Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Law Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

2019

Articles 91 - 115 of 115

Full-Text Articles in Law

มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักมวยไทยอาชีพในประเทศไทย, กานต์ ศรีอรุณ Jan 2019

มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักมวยไทยอาชีพในประเทศไทย, กานต์ ศรีอรุณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือหลักการที่มีคุณค่าอันเป็นรากฐานและสารัตถะสำคัญของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่กําเนิดไม่มีใครสามารถพรากจากไปได้ โดยประเทศไทยได้มีการรับรองหลักการศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ หลักการดังกล่าวจึงเป็นคุณค่าพื้นฐานที่การใช้อํานาจรัฐอันจะก้าวล่วงละเมิดไม่ได้ ตลอดจนเป็นหลักการพื้นฐานในการวินิจฉัยเชิงคุณค่าในการกระทําอื่น ๆ ของรัฐ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศและดูแลประชาชน นับเป็นการเพิ่มหลักประกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวที่ให้การรับรองและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่านักมวยไทยอาชีพในฐานะบุคคลหนึ่งเช่นเดียวกับบุคคลอื่นทั่วไปในรัฐ แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับเหมือนกับนักกีฬาอาชีพชนิดอื่น แต่กลับถูกมองว่าเป็นผู้ใช้แรงงานที่ยากจน และถูกกลุ่มบุคคลในวงการธุรกิจกีฬามวยไทยอาชีพหาประโยชน์จากการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการพนันมวย การล้มมวย และการชกมวยเด็ก ซึ่งลักษณะการกระทำดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่มีมาหลายยุคหลายสมัยสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และส่งผลกระทบต่อชีวิตร่างกายทำให้นักมวยไทยอาชีพถูกปฏิบัติต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ รวมถึงเป็นการทำลายความเสมอภาคแห่งโอกาสในการทำงาน และการกำหนดเจตจำนงในการดำเนินชีวิตของตนเอง ก่อกลายเป็นปัญหาการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อนักมวยไทยอาชีพ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงศึกษาค้นคว้าถึงสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อนักมวยไทยอาชีพมาทำการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมายสำหรับคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพนักมวยไทยให้มีความเสมอภาคของโอกาสในการทำงานและมีสภาพการทำงานที่เหมาะสมปลอดภัย และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้ที่ประกอบกีฬาอาชีพชนิดอื่น


การพัฒนาหลักเกณฑ์ในการปล่อยชั่วคราวโดยศาลเพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยแก่ผู้เสียหายและสังคม, กฤตชญา เอี่ยมวรเมธ Jan 2019

การพัฒนาหลักเกณฑ์ในการปล่อยชั่วคราวโดยศาลเพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยแก่ผู้เสียหายและสังคม, กฤตชญา เอี่ยมวรเมธ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบหลักเกณฑ์การปล่อยชั่วคราวตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อแสวงหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่เหมาะสมในการนำมาใช้กับการปล่อยชั่วคราวในประเทศไทยเพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยแก่ผู้เสียหายและสังคม จากการศึกษาพบว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นไม่สามารถที่จะประเมินความเสี่ยงได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะไปกระทำความผิดซ้ำหรือจะก่อเหตุร้ายประการอื่นหรือไม่ เนื่องจากศาลต้องพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยเร็วอันเป็นเหตุให้ศาลไม่อาจรวบรวมข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจำเลยได้อย่างครบถ้วน คงมีเพียงเหตุตามข้อหาที่ปรากฎอยู่ในคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คำฟ้อง และคำร้องขอฝากขังเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวและเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว รวมถึงรูปแบบการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของประเทศสกอตแลนด์ ประเทศอังกฤษ ประเทศสวีเดน สหรัฐอเมริกา และ ประเทศออสเตรเลีย แล้วจะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่หลากหลาย เช่น การกำหนดความผิดที่จะไม่ให้ปล่อยชั่วคราว และการแสดงเหตุที่ไม่ควรถูกคุมขัง เป็นต้น ข้อเสนอแนะของการศึกษานี้ คือ ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เช่น ลักษณะและอุปนิสัยของผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นต้น และเหตุที่ไม่ควรให้ปล่อยชั่วคราวคือ ผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอื่น นอกจากนี้ควรมีการกำหนดความผิดที่จะไม่ให้ปล่อยชั่วคราวได้ คือ ความผิดต่อชีวิต และความผิดเกี่ยวกับเพศ รวมถึงมีการกำหนดรูปแบบการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีหน้าที่ต้องแสดงเหตุอันควรที่ศาลควรมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จากนั้นศาลจึงจะพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป ในขณะเดียวกันพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะต้องแสดงข้อมูลให้ศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมีความเสี่ยงที่จะหลบหนีหรือก่อเหตุร้ายประการอื่นด้วย


ความรับผิดทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มึนเมา, ธัญวรัตน์ ดุลยพงศ์พันธ์ Jan 2019

ความรับผิดทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มึนเมา, ธัญวรัตน์ ดุลยพงศ์พันธ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้มึนเมาในประเทศไทยและในต่างประเทศ และเสนอแนวทางในการแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เหมาะสมเกี่ยวกับความรับผิดสำหรับผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้มึนเมา จากการศึกษาพบว่า สถิติอุบัติเหตุและคดีที่มีสาเหตุมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการให้คำนิยามบางประการจึงทำให้ไม่สามารถนำมาบังคับใช้กฎหมายได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ไว้เป็นการเฉพาะทั้งที่บุคคลเหล่านี้ควรที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าบุคคลทั่วไปด้วย เมื่อได้ศึกษาถึงมาตรการทางกฎหมายของต่างประเทศพบว่า รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ประเทศสกอตแลนด์ ดินแดนออสเตรเลียนแคพิทอล ประเทศออสเตรเลีย และรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ต่างก็มีมาตรการในการกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ให้แก่ผู้มึนเมา ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์จึงขอเสนอให้ประเทศไทยแก้ไขความรับผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้มึนเมาให้มีบทลงโทษที่เหมาะสมตามความร้ายแรงของการกระทำความผิด พร้อมทั้งกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้เป็นการเฉพาะให้ชัดเจนด้วย โดยนำแนวทางในการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแนวนโยบายของประเทศไทย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและคดีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ต่อไป


