Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Engineering Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Electrical and Electronics

Chulalongkorn University

2020

Articles 1 - 30 of 30

Full-Text Articles in Engineering

การพัฒนาระบบการบริหารสินทรัพย์ของหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังในระบบจำหน่าย, เสฎฐวุฒิ เหลืองไตรรัตน์ Jan 2020

การพัฒนาระบบการบริหารสินทรัพย์ของหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังในระบบจำหน่าย, เสฎฐวุฒิ เหลืองไตรรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หม้อแปลงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญและราคาสูงที่สุดในระบบไฟฟ้า อายุการใช้งานของหม้อแปลงไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับอายุการใช้งานขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งอายุขององค์ประกอบต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับ การใช้งานและสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบ เมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าเกิดความเสียหายขึ้นจะส่งผลต่อระบบไฟฟ้าทำให้ไฟฟ้าดับและอาจส่งผลต่อมูลค่าในทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง องค์ประกอบของหม้อแปลงไฟฟ้าที่สามารถบำรุงรักษาหน้างานได้และนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อทำระบบบริหารสินทรัพย์ในงานวิจัยนี้ประกอบด้วย ปะเก็นและกระเปาะแก้วบรรจุสารดูดความชื้น ส่วนน้ำมันหม้อแปลงมีข้อมูลค่อนข้างจำกัดและขาดความน่าเชื่อถือไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง การวิเคราะห์ทางสถิติที่ใช้ในการศึกษานี้เพื่อหาอายุการใช้งานเฉลี่ย คือ การแจกแจงแบบปกติ ระบบบริหารจัดการสินทรัพย์ในงานวิจัยนี้พัฒนาขึ้นบน Microsoft Excel ที่เขียนโปรแกรมร่วมกับ Visual Basic for Application (VBA) เพื่อทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวระบบบริหารจัดการสินทรัพย์มีการกำหนดรหัสสินทรัพย์ บริษัทผู้ผลิต หมายเลขล็อต หมายเลขสัญญา หมายเลขเครื่อง สถานที่ติดตั้งที่ระบุโดย GPS วันที่ติดตั้ง วันที่มีการเปลี่ยนอุปกรณ์แต่ละรายการครั้งล่าสุด ซึ่งผู้ดูแลระบบการบริหารสินทรัพย์จะต้องนำข้อมูลของหม้อแปลงแต่ละใบเข้าสู่ระบบให้ครบถ้วน วันที่ที่จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์แต่ละรายการในครั้งถัดไป ซึ่งได้มาจากการคำนวณเชิงสถิติ ขั้นตอนการคำนวณทางสถิติเริ่มต้นด้วยการกำหนดอายุใช้งานของแต่ละองค์ประกอบเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากประสบการณ์ของทีมงานบำรุงรักษา หรือข้อกำหนดของผู้ผลิตองค์ประกอบนั้น ๆ เมื่อมีการบำรุงรักษาเกิดขึ้นทุกครั้งจะต้องนำเข้าข้อมูลที่ได้จากการบำรุงรักษา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นอายุการใช้งานเฉลี่ยพร้อมกับค่าความแปรปรวนใหม่ ที่ใช้ในการกำหนดวันที่ต้องไปบำรุงรักษาครั้งถัดไปซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุนในการบำรุงรักษาหม้อแปลงได้อย่างชัดเจน


ตัวสังเกตฟลักซ์เทียมสำหรับการควบคุมแบบไร้เซนเซอร์ของมอเตอร์ซิงโครนัสรีลักแตนซ์ที่พิจารณาผลของการเชื่อมโยงข้ามทางแม่เหล็ก, ศฤงคาร พิตรพิบูลย์วงศ์ Jan 2020

ตัวสังเกตฟลักซ์เทียมสำหรับการควบคุมแบบไร้เซนเซอร์ของมอเตอร์ซิงโครนัสรีลักแตนซ์ที่พิจารณาผลของการเชื่อมโยงข้ามทางแม่เหล็ก, ศฤงคาร พิตรพิบูลย์วงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การประมาณตำแหน่งและความเร็วของมอเตอร์ซิงโครนัสรีลักแตนซ์ด้วยแบบจำลองและตัวสังเกต มีข้อดีคือไม่มีการฉีดสัญญาณรบกวนการทำงานของมอเตอร์ และใช้งานได้ดีในทุกย่านการทำงาน แต่แบบจำลองที่ดีเพื่อให้การประมาณแม่นยำ จะต้องพิจารณาผลการอิ่มตัวของแกนเหล็กด้วย เนื่องจากการอิ่มตัวของแกนเหล็กเกิดขึ้นจากมอเตอร์ทำงานที่กระแสสูง ทำให้เกิดผลของการเชื่อมโยงข้ามทางแม่เหล็กระหว่างแกน d และ q ของมอเตอร์ ผลของการเชื่อมโยงข้ามทางแม่เหล็กทำให้แรงบิดและพฤติกรรมอื่นๆ เปลี่ยนไป งานวิจัยในอดีตที่นำเสนอการใช้ตัวสังเกตในการประมาณตำแหน่งและความเร็วโรเตอร์ มีจำนวนไม่มากที่พิจารณาผลของการเชื่อมโยงข้ามทางแม่เหล็ก รวมทั้งยังขาดการยืนยันเสถียรภาพในวงกว้างของตัวสังเกตที่นำเสนอ ดังนั้นงานวิทยานิพนธ์นี้จึงมีเป้าหมายคือ สร้างตัวสังเกตที่คำนึงผลของการเชื่อมโยงข้ามทางแม่เหล็กที่สามารถพิสูจน์เสถียรภาพในวงกว้างได้ โดยใช้แบบจำลองของมอเตอร์ซิงโครนัสรีลักแตนซ์บนฐานฟลักซ์เทียมที่คำนึงผลของการเชื่อมโยงข้ามทางแม่เหล็ก ฟลักซ์เทียมที่นำเสนอมีลักษณะที่เด่นหลายประการ คือ ทราบขนาดได้จากข้อมูลกระแสสเตเตอร์และมีข้อมูลตำแหน่งโรเตอร์รวมอยู่ในมุมเฟสด้วย ตำแหน่งและความเร็วของโรเตอร์จึงสามารถหาได้จากตำแหน่งของฟลักซ์เทียมประมาณที่คำนึงผลของการเชื่อมโยงข้ามทางแม่เหล็กโดยใช้เทคนิคเฟสล็อกลูปเชิงเวกเตอร์ แนวคิดและทฤษฎีที่นำเสนอทั้งหมดถูกทดสอบด้วยการจำลองผ่านโปรแกรม Matlab/Simulink และการทดลองกับระบบจริงเพื่อประมาณตำแหน่งและความเร็วโรเตอร์ในระบบควบคุมเวกเตอร์ที่ไร้เซนเซอร์ตรวจจับตำแหน่ง ผลการจำลองและผลการทดลองกับระบบจริงยืนยันความถูกต้องของแนวคิดและทฤษฎีที่ได้นำเสนอในงานวิทยานิพนธ์ฉบับนี้


การพัฒนาอุปกรณ์เฝ้าสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายตามมาตรฐาน Iec 61850 ผ่านเครือข่าย Nb-Iot, อนุกูล ต้องสู้ Jan 2020

การพัฒนาอุปกรณ์เฝ้าสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายตามมาตรฐาน Iec 61850 ผ่านเครือข่าย Nb-Iot, อนุกูล ต้องสู้

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการพัฒนาอุปกรณ์เฝ้าสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายและการส่งข้อมูลการเฝ้าสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายตามมาตรฐาน IEC61850 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรับส่งข้อมูลสูง ผ่านเครือข่าย NB-IoT ที่มีแถบความกว้างข้อมูลต่ำ เพื่อตรวจสอบสภาวะการทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งมาตรฐาน IEC61850 นิยมใช้งานอย่างแพร่หลายในสถานีไฟฟ้า เพื่อพัฒนาให้เป็นระบบสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติ (Substation Automation System ; SAS) โดยมีจุดเด่นในการทำงานร่วมกันได้ของ Multi-vender และการสื่อสารด้วยความเร็วสูงระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronic Device ; IED) วิทยานิพนธ์นี้จึงได้ประยุกต์นำเอามาตรฐาน IEC61850 มาใช้กับระดับของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ซึ่งเป็นระดับล่างถัดจากสถานีไฟฟ้า เพื่อเป็นแนวทางให้อุปกรณ์ในโครงข่ายไฟฟ้าสามารถทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้มากขึ้น สำหรับการพัฒนาชุดข้อมูลที่นำเสนอนั้น ได้ออกแบบการทดสอบการสื่อสารข้อมูลกับซอฟต์แวร์ IED Explorer ที่สามารถตรวจสอบตัวแปรของชุดข้อมูล MMS ที่พัฒนาขึ้นตามมาตรฐาน IEC61850 เพื่อตรวจสอบว่าอุปกรณ์ทั้งสองสามารถทำงานร่วมกันได้และชุดข้อมูลที่พัฒนาขึ้นเป็นไปตามมาตรฐาน IEC61850


การลดทอนกระแสรั่วไหลความถี่สูงสำหรับระบบอินเวอร์เตอร์พีวีชนิดเชื่อมต่อโครงข่ายแบบไร้หม้อแปลง, ปวเรศ อำไพ Jan 2020

