Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2020

Curriculum and Instruction

Theses/Dissertations

PDF

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Articles 1 - 9 of 9

Full-Text Articles in Education

การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีรื้อสร้างและแนวคิดการโต้แย้งเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการวิพากษ์ของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต, สุธิญา พูนเอียด Jan 2020

การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีรื้อสร้างและแนวคิดการโต้แย้งเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการวิพากษ์ของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต, สุธิญา พูนเอียด

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีรื้อสร้างและแนวคิดการโต้แย้งเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการวิพากษ์ของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต และเพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น การดำเนินการวิจัย แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้ในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ระยะที่ 3 การศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน และระยะที่ 4 การนำเสนอผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ในการประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน ผู้วิจัยนำรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นไปทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษา จำนวน 30 คน ใช้เวลาในการทดลอง 8 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวัดความสามารถในการวิพากษ์ และเกณฑ์การประเมินความสามารถในการวิพากษ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการเปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการวิพากษ์ก่อน ระหว่าง และหลังการทดลอง โดยใช้สถิติทดสอบค่าที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ รวมทั้งได้วิเคราะห์เนื้อหาของข้อมูลจากแบบบันทึกการเรียนรู้ของผู้เรียน และแบบบันทึกผลการจัดการเรียนการสอน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการวิพากษ์ของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต โดยมีหลักการ 5 ประการ คือ 1) การเรียนรู้โดยศึกษาเรื่องราว ปัญหา ประเด็นหรือสถานการณ์ที่มีลักษณะกำกวม ความคลุมเครือ หรือมีความหมายแฝง โดยเชื่อมโยงความรู้ และประสบการณ์เดิมเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ที่กำหนด 2) การเรียนรู้โดยฝึกแยกส่วนประกอบของสิ่งที่แตกต่าง เป็นคู่เด่น ไม่สอดคล้องหรือตรงกันข้ามในสถานการณ์เพื่อให้เห็นสิ่งที่ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือละไว้และขยายฐานความคิดในการถอดรหัสของสารในสถานการณ์ 3) การเรียนรู้โดยจัดลำดับความสำคัญผ่านการแสวงหาข้อโต้แย้ง หลักฐาน และเหตุผลสนับสนุนจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ โดยคำนึงถึงประสบการณ์ ทัศนคติ น้ำเสียง และบริบททางสังคมเพื่อค้นหาคำตอบที่ยังมีข้อสงสัย 4) การเรียนรู้โดยใช้มุมมองที่แตกต่างและรอบด้านผ่านการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนอันหลากหลายอย่างอิสระ โดยอธิบาย อภิปราย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามลักษณะผู้เรียนเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ความสมเหตุสมผล ข้อดีและข้อจำกัดในข้อกล่าวอ้างอันจะนำไปสู่การลงข้อสรุปที่เหมาะสม 5) การเรียนรู้โดยมีส่วนร่วมในการนำเสนอผลที่เกิดขึ้นจากการยืนยันความคิด ให้มุมมองอื่น ให้ทางเลือกหรือสร้างความหมายใหม่ที่สมเหตุสมผล โดยมีข้อมูลและหลักฐานที่น่าเชื่อถือประกอบ เพื่อทำให้เกิดการยอมรับในความคิดนั้น มีขั้นตอนของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ 2) รื้อความคิด และจัดลำดับความสำคัญ 3) ตรวจสอบข้อมูลหลักฐานอย่างรอบด้าน 4) โต้แย้งและแสดงเหตุผล และ 5) สร้างมุมมองของตนเอง 2. ประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน พบว่า คะแนนเฉลี่ยความสามารถในการวิพากษ์ในภาพรวมสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 …


แนวทางการจัดการเรียนการสอนสาระวิทยาการคำนวณ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น, ศิริรัตน์ หวังสะแล่ะฮ์ Jan 2020