ขอบเขตของความผิดฐานเหยียดหยามศาสนา, นรภัทร นาควิจิตร Jan 2019

ขอบเขตของความผิดฐานเหยียดหยามศาสนา, นรภัทร นาควิจิตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขอบเขตของความผิดฐานเหยียดหยามศาสนาตามประมวลกฎหมายอาญา โดยมุ่งศึกษาถึงอิทธิพลและแนวคิดในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าว นอกจากนั้นยังศึกษาเชิงเปรียบเทียบความผิดฐานดังกล่าวกับบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดหยามศาสนาในต่างประเทศ เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ และเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการปรับปรุงกฎหมายในความผิดฐานเหยียดหยามศาสนา จากการศึกษาพบว่า ความผิดฐานเหยียดหยามศาสนาที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมาย อาญานั้น ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประมวลกฎหมายอาญาของสาธารณรัฐอินเดีย เนื่องจากเป็นต้นร่างของความผิดฐานดังกล่าวในยุคที่มีการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 อีกส่วนหนึ่งนั้นได้รับอิทธิพลมาจากทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของศาสนาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ส่งผลให้ขอบเขตของวัตถุแห่งการกระทำในความผิดฐานเหยียดหยามศาสนาจำกัดอยู่ที่วัตถุและสถานที่ในทางศาสนาเท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว ความผิดฐานดังกล่าวโดยเฉพาะในส่วนของพฤติการณ์ประกอบการกระทำเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนแน่นอนในตัวบทกฎหมาย อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาที่ต้องมีความชัดเจนและแน่นอน อีกทั้งความผิดฐานดังกล่าวในกฎหมายของต่างประเทศมุ่งที่จะเอาผิดแก่ผู้กระทำที่มีเจตนาพิเศษในความผิดฐานดังกล่าวทั้งสิ้น ในส่วนของบทกำหนดโทษตามความผิดฐานดังกล่าว ประเทศไทยมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ ซึ่งเป็นการจำกัดดุลพินิจของผู้พิพากษาที่จะพิพากษาความผิดดังกล่าวให้เกิดความเหมาะสมระหว่างการกระทำกับโทษที่ผู้กระทำควรจะได้รับ ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายของต่างประเทศที่ไม่มีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยจึงทำการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนของความผิดฐานเหยียดหยามศาสนาตามประมวลกฎหมายอาญา โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงในส่วนของพฤติการณ์ประกอบการกระทำ โดยเปลี่ยนมาเป็นเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความชัดเจนในตัวบทบัญญัติ อีกทั้งยังแก้ไขในส่วนของอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานดังกล่าวให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น


การวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายในการผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยง, นันทฉัตร เงินจันทร์ Jan 2019

การวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายในการผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยง, นันทฉัตร เงินจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาแนวทางของกฎหมายในการควบคุมการผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยง โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายและวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุน-ประโยชน์เพื่อประเมินวิถีทางการควบคุมเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยงโดยใช้ระบบความมุ่งหมายในการจัดประเภทความเสี่ยงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดประเภทเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยง พ.ศ. 2562 ตลอดจนศึกษาถึงการควบคุมเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยงโดยใช้ระบบพิจารณาผลกระทบจากการใช้ในการจัดประเภทความเสี่ยงของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบเพื่อเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จากการศึกษาโดยวิเคราะห์ประสิทธิภาพในเชิงต้นทุน พบว่า การควบคุมเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยงโดยใช้โดยใช้ระบบพิจารณาผลกระทบในการจัดประเภทความเสี่ยงของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นแนวทางที่คุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคและก่อให้เกิดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ประกอบการที่ผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับระบบความมุ่งหมายในการใช้ของประเทศไทย นอกจากนี้ แม้ว่าแนวทางดังกล่าวจะก่อให้เกิดต้นทุนการใช้ทรัพยากรของรัฐในการจัดประเภทความเสี่ยงของเครื่องมือแพทย์มากกว่า อย่างไรก็ตาม การจัดประเภทความเสี่ยงของเครื่องมือแพทย์โดยกำหนดระบบเครื่องมือแพทย์ต้นแบบขึ้นมาเพื่อใช้ในการเทียบประเภทความเสี่ยงของเครื่องมือแพทย์แต่ละกรณีอาจเป็นการลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรของรัฐลงได้ ด้วยเหตุนี้ แนวทางในการควบคุมเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยงโดยระบบพิจารณาผลกระทบจากการใช้ของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นแนวทางที่ได้รับการนำเสนอให้ปรับใช้ตามสภาพที่เหมาะสมกับประเทศไทย


หน้าที่และอำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561, พลอยแก้ว แสงรุ่ง Jan 2019

หน้าที่และอำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561, พลอยแก้ว แสงรุ่ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้การตรวจเงินแผ่นดินตลอดจนการตรวจผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐ ล้วนเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่กำกับการตรวจเงินแผ่นดินของผู้ว่าการให้เป็นไปตามนโยบายและหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการกำหนดขึ้น และตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญในระบบการตรวจเงินแผ่นดิน จากการศึกษาพบว่า โครงสร้างอำนาจหน้าที่ขององค์กรตรวจเงินแผ่นดิน และการกำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดตัวบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และยังเป็นผู้มีอำนาจในการถอดถอนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้พ้นจากตำแหน่งได้ ย่อมส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่สามาถตรวจสอบและถ่วงดุลกันได้จริง อีกทั้งยังทำให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีความเป็นอิสระและเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่อย่างแท้จริง นอกจากนี้ หน้าที่และอำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ยังได้ก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้บางประการ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนจึงเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ขององค์กรตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนการเข้าสู่ตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน


แนวคิดและหลักเกณฑ์การจัดประเภทการพนันตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478, ภัทราพร ประสาทแก้ว Jan 2019