การลดทอนกระแสรั่วไหลความถี่สูงสำหรับระบบอินเวอร์เตอร์พีวีชนิดเชื่อมต่อโครงข่ายแบบไร้หม้อแปลง, ปวเรศ อำไพ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอการลดกระแสรั่วไหลความถี่สูงในระบบอินเวอร์เตอร์พีวีชนิดเชื่อมต่อโครงข่ายแบบไร้หม้อแปลง ผ่านการลดทอนขนาดของแรงดันโหมดร่วมรวมของระบบ ณ องค์ประกอบความถี่การสวิตช์ อันเกิดจากวงจรทบระดับและอินเวอร์เตอร์สามเฟส โดยอาศัยแบบจำลองโหมดร่วมที่มีความแม่นยำที่แสดงแรงดันโหมดร่วมจากทั้งสองวงจรด้วยแหล่งจ่ายแรงดัน 2 แหล่งต่ออนุกรมกัน ในเบื้องต้นงานวิจัยนี้จะนำเสนอการวิเคราะห์แรงดันโหมดร่วมของทั้งสองวงจรด้วยอนุกรมฟูริเยร์ หลังจากนั้นจะนำเสนอแนวคิดการมอดูเลตอินเวอร์เตอร์แบบใหม่ที่นำค่าวัฏจักรงานของสวิตช์ในวงจรทบระดับมาพิจารณาร่วมกับของอินเวอร์เตอร์ เพื่อให้เกิดการหักล้างกันเองของแหล่งจ่ายแรงดันโหมดร่วมทั้งสอง แนวคิดดังกล่าวจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือการกลับเฟสกันของสัญญาณคลื่นพาห์ที่ใช้ในการสร้างสัญญาณขับนำสวิตช์ของวงจรทบระดับและอินเวอร์เตอร์เพื่อให้แรงดันโหมดร่วมหักล้างในคาบการสวิตช์เดียวกัน และส่วนที่สองคือการเลือกค่าแรงดันลำดับศูนย์เพื่อสร้างการมอดูเลตอินเวอร์เตอร์แบบ 2 แขนแบบดัดแปลงที่จะเลือกการทำงานระหว่างโหมดการมอดูเลต 2 แขนชนิดเปิดตลอดหรือชนิดปิดตลอด แนวทางการเลือกโหมดการมอดูเลตของอินเวอร์เตอร์ทั้ง 2 ชนิด จะพิจารณาจากผลต่างของแรงดันดันโหมดร่วมระหว่างอินเวอร์เตอร์และวงจรทบระดับ และจะใช้โหมดการมอดูเลต 2 แขนที่ทำให้ผลต่างของแรงดันโหมดร่วมมีค่าน้อยที่สุด ผลการจำลองการทำงานยืนยันความถูกต้องของแนวคิดที่นำเสนอ อีกทั้งผลทดลองยังแสดงถึงความสามารถในการลดทอนแรงดันโหมดร่วมและกระแสรั่วไหลโดยเฉพาะที่องค์ประกอบความถี่การสวิตช์ได้อย่างมีนัยสำคัญ


การเพิ่มสมรรถนะโครงข่ายเอกซ์จีพอนด้วยตัวขยายแสงสองทาง, สุชัจจ์ รักคำมี Jan 2020

การเพิ่มสมรรถนะโครงข่ายเอกซ์จีพอนด้วยตัวขยายแสงสองทาง, สุชัจจ์ รักคำมี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอวิธีเพิ่มสมรรถนะของโครงข่ายเอกซ์จีพอน (10-Gigabit-capable Passive Optical Network, XG-PON) อ้างอิงมาตรฐาน ITU-T G.987 ด้วยตัวขยายแสงสองทาง (Bidirectional optical amplifier) เพื่อรองรับระยะทาง 20 km และผู้ใช้บริการ 1024 ราย โครงข่ายเอกซ์จีพอนใช้อัตราบิตขาลง 9.9532 Gb/s ที่ช่วงความยาวคลื่น 1577 nm และอัตราบิตขาขึ้น 2.4883 Gb/s ที่ 1270 nm ตัวขยายแสงสองทางประกอบด้วยอีดีเอฟเอ (Erbium-Doped Fiber Amplifier, EDFA) สำหรับความยาวคลื่นขาลงและเอสโอเอ (Semiconductor Optical Amplifier, SOA) สำหรับความยาวคลื่นขาขึ้น วิทยานิพนธ์นี้วัดพารามิเตอร์ของตัวขยายแสงสองทางเพื่อพิจารณาข้อจำกัดของอุปกรณ์ จากนั้นคำนวณสมการงบกำลังเพื่อหาขีดจำกัดของโครงข่ายจากกำลังสูญเสียของเส้นใยนำแสงโหมดเดี่ยวมาตรฐาน (Standard single-mode fiber) และตัวแยกแสงค่าต่างๆ ได้แก่ 1:256 และ 1:1024 เมื่อวิเคราะห์ผลการทดลองจากค่าอัตราความผิดพลาดบิต การส่งข้อมูลขาลงมีผลกระทบหลักมาจากโครมาติกดิสเพอร์ชัน (Chromatic dispersion) ของเส้นใยนำแสงโหมดเดี่ยวมาตรฐาน 20 km และเชิร์ป (Chirp) ของเลเซอร์ การส่งข้อมูลขาขึ้นมีผลกระทบหลักมาจากสัญญาณรบกวนเอเอสอี (Amplified Spontaneous Emission noise, ASE noise) ของเอสโอเอ ในท้ายที่สุดของการทดลองโครงข่ายเอกซ์จีพอนด้วยเส้นใยนำแสงโหมดเดี่ยวมาตรฐาน 20 km และการแบ่ง 1024 จะส่งข้อมูลพร้อมกันทั้งขาลงและขาขึ้น การส่งขาลงปลอดความผิดพลาด ในทางกลับกันการส่งขาขึ้นมีอัตราความผิดพลาดบิตเท่ากับ 3.64x10−5 ซึ่งผ่านตามข้อกำหนดของโครงข่ายเอกซ์จีพอนที่ระบุไว้ว่าต้องน้อยกว่า 10−4


การระบุสภาวะความเครียดของพืชในระยะเริ่มต้นโดยใช้การเรียนรู้เชิงลึกที่พัฒนาบน Fpga, กฤต โรจน์รุ่งเรืองพร Jan 2020

การระบุสภาวะความเครียดของพืชในระยะเริ่มต้นโดยใช้การเรียนรู้เชิงลึกที่พัฒนาบน Fpga, กฤต โรจน์รุ่งเรืองพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เพื่อการเพิ่มผลผลิตของพืชในอนาคต การระบุสภาวะความเครียดของพืชถือว่าเป็นงานหนึ่งที่มีสำคัญในการเก็บคุณลักษณะของพืชเพื่อใช้ในพัฒนาสายพันธุ์ ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้ใช้แบบจำลอง CNN และแบบจำลอง CNN+LSTM ในการตรวจหาสภาวะเครียดของพืชในระยะเริ่มต้น ( Early stress detection ) เนื่องจากการขาดสารอาหาร ชุดข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยประกอบด้วยรูปภาพมากกว่า 40,000 ภาพของต้นข้าวฟ่างที่ถูกถ่ายในด้านหน้า ด้านข้าง และ ด้านบน โดยต้นข้าวฟ่างที่ถูกเลี้ยงโดยการจำกัดสารอาหารในการทดลองนี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 100/100 (100% ammonium/100% nitrate), 50/10, และ 10/10 แบบจำลอง CNN ( Convolution neural network ) แรกจะถูกสร้างอยู่บนบอร์ด PYNQ-Z1 ซึ่งเป็นบอร์ด System On Chip (SOC) ที่ส่วน FPGA สามารถโปรแกรมการใช้งานได้ด้วยภาษา Python ร่วมกับ High level synthesis tool [Vivado HSL] ซึ่งจะสามารถทำให้การประมวลผลการตรวจจับลักษณะผิดปกติ ได้เร็วมากกว่า CPU ARM Cortex-A9 ที่ติดตั้งอยู่บน PYNQ ได้ถึง 38 เท่า ในส่วนที่สอง แบบจำลอง CNN+LSTM จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสกัดคุณลักษณะ (Feature Extraction) และส่วนแยกแยะ (Classification Network) VGG16 ที่ถูกฝึกกับชุดข้อมมูล ImageNet จะถูกใช้ในการสกัดคุณลักษณะ LSTM จะถูกใช้เป็นส่วนแยกแยะระบุสภาวะเครียด ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า VGG16+LSTM สามารถระบุสภาวะความเครียดของข้าวฟ่างได้ที่ความแม่นยำมากกว่า 85% หลังจากต้นพืชถูกทำให้ขาดสารอาหารไปแล้ว 2 วัน


การพยากรณ์กำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งอุปกรณ์วัดด้วยโครงข่ายประสาทเทียม, ภาณุพงศ์ น้ำแก้ว Jan 2020

การพยากรณ์กำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งอุปกรณ์วัดด้วยโครงข่ายประสาทเทียม, ภาณุพงศ์ น้ำแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของพลังงานแสงอาทิตย์คือกำลังไฟฟ้าที่ได้นั้นมีความไม่แน่นอนเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งความไม่แน่นอนนี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า คุณภาพของระบบไฟฟ้า และจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้ไฟฟ้าในวันถัดไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการพยากรณ์กำลังไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ งานวิจัยนี้จึงได้นำเสนอวิธีการพยากรณ์กำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในวันถัดไปโดยใช้อุปกรณ์วัด โดยศึกษาและทดลองกับระบบเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 4.5 กิโลวัตต์ ที่ติดตั้งบนหลังคาที่พักอาศัยจริง งานวิจัยนี้ใช้โครงข่ายประสาทเทียมในการพยากรณ์ค่ากำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ทุก ๆ 5 นาที โดยศึกษาทดลองหาข้อมูลป้อนเข้าที่เหมาะสมโดยเลือกจากปัจจัยที่มีผลต่อกำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ทั้งนี้ได้ศึกษาทดลองฟังก์ชันถ่ายโอนของโครงข่ายประสาทเทียมแบบต่าง ๆ เพื่อเลือกใช้ฟังก์ชันถ่ายโอนที่ให้ค่าความผิดพลาดในการพยากรณ์ต่ำที่สุด จากการศึกษาได้เลือกข้อมูลป้อนเข้าที่เหมาะสมซึ่งส่งผลต่อกำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ได้แก่ ความเข้มของแสงอาทิตย์ อุณหภูมิบนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และกำลังไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์วันก่อนพยากรณ์ จากการทดลองพบว่ารูปแบบฟังก์ชันถ่ายโอนของโครงข่ายประสาทเทียมที่มีค่าความผิดพลาดของการพยากรณ์ต่ำที่สุด คือ โครงข่ายประสาทเทียมแบบ 2 ชั้นซ่อน Tan sigmoid - Log sigmoid และชั้นเอาต์พุต Pure Linear ซึ่งมีค่าความผิดพลาดเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 18.80% จากนั้นได้นำโครงข่ายประสาทเทียมดังกล่าวไปเขียนเป็นโปรแกรม MATLAB เพื่อช่วยให้สามารถติดต่อกับอุปกรณ์อื่นได้ในอนาคต


การบริหารจัดการหน่วยผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำบูรณาการร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่เพื่อเพิ่มกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย, นพวรรณ พัฒนอิ้ว Jan 2020