แนวทางการจัดการเรียนการสอนสาระวิทยาการคำนวณ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น, ศิริรัตน์ หวังสะแล่ะฮ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนสาระวิทยาการคำนวณ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ 2) เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดการเรียนการสอนสาระวิทยาการคำนวณ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ใช้การวิจัยเชิงบรรยาย เก็บข้อมูลโดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจและเชิงคุณภาพ จากกลุ่มตัวอย่างคือครูผู้สอนวิทยาการคำนวณ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 518 คน และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนสาระวิทยาการคำนวณจำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยายและการวิเคราะห์เนื้อหา สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้ 1)สภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนสาระวิทยาการคำนวณ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครูผู้สอนส่วนใหญ่พบปัญหาในการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียนเกิดความสามารถในการคิดเชิงคำนวณเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาได้จริง การกำหนดและจัดลำดับเนื้อหาที่เหมาะสมกับความรู้พื้นฐานของผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณที่ไม่เชื่อมโยงกับวิชาอื่น ทักษะพื้นฐานในการใช้สื่อเทคโนโลยีของผู้เรียนด้านการ Coding และประเมินผู้เรียนได้ไม่ครบตามตัวชี้วัด 2) แนวทางการจัดการเรียนการสอนสาระวิทยาการคำนวณ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครูผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียนออกแบบอัลกอริทึมจากเรื่องราวใกล้ตัวตามบริบทของผู้เรียนหรือตามความสนใจ ครูผู้สอนควรกำหนดเนื้อหาโดยคำนึงถึงความสนใจของผู้เรียนตามยุคสมัย ยืดหยุ่น และเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ได้ ครูผู้สอนควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการความรู้และนำทักษะจากวิทยาการคำนวณไปสู่วิชาอื่น ระยะเวลาในการจัดการเรียนการสอนควรมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ครูผู้สอนควรใช้สื่อแบบ unplugged ในการฝึกทักษะการคิดเบื้องต้น ครูผู้สอนควรมีการสร้างเครื่องมือในการวัดและประเมินผลที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริงของผู้เรียน รูปแบบในการวัดและประเมินผลควรมีรูบริค (rubrics) ที่ชัดเจนและเหมาะสมกับบริบทของผู้เรียน มีการประเมินในหลายมิติและมุมมอง


การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนแสวงความรู้บนเว็บร่วมกับกลยุทธ์คิว เอ อาร์ เพื่อเสริมสร้างการรู้เรื่องการอ่านของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น, ยุทธนา ปัญญา Jan 2020

การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนแสวงความรู้บนเว็บร่วมกับกลยุทธ์คิว เอ อาร์ เพื่อเสริมสร้างการรู้เรื่องการอ่านของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น, ยุทธนา ปัญญา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนแสวงความรู้บนเว็บร่วมกับกลยุทธ์คิว เอ อาร์ เพื่อเสริมสร้างการรู้เรื่องการอ่านของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และ 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนแสวงความรู้บนเว็บร่วมกับกลยุทธ์คิว เอ อาร์ เพื่อเสริมสร้างการรู้เรื่องการอ่านของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนขนาดกลางแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี จำนวน 1 กลุ่ม ได้มาด้วยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม มีนักเรียนจำนวน 33 คน ใช้เวลาในการทดลอง 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 100 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวัดความเข้าใจในการอ่าน แบบวัดความผูกพันกับการอ่าน แบบบันทึกความผูกพันกับการอ่าน และแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนแสวงความรู้บนเว็บร่วมกับกลยุทธ์คิว เอ อาร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test dependent) ผลการวิจัยพบว่า 1. การจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนแสวงความรู้บนเว็บร่วมกับกลยุทธ์คิว เอ อาร์ มีองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) วัตถุประสงค์การจัดการเรียนรู้ คือ เพื่อเสริมสร้างการรู้เรื่องการอ่านของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 2) เนื้อหาสาระและสื่อที่ใช้ ประกอบด้วยสถานการณ์การอ่าน 4 สถานการณ์ ได้แก่ สถานการณ์สาธารณะ สถานการณ์ส่วนตัว สถานการณ์การศึกษา และสถานการณ์การงานอาชีพ มีบทเรียนที่ใช้จำนวน 8 บทเรียน 3) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ มี 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นกระตุ้นความสนใจ ขั้นทำความเข้าใจภาระงาน ขั้นปฏิบัติกิจกรรมการอ่าน ขั้นสะท้อนผลการทำงาน และขั้นเปลี่ยนผ่านสู่สถานการณ์ใหม่ และ 4) การวัดและประเมินผล ดำเนินการวัดและประเมินผลการรู้เรื่องการอ่านก่อนและหลังการทดลองด้วยแบบวัดความเข้าใจการอ่าน และแบบวัดความผูกพันกับการอ่าน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น 2. ผลการศึกษาประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนแสวงความรู้บนเว็บร่วมกับกลยุทธ์คิว เอ อาร์ พบว่า 1) การรู้เรื่องการอ่านในภาพรวมของนักเรียนหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ด้วยบทเรียนแสวงความรู้บนเว็บร่วมกับกลยุทธ์คิว เอ อาร์ สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ …


การพัฒนาชุดกิจกรรมตามแนวคิดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะของลิคโคนาเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการจัดการการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกไซเบอร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, สุรดิษ สุวรรณลา Jan 2020

การพัฒนาชุดกิจกรรมตามแนวคิดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะของลิคโคนาเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการจัดการการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกไซเบอร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, สุรดิษ สุวรรณลา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมตามแนวคิดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะของลิคโคนา เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการจัดการการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกไซเบอร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างก่อนและหลังการทดลอง แบบการวิจัยเป็นการวิจัยแบบการทดลองเบื้องต้น กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 25 คน ซึ่งได้มาจากการคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ ชุดกิจกรรมตามแนวคิดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะของลิคโคนาฯ และ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบวัดความสามารถในการจัดการการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกไซเบอร์ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่า t-test ผลการวิจัยพบว่า ผลการศึกษาการใช้ชุดกิจกรรมฯ พบว่า นักเรียนที่ได้เข้าร่วมการจัดกิจกรรมฯ มีความสามารถในการจัดการการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกไซเบอร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนมีความสามารถในการจัดการการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกไซเบอร์ ได้แก่ 1) ด้านการจัดการกับตัวเอง 2) ด้านการจัดการกับผู้กระทำ 3) ด้านการจัดการกับเทคโนโลยี และ 4) ด้านการจัดการโดยการปรึกษาผู้อื่น


การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการให้เหตุผลเชิงกรณีร่วมกับแนวคิดการสะท้อนคิดเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลของนักเรียนประถมศึกษา, พรศิริ สันทัดรบ Jan 2020

การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการให้เหตุผลเชิงกรณีร่วมกับแนวคิดการสะท้อนคิดเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลของนักเรียนประถมศึกษา, พรศิริ สันทัดรบ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนสำหรับการเสริมสร้างความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลของนักเรียนประถมศึกษา โดยใช้แนวคิดการให้เหตุผลเชิงกรณีร่วมกับแนวคิดการสะท้อนคิด และและเพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น การดำเนินการวิจัย แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้ในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ระยะที่ 3 การศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน และระยะที่ 4 การนำเสนอผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ในการประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน ผู้วิจัยนำรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จำนวน 35 คน ใช้เวลาในการทดลอง 6 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวัดความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลของนักเรียน และแบบสังเกตพฤติกรรมความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการเปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลก่อน และหลังการทดลอง โดยใช้สถิติทดสอบค่าทีและการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ รวมทั้งการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลของนักเรียนประถมศึกษา โดยมีหลักการ 4 ประการ คือ 1) การส่งเสริมให้ผู้เรียนเปรียบเทียบ ตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาหรือสถานการณ์อย่างหลากหลาย จะช่วยให้ผู้เรียนได้ประเมินปัญหาหรือสถานการณ์ และเลือกข้อมูลพร้อมให้เหตุผลประกอบ รวมทั้งทบทวนความคิด ความรู้สึกของตนเอง 2) การรวบรวมข้อมูลและสำรวจข้อมูลจากหลายแหล่ง ช่วยให้เกิดการเปรียบเทียบความน่าเชื่อถืออย่างมีเหตุผลก่อนนำข้อค้นพบไปปรับใช้ 3) การให้ผู้เรียนได้ทบทวนต่อเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เชื่อมโยงกับความรู้และประสบการณ์ของตนเองกับผู้อื่น ช่วยให้ผู้เรียน เข้าใจเหตุการณ์ลึกซึ้งขึ้น ได้ข้อสรุปหรือมุมมองใหม่ เพื่อนำมาปรับปรุง แก้ไขพร้อมให้เหตุผลประกอบ และ 4) การพิจารณาความรู้และประสบการณ์ โดยทำความเข้าใจและอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ และนำมาสรุปเป็นความคิดรวบยอด และจัดเก็บเป็นคลังความรู้ เพื่อเสนอเป็นทางเลือกในการจัดการกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอนาคตต่อไป โดยขั้นตอนของรูปแบบการเรียนการที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1) เรียนรู้กรณีเดิม 2) เชื่อมโยงสู่กรณีใหม่ และ 3) ลงข้อสรุปและขยายทางความคิด 2. ประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน พบว่า คะแนนเฉลี่ยความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลในภาพรวมสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนเสริมสร้างความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลด้วยแนวคิดการให้เหตุผลเชิงกรณีร่วมกับแนวคิดการสะท้อนคิดมีพฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยมีพฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลที่เหมาะสมมากขึ้น


การพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมความสามารถในการให้เหตุผลจริยธรรมทางดิจิทัลของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นโดยใช้แนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้แบบกรณีศึกษาเป็นฐาน, วิวัฒน์ ทัศวา Jan 2020

การพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมความสามารถในการให้เหตุผลจริยธรรมทางดิจิทัลของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นโดยใช้แนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้แบบกรณีศึกษาเป็นฐาน, วิวัฒน์ ทัศวา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรมส่งเสริมความสามารถในการให้เหตุผลจริยธรรมทางดิจิทัลของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นโดยใช้แนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้แบบกรณีศึกษาเป็นฐาน ดำเนินการวิจัยโดยการพัฒนาเครื่องมือในการวิจัยจำนวน 2 ชุด ได้แก่ 1) โปรแกรมส่งเสริมความความสามารถในการให้เหตุผลจริยธรรมทางดิจิทัลของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นโดยใช้แนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้แบบกรณีศึกษาเป็นฐาน และ 2) แบบทดสอบการให้เหตุผลจริยธรรมทางดิจิทัลสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และนำไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชากิจกรรมชุมนุมพลเมืองดิจิทัล ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 37 คนซึ่งผู้วิจัยใช้การเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) จากโรงเรียนที่ประสงค์ให้ความร่วมมือในการวิจัย มีการวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การหาคะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์ และการทดสอบค่าที (t-test dependent) และตอนที่ 2 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (content analysis) ผลการวิจัยเชิงปริมาณ พบว่า 1. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้โปรแกรมส่งเสริมความสามารถในการให้เหตุผลจริยธรรมทางดิจิทัลตามแนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้แบบกรณีศึกษาเป็นฐานมีความสามารถในการให้เหตุผลจริยธรรมทางดิจิทัลหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้โปรแกรมส่งเสริมความสามารถในการให้เหตุผลจริยธรรมทางดิจิทัลตามแนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้แบบกรณีศึกษาเป็นฐานมีพัฒนาการสัมพัทธ์ (relative gain scores) ของการให้เหตุผลจริยธรรมทางดิจิทัลคิดเป็นร้อยละ 21.06 ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่า การจัดการเรียนรู้ด้วยใช้โปรแกรมส่งเสริมความสามารถในการให้เหตุผลจริยธรรมทางดิจิทัลโดยใช้แนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้แบบกรณีศึกษาเป็นฐานสามารถส่งเสริมให้นักเรียนมีพัฒนาการในการให้เหตุผลจริยธรรมทางดิจิทัลได้ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการให้เหตุผลจริยธรรมของนักเรียนที่สำคัญ ได้แก่ 1) ปัจจัยด้านขั้นตอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของโปรแกรมฯ คือ ขั้นการวิเคราะห์และอภิปรายกรณีตัวอย่าง และขั้นสรุปผลการเรียนรู้ 2) ปัจจัยด้านการออกแบบกรณีตัวอย่างและคำถามที่ใช้ในการวิเคราะห์และอภิปรายของนักเรียน และ 3) ปัจจัยด้านการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้และการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้


แนวทางการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะพื้นฐานของนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, อมรพิมล นึกชัยภูมิ Jan 2020

แนวทางการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะพื้นฐานของนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, อมรพิมล นึกชัยภูมิ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาคุณลักษณะพื้นฐานของนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 2) ศึกษาสภาพปัจจุบันของการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และ 3) เสนอแนวทางในการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนขยายโอกาสในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นการวิจัยแบบผสมผสานวิธี ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถาม เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหาร ครู บุคลากรในโรงเรียนขยายโอการทางการศึกษาในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 466 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และดัชนี Modified Priority Need Index (PNImoddified) หาค่าความต้องการจำเป็น ในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่มจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 21 คน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้ (1) คุณลักษณะของนักเรียนมี 2 ลักษณะ คือ 1. คุณลักษณะขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ปรากฏในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษามีการจัดการส่งเสริมโดยทั่วไป ได้แก่ 1.1) มีความรู้ในระดับขั้นพื้นฐาน สามารถสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ 1.2) มีความรับผิดชอบ ความขยัน ความอดทน ซื่อสัตย์ ทัศนคติที่ดี และใฝ่เรียนรู้ 1.3) ปฏิบัติงานตามคำสั่ง เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร และทำงานตามเวลาที่กำหนด 1.4) สามารถคิดวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ 2. คุณลักษณะเฉพาะ เป็นคุณลักษณะที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน และต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะเหล่านี้เพิ่มเติม ได้แก่ 2.1) การใช้เครื่องมือช่างขั้นพื้นฐาน 2.2) การใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน 2.3) มีความรู้ทางด้านช่าง ซ่อมแซมอุปกรณ์อย่างง่ายได้ 2.4) จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย มีความรู้ด้านการตลาดขั้นพื้นฐาน 2.5) สื่อสารภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากภาษาอังกฤษได้ 2.6) ความสามารถทางด้านงานฝีมือ (2) สภาพปัจจุบันของการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา พบว่า โรงเรียนมีการดำเนินงานให้นักเรียนมีความสามารถในการสื่อสารวิชาภาษาไทย และส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ขั้นพื้นฐานมากที่สุด ด้านที่พบการปฏิบัติน้อยที่สุด คือด้านการให้ความรู้เฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมและอาชีพ และการพัฒนาองค์ความรู้นักเรียนทางด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถในการสื่อสารวิชาภาษาไทย และการส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ระดับพื้นฐาน (3) …


การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดเชิงทฤษฎีของกระบวนการทางปัญญาในการนึกภาพเพื่อเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงพื้นที่ของนักศึกษาครู, ศิริศักดิ์ ทิพย์ทวีชาญ Jan 2020

การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดเชิงทฤษฎีของกระบวนการทางปัญญาในการนึกภาพเพื่อเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงพื้นที่ของนักศึกษาครู, ศิริศักดิ์ ทิพย์ทวีชาญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดเชิงทฤษฎีของกระบวนการทางปัญญาในการนึกภาพ เพื่อเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงพื้นที่ของนักศึกษาครู โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดเชิงทฤษฎีของกระบวนการทางปัญญาในการนึกภาพ และ 2) เพื่อประเมินคุณภาพของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น กลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาครูในภาคตะวันออก ระยะเวลาดำเนินการทดลอง 15 สัปดาห์ การดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนาที่เป็นการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้แนวคิดเชิงทฤษฎีของกระบวนการทางปัญญาในการนึกภาพเป็นพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน เพื่อใช้ในการเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงพื้นที่ของนักศึกษาครู ซึ่งมีการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินคุณภาพของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ แบบวัดทักษะการคิดเชิงพื้นที่ที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงปริมาณ และแบบสังเกตทักษะการคิดเชิงพื้นที่ที่ใช้เก็บรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที ซึ่งผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ 1. รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดเชิงทฤษฎีของกระบวนการทางปัญญาในการนึกภาพ มีหลักการสำคัญ คือ การจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการใช้กระบวนการทางความคิดในการนึกภาพและการสร้างความรู้ด้วยตนเองจนเกิดการปรับโครงสร้างทางปัญญา ซึ่งประกอบด้วย 5 หลักการ ได้แก่ 1) หลักการใช้รูปแบบเชิงภาพที่สร้างความสนใจและสัมพันธ์กับความรู้เดิมหรือประสบการณ์เดิม 2) หลักการในการนำรูปแบบเชิงภาพที่กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้ 3) หลักการเชื่อมโยงสิ่งที่ศึกษาจนเกิดการสร้างความรู้ใหม่ 4) หลักการปรับโครงสร้างทางปัญญา และ 5) หลักการสะท้อนโครงสร้างทางปัญญา รูปแบบการเรียนการสอนประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การเตรียมความพร้อมเชิงภาพ ขั้นที่ 2 การนึกภาพและเชื่อมโยง ขั้นที่ 3 การตั้งประเด็นปัญหาและสมมติฐานเชิงภาพ ขั้นที่ 4 การใช้กระบวนการทางปัญญา และขั้นที่ 5 การสะท้อนความรู้เชิงภาพ 2. คุณภาพของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า 1) ทักษะการคิดเชิงพื้นที่ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาครูหลังการทดลองสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งในภาพรวมและจำแนกตามองค์ประกอบแต่ละด้าน 2) กลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาครูมีพัฒนาการทักษะการคิดเชิงพื้นที่ในทิศทางที่ดีขึ้นทั้งในภาพรวมและจำแนกตามองค์ประกอบแต่ละด้าน โดยกลุ่มตัวอย่างมีพัฒนาการในภาพรวมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นจนถึงช่วงท้ายของการทดลอง และหากพิจารณาตามองค์ประกอบแต่ละด้าน พบว่า องค์ประกอบด้านภาพตัวแทนจะมีพัฒนาการที่เด่นชัดที่สุดตั้งแต่ช่วงกลางของทดลอง ส่วนในด้านความรู้เกี่ยวกับมิติเชิงพื้นที่และด้านกระบวนการใช้เหตุผล จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นจนถึงช่วงท้ายของการทดลอง


การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสเพื่อการสื่อสารตามแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้แก่นเรื่องเป็นฐานสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย, บุรฉัตร เปี่ยมสง่ากุล Jan 2020

การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสเพื่อการสื่อสารตามแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้แก่นเรื่องเป็นฐานสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย, บุรฉัตร เปี่ยมสง่ากุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสเพื่อการสื่อสารตามแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้แก่นเรื่องเป็นฐาน และศึกษาประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสเพื่อการสื่อสารที่พัฒนาขึ้นที่มีต่อความสามารถด้านศัพท์ภาษาฝรั่งเศส กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนการเรียนภาษาฝรั่งเศสของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง สังกัดสำนักงานเขตการศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ1) แบบทดสอบความสามารถด้านศัพท์ภาษาฝรั่งเศส 2) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสเพื่อการสื่อสารตามแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้แก่นเรื่องเป็นฐาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่าเฉลี่ย t-test for dependent sample ที่ระดับนัยสำคัญ .05 ผลการวิจัยพบว่า 1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสเพื่อการสื่อสารตามแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้แก่นเรื่องเป็นฐานที่พัฒนาขึ้น มีชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด 5 ชุดกิจกรรมภายใต้แก่นเรื่อง 5 แก่นเรื่อง ได้แก่ 1) Les vêtements (เสื้อผ้าและการแต่งกาย) 2) La consommation (การอุปโภคและบริโภค) 3) Le voyage (การเดินทางท่องเที่ยว) 4) L'idole (บุคคลที่ชื่นชอบ) และ 5) La maison (การใช้ชีวิตในบ้าน) โดยในชุดกิจกรรมประกอบด้วยคู่มือครู ชุดกิจกรรมที่นักเรียนต้องปฏิบัติ แผนการจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ แบบฝึกหัด และแบบประเมินผล 2. ผลการศึกษาประสิทธิประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสเพื่อการสื่อสารที่พัฒนาขึ้นพบว่า 2.1) ความสามารถด้านศัพท์ภาษาฝรั่งเศสของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างหลังการทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้สูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.2) ความสามารถด้านศัพท์ภาษาฝรั่งเศสของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างหลังการทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เมื่อจำแนกตามองค์ประกอบรายด้านสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในทุกองค์ประกอบ