แนวคิดและหลักเกณฑ์การจัดประเภทการพนันตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478, ภัทราพร ประสาทแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบของกิจกรรมที่ถือว่าเป็นการพนัน การจำแนกประเภทการพนัน แนวคิดและหลักเกณฑ์ในการควบคุมการพนัน เพื่อให้ได้ข้อเสนอในการปรับปรุงพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ต่อไป เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 พบว่า ไม่มีการจำแนกประเภทตามลักษณะหรือองค์ประกอบของการพนันชนิดนั้น ๆ อีกทั้งยังรวมการจำแนกประเภทและการควบคุมเข้าด้วยกันไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนี้ แม้จะมีการอุดช่องว่างของกฎหมายด้วยการตีความของศาล การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวก็ยังไม่ต้องตามหลักความเป็นธรรมของกฎหมายอาญาเนื่องจาก ผู้กระทำความผิดย่อมต้องทราบว่าการกระทำใดของตนเป็นความผิดด้วยกฎหมายตามหลักการเตือนล่วงหน้า จากการศึกษากฎหมายต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ เครือรัฐออสเตรเลีย รัฐวิคตอเรีย ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศสิงคโปร์ พบว่า กฎหมายได้บัญญัติแยกการจำแนกประเภทและการควบคุมการพนันออกจากนั้น ทั้งนี้ มีการจำแนกประเภทการพนันตามลักษณะหรือองค์ประกอบของกิจกรรมนั้น ๆ และมีการกำหนดนิยามของประเภทที่จำแนกไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดสำหรับใช้ในการพิจารณาว่าการพนันประเภทใดควรถูกห้ามเด็ดขาด การพนันประเภทใดควรขออนุญาตได้ ดังนั้น กฎหมายไทยจึงควรจำแนกประเภทการพนันตามลักษณะหรือองค์ประกอบของการพนันชนิดนั้น ๆ กำหนดนิยามของการพนันแต่ละประเภท โดยแยกประเภทการพนันและการควบคุมออกจากกันตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายต่างประเทศ นอกจากนี้ยังควรมีหลักเกณฑ์สำหรับเป็นแนวทางในการควบคุมการพนันที่ชัดเจนอีกด้วย


แนวทางในการปฏิรูปความตกลงว่าด้วยการลงทุนแบบทวิภาคีของไทย (Bits) ภายใต้กรอบ Ipfsd ของ Unctad:ศึกษากรณีมาตรฐานในการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมและการคุ้มครองจากการโอนกิจการหรือการเวนคืน, ภาคภูมิ ฮิ่นเซ่ง Jan 2019

แนวทางในการปฏิรูปความตกลงว่าด้วยการลงทุนแบบทวิภาคีของไทย (Bits) ภายใต้กรอบ Ipfsd ของ Unctad:ศึกษากรณีมาตรฐานในการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมและการคุ้มครองจากการโอนกิจการหรือการเวนคืน, ภาคภูมิ ฮิ่นเซ่ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งหาแนวทางในการปฏิรูปข้อบทการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมและข้อบทการคุ้มครองจากการโอนกิจการหรือการเวนคืนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการลงทุนแบบทวิภาคีของไทย (BITs) เพื่อให้ไทยในฐานะที่เป็นรัฐผู้รับการลงทุนมีอำนาจในการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ภายใต้กรอบนโยบายว่าด้วยการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (IPFSD) ของ UNCTAD โดยความตกลงฯ ของไทยจำนวน 36 ฉบับได้บัญญัติข้อบทการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมไว้ 3 รูปแบบ คือ (1) ข้อบทที่ไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ ไว้ (28 ฉบับ) (2) ข้อบทบัญญัติที่พิจารณาถึงกฎหมายระหว่างประเทศ (3 ฉบับ) และ (3) ข้อบทบัญญัติที่กำหนดพันธกรณีไว้โดยเฉพาะ (5 ฉบับ) ส่วนข้อบทการคุ้มครองจากการโอนกิจการหรือการเวนคืนมีการบัญญัติข้อบทที่ให้พิจารณาถึงการเวนคืนทางอ้อมไว้ด้วยทุกฉบับ จากการศึกษาคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการพบว่า การบัญญัติข้อบทการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมในรูปแบบที่ไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ หรือที่พิจารณาถึงกฎหมายระหว่างประเทศไว้ และการบัญญัติข้อบทการคุ้มครองจากการโอนกิจการหรือการเวนคืนที่ไม่ได้มีการบัญญัติให้สิทธิแก่ประเทศผู้รับการลงทุนสามารถใช้อำนาจในการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศได้ไว้ ย่อมก่อให้เกิดการตีความข้อบทในเรื่องดังกล่าวของคณะอนุญาโตตุลาการอย่างกว้างขวางซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการที่รัฐผู้รับการลงทุนจะใช้สิทธิในการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ผลการศึกษาพบว่า หากประเทศไทยในฐานะรัฐผู้รับการลงทุนใช้แนวทางดังต่อไปนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงการตีความที่ไม่คาดคิดหรือการตีความที่กว้างเกินไปของคณะอนุญาโตตุลาการได้ กล่าวคือ (1) การปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ควรกำหนดให้มีการร่วมกันตีความข้อบทการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกับรัฐภาคีไปในแนวทางที่ว่า “รัฐผู้รับการลงทุนต้องให้การปฏิบัติต่อผู้ลงทุนหรือการลงทุนของต่างชาติอย่าง “เป็นธรรมและเท่าเทียม” หรือรัฐผู้รับการลงทุนมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมต่อนักลงทุนอย่างไร แต่ทั้งนี้ ก็ควรมีกลไกกำหนดให้มีการทบทวนพันธกรณีหรือเงื่อนไขกรณีต่าง ๆ ที่ได้มีการตีความร่วมกันไว้เป็นระยะ ๆ ไว้ด้วย (2) การคุ้มครองจากการโอนกิจการหรือการเวนคืน ควรกำหนดให้มีการร่วมกันตีความกำหนดหลักเกณฑ์หรือนิยามว่า การกระทำใดที่ถือว่าเป็นการเวนคืนทางอ้อมและการกระทำใดที่ไม่ถือว่าเป็นการเวนคืน นอกจากนั้น รัฐภาคีทั้งสองฝ่ายอาจจะมีการร่วมกันกำหนดกรอบหรือขอบเขตที่ใช้ในการพิจารณาถึงมาตรการที่อ้างว่ากระทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะซึ่งไม่ต้องมีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ((non-compensable) เช่น มาตรการที่กระทำด้วยความสุจริต (good faith) และกระทำภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบธรรม (a legitimate public policy objectives) ทั้งจะต้องเป็นมาตรการที่ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติและเป็นมาตรการที่มีความเหมาะสม ดังนั้น การปฏิรูปข้อบทการให้การปฏิบัติและการคุ้มครองนักลงทุนให้มีความชัดเจนขึ้นโดยการร่วมกันตีความของรัฐภาคีจึงถือได้ว่าเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ไทยในฐานะรัฐผู้รับการลงทุนสามารถใช้สิทธิในการควบคุมการลงทุนได้ตามแนวทางของกรอบ IPFSD ของ UNCTAD ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด


หลักธรรมมาภิบาลในกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจประกันวินาศภัย, ยุทธนา สุวรรณประดิษฐ์ Jan 2019

หลักธรรมมาภิบาลในกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจประกันวินาศภัย, ยุทธนา สุวรรณประดิษฐ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาหลักธรรมาภิบาลในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัย จากการศึกษาและวิเคราะห์ผู้เขียนได้คำตอบว่าดังนี้ หลักธรรมาภิบาล ประกอบด้วยหลักนิติธรรม/นิติรัฐ หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการในการควบคุมและกำกับดูแลบริษัทประกันวินาศภัยของหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งยังเป็นเครื่องมือจัดทำกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแล แนวคิดของหลักธรรมาภิบาลสมควรนำมาปรับใช้กับการบริหารกิจการที่ดีสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยภายใต้หลักบรรษัทภิบาล ทั้งนี้แนวคิดของหลักธรรมาภิบาลได้แทรกอยู่ในเนื้อหาของกฎหมายที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องปฏิบัติโดยตรงและมีความเกี่ยวข้องอยู่แล้วหลักธรรมาภิบาลจึงมีความสำคัญกับกระบวนการจัดทำกฎของหน่วยงานกำกับดูแล การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย การกำหนดกรอบการดำเนินกิจการที่ดีภายใต้หลักบรรษัทภิบาลของบริษัทประกันวินาศภัย การให้อำนาจหน่วยงานกำกับดูแลในการแต่งตั้งกรรมการของบริษัทประกันวินาศภัยและมีอำนาจลงโทษกรรมการบริษัทที่กระทำความผิดกฎหมายและจรรยาบรรณทางธุรกิจในรูปแบบที่เหมาะสม แนวทางในการแก้ไขเพื่อทำให้มีการนำหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงานกำกับดูแลควรจัดให้มีระเบียบในการจัดตรากฎและระเบียบสำหรับการทบทวนกฎเกณฑ์แห่งกฎหมาย ควรมีการจัดทำแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันวินาศภัยตามหลักบรรษัทภิบาลให้เป็นปัจจุบัน และหน่วยงานกำกับดูแลควรมีอำนาจให้ความเห็นชอบในคุณสมบัติของกรรมการบริษัทก่อนได้รับการแต่งตั้งและมีอำนาจถอดถอนกรรมการบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว ตลอดจนมีอำนาจลงโทษกรรมการบริษัทด้วยวิธีการทางปกครองที่เหมาะสม


กระบวนการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองเพื่อคุ้มครองสิทธิในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคู่กรณี, วัชระ กลิ่นสุวรรณ Jan 2019

กระบวนการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองเพื่อคุ้มครองสิทธิในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคู่กรณี, วัชระ กลิ่นสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงกรอบความคิด ทฤษฎี และหลักการทั่วไปของการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครอง โดยศึกษาจากประเทศที่มีการรับรองสิทธิในการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองแก่คู่กรณี ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมนี และประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า หลักการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองของประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมนี และประเทศไทย มีเนื้อหาสาระที่สำคัญร่วมกันหลายประการ ได้แก่ เนื้อหาสาระ องค์ประกอบของการรับรองสิทธิ และข้อยกเว้นของหลักการโต้แย้งคัดค้าน โดยปัญหาที่พบจากการศึกษาในบริบทของประเทศไทย คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองยังไม่ตระหนักถึงการให้สิทธิในการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองแก่คู่กรณี และไม่มีแนวปฏิบัติกลางของแต่ละหน่วยงานทางปกครอง ดังนั้น ปัญหาของการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองจึงควรมีการแก้ไขโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องตระหนักถึงการให้สิทธิในการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองแก่คู่กรณีโดยเคร่งครัดให้มากยิ่งขึ้น และกำหนดแนวปฏิบัติกลางอันเป็นกระบวนการโต้แย้งคัดค้านสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ถูกกำหนดโดยผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งอาจมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมให้แตกต่างกันไป เพื่อให้สิทธิและเสรีภาพของคู่กรณีได้มีการรับรองและคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และในขณะเดียวกันก็เป็นการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองด้วยเช่นกัน


การให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติในประเทศไทย, วรี เมธาประยูร Jan 2019

การให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติในประเทศไทย, วรี เมธาประยูร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เครื่องหมายการค้ารสชาติถือเป็นหนึ่งในเครื่องหมายการค้ารูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากผู้ผลิตและผู้ประกอบการหลายรายเริ่มนำสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตามาใช้ในฐานะเครื่องหมายการค้าเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตน ซึ่งรวมถึงรสชาติด้วย ดังนั้น เครื่องหมายการค้ารสชาติจึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น และในหลายประเทศได้ให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ของประเทศไทยไม่ได้ให้ความคุ้มครองรสชาติในฐานะเป็นเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด เพื่อให้สามารถเสนอแนะแนวทางในการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม ผู้เขียนจึงได้ทำการศึกษาบทบัญญัติแห่งกฎหมายเครื่องหมายการค้า คำพิพากษา และหลักเกณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ประเทศแคนาดาและประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติ ตลอดจนดำเนินการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า โดยแบ่งบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ปรึกษากฎหมาย ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแบ่งเป็นปัญหาต่าง ๆ ได้ดังนี้ ความเหมาะสมในการนำรสชาติมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า บทนิยามคำว่า “เครื่องหมาย” ลักษณะบ่งเฉพาะและการแสดงลักษณะบ่งเฉพาะ ลักษณะต้องห้ามของเครื่องหมายการค้ารสชาติ การพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนแล้ว ตลอดจนความพร้อมในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารสชาติ ผู้เขียนเสนอแนะให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางในการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติ ได้แก่ การนำเทคโนโลยี วิทยาการ หรือเครื่องมือที่ทันสมัย และการว่าจ้างผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาช่วยในกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การยื่นคำขอจดทะเบียน การพิจารณาและตรวจสอบเพื่อรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมถึงการเก็บรักษาตัวอย่างเครื่องหมายการค้า เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ารสชาติและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


การยอมรับนับถือสิทธิของรัฐตามพันธกรณีระหว่างประเทศในคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียม, วริษฐา คงเขียว Jan 2019