การบริหารจัดการหน่วยผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำบูรณาการร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่เพื่อเพิ่มกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย, นพวรรณ พัฒนอิ้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ทำให้ระบบไฟฟ้าจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีเป้าหมายในการเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า โดยการเพิ่มกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายในระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ส่วนใหญ่มาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ซึ่งการใช้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเป็นโรงไฟฟ้าหลักในการสนับสนุนกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องทำงานต่ำกว่าพิกัด ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำและต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่การเพิ่มกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากข้อจำกัดกำลังผลิตต่ำสุดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและการขาดการบริหารจัดการเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีหลายเครื่องอย่างบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น วิทยานิพนธ์นี้จึงนำเสนอแนวคิดการบูรณาการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อขยายย่านการทำงานของโรงไฟฟ้า และพัฒนาอัลกอริทึมสำหรับการบริหารจัดการหน่วยผลิตไฟฟ้า เพื่อประสานการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีหลายเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังน้ำกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ โดยตัวอย่างที่ใช้เป็นกรณีศึกษาในวิทยานิพนธ์นี้ คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา ทั้งนี้อัลกอริทึมของการบริหารจัดการหน่วยผลิตไฟฟ้าที่นำเสนอในงานวิทยานิพนธ์นี้ได้พิจารณาการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้สอดคล้องตามข้อจำกัดจากแนวปฏิบัติ ณ ปัจจุบันของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภาด้วย นอกจากนี้ การทำงานในรูปแบบโรงไฟฟ้าเสมือนยังถูกนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อรักษาความสามารถของการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติและโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา เพื่อให้การประยุกต์ใช้แนวคิดที่นำเสนอกับระบบจริงเป็นไปได้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุม ณ ปัจจุบันของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ แนวคิดการบริหารการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภาที่นำเสนอถูกทดสอบโดยการจำลองด้วยโปรแกรม DIgSILENT โดยอาศัยข้อมูลการควบคุมกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าขนอมของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติเพื่อการเปรียบเทียบ ผลการจำลองแสดงให้เห็นว่า 1) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้ง 3 เครื่อง ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภาสามารถขยายย่านการจ่ายกำลังผลิตได้ตามที่กำหนด ผ่านการประสานการทำงานร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ภายใต้เงื่อนไขกำลังผลิตต่ำสุดและข้อจำกัดจากแนวปฏิบัติการเดินและหยุดการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2) ในแต่ละสถานะการผลิตไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่สามารถเลือกทำงานในโหมดอัดประจุหรือโหมดคายประจุได้ ทำให้สามารถรักษาสถานะประจุให้อยู่ในช่วงที่กำหนดได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา และ 3) โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภาสามารถสนับสนุนกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าการทำงานแบบเดิม ส่งผลให้สามารถใช้โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภาทำงานแทนที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาดใหญ่ได้ ดังนั้นแนวคิดการบริหารจัดการหน่วยผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำบูรณาการร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่นำเสนอในวิทยานิพนธ์นี้จึงเป็นแนวทางใหม่ในการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้


การออกแบบค่าความเฉื่อยเสมือนและกำลังไฟฟ้าสำรองที่ต้องการสำหรับระบบเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มเสถียรภาพเชิงความถี่ในไมโครกริดแยกโดด, ณัฐนันท์ ชลิตตาภรณ์ Jan 2020

การออกแบบค่าความเฉื่อยเสมือนและกำลังไฟฟ้าสำรองที่ต้องการสำหรับระบบเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มเสถียรภาพเชิงความถี่ในไมโครกริดแยกโดด, ณัฐนันท์ ชลิตตาภรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบัน มีการนำระบบเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไมโครกริดที่มีกำลังการผลิตเพียงพอและสามารถเดินเครื่องแบบแยกโดดได้นั้น การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนระบบเซลล์แสงอาทิตย์ส่งผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าต่ำลงเนื่องจากค่าความเฉื่อยของระบบลดลง เพราะ ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ไม่มีค่าความเฉื่อย นอกจากนี้ ระบบเซลล์แสงอาทิตย์โดยทั่วไปจะทำงานในโหมดกำลังไฟฟ้าสูงสุด ทำให้ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงความถี่ไฟฟ้าของระบบได้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการออกแบบค่าความเฉื่อยเสมือนและกำลังไฟฟ้าสำรองที่ต้องการโดยใช้ระบบอนุมานนิวโรฟัซซีแบบปรับตัวได้ เพื่อเพิ่มความสามารถของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงความถี่ของระบบ ผลการทดสอบแสดงว่า ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่ถูกควบคุมด้วยวิธีที่เสนอต้องการความเฉื่อยเสมือนและต้องการกำลังไฟฟ้าสำรองที่น้อยกว่าระบบที่ใช้การควบคุมความเฉื่อยเสมือนและกำลังไฟฟ้าสำรองแบบคงที่แต่ยังคงสามารถควบคุมการเบี่ยงเบนความถี่ให้อยู่ในช่วงที่กำหนดได้


การประยุกต์ใช้แรงไดอิเล็กโตรโฟเรติกในระบบของไหลจุลภาคกับการจัดการเซลล์เลือด, นิติพงศ์ ปานกลาง Jan 2020

การประยุกต์ใช้แรงไดอิเล็กโตรโฟเรติกในระบบของไหลจุลภาคกับการจัดการเซลล์เลือด, นิติพงศ์ ปานกลาง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การคัดแยกเซลล์หรืออนุภาคโดยใช้แรงได้อิเล็กโตรโฟเรติกได้รับความนิยม เนื่องจากไม่จำเป็นต้องดัดแปลงเซลล์หรืออนุภาคเป้าหมาย. วิทยานิพนธ์นี้ ศึกษาการคัดแยกเซลล์และอนุภาคโดยใช้แรงไดอิเล็กโตรโฟเรติกร่วมกับระบบของไหลจุลภาค. กระบวนการคัดแยกใช้อุปกรณ์ของไหลจุลภาคที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ซึ่งประกอบด้วยช่องทางไหลจุลภาคและอิเล็กโตรดแบบซี่หวี. การคัดแยกใช้แรงไดอิเล็กโตรโฟเรติกที่ถูกควบคุมด้วยค่าวัฏจักรหน้าที่ DT ของแรงดันอิเล็กโตรด. การทดลองคัดแยกอนุภาคพอลิสไตรีนจากเซลล์เม็ดเลือดแดงแสดงว่า การใช้ค่าวัฏจักรหน้าที่ทำให้เราสามารถควบคุมการกระจายตัวและการเบี่ยงเบนของเซลล์ได้. นอกจากนั้น เรายังสามารถป้องกันการสะสมของเซลล์บริเวณอิเล็กโตรดและป้องกันการอุดตันของช่องทางไหลจุลภาค. การคัดแยกอนุภาคพอลิสไตรีนจากเซลล์เลือดมีประสิทธิภาพมากกว่า 80% ที่อัตราส่วนจำนวนอนุภาคต่อจำนวนเซลล์เท่ากับ 1:2,000 และเซลล์เลือดมีความหนาแน่น 2x106 cells/µl. การเพิ่มปริมาณของอนุภาคพอลิสไตรีนที่ช่องทางออกมีค่าสูงสุด 238 เท่า เมื่อใช้ DT เท่ากับ 0.75. อุปกรณ์ของไหลจุลภาคยังถูกใช้คัดแยกเซลล์ติดเชื้อมาลาเรีย Plasmodium Falciparum จากเซลล์เลือดปกติกับตัวอย่างที่มีความหนาแน่นเซลล์เลือดสูง 1x106 cells/µl. การทดลองแสดงว่า การเพิ่มปริมาณของเซลล์เลือดติดเชื้อมีค่าสูงสุด 4,739 เท่า เมื่อใช้แรงดัน 7 Vp, ความถี่ 500 kHz, DT เท่ากับ 0.85 และอัตราส่วนจำนวนของเซลล์ติดเชื้อต่อเซลล์ปกติเท่ากับ 1:1x106.


การศึกษาผลของพื้นที่สัมผัสที่มีต่อการเลื่อนของเบสไลน์ของสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, อาภรณ์ พรมกิ่ง Jan 2020

การศึกษาผลของพื้นที่สัมผัสที่มีต่อการเลื่อนของเบสไลน์ของสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, อาภรณ์ พรมกิ่ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ได้ออกแบบและสร้างระบบการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อศึกษาผลของพื้นที่สัมผัสระหว่างอิเล็กโทรดกับนิ้วมือที่มีผลต่อการเลื่อนของเบสไลน์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ระบบวัดที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยอุปกรณ์วัดคลื่นไฟฟ้าที่ใช้อิเล็กโทรดแบบกระจก ITO, เซ็นเซอร์วัดแรงแบบฟิล์มบาง, ระบบควบคุมแรง, ระบบบันทึกภาพ และซอฟต์แวร์สำหรับการบันทึกและการวัด ในการศึกษา ผลของศึกษาแสดงให้เห็นว่า การเลื่อนของเบสไลน์มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สัมผัส นอกจากนี้ การเลื่อนเบสไลน์ของสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีการลดลงเมื่อมีการจำกัดพื้นที่สัมผัสระหว่างอิเล็กโทรดกับนิ้วมือภายใต้การเปลี่ยนแปลงแรงกดที่เพิ่มขึ้น ในวิทยานิพนธ์นี้ยังได้พัฒนาแบบจำลององค์ประกอบทางไฟฟ้าของการวัดสัญญาณคลื่นไฟฟ้าเพื่ออธิบายการเลื่อนของเบสไลน์ของคลื่นไฟฟ้าหัวใจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของรอยต่อระหว่างอิเล็กโทรดกับนิ้วมือ


กรณีศึกษาการทำงานของโหมดแยกโดดในไมโครกริดแม่สะเรียงที่มีแหล่งผลิตแบบลูกผสมของ พีวี ดีเซล และระบบแบตเตอรี่, จรัณวัส รอดหลัก Jan 2020

