช้จ่าย (p<0.05) ความชอบในสาขาวิชาน้อย (p<0.05) การเคยพบเพื่อนที่มีปัญหาสุขภาพจิต (p<0.01) จึงสรุปได้ว่า นิสิตที่เคยถูกระรานทางไซเบอร์จะมีโอกาสมีคุณภาพชีวิตด้านจิตสังคมในระดับต่ำ และมีโอกาพบปัญหาสุขภาพจิตได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยถูกระรานทางไซเบอร์


สุขภาพจิต ทักษะทางสังคมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), ธัญรดี กองมณี Jan 2020

สุขภาพจิต ทักษะทางสังคมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), ธัญรดี กองมณี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสุขภาพจิต ทักษะทางสังคม และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วิธีการศึกษา การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 408 ราย ใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบตามเกณฑ์หรือแบบเจาะจง โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบแบบสอบถามทั้งหมดด้วยตนเอง ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลด้านการทำงาน 2) แบบสอบสุขภาพทั่วไป 3) แบบสอบถามทักษะทางสังคม 4) แบบสอบถามความสุขในการทำงาน 5) แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม และ 6) แบบสอบถามเหตุการณ์ความเครียดใน 1 ปีที่ผ่านมา ทำการวิเคราะห์ปัจจัยระหว่างสุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ และอาศัยการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติกเพื่อระบุปัจจัยทำนายสุขภาพจิตปกติของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษา พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินส่วนใหญ่ (ร้อยละ 76.2) มีสุขภาพจิตปกติ โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยของสุขภาพจิตเท่ากับ 2.52±3.43 พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินส่วนใหญ่ (ร้อยละ 46.8) มีทักษะทางสังคมอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยของทักษะทางสังคมเท่ากับ 78.84±27.64 ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตปกติ ได้แก่ อายุที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี ทักษะทางสังคมระดับต่ำมากถึงต่ำ ความสุขในการทำงานระดับปานกลางถึงสูง การสนับสนุนทางสังคมด้านทรัพยากรหรือวัตถุสูง และเหตุการณ์ความเครียดใน 1 ปีที่ผ่านมาในระดับต่ำ (p<0.05) ปัจจัยทำนายสุขภาพจิตปกติของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ได้แก่ อายุที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี และการสนับสนุนทางสังคมด้านทรัพยากรหรือวัตถุสูง (p<0.05) สรุปผลการศึกษา พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่วนใหญ่ มีสุขภาพจิตปกติและมีทักษะทางสังคมอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง อายุที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี และการสนับสนุนทางสังคมด้านทรัพยากรหรือวัตถุสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตปกติชองพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน


Prevalence Of Eating Problems And Related Factors In Professional Female Models Above 18 Years Old In Bangkok, Worada Elstow Jan 2020

Prevalence Of Eating Problems And Related Factors In Professional Female Models Above 18 Years Old In Bangkok, Worada Elstow

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The purpose of this cross-sectional descriptive study was to study the prevalence of eating problems in professional models and to study the related factors that contribute to eating problems in professional models above 18 years old in bangkok. The data was collected in 109 female models in Bangkok. Self-report questionnaires include general background questionnaire created by the researcher to ascertain personal and occupational information along with the use of the Thai Eating Attitude Test 40 (EAT-40), The Thai Body Image Dissatisfaction Scale, and The Thai Hospital Anxiety and Depression Scale (HADS). Statistical analysis of Chi-square and Fisher's Exact tests were …


ความสุขในการทำงานและสุขภาวะทางจิตของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติด, ธนพร สุวรรณวรบุญ Jan 2020