การยอมรับนับถือสิทธิของรัฐตามพันธกรณีระหว่างประเทศในคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียม, วริษฐา คงเขียว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาสิทธิในคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียม หรือที่เรียกว่า right to international recognition ในประเด็นสถานะทางกฎหมาย ระบอบกฎหมาย และลักษณะสำคัญของสิทธิดังกล่าว รวมถึงเขตอำนาจรัฐเหนือสิทธิดังกล่าว ตามกฎหมายระหว่างประเทศ “อวกาศ (outer space)” เป็นพื้นที่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐ รวมถึงทรัพยากรในห้วงอวกาศนั้นไม่มีรัฐใดเป็นเจ้าของ และด้วยการที่คลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมถือเป็นทรัพยากรในอวกาศเช่นกัน ดังนั้น คลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมจึงเป็นทรัพยากรที่ไม่มีรัฐใดเป็นเจ้าของ และการที่คลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมถือเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในอวกาศ จึงมีกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวางหลักการในทรัพยากรดังกล่าวไว้เป็นกรณีเฉพาะในข้อบังคับวิทยุ ประกอบกับธรรมนูญสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเพื่อใช้บังคับและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติกับรัฐภาคีทั้งปวงในการใช้ทรัพยากรดังกล่าว จากหลักการดังกล่าว มีประเด็นที่บางประเทศได้พยายามกล่าวอ้างทรัพยากรคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมในห้วงอวกาศถือเป็นเขตพื้นที่ในดินแดนอาณาเขตของตน และเป็นสมบัติของชาติด้วย สำหรับกรณีประเทศไทย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้วางหลักการให้รัฐมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของกฎหมายดังกล่าวว่ามีความสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ และ เสนอแนะแนวทางที่จะส่งผลต่อแนวทางการวางนโยบายการบริหารจัดการภายในเกี่ยวกับคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่จะเข้ามาใช้และแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวให้มีลักษณะสอดคล้องกับหลักการและข้อปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศ


ปัญหาความเป็นบุคคลสิทธิและทรัพยสิทธิในสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายไทย, อธิชา หลิมจานนท์ Jan 2019

ปัญหาความเป็นบุคคลสิทธิและทรัพยสิทธิในสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายไทย, อธิชา หลิมจานนท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สถานะทางกฎหมายของสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายไทย หากพิจารณาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายพิเศษ จะเห็นได้ว่าไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเป็นบุคคลสิทธิหรือทรัพยสิทธิ มีแต่เพียงความเห็นของนักนิติศาสตร์และคำพิพากษาฎีกาเท่านั้นที่เห็นพ้องต้องกันว่าสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบุคคลสิทธิ ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายพิเศษไทยหลายฉบับได้บัญญัติลักษณะพิเศษนอกเหนือจากสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ธรรมดาหลายประการ รวมถึงบัญญัติให้ผู้เช่าหรือผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิมีสิทธิที่มากกว่าเดิม ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าสิทธิการเช่ามีลักษณะคล้ายกับเป็น “ทรัพยสิทธิ” อันเป็นการรับรองสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์แตกต่างจากหลักทั่วไปที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมา ซึ่งหากผู้ใช้กฎหมายไม่สามารถวิเคราะห์เพื่อแบ่งแยกว่าแต่ละสิทธินั้นมีลักษณะเป็นบุคคลสิทธิหรือทรัพยสิทธิ ก็อาจส่งผลให้เกิดการปรับใช้กฎหมายได้อย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงยังทำให้ไม่มีความเป็นระบบที่สมบูรณ์อีกด้วย สถานะทางกฎหมายของสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายฝรั่งเศสและเยอรมันที่ผู้เขียนได้ศึกษามาแล้วในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ พบว่า ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าให้สิทธิการเช่ามีสถานะทางกฎหมายเป็นบุคคลสิทธิหรือทรัพยสิทธิ โดยอาจกำหนดไว้ในคำอธิบายกฎหมายนั้น ๆ หรือจัดให้อยู่ในประเภทของบุคคลสิทธิหรือทรัพยสิทธิ ซึ่งในสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสเป็นบุคคลสิทธิ ส่วนตามกฎหมายพิเศษฝรั่งเศสและเยอรมัน รวมถึงกฎหมายแพ่งเยอรมันก็กำหนดว่าเป็นทรัพยสิทธิอย่างชัดเจนอีกด้วยเช่นกัน จากการศึกษาพบว่า การที่กฎหมายพิเศษไทยต่างได้ขยายกรอบสิทธิของผู้เช่าให้มีมากขึ้นกว่าสัญญาเช่าธรรมดาจนอาจส่งผลให้สิทธิการเช่าหรือสิทธิการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์มีลักษณะใกล้เคียงกับทรัพยสิทธิ จึงเสนอแนะว่าควรมีคำอธิบายสถานะทางกฎหมายของสิทธิดังกล่าวชัดเจน เช่นคำว่า “สถานะบุคคลสิทธิแบบพิเศษที่มีลักษณะใกล้เคียงทรัพยสิทธิ” อันจะส่งผลให้ปรับใช้กฎหมายได้ถูกต้อง เป็นระบบ และลดช่องว่างการตีความปัญหาดังกล่าวอีกด้วย


แนวคำตัดสินขององค์การการค้าโลกเกี่ยวกับการหาความหมายของคำว่า "Public Body" ในความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ภายใต้องค์การการค้าโลก: ศึกษากรณีการอุดหนุนโดยรัฐวิสาหกิจจีน, อาภัสชญากรณ์ เกษมลภัสสรณ์ Jan 2019