กรณีศึกษาการทำงานของโหมดแยกโดดในไมโครกริดแม่สะเรียงที่มีแหล่งผลิตแบบลูกผสมของ พีวี ดีเซล และระบบแบตเตอรี่, จรัณวัส รอดหลัก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โครงการไมโครกริดแม่สะเรียงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการออกแบบให้มีโหมดการทำงานหลัก 3 โหมด ได้แก่ 1) โหมดเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลัก 2) โหมดเปลี่ยนผ่าน และ 3) โหมดแยกโดด วิทยานิพนธ์นี้จะให้ความสำคัญในส่วนของการทำงานในโหมดแยกโดดใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การควบคุมระบบแบตเตอรี่ 2) การประสานการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลและระบบแบตเตอรี่เพื่อรักษาความถี่ 3) ผลกระทบของระลอกคลื่นแรงบิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลต่อความถี่ของไมโครกริด วิทยานิพนธ์นี้เลือกใช้คอนเวอร์เตอร์ในลักษณะของแหล่งจ่ายแรงดันโดยใช้การควบคุมแบบดรูป – ความเร็วที่จำลองค่าความเฉื่อยทางกลพร้อมทั้งมีระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติทำให้ระบบแบตเตอรี่ทำงานในลักษณะเสมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซิงโครนัส การประสานการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลและระบบแบตเตอรี่ใช้การควบคุมแบบดรูป - ความเร็ว การควบคุมความถี่โหลดใช้ในการควบคุมแบบทุติยภูมิเพื่อลดผลกระทบของโหลด และความผันผวนของแหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลักปฏิบัติทั่วไปจะมีการทำงานของแถบไร้การตอบสนองของการควบคุมแบบทุติยภูมิ การควบคุมความถี่โหลดที่ใช้ในวิทยานิพนธ์นี้ช่วยให้การแบ่งปันโหลดที่เหมาะสมระหว่างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล และระบบแบตเตอรี่ ซึ่งสามารถลดการทำงานของระบบแบตเตอรี่เมื่อเทียบกับการใช้ระบบแบตเตอรี่เพียงลำพัง การตรวจสอบแนวคิดที่นำเสนอจะใช้การจำลองผ่านโปรแกรม DIgSILENT-Powerfactory โดยใช้ข้อมูลโหลดราย 10 วินาที จากกฟภ. และข้อมูลความเข้มแสงอาทิตย์ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสำหรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 4 เมกะวัตต์ นอกจากนี้เพื่อพิจารณาผลกระทบของระลอกคลื่นแรงบิดจะใช้ข้อมูลจริงของการกระเพื่อมของแรงบิดจากเครื่องยนต์ดีเซล 12 กระบอกสูบ เพื่อลดผลของระลอกคลื่นแรงบิดนี้จะอาศัยการทำงานของวงจรกรองผ่านช่วงความถี่เพื่อตรวจจับระลอกคลื่นแรงบิดที่เกิดขึ้นไปป้อนเป็นสัญญาณให้ระบบแบตเตอรี่จ่ายกำลังไฟฟ้าชดเชย ผลการจำลองแสดงให้เห็นว่าวิธีการควบคุมที่นำเสนอสามารถรองรับการทำงานของไมโครกริดในโหมดแยกโดดได้สำเร็จ ความถี่และแรงดันไฟฟ้าของไมโครกริดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่ กฟภ. กำหนด และผลการจำลองการใช้ระบบแบตเตอรี่ร่วมกับวงจรกรองผ่านช่วงความถี่สามารถลดผลกระทบจากระคลื่นแรงบิดให้อยู่ภายใต้แถบไร้การตอบสนองของการควบคุมแบบทุติยภูมิ


กลยุทธ์การรวบรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อปฏิบัติการแบบโรงไฟฟ้าเสมือน, สิปปนันท์ บรรณาวิการ Jan 2020

กลยุทธ์การรวบรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อปฏิบัติการแบบโรงไฟฟ้าเสมือน, สิปปนันท์ บรรณาวิการ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาปฏิบัติการโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant: VPP) เพื่อกำหนดรูปแบบธุรกิจของโรงไฟฟ้าเสมือนที่ตอบสนองต่อตลาดซื้อขายไฟฟ้า (Energy market) โดยการสร้างกลยุทธ์การจัดการรวบรวมกำลังการผลิตไฟฟ้า (Power aggregation) ที่รวบรวมจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar power plant) ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายขนาดตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไป หรือที่เรียกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP) โรงไฟฟ้าเสมือนนั้นจะสร้างกำหนดการเดินเครื่องเพื่อส่งกำลังไฟฟ้าเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้า อ้างอิงตามสัญญาในตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบตลาดขายส่ง (Wholesale market) แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลังงาน (Energy product) และผลิตภัณฑ์กำลังการผลิตสำรอง (Operating reserve product) โดยมีเป้าหมาย คือ การทำกำไรในการดำเนินธุรกิจของโรงไฟฟ้าเสมือนให้ได้สูงสุดจากการซื้อขายไฟฟ้า นอกจากนี้ คำนึงถึงการควบคุมอัตราการเปลี่ยนแปลงกำลังการผลิตไฟฟ้า (Ramp-rate limit) ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ดูแลระบบโครงข่าย ใช้กระบวนการแก้ปัญหาหาค่าเหมาะที่สุด (Optimization) ด้วยขั้นตอนโปรแกรมเชิงเส้น (Linear programming) เป็นเครื่องมือหลัก ทำให้ทราบกำหนดการกำลังผลิตไฟฟ้า (Power scheduling) ที่เหมาะสมในแต่ละชั่วโมงล่วงหน้า โดยอาศัยราคาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าเป็นฐานในการพิจารณา (Price-based unit commitment) ในการศึกษานี้ พิจารณาตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบล่วงหน้า 1 วัน (Day-ahead market) และแบบล่วงหน้า 1 ชั่วโมง (Hour-ahead market) กลยุทธ์ที่นำเสนอนี้จะสร้างมูลค่าทางธุรกิจของโรงไฟฟ้าเสมือน อีกทั้งช่วยควบคุมให้การรวบรวมกำลังผลิตไฟฟ้าแบบกระจายที่จ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีความน่าเชื่อถือยิ่งขี้น ผลการศึกษาแสดงผลลัพธ์เปรียบเทียบดัชนีสมรรถนะเชิงรายได้ ในช่วงการทดสอบ 10 วัน กรณีศึกษาโรงไฟฟ้าเสมือนที่รวบรวมกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จริงจาก 6 โรงไฟฟ้า สามารถเพิ่มมูลค่าของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในรูปของการทำรายได้ให้กับธุรกิจโดยรวมคิดเป็นอัตราร้อยละ 1.28 และค่าสัมประสิทธิ์ความผันแปรของรายได้โดยรวมดีขึ้นร้อยละ 8.66 (เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีโรงไฟฟ้าจริงทั้ง 6 โรงไฟฟ้า แยกดำเนินการแบบรายโรง) จากนั้น สร้างกลยุทธ์การแบ่งสัดส่วนราคาไฟฟ้าให้กับสมาชิก และการกำหนดค่าความปลอดภัยของความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบจากข้อมูลการพยากรณ์ ด้วยการวิเคราะห์ความไว นอกจากนี้ นำเสนอกลยุทธ์การเพิ่มกำไรในการดำเนินธุรกิจของโรงไฟฟ้าเสมือนด้วยการกำหนดขนาดแบตเตอรี่เสมือน เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนพลังงานกับโครงข่ายไฟฟ้าตามกลไกด้านราคาที่เปลี่ยนแปลงแบบรายชั่วโมง ซึ่งผลการทดสอบสามารถเพิ่มผลกำไรให้แก่โรงไฟฟ้าเสมือนได้สูงสุดร้อยละ 1.86 ที่ขนาดความจุของแบตเตอรี่เสมือนที่ร้อยละ 30 ของพิกัดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเสมือน


กรณีศึกษาการใช้ระบบกักเก็บพลังงานชนิดล้อตุนกำลังเพื่อรักษาความถี่ของระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบแยกโดดของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, มัชฌิมาศ เขียวคำ Jan 2020

กรณีศึกษาการใช้ระบบกักเก็บพลังงานชนิดล้อตุนกำลังเพื่อรักษาความถี่ของระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบแยกโดดของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, มัชฌิมาศ เขียวคำ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ด้วยข้อจำกัดเชิงพื้นที่ของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน หากเกิดเหตุขัดข้องในระบบสายส่งที่จ่ายไฟฟ้าให้กับอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ระบบไฟฟ้าของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนจะเข้าสู่การทำงานในสภาวะแยกโดด และพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานภายในพื้นที่เพื่อจ่ายไฟให้เพียงพอตามความต้องการของโหลด ในสถานการณ์ดังกล่าวระบบไฟฟ้าจะมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของโหลดและแหล่งจ่ายในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความถี่ของระบบไฟฟ้าเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรคำนึงถึง เพราะมีระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนเร็วและสูงอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ รวมถึงความผันผวนของโหลดผู้ใช้ไฟร่วมด้วย ระบบแบตเตอรี่มักเป็นตัวเลือกที่นำมาใช้จัดการความผันผวนที่เกิดขึ้น แต่หากแบตเตอรี่ต้องรองรับภาระความผันผวนเร็วและสูง จะส่งผลให้ขนาดแบตเตอรี่ที่ติดตั้งมีขนาดใหญ่ รวมทั้งความถี่การใช้งานที่สูงก็จะทำให้อายุแบตเตอรี่สั้นลง งานวิทยานิพนธ์นี้จึงนำเสนอการประยุกต์ใช้ระบบล้อตุนกำลังร่วมกับระบบแบตเตอรี่ เพื่อรักษาความถี่ของระบบไฟฟ้าขนาดเล็กของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนในสภาวะแยกโดด โดยกำหนดให้รับภาระในส่วนที่มีความผันผวนเร็ว ระบบล้อตุนกำลังเป็นระบบกักเก็บพลังงานทางกลที่มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องกำลังไฟฟ้าสูง การตอบสนองรวดเร็ว และอายุการใช้งานยาวนาน จึงเหมาะสำหรับการใช้งานเชิงกำลังไฟฟ้าในช่วงเวลาสั้น ๆ อย่างปัญหาความผันผวนของความถี่ของระบบไฟฟ้า วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความเบี่ยงเบนความถี่ในระบบไฟฟ้า 2 แนวทาง คือ 1) การควบคุมความถี่โหลดด้วยระบบล้อตุนกำลังร่วมกับระบบแบตเตอรี่และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก สำหรับความผันผวนเร็ว ปานกลาง และช้า ตามลำดับ และ 2) การปรับเรียบกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบล้อตุนกำลังและระบบแบตเตอรี่ เพื่อลดความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาจะอาศัยข้อมูลจริงของแหล่งผลิตไฟฟ้าและโหลดในพื้นที่ เพื่อออกแบบแนวทางที่เหมาะสมในการประสานการทำงานของระบบกักเก็บพลังงาน ผลการจำลองด้วยโปรแกรม DIgSILENT แสดงให้เห็นว่าการใช้ระบบล้อตุนกำลังร่วมกับแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ในพื้นที่สามารถช่วยรักษาความถี่ของระบบให้เป็นไปตามมาตรฐาน และการใช้ระบบล้อตุนกำลังเพื่อรองรับความผันผวนเร็วทดแทนภาระงานเดิมของแบตเตอรี่ ทำให้ระบบล้อตุนกำลังที่ใช้มีขนาดเล็กและสามารถช่วยลดขนาดติดตั้งของแบตเตอรี่ รวมถึงลดรอบการทำงานและความเสื่อมจากการใช้งานที่เกิดขึ้นกับแบตเตอรี่ได้ ส่งผลให้อายุการทำงานของแบตเตอรี่ยาวนานขึ้น