ความสุขในการทำงานและสุขภาวะทางจิตของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติด, ธนพร สุวรรณวรบุญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสุขในการทำงานและสุขภาวะทางจิตของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติด รวมถึงปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความสุขในการทำงานของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติด กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติด ที่ทำงานในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี จำนวน 230 คน โดยส่งแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 230 ฉบับ และได้รับแบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์คืนเป็นจำนวน 193 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 83.91 เก็บข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน พ.ศ. 2563 ด้วยวิธีเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรตัวอย่างที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเข้าทั้งหมด เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความสุขใจในการทำงาน และแบบประเมินสุขภาวะทางจิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากนั้นหาความสัมพันธ์โดยใช้สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square, Logistic Regression และใช้ Pearson's Correlation Coefficient ในการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างค่าระดับความสุขในการทำงาน กับระดับสุขภาวะทางจิต ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับความสุขในการทำงานอยู่ในระดับสูงร้อยละ55.8 ระดับปานกลางร้อยละ42.7 ระดับต่ำร้อยละ1.0 ระดับสูงมากร้อยละ 0.5 ค่าเฉลี่ยระดับความสุขในการทำงานเท่ากับ 3.55 คะแนน ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.45 และพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีระดับสุขภาวะทางจิตอยู่ในระดับสูงร้อยละ52.3 ระดับปานกลางร้อยละ28.5 ระดับต่ำร้อยละ19.2 ค่าเฉลี่ยระดับสุขภาวะทางจิตเท่ากับ 73.31 คะแนน ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 14.23 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับความสุขในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p < 0.05) ได้แก่ ความเพียงพอของรายได้ อายุงานที่น้อยกว่า 15 ปี ประเภทผู้ป่วยสารเสพติดที่มักจะบำบัดรักษา/ติดต่อด้วย อันได้แก่ การไม่ได้ดูแลผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดประเภท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน,กัญชา และ ใบกระท่อมเป็นหลัก รวมถึงระดับสุขภาวะทางจิตที่สูง ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้คำแนะนำ การจัดกิจกรรมส่งเสริมความสุขในการทำงานของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติด หรือหาแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนความสุขของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสารเสพติดอย่างเหมาะสมต่อไป


ทัศนคติต่อการรับบริการทางสุขภาพจิตของนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เหิร ประสานเกลียว Jan 2020

ทัศนคติต่อการรับบริการทางสุขภาพจิตของนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เหิร ประสานเกลียว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

นิสิตแพทย์เป็นกลุ่มประชากรที่เป็นกำลังขับเคลื่อนกระบวนการสาธารสุขไทยในอนาคต ทัศนคติต่อการรับบริการทางสุขภาพจิต เป็นรากฐานสำคัญต่อสุขภาวะที่ดีของนิสิตแพทย์ที่ต้องเผชิญกับความกดดันจากการเรียนการทำงาน ดังนั้น วัตถุประสงค์ของงานวิจัย เพื่อศึกษาทัศนคติต่อการรับบริการทางสุขภาพจิต เพื่อเปรียบเทียบทัศนคติต่อการรับบริการทางสุขภาพจิต เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อการรับบริการทางสุขภาพจิต และเพื่อสร้างสมการพยากรณ์ทัศนคติต่อการรับบริการทางสุขภาพจิตของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ การวิจัยนี้ เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา เก็บข้อมูลกับ กลุ่มตัวอย่างนิสิตชั้นปีที่ 1 ถึง 6 ที่มีสภาพนิสิตในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จำนวน 362 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามแบบ Likert scale 5 ระดับ ประกอบด้วย แบบสอบถามพฤติกรรมการเลือกเข้ารับบริการทางสุขภาพจิต แบบสอบถามวัดแรงจูงใจในการเรียนแพทย์ แบบวัดกลวิธีการเผชิญความเครียดเชิงรุก แบบประเมินทัศนคติต่อการรับบริการทางสุขภาพจิต สถิติที่ใข้ในการวิจัย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test การวิเคราะห์การแปรปรวน ค่าสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัย พบว่า ทัศนคติต่อการรับบริการทางสุขภาพจิตมีค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.55 – 2.78 ทัศนคติต่อการรับบริการทางสุขภาพจิตมีความแตกต่างในตัวแปร เพศ ชั้นปี ความเพียงพอของรายได้ บุคคลในครอบครัวเป็นผู้ป่วยจิตเวช บุคคลที่รู้จักเป็นผู้ป่วยจิตเวช การออกกำลังกาย เวลาพักผ่อนโดยเฉลี่ยต่อวัน และการมีโรคประจำตัวและ แหล่งให้บริการทางสุขภาพจิต ทัศนคติต่อการรับบริการทางสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์กับ ปัจจัยส่วนบุคคล แรงจูงใจในการเรียนแพทย์ กลวิธีในการเผชิญความเครียดเชิงรุก พฤติกรรมการเลือกเข้ารับบริการทางสุขภาพจิต และสมมการการถอดถอย ได้แก่ การเปิดรับทางจิตใจ = 1.15 + 0.313กลวิธีการเผชิญความเครียดเชิงรุก - 0.26เพศ - 0.322บุคคลในครอบครัวเป็นผู้ป่วยจิตเวช + 0.187 การเตรียมความพร้อม - 0.240เกรดเฉลี่ย - 0.214พฤติกรรมการเลือกเข้ารับบริการทางสุขภาพจิต - 0.110ความมั่นคง