แนวคำตัดสินขององค์การการค้าโลกเกี่ยวกับการหาความหมายของคำว่า "Public Body" ในความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ภายใต้องค์การการค้าโลก: ศึกษากรณีการอุดหนุนโดยรัฐวิสาหกิจจีน, อาภัสชญากรณ์ เกษมลภัสสรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาแนวคำตัดสินขององค์การการค้าโลกในประเด็นความหมายของคำว่า Public Body ตามข้อ 1.1 (a)(1) ของความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ (WTO Agreement on Subsidies and Countervailing Measures) เนื่องจากความตกลงดังกล่าวไม่ได้กำหนดความหมายของถ้อยคำดังกล่าวเอาไว้ ตลอดจนศึกษาถึงกรณีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะในคดี US – Anti-Dumping and Countervailing Duties (China) ซึ่งมีประเด็นทางกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยว่า รัฐวิสาหกิจจีนที่ได้ให้การอุดหนุนเป็น Public Body ตามข้อ 1.1 (a)(1) ของความตกลงดังกล่าวหรือไม่ จากการศึกษาพบว่า แนวคำตัดสินของ WTO ที่นำมาปรับใช้กับการวินิจฉัยกรณีดังกล่าวข้างต้นคือหลัก Government Authority Approach ที่นิยามคำว่า Public Body เอาไว้ว่าหมายถึง หน่วยงานที่มีอำนาจรัฐ และมีการใช้อำนาจรัฐ ทั้งนี้ แม้ว่าหลักดังกล่าวจะสามารถนำมาปรับใช้กับปัญหาการอุดหนุนโดยรัฐวิสาหกิจจีนได้อยู่บ้างคือกรณีการอุดหนุนโดยธนาคารพาณิชย์ของรัฐของจีนก็ตาม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงกรณีปัญหาการอุดหนุนโดยรัฐวิสาหกิจจีนในกลุ่มทุนเข้มข้น (Capital Intensive State-Owned Enterprise) บางกลุ่ม เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนและมีเหตุผลเพียงพอที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐได้ใช้อำนาจรัฐเหนือการกระทำของหน่วยงานดังกล่าว จึงทำให้หน่วยงานดังกล่าวไม่เป็น Public Body ซึ่งทำให้มาตรการที่ใช้โดยรัฐวิสาหกิจจีนดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกตอบโต้ได้


สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์, ชนิดา เมธาชวลิต Jan 2019

สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์, ชนิดา เมธาชวลิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งมักที่มีก่อให้เกิดประเด็นปัญหาจากการที่ไม่มีกฎหมายกำหนดสิทธิหน้าที่ตามสัญญาไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์มักมีลักษณะเป็นสัญญาแบบมาตราฐานที่คู่สัญญาฝ่ายผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิสามารถกำหนดเนื้อหาของสัญญาได้โดยฝ่ายผู้รับอนุญาตไม่มีอำนาจต่อรอง การกำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาโดยอาศัยเพียงข้อสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรรจึงอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และนอกจากนี้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นธุรกรรมที่มีการคาบเกี่ยวกันระหว่างสัญญาหลายประเภทในสัญญาฉบับเดียวกัน จึงมีปัญหาว่าสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาควรเป็นไปในแนวทางเดียวกับสัญญาประเภทใดจึงทำให้สิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาไม่มีความชัดเจนแน่นอน รวมถึงคู่สัญญาจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาที่มีกฎหมายกำหนดสิทธิหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาเปรียบเทียบถึงเนื้อหาของสิทธิหน้าที่ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่คู่สัญญา รวมถึงศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษเพื่อนำมาปรับใช้ในการกำหนดสิทธิหน้าที่ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ มีการนำสิทธิหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายและสัญญาให้บริการมาปรับใช้กับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย เนื่องจากเป็นสัญญาที่มีลักษณะใกล้เคียงกันพอที่จะปรับใช้หลักเกณฑ์อย่างเดียวกันได้อย่างสมเหตุสมผล โดยมีการปรับใช้ในสองลักษณะคือ การปรับใช้โดยอนุโลมโดยอาศัยการตีความเจตนาของคู่สัญญาว่ามีความประสงค์จะให้สิทธิหน้าที่ตามสัญญาเป็นไปในแนวทางเดียวกับสัญญาซื้อขายหรือสัญญาให้บริการ แล้วแต่กรณี และกำหนดให้คู่สัญญามีสิทธิหน้าที่อย่างเช่นเดียวกันกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของสัญญาที่มีความใกล้เคียงมากกว่า และต่อมาในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ ได้มีการตรากฎหมายฉบับใหม่เพื่อกำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาไว้เป็นการเฉพาะเพื่อขจัดปัญหาความไม่ชัดเจนแน่นอนจากการตีความสัญญาโดยศาลเป็นรายคดี ในประเทศไทย การปรับใช้สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะซื้อขายหรือเอกเทศสัญญาอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยตรงนั้น ไม่สามารถทำได้เนื่องจากสาระสำคัญของสัญญาแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ดีศาลไทยอาจกำหนดสิทธิหน้าที่ตามสัญญาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้โดยอาศัยการตีความสัญญาว่าตามเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญา และโดยการใช้หลักสุจริต คู่สัญญาต้องการให้สิทธิหน้าที่ระหว่างกันเป็นไปในแนวทางเดียวกับสิทธิหน้าที่ตามเอกเทศสัญญานั้น ศาลจึงบังคับสิทธิหน้าที่ระหว่างกันให้เป็นไปตามเจตนาอันแท้จริง


มาตรการทางอาญาสำหรับการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า, ยอดขวัญ ปิติ Jan 2019

มาตรการทางอาญาสำหรับการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า, ยอดขวัญ ปิติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการทางอาญาสำหรับการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศไทยในปัจจุบัน รวมทั้งศึกษาแนวคิด รูปแบบ และเนื้อหาของมาตรการทางอาญาสำหรับการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าของต่างประเทศ เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและเสนอแนะแนวทางในการกำหนดมาตรการทางอาญาสำหรับการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าที่เหมาะสมกับประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนั้นมาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมและชัดเจนเพียงพอที่จะนำมาปรับใช้กับรูปแบบการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด รวมทั้งไม่สามารถป้องปรามและลดปัญหาการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าได้ เมื่อได้พิจารณามาตรการทางกฎหมายของต่างประเทศ ได้แก่ สมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐสิงคโปร์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา พบว่า ได้มีการกำหนดมาตรการทางอาญาสำหรับการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไว้โดยเฉพาะ ซึ่งมีการบัญญัติฐานความผิดให้ครอบคลุมถึงการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การปลอมหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า การใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าปลอม และการใช้เครื่องมือโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อใช้ในการปลอมหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นต้น ตลอดจนมีการใช้มาตรการทางอาญาร่วมกับมาตรการทางกฎหมายอื่น ๆ เช่น มาตรการลงโทษทางแพ่ง มาตรการทางปกครอง เป็นต้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนวิทยานิพนธ์จึงขอเสนอให้ประเทศไทยมีการกำหนดมาตรการทางอาญาสำหรับการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ด้วยการบัญญัติเป็นกฎหมายเฉพาะ และนำมาตรการทางกฎหมายอื่น ๆ มาใช้ประกอบกับมาตรการทางอาญาดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าในประเทศไทย


การนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่ามาใช้ในคดีฟอกเงิน, หนึ่งฤดี ศุภกิจอนันต์ Jan 2019

การนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่ามาใช้ในคดีฟอกเงิน, หนึ่งฤดี ศุภกิจอนันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

มาตรการดำเนินการกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ใช้หลักการริบทรัพย์สินแบบเจาะจงทรัพย์สิน คือ ทรัพย์ที่ถูกริบต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในทางใดทางหนึ่ง และในขณะที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ จะต้องมีตัวทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งคำสั่งริบนั้นอยู่ ทำให้เกิดปัญหาในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซุกซ่อนทรัพย์สินอย่างแนบเนียน หรือใช้วิธีการนำทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดรวมเข้ากับทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการใช้ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดให้หมดไปอย่างสิ้นเปลือง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถติดตามริบทรัพย์สินเหล่านั้นได้ ผู้กระทำความผิดยังคงได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดอยู่ การนำหลักการริบทรัพย์สินตามมูลค่ามาใช้ในกฎหมายฟอกเงิน จะทำให้ศาลมีอำนาจในการกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากการกระทำความผิด และสั่งริบชำระเป็นเงินแทนหรือสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่นของผู้กระทำความผิดเทียบเท่ากับมูลค่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำความผิด และเพื่อเป็นการลงโทษให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ทรัพย์สินคืนให้แก่รัฐจากการที่ตนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเหล่านั้น ทำให้การริบทรัพย์สินตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของประเทศไทยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับนานาประเทศและมีความสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศและมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน


ประเด็นปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการร่วมกันจำกัดการแข่งขันตามมาตรา 54 ภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560, หัสนีย์ เพชรศรีกาญจน์ Jan 2019

ประเด็นปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการร่วมกันจำกัดการแข่งขันตามมาตรา 54 ภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560, หัสนีย์ เพชรศรีกาญจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจเป็นพฤติกรรมที่ถูกบัญญัติห้ามตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ซึ่งประเทศไทยได้มีการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันมาเป็นระยะเวลานาน แต่ไม่ปรากฏคดีการพิจารณาพฤติกรรมการตกลงร่วมกันแต่อย่างใด เนื่องจากถ้อยคำตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีแนวทางการตีความที่ชัดเจน อีกทั้งไม่ปรากฏนิยามทั้งในแง่ผู้กระทำและในแง่ของพฤติกรรมต่าง ๆ ว่าควรถูกตีความไปในแนวทางใด ทำให้กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายครั้งล่าสุดได้มีการเพิ่มโทษทางอาญาให้แก่พฤติกรรมดังกล่าว จึงควรมีแนวทางในการบังคับใช้ที่ชัดเจนเพื่อความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้มีความพยายามในการจัดทำแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการกระทำร่วมกันของผู้ประกอบธุรกิจ จากการศึกษาเห็นว่าเป็นไปในแนวทางของกฎหมายการแข่งขันต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาแนวทางการพิจารณาและการตีความกฎหมายการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นต้นแบบในการปรับใช้กฎหมายของประเทศไทย


ปัญหาการบังคับค่าอากรที่ค้างชำระตามกฎหมายศุลกากรและแนวทางการแก้ไข, กชพร เจริญรูป Jan 2019

ปัญหาการบังคับค่าอากรที่ค้างชำระตามกฎหมายศุลกากรและแนวทางการแก้ไข, กชพร เจริญรูป

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึงปัญหาการบังคับค่าอากรที่ค้างชำระตามกฎหมายศุลกากรและแนวทางแก้ไข ตลอดจนศึกษาถึงการบังคับภาษีค้างตามกฎหมายภาษีและการบังคับค่าอากรที่ค้างชำระตามกฎหมายศุลกากรของต่างประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยต่อไป ผลการศึกษาพบว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มีมาตรการบังคับทางปกครองในเรื่องการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียอากรเช่นเดียวกับประมวลรัษฎากร พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กฎหมายศุลกากรของสาธารณรัฐเกาหลี และกฎหมายศุลกากรของประเทศญี่ปุ่น แต่ยังมีข้อแตกต่างในเรื่องการสืบทรัพย์สินของผู้ค้างชำระค่าอากร ทำให้กรมศุลกากรไม่สามารถบังคับใช้มาตรการดังกล่าวได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนี้พบว่ากระบวนการบังคับค่าอากรที่ค้างชำระของประเทศไทยยังมีปัญหาข้อกฎหมายและข้อปฏิบัติโดยเฉพาะในประเด็นการออกแบบแจ้งการประเมิน การออกกฎหมายลำดับรอง และการใช้สิทธิทางศาลและการบังคับคดีตามคำพิพากษา อันทำให้กระบวนการบังคับค่าอากรศุลกากรที่ค้างชำระไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขโดยแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และนำมาตรการในการบังคับภาษีอากรค้างตามกฎหมายภาษีอื่นมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้กรมศุลกากรสามารถจัดเก็บอากรที่ค้างชำระได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพสูงสุด


Exploring And Analysing Thailand’S Potential New Legislation On Mandatory Human Rights Due Diligence For Private Sectors, Kritsakorn Masee Jan 2019

Exploring And Analysing Thailand’S Potential New Legislation On Mandatory Human Rights Due Diligence For Private Sectors, Kritsakorn Masee

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This Thesis focuses on a study of potential enforcement of the Legislation on mandatory Human Rights Due Diligence (HRDD) for private sectors operating a business in Thailand in order to safeguard human rights, as recognised in the international human rights laws and national laws, in their value chain within the consideration of the United Nations on Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGPs) as well as Thailand’s National Action Plan on Business and Human Rights Phase I (2019-2022). With new corporate governance regime and under emerging concept of due diligence requirements, private sectors subject to this mandatory HRDD Legislation …


Legal Analysis On Bankability Of Hydro Floating Solar Project In Thailand, Natdanai Aramtiantamrong Jan 2019

Legal Analysis On Bankability Of Hydro Floating Solar Project In Thailand, Natdanai Aramtiantamrong

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

In comparison to other types of renewable energy projects, hydro floating solar projects are more complicated as public water resources are used as the location of the project but the electricity is generated from solar power. Accordingly, it is unclear whether the operation of the project falls within the definition of water use that is subject to the Water Resources Act B.E.2561(2018) or not. Several interpretations on the definition of water use in Section 4 of this Act may cause challenges in the bankability of the project. In order to fund the project, the project company generally relies on the …


ปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ศึกษากรณีที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ, ชนันท์ภรณ์ สุนนท์ราษฎร์ Jan 2019

ปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ศึกษากรณีที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ, ชนันท์ภรณ์ สุนนท์ราษฎร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากการศึกษาพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 พบว่า การกำหนดลักษณะที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพตามกฎกระทรวงกำหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ พ.ศ.2562 โดยพิจารณาจากลักษณะการทำประโยชน์ทางกายภาพแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงการทำประโยชน์ของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบริเวณใกล้เคียงประกอบด้วยนั้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีเพื่อการจัดเก็บภาษีอันไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและหลักภาษีอากรที่ดี เอกัตศึกษาฉบับนี้จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ตลอดจนศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพของประเทศไทย ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับเจตนารณ์ของกฎหมาย และหลักภาษีอากรที่ดีต่อไป


การกำกับดูแลการแปลงสินทรัพย์ประเภทสิทธิบัตรเป็นหลักทรัพย์, ธันวา คว้าพงศ์ไพทูรย์ Jan 2019

การกำกับดูแลการแปลงสินทรัพย์ประเภทสิทธิบัตรเป็นหลักทรัพย์, ธันวา คว้าพงศ์ไพทูรย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สิทธิบัตรเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการจัดหาเงินทุน ของกิจการได้ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 หรือพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 อย่างไรก็ตาม แนวทางการกำกับดูแลการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ดังกล่าว ยังไม่เหมาะสมเพียงพอและอาจนำมาสู่ปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแปลงสิทธิบัตรเป็นหลักทรัพย์ในประเทศไทย อาทิ ความชัดเจนเกี่ยวกับนิยามของสินทรัพย์ การไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินอย่างแท้จริง การขาดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประเมินมูลค่า หรือสภาพบุคคลของทรัสต์ เป็นต้น ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้ทำการศึกษาหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยและต่างประเทศ และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการแก้ไขเพิ่มเติมและกำหนดมาตรการทางกฎหมายอื่น ๆ เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่เหมาะสมเพียงพอของกฎหมายที่ใช้บังคับกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เพื่อให้การแปลงสิทธิบัตรเป็นหลักทรัพย์เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ปัญหาทางกฎหมายของการเลิกกิจการโดยอาศัยสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรกรณีการโอนกิจการทั้งหมด, ศิตายุ ตัญตระกูล Jan 2019

ปัญหาทางกฎหมายของการเลิกกิจการโดยอาศัยสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรกรณีการโอนกิจการทั้งหมด, ศิตายุ ตัญตระกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การปรับปรุงโครงสร้างกิจการอาจกระทำได้โดยวิธีการซื้อขายหุ้น การซื้อขายทรัพย์สิน การควบกิจการการโอนกิจการบางส่วน หรือการโอนกิจการทั้งหมด ซึ่งแต่ละวิธีการมีภาระภาษีในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันออกไป ดังนั้น ปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกวิธีการวิธีใดวิธีหนึ่งย่อมได้แก่ ภาระภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนการโอนกิจการทั้งหมดระหว่างบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยการออกกฎหมายและกฎเกณฑ์เงื่อนไขในการยกเว้นภาษีอากรสำหรับการโอนกิจการทั้งหมด ทั้งในระดับบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้โอนกิจการ และผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลผู้โอนกิจการ อย่างไรก็ตาม กลับพบว่ากฎหมายและกฎกณฑ์เงื่อนไขในการยกเว้นภาษีอากรสำหรับการโอนกิจการทั้งหมดดังกล่าว ยังมีประเด็นปัญหาทางกฎหมายอันเนื่องมาจากการกำหนดเงื่อนไขของสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้กับการเลิกกิจการและการชำระบัญชี จนก่อให้เกิดประเด็นพิพาทที่เป็นความเสียหายทั้งต่อผู้เสียภาษีเองและต่อหน่วยงานจัดเก็บภาษีของรัฐ เอกัตศึกษาฉบับนี้เป็นการรวบรวมและสรุปหลักกฎหมาย ชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหา และวิเคราะห์ปัญหาของการเลิกกิจการโดยอาศัยสิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการโอนกิจการทั้งหมด รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว


การวิเคราะห์พื้นฐานความผิดฐานทำร้ายร่างกาย, บุณยวีร์ บุญณรงค์ Jan 2019

การวิเคราะห์พื้นฐานความผิดฐานทำร้ายร่างกาย, บุณยวีร์ บุญณรงค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาของความผิดฐานทำร้ายร่างกายนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งศึกษาแนวคิด และเนื้อหาความเป็นมาของความผิดฐานทำร้ายร่างกายเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวของต่างประเทศ เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและเสนอแนะแนวทางในการรวบรวมบทบัญญัติและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยประสบปัญหาต่อการตีความถ้อยคำจากความผิดต่อร่างกายมาโดยตลอด แม้จะมีบทกฎหมายในเรื่องดังกล่าวก็ตาม แต่บทบัญญัติของความผิดฐานทำร้ายร่างกายในปัจจุบันยังไม่ชัดเจนเพียงพอและมาตราที่เกี่ยวกับความผิดฐานทำร้ายร่างกายยังคงอยู่คนละภาคความผิด ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดแต่ละคนได้รับบทลงโทษไม่เท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับการตีความถ้อยคำและดุลพินิจของผู้พิพากษา นอกจากนี้ผู้เสียหายอาจไม่ได้รับความยุติธรรมสำหรับการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดด้วยปัญหาเรื่องอายุความหรือถ้อยคำที่กำกวมในตัวบท เมื่อได้พิจารณาบทกฎหมายของต่างประเทศพบว่า ประเทศอังกฤษ ประเทศอินเดีย ประเทศอิตาลี ประเทศฝรั่งเศสและประเทศอียิปต์ รวบรวมความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกายไว้ในหมวดเดียวกัน และมีการจำแนกประเภทความผิดเพื่อบ่งบอกอันตรายแต่ละรูปแบบอย่างชัดเจน ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนวิทยานิพนธ์จึงเสนอให้นำทุกฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกายมาไว้ในหมวดเดียวกัน และจัดเรียงมาตราให้สอดคล้อง ด้วยการรวบรวมมาอยู่ในภาคความผิดและแก้บทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ถึงมาตรา 300 และมาตรา 390 ถึงมาตรา 391 ซึ่งจะทำให้เกิดความยุติธรรมในการปรับใช้กฎหมายมากขึ้น