การขนส่งอนุภาคและเซลล์ในช่องทางไหลจุลภาคด้วยอิเล็กโทรออสโมซิสและอิเล็กโทรโฟเรซิส, พิสิฐชัย กำมณี Jan 2020

การขนส่งอนุภาคและเซลล์ในช่องทางไหลจุลภาคด้วยอิเล็กโทรออสโมซิสและอิเล็กโทรโฟเรซิส, พิสิฐชัย กำมณี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาการขนส่งอนุภาคและเซลล์ในช่องทางไหลจุลภาคด้วยอิเล็กโทรออสโมซิสและอิเล็กโทรโฟเรซิส. วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์คือ ศึกษาการขับเคลื่อนของเหลวและการขับเคลื่อนอนุภาคหรือเซลล์ในช่องทางไหลจุลภาคด้วยจลนศาสตร์ไฟฟ้า ที่สภาพนำไฟฟ้าของของเหลวที่แตกต่างกัน. การไหลของของเหลวถูกสังเกตด้วยสารเรืองแสงภายใต้สนามไฟฟ้า 0.025 kV/mm. การทดลองขนส่งอนุภาคและเซลล์กระทำภายใต้สนามไฟฟ้าเฉลี่ย 0.005-0.04 kV/mm. ในการทดลอง อนุภาคพอลิสไตรีนขนาด 10 µm ถูกแขวนลอยในน้ำปราศจากไอออนที่มีสภาพนำไฟฟ้า 1, 5 และ 25 mS/m. เซลล์เม็ดเลือดแดง (ขนาด 6-8 µm) และเซลล์มะเร็งผิวหนังสุนัข (15 µm) ถูกแขวนลอยในสารละลายเดกซ์โทรสที่มีสภาพนำไฟฟ้า 1 และ 12 mS/m ตามลำดับ. ผลการทดลองแสดงว่า ของเหลวไหลด้วยอิเล็กโทรออสโมซิสในทิศทางของสนามไฟฟ้า. กรณีแรงดันไฟฟ้ารูปคลื่นไซน์ อนุภาคเคลื่อนที่ได้ระยะทางประมาณ 50-450 µm ที่สนามไฟฟ้า 0.006-0.032 kV/mm. กรณีแรงดันไฟฟ้ารูปคลื่นพัลส์สี่เหลี่ยม อนุภาคและเซลล์เม็ดเลือดแดงเคลื่อนที่ได้ระยะทางประมาณ 200-1400 µm และ 100-1000 µm ตามลำดับ ที่สนามไฟฟ้าเฉลี่ย 0.01-0.04 kV/mm. เซลล์มะเร็งผิวหนังสุนัขเคลื่อนที่ได้ระยะทาง 40-500 µm ที่สนามไฟฟ้าเฉลี่ย 0.005-0.025 kV/mm. ระยะการเคลื่อนที่ของอนุภาคและเซลล์แปรผันตามสนามไฟฟ้าอย่างเป็นเชิงเส้น. กรณีแรงดันไฟฟ้ารูปคลื่นไซน์ ระยะการเคลื่อนที่ของอนุภาคที่สภาพนำไฟฟ้า 1 และ 5 mS/m มีค่าใกล้เคียงกัน ซึ่งมากกว่าสภาพนำไฟฟ้า 25 mS/m. กรณีแรงดันไฟฟ้ารูปคลื่นพัลส์สี่เหลี่ยม ระยะการเคลื่อนที่ของอนุภาคมีค่าใกล้เคียงกันทุกสภาพนำไฟฟ้า. การขนส่งเซลล์ในช่องทางไหลจุลภาคด้วยอิเล็กโทรโฟเรซิสทำได้ โดยที่ไม่ทำให้เซลล์เกิดความเสียหายภายใต้สนามไฟฟ้าไม่เกิน 0.04 kV/mm สำหรับเซลล์เม็ดเลือดแดง และ 0.025 kV/mm สำหรับเซลล์มะเร็งผิวหนังสุนัข.


การกำหนดราคาในตลาดการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เหลือระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ทวิรท เจนจบ Jan 2020

การกำหนดราคาในตลาดการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เหลือระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ทวิรท เจนจบ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เนื่องด้วยอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งรวมในช่วง Peak สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ใช้ในการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในปัจจุบัน ยังคงมีค่าค่อนข้างสูง รวมถึงภาครัฐได้ประกาศรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภท Firm ระบบ Cogeneration ที่ระบบส่งจ่าย ระดับแรงดัน 115 กิโลโวลต์ ที่การเชื่อมต่อระหว่างโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก กับสถานีไฟฟ้าของ กฟภ. ในพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 (ภาคกลาง) จังหวัดชลบุรี โดยพิจารณามาตรฐานด้านพิกัดแรงดัน ปริมาณกำลังไฟฟ้าในสายส่ง ตามข้อกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พ.ศ. 2559) เพื่อเพิ่มทางเลือกในการซื้อพลังงานไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่ายของ กฟภ. วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอรูปแบบ และกลไกการกำหนดราคาตลาดซื้อขายกำลังไฟฟ้าส่วนที่เหลือระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภท Firm ระบบ Cogeneration และ กฟภ. ทั้งนี้ปริมาณกำลังไฟฟ้าส่วนที่เหลือจะคำนวณจากปริมาณที่เหลือจากการขายพลังงานไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ตามสัญญา และลูกค้าในอุตสาหกรรมของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก นอกจากนี้ราคาซื้อขายกำลังไฟฟ้าจะถูกกำหนดด้วยวิธีการประมูลแบบทางเดียว (Single-Sided Auction) โดยใช้วิธีการหาค่าเฉลี่ยของการประมูลระหว่างแบบ Uniform-Price Auction และ Pay-as-Bid Auction ซึ่งเป็นวิธีที่สร้างผลประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าตลาดซื้อขายกำลังไฟฟ้าส่วนที่เหลือนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อพลังงานไฟฟ้าของ กฟภ. และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก


การจำแนกสาเหตุความผิดพร่องในระบบจำหน่าย 33 Kv ของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยใช้การเรียนรู้ของเครื่อง, วิษณุ พรหมรัตน์ Jan 2020

การจำแนกสาเหตุความผิดพร่องในระบบจำหน่าย 33 Kv ของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยใช้การเรียนรู้ของเครื่อง, วิษณุ พรหมรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอกระบวนการจำแนกสาเหตุความผิดพร่องที่เกิดในระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้แก่ กลุ่มของสัตว์ ต้นไม้ และอุปกรณ์ชำรุด โดยใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์รูปคลื่นแรงดันและกระแสที่บันทึกได้จากรีเลย์ที่สถานีไฟฟ้า เพื่อหาค่าแรงดันตกชั่วขณะ อัตราการเปลี่ยนแปลงของกระแสและแรงดัน ค่าสูงสุดของกระแสและแรงดันนิวทรัล ความผิดพร่องแบบชั่วคราวหรือถาวร ชนิดของความผิดพร่อง และความผิดพร่องที่มีการแปรเปลี่ยนประเภท จากนั้นให้การเรียนรู้ของเครื่อง เปรียบเทียบกับวิธีโครงข่ายประสาทเทียม จำแนกสาเหตุของความผิดพร่องเพื่อลดระยะเวลาในการตรวจสอบเคลียร์ไลน์ระบบจำหน่ายเมื่อเกิดเหตุผิดพร่องและใช้ในการวางแผนการจัดการงานแก้ไฟฟ้าขัดข้อง ทดสอบความแม่นยำของอัลกอริทึมโดยการทดสอบจริงกับระบบจำหน่ายของ กฟภ. ในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางของประเทศไทย ผลการทดสอบกระบวนการที่นำเสนอแสดงว่า การเรียนรู้ของเครื่องสามารถจำแนกได้มีความถูกต้องมากกว่าโครงข่ายประสาทเทียมที่ข้อมูลฝึกฝน จำนวน 200 เหตุการณ์ โดยสามารถจำแนกว่าเหตุผิดพร่องอยู่ในกลุ่มใดที่ 72.72% และสามารถระบุถึงสาเหตุความผิดพร่อง ด้วยความแม่นยำที่ 81.21% ถึง 88.89%


การบูรณาการต้นแบบระบบการจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในบ้านและการพัฒนาแอปพลิเคชันส่วนต่อประสานกราฟฟิกกับผู้ใช้บนสมาร์ตโฟน, ภูชิต ภัทรสุทธิ Jan 2020

การบูรณาการต้นแบบระบบการจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในบ้านและการพัฒนาแอปพลิเคชันส่วนต่อประสานกราฟฟิกกับผู้ใช้บนสมาร์ตโฟน, ภูชิต ภัทรสุทธิ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการพัฒนาต้นแบบระบบจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในบ้าน โดยมีการรวบรวมแนวคิดการพัฒนาระบบจัดการพลังงานไฟฟ้าจากกงานวิจัยที่ผ่านมา พัฒนาให้อยู่ในระบบเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนเพื่อควบคุมการทำงานของระบบอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ระบบจัดการพลังงานไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งแวดล้อมภายในบ้านที่มีความสามารถในการตรวจจับ อุณหภูมิ ความชื้น ค่าความเข้มของแสง และการตรวจจับการเคลื่อนไหวภายในบ้าน นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ปลั๊กไฟอัจฉริยะที่มีความสามารถในการวัดค่าพลังงานไฟฟ้าและการควบคุมเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ ข้อมูลทั้งหมดจากเซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและอุปกรณ์ปลั๊กไฟอัจฉริยะจะถูกส่งมาประมวลผลในโปรแกรมระบบจัดการพลังงานไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นบนอุปกรณ์ประมวลผล Raspberry Pi โดยระบบที่พัฒนาขึ้นจะมีความสามารถในการแสดงข้อมูลจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานไฟฟ้าของอุปกรณ์ต่างๆ ในเวลาปัจจุบัน รวมถึงการควบคุมเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆตามรูปแบบควบคุมที่กำหนดไว้ ในส่วนของแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนจะมีการพัฒนาบนระบบ Android มีความสามารถในการแสดงข้อมูลและควบคุมการทำงานของระบบ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเขาถึงการใช้งานระบบจากที่ไหนก็ได้