พฤติกรรมการติดโซเชียลมีเดียและความภาคภูมิใจในตนเองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในอำเภอหาดใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16, มณฑิรา เหมือนจันทร์ Jan 2020

พฤติกรรมการติดโซเชียลมีเดียและความภาคภูมิใจในตนเองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในอำเภอหาดใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16, มณฑิรา เหมือนจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการติดโซเชียลมีเดีย ความภาคภูมิใจในตนเอง และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอหาดใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16 จำนวน 415 คน ตอบแบบสอบถาม ประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและพฤติกรรมการใช้โซเชียลมมีเดีย, แบบทดสอบการติดโซเชียลมีเดีย (Social media addiction test: SMAT), แบบวัดความภาคภูมิใจในตนเองของโรเซนเบิร์กฉบับปรับปรุง(The Revised version of Thai Rosenberg Self Esteem Scale: Revised Thai RSES), แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ ฉบับภาษาไทย (Thai version of the Pittsburgh Sleep Quality Index, T PSQI), แบบวัดแบบวัดภาวะซึมเศร้า Center for Epidemiological Studies Depression Scale (CES D) ฉบับภาษาไทย ผลการศึกษาพบว่า จากนักเรียนทั้งหมดร้อยละ 15.7 มีภาวะติดโซเชียลมีเดีย และกลุ่มนักเรียนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.7 มีความภาคภูมิใจอยู่ระดับปานกลาง, ร้อยละ 21.4 อยู่ในระดับต่ำและร้อยละ 16.9 อยู่ในระดับสูง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการติดโซเชียลมีเดียอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ < .05 ได้แก่ การใช้ อินสตาแกรม ภาวะซึมเศร้า คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี ระยะเวลาที่ใช้โซเชียลมีเดียในวันธรรมดาและวันหยุด ในขณะที่ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความภาคภูมิใจในตนเองต่ำได้แก่ อายุที่ ≤ 17 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับบิดาแบบขัดแย้ง ภาวะซึมเศร้า คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี และพบว่าพฤติกรรมการติดโซเชียลมีเดียมีความสัมพันธ์ทางลบกับความภาคภูมิใจในตนเอง 1 ใน 6 ของกลุ่มตัวอย่างจากการศึกษานี้มีภาวะติดโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้ที่ติดโซเชียลมีเดียพบว่ามีโอกาสมีระดับความภาคภูมิใจในตนเองต่ำและมีภาวะซึมเศร้ามากกว่า ดังนั้นนักเรียนที่มีความเสี่ยงควรได้รับการคัดกรองภาวะซึมเศร้า และผู้ที่เกี่ยวข้องควรให้การส่งเสริมและป้องกันเพื่อให้นักเรียนมีระดับภาคภูมิใจที่ดี และมีการใช้โซเชียลมีเดียลดลง


ภาวะหมดไฟในการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของนักเทคนิคการแพทย์ ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร, วราภรณ์ เลิศวิลัย Jan 2020

ภาวะหมดไฟในการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของนักเทคนิคการแพทย์ ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร, วราภรณ์ เลิศวิลัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิธีการศึกษา : การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักเทคนิคการแพทย์ที่ทำงานในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 195 ราย โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบแบบสอบถามทั้งหมดด้วยตนเอง ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและลักษณะการทำงาน 2) แบบสอบถามด้านการปฏิบัติงานที่มีผลต่อความเครียดในงานของนักเทคนิคการแพทย์ จากแบบสอบถาม Occupational stress indicator ของคูเปอร์และคณะ 3) แบบสอบถามภาวะหมดไฟ (Burn out) Thai version of Maslach ทำการวิเคราะห์ปัจจัยระหว่างภาวะหมดไฟและปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ และอาศัยการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติกเพื่อระบุปัจจัยทำนายของภาวะหมดไฟในการทำงานของนักเทคนิคการแพทย์ ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษา : จากนักเทคนิคการแพทย์ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร 195 คน พบผู้ที่มีภาวะหมดไฟ 41 คน (ร้อยละ 21) เมื่อนำไปหาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะหมดไฟในการทำงานพบปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือรายได้เฉลี่ยต่อเดือนผู้ที่มีรายได้มากมีโอกาสในการเกิดภาวะหมดไฟน้อยกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย ตำแหน่งทางราชการที่มีความมั่นคงของสวัสดิการมีโอกาสในการเกิดภาวะหมดไฟน้อยกว่า และจำนวนชั่วโมงในการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการที่มากมีโอกาสในการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานมากกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ปัจจัยในการทำงานที่มีผลต่อความเครียดในการปฏิบัติงาน ด้านภาระงานมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับภาวะหมดไฟในการทำงาน แม้ว่ามีปัจจัยด้านภาระงานที่ดีแต่ก็มีโอกาสในการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานได้สูง ด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและการบริหารงานในหน่วยงานมีความสัมพันธ์เชิงลบกับภาวะหมดไฟในการทำงาน มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) สรุปผลการศึกษา : นักเทคนิคการแพทย์ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร มีภาวะหมดไฟในการทำงานร้อยละ 21 ปัจจัยส่วนบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องคือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ตำแหน่งทางราชการ และจำนวนชั่วโมงในการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ และปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดในการปฏิบัติงานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องคือด้านภาระงาน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และด้านการบริหารงานในหน่วยงาน


ความเหนื่อยล้าและปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเหนื่อยล้าของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย, ชลดา แสงนาค Jan 2020

ความเหนื่อยล้าและปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเหนื่อยล้าของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย, ชลดา แสงนาค

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อศึกษาถึงความเหนื่อยล้าและปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเหนื่อยล้าของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายจำนวน 194 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน ถึง เดือนมิถุนายน 2563 โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจากแผนกผู้ป่วยนอก และที่คลินิกการแพทย์ผสมผสานผู้ป่วยมะเร็งและญาติ ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความเหนื่อยล้า แบบสอบถามภาวะทางสุขภาพกาย แบบสอบถามความเข้มแข็งในการมองโลก แบบสอบถามภาระในการดูแล และแบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม สถิติที่ใช้ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนาเพื่อนำเสนอลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง การแจกแจงจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมานใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรปัจจัยส่วนบุคคลกับความเหนื่อยล้า และใช้สถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุ เพื่อหาปัจจัยทำนายความเหนื่อยล้า โดยมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเหนื่อยล้าโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 71.1 ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเหนื่อยล้าของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้แก่ ชนิดมะเร็งของผู้ป่วย ชนิดการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จำนวนชั่วโมงที่ดูแลผู้ป่วย ลักษณะงานที่ช่วยดูแลผู้ป่วย ผู้ช่วยเหลือในการดูแลผู้ป่วย ภาวะทางสุขภาพกาย ความเข้มแข็งในการมองโลก ภาระในการดูแล และการสนับสนุนทางสังคม อีกทั้งการศึกษายังพบว่า ปัจจัยชนิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การรักษาแบบประคับประคอง ชั่วโมงที่ให้การดูแลผู้ป่วย ภาวะทางสุขภาพกาย ปัจจัยภาระในการดูแล และปัจจัยการสนับสนุนทางสังคม ทั้ง 6 ตัวแปรสามารถทำนายความเหนื่อยล้าของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้ร้อยละ 45.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า จำนวนชั่วโมงที่ให้การดูแลผู้ป่วยน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน การลดลงของภาระในการดูแล การเพิ่มขึ้นของการรับรู้ภาวะทางสุขภาพกายของญาติผู้ดูแลรวมไปถึงการได้รับการสนับสนุนทางสังคม มีส่วนช่วยให้ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีความเหนื่อยล้าจากการดูแลผู้ป่วยน้อยลง ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลให้บุคลากรทางการแพทย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแนวทางในการจัดการกับความเหนื่อยล้าและวางแผนในการช่วยเหลือทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลได้อย่างเหมาะสมต่อไป