การพัฒนาระบบการจัดการพลังงานในชุมชนสำหรับอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, พงศา พยอมแย้ม Jan 2020

การพัฒนาระบบการจัดการพลังงานในชุมชนสำหรับอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, พงศา พยอมแย้ม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอการจัดการพลังงานแบบกระจายศูนย์ที่เหมาะสมสำหรับระบบไมโครกริดอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน การออกแบบการจัดการพลังงานนี้มีแรงจูงใจเพื่อแก้ปัญหาความเชื่อถือได้ต่ำที่เกิดจากไฟฟ้าดับบ่อยครั้งอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ แม้ว่าจะมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพียงพอต่อการจ่ายโหลดในพื้นที่ในหลายช่วงเวลาตลอดทั้งปี ระบบการจัดการพลังงานสำหรับชุมชนที่นำเสนอนี้จะใช้วิธีการหาค่าเหมาะที่สุดผ่านแบบจำลองโปรแกรมเชิงเส้นจำนวนเต็มแบบผสม ร่วมกับข้อมูลการพยากรณ์หนึ่งวันล่วงหน้าของความต้องการใช้ไฟฟ้า กำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน เป็นข้อมูลป้อนเข้า โดยพิจารณาในสองภาวะการทำงาน ในภาวะเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลัก กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมมีค่าต่ำที่สุด ร่วมกับการเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นไปสู่ภาวะแยกโดดด้วยการสำรองปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและการควบคุมการไหลของกำลังไฟฟ้าผ่านสายส่งเชื่อมโยง ส่วนในภาวะแยกโดดจะจัดการพลังงานที่ได้สำรองไว้ในช่วงภาวะเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าหลัก เพื่อให้ระบบไฟฟ้าเลี้ยงตัวเองได้ตามระยะเวลาที่ต้องการ โดยพิจารณาทั้งการสำรองกำลังไฟฟ้าและแบบจำลองการตอบสนองด้านโหลด ผลการจำลองแบบระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ เมื่อเทียบกับกรณีฐานซึ่งเป็นการจัดการพลังงานแบบเดิมภายใต้ข้อมูลการจ่ายไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2557 ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าการจัดการพลังงานที่นำเสนอสามารถเปลี่ยนจากเดิมที่มีต้นทุนการจัดหาไฟฟ้าที่ 52,884 บาท เป็นรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนเกินที่ 287,456 บาท การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีค่าลดลงได้ร้อยละ 62 ของกรณีฐาน และช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าดับมีค่าลดลงจาก 78 ชั่วโมง เหลือ 16 ชั่วโมง จากตัวอย่างกรณีศึกษาในช่วงฤดูแล้ง ส่วนในภาวะแยกโดด จากผลการจำลองที่ระบุระยะเวลาแยกโดดต่าง ๆ กัน ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นว่ามีการจัดสรรการใช้พลังงานจากแหล่งผลิตต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและสามารถแยกโดดได้เป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้


การวางตำแหน่งที่เหมาะที่สุดของตัวขยายแสงเอสโอเอสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ข้อมูลอีเทอร์เน็ต 100 กิกะบิต, พิชชากรณ์ สวัสดี Jan 2020

การวางตำแหน่งที่เหมาะที่สุดของตัวขยายแสงเอสโอเอสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ข้อมูลอีเทอร์เน็ต 100 กิกะบิต, พิชชากรณ์ สวัสดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการวางตำแหน่งที่เหมาะสมของตัวขยายแสงเอสโอเอเพื่อขยายระยะทางของการสื่อสารทางแสงในการเชื่อมต่อโครงข่ายศูนย์ข้อมูล 100 กิกะบิต โดยใช้ดับเบิ้ลยูดีเอ็ม 4 ช่องสัญญาณในช่วงความยาวคลื่นในแถบความถี่โอ (1295 nm, 1300 nm, 1305 nm, และ 1310 nm) ด้วยอัตราการส่งข้อมูลช่องสัญญาณละ 25.78125 กิกะบิตต่อวินาทีตามมาตรฐาน 100GBASE-LR4 คุณภาพสัญญาณภายหลังการแทรกตัวขยายแสงเอสโอเอจะได้รับผลกระทบจาก (1) การเสื่อมโอเอสเอ็นอาร์เมื่อกำลังขาเข้าตัวขยายแสงเอสโอเอมีค่าต่ำ, (2) ผลกระทบรูปแบบบิตเมื่อกำลังขาเข้าตัวขยายแสงเอสโอเอมีค่าสูง, และ (3) เอ็กซ์จีเอ็มเมื่อใช้ขยายหลายช่องดับเบิ้ลยูดีเอ็ม เพื่อระบุการวางตำแหน่งที่เหมาะสมของตัวขยายแสงเอสโอเอ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ประเมินคุณภาพสัญญาณจากแผนภาพรูปตาและรูปคลื่นของสัญญาณแสงรวมทั้งกราฟอัตราความผิดพลาดบิตและกราฟช่วงไดนามิก ซึ่งวัดจากการทดลองสองชุดคือ (1) ชุดแรกใช้อุปกรณ์วิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลการทดลองกับการคำนวณผ่านโปรแกรม MATLAB ได้ และ (2) ชุดสองใช้อุปกรณ์เชิงพาณิชย์เพื่อบ่งบอกความรุนแรงของผลกระทบทั้งสามในลิงก์ดับเบิ้ลยูดีเอ็มที่ใช้จริง ผลการทดลองชุดแรกสรุปได้ว่า (1) ผลการทดลองใกล้เคียงกับผลการคำนวณอัตราความผิดพลาดบิตภายใต้ผลกระทบหลักของการเสื่อมโอเอสเอ็นอาร์ (2) ผลกระทบรูปแบบบิตไม่สามารถถูกคำนวณได้เนื่องจากเป็นผลกระทบแบบไม่เชิงเส้น โดยขึ้นอยู่กับเวลาฟื้นฟูของตัวขยายแสงเอสโอเอและลำดับไบนารี่การสุ่มแบบเทียมที่ใช้งาน, และ (3) การวางตำแหน่งที่เหมาะของตัวขยายแสงเอสโอเอคือ 40 กิโลเมตรจากภาคส่ง อีกทั้งผลการทดลองชุดสองสรุปได้ดังนี้ผลกระทบทั้งสามก่อให้เกิดโทษกำลังที่ต่างกันในการส่งข้อมูลอย่างไรก็ตามการวางตำแหน่งที่เหมาะสมของตัวขยายแสงเอสโอเอในการทดลองนี้คือระยะทาง 40 กิโลเมตรเช่นเดียวกับการทดลองแรก ท้ายสุดเมื่อส่งข้อมูลทั้งสี่ช่องสัญญาณผ่านเส้นใยแก้วนำแสงระยะทางดังกล่าวและตัวขยายแสงเอสโอเอ พบว่าอัตราความผิดพลาดบิตมีค่าต่ำกว่า 10-12 พิสูจน์การรับส่งข้อมูลตามมาตรฐาน 100GBASE-LR4 ได้


การวิเคราะห์ค่าสนามไฟฟ้าของระบบสายส่งไฟฟ้ากระเเสสลับเเรงดัน 230 Kv ที่ใช้งานในพื้นที่จำกัด, ภาคภูมิ ขนุนก้อน Jan 2020

การวิเคราะห์ค่าสนามไฟฟ้าของระบบสายส่งไฟฟ้ากระเเสสลับเเรงดัน 230 Kv ที่ใช้งานในพื้นที่จำกัด, ภาคภูมิ ขนุนก้อน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้วิเคราะห์ค่าสนามไฟฟ้าในระบบสายส่ง 230 kV ที่ใช้งานในพื้นที่จำกัดโดยใช้วิธีไฟไนต์เอลิเมนต์. วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์คือ การคำนวณค่าสนามไฟฟ้าบริเวณขอบเขตเดินระบบโครงข่ายไฟฟ้าแบบ 2 มิติ, เเบบ 3 มิติ, และวิธีเงาประจุ. การคำนวณค่าสนามไฟฟ้าสูงสุด 3 เฟสที่อุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงได้แก่ วงแหวนเกลี่ยสนามไฟฟ้า, วงแหวนโคนา, และฉนวนพอลิเมอร์. การเปลี่ยนเเปลงค่าพารามิเตอร์ของวงเเหวนเกลี่ยสนามไฟฟ้าได้แก่ รัศมีท่อวงแหวน (r), รัศมีของแหวน (R), และ ระยะห่างจากรอยต่อสามทาง (H) ถูกนำมาใช้ปรับปรุงค่าสนามไฟฟ้าสูงสุด. สนามไฟฟ้าบริเวณขอบเขตเดินระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีค่าประมาณ 0.7 kVrms/m ณ ความสูง 1 m จากพื้นดิน. ค่าสนามไฟฟ้าต่ำกว่าเกณฑ์ของ กฟผ. ซึ่งระบุไว้ที่ 2 kVrms/m. ผลการคำนวณค่าสนามไฟฟ้าแสดงให้เห็นว่าสนามไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นที่เฟส B. สนามไฟฟ้าสูงสุดที่วงแหวนเกลี่ยสนามไฟฟ้า, วงแหวนโคโรนา, เเละฉนวนมีค่าเท่ากับ 13 kVp/cm 12 kVp/cm, และ 3 kVp/cm ตามลำดับ. สนามไฟฟ้าดังกล่าวมีค่าต่ำกว่าสนามไฟฟ้าวิกฤตในอากาศที่ 21 kVp/cm บนผิวตัวนำไฟฟ้า และ 6.4 kVp/cm บนผิวฉนวน. ผลการหาค่าที่เหมาะสมของพารามิเตอร์ได้ค่า r, R, เเละ H เท่ากับ 35 mm, 180 mm, และ 0.43 m ตามลำดับ. ค่าสนามไฟฟ้าลดลง 40 % เมื่อได้พารามิเตอร์ที่เหมาะสม. อย่างไรก็ตาม วงแหวนเกลี่ยสนามไฟฟ้าถูกวางใกล้กับกราวด์มากขึ้น. ระยะอาร์คระหว่างไฟฟ้าแรงสูงถึงกราวด์จะสั้นลงไปด้วยเมื่อ H ที่เพิ่มขึ้น.


การวางตำแหน่งเหมาะที่สุดสำหรับตัวขยายแสงสื่อสารสองทางสำหรับลิงก์อีเทอร์เน็ต 10 กิกะบิตต่อวินาที, วิทวัส วรภมร Jan 2020

การวางตำแหน่งเหมาะที่สุดสำหรับตัวขยายแสงสื่อสารสองทางสำหรับลิงก์อีเทอร์เน็ต 10 กิกะบิตต่อวินาที, วิทวัส วรภมร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการทดลองวางตัวขยายแสงสื่อสารสองทางสำหรับลิงก์อีเทอร์เน็ตอัตราบิต 10 Gb/s ที่ช่วงความยาวคลื่นในแถบความถี่ซี (1530 - 1565 nm) ตามมาตรฐาน IEEE 802.3ae ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือการขยายระยะทางส่งสัญญาณข้อมูลแสงระหว่างมอดูลรับส่งทั่วไปภายในโครงข่ายรวมกลุ่ม ด้วยการวางอีดีเอฟเอสื่อสารสองทางภายในลิงก์ที่ตำแหน่งต่างกันเช่น ตำแหน่งกึ่งกลางลิงก์, หลังตัวส่งแสง และก่อนหน้าตัวตรวจจับแสง โดยพิจารณาสมการงบกำลังกับงบเวลาขาขึ้นเพื่อคำนวณข้อจำกัดกำลังในลิงก์และโครมาติกดิสเพอร์ชันที่ส่งผลต่อการถ่างออกของสัญญาณข้อมูล จากนั้นวิเคราะห์ไดอะแกรมระดับพบว่าตำแหน่งกึ่งกลางลิงก์ (50%) หรือตำแหน่งตั้งแต่ 30% ถึง 70% ของระยะทางเส้นใยนำแสงโหมดเดี่ยวมาตรฐานสูงสุดในลิงก์เป็นตำแหน่งเหมาะสมที่สุด เมื่อพิจารณาแผนภาพรูปตากับอัตราความผิดพลาดบิตที่ 10-9 และ 10-12 แบ่งการวิเคราะห์เป็น 2 กรณีคือ (1) ผลกระทบจากอุปกรณ์ภายในลิงก์ และ (2) การเปลี่ยนตำแหน่งวางอีดีเอฟเอสื่อสารสองทาง จากผลการทดลองทั้งหมดพบว่าปัญหาโครมาติกดิสเพอร์ชันส่งผลต่อลิงก์มากที่สุดแต่สามารถลดปัญหาด้วยการใช้เส้นใยนำแสงชนิดชดเชยดิสเพอร์ชัน เช่นเดียวกับสัญญาณรบกวนจากการใช้อีดีเอฟเอสามารถลดด้วยการใช้ตัวกรองเฉพาะย่านความถี่แสงแบบปรับค่าได้ที่มีความกว้างสเปกตรัม 1 nm ส่วนตำแหน่งกึ่งกลางลิงก์จะมีค่าอัตราความผิดพลาดบิตดีที่สุดและตำแหน่ง 30% ถึง 70% จะมีค่าใกล้เคียงกัน นอกจากนี้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงกำลังบนแพ็กเกตอีเทอร์เน็ตของอีดีเอฟเอ 2 ประเภทคือ อีดีเอฟเอสื่อสารสองทางแบบทั่วไปกับอีดีเอฟเอแบบวิธีส่งเป็นชุดอย่างเร็ว ซึ่งอีดีเอฟเอแบบวิธีส่งเป็นชุดอย่างเร็วมีการเปลี่ยนแปลงกำลังน้อยที่สุด ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้สามารถส่งสัญญาณข้อมูลอีเทอร์เน็ตได้ระยะทางสูงสุด 80 km (เส้นใยนำแสงโหมดเดี่ยวมาตรฐาน 80 km ร่วมกับเส้นใยนำแสงชนิดชดเชยดิสเพอร์ชัน 10 km) และ 120 km (เส้นใยนำแสงโหมดเดี่ยวมาตรฐาน 120 km ร่วมกับเส้นใยนำแสงชนิดชดเชยดิสเพอร์ชัน 15 km) ด้วยการใช้อีดีเอฟเอสื่อสารสองทางพร้อมกับตัวกรองเฉพาะย่านความถี่แสงแบบปรับค่าได้ที่มีความกว้างสเปกตรัม 1 nm


การศึกษาเปรียบเทียบเทคนิคการหาตำแหน่งความผิดพร่องบนสายส่งจากข้อมูลทั้งสองปลายสายโดยไม่ใช้พารามิเตอร์ของสายส่ง, จงพุฒิ สิงห์คา Jan 2020

การศึกษาเปรียบเทียบเทคนิคการหาตำแหน่งความผิดพร่องบนสายส่งจากข้อมูลทั้งสองปลายสายโดยไม่ใช้พารามิเตอร์ของสายส่ง, จงพุฒิ สิงห์คา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จวบจนปัจจุบันมีการนำเสนอเทคนิคการคำนวณหาตำแหน่งความผิดพร่องบนสายส่งโดยไม่ใช้พารามิเตอร์ของสายส่งอย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่จะคำนวณจากกระแสและแรงดันจากทั้งสองปลายที่ต้องคำนึงถึงการประสานเวลาของข้อมูลจากทั้งสองฝั่ง วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาเปรียบเทียบความถูกต้องในการคำนวณตำแหน่งความผิดพร่องของ 4 เทคนิคที่ไม่ใช้พารามิเตอร์ของสายส่ง พร้อมศึกษาพารามิเตอร์ที่มีผลกระทบต่อความแม่นยำ ใช้โปรแกรม MATLAB/SIMULINK จำลองระบบไฟฟ้ากรณีที่เกิดความผิดพร่อง โดยปรับค่าพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น ตำแหน่งที่เกิดความผิดพร่อง ความยาวสายส่ง ความต้านทานที่จุดเกิดความผิดพร่อง ชนิดของความผิดพร่อง ความคลาดเคลื่อนของหม้อแปลงเครื่องมือวัด นอกจากนี้ได้ทดสอบใช้ข้อมูลจริงเมื่อเกิดความผิดพร่องบนสายส่งที่ได้จากเครื่องบันทึกความผิดพร่องมาใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบด้วย


การแบ่งกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อการขอความร่วมมือในการดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดได้อย่างเหมาะสม, วุทธิพงศ์ ปุพเพตะนันท์ Jan 2020

การแบ่งกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อการขอความร่วมมือในการดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดได้อย่างเหมาะสม, วุทธิพงศ์ ปุพเพตะนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอแบ่งกลุ่มพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัยในเขตพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวงเพื่อการขอความร่วมมือในการดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดได้อย่างเหมาะสมด้วยการพิจารณาจากค่าการใช้ไฟฟ้าต่ำที่สุดและค่าการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดเทียบกับค่าการใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลาต่างๆของวันของบ้านหลังนั้นโดยใช้วิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ K-Means และวิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ Fuzzy C-Means และมีการจำลองสถานการณ์การดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดแบบ Emergency Demand Response Program จากข้อมูลกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่แบ่งกลุ่มได้ดังกล่าวด้วยการขอความร่วมมือให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เครื่องปรับอากาศโดยเพิ่มอุณหภูมิการใช้เครื่องปรับอากาศเป็น 27°C ในช่วงเวลาที่จำลองสถานการณ์การดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (ช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง 3 ชั่วโมงของวัน) เพื่อการคำนวณการลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว จากการวิเคราะห์ลักษณะพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าจากผลรวมค่าการใช้ไฟฟ้าของบ้านอยู่อาศัยทั้ง 60 หลังในเขตพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวงตามช่วงเวลาต่างๆ พบว่าสามารถพิจารณาการดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง 3 ชั่วโมงของวันได้แก่ 0.15 - 03.15 น., 09.00 - 12.00 น., 13.00 - 16.00 น. และ 20.15 - 23.15 น. ผลลัพธ์การแบ่งกลุ่มพบว่าสามารถแบ่งกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัยในเขตพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวงได้เป็น 7 กลุ่มที่แตกต่างกัน และวิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ K-Means ให้ผลลัพธ์การแบ่งกลุ่มข้อมูลได้ดีกว่าวิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ แบบ Fuzzy C-Means เนื่องจากวิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ K-Means สามารถจับกลุ่มข้อมูลบ้านอยู่อาศัยที่มีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ที่ดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดที่เหมือนกันให้สามารถมารวมกลุ่มกันได้ทั้งหมด แต่วิธีการแบ่งกลุ่มข้อมูลแบบ Fuzzy C-Means สามารถจับกลุ่มข้อมูลบ้านอยู่อาศัยที่มีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ที่ดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดที่เหมือนกัน ให้สามารถมารวมกลุ่มกันเพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อพิจารณาการดำเนินมาตรการการตอบสนองด้านโหลดในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง 3 ชั่วโมงของวัน ผลการจำลองสถานการณ์ขอความร่วมมือบ้านอยู่อาศัยทั้ง 60 หลังในเขตพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวงดังกล่าวให้เปิดใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 27°C ซึ่งอยู่ในช่วงอุณหภูมิที่ยอมรับได้ด้านความสะดวกสบายของคนไทยในอาคารพักอาศัยที่มีเครื่องปรับอากาศ พบว่าสามารถลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวลงได้ 20.4 เปอร์เซ็นต์, 20.1 เปอร์เซ็นต์, 19.7 เปอร์เซ็นต์ และ 21.3 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ


สถาปัตยกรรมประสิทธิภาพสูงเพื่อตรวจจับและบรรยายจุดเด่นของภาพบนพื้นฐานของขั้นตอนวิธีโออาร์บี, ทักษพร อิ่มแสงสุข Jan 2020

สถาปัตยกรรมประสิทธิภาพสูงเพื่อตรวจจับและบรรยายจุดเด่นของภาพบนพื้นฐานของขั้นตอนวิธีโออาร์บี, ทักษพร อิ่มแสงสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอสถาปัตยกรรมประสิทธิภาพสูงเพื่อตรวจจับและบรรยายจุดเด่นบนพื้นฐานของขั้นตอนวิธีโออาร์บี สถาปัตยกรรมถูกบรรยายด้วยภาษาวีเอชดีแอลและถูกออกแบบให้สามารถประมวลผลบนเอฟพีจีเอได้ ขั้นตอนวิธีการที่ นำไปใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมนั้นถูกพัฒนาขึ้นด้วยภาษาไพทอนเพื่อลดความซับซ้อนและปรับปรุงขั้นตอนวิธีให้เหมาะสมกับการทำงานของฮาร์ดแวร์ โดยประยุกต์ใช้การประมวลผลแบบขนาน, การจัดระบบงานแบบสายท่อ (parallel and pipeline techniques) และเปลี่ยนวิธีในการประมวลผลบางขั้นตอนให้สามารถคำนวณได้โดยไม่ต้องอาศัยวงจรคำนวณเชิงคณิตศาสตร์เพิ่มเติมในการเร่งการทำงานของระบบ จากผลการทดสอบสถาปัตยกรรมด้วยโปรแกรม ModelSim พบว่าสถาปัตยกรรมสามารถรองรับสัญญาณภาพขนาด 1920x1080 จุดภาพอัตรา 30 เฟรมต่อวินาทีได้ โดยยังคงค่าความต้องกันของจุดมุมและความแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับผลที่ได้จากฟังก์ชัน cv.ORB() ใน OpenCV library


แหล่งจ่ายกำลังไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้คอนเวอร์เตอร์แบบไฮบริดด้วยเซลล์แบบเอชบริดจ์ที่มีแหล่งจ่ายไฟตรงไม่เท่ากัน, ระพีพงศ์ เรียงเรียบ Jan 2020

แหล่งจ่ายกำลังไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้คอนเวอร์เตอร์แบบไฮบริดด้วยเซลล์แบบเอชบริดจ์ที่มีแหล่งจ่ายไฟตรงไม่เท่ากัน, ระพีพงศ์ เรียงเรียบ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอการสร้างแหล่งจ่ายกำลังไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้คอนเวอร์เตอร์แบบไฮบริดด้วยเซลล์แบบเอชบริดจ์ที่มีแหล่งจ่ายไฟตรงไม่เท่ากัน คอนเวอร์เตอร์ดังกล่าวจะใช้อินเวอร์เตอร์หลายระดับเป็นส่วนหลักในการสร้างแรงดันและจะมีวงจรขยายเชิงเส้นทำหน้าที่ในการชดเชยแรงดันที่ผิดเพี้ยนไปและควบคุมให้แรงดันด้านออกได้ตามแรงดันคำสั่ง หลักการดังกล่าวทำให้สามารถสร้างแรงดันด้านออกที่มีคุณภาพและแบนด์วิดท์สูงกว่าคอนเวอร์เตอร์ที่ใช้การมอดูเลตแบบพีดับบิวเอ็ม นอกจากนี้ในส่วนของอินเวอร์เตอร์หลายระดับของคอนเวอร์เตอร์แบบไฮบริดที่นำเสนอจะใช้วิธีแหล่งจ่ายไฟตรงไม่เท่ากัน ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนระดับของแรงดันได้มากขึ้น จึงสามารถลดภาระกำลังสูญเสียที่ใช้ในการชดเชยแรงดันของวงจรขยายเชิงเส้น และยังสามารถลดความซับซ้อนของวงจรโดยรวมที่ใช้ในการสั่งควบคุมจากไมโครคอนโทรลเลอร์ได้ ทำให้สามารถควบคุมการทำงานของแหล่งจ่ายกำลังไฟฟ้ากระแสสลับทั้งสามเฟสได้ด้วยโมโครคอนโทรลเลอร์เพียงตัวเดียว จากผลการทดสอบด้วยการสร้างแรงดันที่โหลดต่าง ๆ ทั้งโหลดที่เป็นเชิงเส้นและไม่เป็นเชิงเส้น คอนเวอร์เตอร์แบบไฮบริดที่นำเสนอสามารถสร้างแรงดันคลื่นไซน์ที่มีค่าความผิดเพี้ยนฮาร์มอนิกของแรงดันไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ และรองรับกระแสไฟฟ้าที่มีตัวประกอบค่ายอดได้ถึง 3 เท่า และมีค่าแบนด์วิดท์ประมาณ 5 กิโลเฮิรตซ์


ปัญหาความเฉื่อยต่ำในระบบไฟฟ้าขนาดเล็กของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนและแนวทางการแก้ไข, สัจจพร ชิณะวงศ์ Jan 2020

ปัญหาความเฉื่อยต่ำในระบบไฟฟ้าขนาดเล็กของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนและแนวทางการแก้ไข, สัจจพร ชิณะวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ระบบไฟฟ้าของอำเภอแม่ฮ่องสอนรับกระแสไฟฟ้ามาจากสายส่ง 115 กิโลโวลต์ เมื่อเกิดความผิดพร่องจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาไฟดับและยากต่อการแก้ไข เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมทางภูมิประเทศ ซึ่งจะทำให้ระบบไฟฟ้าของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนกลายเป็นระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีความเฉื่อยต่ำเมื่อเทียบกับขณะเชื่อมต่อกับสายส่ง 115 กิโลโวลต์ ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมีเป้าหมายในการวิเคราะห์ปัญหาภายในระบบไฟฟ้าขนาดเล็กของอำเภอเมืองแม่่ฮ่องสอนที่มีค่าความเฉื่อยต่ำ โดยพิจารณาความเบี่ยงเบนของความถี่อันเนื่องมาจากความผันผวนของโหลดและกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ราย 10 วินาที เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญความละเอียดของข้อมูล รวมถึงนำเสนอแนวคิดการใช้สมการการแกว่งของระบบเพื่อวิเคราะห์หาค่าความเฉื่อยที่เหมาะสมสำหรับระบบไฟฟ้าขนาดเล็กของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนกรณีต้องการควบคุมความถี่ให้อยู่ในเกณฑ์ที่การไฟฟ้ากำหนดและการเสนอแนวทางการแก้ไขโดยใช้ความเฉื่อยเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าในพื้นที่ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กแม่ฮ่องสอน (ผาบ่อง) และโรงไฟฟ้าดีเซลที่ปัจจุบันไม่ค่อยได้ใช้งาน โดยปรับปรุงให้เดินเครื่องในโหมดตัวเก็บประจุซิงโครนัส เพื่อประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด งานวิทยานิพนธ์นี้จะใช้การจำลองระบบไฟฟ้าขนาดเล็กของอำเภอเมืองแม่่ฮ่องสอนด้วยโปรแกรม DIgSILENT เพื่อทดสอบความถูกต้องของผลการวิเคราะห์และแนวทางการแก้ไขปัญหาความเฉื่อยต่ำที่ได้นำเสนอในวิทยานิพนธ์


มิเตอร์อัจฉริยะเฟสเดียวที่สอบเทียบตัวเองที่สอดคล้องกับโพรโทคอล Openadr, นพเมธ ปวิธพาณิชย์ Jan 2020

มิเตอร์อัจฉริยะเฟสเดียวที่สอบเทียบตัวเองที่สอดคล้องกับโพรโทคอล Openadr, นพเมธ ปวิธพาณิชย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันมิเตอร์อัจฉริยะถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าโดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ให้บริการไฟฟ้าในการส่งข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟ มิเตอร์อัจฉริยะนั้นเป็นอุปกรณ์มาตรวัดที่จำเป็นจะต้องทำการสอบเทียบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การวัดค่าพลังงานทางไฟฟ้าเกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการพัฒนามิเตอร์อัจฉริยะเฟสเดียวที่สามารถสอบเทียบตัวเองได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้แหล่งจ่ายอ้างอิงหรือมิเตอร์อ้างอิงที่มีความแม่นยำสูงในการสอบเทียบ ทำให้การสอบเทียบของมิเตอร์อัจฉริยะนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรักษาความแม่นยำที่ดีอยู่เสมอ ช่วยลดต้นทุนจากการทำการสอบเทียบแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังสะดวกต่อการใช้งาน นอกจากนี้มิเตอร์อัจฉริยะในงานวิจัยฉบับนี้ยังมีความสามารถในการตอบสนองด้านโหลดอัตโนมัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานโพรโทคอล OpenADR ซึ่งจะสามารถดำเนินการการตอบสนองด้านโหลดเพื่อช่วยในการลดช่องว่างระหว่างความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังการผลิตโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (Peak) ช่วยให้โครงข่ายไฟฟ้าสามารถรักษาเสถียรภาพ ป้องกันการเกิดไฟดับเป็นวงกว้าง หรือลดความผิดปกติที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของระบบโครงข่ายไฟฟ้าต่ำลงได้ ดังนั้นการตอบสนองด้านโหลดจึงเป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยในการจัดการสภาวะวิกฤตด้านพลังงานไฟฟ้า สร้างสมดุลระหว่างความต้องการใช้พลังงานกับกำลังการผลิต และช่วยเสริมความมั่นคงในด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


Power Loss Minimization With Second Order Cone Programming Relaxation, Akira Chuppawa Jan 2020

Power Loss Minimization With Second Order Cone Programming Relaxation, Akira Chuppawa

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The minimization of power loss in distribution systems is very important to increase the reliability and performance of the system. Therefore, this thesis determines power loss minimization in a power system. The active power loss can be minimized by the alternating current optimal power flow (ACOPF) under the limits of power generations, bus voltages, and distribution lines. The general ACOPF problem is computationally intractable in practice owing to the nonlinear objective function and nonlinear constraints. Accordingly, the conventional ACOPF is a nonconvex and NP-hard optimization problem. To address this difficulty, this work develops the computation of the ACOPF by applying …


Experiment And Numerical Study Of The Charge Decay On The Surface Of Pmma Insulator, Kamonporn Malathip Jan 2020

Experiment And Numerical Study Of The Charge Decay On The Surface Of Pmma Insulator, Kamonporn Malathip

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This thesis presents the measurement and simulation of surface charge decay on a polymethyl methacrylate (PMMA) circular disc. The objective of the thesis is to calculate the surface charge density in the 2-dimensional (2D) and the 3-dimensional (3D) models for comparison with the estimated results obtained from experiments, and to study the mechanisms of charge which depends on the thickness of the dielectric disc. For the experiments, a rod-plane electrode arrangement was used to generate the positive corona discharge on surface of 1-, 2- and 10-mm thick PMMA disc. The measured surface potential was used to calculate the electric field …